ฉบับที่ 201 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เป็นโรคความจำเสื่อมจริงหรือ

หลายคนไม่กล้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพราะกลัวว่าจะเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากมีเว็บไซต์ของการแพทย์ทางเลือกหลายเว็บไซต์จากต่างประเทศกล่าวถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ยอมเป็นไข้หวัดใหญ่ดีกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไรวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดปีละครั้ง และต้องฉีดทุกปี วัคซีนนี้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทบต่อทางเดินหายใจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งมีอาการไข้ ไอ บวม และอาจเกิดอาการปอดอักเสบหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ปอดบวม  ทุกปีวัคซีนนี้ต้องคัดเชื้อที่คิดว่าจะเกิดการระบาดในปีนั้น และสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดได้ประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอัลไซเมอร์จริงหรือ สมาคมอัลไซเมอร์แห่งอเมริกา แถลงว่า ความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่(หรือสารเคมีในวัคซีน) ก่อความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์นั้น เป็นความหลงเชื่อที่ผิด และไม่เป็นความจริง เหตุที่เชื่อนั้นเพราะ วัคซีนจะมีสารปรอทซึ่งเป็นสารกันเสื่อมของวัคซีนบางชนิด(วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นการฉีดแค่ครั้งเดียว จึงไม่ต้องใช้สารนี้)  หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรค ได้ทำการวิจัยและพบว่า ปริมาณของปรอทนั้นมีปริมาณน้อย และไม่มีอันตรายมากไปกว่าการบวมและแดงเล็กน้อยเมื่อฉีดวัคซีนงานวิจัยกลับบอกผลตรงกันข้ามจากการทบทวนงานวิจัยในหลายๆ ที่ พบว่า งานวิจัยในวารสาร Canadian Medical Journal ปีค.ศ. 2001 มีการวิจัยในประชากร 4, ราย  392 รายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ มีความเสี่ยงลดลงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก หรือโปลิโอ  งานวิจัยนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีแนวโน้มการเกิดอัลไซเมอร์มากกว่ารายงานอีกเรื่องในวารสาร JAMA ค.ศ. 2004 พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในการตายจากสาเหตุต่างๆ ทุกประเภท  ซึ่งในวารสาร Pubmed ได้นำบทคัดย่อไปเผยแพร่ในวารสารงานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ การศึกษาล่าสุดในไต้หวัน ปีค.ศ. 2016 เป็นการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จำนวน 11,943 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 48 และที่เหลืออีก 6,192 ราย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการลดลงของการเกิดโรคความจำเสื่อมโดยสรุป ความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ นั้น ไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว  ในทางตรงข้าม กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กลับมีความเสี่ยงและการเกิดโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์ลดลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รู้เท่าทันการใช้เท้าเหยียบรักษาโรค(ตอนที่ 2)

การใช้เท้าเหยียบรักษาโรคเป็นการแพทย์แผนไทย หรือการนวดไทยหรือไม่ เรามารู้เท่ากันกันต่อการนวดไทยมีการใช้เท้าเหยียบหรือไม่ การนวดไทยแท้มีการใช้ทุกส่วนของร่างกายของหมอนวดเพื่อกด บีบ คลึง ลูบ ร่างกายและจุดต่างๆ ของผู้ป่วย เพื่อรักษาอาการต่างๆ โดยเฉพาะ ปวดเมื่อย การติดขัดของข้อ และโรคต่างๆ  ดังนั้นการใช้ศอกและเท้าจึงเป็นวิธีการหนึ่งของการนวดไทย การใช้เท้านิยมใช้ในนวดไทยและนวดพื้นบ้านที่เรียกว่า ย่ำขาง หรือเหยียบเหล็กแดง  โดยการใช้ส้นเท้าเหยียบบนเหล็กผานไถที่เผาบนเตาถ่านให้ร้อนจนแดง หมอนวดจะใช้น้ำมันทาที่ส้นเท้าแล้วเหยียบลงบนเหล็กที่ร้อนแดงอย่างรวดเร็ว แล้วนำส้นเท้าที่มีความร้อนไปกดตามแนวเส้นและจุดต่างๆ ของร่างกายผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อให้เส้นและกล้ามเนื้อของผู้ป่วยที่เกร็ง หดตัว เกิดการคลายตัว และเลือดลมไหลได้สะดวก  การต้องใช้เท้าเหยียบเพราะผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจะมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมาก ดังนั้นการใช้มืออาจให้แรงกดไม่พอ จึงต้องใช้เท้าในการกด ในอินเดียก็มีการใช้เท้าเหยียบเพื่อรักษาเช่นเดียวกัน โดยมีเชือกสำหรับหมอนวดโหน และสามารถขึ้นไปเหยียบนวดบนตัวผู้ป่วยได้ แต่การนวดไทยไม่มีการใช้เท้าเหยียบบนใบหน้า ศีรษะของผู้ป่วย เพราะคนไทยถือว่าศีรษะเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ จึงไม่สมควรที่จะใช้เท้าหมอนวดไปทำกับศีรษะและใบหน้าผู้ป่วย นอกจากนี้บนใบหน้ายังมีเส้นประสาท 12 คู่ ดังนั้นการใช้เท้าเหยียบอาจทำให้เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บศาสตร์พลังบำบัดมีการใช้เท้าหรือไม่   ตามหลักโยคะศาสตร์ เชื่อว่า ร่างกายมนุษย์มีศูนย์รวมพลัง ที่เรียกว่า จักระ อยู่ 7 แห่ง บนศีรษะ ใบหน้า และคอ มีจักระ 3 จักระ ได้แก่  วิสุทธิ  ตั้งอยู่บริเวณคอ ตรงกับร่างแหระบบประสาทที่คอ จักระนี้ควบคุมความบริสุทธิ์ ทำให้มีความสุขุม อัชณา ตั้งอยู่บริเวณหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสอง ที่เรียกว่า ตาที่สาม  จักระนี้ควบคุมความหยั่งรู้ทางจิต พลังทางจิตวิญญาณ สหัสสราร ตั้งอยู่ในสมอง กลางศีรษะ เปิดรับพลังจักรวาล เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้  จักระทั้ง 7 เชื่อมต่อกันแนวทางเดินของพลังที่ชื่อว่า อิทะ ปิงคละ และสุสุมนะ  ซึ่งการนวดไทยก็เชื่อว่ามีพลังตามแนวเส้นประธานสิบเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อดูตามหลักของศาสตร์เรื่องพลังตามแนวโยคะ จะเห็นว่า ศีรษะ ใบหน้า คอ เป็นตำแหน่งของจักระสำคัญ 3 จักระ และไม่มีการใช้เท้าในการกระตุ้นพลังตามจักระต่างๆ  การบำบัดด้วยพลังตามศาสตร์อื่นๆ ก็ไม่พบว่ามีการใช้เท้าเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดด้วยพลังโดยสรุป  การใช้เท้าเหยียบหัว หน้า หรือตามร่างกายเพื่อบำบัดรักษาโรคจากโรคเวรโรคกรรมที่ต้องอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ด้วยพิธีการสื่อสารพลังจิตจากสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรกนั้น ไม่ได้มาจากพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน และไม่ใช่ศาสตร์การแพทย์แผนไทย การนวดไทยอีกเช่นเดียวกัน  การบำบัดด้วยศาสตร์พลังบำบัดต่างๆ ก็ไม่มีการใช้เท้าในการบำบัดแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 รู้เท่าทันการใช้เท้าเหยียบรักษาโรค (ตอนที่ 1)

ระยะนี้มีข่าวดังทั้งในโลกออนไลน์และโทรทัศน์ มีการแชร์ภาพชายที่อ้างตัวว่ามีพลังจิต ใช้เท้าเหยียบหัว หน้า หรือตามร่างกายเพื่อบำบัดรักษาโรคได้  ชายดังกล่าวอ้างว่า ตนมีพลังจิตที่สามารถบำบัดผู้ป่วยให้หายจากโรคได้ ด้วยพิธีการสื่อสารพลังจิตจาก สมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรก โดยการใช้มือ หรือเท้า เป็นสื่อกลางไปที่ผู้ป่วยให้หายจากโรคหรือดีขึ้นในทันที โรคหรือการป่วยไข้ต่างๆ มาจากโรคเวรโรคกรรมที่ต้องอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ทำให้หายจากโรคได้หลายชนิด เช่น กระดูกหัก เอ็นขาด ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อรับบำบัดแล้วก็สามารถลุกขึ้นเดินได้ปกติในทันที เรามารู้เท่าทันการรักษาโรคด้วยการใช้เท้าเหยียบกันเถอะพระพุทธเจ้าโปรดการรักษาโรคด้วยการใช้เท้าเหยียบจริงหรือ  ชายผู้นี้อ้างการรักษานี้ว่าใช้การสื่อสารพลังจิตจากสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าองค์แรก  เราต้องมาดูหลักฐานกันว่า พระพุทธเจ้าโปรดการใช้เท้าเหยียบเพื่อการรักษาโรคจริงหรือไม่ การแพทย์ดั้งเดิมในอินเดียก่อนกำเนิดพระพุทธศาสนานั้นเป็นการแพทย์ในยุคพระเวทตอนต้น คือ เชื่อว่า โรคเกิดจากภูติผีปีศาจและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์  จะมีการท่องคาถาที่มีพลัง รวมทั้งการใช้เครื่องรางของขลังเพื่อขับไล่ภูติผีปีศาจที่ทำให้เจ็บป่วยและป้องกันไม่ให้มารบกวนอีก เมื่อเกิดพระพุทธศาสนาขึ้น ได้มีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพภายในวัดวาอาราม ทำให้ การแพทย์อายุรเวทของฮินดูที่เป็นการแพทย์แบบไสยศาสตร์-ศาสนา เปลี่ยนมาเป็นการแพทย์แบบประจักษ์นิยมและเหตุผล ซึ่งพัฒนามาจากจากปรัชญาคำสอนของพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎก พบหลักฐานสำคัญว่า1) พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องดูแลพระภิกษุที่อาพาธ โดยตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดาผู้คอยพยาบาล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะคอยพยาบาลพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย ผู้จะพยาบาลเราก็จงพยาบาลภิกษุไข้เถิด  สงฆ์ต้องพยาบาลภิกษุไข้นั้น ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฎ”2) พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา โดยเฉพาะ การแก้บน ร่ายมนต์ขับผี ปรุงยา ทำการผ่าตัด เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก เป็นต้น  3) พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้การนวดในหมู่ภิกษุณีทั้งหลาย (ใช้ภิกษุณี