ฉบับที่ 257 ผลทดสอบน้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมด้วยเชื่อมั่นในสรรพคุณที่ค่อนข้างเด่นทั้งในด้านอาหารที่มีสารอาหารที่ดี แหล่งน้ำตาลที่ดี ตลอดจนสรรพคุณด้านเภสัชวิทยาที่ให้ผลในการรักษาในหลายอาการ แต่ก็อาจทำให้พะวงในเรื่องว่า น้ำผึ้งที่ซื้อหามานั้นเป็นน้ำผึ้งแท้หรือไม่ เพราะการพิสูจน์ด้วยตาเปล่าหรือวิธีที่บอกเล่ากันมาอาจยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้มากพอ         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ ฉลาดซื้อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และห้างออนไลน์ จำนวน 19 ตัวอย่าง ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อดูคุณภาพของน้ำผึ้งตัวอย่างว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เป็นน้ำผึ้งแท้ที่ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในคุณภาพได้หรือไม่ ขอเชิญมาตรวจสอบได้จากรายงานผลทดสอบของเรา  ผลทดสอบน้ำผึ้ง         น้ำผึ้งจำนวน 19 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบพบว่า คุณภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง มกษ.8003-2556 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 211 พ.ศ.2543 เรื่องน้ำผึ้ง (ดูผลทดสอบโดยสรุปได้ที่ ตารางที่ 1)  ตารางที่ 1 ภาพรวมผลทดสอบน้ำผึ้ง 19 ตัวอย่าง        ทั้งนี้น้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งคุณภาพจะผันแปรไปตามแหล่งน้ำหวาน ได้แก่ ดอกไม้หรือพืชพรรณที่ผึ้งนำสู่รวง ตลอดจนปัจจัยภายนอก เช่น ฤดูกาล สภาพสิ่งแวดล้อมและกระบวนการผลิต ดังนั้นคุณภาพจึงอาจไม่คงที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยตามที่ได้กล่าวมา  (ดูรายละเอียดแต่ละผลิตภัณฑ์ได้ที่ ตารางที่ 2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 สารอะคริลาไมด์ในกาแฟ

        เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟในผลิตภัณฑ์กาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง (นอกจากทดสอบอะคริลาไมด์แล้ว สภาฯ ยังทดสอบปริมาณคาเฟอีน สารเคมีการเกษตรและปริมาณสารพิษจากเชื้อรา โอคราทอกซินเอ ด้วย) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้สารอะคริลาไมด์นั้นผู้บริโภคจะได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย         สำหรับประเทศไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์พบว่าพริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ขนมถุงที่ทำจากมันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป และเผือกฉาบ แต่ก็พบว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะส่งพิษต่อร่างกาย         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยง นิตยสารฉลาดซื้อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะหน่วยประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้เก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทดสอบหาสารอะคริลาไมด์ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ผลทดสอบ         ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ แต่เกณฑ์ของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่ว และไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป        -       ผลทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56 – 372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        -       ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 298.79 – 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยมี 2 ตัวอย่างที่พบอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม , เอจีเอฟ แม็กซิม 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉลาดซื้อแนะ         การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม จึงควรลด เลี่ยงอาหารที่ผ่านการใช้ความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือย่างที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินไป (งานวิชาการบางชิ้นระบุไม่ควรเกิน 120 องศาเซลเซียส) หรือใช้ระยะเวลานานเกินไป  กรณีกาแฟคำแนะนำจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงแนะว่า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอาจต้องคำนึงถึงวิธีการคั่วเพื่อเพิ่มความปลอดภัย (ลดความเสี่ยงของการเกิดการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ในกาแฟ)  ข้อมูล- Pay Heed to the Amount and Frequency in Enjoying Coffee Be Mindful of Caffeine Addiction and the Risks of Genotoxic Carcinogenic Acrylamide Intake | Consumer Council- www.cancer.org/healthy/cancer-causes/chemicals/acrylamide.html- ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่? • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)-“สารอะคริลาไมด์ที่แฝงมากับอาหารไทย” จิตติมา เจริญพานิช. ว.วิทย. มข.40(4) 1059-1072 (2555) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา (ครั้งที่สอง)

        ฉลาดซื้อฉบับที่ 253 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมานำเสนอผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยาไป ซึ่งในครั้งนั้นเราพบทั้งตัวอย่างไส้กรอกที่ใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ห้ามใช้ และที่ใช้สารกันเสียในปริมาณที่เกินมาตรฐานรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อติดตามสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางและฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างไส้กรอกในพื้นที่กรุงเก่าในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง  มาดูกันว่าไส้กรอกที่มีขายในจังหวัดอยุธยา จะมีความปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร         เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 14 ตัวอย่าง และลูกชิ้น 2 ตัวอย่าง ภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกำหนดขอบเขตจากร้านอาหารบริเวณหน้าโรงเรียน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่สรุปผลทดสอบ        1. สารเบนโซอิก : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก             - พบสารเบนโซอิกในไส้กรอก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM         (48.71 มก./กก.) ไส้กรอกไก่รสนมวนิลา ตรา TFG ไทยฟู้ดส์ (484.31 มก./กก.) และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม (23.72 มก./กก.)           ส่วนในลูกชิ้นพบทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ลูกชิ้นปิ้ง"นมสด" SNOWBOY (1153.10 มก./กก.) และลูกชิ้นเอ็นไก่ ลูกชิ้นสุภาพ อยุธยา (1071.90 มก./กก.)          2. สารไนเตรท : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น)            - พบสารไนเตรทในทั้ง 16 ตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 10.71- 42.04 มก./กก.           3. สารไนไตรท์ : ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก.            - พบสารไนไตรท์ในไส้กรอก  8  ตัวอย่าง มีปริมาณตั้งแต่ < 10.00 – 48.29 มก./กก. ซึ่งไม่เกินมาตรฐานกำหนด          4. สารซอร์บิก : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์            - พบสารซอร์บิกในไส้กรอก  3  ตัวอย่าง ได้แก่ ไส้กรอกไก่เวียนนาสอดไส้ชีส ตรา AFM (ตัวอย่างที่พบว่ามีสารที่ใช้ร่วมกัน 3 ชนิด ได้แก่ ไส้กรอกไก่สอดไส้ซอสมะเขือเทศ ตรา AFM และไส้กรอกไก่ รสชีสเนย ตรา เค เอฟ เอ็ม พบเบนโซอิก+ไนเตรท+ไนไตรท์ ส่วนไส้กรอกคอกเทลไก่(ปอก) ตรา PCF พบไนเตรท+ไนไตรท์+ ซอร์บิก        3. ยี่ห้อ AFM มี 6 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบไนเตรททั้งหมด ไนไตรท์ 4 ตัวอย่าง เบนโซอิก 1 ตัวอย่าง และซอร์บิก 2 ตัวอย่าง        4. ในลูกชิ้นทั้ง 2 ตัวอย่าง มีปริมาณเบนโซอิกมากกว่าที่พบสูงสุดในไส้กรอกประมาณ 2.4 เท่า และไม่ได้แสดงวัน/เดือน/ปี ที่ผลิตและหมดอายุไว้ด้วย ฉลาดซื้อแนะ        1. เลือกซื้อไส้กรอกที่มีฉลากแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ และซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ        2. ไม่เลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีสดจัดจนเกินไป         3. ถ้าซื้อไส้กรอกแบบพร้อมทานหรือปรุงสำเร็จที่ไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่        4. โดยเฉพาะเด็กๆ ไม่ควรกินบ่อยเกินไปและไม่กินปริมาณมากในครั้งเดียว            ร่างกายรับสารไนไตรท์ได้ไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจะทำให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ายิ่งได้รับมากเกินไปจะเกิดอาการปวดท้อง กล้ามเนื้อไม่มีแรง และร่างกายขาดออกซิเจนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 สำรวจฉลากส่วนประกอบในแยมส้มและมาร์มาเลดส้ม

