ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ทำไมคุกถึงเต็ม..วิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบ

        การได้รับสารตะกั่วอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ความบกพร่องของระบบไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตช้า แต่ประเด็นที่สำคัญสุดคือ ความเสียหายต่อระบบประสาท เนื่องจากการสัมผัสสารตะกั่วอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางระบบประสาทหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการทำงานของการรับรู้โดยรวมของสมองลดลง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลบ เชาวน์ปัญญา (IQ) ลดลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ความจำไม่ดีพร้อมกับความเข้าใจและการอ่านบกพร่อง ตะกั่วในสิ่งแวดล้อมมาจากไหนถึงเข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ได้ คนไทยมีคำตอบนี้ทุกคนหรือไม่         ปัญหาการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่เท่ากัน ผลกระทบของการสัมผัสสารตะกั่วต่อเด็กมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากการดูดซึมสารตะกั่วทางสรีรวิทยาในเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบทางระบบประสาทที่ไม่สามารถบำบัดให้หายได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US. Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า "ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก" และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลดค่าอ้างอิงสารตะกั่วในเลือดจาก 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร เป็น 3.5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรม         มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรมคือ บทความเรื่อง Association of Childhood Blood Lead Levels With Criminal Offending (การเชื่อมโยงผลของระดับสารตะกั่วในเลือดในวัยเด็กในการก่อความผิดทางอาญา) ในวารสาร JAMA Pediatrics ของปี 2017 ซึ่งเป็นการศึกษาซึ่งติดตามกลุ่มประชากรของนิวซีแลนด์ที่เกิดระหว่างวันที่ 1 เมษายน 1972 ถึง 31 มีนาคม 1973 (ประมาณกว่า 50 ปีมาแล้ว) โดยมีผู้เข้าร่วมหญิง 255 คนและชาย 298 คน ตั้งแต่เด็กจนมีอายุ 38 ปี (ธันวาคม 2012) โดยเมื่ออายุ 11 ปีผู้เข้าร่วมได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่วแล้วพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.01 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปพบว่า ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 154 คน (27.8%) มีความผิดทางอาญา, 86 คน (15.6%) ถูกพิพากษาลงโทษซ้ำ และ 53 คน (9.6%) มีความผิดฐานกระทำความผิดรุนแรง และเมื่อพิจารณาถึงอายุที่ก่อความผิดพบว่า เริ่มเพิ่มขึ้นที่อายุ 15 ปี จนถึงจุดสูงสุดที่อายุ 18 - 21 ปี และจากนั้นลดต่ำลงเท่าที่อายุ 15 ปี เมื่ออายุ 38 ปี อย่างไรก็ดีแม้เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติโดยรวมแล้วกลับพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างระดับสารตะกั่วในเลือดและการก่ออาชญากรรมนั้นมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของงานวิจัยนี้ในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารตะกั่วในเลือดและการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นผลสืบเนื่อง         ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ในประเด็นเดียวกันซึ่งทำวิจัยแบบ meta-analysis ของนักวิจัยจาก George Washington University เรื่อง The association between lead exposure and crime: A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วกับอาชญากรรม) ในวารสาร PLOS Global Public Health ของปี 2023 ซึ่งได้พิจารณาบทความ 17 บทความจาก 617 บทความที่เลือกมาพิจารณาตอนเริ่มต้น โดยผลการศึกษาได้เชื่อมโยงการสัมผัสสารตะกั่วทั้งในขณะอยู่ในครรภ์หรือในช่วงวัยเด็กกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการมีพฤติกรรมในการก่ออาชญากรรมในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยนี้ระบุในท้ายที่สุดถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างสารตะกั่วและรูปแบบการก่อความเสียหายต่อพฤติกรรมเมื่อเด็กโต แม้ว่าความเข้มข้นของสารตะกั่วในเลือดจะต่ำมากก็ตาม         เนื้อหาและประเด็นสำคัญในงานวิจัยของนักวิจัยจาก George Washington University ดูน่าสนใจมาก เพราะผู้วิจัยได้ทำการทบทวนการศึกษา 17 เรื่องซึ่งระบุถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งรวมถึงการก่ออาชญากรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในหลายประเทศแล้วสรุปการพบหลักฐานว่า การสัมผัสสารตะกั่วมีความเกี่ยวข้องต่อผลกระทบทางชีวภาพในเด็กที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในระยะยาว ผู้ทำวิจัยเน้นว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยต่อการสัมผัสสารตะกั่วสำหรับเด็ก และประเทศต่างๆ ควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องเด็กและสตรีมีครรภ์จากการได้รับสารตะกั่ว เพื่อส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคนประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาหรือไม่         เป็นที่รู้กันในวงนักวิชาการว่า การสัมผัสสารตะกั่วอาจมาจากหลายแหล่ง เช่น ขยะอุตสาหกรรม แบตเตอรี่รีไซเคิล สีที่มีสารตะกั่ว แหล่งอาหารต่างๆ และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น ของเล่นเด็กบางประเภท เครื่องครัว และถ้วยชามเซรามิกหรือกระเบื้องเคลือบ ประเด็นสำคัญคือ หน่วยราชการและองค์กรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของไทยมีความตระหนักถึงปัญหาเนื่องจากสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมอย่างไร          เว็บของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://www.mnre.go.th) มีบทความเรื่อง ภัยร้ายใกล้ตัวจากพิษของตะกั่ว และเว็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th) มีเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษตะกั่วในกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งทั้งสองบทความได้ให้ข้อมูลถึงอันตรายจากตะกั่วอย่างลึกซึ้ง แสดงว่า หน่วยราชการเข้าใจดีถึงภัยและแหล่งที่มาของสารตะกั่วที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการต่างๆ นั้นไม่สามารถอ้างถึงความไม่รู้ในกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับตะกั่ว เพราะมีประกาศสำคัญคือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่า ซึ่งมีการบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กฏหมายนี้ได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544        สำหรับตัวอย่างงานวิจัยที่ระบุถึงปัญหาสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของไทยนั้น เช่น รายงานการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณใน พ.ศ. 2542 เรื่อง การปนเปื้อนของตะกั่วและโครเมียมในน้ำทิ้งจากการย้อมสีกระจูดที่ทะเลน้อย ที่พบว่า ปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.050-0.123 พีพีเอ็ม ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.082 พีพีเอ็ม ตัวเลขดังกล่าวนี้เกินค่ามาตรฐานที่ยิมยอมให้มีได้คือ 0.05 พีพีเอ็ม และปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขจากงานวิจัยใดที่บอกว่า ปริมาณตะกั่วและโครเมียมในทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงนั้นลดหรือเพิ่มแต่อย่างใด         คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งของตะกั่วที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ข้อมูลที่อาจให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้จากเว็บไซต์ของหอสมุดรัฐสภา (https://library.parliament.go.th/th) ซึ่งมีบทความเรื่อง ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เรียบเรียงโดย วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยบทความดังกล่าวออกอากาศเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา          ข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าขยะบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่า มีการนำเข้าขยะมาอย่างผิดเงื่อนไข มีการลักลอบนำเศษซากอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้ไม่ได้ปะปนเข้ามาภายในประเทศด้วย โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าขยะสูงขึ้นมาก โดยใน พ.ศ. 2558 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประมาณ 7.7 หมื่นตัน แต่ใน พ.ศ. 2560 มีปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และใน พ.ศ. 2561 สูงถึงกว่า 6.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกรายใหญ่ของโลกได้ห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภทเมื่อปลาย พ.ศ. 2560 จึงทำให้ขยะเป็นจำนวนมากเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่มีการควบคุมน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายใหม่คือประเทศในอาเชียน ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย”         ข้อมูลล่าสุด (https://workpointtoday.com, 23 ก.พ. 2566) ที่ดูน่าจะพอทำให้ใจชื้นได้บ้างว่า รัฐบาลที่ผ่านไปแล้วได้ประกาศว่า “ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการกันอย่างน้อยจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ” ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูว่า มันจะเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านเอกสาร ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ดาวน์โหลดมาอ่านได้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1775920210326023304.pdf) เรื่อง สังเขปค่าอ้างอิงทางสุขภาพสำหรับการประเมินความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสุขภาพจากตะกั่วด้วยตัวอย่างเลือด ซึ่งอาจพอทำให้เห็นภาพว่า อนาคตเกี่ยวกับปริมาณตะกั่วในเลือดคนไทยนั้นเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนดื่มกาแฟไร้คาเฟอีน

        สมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐฯ (National Coffee Association - NCA) ระบุว่า การดื่มกาแฟปราศจากคาเฟอีนหรือดีแคฟ  (decaffeinated coffee) นั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10% ของตลาดในสหรัฐอเมริกา กาแฟประเภทนี้เหมาะกับคนที่มีปัญหาดื่มกาแฟปรกติแล้วใจสั่น คนที่ต้องนอนหลับให้ได้ในเวลาที่กำหนด ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้หญิงที่ตั้งท้อง ฯ จึงเลี่ยงไปดื่มกาแฟที่ได้มาจากกระบวนการสกัดสารคาเฟอีนออก พฤติกรรมนี้ดูแล้วน่าจะดีต่อสุขภาพ (จิต) อย่างไรก็ดีหลังจากที่หลายคนได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟประเภทนี้มากขึ้นกว่าผู้บริโภคทั่วไปก็พบว่า กาแฟดีแคฟบางยี่ห้อผ่านการผลิตโดยอาศัยสารเคมีซึ่งมีข้อมูลควรระวัง ส่งผลให้ความกังวลใจ (มากกว่าเดิม) มาเยี่ยมเยือน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ควรได้รับการบอกกล่าวอย่างไรถึงจะมีความสบายใจขึ้นในการดื่มกาแฟดีแคฟ  กาแฟไร้คาเฟอีนนั้นผลิตอย่างไร         กาแฟประเภทนี้ผลิตจากเมล็ดกาแฟที่คาเฟอีนถูกกำจัดออกไปอย่างน้อย 97% นั่นคือ สำหรับเมล็ดกาแฟทุกๆ 100 กรัม ปริมาณคาเฟอีนควรไม่เกิน 0.1 กรัม (สำหรับในประเทศไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 197) พ.ศ. 2543 เรื่อง กาแฟ กำหนดว่า มีคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 0.1 ของน้ำหนัก)         มีหลายวิธีในการขจัดคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟ เช่น การใช้น้ำช่วยพร้อมการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ (Swiss water process) กระบวนการที่สองคือ การใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ คือ methylene chloride (ซึ่งมีอีกชื่อคือ dichloromethane) หรือใช้ ethyl acetate ช่วยในการผลิต และกระบวนการสุดท้ายเป็นการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลว (supercritical fluid extraction ซึ่งมีค่าความดันวิกฤตเป็น 73.8 บาร์ และอุณหภูมิวิกฤตเป็น 31.1 องศาเซลเซียส) ช่วยในการผลิต         ส่วนขั้นตอนการผลิตกาแฟดีแคฟแบบสั้นๆ คือ เมล็ดกาแฟถูกล้างในตัวทำละลายจนกระทั่งสกัดคาเฟอีนออกมามากที่สุด จากนั้นจึงกำจัดตัวทำละลายออก แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปคั่วและบด คุณสมบัติของกาแฟไร้คาเฟอีนควรเกือบเหมือนกับกาแฟทั่วไป ยกเว้นปริมาณคาเฟอีนที่มีน้อยมาก ทำไมบางคนถึงกังวลกับดีแคฟที่ผลิตโดยใช้สารเคมีช่วยในการกำจัดคาเฟอีน          Methylene chloride เป็นสารออกฤทธิ์หลักในน้ำยาล้างสี (paint stripper หรือ paint remover) ที่ถูกห้ามโดย US.EPA ในเดือนมีนาคมปี 2019 ในทางตรงกันข้ามปัจจุบัน US.FDA ยังอนุญาตให้ใช้ Methylene chloride ในกระบวนการกำจัดคาเฟอีน (ทำหน้าที่เป็น processing aid) ในกาแฟโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผกระบวนการกำจัดคาเฟอีนบนฉลาก         Methylene chloride ในปริมาณน้อยถูกร่างกายเผาผลาญให้เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ที่อาจนำไปสู่พิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ในผู้อ่อนไหวบางคน รายงาน Report on Carcinogens, Fifteenth Edition (2021) ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปเล่มและออนไลน์ของ U.S. National Toxicology Program ให้ข้อมูลว่า Methylene chloride (หรือ Dichloromethane) ได้รับการจัดว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยอาศัยหลักฐานที่เพียงพอของการก่อมะเร็งจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง เพียงแต่ข้อมูลทางระบาดวิทยายังไม่พอ อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยที่บอกว่าระดับใดของ Methylene chloride ในอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน สำหรับ IARC (International Agency for Research on Cancer องค์กรหนึ่งซึ่งสังกัดองค์การอนามัยโลกที่มีบทบาทในการประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรียกว่า IARC Monograph) กล่าวว่า Methylene chloride อยู่ใน Group 2B (possibly causing cancer in humans)         ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อกาแฟดีแคฟจากออนไลน์หรือจากซูเปอร์มาเก็ตได้เป็นบางยี่ห้อที่ระบุการกำจัดคาเฟอีนด้วย Swiss water process ซึ่งมักมีราคาแพงกว่าชนิดที่ไม่บอกกระบวนการเอาคาเฟอีนออก อย่างไรก็ดีไม่มีอะไรเป็นการรับประกันว่าจะได้ของตรงฉลาก (เมื่อซื้อออนไลน์) ยกเว้นเชื่อในความน่าเชื่อถือของผู้ขายที่ไม่ใช่ตัวแทนโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต มีข้อมูลหรือไม่ว่า กาแฟดีแคฟมี Methylene chloride ตกค้าง         ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินอันตรายต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (California Environmental Health Hazard Assessment) ได้เพิ่ม Methylene chloride เข้าไปในรายการของข้อเสนอ 65 (Prop. 65) เพราะการประเมินอย่างเป็นทางการของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นได้สรุปว่า ในระหว่างตั้งครรภ์ Methylene chloride สามารถถ่ายทอดจากแม่ (สัตว์ทดลอง) สู่ลูกได้         สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากทั้งสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ล้วนเป็นผู้บริโภคกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนเป็นประจำ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่ากาแฟนั้นเอาคาเฟอีนออกด้วยวิธีใด เพราะฉลากกาแฟดีแคฟนั้นไม่บังคับให้ระบุวิธีการเอาคาเฟอีนออก นอกจากผู้ผลิตจะรู้สึกเองว่า ในการติดฉลากว่า ใช้กระบวนการ Swiss water process น่าจะก่อความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อบริโภคมากขึ้น         Clean Label Project ซึ่งเป็นองค์กรณ์เอกชน (NGO) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาได้มีเอกสารในเว็บขององค์กรเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2022 เรื่อง More Methylene Chloride! ซึ่งรายงานผลการวิเคราะห์ Methylene chloride ในกาแฟดีแคฟ หลายยี่ห้อโดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐบาล ผลปรากฏว่าพบ methylene chloride ในกาแฟดีแคฟบางยี่ห้อ (ขอสงวนนาม) ซึ่งผลการทดสอบในภาพรวมนั้นระดับของ Methylene chloride สูงขึ้นกว่าระดับที่เคยตรวจพบในครั้งก่อนหน้าเมื่อหลายปีราว 10 เท่า-100 เท่า แต่ก็ยังต่ำกว่าขีดจำกัดตามกฎระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่มีคาเฟอีนต่ำหรือไม่มีคาเฟอีนเลยมีหรือไม่         Wikipedia ให้ข้อมูลว่าในปี 2004 มีรายงานบนโลกออนไลน์ว่า กาแฟชนิดหนึ่งมียีน caffeine synthase บกพร่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมธีโอโบรมีน (theobromine) แทนที่สารนี้จะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นคาเฟอีน ลักษณะดังกล่าวเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ การผสมข้ามพันธุ์จนเกิดภาวะดังกล่าวหรืออาจใช้กระบวนการทางพันธุวิศวกรรมเพื่อ knock out (ปิดการทำงาน) ยีนที่สร้างคาเฟอีน         ในปี 2009 ความก้าวหน้าในการปลูกเมล็ดกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนกลับมาเป็นที่สนใจอีก รายงานข่าวกล่าวว่า เป็นกาแฟชนิดที่เรียกว่า "Decaffito" คำๆ นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายคุณสมบัติกาแฟนี้ และเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทในบราซิล         กาแฟ Decaffito ที่พบในธรรมชาตินั้นคือ กาแฟสายพันธุ์ Coffea charrieriana ที่ปราศคาเฟอีน (หรือมีน้อยมาก) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเคนยา ทวีปอัฟริกา แต่รายละเอียดในรูปงานวิจัยนั้นตีพิมพ์ในวารสาร Botanical Journal of the Linnean Society ของปี 2008 เรื่อง A new caffeine-free coffee from Cameroon ส่วนเมล็ดกาแฟชนิดซึ่งมีคาเฟอีนเป็นองค์ประกอบสำคัญและนิยมปลูกทั่วโลกคือ Coffea arabica และ Coffea robusta โครงการค้นหากาแฟไร้คาเฟอีนนั้นเป็นอย่างไร         มีตัวอย่างโครงการลักษณะนี้ที่ศูนย์วิจัยกาแฟชั้นนำของ Instituto Agronomico de Campinas (IAC) ในบราซิล หน่วยงานนี้ได้เริ่มกระบวนสำคัญของโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการสองทศวรรษในการพัฒนากาแฟสายพันธุ์ที่ไม่มีคาเฟอีน (หรือมีต่ำมาก) ตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า การพัฒนาดังกล่าวมีศักยภาพทางธุรกิจที่โดดเด่นอย่างมาก         ความสำเร็จของสายพันธุ์กาแฟที่เพาะได้อาจเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในภูมิภาคที่มีการบริโภคมหาศาล อย่างเช่น ยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าต้องการดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่มาจากธรรมชาติแทนที่การดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมี นอกจากนั้นบริษัทที่จำหน่ายกาแฟไร้คาเฟอีนจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากสามารถข้ามขั้นตอนทางอุตสาหกรรมในการขจัดสารคาเฟอีนออกจากกาแฟพันธุ์ปกติไปได้ พร้อมกับภาพพจน์ที่ว่า บริษัทนั้นใส่ใจต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค         ปัจจุบันกาแฟบางสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นภายในศูนย์วิจัยการแฟของ IAC ให้มีคาเฟอีนต่ำนั้น ได้ถูกนำไปปลูกตามภูมิภาคต่างๆ ของบราซิลแล้ว โดยต้นกาแฟมักใช้เวลาราวสองถึงสามปีจึงจะออกผลผลิตเป็นครั้งแรกเพื่อทดสอบผลที่ได้ อย่างไรก็ดียังไม่มีใครสนใจกล่าวถึงธีโอโบรมีนที่อาจสูงขึ้นได้ในกาแฟที่ไร้คาเฟอีนว่า อาจก่อปัญหาอื่นตามมา เพราะเคยมีข่าวในบ้านเราว่า เด็กสาวเกือบขิตเพราะดื่มโกโก้เย็นที่ชงอย่างเข้มข้น (ซึ่งโกโก้นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีธีโอโบรมีนสูงเป็นซิกเนเจอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 น้ำตาลเทียมขม

        วันที่ 29 มิถุนายน 2566 สำนักข่าวทั่วโลกให้ข่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายคือ แอสปาร์แตม (aspartame) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายถูกจัดระดับการก่ออันตรายต่อสุขภาพนั้นในกลุ่ม 2B possibly carcinogenic to humans (น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) ตามข้อเสนอของ International Agency for Research on Cancer (IARC) ข้อมูลนี้ปรากฏในเอกสารชื่อ Agents Classified by the IARC Monographs, Volumes 1–134 ซึ่งผู้อ่านสามารถดาว์นโหลดเอกสารที่เป็นบทความ pdf มาอ่านได้จาก https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications อย่างไรก็ดีทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำต่อว่า ให้ทำการศึกษาที่ "มากขึ้นและดีขึ้น" พร้อมด้วย "การติดตามผลที่ยาวนานขึ้น" เพื่อประเมินหาหลักฐานการก่อมะเร็งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น         องค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินปัจจัยการดำรงชีวิตและให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขแก่ประเทศสมาชิก แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์บังคับ ซึ่งเป็นภาระของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ของแต่ละประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ดีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอาจมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของสาธารณชนและนโยบายของผู้บริหารประเทศซึ่งอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละประเทศต้องติดตามสิ่งที่อาจเกิดขึ้น  สารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น IARC จัดแบ่งอย่างไร         IARC จำแนกสารเคมีที่มนุษย์สัมผัส (หมายรวมถึงลักษณะอาชีพการทำงานที่ต้องสัมผัสสารบางชนิดด้วย) ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบเสนอให้สารนั้นถูกพิจารณาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดลำดับซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ        ·     Group 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to humans มีการศึกษาทางระบาดวิทยาในมนุษย์ และหลักฐานที่เพียงพอในสัตว์ทดลองและชัดเจนว่า มนุษย์ได้สัมผัสสารนี้) มี 126 ชนิด เช่น บุหรี่, เครื่องดื่มอัลกอฮอล์, สารพิษจากเชื้อรา aflatoxin, แบคทีเรีย Helicobacter pylori, ควันจากถ่านหิน, ไวรัส Epstein-Barr, รังสีจากแสงแดด, ฝุ่นหนัง (Leather dust) เป็นต้น        ·     Group 2A อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานเพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 95 ชนิด เช่น Androgenic (anabolic) steroids ซึ่งคนที่ชอบสร้างกล้ามเนื้อมักใช้, ชีวมวล หรือ Biomass fuel (หลักๆคือ เศษไม้), สารประกอบตะกั่ว, เกลือ nitrate และ/หรือ เกลือ nitrite ที่กินเข้าไปแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาไนโตรเซชั่นในกระเพาะอาหาร, hydrazine เป็นต้น        ·     Group 2B น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (possibly carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานไม่เพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 325 ชนิด เช่น ผักดอง, สารสกัดจากใบว่านหางจระเข้, Ochratoxin A, 1,6-Dinitropyrene เป็นต้น        ·     Group 3 ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ (not classifiable หลักฐานไม่เพียงพอในมนุษย์และไม่เพียงพอหรือจำกัดในสัตว์ทดลอง) มี 500 ชนิด เช่น ยาคลายเครียด Diazepam, สีแดง Ponceau SX, ยารีเซอร์พีน (reserpine เป็นสารอัลคาลอยด์ ได้มาจากเปลือกรากแห้งของต้นระย่อมน้อย ถูกใช้เป็นยากล่อมประสาท, ลดความดันโลหิต, แก้ภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ)        ·     Group 4 ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably not carcinogenic to humans มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง) ซึ่งปัจจุบันไม่มีสารเคมีใดเหลืออยู่ในกลุ่มนี้  สถานภาพของแอสปาร์แตมก่อนเป็นข่าวนั้นเป็นอย่างไร         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศที่เป็นสมาชิกของ Codex ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติถือว่า แอสปาร์แตมอยู่ในชั้นความปลอดภัยสำหรับการบริโภคตั้งแต่ปี 1981 จึงมีการใช้ในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมมากมาย เช่น น้ำอัดลมไร้พลังงาน อาหารเช้าทำจากธัญพืช หมากฝรั่ง ยาสีฟัน น้ำตาลเทียมบรรจุซองสำหรับชากาแฟและอื่น ๆ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า ปริมาณในการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นควรเป็นอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็น โดยมีการยกตัวอย่างจำนวนหน่วยบริโภคของเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องว่า ควรเป็นเท่าใดตามน้ำหนักตัว เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมากเกินไป          การเป็นสารก่อมะเร็ง Group 2B มีความหมายอย่างไรต่อผู้ผลิตอาหาร         การอภิปรายถึงโอกาสก่ออันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เกิดขึ้นในสังคมผู้บริโภคนั้น อาจส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ สั่นคลอนได้ ดังนั้นจึงดูว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแต่ละชนิดไม่ใช่แค่เพียงแอสปาร์แตม         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทน้ำอัดลมใหญ่บริษัทหนึ่งได้เคยถอดแอสปาแตมออกจากส่วนผสมของเครื่องดื่มไดเอ็ทของบริษัทในปี พ.ศ. 2558 แต่นำกลับมาใช้อีกครั้งในอีกหนึ่งปีผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2563 จึงเลิกใช้อีกครั้ง ดังนั้นการที่แอสปาร์แตมถูกปรับระดับเป็น สารที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ นั้น อาจเป็นการเปิดประตูสำหรับการดำเนินคดีโดยผู้บริโภคในลักษณะเดียวกับกรณีของสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่ถูกฟ้องเป็นคดีในสหรัฐอเมริกาว่าก่อมะเร็งแก่ผู้ใช้ในระยะยาว  ตัวอย่างงานวิจัยที่คงเป็นข้อมูลที่ทำให้ IARC ตัดสินใจ         บทความเรื่อง Artificial sweeteners and cancer risk: Results from the NutriNet-Sante´ population-based cohort study (สารให้ความหวานเทียมและความเสี่ยงต่อมะเร็ง: ผลลัพธ์จากการศึกษาตามกลุ่มประชากรของ NutriNet-Sante') ในวารสาร PLOS Medicine ของปี 2022 ให้ข้อมูลจากการศึกษาซึ่งเป็นการติดตามหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศส 102,865 คน นานเฉลี่ย 7.8 ปี โดยบันทึกการบริโภคอาหารและชนิดสารให้ความหวานแทนน้ำตาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานแทนน้ำตาลและอุบัติการณ์ของมะเร็งตามแบบจำลองซึ่งปรับตามอายุ เพศ การศึกษา การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย ส่วนสูง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการติดตาม เบาหวาน ประวัติครอบครัวในการเป็นมะเร็ง รวมแล้วจำนวน 24 รายการ โดยบันทึกรายละเอียดการบริโภคอาหารรายชั่วโมง และปริมาณพลังงานรวมที่บริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกลือโซเดียม กรดไขมันอิ่มตัว ใยอาหาร น้ำตาล ผักและผลไม้ อาหารธัญพืชไม่ขัดสี และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดยเฉพาะแอสปาร์แตมและอะซีซัลเฟม-เค มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยในรายละเอียดนั้นการบริโภคแอสปาร์แตมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งทรวงอกและโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น การค้นพบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญและใหม่สำหรับกระบวนการประเมินความเสี่ยงซ้ำในการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดย European Food Safety Authority และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ทั่วโลก  ผู้บริโภคควรทำเช่นไรในสถานการณ์ที่มีข่าวดังกล่าวข้างต้น         ก่อนอื่นผู้บริโภคต้องถามตนเองก่อนว่า จำเป็นต้องกินแอสปาร์แตมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ จำเป็น ก็ต้องถามต่อไปว่า ทำไม พร้อมกับคำถามต่อทันทีว่า มีทางเลือกชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นชนิดอื่นอีกหรือไม่ ประเด็นที่สำคัญคือ การที่ใครสักคนควรกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดใดเป็นประจำนั้นควรตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่า แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า การกินน้ำตาลธรรมชาติก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน และอาจรวมถึงผู้มีความดันโลหิตสูง  ถ้าเชื่อว่ากันไว้ดีกว่าแก้หรืออ้วนไม่ได้เพราะอาชีพกำหนด ผู้บริโภคควรทำอย่างไร         คำแนะนำในการควบคุมน้ำหนักคือ กินแต่พออิ่ม (หยุดก่อนอิ่มจริงสักนิด) กินผักและผลไม้ที่มีความหวานต่ำในปริมาณที่มากพอทำให้อิ่ม ประมาณว่าในมื้อหนึ่งมีอาหารเนื้อสัตว์ แป้งและไขมันเป็นครึ่งจานและมีผักผลไม้ในอีกส่วนครึ่งของจาน พร้อมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทำได้ดังนี้การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลน่าจะไม่จำเป็น ที่สำคัญคือ ควรเข้าใจว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารหรือขนมที่มีความหวานเพื่อการตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่ยากจะควบคุม เช่น เป็นการลดความทรมานในผู้กินอาหารคีโต เป็นต้น ยังคงบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ต่อไปหรือไม่         ตราบใดที่องค์กรที่ดูแลสุขภาพทั้งระดับประเทศและระดับโลกยังเชื่อในข้อมูลของ Codex ที่บอกว่า แอสปาร์แตมยังปลอดภัยในระดับที่แนะนำให้บริโภคได้นั้น การยอมรับในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำใจ ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปกินผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดอื่นที่ดูมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพน้อยกว่า เช่น สารในกลุ่มน้ำตาลอัลกอฮอล ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มหลายชนิดใช้สารซูคราโลส (sucralose) เพื่อลดปริมาณน้ำตาลทรายต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นการลดผลกระทบจากภาษีความหวานที่เพิ่มตามกฏหมายใหม่ซึ่งดูสอดคล้องกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่แนะนำให้ลดละเลิกอาหารหวานมันเค็ม ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไข่ฮ้างฮัง

        มีคลิปหนึ่งที่ถูกโพสต์ลง TikTok มีเนื้อหาประมาณว่า เมื่อคุณแม่ซื้อไข่ฮ้างฮังมาแต่ยังไม่ได้กินเพราะไม่อยู่บ้าน 3 วันในหน้าร้อน เมื่อกลับมาบ้านต้องตกใจเมื่อเปิดประตูบ้านมาเจอลูกเจี๊ยบกว่าสิบตัววิ่งอยู่ในบ้าน ในขณะที่บางตัวกำลังฟักออกจากไข่         ผู้เขียนขอสารภาพว่า ไม่เคยได้ยินคำว่าไข่ฮ้างฮัง หรือที่บางคนให้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า อาจเรียกว่า ไข่ฮ้างรังหรือไข่ค้างรัง จึงเข้าค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วพบข้อมูลประมาณว่า ไข่ฮ้างฮัง คือไข่ที่ฟักยังไม่สำเร็จแต่ถึงเวลาแล้วที่แม่ไก่บ้านต้องไปเลี้ยงลูกเจี๊ยบส่วนใหญ่ที่ออกจากไข่ก่อน (ปรกติแล้วแม่ไก่ฟักไข่ประมาณ 21 วัน) จึงต้องทิ้งรังไปตามวิถีชีวิตธรรมชาติของแม่ไก่ที่ต้องพาลูกไปหากิน ส่วนไข่ที่เหลือยังฟักไม่สำเร็จผู้เลี้ยงไก่มักนำไปบริโภค โดยไข่ฮ้างฮังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ไข่ตัว คือไข่มีเชื้อที่เริ่มเจริญเป็นตัวอ่อน และตายในระยะใดระยะหนึ่ง ไม่สามารถฟักเป็นตัวออกมาจากไข่เป็นลูกเจี๊ยบได้และ ไข่ข้าว คือไข่ที่ไม่มีเชื้อ ไม่มีการเจริญเป็นตัวอ่อน แต่ได้รับการฟักทำให้สภาพของเนื้อไข่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความร้อนจากการฟักของแม่ไก่ทำให้ไข่ข้าวแตกต่างจากไข่ไก่สดทั่วไป (ข้อมูลนี้ผู้เขียนยังสงสัยอยู่ว่ามันเป็นอย่างนี้จริงหรือ)         อย่างไรก็ดีมีกระทู้หนึ่งใน pantip.com (ในเดือนเมษายน 2566) เรื่อง ลักษณะไข่แบบนี้ไข่เน่าหรือไข่ค้างรัง ให้ข้อมูลต่างออกไปบางส่วนประมาณว่า ไข่ข้าวคือ ไข่ที่ถูกผสมด้วยน้ำเชื้อของไก่ตัวผู้แล้วถูกฟักแต่ยังไม่เป็นลูกเจี๊ยบคนก็เอามากินก่อน หรือคนเลี้ยงไก่เขาเจตนาทำให้เป็นไข่ข้าวเพื่อขาย (น่าจะได้ราคากว่าขายไข่ต้ม) ส่วนไข่ฮ้างฮังเป็นไข่ที่ผสมน้ำเชื้อแล้วแต่แม่ไก่กกไข่ฟักยังไม่เสร็จก็ทิ้งรังไปดูลูกเจี๊ยบตัวอื่น ตัวอ่อนในไข่ใบนั้นก็ตายกลายเป็นไข่ฮ้างฮัง หรือคนเลี้ยงไก่เขาเจตนาทำให้เป็นไข่ฮ้างฮังเพื่อขาย         หลังจากได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับไข่ฮ้างฮังแล้วก็นึกย้อนหลังไปเมื่อราว 60 ปีก่อน สมัยยังเด็กเคยเห็นรถเข็นขายไข่ต้มซึ่งมีไข่ต้มลักษณะหนึ่งที่ส่วนไข่แดงกลายเป็นลูกเจี๊ยบขนขึ้นเล็กน้อยแล้ว จึงถามแม่ของผู้เขียนว่า มันคืออะไร แม่ได้อธิบายว่าเขาเรียกว่า ไข่ข้าว ซึ่งคนที่ซื้อกินนั้นเชื่อว่า กินแล้วสมรรถภาพทางเพศจะดีขึ้น ซึ่งผู้เขียนฟังแล้วก็เก็บข้อมูลไว้ในสมองเฉยๆ จนมาได้ดูข่าวที่กล่าวถึงข้างต้นจึงรำลึกได้ แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นคำถามเพราะสงสัยอยู่ว่า คนไทยกินไข่ฮ้างฮังทำไม เหมือนฝรั่งที่กินหรือไม่         คำตอบแรกนั้นมีในอินเทอร์เน็ตว่า เพราะชอบกลิ่นและรส ส่วนเหตุที่มีคำถามถึงฝรั่งนั้นก็เพราะนึกได้ว่า สมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกานั้นมีโอกาสได้อ่านบทความในนิตยสาร PlayBoy (ซึ่งเพื่อนในหอพักซื้อมาอ่านแล้ววางไว้ในห้องนั่งเล่น) มีบทความหนึ่งเกี่ยวกับฝรั่งแถวสแกนดิเนเวียนิยมกินลูกไก่ที่ยังอยู่ในเปลือกไข่เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางเพศหรือ Libido ดังนั้นผู้เขียนจึงลองค้นหาข้อมูลทางวิชาการในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับงานวิจัยไข่ที่มีลักษณะของไข่ฮ้างฮังว่ามีหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีไม่มากนักและที่น่าสนใจคือบทความเรื่อง Fibroblast growth factor (FGF) identification of a fertilized chicken egg whites and their effects on stem cells regeneration in the pancreas of hyperglycemia mice ในวารสาร Der Pharma Chemica ของปี 2016 ซึ่งบทความนี้เป็นผลการวิจัยของชาวอินโดนีเชียที่ให้ข้อมูลว่า สาร Fibroblast Growth Factor ที่สกัดได้จากตัวอ่อนในไข่ที่ถูกฟักแต่ยังไม่ออกเป็นตัวสามารถกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดของตับอ่อนที่นำออกมาจากหนูที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เพราะได้รับสาร alloxan ซึ่งทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินของตับอ่อน) พัฒนาไปเป็นเซลล์ที่หลั่งอินซูลินได้ ส่งผลให้มีการตั้งความหวังว่า สารสกัดจากไข่ที่มีตัวอ่อนนั้นน่าจะถูกใช้ช่วยกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดในอวัยวะต่างๆ พัฒนาไปทำงานทดแทนเซลล์เดิมซึ่งหมดความสามารถ         สิ่งที่น่าสนใจคือ เว็บ https://synergisticnutrition.com มีบทความเรื่อง Fertilized & Incubated Chicken Eggs and Fibroblast Growth Factors ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการที่ไข่ซึ่งได้รับการปฏิสนธิแล้วถูกฟักนาน 9 วันขึ้นไปนั้นมีปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ (fibroblast growth factors) ซึ่งเดิมทีนั้นในปี 1929 มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้ตั้งสมมุติฐานแล้วทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่า ปัจจัยสำคัญในไข่ดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง แต่น่าเสียดายที่ผู้ศึกษาได้ตายไปในปี 1943 ทุกอย่างจึงถูกลืม จนผ่านไปเกือบ 50 ปีต่อมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยไข่ระดับแนวหน้าของนอร์เวย์กลุ่มหนึ่งได้ตั้งสมมุติฐานว่า ไข่ไก่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วถูกฟักนั้นมีองค์ประกอบหนึ่งเป็นของผสมของกรดอะมิโน เปปไทด์ และโปรตีนขนาดเล็กรวมกันที่น่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและถูกฟัก 9 วันนั้นมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ (ของลูกไก่) สารสำคัญต่าง ๆ ที่คิดกันว่าเป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ไฟโบรบลาสต์นั้นน่าจะมีความสามารถในลักษณะการสั่งให้เกิดการดูดซับกรดอะมิโน เปปไทด์ และสารอาหารเพื่อกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้เปลี่ยนเป็นเซลล์ของอวัยวะ กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อสมองและอื่น ๆ ของตัวอ่อน สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับของผสมที่ช่วยให้ลูกไก่เจริญได้ระหว่างฟักนั้น บทความเรื่อง Basic Fibroblast Growth Factor in the Chick Embryo: Immunolocalization to Striated Muscle Cells and their Precursors ในวารสาร The Journal of Cell Biology ของปี 1989 ให้ข้อมูลว่า สารจำเป็นต่อการเจริญของตัวอ่อนในไข่ไก่นั้นเริ่มปรากฏขึ้นราววันที่ 2 ของการฟักและจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่ 11 ของการฟักไข่         เซลล์ต้นกำเนิดนั้นมีอยู่ทั่วร่างกายมนุษย์และสัตว์ชั้นสูงแม้จะโตเติมที่แล้ว โดยเป็นเซลล์ที่รอการกระตุ้นที่เหมาะสมเพื่อรับสารอาหารสำหรับแปลงเซลล์เหล่านั้นให้เป็นเซลล์ใหม่ที่ทำงานได้เหมือนเซลล์ที่เสียหายไปในเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ ดังนั้นจึงเป็นความหวังว่า องค์ประกอบที่สกัดได้จากไข่ไก่ที่ผ่านการปฏิสนธิและถูกฟักแล้วระยะหนึ่งอาจช่วยให้เกิดเซลล์ใหม่มาแทนเซลล์ที่เสื่อมไปของสมอง หัวใจ ตับอ่อน ไต ต่อมหมวกไต เยื่อบุลำไส้ หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ซึ่งอาจรวมถึงเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของร่างกาย เพื่อฟื้นคืนชีพการทำงานของอวัยวะและกระตุ้นความต้องการทางเพศให้กลับคืนมา         คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ มีงานวิจัยเกี่ยวกับสินค้าที่มีองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับไข่ฮ้างฮังบ้างหรือไม่ คำตอบคือ มีสินค้าซึ่งอ้างว่าเพิ่มสมรรถนะทางเพศของชาย โดยสินค้านั้นมีส่วนประกอบเป็นสารสกัดจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วและฟักได้ระยะหนึ่ง ผู้เขียนพบว่ามีบทความของนักวิจัยชาวนอร์เวย์เรื่อง Sexual Desire in Men: Effects of Oral Ingestion of a Product Derived from Fertilized Eggs ในวารสาร Journal of International Medical Research ของปี 1997 ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่อ้างว่าให้ผลต่อความรู้สึกทางเพศหรือ Libido (Libid, Libbido, Erosom และ Ardorare เป็นชื่อที่ใช้ในการทำตลาด) มีส่วนประกอบที่ได้มาจากไข่ไก่ที่ได้รับการปฏิสนธิและฟักช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความต้องการทางเพศที่ลดลงในผู้ชาย ผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอกแบบ double-blind cross-over บ่งชี้ว่า ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ของการศึกษาพบว่า 58% ของผู้เข้าร่วมการศึกษาชาวนอร์เวย์ที่มีความต้องการทางเพศต่ำลง มีความรู้สึกดีขึ้นตามที่ได้ประเมินโดยใช้ Visual Analog Scale ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภคชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญต่อความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ความมั่นใจในตนเองที่เพิ่มขึ้น ระดับความสุขที่ได้รับ และความแข็งแกร่งในความเป็นชาย นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาในชายสวีเดนที่แยกศึกษาต่างหากพบว่า 84% ของผู้ชาย 31 คน รายงานความต้องการทางเพศที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์หลังกิน Libido โดยต้องใช้เวลา 1 - 2 สัปดาห์ของการกิน Libido 3 กรัมต่อวันๆ ละสองครั้งก่อนที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน         ผู้เขียนได้เข้าไปดูข้อมูลในเว็บ https://www.pdr.net ซึ่งเป็นเว็บที่ให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ดูว่าเชื่อถือได้ เพราะเป็นแหล่งที่พิมพ์หนังสือ Physicians' Desk Reference (ปัจจุบันให้ข้อมูลฟรีบางส่วนแบบ online) ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่รู้จักดี ได้มีบทความเรื่อง Laminine (dietary supplement) - Full Prescribing Information ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ Laminine (ตั้งชื่อล้อกับคำว่า laminin ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรากฐานเครือข่ายโปรตีนที่อยู่ระหว่างเซลล์ของอวัยวะส่วนใหญ่ของสัตว์ทุกชนิด) ได้ติดฉลากบนสินค้าว่า มีสารสกัดจากไข่ไก่ที่ปฏิสนธิพร้อมด้วยส่วนผสมของโปรตีนที่เว็บไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าคืออะไร เพื่อให้มีกรดอะมิโนที่จำเป็นทั้งหมดและกล่าวอ้างว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้พัฒนาเพื่อซ่อมแซมเซลล์ชราที่เสียสภาพได้         สำหรับคำถามที่ว่า การกินไข่ข้าวหรือไข่ฮ้างฮังของคนไทยนั้นจะได้ผลเหมือนการที่ฝรั่งกินผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้นหรือไม่นั้น คำตอบง่ายๆ คือ คงต่างกัน เพราะไข่ข้าวที่ขายตามรถเข็นนั้นถูกปิ้งด้วยความร้อน ดังนั้นสาร Basic Fibroblast Growth Factor ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโปรตีนคงเสียสภาพไปหมด ในขณะที่ส่วนสกัดที่ได้จากไข่ข้าวของฝรั่งนั้นผลิตด้วยวิธีการสกัดทางชีวเคมีในห้องปฏิบัติการแล้วทำให้แห้งด้วยวิธี  freez-drying ดังนั้นส่วนสกัดที่ได้จึงน่าจะยังคงสภาพการทำงานอยู่ในระดับหนึ่ง โดยสรุปแล้วคนไทยที่กินไข่ฮ้างฮังแล้วรู้สึกอร่อยก็คงกินไปโดยไม่ต้องหวังอะไร อีกทั้งสินค้าของฝรั่งที่อาจมีขายออนไลน์นั้นก็อย่าได้หวังอะไรนัก เพราะการโฆษณานั้นเป็นการให้ข้อมูลบางส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ค้าสินค้านั้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 มัน..ไซยาไนด์

        สารประกอบไซยาไนด์เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีอนุมูลไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ บางชนิดออกฤทธิ์ทำอันตรายผู้เคราะห์ร้ายได้รวดเร็วเช่น ชนิดที่ถูกนำมาใช้ในการก่อคดีฆาตกรรมนั้นเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่อนุมูลไซยาไนด์รวมตัวกับโลหะอัลคาไลน์ (เช่น โซเดียมหรือโปแตสเซียม) ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งสีขาว นอกจากนั้นพบได้เป็นสารประกอบที่รวมตัวกับโลหะอื่นอีกหลายชนิด ประเด็นที่น่าสนใจคือ สารประกอบไซยาไนด์หลายชนิดถูกพบในรูปของไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ (cyanogenic glycoside) ในพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งสารประกอบนี้ถูกเปลี่ยนเป็นกรดไฮโดรไซยานิคในบริบทที่เหมาะสม           มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเม็ดสาคู เป็นที่รู้กันดีในทางวิชาการว่า โอกาสที่มันสำปะหลังจะปล่อยก๊าซไซยาไนด์ออกมาระหว่างการเก็บและผลิตเป็นแป้งนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ประเด็นคือ เรื่องราวเหล่านี้มีการให้ความรู้แก่ประชาชนมากพอหรือยัง อีกทั้งการเลี่ยงจะไม่กินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ตามธรรมชาตินั้นอาจเป็นไปได้ยากในบางกลุ่มชนในบางภูมิภาคของโลก         บทความเรื่อง High cassava production and low dietary cyanide exposure in mid-west Nigeria ในวารสาร Public Health Nutrition ของปี 2000 ให้ข้อมูลว่า หัวและใบมันสำปะหลังดิบนั้นบริโภคไม่ได้ เนื่องจากมีสารไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์หลัก 2 ชนิด คือ ลินามาริน (linamarin) และโลทอสตราลิน (lotaustralin) แต่สารพิษเหล่านี้ยังไม่ออกฤทธิ์จนกว่าถูกย่อยสลายโดยเอ็นซัมลินามาเรส (linamarase ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเซลล์ของมันสำปะหลังแต่แยกกันออกจากไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์โดย โดยอยู่ในส่วนเฉพาะเหมือนถุงหุ้มภายในเซลล์ของมันสำปะหลัง) ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ระเหยสู่อากาศรอบบริเวณสถานที่เก็บหัวมันหรือผลิตแป้งมัน ในกรณีที่ก๊าซระเหยหายไปหมดย่อมทำให้ได้แป้งที่ได้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค         นอกจากนี้บทความเรื่อง Occupational exposure to hydrogen cyanide during large-scale cassava processing, in Alagoas State, Brazil ในวารสาร Cadernos de Saúde Pública (คาแดร์โนส เด เซาเด ปุบลิกา หรือ สมุดบันทึกสาธารณสุข) ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การแปรรูปมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ในระดับอุตสาหกรรมใหญ่จนถึงอุตสาหกรรมพื้นบ้านของบราซิลนำไปสู่การปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์สู่อากาศ ซึ่งพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องรับไฮโดรเจนไซยาไนด์อย่างต่อเนื่องผ่านการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง และอาจได้รับทางปากด้วยในบางกรณี         โดยหลักการทางพิษวิทยาแล้วเมื่อใดที่สารประกอบไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในระดับที่ไม่ก่อพิษเฉียบพลัน สารประกอบไซยาไนด์ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนโดยกระบวนการที่ใช้เอ็นซัมโรดาเนส (ซึ่งพบในไมโตคอนเดรียของเซลล์) ได้เป็นสารประกอบไธโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าและถูกขับทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และไซยาไนด์จำนวนเล็กน้อยที่เหลือในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกจากร่างกายผ่านทางลมหายใจ โดยรวมแล้วสารประกอบไซยาไนด์ปริมาณต่ำและผลิตภัณฑ์จากไซยาไนด์ที่เกิดจากการกำจัดพิษส่วนใหญ่ถูกขับออกจากร่างกายภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการสัมผัส         สำหรับในประเด็นที่ว่าการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ธรรมชาติมีส่วนในการก่อให้เกิดลูกวิรูปต่อเด็กในท้องผู้บริโภคสตรีหรือไม่นั้น เรื่องนี้สำคัญมากต่อการพัฒนาประชากรโลกซึ่งผู้เขียนพบว่า มีเอกสารเรื่อง Cyanogenic glycosides (WHO Food Additives Series 30) ในเว็บของ www.inchem.org มีข้อมูลในหัวข้อ Special studies on embryotoxicity and teratogenicity ซึ่งอ้างบทความเรื่อง Congenital malformations induced by infusion of sodium cyanide in the Golden hamster ในวารสาร Toxicology and Applied Pharmacology ของปี 1982 ซึ่งเป็นการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์สีทองที่ตั้งท้องแล้วได้รับเกลือโซเดียมไซยาไนด์ในวันที่ 6-9 ของการตั้งท้อง สารพิษนั้นถูกให้แก่แม่หนูผ่านเครื่องปั๊มออสโมติกขนาดเล็กที่ฝังใต้ผิวหนังด้วยอัตรา 0.126-0.1295 มิลลิโมล/กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีการชักนำให้เกิดการหายไปของตัวอ่อน (resorptions) ในมดลูกของแม่หนู และพบว่าลูกหนูที่คลอดออกมามีรูปร่างผิดปกติ (malformations) ซึ่งความผิดปกติที่พบมากสุดคือ ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้กล่าวว่า การเกิดคอพอกในพลเมืองของสาธารณรัฐซาอีร์ (Zaire) ซึ่งประชาชนกินอาหารทำจากมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ดีพอนั้นได้รับผลกระทบจากสารประกอบไธโอไซยาเนต (ซึ่งเกิดในร่างกายหลังจากการพยายามกำจัดไซยาไนด์ทิ้ง) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น         มีสมมุติฐานหนึ่งที่น่าสนใจกล่าวว่า สารประกอบไธโอไซยาเนตนั้นมีขนาดโมเลกุลใกล้เคียงกับโมเลกุลของไอโอดีน ดังนั้นสารประกอบไธโอไซยาเนตจึงอาจขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ดีระดับไทโอไซยาเนตที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับสารประกอบไซยาไนด์จะส่งผลต่อต่อมไทรอยด์เฉพาะเมื่อผู้บริโภคได้รับไอโอดีนต่ำกว่า 100 ไมโครกรัม/วัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณไอโอดีนน้อยที่สุดที่ร่างกายต้องได้รับ งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ประชากรที่ได้รับสารไซยาไนด์จากมันสำปะหลัง (ที่แปรรูปไม่ดีพอ) จะไม่เป็นโรคคอพอกตราบเท่าที่ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย นี่แสดงว่าประเทศไทยมาได้ถูกทางแล้วที่กำหนดให้เกลือบริโภคต้องมีการเติมไอโอดีน          สำหรับเด็กในท้องแม่ที่พัฒนาอวัยวะครบถ้วนหรือคลอดออกมาแล้วถ้าได้รับสารประกอบไซยาไนด์และ/หรือไธโอซัลเฟตในขนาดต่ำนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น มีบทความเรื่อง Public Health Statement for Cyanide จากหน่วยงาน ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งปรากฏในเว็บของ US.CDC (www.cdc.gov) ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาที่แม่ตั้งครรภ์และได้รับก๊าซไซยาไนด์ เช่น จากควันบุหรี่หรือจากการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ ทารกในครรภ์จะได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตผ่านรก นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า ไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตสามารถขับออกมาในน้ำนมไปยังลูก         ในกรณีที่แม่กินอาหารที่มีแป้งมันสำปะหลังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตแล้วตั้งท้อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับลูกที่เกิดมาย่อมเป็นไปได้แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่า สารประกอบไซยาไนด์ทำให้เกิดความพิการในคนโดยตรงแต่สามารถพบได้ว่า ผู้คนในเขตร้อนบางประเทศที่กินมันสำปะหลังเป็นแหล่งของอาหารแป้งนั้น เด็กบางส่วนเกิดมาพร้อมด้วยปัญหาของไทรอยด์ ซึ่งอาจเกี่ยวกับการได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตจากแม่ในระหว่างตั้งท้องในลักษณะเดียวกับที่พบความผิดปรกติแต่กำเนิดในหนูทดลองที่แม่หนูถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง ดังแสดงในบทความเรื่อง Effect of Cyanogenic Glycosides and Protein Content in Cassava Diets on Hamster Prenatal Development ในวารสาร Fundamental and Applied Toxicology ของปี 1986 ซึ่งรายงานผลการศึกษาที่ให้หนูแฮมสเตอร์ในช่วงวันที่ 3-14 ของการตั้งท้องได้รับอาหารทดลองซึ่งประกอบด้วยมันสำปะหลังป่น (ชนิด sweet cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์ต่ำหรือ bitter cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์สูง) 80 ส่วนและอาหารหนูปรกติ 20 ส่วน พร้อมมีกลุ่มควบคุมได้รับอาหารปรกติซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับอาหารทดลองแล้วผลการศึกษาพบว่า ความเข้มข้นของไทโอไซยาเนตเพิ่มขึ้นสูงในปัสสาวะ เลือด และในเนื้อเยื่อทั้งตัวของลูกหนูที่แม่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารทดลองมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับหลักฐานของความเป็นพิษที่เกิดต่อลูกในท้องนั้นพบว่า การสร้างกระดูกหลายส่วนในลูกหนูลดลง อีกทั้งอาหารมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาไนด์สูงยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนลูกสัตว์แคระแกรนเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของแม่หนูที่กินอาหารปรกติ         ประเด็นว่าโดยทั่วไปผู้บริโภคควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากไซยาไนด์ที่ได้รับจากอาหารที่กินในชีวิตประจำวันนั้น มีหลายการศึกษาพบว่า ผลกระทบของสารประกอบไซยาไนด์ระดับต่ำมักส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์เฉพาะเมื่อมีภาวะโภชนาการไม่ดี ทั้งนี้เพราะอาหารที่มีโปรตีนสมบูรณ์ (ซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ) ในปริมาณที่เพียงพอมักช่วยแก้ปัญหาจากการที่ผู้บริโภคได้รับสารประกอบไซยาไนด์จากอาหาร         มีรายงานถึงประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ อีกที่คาดว่าเป็นผลกระทบทางอ้อมเกี่ยวกับการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ซึ่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำคือ บทความเรื่อง Association between maternal hypothyroidism and autism spectrum disorders in children ในวารสาร Pediatric RESEARCH ของปี 2018 ได้รายงานผลการศึกษาแบบ retrospective cohort study โดยใช้การจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน 397,201 คน ที่คลอดตั้งแต่ปี 1991 ถึงปี 2011 และยังคงเป็นสมาชิกแผนสุขภาพตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2014 ซึ่งพบว่า บุตรของสตรีที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำมีอัตราความผิดปกติในลักษณะของออทิสติกสูงเป็น 1.31 เท่าของบุตรของสตรีปรกติ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยการมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะการมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำของแม่นั้นมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของออทิสติกทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ปุ๊นหนักหัวใจวายได้นะ

        ปุ๊นนั้นเป็นคำที่นักการเมืองคนหนึ่งกล่าวในการหาเสียงสมัยเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผู้เขียนตีความทั้งจากฟังการหาเสียงและเคยอ่านพบในหลายบทความเกี่ยวกับกัญชาว่า “ปุ๊น” น่าจะหมายถึงการสูบกัญชา (กริยา) ก็ได้หรือหมายถึงตัวกัญชา (นาม) ก็ได้ ในประเด็นหลังนี้เว็บ https://siamrath.co.th เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 มีบทความหนึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า วัยรุ่นโบราณมักเรียกกัญชาว่า "เนื้อ" หรือ "ปุ๊น" หรือ "ใบหญ้าร่าเริง" และวัยรุ่นสมัยต่อมาบางกลุ่มเรียกกัญชาว่า "ชาเขียว" หรือ "หนม" เหตุที่เรียกกัญชาเพราะว่า"เนื้อ" เพราะกลิ่นกัญชาจากการสูบที่ลอยมาหอมคล้ายเนื้อวัวย่าง (ประเด็นนี้น่าจะขึ้นกับความชอบส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่า) บทความนั้นกล่าวต่อประมาณว่า สายเขียวมักไม่สูบกัญชาเพียว ๆ เลยเพราะแรงเกินไป ต้องเอากัญชามายำก่อนกับเครื่องยำหลากหลาย เช่น ยาเส้นในบุหรี่ โดยใช้นิ้วคลึงผสมในสัดส่วนที่พึงใจแล้วบีบอัดให้แน่น ก่อนใช้มีดซอยให้ละเอียด อาจพลิกแพลงเอาเหล้าพรมหรือใส่สารเสพติดอื่นๆ เข้าไป แล้วพันลำลงบ้องไม้ไผ่เพื่อสูบ ซึ่งหลังเสพในระยะแรกจะล่องลอย ร่าเริง หัวเราะง่าย เนื่องจากฤทธิ์ของ Tetrahydrocannabinol (THC) หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว กัญชาจะออกฤทธิ์กดประสาทจนทำให้ลิ้นเริ่มพันกัน พูดไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม         เป็นที่ตระหนักกันดีว่าไม่มีอะไรในโลกที่ดีเลิศเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับเหรียญย่อมมีสองด้าน กัญชาก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการพร่ำพรรณาถึงความดีของกัญชาในทางการแพทย์บางประการ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพย่อมมีออกมาบ้างเช่น มีงานวิจัยใหม่ที่แสดงถึงปัญหาของยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชาต่อโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยในการศึกษาเชิงสังเกตตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง Cannabis, cocaine, methamphetamine, and opiates increase the risk of incident atrial fibrillation (กัญชา โคเคน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว) ในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งได้ตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน (หรือยาบ้า) โคเคน ฝิ่น และกัญชา แล้วพบความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในความเสี่ยงสำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation)  ผลข้างเคียงของยาดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะที่เกิดทันทีหรือไม่เกิดทันที อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ให้หลักฐานที่แสดงว่า การใช้สารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงระยะยาวในการเกิดโรคเรื้อรังซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในแบบที่มักจะเป็นไปตลอดชีวิต         ข้อมูลทางการแพทย์ในบทความต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตอธิบายประมาณว่า อาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนั้นคือ ภาวะที่มีการกระตุ้นการทำงานของหัวใจห้องบนแบบผิดปรกติซึ่งมีการกระตุ้นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนไม่เป็นตามระบบที่ควรเป็น ตามมาด้วยการที่หัวใจเต้นเร็วแบบไม่สม่ำเสมอ มีแรงบีบต่ำกว่าปรกติ ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คือ หัวใจสูบฉีดเลือดออกได้ลดลง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้การที่เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดแล้วหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักเกิดถึงร้อยละ 5-15 ของกลุ่มคนอายุ 80-90 ปี แต่การศึกษาใหม่ที่นำมาเล่าในบทความนี้พบว่า คนที่ใช้ยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดอาการดังกล่าว         งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์เป็นบทความในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งนักวิจัยใช้แบบสอบถามหาข้อมูลจากชาวแคลิฟอร์เนียอายุเกิน 18 ปี จำนวน 23,561,884 คน ที่มีความจำเป็นต้องเข้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือใช้บริการการผ่าตัดผู้ป่วยนอก หรือเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ถึงธันวาคม 2015 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูล 98,271 คนเสพเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 48,701 รายเสพโคเคน, 10,032 รายเสพฝิ่น และ 132,834 รายเสพกัญชา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลาการศึกษา 10 ปี ผู้ให้ข้อมูลที่เคยใช้ยาเสพติด 998,747 คน (4.2%) ซึ่งไม่เคยมีอาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมาก่อน ได้เริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจากการติดตามนาน 10 ปี         สำหรับผลสรุปของการศึกษานั้นนักวิจัยพบว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น 86% ถ้ามีมีการใช้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 74% ถ้ามีการใช้ฝิ่น, 61% ถ้ามีการใช้โคเคน และ 35% ถ้ามีการใช้กัญชาซึ่งผู้ทำวิจัยได้กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชา (นอกเหนือไปจากยาเสพติดอื่น) และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว         ในบทความดังกล่าวนั้นผู้ทำวิจัยได้พยายามอธิบายถึงกลไกที่สารเสพติดทั้งหลายมีอิทธิพลต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วว่า เกิดเนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับหนึ่งต่อการทำงานของหัวใจในลักษณะการปรับตัวทางไฟฟ้า (electrical remodeling) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของช่องทางเข้าออกของไอออนเฉพาะที่เซลล์ประสาท ดังที่เคยมีการศึกษาเรื่อง Cannabinoid interactions with ion channels and receptors (ปฏิสัมพันธ์ของแคนนาบินอยด์ต่อช่องไอออนและตัวรับ) ในวารสาร Channels ของปี 2019 ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่า สารสำคัญดังกล่าวในกัญชาน่าจะมีผลต่อการปรับตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane fluidity) ซึ่งส่งผลถึงการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท         นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งใช้สัตว์ทดลองในบทความเรื่อง Cannabidiol Impairs Brain Mitochondrial Metabolism and Neuronal Integrity (แคนนาบิไดออลบั่นทอนเมตาบอลิซึมของไมโทคอนเดรียในสมองและความสมบูรณ์ของเส้นประสาท) ในวารสาร Cannabis and Cannabinoid Research ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า สาร CBD (ซึ่งมีในกัญชาเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลในการออกฤทธิ์ของสาร THC) ในระดับความเข้มข้นต่ำเป็นไมโครโมลาร์นั้นมีผลต่อการลดระดับการสร้างพลังงาน (mitochondrial respiration) ของไมโทคอนเดรียโดยปรับเปลี่ยนการซึมผ่านผนังของไมโทคอนเดรียของสารชีวเคมี ซึ่งรวมถึงการดูดซึมแคลเซียมและยับยั้งช่องทางเข้าออกของอนุมูลคลอไรด์ของไมโตคอนเดรีย จนน่าจะทำให้ปริมาณแคลเซียมในไมโทคอนเดรียลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเซลล์ cardiac myocytes ซึ่งเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผลที่ตามมาคือ การทำงานของเซลล์นั้นคงผิดปรกติหรือหมดประสิทธิภาพ         กล่าวกันว่าผลการศึกษาที่รายงานนั้นเป็นแนวทางสำคัญต่อการวิจัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในอนาคต โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้เพียงแต่มากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้น ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการใช้สารเสพติดเหล่านี้ซ้ำๆ และเรื้อรังทำให้ผู้ทำวิจัยจำเป็นต้องทำการแยกแยะว่า รูปแบบการบริโภคกัญชาที่ต่างกันนั้นมีผลต่อภาวะทางสุขภาพที่เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงสังเกตแบบย้อนกลับ (เกิดผลแล้วตามหาเหตุ) เช่นนี้ คนที่มีอคติอยู่แล้วว่ากัญชาเป็นของดีอาจไม่ยอมรับ ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่วางแผนเพื่อดูผลที่เกิดในอนาคตหลังจากการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ไว้ไม่ให้แสดงปัญหา         ข้อจำกัดสำหรับการค้นพบในการศึกษานี้คือ เนื่องจากเป็นการศึกษาในลักษณะที่ต้องการตรวจสอบการใช้สารต่าง ๆ ที่อาศัยความร่วมมือในการรายงานด้วยตนเองของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งบางกรณีอาจไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อใดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายผู้ให้ข้อมูลอาจกังวลผลทางกฏหมายที่อาจตามมาหลังการให้ข้อมูล ดังนั้นการศึกษาที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ผู้วิจัยจึงใช้การเข้ารหัสด้านการดูแลสุขภาพจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ จากการตรวจวัดทางคลินิกเป็นหลักฐานโดยไม่เชื่อมโยงไปถึงผู้ให้ข้อมูล         ในสถานะการที่ผู้คนซึ่งชื่นชอบการสูบกัญชาพบว่า มีการเพิ่มแง่มุมทางกฎหมายจนเสมือนเป็นการเปิดไฟเขียวในสิ่งที่เขาทั้งหลายชอบ การคำนึงถึงผลด้านสุขภาพที่เคยรับรู้กันมาในอดีตอาจถูกบิดเบือนให้ลืมไป ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะกลายเป็นประเด็นหลักของปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสังคมที่รุนแรง อีกทั้งสิ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในงานวิจัยเกี่ยวกับสารเสพติดคือ ไม่สามารถระบุประเภทหรือปริมาณเมื่อมีการใช้สารเสพติดหลายชนิดผสมกันจนทำให้ยากที่จะระบุถึงปริมาณที่มีการใช้ต่อปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 น้ำตาลเทียมก่อโรค..???

        มีข่าวออนไลน์เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่แปลผลจากการศึกษาว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชื่อ อิริทริทอล (erythritol) อาจเป็นปัจจัยต่อความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดไปจนถึงคนธรรมดาที่เลือกกินอาหารคีโต (Ketogenic diet) เพื่อปรับปรุงน้ำหนักตัวให้เหมาะสม         อาหารคีโต คืออาหารที่ถูกปรับลดคาร์โบไฮเดรตจนคำนวณได้ว่ามีการกินไม่เกิน 50 กรัม/วัน และเน้นกินไขมันและโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายผลิตสารคีโตน (ketone bodies) จากไขมันเนื่องจากมีการใช้ไขมันทั้งจากอาหารที่กินและสะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทนการใช้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากการย่อยแป้งหรือน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการนำร่างกายเข้าสู่สภาวะคีโตสิส (ketosis) ซึ่งดีร้ายอย่างไรขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่แน่ๆ คือ ผู้กินอาหารคีโตมักพยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายโดยหันมากินน้ำตาลเทียมแทนโดยอิริทริทอลคือตัวเลือกที่นิยมกัน        สำหรับคำโฆษณาที่ใช้ในการขายน้ำตาลอิริทริทอลบนแพลทฟอร์มออนไลน์นั้นมักบอกว่า เป็นสินค้านำเข้าเช่น จากฝรั่งเศส 100% ขนาด 500 กรัม มีราคาเกือบ 200 บาท (น้ำตาลทราย 1000 กรัมราคาเฉลี่ยประมาณ 25 บาท) เหมาะกับผู้บริโภคอาหารคีโต ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไม่กระตุ้นอินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ทำให้ฟันผุเพราะจุลินทรีย์ย่อยอิริธรีทอลได้น้อย ช่วยในการขับถ่ายเพราะสามารถดูดซับน้ำในทางเดินอาหารไว้อย่างช้าๆ เหมือนใยอาหารทั่วๆ ไป (ความจริงคือผลข้างเคียงของน้ำตาลแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่กินมากแล้วทำให้ถ่ายเหลว)         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ดูคล้ายน้ำตาลทรายมาก เพราะผลิตทางเคมีจากน้ำตาลกลูโคส จริงแล้วร่างกายก็สร้างเองได้ในปริมาณน้อย เป็นสารที่มีความหวานราว 60-70% ของน้ำตาลทราย สามารถใช้ในการผลิตขนมอบได้แบบเนียนๆ ไม่แสดงผล aftertaste (หวานติดคอน่ารำคาญ) ในผู้บริโภค ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและมีฤทธิ์เป็นยาระบายน้อยกว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์อื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารคีโตและอาหารชนิดที่มีน้ำตาลต่ำซึ่งขายแก่ผู้ป่วยเบาหวาน         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มักถูกนำไปใช้ผสมกับสารสกัดจากหญ้าหวาน (stevioside) หรือกับสารสกัดหล่อฮังก๊วย (arhat fruit, Buddha fruit, monk fruit หรือ longevity fruit) ทั้งนี้เพราะสารสกัดทั้งสองมีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 ถึง 400 เท่า เวลาใช้จึงต้องใช้ในปริมาณน้อยทำให้ตวงปริมาณยาก จำต้องใช้อิริทริทอลซึ่งมีลักษณะหลอกตาดูคล้ายน้ำตาลทำหน้าที่เป็นเนื้อสัมผัสเพื่อให้ปริมาณสารให้ความหวานหลักถูกใช้ในปริมาณไม่มากจนเกินควร         สำหรับงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า การกินอิริทริทอลอาจเป็นปัจจัยก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ บทความเรื่อง The artificial sweetener erythritol and cardiovascular event risk ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้นเป็นการรายงานความเชื่อมโยงระหว่างอิริทริทอลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง         คำถามที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลคือ เหตุใดอยู่ดี ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้จึงสนใจว่า อิริทริทอลส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งที่น้ำตาลเทียมชนิดนี้มีการใช้มานานพอควรและดูว่าไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ แต่เมื่อตามดูบทความที่ผู้ทำวิจัยหลักให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ New York Times และ CNN ทำให้ได้ข้อมูลว่า จริงแล้วก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว ผู้ทำวิจัยได้ทำงานวิจัยก่อนหน้าที่ต้องการค้นหาว่า มีสารเคมีหรือสารประกอบที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนในเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไม่ ที่สามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตภายในระยะเวลาสามปีของการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ของ Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด 1,157 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บรวบรวมระหว่างปี 2004 ถึง 2011 จากอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแล้วพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอิริทริทอลในเลือดในระดับที่น่าสนใจจนนำไปสู่การวิจัยที่เป็นที่มาของบทความวิจัยที่ก่อความกังวลแก่ผู้ที่บริโภคอิริทริทอล         ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้น นักวิจัยได้ตรวจสอบระดับอิริทริทอลในเลือดของคนไข้ 2,149 คนจากสหรัฐอเมริกาและ 833 คนจากยุโรป แล้วพบว่าอาสาสมัคร (ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี เป็นหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง) มีความเข้มข้นของอิริทริทอลในเลือดสูง แล้วเมื่อทดลองเติมอิริทรีทอลลงในตัวอย่างเลือดหรือเกล็ดเลือดที่แยกออกมา (ซึ่งเกล็ดเลือดนั้นเป็นองค์ประกอบในเลือดที่เกาะกันเป็นก้อนเพื่อหยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดแผลและทำให้เกิดเลือดอุดตันในบางโรค) ในหลอดทดลองผลที่ได้ปรากฏว่า อิริทรีทอลทำให้เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นง่ายขึ้นในการจับตัวเป็นก้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในร่างกายอาจแตกออกจากกันแล้วไหลไปในหลอดเลือดเดินทางไปยังหัวใจ ซึ่งถ้ามีการตกตะกอนในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือถ้าไปตกตะกอนในเส้นเลือดสมองจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้         นอกจากนี้นักวิจัยได้ให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 8 คน กินอิริทริทอลในปริมาณเดียวกับที่พบได้เมื่อกินอาหารที่ใช้สารให้ความหวานนี้ เพื่อลองกระตุ้นให้ระดับอิริทริทอลในน้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่ (นานมากกว่า 2 วัน) ซึ่งคำนวณแล้วว่า สูงกว่าขนาดที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดทดลอง ส่งผลให้ผู้วิจัยประเมินว่า อิริทริทอลนั้นน่าจะเพิ่มปริมาณให้สูงได้ในร่างกายจากการกินอาหารจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความเสี่ยงอันตรายของหัวใจที่เกิดขึ้น ทำให้น่าจะศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัยในระยะยาวของอิริทริทอลเพิ่มเติม         มีการตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยดังกล่าวในหลายบทความในอินเตอร์เน็ทว่า ข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษาคือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการต่อการเป็นโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่ใช่สาเหตุ (causation) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง erythritol และความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พิสูจน์ว่า สารให้ความหวานนี้ทำให้เกิดโรคเพราะผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียมนี้ในปริมาณสูงเพื่อพยายามลดการกินน้ำตาลทรายให้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ดีคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทดลองให้คนสุขภาพปรกติกินสารให้ความหวานนี้จนอยู่ในสถานะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ยกเว้นทำการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีกระบวนการทางสรีรภาพคล้ายมนุษย์         ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากพวกเขามีระดับอิริทริทอลในเลือดสูง และผลการศึกษานี้ดูขัดแย้งกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายทศวรรษที่แสดงว่า สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างอิริทริทอลนั้นปลอดภัย จนได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม         ก่อนหน้านี้ในปี 2022 วารสาร BMJ ได้มีบทความเรื่อง Artificial sweeteners and risk of cardiovascular diseases: results from the prospective NutriNet-Santé cohort ได้รายงานผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานเทียมจากเครื่องดื่ม (แอสปาร์แตม อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม หรือซูคราโลส) สารให้ความหวานบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ ต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 103 388 คนจาก NutriNet-Santé cohort (เป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของอาสาสมัครประมาณ 171,000 คนที่เปิดตัวในฝรั่งเศสในปี 2009 เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางโภชนาการซึ่งหมายถึงการกินอยู่ตามปรกติและสุขภาพ) ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42.2 ปี ที่มีร้อยละ 79.8 เป็นเพศหญิง โดยข้อมูลการกินสารให้ความหวานเทียมได้รับการประเมินโดยบันทึกจากการกินอาหารใน 24 ชั่วโมงมากกว่า 1 ครั้ง และจากการประเมินผลได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงที่เป็นไปได้ระหว่างการกินสารให้ความหวานเทียมที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะแอสปาร์แตม อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม และซูคราโลส) และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดีสารให้ความหวานเหล่านี้ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่และกำลังได้รับการประเมินใหม่โดย European Food Safety Authority, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ         การกำหนดปริมาณการกินอิริทริทอลในอาหารนั้นเริ่มในปี พ.ศ. 1999 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุเจือปนอาหารแห่งสหประชาชาติ (JECFA) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การอาหารและการเกษตรและองค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงในการกินอิริทริทอลและกำหนด ปริมาณที่ยอมรับได้ต่อวัน (acceptable daily intake หรือ ADI) เป็น "ไม่ระบุ (not specified)" ซึ่งต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EU Scientific Committee on Food) สรุปว่า อิริทริทอลนั้นปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหาร การอนุมัติอิริทริทอลของสหภาพยุโรปยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้อิริทริทอลในเครื่องดื่ม เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรประบุว่า อาจมีผลข้างเคียงเกินเกณฑ์ของยาระบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ได้รับอิริทริทอลจากเครื่องดื่มในปริมาณสูง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ซักก่อนใส่

        หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก         ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน         มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง         นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า                 MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้         นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน         บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด        ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย         การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 %              ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่        นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550        เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)

อ่านเพิ่มเติม >