ฉบับที่ 236 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอ

นอกจากแคบหมูกับน้ำพริกหนุ่มที่เป็นของฝากยอดฮิตของเมืองเหนือแล้ว หมูยอก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากเช่นกัน โดยก่อนนี้ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 221 เดือนกรกฎาคม 2562 ได้ทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มกันไปแล้ว ฉบับนี้จึงขอเก็บผลิตภัณฑ์หมูยอนำมาทดสอบกันบ้าง หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างหมูยอมาทดสอบเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ในฉบับที่ 95 (เดือนมกราคม 2552)        หมูยอเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่พร้อมนำมาปรุงอาหารได้ง่ายๆ เหมือนกับลูกชิ้นและไส้กรอก มีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ เนื้อหมู, แป้งมันสำปะหลัง, เกลือ, พริกไทย และเครื่องปรุงรส หมูยอนิยมนำไปทำเมนูอาหารได้หลากหลาย จัดเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน ผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด มีทั้งแบบห่อด้วยใบตองเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม และมีแบบห่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกใสที่สามารถเห็นชิ้นหมูยอได้ชัดเจน เรื่องความอร่อยขึ้นอยู่กับรสนิยม แต่ในเรื่องความปลอดภัยจากวัตถุเจือปนอาหารอย่างเช่น สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียนั้น ฉลาดซื้ออาสาทดสอบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันในฉบับนี้         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในจังหวัดภาคเหนือ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ สรุปผลการทดสอบ         จากตารางแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า         มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่         1) บิ๊กซี หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ        2) บ้านไผ่ หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ         และ     3) ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ              มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่        1) เอโร่ aro จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.34  มก./กก.                 2) เซพแพ็ค Savepak จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.68  มก./กก.                 3) 444 ตองสี่ จาก ร้านตองสี่ ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  860.23 มก./กก.          4) ป้าปี๋ (ขนาดใหญ่ ซองสีแดงเหลือง)             พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  883.96 มก./กก.        และมีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ หมูยอ พญาลอ พบปริมาณกรดซอร์บิก 1652.41 มก./กก.         โดย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศฯ ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีไว้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม         ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ในอาหารประเภทหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว,เนื้อหมู,เนื้อไก่) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อนเอาไว้ ดังนั้นตามข้อกำหนดจึงไม่สามารถใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์หมูยอได้         แต่จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า หมูยอ ที่ส่งทดสอบจำนวน 30 ตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในจำนวน 23 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 3.18 – 3874.95 มก./กก.        ข้อสังเกตการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย         จากการสังเกตเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 27 ตัวอย่างที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีเพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 40.74) ที่แสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์         ข้อสังเกตการแสดงวันผลิตและหมดอายุ         จากการสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง มีเพียง 10 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 33.33) ที่แสดงข้อมูลวันผลิตหรือวันหมดอายุ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่างที่วางจำหน่ายในตลาดสด หรือร้านของฝาก ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ อาจเนื่องมาจากเป็นสินค้าที่ผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง แบบวันต่อวัน        เปรียบเทียบราคาต่อกรัม         เมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อกรัมของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่มีราคาจำหน่ายสูงสุดนั้นอยู่ที่ 0.35 บาท/กรัม ได้แก่ ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ และราคาจำหน่ายต่ำสุดนั้นอยู่ที่ 0.06 บาท/กรัม ได้แก่ โกบอม, พานทอง และ หมูยอเส้น เจ๊รดา ทั้งสามตัวอย่างซื้อจากตลาดสดบ้านดู่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งหากลองเฉลี่ยราคาจำหน่ายของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.17 บาท/กรัม        ข้อสังเกตอื่น ๆ         จากการตรวจสอบข้อมูลเลขสารบบอาหาร พบว่า เลข อย.ที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่าง ตรวจไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ มีชื่อผลิตภัณฑ์ หรือ สถานที่ผลิต ไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล        ข้อแนะนำในการบริโภค         หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากจำพวกหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น ไส้อั่ว ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากไม่มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก อาจเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ซึ่งแม่ค้าปรุงและนำมาขายเอง ก็ให้สอบถามจากแม่ค้าดูว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่         นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย  ข้อมูลอ้างอิง- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2544 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ในปลาสลิดตากแห้ง

ปลาสลิด หรือ ปลาใบไม้ เป็นปลาน้ำจืดที่เป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของไทย ปลาชนิดนี้นิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาสลิดตากแห้ง (ปลาสลิดแดดเดียว) โดยแหล่งผลิตและแปรรูปปลาสลิดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีคือ ปลาสลิดบางบ่อ (อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความหอมมันของเนื้อปลา          ปลาสลิดแดดเดียวนับเป็นอาหารแปรรูปแบบแห้งที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานไม่แพ้อาหารทะเลตากแห้งจำพวกปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง เพราะปลาสลิดมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อปลามีความมัน สามารถนำไปทอด แกงส้ม ผัดกะเพรา ทำข้าวผัดปลาสลิด ยำปลาสลิด ผัดพริกขิงปลาสลิดกรอบ ผัดคะน้าปลาสลิด แล้วแต่จะรังสรรค์เมนูต่างๆ นานา ก็ล้วนอร่อยแทบทั้งนั้น แต่ผู้บริโภคเคยสังเกตหรือไม่ว่า ร้านอาหารทะเลหรือเนื้อสัตว์ตากแห้งในตลาดสด ปกติแล้วจะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าแมลงวัน ซึ่งแน่นอนว่าหากร้านไหนมีแมลงวันมาตอมอาหาร ก็จะดูไม่สะอาดและไม่ถูกหลักอนามัย หากเป็นช่วงก่อนนี้ แม่ค้าก็จะใช้ถุงน้ำแขวนไว้ หรือ ใช้ไม้พันปลายด้วยพู่เชือกฟางปัดๆ เอา บางร้านอาจใช้มอร์เตอร์ติดก้านไม้ปัดแมลงที่หมุนได้อัตโนมัติเพื่อไล่แมลงเหล่านี้ไม่ให้มายุ่งกับอาหารหากไปเจอร้านที่ไม่มีอุปกรณ์ไล่แมลงเลย แต่กลับไม่มีแมลงตอมสักตัว อันนี้ผู้บริโภคก็อย่าได้วางใจ อาจตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าแม่ค้าใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นหรือไม่ ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่มีการตรวจพบจากหน่วยงานว่า แม่ค้าบางร้านใช้ยาฆ่าแมลง “ดีดีที” (DDT) หรือ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ฉีดพ่นปลาสลิดแห้งที่วางจำหน่าย เพื่อไม่ให้มีแมลงวันมาตอม          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีในอาหารอย่างสม่ำเสมอ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (ปลาสลิดแดดเดียว) จำนวน 19 ตัวอย่าง ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยส่งตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต (Pesticides Organophosphorus) และในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pesticides Pyrethroid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ สรุปผลการทดสอบ          จากผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทั้งหมด 19 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทุกตัวอย่าง ตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และ ในกลุ่มไพรีทรอยด์ ข้อสังเกตอื่นๆ          จากตารางข้างต้น หากเปรียบเทียบราคาต่อกิโลกรัมของผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง ทั้ง 19 ตัวอย่างนั้น พบว่า          - ตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ที่มีราคาต่อกิโลกรัม ต่ำที่สุด คือ 180 บาท/กก.              ได้แก่ ร้านตี๋ใหญ่ ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ และ ล้านมัจฉาอาบแดด ร้านป้าแจ๋ว วัดป่าเลไลย์ /จ.สุพรรณบุรี    และ   ตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ที่มีราคาต่อกิโลกรัม สูงที่สุด คือ 442.86 บาท/กก.            ได้แก่ โลตัส Express สาขาเซ็นเตอร์วัน            ทั้งนี้ หากลองเฉลี่ยราคาต่อกิโลกรัมของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทั้งหมด 19 ตัวอย่าง จะได้ราคาเฉลี่ยเท่ากับ 277.76 บาท/กก. ข้อแนะนำผู้บริโภค          การเลือกซื้อปลาสลิดแดดเดียว ควรเลือกซื้อปลาที่มีกลิ่นหอม (แต่ไม่ใช่กลิ่นสาบดินโคลน) เนื้อปลาไม่แห้งจนเกินไป สังเกตที่บริเวณท้องควรมีความมันเลื่อมอยู่บ้าง ใช้นิ้วกดดูที่เนื้อบริเวณด้านหลังจะดีดตัวกลับ และสังเกตว่าปลาสลิดตากแห้งนั้นมีแมลงมาตอมบ้างหรือไม่ หากไม่มีเลยอาจดูผิดแปลกธรรมชาติ ก็อย่าได้วางใจเมื่อซื้อมาแล้วก่อนนำมาปรุงอาหารรับประทาน ควรล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง ใช้มีดบั้งปลาก่อนนำลงทอดให้กรอบ หรือหากต้องการเก็บปลาสลิดเอาไว้ในตู้เย็น ควรล้างปลาสลิดให้สะอาดแล้วซับน้ำให้แห้งเสียก่อน จึงมัดใส่ถุงพลาสติกให้สนิท หรือ อาจเก็บไว้ในถุงสุญญากาศ นำเข้าแช่เย็น หรือช่องแช่แข็ง ก็จะเก็บได้นานขึ้น ข้อมูลอ้างอิง        - การเลี้ยงปลาสลิด, กรมประมง (https://www.fisheries.go.th/sf-naratiwas/salid.html)         - https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาสลิด         - Pesticides / วัตถุอันตรายทางการเกษตร               (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1230/pesticides-วัตถุอันตรายทางการเกษตร)         - วัตถุอันตรายทางการเกษตร : ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต          (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2187/)         - สารกำจัดแมลงและศัตรูพืชกลุ่มไพรีทรัม และสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์          (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/pyrethrum_and_pyrethroides_2.pdf)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ผลทดสอบพาราควอตในน้ำปูหรือน้ำปู๋

        น้ำปูหรือน้ำปู๋ คือ อาหารพื้นเมืองและดั้งเดิมของภาคเหนือ โดยเป็นเครื่องปรุงรสกลุ่มเดียวกันกับกะปิ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น ซึ่งวิธีการทำน้ำปูนั้น ชาวบ้านจะนำปูนามาล้างให้สะอาด ใส่ใบขมิ้นและตะไคร้โขลกรวมกันจนละเอียด นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำกรองเอาแต่น้ำปู จากนั้นเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียวเป็นสีดำ โดยการทำน้ำปูนั้นใช้ปูนาเป็นจำนวนมากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะได้น้ำปูปริมาณเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น         ทำไมต้องทดสอบสารพาราควอตในน้ำปู ทั้งที่มีประกาศแบนหรือห้ามการใช้สารชนิดนี้แล้ว (เมื่อ 1 มิถุนายน 2563)  เหตุหนึ่งเพราะต้องการตอบข้อสงสัยที่ว่า พาราควอต ซึ่งถูกใช้ในการกำจัดวัชพืชในนาข้าวนั้นจะยังคงเหลือตกค้างอยู่ในนาหรือไม่ โดยเฉพาะการตกค้างในสิ่งมีชีวิตตัวเล็กอย่างปูนา ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะทางภาคเหนือที่มีการนำมาทำน้ำปู ทั้งนี้ในงานวิจัยเมื่อปี 2561 ของ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ชี้ว่าสารพาราควอต ซึ่งเป็นสารฆ่าหญ้ามีการตรวจพบในกบ ปู หอย แม้ว่าจะเป็นสารที่เน้นใช้กำจัดวัชพืช แต่ก็มีการสะสมไปที่ตัวสัตว์ด้วย ข้อมูลในจังหวัดน่าน (พื้นที่ศึกษา) พบว่ามีการปนเปื้อนพาราควอต 24 – 56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมในปูนา และอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อร่างกายมนุษย์เมื่อมีการบริโภคเป็นทอดๆ ต่อมา เช่น การนำปูนามาแปรรูปเป็นน้ำปู คนในพื้นที่ก็อาจได้รับสารพาราควอตไปด้วย         ผลการวิจัยของจุฬาฯ ถูกใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อแบนสารพาราควอต ซึ่งฉลาดซื้อเองก็เคยทำเรื่องทดสอบ สารพาราควอตในปูนาดองเค็มที่นิยมใช้ในการทำส้มตำ ซึ่งการทดสอบครั้งนั้นไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต อย่างไรก็ตามการเก็บตัวอย่างทำแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีข้อมูลว่า ปูนาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปูนาดองนั้นเป็นปูเลี้ยงไม่ใช่ปูนาที่จับมาจากธรรมชาติ         อย่างไรก็ตามได้มีการนำข้อมูลของฉลาดซื้อไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชะลอการแบนพาราควอตหรือยกเลิกการแบนเช่นเดียวกับสารไกลโฟเสต (https://siamrath.co.th/n/178426?fbclid=IwAR3MIbmAiAfl3TT3d91Wpd3uQ87UlXxTaHCu7tr6GEx_YVLQ0CiVRiyB-eg)  เพราะปูนาดองมีความปลอดภัย ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับฐานข้อมูลเดิมที่เกิดจากงานวิจัยของทางจุฬาฯ และฉลาดซื้อไม่เคยทดสอบน้ำปู         ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อ  และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต (paraquat)          ผลการทดสอบ        พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่        1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        8.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        พาราควอต ทำไมถึงสั่งแบน         "พาราควอต" สารเคมีกำจัดวัชพืช มีคุณสมบัติทำลายการสังเคราะห์แสงของใบไม้เมื่อฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นใบเขียวจะทำให้วัชพืชเหี่ยวและตายไป โดยกลไกการทำงานของพาราควอตนั้น กำจัดเฉพาะศัตรูพืชเท่านั้นไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากและโคนต้น ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนที่ต่ำจึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างกว้างขวาง เป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย         มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยเมื่อปี 2560 ซึ่งค้นพบกลไกที่พาราควอต ทำลายเซลล์ประสาทจากการสร้างอนุมูลอิสระพิษ และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศที่ชี้ว่า พาราควอตเพิ่มโอกาสการเป็นพาร์กินสันร้อยละ 67-470 อีกทั้งการใช้พาราควอตในประเทศไทยยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมารดาและทารกด้วย โดยงานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในในซีรัมมารดาและสายสะดือทารกมากถึงร้อยละ 17-20 จากการประเมินของนักวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร มีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอตคิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และการตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิดคือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า พาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้องด้วย         สถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า จากการตรวจสอบการปนเปื้อนสารของสารพิษบนพื้นที่ต้นแม่น้ำน่านในช่วงฤดูเพาะปลูก พบว่า จากตัวอย่างน้ำผิวดินพบพาราควอตปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดินพบพาราควอต 13 แห่ง จากตัวอย่าง 15 แห่ง สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืชสัตว์และแหล่งน้ำอื่นๆ ได้        สอดคล้องกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่พบสารพาราควอตในผักผลไม้ ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกในระดับเกินมาตรฐาน “การสะสมของพาราควอตในผัก ผลไม้ไม่สามารถล้างออกได้ ต่อให้เอาผักไปต้มก็กำจัดไม่ได้เช่นกัน เพราะจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เราทุกคนจึงมีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคพืชผักผลไม้เหล่านั้น” รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่มา "พาราควอต" คืออะไร ทำไมต้องขอแบน?https://news.thaipbs.or.th/content/277809

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รี

        แยม เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ นิยมนำมาทาบนขนมปังเพื่อเพิ่มรสชาติ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรด (spreads) หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้ายหรือทาบนขนมปังที่ได้รับความนิยมมาก แต่หลายครั้งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในแยมที่วางจำหน่ายทั่วไปนั้นมีปริมาณของเนื้อผลไม้อยู่สักแค่ไหน ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงค้นหาข้อมูลตรงนี้มาฝากผู้บริโภค โดยเราเลือกผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในบรรดาแยมรสต่างๆ         เราซื้อผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รีจำนวน 34  ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซื้อจากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไป นำมาพิจารณาสัดส่วนของเนื้อผลไม้หรือเนื้อสตรอว์เบอร์รี ซึ่งได้แจ้งไว้บนฉลากว่ามีปริมาณเท่าไร พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม (บางผลิตภัณฑ์แสดงเป็น มิลลิลิตร)            มาดูกันว่า แยมสตรอว์เบอร์รียี่ห้อไหน ให้เนื้อสตรอว์เบอร์รีเยอะสุด   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ผลทดสอบโลหะหนัก ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ

        ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 231 (เดือนพฤษภาคม 2563) ได้สำรวจและทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋องไปแล้ว และเพื่อเฝ้าระวัง “ปลากระป๋อง” อาหารคู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ในฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง ชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศบ้าง         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินทั่วไปจำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลาก ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์แสดงในหน้าถัดไป         สรุปผลการทดสอบ         พบว่า ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศจำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท*         ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน         *ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา           โดยประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฯ ฉบับใหม่นี้เช่นกัน  ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง         พบว่า ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ สามแม่ครัว ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียม เท่ากับ 230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ½ กระป๋อง (77 กรัม)         และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุด คือ ยี่ห้อ ซูมาโก ซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 660 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ 1 กระป๋อง (125 กรัม)         ทั้งนี้ในแต่ละยี่ห้อมีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ½ กระป๋อง (ประมาณ 77 กรัม) ถึง 1 กระป๋อง (ประมาณ 125 กรัม) ดังนั้นการพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากการบริโภค จึงต้องเปรียบเทียบหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำประกอบกันไปด้วย และ โดยทั่วไปปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของอาหารในกลุ่มอาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้วที่ปิดสนิท หรือในซองอะลูมิเนียมฟอยล์ จำพวกเนื้อสัตว์ ปลา หอย ในซอส เช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศอยู่ที่ 85 กรัม  คำแนะนำในการบริโภค         แม้ว่าปลากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก อยู่บ้างจากการสะสมในธรรมชาติ ซึ่งแม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        สำหรับการเลือกซื้อปลากระป๋องนอกจากการอ่านข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ เช่น สถานที่ผลิตที่น่าเชื่อถือ เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) สังเกตวันหมดอายุแล้ว ยังควรตรวจดูสภาพของกระป๋องว่าไม่บุบ โป่ง บวม มีรอยรั่ว หรือเป็นสนิม        ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือความเสี่ยงจากสารอันตรายที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้        นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน หากบริโภคมากจนเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - กิน "ปลากระป๋อง" อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ   (https://news.thaipbs.or.th/content/254561) - บทความ Histamine, กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง  (https://www.fisheries.go.th/quality/บทความ-Histamine-300658-Final.pdf) - ปลาซาร์ดีน (Sardine), ฐานข้อมูลงานวิจัยปลาทูน่าและปลาซาร์ดีน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)     (http://agknowledge.arda.or.th/tuna&sardine/?page_id=264)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

เครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเติบโตทางการตลาดสูงในปัจจุบันก็คือ เครื่องดื่มผสมวิตามินซี โดยมีมูลค่าการตลาดเมื่อปี 2562 สูงถึง 933 ล้านบาทและก้าวเข้าสู่หลัก 1,300 ล้านบาทในปี 2563          เครื่องดื่มผสมวิตามินซีนั้น จัดเป็นเครื่องดื่มประเภทฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) หรือ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Health Beverage) เครื่องดื่มเหล่านี้จะอ้างสรรพคุณว่าเพิ่มเติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละวัน เช่น เสริมกรดอะมิโน, ช่วยเผาผลาญไขมัน, ช่วยชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการออกกำลังกาย, ผสมสารสกัดจากสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคต่าง ๆ จนไปถึงคอลลาเจนและสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเครื่องดื่มผสมวิตามินซีจะเน้นการโฆษณาที่จุดขายนี้         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสนับสนุนระบบการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 21 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี ว่าเป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหรือไม่ โดยผลตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางหน้าถัดไป                                                                                                ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น                                                                                                เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกรกฎาคม 2563                                                                                                *ค่า RDI (สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน  สรุปผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี          จากผลการทดสอบ พบว่า        (1) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี มากที่สุด ได้แก่              - เครื่องดื่มวู้ดดี้ ซี+ล็อค วิตามินซี 200% (ขนาด 140 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 496.76 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (140 มล.)                 หรือเท่ากับ 354.83 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (2) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี น้อยที่สุด ได้แก่             - อควาฟิน่า ไบโอ น้ำผสมวิตามินซี กลิ่นออเร้นจ์โรส (ขนาด 350 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 30.73 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (350 มล.)                หรือเท่ากับ 8.78 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (3) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบไม่พบปริมาณวิตามินซีเลย จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่                1) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 (ขนาด 345 มล.)                 2) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ออเรนจ์ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสส้ม 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร (ขนาด 100 มล.)                      3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)                4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นส้มผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)        (4) เมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 11 ตัวอย่างที่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลาก และจำนวน 10 ตัวอย่างไม่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหมายเหตุ ค่า RDI ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน (Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป)  ข้อแนะนำในการบริโภค        หากเลือกซื้อเครื่องดื่มผสมวิตามินซี นอกจากเรื่องรสชาติความชอบ ปริมาณวิตามินซี และราคาแล้ว ผู้บริโภคอาจสังเกตฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย เพราะบางยี่ห้อนั้นมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หรือดูข้อมูลการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มเติม เพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท เช่น โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria)วิตามินซีเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ร่างกายจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยร่างกายควรได้รับวิตามินซีไม่น้อยกว่า 60 มิลลิกรัมต่อวัน หรืออยู่ในช่วง 100 – 200 มิลลิกรัมต่อวัน ในภาวะปกติ ทั้งนี้หากร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากได้รับในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ร่างกายจะดูดซึมได้เพียง 75 เปอร์เซ็นต์วิตามินนั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย วิตามินซีนั้นตัวมันเองไม่ได้รักษาโรคหวัด แต่สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการหวัดได้ แต่หากร่างกายได้รับวิตามินซีในปริมาณมากเกินไป ก็จะขับออกทางปัสสาวะโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และวิตามินซีนั้นมีคุณสมบัติเป็นกรด เมื่อถูกขับออกทางไตบ่อย ๆ อาจทำให้ไตระคายเคืองจนก่อให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานวิตามินซีอย่างพอเหมาะทั้งนี้ นอกจากเครื่องดื่มผสมวิตามินซีแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถบริโภควิตามินซีจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินซีแบบเม็ดเป็นอีกทางเลือกก็ได้ หรือ การรับประทานผักหรือผลไม้จำพวกที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, ฝรั่ง, มะขามป้อม, มะเขือเทศ, พริกหวาน, ผักคะน้าข้อมูลอ้างอิง- วิตามินและแร่ธาตุ  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/413) - วิตามินซีกับการป้องกันหวัด  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=17) - วิตามินซี (Vitamin C) ประโยชน์ของวิตามินซี 18 ข้อ !  (https://medthai.com/วิตามินซี/) - ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับ     (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/7189/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 สารกันบูดและปริมาณไขมัน ในสลัดครีม

        สลัดผักอาจถูกเลือกเป็นอาหารเย็นมื้อเบาๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยากควบคุมน้ำหนักและสายรักสุขภาพ ผักสดหลากสีสันให้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนน้ำสลัดในห้างสรรพสินค้าก็มีให้เราเลือกซื้ออยู่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งน้ำสลัดแบบอิตาเลียน ฝรั่งเศส บัลซามิค ซีซาร์ เทาซันไอร์แลนด์ หรือจะเป็นน้ำสลัดงาสไตล์ญี่ปุ่น แต่ที่ดูคลาสสิคที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘สลัดครีม’ ที่มีเนื้อครีมเข้มข้นหอมมัน เป็นน้ำสลัดขวัญใจผู้บริโภคชนิดยืนพื้นที่ใครๆ ก็น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงเลือกสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม จำนวน 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) และปริมาณไขมันเพื่อเอาใจผู้บริโภคสายผักที่รักสุขภาพสรุปผลการทดสอบ·      ผลทดสอบปริมาณไขมันในผลิตภัณฑ์สลัดครีม         พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) น้อยที่สุด ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 2.34 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม และตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) มากที่สุด ได้แก่ สลัดครีม คิวพี จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 48.33 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม ·      ผลการตรวจวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก        จากผลการทดสอบ พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีม จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่        1) Heinz ไฮนซ์ สลัดครีม สูตรต้นตำรับ จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน        2) EZY FRESH อีซี่เฟรช น้ำสลัดครีม  จาก 7-Eleven สาขาสยามอินเตอร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ         3) สุขุม สลัดครีม  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอนและ  4) สลัดครีม คิวพี  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน         ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกัน เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ   664.14  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และตรวจพบปริมาณกรดซอร์บิก   เท่ากับ 569.47  มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมปริมาณวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด เท่ากับ  1,233.61  มิลลิกรัม/กิโลกรัม         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ชนิดละไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน หากการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         ข้อสังเกตสำคัญ จากผลการสำรวจฉลากพบว่า ผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากให้ผู้บริโภคทราบทุกตัวอย่าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ข้อแนะนำ        ในการเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม นอกจากรสชาติที่ชื่นชอบแล้ว ผู้บริโภคอาจพิจารณาจากข้อมูลบนฉลากเพิ่มเติม เช่น ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุกันเสียเลย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงที่แนะนำของน้ำสลัดประเภทต่างๆ อยู่ที่ 30 กรัม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง

        ปลาทูน่า (Tuna) เป็นปลาทะเลที่อยู่กันเป็นฝูง เคลื่อนที่ว่องไว อาศัยอยู่ตามเขตชายฝั่งและทะเลน้ำลึก ปลาทูน่าเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ ติด 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกนิยมบริโภค โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมจับมาเป็นอาหาร นั้นมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna), ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna), ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore Tuna), ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) และ ปลาทูน่าตาโต (Bigeye Tuna) โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมนำมาทำปลากระป๋องถึงร้อยละ 58 คือ ปลาทูน่าท้องแถบ         นอกจากความนิยมรับประทานปลาทูน่าสดๆ อย่าง ซาชิมิ (Sashimi) กับ ซูชิ (Sushi) ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังนิยมนำปลาทูน่ามาทำปลากระป๋องอีกด้วย ปลาทูน่าอุดมไปด้วยโปรตีน และ โอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ลดไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ทั้งยังให้ไขมันต่ำและเป็นไขมันดี รวมถึงมีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี และเป็นเนื้อสัตว์ประเภทที่ย่อยง่ายอีกด้วย         ปลาทูน่ากระป๋องสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแซนวิชทูน่าที่เหมาะเป็นอาหารเช้า ผัดกะเพราทูน่า ทูน่าคอร์นสลัด ขนมจีนน้ำยาปลาทูน่า น้ำพริกทูน่ารับประทานคู่กับผักสด เป็นต้น แต่นอกจากความอร่อยของทูน่ากระป๋อง ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารทะเล เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โดยเฉพาะปรอท ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้เป็นพิษต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณมากหรือสะสมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านี้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดระบบการจัดการที่ดี ปล่อยโลหะหนักสู่สภาพแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร ทำให้สัตว์ทะเลปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านั้น และสุดท้ายก็เข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของเราผู้บริโภค          เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวนทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ในเดือนพฤษภาคม 2563 นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ          จากผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องข้างต้น สรุปได้ว่า         ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ ตรวจพบปริมาณปรอท ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และ ตรวจพบปริมาณตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม         สำหรับการปนเปื้อนของแคดเมียม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลา ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม          ซึ่งจากผลทดสอบหากเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า        ปรอท (Mercury)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่          1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า                 ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลือง / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก.        - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่         1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.189 มก./กก.         ตะกั่ว (Lead)         สำหรับการตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.          แคดเมียม (Cadmium)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่                 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช / BigC สาขาสุขสวัสดิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ / FoodLand หลักสี่             ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก.          - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่      1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.029 มก./กก.         ทั้งนี้ ผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง         ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า        ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 45 มิลลิกรัม          และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง / Tesco Lotus สาขา ถ.สุขสวัสดิ์ มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 350 มิลลิกรัม  คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค        แม้ว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง ให้แคลอรีต่ำ แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต อันตรายที่ไกลตัว?

                มหากาพย์เรื่องยาวของการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด แบ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) 2 ชนิด (พาราควอต และไกลโฟเซต) กับ สารกำจัดแมลง (ยาฆ่าแมลง) 1 ชนิด (คลอร์ไพริฟอส) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ได้จบบทแรกลงไปแล้ว โดยที่ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ประกาศดังกล่าวส่งผลให้การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการยกเลิกการใช้สารเคมีประสบความสำเร็จบางส่วน อย่างไรก็ตามยังคงเหลือสารเคมีอีก 1 ตัวที่ยังไม่ถูกแบน ซึ่งได้แก่ยาฆ่าหญ้า – ไกลโฟเซต ที่ยังอยู่ในการควบคุมระดับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือการจำกัดการใช้เท่านั้น         การคงอยู่ของการใช้ไกลโฟเซตในวงจรการผลิตนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการตกค้าง ว่าจะมีการตกค้างของไกลโฟเซตหรือไม่ และถ้ามีจะมีมากน้อยเพียงใด “ฉลาดซื้อ” เลยถือโอกาสเก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก เพื่อทดสอบหาการตกค้างของไกลโฟเซต มาให้หายสงสัยกัน อย่างไรก็ตามต้องแจ้งให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบก่อนว่าผลการทดสอบครั้งนี้เป็นผลที่เก็บตัวอย่างและทดสอบกันมาระยะหนึ่งแล้วมิใช่การทดสอบที่เพิ่งดำเนินการแต่ประการใด         การเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  ได้ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองรวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การทดสอบทำตามเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิงใช้ค่าการตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้จากมาตรฐานอาหารสากล (MRL CODEX : glyphosate 2006) ที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        สรุปผลการทดสอบ        ผลการทดสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) (แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต ที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมี 3 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้าง (ร้อยละ 37.5) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์         นอกจากไกลโฟเซตแล้ว “ฉลาดซื้อ” ยังได้ตรวจสอบหาสารที่เป็นเมตาโบไลท์หลักของไกลโฟเซตชื่อ Aminomethyphosphonic acid: AMPA ซึ่งตรวจพบการตกค้างของ AMPA จำนวน 4 ตัวอย่าง (ร้อยละ 50) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.16 มิลลิกรัม/กิโลกรัม,   ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.79 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 4 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต         ข้อสังเกต จากทั้งหมดที่พบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างมี 3 อย่าง (ถั่วเหลืองตราไร่ทิพย์, ถั่วเหลืองซีกตราเอโร่, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท) ที่เป็นผู้ผลิตรายเดียวกันคือ บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด         แม้ว่าการตรวจพบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง (มี 1 ตัวอย่างเป็นถั่วเหลืองออร์กานิค) นั้น จะไม่มีตัวอย่างใดเลยที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารสากล (ค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 0.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) แต่การพบการตกค้างหมายความว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ฯลฯ         การตกค้างที่ตรวจพบไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคที่นิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองในกลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจจะต้องสนใจในแหล่งที่มาของวัตถุดิบของอาหารของเราให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของฉลาดซื้อ คือ การแสดงฉลากโดยระบุว่า “ใช้ สาร….” (ในที่นี้คือไกลโฟเซต) ตรงส่วนประกอบของอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีเกินสมควรด้วยตนเอง         อย่างไรก็ตามความปลอดภัยของผู้บริโภค ณ ต้นทาง ย่อมสำคัญกว่าการจัดการที่ปลายทาง ฉลาดซื้อยังคงคาดหวังที่จะเห็นการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเช่นเดียวกันกับ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีส่วนร่วมโดยการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด โดยร่วมกันไม่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่แสดงว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ให้เริ่มจากไกลโฟเซตเป็นลำดับแรก*ข้อมูลประกอบhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%95 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 “หมึกแห้งกับโซเดียมและโลหะหนัก”

        เมื่อเอ่ยถึงอาหารทะเลแห้ง ผู้บริโภคหลายคนคงนึกถึงผลิตภัณฑ์จำพวก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม โดยเฉพาะ(ปลา)หมึกแห้ง ที่เมื่อใดทอดหมึกแห้ง กลิ่นหอมรัญจวนก็ฟุ้งไปไกลถึงข้างบ้าน ไม่ว่าจะทอดหมึกแห้งกินกับข้าวต้ม หรือข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน หรือจะเป็นหมึกทอดเคลือบน้ำตาล ต้มหัวไชเท้าหมูสามชั้น ซดน้ำร้อน ๆ ก็ได้อรรถรสไม่แพ้กัน         หมึกแห้งหรือปลาหมึกแห้ง ส่วนใหญ่ทำจากหมึกกล้วย การตากแห้งหมึก เป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เพื่อเก็บเอาหมึกไว้รับประทานได้นานๆ  เราจะพบหมึกแห้งวางขายทั่วไปตามท้องตลาด  ตามร้านขายของฝากในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำประมง ซึ่งของฝากจำพวกอาหารทะเลแห้งนั้น ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเช่นกัน         ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้งส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือน มกราคม 2553 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) และเพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้ง จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 13 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา  ตรวจการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroid)  สรุปผลการทดสอบ    - ผลทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม  ผลทดสอบการปนเปื้อนของปรอท         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของปรอท ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล         ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณปรอทที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.009 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน          ผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่ว          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณตะกั่ว น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.015 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.059 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน  ผลทดสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม                   ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด ข้อ 1) ได้กำหนดให้ตรวจพบแคดเมียมปนเปื้อนในอาหารจำพวกหมึก เช่น หมึกกระดอง หมึกสาย และหมึกกล้วย  ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม (ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานโคเดกซ์ Codex)          ผลการทดสอบหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น  พบว่า มี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมไม่เกินเกณฑ์ข้อกำหนด และ มี 7 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์ข้อกำหนด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้     - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์ จำนวน 6 ตัวอย่าง  ได้แก่                 1) หมึกแห้ง จาก ตลาดสี่มุมเมือง ร้าน เจ๊ปู (ปลาเค็ม) ซอย 5            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.104  มก./กก.        2) หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.109  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.264  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดสะพานใหม่ (ยิ่งเจริญ) ร้านวิจิตร            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.583  มก./กก.                        5) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ LAZADA            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.699  มก./กก.        และ          6) หมึกแห้ง จาก ตลาด อตก. ร้านเหมียวกุ้งแห้งปลาเค็ม ห้อง 3/49            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.869  มก./กก.  - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่        1)  หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.003  มก./กก.        2)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.393  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.537  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.006  มก./กก.        5) หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.303  มก./กก.         6)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.432  มก./กก.และ        7) หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.872  มก./กก. - ผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา        จากผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา ได้แก่ Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราดังกล่าว - ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร        จากผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid) ได้แก่ Cyfluthrin, Cypermethrin, Deltamethrin, Fenvalerate, Permethrin, Bifenthrin และ Lambda-cyhalothrin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น         ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ ปริมาณโซเดียมในหมึกแห้ง        นอกจากผลการทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในตัวอย่างหมึกแห้งแล้ว หากสังเกตปริมาณโซเดียมจากปลาหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่า        ตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 635.8 มิลลิกรัม / 100 กรัม        ส่วนตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,739.94 มิลลิกรัม / 100 กรัม เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,097.27 มิลลิกรัม / 100 กรัม          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         จากผลการทดสอบด้านบนแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างของหมึกแห้งที่นำมาตรวจวิเคราะห์นั้น มีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมในปริมาณที่ต่างกัน แม้ว่าการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทนั้นจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามข้อกำหนด แต่ยังคงมีการปนเปื้อนของแคดเมียมในตัวอย่างหมึกแห้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่มีการตกค้างในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ คือ ปริมาณเกิน 2 มก./กก.         อย่างไรก็ตามอาหารทะเล เช่น หมึกแห้ง ไม่อาจเลี่ยงการพบโลหะหนักปนเปื้อน เนื่องจากเป็นการตกค้างจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยากต่อการจัดการ เพราะจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายหน่วยงานในการไปตรวจสอบหาแหล่งที่มาของตัวอย่างปลาหมึกทั้งหลายที่มีผลการตกค้างของแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือ การเลือกบริโภคหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด (ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561)- แคดเมียม คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/cadmium-2.pdf)- อะฟลาท็อกซิน คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/aflatoxin-2.pdf)- กินหมึกต้องรู้! รู้ลึกเรื่องปลาหมึกแห้ง ม้วนเดียวจบ! (https://www.wongnai.com/food-tips/how-to-make-dried-squid)

อ่านเพิ่มเติม >