ฉบับที่ 160 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 3

บทเรียนแห่งการมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี อีก 4 บทเรียน มีดังนี้ บทเรียนที่ 5  เข้าเกียร์ต่ำ ใช้ชีวิตให้ช้าลง ผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปีจะมีกระแสแห่งความสงบสันติแผ่ซ่านออกจากตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากร่างกายของพวกเขาเชื่องช้าลงโดยธรรมชาติเมื่อสูงวัยขึ้น  ผลที่ได้จากการปรับชีวิตให้ช้าลงทำให้เกิดความเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่ดีเลิศ  การใช้ชีวิตที่ช้าลงสัมพันธ์กับบทเรียนอื่นๆ ด้วย ได้แก่ กินอาหารที่ถูกต้อง เห็นคุณค่าของเพื่อน หาเวลาในการสำรวจจิตวิญญาณของตนอง ให้ความสำคัญกับครอบครัว สร้างเป้าหมายให้ชีวิต วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่ การลดเสียงรบกวน โดยลดเวลาดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และท่องอินเตอร์เน็ตลงให้เหลือน้อยที่สุด  การถึงที่หมายก่อนเวลานัด ทำให้ลดความเครียดจากการจราจร การหลงทาง เพื่อให้คุณทำตัวช้าลงและสามารถจดจ่อในงานหรือการประชุมได้  การนั่งสมาธิ โดยกำหนดเวลานั่งสมาธิให้เป็นประจำ บทเรียนที่ 6 มีส่วนร่วม เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มศาสนาที่นับถือ  คนสุขภาพดีที่มีอายุเกิน 100 ปี ทุกแห่งมีศรัทธาในศาสนา พวกเขาทุกกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของสังคมศาสนาที่เข้มแข็งพฤติกรรมง่ายๆ ของการกราบไหว้บูชานับเป็นหนึ่งในพฤติกรรมทรงประสิทธิภาพแฝง อันอาจเพิ่มโอกาสให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นมากได้อีกหลายปี   งานวิจัยต่างๆ แสดงผลว่า การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาแม้เพียงเดือนละครั้ง อาจมีผลต่ออายุขัยของคนผู้นั้น วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การเข้าร่วมของกลุ่มศาสนาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น  การศึกษาหรือปฏิบัติแนวทางใหม่ที่มีผลให้จิตใจสงบลงและมีกัลยาณมิตร เช่น กลุ่มปฏิบัติธรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครให้กับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ  การจัดตารางเวลาสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง 8 สัปดาห์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว โดยไม่ต้องคิดหรือคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น บทเรียนที่ 7 คนที่เรารัก มาอันดับแรก ผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับแรก  ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยหน้าที่ต่อครอบครัว ประเพณี และให้ความสำคัญที่จะอยู่ด้วยกัน  เมื่อพวกเขาอายุครบ 100 ปี ความทุ่มเทมาตลอดชีวิตก็ผลิดอกออกผล  ลูกหลานต่างตอบแทนความรักความห่วงใยของพวกเขา  ลูกๆ จะดูแลพ่อแม่ และอยู่ร่วมกัน  งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่กับลูกหลานเป็นโรคน้อยกว่า ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีความเครียดน้อยกว่า วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การใกล้ชิดกันมากขึ้น การอาศัยในบ้านที่มีขนาดเล็กลงช่วยให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผูกพันกันและใช้เวลาร่วมกันได้ง่ายกว่า  การสร้างประเพณีของครอบครัว เช่น การกินอาหารด้วยกันทั้งครอบครัวอย่างน้อยวันละหนึ่งมื้อ(หรือสัปดาห์ละหนึ่งมื้อ) และสุดท้าย ครอบครัวต้องมาก่อน บทเรียนที่ 8 อยู่ในกลุ่มชนที่ถูกต้อง การอยู่ในกลุ่มคน ชุมชน หรือหมู่บ้านที่เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพและการมีอายุยืน จะช่วยเสริมการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมการมีอายุยืน  การเชื่อมโยงทางสังคมเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมของผู้มีอายุยืนยาว คนที่มีสังคมกว้างขวางกว่า จะมีชีวิตยืนยาวกว่า วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การค้นหากลุ่มกัลยาณมิตร หาคนที่มีพฤติกรรมที่ดีและคล้ายคลึงกัน  การทำตนให้เป็นที่รักและน่าคบหา  ผูมีอายุยืนยาวไม่มีใครเป็นคนขี้บ่นน่าเบื่อ  และใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับกลุ่มกัลยาณมิตร อย่างน้อยวันละ 30 นาที  โดยมาพบปะพูดคุย กินอาหารด้วยกัน ออกกำลังกายด้วยกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 2

จากการสำรวจหาดินแดนที่มีการกระจุกตัวของผู้ที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีทั่วโลก พบว่ามีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ เกาะโอกินาวาในญี่ปุ่น  เกาะซาร์ดิเนียในอิตาลี คอสตาริกาในอเมริกากลาง  และสุดท้ายชุมชนเซเว่นเดย์แอ๊ดเวนตีสในลอสแองเจลิส อเมริกา  ซึ่งหมายถึงดินแดนที่มีผู้มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีอยู่กันหนาแน่นกว่าที่อื่นใดในโลก แดน บุทเนอร์ นักเขียนและนักค้นคว้าจากนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบในพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง  ลงหาข้อมูลในพื้นที่จริง นำมาวิเคราะห์และหาข้อสรุปของแต่ละพื้นที่ ก่อนนำมาสรุปเป็นภาพรวมของเหตุปัจจัยร่วมที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวกว่า 100 ปีอย่างมีสุขภาพดี  และได้สรุปเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่ยาก บทเรียนแห่งการมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี มีดังนี้ บทเรียนที่ 1 เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ มีความกระตือรือร้นโดยไม่ต้องคิดหรือบังคับ  