ฉบับที่ 249 สำรวจปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด

        ข้าวโพดมีรสหวานหอมอร่อย กินแล้วได้วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น         แล้วขนมกรุบกรอบที่ทำจากข้าวโพดล่ะ กินแล้วยังได้ประโยชน์ไหม ?         ขนมข้าวโพดอบกรอบ ข้าวโพดทอดกรอบ และข้าวโพดคั่ว ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ที่มีหลากหลายรูปแบบและรสชาติให้เลือกละลานตา เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดใจในกลิ่นหอมของข้าวโพด สัมผัสกรุบกรอบจากกระบวนการขึ้นรูปหรือแปรรูปขนม และรสชาติหวาน มัน เค็ม ติดปาก ชวนให้เคี้ยวเพลินจนหมดห่อแบบไม่รู้ตัว โดยไม่ทันเอะใจว่า ขนมที่กินเล่นอร่อยๆ นี้ มักเคลือบด้วยสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ที่มีโซเดียมในรูปสารประกอบ ซึ่งหากกินบ่อยๆ กินมากครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงสินค้าที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเลือกขนมให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของขนมประเภทนี้               ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมขบเคี้ยวที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สุ่มสำรวจจำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพด        -ขนมจากข้าวโพดทั้งหมด 20 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายห่อละ 15 – 29 บาท และมีน้ำหนักสุทธิ 35 - 75 กรัม         -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากพบว่า ยี่ห้อเซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีสมีโซเดียมสูงที่สุดคือ 390 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด และยี่ห้อคอร์นพัฟฟ์ ข้าวโพดอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณมากที่สุดคือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีปริมาณน้อยที่สุดคือ 20 กรัม ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส ถูกสุดคือ 0.27 บาท ส่วนยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด แพงสุดคือ 0.61 บาท        -ยี่ห้อ เซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีส มีราคาขายถูกที่สุด (15 บาท) ห่อเล็กที่สุด (น้ำหนักสุทธิ 35 กรัม) และมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (390 มิลลิกรัม) หากลองเปรียบเทียบกับยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม ที่มีราคาเท่ากัน มีปริมาณใกล้เคียงกัน (43 กรัม) แต่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (25 มิลลิกรัม) จึงอาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการปรุงแต่งรสชาติกับปริมาณโซเดียมในขนมได้ ตัวอย่างในที่นี้คือรสชีสมีโซเดียมมากกว่ารสนม เพราะกรรมวิธีผลิตชีสนั้นใช้เกลือเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย        -ขนมข้าวโพดอบกรอบ/ทอดกรอบ รสชีส มีจำนวนมากที่สุดถึง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตั้งแต่ 140 - 390 มิลลิกรัม        -จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักหยิบขนมไม่ว่าจากห่อเล็กห่อใหญ่เข้าปากเพลินจนหมดในคราวเดียว ดังนั้นเมื่อลองคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมทั้งห่อแล้วจะพบว่า ยี่ห้อปาร์ตี้ คริสปี้ พาย ข้าวโพดทอดกรอบ รสคอร์นชีส มีโซเดียมมากที่สุดคือ 600 มิลลิกรัม และยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 53.75 มิลลิกรัม        -จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากันในทุกตัวอย่างชุดนี้ พบว่ามี 6 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ คือมีโซเดียมไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, โรลเลอร์ คอร์น ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, ทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส, ชาโชส บีบีคิว โบนันซ่า(ทอร์ทิลล่า ชิพ), ชีโตส ข้าวโพดทอดกรอบ รสอเมริกันชีส แล้วก็ โตโร ข้าวโพดคลุกน้ำตาลและเนย คำแนะนำ        -มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำว่า เด็กอายุ 2- 15 ปี โดยเฉลี่ย ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ และแต่ละมื้อควรได้รับโซเดียมปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัม        -ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ปกครองหรือเด็กเองควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม บนห่อขนม และเลือกซื้อขนมที่มีโซเดียมต่ำ หากเป็นขนมสุดโปรดที่มีโซเดียมสูง ให้แบ่งกิน หรือไม่ควรกินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น          - บางคนเลือกกินขนมกรุบกรอบห่อเล็กๆ เพราะเข้าใจว่ามีโซเดียมน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วบางยี่ห้อแม้ห่อเล็กแต่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่ากินห่อใหญ่ทั้งห่อก็มี             -พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและฝึกให้เด็กไม่กินของจุบจิบหรือขนมระหว่างมื้อ ชวนให้เด็กมากินผัก ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด หรือถั่วต่างๆ และชวนเด็กมาออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ        - ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภคบ้างแล้ว แต่ว่าอาจยังมีราคาสูง และยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างเท่าไหร่นัก ในเบื้องต้นผู้บริโภคเลือกได้โดยมองหาสัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.บนฉลากของขนมนั้นๆ           - ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรสมักมีสีเหลืองสวยชวนกิน ซึ่งอาจใช้สีผสมอาหารสีเหลือง 6 ซึ่งมาจากปิโตรเลียมใส่ลงไป และอาจมีการแต่งรสเทียม เช่น  Methyl benzoate และ Ethyl methylphenidate ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่        - ระวังเด็กเล็กๆ ที่อาจกินขนมข้าวโพดคั่วแล้วติดคอ เพราะมีเมล็ดข้าวโพดส่วนที่ยังแข็งอยู่ปนมาได้ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://thai.ac/news/show/354305http://healthierlogo.comhttps://kukr2.lib.ku.ac.th (บทความขนมขบเคี้ยวจากเครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ปริมาณโซเดียม ไขมัน และพลังงานใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี”

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีหรือที่เรียกว่า “รามยอน” ในภาษาเกาหลีนั้น คนไทยส่วนหนึ่งมักจะเรียกว่า “มาม่าเกาหลี”  ซึ่งปัจจุบันฮิตมาก มีหลายยี่ห้อถูกนำเข้ามาให้เลือกอย่างมากมาย หากจะถามว่าไทยเราได้อิทธิพลความนิยมนี้มาจากไหน ก็คงหนีไม่พ้นจากความโด่งดังของซีรีส์เกาหลีและการชื่นชอบนี้ทำให้หลายคนขณะดูตัวละครกำลังกินรามยอนอย่างเอร็ดอร่อย ก็แทบอยากจะหยิบซองบะหมี่มาต้มตามทันที         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีนอกจากนิยมกินเพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีแล้ว ก็คงเพราะเป็นอาหารที่กินง่าย และมีรสชาติถูกปากคนไทยด้วย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยต้องแลกด้วยการปรุงรสที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงชนิดหนึ่ง         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน เงื่อนไข วิธีการทดสอบ         ในการเตรียมตัวอย่างเพื่อทดสอบ ทางฉลาดซื้อใช้วิธีการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามที่แต่ละยี่ห้อระบุ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  วิธีการทดสอบใช้วิธีที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง         การทดสอบของฉลาดซื้อที่พบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่า ค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจากหนึ่ง ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และสอง มีผลิตภัณฑ์ 2 ตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ)           ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์          1.ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ กล่าวคือ พยายามแบ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่การบรรจุบะหมี่ฯ 1 ซองจะมีปริมาณเฉลี่ยที่ 120 กรัม           2.หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า คำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ขนมเวเฟอร์หวานมันกรอบๆ ก็มีโซเดียมนะ

        ใกล้เทศกาลปีใหม่แบบนี้ หากลองสังเกตขนมขบเคี้ยวยอดฮิตที่ใครๆ มักนำมาจัดในกระเช้าของขวัญแล้ว หนึ่งในนั้นน่าจะต้องมี ”ขนมเวเฟอร์” รวมอยู่แน่นอน ด้วยแผ่นแป้งพิมพ์ลายไขว้กันเหมือนรังผึ้งที่กรอบบางเบาเคี้ยวเพลิน ผสานกับเนื้อครีมสอดไส้หรือเคลือบไว้ที่หอมหวานมันอร่อยลิ้น จึงเป็นขนมที่ถูกปากถูกใจทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมานาน ทั้งยังกินง่าย หาซื้อง่าย มีหลายรสชาติหลากรูปแบบให้เลือกตามชอบ แต่ถ้ากินเยอะๆ บ่อยๆ ก็อ้วนง่ายด้วย เพราะมีทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมันที่ให้พลังงานสูง แถมยังพ่วงโซเดียมมาอีก         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยวจำนวน 400 ตัวอย่าง สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงขนมที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมเวเฟอร์ทั้งที่สอดไส้และเคลือบด้วยครีมรสชาติต่างๆ ในรูปแบบสี่เหลี่ยม แบบโรลและแบบสติ๊ก จำนวน 27 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564           ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในขนมเวเฟอร์        -ขนมเวเฟอร์ทั้งหมด 27 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายซองละ 5 - 45 บาท และมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 25 - 86 กรัม        -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อล็อคเกอร์ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้) มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 150 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่าปริมาณน้อยที่สุดคือ 23 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อล็อคเกอร์ 3 ตัวอย่างคือ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้),นาโปลิเทนเนอร์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมเฮเซลนัต) และมิลค์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสนม) ส่วนปริมาณที่มากที่สุดคือ 45 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อเดลฟี่ท็อป 4 ตัวอย่างคือ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ข้าวพองและคาราเมล, ทริปเปิ้ล ช็อก, คาปูชิโน และสตอเบอร์รี่ กับยี่ห้อล็อคเกอร์ 2 ตัวอย่างคือ วานิลลา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมวานิลลา) และโกโก้ แอนด์ มิลค์ (เวเฟอร์รสโกโก้สอดไส้ครีมนม)         ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม และ รสมะพร้าว มีราคาถูกสุดคือ 0.17 บาท ส่วนยี่ห้อล็อคเกอร์ ฟอนแดนท์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมดาร์กช็อกโกแลต มีราคาแพงสุดคือ 1.2 บาท        - จากตัวอย่างขนมขบเคี้ยวทั้งหมดที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สำรวจ ซึ่งแบ่งเป็น 9 ประเภทตามวัตถุดิบนั้นเมื่อเรียงลำดับปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากที่สุดในขนมแต่ละประเภทแล้ว พบว่าขนมเวเฟอร์อยู่รั้งท้าย (150 มก.) โดยลำดับที่หนึ่งคือมันฝรั่ง (1,080 มก.) รองลงมาคือปลาเส้น (810 มก.) ข้าวเกรียบและขนมอบกรอบ (560 มก.) สาหร่าย (510 มก.) ข้าวโพด (390 มก.) ถั่วและนัต ( 380 มก.) แครกเกอร์และบิสกิต (230 มก.) และคุกกี้ (220 มก.)        - จากที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจฉลากเวเฟอร์ช็อกโกแลตมาแล้ว ในครั้งนั้นได้ผลออกมาว่ามีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคอยู่ที่ 10 – 120 มิลลิกรัม และมี 6 ตัวอย่างที่นำมาสำรวจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งพบว่ายี่ห้อกัสเซ็น เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสช็อกโกแลต มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคจากเดิม 35 มิลลิกรัม ลดลงเป็น 30 มิลลิกรัม ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นยังเท่าเดิม        - จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากัน พบว่าขนมเวเฟอร์ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ปริมาณโซเดียมนี้แต่อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมันควบคู่ไปด้วย        - เมื่อคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมเวเฟอร์ทั้งซอง พบว่ายี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 45 มิลลิกรัม ยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 225 มิลลิกรัม        - มี 13 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักสุทธิ โดยมีปริมาณโซเดียมที่ 45 - 95 มิลลิกรัม        - ขนมเวเฟอร์รสโกโก้หรือช็อคโกแลต (แบบเคลือบ/สอดไส้) มีมากที่สุดคือ 10 ตัวอย่าง        - เวเฟอร์แบบสี่เหลี่ยมส่วนใหญ่จะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเวเฟอร์โรลและเวเฟอร์สติ๊กที่เป็นแบบแท่งๆ คำแนะนำ-บางคนอาจสงสัยว่าขนมเวเฟอร์ไม่เค็มแล้วทำไมถึงมีโซเดียมได้ เพราะยังเข้าใจว่าอาหารรสเค็มเท่านั้นที่มีโซเดียม แต่จริงๆ แล้วขนมอบรสหวานมันที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ต่างก็มีโซเดียมอยู่ เพราะผงฟูมีโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบ นั่นเอง ดังนั้นอย่าชะล่าใจกินขนมหวานซ่อนเค็ม(โซเดียม)เพลิน ทำให้ได้รับโซเดียมเกินโดยไม่รู้ตัว- ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ- ผู้ปกครองหรือคุณครูควรฝึกให้เด็กๆ ดูและเปรียบเทียบฉลากหวาน มัน เค็ม ให้เข้าใจพอจะเลือกเองได้  -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม  อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัมหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมเกินวันละ 2 มื้อด้วย    - หลายคนมักกินเวเฟอร์ที่บรรจุในซองเแยกเป็นชิ้นๆ ให้หมดในคราวเดียว เพราะขนมเวเฟอร์ไวต่อความชื้น ถ้าแกะซองแล้วกินไม่หมด ขนมที่เหลือก็จะนิ่มเหนียวไม่อร่อย จึงอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่แนะนำได้หากในฉลากระบุว่าควรแบ่งกินมากกว่า 1 ครั้ง ดังนั้นถ้าเผลอกินไปแล้วก็ต้องมาลดอาหารเค็มๆ อย่างอื่น และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย- ขนมเวเฟอร์แบบห่อ/กล่องใหญ่ ควรแบ่งขนมใส่จานไว้พอประมาณ แล้วปิดห่อ/กล่องให้สนิท- สำหรับขนมเวเฟอร์แบบแบ่งขายที่ไม่มีฉลากโภชนาการกำกับ หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือกินแต่น้อย- ใครชอบกินเวเฟอร์กับเครื่องดื่ม หากไม่อยากให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและไขมันเพิ่มอีก ควรดื่มเป็นน้ำเปล่า ชาร้อน กาแฟดำ หรือน้ำผลไม้คั้นสดเพื่อเลี่ยงโซเดียมจากน้ำผลไม้สำเร็จรูป- อย่าปักใจเชื่อว่าขนมเวเฟอร์ซองเล็กมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าซองใหญ่เสมอไป จริงๆ แล้วยังมีเวเฟอร์ซองเล็กบางยี่ห้อที่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่าซองใหญ่ซะอีกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 160 เรื่องทดสอบ “เวเฟอร์ช็อกโกแลต เผลอเคี้ยวเพลิน อ้วนแน่”ฉลาดซื้อฉบับที่ 243 เรื่องทดสอบ “สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย”http://healthierlogo.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 สำรวจฉลากแป้งทอดกรอบสำเร็จรูป

        อาหารชุบแป้งทอดกรอบเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติอร่อย เนื้อสัมผัสกรอบฟูเคี้ยวเพลิน ยิ่งกัดแล้วได้ยินเสียง “กร๊อบ กร๊อบ” ก็ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น ซึ่งอาหารทอดจะกรอบโดนใจได้นั้น สิ่งสำคัญคือ แป้งที่ใช้ชุบอาหารก่อนนำไปทอด ซึ่งปัจจุบันมี ”แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป” หลากหลายยี่ห้อ ที่ใช้ง่ายสามารถนำมาสร้างสรรค์เมนูชุบทอดได้ทั้งเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เห็ด ผัก ผลไม้ รวมถึงดอกไม้ ทำให้อาหารจานทอดนั้นฟูกรอบนานขึ้นด้วย         ชนิดและส่วนประกอบของแป้ง มีผลต่อลักษณะเนื้อสัมผัสและการพองตัวของผลิตภัณฑ์ชุบทอดที่แตกต่างกันไป เช่น เบานุ่ม (light) เปราะง่าย (fragiles) พองมาก (highly puffed) และแข็ง (dense) โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะชอบอาหารที่มีลักษณะเนื้อความกรอบ (crispy) มากกว่าลักษณะอื่นๆ ซึ่งแป้งทอดกรอบแต่ละยี่ห้อก็มีส่วนผสมของแป้งที่ตอบโจทย์ความกรอบแตกต่างกันไป นอกจากนี้บางสูตรยังมีการปรุงแต่งเพิ่มรสชาติด้วยผงชูรสและใช้สารช่วยเพิ่มความฟู ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างแป้งทอดกรอบสำเร็จรูปทั้งหมด 14 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ จากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีก ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อดูว่ามีส่วนประกอบของแป้งชนิดใดบ้าง และเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ                                                                        ผลการสำรวจฉลากแป้งทอดกรอบสำเร็จรูป             ชนิดของแป้ง พบว่ามีแป้งที่ใช้เป็นส่วนประกอบอยู่ 6 ชนิด ได้แก่ 1.แป้งสาลี(13 ตัวอย่าง)  2.แป้งข้าวเจ้า( 9 ตัวอย่าง) 3.แป้งมันสำปะหลัง (8 ตัวอย่าง)  4.แป้งข้าวโพด (8 ตัวอย่าง) 5.แป้งข้าวเหนียว (2 ตัวอย่าง)  6.แป้งดัดแปร (1 ตัวอย่าง)         เมื่อเปรียบเทียบริมาณของแป้งสาลีที่มีอยู่ในส่วนประกอบทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่ายี่ห้อบิ๊กซี แป้งชุบทอด มีมากที่สุดคือ 89% และยี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ มีน้อยที่สุดคือ 34.6%         ยี่ห้อ สิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย เป็นตัวอย่างเดียวที่ไม่มีส่วนประกอบของแป้งสาสี และระบุว่า Gluten Free ไว้บนฉลากชัดเจน         เมื่อนับจำนวนชนิดของแป้งที่อยู่ในส่วนประกอบ พบว่า แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของแป้ง 3 ชนิด มีจำนวนมากที่สุดคือ 7 ตัวอย่าง รองลงมามีแป้ง 2 ชนิด (4 ตัวอย่าง) และมีแป้ง 4 ชนิด (3 ตัวอย่าง)         สูตรส่วนผสมที่พบมากที่สุดคือ แป้งสาลี + แป้งข้าวเจ้า + แป้งข้าวโพด (4 ตัวอย่าง)         รองลงมาคือสูตรแป้งสาลี + แป้งมันสำปะหลัง (3 ตัวอย่าง)         ปริมาณโซเดียม   มี  4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อสิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย, รสดีเมนู แป้งชุบทอดปรุงรสสำเร็จ รสต้นตำรับ, โลโบ แป้งทอดกรอบ และยูเอฟเอ็ม แป้งทอดกรอบ           เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคที่ระบุไว้บนฉลากโภชนาการทั้งหมด 10 ตัวอย่าง พบว่ายี่ห้อบิ๊กซี แป้งชุบทอด มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุดคือ 780 มิลลิกรัม และยี่ห้อเหรียญทองคู่ แป้งทอดกรอบ สูตรกรอบนาน มีปริมาณโซเดียมต่ำที่สุดคือ 4 มิลลิกรัม         ราคา  เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่ายี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ มีราคาแพงที่สุดคือประมาณ 0.16 บาทต่อกรัม ส่วนยี่ห้อยูเอฟเอ็ม แป้งทอดกรอบ และโกกิ กุ้งทอง แป้งทอดกรอบ มีราคาถูกที่สุดคือประมาณ 0.04 บาทต่อกรัม ข้อสังเกต         - แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปทุกตัวอย่างมีโซเดียมอยู่ โดยมาจากเกลือ ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) และสารที่ช่วยให้ฟูซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แม้บางตัวอย่างจะระบุว่าไม่มีผงชูรส หรือไม่แสดงปริมาณโซเดียมไว้บนฉลากก็ตาม         - ยี่ห้อสิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย ระบุว่าไม่มีผงชูรส และไม่แสดงปริมาณโซเดียมไว้บนฉลาก หากผู้บริโภคไม่สังเกตว่ามีผงฟู(โซเดียมไบคาร์บอเนต)ในส่วนประกอบ อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่มีโซเดียม         - 13 ตัวอย่างที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร (แป้งสาลี/กลูเตน)ไว้ชัดเจน         - ในตัวอย่างที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ จะมีสัดส่วนของแป้งสาลีมากกว่าแป้งชนิดอื่นๆ ทั้งหมด ยกว้นยี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ ที่มีสัดส่วนแป้งข้าวโพด(44.4%) มากกว่าแป้งสาลี (34.6%)         - ยี่ห้ออิมพีเรียล แป้งชุบทอดกรอบ เป็นตัวอย่างเดียวที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นถุงซิปล็อค เพิ่มความสะดวกในการเก็บ เมื่อเปิดแล้วใช้ไม่หมดก็ปิดซิปไว้ได้         - ยี่ห้อโกกิ  แป้งประกอบอาหาร เป็นตัวอย่างเดียวที่ใช้แป้งดัดแปร (modified starch) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นแป้งที่ได้จากการนำแป้งธรรมชาติ อย่างแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า หรือแป้งข้าวโพด มาผ่านกรรมวิธีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำให้มีสมบัติเปลี่ยนไปตามที่ต้องการ เช่น ความหนืดลดลง เพิ่มความกรอบ โดยมีทั้งวิธีทางเคมี กายภาพ เอนไซม์ และจุลินทรีย์คำแนะนำการใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป        - ควรใช้ปริมาณแป้งและน้ำตามสัดส่วนที่แนะนำบนฉลาก เพื่อให้ได้ลักษณะความกรอบตรงตามสูตรนั้น ๆ         - แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปนั้นส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของแป้งสาลีเป็นหลัก ผู้บริโภคที่แพ้กลูเตนต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารชุบแป้งทอดมารับประทาน ควรทำเองจะปลอดภัยกว่า โดยเลือกใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปที่ไม่มีแป้งสาลี หรือระบุว่ากลูเตนฟรี หรือจะใช้แป้งอื่นๆ เช่น แป้งข้าวโพด ชุบทอดแทนก็ได้         - สำหรับคนที่อยากลองชุบทอดวัตถุดิบหลายๆ อย่างในคราวเดียว เลือกแป้งทอดกรอบอเนกประสงค์ที่ใช้ชุบทอดอาหารได้ทั้งเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ จะคุ้มกว่า เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับพ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ และมีสูตรแป้งให้เลือกตามความต้องการ เช่น สูตรกรอบฟู กรอบนาน และไม่อมน้ำมัน เป็นต้น        - หากต้องการประหยัดเวลา จะเลือกใช้แป้งทอดกรอบสูตรผสมเครื่องปรุงรสก็ง่ายดี แต่ถ้าใครแพ้ผงชูรสหรือเป็นโรคไต ไม่ควรใช้แป้งสูตรนี้ เพราะมีโซเดียมสูง        - อาหารทอดจะกรอบอร่อย กรอบนาน และไม่อมน้ำมัน นอกจากจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของแป้งทอดกรอบแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ผสมแป้ง ชนิดของน้ำมัน และวิธีการทอดด้วย ซึ่งก็มีหลายเทคนิคหลากเคล็ดลับให้เลือกทดลองทำได้ตามถนัด เช่น ใช้น้ำเย็นจัดผสมแป้ง ทอดด้วยน้ำมันปาล์มเดือด ตักพักขึ้นไว้บนตะแกรงพึ่งลมไล่ความชื้น หรือใช้กระดาษซับน้ำมันเพื่อไม่ให้ซึมกลับเข้าไปที่แป้งด้านใน เป็นต้น         สรุป แม้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปจะช่วยให้เราทำอาหารชุบแป้งทอดได้กรอบอร่อยและสะดวกขึ้น แต่อย่าลืมว่าในกระบวนการผลิตนั้นต้องผ่านการแต่งเติมเสริมเพิ่มสารเจือปนอาหารต่างๆ นานา เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามสูตรความกรอบอร่อยที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด หากบริโภคเข้าไปบ่อยๆ สารสังเคราะห์เหล่านั้นอาจเข้าไปสะสมในร่างกาย จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นการผสมแป้งทอดกรอบและปรุงรสตามชอบเอง ก็น่าจะได้รสชาติถูกปาก ปลอดภัย และประหยัดขึ้นอีกด้วย         .....................ข้อมูลอ้างอิงhttps://specialfood.co.th/http://www.foodnetworksolution.com/https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/25288https://somsaha.comhttps://goodlifeupdate.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 สำรวจปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรส

        "ซอสปรุงรส" เป็นซอสถั่วเหลืองที่มีรสชาติอร่อยเข้มข้น มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ นำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัด ต้ม แกง ทอด เหยาะจิ้ม หรือหมักเนื้อสัตว์ก็อร่อย         หลายคนติดความเค็มหวานหอมกลมกล่อมของอาหารรสซอสปรุง จนอาจลืมไปว่าซอสปรุงรสซึ่งผ่านกระบวนการปรุงด้วยส่วนผสมต่างๆ นั้น มักมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง หากเผลอกินมากไปอาจมีอันตรายแอบแฝงและโรคร้ายตามมาได้           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสอาหารและซอสผัด จำนวน 10 ตัวอย่าง (6  ยี่ห้อ) จากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกมาเปรียบเทียบฉลากว่ายี่ห้อไหนมีปริมาณโซเดียมที่แสดงไว้บนฉลากมากหรือน้อยกว่ากัน  ผลการเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรส        เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 1 ช้อนโต๊ะ (15 มิลลิลิตร) พบว่า         - ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสอาหาร หมักธรรมชาติ มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ 1,280 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค และยี่ห้อแม็กกี้ ซอสผัดสำเร็จรูป ออล-อิน-วัน มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 740 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค         - มี 4 ตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณโซเดียมได้ เพราะไม่มีระบุในฉลากโภชนาการ ได้แก่ ทาคุมิอายิ ซอสผัด สูตรน้ำมันงาและพริกไทย, คิคุแมน ซอสผัด สไตล์ญี่ปุ่น, เด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว และง่วนเชียง ซอสปรุงรสอาหารฉลากเขียว กลิ่นคั่วกระทะ         - จาก 6 ตัวอย่างที่แสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ พบว่ามีปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,110 มิลลิกรัม /หน่วยบริโภค ข้อสังเกต         หากลองคำนวณเปรียบเทียบราคาในปริมาณต่อหน่วย (100 มิลลิลิตร) พบว่ามีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 บาท             - ยี่ห้อคิคุแมน ซอสผัด สไตล์ญี่ปุ่น มีราคาต่อหน่วยแพงที่สุดคือ 26 บาท         - ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว มีราคาต่อหน่วยถูกที่สุดคือ 3.6 บาท           - พบ 6 ตัวอย่างที่ระบุว่าใส่สารกันเสีย และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ได้ระบุไว้ ในขณะที่ยี่ห้อภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) ระบุชัดเจนว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย         - ทุกตัวอย่างใส่วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร พบ 9 ตัวอย่างใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต/โมโนโซเดียมแอล-กลูตาเมต) และ 8 ตัวอย่างใส่ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์ (ให้รสเข้มข้นกลมกล่อมกว่าผงชูรส 50-100 เท่า แต่มีราคาสูง ในอุตสาหกรรมอาหารจึงใช้ในปริมาณน้อย และเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่แพ้ผงชูรส)         - ยี่ห้อ ทาคุมิอายิ ซอสผัด สูตรน้ำมันงาและพริกไทย ใส่วัตถุปรุงแต่งรสอาหารมากที่สุดคือ 4 ชนิดและมี 3 ตัวอย่างที่ใส่ชนิดเดียว ได้แก่ แม็กกี้ ซอสผัดสำเร็จรูป ออล-อิน-วัน (โมโนโซเดียมกลูตาเมต), ภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) (ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์) และ เด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว (โมโนโซเดียมแอล-กลูตาเมต)         - ยี่ห้อภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) ระบุว่าไม่มีผงชูรส MSG แต่ใช้ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์เป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งเป็นโซเดียมชนิดหนึ่ง หากบริโภคในปริมาณมากเกินไปก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต ได้         - ยี่ห้อภูเขาทอง ซอสปรุงรสอาหาร เจ เป็นตัวอย่างเดียวที่ไม่มีส่วนประกอบของข้าวสาลีหรือแป้งสาลีผสมอยู่ น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่แพ้กลูเตน คำแนะนำ         - องค์การอนามัยโลกแนะนำให้จำกัดการบริโภคโซเดียมในแต่ละวันให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัม แต่จากผลการวิจัยพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า ดังนั้นเมื่อเรากินข้าวนอกบ้าน ควรชิมก่อนปรุง ถ้าหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่มได้ยิ่งดี และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ส่วนใหญ่ละลายอยู่ในน้ำแกงหรือน้ำซุป         - หากปรุงอาหารเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหารที่มีโซเดียมอยู่ เช่น ซอสปรุงรส น้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ กะปิ ผงปรุงรสหรือซุปก้อน และควรตวงก่อนปรุง หรือเลือกใช้ส่วนผสมสมุนไพรและเครื่องเทศมาปรุง เพื่อช่วยแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหารให้กลมกล่อม รวมทั้งการใช้รสชาติอื่นมาทดแทน เช่น รสเปรี้ยวจากมะนาว รสเผ็ดจากพริก จะช่วยดึงรสเค็มขึ้นมาพร้อมกับยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย         - อย่าปรุงมากเกินไป บางคนผัดผักจานเดียวใส่ทั้งซอสปรุงรส น้ำปลา ซอสน้ำมันหอย และผงปรุงรส ยิ่งใส่เยอะร่างกายก็ได้รับโซเดียมเยอะตามไปด้วย ลองเลือกใช้วัตถุดิบที่มีรสอูมามิหรือรสอร่อยกลมกล่อมอยู่ในตัวมาทำอาหาร เช่น เห็ด มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า เนื้อสัตว์ และชีส จะได้ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงหรือซอสต่างๆ ให้มากมาย         - เลือกซื้อซอสปรุงรสในบรรจุภัณฑ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ ฝาขวดปิดสนิท ภายนอกขวดไม่ชำรุดหรือมีรอยแกะและหากบ้านไหนมีเด็กๆ ควรเลือกใช้ขวดพลาสติกจะปลอดภัยและสะดวกกว่าใช้ขวดแก้ว         - เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและมี อย. เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งตระกูล 3-MCPD ที่อาจปนเปื้อนมาจากกระบวนการผลิตซอสปรุงรส         - ผู้บริโภคควรพิจารณาปริมาณโซเดียมบนฉลากโชนาการของผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อข้อมูลอ้างอิงโครงการลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ในประเทศไทยwww.thaihealth.or.thhttps://my-best.in.th/49587www.smethailandclub.comhttp://webdb.dmsc.moph.go.thhttps://www.greenery.org/articles/g101-01sauce/https://news.thaipbs.or.th/content/280076

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในกาแฟสำเร็จรูป

        ทุกวันนี้คนวัยทำงานนิยมดื่มกาแฟกันมาก เพราะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการให้ร่างกายทำงานโดยไม่มีอาการง่วงซึมระหว่างวัน เพราะในกาแฟมีสารคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นการตื่นตัวของสมอง ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า อย่างไรก็ตามได้มีผู้ผลิตหัวใสใส่ไอเดียเพิ่มความพิเศษให้กาแฟด้วยการโฆษณาว่า ดื่มเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ด้วยโดยเฉพาะคุณผู้ชาย ซึ่งผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปในรูปแบบนี้จะอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยให้อวัยวะเพศชายของผู้บริโภค ฟิตเปรี๊ยะ อึด ทน เมื่อดื่มจะมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่าเป็นฤทธิ์จากสมุนไพรที่นำมาผสมในกาแฟ แต่แท้จริงแล้วเกิดจากการนำยากลุ่มรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศผสมในกาแฟ ซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้         นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ LAZADA และ SHOPEE จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 เพื่อทดสอบหาสารซิลเดนาฟิล ( Sildenafil) ,ทาเดลาฟิล (Tadalafil) ,วาเดนาฟิล(Vardenafil) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ  สรุปผลทดสอบ        ผลการทดสอบหาสาร(ยา) ซิลเดนาฟิล ( Sildenafil),ทาเดลาฟิล(Tadalafil) ,วาเดนาฟิล(Vardenafil) ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปทั้ง 23 ตัวอย่าง พบว่า 7 ใน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์พบสารซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาเดนาฟิล ดังนี้        1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) พบสารซิลเดนาฟิล ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา        2. NATURAL HERBS COFEE Kopi Jantan Tradisional พบสารซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา        3. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง  พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE        4. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE        5. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ พบสารซิลเดนาฟิล LAZADA ONLINE        6. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว(ม้า 3 ตัว) พบสารซิลเดนาฟิล LAZADA ONLINE        7. AAAAA Kopi Jantan Tradisional พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผสมยาแผนปัจจุบันมีโทษตามกฎหมาย     ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยและมีสารซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ถือว่าเป็น”อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 สำรวจฉลากโภชนาการ “นมทางเลือกพร้อมดื่ม”

        ผลิตภัณฑ์นมที่เรารู้จักและดื่มกันมาเนิ่นนานคือ นมวัวและนมถั่วเหลือง แต่ปัจจุบันมีนมให้เลือกหลากหลายมาก ทั้งจากสัตว์คือนมแพะ และจากพืชคือนมข้าว นมถั่ว และนมมะพร้าว ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นจัดเป็นทางเลือกให้กับคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตสและโปรตีนจากนมวัว ต่อมากระแสนิยมเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแพร่หลายในวงกว้าง ผู้ผลิตจึงพัฒนาสูตร ‘นมทางเลือกพร้อมดื่ม’ ต่างๆ มาตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเลือกอาหารการกินที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น         ทว่า นมเหล่านี้จะเป็นนมทางเลือกเพื่อสุขภาพตามที่มักพูดติดปากกันจริงแค่ไหน ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปสำรวจปริมาณสารอาหารในนมทางเลือกพร้อมดื่มจำนวน 16 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ โดยดูฉลากว่ายี่ห้อไหนมีน้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน รวมทั้งดูปริมาณพลังงาน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตด้วย ซึ่งผลสำรวจจะเป็นอย่างไรนั้น เราไปดูกันผลสำรวจฉลากโภชนาการ“นมทางเลือกพร้อมดื่ม”         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน น้ำตาล โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค พบว่า         1.พลังงาน - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสูงที่สุดคือ 180 กิโลแคลอรี ส่วนยี่ห้อบลูไดมอนด์ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ รสออริจินอล และ 137 ดีกรี น้ำนมพิสตาชิโอ เบลนด์หิมพานต์ สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน มีต่ำที่สุดคือ 45 กิโลแคลอรี         2.น้ำตาล - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอก มีสูงที่สุดคือ 14 กรัม ส่วนยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวัน นั้นไม่มีน้ำตาลเลย          3.โปรตีน - ยี่ห้อศิริชัย เครื่องดื่มนมแพะ ยูเอชที มีสูงที่สุดคือ 6 กรัม ส่วนนมที่มีโปรตีนต่ำที่สุดคือไม่ถึง 1 กรัม มี 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อยูเอฟซี เวลเวท เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว รสจืด, ซันคิสท์ เครื่องดื่มน้ำนมพิสทาชิโอ รสออริจินอล, ฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ137 ดีกรี น้ำนมวอลนัท สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน         4.คาร์โบไฮเดรต - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสูงที่สุดคือ 31 กรัม และต่ำที่สุดคือ 1 กรัม ในยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวันข้อสังเกต- แม้จะผลิตจากน้ำนมมะพร้าวเหมือนกัน แต่กลับให้พลังงานต่างกันมาก โดยตัวอย่างยี่ห้อเพียวฮาร์เวสต์ ให้พลังงาน 144.5 กิโลแคลอรี ในขณะที่ยี่ห้อยูเอฟซี เวลเวท ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี- นมทางเลือกส่วนใหญ่มาจากพืช มีเพียงตัวอย่างเดียวคือ นมแพะที่มาจากสัตว์ -มี 8 ตัวอย่าง เติมน้ำตาลเพิ่มในส่วนผสม- มี 5 ตัวอย่าง เติมแคลเซียมธรรมชาติเพิ่มในส่วนผสม- มี 6 ตัวอย่าง ระบุว่า แต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติหรือแต่งกลิ่นธรรมชาติ- ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอก มีน้ำตาล 14 กรัม ถ้าดื่มวันละ 2 กล่อง ก็จะได้รับน้ำตาลเกินต่อปริมาณที่แนะนำ คือไม่ควรเกินวันละ 24 กรัมต่อวัน (6 ช้อนชา) ในแต่ละวันแล้ว-หากลองคำนวณเปรียบเทียบราคาในปริมาณต่อกล่องที่ 180 มิลลิลิตร พบว่า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18-19 บาท ยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมพิสตาชิโอ เบลนด์หิมพานต์ สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 28 บาท ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 9-10 บาท ได้แก่ ยี่ห้อวี-ฟิท ทั้งเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ และเครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอกคำแนะนำ- ควรเขย่าก่อนดื่ม แช่เย็นจะช่วยให้ดื่มง่ายและอร่อยขึ้น ถ้าเปิดกล่องแล้วต้องแช่ตู้เย็น และควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าเป็นกล่องใหญ่ภายใน 3-5 วัน- หากดื่มนมจากพืชเป็นหลัก ควรบริโภคอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กัน เพราะนมจากพืชให้ปริมาณโปรตีน แคลเซียม และวิตามินต่างๆ น้อยกว่านมจากสัตว์ จึงควรเพิ่มโปรตีนจากไข่ หรือแคลเซียมจากปลาเล็กปลาน้อยเสริม หรือหากกินมังสวิรัติก็จัดเมนูเต้าหู้และผักใบเขียวเพิ่มด้วย- สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลี่ยงน้ำนมข้าวต่างๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด เพราะมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตรวมอยู่ด้วย อาจมีผลกระตุ้นให้อาการเบาหวานกำเริบหรือแย่ลงได้- นมจากพืชไม่เหมาะให้เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโตดื่มเป็นหลัก เพราะให้พลังงานและโปรตีนน้อยกว่านมจากสัตว์ แต่ให้เด็กๆ ดื่มเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารและรสชาติที่หลากหลายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >