นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 117 สื่อลามกกับ 3G เอาไงกันดี

ขณะที่ผู้เขียนนั่งเขียนบทความนี้ เรื่องที่ศาลมีคำสั่งว่า กทช. ไม่มีอำนาจจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G  อันเป็นเหตุให้การประมูล 3G เป็นอันชะงักไป  และทำให้แฟนคลับที่รอคอย ฝันค้างไปตามๆ กัน  เพราะหลายคนคิดว่าประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาการสื่อสารให้เท่าเทียมนานาอารยะประเทศไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย  แต่... มีวันหนึ่งผู้เขียนนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์รถบริษัทหนึ่ง และมีโอกาสหยิบหนังสือดารา(ไม่เคยอ่านหนังสืออย่างนี้)ที่ชื่อทีวีพูลมาอ่าน  อ่านไปๆ ก็ไม่มีอะไรมีแต่เรื่องราวของดาราก็อ่านไปเพลินๆ จนถึงท้ายเล่ม  เห็นแล้วรู้สึกตกใจมาก  เฮ้ย...นี่มันอะไรกัน เพราะหลายแผ่นด้านหลังซึ่งเป็นภาพสี่สีสวยงาม มีแต่การโฆษณาเชิญชวนให้โหลดคลิปโป๊ มีทั้งภาพพร้อมคำบรรยาย เร่าร้อนประกอบ ทั้งคลิปร่วมเพศ ชายรักชาย หญิงกับหญิง ชาย-หญิง ภาพโป๊เปลือยมากมาย ทั้งภาพจริงภาพการ์ตูน เห็นแล้วตกใจมากนี่เขาเล่นกันอย่างนี้เลยหรือ อดไม่ไหวเลยไปหยิบอีกหลายเล่มมาดู ทั้งหนังสือกอสซิป ดาราภาพยนตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับดารามากมาย ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ คู่สร้าง- คู่สม  และการ์ตูนขายหัวเราะเชื่อว่าการ์ตูนอื่นๆ ก็น่าจะมี(ขออภัยหนังสือที่เอ่ยชื่อไปคือที่เห็น ณ วันนั้น)   นี่มันอะไรกัน...หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ตลาดของหนังสือเหล่านี้อยู่ที่กลุ่มเยาวชนทั้งนั้น หนังสือเหล่านี้เขาต้องการสื่อสารอะไรกับเยาวชนเนี้ย... ตอนที่เห็นครั้งแรกบอกตรงๆ ว่ารู้สึกโกรธหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้มาก...  โดยเฉพาะเจ้าของหนังสือที่เราขอประณามว่า “ขาดจิตสำนึกของคำว่าสื่ออย่างสิ้นเชิง”   เพราะการลงโฆษณาเยี่ยงนี้ ไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใดเลย  มีแต่ส่งผลร้ายต่อเยาวชนและสังคม  จึงกลับมาคิดว่าการประมูล 3G ยังไม่เกิดก็ดีเหมือนกัน  เพราะประเทศไทย ไม่เคยเตรียมความพร้อมในเรื่องการป้องกันใดๆ เลยมีแต่จะตะลุยไปข้างหน้า ตามข้ออ้างต้องให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน  แต่การออกมาตรการมาป้องกัน  “ไม่มี” เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศถูกทำร้ายถูกมอมเมาด้วยเรื่องเหล่านี้อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่เรามีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย     หลายคนบอกว่าตนเองเป็นเครือข่ายพ่อ-แม่  เป็นเครือข่ายพัฒนาการศึกษา เครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ  สมาคมสื่อ  แต่กลับละเลยปล่อยให้มีการโฆษณาสิ่งเหล่านี้เกลื่อนตลาดหาซื้อได้ง่ายกว่าลูกอมเสียอีก  กระทรวงวัฒนธรรมก็เที่ยวได้ทำอะไรไม่รู้ ดีแต่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องการใช้ภาษาของเยาวชนกลัวจะใช้ไม่ถูกต้อง หรือตามแบนละครหนังก็ว่าไปตามเรื่อง   แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาเว็บโป๊เว็บลามกอนาจารบนหน้าผาก(ปลายจมูกมันน้อยไป) จนเกิดคดีทางเพศในกลุ่มเยาวชนมากมาย  แต่ถ้าให้ยุติธรรมจริงจะโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวก็ไม่ได้ ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ควรมีส่วนช่วยแจ้งเบาะแส ไม่ใช่เห็นแล้วเฉยๆ กันอย่างนี้   เขียนเรื่องนี้แล้วทั้งเหนื่อยและสะท้อนใจจริงๆ ฉันจะฝากใครดี

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 116 ที่นี่ประเทศไทย(หรือเปล่า?)

  ฉบับนี้มีสองเรื่องที่จะคุยกัน เรื่องที่ 1. เหตุเกิดที่สนามบิน พอดีคนเล็กๆ อย่างผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางโดยเครื่องบินกับเขาด้วย(หลายครั้ง) และก็มีหลายครั้งที่ต้องเดินทางอย่างเร่งรีบ  กินข้าวกินปลาไม่ทันก็ไปโหยหิวอยู่แถวสนามบิน  และอาหารยามยากที่หากินง่ายที่สุดก็หนีไม่พ้นบะหมี่สำเร็จรูป ถึงแม้ต้องกล้ำกลืนฝืนกินอย่างไร ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ท้องร้องจ๊อกๆ ล่ะน่า มีวันหนึ่งด้วยความหิวไปถึงสุวรรณภูมิก็สั่งให้ใส่น้ำร้อนเลย  พอเขาคิดสตางค์เล่นเอากินไม่ลง บะหมี่สำเร็จรูปธรรมดาที่ทั่วไปขายถ้วยละ 13 บาท แต่ที่นี่ขาย 60 บาท อุแม่เจ้า.... ตอนนี้ไปสนามบินไหนถามราคาบะหมี่ตลอดเลย  สนามบินเชียงใหม่ สงขลา ขาย 50 บาท   ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนที่เดินทางโดยเครื่องบินเคยเจอปัญหานี้กันบ้างใช่ไหม  แต่ใครจะเฉยอย่างไรเราไม่รู้แต่เราอยากตั้งคำถามว่า สนามบินในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยหรือเปล่า ถ้าใช่  ทำไมสามารถขายสินค้าเกินราคาควบคุมได้  พาณิชย์ การค้าภายใน ไปไหนหมด  ปล่อยปละละเลยให้มีสถานที่ ที่ใช้อภิสิทธิอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างไร(อย่างนี้จะเรียกเลือกปฏิบัติ  หรือเป็นเจ้าหน้าที่ ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่  หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบดีล่ะ) จะเลือกเองหรือให้ผู้บริโภคเลือกให้ก็ว่ามา   เรื่องที่ 2  เหตุเกิดที่รัฐสภา (ฮ่าๆๆ หนีไม่พ้นเรื่องกินอีกนั่นล่ะ) คราวนี้เรื่องของไข่  เราท่านคงเคยได้ยินข่าวเรื่องไข่แพง(ไข่อภิสิทธิ์...แพงมาก...) เพราะเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่โตจน ฯพณฯ ท่านนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งไม่ติด  ต้องเข้ามาวางนโยบายเพื่อให้ราคาไข่เข้าสู่สภาวะปกติ อย่างรวดเร็ว จากฟองละ 5-6 บาท ก็เหลือแค่ 4 บาทต้นๆ แต่เมื่อต้นเดือนกันยายน ผู้เขียนได้รับเชิญไปที่นั่น  เลิกประชุมตอนเที่ยงเลยและไปกินข้าวในสโมสรรัฐสภา  ไปถึงก็เดินดูอาหารไม่มีอะไรน่ากิน ก็เลยสั่งข้าวเปล่ากับไข่ต้มหนึ่งลูก(เรามันเป็นพวกกินอยู่รู้ประหยัด) แม่ค้าก็ตักข้าวพร้อมไข่ต้มผ่าซีกหนึ่งลูกมาให้ แล้วบอกว่า 20 บาท เราก็จ่ายเงินไปไม่ได้คิดอะไร  พอกลับมานั่งที่โต๊ะมองข้าวในจานแล้วนึกเอะใจ ก็มันมีแค่ข้าวกับไข่ 2 อย่าง เขาคิดเงินเราผิดหรือเปล่านี่  เลยเดินกลับไปถามคนขาย ก็ได้คำตอบว่าไม่ผิดหรอกเขาคิดข้าว 10 บาท ไข่ต้ม 10 บาท  โอ้โห..ได้คำตอบเลยที่มีคนเคยถามว่าไข่ที่ไหนแพงที่สุด  ตอบได้เลยไข่รัฐสภาไง.. ท่าน สส. สว. และ ฯพณฯ ท่านนายก ที่รักทุกท่านนี่เขาเรียกขายสินค้าเกินราคาเหยียบจมูกกันเลยนะ เอาไงดี กันล่ะที่นี้  ช่วยจัดการหน่อยนะ.. หลายคนคงคิดว่าโธ่..เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้    แต่ถ้าเรื่องเล็กน้อยยังจัดการไม่ได้ แล้วจะแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ ได้หรือจ๊ะท่านทั้งหลาย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 116 “สปาเซ็นเตอร์”

    “สปาเซ็นเตอร์”คนมีบัตรเครดิต ตั้งสติให้ดี ก่อนคิดใช้บริการ“สปาเซ็นเตอร์” ประกาศตัวเองว่าเป็นสถาบันลดน้ำหนักและกระชับสัดส่วน เปิดสาขาให้บริการตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ใช้พนักงานสาวหน้าตาดีออกมายืนเชิญชวนคนที่มีบัตรเครดิตให้สมัครเข้าไปใช้บริการปรากฏว่าขณะนี้ได้มีผู้บริโภคทยอยเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หลงเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกใช้บริการเพราะทนคำรบเร้าของสาวพนักงานไม่ได้  แต่เมื่อเข้าไปใช้บริการแล้วพบว่าการบริการไม่เป็นไปตามที่สาวนักขายโฆษณาไว้ อยากจะบอกเลิกสัญญาขอเงินที่จ่ายผ่านทางบัตรเครดิตคืน ก็ขอคืนไม่ได้เพราะสัญญาที่ไปเซ็นไว้มีข้อผูกมัดที่จะไม่คืนเงินให้กับผู้บริโภคในทุกๆ กรณี “ดิฉันซื้อคอร์สมา 30,000 บาทเมื่อ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา” ผู้บริโภครายหนึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบมา“ตอนนั้นจำได้ว่ารีบมากจะต้องไปธุระต่อ แต่พนักงานขายคะยั้นคะยอบวกกับความเกรงใจและหวังว่าจะเห็นผลเพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ คอร์สจริงเซลอ้างว่า 70,000 บาท แต่ลดลงมาเหลือ 45,000 บาท แต่ดิฉันจ่ายไม่ไหวเซลเลยลดให้เหลือ 30,000 บาท”“กลับมาบ้านสมองก็ตึงๆ ไปเหมือนกัน เพราะราคาสูงมาก ไม่รู้ตกลงไปได้ยังไงดิฉันชำระผ่านบัตรเครดิตค่ะ 3000x10 เดือน ตอนนั้นยังไม่เอะใจกับคำว่า "ไม่คืนเงินทุกกรณี" ถ้าสติดีกว่านี้ ตอนนั้นคงยกเลิกไปทันทีที่พนักงานให้เซ็นเอกสาร”เมื่อผู้บริโภครายนี้เข้าไปใช้บริการก็พบว่ามีการให้บริการที่ผิดไปจากเงื่อนไขที่พนักงานเสนอขาย“จากการที่ไปใช้บริการ 1 ครั้ง การบริการไม่เหมือนคอร์ส 30,000 บาทเลยค่ะ ผิดหวังกับการบริการมาก แถมตอนขายคอร์สบอกจำนวนที่ใช้บริการประมาณ 15 ครั้งแต่สอบถามเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ตกใจมากที่หดเหลือ 10 ครั้ง แถมอีก 1”ผู้บริโภคอีกรายร้องเรียนมาว่า สปาฯ ไม่มีบริการพอกตัวมีแต่นวดตัว และไม่มีอ่างน้ำวนบริการ ทั้งๆ ที่ตอนที่พนักงานสาวเสนอขายบอกว่ามีบริการทั้งหมด แต่พอถึงเวลาไปใช้บอกว่ากำลังติดตั้งอ่างน้ำยังไม่เสร็จปัญหาส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาก็คือ ใช้บริการไปได้เพียงแค่ครั้ง 2 ครั้งแต่เมื่อเห็นว่าบริการไม่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปจึงอยากจะเลิกบริการขอเงินคืน แต่บริษัทไม่ยอมให้คืน โดยอ้างข้อความในสัญญาที่ระบุว่าจะไม่มีการคืนเงินให้ในทุกกรณีแนวทางแก้ไขปัญหาลักษณะสัญญาของสปา มีข้อผูกมัดคล้ายๆ กับข้อสัญญาของฟิตเนสชื่อดังหลายแห่ง เช่น ต้องอยู่เป็นสมาชิกอย่างน้อย 12 เดือน ห้ามบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด เน้นวิธีการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ดังนั้น คนที่มีบัตรเครดิตโดยเฉพาะคุณผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อของสัญญาลักษณะนี้กันเป็นจำนวนมากคำถามสำคัญของคุณผู้หญิงที่หลงเข้าไปสมัครใช้บริการกับสถานบริการเหล่านี้คือ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้หากผู้บริโภคพบว่าทางผู้ประกอบการไม่จัดให้มีบริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นข้อสำคัญในสัญญาหรือโฆษณาก็ให้ใช้เป็นเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาได้เลยครับ เช่น เป็นสปาแต่ไม่มีอ่างน้ำวน หรือบอกว่าเป็นนวดน้ำมันแต่พอไปใช้จริงเหมือนโดนลูบตัวหรือถูขี้ไคลเสียมากกว่า ไม่ได้ใช้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีใบอนุญาตมาให้บริการ อย่าไปใช้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ไม่อยากไปเล่น ไม่สะดวกอย่างนั้นอย่างนี้ ขืนพาซื่อไปใช้เหตุผลแบบนี้ รับรองโดนตามทวงหนี้หัวหงอกแน่ เพราะฝ่ายผิดสัญญาจะเป็นผู้บริโภคนั่นแหละที่ไม่รู้จักประเมินตัวเอง เห็นว่าเงินหาง่าย แล้วไปเที่ยวเซ็นสัญญาทิ้งๆ ขว้างๆวิธีบอกเลิกสัญญาเคยเขียนไว้ในเล่มก่อนๆ แต่เพื่อไม่ต้องไปค้นย้อนหลังเลยขอย้ำอีกครั้งว่า การแจ้งเลิกสัญญาและขอเงินคืนนั้น อย่าไปใช้วิธีโทรศัพท์หรือเดินไปบอกด้วยตัวเองอย่างเดียวครับ ต้องทำเป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัท และให้สำเนาจดหมายนี้ส่งไปที่บริษัทบัตรเครดิตที่จ่ายเงินแทนด้วย เพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินจดหมายที่ส่งไปทั้งสองที่ให้ส่งเป็นจดหมายแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น จะได้มีหลักฐานไว้ยันกันในภายหลัง หากต้องเป็นคดีความกันวิธีการแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกผูกมัดไม่ให้เลิกใช้บริการแบบนี้ใช้ได้กับบริการพวกฟิตเนสหรือ บริการที่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตได้เช่นกันครับ       สิทธิของคนชอบบิน ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศหลายราย ถูกสายการบินแจ้งเลื่อนเที่ยวบินโดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ บางรายเจอปัญหาโดนเลื่อนเที่ยวบินบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอนำประกาศของกระทรวงคมนาคม “สิทธิของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ” ที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้โดยสารและสายการบินของไทยที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นขั้นพื้นฐานใน 3 กรณียอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศมักถูกเอาเปรียบ มานำเสนอ เผื่อเอาไว้ให้คุณผู้อ่านและเพื่อนพ้องได้ใช้เรียกร้องสิทธิกับสายการบินภายในประเทศกันครับ ซึ่งหากสายการบินใดได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตนในกรณีต่างๆ ไว้ในระดับที่ดีกว่าและไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการขั้นพื้นฐานนี้ ให้สายการบินนั้นใช้มาตรการของตัวเองเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารได้   3 ปัญหายอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศต้องได้รับการปกป้องสิทธิ1. ถูกสายการบินปฏิเสธการขนส่ง(Denied Boarding)คือ การที่สายการบินปฏิเสธที่จะรับผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปกับเที่ยวบินที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร แม้ว่าผู้โดยสารจะได้มาแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง(Check in) ภายในระยะเวลาที่สายการบินระบุไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่น เว็บไซต์ หรือ เอสเอ็มเอส(SMS) ฯลฯ หรือถ้ายสายการบินไม่ได้ระบุเวลาไว้ ให้ถือเวลาไม่น้อยกว่า 45 นาทีก่อนเวลาที่ระบุไว้ในตารางการบินที่ประกาศ2. ถูกยกเลิกเที่ยวบิน (Fight Cancellation) คือ การที่สายการบินยกเลิกการบินเที่ยวบินใดๆ ตามตารางการบินที่ประกาศไว้ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินพิเศษ(Extra Flight)3. เที่ยวบินล่าช้า (Filght Delay) คือ กรณีทำการบินเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดในตารางการบินที่ประกาศไว้เกินควร   กรณีที่ได้รับความคุ้มครองหรือยกเว้น มาตรการคุ้มครองสิทธิและข้อยกเว้น ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,200 บาท ให้สายการบินจ่ายเป็นเงินสด หรือโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือเช็คธนาคาร แต่หากจ่ายเป็น Travel vouchers และ/หรือบริการอื่นๆแทน จะต้องให้ผู้โดยสารลงนามตกลงยินยอมด้วย(ถ้าไม่เอาอย่าเผลอเซ็นชื่อเด็ดขาด) ถูกยกเลิกเที่ยวบิน ข้อยกเว้นที่จะไม่ได้รับเงินชดเชย (ก)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกการเดินทางต่างๆ (ข)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง 3 วัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินใหม่ให้ ซึ่งจะถึงจุดหมายปลายทางที่ระบุในบัตรโดยสารเร็วหรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ค)     สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุสุดวิสัย คือ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์ใดๆที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยานและผู้โดยสาร การนัดหยุดงานหรือการกระทำใดๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของสายการบิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบินของสายการบิน และเหตุสุดวิสัยอื่นใดที่สายการบินสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน หมายเหตุ : ภาระการพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินหรือไม่ และได้แจ้งข่าวเมื่อใด เป็นภาระของสายการบินผู้ให้บริการ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง สิทธิทางเลือกในการรับคืนค่าโดยสาร, เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน  หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น (เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง) ทางเลือกที่ 1 การรับคืนค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บเต็มจำนวนที่จ่ายไปสำหรับการเดินทาง หรือส่วนของการเดินทางที่ยังไม่ได้ใช้เดินทาง รวมถึงการเดินทางหรือส่วนของการเดินทางที่ได้เดินทางไปแล้วแต่ไม่สมประโยชน์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งการเดินทางในเที่ยวบินกลับไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทางของผู้โดยสารนั้นเองโดยเร็วที่สุด ทางเลือกที่ 2 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินภายในวันเดียวกัน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารโดยเร็วที่สุด   ทางลือกที่ 3 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารในวันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร   ทางเลือกที่ 4 เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมาย ปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดใกล้เคียงแล้วแต่ความเหมาะสม   หมายเหตุ : การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสารและที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจะจัดให้ได้ หากค่าโดยสารในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นสูงกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระแล้ว สายการบินจะไม่เรียกเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการเพิ่มอีก และหากค่าโดยสารในการเปลี่ยนเที่ยวบินนั้นต่ำกว่าค่าโดยสารที่จ่ายไปแล้ว สายการบินจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารภายใน 7 วัน และในกรณีที่สายการบินเสนอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม สายการบินจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายปลายทางเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย   กรณีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางโดยการขนส่งทางอื่น หากค่าเดินทางสูงหรือต่ำกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระไปแล้วก็ให้ใช้วิธีชดเชยลักษณะเดียวกัน ถูกปฏิเสธการขนส่ง   สิทธิที่จะได้รับการดูแล 1.ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับการดูแลจากสายการบิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในเรื่องต่อไปนี้ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป (ก)     อาหารและเครื่องดื่ม ตามความเหมาะสมกับระยะเวลารอขึ้นเครื่อง ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ข)     ที่พักแรม สำหรับการพำนักตั้งแต่หนึ่งคืนขึ้นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม(กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ค)     การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักแรม (กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป 2.ผู้โดยสารมีสิทธิโทรศัพท์ หรือโทรสาร หรือส่งอีเมล์ที่สายการบินจัดให้ ตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่เกิน 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าไม่ว่าเป็นเวลามากน้อยเพียงใด   3.สายการบินจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่เดินทางโดยลำพัง และคนพิการ การรักษาสิทธิ : กรณีที่สายการบินไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมการบินพลเรือน (กรมการขนส่งทางอากาศเดิม)เลขที่ 71 ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์: 02-287-0320-9 โทรสาร: 02-286-3373   หากมีความเสียหายมากกว่าที่ได้รับจากมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องสายการบินเป็นคดีผู้บริโภคได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆอันเป็นผลโดยตรง แต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง”       คนใช้โทร WE PCT เจ็บ โดน“ทรู”หักดิบ เลิกโปรโมชั่นโทรฟรี 1 ตุลาคม 53 สัญญาให้ซื้อเครื่องไม่คิดค่าโทร 1 ปี พอซื้อมาใช้ไม่ถึงเดือนกลับถูกเลิกสัญญาโทรฟรี   ทรูอ้างสัญญาเขียนไว้ชัดสามารถเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่นได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เชื่อมีลูกค้าทรูหลังหักต้องถูกเก็บค่าโทรหลายรายแน่หากปล่อยให้ทรูเปลี่ยนโปรโมชั่นได้โดยไม่มีเงื่อนไข   ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้มีโปรโมชั่นของทรูชื่อเก๋ “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” ออกมาเชิญชวนลูกค้าที่ชอบโทรราคาถูกด้วยการขายมือถือ PCT แถมโปรโมชั่นให้โทรฟรีทุกเครือข่ายนาน 1 ปี ตัวที่หนึ่งชื่อ Plus Phone ราคา 3,990 บาท ตัวที่สองชื่อ We Phone 2,990 บาท ถ้าคิดแปรเป็นค่าโทร PCT ตัวแรกตกเดือนละ 332.50 บาท ตัวที่สองเท่ากับเดือนละ 249.16 บาท   เห็นโปรอย่างนี้ผู้บริโภคที่ชอบของถูกก็น้ำลายไหลล่ะครับ ค่าโทรต่อเดือนแค่ 200-300 บาทแถมยังได้ PCT มาใช้สบายๆ อย่างนี้ ก็พากันไปซื้อล่ะครับ   แต่ได้ใช้กันยังไม่ทันพ้นปี กรกฎาคมที่ผ่านมาทรูกลับแจ้งยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีหน้าตาเฉย บอกไม่เอาแล้ว ขีดเส้นตายวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ยกเลิกโปรโมชั่นโทรฟรีทั้งหมด และให้ลูกค้าเลือกโปรโมชั่นใหม่ 2 ทางเลือก ตัวที่หนึ่ง ให้โทรฟรีได้เฉพาะเครือข่ายของทรูตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เครือข่ายอื่นคิดนาทีละ 50 สตางค์ ตัวที่สอง Sim ถูก มูลค่า 49 บาท ค่าโทรทุกเครือข่ายนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 50 สตางค์ โทรครบ 5 บาทโทรครั้งต่อไปนาทีแรก 2 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 25 สตางค์     “ดู ดู๊ ดู ดู ทรูทำ ทำไม ทรู ทำกับฉันได้...” ถูกบอกเลิกสัญญากันอย่างหักดิบแบบนี้ ผู้บริโภคที่หลงไปซื้อมือถือ PCT ของ ทรู ก็ต้องร้องเพลงนี้กันล่ะครับ   ผู้บริโภครายหนึ่งบอกว่า ผมเพิ่งซื้อเครื่องพีซีทีมาเมื่อ 30 มิ.ย. 53 ไม่กี่วันก็โดนประกาศยกเลิกโปรโทรฟรี 12 เดือน เอาเฉยเลย เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคชัดๆ หลายคนอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือในการฟ้องร้องเป็นคดีตัวอย่างให้หน่อย เพราะไม่มีปัญญาไปจ้างทนายความมาสู้คดีกับบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่อย่างทรูได้     แนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เชิญผู้ร้องเรียนในปัญหาเดียวกันนี้พร้อมตัวแทนของบริษัท เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นจำกัด บริษัทเครือข่ายของทรูในฐานะผู้ให้บริการและออกโปรโมชั่น ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ได้เสนอการเยียวยาให้กับผู้บริโภคเพื่อการขอเปลี่ยนสัญญาใหม่ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าโทรกับเครือข่ายอื่น ด้วยการให้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของทรูในอัตรา 640.93 บาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นระยะเวลา 12 เดือน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,691.16 บาท ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ปี แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปฏิเสธ พร้อมยืนยันเสนอให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามสัญญาของโปรโมชั่นเดิมที่ทำไว้กับผู้บริโภคจนกว่าจะถึงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของโปรโมชั่น หรือจนกว่าผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกเปลี่ยนโปรโมชั่นเอง ตัวแทนบริษัทฯ รับที่จะส่งเรื่องนี้ให้ผู้บริหารได้พิจารณาทบทวนกันอีกครั้ง   เรื่องนี้ต้องตามติดๆ ครับ ถ้าหากบริษัทฯยังยืนยันที่จะบังคับเปลี่ยนโปรโมชั่นในวันที่  1 ตุลาคม 2553  ที่จะถึงนี้ สงสัย “WE PCT พวกเราแน่นปึ๊ก” มีเรื่องขึ้นศาลเป็นคดีผู้บริโภคบานตะไทแน่ เพราะงานนี้ผู้บริโภคสุดทนจริงๆ   “สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป”   ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 115 ประเทศไทย สองมาตรฐานจริงๆ

กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกคงล่วงเลยเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดดำมาคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เราคงไม่บอกว่าการคัดค้านการสนับสนุนพรบ.ฉบับนี้ใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ ประเด็นการคัดค้านของคุณหมอต่างๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสังคมว่า วันนี้ผู้ป่วยมากขึ้น หมอมีน้อย งานหนัก วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน เตียงรองรับคนไข้ไม่เพียงพอ มาตรฐานการให้บริการยังต้องพัฒนากันอีกมาก งบบริการจัดการองค์กรเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และยอมรับว่าด้วยงานที่หนักมากทำให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่มาขอรับเงินชดเชย ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2552 (ผู้ไม่รู้สิทธิยังมีอีกมาก) จำนวน 810 ราย ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือ 660 ราย ไม่ผ่าน 150 ราย(เป็นไปตามอาการของโรค) เสียชีวิต 340 ราย พิการ 97 ราย เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย สปสช.จ่ายเงินชดเชยไปทั้งสิ้น 73 ล้านบาท(ยังไม่รวมประกันสังคมและราชการ) นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีคนตายมากกว่าประเทศที่ทำสงครามอีก(อนิจจาระบบสาธารณสุขที่รักษาคนไทย) แต่อีกมุมหนึ่งในประเทศเดียวกัน เราก็เจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โชว์สรรพคุณ คุณภาพมาตรฐานการบริสาธารณสุขที่โดดเด่นเป็นสากลไม่น้อยหน้าประเทศใดๆ ภายใต้ชื่อเมดดิคอลฮับ(ศูนย์กลางทางการแพทย์สากล) เกิดธุรกิจการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ คุณภาพมาตรฐานการรักษาระดับ 5 ดาว ที่เจริญเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นมูลค่ากันมากมาย ถึงขนาดบางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว จนเกิดเสียงเพรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์มารักษาคนไทยให้เพียงพอก่อน แล้วค่อยคิดถึงคนต่างชาติ แต่หานำพาไม่ จนมีคำถามที่ถามทีเล่นทีจริงว่าหากมีคนไทย(คนจน) กับคนต่างประเทศที่เจ็บเจียนตายเหมือนกัน โรงพยาบาลเอกชนจะเลือกรักษาใคร ? เออ..เนาะใครรู้ช่วยตอบหน่อยซิ กี่รัฐบาลมาแล้วที่ปล่อยปละละเลย..เรื่องนี้ แล้วสังคมไทยจะโทษหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะคุณหมอก็ต้องทำงานบนข้อจำกัดมากมาย เราอยากบอกคุณหมอดังๆ ว่าเราอยู่ข้างคุณหมอนะ เราเข้าใจความรู้สึกของคุณหมอ และเราก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหายเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้ที่ใครดี คงต้องฝากคณะทำงานที่มีหน้าที่ปฏิรูปชุดต่างๆ ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องเขียนป้ายใหญ่ๆ ปิดไว้หน้าโรงพยาบาลว่า “การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนี้มีความเสี่ยงโปรดใช้วิจารณญาณในการเข้ารับการรักษา” ดีมั้ยท่านนา....ยกกกกก....

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 115 เสียงผู้บริโภค { ก๊าซเอ็นจีวี , เอทีเอ็ม? , แสตมป์แลกเก้าอี้เซเว่น }

ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด ปลอดภัยจริงหรือ ยวดยานนับหลายล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงอยู่เกือบ 2 แสนคัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัย แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในวันนี้ เราทราบถึงคำถามเรื่องนี้จากการจัดเวทีเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เวทีนี้จัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา จุดเริ่มเรื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียน มาถึงคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยแจ้งว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวง พลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552 สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ต้องการให้เอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ซึ่งถูกผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติได้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตรอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี แล้วจะมาร้องเรียนกันทำไม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตั้งคำถาม สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ผลของประกาศฉบับนี้ ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดค่าดัชนีวอบบี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ซึ่งจะต้องมีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคัน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดน่ะ ดันต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลของก๊าซธรรมชาติที่หลายๆ ประเทศมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 และต่ำกว่าค่าดัชนีวอบบี้ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจากแหล่งอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำมาผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีค่าดัชนีวอบบี้อยู่ที่ 41.9-44.0 MJ/m3 ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ การไปกำหนดค่าดัชนีวอบบี้ที่ต่ำว่ามาตรฐานสากลและต่ำกว่าคุณสมบัติที่เป็นจริงของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ของประเทศเช่นนี้ ทำให้ ปตท. ใช้โอกาสนี้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในในเอ็นจีวีเพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังปล่อยให้เติมได้ถึง 18% ของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมด ในขณะที่มาตรฐานสากลยอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้กันเขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเอง และสิ่งที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กังวลมากที่สุด คือ หากปล่อยให้มีอัตราส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จะทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวี(ที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคัน)มีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้ อ่านมาถึงตรงนี้ จึงขอตั้งเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกคนว่า เงินที่เราจ่ายซื้อเอ็นจีวีเติมลงไปในถังนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพราะแทนที่เงิน 100 บาทที่จ่ายไปจะได้เอ็นจีวีที่มีคุณภาพช่วยรถวิ่งปรื๋อเต็มๆ 100 บาท กลับกลายเป็นเงินซื้อขยะอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 18 บาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับรถยนต์ของเราเลยสักนิด และท้ายสุดก็ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซล ดังนั้น อ่านเรื่องนี้กันแล้วในฐานะคนอ่านฉลาดซื้อต้องช่วยกันตะโกนถามคำถามนี้กันดังๆ ครับ หวังว่าเมื่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ยินคำถามของผู้บริโภคแล้ว จะได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้เลยขอรับ ถูกบังคับให้ทำ เอทีเอ็ม? เวลาไปเปิดบัญชีธนาคาร เคยรู้สึกกันบ้างไหมว่า พนักงานธนาคารจะพยายามชักชวนให้เราทำโน่นทำนี่อยู่เรื่อย เอทีเอ็มบ้างล่ะ เดบิตบ้างล่ะ ล่าสุดก็ให้ซื้อประกันชีวิตอีก จนผู้บริโภครู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ใช้บริการ ไม่ทำตามแล้วดูเหมือนจะมีความผิดและเป็นลูกค้าที่ไม่สมประกอบ ธนาคารมีสิทธิที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกแบบนี้หรือไม่ ประสบการณ์จากคุณวัชระน่าจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ คุณวัชระร้องเรียนเข้ามาว่า วันหนึ่งได้พาพ่อตาไปเปิดบัญชีที่ธนาคารทหารไทย สาขาอุดรธานี แล้วรู้สึกเหมือนว่า ถูกพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรเอทีเอ็ม พ่อตาของคุณวัชระบอกว่ายังไม่สะดวกที่จะทำ เลยขอร้องพนักงานธนาคารไปว่า ไม่ทำได้มั้ยวันนี้จะขอทำในภายหลัง แต่กลับถูกพนักงานของธนาคารปฏิเสธ อ้างว่าเป็นนโยบายของธนาคาร “ผมเองได้ยินอย่างนั้นแล้วก็ไม่สบายใจ จึงได้โทรไปที่ 1558 (คอลเซนเตอร์ของธนาคารมหารไทย) สอบถามความจริงได้คำตอบว่า ลูกค้าจะไม่ทำเอทีเอ็มก็ได้ ผมเลยให้พนักงานคนนั้นรับสายคุยกับ 1558 จากนั้น ก็มีทีท่าว่าไม่ยอมอ้างว่ายังไงก็ต้องทำเอทีเอ็ม และต้องเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท เพื่อจะได้ร่วมลุ้นบอลโลก “ “ผมคิดในใจ (นี่บ้าหรือเปล่า) สุดท้ายก็ต้องยอมทำตาม(ความต้องการ)ของพนักงานธนาคาร เพราะอยากไปทำธุระอย่างอื่น” คุณวัชระจึงฝากคำถามนี้มายังเราเพื่อให้สอบถามไปที่ผู้บริหารของธนาคารธนาคารทหารไทยว่ามีนโยบายเช่นนี้จริงหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ทำหนังสือสอบถามไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย ต่อมาธนาคารทหารไทยได้มีหนังสือตอบจากเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารคุณภาพบริการสาขา แจ้งว่า คุณวัชระและพ่อตามาเปิดบัญชีกับธนาคาร และพนักงานธนาคารได้แนะนำผลิตภัณฑ์และอธิบายสิทธิประโยชน์รวมทั้งความสะดวกของบัตรเอทีเอ็ม โนลิมิต ให้ลูกค้าทราบ ซึ่งเป็นนโยบายที่เจ้าหน้าที่จะต้องหใบริการแนะนำบริการและผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า แต่ธนาคารไม่มีนโยบายให้ลูกค้าที่เปิดบัญชีต้องทำบัตรเอทีเอ็มด้วย “อย่างไรก็ตามธนาคารได้ขออภัยลูกค้าที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารอาจจะสื่อสารให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งธนาคารได้แจ้งพนักงานแล้วให้ระมัดระวังการสื่อสารไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก” ชัดเจนกันแล้วนะครับว่า ธนาคารจะขายอะไรก็ขายไป แต่ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิเต็มร้อย ที่จะเลือกซื้อหรือจะปฏิเสธสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ไม่ต้องการได้ตลอดเวลา สิทธิที่จะซื้อหรือไม่ซื้อนั้นเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ใครจะมาล่วงละเมิด หรือบีบบังคับให้เราต้องสละสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ครับ แสตมป์แลกเก้าอี้เซเว่น รอครึ่งปียังไม่ได้ “คนดีอย่างเธอที่เป็น เซเว่นไม่มีให้ซื้อ.....” เพลงลูกทุ่งยอดฮิตของน้องจั๊กจั่น วันวิสา คงเป็นเพลงคาใจของคุณยายเฉลียวไปอีกนาน หลังจากที่ได้มีประสบการณ์กับการรอโปรโมชั่นแสตมป์แลกสินค้าของเซเว่นอีเลฟเว่นนานถึงครึ่งปี คุณยายเฉลียวโทรศัพท์มาหาเราในบ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาบอกว่า บ้านของคุณยายอยู่แถวซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 ซึ่งก็เป็นปกติของทุกปากซอยที่มีผู้คนหนาแน่นคับคั่งว่าจะต้องมีร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นตั้งอยู่หนึ่งร้านเป็นอย่างน้อย คุณยายเฉลียวถึงจะมีอายุปาเข้าไป 70 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังแฟนพันธุ์แท้ของร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ทุกๆ วันคุณยายจะต้องมีเหตุให้ไปซื้อสินค้าจาก 7-11 ที่ตั้งอยู่หน้าปากซอยใกล้บ้านไม่เคยขาด ช่วงปี 2552 คงจำกันได้ร้าน 7-11ได้กระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภคด้วยโปรโมชั่น ซื้อสินค้าครบ 40 บาท ใบเสร็จใช้แลกแสตมป์สะสมได้ 1 ดวง เมื่อลูกค้าสะสมแสตมป์ได้ครบตามจำนวนที่ร้านระบุไว้ สามารถใช้แลกสิ่งของกระจุ๊กกระจิ๊กที่ 7-11 กำหนดไว้ได้ อาทิ แก้วน้ำ น้ำอัดลมกระป๋อง รวมถึงเก้าอี้สนาม เป็นต้น คุณยายเฉลียวเป็นคนขยันซื้อเอามากๆ ในเวลาไม่นานคุณยายสะสมแสตมป์ได้ถึง 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามที่ร้านเซเว่นหน้าปากซอย ได้ไป 1 ตัว ต่อมาในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2552 คุณยายเฉลียวยังมุ่งมั่นซื้อสินค้ากับ 7-11สาขาหน้าปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 อย่างไม่รู้เบื่อ ไม่นานก็สามารถสะสมได้อีก 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามอีกตัวตั้งใจว่าจะเอาไว้นั่งคุยเล่นกับเพื่อนบ้าน แต่คราวนี้ต้องผิดหวังเพราะร้านบอกว่าของหมดให้รออีกหนึ่งเดือน คุณยายก็ทนรออีกหนึ่งเดือนพอถึงกำหนดระยะเวลาที่ 7-11สัญญา คุณยายเฉลียวจึงได้มาทวงเก้าอี้สนาม แต่มากี่ครั้งๆ ก็ได้แต่คำตอบว่าของหมดยังไม่มา ทวงเป็นสิบๆ เที่ยวจนคนแก่หมดกำลังใจ จึงจับโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา นับเป็นความสามารถพิเศษของคุณยายโดยแท้และเป็นหนึ่งในคุณภาพของผู้บริโภคที่ 7-11 จะต้องรักษาไว้ เพราะแสตมป์รวมกว่า 660 ดวงที่คุณยายเฉลียวสะสมได้นั้นต้องใช้เงินซื้อสินค้ากับ 7-11 มากถึง 26,400 บาท เพื่อขอแลกเก้าอี้สนามราคาไม่กี่ร้อยบาทจำนวน 2 ตัว เราทำหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดูแลร้านค้า 7-11 ทั่วประเทศให้ดูแลรับผิดชอบผู้บริโภคชั้นดีอย่างคุณยายเฉลียวด้วย ไม่นาน บริษัท ซีพี ออลล์จึงได้ติดต่อกับคุณยายโดยตรงเพื่อชี้แจงถึงปัญหาขาดแคลนเก้าอี้พร้อมทั้งจัดส่งเก้าอี้สนามที่คุณยายรอคอยมานานกว่าครึ่งปีให้เป็นที่เรียบร้อย โดยที่คุณยายไม่ติดใจเอาความใดๆ กับ 7-11 อีก “ต่อไปนี้คงจะเข้าร้านเซเว่นน้อยลง เพราะไม่ประทับใจการให้บริการของร้านแล้ว และขอบคุณมูลนิธิฯที่ดำเนินการติดตามเรื่องให้ ไม่ผิดหวังที่ได้รู้จักและโทรเข้ามาร้องเรียน ขอให้กำลังใจมูลนิธิฯในการดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป” คุณยายเฉลียวให้พรทิ้งท้ายก่อนวางหูโทรศัพท์ไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 111 เสียงผู้บริโภค

สงสัยครีมหมอจุฬา ใช้แล้วเสี่ยงเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใน net ลงข้อความครีมหมอจุฬาในกระปุกใสของจริงจะไม่มีสติ๊กเกอร์ติดด้านบน จะมีเพียงด้านข้างซึ่งรูปดอกไม้จะมีสีอ่อนกว่า และตัวหนังสือความเข้มก็จะอ่อนกว่าค่ะ ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะว่าแบบไหนจริงแบบไหนปลอม หรือว่าปลอมทั้งคู่ และช่วยตรวจสอบเกี่ยวกับครีมหมอจุฬาว่าของแท้เป็นยังไง สรรพคุณดีจริงอย่างที่โฆษณา ไหม ใช้แล้วมีผลข้างเคียงยังไง มีแหล่งผลิตที่แน่ชัดไหม ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือเปล่าคะ แล้วถ้ามีครีมของหมอจุฬาที่เป็นของจริง สามารถติดต่อหรือสั่งซื้อได้ยังไงถึงจะไม่โดนหลอกและได้ของจริง ผู้บริโภคจากชลบุรีท่านหนึ่ง ได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์หน้าขาว ครีมสมุนไพรตราหมอจุฬา จากร้านขายเครื่องสำอางแถวบ้าน ซึ่งเป็นครีมข้นสีครีม ไม่มีกลิ่น มีฉลากแสดงประเภทสินค้า วิธีใช้ และสรรพคุณสินค้า แต่ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนอาหารและยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เลยมีความสงสัยว่า ครีมที่ซื้อมาจากร้านขายเครื่องสำอางกับครีมที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตนั้น ตัวไหนคือของจริง ตัวไหนคือของปลอม หรือว่าปลอมกันทั้งคู่ แนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้รับคำตอบกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว จึงขอกระจายข่าวให้กับผู้ที่จะซื้อหรือกำลังใช้ครีมเครื่องสำอางยี่ห้อหมอจุฬาได้รับทราบโดยทั่วกัน อย. ชี้แจงถึงเครื่องสำอางที่เราได้รับจากผู้ร้องเรียนและส่งไปให้ อย. ตรวจสอบนี้ พบว่าการแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่มีชื่อเครื่องสำอาง ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต ครั้งที่ผลิต ที่ตั้งของผู้ผลิต และเนื้อครีม(ที่ผู้ร้องส่งมาให้ตรวจสอบนั้น)ที่อยู่ในตลับมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่สามารถส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทดสอบโดยชุดทดสอบเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ดี อย. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องสำอางดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบแล้ว คือ ครีมรักษาสิว-ฝ้าหน้าขาวสมุนไพรเกรด A 100% ระบุผลิตโดย ศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ปรอทแอมโมเนีย และครีมหน้าขาว(สูตรเข้มข้น) ระบุผลิตโดยศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ ปรอทแอมโมเนีย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ คือ อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ “ผลิตภัณฑ์นี้จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขาย ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ท้ายสุด อย. ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน คือ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อมาจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน ดังนั้น เครื่องสำอางไหนๆ หากขาดรายละเอียดที่ อย.ว่ามา ก็ไม่ต้องถามหรอกครับว่า ของไหนปลอม ของไหนจริง เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องสำอางเสี่ยงภัยทั้งนั้น “หยุดซื้อ หยุดใช้” เป็นดีที่สุดครับ   ถูกโครงการบ้านจัดสรรไม่ยอมขายบ้านให้ อ้างเหตุ “กลัวลูกค้าป่วน” คุณนิวัติ เดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งความประสงค์อยากขอความช่วยเหลือจากทนายความอาสาของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยสู้คดีกับโครงการ “บ้านนนทกร” คุณนิวัติแจ้งว่า ตนถูกบริษัทท็อป บลิช จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรบ้านนนทกร บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินโดยไม่ชอบ ทั้งที่ได้จ่ายเงินค่าจอง ค่าทำสัญญา และค่างวดแล้วจนครบถ้วนจำนวน 360,000 บาทเศษ เหลือแต่เงินค่าโอนบ้านอีกประมาณ 2.6 ล้านบาทที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อและได้มีการนัดวันโอนกันเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ดีๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย โครงการกลับโทรศัพท์แจ้งขอเลื่อนวันโอนไปอย่างไม่มีกำหนด และพอทำหนังสือสอบถามถึงกำหนดวันนัดโอนใหม่ โครงการกลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินและแนบเช็คคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยกลับมาให้คุณนิวัติโดยทันที ก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คุณนิวัติและภรรยาได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินเนื้อที่ 42.5 ตารางวากับโครงการดังกล่าวในราคารวมทั้งสิ้น 2,990,000 บาท ซึ่งได้ทยอยจ่ายค่าจอง ค่าทำสัญญา ค่างวดตามสัญญา แต่ในระหว่างก่อสร้างบ้าน คุณนิวัติได้ขอให้ทางโครงการแก้ไขแบบรั้วกำแพงข้างบ้านจากรั้วทึบเป็นรั้วด้านบนโปร่งซึ่งทางโครงการได้ยอมแก้ไขให้ ต่อมาคุณนิวัติได้ทำหนังสือขอให้ทางโครงการพิจารณาแก้ไขแบบรั้วกำแพงด้านหลังบ้านให้เหมือนกับด้านข้างอีกครั้ง แต่คราวนี้โครงการมีหนังสือตอบปฏิเสธว่าไม่สามารถทำให้ได้พร้อมกับแจ้งว่ายินดีรับคืนบ้านและจะคืนเงินให้แก่คุณนิวัติ คุณนิวัติรู้สึกฉุนเล็กๆ จึงทำหนังสือสอบถามถึงความชัดเจนในสัญญาว่าแค่ลูกค้าไม่ชอบแบบรั้วและขอเปลี่ยนแบบจะเป็นเหตุให้มีการคืนบ้านกันง่าย ๆ เลยหรือ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปยุ่งกับเรื่องขอเปลี่ยนแบบรั้วอีก และรอให้ถึงวันนัดโอนเพื่อที่จะได้เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านที่ซื้อเสียที แต่สุดท้ายได้ถูกโครงการปฏิเสธที่จะขายบ้านให้โดยให้เหตุผลว่าคุณนิวัติมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่จะทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามของหมู่บ้านต้องเสียไปและจะมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยรายอื่นและต่อโครงการโดยรวม “บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยับยั้งเหตุอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต บริษัทจึงมีความจำเป็นสุดวิสัยที่จะต้องบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวกับท่าน โดยให้มีผลโดยทันทีในวันนี้...” คุณนิวัติอ่านเนื้อจดหมายบอกเลิกสัญญาจากบริษัทถึงกับอึ้ง คิดไม่ออกว่าตัวเองทำผิดอะไร แค่ขอแก้ไขแบบรั้วบ้านถึงกับต้องถูกบอกเลิกสัญญาไม่ขายไม่โอนบ้านให้ หลังจากนั้นคุณนิวัติจึงได้ยื่นเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้บริษัทโอนบ้านให้ ปรากฏว่าบริษัทได้แจ้งต่อศาลว่าได้ขายบ้านในฝันของคุณนิวัติให้ลูกค้าคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว คุณนิวัติจึงต้องติดต่อขอสินเชื่อทำเรื่องซื้อบ้านใหม่จากอีกโครงการหนึ่งซึ่งมีราคาแพงกว่าและตั้งเรื่องฟ้องร้องใหม่เพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมและมาขอให้มูลนิธิฯ ช่วยจัดทนายความอาสาช่วยเหลือต่อสู้คดี แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าสู้คดีให้กับคุณนิวัติ โดยที่คุณนิวัติเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง หลังการต่อสู้คดีในที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาว่า บริษัทโครงการบ้านจัดสรรเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินที่รับไว้แล้วจากลูกค้าพร้อมดอกเบี้ยและต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นคือค่าส่วนต่างของราคาบ้านที่คุณนิวัติต้องหาซื้อใหม่ โดยศาลชั้นต้นพิจารณาว่าบ้านที่คุณนิวัติซื้อจากโครงการบ้านนนทกรมีเนื้อที่ 42.5 ตารางวา ราคา 2,990,000 บาท คิดเป็นเงินตารางวาละ 70,352.94 บาท ส่วนบ้านที่คุณนิวัติไปซื้อใหม่มีเนื้อที่ 54 ตารางวา ราคา 4,690,000 บาท คิดเป็นตารางวาละ 86,851.85 บาท สูงกว่าราคาบ้านเดิมตารางวาละ 16,489.91 บาท แต่อย่างไรก็ดีหากโครงการบ้านจัดสรรไม่ผิดสัญญาคุณนิวัติก็จะได้บ้านในเนื้อที่เพียง 42.5 ตารางวา ดังนั้นเนื้อที่ส่วนที่เกินขึ้นจากการซื้อบ้านหลังใหม่จึงไม่ถือว่าเป็นความเสียหายที่คุณนิวัติได้รับ ศาลจึงพิจารณาเห็นว่าคุณนิวัติคงได้รับความเสียหายเฉพาะส่วนต่างของราคาที่ดิน 42.5 เป็นเงิน 701,203.67 บาท จึงพิพากษาให้โครงการบ้านจัดสรรชำระเงิน 701,203.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังจากที่ใช้เวลาในการต่อสู้คดีประมาณ 5 เดือนเศษ ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์คาดว่าจะทราบผลตัดสินในเวลาไม่นานและถือเป็นข้อยุติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551   สาวใหญ่โดน SMS ลามก“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ” น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ “ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า “เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร” การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4) เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ   เมียเก่าอยากปลดกระดูก การทำสัญญาค้ำประกันให้กับคนอื่น ตรงกับคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ” แม้ว่าคนที่เราค้ำประกันให้นั้นจะเป็นสามีหรือภรรยากันก็ตาม คุณวรินบอกว่าได้ไปค้ำประกันรถยนต์ให้กับสามี โดยสามีไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่บุญวาสนาของสามีภรรยาคู่นี้นั้นแสนสั้นนัก หลังเช่าซื้อรถคันนี้ไม่ถึงปีคุณวรินได้หย่าขาดแยกทางจากสามี เหตุเพราะฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่ “ตอนนี้สามีดิฉันยังส่งรถคันนี้อยู่ตลอดค่ะ แต่ที่กังวลก็คือเขาจะส่งไปได้ตลอดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะยังเหลือค่างวดอีกตั้ง 5 ปีกว่าจะครบ” คุณวรินเธอปรึกษาว่า ตอนนี้ไม่อยากจะเป็นคนค้ำประกันรถยนต์ให้อดีตสามีอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความผูกพันกันเหมือนแต่ก่อน จะมีวิธีไหนบ้างที่จะยกเลิกการค้ำประกันรถยนต์ของอดีตสามีได้ แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาค้ำประกัน คือการที่ไปทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้ สัญญาค้ำประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่สัญญาค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วมเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง ไม่มีสิทธิเกี่ยง การยกเลิกหรือสิ้นสุดสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการให้ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาเองได้ทันที ยกเว้นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากจะถอนค้ำประกันหรือเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันคงต้องคุยกับอดีตสามีในฐานะลูกหนี้โดยตรงว่าจะขอเปลี่ยนคนค้ำประกันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภรรยาใหม่ก็ได้ เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะพากันไปเจรจาตกลงกับไฟแนนซ์หรือเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์อาจมีสองทางเลือกคือยินยอมที่จะเปลี่ยนสัญญาให้ หรือที่พบโดยมากคือให้บุคคลที่เพิ่มเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันพ่วงต่อท้ายไปอีกคนหนึ่งเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ช่วยกันกดดัน ควบคุมลูกหนี้ให้ชำระหนี้ต่อไปตามสัญญานั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 112-113 เสียงผู้บริโภค

“อภิสิทธิ์” โดนเก็บค่าตัดไฟ 107 บาท หากมีคนถามว่า เวลาจ่ายค่าไฟคุณจ่ายค่าไฟวันไหน  หลายคนมักจะตอบโดยไม่ต้องคิด ป้าดโธ่ เงินเดือนมาก็ไปจ่ายเมื่อนั้นล่ะ ไม่เห็นจะต้องคิดให้มากเลย พอคิดแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ มักจะโผล่ไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนกันเป็นแถว แต่กับคุณอภิสิทธิ์ คนเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องบอกว่าก็เพราะไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนนี่แหละ ที่ทำให้ต้องถูกการไฟฟ้าตัดไฟและเรียกเก็บค่าตัดไฟ 107 บาทมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งเตือน “ผมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ อ.แม่แตงครับ”   คุณอภิสิทธิ์บอกว่าครอบครัวเป็นบ้านใหญ่ ทำให้ใช้มิเตอร์รวม 3 หม้อ ตอนเย็นอากาศดี ๆ ของวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2552 ระหว่างที่กำลังนำขยะไปทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน สายตาพลันเหลือบไปเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า 2 ใบนอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นหน้าบ้าน หยิบขึ้นมาดูจึงรู้ว่าเป็นของบ้านตัวเอง เลยมองหาอีกใบเผื่อว่าจะตกหล่นเหมือนกันแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบ วันรุ่งขึ้นแม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่เพราะเห็นจากบิลค่าไฟ 2 ใบว่าจะครบกำหนดชำระในวันนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์จึงต้องเดินทางไปชำระค่าไฟฟ้าที่มีบิลก่อน 2 หม้อที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง ส่วนค่าไฟฟ้าของหม้อที่ 3 คุณอภิสิทธิ์เคยทราบว่าก่อนจะตัดไฟการไฟฟ้าจะมีใบแจ้งเตือนมาก่อนเพื่อให้รีบไปจ่ายค่าไฟที่ค้างอยู่ภายใน 3 วันทำการ เมื่อหาบิลไม่เจอ ก็คิดว่ายังพอมีเวลาจะหาโอกาสไปจ่ายในวันธรรมดาที่สำนักงานของการไฟฟ้าต่อไป   “วันจันทร์ผมติดธุระที่ต้องไปรับ-ส่งญาติที่มาจากต่างจังหวัด กะว่าจะไปชำระเงินหม้อที่ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์” คุณอภิสิทธิ์เล่าถึงแผนที่ได้เตรียมไว้ แผนการของคุณอภิสิทธิ์เกือบสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ตอนเก้าโมงครึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและทำการปลดสายมิเตอร์ออก พร้อมกับยื่นใบเหลืองเหมือนกรรมการฟุตบอลยื่นให้ตอนนักฟุตบอลทำฟาวล์แล้วบอกกับคุณอภิสิทธิ์ด้วยหน้าตาขึงขังว่า ไปจ่ายค่าไฟซะพร้อมเสียค่าต่อมิเตอร์ด้วย 107 บาท ไม่งั้นจะไม่จ่ายกระแสไฟให้   คุณอภิสิทธิ์ที่เป็นคนไม่มีอภิสิทธิ์จึงต้องจ่ายค่าต่อไฟ 100 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7 บาทไปด้วยความชอกช้ำใจ แนวทางแก้ไขปัญหา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ มีคำชี้แจงในกรณีนี้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบว่าด้วยการเงินกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่ากระแสไฟฟ้าและการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยจะมีระยะเวลาเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้า และอ้างว่าจะมีช่วงเวลาการแจ้งเตือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอได้กำหนดอีก  3 วันก่อนการงดจ่ายไฟฟ้า รวมเป็น 10 วัน โดยระเบียบที่ว่านี้มุ่งหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือตัวแทนจุดรับบริการรับชำระเงินได้ภายใน 10 วันนี้ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน 10 วันข้างต้นแล้วผุ้ใช้ไฟฟ้ายังไม่ชำระเงิน พนักงานจะเสนอผู้จัดการไฟฟ้าฯ เพื่อขออนุมัติงดจ่ายไฟฟ้า อย่างช้าไม่เกินวันทำการถัดไป เหตุผลที่มีการตัดไฟและเรียกเก็บเงินกับคุณอภิสิทธิ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ แจ้งว่า คุณอภิสิทธิ์ได้รับใบแจ้งหนี้เมื่อ 21 มกราคม 2552 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าวันที่ 31 มกราคม 2552 ซึ่งการไฟฟ้าฯ ตีความว่าครบ 10 วันแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ไฟไม่ไปชำระค่าไฟภายในกำหนด จึงได้มีการอนุมัติให้งดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 และผู้รับจ้างงดจ่ายไฟฟ้าได้ไปปลดสายมิเตอร์ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 09.30 น. หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์จึงได้ไปชำระค่าไฟพร้อมค่าธรรมเนียมต่อกลับในวันเดียวกัน ในเวลาประมาณ 10.25 น.จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างไปทำการต่อไฟตามปกติในวันนั้น ประเด็นนี้ เราเห็นว่าแนวปฏิบัติการตัดไฟและเรียกเก็บค่าต่อไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การไฟฟ้าฯ อ้างว่าในระเบียบได้มีช่วงเวลาการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นอีก 3 วันก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟหากไม่มีการชำระค่าไฟหลังการแจ้งเตือน แล้วการไฟฟ้าฯ ได้ถือวิสาสะนำระยะเวลาของการแจ้งเตือน 3 วันนี้ไปรวมกับระยะเวลากำหนดการจ่ายค่าไฟ 7 วัน แล้วนับต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันเป็น 10 วันรวด โดยที่ไม่เคยมีการส่งเอกสารการแจ้งเตือนจริงๆ ไปให้กับผู้บริโภคเลยซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวงที่ปฏิบัติอยู่ และจากการสอบถามผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ร้องเรียนเข้ามาพบว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในหลายๆ แห่ง ไม่เคยมีการส่งใบแจ้งเตือนมาแต่อย่างใด มีแต่เพียงใบแจ้งหนี้ใบเดียวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนมาเป็นหนังสือ การไฟฟ้าฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดไฟกับผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่าต่อไฟกับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปแล้วถือเป็นการเรียกเก็บเงินที่ผิดระเบียบของการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทั้งโดยการเรียกร้องโดยตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคก็ได้ สามีไปม็อบ - ไม่ยอมส่งค่างวดรถ - เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังไม่สามารถขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อแดงได้  เช้าวันหนึ่งของต้นเดือนพฤษภาคม 2553  คุณวรรณาโทรศัพท์เข้ามาที่มูลนิธิฯ ด้วยเสียงกระหืดกระหอบปนแค้นๆ เธอบอกว่า ตนเองทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้กับสามีที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้พี่สาวเป็นคนค้ำประกัน ส่วนสามีของเธอเป็นผู้ส่งค่างวด ที่ผ่านมาสามีก็ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรับส่งเธอซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้า มีเงินไปชำระค่างวดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด ต่อมาประมาณต้นปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สามีก็ไปเข้าร่วมม็อบด้วยโดยอ้างว่าอยากเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ช่วงที่มีม็อบแถวสนามหลวงก็ไปๆ มาๆ  แต่ก็กลับเอาเงินมาให้ที่บ้านทุกวัน จนกระทั่งเสื้อแดงย้ายมาที่ราชประสงค์สามีเริ่มไม่กลับบ้าน อ้างว่าเป็นการ์ดต้องอยู่ช่วยคนเสื้อแดง จนเดือนมีนาคมสามีเธอไม่กลับบ้านเลย ติดต่อไปก็อ้างโน่นอ้างนี่ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม เธอได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้ค่างวดรถที่ค้างชำระจำนวน 2 งวดจากไฟแนนซ์ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้ส่งค่างวดรถมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยความร้อนใจจึงโทรมือถือไปหาสามี ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  จึงได้ไปดักรอเพื่อนของสามีที่ไปม็อบเสื้อแดงด้วยกันแล้วกลับมาแถวบ้าน  เพื่อนสามีบอกว่า สามีของเธอไปติดผู้หญิงในม็อบเสื้อแดงด้วยกัน  คงไม่กลับบ้านแล้ว คุณวรรณาโกรธมากที่สามีนำรถไปใช้กลับไม่รับผิดชอบอะไร ซ้ำยังไปมีผู้หญิงใหม่อีก แต่ก็กัดฟันบอกกับเพื่อนสามีให้ไปบอกกับสามีในม็อบว่า ไฟแนนซ์ทวงค่างวดรถมาให้เอาเงินไปจ่ายด้วย เพื่อนของสามีแจ้งว่าคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสถานการณ์กดดันและกลับบ้านยากมากกว่าจะออกจากม็อบได้  เธอจึงสอบถามถึงการปัญหาติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อนสามีบอกว่า ไม่สามารถติดต่อได้หรอก เพราะคนที่พาเข้าไปเค้าไม่ให้เปิดมือถือ คุณวรรณาเล่าด้วยความแค้นใจที่สามีทรยศ และรู้สึกทุกข์ใจที่ทำให้พี่สาวต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังกังวลว่าสามีอยู่ในม็อบเสื้อแดงถ้านำรถไปใช้ในทางไม่ดีผู้ร้องจะติดร่างแหไปด้วยหรือเปล่า จึงต้องการรถคืน  และยินดีผ่อนค่างวดรถเอง  แต่ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา เราได้ให้ข้อแนะนำกับคุณวรรณาว่า หากกังวลเรื่องจะมีการนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ก็ให้ไปแจ้งความไว้กับตำรวจเพื่อขอให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ถูกสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนำไปใช้โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม ในระหว่างที่ยังลูกผีลูกคนยังไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะพาสามีกลับมาบ้านได้หรือไม่ ก็ต้องผ่อนส่งค่างวดอย่าให้ติดค้างเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสามารถติดตามรถมาจากสามีได้ก็ได้ใช้ต่อไป ส่วนตัวสามีนั้นจะใช้งานในฐานะสามีต่อไปหรือไม่ก็ขอให้คุณวรรณาได้พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยวครับ ห้างถูกไฟไหม้หมด...สัญญาเช่าพื้นที่จบด้วยหรือไม่ ในความเดือดร้อนหลากหลายของผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าที่ถูกวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลาย มีเรื่องหนึ่งที่ขอหยิบยกมาเป็นความรู้ คือเรื่องภาระค่าเช่าพื้นที่ขายของที่ถูกไฟเผาวอดไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ค้ารายย่อยยังจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรต่อไปหรือไม่การเช่าพื้นที่ขายของในห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งการจะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญากันได้ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้เช่า หรือผู้ให้เช่า แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้แต่แรกก็อาจทำเป็นหลักฐานการเช่าในรูปของจดหมายที่ผู้ให้เช่าเขียนถึงกันในภายหลังเพื่อตกลงราคาค่าเช่า หรือ จะเป็นลักษณะของใบเสร็จรับเงินค่าเช่าก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่า ข้อความในหนังสือนั้นได้แสดงให้เห็นว่าได้มีสัญญาเช่ากันขึ้นระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า ถ้าไม่มีหลักฐานที่เป็นหนังสือเหล่านี้จะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าไม่ได้ สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถจะระงับสิ้นสุดกันได้หลายสาเหตุ เช่น มีการบอกเลิกสัญญากันเนื่องจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า สัญญาเช่าหมดอายุ หรือสัญญาเช่าระงับลงเมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย และในกรณีที่ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ให้เช่าถูกไฟเผาไหม้หมด ก็ทำให้สัญญาเช่าต้องระงับลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีทรัพย์สินให้เช่ากันแล้วก็ไม่มีอะไรจะเช่ากัน ส่วนการสูญหายของทรัพย์สินที่ให้เช่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของฝ่ายใดก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เช่น ในกรณีไฟไหม้ สัญญาเช่าต้องเลิกกันไป โดยสิ้นสุดนับแต่วันที่เกิดไฟไหม้นั้น แป๊ะเจี๊ยะที่เคยจ่ายไปล่วงหน้าก็สามารถเรียกคืนกันตามส่วน เงินมัดจำที่เคยจ่ายไปแล้วก็สามารถเรียกคืนได้ตามส่วนเช่นกัน หรือในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วนไม่ได้สูญหายทั้งหมด และไม่ได้เป็นความผิดของผู้เช่า ผู้เช่าสามารถเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายได้ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าทั้งหมดในราคาเต็ม ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทน หากผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าโดยที่ไม่ใช่ความผิดของตนสัญญาเช่าก็ต้องระงับกันไป หากผู้ค้ารายย่อยรายใดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ด้วยเหตุเพลิงไหม้ก็สามารถใช้สิทธิระงับสัญญาการเช่าพื้นที่ค้าขายได้ทันทีนับแต่วันที่เกิดเหตุ  โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าต่อไป เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้วสามารถเรียกคืนได้ หรือในระหว่างที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เช่านั้นอันเนื่องจากห้างต้องปิดเพราะมีการชุมนุมหรือเนื่องจากทางห้างต้องปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าอีกเช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 112-113 เสียงผู้บริโภค

  “อภิสิทธิ์” โดนเก็บค่าตัดไฟ 107 บาท หากมีคนถามว่า เวลาจ่ายค่าไฟคุณจ่ายค่าไฟวันไหน  หลายคนมักจะตอบโดยไม่ต้องคิด ป้าดโธ่ เงินเดือนมาก็ไปจ่ายเมื่อนั้นล่ะ ไม่เห็นจะต้องคิดให้มากเลย พอคิดแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ มักจะโผล่ไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนกันเป็นแถว แต่กับคุณอภิสิทธิ์ คนเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องบอกว่าก็เพราะไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนนี่แหละ ที่ทำให้ต้องถูกการไฟฟ้าตัดไฟและเรียกเก็บค่าตัดไฟ 107 บาทมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งเตือน “ผมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ อ.แม่แตงครับ”   คุณอภิสิทธิ์บอกว่าครอบครัวเป็นบ้านใหญ่ ทำให้ใช้มิเตอร์รวม 3 หม้อ ตอนเย็นอากาศดี ๆ ของวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2552 ระหว่างที่กำลังนำขยะไปทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน สายตาพลันเหลือบไปเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า 2 ใบนอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นหน้าบ้าน หยิบขึ้นมาดูจึงรู้ว่าเป็นของบ้านตัวเอง เลยมองหาอีกใบเผื่อว่าจะตกหล่นเหมือนกันแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบ    วันรุ่งขึ้นแม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่เพราะเห็นจากบิลค่าไฟ 2 ใบว่าจะครบกำหนดชำระในวันนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์จึงต้องเดินทางไปชำระค่าไฟฟ้าที่มีบิลก่อน 2 หม้อที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง ส่วนค่าไฟฟ้าของหม้อที่ 3 คุณอภิสิทธิ์เคยทราบว่าก่อนจะตัดไฟการไฟฟ้าจะมีใบแจ้งเตือนมาก่อนเพื่อให้รีบไปจ่ายค่าไฟที่ค้างอยู่ภายใน 3 วันทำการ เมื่อหาบิลไม่เจอ ก็คิดว่ายังพอมีเวลาจะหาโอกาสไปจ่ายในวันธรรมดาที่สำนักงานของการไฟฟ้าต่อไป    “วันจันทร์ผมติดธุระที่ต้องไปรับ-ส่งญาติที่มาจากต่างจังหวัด กะว่าจะไปชำระเงินหม้อที่ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์” คุณอภิสิทธิ์เล่าถึงแผนที่ได้เตรียมไว้ แผนการของคุณอภิสิทธิ์เกือบสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ตอนเก้าโมงครึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและทำการปลดสายมิเตอร์ออก พร้อมกับยื่นใบเหลืองเหมือนกรรมการฟุตบอลยื่นให้ตอนนักฟุตบอลทำฟาวล์แล้วบอกกับคุณอภิสิทธิ์ด้วยหน้าตาขึงขังว่า ไปจ่ายค่าไฟซะพร้อมเสียค่าต่อมิเตอร์ด้วย 107 บาท ไม่งั้นจะไม่จ่ายกระแสไฟให้   คุณอภิสิทธิ์ที่เป็นคนไม่มีอภิสิทธิ์จึงต้องจ่ายค่าต่อไฟ 100 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7 บาทไปด้วยความชอกช้ำใจ   แนวทางแก้ไขปัญหา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ มีคำชี้แจงในกรณีนี้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบว่าด้วยการเงินกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่ากระแสไฟฟ้าและการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยจะมีระยะเวลาเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้า และอ้างว่าจะมีช่วงเวลาการแจ้งเตือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอได้กำหนดอีก  3 วันก่อนการงดจ่ายไฟฟ้า รวมเป็น 10 วัน โดยระเบียบที่ว่านี้มุ่งหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือตัวแทนจุดรับบริการรับชำระเงินได้ภายใน 10 วันนี้ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน 10 วันข้างต้นแล้วผุ้ใช้ไฟฟ้ายังไม่ชำระเงิน พนักงานจะเสนอผู้จัดการไฟฟ้าฯ เพื่อขออนุมัติงดจ่ายไฟฟ้า อย่างช้าไม่เกินวันทำการถัดไป  เหตุผลที่มีการตัดไฟและเรียกเก็บเงินกับคุณอภิสิทธิ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ แจ้งว่า คุณอภิสิทธิ์ได้รับใบแจ้งหนี้เมื่อ 21 มกราคม 2552 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าวันที่ 31 มกราคม 2552 ซึ่งการไฟฟ้าฯ ตีความว่าครบ 10 วันแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ไฟไม่ไปชำระค่าไฟภายในกำหนด จึงได้มีการอนุมัติให้งดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 และผู้รับจ้างงดจ่ายไฟฟ้าได้ไปปลดสายมิเตอร์ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 09.30 น. หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์จึงได้ไปชำระค่าไฟพร้อมค่าธรรมเนียมต่อกลับในวันเดียวกัน ในเวลาประมาณ 10.25 น.จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างไปทำการต่อไฟตามปกติในวันนั้น  ประเด็นนี้ เราเห็นว่าแนวปฏิบัติการตัดไฟและเรียกเก็บค่าต่อไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การไฟฟ้าฯ อ้างว่าในระเบียบได้มีช่วงเวลาการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นอีก 3 วันก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟหากไม่มีการชำระค่าไฟหลังการแจ้งเตือน แล้วการไฟฟ้าฯ ได้ถือวิสาสะนำระยะเวลาของการแจ้งเตือน 3 วันนี้ไปรวมกับระยะเวลากำหนดการจ่ายค่าไฟ 7 วัน แล้วนับต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันเป็น 10 วันรวด โดยที่ไม่เคยมีการส่งเอกสารการแจ้งเตือนจริงๆ ไปให้กับผู้บริโภคเลยซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวงที่ปฏิบัติอยู่ และจากการสอบถามผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ร้องเรียนเข้ามาพบว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในหลายๆ แห่ง ไม่เคยมีการส่งใบแจ้งเตือนมาแต่อย่างใด มีแต่เพียงใบแจ้งหนี้ใบเดียวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนมาเป็นหนังสือ การไฟฟ้าฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดไฟกับผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่าต่อไฟกับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปแล้วถือเป็นการเรียกเก็บเงินที่ผิดระเบียบของการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทั้งโดยการเรียกร้องโดยตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคก็ได้       สามีไปม็อบ - ไม่ยอมส่งค่างวดรถ -   เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังไม่สามารถขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อแดงได้  เช้าวันหนึ่งของต้นเดือนพฤษภาคม 2553  คุณวรรณาโทรศัพท์เข้ามาที่มูลนิธิฯ ด้วยเสียงกระหืดกระหอบปนแค้นๆ เธอบอกว่า ตนเองทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้กับสามีที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้พี่สาวเป็นคนค้ำประกัน ส่วนสามีของเธอเป็นผู้ส่งค่างวด ที่ผ่านมาสามีก็ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรับส่งเธอซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้า มีเงินไปชำระค่างวดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด ต่อมาประมาณต้นปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สามีก็ไปเข้าร่วมม็อบด้วยโดยอ้างว่าอยากเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ช่วงที่มีม็อบแถวสนามหลวงก็ไปๆ มาๆ  แต่ก็กลับเอาเงินมาให้ที่บ้านทุกวัน จนกระทั่งเสื้อแดงย้ายมาที่ราชประสงค์สามีเริ่มไม่กลับบ้าน อ้างว่าเป็นการ์ดต้องอยู่ช่วยคนเสื้อแดง จนเดือนมีนาคมสามีเธอไม่กลับบ้านเลย ติดต่อไปก็อ้างโน่นอ้างนี่ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม เธอได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้ค่างวดรถที่ค้างชำระจำนวน 2 งวดจากไฟแนนซ์ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้ส่งค่างวดรถมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยความร้อนใจจึงโทรมือถือไปหาสามี ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  จึงได้ไปดักรอเพื่อนของสามีที่ไปม็อบเสื้อแดงด้วยกันแล้วกลับมาแถวบ้าน  เพื่อนสามีบอกว่า สามีของเธอไปติดผู้หญิงในม็อบเสื้อแดงด้วยกัน  คงไม่กลับบ้านแล้ว  คุณวรรณาโกรธมากที่สามีนำรถไปใช้กลับไม่รับผิดชอบอะไร ซ้ำยังไปมีผู้หญิงใหม่อีก แต่ก็กัดฟันบอกกับเพื่อนสามีให้ไปบอกกับสามีในม็อบว่า ไฟแนนซ์ทวงค่างวดรถมาให้เอาเงินไปจ่ายด้วย เพื่อนของสามีแจ้งว่าคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสถานการณ์กดดันและกลับบ้านยากมากกว่าจะออกจากม็อบได้  เธอจึงสอบถามถึงการปัญหาติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อนสามีบอกว่า ไม่สามารถติดต่อได้หรอก เพราะคนที่พาเข้าไปเค้าไม่ให้เปิดมือถือ คุณวรรณาเล่าด้วยความแค้นใจที่สามีทรยศ และรู้สึกทุกข์ใจที่ทำให้พี่สาวต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังกังวลว่าสามีอยู่ในม็อบเสื้อแดงถ้านำรถไปใช้ในทางไม่ดีผู้ร้องจะติดร่างแหไปด้วยหรือเปล่า จึงต้องการรถคืน  และยินดีผ่อนค่างวดรถเอง  แต่ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา เราได้ให้ข้อแนะนำกับคุณวรรณาว่า หากกังวลเรื่องจะมีการนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ก็ให้ไปแจ้งความไว้กับตำรวจเพื่อขอให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ถูกสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนำไปใช้โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม ในระหว่างที่ยังลูกผีลูกคนยังไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะพาสามีกลับมาบ้านได้หรือไม่ ก็ต้องผ่อนส่งค่างวดอย่าให้ติดค้างเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสามารถติดตามรถมาจากสามีได้ก็ได้ใช้ต่อไป ส่วนตัวสามีนั้นจะใช้งานในฐานะสามีต่อไปหรือไม่ก็ขอให้คุณวรรณาได้พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยวครับ       ห้างถูกไฟไหม้หมด...สัญญาเช่าพื้นที่จบด้วยหรือไม่ ในความเดือดร้อนหลากหลายของผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าที่ถูกวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลาย มีเรื่องหนึ่งที่ขอหยิบยกมาเป็นความรู้ คือเรื่องภาระค่าเช่าพื้นที่ขายของที่ถูกไฟเผาวอดไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ค้ารายย่อยยังจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรต่อไปหรือไม่การเช่าพื้นที่ขายของในห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งการจะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญากันได้ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้เช่า หรือผู้ให้เช่า แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้แต่แรกก็อาจทำเป็นหลักฐานการเช่าในรูปของจดหมายที่ผู้ให้เช่าเขียนถึงกันในภายหลังเพื่อตกลงราคาค่าเช่า หรือ จะเป็นลักษณะของใบเสร็จรับเงินค่าเช่าก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่า ข้อความในหนังสือนั้นได้แสดงให้เห็นว่าได้มีสัญญาเช่ากันขึ้นระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า ถ้าไม่มีหลักฐานที่เป็นหนังสือเหล่านี้จะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าไม่ได้ สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถจะระงับสิ้นสุดกันได้หลายสาเหตุ เช่น มีการบอกเลิกสัญญากันเนื่องจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า สัญญาเช่าหมดอายุ หรือสัญญาเช่าระงับลงเมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย และในกรณีที่ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ให้เช่าถูกไฟเผาไหม้หมด ก็ทำให้สัญญาเช่าต้องระงับลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีทรัพย์สินให้เช่ากันแล้วก็ไม่มีอะไรจะเช่ากัน ส่วนการสูญหายของทรัพย์สินที่ให้เช่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของฝ่ายใดก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เช่น ในกรณีไฟไหม้ สัญญาเช่าต้องเลิกกันไป โดยสิ้นสุดนับแต่วันที่เกิดไฟไหม้นั้น แป๊ะเจี๊ยะที่เคยจ่ายไปล่วงหน้าก็สามารถเรียกคืนกันตามส่วน เงินมัดจำที่เคยจ่ายไปแล้วก็สามารถเรียกคืนได้ตามส่วนเช่นกัน หรือในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วนไม่ได้สูญหายทั้งหมด และไม่ได้เป็นความผิดของผู้เช่า ผู้เช่าสามารถเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายได้ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าทั้งหมดในราคาเต็ม ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทน หากผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าโดยที่ไม่ใช่ความผิดของตนสัญญาเช่าก็ต้องระงับกันไป หากผู้ค้ารายย่อยรายใดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ด้วยเหตุเพลิงไหม้ก็สามารถใช้สิทธิระงับสัญญาการเช่าพื้นที่ค้าขายได้ทันทีนับแต่วันที่เกิดเหตุ  โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าต่อไป เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้วสามารถเรียกคืนได้ หรือในระหว่างที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เช่านั้นอันเนื่องจากห้างต้องปิดเพราะมีการชุมนุมหรือเนื่องจากทางห้างต้องปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าอีกเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 111 ภัยไม่คาดฝัน จากห้างค้าปลีกยักษ์

ในยามที่บ้านเมืองที่แสน...จะปั่นป่วนวุ่นวาย วังเวง ไร้ซึ่งจุดจบอย่างนี้ ก็ขอให้แฟนๆ ฉลาดซื้อ มีความสุขกับการอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้กันนะจ๊ะ วันนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ ที่เกี่ยวกับ การใช้สิทธิในห้างสรรพสินค้ากันหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ห้างเทสโก้โลตัส คือศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง กรณีซื้อสินค้าเครื่องเล่น ซีดี แล้วสินค้าชำรุดเสียหาย(ภายในระยะเวลาประกัน) จึงได้นำสินค้าไปที่ห้าง ห้างก็ๆ รับไว้และบอกว่าจะส่งซ่อมกับบริษัทผู้ผลิต ผู้บริโภคก็รอเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากห้างฯ จึงไปสอบถามพนักงานห้างฯ ท่านก็ตอบว่าอยู่ระหว่างส่งซ่อมเช่นเดิม ไปอีกหลายครั้งก็ได้คำตอบเหมือนเดิม จึงมาร้องเรียนให้ศูนย์ช่วยตรวจสอบ ศูนย์จึงได้ดำเนินการตรวจสอบไปทีห้าง และบริษัทผู้ผลิต เลยพบความจริงว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ บอกไม่มีสินค้าชิ้นนี้ส่งซ่อม แต่ห้างยืนยันว่าส่งแล้ว ศูนย์ฯ จึงเดินหน้าพาผู้เสียหายไปเจรจากับผู้จัดการห้าง จนสุดท้ายผู้เสียหายได้เงินคืน(เรื่องก็จบไปไม่มีอะไรในกอไผ่) ถัดมาอีกไม่กี่วัน มีผู้บริโภคมาปรึกษาอีกว่าได้ไปซื้อโทรศัพท์ในห้างโลตัส(ที่เดิมอีก) มา ยังไม่ได้แกะใช้แต่รู้สึกอยากเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น จะขอเปลี่ยนได้ไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ก็บอกว่า ลองไปคุยดูซิ แต่คิดว่าน่าจะเปลี่ยนได้เพราะยังไม่ได้ใช้สินค้า ผู้มาร้องเรียนจึงขอให้น้องในศูนย์ฯ ไปเป็นเพื่อน(ศูนย์ฯ กับห้างฯ อยู่ใกล้กัน) น้องที่เคยไปเจรจาครั้งที่แล้วเลยอาสาไปเป็นเพื่อน เพราะรู้ช่องทางและรู้จักผู้จัดการอยู่แล้ว เช่นเดิมคือไปเจรจากับร้านที่ซื้อโทรศัพท์ แล้วตกลงกันไม่ได้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงพาไปเจรจากับผู้จัดการจนสามารถเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์รุ่นที่ต้องการได้สำเร็จ ขณะกำลังเตรียมตัวจะกลับ ก็มีพนักงานห้างฯ เข้ามาคุยและแนะนำตนเองว่าเป็นผู้จัดการด้านรักษาผลประโยชน์ของห้างฯ เมื่อเห็นน้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงไม่ยอมให้น้องและผู้ซื้อสินค้าที่ไปด้วยกันออกจากห้างฯ และขอให้น้องแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ให้ดู น้องบอกว่าศูนย์ฯ เป็นศูนย์ภาคประชาชนไม่มีบัตร และวันนี้ไม่ได้มาในนามเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แต่มาเป็นเพื่อนของลูกค้าห้าง และจะเดินออกจากห้างฯ เจ้าหน้าที่ห้างฯ มาขวางไม่ให้ออกจากห้างฯ และขอยึดบัตรประชาชนไว้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ไม่ยอม เกือบจะวางมวยกัน (ดีนะที่น้องยังยั้งใจไว้ได้) เจ้าหน้าที่ห้างฯ ขอเบอร์ศูนย์และโทรไปให้ผู้ประสานงานศูนย์มายืนยันความเป็นเจ้าหน้าที่ของน้องที่อยู่ที่ห้าง คุณเรณู ภู่อาวรณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ฯ ตอบกลับไปว่า “ทำไมต้องไปยืนยัน ทุกคนมีสิทธิเข้าห้างฯ เพราะห้างฯ เปิดให้คนเข้าไปไม่ใช่หรือ และห้างฯ ก็ไม่มีสิทธิกักตัวประชาชนที่เข้าไปในห้างฯ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ให้ปล่อยตัวทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และผู้ซื้อสินค้าออกมา ไม่อย่างนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว” พนักงานห้างฯ จึงยอมปล่อยตัวทั้ง 2 คนออกมา ซึ่งทั้งหมดของการเจรจากินเวลาเกือบชั่วโมง ตกลงว่า..นี่ห้างสรรพสินค้าหรือสถานีตำรวจ กันแน่เนี่ย... ห้างสรรพสินค้าเปิดไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้า เราเข้าไปแล้ว จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าก็ได้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเรา พอใจก็ซื้อไม่พอใจก็ไม่ซื้อไม่มีใครมาบังคับเราได้ และหากเราไม่ได้ขโมยสินค้าหรือทำข้าวของๆ แตกหักเสียหาย ห้างสรรพสินค้าจะมาใช้สิทธิกักขังหน่วงเหนี่ยวเราไม่ได้ และการซื้อสินค้าเราซื้อมาโดยมีใบเสร็จยืนยันการซื้อสินค้า ในเวลาไม่เกิน 3-7 วัน เรามีสิทธิเปลี่ยนสินค้าได้ ห้างสรรพสินค้าจะมาแสดงความยิ่งใหญ่ข่มขู่กักขังเราไม่ได้ ฝากผู้บริโภคแล้วกันว่าหากเจอเรื่องอย่างนี้ขอให้แจ้งตำรวจทันทีโดยไม่ต้องเจรจาให้เสียเวลานะจ๊ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 112-113 ปฏิรูประบบการศึกษาไทยวันนี้ “เด็กยังถูกจับเป็นตัวประกัน”

เมื่อวันก่อนประมาณกลางเดือน พฤษภาคม 2553 ช่วงเกือบ 1 ทุ่ม ผู้เขียนได้เห็นแม่กับลูกคู่หนึ่งมาหาคนข้างบ้าน(สมุทรสงคราม) หน้าตาเขาทุกข์โศกมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เป็นลูก ผู้เขียนไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ด้วยหน้าตาที่อมทุกข์ของทั้ง 2  คนทำให้ผู้เขียนแวะเข้าไปทัก เพื่อถามว่าไปไหนกัน มืดค่ำแล้ว แม่เด็กก็บอกทั้งน้ำตาว่า มาหากู้เงิน มีเงินให้กู้บ้างไหม? ดอกเบี้ยเท่าไรก็ยอม(นั่น..งงไปเลยเรา) ก็เลยได้สอบถามถึงต้นสายปลายเหตุที่ต้องกู้เงินในครั้งนี้  ได้ความว่าที่ต้องมาหากู้เงินให้ได้ในวันนี้ เพราะหากกู้ไม่ได้ในวันนี้ลูกสาวที่มาด้วยจะต้องถูกตัดสิทธิในการเรียนต่อ   ซึ่งเด็กอยากเรียนต่อ แม่เด็กก็อยากให้ลูกเรียนเพราะไม่มีสมบัติอะไรจะให้ลูกนอกจากการศึกษาที่พอกัดฟันเพื่อลูกได้ ผู้เขียนจึงถามต่อว่าทำไมเด็กถึงจะไม่ได้เรียน  ก็ได้คำตอบว่า เพราะลูกเรียนโรงเรียนเอกชนในจังหวัด ตอนที่เอาลูกเข้าโรงเรียนนี้ทั้งที่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะตอนนั้นที่บ้านมีเรือประมงเป็นของตนเองจึงพอมีรายได้ในการส่งลูกเรียน แต่มาระยะหลังๆ เมื่อตอนน้ำมันแพง อาชีพนี้ก็เริ่มจะไปไม่ไหวมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก จนสุดท้ายเรือก็ถูกยึดไปในที่สุด เมื่อเรือถูกยึดแม่ก็ออกไปรับจ้างในโรงงาน พ่อเด็กก็ไปสมัครเป็นยาม รายได้จึงไม่มากนัก  ทำให้หมุนค่าเทอมลูกไม่ทัน จึงติดหนี้ค่าเทอมอยู่กับโรงเรียนบางส่วน  ซึ่งปีนี้ลูกจบ ม. 3 แล้ว ลูกไปสมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนเทคนิคสมุทรสงคราม และได้เข้าเรียนตามที่ต้องการ   แต่เมื่อ 2 วันก่อน โรงเรียนเทคนิคได้บอกให้เด็กมาเอาใบยืนยันจบ ม. 3 ที่โรงเรียนเดิม หากไม่ได้เด็กก็จะหมดสิทธิเรียนทันที  แม่เด็กจึงได้ไปประสานงานที่โรงเรียนเดิมเพื่อขอถ่ายเอกสารใบจบไปให้โรงเรียนใหม่  ปรากฏว่าโรงเรียนเดิมยื่นคำขาดมาว่า หากแม่เด็กหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ได้ โรงเรียนจะไม่ยอมถ่ายใบจบให้  ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงต้องออกหากู้เงินอย่างที่เห็น หากกู้ไม่ได้วันนี้ลูกคงหมดโอกาสเรียนต่อ ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจนี่นะหรือการปฏิรูประบบการศึกษาไทย  ขนาดปฏิรูปแล้วเด็กก็ยังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่เช่นเดิม ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด  ไม่มีเงินแล้วให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชนทำไม?  จนแล้วไม่เจียมตัว  เว่อร์   ก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรจับเด็กเป็นตัวประกันอย่างนี้ เห็นเงินสำคัญกว่าอนาคตเด็ก ปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องแก้กันเอง  แต่เด็กต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เรื่องอื่นๆ ก็ไปตกลงกันเอง   ผู้เขียนจึงแนะนำให้แม่เด็กไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  เพื่อขอให้เขาหาวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ส่วนเรื่องหากู้เงินไปใช้หนี้โรงเรียนค่อยมาว่ากันทีหลัง เมื่อแม่เด็กไปที่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานไปทั้ง 2 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนเดิมและโรงเรียนใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ ได้ประสานไปยังผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ช่วยประสานในการแก้ปัญหาให้เด็กได้เรียนอีกทางหนึ่ง  ผลการเจรจาโรงเรียนเดิมยอมให้ถ่ายเอกสารใบยืนยันการจบไปให้โรงเรียนใหม่  จนทำให้เด็กคนนี้ได้เรียนต่อ ส่วนเรื่องหนี้สินค่อยว่ากันไป วันก่อนได้เห็นข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน พรบ.การปฏิรูปการศึกษาไปแล้ว จึงขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยนะท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่อย่างนั้นนโยบายการศึกษาอาจเป็นได้แค่เรื่องที่ได้แต่ ลูบๆ คลำๆ ไม่ไปถึงการปฏิรูปจริงๆ ซะที พับผ่าซิ.... 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point