ผู้มีอายุเกินร้อยปีจะทำกิจกรรมเบาๆ ไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว  เช่น ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ กิจวัตรประจำวันที่ดีคือการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกาย การทรงตัว และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง  ซึ่งจริงๆ แล้ว การเดิน การทำสวน การทำงานบ้าน เป็นกิจกรรมที่ผสมผสานทุกอย่างได้เป็นอย่างดี วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่ การละความสะดวกสบาย  ใช้ชีวิตให้สนุก เคลื่อนไหวมากๆ  เดินเป็นประจำ การชวนเพื่อนไปเที่ยว การทำสวน การฝึกโยคะ ไทเก๊ก ฤๅษีดัดตน เป็นต้น   บทเรียนที่ 2 ฮารา ฮาจิ บู เป็นการตัดแคลอรีจากอาหารลงร้อยละ 20 อย่างง่ายๆ  ผู้เฒ่าชาวโอกินาวาจะพึมพำภาษิตของขงจื้อ “ฮารา ฮาจิ บู” ก่อนลงมือกินอาหารเพื่อคอยเตือนสติให้หยุดก่อนอิ่ม หรืออิ่มประมาณร้อยละ 80  ทำให้เป็นการลดแคลอรีจากอาหารได้ทุกๆ มื้อ วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การตักอาหารให้อยู่ในจานเดียวแล้วกินเพียงแค่นั้น  การจัดอาหารให้ดูใหญ่ขึ้น ใช้ภาชนะเล็กลง ชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน กินให้ช้าลงโดยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดและนานขึ้น  กินอาหารมื้อเช้าให้มากกว่ามื้ออื่นๆ บทเรียนที่ 3 กินผักให้มาก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป ผู้มีอายุเกินร้อยปีกินอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป  หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ยกเว้นโอกาสพิเศษซึ่งไม่บ่อยครั้ง  ผู้เป็นมังสวิรัติจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่กินเนื้อสัตว์  ถั่ว ธัญพืชและผักสวนครัวเป็นอาหารหลักของผู้มีอายุเกินร้อยปี วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  กินผัก 4-6 ชนิด ทุกวัน  ลดเนื้อสัตว์  จัดวางผัก ผลไม้ให้เด่นเข้าไว้บนโต๊ะอาหาร  กินถั่วฝัก โดยเฉพาะถั่วเหลือง เต้าหู้  กินถั่วเปลือกแข็งทุกวัน โดยมีของขบเคี้ยวเป็นถั่ว บทเรียนที่ 4 มีจุดมุ่งหมายเดี๋ยวนี้ ผู้มีอายุเกินร้อยปีจะมีความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะมีจุดมุ่งหมายของชีวิต  ผู้ที่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนคือมีบางสิ่งที่มีความหมายรอให้ตื่นขึ้นมาทำตอนเช้า จะมีชีวิตยืนยาวกว่าและคงความหลักแหลมทางจิตใจได้มากกว่าผู้ที่ขาดเป้าหมายชีวิต เป้าหมายชีวิตอาจเป็นเพียงเรื่องธรรมดาเช่น ดูแลให้ลูกหลานเติบโตด้วยดี หรืองาน และงานอดิเรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีความทุ่มเทจริงจังกับงานนั้นๆ วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การเขียนเป้าหมายชีวิต  การหาเพื่อนหรือกัลยาณมิตร  การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  การปฏิบัติธรรม เป็นต้น โปรดติดตามฉบับหน้า อีก 4 บทเรียนนะครับ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 1

การอยากมีอายุยืนยาวเป็นความใฝ่ฝันของคนทั่วโลกและทุกยุคสมัย  เพราะชีวิตคือสิ่งที่มีค่าที่สุดของมนุษย์  ในประวัติศาสตร์แต่โบราณมีความพยายามในการแสวงหา “ยาอายุวัฒนะ” มาตลอด ตั้งแต่ยุคการเล่นแร่แปรธาตุใน ค.ศ. 500 - 1500  นักเคมีสนใจการเล่นแร่แปรธาตุให้เป็นทองคำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเริ่มมาสนใจค้นหายาอายุวัฒนะที่ใช้รักษาโรค และเริ่มสนใจอย่างมากในปี ค.ศ. 1500 - 1600 จนเกิดตำนานหรือความเชื่อเรื่อง น้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว (Fountain of Youth) ขึ้น ใครก็ตามที่ได้ลงไปอาบและดื่มน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาวนี้ก็จะกลับเป็นหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง  ความเชื่อเรื่องน้ำพุศักดิ์สิทธิ์นี้มีอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลก ในหลายศาสนาและหลายลัทธิความเชื่อ  เราจะเห็นความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ในอินเดีย อินโดนีเซีย และในไทย ที่มักจะมีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ในวัด หรือในป่าเขา เมื่อดื่มกินแล้ว โรคร้ายต่างๆ ก็จะหายไป เป็นต้น ในเอเชียเองมีความพยายามค้นหายาอายุวัฒนะเช่นเดียวกัน  ที่มีเรื่องเล่าโด่งดังก็คือ เรื่องของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งพระองค์เกิดความกลัวว่าจะตายเร็วไป ทำให้ปณิธานที่จะสืบสานนโยบายการรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นยังไม่ลุล่วง  การแสวงหายาอายุวัฒนะของจิ๋นซีฮ่องเต้จึงเริ่มต้นขึ้น โดยมาจากคำบอกเล่าของเหล่าอำมาตย์หรือที่ปรึกษาว่ายาอายุวัฒนะอยู่ที่โพ้นทะเล จิ๋นซีฮ่องเต้จึงส่งเด็ก 500 คน ผู้ใหญ่ 500 คน และคนแก่ 500 คน ออกเดินทางสู่ทะเลทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นปากทางของแม่น้ำฮวงโหที่ไหลออกสู่ทะเล แต่ก็ไม่เคยมีใครได้กลับมา เหตุที่ต้องส่งเด็กไปด้วย เพราะต้องใช้เวลาในการแสวงหายาอายุวัฒนะนาน หากเอาผู้สูงอายุไปแม้จะมีประสบการณ์มากกว่า แต่ก็ต้องตาย ดังนั้น จึงต้องมีเด็กเพื่อคอยสืบต่อให้ได้สามชั่วอายุคน นี่เป็นที่มาของการแสวงหายาอายุวัฒนะ และเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อมาอันยาวนาน   ในคัมภีร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านก็มีการบันทึกตำรายาอายุวัฒนะไว้เป็นจำนวนมาก  แต่ละตำรับก็แตกต่างกันไปตามความรู้ ความเชื่อ และสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ การแสวงหายาอายุวัฒนะที่จะทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมโดยที่ยังมีสุขภาพดีนั้น ยังคงสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้  ที่น่าสนใจและน่าเชื่อถือได้มากที่สุดคือ การค้นหาแหล่งที่มีผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกนี้ว่ามีที่ไหนบ้าง และค้นหาวิธีการที่พวกเขาเหล่านี้ปฏิบัติจนทำให้มีอายุยืนยาวกว่าคนปกติทั่วไป  นี่น่าจะเป็นอายุวัฒนะที่แท้จริงและเชื่อถือได้ แดน บุทเนอร์ นักเขียนสารคดีของนิตยสารจีโอกราฟิก ได้ทำการค้นหาดินแดนที่มีการกระจุกตัวของผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี หนาแน่นหรือมากกว่าปรกติโดยที่ผู้มีอายุเกินร้อยเหล่านี้มีสุขภาพดีและยังทำงานหรือกิจกรรมต่างเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ดินแดนแห่งอายุวัฒนะในโลกนี้มีเพียง 4 แห่ง ได้แก่ เกาะโอกินาวาในญี่ปุ่น  คอสตาริกาในอเมริกากลาง  เกาะซาร์ดิเนียในอิตาลี  และกลุ่มเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสในโลมาลินดา ลอสแอนเจลิส ผู้เขียนได้ทำการศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ดินแดนเหล่านี้มีผู้มีอายุเกินร้อยปีหนาแน่นและได้สรุปออกมาเป็นคำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับทุกคนเพื่อทำให้ทุกคนสามารถมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมได้อีกหลายปีอย่างมีสุขภาพดี  ถึงแม้จะไม่รับประกันว่าจะมีอายุยืนยาวได้ถึง 100 ปีก็ตาม  ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 รู้เท่าทันสถานการณ์สุขภาพปีพ.ศ. 2556 ตอนที่ 2

การขาดแคลนยาที่ดีในสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐทำให้ประชาชนต้องหาซื้อยาจากภาคเอกชน ซึ่งยาชื่อสามัญจะมีราคาสูงกว่าราคากลางระหว่างประเทศถึงร้อยละ 610  คุณภาพการบริการของภาครัฐที่ไม่ดีและราคาค่าบริการของภาคเอกชนที่สูงทำให้หลายครอบครัวเกิดภาวะล้มละลาย โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคเรื้อรัง ในฉบับก่อนได้กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals- MDGs) คือ เป้าหมายแปดประการ ที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติ 191 แห่ง ตกลงยอมรับกันที่จะพยายามบรรลุให้ได้ภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) โดยมีการลงนามในเดือนกันยายน ค.ศ. 2000 เพื่อต่อสู้กับ ความยากจน ความหิวโหย โรค การไม่รู้หนังสือ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการเลือกปฏิบัติต่อสตรีเพศ  เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษได้พัฒนามาจากคำประกาศดังกล่าว และทั้งหมดมีเป้าหมายและตัวชี้วัดเฉพาะ ในเรื่องโรคติดต่อนั้น พบว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในโลกมีความเสี่ยงในการติดต่อเชื้อ มาลาเรีย และในจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียในโลกจำนวน 219 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 660,000 รายในปี ค.ศ. 2010  ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเกิดขึ้นใน 17 ประเทศ และร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกิดใน 14 ประเทศเท่านั้น การครอบคลุมของปฏิบัติการต่างๆ เช่น การกระจายตัวของเครือข่ายการกำจัดยุงด้วยสารเคมีกำจัดแมลงและการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตามบ้านเรือนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและจำเป็นที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาของยุงและการเสียชีวิตจากมาลาเรีย   ปริมาณผู้ป่วยใหม่ทั้งหมดที่เป็น วัณโรค ในแต่ละปีลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 และระหว่างปี ค.ศ. 2010-2011 ลดลงร้อยละ 2.2  ในจำนวนผู้ป่วยใหม่ 8.7 ล้านรายในปี ค.ศ. 2011 นั้นเกิดจากผู้มีเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 13  การตายจากวัณโรคลดลงร้อยละ 41 ตั้งแต่ ปีค.ศ. 1990 และจะลดลงร้อยละ 50 เมื่อถึงปีค.ศ. 2015 ปี ค.ศ. 2010 ประมาณการว่า มีผู้ป่วยที่ ติดเชื้อเอชไอวี รายใหม่ 2.7 ล้านคน ซึ่งลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 3.1 ล้านคนในปี ค.ศ. 2001  ปลายปี ค.ศ. 2010 จะมีผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีประมาณ 34 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปีก่อนๆ เพราะผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยาฆ่าไวรัสมากขึ้น ทำให้มีการเสียชีวิตน้อยลง โลกได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษในเรื่องการเข้าถึง น้ำดื่มที่ปลอดภัย ในปีค.ศ. 2010 ร้อยละ 89 ของประชากรมีแหล่งน้ำดื่มที่ปรับปรุงดีขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 76 ในปีค.ศ. 1990 ในเรื่องสุขอนามัยโดยเฉพาะ สุขาภิบาล นั้น อัตราการมีสุขาภิบาลที่ดียังพัฒนาค่อนข้างช้าเกินกว่าที่จะบรรลุเป้าหมาย  ในปี ค.ศ. 2010 มีประชากร 2,500 ล้านยังไม่มีสุขอนามัยที่ดีพอ และร้อยละ 72 ของประชากรเหล่านี้อาศัยอยู่ในชนบท  ปริมาณของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองและไม่มีสุขาภิบาลที่ดีกำลังเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของประชากรในเขตเมือง แม้ว่าเกือบทุกประเทศจะมีรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่การจัดหายาเพื่อให้บริการในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐยังค่อนข้างแย่  จากการสำรวจประเทศที่ยากจนและเศรษฐกิจปานกลางมากกว่า 70 ประเทศพบว่า มีการจัดหายาในบัญชียาหลักเพียงร้อยละ 42 ในสถานบริการภาครัฐ และร้อยละ 64 ในสถานพยาบาลภาคเอกชน  ยาที่ใช้สำหรับการรักษาโรคเรื้อรังค่อนข้างจะมีคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับยาที่ใช้รักษาโรคฉุกเฉิน  การขาดแคลนยาที่ดีในสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐทำให้ประชาชนต้องหาซื้อยาจากภาคเอกชน ซึ่งยาชื่อสามัญจะมีราคาสูงกว่าราคากลางระหว่างประเทศถึงร้อยละ 610 คุณภาพการบริการของภาครัฐที่ไม่ดีและราคาค่าบริการของภาคเอกชนที่สูงทำให้หลายครอบครัวเกิดภาวะล้มละลาย โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคเรื้อรัง เหลือเวลาเพียงสองปีเท่านั้นก็จะสิ้นสุดปี ค.ศ. 2015 ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยที่ได้ประกาศไว้ในปี ค.ศ. 2000   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 รู้เท่าทันสถานการณ์สุขภาพปีพ.ศ. 2556 ตอนที่ 1

