ฉบับที่ 191 รู้เท่าทันการกินกระดูกเสือ

กว่าหลายศตวรรษที่ผู้คนนับถือเสือว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ทรงพลัง และมีอำนาจเร้นลับ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นทั่วไปจึงยำเกรงและบูชาเสือ  เสือเป็นเสมือนเทพเจ้า ปีศาจ และเป็นทั้งยาในการรักษาโรค  การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่า การได้กินส่วนต่างๆ ของเสือจะทำให้เกิดพลังชีวิต เรี่ยวแรง ความแข็งแรง และอื่นๆ อีกมากมาย  แทบทุกส่วนของเสือ ตั้งแต่จมูกจรดหาง สามารถใช้เพื่อรักษาโรคยาวเหยียด ตั้งแต่ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก หัวล้าน ปวดฟัน ปวดข้อ ไข้ ปวดศีรษะ เป็นต้น  แม้กระทั่งอวัยวะเพศผู้ของเสือก็ใช้เป็นยาโด๊ปในการแพทย์จีน  กระดูกเสือเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุด ใช้ในการรักษาโรคปวดข้อ ข้ออักเสบ และความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย  กระดูกต้นขาหน้าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด เพราะเชื่อว่ามีพลังในการเยียวยามากที่สุด  กระดูกจะถูกบดเป็นผง บรรจุเป็นยาเม็ด พลาสเตอร์ และเป็นส่วนผสมกับยาตัวอื่น รวมทั้งผสมในเหล้า  ปริมาณการใช้กระดูกเสือ คือ 3-6 กรัมต่อวัน คิดเป็น 2.95-5.9 กิโลกรัมต่อปี  จากความเชื่อดังกล่าวทำให้เสือถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์  ในปี พ.ศ. 2529 เสือถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์  ในปีต่อมา ไซเตส (CITES) ได้ห้ามการค้าขายชิ้นส่วนของเสือข้ามประเทศ  ในปีพ.ศ. 2533-2535 จีนได้ส่งออกยาและเหล้าดองที่มีส่วนประกอบของเสือ 27 ล้านหน่วยไปยัง 26 ประเทศ  และจีนได้ห้ามการค้าขายเกี่ยวกระดูกเสือภายในประเทศในปี พ.ศ. 2536   ส่วนประกอบของกระดูกเสือ กระดูกเสือก็เหมือนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตระกูลแมวใหญ่ในป่า   ตำราการแพทย์จีนระบุว่า กระดูกเสือมีกลิ่นฉุนและมีคุณสมบัติ “ร้อน”  จึงใช้ในการลดอาการปวดและเสริมสร้างกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ  นิยมใช้ในการรักษาอาการลีบของขา เข่า และข้ออักเสบต่างๆ กระดูกของเสือและสุนัขมีความเหมือนกัน ประกอบด้วย คอลลาเจน ไขมัน แคลเซียมฟอสเฟตและแคลซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมฟอสเฟต  คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญ  ส่วนประกอบของกรดอะมิโนของเจลลาตินของเสือและสุนัขคล้ายกัน เสือมี 17 กรดอะมิโน ส่วนสุนัขมีเพิ่มอีกหนึ่งคือ ไทโรซีนในตำราการแพทย์จีน บอกว่า ประสิทธิผลของกระดูกเสือและสุนัขมีความคล้ายคลึงกัน  มีผลในการ ลดการอักเสบ ลดปวด ช่วยให้สงบและอยากหลับ และช่วยการติดของกระดูกที่หัก กระดูกเสือมีสรรพคุณจริงหรือไม่ มีงานวิจัยรองรับมากน้อยเพียงใด?จากการสืบค้นงานวิจัยต่างๆ  ไม่พบว่ามีการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระดูกเสือต่อการรักษาโรค  แต่มีงานทบทวนเอกสารของห้องสมุดคอเครนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาจีนกับการรักษาโรคกระดูกพรุน  มีงานศึกษาทั้งหมด 108 รายงาน อาสาสมัครในการวิจัย 10,655 คน ทบทวนเอกสารตั้งแต่ต้นจนถึงมกราคม พ.ศ. 2556  พบว่า มีการใช้ยาจีนกว่า 99 รายการ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ระยะเวลาในการศึกษาเฉลี่ย 5.7 เดือน โดยดู กระดูกหักที่เกิดใหม่ คุณภาพชีวิต มวลกระดูก  สรุปผลว่า ประสิทธิผลของยาจีน 99 รายการต่อมวลกระดูก ยังไม่ชัดเจน  ต้องมีการศึกษาที่รัดกุมมากกว่านี้ สรุป ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของกระดูกเสือว่าจะช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ตามตำราการแพทย์แผนจีน  ที่สำคัญ กระดูกเสือและกระดูกสุนัขนั้นมีส่วนประกอบเหมือนกันมาก เราอาจหลงซื้อกระดูกสุนัขแทนกระดูกเสือก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รู้เท่าทันการกินดีหมี

มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของสัตว์มาเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรตามตำรับดั้งเดิมแทบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยาจีน ยาอายุรเวท และยาไทย ทำให้มีการล่าสัตว์ป่าในธรรมชาติจนบางอย่างใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ม้าน้ำ แรด เสือ เป็นต้น สัตว์บางอย่างถูกนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เช่น กวาง ชะมดเชียง เป็นต้น แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาเลี้ยงอย่างทารุณเพียงเพื่อเอาน้ำดีมาทำเป็นยา นิยมมากในหมู่คนจีน เกาหลี และเวียดนาม เรามารู้เท่าทันดีหมีกันเถอะดีหมีมีอะไรดีน้ำดีและถุงน้ำดีของหมีเป็นสัตว์วัตถุในการแพทย์ดั้งเดิมของจีน กว่า 3,000 ปี การแพทย์แผนจีนใช้รักษา ไข้ นิ่วในถุงน้ำดี โรคหัวใจ และโรคตา สารสำคัญในน้ำดีของหมีได้แก่ กรดเออร์โซดีออกซีโคลิค (ursodeoxycholic acid/UDCA) และมีมากเป็นพิเศษในน้ำดีของหมีมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น น้ำดีจะถูกสร้างโดยตับและเก็บไว้ในถุงน้ำดี เมื่อน้ำดีถูกปล่อยออกไปในลำไส้เล็ก จะช่วยย่อยไขมัน กรดไขมัน UDCA จะช่วยควบคุมโคเลสเตอรอลโดยช่วยลดการดูดซึมของลำไส้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงใช้กรดนี้ในการรักษานิ่วในถุงน้ำดีโดยไม่ต้องผ่าตัดหมีหนึ่งตัวจะผลิตน้ำดีที่ทำเป็นผงแห้งได้ 2 กก.ต่อปี น้ำดีของหมีซื้อขายกันในราคาสูง ในจีนขายราคา 14,350 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม ในญี่ปุ่น ถุงน้ำดีหมีป่า ขายราคา 115,500 บาทต่อกิโลกรัม ในเกาหลีใต้ ราคา 350,000 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันยังมีการใช้น้ำดีหมีในการผลิตเป็นแชมพู ไวน์ ชา ยาอมแก้เจ็บคอ อีด้วยจากการทบทวนของคอเครนพบว่า กรดเออร์โซดีออกซีโคลิคช่วยลดชีวเคมีในตับ ดีซ่าน และน้ำในช่องท้อง ยาเออร์โซไดออลเป็นยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาขึ้นทะเบียนยาเพื่อรักษาโรคตับแข็งจากท่อน้ำดีปฐมภูมิ นอกจากนี้ใช้รักษาท่อน้ำดีอุดตันในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพื่อบรรเทาอาการคันและลดการดูดซึมน้ำดีดีหมีกับโศกนาฏกรรมของหมีจากการที่ดีหมีมีราคาสูง ก่อให้เกิดธุรกิจการเลี้ยงหมีในฟาร์มเพื่อรีดน้ำดีจากหมีเหมือนกับการรีดนมวัว แพะ ควาย แต่วิธีการนั้นทารุณและไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง ในประเทศจีน มีฟาร์มเลี้ยงหมีกว่า 400 ฟาร์ม หมีกว่า 10,000 ตัวถูกจับขังในกรงแคบๆ ขนาด 2.5 x 4.2 x 6.5 ฟุต จนหมีไม่สามารถหมุนตัวไปมา หรือแม้กระทั่งจะนั่งก็นั่งได้ไม่เต็มก้นการรีดน้ำดีหมีนั้นจะทำวันละ 2 ครั้ง มีการผ่าตัดฝังท่อยางหรือท่อเหล็กเข้าทางหน้าท้องของหมี ซึ่งไม่ได้ทำโดยสัตวแพทย์ ทำให้หมีกว่าครึ่งหนึ่งตายจากการติดเชื้อหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ หมีที่รีดน้ำดีต้องมีอายุ 3 ปี และถูกดูดน้ำดีอย่างน้อย 5-10 ปี บางตัวที่ถูกช่วยชีวิตถูกรีดนานกว่า 20 ปี สภาพที่สกปรกในฟาร์มส่วนใหญ่ทำให้หมีต้องทรมานจากการติดเชื้อ หนอน และพยาธิ กล้ามเนื้อของหมีจะลีบ ขาดอาหาร เขี้ยวและฟันถูกถอนออก หมีบางตัวฆ่าตัวตายเพื่อหนีความทุกข์ทรมาน ในน้ำดีหมีอาจพบการปนเปื้อนของน้ำหนองจากการติดเชื้อสุขภาพต้องสมบูรณ์ทั้งกายและจิตมีความพยายามที่จะหาสิ่งอื่นมาทดแทนดีหมี ได้แก่ น้ำดีหมีเทียม สารสังเคราะห์ น้ำดีจากสัตว์อื่น และพืชสมุนไพร ซึ่งน้ำดีจากสัตว์อื่นโดยเฉพาะหมูมีสรรพคุณคล้ายน้ำดีหมีสรุป น้ำดีหมีมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ ตามความเชื่อของการแพทย์จีนดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม น้ำดีหมีนั้นได้มาจากความทุกข์ทรมานของหมีที่ถูกเลี้ยงอย่างไร้มนุษยธรรม จึงสมควรที่จะไม่ส่งเสริมการใช้หรือบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รู้เท่าทันการกินฉี่

การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อเป็นการบำบัดโรคนั้น เคยเกิดกระแสนิยมในสังคมไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือกและในสายของผู้ปฏิบัติธรรม ต่อมาลดความนิยมลง แต่ยังมีการปฏิบัติกันในหมู่นักปฏิบัติธรรมและผู้รักสุขภาพบางกลุ่ม ในบางช่วงก็เกิดกระแสนิยมเป็นครั้งคราว เหตุที่การดื่มน้ำปัสสาวะไม่ก่อกระแสรุนแรงเหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ นั้น อาจเป็นเพราะ ทุกคนเป็นเจ้าของน้ำปัสสาวะ ไม่ต้องซื้อขาย จึงไม่มีกระแสธุรกิจที่จะมาขายน้ำปัสสาวะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรามารู้เท่าทันน้ำปัสสาวะกันดีกว่าความเป็นมาการดื่มหรือการใช้น้ำปัสสาวะของคนหรือของสัตว์เพื่อการบำบัดโรคนั้นมีการใช้กันทั่วโลกมานานกว่าพันปี ในพระธรรมวินัย กำหนดแนวทางยังชีพหรือนิสัย 4 ให้ภิกษุฉันน้ำมูตเน่า(น้ำปัสสาวะ) มีหลักฐานการจารึกในอิยิปต์โบราณ กรีก โรม คัมภีร์โยคะของอินเดีย ตำราการแพทย์จีน ดังนั้นการดื่ม การใช้น้ำปัสสาวะจึงเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่เก่าแก่หลายพันปีบทความในวารสาร Nephrology เดือน พ.ค. - มิ.ย. 2011 เขียนว่า ผู้คนที่ใช้น้ำปัสสาวะเชื่อว่า น้ำปัสสาวะไม่เป็นของเสียของร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่กลั่นจากเลือดและมีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ถูกเรียกเป็น “ทองคำจากเลือด” และ “ยาอายุวัฒนะ” การดื่มน้ำปัสสาวะมีที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย และมีการใช้มานานหลายศตวรรษและหลายวัฒนธรรมบทบรรณาธิการในวารสาร Pan Afr. Med J. เผยแพร่ ออนไลน์ 25 พค. 2010 เขียนว่า จากการค้นหาเกี่ยวกับ “การดื่มน้ำปัสสาวะ” ในกูเกิ้ลเกือบ 100,000 รายการและในวิดีทัศน์ 150 รายการ ยืนยันว่า “การดื่มน้ำปัสสาวะ ยังคงเป็นที่นิยมและกลับมานิยมในทุกวันนี้”ในน้ำปัสสาวะมีของล้ำค่าอะไรบ้างน้ำปัสสาวะส่วนใหญ่เป็นน้ำ มียูเรีย (25g/d), กรดยูริก (1g/d), ครีเอตินีน (1.5g), แร่ธาตุต่างๆ (10g/d ส่วนใหญ่เป็น เกลือโซเดียม), ฟอสเฟตและกรดอินทรีย์ (3g/d) , มีโปรตีนเล็กน้อย (40-80 mg/d, ส่วนใหญ่เป็นอัลบูมิน, ฮอร์โมนเล็กน้อย, กลูโคส และวิตามินที่ละลายน้ำน้ำปัสสาวะจะบริสุทธิ์ ปราศจากเชื้อโรคเมื่อเกิดขึ้นในไต แต่เมื่อปล่อยออกจากร่างกายแล้วมักจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคมีการใช้น้ำปัสสาวะรักษาโรคอะไรในบทความ Nephrology ปี 1999 เขียนว่า มีการดื่มน้ำปัสสาวะในตอนเช้าเพื่อเป็นการรักษาโรคจำนวนมาก เช่น การติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการที่เกิดขึ้นระหว่างวันแรกๆ ที่ดื่มน้ำปัสสาวะ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ท้องเสีย หรือไข้ สารสำคัญจำนวนมากในปัสสาวะได้แก่ ยูเรีย กรดยูริก ไซโตไคน์ (เป็นโปรตีนหรือไกลโคโปรตีนที่มีขนาดเล็ก สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น) ฮอร์โมน มีการใช้น้ำปัสสาวะกับภายนอก ได้แก่ การชโลม การทา การประคบก้อนเนื้องอก การอาบน้ำปัสสาวะ หรือแช่เท้าในน้ำปัสสาวะ การหยอดตา หยอดหู และทำความสะอาดแผล จาการค้นหาการทบทวนการใช้น้ำปัสสาวะในการบำบัดจากวารสารวิชาการต่างๆ ไม่พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของการใช้น้ำปัสสาวะต่อร่างกายสรุป การดื่มและใช้น้ำปัสสาวะเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่มานานหลายพันปี ใช้กันทั่วโลก ผู้คนเชื่อว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืน รักษาโรคได้ มีความเห็นตรงกันว่า ให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง ควรเป็นน้ำปัสสาวะในตอนเช้าหลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทั้งวันหรือดื่มแทนน้ำอย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการทบทวนทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ทั้งในแง่ประโยชน์ในการบำบัดโรค หรือโทษระยะยาวจากการดื่มน้ำปัสสาวะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รู้เท่าทันเมล็ดเจีย

ระยะนี้ ดูเหมือน เมล็ดเจีย กลายเป็นพระเอกในตลาดสินค้าสุขภาพทางเลือกโดยเฉพาะในต่างประเทศ ประเทศไทยกำลังตามมาติดๆ เมล็ดเจียจะแซงเมล็ดงาดำหรือแมงลักได้หรือไม่ ในต่างประเทศมีความนิยมเรื่องเมล็ดธัญพืชที่ไม่ขัดสีและเมล็ดธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้เมล็ดเจีย ยังมีตำนานว่าเป็นธัญพืชที่ชาวแอซเท็กโบราณในคริสศตวรรษ 14-16 นิยมบริโภคเพราะเชื่อว่า จะให้พลังกับร่างกายและสติปัญญา ต่อมาได้เกิดสูญพันธุ์ไป และมาค้นพบใหม่อีกครั้ง ทำให้มีการนำมาเพาะปลูกและบริโภคโดยเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างยิ่งเพราะมีภูมิปัญญาโบราณของชาวแอซเท็กเป็นหลักฐาน เรามารู้เท่าทันเมล็ดเจียกันเถอะเมล็ดเจียคืออะไรเมล็ดเจียมีชื่อว่า Salvia hispanica หรือนิยมเรียกกันทั่วไปว่า Chia เป็นพืชตระกูลมินต์ มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโกกลางและใต้ และในกัวเตมาลา นักรบชาวแอซเท็กกินเมล็ดเจียเพื่อให้พลังงานและความทนทานสูง พวกเขาเชื่อว่า การกินเมล็ดเจียแค่หนึ่งช้อนชาจะช่วยเพิ่มพลังได้นาน 24 ชั่วโมงคุณค่าของเมล็ดเจียมีการโฆษณาเกี่ยวกับเมล็ดเจียในเว็บไซต์จำนวนมาก ทั้งบริษัทร้านค้าและแพทย์ทางเลือกที่มีชื่อเสียง บางคนเรียกว่าเป็น superfood ก็มี และอ้างคุณค่าว่า มี โอเมก้า 3 มากกว่าปลาแซลมอน 8 เท่า, โอเมก้า 6, เหล็กมากว่าผักโขม 3 เท่า, สารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าบลูเบอรี่ 3 เท่า, แมกนีเซียมมากกว่าบรอกโคลี 15 เท่า, แคลเซียมมากกว่านม 5 เท่า, เส้นใยอาหารสูง และยังดีต่อโรคหัวใจ ลดไขมัน ความดันเลือดลดลง เป็นต้น ในบางเว็บไซต์ อ้างว่า เมล็ดเจียช่วยในการลดน้ำหนัก รักษาโรคเบาหวาน กระดูกพรุน สำหรับนักกีฬาราคาซื้อขายเมล็ดเจียในท้องตลาดสุขภาพในท้องตลาดประเทศไทยมีการขายเมล็ดเจียกันหลายราคา ตั้งแต่ 600 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงพันกว่าบาท โดยเฉพาะที่นำเข้าจากประเทศเม็กซิโกและเป็นเกษตรอินทรีย์จะมีราคาสูงเป็นพิเศษการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดเจียในวารสารวิชาการจำนวนมาก ในวารสาร Pubmed มีการตีพิมพ์การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดเจียประมาณ 46 รายงาน จากการทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Pubmed พบว่า งานวิจัยต่างๆ นั้นยังมีหลักฐานทางวิชาการที่จำกัด ไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลของเมล็ดเจียได้เพียงพอ แต่พบว่า มีงานวิจัยคลินิก 2 รายงานที่น่าเชื่อถือ โดยรายงานการศึกษาทางคลินิกรายงานหนึ่ง พบว่า เมล็ดเจียอาจมีประสิทธิผลต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ (รวมทั้งน้ำหนักร่างกายที่มากเกินไป) บ้าง ส่วนอีกรายงานนั้นพบว่า ไม่มีประสิทธิผลต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ ทั้ง 2 การศึกษาพบว่า เมล็ดเจียไม่มีผลต่อการลดน้ำหนักของร่างกายอย่างไรก็ตาม การทบทวนเอกสารวิชาการโดยเฉพาะเอกสารทางประวัติศาสตร์ พบว่า เมล็ดเจียมีความปลอดภัยในการบริโภคสำหรับผู้ที่ไม่มีอาการแพ้เมล็ดเจียในการทบวนงานวิจัยเสนอว่าต้องมีการศึกษาที่เป็นระบบเพิ่มเติม ก่อนที่จะใช้เมล็ดเจียมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและใช้ในการบำบัดโรคและอาการต่างๆ ตามที่มีความเชื่อกันอยู่ในปัจจุบันสรุปว่า เมล็ดเจียนั้นเป็นธัญพืชอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหาร แต่การนำมาบริโภคเพื่อบำบัดอาการ และโรคต่างๆ นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันประสิทธิผลดังกล่าว จึงควรที่จะประเมินดูว่า คุ้มกับราคาที่สูงมากเกินไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 รู้เท่าทันสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด

มีการโฆษณาสมุนไพรเพื่อรักษาเบาหวานหรือช่วยลดน้ำตาลในเลือดจำนวนมากในเว็บไซต์ต่างๆ  บางรายโฆษณาการได้ขึ้นทะเบียน อย.  บางรายโฆษณาว่าสมุนไพรนั้นปลูกแบบเกษตรกรรมอินทรีย์ ได้รับรองมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ  บางยี่ห้อก็ประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว โดยจับเอาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดน้ำตาลมาใส่รวมกัน  เมื่อผู้อ่านไปค้นข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวก็จะพบว่าลดน้ำตาลได้  จึงเชื่อว่าสมุนไพรยี่ห้อนั้นมีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้จริง  เรามารู้เท่าทันสมุนไพลดน้ำตาลกันเถอะการขึ้นทะเบียนอย. ถ้ามีการอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนอย.  ขอให้เราอ่านให้ละเอียดว่าขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือไม่  หรือเป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะการจะขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันนั้น ต้องมีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษ มีการวิจัยตั้งแต่ในสัตว์ทดลอง ในมนุษย์ ว่ามีประสิทธิผลจริงๆ  จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาได้  นอกจากนี้การสั่งจ่ายยานั้นต้องสั่งโดยแพทย์หรือไม่  เพราะยารักษาโรคเรื้อรังนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์  ไม่ใช่ซื้อได้ทั่วไป ยกเว้นเป็นยาสามัญประจำบ้านเท่านั้นยาสมุนไพรลดน้ำตาลยี่ห้อต่างๆ มักจะมีสัญลักษณ์ของอย.  แต่จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดว่าขึ้นทะเบียนยาอะไร มีเลขทะเบียนยาอะไร  ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยา เป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น  แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์นั้นจะโฆษณาเป็นยารักษาโรค  ซึ่งตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 นั้น ไม่สามารถโฆษณายาทางสื่อสาธารณะ หรือโอ้อวดสรรพคุณยาการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์เป็นหลักประกันว่าสมุนไพรนั้นไม่มีสารพิษตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี  ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า สมุนไพรยี่ห้อนั้นสามารถรักษาเบาหวานได้ ค้นคว้าข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัว เราควรค้นหาข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวว่ามีสรรพคุณและโทษอย่างไร  ข้อมูลที่ค้นง่ายและน่าเชื่อถือคือสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เพราะจะกระชับ เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ  เราอาจค้นเพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ตัวอย่างเช่นอบเชย มีรายงานการวิจัยทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับผงอบเชยขนาด 1, 3 และ 6 ก./วัน นาน 40 วันหรือแคปซูลของสารสกัดน้ำจากอบเชย (เทียบเท่ากับอบเชยขนาด 3 ก./วัน) นาน 4 เดือน และอาสาสมัครที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ระหว่าง 100-125 มก./ดล. เมื่อรับประทานสารสกัดน้ำของอบเชย (Cinnulin PF®) ครั้งละ 2 แคปซูล (250 มก./แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง (เทียบเท่ากับผงอบเชย 10 ก.) นาน 12 สัปดาห์ พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สรุป อบเชยมีแนวโน้มที่อาจที่อาจมีประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เนื่องจากการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้ยาสำหรับรักษาโรคเบาหวานร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่แนะนำ ให้รับประทานเพื่อรักษาเบาหวานในขณะนี้ จนกว่าจะมีผลการวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดเพียงพอผักเชียงดา มีเพียงการทดลองในสัตว์ที่ระบุว่าผักเชียงดาและสารสกัดจากผักเชียงดา มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ลำไส้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาในคนเพื่อยืนยันผลดังกล่าวโดยสรุปแล้ว เราต้องรู้ให้ทันกับการโฆษณาสมุนไพรลดน้ำตาลและลดเงินในกระเป๋าของเราว่า มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้จริงหรือไม่ ขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  มีงานวิจัยยืนยันประสิทธิผลเพียงพอหรือยัง  เพื่อที่เราจะใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและได้ผล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 รู้เท่าทันกระท่อม

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเกี่ยวกับต้นกระท่อมว่า ทางเยอรมันและอีกหลายประเทศในยุโรปส่งเสริมการปลูกกระท่อมเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ เป็นจำนวนมาก  มีการส่งรูปของนายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมันกำลังปลูกต้นกระท่อมในเฟสบุ๊คอย่างกว้างขวาง  และมีข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยว่า มาเลเซียปลูกต้นกระท่อมกันขนานใหญ่ และส่งใบกระท่อมเข้ามาขายให้คนไทยบริโภค ทำรายได้ให้กับชาวมาเลย์เป็นจำนวนมาก เพราะมีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นในโลกใบนี้ที่ควบคุมให้กระท่อมเป็นยาเสพติด  เรามารู้เท่าทันกระท่อมกันเถอะกระท่อมคืออะไร กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) จัดอยู่ในตระกูล รูเบียซีอี (Rubiaceae) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับกาแฟ  มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย มาลายู จนถึงเกาะนิวกินีด้วย ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียก คูทุม (Kutum) หรือ คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือ เบียก (Biak) ลาวเรียก ไนทุม (Neithum) อินโดจีน เรียก โคดาม (Kodam)    สรรพคุณทางยาตำราแพทย์แผนโบราณ ใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยา เรียกว่า ประสะกระท่อม ใช้รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท ในมุมมองของแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่ จะนำพืชกระท่อมมาใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง และที่กล่าวว่ามีประสะกระท่อมนั้น แสดงว่าในใบกระท่อมนั้นมีพิษอยู่ด้วย คนโบราณนั้น หากยาชนิดไหนที่มีพิษจะมีการประสะ คือ ทำให้พิษอ่อนลง และสามารถทำได้หลายรูปแบบพืชกระท่อมมีสารแอลคะลอยด์มิตราไจนีนอยู่ในใบ มีฤทธิ์ระงับอาการปวด เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า แต่มีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการ ได้แก่ ไม่กดระบบทางเดินหายใจ เกิดการติดยาช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี  ไม่มีอาการอยากได้ยา  จึงทำให้ผู้เสพไม่ก่อความรุนแรงหรืออาชญากรรม  ที่สำคัญ ไม่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศห้ามการปลูกเหมือนฝิ่น   ประเทศไทย พืชกระท่อมถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กระท่อมเพิ่งปรากฏเป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 8 เหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486  เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ ซึ่งมีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น ดังนั้น การตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 และใช้สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐ หาใช่เพราะเหตุที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองไม่ ประเทศมาเลเซียห้ามใช้ใบกระท่อมตาม พ.ร.บ.สารพิษ พ.ศ. 2495 และมีการลงโทษทั้งปรับทั้งจำ  ในสหรัฐอเมริกาประกาศให้กระท่อมไม่เป็นพืชที่ต้องควบคุม  แต่มีบางรัฐที่กำหนดให้เป็นพืชต้องห้ามหรือควบคุมการใช้  ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาได้ออกมาเตือนอันตรายของการบริโภคกระท่อมว่า สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ การกดการหายใจ วิตกกังวล ก้าวร้าว นอนไม่หลับ ภาพหลอน คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้นควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่มีความพยายามที่จะยกเลิกกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ  ที่ประชุมวุฒิสภา(สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 เห็นสมควรที่จะให้ยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดังนั้น การยกเลิกกระท่อมออกจากยาเสพติดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในหลายด้าน ตั้งแต่ด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง                                      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 รู้เท่าทันหมามุ่ย

เมื่อเดือนมิถุนายนมีข่าวโด่งดังเกี่ยวกับหญิงสาวเมืองตรังเสียชีวิตจากการกินสารสกัดหมามุ่ยอินเดีย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของธุรกิจขายตรงบริษัทหนึ่ง  หลังจากกินสารสกัดหมามุ่ย 2 แคปซูลมื้อเช้า และ 2 แคปซูลมื้อเที่ยง  ก็เริ่มมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ปากบวม ตาบวม ผื่นขึ้น ผิวหนังลอก เลือดออกที่ลิ้น และเสียชีวิตในที่สุด  หมามุ่ยมีอันตรายถึงเสียชีวิตหรือไม่ มีประโยชน์หรือไม่ เรามารู้เท่าทันหมามุ่ยกันเถอะรู้จักหมามุ่ยหมามุ่ยเป็นพืชตระกูลถั่ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mucuna pruriens (L.) DC. เป็นพืชเถา มีขนคัน เติบโตได้ดีในเขตร้อน ตั้งแต่ อินเดีย หมู่เกาะบาฮามาส และอาจไปถึงฟลอริด้าทางใต้  มีการใช้หมามุ่ยตั้งแต่สมัยโบราณ การแพทย์อายุรเวท ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน  และใช้กันมาถึง  รักษาอาการวิตกกังวล ข้ออักเสบ พยาธิ ลดอาการปวดและไข้ กระตุ้นให้อาเจียน และใช้รักษางูพิษกัด  การแพทย์ดั้งเดิมแถบหมู่เกาะแคริบเบียนใช้ในการทำให้อารมณ์ดี สมาธิดีขึ้น และมีพลังมากขึ้น  ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันหมามุ่ยมีหลายสายพันธุ์ แต่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน  ในประเทศไทยจะเป็นไม้ป่า Mucuna pruriens (L.) DC. Cultivar group Pruriens  มีขนพิษปกคลุมที่ฝัก จึงไม่นิยมนำมาปลูกหมอพื้นบ้านไทยจะใช้เมล็ดหมามุ่ยในการรักษาโรคบุรุษ เชื่อว่าสามารถใช้เป็นยากระตุ้นกำหนัด หมามุ่ยมีสรรพคุณเพราะอะไร     เมล็ดหมามุ่ยมีสาร L-dopa หรือ levodopa ปริมาณสูง  สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคพาร์กินสัน  สาร L-dopa เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ซึ่งมีผลต่อสมองส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการควบคุมการเคลื่อนไหว  ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีระดับสาร dopamine ในสมองต่ำ  เมื่อกินหมามุ่ยแล้วจะดีขึ้นผลข้างเคียงจากการกินหรือใช้หมามุ่ยสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีปัญหาการแพ้หมามุ่ย  การทบทวนเอกสารวิชาการพบว่า ถ้ากินในปริมาณระหว่าง 100 – 1,000 กรัมต่อวัน  แต่ถ้ากินในปริมาณ 1,000 กรัม มักจะมีอาการใจสั่น ความดันเลือดสูง การย่อยอาหารไม่ดี ปวดศีรษะ  ในกรณีที่กินต่ำกว่า 500 มก. จะไม่มีอาการดังกล่าว  ดังนั้น จึงควรกินในปริมาณที่ต่ำไว้ก่อน เมื่อพบว่าไม่มีผลข้างเคียงจึงค่อยเพิ่มปริมาณมีงานวิจัยมากพอหรือไม่เมื่อทบทวนใน Pubmed พบว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับหมามุ่ยถึง 194 รายงาน  ที่น่าสนใจคือ มีการวิจัยในระดับคลินิกมากพอควร  มีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของหมามุ่ยในการรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่ โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ผลในการกระตุ้นให้อารมณ์ดีขึ้น การรายงานว่าหมามุ่ยทำให้ผมผู้ป่วยพาร์กินสันที่กินหมามุ่ยมีผมดำขึ้น จนกระทั่งการรักษาพิษงู ก็มีงานวิจัยในห้องปฏิบัติการว่ามีผลในการป้องกันพิษงูเห่าได้ดี ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ยืนยันผลที่ดีของหมามุ่ยในการรักษาโรคต่างๆ ตามการแพทย์อายุรเวท และการแพทย์ดั้งเดิมอื่นๆ  งานวิจัยยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเป็นอันตรายที่เกิดจากการใช้หมามุ่ยในการรักษาโรคต่างๆ สรุป การใช้หมามุ่ยเพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน  การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  การช่วยให้อารมณ์แจ่มใส สมาธิดีขึ้นนั้น มีงานวิจัยที่มากพอในการยืนยันประสิทธิผลดังกล่าว  แต่ไม่มีรายงานเกี่ยวกับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต  อย่างไรก็ตามหมามุ่ยเป็นพืชตระกูลถั่ว  จึงอาจมีปัญหาการแพ้ในผู้ที่มีประวัติการแพ้ถั่ว จึงควรมีคำเตือนในการใช้ ที่สำคัญ ต้องรีบศึกษาว่าสารสกัดหมามุ่ยของบริษัทขายตรงนั้น มีสารเคมีอะไรบ้าง  มีส่วนผสมอะไรบ้าง เพื่อจะได้รู้สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 รู้เท่าทันความเป็นกรดด่างกับมะเร็ง

 ขณะนี้เราจะได้รับข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับการรักษามะเร็งด้วยการปรับความเป็นกรดด่างในเลือดให้เป็นด่าง  เพราะมะเร็งชอบสภาพแวดล้อมที่เป็นกรด  ดังนั้นถ้าเราปรับเลือดของเราให้เป็นด่างจะเป็นการฆ่าเซลล์มะเร็งไปในตัว  ทำให้น้ำดื่มที่เป็นด่าง รวมทั้งอาหารที่สร้างภาวะความเป็นด่างกลายเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับการส่งเสริมไปทั่วโลก  เรามารู้เท่าทันภาวะกรดด่างกับมะเร็งกันเถอะความเชื่อเกี่ยวกับภาวะกรดด่างกับมะเร็งปัจจุบัน วงการแพทย์ทางเลือกทั่วโลกมีความเชื่อและส่งเสริมให้คนกินอาหารด่างอย่างแพร่หลายว่า มะเร็งจะเจริญเติบโตได้ดีและเร็วในภาวะที่เป็นกรด  มะเร็งไม่สามารถเติบโตในภาวะแวดล้อมที่เป็นด่าง  ดังนั้น  การดื่มน้ำและกินอาหารที่เป็นด่างจะทำให้ไม่เป็นมะเร็งหรือรักษามะเร็งได้ ไม่เป็นข้ออักเสบ โรคอ้วนและโรคอื่นๆ   น้ำดื่มที่เป็นด่างนั้นสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องที่ปรับน้ำธรรมดาให้เป็นน้ำที่มีค่าความเป็นด่าง  ส่วนอาหารที่สร้างภาวะเป็นด่างนั้นได้แก่  ผลไม้ ผัก และอาหารที่ได้จากพืชผักต่างๆ  และจำกัดการกินอาหารที่แปรรูปอาหารด่างสามารถเปลี่ยนเลือดให้เป็นภาวะด่างได้จริงหรือไม่การอ้างนี้ขัดกับความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายมีระบบการปรับสมดุลความเป็นกรดด่างที่เข้มงวด โดยมีไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองและขับความเป็นกรดออกไปเพื่อให้เลือดคงความเป็นด่างเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลา  ถ้าเลือดมีภาวะเป็นกรดหรือด่างผิดปกติมากหรือเรื้อรังจะเกิดอันตรายต่อชีวิตได้  อาหารหรือน้ำด่างที่เรากินเข้าไปนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนเลือดให้เกิดสภาวะเป็นด่างได้  ปกติเลือดของเรามีความเป็นด่างเล็กน้อยอยู่แล้ว (เลือดมีความเป็นกรดด่าง 7.35-7.45  ความเป็นกรดด่าง 7 จะเป็นกลาง  กระเพาะอาหารเป็นกรดมาก 3.5 หรือต่ำกว่า เพื่อช่วยการย่อยอาหารโดยเฉพาะโปรตีน) อาหารสามารถเปลี่ยนความเป็นกรดด่างของปัสสาวะได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนภาวะกรดด่างของเลือด เซลล์มะเร็งเติบโตได้ดีในภาวะกรดจริงหรือไม่เซลล์มะเร็งนั้นสามารถเจริญเติบโตในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมีสภาวะความเป็นด่างเล็กน้อย  มีการทดลองจำนวนมากที่ยืนยันว่าเซลล์มะเร็งสามารถเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เป็นด่าง  เนื้องอกเจริญเติบโตได้เร็วกว่าในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรด เป็นเพราะเนื้องอกสร้างสภาวะความเป็นกรดด้วยตัวเองอาหารด่างมีประโยชน์หรือไม่อย่างไรก็ตาม แนวทางอาหารด่างที่กำลังนิยมกันนั้นนับเป็นอาหารสุขภาพ  เพราะได้แก่การกินผลไม้ ผัก และอาหารที่ได้จากพืชผักต่างๆ  ในปริมาณมาก  และจำกัดการกินอาหารที่แปรรูป  เป็นแนวทางการกินอาหารแบบดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของเรากินกันมา  เป็นแนวทางของอาหารพื้นบ้าน  ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าการกินอาหารที่เป็นกรด(อาหารเนื้อสัตว์ นม ไข่ เป็นต้น)  มากเกินไปแต่การอ้างสรรพคุณอาหารด่างว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเพราะไปปรับเลือดให้เป็นด่างนั้น  จึงไม่สมเหตุผลและไม่มีหลักฐานวิชาการเพียงพอที่จะสนับสนุนประสิทธิผลตามที่อ้างสรุปว่า ความเชื่อเรื่องการกินอาหารและน้ำที่เป็นด่างเพื่อให้เลือดในร่างกายมีภาวะเป็นด่าง รวมทั้งภาวะความเป็นด่างจะทำให้เซลล์มะเร็งนั้นไม่เจริญเติบโตนั้น  จึงยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะยืนยันว่าเป็นไปได้จริง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รู้เท่าทันย่านาง

ทุกวันนี้มีการส่งเสริมการใช้ย่านางกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่การนำมาคั้นเป็นน้ำย่านางสดๆ สีเขียว แช่เย็น แคปซูลใบย่านาง และชาวบ้านได้พัฒนาการสกัดด้วยวิธีการต่างๆ นำสารสกัดมาทำเป็นน้ำดื่มใสๆ สเปรย์น้ำใบย่านาง สบู่ เป็นต้น โดยมีการโฆษณาสรรพคุณต่างๆ ตั้งแต่ การปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาอาการอันเกิดจากภาวะไม่สมดุลจากร้อนเกิน คลอโรฟิล สารต้านอนุมูลอิสระ ให้ความสดชื่น ฟื้นฟูพลัง บางคนอ้างว่าน้ำใบย่านางสามารถบำบัดรักษาอาการต่างๆ ได้มากกว่า 32 อาการ เรามารู้เท่าทันน้ำใบย่านางนั้นดีจริงหรือ การใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน การใช้ย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) ตามภูมิปัญญานั้น ยาพื้นบ้านไทยใช้รากแก้ไข้ แก้ร้อนใน ในทางเภสัชวิทยาสารสกัดเมทานอลของรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาเลเรียในหลอดทดลอง สารสกัดรากย่านางยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และต้านออกซิเดชั่น ในตำราสรรพคุณยาไทยว่า รากย่านางมีรสขมจืด แก้พิษเมาเบื่อ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ถอนพิษสำแดง มีงานวิจัยรองรับความเชื่อหรือไม่ พบว่ามีการศึกษาวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้มาตรฐานคือ Pubmed มีบทความวิชาการที่เกี่ยวกับย่านาง 10 บทความ สรุปสาระสำคัญได้ว่า   1. สารสกัดย่านางมีฤทธิ์ในการรักษาความผิดปกติของการทำงานของสมองที่เกิดจากแอลกอฮอล์ในหนูทดลอง แต่จำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจกลไกและสารออกฤทธิ์ 2. สารสกัดใบย่านางด้วยน้ำเป็นสารประกอบฟีนอล (phenolic compound) เป็นหลักและมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้สูงในการทำสารสกัดใบย่านางให้แห้งด้วยการอบแห้งแบบพ่นฝอยและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยการบรรจุในแคปซูล 3. สารสกัดย่านาง (Bisbenzylisoquinoline alkaloids) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยา นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยยาห้ารากหรือเบญจโลกวิเชียร ซึ่งประกอบด้วย มะเดื่อชุมพร ชิงชี่ เท้ายายม่อม คนทา ย่านาง พบว่า 1. การใช้สารสกัดยาห้ารากนั้นมีผลในการลดอาการคันและอาการแพ้ของผิวหนังต่างๆ 2. สารสกัดเมทานอลยาห้ารากนั้น ย่านางและเท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียสูงสุด   การศึกษาความเป็นพิษของย่านางนั้นค่อนข้างปลอดภัย สรุปได้ว่า สารสกัดใบย่านางนั้นมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง รักษาความผิดปกติของสมองที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาอีกด้วย ดังนั้น น่ายกย่องภูมิปัญญาชาวบ้านที่พัฒนาการใช้น้ำใบย่านางอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะเป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองของประชาชนในการดูแลสุขภาพ ควรมีการศึกษาวิจัยในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากใบย่านางให้เป็นน้ำดื่มต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิผลสูงและราคาถูก การรักษาวัณโรคที่ดื้อยา และการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้ประชาชนคาดหวังมากเกินไป และทำให้หมดความเชื่อถือภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีคุณค่า  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์เสริมพลังทางเพศ

ในเว็บไซต์ โทรทัศน์ เฟซบุ๊ค มีการโฆษณาเกี่ยวกับยา อาหารเสริมที่เสริมพลังทางเพศทั้งชายและหญิง (สำหรับประเทศไทยจะเน้นผู้ชายเป็นหลัก) จำนวนมาก  และมักเน้นว่า ยาและอาหารเสริมพลังทางเพศเหล่านี้ทำให้สามารถมีกิจกรรมทางเพศยาวนานขึ้น ถี่ขึ้น ทนทานดีขึ้น  อวัยวะเพศชายที่ไม่ค่อยแข็งสามารถแข็งตัวได้ดี  เรียกว่าครอบจักรวาลและทางช้างเผือกเลย  ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากอยากทดลอง  เมื่อไม่ได้ผลก็ไม่กล้าออกมาร้องเรียนเพราะสังคมไทยถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่น่ามาเปิดเผยสู่สาธารณะ  เรามารู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้กันเถอะปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศการมีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศนั้นหมายถึง ความไม่พอใจหรือขาดความสุขของแต่ละบุคคลหรือคู่ครองในการมีกิจกรรมเพศสัมพันธ์ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง  ได้แก่ ความสุขทางกาย ความต้องการทางเพศ การสัมผัส การถึงจุดสุดยอดทางเพศ  นานอย่างน้อย 6 เดือน  จึงจะถือว่ามีปัญหาสมรรถภาพทางเพศ   การมีปัญหาสมรรถภาพทางเพศอาจแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ความผิดปกติของ  ความต้องการทางเพศ  การปลุกเร้าอารมณ์  การถึงจุดสุดยอด  และการปวดจากการมีเพศสัมพันธ์ ความผิดปกติของความต้องการทางเพศ เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงและเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย  นอกจากนี้อาจเกิดจากการสูงอายุ อ่อนล้า ตั้งครรภ์ ยา ปัญหาทางจิตเช่น การซึมเศร้า วิตกกังวล    อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว  เกิดจากทั้งทางกายและจิต  สาเหตุที่พบมากคือการบาดเจ็บหรือเสื่อมของเส้นประสาทที่บริเวณอวัยวะเพศชาย การหลั่งเร็วก่อนกำหนด  หมายถึงการหลั่งน้ำอสุจิภายใน 2 นาทีเมื่อสอดอวัยวะเพศชายเข้าในช่องคลอดผู้หญิง  ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากระบบประสาทที่กระตุ้นให้หลั่งเร็วกว่ากำหนด การไม่ถึงจุดสุดยอด  เป็นปัญหาใหญ่และเกิดขึ้นในคู่ครองจำนวนมาก บางรายงานให้มากถึงร้อยละ 75 ของคู่ครอง สาเหตุเกิดจากทาง กาย จิต หรือยาบางชนิด  ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนประมาณ 1 ใน 3 จะมีปัญหาเรื่องนี้ การปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์  ส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิง  อาจเกิดจากน้ำหล่อลื่นช่องคลอดน้อยลง ซึ่งเกิดจากการปลุกเร้าไม่นานพอหรือการหมดประจำเดือน  บางคนมีอาการปวดจากการบีบรัดของกล้ามเนื้อช่องคลอดทำให้การสอดของอวัยวะเพศชายลำบากและเจ็บปวด อาการที่เกิดหลังจากการมีจุดสุดยอด  บางคนมีอาการหลังจากการมีจุดสุดยอดไม่นาน  บางคนมีอาการโศกเศร้าและวิตกกังวลหลังมีเพศสัมพันธ์ซึ่งกินเวลานานถึง 2 ชั่วโมง  อาการปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  ในผู้ชายอาจเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัวในระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ อาจมีอาการนานถึงสัปดาห์ แนวทางการรักษาในปัจจุบัน    แนวทางการรักษาในปัจจุบันและได้ผลได้เปลี่ยนความคิดว่าเรื่องนี้เกิดจากพยาธิสภาพของจิต มาเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคู่ครอง  การแก้ปัญหาต้องทำเป็นคู่เนื่องจากเพศสัมพันธ์เกิดจากกิจกรรมร่วมกันของคนสองคน  การพูดคุย สื่อสารทางเพศเป็นหัวใจสำคัญ    โดยสรุป  ปัญหาสมรรถภาพทางเพศนั้นมีสาเหตุทั้งทางกาย ทางจิต  ในแต่ละด้านนั้นก็ยังมีสาเหตุต่างๆ อีกมาก   การซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และยาเพื่อเพิ่มพลังทางเพศนั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาโดยที่เราไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง  และเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างเพียงแค่กินมันเข้าไป  การแก้ปัญหาสมรรถภาพทางเพศที่ได้ผล  คือการรักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรง  ออกกำลังกาย  และการพูดคุยกันระหว่างคู่ครองเพื่อจะได้เข้าใจชีวิตทางเพศ และแก้ปัญหาร่วมกันได้ถูกทิศทาง                                    

อ่านเพิ่มเติม >