        ฉลาดซื้อฉบับที่ 234 ได้เคยนำเสนอเรื่องปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รีมาแล้ว คราวนี้ขอเอาใจคนที่ชื่นชอบรสชาติของ “แยมส้ม” และ”มาร์มาเลดส้ม” กันบ้าง          “แยมส้ม” จะมีส่วนประกอบหลักคือ เนื้อส้ม น้ำส้ม และน้ำตาล เนื้อเนียนละเอียด รสหวานนำ ส่วน ”มาร์มาเลดส้ม” จะใส่ผิวส้มเพิ่มเข้าไปด้วย จึงเจือรสขมผสมกับรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อหยาบกว่ากินแล้วสัมผัสได้ถึงผิวส้มและเนื้อส้ม หอมกลิ่นส้มในปาก         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์แยมส้มและมาร์มาเลดส้มจำนวน 18 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสำรวจฉลากเพื่อพิจารณา สัดส่วนของปริมาณส้ม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) และปริมาณน้ำตาล พร้อมกับเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกว่ายี่ห้อไหนจะมีรสชาติถูกปาก คุ้มค่าและปลอดภัยสำหรับคุณ ผลการสำรวจ         จากการสำรวจฉลากส่วนประกอบของแยมส้มและมาร์มาเลดส้มทั้ง 18 ตัวอย่าง พบว่า         1. สัดส่วนของปริมาณส้มรวม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) => ยี่ห้อดาโบ มีมากที่สุดคือ 70% ส่วนยี่ห้อเบสท์ ฟู้ดส์ มีน้อยที่สุดคือ 20%         2.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลรวม (รวมน้ำตาลที่ให้ความหวานและพลังงานทุกชนิด) => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อทิพทรี มีน้อยที่สุดคือ 10%         3.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลที่ระบุว่าเป็น “น้ำตาล” => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อสตรีมไลน์ มีน้อยที่สุดคือ 9%         4.เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม => ยี่ห้อทิพทรี แพงสุดคือ 1.23 บาท ส่วนยี่ห้อเอ็มไพร์ ถูกสุดคือ 0.20 บาท  ข้อสังเกต        - ยี่ห้อเซนต์ดาลฟูร์ ไม่ระบุว่ามีน้ำตาลชนิดใดๆ เพิ่มเข้าไปในส่วนประกอบ แต่เมื่อดูที่ฉลากโภชนาการระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลต่อหนึ่งหน่วยบริโภค(1 ช้อนโต๊ะ = 15 กรัม) อยู่ 8 กรัม ซึ่งเป็นน้ำตาลจากน้ำผลไม้        - ยี่ห้อสทิ้ว ระบุว่า ‘no sugar added’ ไม่ใส่น้ำตาล แต่ใช้ซอร์บิทอล(วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)        - มี 4 ยี่ห้อ เป็นสูตรลดน้ำตาล (Reduce Sugar) ได้แก่ มายช้อยส์, บอนน์ มาม็อง, สตรีมไลน์ และทิพทรี        - ยี่ห้อดอยคำ ปริมาณ 130 กรัม เป็นแบบหลอดบีบที่น่าจะช่วยลดการปนเปื้อน และใส่วัตถุกันเสีย มีคำแนะนำให้เปิดแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็นและบริโภคให้หมดภายใน 2 สัปดาห์        - มี 8 ยี่ห้อระบุว่าใส่วัตถุกันเสีย มี 6 ยี่ห้อแต่งกลิ่น และมี 5 ยี่ห้อแต่งสี ฉลาดซื้อแนะ        - ถ้าใครไม่ชอบรสขม ลองเลือกมาร์มาเลดส้มที่มีผิวส้มน้อยหน่อย        - ใครที่ชอบรสหวานแต่ไม่อยากอ้วน ลองเลือกแยมส้มที่ให้ความหวานจากน้ำผลไม้ น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอื่น ๆ  ซึ่งมีรสหวานและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลปกติ แต่ถ้ากินเพลินจนเยอะเกินก็เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้        - เปิดขวดแยมแล้วให้แช่ในตู้เย็น ควรใช้ช้อนสะอาดตักแบ่งใส่ถ้วยก่อนทาขนมปัง เพื่อลดการปนเปื้อน        -จดวันที่ที่เปิดขวดแยมส้มครั้งแรกไว้ แยมส่วนใหญ่จะหมดอายุหลังจากเปิด 3 เดือน หรือดูที่ฉลากแนะนำ        - ถ้าใครกินไม่บ่อยและไม่ค่อยเยอะ ซื้อขวดเล็กก็พอ จะได้กินหมดก่อนวันหมดอายุ แต่ถ้าใครกินเป็นประจำทุกวันให้ซื้อขวดใหญ่จะคุ้มค่ากว่า        - หลายคนเลือกซื้อแยมส้มที่รสชาติอร่อยถูกปากและความคุ้มค่า แต่ก็อย่าลืมคำนึกถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย ลองเลือกที่มีส้มเยอะ มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่แต่งกลิ่นแต่งสี ก็น่าจะดี ข้อมูลอ้างอิงhttps://bestreview.asia/best-orange-jams/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ค่าพลังงานและปริมาณโซเดียมในโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและข้าวต้มสำเร็จรูป

        นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้เลือกซื้อขณะที่อาจต้องกักตัวอยู่บ้านเนื่องในสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปริมาณโซเดียมมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2564 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและข้าวต้มสำเร็จรูป จำนวน 48 ตัวอย่าง เพื่อดูปริมาณโซเดียมเช่นกัน ซึ่งพบว่ามีค่าอยู่ที่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการสำรวจจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมของทางสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เป็นตัวตั้งต้น โดยเก็บตัวอย่างสินค้าชนิดเดียวกันได้จำนวน 19 ตัวอย่าง และตัวอย่างใหม่อีก 5 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 24 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจข้อมูลโภชนาการบนฉลากว่ามีสินค้าตัวใดบ้างที่ผู้ผลิตได้มีการปรับลดปริมาณโซเดียมลง  สรุปผลสำรวจ         จากการสำรวจฉลากโภชนาการพบว่า ในจำนวน 19 ตัวอย่างที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าปริมาณโซเดียมเท่าเดิม จำนวน 15 ตัวอย่าง         มี 2 ตัวอย่างที่ปริมาณโซเดียมลดลง ได้แก่ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (จาก 680 มก. เป็น 660 มก.) และ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสไก่ (จาก 650 เป็น 490 มก.)           และ มี 2 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้น ได้แก่ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมูสาหร่าย (จาก 610 มก. เป็น 680 มก.) และ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมู (จาก 940 มก. เป็น 960 มก.)         ทั้งนี้ค่าปริมาณโซเดียมต่ำสุดที่พบจากผลิตภัณฑ์ คือ 20 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ คนอร์คัพโจ๊ก โจ๊กข้าวหอมมะลิ (เจ)  และปริมาณสูงสุด คือ 1,280 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ  มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสเล้งแซบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 อะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติ ปี 2565

        สารอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 (Aflatoxin M1) M หมายถึง Milk ก็คืออะฟลาท็อกซินที่พบในน้ำนมสัตว์เมื่อโคนมกินอาหารที่ปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ซึ่งเป็นสารพิษก่อมะเร็งที่สร้างจากเชื้อรา จะถูกแปลงเป็นอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แล้วหลั่งออกมาในน้ำนม หากผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กๆ ดื่มนมที่ปนเปื้อนนี้เข้าไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้         ในฉลาดซื้อฉบับที่ 203 (มกราคม 2561) ได้เผยผลทดสอบปริมาณสารอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติจากร้านค้าทั่วไป จำนวน 27 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แต่อยู่ในปริมาณที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX)         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติจำนวน 24 ตัวอย่าง แบ่งเป็น นมโรงเรียน 8 ตัวอย่าง จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร และผลิตภัณฑ์นมรสธรรมชาติจำนวน 16 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อ จากร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ และตัวแทนจำหน่ายนม เมื่อเดือนมกราคม 2565 นำมาทดสอบโดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อดูว่ายังมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 อยู่หรือไม่ ถ้ามี มีปริมาณเท่าไรเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่  414)  พ.ศ. 2563  เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ระบุว่า น้ำนม คือ น้ำนมดิบจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือเติมแต่งส่วนผสมอื่น  มีลักษณะเป็นของเหลวสำหรับการบริโภคโดยตรง หรือนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปก่อนการบริโภค กำหนดให้มีอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในน้ำนมได้ไม่เกิน 0.5  ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลการทดสอบ         จากนมทั้งหมด 24 ตัวอย่าง พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ใน 20 ตัวอย่าง พบปริมาณในช่วง < 0.20 – 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และไม่พบ 4 ตัวอย่าง ดังนั้นทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดสรุปเปรียบเทียบผลทดสอบปี 2561 กับปี 2565         จากตารางการเปรียบเทียบนี้พบว่า เปอร์เซ็นต์ตัวอย่างนมที่พบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ปริมาณที่พบในนมโรงเรียน และปริมาณน้อยที่สุดที่พบในนมที่ขายทั่วไปนั้น ต่างก็มีค่าตัวเลขที่ลดลง แต่ปริมาณที่พบสูงสุดในนมที่ขายทั่วไปกลับมีค่าเพิ่มขึ้น 0.12 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาโดยไม่รวมยี่ห้อเดียวที่มีปริมาณสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้เข้าไปด้วย ในตัวอย่างนมที่ขายทั่วไปอื่นๆ จะพบปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 อยู่ที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา

        ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ที่ได้รับความนิยมเสมอไม่เคยเปลี่ยน หารับประทานได้ไม่ยากมีตั้งแต่ราคาพอเหมาะจ่ายได้ไม่แพงจนถึงราคาแพงหรูหรา อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทนี้จะมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการถนอมอาหารและให้สีสันที่สวยงาม ดังนั้นหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารไม่ถูกต้อง ใช้ตัวที่ห้ามใช้หรือใช้เกินมาตรฐาน ก็จะได้ยินข่าวตามมาถึงปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่อ่อนไหวง่ายอย่างเด็กๆ         เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน (methemoglobinemia) จำนวน 14 รายใน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง พะเยา สงขลา นครศรีธรรมราช และกาญจนบุรี โดยทั้งหมดกิน "ไส้กรอก" ซึ่งจากการสืบสวนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า เป็นไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนในจังหวัดชลบุรี ซึ่งผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ “ฤทธิ์” ฮอทดอก รมควัน และฟุตลองไก่รมควัน ไม่ระบุยี่ห้อ  พบว่ามีปริมาณไนไตรท์เกินจากที่กฎหมายกำหนดถึง  35-48 เท่า ทำให้ อย.ขยายผลต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการผลิตไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ต่อมามีรายงานข่าวว่า อย.จับกุม 2 โรงงานผลิตไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ. 65 แต่กว่า อย.จะแถลงว่าพบสินค้าไส้กรอกไม่ได้มาตรฐานยี่ห้อใดบ้าง ก็ผ่านเวลาไปหลายวัน (แถลงผลวันที่ 13 ก.พ.) ซึ่งในช่องว่างของระยะเวลาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่ออกจากโรงงานไปนั้นประเทศไทยไม่มีระบบการเรียกคืน และระบบการกระจายสินค้าของโรงงานไม่สามารถบอกได้ว่าส่งขายไปที่ไหนบ้าง ผู้บริโภคจึงยังคงเสี่ยงภัยกับสินค้าจากโรงงานดังกล่าว เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางจึงลงพื้นที่และทำงานร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกจำนวน 17 ตัวอย่างภายในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลาดวังน้อย เมืองใหม่, ตลาดเจ้าพรหม, ห้ามแมคโคร อยุธยา, ร้านซีพีเฟรชมาร์ท สาขาอยุธยา เดชาวุธ เมื่อวันที่  24  กุมภาพันธ์ 2565 และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ สรุปผลทดสอบ        1.พบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 20.67 – 112.61 มก./กก. ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น)        2.พบสารซอร์บิก ปริมาณเกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 2191.75 มก./กก. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์        3.พบสารเบนโซอิก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ Kfm ไส้กรอกไก่รมควันหนังกรอบ ป๊อบปูล่า ปริมาณ 148.28 มก./กก. , ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 58.87 มก./กก. และ CFP ไส้กรอกจัมโบ้หมูรมควันหนังกรอบ ปริมาณ 41.05 มก./กก.  ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid)        4.พบสารไนไตรท์ใน 12 ตัวอย่าง ไม่พบ 5 ตย. ทั้งนี้ปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (<10.00 – 53.74 มก./กก.) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก.  ข้อสังเกตจากผลการทดสอบพบว่า        1.มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบทั้งซอร์บิก เบนโซอิก และไนเตรท ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ (วันผลิต/วันหมดอายุ ) ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มซอร์บิกร่วมกับสารกลุ่มไนไตรท์ และไม่อนุญาตการใช้เบนโซอิก เท่ากับว่าผิดมาตรฐานเพิ่ม        2.การพบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยในการผลิตไส้กรอก เนื่องจากเป็นสารที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดสุกหรือก็คือห้ามใช้ (หากเป็นไส้กรอกที่ไม่ผ่านการปรุงสุกกำหนดมาตรฐานให้ใช้ในปริมาณไม่เกิน 200 มก./กก.) แต่กลับพบในทุกตัวอย่าง ทั้งนี้การปนเปื้อนของไนเตรทอาจเป็นไปได้ทั้งจากการที่ผู้ผลิตจงใจใช้ทั้งที่กฎหมายห้าม หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต เนื่องจากเดิมเคยอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณ ไม่เกิน 500 มก./กก. ซึ่งต่อมาปรับเป็นไม่ได้กำหนดให้ใช้ ตั้งแต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 และประกาศฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หรือการที่พบในปริมาณน้อยอาจเกิดจากการปนเปื้อนที่มาจากวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในการผลิต  ข้อแนะนำในการบริโภค        หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกชนิดสุก ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่สดจัดจนเกินไป เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก (เลข อย.) สำหรับการซื้อจากร้านค้าที่อาจไม่ทราบว่าไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่ นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ควรบริโภคในปริมาณพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป และเนื่องจากเด็กๆ จะชอบรับประทานอาหารประเภทนี้ แต่เด็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีความไวต่อวัตถุกันเสียโดยเฉพาะประเภทไนไตรท์ ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาให้เลือกรับประทานอย่างเหมาะสม  ข้อมูลอ้างอิง- กิตติมา โสนะมิตร และ เอกสิทธิ์ เดชานุวัตร.การประเมินการได้รับสัมผัสไนไตรท์และไตรทจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์. ว.กรมวิทย์ พ.2564 ; 63 (1) : 160-172.- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) - พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผลทดสอบสารตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

        ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 โดยเก็บจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ แต่ไม่รวมสารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025   รายละเอียดการเก็บตัวอย่างทดสอบ          ส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile   สรุปผลการทดสอบจากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า        1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท        2. น้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ ข้อสังเกตจากการทดสอบ         จากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ         2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ         3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ”  รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้มฉลาดซื้อแนะ        • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย         • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง         • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)

        ฉบับนี้ขอชวนผู้บริโภคสายเบเกอรี่ ทั้งคนชอบกินและคนชอบทำ มาสำรวจฉลากวิปปิ้งครีมกัน         ‘วิปปิ้งครีม’เป็นครีมจากน้ำนมหรือไขมันพืช เมื่อตีให้ขึ้นฟูจนครีมตั้งยอดได้ก็จะเป็น ’วิปครีม’           เมื่อก่อนเรามักลิ้มรสชาติวิปครีมที่หอมมัน นุ่มละมุนลิ้น บนหน้าเค้กหรือเป็นส่วนประกอบในขนมเบเกอรี่ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม น้ำปั่น น้ำหวาน เครื่องดื่มร้อน-เย็น ก็ใส่วิปครีมเป็นหน้าท็อปปิ้งเพิ่มความอร่อยได้หลากหลายเมนู และกำลังนิยมกันมาก หากบริโภคบ่อยๆ เสี่ยงไขมันเกินได้         ทั้งนี้ นมสด 100% จะมีไขมัน 3.3% ในตำราเบเกอรี่ระบุว่า วิปปิ้งครีมแท้จะมีไขมันเนย 30-36%         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม ทั้งหมด 12 ตัวอย่าง เลือกเฉพาะที่ระบุว่าเป็นครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม จากร้านค้าและห้างค้าปลีก มาสำรวจฉลากเพื่อดูเปอร์เซ็นต์ของครีมแท้จากนม ปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมด รวมถึงความคุ้มค่า เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 208) พ.ศ.2543 เรื่อง ครีม ระบุให้ครีมเป็นอาหารที่กําหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน “ครีมแท้” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่แยกได้จากนม โดยกรรมวิธีต่าง ๆ และมีมันเนยเป็นส่วนประกอบที่สําคัญ สำหรับมาตรฐานของครีมแท้ชนิดวิปปิ้งครีม คือต้องทำจากนมและมีมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 28 ของน้ำหนัก ผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์วิปปิ้งครีม(ครีมแท้)-จากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นครีมแท้จากนมโค 100 % ได้แก่ ยี่ห้อแมกโนเลีย, โฟร์โมส, เมจิ และเอ็มมิลค์-ค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ครีมแท้ในตัวอย่างวิปปิ้งครีมทั้งหมด คือ 95.44 %  - มี 3 ตัวอย่างที่มีเปอร์เซ็นต์ครีมแท้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ ยี่ห้อเวสท์โกลด์ (86%), พอลส์(81.76%) และเดบิค(81%)-เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ แพงสุด คือ 0.75 บาท  ส่วนยี่ห้อเอโร่ ถูกสุดคือ 0.17 บาท-มี 6 ตัวอย่าง ที่แสดงฉลากโภชนาการระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อแองเคอร์, เอ็มบอร์ก, พอลส์, เพรสซิเด้นท์, เดบิค และเวสท์โกลด์ พบว่ามีปริมาณพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 335.9 กิโลแคลลอรี และปริมาณไขมันทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 35.3 กรัม-ยี่ห้อเอ็มบอร์กและพอลส์ มีพลังงานมากที่สุดคือ 337 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 334.6 กิโลแคลลอรี่ต่อ 100 มิลลิลิตร  -ยี่ห้อแองเคอร์ และเวสท์โกลด์ มีไขมันทั้งหมดมากที่สุดคือ 35.5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนยี่ห้อเดบิค มีไขมันทั้งหมดน้อยที่สุดคือ 35 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร   ข้อสังเกต-ทั้ง 4 ตัวอย่างที่มีครีมแท้จากนมโค 100 % เป็นวิปปิ้งครีมพาสเจอร์ไรส์ ที่ผลิตในประเทศไทย และไม่มีฉลากโภชนาการที่ระบุปริมาณพลังงานและไขมันทั้งหมดไว้-มี 6 ตัวอย่างที่นำเข้าจากต่างประเทศ คิดเป็น 50% ของตัวอย่างที่นำมาสำรวจ-ยี่ห้อเพรสซิเด้นท์ ที่มีราคาต่อหน่วยแพงสุด มีครีมแท้ 99.6% นำเข้าจากฝรั่งเศส ส่วนยี่ห้อเอโร่ ที่ราคาต่อหน่วยถูกสุด มีครีมแท้ 99.97% ผลิตในประเทศไทย-ยี่ห้อเวสท์โกลด์ มีพลังงานน้อยที่สุด แต่มีไขมันทั้งหมดมากที่สุด-ปริมาณพลังงานเฉลี่ยของวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 335.9 กิโลแคลอรี ถือว่าพอๆ กับพลังงานของอาหารจานเดียว 1 จานที่ปริมาณ 300 – 600 กิโลแคลอรี และคิดเป็นประมาณ 16.8% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (2,000 กิโลแคลอรี่) นี่คือวิปปิ้งครีมจืดๆ แต่ถ้านำไปตีเป็นวิปครีมแล้วใส่ส่วนผสมอื่นๆ เพิ่ม เช่น น้ำตาล คาราเมล หรือช็อกโกแลต ก็จะได้พลังงานบวกเพิ่มเข้าไปอีก-ค่าเฉลี่ยของปริมาณไขมันทั้งหมดในวิปปิ้งครีม 100 มิลลิลิตร อยู่ที่ 35.3 กรัม คิดเป็นประมาณ 54.3% ของปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน (< 65 กรัม) ซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว- ในฉลากระบุว่ามีไขมันทรานส์ด้วย ไม่ต้องตกใจ เพราะอยู่ในน้ำนมธรรมชาติ และมีปริมาณน้อยมาก (0.94 -1.7 กรัม) ฉลาดซื้อแนะคนชอบกิน - ควรกินวิปปิ้งครีมแท้ โดยสังเกตว่าวิปครีมที่ทำจากวิปปิ้งครีมแท้ จะสีออกเหลือง ไม่ขาวจั๊ว หอมมันกลิ่นนมสดเข้มข้น กินแล้วละลายในปาก ไม่มีคราบมันติดปาก อย่างไรก็ตามควรบริโภคแต่น้อย  เพื่อลดเสี่ยงภาวะไขมันเกินคนชอบทำ - ก่อนซื้อวิปปิ้งครีมควรดูฉลากให้ชัดเจน เพราะครีมที่ใช้ทำขนมเบเกอรี่ยังมีอีกหลายชนิด เช่น ฮาลฟ์ครีม(ไขมัน 10-18%) คุกกิ้งครีม (ไขมัน 18-56%) เฮฟวี่ครีม(ไขมัน 36-38%)และดับเบิ้ลครีม(ไขมัน 48-60%) หากจะทำวิปครีม แล้วซื้อครีมที่มีไขมันน้อยกว่า 35% มา อาจตียากหรือตีไม่ขึ้นเลยก็ได้         -จากตัวอย่างมีหมายเหตุบนฉลากว่า “เปิดแล้วใช้ให้หมดภายใน...” น้อยที่สุด  1 วัน มากที่สุด 4 วัน เพราะตามมาตรฐานครีมแท้จะต้องไม่มีวัตถุกันเสีย เมื่อเปิดแล้วจะเก็บได้ไม่นาน จึงควรดูวันหมดอายุให้ดีๆ ซื้อมาเท่าที่จะใช้ ไม่ควรซื้อตุน         -ถ้าใช้ไม่หมด ให้แรปปิดกล่องให้สนิท หรือเทส่วนผสมใส่ภาชนะสะอาดและเขียนวันหมดอายุติดไว้ด้วย เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา อย่าใส่ช่องแช่แข็ง ครีมจะแข็งแล้วตีไม่ขึ้นฟู         -เมื่อหมดอายุแล้ว ต้องทิ้งไป แม้บางทีรสชาติและลักษณะของวิปปิ้งครีมยังเหมือนเดิม ก็อย่าเสียดาย เพราะอาจมีเชื้อราที่มองไม่เห็นเจือปนอยู่ได้  ข้อมูลอ้างอิงhttps://my-best.in.th/50276https://krua.co/cooking_post/whipping-cream/https://www.dip.go.th/files/Cluster/20.pdfhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P208.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว

        เนยถั่ว ทำจากถั่วลิสง รสอร่อย กินเป็นของว่างก็ดี ใช้ปรุงอาหารก็ได้ เป็นหนึ่งในอาหารสุขภาพยอดนิยมของทุกเพศทุกวัย อุดมด้วยโปรตีน ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทว่าผลิตภัณฑ์เนยถั่วหลายยี่ห้อมักเพิ่มน้ำตาล น้ำมัน หรือน้ำผึ้งเข้าไปด้วย เพื่อลดความหนืดและเพิ่มรสชาติ หากใครเผลออร่อยเพลินก็เสี่ยงอ้วนและเพิ่มโรคได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาหากผู้บริโภคเลือกพิจารณาจากส่วนประกอบบนฉลากได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือ ความเสี่ยงที่จะได้รับสาร อะฟลาท็อกซิน ซึ่งต้องอาศัยการทดสอบในห้องทดลองจึงจะพบได้        ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยและความรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยถั่วทั้งหมด 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 มาทดสอบว่ามีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินหรือไม่   ผลการทดสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว         จากผลิตภัณฑ์เนยถั่วที่สุ่มนำมาทดสอบทั้งหมด 22 ตัวอย่าง พบว่า         - มี 1 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด  พบ 65.87 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         - 10 ตัวอย่าง ไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน (คิดเป็น 45.45%ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ ยี่ห้อเวทโทรส เอสเซนเชียล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อมอร์ริสันส์ สมูท พีนัท บัตเตอร์และ100% พีนัท สมูท พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโฮลเอิธ์ท ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ซูเปอร์ชังค์ พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดละเอียดและเนยถั่วลิสงบดหยาบ รสจืด, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ ครันชี และยี่ห้อเลมอนฟาร์ม เนยถั่วลิสง         - 12 ตัวอย่าง มีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อน (คิดเป็น 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบและครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ และยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด ผลเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม         พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ ถูกที่สุดคือ 0.26 บาท ส่วน ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท แพงที่สุดคือ 1.05 บาทฉลาดซื้อแนะ        - ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่จะนำไปใช้แปรรูปอยู่ด้วย        - แม้จะพบอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมด แต่ปริมาณอะฟลาท็อกซินโดยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้มีผลการทดลองในต่างประเทศที่พบว่าในกระบวนการผลิตเนยถั่วที่ต้องทั้งอบและบดนั้น สามารถฆ่าเชื้ออะฟลาท็อกซินได้มากถึง 89%          - การทำเนยถั่วกินเองน่าจะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซินได้ทางหนึ่ง เพราะผู้บริโภคมีโอกาสเลือกวัตถุดิบถั่วลิสงที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีทำเนยถั่วก็มีเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ให้เลือกทำตามได้ง่ายๆ          - หากเปิดกระปุกเนยถั่วแล้วควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดตักทุกครั้ง ปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในที่มืดและแห้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนได้ภายหลัง  ข้อมูลอ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563ฉลาดซื้อฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงบทความ กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม? (ฉลาดซื้อ)บทความ การปนเปื้อนเชื้อราและอะฟลาทอกซินในถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่วพร้อมบริโภค (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)https://www.fitterminal.comhttps://www.scirp.org/Journal/PaperInformation.aspx?paperID=4527

อ่านเพิ่มเติม >