ปีพ.ศ. 2556 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว  เมื่อขึ้นปีใหม่ก็สมควรที่ทุกคนควรจะทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  ทั้งจากการกระทำของเราเองหรือของสังคมที่เราได้มีส่วนร่วมรวมทั้งที่เราได้รับผลกระทบ  เพื่อนำบทเรียนมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ  ดังนั้นฉบับนี้ขออนุญาตทบทวนสถานการณ์สุขภาพในระดับโลกที่เชื่อมโยงกับภาวะสุขภาพของไทยด้วย ในระดับโลกนั้น การประชุมสุดยอดของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ได้มีการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิก เพื่อยอมรับข้อผูกมัดตาม คำประกาศสหัสวรรษของสหประชาชาติ (United Nations Millennium Declaration)  ซึ่งได้มีการกำหนด เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals- MDGs) คือ เป้าหมายแปดประการ ที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติ 189 แห่ง ตกลงยอมรับกันที่จะพยายามบรรลุให้ได้ภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)  เป้าหมายแปดประการได้แก่ การขจัดความยากจนและความหิวโหย การพัฒนาการศึกษาขั้นประถม การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การลดอัตราการตายของเด็ก การพัฒนาสุขภาพของแม่ การป้องกันโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในโลก   องค์การอนามัยโลกได้รายงานสถานการณ์สุขภาพเกี่ยวกับ การลดอัตราการตายของแม่และเด็ก  การพัฒนาด้านโภชนาการ การลดอัตราการตายจากโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ ในปีค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ดังต่อไปนี้ ในภาพรวมระดับโลก สามารถลดระดับของอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจากปีค.ศ. 1990-2011 (พ.ศ. 2533-2554) ได้ร้อยละ 41 หรือจาก 87 รายเป็น 51 รายต่อทารกแรกเกิดที่มีชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการลดลงดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ให้ลดลง 2 ใน 3 ของการตายของเด็กในปีค.ศ. 1990 ในภาพระดับประเทศ พบว่า มีประเทศที่มีความแตกต่างกันถึง 27 ประเทศที่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษก่อนปีค.ศ. 2015  ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 5 ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กสูงมากเมื่อปีค.ศ. 1991  และสาเหตุพื้นฐานของการเสียชีวิตคือ ภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งประมาณว่าเป็นสาเหตุการตายของเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบร้อยละ 35 จำนวนการเสียชีวิตของเด็กทารกลดลงจาก 4.4 ล้านรายในปีค.ศ. 1990 เป็น 3.0 ล้านรายในปีค.ศ. 2011 หรืออัตราการตายของเด็กทารกลดลงจาก 32 รายในเด็กทารกแรกเกิดที่มีชีวิต 1,000 ราย เป็น 22 รายในเด็กแรกเกิดที่มีชีวิต 1,000 ราย ในเวลาดังกล่าว อัตราการเสียชีวิตของแม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 543,000 ในปีค.ศ. 1990 เป็น 287,000 ใน ค.ศ. 2010 หรือร้อยละ 3.1 ต่อปี  โดยทวีปอัฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเสียชีวิตของแม่สูงที่สุด  การแก้ปัญหาดังกล่าวได้แก่ การเข้าถึงบริการการดูแลแม่และเด็กที่มีคุณภาพ การวางแผนการมีลูกอย่างเหมาะสม ผู้หญิงวัยรุ่นประมาณ 16 ล้านคนให้กำเนิดลูกในแต่ละปี คิดเป็นร้อยละ 11 ของการให้กำเนิดทารกในโลกทั้งหมด และร้อยละ 95 ของการกำเนิดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา  (สำหรับประเทศไทยก็มีข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงในมนุษย์ว่า แม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีและคลอดลูกของประเทศไทยมีอัตราสูงที่สุดเป็นที่หนึ่งของอาเซียน  และเป็นที่สองของโลก กระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรีก็แถลงว่า ประเทศไทยมีแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูกปีละ 133,176 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จังหวัดที่มีแม่วัยรุ่นจำนวนมากที่สุดได้แก่ จังหวัดตาก ระยองและชลบุรี) หน้ากระดาษหมดอีกแล้ว คงต้องขอต่อฉบับหน้า  ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะรายงานสถานการณ์ของโรคติดต่อต่างๆ ได้แก่ มาเลเรีย เอชไอวี และวัณโรค  สวัสดีครับ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 155 รู้เท่าทันกล้วย (2)

มารู้เท่าทันกล้วยต่อครับ 5. เปลือกกล้วยใช้รักษายุงกัด ถ้าถูกยุงหรือแมลงกัดต่อย มีตุ่มคัน ให้ใช้ด้านในของเปลือกกล้วยทาบริเวณที่ถูกยุงหรือแมลงกัดต่อย  เปลือกกล้วยสามารถแก้เม็ดผื่นคันที่เกิดจากยุงกัดได้ 6. แป้งจากกล้วยดิบนั้นมีผลในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แป้งกล้วยดิบใช้รักษาโรคแผลในทางเดินอาหารซึ่งเกิดจากยาแผนปัจจุบันต่างๆ เช่น แอสไพริน ยาแก้การอักเสบของกล้ามเนื้อ เพรดนิโซโลน เป็นต้น ปัจจุบันผงกล้วยดิบได้บรรจุเป็นยาจากสมุนไพรที่อยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทยแล้ว 7. สารสกัดจากเปลือกกล้วยมีผลยับยั้งการโตของต่อมลูกหมาก มีงานวิจัยของนักวิจัยชาวญี่ปุ่น     Akamine K, et al. ปีค.ศ. 2009  พบว่า สารสกัดจากเปลือกกล้วยมีประโยชน์ในการรักษาอาการต่อมลูกหมากโต  แต่อย่างไรก็ตามเป็นการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองเท่านั้น  คงต้องมีการศึกษาต่อในระดับคลินิก  แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะมีการใช้สมุนไพรในการรักษาอาการต่อมลูกหมากโตจากสารสกัดเมล็ดปาล์ม Saw Palmetto ซึ่งมีการขายกันทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย  การใช้เมล็ดปาล์มดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอินเดียนอเมริกันที่ใช้รักษาทางโรคเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์   8. การกินกล้วยปกป้องผิวหนังจากการทำลายของแสงแดด มีงานวิจัยของดร.จารุภา วิโยชน์ และคณะ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ในปีพ.ศ. 2555 ที่ทำการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดจากกล้วยมีผลในการลดการทำลายผิวหนังจากรังสียูวีอย่างมีนัยสำคัญ  จึงอาจเป็นการยืนยันความเชื่อที่ว่าการกินกล้วยจะทำให้ผิวสวยงาม 9. ปลีกล้วยน้ำว้ามีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด งานวิจัยในอินเดียพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งในภูมิปัญญาดั้งเดิมของอินเดียมีการใช้เพื่อรักษาเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่า กล้วยมีสารประกอบที่ต้านเชื้อแบคทีเรีย เอชไอวี เชื้อราได้ 10. ประโยชน์อื่นๆ นอกจากนี้ กล้วยยังมีประโยชน์อีกมากมาย บังเอิญดูในเว็บไซต์หนึ่งซึ่งน่าสนใจดี เขาใช้ประโยชน์จากกล้วย ดังนี้ 1)      ใช้ขัดรองเท้าหนังให้เงางาม  โดยใช้ด้านในของเปลือกกล้วยมาเช็ดรองเท้าหนัง ทิ้งไว้สักครู่ แล้วใช้ผ้าเนื้อละเอียดเช็ดอีกครั้ง รองเท้าจะเงางามเหมือนใช้ยาขัดรองเท้าเลยทีเดียว 2)      ใช้ทำความสะอาดรอยเปื้อนของใบไม้ประดับ  โดยใช้ด้านในของเปลือกกล้วยเช่นเดียวกันเช็ดที่ใบไม้ประดับที่มีรอยเปื้อน  ทิ้งไว้สักครู่แล้วใช้ผ้าเช็ดอีกครั้ง ใบไม้จะเป็นเงางาม  ผู้ที่ทำงานด้านไม้ประดับ ในโรงแรม หอพัก สามารถใช้วิธีนี้ได้โดยไม่ต้องซื้อน้ำยาเช็ดเงาใบไม้ 3)      การลบรอยถลอกที่ผิวไม้บนตู้ โต๊ะ  รอบถลอกต่างๆ นั้นถ้าไม่ลึกมากก็สามารถใช้เนื้อกล้วยมาถูบนรอยถลอก แล้วใช้ผ้าเนื้อละเอียดมาถูอีกครั้ง ผิวไม้จะดูใหม่และไม่มีรอยถลอก 4)      การลบรอยหมึกที่ผิวหนัง  บางคนชอบติดสติกเกอร์ลายต่างๆ ที่ผิวหนัง  ถ้าต้องการลบรอยหมึกให้ใช้ด้านในของเปลือกกล้วยเช็ดถูรอยหมึกดังกล่าว  ก็จะเลือนหายไปได้อย่างรวดเร็ว 5)      รอยถลอกที่แผ่นซีดีจากการหยิบจับ ถู ครูด ให้ใช้ด้านในของเปลือกกล้วยเช็ดที่แผ่นซีดีแล้วใช้ผ้าสำหรับเช็ดแผ่นซีดีเช็ดออก แผ่นซีดีจะไม่มีรอยถลอก 6)      การดักจับแมลง เช่น แมลงหวี่ แมลงวัน ให้นำเปลือกกล้วยใส่ในถุงพลาสติก เปิดปากถุงทิ้งไว้สักครู่  แมลงจะเข้าไปในถุงพลาสติก เราเพียงแค่ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปทิ้ง  เพียงแค่นี้ก็สามารถลดแมลงต่างๆ ในบ้านได้ ก็ขอจบเรื่อง กล้วยๆ ไว้เพียงแค่นี้  หวังว่าเราคงมั่นใจว่า กล้วยมีประโยชน์กว่าที่คิดและมีอันตรายน้อยกว่าที่ได้ยินแพทย์แผนปัจจุบันบอกมา //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 รู้เท่าทันกล้วย (1)

ฉบับนี้ของนำเรื่องกล้วยๆ ที่เบาสมองมาลงเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ผ่อนคลายจากสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนระอุ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดสักหน่อย กล้วยเป็นพืชที่ผูกพันกับชืวิตคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย  ซึ่งเราจะเห็นได้จากพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่ตอนแต่งงานก็จะแห่ต้นกล้วยกับอ้อยในขบวนขันหมาก เมื่อมาถึงเรือนหอก็จะปลูกลงดิน  พอครบปีกล้วยก็ออกลูก ทันเป็นอาหารสำหรับแม่และทารกไปพร้อมๆ กัน  ตอนเป็นหนุ่มสาว กล้วยเป็นทั้งอาหาร ยาและของใช้ต่างๆ  ยามตายก็เอากาบกล้วยมาฉลุสวยงามไว้ตกแต่งในงานศพ  เรียกว่าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน คนไทยขาดกล้วยไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันกลับเห็นว่า กล้วยประกอบด้วยแป้งเป็นหลัก ถ้ากินมากจะไปเพิ่มน้ำตาลและแป้งให้กับร่างกาย  จึงมีการแนะนำว่าไม่ควรกินกล้วยเพราะมีประโยชน์น้อยกว่าโทษที่ร่างกายได้รับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ส่งเสริมให้เด็กทารกในระยะ 6 เดือนหลังคลอดกินกล้วยบดหรือขูดตามภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิม โดยบอกว่า นมแม่มีคุณค่าอาหารพอเพียงสำหรับทารก ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมอื่นๆ  ความเข้าใจเรื่องนี้ขัดต่อความรับรู้และการปฏิบัติของชาวบ้านอย่างยิ่ง เพราะจากประสบการณ์ตรงของชาวบ้านที่กินกล้วยเป็นประจำกลับพบว่ามีประโยชน์มากมาย  จนชาวบ้านถือว่ากล้วยเป็นยาอายุวัฒนะอย่างหนึ่งทีเดียว เรามารู้เท่าทันเรื่องกล้วยๆ กันดีกว่า   กล้วยเป็นพืชล้มลุกในสกุลมูซา (Musa)  กล้วยน้ำว้าที่คนไทยรู้จักดีและกินเป็นประจำ คือกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี  นอกจากนี้ยังมีกล้วยต่างๆ มากมาย เช่น กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอม กล้วยตีบ เป็นต้น กล้วยน้ำว้า 1 ลูกหนักประมาณ 40-50 กรัม กล้วยไข่ 1 ลูกหนักประมาณ 30 กรัม กล้วยหอม 1 ลูกหนักประมาณ 90 กรัม  ที่ต้องรู้น้ำหนักเพราะต้องไปเชื่อมโยงกับคุณค่าทางอาหารของกล้วยแต่ละลูก ในเมืองไทย ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเทียบหน่วยเป็น 100 กรัม  ถ้าเราไม่รู้ว่ากล้วยหนึ่งลูกหนักเท่าไหร่ ก็คิดไม่ออกว่ากล้วยหนึ่งใบ มีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน เพราะประเทศไทยขายกล้วยเป็นหวี ไม่ชั่งน้ำหนักขายเหมือนของเขมร เขมรจะชั่งกล้วยขายเป็นกิโลกรัม ข้อมูลของกรมอนามัย พบว่า กล้วยน้ำว้า 100 กรัม (ประมาณ 2 ลูก) ประกอบด้วย ความชื้นเป็นหลัก 62.6 กรัม แป้ง 33.1 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม นอกจากนี้ ยังมีวิตามินเอ บี1 บี2 บี3 และซี  โดยกล้วยหอมมีวิตามินซีสูงสุด 27 มิลลิกรัม  ที่น่าสนใจคือ หัวปลีมีวิตามินเอสูงถึง 260 IU (international unit)  และมีวิตามินซีสูงเท่าๆ กับกล้วยหอม (25 มิลลิกรัม) นอกจากนี้ ในกล้วยยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็กในปริมาณเล็กน้อย  แต่ในหยวกกล้วยและหัวปลี (100 กรัม) มีแคลเซียมสูงถึง 22 และ 28 มิลลิกรัมกรัมตามลำดับ  ซึ่งแสดงว่า ภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมนั้นชาญฉลาดอย่างยิ่งที่นำหยวกกล้วยและหัวปลีมาเป็นอาหาร โดยเฉพาะในแม่หลังคลอด พลังงานที่เกิดจากกล้วยซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันกลัวกันนักว่า กินกล้วยเหมือนกินแป้ง จะทำให้อ้วน  พบว่า กล้วยน้ำว้า 100 กรัม (ประมาณ 2 ลูก) ให้พลังงานเพียง 139 กิโลแคลอรี ตกลูกละ 70 กิโลแคลอรีเท่านั้น ยังน้อยกว่าไข่เจียว ไข่ดาว 1 ฟอง (215 กิโลแคลอรี) ส้มตำ 1 จาน (118 กิโลแคลอรี) หรือขนมครก 1 คู่ (92 กิโลแคลอรี) เสียอีก   กล้วยอื่นๆ ก็ให้พลังงานไม่แตกต่างกัน  ที่สำคัญ แป้งที่อยู่ในกล้วยนั้นเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งลำไส้จะย่อยและดูดซึมอย่างช้าๆ   นึกว่าจะกล้วยๆ ปรากฏว่าหน้ากระดาษหมดเสียก่อน  คงต้องขอต่อในฉบับหน้าอีกครั้ง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 รู้เท่าทันคีเลชั่น 3

ในฉบับนี้จะมาถึงข้อยุติเรื่อง การบำบัดด้วยคีเลชั่นมีประสิทธิผลต่อการรักษาหัวใจหลอดเลือดตีบหรือไม่ ซึ่งเราคงต้องดูผลการศึกษาวิจัยของ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา หรือ National Institutes of Health (NIH) ซึ่งรายงานเมื่อวันอังคารที่ 25 มีนาคม  2013 และปรับปรุงล่าสุด 30 เมษายน  2013  รวมทั้งได้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารของสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาหรือ Journal of the American Medical association (JAMA, March 27, 2013—Vol 309, No. 12) การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาระยะยาวถึง 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2554 ใช้งบประมาณ 31 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำการศึกษาในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไปจำนวนทั้งสิ้น 1,708 คน ในสถานพยาบาล 134 แห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา  ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกามีรายงานในปี พ.ศ. 2551 ว่า ในระหว่าง พ.ศ. 2545 – 2550  มีการเพิ่มขึ้นของการใช้คีเลชั่นบำบัดถึงร้อยละ 68 หรือในประชากร 111,000 คน  ซึ่งสารไดโซเดียม EDTA นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาไม่รับรองให้ใช้ในการรักษาโรคหัวใจ   การศึกษานี้ทำการศึกษาผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจนเกิดอาการของกล้ามเนื้อหัวใจวายอย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนหน้าการศึกษา(เฉลี่ย 4.5 ปี) และทำการศึกษาโดยมีกลุ่มควบคุม  ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารคีเลชั่น(ไดโซเดียม EDTA) 40 ครั้ง รวมทั้งการได้รับการกินวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับที่กลุ่มควบคุมได้รับผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้รับอยู่ก่อน เช่น แอสไพริน และยารักษาโรคหัวใจอื่นๆ  การศึกษาได้ทำการติดตามผลเป็นเวลา 1-5 ปี (เฉลี่ย 55 สัปดาห์)  ผลการศึกษาพบว่า  เมื่อสิ้นสุดการบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับคีเลชั่นเกิดผลต่างๆ ได้แก่ การเสียชีวิต การเกิดหัวใจวาย เส้นเลือดสมองตีบ หรืออาการเจ็บกล้ามเนื้อหัวใจจนต้องรับรักษาในโรงพยาบาล ในผู้ป่วย 222 ราย(ร้อยละ 26) และในกลุ่มควบคุม 261 ราย (ร้อยละ 30)  และพบว่า ต้องทำการรักษาการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มที่บำบัดด้วยคีเลชั่น ร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ร้อยละ 18 รายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา สรุปผลการศึกษาว่า การฉีดสารไดโซเดียม EDTA สามารถลดความเสี่ยงของอาการต่างๆ ของหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ผู้ทำการศึกษาระบุว่า ผลการศึกษายังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้การบำบัดด้วยคีเลชั่นเป็นการรักษาปกติหรือมาตรฐานสำหรับโรคหลอดหัวใจตีบหรือหัวใจวาย และมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะพิจารณารับเป็นการรักษาปรกติหรือมาตรฐาน รวมทั้งสารคีเลชั่น EDTA ที่ใช้ยังมีวิตามินซี วิตามินบี และสารอื่นๆ ในปริมาณสูง นพ. เกอวาสิโอ เอ. ลามาส ผู้วิจัยหลักและประธานของอายุรกรรมและหัวหน้าของแผนกหัวใจ มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย ศูนย์การแพทย์เมาท์ไซนาย ในไมอามี กล่าวว่า “การบำบัดด้วยคีเลชั่นจะทำได้อย่างปลอดภัยเมื่อมีการควบคุมค่าคงที่หรือตัวแปรต่างๆ อย่างเข้มงวดและมีคุณภาพ  และภายใต้สภาวะดังกล่าว การบำบัดจึงจะเกิดผลพอควร  ความปลอดภัยเป็นปัจจัยและตัวแปรสำคัญตลอดระยะของการศึกษา” ดร. แกรี่ เอช. กิบบอนส์ ผู้อำนวยการสถาบันหัวใจ ปอดและเลือดแห่งชาติของ NIH (NHLBI) กล่าวว่า “การวิจัยเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าใจผลอย่างถ่องแท้ก่อนที่การบำบัดแบบนี้จะถูกรับเข้าเป็นเวชปฏิบัติทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจวาย  เรายังไม่รู้ชัดเจนว่า การบำบัดนี้สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะได้รับผลดี หรือมันทำงานอย่างไร” ท่านผู้อ่านคงได้ข้อสรุปจากการวิจัยนี้อย่างชัดเจนแล้ว ต่อไปคงเป็นหน้าที่ของแพทยสภา ราชวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องทำความชัดเจนเรื่องนี้ให้กับประชาชนต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 152 รู้เท่าทันคีเลชั่น 2

ในฉบับก่อน  การทำคีเลชั่นบำบัดนั้นมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างระบบการแพทย์ตามมาตรฐานกับระบบการแพทย์ทางเลือก ทำให้คณะกรรมการคัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำการพิจารณาเรื่องนี้และจัดทำรายงานความเห็นเรื่องคีเลชั่นบำบัดเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ว่า 1.1    ยังไม่มีหลักฐานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เพียงพอที่ยืนยันว่า การบำบัดด้วย คีเลชั่นจะรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริง  จึงยังไม่ควรเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในการให้บริการ 1.2    การให้การบำบัดด้วยคีเลชั่นในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ต้องใช้เป็นโครงการศึกษาวิจัยในคนเท่านั้น  ไม่สามารถใช้เพื่อการบริการและการรักษาในระบบบริการปกติ  การวิจัยในคนต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด การประชุมวิชาการการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติครั้งที่ 6 วันที่ 2 - 4 กันยายน พ.ศ. 2552 ได้มีการจัดอภิปรายทางวิชาการเรื่อง “การบำบัดด้วยคีเลชั่น รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือ” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร  ข้อสรุปทางวิชาการมีดังนี้ 2.1 นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้กล่าวในการอภิปรายทางวิชาการประจำปีว่า  นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทบทวนเอกสารความรู้จากแหล่งข้อมูลสำคัญ 4 แหล่ง (สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา, สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา, COCHRANE และ สถาบันการแพทย์ทางเลือกในมหาวิทยาลัยของแคนาดา  ในปีพ.ศ. 2552 พบว่า 1)  สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา มีรายงานสรุปว่า ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะยืนยันว่า การบำบัดด้วยคีเลชั่นรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้ผล 2) สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลการวิจัยทางการแพทย์ การสาธารณสุข สุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกราบงานว่า ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าวิธีนี้ใช้ได้ผล  และพบว่าอาจไม่มีความปลอดภัยโดยเฉพาะหากใช้โดยคนที่ไม่มีความรู้พอ NIH จึงมีการลงทุนการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ โดยใช้อาสาสมัครเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี (เสร็จในปีพ.ศ. 2553) จึงจะสามารถสรุปประสิทธิผลของคีเลชั่นบำบัดได้  และเนื่องจากเป็นการศึกษาวิจัย  จึงต้องให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยว่า เป็นการศึกษาวิจัย  ยังไม่ใช่มาตรฐานการรักษา  มีความเสี่ยงอะไร  และไม่สามารถเก็บ “ค่ารักษา” จากอาสาสมัครได้ 3)  โคเครน (COCHRANE) เป็นองค์กรที่รวบรวมผลการวิจัยต่างๆ ได้ทำการอภิวิเคราะห์ (metaanalysis) ได้ข้อสรุปว่า คีเลชั่นยังเป็นวิธีการรักษาซึ่งไม่มีหลักฐานที่พบว่าได้ผล 4) สถาบันการแพทย์ทางเลือกในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศแคนาดา มีรายงานว่า  ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พบว่าได้ผล 2.2  นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ได้กล่าวในการประชุมวิชาการว่า “องค์กรที่เป็นตัวชี้นำสังคมในแง่วิชาการความรู้คือโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัย  ถ้าโรงเรียนแพทย์ 3 แห่งหลักขึ้นไปทำก็เชื่อมั่นได้  เพราะโรงเรียนแพทย์เป็นแหล่งที่มีการพิสูจน์ทดลอง  ต้องสอนนักเรียนแพทย์เพื่อรักษาคน  ถ้าไม่มีการรักษา (คีเลชั่นบำบัด) ในโรงเรียนแพทย์  ขอให้รอก่อน....การรักษาที่จะนำไปใช้ เป็นงานวิจัยหรือการรักษา  ดูให้ดี  เท่าที่ทราบยังไม่มีโรงเรียนแพทย์ใดในประเทศไทยที่ทำคีเลชั่น” 2.3  นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้กล่าวว่า ตามปฏิญญาเฮลซิงกิ กำหนดหลักจริยธรรมของแพทย์ไว้ว่า ถ้าหากยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แพทย์มีสิทธินำการรักษาใหม่ๆ มาใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย  ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจมีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้วหลายวิธี  การนำวิธีการรักษาที่นอกเหนือจากนี้ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับ  ไม่เช่นนั้นแพทย์ที่นำไปใช้ถือว่าผิดจริยธรรม  ควรรอผลการวิจัยของ NIH เสียก่อน หน้ากระดาษหมดอีกแล้ว  คงต้องต่อในฉบับหน้า  ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย  เราจะดูผลการวิจัยของ NIH ว่าคีเลชั่นบำบัดสามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้จริงหรือไม่

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 รู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด ตอนที่ 1

หลายท่านโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบคงรู้จักหรือได้รับการชักชวนให้ทำคีเลชั่นบำบัด  แม้กระทั่งบางคนที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดตีบ  เพียงแค่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง  โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งหรือแพทย์ในคลินิกเอกชนบางคนก็เสนอให้ทำเพื่อช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น  ดูราวกับว่าการบำบัดด้วยคีเลชั่นนั้นเป็นการบำบัดสารพัดนึก  สามารถช่วยบำบัดอาการต่างๆ ได้แทบทุกอาการ  โรงพยาบาลของรัฐบางแห่งถึงกับทำแผ่นพับเสนอการทำคีเลชั่นบำบัดโดยข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้ส่วนหนึ่ง  และต้องจ่ายสมทบเองอีกส่วนหนึ่ง คีเลชั่นบำบัดคืออะไร  สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง  สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้จริงหรือไม่ ระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยรับรองเป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์หรือยัง  มีความเสี่ยงและอันตรายหรือไม่ เราควรรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัด  ดังต่อไปนี้ คีเลชั่นบำบัด (Chelation therapy) คือ การดึงเอาโลหะหนักในร่างกายออกมาโดยใช้สารเคมี EDTA (ethylene diamine tetra-acetic acid) ฉีดเข้าไปในร่างกาย  เดิมใช้กับคนไข้ธาลัสซีเมีย  เนื่องจากมีเหล็กสะสมมาก สะสมในตับ ตับอ่อน หัวใจ และอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาพิษตะกั่ว ปรอท ซึ่งเป็นการรักษาที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบันรับรองให้เป็นวิธีการรักษาโรคดังกล่าว ต่อมามีการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบราวปี พ.ศ. 2493 เพราะเชื่อว่า การเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นเพราะมีแคลเซียมเกาะตามหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกาย การฉีด EDTA จะช่วยดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือด  ทำให้การตีบของหลอดเลือดลดน้อยลง มีการใช้คีเลชั่นบำบัดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดยโรงพยาบาลของภาคเอกชนและถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์เอกชนหลายแห่งที่มีการให้บริการการบำบัดด้วยคีเลชั่นโดยบอกว่าสามารถบำบัดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ต้องทำการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด  นอกจากนี้สถานบริการของภาครัฐบางแห่งทำการโฆษณาการบริการบำบัดด้วยคีเลชั่น  และข้าราชการสามารถเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลางได้ สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดทำแนวเวชปฏิบัติที่ดีในการบำบัดด้วยคีเลชั่น และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมเพื่อเสนอแนะให้กับบุคลากรสาธารณสุขในหน่วยงาน หรือสถานบริการที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค (การทำแนวเวชปฏิบัตินั้นหมายถึง แนวทางการบำบัดรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขกำหนดขึ้นหรือนำมาใช้เพื่อเป็นการให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งหมายความว่า การบริการนั้นๆ เป็นที่รับรองประสิทธิผล ความปลอดภัย ตามพ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพหรือการประกอบโรคศิลปะที่เกี่ยวข้อง) การทำคีเลชั่นบำบัดมีการใช้สารสองตัว  ได้แก่ สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ซึ่งมีแต่โซเดียม ไม่มีแคลเซียม โซเดียมเป็นตัวดึงแคลเซียมออกจากหลอดเลือดหัวใจ ใช้บำบัดธาลัสซีเมีย และ สารแคลเซียมไดโซเดียมอีดีทีเอ ซี่งมีแคลเซียม  สารตัวนี้จะไม่ดึงแคลเซียม  ใช้ดึงโลหะหนัก  ใช้รักษาพิษตะกั่ว  ในประเทศไทยมีการใช้สารทั้งสองชนิด ในอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้สารไดโซเดียมอีดีทีเอ ประมาณ 20 ราย กลางปี พ.ศ. 2551  ทำให้บริษัทยาสองแห่งที่ขายยานี้ในอเมริกาถอนยาตัวนี้ออกจากตลาดยาในอเมริกา  แต่ในประเทศไทยยังมีการใช้ยาตัวนี้อยู่ สถาบันหลักของอเมริกาได้แก่ สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา, สมาคมแพทย์อเมริกา, FDA (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา), ศูนย์การควบคุมและป้องกันโรค  และอีกหลายหน่วยงานมีความเห็นตรงกันว่า  ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้คีเลชั่นบำบัดในการรักษาโรคอื่นที่นอกเหนือจากรักษาโรคพิษจากโลหะหนัก การทำคีเลชั่นบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสในการได้รับการรักษาที่ดีและอยู่ในมาตรฐานการรักษาที่ยอมรับ  เช่น การควบคุมอาหาร  การออกกำลังกาย  และการสวนหัวใจหรือการผ่าตัด   ท่านผู้อ่านคงจะเห็นข้อมูลเบื้องต้น 9 ข้อที่กล่าวมาว่า  ในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากยังไม่รับรองการทำคีเลชั่นให้เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอ  แต่ในประเทศไทยมีการส่งเสริมการใช้อย่างแพร่หลายทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน  เราจะรู้เท่าทันคีเลชั่นบำบัดอย่างไรดี  คงต้องติดตามต่อฉบับหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point