สิกขมานา สามเณรี คฤหัสถ์ ให้บีบบ้าง ให้นวดบ้าง ฯลฯ) เป็นอาบัติ ยกเว้นการนวดในภิกษุณีที่อาพาธ  จากหลักฐานต่างๆ แสดงว่า • การแพทย์ในสายพระพุทธศาสนาเป็นการแพทย์ที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่การแพทย์แบบไสยศาสตร์ เพราะไม่ใช่หนทางสู่ความจริงแท้และเป็นอิทัปปัจจยตา• พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุดูแลพระภิกษุที่อาพาธ แต่ไม่ส่งเสริมให้ภิกษุประกอบวิชาชีพที่เป็นแพทย์โดยตรง• พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้การนวดในหมู่ภิกษุณีที่ไม่อาพาธเป็นอาบัติ ดังนั้นการใช้เท้าเหยียบเพื่อความงามจึงเป็นอาบัติพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแปลงการแพทย์จากไสยศาสตร์ของฮินดูมาสู่การแพทย์แบบประจักษ์นิยมของพุทธศาสตร์ การอ้างพลังจิตของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะองค์ไหนก็ตาม  จึงเป็นมิจฉาทิฎฐิติดตามฉบับหน้าครับ ว่าการใช้เท้าเหยียบนั้นมาจากการการแพทย์แผนไทยหรือไม่ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 รู้เท่าทันอาหารคีโตเจ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ มีหมอบางคนออกมาแนะนำให้กินน้ำมันหมู ขาหมูเพื่อเป็นการลดน้ำหนัก และรักษาสุขภาพ เอ๊ะ...อย่างไร  เพราะเราได้รับการปลูกฝังมาตลอดว่า มันหมู หรือน้ำมันจากสัตว์นั้นเป็นไขมันอิ่มตัว เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  แต่ทำไมคุณหมอจึงกลับบอกว่าดี อันที่จริงความเชื่อเหล่านี้มีทฤษฎีความเชื่อมาจากสูตรอาหารแบบคีโตเจ้น สูตรอาหารแบบแอตกิ้นส์  และเรื่องน้ำมันที่มีประโยชน์และที่เป็นโทษต่อร่างกาย  วันนี้เรามารู้เท่าทันอาหารแบบ คีโตเจ้นหรือคีโตเจนิกไดเอ็ท (Ketogenic diet) กันเถอะอาหารคีโตเจ้นหรือคีโตเจนิกไดเอ็ท คืออะไร คนไทยไม่คุ้นเคยกับชื่ออาหารคีโตเจ้น แต่ถ้าบอกว่า อาหารสำหรับนักเพาะกาย นักกีฬา อาจเข้าใจได้ง่าย  เพราะอาหารนักเพาะกายจะกินโปรตีนเป็นหลัก เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้เป็นมัดๆ  รีดไขมันออก   ดารานักแสดงหนังบู๊ของฮอลลีวู้ดที่เน้นร่างกายที่บึกบึน จะต้องเพาะกายและกินอาหารแบบนี้ อาหารคีโตเจ้นเป็นสูตรอาหารที่คาร์โบไฮเดรตหรือแป้งต่ำ(เหมือนอาหารแอตกิ้นส์)  เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานจากโปรตีนและไขมันแทน  เป็นการลดหรือตัดแป้งออกซึ่งย่อยง่ายกว่า เช่น น้ำตาล น้ำอัดลม ข้าวขาว เป็นต้น เมื่อร่างกายกินแป้งน้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน ร่างกายจะขาดพลังงาน (น้ำตาลในเลือด)  ปรากฏการณ์นี้จะกินเวลา 3-4 วัน แล้วร่างกายจะค่อยๆ  ย่อยสลายโปรตีนและไขมันเพื่อสร้างพลังงาน ทำให้น้ำหนักลดลง ภาวะนี้เรียก คีโตซิสมีการใช้อาหารคีโตเจ้นรักษาอะไรบ้าง การแพทย์ทางเลือกใช้เพื่อลดน้ำหนัก แต่มีการใช้รักษาโรคบางชนิด เช่น ลมบ้าหมู โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท สิว เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งยังต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะยอมรับเป็นการรักษาตามมาตรฐานผลเสียจากการกินอาหารคีโตเจ้น อย่างแรกคือ โคเลสเตอรอลสูง เนื่องจากแหล่งโปรตีนมาจากเนื้อสัตว์ นม อาหารมัน  ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ  แต่ผลการศึกษาผู้ที่กินอาหารแบบแอตกินส์มานาน 2 ปี กลับมีไขมันเลวลดลงไตต้องทำงานหนักมากขึ้น อาจเกิดนิ่วในไตอาจทำให้กระดูกพรุน เพราะการกินโปรตีนมาก จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้นท้องผูก น้ำตาลในเลือดต่ำเล็กน้อย อาหารไม่ย่อย อาหารคีโตเจ้นดีจริงหรือไม่ เมื่อทบทวนงานศึกษาวิจัยจากวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้ พบว่า อาหารคีโตเจ้นเกิดประโยชน์ดังนี้1. การกินอาหารคีโตเจ้นช่วยควบคุมความหิว สามารถลดน้ำหนัก ระยะเวลาในการกินอาหารคีโตเจ้นอาจเป็นระยะสั้น (2-3 สัปดาห์) จนถึงระยะยาว (6-12 เดือน)  การกินอาหารคีโตเจ้นสามารถรักษาโรคอ้วนได้ ถ้าใช้ในการควบคุมของแพทย์2. การกินอาหารคีโตเจ้นช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่าอาหารไขมันต่ำ และการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบประสาท พบว่ามีผลที่น่าสนใจ ซึ่งต้องการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม3. การกินอาหารคีโตเจ้นระยะยาว ช่วยลดน้ำหนักและดัชนีมวลกาย นอกจากนี้ ยังลดไตรกลีเซอไรด์  LDL น้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่ม HDL  การกินอาหารคีโตเจ้นระยะยาวยังไม่พบผลข้างเคียงกับผู้ป่วย  จึงสามารถกินเป็นเวลานานได้สรุป  การกินอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ กินโปรตีนและไขมันสูงแบบอาหารคีโตเจ้นส์ หรือแบบแอตกินส์นั้นมีผลในการลดน้ำหนัก และทำให้ไขมันเลวลดลง  อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงก็มีตามมา เช่น ท้องผูก ไตทำงานหนัก กระดูกพรุน  ที่สำคัญ ต้องมีการศึกษาระยะยาวกว่านี้ ว่าอาหารที่โปรตีนสูงนั้นอาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 รู้เท่าทันการกินอาหารคลีน

อาหารคลีนหรืออาหารสะอาดนั้นกำลังเป็นที่นิยมของคนหนุ่มสาวที่รักสุขภาพทั่วโลก เพราะเชื่อว่า “อาหารคลีนเป็นวิถีชีวิตใหม่ในการกินอาหารที่กินได้มาก(ไม่ต้องอดอาหาร) น้ำหนักลด และมีสุขภาพที่ดีเยี่ยม”  ความเชื่ออาหารคลีนนี้จริงหรือไม่ มีประโยชน์จริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะอาหารคลีนคืออะไร แนวทางอาหารคลีนเกิดขึ้นจากแนวคิดของนักวิชาการหลายคน โดยเฉพาะ ทอสค่า เรโน่ นักโภชนาการ ซึ่งได้เขียนหนังสือกว่าสิบเล่มเกี่ยวกับอาหารคลีน จนเป็นที่โด่งดังและเกิดเป็นกระแสการกินอาหารคลีนขึ้นแนวอาหารคลีนก็คือ อาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป อาหารที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ที่ปลอดไขมัน และไม่ใส่ผงชูรส เครื่องปรุงรสอาหาร สารกันบูด สารเคมี น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์  ที่สำคัญต้องควบคู่กับการออกกำลังกายด้วย นั่นแสดงว่า มะเขือเทศสดถือเป็นอาหารคลีน แต่ซอสมะเขือเทศไม่ใช่  อาหารที่ผ่านการแปรรูปจะมีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว ซึ่งไม่ควรบริโภคอย่างยิ่ง อาหารคลีนที่ให้พลังงาน 1,200-1,800 แคลอรี่ต่อวัน โดยแบ่งกินวันละ 5-6 มื้อเล็กๆ จะช่วยกระตุ้นการย่อยและเผาผลาญอาหารในร่างกายได้ดีขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องการควบคุมแคลอรี่ อาหารคลีนจะช่วยลดน้ำหนัก 1.4 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและความรู้สึกอย่างชัดเจนอาหารคลีน กินอย่างไร หลักการการกินอาหารคลีน1. อาหารแต่ละมื้อควรให้พลังงาน 200-300 แคลอรี่2. กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนกับเนื้อสัตว์(20 กรัม) ทุกมื้อ3. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว4. ห้ามงดอาหารโดยเฉพาะมื้อเช้า5. บริโภคไขมันที่ดีต่อสุขภาพทุกวัน6. อาหารที่กินได้แก่ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ที่ไขมันน้อย ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ กินในอาหารปริมาณน้อย แต่บ่อยๆ อาจทุก 2-3 ชั่วโมง7. หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ อาหารที่ผ่านการแปรรูปมากเกินไป แป้งที่ขัดขาว น้ำตาลทราย น้ำอัดลม น้ำผลไม้ แอลกอฮอล์นอกจากการกินอาหารแล้ว การออกกำลังกายถือเป็นส่วนสำคัญของแนวทางอาหารคลีน  ต้องมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยกน้ำหนัก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาทีอาหารคลีนดีจริงหรือ? โรเบิร์ตต้า แอนดิ้ง นักโภชนาการหญิงจากสมาคมอาหารแห่งอเมริกา ได้ออกมาชี้แจงว่า “ทุกคนต่างทราบดีว่า การออกกำลังกาย การกินอาหารทุกมื้อ การดื่มน้ำปริมาณมาก อาหารที่มาจากผัก และเนื้อสัตว์ที่ไขมันน้อย มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน  แต่ข้อปฏิบัติและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของอาหารคลีนนั้น “เข้มงวดและไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และยากที่ปฏิบัติได้”นักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้านและกล่าวว่า อาหารคลีนนั้น ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ และมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอาหารที่เข้ามาส่งเสริม  สรุป  แนวทางอาหารคลีนนั้น ประกอบด้วยอาหารธรรมชาติ อาหารที่ไม่แปรรูป อาหารไขมันต่ำ  ซึ่งเป็นหลักการการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไป  ที่สำคัญต้องมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  ดังนั้นเราสามารถทำอาหารคลีนได้เอง โดยไม่ต้องซื้อตามร้านทั่วไป ซึ่งมักมีราคาสูงกว่าอาหารปกติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 รู้เท่าทันการกินอาหารตามธาตุเจ้าเรือน

มีการส่งเสริมการกินอาหารตามธาตุเจ้าเรือนเพื่อให้เกิดสมดุลของร่างกายจากหน่วยงานวิชาการต่างๆ  อย่างกว้างขวาง  แม้ว่าการกินอาหารตามธาตุเจ้าเรือนจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับการกินอาหารสุขภาพอื่นๆ เช่น แมคโครไบโอติกส์ อาหารตามกลุ่มเลือด อาหารด่าง อาหารคลีน ก็ตาม  แต่ก็มีกระแสตอบรับ  ดังนั้น มารู้เท่าทันการกินอาหารตามธาตุเจ้าเรือนกันเถอะ ว่าดีจริงหรือไม่ธาตุเจ้าเรือนคืออะไร คัมภีร์การแพทย์แผนไทยที่กล่าวถึงสาเหตุแห่งการเกิดโรคมีหลายเล่ม เล่มที่สำคัญคือ คัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัย คำว่า สมุฎฐาน หมายถึง ที่ตั้งแห่งโรค หรือสาเหตุแห่งการเกิดโรคนั่นเอง  คัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัยกล่าวว่า สาเหตุของความผิดปกติของร่างกายเกิดจากสมุฎฐาน 4 ได้แก่ ธาตุสมุฎฐาน อายุสมุฎฐาน อุตุสมุฎฐาน กาลสมุฎฐานธาตุสมุฏฐาน  เป็นสาเหตุของโรคที่สัมพันธ์กับธาตุทั้ง 4  ธาตุทั้ง 4 จะทำงานเป็นปกติก็เพราะมีระบบตรีธาตุ หรือตรีโทษะทำงานประสานสอดคล้องกัน ได้แก่ ปิตตะ  วาตะ  เสมหะ ปิตตะ  เป็นระบบที่ควบคุมการย่อยอาหาร ความร้อนของร่างกายวาตะ   เป็นระบบที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายและอวัยวะต่างๆเสมหะ เป็นระบบที่ควบคุมความชุ่มชื้น การหล่อลื่นในร่างกายภาวะปกติของตรีธาตุแต่ละคนเรียกว่า ปรกติลักษณะ  การแพทย์แผนไทยเรียกว่า ธาตุเจ้าเรือนอายุสมุฏฐาน  เป็นสาเหตุของโรคที่สัมพันธ์กับ อายุ ปฐมวัย    อายุตั้งแต่ แรกเกิด-16 ปี   สมุฏฐานเป็น เสมหะ มัชฌิมวัย  อายุตั้งแต่ 16-32 ปี         สมุฏฐานเป็น ปิตตะ ปัจฉิมวัย   อายุตั้งแต่ 32 ปีขึ้นไป       สมุฏฐานเป็น วาตะอุตุสมุฏฐาน  เป็นสาเหตุของโรคที่สัมพันธ์กับ ฤดูกาล ฤดูร้อน    สมุฏฐานเป็น ปิตตะ ฤดูฝน      สมุฏฐานเป็น วาตะ ฤดูหนาว  สมุฏฐานเป็น เสมหะกาลสมุฏฐาน  เป็นสาเหตุของโรคที่สัมพันธ์กับ ช่วงเวลาในแต่ละวัน 06.00-10.00 และ 18.00-22.00 น.  สมุฏฐานเป็น เสมหะ 10.00-14.00 และ 22.00-02.00 น.  สมุฏฐานเป็น ปิตตะ 14.00-18.00 และ 02.00-06.00 น.  สมุฏฐานเป็น วาตะการกินอาหารตามธาตุเจ้าเรือนเป็นตัวชี้ขาดสุขภาพหรือไม่ เมื่อดูจากทฤษฎีสมุฏฐานโรคของการแพทย์แผนไทย จะเห็นได้ว่า สาเหตุความผิดปกติของร่างกายนั้นเกิดจากสาเหตุหลักๆ ถึง 4 สาเหตุ ได้แก่ ธาตุเจ้าเรือน อายุ ฤดูกาล และช่วงเวลาในแต่ละวัน  ธาตุเจ้าเรือนเป็นเพียง 1 ใน 4 สมุฏฐานเท่านั้น   อายุ ฤดูกาล และช่วงเวลาในแต่ละวัน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุของความผิดปกติของการทำงานของตรีธาตุหรือตรีโทษะ  ดังนั้น เมื่อเกิดปัจจัยที่สร้างความผิดปกติที่กระทบต่อร่างกาย เราจะต้องปรับสมดุลของร่างกายโดยการลดหรือเพิ่มสมุฎฐานที่มีผลกระทบ  การลดหรือเพิ่มตามคัมภีร์การแพทย์แผนไทย (คัมภีร์วรโยคสาร) ใช้ทั้งการปรับสิ่งแวดล้อม พฤติกรรม อารมณ์ และอาหาร  ไม่ได้เน้นอาหารเพียงอย่างเดียว การกินอาหารเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ธาตุเจ้าเรือนเป็นปกติ  แต่ต้องกินอาหารให้สอดคล้องกับ อายุ ฤดูกาล และช่วงเวลาในแต่ละวัน  ไม่ใช่ยึดตามธาตุเจ้าเรือนเพียงอย่างเดียว ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์แผนไทยนั้น แนบแน่นการการใช้วิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ  การกินผักและอาหารพื้นบ้านที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล  แต่ละฤดูกาลจะมีผักพื้นบ้านต่างชนิด มีรสชาติที่แตกต่างกัน  การกินตามฤดูกาลและเวลาในแต่ละวัน จึงสอดคล้องกับอุตุสมุฏฐานและกาลสมุฏฐาน ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยมากกว่าการกินตามธาตุเจ้าเรือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 รู้เท่าทันผึ้งบำบัด

นอกจากการใช้ปลิง หอยทาก ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ แล้ว  การแพทย์ทางเลือกและการแพทย์เสริมยังนิยมใช้ผึ้งต่อยหรือฝังเหล็กในที่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อเป็นการบำบัดโรคปวดข้อ ข้อเสื่อมอีกด้วย  การบำบัดด้วยพิษจากเหล็กในของผึ้งได้ผลจริงหรือไม่  เรามารู้เท่าทันกันเถอะ พิษของผึ้งมีผลอย่างไรต่อร่างกาย การบำบัดด้วยเหล็กในผึ้งเป็นการรักษาแบบพื้นบ้าน ซึ่งนิยมใช้ในหลายประเทศมานานหลายศตวรรษ  ในการแพทย์ดั้งเดิมใช้ในการบำบัด ข้ออักเสบ ภูมิต้านทานร่างกายผิดปกติ  พิษจากเหล็กในผึ้งประกอบด้วยสารประกอบต่างๆ ประมาณ 40 ชนิดที่ช่วยในการเยียวยา โดยเฉพาะสารเมลิตติน (melittin)  ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดการอักเสบและข้ออักเสบผู้คนเชื่อว่า พิษของผึ้งมีผลในการลดความเจ็บปวด ช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ตั้งแต่ ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อพังผืดอักเสบ  รูมาตอยด์ ปลอกประสาทอักเสบ เป็นต้น  บางเว็บไซต์อ้างว่าบำบัดอาการต่างๆ ได้มากกว่า 30 โรค สมมติฐานทางการแพทย์เชื่อว่า พิษของเหล็กในผึ้งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตเพื่อหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดอาการอักเสบ  นอกจากนี้ พิษของเหล็กในผึ้งยังไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อไปเยียวยาส่วนต่างๆ และยังไปสร้างสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งลดความเครียดและลดอาการปวดของร่างกาย  นอกจากนี้พิษเหล็กในผึ้งยังมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับแบคทีเรีย ไวรัส ในระบบประสาทส่วนกลางและที่อื่นๆมีอาการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้งได้หรือไม่ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้มีประสบการณ์การบำบัดด้วยผึ้งประมาณ 65,000 คน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีอาการแพ้  แม้ว่าพิษของเหล็กในผึ้งจะไม่สามารถบำบัดได้ทุกอาการ แต่ก็สามารถทำให้อาการต่างๆ สงบลงได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเมื่อเทียบเท่ากับยา ในสหราชอาณาจักร พบว่า ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้ง 2- 9 ราย  ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแพ้ จึงมีการฉีดพิษเหล็กในผึ้งที่บริสุทธิ์เข้าใต้ผิวหนังทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้น แทนที่จะใช้ผึ้งเป็นๆ มาต่อยที่ผิวหนัง จาการทบทวนเอกสาร พบงานวิจัย 145 รายงาน   พิษเหล็กในผึ้งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพ้ถึง ร้อยละ 261 เมื่อเทียบกับการฉีดด้วยน้ำเกลือ  อาการแพ้พิษเกิดได้บ่อย จึงสมควรที่นักบำบัดจะต้องระวังเมื่อใช้ผึ้งบำบัด และต้องได้รับการอบรมตามมาตรฐานพิษจากเหล็กในผึ้งบำบัดโรคได้จริงหรือไม่ จากการทบทวนวรรณกรรมใน PUBMED, EMBASE และ Cochrane Library เกี่ยวกับการบำบัด       ข้ออักเสบ ด้วยพิษเหล็กในผึ้ง  มีงานวิจัย 15 รายงาน พบว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  มี 5 รายงานที่แสดงว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีประสิทธิผลในการบำบัดข้ออักเสบ มีการทบทวนการวรรณกรรมการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการบำบัดมะเร็งเช่น  มะเร็งที่ไต ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ เต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาว  พบว่า สารเมลิตตินและฟอสฟอไลเปส A2 สามารถจับเซลล์มะเร็ง และมีผลทำให้เซลล์มะเร็งตายได้  ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนวรรณกรรมในการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการรักษารูมาตอยด์ อาหารปวดหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และอื่นๆ อีกจำนวนมากสรุป การบำบัดด้วยพิษเหล็กในผึ้งนั้น มีหลักฐานการวิจัยมากพอควรว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะ ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพราะ พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  รวมทั้งมีผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมีผลดีในผู้ที่มีปัญหาภูมิต้านทานของร่างกายผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รู้เท่าทันหอยทากบำบัด

ฉบับนี้ขอนำเรื่องหอยทากบำบัดมาเล่าสู่กันฟัง เพราะหลายคนคงจะได้เห็นโฆษณากันตามท้องถนน และสื่อออนไลน์มากพอสมควร  หอยทากบำบัดที่ใช้เพื่อความงามของใบหน้าได้ผลจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะมีการใช้หอยทากบำบัดมานานแค่ไหน มีการใช้หอยทากเพื่อการบำบัดมา ตั้งแต่สมัยของฮิปโปรเครตีส (460-370 ก่อนคริสตกาล)  เพื่อใช้ในการรักษาโรคถุงน้ำของไขสันหลัง นอกจากนี้ ยังใช้รักษาอาการปวดที่เกี่ยวกับแผลไหม้ ฝี และบาดแผล  ในคริสตศตวรรษที่ 18 มีการใช้สารจากหอยทากมาทำเป็นยาทาภายนอกเพื่อรักษาโรคผิวหนัง และยารักษาอาการของวัณโรคและไตอักเสบ  เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ให้ความสนใจหอยทากบำบัด  ปีค.ศ. 1999 มีการทบทวนยา  Ziconotide (SNXIII) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากพิษของหอยทากและใช้ลดอาการปวด  พบว่า การศึกษาในระดับพรีคลินิกและระดับคลินิกมีความน่าสนใจเมือกของหอยทากมีสรรพคุณอะไรบ้าง เมือกของหอยทากมีสารที่นำมาสกัดมากมาย เช่น  helicidine, pertussidine, pomaticine   โดยจะนำหอยทากมาแช่ในน้ำเกลือ 1%  หอยทากจะคายเมือกออกมา  ในน้ำเมือกย่อยอาหารของหอยทากจะมีเอนไซม์มากกว่า 30 ชนิด และยังมีเอนไซม์จากเมือกจากส่วนอื่นๆ อีกหลายชนิด  เมือกเหล่านี้ บางชนิดมีสรรพคุณต่างๆ เช่น การละลายเสมหะในทางเดินหายใจในห้องปฏิบัติการ เป็นต้นปัจจุบันยังนิยมใช้หอยทากบำบัดหรือไม่ ปัจจุบันมีความสนใจจากทางการแพทย์มากขึ้นในการนำประโยชน์จากหอยทากมาใช้ในการรักษาคน  นอกจากใช้เป็นยาที่ช่วยขับเสมหะแล้ว ยังพบว่า หอยทาก Helix pomatia ซึ่งเป็นหอยทากชนิดหนึ่งที่ใช้กินเป็นอาหาร  อาจนำมาใช้ในการบ่งชี้การทำนายโรคของมะเร็งเต้านม กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ นักวิจัยยังพบว่า ประชากรในเกาะครีต ประเทศกรีซ มีการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าประชากรในอเมริกา เนื่องจากประชากรในครีตบริโภคหอยทากเป็นปริมาณมาก  หอยทากมีปริมาณของ α-linolenic acid จำนวนมาก  ซึ่งป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดกระแสการใช้หอยทากเพื่อความงาม ในแวดวงความงาม สปา มีการใช้หอยทากในการบำบัดรอยเหี่ยวย่นของใบหน้า ช่วยทำให้ใบหน้ากลับมาเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเมือกเหนียวๆ ของหอยทากจะช่วยให้ผิวหน้ากลับมาเต่งตึงเหมือนผิวคนหนุ่มสาว  มีการประชาสัมพันธ์ผ่านดารา ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มาใช้บริการและอ้างว่าได้ผลดี  ทำให้ผู้คนแห่ไปใช้บริการจากหอยทากเพื่อความงามจำนวนมาก ตั้งแต่ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย จนถึงไมอามี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น  ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า มีการบำบัดด้วยหอยทากที่สปาเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานครประโยชน์ของหอยทากในการบำบัด เมื่อทบทวนจากเอกสารทางวิชาการ มีการศึกษาประโยชน์ของหอยทากจำนวนมาก  แต่แทบทั้งหมดจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับมะเร็ง โดยศึกษาในการทำนายโรคของมะเร็งและการใช้เพื่อชะลอการแพร่กระจายและลุกลามของมะเร็ง สรุป  การใช้หอยทากบำบัดมีมานานหลายพันปีจวบจนปัจจุบัน  มนุษย์มีความเชื่อว่า หอยทากเป็นสัตว์ที่มีสรรพคุณในการรักษาและเยียวยาโรคต่างๆ  ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการนำเมือกจากหอยทากมาผลิตเป็นยาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ  มีการศึกษาเพื่อใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด  ลดอาการปวดรุนแรง และโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 รู้เท่าทันปลิงบำบัด

กระแสความตื่นตัวเรื่องปลิงบำบัดในไทยเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ถ้าเราเข้าไปดูในยูทูปจะเห็นการใช้ปลิงบำบัดเต็มไปหมด ใช้ตั้งแต่การรักษาสิว แผลติดเชื้อ ไมเกรน  ในเว็บไซต์สุขภาพจำนวนมากใช้ปลิงบำบัดสารพัดโรค ตั้งแต่ ผมร่วง หัวล้าน ข้อเข่าอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน การได้ยิน ต้อหิน เหงือกอักเสบ ความดันเลือดสูง แม้กระทั่งมะเร็ง  ดาราดังในฮอลีวูดเช่น เดมี่ มัวร์ ก็เคยใช้ปลิงในการล้างพิษในเลือดเมื่อปีค.ศ. 2008  ปัจจุบันดาราฮอลลีวูดมีการใช้ปลิงบำบัดในการทำให้ใบหน้ากลับมาเต่งตึงโดยไม่ต้องผ่าตัด  เรามารู้เท่าทันปลิงบำบัดกันเถอะความเป็นมาของปลิงบำบัด การใช้ปลิงบำบัดมีมานานหลายพันปี ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดอารยธรรมเมือง  เมืองโบราณเช่น อียิปต์ อินเดีย กรีก และอาหรับ มีการใช้ปลิงในการรักษาโรคโดยการเอาเลือดออกจากร่างกาย เพราะเชื่อว่าเป็นการเอาเลือดเสียหรือเป็นพิษออกไป จึงใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ระบบประสาท ความผิดปกติของระบบขับปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การอักเสบ โรคฟัน การบันทึกเกี่ยวกับปลิงบำบัดที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในคำภีร์ศูสรุตสัมหิตตา เขียนขึ้นโดย ศูสรุตในปี ค.ศ. 800 ก่อนคริสตกาล โดยกล่าวว่าเป็นวิธีการเอาเลือดออก ใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง อาการปวดร้าวไปที่ขา และอาการปวดกล้ามเนื้อ   เขาอธิบายว่า ปลิงมี 12 ชนิด เป็นพิษ 6 ชนิด และไม่เป็นพิษ 4 ชนิด การแพทย์แผนไทยก็มีตำราแผนปลิง และได้ประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ แต่พบว่า แพทย์แผนไทยไม่มีประสบการณ์การใช้ปลิงรักษาเหมือนแพทย์อายุรเวทของอินเดียปลิงรักษาโรคได้อย่างไร เมื่อเร็วๆ การศึกษาจำนวนมากพบว่า ในน้ำลายของปลิงประกอบด้วยสารโปรตีนจำนวนมาก ได้แก่ แอนติทรอมบิน (สารต้านการแข็งตัวของเลือด สารสำคัญมีชื่อว่า ฮิรูดิน ทำให้ปลิงบำบัดมีชื่ออีกชื่อว่า Hirudin Therapy)  แอนติเพลตเลต สารต้านแบคทีเรีย และอื่นๆ อีกมาก  การพบว่ามีสารต้านการแข็งตัวของเลือดทำให้ปลิงบำบัดหวนกลับมาเป็นวิธีการรักษาที่นิยมอีกครั้งเพื่อใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง โรคติดเชื้อ  ในคริสตศตวรรษที่ 20 วงการศัลยกรรมตกแต่งและจุลศัลยกรรมเริ่มใช้ปลิงบำบัดในการป้องกันการบวมจากหลอดเลือดดำ และการต่อนิ้วและเนื้อเยื่อต่างๆ  ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เพื่อความงาม  ในปีค.ศ. 2004  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา ได้รับรองการใช้ปลิงเป็นอุปกรณ์การรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่งปลิงรักษาโรคได้จริงหรือไม่  รายงานการวิจัยจำนวนมากในวารสารวิชาการ PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และการทบทวนของห้องสมุด Cochrane ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิงบำบัด โดยเฉพาะในการรักษาข้อเสื่อม ช่วยลดอาการปวด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น และลดการติดขัดของข้อ  การทบทวนพบว่า มีการใช้ในการบำบัด ฝีหนอง ต้อหิน เส้นเลือดดำอุดตัน  และมีการใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อแก้ปัญหาการไหลเวียนของเลือด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิง แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลแทรกซ้อนของการใช้ปลิงบำบัด เพราะยังคงมีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ปลิงบำบัดอยู่ โดยเฉพาะการติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด และผู้ใช้ขาดความรู้ความชำนาญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 รู้เท่าทันการกินม้าน้ำ

ม้าน้ำ เป็นปลากระดูกแข็งที่อาศัยอยู่ในทะเล การแพทย์จีนนิยมนำมาทำเป็นตำรับยาจีนดั้งเดิม เพราะเชื่อว่าช่วยบำรุงกำลังและเสริมสมรรถนะทางเพศ ชะลอความแก่ ต้านมะเร็งเต้านม รักษาหอบหืด อ่อนแรง เป็นต้น จากความนิยมทำให้มีการจับม้าน้ำในมหาสมุทรเพื่อมาจำหน่ายเพราะมีราคาสูง ระหว่าง 18,000-90,000 บาทต่อกิโลกรัม ในแต่ละปี มีการล่าม้าน้ำมาทำยาถึง 150 ล้านตัว คาดว่า ม้าน้ำจะสูญพันธุ์ภายใน 20-30 ปีข้างหน้านี้ จึงต้องมารู้เท่าทันกันเถอะรู้จักม้าน้ำม้าน้ำเป็นปลาชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hippocampus ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่ซื่อสัตย์ต่อความรัก เพราะมันจะมีคู่ตัวเดียวตลอดชีวิต ตัวผู้จะมีกระเปาะหน้าท้อง ตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 50 ฟองใส่กระเปาะหน้าท้องตัวผู้ ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อผสมกับไข่ และคอยดูแลไข่จนฟักออกมาเป็นตัว ใช้เวลาระหว่าง 14 วัน – 4 สัปดาห์ อายุของม้าน้ำในธรรมชาติเฉลี่ย 1-5 ปีม้าน้ำกับการแพทย์จีน ม้าน้ำและสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิดถูกนำมาใช้เป็นยาในการรักษาโรคต่างๆ ในการแพทย์จีนใช้ม้าน้ำมาทำเป็นยาบำรุงร่างกายหรือยาดอง ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มความเป็นยินมากขึ้นตามหลักการเรื่องยินหยาง ม้าน้ำยังเกี่ยวกับพลังของตับและไต จึงใช้รักษาหอบหืด หลอดเลือด หย่อนสมรรถภาพทางเพศ โคเลสเตอรอลสูง นอนไม่หลับ และโรคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นพอที่จะยืนยันประสิทธิผลดังกล่าวในสมัยก่อน การใช้ม้าน้ำในหมู่คนจีนเป็นการซื้อจากตลาดชุมชนท้องถิ่นและนำกลับไปปรุงยาที่บ้านเพื่อรักษาตนเอง คนในครอบครัว คนในชุมชน เป็นหลัก แต่ปัจจุบัน ธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงการใช้และการผลิตยาจากม้าน้ำ โดยมีการบดและบรรจุเป็นยาเม็ดขายกันทั่วไป ยาเม็ดดังกล่าวจะมาจากม้าน้ำที่ยังเล็ก ยังไม่โตเต็มวัย ทำให้ม้าน้ำสูญพันธุ์ได้ง่าย ถ้าเป็นม้าน้ำตัวผู้ซึ่งเป็นตัวที่ฟักไข่ที่หน้าท้อง โดยเก็บไข่ของตัวเมียไว้ที่กระเปาะหน้าท้องและฉีดน้ำเชื้อผสม และดูแลไข่จนฟักออกมาเป็นตัว ทำให้ลูกม้าน้ำจำนวนหลายร้อยตัวตายพร้อมกับพ่อม้าน้ำไปด้วยมีงานวิจัยทางการแพทย์รับรองประสิทธิผลหรือไม่ได้พยายามทบทวนงานวิจัยในวารสารวิชาการในต่างประเทศ มีการศึกษาเรื่องม้าน้ำในด้านต่างๆ มากพอควร แต่ไม่มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับประสิทธิผลในการรักษาโรคมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ พบว่า มีคุณสมบัติในการรักษาข้ออักเสบและการอักเสบ เอนไซม์คาเทปซินมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อน อย่างไรก็ตาม ยังต้องการงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพื่อยืนยันขีดความสามารถทางชีวการแพทย์ดังกล่าวเมื่อค้นคว้าใน Cochrane Library ไม่พบว่ามีการทบทวนศึกษาประสิทธิผลของม้าน้ำสรุป แม้ว่าการแพทย์จีนดั้งเดิมเชื่อว่า ม้าน้ำมีสรรพคุณมากมาย รักษาตั้งแต่ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ชะลอความแก่ มะเร็งเต้านม หอบหืด จนถึงตับไต แต่ก็ไม่มีหลักฐานการศึกษาวิจัยที่จะยืนยันประสิทธิผลดังกล่าว จึงไม่ควรส่งเสริมยาจีนที่ทำจากม้าน้ำ เพราะไม่ยืนยันผล และยังเป็นการทำลายม้ำน้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >