นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 98 เสียงผู้บริโภค

เสียงผู้บริโภคศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคcomplaint@consumerthai.org หมูยืดอายุ พรานทะเล ยอมจ่ายหนึ่งหมื่นชดใช้ผู้บริโภคจากกรณีร้องเรียนเรื่อง “หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่ออายุได้” ซึ่งตีพิมพ์ในฉลาดซื้อฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บัดนี้มีข้อยุติแล้ว   หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบการห้างเทสโก้โลตัส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2552 ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเลฯ ได้มีหนังสือชี้แจงแสดงความรับผิดชอบตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้เคยเสนอชดใช้ค่าเสียหายเพื่อเยียวยาข้อบกพร่องในการบรรจุสินค้าเป็นเงิน 5,000 บาทกับผู้ร้อง ซึ่งคิดเป็นเงิน 100 เท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไป (ยำ 2 แพ็ค รวมมูลค่า 40 บาท) และชี้แจงเรื่องคุณภาพของอาหารว่า ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ร้องเข้าใจความผิดพลาดในกระบวนการบรรจุว่าเนื้อหมูแดงดังกล่าวยังไม่หมดอายุแต่สามารถรับประทานได้เนื่องจากผ่านกระบวนการถนอมสภาพด้วยวิธีแช่แข็งทำให้เก็บได้นาน 18 เดือน แต่ซองบรรจุระบุวันหมดอายุก่อนเพราะแต่เดิมผลิตแบบซีล(แช่เย็น) ซึ่งเก็บไว้ได้นาน 15 วัน ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเล ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ต่อมาผู้ร้องได้โทรศัพท์ติดต่อบริษัทฯ ขอค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปมากหลายเท่า บริษัทฯ จึงได้ต่อรองขอให้ผู้ร้องมารับค่าเสียหายไปจำนวน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธ...บริษัทฯ จึงเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความเป็นธรรมและให้ช่วยประสานงานให้ผู้ร้องมารับเงินซึ่งบริษัทยินดีชดใช้เยียวยาค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท มูลนิธิฯจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้ร้องว่า ยินดีที่จะรับเงินเยียวยาความเสียหายตามที่บริษัทฯเสนอมาหรือไม่ ได้รับคำตอบจากผู้ร้องว่ายินดีและพร้อมที่จะถอนแจ้งความบริษัทด้วย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้บริโภคกับฝ่ายเจ้าของสินค้าได้ไปส่งมอบเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง สถานีย่อยในนิคมเมืองใหม่บางพลี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2552 เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของผู้บริโภคที่ไม่มองข้ามปัญหาที่บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้บริโภครายนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และใช้สิทธิร้องเรียนโดยทันที จนได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ต้องฟ้องร้องกัน ในขณะเดียวกันต้องขอชมเชยบริษัทพรานทะเลฯ ที่ผิดแล้วก็ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยรวดเร็ว งานนี้ขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทั้งสองฝ่าย มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อพบอาหารไม่ปลอดภัย หรือติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่ควรทำคือให้เร่งดำเนินการคือการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายรูป มีพยานบุคคล หรือการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยทันทีเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเป็นการร้องเรียนที่มีเจตนาไม่ชอบ และประสานไปยังผู้ขายหรือผู้ผลิตให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นอาจให้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และควรมีการเรียกค่าเสียหายที่ชัดเจนตามสมควร หากผู้ขายหรือผู้ผลิตไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ถ้าต้องการเรียกค่าเสียหายสามารถร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งจะช่วยเหลือทั้งการเจรจาและการช่วยเขียนคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ส่วนความผิดในทางอาญานั้นหากเป็นอาหารสำเร็จรูปคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ โทษส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการได้รับคือการถูกปรับเป็นเงินเข้ารัฐทั้งหมด ส่วนผู้เสียหายอาจได้เงินค่าสินบนนำจับจำนวนหนึ่งหลังจากคดีเสร็จสิ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นข่าวจาก อย. ว่าได้จ่ายเงินสินบนนำจับกับผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนแต่ละปีเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ช่วยลงประกาศในเว็บไซต์ของ อย. ก็ยังดี ชาวบ้านจะได้ตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างมีชีวิตชีวา วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัยในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ” แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง 2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก เพื่อนรัก เพื่อนร้ายหลอกเซ็นค้ำประกันเปล่าการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันเปล่า ไม่มีข้อความว่าค้ำประกันอะไร เพียงแค่ลงชื่ออย่างเดียว พร้อมแนบหลักฐานแสดงตน ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง และไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คุณบุญเยี่ยม ได้รับการติดต่อจากเพื่อนรักว่า ให้ช่วยเซ็นค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้หน่อยเพราะอยากจะได้รถยนต์โตโยต้าที่โชว์รูมราษฎร์บูรณะไว้ใช้สักคัน โดยจะเช่าซื้อผ่านทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย ด้วยความรักเพื่อน กลัวเพื่อนจะเสียน้ำใจจึงตกปากรับคำและลงนามเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้โดยไม่มีข้อความว่าเช่าซื้อรถอะไร จากบริษัทใด ซ้ำยังแนบหลักฐานแสดงตนเพื่อการค้ำประกันไว้ให้กับเพื่อนอีก ในขณะที่ฝั่งเพื่อนแทนที่จะเป็นผู้เช่าซื้อเองกลับให้น้องสาวของตนเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ บริษัทลิสซิ่งกสิกรไทยอนุมัติผลการเช่าซื้อให้ แต่มีเงื่อนไขต้องวางเงินดาวน์จำนวน 10,000 บาทก่อน เพื่อนรักของคุณบุญเยี่ยมอยากได้รถแต่ไม่มีเงินสักบาท คิดจะใช้วิธีผ่อนค่างวดอย่างเดียว เลยต้องชวดรถโตโยต้าคันดังกล่าวไป หลังจากไม่ได้รถคันแรกแล้ว เพื่อนของคุณบุญเยี่ยมได้ใช้เอกสารค้ำประกันที่เซ็นต์ลอยๆ ไว้ ไปเที่ยวดูรถยนต์คันใหม่ที่โชว์รูมรถยนต์อีกแห่งหนึ่งบริเวณถนนกาญจนาภิเษก คราวนี้ขอจัดไฟแนนซ์ผ่านทางโตโยต้าลิสซิ่ง โดยใช้ชื่อและเอกสารของน้องสาวและของคุณบุญเยี่ยมเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันเหมือนเดิม ในครั้งนี้แม้ไม่มีข้อตกลงในการวางเงินดาวน์เหมือนครั้งแรก แต่ไฟแนนซ์ไม่ผ่าน คุณบุญเยี่ยมก็คิดว่า เพื่อนรักน่าจะรู้สภาพฐานะการเงินของน้องสาวและของตัวเองดีแล้วว่าไม่พร้อมที่จะมีรถใช้ และไม่คิดจะไปดูรถที่ไหนอีก และพันธะการค้ำประกันของตนจะหมดสิ้นลงไปด้วย …แต่สิ่งที่คุณบุญเยี่ยมไม่ได้ทำก็คือ การขอเอกสารค้ำประกันคืนหรือยกเลิกหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา ประมาณเดือนกันยายน 2550 คุณบุญเยี่ยมต้องตกใจและรู้สึกสับสนเป็นอย่างมากที่ได้รับหนังสือค้ำประกันรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเล็ต โคโลราโด้ 3.0LXCAB จาก บริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง ที่มีข้อความระบุว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้กับน้องสาวของเพื่อนรัก เนื่องจากไม่เคยรับรู้เรื่องการเช่าซื้อรถยนต์คันล่าสุดนี้เลย จึงได้สอบถามไปยังเพื่อนรักทราบว่า รถยนต์เชฟโรเล็ตคันนี้ เพื่อนเป็นคนอยากได้ จึงได้ใช้ชื่อน้องสาวเป็นผู้ซื้อและใช้ชื่อผู้ร้องเป็นคนค้ำประกันเหมือนเดิมแต่ไม่ได้บอกกล่าวกันล่วงหน้า คุณบุญเยี่ยมคิดว่าเรื่องไม่ดีแน่ เพราะตนไม่ได้รับรู้เรื่องการซื้อขายรถยนต์คันนี้แม้แต่น้อย จึงได้ประสานไปยังฝ่ายกฎหมายของบริษัท กสิกรไทยลิสซิ่ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และขอให้บริษัทฯ ติดตามรถยนต์คันดังกล่าวคืน แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อปรากฎว่า ผู้เช่าซื้อถูกบอกเลิกสัญญาภายหลังค้างค่างวดเกินสามงวดติดต่อกัน และไฟแนนซ์สามารถติดตามรถคืนได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 และถูกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่ขาดอยู่ แต่ขายทอดตลาดแล้วเงินที่ได้ก็ยังไม่พอชำระหนี้ ทางบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย จึงใช้สิทธิฟ้องร้องผู้เช่าซื้อคือน้องสาวของเพื่อนรักเป็นจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ และคุณบุญเยี่ยมเป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญาค้ำประกัน ให้ร่วมกันรับผิดชอบในหนี้ที่เหลืออยู่จำนวน 434,800 บาท แนวทางแก้ไขปัญหาการลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันแม้จะไม่มีการกรอกข้อความใดๆ แต่เมื่อมีการนำไปใช้เข้าทำสัญญาการซื้อขายหรือเช่าซื้อพร้อมกับแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการแล้วถือว่ามีผลทางกฎหมายทันที โดยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นเสมือนลูกหนี้ร่วมตามที่สัญญาสำเร็จรูปส่วนใหญ่กำหนดไว้ ทั้งนี้เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาไว้อย่างชัดเจน (ฎ.357/2548) ว่า ผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันมาเป็นประโยชน์เพื่อจะให้ผู้ค้ำประกันพ้นจากความรับผิดได้ เพราะถือว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นการยอมเสี่ยงภัยในการกระทำของตนเอง(ผู้ค้ำประกัน)อย่างร้ายแรง จึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกันดังนั้นทางเลือกที่เหลือของคุณบุญเยี่ยม คือเป็นผู้ชี้เป้าให้เจ้าหนี้คือไฟแนนซ์ไปเรียกเก็บหนี้กับผู้เช่าซื้อให้ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้ที่เกิดขึ้นแทนผู้เช่าซื้อแล้วจึงค่อยไปฟ้องไล่เบี้ยเอาในภายหลัง ดังนั้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าทำสัญญาค้ำประกันใดๆ โดยที่ตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินตามสัญญานั้น และหากจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อสินค้านั้นมีความสามารถทางการเงินพอที่จะชำระค่าสินค้าจนลุล่วงหรือไม่ และสำคัญต้องคอยติดตามการชำระเงินค่างวดอย่างใกล้ชิดไม่ต่างอะไรกับผู้ขายสินค้าเช่นกัน หากปล่อยปละละเลยผู้ค้ำประกันไม่สามารถที่จะอ้างว่าผู้เช่าซื้อและพวกไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากเจตนาของผู้ค้ำประกันได้หรือเซ็นชื่อทิ้งขว้างไปตามสัญญาซื้อขายต่างๆ มีสิทธิที่จะได้หนี้มาแขวนคอเหมือนกรณีนี้ก็เป็นได้ ทางด่วน ที่ไม่ด่วน แล้วจะให้ทำยังไงเรื่องโดยบุญยืน ศิริธรรม ถึงเทศกาล การเดินทางกันอีกแล้วละพี่น้อง และเมื่อต้องเดินทางคงหนีไม่พ้นถนนใช่ไหม วันนี้เลยมีเรื่องถนนมาเล่าสู่กันฟัง พอดีเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2552 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปบางแสน จังหวัดชลบุรี แนะๆ คิดว่าไปเที่ยวล่ะซิ เปล่า…เลย ไปประชุมต่างหาก พอดีที่นั่นมีชาวบ้านเขาร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนจากการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจกรรมโทรคมนาคม จึงไปจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเชิงระบบในภาพรวม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป แต่คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จากการที่ถูกเชิญจึงทำให้ต้องเดินทางไปจากสมุทรสงคราม ซึ่งหนีไม่พ้นคือต้องขึ้นทางด่วนที่ดาวคะนองเพื่อมุ่งหน้าไปบางนาแล้วผ่านไปยังบางแสน ขาไปก็ไม่รู้สึกอะไร เสียค่าทางด่วนที่ดาวคะนอง 45 บาท เจออีกด่านก็รับบัตร ไปเสียเงินด่านหน้า อีก 65 บาท รวมเป็น 110 บาท มามีเรื่องเอาขากลับ วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552 (กลับทางเดิม) เริ่มต้นเข้าทางด่วนก็รับบัตร เพื่อไปเสียเงินด่านหน้า พอถึงด่านเวลาบ่าย 3 โมงกว่าๆ พอส่งบัตรให้ เจ้าหน้าที่บอกเราว่า เสียค่าผ่านทาง 105 บาท เราก็นึกในใจว่า “โอ้โฮ...ขากลับเสียเงินมากกว่าตอนขาไปอีก ทางก็เท่ากันทำไมเก็บไม่เท่ากัน” แต่ก็ต้องจ่ายไปนั่นแหละใช้ทางเขาแล้วนี่… แล้วก็ขับรถต่อไประยะทางไม่ไกลนัก ก็เริ่มเห็นความหนาแน่นของรถข้างหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าติดขัด ขยับไม่ได้ เราก็คิดว่าข้างหน้าต้องมีอุบัติเหตุแน่ๆ เลย ใช้เวลาอยู่ตรงนั้นเกือบ 20 นาที (หงุดหงิดบอกตรงๆ ก็อากาศมันร้อนจัดนี่) รถขยับไปทีละนิดถึงได้รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้รถติดเพราะข้างหน้ามีด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไร เสียก็เสียซิจะเป็นไรไป แต่พอจ่ายเงินลมออกหูเลยท่านผู้อ่าน ก็จะไม่ให้โมโหได้ไงมันมีด่านไว้เก็บเงินแค่ 5 บาท ดู่ดู๊....ดูเขาทำ... 5 บาทเนี่ยนะ...ที่มันทำให้เราต้องเสียเวลาตั้งมากตั้งมายเสียน้ำมันอย่างน้อยก็ 2 ลิตร เกือบ 50 บาท เพื่อให้เขาเก็บเงินเราเพียง 5 บาท ท่าจะบ้าไปแล้ว…อันนี้ชี้ให้เห็นเลยว่า “ธุรกิจทางด่วนไม่ได้สนอกสนใจความรู้สึกของผู้ใช้บริการเล้ย...จริงๆ” เห็นแต่ผลประโยชน์ของตนเองชัดๆ เราเคยหงุดหงิดว่าก่อนลงงามวงค์วาน มีด่านเก็บเงิน 10 บาท แต่นี่ 5 บาทก็เอา ทำไมไม่เก็บรวมไปเลยเรายอมเสียอยู่แล้ว ดูซิอ้างเรื่องสัญญาว่ากี่ปีมีสิทธิขึ้นค่าผ่านทาง ถึงเวลาก็ขึ้นเลย อ้างสัญญาตลอด แต่ในสัญญา(ที่แอบรู้มา) ระบุว่าในแต่ละ1 เดือนจะมีรถขึ้นทางด่วน 200,000 คัน เอาเข้าจริงเป็นล้านคัน จำนวนรถที่เกินก็เก็บเงินเพิ่มมหาศาลแล้ว แถมยังขึ้นค่าผ่านทางได้อีก ท่านผู้อ่านคิดดูนะว่าทำไมเราต้องยอม เขาจะขึ้นค่าผ่านทางเราก็ยอมเขาพอใจจะตั้งด่านเก็บเงินตรงไหนเราก็ยอม คนจ่ายตังค์อย่างเราไม่เคยมีส่วนร่วมด้วยเลย มีหน้าที่จ่ายอย่างเดียว ทั้งๆ ที่เขาไม่มีเราเขาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ทางด่วนมีอิสระมากในการบริหารจัดการเหมือนไม่มีหน่วยงานใดดูแลอยู่เลย คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งรัฐมนตรีรัฐมนโท รวมถึงข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของเราทั้งหลายไปไหนกันหมด ยังมีความสุขดีกันอยู่ไหม ตื่นๆๆๆๆ มาทำงานกันบ้าง ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคต้องออกมาโวยหรือรออยู่จะได้จัดให้.... ที่ฮึ่มกันอยู่นี่ยังไม่พอใช่ไหมจ๊ะ ราด-ทะ-บาน-ปะ-ชา-ทิ-ปาด  

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 97 เสียงผู้บริโภค

เสียงผู้บริโภคศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคcomplaint@consumerthai.org เขาหาว่าผมค้างค่างวดรถคุณเดชาเดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ พร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “พี่ช่วยผมด้วยครับ” เจ้าหน้าที่รับกระดาษมาอ่านในรายละเอียด เห็นหัวกระดาษเป็นชื่อและที่อยู่ของบริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เนื้อหาแจ้งว่า คุณเดชาได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น M’TX ตอนเดียว จำนวน 1 คัน จากบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2547 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนังสือแจ้งว่าคุณเดชาไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อเลยสักงวด จึงมีหนังสือฉบับนี้มาถึงคุณเดชาเพื่อให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา หนี้ที่คุณเดชาจะต้องจ่ายคือค่างวดเช่าซื้อ 48 งวดเป็นเงิน 254,976 บาท ค่าเบี้ยปรับโดยคิดจากยอด ณ วันที่ออกหนังสือ เป็นเงิน 401,954 บาท และค่าผิดสัญญาค่าติดตามอีก 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 666,930 บาท เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านรายละเอียดในกระดาษเสร็จจึงเงยหน้าขึ้น “จะให้เราช่วยยังไงครับ ไม่ใช่จะให้เราช่วยชำระหนี้แทนนะครับ” เจ้าหน้าที่เอ่ยถามด้วยอาการเสียวๆ เพราะมีคนเป็นหนี้หลายรายคิดว่ามูลนิธิฯเป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ “ไม่ใช่อย่างงั้นครับพี่ คือไอ้สัญญาฉบับที่ไฟแนนซ์เขาอ้างมาในจดหมายทวงหนี้น่ะ ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อนเลยครับ ไม่รู้เคยไปเซ็นอะไรไว้ตรงไหน คนค้ำประกันผมก็ไม่รู้จักตอนนี้ผมอายุ 27 ปี ถ้าผมไปทำสัญญาจริงๆ ตอนนั้นผมก็อายุแค่ 22 ปียังเดินเตะฝุ่นหางานทำอยู่เลยครับ ไฟแนนซ์หน้าไหนจะปล่อยเงินให้ผมไปซื้อรถ อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายทวงหนี้โผล่มาที่บ้าน...แม่ผมแทบช็อกตาย หนี้ตั้ง 5 แสน 6 แสน บ้านผมทำนาคงไม่มีปัญญาจะหาเงินไปใช้หนี้เขาได้หรอกครับ ช่วยผมที” “เอ้า...ช่วยก็ช่วย” เจ้าหน้าที่รับปาก แนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเช่าซื้อรถยนต์นั้น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 โดยมีสัญญาข้อหนึ่งที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้หากมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน...แต่กรณีนี้บริษัทปล่อยให้หนี้ค้างอยู่ได้ตั้ง 48 งวด แถมไม่เคยมีการติดตามทวงถามกันมาก่อนเลย เมื่อสอบถามกับคุณเดชาว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเคยได้รับใบแจ้งหนี้ ใบทวงหนี้มาก่อนหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่ามีโทรศัพท์มาทวงหนี้อยู่ครั้งเดียว ก่อนที่จะได้รับจดหมายทวงหนี้ฉบับดังกล่าวเท่านั้น แปลกไหมล่ะครับ ถ้าผู้บริโภคท่านใดเจอหนี้แปลกพิสดารแบบนี้ สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือการทำจดหมายทักท้วงปฏิเสธหนี้ดังกล่าวโดยทันทีส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหากบริษัทไฟแนนซ์ยืนยันที่จะเรียกเก็บหนี้ต่อไปก็ต้องมั่นใจในเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาว่า เป็นเอกสารที่ได้มาโดยชอบ และดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แต่หากเป็นการ “ลักไก่” เรียกเก็บหนี้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเรารู้ทัน เขาก็ต้องยุติการติดตามทวงหนี้ไปโดยปริยาย กรณีของคุณเดชา มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือทักท้วงแจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวส่งไปถึงบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้สัญญาณตอบรับจากบริษัทยังคงเงียบฉี่ ติดต่อไม่ได้ในขณะนี้ ขอปิดใช้บริการมือถือ แต่ทำไมยังมีหนี้อยู่“ซิมฟรีครับพี่ ซิมฟรี 1 ชั่วโมง จ่ายแค่ 5 นาที แถมนาทีละหกสลึง ถูกอย่างนี้มีที่ไหนครับพี่...” เสียงประกาศเชิญชวนของหนุ่มนักขายซิมมือถือ ร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คุณนิสาอยากรับขวัญลูกชายที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศและหยุดปิดเทอมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยเป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนเพื่อขอรับซิมฟรี กะเอาไปให้ลูกชายใช้ระหว่างที่อยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นซิมมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ตอนแรกคุณนิสาเข้าใจว่า เป็นซิมฟรี แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองเสียค่าโง่ เพราะซิมตามโปรโมชั่นดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 99 บาท ส่วนค่าโทรนั้นคนขายซิมก็ดันพูดไม่หมด ก็เข้าใจว่าใช้ชั่วโมงหนึ่งจ่ายแค่ 5 นาทีเท่านั้น ทีนี้ล่ะฉันจะใช้โทรเท่าไหร่ก็ได้เพราะจ่ายแค่ 5 นาที นาทีละ 1.50 บาทเอง แต่ความจริงก็คือ โปรโมชั่นนี้เขาให้ส่วนลดเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่เปิดใช้บริการเท่านั้นที่จะคิดค่าบริการเพียงแค่ 5 นาที แต่หลังจากชั่วโมงนั้นแล้วก็คิดค่าบริการนาทีละ 1.50 บาททุกๆ นาทีที่ใช้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอัตราค่าโทรที่ถูกนักเมื่อเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นบางตัวที่คิดค่าโทรเพียงแค่นาทีละ 1 บาท หรือ 50 สตางค์ “อ๊ะ.. ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วและก็ให้ลูกใช้แค่เดือนเดียว คงไม่เป็นไร” คุณนิสาคิดกับตัวเอง ก่อนที่จะนำซิมที่ได้มาให้ลูกชายเปิดใช้บริการ ซิมนี้ถูกเปิดใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และคุณนิสาได้ไปแจ้งขอปิดใช้บริการที่ศูนย์บริการในอีกเดือนถัดมาหลังจากที่ลูกชายเดินทางกลับไปต่างประเทศ โดยชำระค่าบริการที่ค้างจ่ายทั้งหมดให้กับพนักงาน เรื่องน่าจะจบไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าต่อมาในเดือนเมษายน มีใบเรียกเก็บค่าบริการโทรมือถือหมายเลขที่ได้แจ้งปิดไปแล้วมาถึงคุณนิสาจำนวน 1,070.54 บาท คุณนิสาก็เป็นงง เพราะตั้งแต่วันที่แจ้งยกเลิกก็ไม่ได้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์นั้นอีก แล้วจะมียอดหนี้มาได้อย่างไร จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์บริการ AIS Shop สาขาเดิมเพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้รอเอกสารการตรวจสอบภายใน 15 วัน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ไม่เห็นมีคำชี้แจงใดๆ กลับมา ซ้ำในเดือนพฤษภาคมยังมีบิลเรียกเก็บเงินอีก 95.34 บาท เมื่อไม่มีความชัดเจนคุณนิสาจึงไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเอไอเอส ทีนี้ล่ะครับงานเข้าครับงานเข้า...ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย เซนิท ลอว์ จำกัด แจ้งว่าคุณนิสายังมีหนี้ค้างกับ เอไอเอส อยู่ 1,165.88 บาท แถมยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง จะถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด , จะส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลาง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการออกหมายอายัดรายได้ และหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด คุณนิสารู้สึกโกรธมากอะไรจะปานนั้น หนี้แค่พันกว่าบาท จะยึดทรัพย์กันเลยหรือ จึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาบริการโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เป็นผู้กำกับดูแล กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาว่า ค่าบริการที่บริษัทมือถือเรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะร้องเรียนโดยตรงได้กับบริษัทมือถือ และถือเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ และจะต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่มีการโต้แย้งโดยทันที ข้อกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นครับแต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่องเลย ผู้ใช้บริการเขาอุตส่าห์ไปขอให้ตรวจสอบค่าบริการที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บริษัทกลับแจ้งยอดหนี้เพิ่มและส่งจดหมายทวงหนี้ที่ไร้มารยาทมาให้อีก มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงเอไอเอสโดยทันที หลังจดหมายออกไปประมาณ 1 เดือน เอไอเอสถึงได้มีจดหมายตอบกลับแจ้งว่า ไม่พบเอกสารการขอยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใดในวันที่คุณนิสาไปแจ้งขอยกเลิก (แสดงว่าแจ้งไปแล้วแต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ?) และหนี้ที่เรียกเก็บในเดือนเมษายนนั้นเป็นค่าบริการที่มีการใช้โทรจริง และเนื่องจากระบบข้อมูลยังคงเห็นว่าคุณนิสายังอยู่ในสถานะใช้บริการอยู่จึงมีค่ารายเดือนต่อมาอีก 1 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้เอไอเอสจึงดำเนินการมอบส่วนลดค่าใช้บริการให้จำนวน 783.72 บาท (รวมภาษี) จากยอดที่เรียกมาทั้งหมด 1,165.88 บาท ยังมียอดคงเหลืออีก 382.16 บาท ซึ่งคุณนิสาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นค่าโทรที่ลูกชายใช้จริงจึงยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้ ปัญหาหนี้ค่าโทรจึงเป็นอันยุติ ข้อเตือนใจสำหรับคนใช้มือถือ ต้องจำไว้ว่ามือถือแบบจดทะเบียนเป็นบริการที่เข้าง่ายออกยากประเภทหนึ่ง หากคิดจะบอกเลิกสัญญาอย่าแจ้งทางวาจาเพียงอย่างเดียว ต้องมีเอกสารการบอกเลิกสัญญาลงลายมือชื่อเราให้ชัดเจนส่งถึงบริษัท ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาในภายหลังครับ หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่อได้ เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นที่ห้างเทสโกโลตัส สาขาซิตี้พาร์ค บางพลี เวลาประมาณสองทุ่มของวันที่ 12 มกราคม 2552 คุณปานกับแฟนหนุ่มได้ไปเดินหาซื้ออาหาร เดินกันสักพักใหญ่มาประสบพบเจอกับชุดยำหมูกึ่งสำเร็จรูปของพรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ เห็นป้ายแจ้งว่า ลดราคาเพียงแค่ชุดละ 20 บาท ไม่รอช้าสายตากวาดไปที่ป้ายราคาเพื่อมองหาวันผลิต-วันหมดอายุ ตามคำแนะนำของ อย. โดยทันที ฉลากระบุวันผลิตเป็นวันที่ 12 มกราคม 2552 มีวันหมดอายุถัดไปอีก 2 วันคือคือวันที่ 14 มกราคม 2552 เห็นแล้วมั่นใจว่า “ยังสดใหม่” คุณปานกับแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจหยิบใส่ตะกร้า 2 ชุดทันทีเพื่อนำไปแบ่งรับประทานคนละชุด กลับมาถึงบ้านยัดใส่ตู้เย็นไว้ก่อน มาเปิดอีกทีก็เข้าวันที่ 14 มกราคม เพราะเกรงว่าของจะหมดอายุเสียก่อน ความจริงถึงได้ปรากฏ เพราะเมื่อแกะห่อชั้นนอกก็พบห่อชั้นในที่เป็นห่อเนื้อหมูแดงที่จะใช้ทำยำ มาตกใจกับป้ายฉลากของพรานทะเลที่ระบุวันผลิตวันหมดอายุอีกชิ้นหนึ่งแปะอยู่บนซองเนื้อหมูแดง เพราะระบุวันที่ผลิตเป็นวันที่ 17 กันยายน 2551 และวันหมดอายุเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2551 “ตายแล้ว นี่มันหมดอายุไปตั้ง 3 เดือนแล้วนี่” คุณปานอุทานกับตัวเองด้วยความตกใจ พร้อมกับหยิบเปลือกห่อด้านนอกที่ฉลากเป็นของห้างเทสโกโลตัสมาดูอีกที.... วันที่ผลิต วันที่หมดอายุไม่ตรงกันจริงๆ คุณปานจึงโทรไปต่อว่าที่โลตัส พนักงานรับสายบอกว่า “มันเป็นของพรานทะเลไม่ใช่ของโลตัส” เจอคำตอบแบบนี้ไฟที่แค่คุก็ลุกเป็นเพลิงทันที เพราะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบชัดๆ คุณปานจึงจูงมือแฟนหนุ่มในฐานะพยานไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจท้องที่ ก่อนจะย้อนกลับไปยื่นสำเนาใบแจ้งความที่ห้างโลตัสสาขาดังกล่าวในวันเดียวกับที่พบความผิดปกติของสินค้านั่นเอง วันรุ่งขึ้นจึงได้รับการติดต่อจากพรานทะเลเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมคำขอโทษ และได้รับอีเมล์ชี้แจงตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า “การที่ซองหมูแดงที่แพ็คอยู่ด้านในระบุวันหมดอายุวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่ที่แพ็คของสินค้ายำระบุวันหมดอายุวันที่ 14 มกราคม 2552 นั้น เกิดจากพนักงานบรรจุสินค้าเป็นพนักงานใหม่ทำให้หยิบสินค้าสลับแพ็ค โดยนำหมูแดงที่ใช้สำหรับจัดเป็นชุดชิมรสชาติมาใส่เป็นชุดยำ ที่มาของหมูแดงชุดนี้ เดิมเป็นสินค้าที่ตั้งใจผลิตแบบ chilled หรือหมูสดแช่เย็น เพื่อนำไปขายในร้านสะดวกซื้อ มีอายุการเก็บ 15 วัน และมีสินค้าเหลือจากยอดสั่งเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ทางพรานทะเลจึงนำไปผ่านกระบวนการ freeze หรือแช่แข็งเพื่อยืดวันหมดอายุออกไป พรานทะเลอ้างว่าเก็บได้นานถึง 18 เดือน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขวันผลิตและวันหมดอายุ เนื่องจากตั้งใจใช้หมูแดงเหล่านี้จัดเป็นชุดสำหรับให้ชิมรสชาติเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาใส่ลงในชุดยำ” จากคำชี้แจงทำให้คุณปานและแฟนหนุ่มถึงกับอึ้ง แม้ว่าพรานทะเลจะแจ้งว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณปาน แฟนหนุ่ม รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่หลงซื้อสินค้าเพราะคิดว่าใหม่สดตามฉลากที่แจ้ง ทั้งเทสโกโลตัสและพรานทะเลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใดๆ คุณปานจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นลักษณะของการนำอาหารที่ไม่สดแล้วมาแสดงฉลากว่าเป็นอาหารสดใหม่ ถือเป็นแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย อาจมีความผิดฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายควรแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนตามสมควร ผู้ร้องเรียนสามารถมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งครับ ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์เรื่องโดย บุญยืน ศิริธรรมเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ กินเปลี่ยนโลก

ฉลาดซื้อ จับมือกับ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลกค่ะ จัดโครงการรณรงค์ "กินเปลี่ยนโลก" ซึ่งเปิดตัวกันไปแล้วเมื่อวันที่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ถามว่า ทำไมเราต้องรณรงค์ กินเปลี่ยนโลกกัน ก็เพราะว่า ปัจจุบันมีการผลิตแบบอุตสาหกรรม และเป็นการทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อเกิดการผูกขาดการผลิต และต้องผลิตจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนการผลิต จึงต้องมีการใช้สารเคมีเพื่อช่วยเร่งการผลิต ให้ผักโตไว มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เป็ด ไก่ หมูต้องเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม จนทำให้ความหลากหลายของสายพันธุ์ลดลงเรื่อย ๆ นั่นเอง โครงการกินเปลี่ยนโลกจึงเริ่มขึ้น สำหรับท่านที่สนใจร่วมโครงการ ฉลาดซื้อมีแผนที่ "ผักพื้นบ้าน" ในตลาดกรุงเทพ มาให้ค่ะ ไปรับได้ที่ บูธ E 08 โซนแพลนนารี่ฮอลล์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 37 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติศิริกิติ์ พร้อทั้งเลือกซื้อหนังสือเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง เร็วไม่ว่าช้าให้เป็น ซึ่งเข้ากับงานรณรงค์ กินเปลี่ยนโลกทีเดียวค่ะ หรือจะเป็นหนังสือวารสารฉลาดซื้อฉบับย้อนหลัง ที่เรานำมาลดให้กับท่านผู้อ่าน และเตรียมพบกับหนังสือใหม่ "พจนานุกิน" สดๆร้อนๆ ในงานค่ะ ขอบอกว่าแผนที่ มีจำนวนจำกัด เนื่องจากงบประมาณการจัดพิมพ์น้อย แต่ความตั้งใจสูงค่ะ อย่าพลาดนะคะ ร่วมรณรงค์ โครงการกินเปลี่ยนโลก ชื่อ - สกุล:: ที่อยู่ :: E-mail :: เบอร์โทรศัพท์ :: ข้อเสนอแนะ :: พริ้นส่วนนี้แล้วนำไปแลก แผนที่ "ผักพื้นบ้าน" ในตลาดกรุงเทพ ค่ะ {mxc}

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 96 เสียงผู้บริโภค

เสียงผู้บริโภค ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคcomplaint@consumerthai.org เสียงผู้บริโภค รวมเรื่องจริงผ่านประสบการณ์ของผู้บริโภค ถ่ายทอดเป็นบทเรียนที่น่าอ่าน ผจก. นิติบุคคลคอนโดประพฤติมิชอบผมเป็นเจ้าของร่วมและผู้ประสานงานชมรมคอนโดขนาด 700 ห้องที่เมืองพัทยา คุณศุภวิทย์เริ่มเรื่องคณะกรรมการได้ว่าจ้างนิติบุคคลแห่งหนึ่งให้ทำหน้าที่ผู้บริหารจัดการในฐานะเป็นผู้จัดการนิติบุคคล ต่อมานิติบุคคลคลได้ขออำนาจเจ้าของร่วมผู้ประสงค์จะให้เช่าหรือขายห้องเป็นธุรกิจโดยขอหักเงิน 3% - 10% เพื่อนำเข้าเป็นเงินส่วนกลางสำหรับจ่ายพนักงาน ค่าซ่อม บำรุงรักษาสถานที่ต่างๆ ประจำปี รวมเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ปรากฏว่าเงินค่านายหน้าที่ได้จากการให้เช่าและขาย ที่ได้หักไว้จากเจ้าของห้องนิติบุคคลไม่ได้นำเข้าบัญชีรับ-จ่ายส่วนกลางแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ผมในนามชมรมเจ้าของร่วมได้สอบถามหลายครั้งก็ไม่มีคำตอบให้ เจ้าของร่วมยังคงต้องถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายรายปีเท่าเดิมทุกปี หากมีเงินค่านายหน้าได้ถูกนำเข้าบัญชีค่าใช้จ่ายส่วนกลางบ้างแล้ว เงินค่าใช้จ่ายรายปีต้องลดลงตามส่วน “ผมได้ทำเรื่องร้องเรียนสคบ. แล้ว แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร จนบัดนี้เป็นเวลานับปีแล้ว จึงขอเรียนถามท่านว่า เรื่องนี้จะฟ้องศาลผู้บริโภคได้หรือไม่? ทำอย่างไร? ขอบคุณครับ” ข้อแนะนำตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 เจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระเงินให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อดำเนินกิจการของนิติบุคคลอาคารชุด ดังต่อไปนี้ (1) เงินค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลอาคารชุดที่เจ้าของแต่ละห้องชุดจะต้องชำระล่วงหน้า(2) เงินทุนเมื่อเริ่มต้นกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อบังคับ หรือตามมติของที่ประชุมใหญ่(3) เงินอื่นเพื่อปฏิบัติตามมติของที่ประชุมใหญ่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งที่ประชุมใหญ่กำหนดจะเห็นว่าข้อกำหนดกฎกติกาหรือแนวทางการดำเนินการต่างๆ ของนิติบุคคลอาคารชุดนั้นล้วนมาจากมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมอาคารชุดนั้นๆ ดังนั้นปัญหาของนิติบุคคลอาคารชุดที่เกิดขึ้นแต่ละปัญหาไม่ต้องไปร้องเรียนที่ไหนครับ เพราะเป็นเรื่องที่ควรจัดการกันเองในหมู่ที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วม อาทิ เช่น หากพบว่าผู้จัดการนิติบุคคลปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส อย่างกรณีนี้ เจ้าของร่วมสามารถจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อจัดการปัญหานี้ได้ แต่เงื่อนไขคือการประชุมใหญ่ต้องมีผู้มาประชุมซึ่งมีเสียงลงคะแนนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมตามกฎหมาย โดยเจ้าของร่วมในที่ประชุมใหญ่จะมีมติจัดให้มีคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ประกอบด้วยกรรมการไม่เกินเก้าคนซึ่งแต่งตั้งโดยมติของที่ประชุมใหญ่ก็ได้ ในการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ อำนาจหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ ทีนี้เราจะตรวจสอบการทำงานประการใดของผู้จัดการนิติบุคคลให้ใช้วิธีการทำงานผ่านคณะกรรมการชุดนี้ครับ เมื่อได้หลักฐานการทุจริตแล้วสามารถที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปได้ อย่าทำงานคนเดียวครับเหนื่อยตายและไม่ได้ผลด้วย   ผู้ป่วยจิตเวชก็มีหัวใจคุณสมโชค (นามสมมติ) มีอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังต้องใช้ยานอนหลับช่วยอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาได้เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลชลประทาน ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทย์ตรวจพบโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และจิตเวช ทำให้คุณสมโชคต้องมารับยาเพื่อนำไปรักษาอาการจากโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ช่วงที่ผ่านมาคุณสมโชคสังเกตเห็นว่า ยาที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาจะมีการใช้ปากกาเมจิกขีดทำตำหนิไว้ที่ด้านหลังแผ่นยาทุกแผง ส่วนยาทุกชนิดที่บรรจุกล่องอยู่จะถูกนำออกจากกล่องหมด “ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาต้องทำอย่างนี้ ผมอยากเหมือนคนไข้ทั่วไปที่ไม่ถูกแกล้งเอายาออกจากกล่อง ผมคิดมากจนนอนไม่หลับ ยาเอาไม่อยู่ ทำให้มีอาการนอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้น อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยคุยกับโรงพยาบาลให้ด้วย เพราะผมอยากได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไข้ทั่วไปครับ” ผลการดำเนินการหลังได้รับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิได้ทำหนังสือสอบถามถึงการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งโรงพยาบาลได้มีหนังสือชี้แจงกรณียาที่บรรจุกล่อง ถูกนำออกจากล่อง ว่า 1. กรณีทั่วไป มีความเป็นไปได้อยู่เสมอที่จะมีการจ่ายยาลักษณะนี้เพราะแพทย์สั่งยาไม่ตรงตามขนาดบรรจุ เช่น บรรจุ 100 สั่ง 60 จะมียาเหลือ 40 ยาเช่นนี้ก็จะไม่มีกล่องบรรจุ 2. จากการเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยา พบว่ายาที่บรรจุกล่อง เช่น 2 กล่อง การปิดฉลากล่องที่ 1 เพียงกล่องเดียวแล้วมัดรวมกับกล่องที่ 2 เมื่อผู้ป่วยใช้กล่องที่ 1 หมด ฉลากจะถูกทิ้งไปพร้อมกล่องทำให้ใช้ยากล่องต่อไปไม่ถูก ในทางกลับกัน ถ้าปิดฉลากครบทั้ง 2 กล่อง แม้จะทำการอธิบายรวมทั้งแจ้งเตือนเป็นเอกสารฉลากช่วยว่าให้รับประทานทีละกล่องแล้วต่อเนื่องกันไป ก็ยังพบว่าผู้ป่วยทานยาทีเดียวทั้ง 2 กล่อง หรืออาจยุ่งยากขึ้นอีกกรณีสั่งยาไม่เต็มกล่องมีเศษ เป็น 1-2 แผง ทางที่ดีคือ เอายาออกจากล่องทั้งหมด ใส่ซองซิบพลาสติกแล้วปิดฉลากครั้งเดียวรวมทั้งหมด 3. การเอายาออกจากล่องหมายถึง การเอาฉลากออกทิ้งไปด้วย เพราะต้องการให้ผู้ป่วยสนใจและอ่านเนื้อหาที่สั้นที่สุด คือฉลากยาที่แปะหน้าซอง เพราะพบว่าผู้ป่วยอ่านเอกสารกำกับยาแล้วเกิดความสับสน หรือหวาดระแวงจนไม่ทานยาตามแผนการรักษา กรณีนี้พบเสมอในผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ดี วิธีปฏิบัติในข้อ 2 และ 3 เป็นวิธีที่เพิ่มภาระงานให้กับห้องยา จึงยังไม่ได้ทำทั้งหมด แต่เราพยายามที่จะทำเพื่อลดความคลาดเคลื่อนทางยา โดยเลือกทำในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยสูงอายุที่เราประเมินได้ว่าอาจไม่สามารถดูแลตนเองให้รับยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และผู้ป่วยด้านจิตเวชก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่อาจให้คำอธิบายโดยตรงได้ ด้วยมารยาทและจรรยาบรรณเราไม่ตอกย้ำประเด็นความบกพร่องของผู้ป่วย เราจะมุ่งเน้นให้คำอธิบายที่ชัดเจนไม่สับสน เท่านั้น ส่วนกรณีมีการใช้ปากกาเมจิกขีดตำหนิไว้ที่แผงยา กรณีนี้ ห้องยาขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนั้น นอกจากนี้นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานได้กรุณาให้คำชี้แจงอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนี้ อย่างละเอียดแต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ป่วย จึงขอสรุปคำชี้แจงหลักๆ ว่า ทางแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง คืออายุรแพทย์ จิตแพทย์ แพทยเวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับทราบปัญหาของผู้ป่วย และมีแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ผู้ป่วยรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว เพราะเคยพบว่าผู้ป่วยไปรับการรักษากับสถานพยาบาล 2 แห่งในวันเดียวกันทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับยามากเกินขนาดได้ ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์และปลอดภัยกับตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับการยืนยันจากผู้ร้องเรียนว่า ตนได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างดีเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพกายและใจของตัวเองดีขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงขอขอบพระคุณ นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานและทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างดีเยี่ยมด้วยความนับถืออย่างสูง   ถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภท 8 ปี ป้าจินตนา เป็นผู้เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ถนนปางล้อนิคม ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเปิดบ้านทำเป็นร้านขายอาหารตามสั่งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2543 หรือร่วม 8 ปีเศษเข้ามาแล้ว ตั้งแต่เปิดร้านอาหารมาก็แปลกใจตลอดว่าทำไมค่าน้ำถึงแพงจัง ใช้แค่ล้างจานชามอาจจะมากกว่าการใช้น้ำตามบ้านเรือนทั่วไปแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เมื่อเอาค่าน้ำของตัวเองไปเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วก็ได้แต่สงสัยมาตลอดว่าทำไมค่าน้ำของตัวเองถึงสูงมาก แต่ก็ทนจ่ายมาตลอด จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมาก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำที่คาดว่าน่าจะถูกลงเพราะเป็นช่วงฤดูฝนไม่ต้องดูแลต้นไม้หน้าบ้านแต่ค่าน้ำกลับแพงกว่าเดิม ก้มดูรายละเอียดในใบแจ้งหนี้มันก็ไม่ได้บอกอะไรนอกจากจำนวนเงินค่าน้ำและ 373 ที่ระบุว่าเป็นประเภทการใช้น้ำ ดูแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะคำแนะนำที่อยู่ด้านหลังใบแจ้งหนี้ให้ความหมายสำหรับตัวเลขของประเภทผู้ใช้น้ำไว้ว่า 1= ที่อยู่อาศัย 2 = ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก 3 = รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ 4 = ประเภทพิเศษ ป้าจินตนาจึงถือใบแจ้งหนี้ไปถามกับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์รับเงินว่าเลข 373 นี่มันคืออะไร ได้รับคำตอบว่า เป็นการเรียกเก็บค่าน้ำประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ ป้าจินตนาก็ตกใจเพราะที่ทำอยู่มันก็แค่ร้านอาหารตามสั่งอย่างเก่งก็แค่ธุรกิจขนาดย่อมเท่านั้นแหละ “ฉันก็ถามเขาไปว่า ใครเป็นคนตัดสินใจแทนเจ้าของบ้านว่าจะให้บ้านนั้นบ้านนี้ไปใช้น้ำประเภทไหน เพราะฉันไม่เคยมาแจ้งเปลี่ยนมาก่อน เข้าใจมาตลอดว่าตัวเองใช้น้ำประเภทบ้านอยู่ แต่เชื่อมั้ยคะ คำตอบที่ได้รับยิ่งทำฉันฉุนเฉียวมากขึ้น เพราะเขาบอกว่า คนจดมาตรน้ำเป็นคนจัดการ” ป้าจินตนาเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง จึงขอเปลี่ยนประเภทน้ำใช้ไปเป็นธุรกิจขนาดเล็กตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และขอเรียกร้องเงินค่าน้ำที่ได้จ่ายเกินไปกว่า 8 ปีคืน “ฉันเคยเข้าพบผู้จัดการแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลเพราะบ่ายเบี่ยงไปมาบอกว่าไม่รู้จะทำยังไงได้ ไม่เคยเจอกรณีแบบนี้” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังรับเรื่องร้องเรียน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 มูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายส่งถึงผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการสำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน โดยมีข้อร้องเรียนอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ให้ชดใช้ค่าเสียหายหากตรวจสอบพบแล้วว่าเป็นความผิดพลาดของการประปาแม่ฮ่องสอน 2. ห้แก้ไขหรือชี้แจงรายละเอียดของตัวเลขผู้ใช้น้ำแต่ละประเภทที่ทำให้ผู้ใช้น้ำเกิดความสับสน ปรากฏว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกป้าจินตนาไปเจรจาโดยบอกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำให้โดยพลการนั้นรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ 3,000 บาทและขอให้ยุติเรื่อง ป้าจินตนาไม่ยินยอมเพราะเข้าใจว่าความเสียหายเกิดขึ้นมาตั้ง 8 ปีแล้วค่าเสียหายน่าจะมากกว่านี้ เมื่อไม่เห็นถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ จึงต้องทำจดหมายถามย้ำไปอีกรอบ ทีนี้ได้เรื่องครับ การประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ได้มีหนังสือชี้แจงถึงผลการดำเนินการตรวจสอบว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน จัดประเภทผู้ใช้น้ำให้แก่ป้าจินตนาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 (เดือนที่ป้าจินตนาทราบเรื่องและขอเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำเป็นประเภทธุรกิจขนาดเล็ก) ซึ่งตามข้อเท็จจริงจะต้องเรียกเก็บในประเภทที่ 2 ธุรกิจขนาดเล็ก รหัส 243 ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกเก็บเป็นประเภท 3 ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัส 373 เนื่องจากเข้าใจว่า เป็นสถานบริการเพราะมีเครื่องเสียงไว้บริการให้ลูกค้าได้ร้องเพลง สรุปว่าป้าจินตนาถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภทไป 5 ปี ซึ่งในขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคกำลังพิจารณาคำนวณค่าน้ำประปาที่เก็บเกินเพื่อคืนให้กับป้าจินตนาอยู่ ส่วนเรื่องตัวเลขรหัสแสดงประเภทผู้ใช้น้ำที่ทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนนั้น การประปาส่วนภูมิภาคได้ชี้แจงว่า ในด้านหน้าใบเสร็จจะเป็นเลขรหัสประเภทผู้ใช้น้ำแสดงไว้ 3 หลัก คือ หลักร้อย มีเลขรหัส 1 ถึง 4 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำว่าเป็นประเภทที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัสนี้ใช้สำหรับการคิดค่าน้ำประปาในอัตราที่ต่างกัน หลักสิบ มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำหลักเป็นการแสดงลักษณะการประกอบการของสถานที่ใช้น้ำ หลักหน่วย มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ลำดับที่ในประเภทผู้ใช้น้ำย่อย ซึ่งแสดงรายละเอียดของลักษณะการใช้น้ำของสถานที่ประกอบการ ส่วนในด้านหลังใบเสร็จรับเงินนั้นจะบอกเฉพาะความหมายของเลขรหัสหลักร้อยว่าหมายถึงผู้ใช้น้ำประเภทใดเท่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจึงมาถึงบางอ้อ นี่ถ้าการประปาภูมิภาคไม่ชี้แจง ไม่ยอมบอกความหมายของเลขรหัสให้ได้ทราบกันนี่ ผู้บริโภคก็คงงมจ่ายค่าน้ำไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทางแบบป้าจินตนากันเป็นแถวล่ะครับ   กล้องอัจฉริยะใช้ 6 เดือน ซ่อม 6 เดือน กล้องถ่ายรูปที่ดีไม่ได้อยู่ที่ราคาหรือคุณภาพของภาพที่ถ่ายได้เท่านั้น แต่คุณภาพบริการหลังการขายของผู้จัดจำหน่ายและผู้ผลิตสินค้าก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 คุณจุฑามาศสาวน้อยผู้รักการถ่ายภาพ ได้ไปเดินหาซื้อกล้องถ่ายรูปที่แผนกขายกล้องของห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี แล้วมาปิ๊งกับกล้อง แกรนด์วิชชั่น รุ่น s.50z ที่คุณจุฑามาศเข้าใจว่าเป็นของบริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ(ไทยแลนด์) จำกัด ผ่านมาได้ 6 เดือน อยู่ดี ๆ ขาขั้วแบตเตอรี่ของกล้องเกิดหักขึ้นมาทำให้เปิดใช้เครื่องไม่ได้ จึงนำกล้องถ่ายรูปกลับไปที่แผนกขายกล้องที่ห้างบิ๊กซี ราชบุรี ด้วยความชีช้ำหวังจะให้เวิลด์ไวด์อิมเมจรับซ่อมกล้องให้ คุณจุฑามาศกลับมาบ้านพร้อมกับใบรับซ่อมที่ระบุข้อความที่ดูเหมือนจะเป็นข้อสัญญาว่า กรณีที่มีอะไหล่จะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 เดือน ส่วนในกรณีที่ไม่มีอะไหล่ ต้องรออะไหล่อาจใช้เวลานาน 3-4 เดือน คุณจุฑามาศเฝ้ารอสัญญาณผลการซ่อมตั้งแต่ต้นฝนจนเข้าต้นหนาวเดือนพฤศจิกายนกล้องสุดที่รักก็ยังไม่กลับมาเสียที จึงได้โทรติดต่อกลับไปที่บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจฯ จึงได้รับแจ้งข่าวดีว่าจะจัดส่งสินค้ามาทางไปรษณีย์ประมาณ 1 อาทิตย์ถึงจะได้รับ แต่ข่าวร้ายที่พ่วงตามมาคือ บริษัทแจ้งว่าความเสียหายของกล้องที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของเจ้าของกล้องเอง ไม่เกี่ยวกับคุณภาพสินค้า ต้องเสียค่าซ่อมที่ประมาณ 1,000 บาท “นี่ถ้าดิฉันไม่โทรไปถามก็ไม่รู้ว่าจะได้กล้องคืนมาเมื่อไหร่ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้กล้องตามที่บอกเลย สอบถามศูนย์ซ่อมกล้องหลายแห่ง บอกว่าราคาซ่อมน่าจะอยู่ประมาณ 300-400 บาทเท่านั้น ถ้ามีอะไหล่ก็เปลี่ยนได้เลย หรือดัดแปลงได้ไม่น่าใช้เวลานานขนาดนี้.... เบื่อทวงเสียความรู้สึก รอจนหง่อมแล้วค่ะ....แล้วยังจะต้องมาเสียค่าซ่อมขนาดนี้ด้วยเหรอคะ” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายสอบถามไปที่บริษัทเวิลด์ไวด์อิมเมจ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) เพื่อติดตามกล้องให้กับคุณจุฑามาศ ซึ่งได้รับคำตอบจากทั้งสองบริษัทในทำนองเดียวกันว่า เหตุที่การซ่อมกล้องล่าช้าใช้เวลานานมากเนื่องจาก บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ นั้นความจริงแล้วไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายหรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าโดยตรง เป็นแต่เพียงบริษัทที่ไปรับซื้อกล้องดิจิตอลจากผู้แทนจำหน่ายกล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องหมายการค้าต่างๆ อีกทีหนึ่ง แล้วนำมาฝากขายให้กับห้างบิ๊กซีทุกสาขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งกล้อง แกรนด์วิชชั่น ที่คุณจุฑามาศซื้อไปนั้นแกรนด์วิชชั่นซื้อมาจากบริษัท อัลฟ่าบิซ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อสินค้าชำรุดก็เลยต้องส่งต่อกันเป็นทอดๆ ระยะเวลาการซ่อมจึงขึ้นกับตัวแทนจำหน่ายว่าจะสามารถซ่อมได้เอง มีฝ่ายซ่อม หรือมีอะไหล่ของสินค้ารุ่นนั้น ๆ อยู่หรือไม่ กล้องยี่ห้อที่มีลูกค้าซื้อเป็นจำนวนมากมักจะซ่อมได้เลย แต่บางยี่ห้อต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ หรือไม่ก็ต้องส่งสินค้ากลับไปยังบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นจึงทำให้ใช้ระยะเวลาในการส่งสินค้าซ่อมค่อนข้างนาน กรณีของคุณจุฑามาศเวิลด์ไวด์อิมเมจได้ส่งสินค้าให้ผู้แทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 และได้รับสินค้าที่ซ่อมเสร็จคืนมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และส่งต่อไปให้ห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี เมื่อ 13 ธันวาคม 2551 ท้ายสุดทั้งสองบริษัทได้กล่าวขออภัยในปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนคุณจุฑามาศได้รับกล้องคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยไม่ต้องเสียค่าซ่อมตามที่เคยถูกเรียกมา เฮ้อ รวมระยะเวลาที่กล้องเครื่องนี้ต้องบินไปเข้าอู่ร่วม 6 เดือนครับ สงสัยเขาจะส่งไปทางเรือ...ยังไงๆ ก็ช่วยปรับปรุงกันหน่อยครับเพื่อภาพพจน์ที่ดีของบริษัทจะได้ยั่งยืนตลอดไปนิรันดร์กาล

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 96 สิทธิของคนใช้โทรศัพท์

เสียงผู้บริโภคเรื่องโดยบุญยืน ศิริธรรม เคยเขียนแต่เรื่องที่มีคนมาร้องทุกข์ วันนี้เลยจะคุยเรื่องวีรกรรมของคนเขียนเองบ้าง ในฐานะคนทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิ และก็เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ นั่นคือโทรศัพท์เคลื่อนที่(มือถือ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเบ่งบานสุดๆ ในประเทศไทย และทั่วโลก ที่น่าตกใจ(หลังจากอ่านบทความการวิจัย) ว่าวัยรุ่นไทยใช้โทรศัพท์มากที่สุดติดอันดับต้นๆของโลกและค่าใช้โทรศัพท์ มากกว่ากินข้าวปลาอาหารบวกเสื้อผ้าเสียอีก อุแม่เจ้า..อะไรจะขนาดน้านนน... ไม่เชื่อก็ไม่ได้ในเมื่อมีข้อมูลว่าประชากรในประไทยมีประมาณ 73 ล้านคน แต่พี่ท่าน..(ผู้ให้บริการ) ขายเบอร์โทรเคลื่อนที่ไปแล้วกว่า 75 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าต้องมีคนใช้โทรมากกว่า 1 เลขหมายอยู่หลายคนอย่างแน่นอน(อู้ฮู.....เงินมหาศาลเลย...) แต่ปัญหาของผู้บริโภคคือเรามีหน้าที่ แค่ซื้อ แค่ใช้และจ่ายเงินเท่านั้น โดยไม่ได้คิดถึงสิทธิหน้าที่ ที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคเอง ผู้บริโภคเรามีหน้าที่เป็นผู้ยอมสยบแต่โดยดี ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้จ่ายเงินเข้าระบบธุรกิจการสื่อสาร (ถ้าไม่มีเราเขาก็ไม่รวย) โดยไร้ซึ่งปากเสียง เช่น เขาบอกให้เราเสียเงินค่าต่อสัญญาณกรณีที่ผิดนัดชำระค่าโทรศัพท์ 107 บาท เราก็จ่าย เขากำหนดว่าเติมเงิน 200 บาท ใช้งานได้แค่ 30 วัน เติม 50 บาทใช้แค่ 3 วัน เราก็ยอม ช่างเป็นผู้จ่ายที่ว่าง่ายอย่างเหลือเชื่อ ใช้ๆ ไปก็มีบริการอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์เรา แถมบอกอีกว่า ถ้าไม่เอาให้โทรกลับ (โทรกลับใครเสียเงิน)ไม่โทร ครบ 15 วันเขาก็คิดสตางค์เรา เราก็ยอม เคยถามตัวเองว่าทำไมเราต้องยอม หลายคนบอกว่าเราอยากใช้บริการเขาเราก็ต้องยอมซิ.. เมื่อผู้บริโภคว่าง่ายขนาดนั้น การโฆษณา โปรโมชั่นหลากหลาย สารพัดรูปแบบอกมาเป็นชุดๆ เลย เราก็ซื้อ เอาเปรียบหรือเปล่าเราไม่เคยรู้ รู้แต่เขาว่าดีเราก็ซื้อแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการ แต่ในฐานะคนจ่ายสตางค์ อย่างผู้เขียน ที่คิดเสมอว่าผู้จ่ายสตางค์(คือพระเจ้า คือผู้มีพระคุณของผู้ให้บริการ) มันต้องมีสิทธิบ้างซิ! เพราะจริงๆ มันก็เป็นสิทธิ และเมื่อเป็นสิทธิเราก็ต้องใช้ ดังนั้นกระบวนการร้องเรียนจึงเกิดขึ้น เริ่มที่ ร้องเรียนเรื่องการยกเลิกการใช้บริการยาก เหตุผลคือเวลาเราซื้อโทรศัพท์ ซื้อเลขหมาย(ซิม)จ่ายสตางค์ค่าใช้บริการ จ่ายที่ไหนก็ได้ จ่ายที่ศูนย์/ร้านสะดวกซื้อ/ไปรษณีย์ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกว่าเรื่องจ่ายสตางค์ให้เขามันง่ายจริงๆ แต่เวลาเราจะเลิกใช้บริการมันก็ยากจริงๆ เหมือนไอ้ร้านต่างๆ ที่เราจ่ายสตางค์สะดวกน่ะ ยกเลิกการใช้บริการไม่ได้ เพราะเขาจะสร้างข้อแม้ไว้ให้เรายกเลิกได้ยากมาก คือหากอยู่สมุทรสงครามก็ต้องมายกเลิกที่ เซ็นทรัลพระราม 2 อยู่ลำปางต้องไปยกเลิกเชียงใหม่ เป็นต้น สรุปคือการยกเลิกการใช้บริการมีแต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เห็นไหม ช่องจ่ายสตางค์ ง่ายแสนง่าย ยกเลิกการจ่ายสตางค์ ยากแสนยากแค่ไหน ผู้เขียนร้องเรียนบริษัท ดีแทกซ์ ปรากฏว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการของบริษัทนี้สามารถยกเลิกบริการได้แค่เพียงโทรศัพท์บอกก็สามารถยกเลิกได้เลย หรือการยัดเยียดบริการ(โฆษณาผ่านมือถือ) ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ เช่น ส่งข่าวดูดวง ทายผลฟุตบอล คลิปท์ดารา ฯลฯ ที่สำคัญคือการที่ ส่งข่าวมาให้อ่าน แล้วบอกว่า ให้อ่านฟรี 15 วัน หากไม่ต้องการให้โทรกลับ ทำไมไม่เขียนว่าเอาให้โทรกลับ เพราะโทรกลับเราก็เสียสตางค์ พอไม่โทรกลับก็ถือโอกาสเก็บเงินรายเดือนเราเลย ผู้เขียนก็ร้องเรียนว่าไม่ต้องการรับการยัดเยียดบริการ ปรากฏว่า ปัจจุบันไม่มีข้อความยัดเยียดบริการส่งมาให้อีกเลย (3 เดือนแล้ว) หรือแม้แต่กรณีเราชำระค่าบริการไม่ตรงเวลา แล้วถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท (ไม่รวมค่ารักษาเลขหมาย) ผู้เขียนได้อ่านประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) เขียนไว้ในมาตรฐานสัญญา สรุปว่าไม่น่าจะเรียกเก็บกรณีนี้ได้ เมื่อรู้ก็เลยลองร้องทุกข์ไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.สายด่วน 1200) ผลสรุปมติ กทช.ตัดสินมาว่าให้คืนเงิน 107 บาท ให้ผู้เขียน และห้ามเก็บเงินค่าต่อสัญญาณ 107 บาท กับผู้อื่นอีกต่อไป (บริษัทกำลังดำเนินการอุทธรณ์คำตัดสินอยู่) และมีอีกหลายเรื่องที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและถูกเอาเปรียบอยู่จริงๆ เห็นไหมว่าเรามีสิทธิแต่ยังใช้มันไม่เป็น จึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง และเชิญชวนให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง อย่าสยบยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิและเอาเปรียบเราลุกขึ้นมาเถอะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

อ่านเพิ่มเติม >

กับดักอาหารเช้าซีเรียลเด็กไทยได้แต่เกลือและน้ำตาล

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 92 เปิดเผยข้อมูลอาหารเช้าสำเร็จรูปซีเรียลทั้งประเทศไทยและต่างประเทศว่ามี ปริมาณน้ำตาลและเกลือที่สูงตรงกันข้ามกับโฆษณาที่ทำให้เชื่อว่าอาหารเช้าเหล่านั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง แนะห้ามทำการตลาดผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม Consumerthai - 24 ต.ค.51 วารสารฉลาดซื้อ จัดแถลงข่าวผลการสำรวจ อาหารเช้าสำเร็จรูปซีเรียล ฉบับประจำเดือนตุลาคม ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร วารสารฉลาดซื้อ  กล่าว่า “ผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียลที่ “ฉลาดซื้อ” และองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumers Research and Testing) อีกกว่า 30 องค์กรจากทั่วโลกส่งเข้าร่วมทดสอบนั้น เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็ก ที่พบเห็นได้ตามซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไปและเป็นยี่ห้อที่ทำตลาดอย่างแพร่หลาย มีผลการการทดสอบโดยรวมเป็นที่น่าตกใจ เพราะ อาหารเช้าซีเรียลของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำตาลและเกลือที่สูงเกินไป ตรงกันข้ามกับโฆษณาที่ผู้ผลิตมักทำให้เราเชื่อว่าอาหารเช้าเหล่านั้นมีคุณ ค่าทางอาหารสูงและทำให้เด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเรียน ได้เริ่มวันใหม่ๆอย่างแข็งแรงสดใส” นอก จากนี้ บรรณาธิการบริหาร วารสารฉลาดซื้อกล่าวเสริมว่า จากผลการทดสอบดังกล่าวทำให้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมาองค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ออกมาเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงในระดับนานาชาติในการควบคุมการทำการตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเด็ก จะได้ปลอดภัยจากการทำการตลาดของอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ว่า การห้ามโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทางวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างเวลา 6 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม อีกทั้งห้ามทำการตลาดผ่านสื่อ อย่างเว็บไซต์ การสร้างเครือข่ายทางสังคม และการส่งข้อความทางโทรศัพท์ ห้ามทำการตลาดในเขตโรงเรียน  เลิกแจกของแถม ของเล่น ของสะสม เพื่อการดึงดูดความสนใจของเด็ก และห้ามใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ตัวการ์ตูน หรือการจัดการแข่งขัน หรือชิงโชคต่างๆ เพื่อการส่งเสริมการขายโดย 7 ตัวอย่างจากประเทศไทยที่ “ฉลาดซื้อ” ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียลสำหรับเด็กไปทดสอบนั้นได้ผลการทดสอบ ดังนี้  อาหารเช้าซีเรียลที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่สุดเรียงตามลำดับได้แก่  เคลล็อกส์ ฟรอสตี้ส์  เนสเล่ สโนวเฟลกส์  และเคลล็อกส์ โคโค่ ป๊อปส์  อาหารเช้าซีเรียลที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดเรียงตามลำดับได้แก่  เนสเล่ คุกกี้ คริสพ์  เคลล็อกส์ โคโค่ ป๊อปส์ และเคลล็อกส์ ฟรอสตี้ส์  อาหารเช้าซีเรียลที่มีปริมาณไขมันสูงที่สุดคือ แฟมิเลีย สวิส ชอคโก บิทส์ ส่วนผลการทดสอบในระดับนานาชาติ  จากตัวอย่างอาหารเช้าซีเรียลที่ส่งเข้าทดสอบโดยองค์กรผู้บริโภคจาก 32 ประเทศ พบข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะมีจำหน่ายในประเทศใดล้วนแล้วแต่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่ สูงมากจนน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็ก     นอกจากนี้องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ยังพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการโฆษณาและทำการตลาดอย่างแพร่หลาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและผู้ปกครอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่สร้างความเชื่อถือแก่ผู้ปกครองว่าผลิตภัณฑ์ เหล่านี้ดีต่อสุขภาพ ตัวอย่าง ปริมาณน้ำตาลใน เคลล็อกส์ ฟร้อสตีส์ แสดงตามประเทศ หลายๆ ตัวอย่างมีปริมาณน้ำตาลมากกว่าโดนัทเคลือบน้ำตาล หรือไอศกรีมด้วยซ้ำ ส่วนปริมาณเกลือใน เคลล็อกส์ ไรซ์ คริสปีส์ของฮ่องกง และ เนสเล่ ช็อคคาพิคส์ ของอาร์เจนติน่านั้นอยู่ในระดับสูงเท่ากับน้ำทะเล** 32 ประเทศที่ส่งผลิตภัณฑ์อาหารเช้าเข้าร่วมทดสอบได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม บราซิล ชิลี สาธารณรัฐเชค เดนมาร์ค ฟิจิ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ อิตาลี เคนยา มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เปรู โปแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย สโลเวเนีย สเปน เกาหลีใต้ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ อเมริกา และประเทศไทย** องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) มีสมาชิก 220 องค์กร จาก 115 ประเทศทั่วโลกต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ชนิษฎา วิริยะประสาท โทรศัพท์ 0-2248-3737 ต่อ 311 หรือ 0-81712-9987

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ขอเชิญสมาชิกร่วมงาน กรีนแฟร์

ฉลาดซื้อ ขอเชิญสมาชิกร่วมงาน กรีนแฟร์ ’08เรียนรู้ วิธีการผลิตและใช้ชีวิตอย่างเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภคและโลกของเรา ในงานแสดงผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผลผลิตตลาดสีเขียวชุมชน Green Fair’s 08 พบบูธหนังสือเพื่อผู้บริโภค”ฉลาดซื้อ”ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วันที่ 4 – 7 ธันวาคม นี้ เวลา 10.00 – 20.00 น.ลงทะเบียนรับของชำร่วยเก๋ไก๋ ได้ที่บูธฯฟรีทุกท่านจากแนวคิดของ การสร้างเส้นทางสู่ “การตลาดสีเขียวที่เป็นจริง” อันเป็นแนวทางที่ต้องการสร้างระบบตลาดหรือการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันทั้งผู้ผลิต ร้านค้าและผู้บริโภค โดยมีแนวทางร่วมกันคือ ความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตอาหารตามแบบวิธีดั้งเดิมและด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการเร่งรัดให้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด แต่สามารถรักษาคุณภาพและเพิ่มปริมาณการผลิตได้โดยใช้วิธีการทางชีวภาพ การพัฒนาวิธีการทางธรรมชาติที่คงคุณภาพโดยให้ทั้งรสชาติ คุณค่าอาหาร และความปลอดภัย ที่ปราศจากสารปนเปื้อนในอาหารและสารเคมีปรุงแต่ง ระบบการผลิตเช่นนี้นอกจากจะช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นระบบการผลิต – ซื้อ – ขาย ของท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน จาก ความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตดังกล่าวนำมาสู่การสร้างการตลาดสีเขียว ผ่านรูปแบบร้านกรีนที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกัน และกัน สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับผู้บริโภคเรื่องการผลิตที่เป็นมิตรกับสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เส้นทางสู่ตลาดสีเขียวจึงควรดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติและการ พัฒนาที่ยึดหลักความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การเดินทางของเส้นทางตลาดสีเขียวจึงผลักดันให้เกิด“เครือข่ายตลาดสีเขียว ”ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงและขยายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต, ผู้บริโภคในรูปแบบการตลาดสีเขียวและส่งเสริมสนับสนุนสินค้า, ผลิตภัณฑ์, บริการทั้งจากผู้ประกอบการสีเขียวและชุมชน อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการกระตุ้นจิตสำนึกและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจต่อ การบริโภคที่ยั่งยืนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มผู้บริโภคสีเขียว เครือข่าย ตลาดสีเขียวร่วมกับบริษัทสวนเงินมีมา  และองค์กรต่างๆ จึงร่วมกันจัดงานเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาดแบบใหม่ที่ เน้นมิติสังคม  สิ่งแวดล้อม  และการอยู่รอดอย่างยั่งยืนของผู้ผลิต ผู้ประกอบการตลาด และผู้บริโภค  โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้า ใจในการบริโภคสินค้าปลอดสารพิษที่มีการผลิตที่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างสำนึกจิตอาสาในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เกิดสำนึกที่ดีในการช่วยเหลือสังคมผ่านการบริโภคสินค้าชุมชน และสร้างความเข้าใจต่อปัญหาการผลิตซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  โดยใช้งานกรีนแฟร์ซึ่งจะเป็นเครื่องมือ  สร้างจุดนัดพบระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการตลาด และผู้บริโภค โดยงานนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2551 มีวัตถุประสงค์และรูปแบบการจัดงานดังนี้วัตถุประสงค์1. เปิด โอกาสให้ผู้บริโภคและนักศึกษาได้เป็นอาสาสมัครเพื่อฝึกฝนการทำงานร่วมกับ ชุมชน และมีส่วนในการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน2. สร้าง Green generation green volunteer  กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจของความเป็น ตลาดสีเขียวและอาสาสมัครที่ที่คำนึงถึงการบริโภคที่ยั่งยืนทั้งได้เรียนรู้ และเชื่อมโยงวิถี, วัฒนธรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม3. เพื่อรณรงค์ ส่งเสริม และให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดการบริโภคสินค้าเกษตรอินทร์  สินค้าที่ปลอด GMO และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม4. เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากผู้ผลิตชุมชน และผู้ประกอบการผลิต    ขนาดเล็กและขนาดกลาง5. กระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักในความสำคัญของการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ สินค้าจากชุมชน และผู้ผลิตขนาดเล็กขนาดกลาง6. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบร้านกรีนให้ได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริโภค และสร้างสายสัมพันธ์ด้านสมาชิกที่เหนียวแน่นเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ต่อไปอย่าพลาดนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >