นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 149 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด

หลายท่านคงยังจำเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้ง 14  จังหวัดในภาคใต้ได้ดี  และหลายคนคงจะยังงงๆ  เหมือนผู้เขียนที่ว่ามันเกิดขึ้นได้ไง?  ก็เลยตามข่าวสารมาเล่าสู่กันฟัง   การเกิดเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้   วันที่  21  พฤษภาคม 2556   ความเข้าใจตามข่าวคือ ดับ 14 จังหวัด แต่เรื่องจริงคือ ดับ 16 จังหวัด เพราะนอกจาก ชุมพร  ระนอง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ สตูล สงขลา   สุราษฎร์ธานี ตรัง และยะลา  แล้วยังมีเพชรบุรีบางส่วน(ตั้งแต่อำเภอบ้านลาดลงไป) และประจวบคีรีขันธ์ทั้งจังหวัดด้วย โอ้โฮ!  มันกว้างขวางใหญ่โตมากนะ ความเดือดร้อนเสียหายจากไฟฟ้าดับงวดนี้   ตามมาด้วยเสียงโหยหวน ของ รมต.พลังงาน และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  มันเกิดจากเหตุสุดวิสัย  ฟ้ามันผ่า ไม่มีใครผิด   ก็ยิ่งกระตุ้นต่อมสงสัยให้ขยายกว้างมากขึ้นดังนี้ 1.ในพื้นที่ภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก ทั้งโรงไฟฟ้าขนอม ผลิตได้ 824 เมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากระบี่ ผลิตได้ 340 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ารัชประภา ผลิตได้       240  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางลาง  ผลิตได้ 73.3  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากลัฟยะลากรีน ผลิตได้ 20.2 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ผลิตได้  731 เมกะวัตต์  เป็นต้น แต่ทำไมเมื่อเกิดเหตุที่จอมบึงไฟฟ้าในพื้นที่ถึงใช้สำรองไม่ได้  มีการบริหารจัดการอย่างไรจึง ปล่อยให้ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนี้ 2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนการซ่อมบำรุงล่วงหน้า แต่ทำไมไม่มีการแจ้งเตือน ไม่มีการเตรียมแผนฉุกเฉินในการรองรับปัญหาในกรณีเกิดไฟฟ้าไม่พอใช้หรือไฟฟ้าดับ  ทั้งนี้จากประสบการณ์ทั้งกรณีไฟฟ้าดับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรณีการหยุดจ่ายก๊าซจากประเทศพม่า  และกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นที่ เกาะสมุย  น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับการเตรียมพร้อม  มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่กลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้พลังงานในวงกว้าง 3. เหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากนโยบายการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดหรือไม่? การที่บริหารแบบรวมศูนย์อำนาจการสั่งการและการผลิตไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้ในส่วนกลาง  สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานได้จริงหรือ?  เพราะทันทีที่ไฟฟ้าดับ  ก็มีผู้มีอำนาจออกมาส่งเสียงว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ทั้งที่หากเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้อย่างเร็วต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 ปี จึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้  ดังนั้นการมีเป้าหมาย ในการผลิตไฟฟ้าไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  สามารถทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าได้จริงหรือไม่? 4. การที่ปล่อยให้มีการผูกขาดแผนขาดแผนพลังงานไว้เพียงในส่วนกลาง  ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟฟ้าดับ เป็นสาเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในพื้นที่ ท่านผู้อ่านล่ะสงสัยเหมือนเรามั้ย?  หากสงสัยโปรดติดตามตอนต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 149 เสียงผู้บริโภค

ชอบของจัดโปรโมชั่น ระวังสินค้าหมดอายุ   “ซื้อ 1 แถม 1” ถือเป็นข้อความโดนใจของนักช้อป ถ้าเจอโปรโมชั่นแบบนี้จากของที่ไม่เคยซื้อเคยกินก็ต้องเปลี่ยนใจรีบซื้อทันที เป็นกลยุทธ์การขายที่ใช้ได้ดีมาตลอด สานีต้องหยุดเดินทันทีเมื่อเห็นป้าย “ซื้อ 1 แถม 1” ของเครื่องดื่มนมผสมงาดำ เนเจอร์อัพสูตรบิวตี้ไซน์ ในบิ๊กซีซูเปอร์มาร์เก็ตย่านราชดำริ พอดูรายละเอียดแล้วยิ่งน่าสนใจใหญ่เพราะไม่ใช่แค่ซื้อกล่องแถมกล่อง แต่แถมเป็นแพ็คเลย แพ็คละ 3 กล่องจัดวางกันเป็นคู่ขาย 36 บาท ประหยัดตั้ง 18 บาท แต่วันนั้นสานีดีใจสุดๆ หยิบมา 4 แพ็ค จ่าย 72 บาท ในใจคิดได้ฟรี 2 แพ็คประหยัดไปตั้ง 36 บาทแน่ะ พอกลับมาถึงบ้านก็จับกล่องเจาะดื่มเลย ปรากฏว่านมรสชาติออกแนวเสียๆ บ้วนทิ้งแทบไม่ทัน เลยต้องตรวจสอบฉลากขนานใหญ่ พบ 2 แพ็คที่ติดมาเป็นของแถมฉลากแสดงวันที่หมดอายุมันผ่านเลยมาแล้วร่วมเดือน จึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ แต่ยังชั่งใจไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการรับทราบ เพราะคิดว่าห้างคงไม่ได้ตั้งใจหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภค ต่อมาอีกวัน ไปที่ห้างเดิมไปซื้อไก่สดมาปรุงอาหาร ยี่ห้อ KCF ของบริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด พอนำกลับมาถึงบ้านเพิ่งสังเกตฉลาก อั๊ยย่ะ หมดอายุไปแล้ว 3 วัน ตัดใจต้องทิ้งลงถังขยะไม่กล้าฝืนใจนำไปทำอาหาร “โอ้ย...ทำไมฉันถึงซวยอย่างนี้”     แนวทางแก้ไขปัญหา   สานีแบกเอาปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสองวันติดกันและเกิดจากห้างเดียวกันมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อเราตรวจสอบข้อเท็จจริงกันแล้วเห็นว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารจะมีการแสดงฉลากของอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 ครบถ้วน แต่การนำมาจำหน่ายหลังวันหมดอายุไปแล้วทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเข้าลักษณะไม่ปลอดภัยในการบริโภค มีสรรพคุณไม่เป็นที่เชื่อถือ หรือมีคุณค่าหรือคุณประโยชน์ต่อร่างกายในระดับที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 25(4) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ได้ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภคโดยตรงและผู้ประกอบการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเจรจาเพื่อพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ผลของการเจรจาห้างบิ๊กซีตกลงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 10,000 บาท ผู้บริโภคยอมรับ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอขอบพระคุณห้างบิ๊กซีที่ใส่ใจในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างจริงใจ และได้นำปัญหาข้อร้องเรียนไปพัฒนาปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป     ต่อเน็ตดีแทคไม่ติด มือถือ ไม่ว่าจะมีของดี มีสรรพคุณเลิศเลอแค่ไหน แต่หากเครือข่ายเจ้าของสัญญาณคุณภาพบริการแย่ ค่าของมือถือก็ตกไปด้วย ซัมซุง กาแลคซี่ เอซ พลัส เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2555 ด้วยราคาเกือบ 9,000 บาท เป็นสมาร์ทโฟนที่มีสรรพคุณล้นหลาม รวมทั้งเล่นอินเตอร์เน็ตได้ พรพรรณซื้อมาใช้เมื่อพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พร้อมกับซื้อซิมดีแทค สมาร์ทโฟนมาใช้กับมือถือ จ่ายรายเดือน 399 บาท เพราะเชื่อฝ่ายขายว่า เร็วและดี เล่นเน็ตได้ไม่จำกัด พรพรรณบอกว่า ได้ซิมมาใช้งานได้ไม่ถึงสิบวัน สัญญาณเครือข่ายเริ่มไม่เสถียร เชื่อมเน็ตไม่ได้บ่อยครั้ง ต้องโทรไปหาคอลเซนเตอร์แจ้งปัญหาและให้แก้ไขอยู่หลายเที่ยว คอลเซนเตอร์ของดีแทคบอกให้นำมือถือไปให้ศูนย์ซัมซุงตรวจสอบก่อน เอาให้ซัมซุงตรวจสอบแล้วก็ยังต่อเน็ตไม่ได้ กลับมาที่ศูนย์ดีแทคจึงได้จัดการเปลี่ยนซิมให้ใหม่ หลังได้ซิมใหม่ดีใจได้ไม่กี่วัน เป็นอีกแล้วอาการเดิม เล่นเน็ตไม่ได้เดี๋ยวโผล่เดี๋ยวหาย จนเมื่อครั้งไปเที่ยวอัมพวากะถ่ายรูปแชร์ให้กระหน่ำซะหน่อย คราวนี้เน็ตหายไปเลยเล่นไม่ได้เลย “เคยจ่ายเงินซื้อเพิ่มไปอีก 150 บาท หวังว่าจะได้ความเร็วความแรงเพิ่มขึ้น ปัญหาสัญญาณเน็ตไม่เสถียรก็ยังเหมือนเดิม” “ไม่รู้ว่าจะต้องเสียค่าโทรไปคอลเซนเตอร์อีกสักกี่ครั้ง และไม่ได้ใช้งานต่อเนื่องมาหลายวัน แต่ต้องจ่ายค่าซิมรายเดือนอีก 399 บาท กับอีก 150 บาทที่ใส่เพิ่มเข้าไป ดิฉันรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากเครือข่ายนี้มากค่ะ” “อยากให้มูลนิธิฯช่วยเหลือเจรจาให้ดีแทคปรับส่วนลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ดิฉันไม่ได้ใช้งานให้ด้วยค่ะ” พรพรรณร้องขอ   แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบ WiFi ของดีแทค ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด โดยบริษัทฯได้จัดทำประกาศ หลักเกณฑ์คุ้มครองผู้ใช้บริการ การรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนไว้ตามกฎหมาย  โดยหากร้องเรียนเป็นหนังสือหรือไปด้วยตนเองติดต่อได้ที่ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด เลขที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 32 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือร้องผ่าน Call Center ให้ใช้เบอร์โทร. 1678 ผู้ร้องเรียนมีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งผู้ร้องเรียนไว้วางใจเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ในการยื่นเรื่องร้องเรียนดีแทคจะไม่คิดค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าใช้จ่าย การที่ผู้บริโภคร้องผ่านมูลนิธิฯ จึงถือได้ว่าผู้บริโภคให้ความไว้วางใจให้มูลนิธิฯ เข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนได้ตลอดเวลา มูลนิธิฯ จึงใช้สิทธินี้ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดเหมือนดั่งรมหายใจที่รดต้นคอดีแทค 14 มิ.ย.56 มูลนิธิฯ โทรติดตามผลการแก้ไขปัญหาที่คอลเซนเตอร์ดีแทค 1678 เจ้าหน้าที่ดีแทคแจ้งว่า ได้ติดต่อผู้ร้องเรียนเพื่อแจ้งผลการดำเนินการ 2 วันติดกัน แต่ผู้ร้องไม่รับสาย เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงแจ้งกับดีแทคว่า สามารถแจ้งความคืบหน้ากับมูลนิธิฯ ในฐานะตัวแทนดำเนินการแทนผู้ร้องได้เลย เจ้าหน้าที่ดีแทคแจ้งว่าขอเวลาอีก 2 วันแล้วจะแจ้งกลับ พอวางสายมูลนิธิฯ ได้โทรกลับไปที่ผู้ร้องถามว่า ดีแทคได้เคยติดต่อมาจริงหรือไม่ ผู้ร้องแจ้งว่าไม่มีการติดต่อใดๆ จากดีแทค เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิฯ จึงโทรติดต่อกลับไปที่ดีแทค 1678 อีกครั้ง แจ้งว่าผู้ร้องยืนยันว่าไม่มีการติดต่อใดๆ จากดีแทค พร้อมทั้งตำหนิที่ดีแทคทำงานล่าช้า ดังนั้น ควรรีบดำเนินการแก้ไข ดังนี้ (1)   ปรับลดค่าบริการ หากตรวจสอบพบว่าไม่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจริง (2)   ปรับปรุงระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้ตามปกติ 18 มิ.ย.56 มูลนิธิฯได้โทรกลับไปที่ดีแทค 1678 เพื่อติดตามผลการแก้ไขปัญหา ได้รับแจ้งว่า ดีแทคได้แก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ (1)   ปรับลดค่าบริการให้เป็นเงินรวม 450 บาท โดยจะทำการลดให้แบบแบ่งจ่ายเดือนละ 150 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นผลให้บิลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเดิมผู้ร้องต้องจ่ายเดือนละ 399 บาทปรับลดเหลือจ่ายเดือนละ 249 บาทรวม 3 เดือน โดยจะเริ่มปรับลดจากรอบบิลของวันที่ 31 ก.ค.56 เป็นงวดแรก (2)   ปรับปรุงระบบสัญญาณให้ผู้ร้องสามารถใช้งานได้ตามปกติและเร็วขึ้น 9 ก.ค.56 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรสอบถามผู้ร้องถึงผลการใช้อินเทอร์เน็ต ได้รับแจ้งว่า สัญญาณโอเค เร็ว และสามารถใช้งานได้เป็นปกติ ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ไหน และเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีปัญหาการเชื่อมต่อไม่ได้แล้ว     ปีนต้นยางโทรมือถือ ช่วยหน่อยครับเดือดร้อนจริงๆ คุณสัญชัยร้องเรียนมาว่า ตัวเองและคนทั้งหมู่บ้านใช้วันทูคอลของเอไอเอสเพราะเชื่อว่าเป็นข่ายมือถือที่มีสัญญาณแรงที่สุดไปถึงท้องที่ถิ่นทุรกันดาร แต่ที่บ้านหนองตำเสา หมู่ 5 ต.ที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ช่างเป็นพื้นที่อาภัพอับสัญญาณมือถือสุดๆ ตลอดวันตลอดเวลาพื้นที่แห่งนี้มีขีดสัญญาณขึ้นมาแค่ขีดเดียว “ถ้าจะโทรสักครั้งต้องขึ้นโทรบนต้นยางพารา ไม่งั้นก็ขึ้นควน(เนินเขา) แถวนั้นอับสัญญาณขอร้องละครับ ท่านผู้บริหารทุกท่าน” คุณสัญชัยได้ร้องเรียนปัญหานี้ไปที่เอไอเอสตั้งแค่ปลายปี 2553 ซึ่งเจ้าหน้าที่เอไอเอสก็ต้อนรับขับสู้ด้วยดีมาโดยตลอด ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในพื้นที่ พบว่าพื้นที่นี้เป็นจุดบอดสัญญาณทั่วทั้งหมู่บ้าน และจะแก้ไขปัญหาด้วยการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มในหมู่บ้าน แต่ก็ติดขัดเรื่องพื้นที่ๆ จะใช้ติดตั้งเสา ปัญหาดังกล่าวก็ติดขัดมาเรื่อย จนคุณสัญชัยบอกว่าร้องมาร่วม 3 ปีแล้วปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ถึงปี 2555 จึงร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา เดือนกรกฎาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือประสานไปที่ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนของเอไอเอสและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่อมาได้รับคำชี้แจงจากเอไอเอสว่า ได้ส่งหน่วยสำรวจไปพื้นที่ที่ได้รับแจ้งแล้ว ทำให้ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ใช้เอไอเอสเฉพาะหมู่บ้านนี้เท่านั้น และกรณีร้องเรียนเรื่องไม่มีสัญญาณมือถือมีเข้ามาค่อนข้างมาก ดังนั้นเวลาผู้ใหญ่ของเอไอเอสจะพิจารณาแก้ไขปัญหา จึงมีเงื่อนไขเรื่องความคุ้มทุนด้วยนอกเหนือจากการจัดลำดับก่อนหลังของเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา กรณีนี้อาจใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯได้แย้งว่า ในการที่เอไอเอสขายบริการให้ลูกค้า แม้ว่าลูกค้าจะมีเพียงจำนวนน้อย แต่เอไอเอสต้องรับผิดชอบในการขาย โดยการเปิดให้ลูกค้าสามารถใช้งานมือถือได้ตามปกติ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของเอไอเอสแจ้งว่า ตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแต่แนะนำว่า ให้มูลนิธิฯ ส่งหนังสือทวงถามไปที่เอไอเอสอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ใหญ่ของเอไอเอสเห็นว่าไม่ได้ทิ้งกรณีนี้และเป็นการกดดันอีกครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ 2556 มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้อีกครั้ง และหลังจากนั้นได้โทรติดตามความคืบหน้าเรื่อยมาจนได้รับทราบความคืบหน้าอีกครั้งว่า เหตุที่สัญญาณมือถืออ่อนในบริเวณหมู่บ้านดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา สวนยางพาราหนาแน่น และบ้านเรือนอยู่กระจายตามพื้นที่สวนยางพารา บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับทิศทางสายอากาศและปรับกำลังส่งให้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมการใช้งาน บริษัทฯ จึงพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยการติดตั้งอุปกรณ์เสาสัญญาณเพิ่มเติม ซึ่งเอไอเอสได้ทำการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อยในเดือนมิถุนายน 2556 เดือนกรกฎาคม 2556 มูลนิธิฯ โทรสอบถามไปที่คุณสัญชัย ได้รับแจ้งว่า มือถือสามารถใช้งานได้ตามปกติ สัญญาณเต็ม  ไม่ต้องปีนต้นยางโทรกันอีกแล้ว รวมเวลาการร้องเรียนทั้งของผู้บริโภคและของมูลนิธิฯ กว่าจะได้เสาสัญญาณมือถือ 1 ต้นจากเอไอเอสใช้เวลาร่วม 3 ปี เหนื่อย...ไม่เบา  

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 148 ซื้อประกันสุขภาพ แค่ป่วยครั้งเดียว ถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในด้านทั้งการคุมกำเนิด  การสาธารณสุข  จนส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดลง   และผู้สูงอายุ   อายุยืนมากขึ้น  จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เติบโตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการประกันสุขภาพ  เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นเหมือนกันว่ามีการโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจประกันสุขภาพมากมาย  โดยแต่ละบริษัทออกแบบโฆษณาเพื่อเรียกลูกค้ากันแบบหมัดต่อหมัด เช่น ประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจสุขภาพ  วงเงินที่จะได้รับสูงขึ้น  มีการกำหนดเวลา  หากไม่เป็นโรคคืนเงินปีสุดท้าย  เป็นต้น ฟังแล้วก็ดีนะ! ประกันไว้เมื่อเจ็บป่วยจะได้ไม่เดือดร้อนลูกหลาน   แต่เรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น   มีกรณีร้องเรียนการประกันสุขภาพเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในภาคตะวันตก หลายเรื่องและเรื่องร้องเรียนคล้ายๆ กันคือ   ตอนจะซื้อประกันสะดวกมาก สามารถซื้อติดต่อกันได้ในหลายปี(หากยังไม่ป่วย)เหตุจะเกิดต่อเมื่อผู้ซื้อประกันเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัว(ซึ่งผู้สูงอายุเมื่ออายุสูงขึ้นก็ต้องป่วยมากขึ้น)และเมื่อเจ็บป่วยบริษัทประกันก็บริการจ่ายสินไหมค่ารักษาดีตามที่สัญญากำหนด  แต่... เหตุเกิดหลังจากนั้นคือ  หลังจากบริษัทจ่ายเงินค่ารักษาแล้ว ก็ตามมาด้วยเอกสารขอเลิกสัญญาการเอาประกันของผู้ซื้อประกัน  พร้อมข้อเสนอขอคืนเงินต้นที่ซื้อประกันในปีนั้นให้ทั้งหมด  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน   ทำให้ผู้ซื้อประกันมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  เพราะจ่ายเงินซื้อประกันไปฟรีๆหลายปีเพื่อต้องการการคุ้มครองยามเจ็บป่วย กลับถูกบอกเลิกสัญญา ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ “ป้าประเทือง  พูลทั่วญาติ”  ก่อนจะคุยกันรู้เรื่องก็ได้เหนื่อย...กันเลยที่เดียว  คำพูดหนึ่งที่ป้าประเทืองพูดซ้ำหลายครั้งคือ  “ตอนนี้ใครมาชวนฉันซื้อประกัน ฉันจะด่ามันให้เจ๊ง..เลย.. ไม่เอาอีกแล้วประกันเนี่ย..มันเอาเปรียบ..ทีเงินเรามันจะเอา พอมันจะเสีย เสือก...บอกเลิกสัญญา” ดังนั้นเมื่อปัญหาคือบริษัทบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เอาประกันเริ่มเจ็บป่วย..    มันไม่น่าจะเป็นธรรม จึงลองหาข้อมูล  โดยโทรไปที่สายด่วน คปพ.(คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) 1186   ก็ได้ข้อมูลมาว่า   การที่บริษัท บอกเลิกสัญญา กับผู้เอาประกันนั้น  ไม่ผิด บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อประกันได้ ทันทีที่บริษัทเห็นว่า “จะเกิดความเสี่ยงกับบริษัท”   โดยข้อกำหนดนี้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไป เขียนถึงตรงนี้ยิ่งรู้สึกรันทดใจ กับผู้ที่มาร้องเรียน   เพราะการโฆษณาไม่ได้บอกเหตุผลในการบอกเลิกสัญญา(มันผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค  คือผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน) แต่ปัจจุบัน  มีแต่การโฆษณาชักจูง เพียงอย่างเดียว  เรื่องนี้ผู้เขียนได้หารือนอกรอบกับเลขา สคบ.คนปัจจุบัน  ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง      ว่าการทำสัญญาในลักษณะนี้   เข้าข่ายสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่  ทำอย่างไรผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอกลวงเช่นปัจจุบัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 148 เสียงผู้บริโภค

ไฟใต้ดับ เหตุสุดวิสัยหรือไร้ประสิทธิภาพ ไฟฟ้าดับเมื่อค่ำคืนของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ ครบถ้วนทั้ง 14 จังหวัด ในค่ำคืนนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยทางภาคใต้ต้องตระหนกอกสั่นกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสี่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดโดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุ หลายคนคิดเลิยเถิดว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของผู้ไม่หวังดีเลยทีเดียว วันรุ่งขึ้น 22 พฤษภาคม 2556 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยเป็นทางการว่า เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้   ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สายส่ง 500 KV จำนวน 2 เส้น และสายส่ง 230 KV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. 2556 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50 Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา 23.00 น. ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีผลสรุปออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้พยายามควบคุมการจ่ายไฟตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับสาเหตุสรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นก็เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือประมาณ 5.2 วินาที ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอน ขณะที่นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การเกิดไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าของมาเลเซียมาชดเชยชั่วคราว 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 13 ล้านบาทนั้น ต้องกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับแทน โดยจะมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.2556) ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์ยังเหลือเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากหลายส่วนในหลายกรณีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาเกลี่ยเป็นค่าเอฟทีของประชาชนในงวดหน้าทั้งหมด จบข่าว.   ข้อค้นพบและข้อสังเกต แม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงานจะมีผลสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (สื่อบางสำนักบอกว่า เป็นผลสรุปที่เป็นไปตามคาด) แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อค้นพบและข้อสังเกตว่าปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับทั่วทั้งภาคอาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่จะเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการในการผลิตและการส่งไฟฟ้าหรือไม่นั้น ชวนมาร่วมพิจารณากัน   สถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้า...ยืนยันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาค ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของภาคใต้ ทั้งจากเว็บไซต์ของ กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงงาน และการยืนยันข้อมูลจาก อ.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการที่ติดตามด้านกิจการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีทั้งหมด 2,494 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง 600 เมกะวัตต์ และจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงขึ้น โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองทั้งหมด 3,394 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,424 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เมื่อเวลา 19.30 น.   แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้จะมีปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามที่กล่าวมา แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขและต้นทุนที่ประชาชนจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าฐาน เพราะจากการรายงานของส่วนประชาสัมพันธ์ กฟผ. ผ่านเฟสบุ๊ค GG News และเอกสารประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ กฟผ. ได้ให้รายละเอียดถึงโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาของสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงไปอย่างมากจนอยู่สถานะที่ไม่มั่นคง โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือมีกำลังผลิตพร้อมจ่ายเพียง 1,662.2 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 67 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดของภาคใต้ และเมื่อมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของภาคใต้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 – 2,400 เมกะวัตต์ กฟผ. แก้ปัญหาด้วยการรับไฟฟ้าจากภาคกลางและจากมาเลเซียมาเสริม โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับได้รับไฟฟ้าจากภาคกลาง 430 เมกะวัตต์ และรับจากมาเลเซียเพียง 30 เมกะวัตต์  รายละเอียดของโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและนอกแผน รวมทั้งปัญหาระบบสายส่งจากมาเลเซีย มีดังนี้ 2.1            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ปลดเครื่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 13 มิ.ย. 56 กำลังไฟฟ้าที่ผลิตไม่ได้ 100 เมกะวัตต์ 2.2            โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ปลดเครื่องออกจากระบบเพื่อทำการบำรุงรักษาตามแผน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. - 25 พ.ค. 56 กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 340 เมกะวัตต์ 2.3            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ฯ ได้ปลดเครื่องออกจากระบบส่วนหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงรักษาฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 เป็นต้นมา (ก่อนเกิดเหตุไฟดับเพียง 2 วัน)ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปราว 100 เมกะวัตต์ 2.4            โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา  จำนวน 1 หน่วยจาก 3 หน่วย ไม่พร้อมเดินเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 56 ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 24 เมกะวัตต์ 2.5            การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียผ่าน HVDC 300 เมกะวัต์และ HVAC 85 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับเต็มที่ 385 MW ตามที่ทำสัญญาฯ โดยรับ-ส่งเพียงพลังไฟฟ้าขั้นต่ำคือ HVDC 30 MW เท่านั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว GG News ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจาก TNB หรือการไฟฟ้ามาเลเซีย แจ้ง Shortfall (กำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายไม่พอ) หรือไม่พร้อมขายให้ไทย… 2.6            รายงานของ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพียงแค่ 20.2 เมกะวัตต์เท่านั้น  โดยไม่ให้รายละเอียดว่า เหตุใดจึงไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 128 เมกะวัตต์ เข้ามาใส่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้   เมื่อสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ขาดความมั่นคง โดยสาเหตุหลักใหญ่มาจากมีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมเป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวมาในข้อ 2 ดังนั้น การถ่ายเทไฟฟ้าจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้โดยอาศัยสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงระบบสายส่งจาก 115 กิโลโวลต์เป็น 230 กิโลโวลต์ และเพิ่มสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) เข้ามาอีก 2 เส้น เพื่อให้สามารถถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าภาคกลาง-ภาคใต้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้  ดังนั้น การปลดและซ่อมสายส่งที่ลงสู่ภาคใต้ขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) จำนวน 1 เส้น ในช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเส้นใหญ่ที่เหลืออยู่โดยไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ นับว่าเป็นการปฏิบัติการที่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้ 3.1            เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเคยมีการเผาหรือวางระเบิดระบบสายส่งเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง 3.2            เคยมีประวัติเกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2555 เกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เป็น Forced Outage (สายส่งหลุดออกจากระบบ) รวม 73 ครั้ง โดยเป็นเหตุขัดข้องจากสายส่ง 14 ครั้ง 3.3            ที่ภาคใต้มีประวัติเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับใหญ่มาแล้ว จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 15.56 น. เกิดเหตุการณ์ Partial Blackout (ไฟดับทั่วทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค) ที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมมีไฟดับทั้งหมด 641.4 เมกะวัตต์ นานที่สุด 26 นาที 3.4            แม้จะมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์เหลืออยู่ 1 เส้น และมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์เป็นตัวช่วย แต่สายส่งไฟฟ้าเส้นรองลงมานี้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาแรงดันที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งไฟฟ้าที่ป้อนสู่ภาคใต้ในวันที่เกิดเหตุก็สูงกว่าคืออยู่ที่ 430-470 เมกะวัตต์ เมื่อจะมีการซ่อมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภาคกลางและอาจทำให้ต้องลดกำลังส่งไฟฟ้าลงมาเพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่งไฟฟ้า เหตุใด กฟผ. จึงไม่มีการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น กลับยังคงใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซียเพียงแค่ 30 เมกะวัตต์ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เรื่องนี้การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่กระจ่าง  จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า 2 จุดด้วยกัน 4.1            ระบบส่งเชื่อมโยง HVAC จำนวน 85 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายตกลงทำข้อเสนอราคาขายไฟฟ้าล่วงหน้าเดือนต่อเดือนที่ 3 ระดับราคา คือ Price A (ราคาต่ำ) Price B (ราคาปานกลาง) และ Price C (ราคาสูง) ในช่วงที่เกิดเหตุ กฟผ. ไม่ได้ใช้จาก HVAC เลย 4.2            ระบบเชื่อมโยง HVDC ปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในลักษณะ Bulk Energy โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าคิดเป็น Tier ในปริมาณ Tier ละ 25-30 ล้านหน่วย โดยจะมีราคาลดหลั่นลงตามลำดับ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณมากมีราคาเฉลี่ยถูกลง แต่ปัจจุบันรวมถึงตอนที่จะปลดสายส่งเพื่อซ่อมบำรุงในวันที่เกิดเหตุ กฟผ. กลับรับซื้อเพียง 30 เมกะวัตต์เท่านั้น และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาค กฟผ. ต้องย้อนกลับไปขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอย่างฉุกเฉินทำให้ถูกคิดค่าไฟที่ราคาแพงมาก (บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 16 บาท/หน่วย)   บทสรุป แม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีบทสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะเรกูเลเตอร์ แต่ข้อค้นพบและข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าบทสรุปดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึง ความบกพร่องในการซ่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเส้นหลักภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งจากมนุษย์หรือจากธรรมชาติเลย  อีกทั้งยังชี้ให้เห็นจุดโหว่ในการจัดการปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคหรือทั้งประเทศอย่างเด่นชัด ว่ายังมีความบกพร่องอยู่มากและห่างไกลจากการกล่าวอ้างในโฆษณาประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก  ปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วพยายามไปแก้ไขด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ภาคใต้ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเหลือแต่หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคหรือทั้งประเทศก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ไม่ยากเย็นนัก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 147 ซีพี ควบรวมกิจการ เพิ่มหรือปิดทางเลือกของผู้บริโภค

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้เรื่องที่เครือ CP เข้าซื้อ และควบรวมกิจการค้าส่งห้างแมคโคร   เรียบร้อยโรงเรียน CP ไปแล้ว   เขียนถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่า “แล้วไงอ่ะ?” ก็เขามีตังค์ซื้อ   มองอย่างนั้นก็ใช่นะ!  แต่ถ้ามองมุมของผู้บริโภค  ก็มีความน่ากังวลและน่าสะพรึงกลัว อยู่หลายเรื่อง   โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดธุรกิจด้านอาหาร  เพราะเราๆ ท่านๆ ก็คงได้เห็นสถานการณ์  ที่ร้านสะดวกซื้อ แทรกซึมเข้าไปในทุกชุมชนด้วยทุนที่เหนือกว่า  ซึ่งได้สร้างโศกนาฏกรรม    การฆ่าตัดตอนธุรกิจโชว์ห่วย  และร้านอาหารตามสั่ง ไม่เว้นแม้แต่ร้าน “หมูปิ้ง” ที่เขียนอย่างนี้มีหลักฐานยืนยัน เพราะผู้เขียนลงพื้นที่และเข้าไปพูดคุยกับร้านโชว์ห่วยที่อยู่ติดกับร้านสะดวกซื้อตรงทางเข้าดอนหอยหลอด  เขาบอกเลยว่าของในร้านขายไม่ได้เลย  ต้องเก็บไปคืนร้านค้าในเมืองหมด  จากร้านโชว์ห่วยต้องเปลี่ยนมาทำกับข้าวใส่ถุงขายเพื่อประทังชีวิต   ซึ่งก็ยังขายยาก  เพราะในร้านสะดวกซื้อมีหมดตั้งแต่ข้าวผัดกะเพรา  ข้าวผัดแหนม   ไม่เว้นแม้แต่ “หมูปิ้ง” ฯลฯ  ดังนั้นไม่ว่าชาวบ้านจะขายอะไรก็ขายยาก เรียกว่า ธุรกิจเล็กๆ ในชุมชน  “ตายยกรัง”   เราคงได้ยินเสมอว่า  ธุรกิจที่เป็นธรรมและสมดุล ต้องทำให้เกิดการ แข่งขันอย่างเสรี     ซึ่งก็ไม่เถียง  แต่ให้ “เด็กอนุบาล” มาแข่งขันกับ “นักกีฬาทีมชาติ” ยังไม่เริ่มแข่งก็เห็นผลแล้ว   แต่กรรมการในฐานะผู้บริหารประเทศ    กลับปล่อยให้ทุนใหญ่ด้านอาหาร ที่มีทุนหนากว่ามีโอกาสมากกว่าโชว์ห่วยในชุมชนกลับนิ่งเฉย   พร้อมส่งเสียงว่า  เราสนับสนุนการแข่งขัน ซึ่งพฤติกรรมของทุนใหญ่ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้โหดเหี้ยม  มุ่งกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมใดๆ   ปิดทางทำมาหากินของชุมชนทุกช่องทาง  เพื่อให้ธุรกิจตนเองเติบโตและสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจในเครือข่ายของตน(ที่มีอยู่ตาย แล้วเกิดใหม่ 10 ครั้งก็กินไม่หมด) เหมือนกรรมการหลิ่วตาให้ผู้ใหญ่รังแกเด็ก  ซึ่งสิ่งที่เห็นคือธุรกิจชุมชนตายสนิท จึงต้องมีคำถามให้เราๆ ท่านๆ ได้คิดกันว่า  หากองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล นิ่งเฉย  ปล่อยให้ทุนใหญ่ไล่ล่า  ไล่ฆ่าธุรกิจชุมชนต่อไปอย่างนี้   เมื่อธุรกิจชุมชนล่มสลาย   ช่องทางที่เป็นทางเลือกของผู้บริโภคก็ต้องน้อยลง   และเมื่อทุนใหญ่ก็ครองเมือง  แม้ว่าเราจะอยากซื้อหรือไม่อยากซื้อสินค้าของทุนใหญ่ สุดท้าย เราก็ต้องซื้อ  “เพราะไม่มีทางเลือก” เราจะปล่อยให้ประเทศไทยถูกควบกิจการโดยทุนใหญ่โดยไม่คิดจะทำอะไรกันบ้าง? เลยหรือ.....(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 147 เสียงผู้บริโภค

แอร์การ์ดทรู เรียกเก็บค่าบริการไม่เป็นธรรม เรื่องมีอยู่ว่า...เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ผมเดินทางไปเชียงใหม่ จำเป็นต้องส่งข่าวกลับ กทม.ผมจึงซื้อแอร์การ์ดของทรูมาใช้ในราคา 990 บาท ตอนซื้อมานึกว่าจะใช้ได้เลย ก็กลับใช้ไม่ได้ทันที โดยต้องสมัครอะไรไม่รู้วุ่นวาย จากนั้น Call Center 1331 แนะนำว่าถ้าจะใช้งานทันที ต้องสมัครแบบคิดค่าบริการรายเดือน..ผมต้องการรีบส่งข่าวก็เลยยอม เวลาผ่านไปการใช้งานแอร์การ์ด ก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง..โดยวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ผมโทรไป 1331 อีกครั้ง เพื่อถามว่า..จะขอยกเลิกบริการต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่บอกว่า..โปรโมชั่นจากยอด 990 ที่ซื้อมาสามารถใช้ได้ถึงเดือนมิถุนายน โดยถ้าไม่ใช้ก็ไม่มีค่าบริการ ซึ่งผมก็คิดว่า..ใกล้ๆ เดือนมิถุนายนค่อยไปยกเลิกก็ยังทัน ปรากฏว่าเดือนมีนาคมมีบิลมาเรียกเก็บค่าบริการ 4 ร้อยกว่าบาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้แอร์การ์ดเลยตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ผมโทรไป 1331 สอบถาม ได้คำตอบว่า...ค่าใช้จ่ายมีเดินทุกเดือน แต่ที่ไม่ส่งบิลมาให้ เพราะจะใช้วิธีหักจากยอด 990 บาทให้หมดก่อน เมื่อยอดเกินค่อยส่งใบเรียกเก็บ กรณีนี้..ทรูส่อพฤติกรรมซุ่มเงียบตีกินโดยไม่รู้ตัว เพราะถ้าส่งใบเสร็จมาให้ตั้งแต่เดือนธันวาคมหรือมกราคม ถึงแม้จะเป็นยอดที่หักจาก 990 บาท ก็ควรส่งใบเรียกเก็บทุกเดือนให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่ามีค่าใช้บริการเดินอยู่ เพราะอย่างน้อยถ้ามีการเรียกเก็บเงินตั้งแต่แรกผมก็จะได้ไปดำเนินการปิดบริการตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว   หลังจากนั้น..ผมพยายามติดต่อทั้งทาง 1331 ทั้งทางเว็บไซต์ เพื่อขอฟังเทปสนทนาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ถ้าผมผิดจริงก็ยินดีจ่ายให้ แต่ถ้าพนักงานแนะนำไม่ให้ปิดบริการจริง ทางทรูก็ต้องรับผิดชอบโดยไม่คิดค่าบริการส่วนเกินที่เรียกเก็บ..ก็เท่านั้น ซึ่งระหว่างหาเทปสนทนามายืนยันไม่ได้ ผมก็ขอให้ทรูระงับค่าบริการไม่ให้เดินหน้าต่อไปอีก ซึ่งคำตอบก็คือ..ต้องจ่ายค่าบริการที่ค้างอยู่ก่อนจึงจะปิดบริการได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตอบได้แค่เบสิกพื้นฐานตามระเบียบอย่างเดียว แล้วถ้าผมยอมจ่ายส่วนเกินที่ไม่เป็นธรรมแล้วให้ปิดบริการ ก็เท่ากับผมยอมรับยอดเงินส่วนเกินอย่างงั้นเหรอ..มันไม่ถูกต้อง ถึงจะไม่กี่ร้อยบาท แต่ถ้าลูกค้าเจอแบบนี้เข้าไปหลายๆ ราย..จะเป็นเงินเท่าไหร่(เคยตัว) จนป่านนี้..ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับตัดสินใจได้หรือแก้ปัญหาเป็น มาแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ คงปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปเรื่อยๆ..ถ้าเดาไม่ผิด เพื่อจะเอาค่าบริการที่ยังเดินอยู่นั่นเอง   แนวทางแก้ไขปัญหา หลักการในการแก้ไขปัญหาสำหรับคนที่เจอปัญหาการบอกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคมในลักษณะเดียวกันนี้... เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะใช้บริการอีกต่อไป และไม่มีค่าบริการติดค้างกันอยู่ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะบอกเลิกการใช้บริการได้ทุกเมื่อ ส่วนใหญ่มักจะถูกสาวคอลเซนเตอร์หรือพนักงานบริการปฏิเสธไว้ก่อนว่าบอกเลิกไม่ได้ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคมที่ดีที่สุดคือ การบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรส่งไปถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการ แล้วเก็บรายละเอียดการบอกเลิกสัญญาไว้เป็นหลักฐาน หากผู้ให้บริการยังมาเรียกเก็บอีก ผู้บริโภคอาจจะเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ โทษฐานเบาะๆ คือ การก่อความเดือดร้อนรบกวนรำคาญ แต่หากระหว่างการบอกเลิกสัญญากันนั้น หลังจากที่ได้หักค่าบริการที่ได้ใช้บริการกันไปแล้ว ยังมีค่าบริการเหลืออยู่ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการคืนค่าบริการที่เหลืออยู่ได้อีกด้วย นอกจากปัญหาทำนองนี้แล้ว ปัญหาในบริการของทรูที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิฯ จนเป็นเรื่องร้องเรียนที่ซ้ำซากเอามากๆ คือ ซิมทรูมูฟแจกฟรี แล้วมาลักไก่เก็บค่าบริการรายเดือนในภายหลัง เมื่อผู้บริโภคเจอปัญหาแบบนี้คำตอบเดียวคือ ไม่ต้องจ่ายเงินครับ และให้มีหนังสือแจ้งไปที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูด้วยตัวเองได้เลย ทางจดหมาย (Mail) ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเลขที่ 1252 ชั้น 14 อาคารทรูทาวเวอร์2 ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม.10250 ทางโทรศัพท์ (Call Center) (ไม่คิดค่าบริการ) ผ่านเลขหมาย 0-2900-8088 เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 08.00น.-20.00น. ไม่มีเวลาพัก ทางโทรสาร (Fax) (คิดอัตราค่าใช้จ่ายตามอัตราปกติ) ผ่านเลขหมาย 0-2699-4338 ทางจดหมายอิเลคทรอนิคส์ (Email) Email Address: voc@truecorp.co.th ทางเว็บไซต์ (Website) www.trueinternet.co.th ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายถูกกำหนดขึ้นตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง “กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่อง ร้องเรียนของผู้ใช้บริการ” ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2549 ได้กำหนดไว้ในข้อ 20 บทเฉพาะกาลว่า “ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีหลักเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน...” และในข้อ 15 วรรคหนึ่งได้ระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นแยกออกจากหน่วยงาน ตอบคำถามหรือข้อสงสัยทั่วไป เพื่อทำหน้าที่ดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน” และในวรรคที่ 2 ระบุต่อว่า “การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตอาจดำเนินการด้วยตัวเองหรือจัดจ้างให้บุคคลอื่นดำเนินการ โดยผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายอาจร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นเพื่อทำหน้าที่ก็ได้…”           แฟนท้อง อยากจะขอเลิกสัญญาฟิตเนส แฟนเล่นฟิตเนสครบปีและเพิ่งต่อสัญญาเมื่อเดือนมกราคม ในสัญญาลงไว้ 12 เดือน ถ้าจะ dropต้องเสีย ทุกเดือน 20% หรือประมาณ 400 บาทตอนนี้แฟนผมท้อง จึงจะขอยกเลิกสัญญา เพราะคิดว่าไม่ได้ไปใช้บริการเพราะไม่จำเป็นทำไมต้องเสียเงินอีก ไม่ทราบยกเลิกสัญญาได้ไหมครับ แล้วต้องทำอย่างไรถึงไม่โดนหักบัตรเครดิตต่อ ขอบคุณครับ   แนวทางแก้ไขปัญหา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. ๒๕๕๔  มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หมายความว่า หากข้อความในสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนขัดต่อประกาศฉบับนี้ให้ถือว่าข้อความในสัญญานั้นไม่มีผลทางกฎหมาย และหากสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนไม่มีข้อความตามประกาศฉบับนี้ ก็ให้ถือว่าสัญญาของฟิตเนสนั้น มีข้อความหรือข้อสัญญาตามที่ประกาศได้กำหนดไว้โดยอัตโนมัติทันที แม้มิได้มีข้อความปรากฏอยู่ในสัญญาฉบับนั้นก็ตาม   “ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกาย” ตามประกาศฉบับนี้ หมายความว่า ธุรกิจให้บริการ ใช้สถานที่ และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจทำสัญญาให้บริการ ออกกำลังกายกับผู้บริโภคให้เป็นสมาชิก แต่ไม่หมายความรวมถึงธุรกิจให้บริการเฉพาะโยคะ ศิลปะการป้องกันตัว และกีฬา ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้   (1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่ของสถานที่ให้บริการออกกำลังกาย จำนวนประเภทและจำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการให้บริการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิพึงได้รับตามสัญญา (2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากสมาชิก เช่น ค่าใช้ บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ค่าธรรมเนียม เป็นต้น เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้น และสิ้นสุดการเป็นสมาชิก (3) การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุเหตุในเรื่องนั้น ๆ ไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำหรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่การผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ดังนี้ (ไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า) (ก) กระทำการอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา (ข) มีพฤติกรรมรบกวนการใช้บริการของสมาชิกอื่น (ค) เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภค ไว้เพียง 3 กรณี คือ (1) ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกาย หรือบริการอื่น ๆ ตาม (1) หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่องหรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ เมื่อเทียบกับ จำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้น ๆ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง (2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ (3) ได้รับการบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่าชำรุดบกพร่อง ดังนั้น จากคำถามที่ถามมา ภรรยาตั้งครรภ์หรือการมีปัญหาทางด้านสุขภาพ จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อมีหลักฐานใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการฟิตเนสต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ ไปแสดงประกอบการบอกเลิกสัญญา ในกรณีที่ผู้บริโภคชำระค่าสมาชิกและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยบัตรเครดิต ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องแจ้งระงับการเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตทันทีเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง   คำบอกกล่าวในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคให้ทำเป็นจดหมายส่งถึงผู้ให้บริการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นดีที่สุดครับ             ยกเลิกคอร์สทำหน้าแล้ว แต่บัตรเครดิตยังเรียกเก็บเงิน ขอความกรุณาช่วยแนะนำด้วยค่ะ ได้ทำเรื่องยกเลิกคอร์สทำหน้ากับคลินิกแห่งหนึ่ง(ยังไม่เคยไปใช้บริการเลยค่ะ) จ่ายไปจำนวนเงิน 30,000 บาทเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ทางเจ้าหน้าที่ของคลินิกได้ออกเอกสารทำเรื่องคืนเงินเข้าบัตรมาให้ 2 ฉบับและดิฉันได้ไปทำเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงินพร้อมกับแนบเอกสารที่คลินิกออกให้กับดิฉันให้ทางธนาคารด้วย  แต่พอใกล้ ๆ สิ้นเดือนตุลาคม มีจดหมายใบแจ้งหนี้ยอดบัตรเครดิตส่งมาให้ โทรสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็ได้รับคำตอบว่าในระหว่างดำเนินการตรวจสอบยอดจำนวนเงินที่ขอปฏิเสธการชำระไว้ ดิฉันต้องจ่ายเงินที่รูดไปให้กับทางธนาคารก่อน  ระยะเวลาในการตรวจสอบอาจนานถึง 120 วัน ดิฉันอยากจะถามว่าทำไมต้องตรวจสอบนานมากขนาดนั้นด้วยคะ ทั้ง ๆ ที่ดิฉันก็มีเอกสารที่ทางร้านค้าให้เป็นหลักฐานในการคืนเงินเข้าบัตรเครดิตแล้ว แล้วถ้าเกิดว่าทางร้านค้าไม่ยอมคืนเงินให้ดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้าง โทรไปสอบถามกับทางธนาคารหลายทีแล้วว่าเรื่องได้ดำเนินการไปถึงไหนแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์เลยค่ะ ดูเหมือนทางธนาคารจะไม่สนใจไม่ยอมช่วยเหลืออะไรดิฉันเลย กลุ้มใจมากค่ะ อยากขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำด้วยนะคะ   แนวทางแก้ไขปัญหา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ในกรณีที่มีการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการผ่านทางบัตรเครดิต แล้วผู้บริโภคเกิดเปลี่ยนใจไม่ต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการนั้นอีกต่อไปและทางผู้ให้บริการยินดียกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยไม่มีเงื่อนไข จึงถือว่าผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการอีกต่อไป ประกาศฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองกับผู้บริโภคในกรณีดังกล่าว ด้วยการบังคับให้บัตรเครดิตต้องมีข้อสัญญาว่า ถ้าผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการ จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้วจะคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลัง ดังนั้น เมื่อผู้บริโภคได้ทักท้วงไปยังธนาคารที่ออกบัตรเครดิตว่า ไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการจากทางคลินิกแล้ว เมื่อธนาคารรับทราบแล้ว จะต้องปฏิบัติตามสัญญาควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วก็จะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีเช่นกัน หากมิได้ดำเนินการโดยทันที ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากธนาคารได้ โดยอาจเทียบเคียงจากเบี้ยปรับการชำระเงินล่าช้าที่ธนาคารเรียกเก็บก็ได้ นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าว ยังให้ความคุ้มครองในสิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการอีกด้วย ด้วยการออกข้อบังคับให้สัญญาบัตรเครดิตต้องมีเงื่อนไขที่จะไม่ตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ในกรณีที่มีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลาหรือได้รับแล้วแต่ไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์โดยผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง     ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว? วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาล บนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุก โครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ “ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอก แต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น โครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย วันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง “เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน “ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย “บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ” “ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ “ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบ เมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คน คำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น   แนวทางแก้ไขปัญหา ดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควร นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย นอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาท และระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 146 มันมาในรูปของ sms

  มีเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกส่ง sms มารบกวน และต้องจ่ายค่าบริการเยอะมาก  และที่มากไปกว่านั้นยังมีการโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคสมัครเข้ามารับบริการ เช่น หากสนใจกดหมายเลข .... แต่ไม่มีการให้ข้อมูลว่าหากต้องการยกเลิกจะกดอะไร ? ได้บ้าง  สิ่งที่เห็นคือเมื่อสมัครไปแล้วต้องการยกเลิกแทบไม่มีช่องให้ทำได้  หรือทำได้ก็มีการกำหนดขั้นตอนให้ยุ่งยากซับซ้อน ยากลำบากในการใช้สิทธิขอเลิกใช้บริการ ซึ่งอาจคาดเดาว่านี่คงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อให้ผู้บริโภคเบื่อหน่าย และยอมจ่ายเงินไปเรื่อยๆ   องค์กรที่กำกับดูแล ก็เหมือนไม่ใยดีกับปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แถมองค์กรกำกับของเรายังมีพฤติกรรมคล้ายๆ กรรมการห้ามมวยปล้ำที่มักเอนเอียงไปทางด้านผู้ประกอบการซะอีก  ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายมีพฤติกรรมแบบว่า ออกแนว ขี้โกงสารพัด  มากกว่าจะยึดกติกาที่เป็นธรรม(ที่กสทช.กำหนดขึ้นมาเองแต่ไม่บังคับใช้)   หากประเทศไทยก้าวเข้าสู่การบริการ 3G เต็มรูปแบบ และองค์กรกำกับยังเป็นอย่างนี้   เราคงต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป   ที่กล่าวมาข้างต้นคงสื่อให้เห็นปัญหากันบ้างแล้ว    สาเหตุของปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน   หากนำปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาสังเคราะห์ อาจจะทำให้เห็นภาพของต้นเหตุได้ชัดเจนพอสมควร   เช่น กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า  ต้องการยกเลิกข้อมูลที่ส่งมาแล้วถูกเก็บเงินโดยไม่เคยเปิดใช้บริการ  คำตอบที่ได้มาชวนให้คิดต่อได้มาก  คือ บริการเสริมเหล่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแต่เป็นบริการเสริมจากผู้ประกอบการรายอื่น(contantprovider) คำตอบนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหกคำโตกันแน่?     เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนคือ   ผู้ให้บริการเสริมไม่ได้มาเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรง  แต่เป็นการจ่ายผ่านระบบบริการ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือนของทั้ง  เอไอเอส,ดีแทค,และทรู   “ทั้ง 3 ผู้ประกอบการได้นำเลขหมายที่ขายให้ผู้บริโภคแล้ว ไปขายให้กับผู้ให้บริการเสริมเพื่อให้ได้กำไรหลายต่อหรือไม่?” เพราะหากเป็นเรื่องจริง ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข  กสทช.ต้องไม่ปล่อยให้บริษัทผู้ประกอบการนำเลขหมายที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร?   

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 146 เสียงผู้บริโภค

  ทรู อ้างอุปกรณ์ชำรุดริบเงินมัดจำ วิโรจน์ สมัครเป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตกับทรู ไลฟ์ พลัส ตั้งแต่ปี 2550 วิโรจน์ถูกเรียกเก็บค่ามัดจำอุปกรณ์รับสัญญาณเป็นเงินสองพันบาท จะได้คืนต่อเมื่อมีการบอกเลิกสัญญากัน วิโรจน์ ใช้บริการอินเทอร์เน็ตกับทรู มาจนถึงกลางปี 2555 เป็นเวลา 5 ปี อยากจะบอกเลิกใช้บริการ จึงโทรไปแจ้งให้ทรูทราบว่า ต้องการบอกเลิกสัญญาและให้ทรูมาเก็บอุปกรณ์ของตัวเองไป หลังจากนั้นไม่นาน ทรูส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บอุปกรณ์ คือกล่องดำรับสัญญาณ มารับอุปกรณ์ เซ็นเอกสารอะไรกันเสร็จ จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ช่างที่มาเก็บอุปกรณ์โทรมาบอกว่า กล่องดำรับสัญญาณที่เก็บไปการ์ดชำรุด ใช้งานไม่ได้ “ผมก็แย้งไปว่า กล่องดำที่เสียน่ะเป็นของผมหรือเปล่า หรือคุณทำของผมเสียหายแล้วโทรแจ้ง ทำไมตอนเก็บไม่ตรวจสอบต่อหน้าลูกค้าว่าอุปกรณ์เกิดชำรุด เสียหายอะไรบ้าง แล้วมาบอกว่าจะถูกหักเงินจากเงินมัดจำ” วิโรจน์ทักท้วงไป แต่ก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะปลายเดือนเขาได้รับเงินโอนเข้าบัญชีจากทรูเป็นเงิน 1,000 บาท แทนที่จะเป็น 2,000 บาท วิโรจน์ต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรไปถามทรูว่า ทำไมเงินมัดจำได้รับคืนไม่ครบ ได้รับคำตอบว่า เป็นการหักเงินค่ามัดจำอุปกรณ์ที่เกิดการชำรุด   วิโรจน์รวบรวมหลักฐานที่มีอยู่ส่งเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ผมคิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า เป็นการหักโดยประมาณค่าใช้จ่าย และช่างของ ทรูได้เซ็นรับอุปกรณ์ไปแล้ว มาแจ้งภายหลังว่าการ์ดเสีย ไม่รู้ว่าเสียจริงหรือหรือเปล่า”     แนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อได้ฟังข้อเท็จจริงจากผู้ร้องเรียนแล้ว เราจึงรีบแนะนำให้คุณวิโรจน์ทำจดหมายเรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส ทันที เพราะการเจรจาทางโทรศัพท์ฝั่งผู้บริโภคจะไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้เคยมีการทักท้วงในปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ยืนยันอย่างชัดเจนว่ามีความประสงค์ในการร้องเรียนเพื่ออะไร คุณวิโรจน์ได้ทำหนังสือขึ้น เพื่อขอค่ามัดจำที่เหลืออยู่คืน เนื่องจากทรูได้รับอุปกรณ์คืนไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลับมาอ้างว่าอุปกรณ์เสียในภายหลัง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ เขียนเสร็จก็ส่งไปที่ อีเมล์ voc@truecorp.co.th พร้อมส่งสำเนามาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เมื่อได้รับจดหมายร้องเรียนเป็นทางการแล้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จึงสามารถประสานไปที่ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนของทรูได้ จากนั้นไม่นานได้รับแจ้งจากผู้ร้องเรียนว่า ได้รับเงินคืนจำนวน 1,000 บาทจากทรูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใครที่มีปัญหาทำนองนี้ ใช้วิธีการร้องเรียนแบบนี้ได้ทันที ไม่ควรใช้ช่องทางโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว       คนใกล้ชิดรับเหมาซ่อมบ้าน รับเงินแล้วงานอืด โศรส เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยคราวน้ำท่วมใหญ่ ฤทธิ์ของน้ำที่เข้ามาท่วม เอ่อและขัง ทำให้บ้านได้รับความเสียหายทั้งในบ้านและนอกบ้าน อย่างที่ทราบกันดี ช่วงหลังน้ำท่วม ผู้รับเหมาซ่อมบ้านงานเข้าเป็นกอบเป็นกำและมีข่าวทิ้งงานก็เยอะ  ซ้ำหาตัวยากแสนยาก โศรสพยายามมองหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ จนมีรุ่นน้องที่ทำงานแนะนำให้รู้จักกับน้องชายและทีมงานที่ทำงานรับเหมาทำบ้านซ่อมบ้านสร้างบ้านอยู่ โศรสและสามีตกลงทำสัญญาว่าจ้างให้ซ่อมบ้านทั้งในบ้านและนอกบ้าน แม้จะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยความไว้วางใจเห็นเป็นน้องของคนรู้จักที่ทำงานจึงไม่ได้ต่อรองอะไร เธอเล่าว่า ตอนแรกๆ ทีมรับเหมาก็มาทำงานทุกวันจนครบตามสัญญาที่ต้องจ่ายเงินมัดจำ 2 งวด  เป็นจำนวนทั้งหมด 96,000 บาท หรือราว 80% ของยอดทั้งหมด แต่งานที่ทำยังไม่ถึง 50% ของที่ตกลงไว้ในสัญญา โดยแต่ละครั้งที่มาทำจะมากันแค่ 2 คน คือน้องชายของน้องที่ทำงานที่เป็นคนแนะนำกับคนงานอีก 1 คน เมื่อตรวจเช็คงานที่ทำ มีหลายครั้งที่ไม่ตรงตามที่ตกลง เช่น ของเงินเพิ่ม 10,000 บาท เพื่อจะจ้างรถใหญ่มางัดพื้นขุดหลุม แต่ก็ไม่ได้มา อ้างว่ายามหมู่บ้านไม่ให้เข้า พอไปเช็คสอบถามยาม ยามบอกว่าไม่เคยเห็นมีรถใหญ่ขอเข้ามาเลย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เสาเข็มความยาวไม่ถึง 6 เมตร ช่างรับเหมาอ้างว่า หาซื้อแถวนี้ไม่ได้ร้านไม่มาส่ง  โศรสเธอก็เที่ยวไปตามถามร้านอุปกรณ์ก่อสร้างแถวบ้านพบว่ามีหลายร้านที่ขายและมาส่งด้วย จากนั้นก็เริ่มไม่มาทำงาน โดยมีเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาล หรือรถเสียต้องเอาไปซ่อม หลายครั้งที่มีการโทรตามก็ติดต่อไม่ได้ ไม่ยอมรับโทรศัพท์ หรือบางครั้งโทรติดต่อได้ก็รับปากว่าจะมาแต่ก็ไม่ได้มาตามนัด “แฟนที่อุตส่าห์ลางานเพื่อมาเฝ้าดู ต้องเสียวันลาและเวลาไปฟรีๆ ดิฉันและแฟนโกรธมาก” ท้ายสุดต้องไปคุยกับรุ่นน้องที่บริษัทถึงปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น กลัวจะมีการเบี้ยวงาน โกงเงินดิฉันไป รุ่นน้องที่บริษัทจึงช่วยประสานงานให้น้องเขากลับมาทำงานหลังจากหายไม่มาทำงานไปเดือนเศษ แต่พอมาทำได้แค่อาทิตย์เดียว น้องที่รับเหมาเริ่มตุกติก บอกว่าจจะทำให้แต่ส่วนนอกบ้านคือรั้วกับปูกระเบื้องนอกบ้าน แต่งานในบ้านเป็นส่วนของแถมไม่รวมให้ “ดิฉันได้ฟังแล้วคิดว่า สงสัยจะถูกโกงแล้ว จึงไม่ยอม และบอกให้ช่างรับเหมาทำตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก แต่ทางผู้รับเหมาบอกว่า ไม่ได้กันเงินมาจ่ายค่าจ้างคนงาน ที่มีแค่หนึ่งคน ถ้าจะให้ทำข้างในบ้านต้องขอเวลารอเงินค่างวดที่จะได้จากอีกงานหนึ่งก่อน” “ดิฉันควรจะทำอย่างไรดีที่จะให้ผู้รับเหมา รับผิดชอบทำงานให้ครบตามที่สัญญาไว้”     แนวทางแก้ไขปัญหา งานที่ยังเหลือ คือการปูพื้นกระเบื้องในบ้าน ใส่บัว ลอกวอลเปเปอร์และทาสีชั้นล่างทั้งในบ้านและนอกบ้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ผู้ร้องเรียนรีบทำหนังสือเรียกร้องให้ผู้รับเหมารีบมาดำเนินการงานส่วนที่คั่งค้างโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการตามคำเรียกร้อง ผู้ร้องเรียนสามารถบอกเลิกสัญญาและจัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาทำงานต่อได้ และหากมีภาระค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายเกิดขึ้นเพิ่มเติม ให้ย้อนกลับไปเรียกร้องเอากับผู้รับเหมารายแรกทันที ที่ผ่านมา โศรสได้แต่ใช้การทวงถามทางโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้หากต้องมีการฟ้องร้องกันเพราะไม่มีหลักฐานการติดตามเรื่องที่เป็นลายลักษณ์อักษรเลย แม้จะเป็นคนรู้จักมักจี่แค่ไหนก็ควรทำ เธอจึงทำจดหมายขึ้นมาเพื่อเรียกให้ผู้รับเหมามาดำเนินการซ่อมบ้านให้ครบตามสัญญา ซึ่งเหลือไม่มากแล้ว ไม่นาน หลังได้รับจดหมาย ผู้รับเหมาได้ทยอยเข้าซ่อมแซมงานที่คั่งค้างอยู่จนลุล่วง แม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่เมื่อได้กลับเข้าอยู่อาศัยในบ้านแล้ว ผู้ร้องเรียนก็คลายใจ ไม่ติดใจเอาเรื่องเอาความอีกแต่อย่างใด       2 ปี กับการจัดการโฆษณาหลอกลวงน้ำผลไม้อินทรา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณเกษสุดา ชาวแม่เมาะ จ.ลำปาง ว่า ได้รับแผ่นพับโฆษณาขายน้ำผลไม้ ยี่ห้ออินทรา ซึ่งนำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ไลฟ์สไตล์ แปซิฟิค ริม(ประเทศไทย) จำกัด แผ่นพับที่คุณเกษสุดาได้มา มีข้อความระบุว่า เป็นของศูนย์ข้อมูลน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพของป๋ามร มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อย่างชัดเจน มีการโฆษณาว่า น้ำผลไม้อินทรา มีสรรพคุณในการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ให้ดีขึ้นเหมือนกับการรักษาทางยา เช่น ไมเกรน โรคผิวหนัง โคเลสเตอรอล อัมพฤต อัมพาต เบาหวาน กระดูกสันหลังทับเส้น โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ เรียกว่ากวาดกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวาง คุณเกษสุดา มีอาการอัมพาตช่วงหัวเข่า คิดว่าอาการของตัวเองไร้ทางออก หลงเชื่อว่าน้ำผลไม้ยี่ห้อนี้จะช่วยรักษาให้หายได้ เลยซื้อมากินหนึ่งขวด ราคาขวดละ 1,445 บาท ถูกมั้ยล่ะ กินไปได้ 2 เดือน อาการอัมพาตที่เป็นอยู่ก็ยังเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ถึงขนาดนี้คุณเกษสุดาก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองถูกหลอกหรือเปล่า เลยส่งเรื่องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบโฆษณาน้ำดื่มผลไม้ยี่ห้อนี้     แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิฯ ได้มีหนังสือไปถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 และได้รับหนังสือตอบกลับมาในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เรามาดูกันว่าเส้นทางการจัดการปัญหาโฆษณาหลอกลวงของน้ำผลไม้ยี่ห้อดังกล่าวหลังจากนี้เป็นอย่างไรบ้าง อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 และได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่(สสจ.เชียงใหม่) ทำการตรวจสอบ ขณะเดียวกันสำนักอาหารของ อย. ได้ทำการตรวจสอบควบคู่ไปในเวลาเดียวกัน วันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 สำนักอาหารได้สรุปผลการตรวจสอบเอกสารการโฆษณาส่งกลับมาที่เลขา อย.  ได้ความว่า เอกสารของโฆษณาสื่อให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราอินทรา มีสรรพคุณในการบำบัด บรรเทารักษาโรคได้หลายชนิด แม้จะมีการแสดงเลขอนุญาตโฆษณาอาหาร แต่การโฆษณาซึ่งทำให้เข้าใจสรรพคุณลักษณะดังกล่าวถือว่าไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา จัดเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร จัดเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 41 และมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 สำนักอาหารยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเคยได้ตรวจสอบกับบริษัท ไลฟ์สไตล์ฯ หลายครั้งแล้ว และไม่พบว่ามีเอกสารการโฆษณาตามที่มีการร้องเรียน อย่างไรก็ตามอาจเป็นไปได้ว่า เป็นการดำเนินการของสมาชิกอิสระของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารแบบขายตรง และข้อมูลการร้องเรียนแจ้งว่าผู้ร้องเรียนได้รับเอกสารจากบุคคลชื่อ ป๋ามร ระบุหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบจากอินเตอร์เน็ตว่า หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว        เป็นของ นายมร  กันยาบำเรอ ทั้งนี้ จากการขอข้อมูลชื่อ-สกุล และที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวกับนายอำเภอเมืองนนทบุรี ได้ข้อมูลว่าบุคคลดังกล่าวอยู่บ้านเลขที่......ตำบลป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จึงเห็นควรแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมาย และสั่งระงับโฆษณากับผู้โฆษณาในเขตพื้นที่ และให้รวบรวมบันทึกการตรวจสอบและพยานหลักฐานส่งให้ สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการกรณีพบว่า เป็นการดำเนินการเผยแพร่โฆษณาโดยบริษัทฯ และนอกจากนี้เนื่องจากเห็นว่า เป็นการโฆษณาจำหน่ายอาหารในลักษณะขายตรง ซึ่งอาจมีการโฆษณาลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ จึงเห็นควรประสาน กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคช่วยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กับผู้บริโภคทราบ และให้ใช้วิจารณญาณอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา และประสาน กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดเป็นข้อมูลเฝ้าระวัง วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนถึง เลขา อย. แจ้งว่า พบว่าศูนย์ข้อมูลน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพป๋ามร มีสถานที่อยู่ที่ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นสถานที่ตั้งของสถานีวิทยุ FM 95.25 MHz สอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยซึ่งมีหนังสือตอบกลับมาที่ อย.ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ได้ตรวจสอบสถานที่ หจก.กันยามีเดีย ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้อินทรา ขณะตรวจพบ นางดวงศมนฑร์  ไกรทอง ผู้ดูแลกิจการ ยอมรับว่า เอกสารแสดงสรรพคุณเป็นของทางร้านที่แนบไปกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบให้กับลูกค้า สสจ.สุโขทัย จึงได้ชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเป็นยาไม่ใช่น้ำผลไม้ และให้ยุติการแจกจ่ายเอกสารให้กับลูกค้า ส่วนเอกสารของบริษัทผู้นำเข้าได้รับอนุญาตโฆษณาถูกต้อง สามารถเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ ทางร้านยังมีการโฆษณาทางวิทยุคลื่น 95.25 MHz ขอให้นำข้อความหรือเสียงมาขออนุญาตจากจังหวัดให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะโฆษณาได้ ขณะนี้(ช่วงเวลาในขณะนั้น)ให้ระงับโฆษณาไปก่อน ต่อมา นายมร กันยาบำเรอ ได้เดินทางมาที่สำนักงานสาธารณสุขจ.สุโขทัย รับว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง โดยยุติการแจกจ่ายเอกสารแสดงสรรพคุณ 31 รายการ และดำเนินการขออนุญาตเกี่ยวกับโฆษณาให้ถูกต้อง 31 มกราคม 2555 สสจ.สุโขทัย ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย เพื่อขอความร่วมมือในการบันทึกเสียงการโฆษณาจากสถานีวิทยุชุมชน FM 95.25 MHz 8 กุมภาพันธ์ 2555 สสจ.สุโขทัย มีหนังสือกลับมาที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาว่า ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บันทึกเสียงการโฆษณา ณ ปัจจุบัน (หลังจากแจ้งให้สถานีวิทยุระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย)ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบข้อความที่จะเข้าข่ายหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อ อีก 1 ปีต่อมา 19 กุมภาพันธ์ 2556 อย. ได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯว่า จากการตรวจสอบเอกสารโฆษณาดังกล่าว พบว่า มีการโฆษณาคุณประโยชน์สรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้โฆษณาชื่อ นายมร กันยาบำเรอ เป็นสมาชิกขายตรงอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย จึงได้ขอความร่วมมือ สสจ.สุโขทัยตรวจสอบสถานที่จำหน่ายห้างหุ้นส่วนจำกัด กันยามีเดีย โดยผู้ดูแลกิจการยอมรับว่า เอกสารโฆษณาเป็นของทางร้าน จึงได้ให้ยุติการแจกจ่ายให้กับลูกค้า นอกจากนี้ทางร้านยังมีการโฆษณาทางวิทยุคลื่น 95.25 MHz จึงขอให้นำข้อความหรือเสียงมาขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งได้ให้ระงับโฆษณาไปก่อน ต่อมานายมรฯ ได้เดินทางมาที่สำนักงานสาธารณสุข(จ.สุโขทัย) รับว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อในคำโฆษณา และแจ้งให้ทุกจังหวัดเป็นข้อมูลเฝ้าระวังด้วยแล้ว อย.ตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ เหมือนกับที่ สสจ.สุโขทัย ตอบกลับมาที่ อย. แทบไม่มีผิดเพี้ยน ผู้บริโภคหลงเชื่อโฆษณาเสียเงินไป 1,445 บาท เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม นี่แค่รายเดียวที่มีการร้องเรียน แต่จะมีอีกกี่รายที่โดนแบบนี้ แต่ในเบื้องต้น สสจ. และ อย. ได้ใช้มาตรการตักเตือนไปก่อน ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า การดำเนินการคดีทางกฎหมายจะเป็นเช่นใด ทั้งนี้ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาหารพ.ศ. 2522 ความผิดในมาตรา 40 ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 145 เปลี่ยนโปรฯ มือถือใหม่ เจอจ่าย 2 ต่อ

  ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดเพชรบูรณ์  เพื่อให้กำลังใจในการทำงาน  และแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานร่วมกัน   มีประเด็นน่าสนใจมากคือ  กรณีผู้บริโภคขอเปลี่ยนโปรโมชั่นการจ่ายเงินแต่กลับถูกเรียกเก็บเงินทั้ง 2 โปรฯ เหตุเกิดที่ บ้านคีรีรัตน์ หมู่ที่ 11 ตำบลเขกน้อย อำเภอ เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์   เรื่องมีอยู่ว่าน้องนักเรียนคนหนึ่งร้องเรียนว่าเงินที่เพิ่งไปเติมมา 500 บาท เมื่อวานนี้ หมดไปแล้วทั้งที่เพิ่งโทรออกไปแค่ 3 ครั้ง เท่านั้นเอง สอบถามได้รายละเอียดว่า โทรศัพท์ที่ใช้เป็นระบบเติมเงินของบริษัท  เอไอเอส  เดิมใช้โปรโมชั่นเหมาจ่ายเดือนละ   199 บาท โทรฟรีตั้งแต่ ตี 5 ถึง 5 โมงเย็น  ซึ่งใช้มานานพอสมควร จนเวลาของโปรฯ ที่ใช้อยู่จะหมด  ก็มีข้อความ SMS แจ้งเข้ามาในเครื่องว่าโปรฯ ที่คุณกำลังจะหมด  พร้อมโฆษณาโปรโมชั่นใหม่ โทรได้นาทีละ 99 สตางค์  ซึ่งผู้ร้องเรียนบอกว่าสนใจมากเพราะคิดว่าที่ใช้อยู่เดือนละ 199 บาท ตัวเองใช้ไม่ถึง จากนั้นก็เลยไปติดต่อที่ศูนย์ เอไอเอส  เพื่อขอเปลี่ยนโปรฯ  ก็ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า  หากจะเปลี่ยนโปรฯ ต้องเติมเงินก่อน   ผู้ร้องเลยตัดสินใจเติมเงินไป 500 บาท พร้อมขอเปลี่ยนไปใช้โปรฯ ใหม่ไปพร้อมๆ กัน   เสร็จเรียบร้อยก็กลับบ้านอย่างมีความสุขเพราะได้สิ่งที่ต้องการแล้ว   รุ่งขึ้นอีกวันความสุขที่ว่ากลับเปลี่ยนเป็นความทุกข์ทันที  เมื่อเงินที่เติมมา 500 บาท หมดไปเพราะการโทรแค่ 2 ครั้ง   ศูนย์ฯ จึงได้ประสานไปที่ศูนย์บริการลูกค้าของเอไอเอส  ได้คำตอบว่า เพราะผู้ร้องเรียนไปเติมเงินพร้อมเปลี่ยนโปรฯ ใหม่ในวันเดียวกัน  จึงถูกเรียกเก็บเงินทั้ง เหมาจ่ายรายเดือน 199 บาท และโปรฯ นาทีละ 99 สตางค์   จึงทำให้เงินหมดไว   ศูนย์ฯ ก็ถามต่อไปอีกว่า มันเอาเปรียบผู้บริโภคชัดๆ  ก็ได้คำตอบว่า  นี่เป็นระบบที่บริษัทตั้งไว้ (เฮ้ย....ตั้งไว้อย่างนี้ผู้บริโภคก็แย่นะซิ!)ใครมีปัญหาร้องเรียนมาบริษัทก็พร้อมจะคืนให้ (อ้าว..อย่างนั้นคนที่ไม่ร้องและไม่รู้ก็โดนเอาเปรียบใช่ไหม? ) แล้วทำไมไม่บอกก่อนว่า การเปลี่ยนโปรฯ กับเติมเงินทำพร้อมกันแล้วจะถูกเรียกเก็บ 2 ต่อ   ”การที่ผู้ประกอบการตั้งระบบ บริการที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างนี้” นั่นคือ “โกงชัดๆ” องค์กรกำกับ(กสทช.) อย่าเอาแต่นิ่งเฉย ท่านต้องมีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา และมีบทกำหนดโทษให้ชัดเจน!  เพื่อป้องปรามมิให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 145 เสียงผู้บริโภค

  มหากาพย์ซิมฟรี ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เรียนผู้จัดการบริษัท True move หรือผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันมีข้อข้องใจในการหาลูกค้าและบริการของซิมที่ทางบริษัท True ให้เจ้าหน้าที่มาเดินยัดเยียด แจกฟรี ตามชุมชนต่างๆ   เนื่องจากบุตรชายของดิฉันน่าจะตกเป็นเหยื่อของกลโกงทางการค้าของท่าน เนื่องจากดิฉันได้รับจดหมายให้ชำระค่าบริการ True จากบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ส่งมาเรียกเก็บค่าบริการ ดิฉันจึงได้โทรติดต่อไปยังบุตรชายที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในจังหวัดชลบุรี เนื่องจากการเรียกเก็บเป็นในนามบุตรชาย   บุตรชายแจ้งว่า ไม่ได้ใช้เลย แต่จำได้ว่าประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ขณะไปขึ้นรถไปชลบุรีที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม. มี เจ้าหน้าที่ของ True แจ้งว่า แจกซิมฟรี ยัดเยียดให้ผู้คนที่ผ่านไปมา และบุตรชายก็มารับมาตามประสาความซื่อ จนท. True ขอสำเนาบัตรประชาชนโดยแจ้งว่า จะเอาไปเก็บเป็นสถิติ โดยไม่มีการให้ลงเอกสารใดๆ ในการขอใช้ซิม True ทั้งสิ้น   บุตรชายรับมาโดยไม่ใช้ใดๆ แต่มีเอกสารตามมาเก็บเงิน เมื่อดิฉันแจ้งให้บุตรไปยกเลิก บุตรช ายได้ไปชำระเงินและแจ้งยกเลิก แต่ทาง จนท. รับชำระเงินอ้างว่ายกเลิกแล้วก็ยังต้องเสียค่าบริการไปอีก 2 เดือน เป็นค่าต่อสัญญาณหรืออะไรสักอย่าง บุตรชายจึงโทรมาแจ้งให้ดิฉันทราบ   ดิฉันจึงแจ้งให้ลูกไปแจ้งความลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน (ไม่แน่ใจว่าลูกจะไปหรือไม่ เพราะเสียเวลามาก) ต่อมาสามีของดิฉันจึงได้โทรติดต่อ 1331 (คอลเซนเตอร์ทรู) ต่อว่าผู้รับสาย (ซึ่งน่าจะเป็นพนักงานที่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจ) ไม่สามารถชี้แจงได้ว่า เหตุใดจึงทำการหลอกลวงเช่นนั้น   ตอนแรก ดิฉันไม่คิดจะเขียนจดหมายฉบับนี้ เพราะเบื่อกับการฟ้องร้องหรือร้องเรียน ซึ่งกฎหมายของไทยและระบบยุติธรรมที่ล่าช้าและยุ่งยาก แต่พอมาคุยกับผู้ร่วมงาน หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เคยถูกหลอกลวงยัดเยียดซิมแบบนี้มาก่อน โดยพนักงาน True อ้างว่า ฟรี และไม่แจ้งว่าจะมีการเรียกเก็บเงินแต่อย่างใด ดิฉันจึงเปิด Website ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหาทางออก รวมทั้งอยากให้ท่านได้ชี้แจง หรือเลิกใช้วิธีการโกงเช่นนี้   การที่ทางบริษัทฯ หาลูกค้าด้วยวิธีโกงเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ลูกค้า ซึ่งจะมีในอนาคตอย่างครอบครัวเรา จะจำ Brand True เป็น False จริงอยู่บริษัทของท่านอาจเป็นผู้ผูกขาดในอนาคตยิ่งใหญ่ในวงการโทรคมนาคมก็เป็นได้ ประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเรา คงไม่สามารถต่อกรกับท่านได้ แต่ความเชื่อถือหายไป และท่านกำลังทำให้เยาวชนที่ถูกท่านหลอกลวง จะเกิดรอยประทับในจิตใจของเขาเหล่านั้น ให้เกิดความไม่ไว้วางใจในสังคมธุรกิจหรือสังคมไทยอีก   ท่านได้ทำลายความดีงามในใจของเยาวชนที่เสมือนผ้าขาวให้ไม่ไว้วางใจใคร ไม่เชื่อใคร และไม่คิดจะช่วยใครอีก ซึ่งเป็นความเสียหายที่ประเมินค่ามิได้ ดิฉันรู้สึกเสียใจกับการกระทำของ True เป็นอย่างยิ่ง เงินแค่พันกว่าบาทดิฉันและลูกจ่ายได้อยู่แล้ว แต่ความรู้สึกดีๆ ที่หายไปนี่เป็นสิ่งสำคัญ มันไม่มีเหลืออยู่อีกเลย   ถ้าการหาลูกค้าด้วยวิธีนี้ไม่ใช่นโยบายของ True แต่เป็นการกระทำของพนักงานที่ท่านจ้างไปเดินแจกซิม ก็ขอให้ท่านชี้แจงและอบรมพนักงานของท่านให้ดี อย่าให้ทำเสียชื่ออีก แต่ถ้าเป็นนโยบายของท่าน ดิฉันเชื่อว่า ลูกค้าของท่านคงไม่มั่นใจในบริการของท่าน ในอนาคตโลกเปลี่ยนไปแล้ว การค้าที่ไม่สนใจคำร้องเรียน หรือโกง คงจะสื่อกันให้รู้ได้เร็วกว่าก่อน โลกนี้คงไม่ได้อยู่ในมือท่านตลอดไป   ถ้าท่านอ่านมาถึงนี้แล้ว ดิฉันขอขอบคุณที่อ่าน และมีอีกสิ่งที่ดิฉันบอกลูกว่า แม่เสียใจที่เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีเกินไป มองโลกในแง่ดี จนกลายเป็นคนโง่ เลยตกเป็นเหยื่อของคนโกง   แนวทางการแก้ไขปัญหา พฤติกรรมการหลอกแจกซิมฟรี แล้วมาเรียกเก็บเงินภายหลังเพราะเป็นระบบจ่ายแบบรายเดือน โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการที่จะใช้บริการ หรือเผลอไปใช้บริการแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นแบบจ่ายรายเดือนเลยต้องการบอกเลิกสัญญา แต่พอไปบอกเลิกก็เลิกได้ยาก อ้างโน่นอ้างนี่ สุดท้ายถูกหลอกกินตังค์ไปเรื่อยๆ กรณีแบบนี้ ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8 ที่กำหนดไว้ว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่า ผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป   ดังนั้น ย้ำชัดๆ ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เต็มร้อย  หรือหากจ่ายค่าบริการไปแล้วก็สามารถที่จะเรียกเงินคืนได้ ไม่ต้องไปฟังเสียงผีคอลเซนเตอร์ใดๆ   มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งเรื่องไปที่ True ผ่านทางอีเมล์ voc@truecrop.co.th รวมทั้งติดต่อไปที่หมายเลขโทรศัพท์รับเรื่องร้องเรียนของ True ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย คือ 02-9008088 เพื่อขอให้ทรูยกเลิกการเรียกเก็บเงินและคืนเงินที่ได้เรียกเก็บไปแล้ว พร้อมยกเลิกสัญญาการให้บริการในเลขหมายที่มีการร้องเรียนมา ซึ่ง ทรู ยินยอมคืนเงินโดยโอนเข้าบัญชีที่ผู้ร้องเรียนแจ้งและยกเลิกสัญญาตามความประสงค์ของผู้ร้องเรียนอย่างไม่มีเงื่อนไข   จะเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน(หากเผลอจ่ายไปก่อน) ไม่จำเป็นต้องไปติดต่อที่สำนักงานสาขาของผู้ให้บริการมือถือเลย ส่งเรื่องทางอีเมล์ก็ได้ แนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมเขียนข้อความคาดทับกำกับให้ชัดเจนว่าใช้เพื่อการร้องเรียนเท่านั้น พร้อมแจ้งหมายเลขบัญชีที่ต้องการให้ผู้ให้บริการมือถือส่งเงินคืน เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว   ซิมฟรี แถวอนุสาวรีย์ชัยฯ มีอันตรายเช่นนี้แล       กรวดก้อนเดียว มูลค่าเป็นแสน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะกรวดก้อนเดียวมีมูลค่าเป็นแสนจริงๆ   ณัฎฐา เป็นสาวไทยได้สามีเป็นหนุ่มออสเตรเลีย ทุกๆ ปี จะพาสามีและบุตรสาวกลับมาที่ประเทศไทยเพื่อมาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน   ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย เธอได้พาสามีและลูกสาวไปรับประทานอาหารในร้านอาหารฟูจิ สาขามาบุญครอง วันนั้นมีการสั่งอาหารไปหลายรายการ รวมทั้ง TAKO SASHIMI จังหวะที่กำลังเพลิดเพลินกับรสชาติอาหารเมนูนี้อยู่ ฟันของเธอได้ไปกระทบกับของแข็งที่ปะปนอยู่ใน TAKO SASHIMI อย่างแรง พอคายออกมาถึงเห็นว่ามันเป็นก้อนกรวดขนาดสัก 3 มิลลิเมตร มันใหญ่พอที่จะทำให้ฟันกรามล่างด้านซ้ายซี่หนึ่งแตกหักไปครึ่งซี่ แถมยังมีเลือดปนออกมาด้วย   ณัฎฐา เรียกผู้จัดการร้านมาทันที ผู้จัดการร้านมาถึงก็กล่าวคำขอโทษพร้อมนำ TAKO SASHIMI มาเปลี่ยนให้ใหม่ แล้วรีบเก็บ TAKO SASHIMI ชามเดิมรวมทั้งก้อนกรวดออกไป พร้อมกับยื่นนามบัตรให้ 1 ใบ กำชับให้ผู้ร้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและมาเก็บค่ารักษาพยาบาลกับทางร้านในภายหลัง   ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นเวลาที่ดึกมากแล้ว คุณณัฎฐาจึงยังไม่ได้ไปพบแพทย์ในคืนนั้น พอรุ่งเช้าจึงไปพบแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่ง แพทย์ตรวจดูอย่างละเอียดแล้วแจ้งว่า ฟันหักมากควรจะถอนทิ้ง แต่ทีนี้เมื่อถอนฟันกรามด้านล่างแล้วจะต้องถอนฟันกรามด้านบนด้วย เพราะถ้าถอนด้านล่างอย่างเดียวเวลาเคี้ยวอาหารจะเกิดความไม่สมดุลกัน   “ถ้าไม่ถอนออกล่ะคะคุณหมอ” เธอถามหาทางเลือก   “ถ้าไม่ถอนออก ก็ต้องรักษาไปตามอาการ คือ จะต้องมีการอุดฟันในส่วนที่หักไว้ก่อน แล้วจึงค่อย ทำการรักษารากฟันทีหลัง พร้อมทั้งทำครอบฟันด้วย” คุณหมออธิบายโดยละเอียด   เมื่อเห็นทางเลือกในการรักษา ณัฎฐาบอกให้แพทย์รักษาไปตามอาการก่อน เพื่อที่จะกลับไปตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะถอนฟันทิ้งไปดีหรือไม่   วันรุ่งขึ้น เธอเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ทำการแจ้งความเอาไว้เป็นหลักฐาน และอีกวันหนึ่งต่อมา ณัฎฐาและครอบครัวต้องเดินทางกลับออสเตรเลีย จึงได้ทำการมอบอำนาจให้คุณพ่อของเธอมาดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายแทน   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้วันครอบครัวของณัฎฐาอยู่ในบรรยากาศ ซึมกันไปหมด   เมื่อกลับไปถึงออสเตรเลียแล้ว เธอแจ้งกลับมาหาคุณพ่อว่า กินอะไรก็ไม่อร่อยเลย เพราะไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้เหมือนปกติ ท้ายที่สุดต้องตัดสินใจถอนฟันซี่ที่แตกหักและซี่ที่เกี่ยวข้อง แต่ค่ารักษาพยาบาลที่ออสเตรเลียนั้นแพงเอาการอยู่ จึงต้องการให้ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังแห่งนี้เยียวยาความเสียหายโดยเร็ว   แนวทางแก้ไขปัญหา คุณพ่อของณัฎฐานำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเรียกค่าเสียหายให้ด้วย หลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิฯ ได้มีหนังสือเชิญตัวแทนร้านอาหารฟูจิเพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกัน โดยฝ่ายผู้เสียหายขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงินรวม 202,246 บาท แบ่งเป็นค่าอาหารมื้อที่สร้างทุกข์ 1,096 บาท ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นที่จ่ายให้กับคลินิกในประเทศไทย 1,150 บาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันที่ออสเตรเลียประเมินแล้วน่าจะอยู่ราว 100,000 บาท และค่าทุกข์ทรมานในการสูญเสียฟัน 100,000 บาท   ร้านอาหารฟูจิ ได้ทำประกันภัยไว้กับทิพยประกันภัย ทิพยประกันภัยจึงส่งตัวแทนประกันภัยเข้าร่วมเจรจา ท้ายที่สุดได้ข้อตกลงว่าบริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 110,000 บาท ทางฝ่ายผู้เสียหายเห็นว่าการเยียวยาเป็นไปตามสมควรเพียงพอต่อการรักษาพยาบาลทางร่างกายและจิตใจแล้วจึงยอมยุติเรื่อง ไม่ต้องเสียเวลาเดินเรื่องฟ้องร้องต่อศาลต่อไป       ตามหาเงินเยียวยา ดิฉันชื่อ ฉันทนาค่ะ   เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ได้นั่งรถโดยสารปรับอากาศเดินทางจากกรุงเทพฯ จะไปลงที่โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อไปหาพ่อแม่ จองตั๋วรถกับบริษัท แอร์อุดร จำกัด เส้นทางกรุงเทพฯ-บึงกาฬ ระหว่างทางรถโดยสารขับมาด้วยความเร็วสูงมาก ถึงช่วงถนนมิตรภาพ  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารที่ดิฉันนั่งมาคนขับพยายามจะขับแซงรถพ่วงแต่ไม่พ้น และไปชนท้ายรถบรรทุกพ่วงอย่างแรงก่อนเสียหลักลงไหล่ทาง ทำให้ดิฉันได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก และกระดูกนิ้วก้อยเท้าขวาแตก   หน่วยกู้ภัยพาดิฉันส่งโรงพยาบาลปากช่องนานา แพทย์ได้ทำการรักษากระดูกแตกที่นิ้วเท้าและเย็บแผลแตกที่ศีรษะรวม 10 เข็ม จะกลับบ้านได้ต้องโทรศัพท์ให้ญาติมารับ   หลังประสบอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัท แอร์อุดรเลย ประมาณวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ได้รับการติดต่อจากแม่ว่า ตำรวจให้ไปพบที่สถานีตำรวจโพนพิสัย จึงได้ไปตามนัดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 บริษัท แอร์อุดร ได้ส่งพนักงานไม่แจ้งชื่อมาเจรจาโดยมีข้อเสนอชดใช้เยียวยาให้ที่จำนวน 50,000 บาท ดิฉันได้ตกลงยอมรับข้อเสนอ พนักงานคนนั้นจึงบอกกับดิฉันว่าจะติดต่อกลับมาภายใน 7 วันนับจากวันที่แจ้ง แต่จนถึงปัจจุบัน(28 สิงหาคม 2555) ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัทดังกล่าวเลย   ดิฉันขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายในจำนวนเงิน 50,000 บาท ให้กับดิฉันด้วยค่ะ   แนวทางแก้ไขปัญหา คุณฉันทนาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย ในอุบัติเหตุครั้งนั้น มูลนิธิฯได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลแล้วทราบว่า รถโดยสารคันดังกล่าว ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด จึงได้มีหนังสือเชิญตัวแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย มาร่วมเจรจากันในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แต่เนื่องจากผู้เสียหายอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางมาร่วมเจรจาได้ จึงมีการเจรจากับผู้เสียหายทางโทรศัพท์กันในวันนั้น ได้ผลว่า บริษัท ทิพยประกันภัย ตกลงจ่ายค่าสินไหมตามที่ได้มีการร้องขอและเจรจากันไว้แต่แรก จำนวน 50,000 บาท และนัดหมายเพื่อมารับเช็คค่าสินไหมอีกครั้งในอาทิตย์ถัดไป   อาทิตย์ต่อมาตัวแทนของทิพยประกันภัยเตรียมเช็คค่าสินไหมมาตามวันเวลานัดหมาย แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่สามารถติดตามตัวได้ในวันนั้น จึงต้องกำหนดนัดใหม่เป็นสัปดาห์ถัดไป อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมาผู้เสียหายจึงสามารถเดินทางมารับเช็คค่าสินไหมได้ด้วยตนเอง   นอกจากคุณฉันทนาแล้ว ยังมีผู้โดยสารอีกท่านหนึ่งคือคุณโพสิทธิ เครือเนตร ที่ได้รับบาดเจ็บและทิพยประกันภัยตกลงที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและทิพยประกันภัยจึงได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ว่า หากผู้เสียหายท่านนี้ได้ติดต่อกลับมา ทางทิพยประกันภัยยินดีดำเนินการเยียวยาความเสียหายให้ต่อไป   คุณโพสิทธิ หรือญาติ ทราบข่าวแล้วโปรดติดต่อกลับมาด่วน ทิพยประกันภัยรอคุณอยู่

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point