ฉบับที่ 146 เรื่องของหัวใจ

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนค่อนข้างอิหลักอิเหลื่อ เพราะบางส่วนที่แพทย์ท่านนี้เสนอก็อาจเป็นจริงได้ เช่น ในเรื่องของการอักเสบเรื้อรังนั้นอาจเป็นสาเหตุของการตีบตันของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แต่หลายส่วนก็ยังตั้งคำถามไว้เพราะไม่ค่อยมั่นใจ ผู้เขียนได้รับจดหมายเวียนจากเพื่อนในที่ทำงาน แนบบทความซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแล้วเรื่อง Heart Surgeon Speaks Out On What Really Causes Heart Disease โดยถามถึงความน่าเชื่อถือของบทความนี้ ซึ่งเมื่อตามหาตัวจริงของบทความปรากฏพบได้ในบางเว็บ เช่น http://www.sott.net/article/ 242516-Heart-Surgeon-Speaks-Out-On-What-Really-Causes-Heart-Disease หรือเข้าไปดูใน The Great Cholesterol Lie (http://thecholesterollie.com) ก็พบว่าศัลยแพทย์ที่เป็นต้นตอข่าวคือ Dr. Dwight Lundell อดีตหัวหน้าทีมแพทย์ผ่าตัดที่โรงพยาบาล Banner Heart Hospital เมือง Mesa รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกาข้อมูลที่เป็นข่าวนั้นมาจากหนังสือที่แพทย์ดังกล่าวเขียนเอง โดยมีประเด็นน่าสนใจว่า แม้ประชากรในสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ย 25% กินยาลดไขมันกลุ่ม statin พร้อมกับการลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังปรากฏว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอันเนื่องจากโรคหัวใจภายในรอบเวลา 60 ปี นั้นมากที่สุดเป็นประวัติการ โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 75 ล้านคน ในเรื่องการเกิดโรคหัวใจนั้น Dr. Dwight Lundell ตั้งสมมุติฐานว่า หากไม่มีการอักเสบเกิดขึ้นที่ส่วนใดในร่างกาย โคเลสเตอรอลจะไม่ตกตะกอนทำให้หลอดเลี้ยงหัวใจเลือดตีบ ดังนั้นการอักเสบจึงน่าจะเป็นต้นเหตุให้โคเลสเตอรอลกลายเป็นตะกรันจับยึดติดผนังภายในหลอดเลือด การอักเสบคือ กระบวนการปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เพื่อต่อสู้รับมือกับสิ่งแปลกปลอมที่รุกรานเข้ามาในร่างกาย เช่น เชื้อโรค สารแปลกปลอมหรือสารพิษต่างๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่กระบวนการอักเสบกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง มันก็คือ อันตรายที่แท้จริง ตัวการในอาหารที่น่าจะเป็นต้นเหตุของปัญหาในกรณีนี้คือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fats) ที่อยู่ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน โดยที่ไขมันพวกนี้เป็นต้นตอของอนุมูลอิสระได้ Dr. Dwight Lundell เสนอให้เลิกเชื่อว่า ไขมันอิ่มตัวทำให้เป็นโรคหัวใจโดยไขมันอิ่มตัวทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นและกล่าวหาว่า วงการแพทย์หลงผิดและเผยแพร่ความเชื่อว่า สาเหตุการเกิดอาการหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบนั้นเกิดจากโคเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวนั้น ทำให้อุตสาหกรรมอาหารเกาะกระแสส่งเสริมน้ำมันพืชว่า ต้องเป็นไขมันไม่อิ่มตัว อุดมด้วยไขมันโอเมก้า-6 บางชนิด ทั้งยังโหนกระแสว่ามีไขมันโอเมก้า-3 อีกต่างหากที่เป็นของดีต่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ฝากชีวิตไว้กับไขมันไม่อิ่มตัวทั้งหลาย ก่อนอื่นเราควรต้องทำความรู้จักกับ Dr. Dwight Lundell ผู้กล้าออกมาจุดกระแสค้านในเรื่องที่วงการแพทย์ทั่วไปยอมรับ จากบทความเรื่อง A Skeptical Look at Dwight Lundell, M.D. ใน www.quackwatch.com ซึ่งเขียนโดย Dr. Stephen Barrett กล่าวว่า หลังจากที่ Dr. Lundell จบแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอริโซนาในปี 1971 ก็ไปเป็นแพทย์ประจำบ้านในภาควิชาศัลยศาสตร์ทรวงอกของมหาวิทยาลัยเยล 2 ปี จากนั้นทำงานผ่าตัดหัวใจคนมาด้วยดีราว 5,000 ราย จนสุดท้ายก็เกษียณในปี 2004 และในปี 2007 ก็ได้เขียนหนังสือชื่อ The cure for heart disease ซึ่งร้านหนังสือออนไลน์คือ Amazon Books บอกว่าเป็นหนังสือที่แหวกแนวที่สุดในเรื่องโรคหัวใจ เพราะมีการแนะนำการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูง แป้งน้อย กินยาแอสไพรินขนาดต่ำเป็นประจำ กินน้ำมันปลาและ conjugated linoleic acid (หรือ CLA) เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ Dr. Lundell นี้ได้ประสบวิบากกรรมในเรื่องการประกอบวิชาชีพศัลยแพทย์ในช่วงท้ายของชีวิต โดยในปี 2000 เขาถูกแพทยสภาของรัฐอริโซนาปรับเงิน $2,500 โดนคุมประพฤติ และให้ไปฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำบันทึกการรักษาผู้รับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ จากนั้นในปี 2003 แพทยสภาฯ ก็ยังกล่าวหาอีกว่า Dr. Lundell นั้นประเมินคนไข้ก่อนทำการรักษาไม่สมบูรณ์ และเหตุการณ์ก็มาซ้ำร้ายในปี 2004 ที่การบันทึกผลการรักษาคนไข้ไม่สมบูรณ์แบบของแพทย์ผู้นี้ถูกตรวจพบอีก จนสุดท้าย Dr. Lundell ก็ถูกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในปี 2008 ที่สำคัญ Dr. Lundell ยังเจอปัญหาการถูกฟ้องล้มละลาย ปัญหาบัตรเครดิต และการแจ้งเท็จในการจ่ายภาษีประจำปีด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับ Dr. Lundell นี้จะจริงเท็จเพียงใดผู้รับผิดชอบคือ Dr. Stephen Barrett ซึ่งเขียนไว้ในเว็บที่ระบุข้างต้น กลับมาที่ประเด็นคำแนะนำของ Dr. Lundell นั้นว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนค่อนข้างอิหลักอิเหลื่อ เพราะบางส่วนที่แพทย์ท่านนี้เสนอก็อาจเป็นจริงได้ เช่น ในเรื่องของการอักเสบเรื้อรังนั้นอาจเป็นสาเหตุของการตีบตันของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แต่หลายส่วนก็ยังตั้งคำถามไว้เพราะไม่ค่อยมั่นใจ ผู้เขียนเคยพบบทความวิชาการเรื่องหนึ่งที่ตั้งสมมุติฐานว่า การขาดสารต้านอนุมูลอิสระนั้นเป็นหนึ่งของปัจจัยในการเกิดปัญหาหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน โดยอาศัยความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์ว่า เลือดเป็นของเหลวที่มีองค์ประกอบต่างๆ ทั้งโปรตีน เม็ดเลือดและสารอื่นๆ ไหลไปตามหลอดเลือดในลักษณะที่พื้นที่หน้าตัดของไหลส่วนตรงกลางไปเร็วกว่าส่วนที่ติดด้านข้างของหลอดเลือด เนื่องจากผนังหลอดเลือดมีความต้านที่สูงกว่าบริเวณกลางหลอดเลือด ดังนั้นถ้าผนังหลอดเลือดขรุขระ โอกาสที่ไขมันและอื่นๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำเลือดจะตกตะกอนเกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ โอกาสที่ผนังหลอดเลือดจะขรุขระนั้น สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นได้คือ การที่ผนังของเซลล์ที่เรียงเป็นผนังหลอดเลือดนั้นเสียหายเนื่องจากองค์ประกอบที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acid) ถูกอนุมูลอิสระทำลาย จะเกิดสภาพที่เรียกด้วยศัพท์ทางชีววิทยาการแพทย์ว่า พล๊าก (Plaque) ซึ่งมีสภาพขรุขระ ดังนั้นถ้าเรากินสารต้านอนุมูลอิสระมากพอ โอกาสเกิดพล๊ากก็น่าจะลดลง ด้วยเหตุนี้คำแนะนำในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดสภาพหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบันข้อหนึ่งคือ การบริโภคผักผลไม้ที่มีสีสด เพราะอาหารกลุ่มนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติสูง นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยเรื่อง Bilberry anthocyanin-rich extract alters expression of genes related to atherosclerosis development in aorta of apo E-deficient mice ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition, Metabolism & Cardiovascular Diseases ชุดที่ 22 หน้า 70-80 ในปี 2012 ซึ่งมีการกล่าวว่า สารแอนโทไซยานินในผลบิลเบอรี่นั้น สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจผ่านหลายกระบวนการ สำหรับกระบวนการที่น่าสนใจในบทความดังกล่าวนั้นเสนอว่า แอนโทไซยานินสามารถกระตุ้นให้ยีนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเคลื่อนตัวผ่านรอยต่อระหว่างเซลล์ที่ประกอบเป็นผนังหลอดเลือดเข้าไปยังเนื้อเยื่อที่เป็นหลอดเลือด(เพื่อทำงานเมื่อเกิดการอักเสบ) ได้ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะถ้าระบบดังกล่าวทำงานได้ไม่ดี เซลล์เม็ดเลือดขาวจะเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด(โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ) แล้วทำการจับไขมันต่างๆ รวมทั้งโคเลสเตอรอลที่ลอยตามกระแสเลือดจนเปลี่ยนกลายเป็น foam cell (เซลล์มีลักษณะบวมพองเต็มไปด้วยไขมัน) เกาะที่ผนังหลอดเลือดแล้วกลายเป็นพล๊ากในที่สุด จากตัวอย่างสมมุติฐานที่ผู้เขียนยกตัวอย่างให้เห็นนั้น ทำให้เห็นว่าหลักการที่ Dr. Lundell กล่าวถึงมีความน่าจะเป็นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ ความน่าเชื่อถือของตัว Dr. Lundell เอง จึงทำให้เกิดการโต้แย้งในสมมุติฐานดังกล่าวจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดีความรู้จากการศึกษาและวิจัยในปัจจุบันก็ยอมรับกันแล้วว่า การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระสูงจากอาหารธรรมดา(ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) นั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากความเสื่อมเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งได้เป็นอย่างดี ท่านผู้อ่านจึงควรปฏิบัติตามนี้ไปก่อน โดยไม่ต้องเสียเวลารอให้มีใครมาอธิบายถึงกระบวนการเชิงลึกว่าเป็นอย่างไร เพราะอาจสายเกินแก้  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 ไทยพีบีเอส ขายตรง และผู้บริโภค

  บางประเทศมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของผู้ขายตรงว่า เมื่อเอาสินค้าให้ผู้บริโภคทดลองใช้แล้ว ห้ามไปยุ่งกับผู้บริโภคเลยภายใน 15 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณในการซื้อสินค้าว่า ควรซื้อหรือไม่   ผู้เขียนเป็นนักดูโทรทัศน์ที่ชอบสถานีไทยพีบีเอสมาก เพราะไม่มีโฆษณา ยกเว้นการแจ้งว่ามีรายการอะไรที่จะออกอากาศวันเวลาใด ซึ่งก็ดี เพราะหลายครั้งผู้เขียนก็จำไม่ได้ว่า บางรายการยังออกอากาศอยู่หรือไม่ เนื่องจากไทยพีบีเอสมักประพฤติตนประหลาดๆ ที่ย้ายบางรายการที่ผู้เขียนกำลังติดตามอยู่ดีๆ ไปออกอากาศเสียดึก ทำให้ไม่ได้ดูเพราะผู้เขียนต้องเข้านอนประมาณสี่ทุ่ม หรือบางที่ก็สลับวันโดยไม่ได้บอกเหตุผลที่ชัดเจน   แต่มีรายการหนึ่งของไทยพีบีเอสที่คนในครอบครัวลงความเห็นว่า น่ารำคาญมาก คือ รายการ เปิดบ้านไทยพีบีเอส ในวันเสาร์-อาทิตย์หลังข่าวค่ำ ที่ดูเป็นรายการสำหรับการแก้ตัวของสถานีเวลาที่ไทยพีบีเอสถูกผู้ชมทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องของบางรายการ ซึ่งบางครั้งการแก้ตัวก็ฟังขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักจะทำให้คนในบ้านหงุดหงิด เช่น นานมาแล้วมีนักวิชาการด้านสัตววิทยาทักท้วงประมาณว่า มีรายการหนึ่งพูดถึงแมลงชนิดหนึ่งผิดไป เนื่องจากคนแปลบทพากษ์เข้าใจผิด จึงส่งจดหมายอธิบายความทางวิชาการให้เพื่อความถูกต้อง แต่คนของไทยพีบีเอสออกมาแก้ตัวแบบฟังแล้ว นักวิชาการส่วนใหญ่คงคิดเหมือนผู้เขียนว่า ปล่อยมันไปเถอะ และปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดหลายครั้ง จนทำให้คนในครอบครัวผู้เขียนตัดปัญหารำคาญใจไม่ดูรายการนี้ ย้ายไปดูช่องอื่นแล้วคำนวณเวลาว่า รายการเปิดบ้านไทยพีบีเอสจบหรือยังจึงกลับไปดูไทยพีบีเอสต่อ เนื่องจากชอบดูรายการ ทันโลก ของคุณชัยรัตน์ ถมยา   แต่เมื่อ 27 มกราคม 2556 นี้ที่ผู้เขียนกดรีโมทเปลี่ยนหนีรายการ เปิดบ้านไทยพีบีเอสไม่ทัน เลยรับฟังการแก้ตัวเกี่ยวกับการที่มีผู้ชมติชมไปยังไทยพีบีเอสว่า ไม่ควรเอาเรื่องเกี่ยวกับการขายตรงมาลบหลู่ เพราะกระเทือนใจผู้ประกอบอาชีพนี้เป็นอย่างยิ่ง   รายการที่ชาวขายตรงกล่าวถึงนั้นคือ ลูกไม้หลายหลายต้น ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับครอบครัว ซึ่งดูในภาพรวมแล้วค่อนข้างดี บ่อยครั้งที่ผู้เขียนหลงไปดูอยู่เหมือนกัน และสำหรับตอนที่ถูกชาวขายตรงอ้างถึงว่าลบหลู่วิชาชีพนั้น ผู้เขียนก็ดูผาดๆ คือ ไม่สนใจมากนัก แต่ในใจก็นึกชมคนผลิตรายการว่า เอาซะบ้างก็ดี เพราะในเรื่องนั้นเป็นการสอนให้เยาวชนรู้จักความแตกต่างระหว่าง การขายตรงและแชร์ลูกโซ่   ในรายการเปิดบ้านไทยพีบีเอสวันนั้น ผู้ชี้แจงได้พยายามอธิบายความว่า สองเรื่องนั้นมันต่างกัน โดยตีประเด็นตรงๆ ว่า แชร์ลูกโซ่นั้นเป็นการหลอกลวง เพราะผู้เข้าร่วมวงการนี้ต้องหาสมาชิกมาต่อยอดให้ได้ เนื่องจากเงินที่จ่ายให้สมาชิกเก่าจะมาจากสมาชิกใหม่ ถ้าขาดสมาชิกใหม่เมื่อใด แชร์จะล้มลงทันทีและทำให้สมาชิกใหม่แทบฆ่าตัวตายมานักต่อนักแล้ว   ส่วนการขายตรงนั้นเป็นธุรกิจขายสินค้า ซึ่งไม่ได้เปิดเป็นร้านจริงจังแต่มีความเป็นบริษัท มีสินค้าจริง ขึ้นแต่ว่าสินค้านั้นจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ดังนั้นคนขายตรงจึงมีหลายประเภทคละกัน คือ ทั้งดีและไม่ดีตามประเภทสินค้า ความรู้เกี่ยวกับการขายตรงและแชร์ลูกโซ่นั้น ท่านผู้อ่านสามารถหาความรู้ได้จาก ขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ (www.youtube.com/watch?v= sxGYVcsuZ1Q) และ แชร์ลูกโซ่หลอกครูอีสาน (www.youtube.com/watch?v=Jub7sJRbNzg) ทำไมการขายตรงจึงยังเป็นที่รังเกียจของคนหลายคน เหตุผลหาได้ไม่ยากเพราะ ถ้าใครเจอคนที่มีอาชีพขายตรงแล้ว มักเจอปัญหาในลักษณะที่ว่า ตื้อเท่านั้นที่จะครองโลก จึงทำให้ในบางประเทศมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของผู้ขายตรงว่า เมื่อเอาสินค้าให้ผู้บริโภคทดลองใช้แล้ว ห้ามไปยุ่งกับผู้บริโภคเลยภายใน 15 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณในการซื้อสินค้าว่า ควรซื้อหรือไม่ ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด กฎหมายนี้เป็นของประเทศมาเลเชีย   ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ขายตรงในปัจจุบันอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาคือ การขายตรงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยผู้ขายเองก็ไม่รู้ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นจริง ๆ แล้ว กินดีหรือไม่ รู้แต่ว่า ถ้าขายได้ ก็ได้ค่านายหน้าเท่านั้นเอง ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่ผู้ทำหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหวั่นใจมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาล   ในสหรัฐอเมริกา ดร. Joan E. DaVanzo และคณะได้ทำรายงานเรื่อง The Economic Contribution of the Dietary Supplement Industry: Analyses of the Economic Benefits to the U.S. Economy ให้แก่ Natural Products Foundation’s Dietary Supplement Information Bureau (DSIB) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ค้ากำไรเมื่อ 7 พฤษภาคม  ปี 2009 ว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีมูลค่าการค้าต่อปีมากกว่าสองหมื่นล้านเหรียญตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและโภชนาการที่ขายในสหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราการเจริญเติบโตราวร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งเป็นคุณต่อสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา   ในรายงานฉบับเดียวกันได้ให้เหตุผลหลักๆ ว่าคนอเมริกันกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพราะมีความสนใจในสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ กระตุ้นระบบภูมิต้านทาน ลดความเสื่อมในการมองเห็น มีกระดูกแข็งแรง หรือป้องกันไม่ให้เด็กที่คลอดออกมาพิการ โดยคิดว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นปลอดภัยกว่ายา อย่างไรก็ดี ในปี 2011 มูลค่าการค้าขายในประเทศของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ตกลงเหลือแค่ 5 พันกว่าล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งคงเป็นเพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแย่กว่าเดิมมากนัก   สำหรับแนวทางในการบริโภคอาหารที่เหมาะสม หรือ Dietary Guidelines for Americans ที่กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกันออกมาเมื่อปี 2010 นั้นไม่ถึงกับปฏิเสธผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเสียทีเดียว เพียงแต่บอกว่า ในบางกรณีการกินอาหารที่มีเติมสารอาหารเฉพาะเพิ่มลงไปหรือกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด อาจจำเป็นในคนที่กินสารอาหารบางชนิดไม่มากเท่าที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ   ประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์อย่างไรที่ใครสักคนจะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกิน เราจะพบว่าส่วนใหญ่ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทนี้กินมักตัดสินใจบนพื้นฐานการชักชวน แนะนำหรือโฆษณาทั้งสิ้น อาจมีส่วนน้อยที่ผู้บริโภคได้รับคำแนะนำจากบุคคลากรสาธารณสุข ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ควรเป็นผู้บริโภคที่ได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและได้รับการซักถามถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารว่า อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่มนุษย์กินกัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน จึงถูกแนะนำ   การบริโภควิตามินในกลุ่มคนไทยที่บางครั้งก็ตอบไม่ได้ว่า กินเข้าไปทำไม เพราะส่วนใหญ่นักเรียน นักศึกษาจะรู้ว่าวิตามินมีประโยชน์ก็จากโฆษณาทางโทรทัศน์ที่บอกว่า แก้อาการผอมแห้งแรงน้อย ทำให้อยากอาหาร ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย   วิตามินนั้นทำงานในร่างกายเราในลักษณะเหมือนน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ กล่าวคือ ต้องมีอาหารเข้าไปในร่างกายก่อน วิตามินจึงทำงานร่วมกับเอนไซม์ในการทำให้อาหารนั้นเกิดประโยชน์ เช่น คาร์โบไฮเดรตและไขมันกลายเป็นพลังงาน โปรตีนถูกเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนซึมเข้าร่างกายไปสู่เซลล์เฉพาะแล้วถูกสร้างขึ้นเป็นโปรตีนใหม่ที่ร่างกายต้องการ เป็นต้น ดังนั้นการกินวิตามินเข้าไปมาก ๆ แต่ขาดสารอาหาร การทำงานของวิตามินก็ไม่เกิดขึ้น   ดังนั้นจึงไม่เป็นการเกินเลยไปนักที่ บางรายการของไทยพีบีเอสจะให้ความรู้และการกล่าวเตือนให้ผู้บริโภคที่ขาดโอกาสมีความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ถูกต้อง สามารถยั้งคิดได้เมื่อถูกชักชวนให้หาอาชีพเสริมซึ่งบางกรณีเป็นอาชีพที่ทำให้ให้เป็นที่รำคาญของบุคคลรอบข้างได้เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 เหยื่อ

หลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อคนฉลาด” ซึ่งถ้าคิดให้ลึกซึ้งต่อไปอีกคือ แล้วทำไมคนโง่จึงเป็นเหยื่อคนฉลาด คำตอบที่ผู้เขียนคิดเอาเองก็คือ เพราะคน(ที่อาจ) โง่นั้นมักคิดว่าตน(อาจ) เป็นคนฉลาด จึงไม่เคยหาความรู้เลยว่า สิ่งที่ตนรู้อยู่นั้นมัน ถูกหรือผิด   คนที่ถูกหลอก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรนั้น มักเกิดเนื่องจากการเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง จนออกอาการที่เราเรียกว่า “ดื้อ” ดังนั้นความดื้อจึงน่าจะเป็นหนทางไปสู่ความโง่   ความดื้อนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิด จะเห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่เราห้ามเด็กเล็กว่า “อย่าทำ  เด็กก็จะทำ” แล้วพอเกิดบาดเจ็บเด็กก็จะร้องไห้ ซึ่งก็จบแค่นั้นเพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้ามนั้นมักไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ถ้าเป็นการห้ามเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งแม้เป็นเพียงข้อแนะนำว่า อะไรน่าจะถูก อะไรน่าจะผิด ผู้ให้คำแนะนำมักถูกตอบโต้(หรือในฐานกรุณาก็แอบคิดในใจ) ประมาณว่า มายุ่งอะไรกับ ข้าพเจ้า มันเรื่องของข้าพเจ้า   ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงไม่ประหลาดใจที่พบหัวข้อข่าวบน คมชัดลึกออนไลน์ ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ว่า “ผู้ป่วยเบาหวานซื้อเอนไซม์ทางเคเบิลมากินถึงตาย หลงเชื่อโฆษณา เลิกกินยาจากโรงพยาบาล ผ่านไป 2 เดือนไตวาย กพย. (ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา) ชี้ผลิตภัณฑ์โฆษณาเกินจริงหัวหมอเลี่ยงกฎหมายเร่งคุมเข้ม”   ที่สำคัญจากเว็บของหนังสือพิมพ์ แนวหน้า เมื่อ 30 ธันวาคม 2555 ได้มีบทความที่กล่าวว่า “กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในปีหน้า  อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นขึ้น เพราะจะมีธุรกิจเคเบิล และทีวีดาวเทียมได้รับใบอนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเกิดขึ้นของ ทีวีดิจิตอล ดังนั้น อนุกรรมการต้องสร้างกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และต้องเร่งสร้างความรู้เท่าทันสื่อผ่านเครือข่ายผู้บริโภค”   ในบทความเดียวกันของ แนวหน้า (www.naewna.com) นั้น มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.เตรียมรับมือกับการขยายตัวของเคเบิล ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอล ในหลายระดับ ตั้งแต่การปรับปรุง พ.ร.บ.อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยเพิ่มโทษปรับความผิดด้านโฆษณา จาก 5,000 บาท เป็นหลักแสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกาขั้นสุดท้าย ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป”   ตัวอย่างข่าวที่ผู้เขียนยกมาให้ดูนั้น เป็นหลักฐานยืนยันว่า ในปีใหม่ 2556 นี้ ถ้ากระบวนการของรัฐไม่สามารถทำได้เต็มความสามารถในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและโภชนาการแล้ว น่าจะมีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันโทรทัศน์หลายช่องออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง และเปิดโอกาสให้มีการโฆษณาขายสินค้าหลอกลวงผู้บริโภคในช่วงที่ผู้กำกับความถูกต้องอาจนอนหลับ (2.00 น. – 5.00 น.) หรือเพิ่งกลับมาจากกินข้าวกลางวัน (13.00 น. – 15.00 น.) หนังท้องยังตึง หนังตายังหย่อน   อีกทั้งใน Youtube เจ้าเก่านั้น ยังเป็นแหล่งเผยแพร่การขายสินค้าด้านอาหารและโภชนาการ โดยมีคนที่เป็นใครก็ไม่รู้ จบอะไรก็ไม่รู้ มาสาธยายความรู้งู ๆ ปลา ๆ อธิบายคุณสมบัติของสินค้าในระดับที่บางครั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้เรียนรู้เฉพาะทางยังไม่เข้าใจ แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ คนที่มาโฆษณาขายสินค้านั้นกลายเป็นคนที่จบการศึกษาสูงหรือเป็นที่ยอมรับในวงสังคม   ใน Youtube นั้นนอกจากคนที่เป็นใครก็ไม่รู้มาหลอกขายของแล้ว ก็ยังมีดารามารับจ้างหารับประทานด้วย ขอให้ท่านผู้อ่านใช้คำค้นหาคลิปว่า “ดารา อาหารเสริม” เมื่อต้องการดูการขายสินค้าแบบไทยๆ  แต่ถ้าต้องการความเป็นอินเตอร์หน่อยก็ใช้คำว่า “celebrity dietary supplement” ท่านก็จะได้ดูอะไรที่บันเทิงไปอีกแบบหนึ่งว่า ดารานั้นนอกจากหลอกเราในหน้าจอภาพยนตร์และโทรทัศน์แล้ว ยังตามมาหลอก (หลอน) ในอินเตอร์เน็ตอีกหลายคน   นอกจากนี้เมื่อดูฟรีทีวีทั้งหลายในเวลาที่เป็นไพร์มไทม์คือ มีคนดูมาก บางครั้งก็มีคนที่บางท่านอาจชื่นชอบมาบอกว่า ให้กินสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยเปิดตู้เย็นออกมามีแต่สินค้าอย่างว่านั้นวางอยู่เต็มตู้ ซึ่งแค่ปลายตาดูก็รู้ว่า ไม่เป็นจริง (ท่านเข้าไปหาดูโฆษณาลักษณะนี้ได้ที่ www.adintrend.com) มีแต่คนเสียสติเท่านั้นที่จะแช่สินค้าชนิดเดียวเต็มตู้เย็น คำถามคือ คนประเภทนี้มีสิทธิมาหลอกผู้บริโภคโดยไม่มีกฎหมายมาจัดการหรืออย่างไร วกกลับมาที่เรื่องเอนไซม์ที่มีผู้ป่วยเลือกบริโภคแล้วเลิกการรักษาแผนปัจจุบันจนตายอีกทีว่า เป็นตัวอย่างที่ฟ้องให้เห็นถึงความล้มเหลวในการศึกษาที่ทำให้คนไทยไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธองค์บทที่ว่าด้วย กาลามสูตร เขาเหล่านั้นจึงขาดการออกกำลังสมองในการคิดว่าสิ่งใดควรถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง   เอนไซมนั้นเป็นโปรตีน ดังนั้นการกินเข้าไปทางปาก ยังไงๆ ก็ถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนแล้วจึงถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต จากนั้นร่างกายก็เอากรดอะมิโนที่ได้ไปใช้ในการสร้างโปรตีนที่ร่างกายต้องการ ซึ่งหลักการนี้สามารถประยุกต์ได้กับสินค้าหลายชนิดเช่น คอลลาเจน (โปรตีน) กลูตาไทโอน (ไตรเป็บไทด์) ซึ่งเป็นสินค้าที่เมื่อกินก็ได้กิน จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกย่อยไปหมด   ปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดได้ต่อผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์แปลกๆ นั้นมีตัวอย่างมากมาย หาอ่านได้ในเว็บ www.quackwatch.com ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีพืชที่เรียกว่า Chaparral เป็นองค์ประกอบ ซึ่งในอนาคตอาจมีใครสักคนนำเข้ามาขายในบ้านเราแบบว่าทางการไม่รู้เรื่องก็ได้   Chaparral หมายถึง พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปเช่น ในสหรัฐอเมริกาอยู่แถวแคลิฟอร์เนีย อเมริกาใต้แถวชิลี อัฟริกาใต้แถวเคปทาว์น ออสเตรเลียแถบตะวันตก และบางส่วนของทะเลเมดิเตอเรเนียน มีพืชหลายชนิดที่ขึ้นได้เฉพาะบริเวณ Chaparral และชนพื้นเมืองนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้าน ดังนั้นคำว่า Chaparral จึงมีอีกความหมายว่าเป็น ไม้พุ่มที่มีใบขนาดเล็กและหนามตามลำต้นจึงทนแล้งได้ดี มักขึ้นอยู่บนภูเขาตามแนวชายฝั่งทวีป เป็นพืชประเภทเดนตาย (คือ ตายยาก) และตัวมันมักติดไฟง่าย ด้วยเหตุนี้บริเวณ Chaparral เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียจึงมีไฟไหม้เป็นประจำ และเมื่อไฟดับแล้วมีฝนแรก พืชพวกนี้ก็จะงอกขึ้นมาทุกครั้ง   มีรายงานเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ของ Chaparral ใน Genus Adenostoma ว่ามีสารจำพวก แคมเฟรอล (kaemferol) และเควร์ซีติน (quercetin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีการศึกษาว่าอยู่ในชาเขียว และน่าจะมีฤทธิ์ต้านมะเร็งถ้าบริโภคในรูปแบบที่มนุษย์ธรรมดากิน ไม่ใช่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   ประเด็นที่น่าสนใจคือ พืชบางชนิดที่ขึ้นใน Chaparral นั้นถูกจัดเป็นสมุนไพรที่ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ (Hepatitis) มีรายงานผลการใช้ Chaparral ที่ได้จากต้น Larrea tridentata ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีอุบัติการเกิดพิษต่อตับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงจัดสมุนไพรที่ขึ้นใน Chaparral ให้อยู่ในกลุ่มที่ไม่ปลอดภัยและถอนทะเบียนไม่ให้จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   อีกตัวอย่างคือ Willow bark หรือเปลือกต้นวิลโลซึ่งมีองค์ประกอบทางพฤกษเคมีเป็นสารต้านอาการปวดเหมือนยาแก้ปวดแอสไพริน คือมีสารซาลิซิน(salicin) ซึ่งถูก เมื่อถูกกรดในกระเพาะอาหารจะเปลี่ยนเป็น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) จึงมีการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็กแล้วโฆษณาว่าสามารถแก้ปวดได้โดยไม่มีแอสไพริน ทั้งที่ความจริงมีผลข้างเคียง(ซึ่งไม่ได้แสดงที่ฉลาก) เหมือนยาเม็ดแอสไพริน   ที่น่าตลกก็คือ เมื่อเปลือกไม้นี้ถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายในบ้านเรา กลับอยู่ในรูปเครื่องสำอางโดยโฆษณาว่า “สารสกัดจากเปลือกจากต้น Willow Tree ซึ่งพบได้ในอเมริกาเหนือ มีสาร Salicylic Acid และ Tannins อื่นๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระชับรูขุมขน ช่วยผลัดผิว ต้านการอักเสบ ลดไข้บรรเทาปวด ฆ่าเชื้อโรคโดยเฉพาะแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิว สาร Salicylic Acid ธรรมชาติที่ได้จากการสกัดเปลือกของต้น Willow Tree นี้ มีฤทธิ์คล้าย Salicylic Acid ที่ผลิตทางเคมี แต่ไม่มีผลข้างเคียงร้ายใดๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการระคายเคืองต่อผิว จึงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้ถึงระดับ 65% (หรือเทียบเท่า Salycilic Acid ที่ 10%) จากผลการวิจัยพบว่า Willow Bark Extract สามารถทำหน้าที่ผลัดผิวได้ดีกว่า Salicylic Acid แบบเคมี นอกจากนี้ Willow Bark Extract ยังมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นต้นเหตุของสิว ทำให้เหมาะกับการผสมในเครื่องสำอางเพื่อช่วยรักษาสิว”   ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางนั้น ถ้ามีแหล่งกำเนิดมาจากต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้ว ผู้บริโภคมักคิดว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพราะเรามักมีภาพพจน์ว่า ฝรั่งนั้นฉลาดในการผลิตสิ่งเหล่านี้และหน่วยราชการของเขาน่าจะดูแลดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าท่านผู้บริโภคได้เข้าไปศึกษาถึงเรื่องการควบคุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางของประเทศที่น่าจะเจริญแล้วทั้งสองนี้ จะรู้สึกว่าเดือนมกราคม 2556 นี้มันหนาวกว่าที่คิดเสียอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

คอลาเจน ช่วยให้เต่งตึงได้จริงหรือ

คอลาเจน ช่วยให้เต่งตึงได้จริงหรือโดย รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ สถาบันโภชนาการ  มหาวิทยาลัยมหิดล  อะไรคือสิ่งที่ผู้หญิงหลายคน (รวมทั้งชายบางประเภท) กลัวที่สุดแต่ก็ต้องพบ เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้   คำตอบก็คือ ความเหี่ยวและแก่ ดังนั้นถ้ามีใครเอาอะไรก็ไม่รู้มาขาย แล้วบอกว่า สิ่งนี้ช่วยพิชิตความเหี่ยวและแก่ได้  สิ่งนั้นก็จะขายดี  ตัวอย่างที่เห็นชัดในสังคมไทยวันนี้คือ การโฆษณาขายคอลาเจน ดังเช่นที่ปรากฏในเว็บขายของทั้งไทยและเทศ สำหรับผู้เขียนแล้ว เวลาเห็นโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เรียกว่าคอลาเจนทีไร ผู้เขียนจะนึกถึงขาหมูพะโล้ที่เก็บในตู้เย็นทุกที ทั้งนี้เพราะขาหมูพะโล้ที่เก็บในตู้เย็นคืนหนึ่งแล้ว พอเปิดตู้เย็นดูจะเห็นส่วนที่เป็นน้ำขาหมูกลายเป็นเจลหยุ่นๆ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ส่วนที่กล่าวถึงนั้นก็คือ คอลาเจนจากขาหมู คอลาเจนคืออะไร ในทางชีวเคมีแล้ว คอลาเจนคือโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นกรดอะมิโนชนิดที่ต่างจากโปรตีนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ก็มีความสำคัญมากเพราะเป็นองค์ประกอบถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของผิวหนัง โดยทำให้ผิวหนังแข็งแรง ดังนั้นโปรตีนทั้งหมดของร่างกายจึงมีองค์ประกอบเป็นคอลาเจนถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ผู้เขียนขออธิบายให้ผู้ไม่เคยเรียนวิชาชีวเคมีมาก่อนทราบว่า โปรตีนที่เรากินนั้นต้องมีกรดอะมิโนอย่างน้อย 10 ชนิดที่ร่างกายเราสร้างไม่ได้ และจะไปผสมกับกรดอะมิโนอีก 10 ชนิดที่ร่างกายสร้างได้เอง จากนั้นจะมีกระบวนการที่เซลล์ของร่างกายนำกรดอะมิโนเหล่านี้มาต่อกันให้เป็น โปรตีนที่ร่างกายต้องการตามแต่ชนิดเซลล์ของแต่ละอวัยวะ ดังนั้นโปรตีนในร่างกายจึงมีลักษณะต่างกันตามลำดับของกรดอะมิโนต่าง ๆ สำหรับคอลาเจนนั้นเป็นโปรตีนที่มีลักษณะพิเศษ ทั้งองค์ประกอบและโครงสร้าง องค์ประกอบพิเศษคือ มีกรดอะมิโนที่ถูกปรับให้มีคุณสมบัติทางเคมีเปลี่ยนไป 2 ชนิด คือ จากกรดอะมิโนโพลีนและกรดอะมิโนไลซีน ถูกปรับไปเป็นกรดอะมิโนไฮดรอกซีโพลีนและกรดอะมิโนไฮดรอกซีไลซีน ส่วนกรดอะมิโนชนิดอื่นที่เป็นองค์ประกอบของคอลาเจนก็คือ กลัยซีน โพลีน และไลซีนนั้น เป็นกรดอะมิโนธรรมดา จึงทำให้สายของกรดอะมิโนที่ต่อกันเป็นโปรตีนคอลาเจนนั้นมีกรดอะมิโนหลัก เพียง 5 ชนิด จึงถูกจัดว่าเป็นโปรตีนไม่สมบูรณ์ และมีลักษณะโครงสร้างโมเลกุลเป็น เบต้าพลีตเต็ดชีท ซึ่งต่างกับโปรตีนทั่วไปที่เป็นอัลฟาเฮลลิก คอลาเจนที่ผิวหนังนั้นถูกสร้างจากเซลล์ไฟโบรบลาสท์ใต้ผิวหนัง ซึ่งในกระบวนการสร้างนั้นต้องมีไวตามินซีช่วย การขาดไวตามินซีจึงทำให้เกิดปัญหาที่ผิวหนัง รวมไปถึงเหงือก ซึ่งจะแสดงอาการมีเลือดออกตามไรฟัน คอลาเจนนั้นมีการสร้างทดแทนอยู่ตลอดเวลาที่ร่างกายแข็งแรง แต่กระบวนการสร้างนั้นก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ไปตามวัย จนถึงจุดหนึ่งการสูญเสียคอลาเจนตามธรรมชาติเกิดมากกว่าการสร้าง ความเหี่ยวก็จะมาเยือน ข้อมูลเรื่องนี้ดูได้จากเว็บโฆษณาต่างๆ  สาเหตุหลักของการสูญเสียคอลาเจนจากผิวหนังก็คือ โดนแสงอัลตร้าไวโอเล็ทหรือที่เรียกทั่วไปว่า แสงยูวี จึงควรป้องกันด้วยการไม่โดนแสงแดดจัด และกินอาหารที่มีสารป้องกันอนุมูลอิสระ เช่น พืชผักใบเขียว หรือผลไม้สีจัด มีข้อสังเกตว่า ผิวบริเวณที่ไม่โดนแดดเลยของคนไทย เช่น แก้มก้น คอลาเจนจะมีเหลืออยู่มาก ทำให้บริเวณนี้เป็นบริเวณผิวหนังที่ดูสวยที่สุดของร่างกาย ข้อมูลที่ให้นี้ดูเป็นวิชาการมากทีเดียว ต่อไปก็จะเป็นข้อมูลกึ่งวิชาการบ้าง เพราะมักมีคำถามว่ากินคอลาเจนแล้วได้ประโยชน์อะไรในทางโภชนาการแล้ว คอลาเจนเป็นโปรตีนไม่สมบูรณ์ คือ ให้กรดอะมิโนไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ โดยทั่วไปแล้วโปรตีนเกือบทุกชนิดถูกย่อยด้วยระบบย่อยอาหารในทางเดินอาหารจน ได้กรดอะมิโนอิสระออกมา ซึ่งต้องมีครบทั้ง 20 ชนิด ส่วนคอลาเจนให้เพียง 5 ชนิด ดังนั้นการกินอาหารมีคอลาเจนนั้น จึงเป็นการกินเพื่อความบันเทิง มากกว่าจะเอาประโยชน์จริงจัง จะไม่ให้กล่าวว่าโปรตีนคอลาเจนให้ความบันเทิงในการกินได้อย่างไร ในเมื่อคอลาเจนเป็นองค์ประกอบของผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน (Cartilage) เอ็น (tendons) และเนื้อเยื่อที่เกี่ยวกับการยึดเหนี่ยว (ligaments) เช่น เหงือกของสัตว์ชั้นสูง ดังนั้นเวลาเรากินลูกชิ้นเอ็น เราก็ได้เคี้ยวคอลาเจนสนุกปาก ส่วนในน้ำต้มขาหมู คอลาเจนจากกระดูกและเอ็นก็จะถูกความร้อนทำให้เปลี่ยนสภาพไป และสามารถอุ้มน้ำได้มาก เกิดสภาพที่เป็นเจลซึ่งเรียกว่า เจลาติน โดยเมื่อได้รับความร้อนก็จะละลายกลับสู่สภาพน้ำขาหมูพะโล้ ดังนั้นเวลาเห็นโฆษณาเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นคอ ลาเจนแล้ว ผู้เขียนก็จะรู้สึกหดหู่ใจทุกครั้งว่า มนุษย์หนอมนุษย์ เมื่อไม่มีความรู้ ก็มักเป็นเหยื่อเหมือนหมูให้คนต้มได้ง่ายๆ การสร้างคอลาเจนของร่างกายเรา โดยเฉพาะที่ผิวหนังนั้น มีเพียงในช่วงอายุต้นๆ เมื่อแก่แดดแก่ลมไป การสร้างก็จะน้อยลงเรื่อยๆ คราวนี้ก็เป็นเรื่องของบุญกรรม ถ้าทำกรรมมาก คือ ใช้ร่างกายอย่างทารุณ ไม่รู้จักถนอม คอลาเจนก็ถูกทำลายหายไปจากผิวหนัง ผลตามมาก็คือ ความเหี่ยว ดังนั้นเครื่องสำอางหลายชนิดจึงโฆษณาว่าสามารถลดความเหี่ยว หรือพลิกกลับผิวหนังให้เต่งตึงได้ ซึ่งไม่จริง ทั้งนี้เพราะคอลาเจนนั้นเมื่อทำเป็นเครื่องสำอางทาหน้า ก็มีคุณสมบัติคล้ายเจล (เพ็คติน) ในแตงกวา คือ ช่วยดูดน้ำทำให้ผิวชุ่มชื้นตราบที่มันยังติดบนผิว ที่สำคัญคือผู้เขียนไม่เชื่อว่าคอลาเจนจะซึมเข้าสู่ผิวได้ เพราะผิวหนังเราทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายของร่างกาย ถ้าขืนให้อะไรต่ออะไรซึมได้ โอกาสเกิดอันตรายก็จะมากขึ้น แล้วถ้ากินคอลาเจนเข้าไป ร่างกายเราสามารถดูดซึมได้ไหม คำตอบคือ ไม่มีทาง แม้แต่ในเว็บที่ขายสินค้าดังกล่าวก็ยังบอกว่าไม่ได้ ผู้บริโภคจำนวนมากมักเชื่อคนขายสินค้าที่ถูกสอนมาให้พูดว่า คอลาเจนที่กินเข้าไปนั้นจะไปเสริมแทนที่คอลาเจนที่สูญสลายไปจากผิวหนัง ในทางวิชาการ คำพูดลักษณะนี้ถือว่าผิด เพราะ ประการที่หนึ่ง คอลาเจนต้องถูกย่อยออกเป็นกรดอะมิโนอิสระก่อนถูกดูดซึม ซึ่งก็ไม่มีอะไรวิเศษนัก เพียงแต่เราได้ไฮดรอกซีโพลีนและไฮดรอกซีไลซีน ซึ่งนำไปสร้างคอลาเจนได้เลย ทั้งที่ความจริงเราสามารถสร้างกรดอะมิโนทั้งสองได้เอง คุ้มไหมกับสิ่งที่ได้ในราคาที่แพงกว่ากินเนื้อสัตว์ธรรมดา  ประการที่สอง ถ้าร่างกายไม่สามารถสร้างคอลาเจนได้อีกแล้ว เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ กรดอะมิโนทั้งสองที่ได้จากคอลาเจนที่กินเข้าไป ก็เกือบเปล่าประโยชน์ เว้นเฉพาะบางส่วนของผิวหนัง เช่นที่เล็บ อาจมีการนำเอาคอลาเจนไปช่วยสร้างเล็บให้สวยได้ และในคนวัยหนุ่มสาวที่ชอบการเพาะกาย คอลาเจนก็จะช่วยได้บ้าง รวมถึงพวกนักมวยปล้ำที่เป็นแผลแตก ก็จะหายได้เร็ว ส่วนพวกหัวงูที่ชอบปล้ำเหมือนกัน คอลาเจนคงไม่ช่วยอะไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เรื่องของกะปิ

  บทความนี้เขียนในเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งปรกติแล้วอากาศควรจะเย็นๆ แต่ปีนี้ถึงน้ำไม่ท่วม แต่เหงื่อก็ท่วมกายได้ เพราะเมืองไทยมีอากาศละม้ายสมัยที่พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ออกผนวช และยังทรงมีปราสาทสามฤดูคือ ฤดูหนึ่งก็พักที่ปราสาทหลังหนึ่ง เปลี่ยนฤดูก็เปลี่ยนไปพักอีกหลังหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าทรงมีความสุขมากแต่ก็ยังทุกข์จนต้องออกผนวช ส่วนคนกรุงเทพมหานครวันนี้ มีปราสาท (บ้าน) หลังเดียว แต่มีโอกาสที่ในหนึ่งวัน (เปรียบเสมือน) มีสามฤดูเลยทีเดียวคือ ตอนเช้ารู้สึกเย็น ๆ บ่ายร้อนจะเหงื่อไหล แล้วค่ำ ๆ ก็มีฝนตก   วันที่เขียนบทความนี้เป็นวันที่ละครเรื่อง รากบุญ กำลังจะอวสาน ซึ่งก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ว่า (คน)ทำดีได้ดี (คน)ทำชั่วได้ชั่ว เพราะเจติยาจะได้รับผลดีจากการทำดีเสียที โดยที่น้าพิสัยก็ต้องตายเสียที ซึ่งก็เป็นตามคำสาปแช่งของผู้ชมทั่วไป เพราะทั้งเรื่องไม่ทำอะไรที่ระบุได้ว่าเป็นความดีเลย นี่ก็คือละคร   ความจริงผู้เขียนไม่ค่อยได้ดูละครโทรทัศน์สักเท่าไร เพราะทนความเร้าร้อนทางโลกีย์วิสัยที่ผู้สร้างประเคนให้คนดูอย่างเกินพิกัด แต่บังเอิญเรื่องรากบุญนั้นเป็นละครที่สอนเรื่องการทำความดี และที่สำคัญนักแสดงแสดงได้ดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ประกอบกับผู้กำกับละครทำได้ในแบบของหนังฝรั่งคือ ไม่เยิ่นเย้อ ผู้เขียนจึงติดตามขนาดเอาไปฝัน (ซึ่งไม่เหมือนฝันของ ส.ส.ชาย ในสภา) ว่า กล่องรากบุญได้ขอให้ผู้เขียนทำความดี 3 ประการ(ซึ่งพอตื่นขึ้นก็เสียดายที่จำไม่ได้) โดยแลกกับพร (ที่กล่องรากบุญบังคับให้ขอว่า) อาหารที่มีอยู่ในบ้านจะไม่มีวันหมดอายุ กินได้ตลอดชาติไม่ต้องโยนทิ้ง   ในฝันนั้น ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าตอบรับคำขอไปหรือเปล่า แต่พอตื่นเช้าขึ้นมาเช็คเมล์ก็พบนัดขอสัมภาษณ์ให้ความเห็นว่าผู้บริโภคควรทำไงดี เกี่ยวกับข่าวเรื่องกะปิจากปักษ์ใต้อันตรายเพราะใส่สี ผู้เขียนจึงตอบรับ โดยหวังว่า มันน่าจะเป็นการทำความดีตามที่กล่องรากบุญน่าจะมาขอในฝัน   ข่าวเรื่องกะปิอันตรายนั้นมีในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งฉบับที่ออนไลน์ให้อ่านในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีข้อความคล้ายๆ กันว่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กะปิของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดตรัง ในปี พ.ศ. 2552-2554 ซึ่งเก็บตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่างมีการใช้สี 52 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59 โดยเป็นสีคือ สีโรดามีนบี ที่ไม่มี อย. ชาติใดในโลกยอมให้ใช้ในอาหาร 49 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อสีนี้สะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณที่มากพออาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ส่วนสีอื่น ๆ ที่เหลือเป็นสีเหลืองซันเซ็ตเยลโลว์เอฟซีเอฟ สีแดงเอโซรูบีน และสีแดงปองโซ 4 อาร์ นอกจากนี้ผู้ผลิตกะปิยังแถมกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกเป็นของชำร่วยแก่ผู้บริโภคโดยไม่คิดมูลค่าเพิ่ม ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายถึงสีอื่น ๆ  ที่ไม่ใช่สีโรดามีนบีว่า เป็นสีที่อยู่ในบัญชีอนุญาตให้ใช้ในอาหาร (บางชนิด) ได้ โดยมีการจำกัดปริมาณไว้ที่ระดับที่ไม่ควรก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่บังเอิญกะปิเป็นอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ ซึ่งในสากลโลกนี้เขาไม่ยอมให้ใส่สีอะไรลงไปเพราะเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่ง อย. บ้านเราก็มีประกาศห้ามใส่สีในเนื้อสัตว์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถึงสีเหล่านี้ใส่ในอาหารบางชนิดได้ แต่ก็ไม่ควรตรวจพบในกะปิ สำหรับสารกันบูดคือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก (ซึ่งความจริงเวลาใส่ในอาหารจะอยู่ในสถานะที่เป็นเกลือ เราจึงเรียกว่า เกลือเบนโซเอตและเกลือซอร์เบต) นั้น สำหรับกะปิแล้วก็ไม่ควรตรวจพบเพราะ กะปิเป็นอาหารที่ถูกหมักในสภาวะมีเกลือเป็นสารถนอมอาหาร เชื้อโรคที่เป็นอันตรายนั้นไม่ควรทนความเค็มได้ แต่การที่ผู้ผลิตต้องเติมสารกันบูดสองชนิดนี้ลงไปเพราะกะปิที่เขาผลิตนั้นไม่แห้งจริง โดยเจตนาทำให้มีความชื้นสูง(เพราะหนักกิโลดี) ดังนั้นพอกะปิมีความชื้นสูง แบคทีเรียและรา ก็สามารถเจริญเติบโตและก่ออันตรายแก่ผู้บริโภคได้ สำหรับประเด็นสีโรดามีนบีนั้น เป็นสีที่มีความสามารถในการเรืองแสงชนิดที่เรียกว่า ฟลูออเรสเซนต์ ดังนั้นจึงมีการใช้มากในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ต้องย้อมสีเซลล์หรือเนื้อเยื่อ ประโยชน์อีกอย่างคือ ใช้เป็นตัวติดตามการไหลของของเหลวเช่น น้ำ เพื่อติดตามตรวจสอบสภาวะการไหลว่ามีการติดขัดที่จุดใดในระบบ ซึ่งมีทั้งระบบในอาคารตลอดจนถึงแม่น้ำ ลำคลอง   ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ สีชนิดนี้มีราคาที่น่าจะถูก เพราะผู้บริโภคไทยมีประสบการณ์ของปัญหาเนื่องจากสีโรดามีนบีในอาหารมานานจนผู้เขียนจำไม่ได้ว่านานแค่ไหน เนื่องจากตั้งแต่จำความได้เมื่อจบปริญญาตรีก็ได้ยินข่าวเรื่องสีชนิดนี้ปนเปื้อนในอาหารแล้ว เวลาผ่านไป 30 ปีจนจะเกษียณอายุจากการทำงานในปีหน้า ปัญหานี้ก็ยังไม่จบ และก็มองไม่เห็นทางจบเสียด้วยซ้ำ เพราะการขายสารเคมีในสยามประเทศนี้ปราศจากการตรวจสอบติดตามแบบที่ฝรั่งใช้คำว่า Chemical inventory ซึ่งหมายความว่า เมื่อสารเคมีถูกขายไปเพื่อการใดการหนึ่งแล้ว ผู้ซื้อต้องรายงานต่อทางการว่า ณ เวลาใดๆ สารนั้นถูกใครใช้ทำอะไร เหลือเท่าไร ถ้าสนใจเรื่องนี้ขอเชิญไปลองอ่านได้ที่ http://www.ehs.berkeley.edu/hs/197-chemical-inventory-program.html   ที่ไม่รู้ว่าควรดีใจหรือเสียใจดีก็คือ ประเทศเวียดนามก็มีประสบการณ์เนื่องจากสีชนิดนี้เช่นกัน โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารของเวียดนามก็พบสีโรดามีนบีในพริกป่น ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารในเวียดนาม โดยทางผู้ประกอบการที่ถูกจับกล่าวว่า ได้ใช้สีนี้ผสมในเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก่อนผสมลงในพริก เพื่อปรับปรุงสีและลักษณะปรากฏของพริกป่นให้ดีขึ้น พริกป่นเหล่านี้จะใช้เป็นเครื่องเทศในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารทะเลแห้ง (http://www.udo.moph.go.th/post-to-day-2/upload/ 613873892/2006110045.pdf)   ส่วนในประเทศมาเลเซียซึ่งคนไทยนิยมไปซื้อของกินที่ชายแดนเข้ามากินในประเทศไทย (โดยไม่ได้ดูว่ามันมาจากจีนหรือเปล่า) ก็มีข่าวในเว็บ http://thestar.com.my (เว็บ the star online) ว่าสีโรดามีนบีซึ่งถูกห้ามใช้ในประเทศนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1952 คือ 60 ปี มาแล้ว ก็ยังมีการใช้ในอาหารที่เรียกว่า belacan (shrimp paste) ซึ่งคงไม่ต่างจากกะปิไทย ดังนั้นการที่กะปิปักษ์ใต้มีการเติมสีนั้น อาจเป็นได้ว่าผู้ผลิตไทยได้ละเมิดลิขสิทธิ์การผลิตอาหารอันตรายจากมาเลเซียเข้าแล้ว หรืออาจเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่อาเชียนก็ไม่รู้ ความจริงการผลิตกะปิใส่สีในบ้านเรานั้นไม่ได้มีเฉพาะปักษ์ใต้ ทั้งนี้เพราะผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อสักยี่สิบกว่าปีมาแล้ว เมื่อผู้เขียนได้เป็นผู้แทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการในอนุกรรมการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานอาหารหรือที่เรียกว่า อ3. นั้น ประเด็นเรื่องกะปิใส่สีก็เข้ามาในการพิจารณาว่าเป็นปัญหา   ปัญหาเกิดเนื่องจากจังหวัดชายทะเลของเราที่เคยทำกะปิจากเคย (สัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง ในกลุ่มกุ้ง-กั้ง-ปู ซึ่งเป็นอาหารของปลาใหญ่ต่างๆ เช่น ปลาวาฬ ปลากระเบนราหู นกบางชนิด รวมทั้งคนซึ่งเอาเคยมาทำกะปิ)นั้นหาเคยไม่ได้ ต้องทำกะปิจากปลาเล็กปลาน้อย (ที่ขายไม่ได้) จึงได้กะปิมีสีไม่น่าดู (แถมเหม็นคาวต่างหาก) จึงต้องแต่งสีเพื่อหลอกผู้บริโภค และสีหนึ่งที่ใช้ก็คือ สีโรดามีนบี ผู้เขียนจำได้ว่า มีการพยายามเสนอให้มีการอนุญาตให้สามารถเติมสีในกะปิได้ โดยใช้สีอาหารที่ อย. อนุญาต แต่สุดท้ายดูเหมือนจะไม่สำเร็จเพราะอนุกรรมการยอมรับการหลอกลวงผู้บริโภคไม่ได้   ความจริงกะปิที่ดีซึ่งทำจากเคยนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง เพราะมีเกลือสูง และถ้าได้รับการตากแดดอย่างเต็มที่ สีกะปิดีจะออกม่วงอ่อนอมขาวเพราะเกล็ดเกลือ เมื่อเอาไปอังไฟโดยห่อใบตองก่อน จะมีกลิ่นหอมเหมือนกุ้งเผาออกเค็ม แต่ถ้าเป็นกะปิทำจากปลาจะมีกลิ่น (เหม็น) คาวปลาซึ่งบางคนอาจชอบ แต่ผู้เขียนรับประทานไม่ลง   ที่สำคัญซึ่งผู้บริโภคควรรับทราบก็คือ การผลิตกะปินั้นส่วนใหญ่สกปรก แม่ผู้เขียนเคยเล่าว่า ในสมัยโบราณกะปิไทยมีการผลิตคล้ายการผลิตไวน์ในฝรั่งเศส กล่าวคือ ใช้เท้าย่ำไปบนวัตถุดิบจนกว่าจะละเอียดเนียนเท้าจึงเอาไปตากแดดให้แห้งบนพื้นคอนกรีต ซึ่งในการย่ำกะปินั้นถ้าผู้ย่ำเป็นแม่ลูกอ่อน ก็จะอุ้มลูกไปด้วยในการย่ำ ลูกก็จะดูดนมแม่ไปพลาง ถ่ายอึ ถ่ายฉี่ไปพลาง ลงบนกองกะปิที่กำลังย่ำ   ในปัจจุบันนี้ ถึงกะปิถูกผลิตด้วยเครื่องจักรแต่ก็ยังสกปรกอยู่ จึงสามารถตรวจพบแบคทีเรียกลุ่ม คลอสตริเดียมเพอร์ฟิงเจ็น (Clostridium perfringen) จึงทำให้ผู้บริโภคกะปิดิบมักเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงเนื่องจากเชื้อโรคนี้ แต่มักไม่ตายได้อยู่กินกะปิสกปรกอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตจึงนิยมใส่สารกันบูดลงในกะปิที่ทำให้ไม่แห้ง (เพื่อให้หนักกิโล) เป็นการป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ปวดท้องของผู้บริโภค   ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้ว เมื่อจะบริโภคอาหารอะไรที่มีกะปิ ก็จะต้องดูว่าอาหารนั้นทำจากเคยหรือปลา โดยการดมกลิ่นซึ่งต่างกันชัดมาก และที่สำคัญอาหารที่ทำจากกะปิไม่ว่าจากสัตว์อะไร ผู้เขียนจะต้องทำให้สุกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกมะนาว ข้าวผัดกะปิ หรือแม้น้ำปลาหวาน ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนธาตุอ่อนมาแต่เกิด กินกะปิดิบนิดหน่อยก็ท้องเสียแล้ว จึงทำให้กลายเป็นคนไม่ค่อยชอบกินข้าวเย็นนอกบ้าน เกิดผลพลอยได้คือ ไม่เปลืองสตางค์มากเกินไปกับการกินอาหารมื้อเย็นอย่างคนทั่วไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 เดอะ จีเอ็มโอ สไตรค์แบค (The GMO strikes back)

แล้วผลการลงคะแนนเสียงในสหรัฐอเมริกาก็ปรากฏออกมาว่า นอกจากโอบามาจะได้เป็นใหญ่ในประเทศมหาอำนาจต่อไปแล้ว จีเอ็มโอก็ยังไม่เคยสยบต่อใครเลย ดูได้จากการที่ proposition 37 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีผู้พยายามเสนอให้อาหารที่มีองค์ประกอบเป็นจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมต้องแสดงฉลากให้ชัดเจน ต้องตกกระป๋องไปอย่างที่หลายคนคาดไว้ในลักษณะที่ว่า แข็งเท่าเหล็กเงินง้างได้ดั่งใจ ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับที่ผ่านมาว่า การต่อสู้เพื่อไม่ให้การติดฉลากจีเอ็มโอผ่านสภาของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น มีการใช้เงินราว 45 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อทำรณรงค์ให้คนในรัฐนี้เชื่อใจว่า จีเอ็มโอไม่อันตราย การรณรงค์นี้เป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐ จึงไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งดูแปลกดีเหมือนกันถ้าปรากฏการณ์ทำนองนี้มาเกิดขึ้นในบ้านเรา เมื่อวันที่ 29 สิงหา 2012 www.naturalnews.com นี้ได้แสดงโปสเตอร์ที่บอกให้ประชาชนอเมริกันรู้ว่า บริษัทใดบ้างที่มีส่วนในการลงขันเพื่อยับยั้งร่างกฎหมายนี้ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่หรือทั้งหมดยังไม่ได้มาขายในบ้านเรา ขอให้ท่านผู้อ่านดูโปสเตอร์ที่ผู้เขียนได้นำมาจากอินเตอร์เน็ต แล้วแสดงให้ท่านผู้อ่านดูนี้ อาจไม่ชัดนัก ถ้าท่านผู้อ่านต้องการดูชัดๆ ท่านสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.cornucopia.org/2012/09/california-proposition-37-your-right-to-know-what-is-in-your-food   ความจริงผลการลงคะแนนไม่รับกฎหมายติดฉลากจีเอ็มโอนี้ ก็ไม่ได้เกินความคาดหมายที่ผู้เขียนและผู้ที่มีความสงสัยในอาหารจีเอ็มโอคาดไว้แต่แรก ทั้งนี้เพราะธุรกิจอาหารจีเอ็มโอนั้นมหาศาลจนสามารถทำให้ผู้บริหารประเทศไม่ว่าระดับใดมีปัญหาได้ อีกทั้งหัวข้อข่าวที่พาดหัวข่าวในอินเตอร์เน็ตก็ออกมาในทำนองเดียวกันว่า “Proposition 37 appears to have failed in California, but GMO labeling awareness achieves victory” ซึ่งความหมายง่ายๆ ก็คือ ถึงแพ้ในการโหวต แต่ผู้ต่อต้านจีเอ็มโอก็ชนะในการสร้างกระแสให้ผู้บริโภคคำนึงว่า เวลาซื้ออาหารให้สำนึกว่า อาจมีจีเอ็มโอได้ เพราะไม่มีการติดฉลาก ดังนั้นในความพ่ายแพ้นั้น ก็เสมือนฝ่ายไม่ไว้ใจจีเอ็มโอ จะชนะ ที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเริ่มระแวงในอาหารที่ยังไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัยอย่างที่หลายฝ่ายคิดว่าควรต้องทำ การประเมินความปลอดภัยของอาหารนั้นมีหลายระดับ ในกรณีที่เป็นสารเจือปนในอาหารนั้น กว่าจะได้ผ่านมาเข้าปากผู้บริโภคนั้น ต้องเข้าปากสัตว์ทดลองเป็นพันตัวขึ้นไป ทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ จำนวนของสัตว์นั้นขึ้นกับว่าสารเคมีใหม่นั้น มีลักษณะทางเคมีและกายภาพน่าสงสัยแค่ไหน และมีการใช้ปริมาณเท่าใด ที่สำคัญการประเมินนั้นจะเริ่มจากการทดสอบในสัตว์ระยะสั้นแบบชั่วคราวไม่กี่วันถึงเป็นเดือน และแบบค้างยาวตลอดชาติของสัตว์นั้น จนได้ข้อมูลว่า ปริมาณเท่าใดของสารเคมีที่ศึกษาให้สัตว์กินทุกวันตลอดชีวิตแล้วสัตว์ไม่มีอาการอะไรเลย (ซึ่งรวมถึงมะเร็งและเนื้องอก) สารนั้นถึงจะถูกนำมาคำนวณว่าคนควรได้รับสักเท่าไร อีกทั้งยังมีการประเมินแบบถึงลูกหลานเพื่อดูศักยภาพการก่อพิษในตัวอ่อนและระบบสืบพันธุ์ด้วย   ส่วนอาหารที่มีความเป็นอาหารมากกว่า สารเจือปนในอาหาร เช่น อาหารที่มาทดแทนการใช้แป้ง ไขมัน หรืออื่นๆ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะผู้บริโภคบางกลุ่ม จะต้องการการทดลองในสัตว์ทดลองระดับหนึ่งเพื่อประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาสุขภาพ จากนั้นจึงมีการศึกษาทดลองในอาสาสมัครที่มีการควบคุมการศึกษาโดยผู้ชำนาญการ ในการศึกษาอาหารประเภทนี้ จะมีลักษณะการออกแบบการทดลองเฉพาะ   ในขณะที่อาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอนั้น การประเมินความปลอดภัยทำเพียงแค่มองๆ ดม  หรือวิเคราะห์ทางเคมีว่า มีอะไรเหมือนกับอาหารปรกติเท่านั้น แล้วก็บอกว่าปลอดภัย (substantial equivalence) แต่ไม่เคยลองนำอาหารมาสกัดหาสารซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการตัดแต่งพันธุกรรมที่อาจก่ออันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมาศึกษาในสัตว์ทดลอง ทั้งนี้เพราะพืชหรือสัตว์ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแล้วนั้นถือว่า ได้กลายพันธุ์ไปแล้ว เพราะหน่วยพันธุกรรมสามารถสร้างสิ่งที่ไม่เคยสร้างได้ขึ้นมา   ที่สำคัญในทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพนั้น ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดปฏิเสธได้ว่า การทำงานของยีนใดยีนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับอีกหลายยีน การที่ยีนหนึ่งทำงานจะมีผลกระทบให้อีกยีนทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ พูดไปพวกจงรักจีเอ็มโอก็จะบอกว่า เอาหลักฐานมาดูสิ   ในความเป็นจริงแล้ว วารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับคือ Environment International ชุดที่ 37 ปีที่พิมพ์คือ  2011 หน้าที่ 734 ถึง หน้าที่ 742 ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอที่น่าสนใจคือ บทความชื่อ A literature review on the safety assessment of genetically modified plants เขียนโดย José L. Domingo และ Jordi Giné Bordonaba ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อ Universitat Rovira i Virgili ประเทศสเปน   ในบทความดังกล่าวนั้นได้สรุปว่า แทบจะยังไม่พบปัญหาอะไรเลยในทางสุขภาพที่เกิดเนื่องจากพืชจีเอ็มโอเมื่อศึกษาในสัตว์ทดลองถ้างานวิจัยนั้นทำโดยนักวิจัยของบริษัทที่ผลิตจีเอ็มโอ (ข้อความที่กล่าวไว้คือ Nevertheless, it should be noted that most of these studies have been conducted by biotechnology companies responsible of commercializing these GM plants) และที่สำคัญซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปคือ บริษัทที่ผลิตสินค้าจีเอ็มโอไม่ค่อยชอบให้ทุนนักวิจัยอิสระทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอเลย อาจเนื่องจากไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลจะออกหัวหรือก้อย   ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Séralini และคณะชื่อ Genetically modified crops safety assessments: present limits and possible improvements ซึ่งได้ทุนจาก the French Ministry of Research และ The Regional Council of Basse-Normandie ทำวิจัยแบบที่เรียกว่า meta-analysis (หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า การวิเคราะห์อภิมาน) และตีพิมพ์ใน Environmental Sciences Europe ชุดที่ 23 หน้า 1-10 ปี 2011 วารสารดังกล่าวเป็นวารสารวิชาการของ Springer Open Journal ซึ่ง Springer ไม่ใช่บริษัทที่กระจอก แต่เป็นบริษัทที่พิมพ์วารสารที่อยู่ในระดับน่าเชื่อถือของยุโรปทีเดียว การวิเคราะห์อภิมานนั้น เป็นการวิจัยเชิงปริมาณที่ใช้วิธีการทางสถิติมาสังเคราะห์งานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน โดยใช้งานวิจัยแต่ละเรื่องเป็นหน่วยตัวอย่างของการวิเคราะห์ งานวิจัยแต่ละเรื่องนั้นจะถูกแปลงให้เป็นหน่วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถสรุปผลรวมเข้าด้วยกันได้ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า การวิเคราะห์อภิมานเป็นการวิจัยงานวิจัย (Research of Research) โดยใช้วิธีการทางสถิติมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปอย่างมีระบบจากงานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ meta-analysis สามารถไปอ่านได้ที่ http://rci2010.files.wordpress.com/2011/ 06/mata.pdf ข้อสรุปหนึ่งที่ Séralini และคณะกล่าวไว้คือ จากการที่หนู rat ได้กินข้าวโพด MON 863 (ซึ่งเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอ) นาน 90 วัน แล้วดูเหมือนว่า ตับและไตจะมีปัญหาในระดับหนึ่ง ผู้ที่สนใจอ่านผลงานวิจัยนี้เชิญได้ที่ http://www.enveurope.com/content/pdf/2190-4715-23-10.pdf เพื่อจะได้ทราบว่า ผู้เขียนไม่ได้อ้างเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆ เพราะ ความจริงก็คือความจริง เพียงแต่ว่าเราจะเอาความจริงมาใช้ประโยชน์หรือไม่ ซึ่งขึ้นกับผู้กำกับการบริโภคอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมจะเอางานวิจัยลักษณะนี้มาใช้หรือไม่เท่านั้น   สำหรับผู้เขียนแล้วก็ยังนึกดีใจว่า รัฐบาลของเราไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม ยังคงไว้ซึ่งหลักการว่า ไม่รับจีเอ็มโอเพื่อให้ผลิตผลการเกษตรของเรา ยังขายได้ในประเทศที่ไม่ต้อนรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 ไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย

เช้าวันนี้ (อังคารที่ 9 ตุลาคม 2555) เป็นวันที่พายุ แกมี ซึ่งมีสัญชาติเกาหลีได้เคลื่อนผ่านประเทศไทยเตรียมเข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อนพม่า ดังนั้นปริมาณฝนตกในประเทศไทยจึงลดลงอย่างน่าดีใจ โดยเฉพาะผู้เคยเป็นโรคประสาทจากน้ำท่วมปี 54 พายุลูกนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าที่คาดกันเนื่องจากไปพักผ่อนกับเพื่อนในเวียดนามเสียนาน แถมเมื่อเข้ากัมพูชาก็ไปติดใจในโบราณวัตถุสมัยขอมเสียจนดูเหมือนไม่อยากเข้าไทย ผู้เขียนเป็นคนนอนตื่นเช้าจึงได้มีโอกาสดูข่าวทางโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 7 และ ช่อง 9 ก่อนไปทำงานเป็นประจำ เช้านี้ได้ฟังข่าว (ซึ่งภายหลังไปตามรายละเอียดจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ 2 ฉบับในอินเตอร์เน็ต) กล่าวว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล เกาหลีใต้ ประกาศเขตภัยพิบัติพิเศษ บริเวณพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศคือ เมืองกูมิ หลังเกิดอุบัติเหตุสารเคมีคือ กรดไฮโดรฟลูออริก 8 ตัน รั่วไหลเนื่องจากการระเบิดขณะทำการขนย้ายในโรงงานแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 5 ศพ และมีประชาชนเจ็บป่วยกว่า 3,000 คน ด้วยอาการคลื่นไส้ มีผื่นคันตามร่างกาย รวมถึงเจ็บคอและเจ็บหน้าอก อุบัติเหตุนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 500 เอเคอร์ คร่าชีวิตสัตว์ 3,200 ตัว และทำให้บริษัท 80 แห่ง จำเป็นต้องปิดตัวลง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 17.7 พันล้านวอน (ราว 492 ล้านบาท ) ข่าวกล่าวอีกว่า ประชาชนกว่า 300 คน จากหมู่บ้านบองซานรี และอิมเชินรี ต้องย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัยชั่วคราว ท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ในแถลงการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ยังกล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่เมืองกูมิ (ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ห่างจากรุงโซลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 200 กม) ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนี้จะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน ที่ครอบคลุมถึงการได้ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และค่าชดเชยจากส่วนราชการในจำนวนที่เหมาะสม จากข่าวดังกล่าวซึ่งดูเหมือนจะธรรมดามาก เพราะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของบ้านเราก็มีการรั่วไหลของสารเคมี (ซึ่งเป็นสารที่มีการพิสูจน์แล้วว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง) เป็นประจำ (โดยเฉพาะตอนน้ำท่วมปลายปี 54 นั้น ตอนเข้าไปล้างบ้านผู้เขียนยังพบคราบน้ำมันสีดำลอยอยู่รอบบ้าน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นสารเคมีจากนิคมอุตสาหกรรมที่ เอาอยู่ ทั้งหลาย) แต่เราก็ยังรู้สึกเฉยๆ ประเด็นสำคัญคือ มีผู้อ่านหรือฟังข่าวสักกี่คนที่รู้ว่า กรดกัดแก้วที่มีชื่อเคมีว่า ไฮโดรฟลูออริก (hydrofluoric acid) นั้นอันตรายเพียงใด ที่สำคัญใกล้บ้านท่านมีใครขายกรดชนิดนี้บ้างหรือไม่ ผู้เขียนเข้าไปในอินเตอร์เน็ตแล้วค้นหาใน Google โดยใช้คำว่า กรดกัดแก้ว ปรากฏว่ามีเว็บเพจขึ้นมา 939,000 รายการ ซึ่งบางรายการก็เป็นความเข้าใจผิดของ Google ที่สับสนระหว่างกรดกัดแก้วและกรดอื่นๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการขายกรดอันตรายต่างๆ ในเว็บ โดยดูไม่ออกว่าหน่วยราชการใดดูแล ในเว็บหนึ่งประกาศว่า  มีสินค้าต่อไปนี้จำหน่ายคือ ปรอท เคมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ, กระดาษ ชุบโลหะ, อาหาร, อีเลคโทรนิค, ดอกไม้ไฟ กำจัดน้ำเสีย, น้ำมันพืช, อาหารสัตว์ มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล รายการสารเคมีจำนวนกว่าร้อยชนิด ที่สำคัญคือ กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric Acid), กรดเกลือ 35% (Hydrochloric Acid), กรดกำมะถัน 98% (Sulfuric Acid), คลอรีน 65-70 % (Calcium Hyprochlorite), โซดาไฟน้ำ 50%, ไนตริก แอซิด 68%, โปตัสเซียม ไฮดร๊อกไซด์ 48%, โปตัสเซียม ไฮดร๊อกไซด์ 95%, โปตัสเซียมเปอร์มังกาเนต, ฟอสฟอริคแอซิด 85%, ฟอร์มิคแอซิด, ฟอร์มาลีน 40% และ แอมโมเนียน้ำ 27% เป็นต้น สารเคมีที่ยกตัวอย่างให้ดูนี้บางชนิดสามารถใช้ทำลายซากสัตว์ (รวมทั้งคน) ให้หายไปจากโลกนี้โดยไม่มีหลักฐานได้ มีตัวอย่างในภาพยนต์จากฝรั่งเศสชื่อ Nikita (La Femme Nikita) ซึ่งฮอลลิวูดนำมาสร้างในภาคอเมริกันชื่อ Point of No Return (เข้าใจว่ามาฉายในเมืองไทยในชื่อว่า The Assassin) ในภาพยนต์เรื่อง Nikita นั้นมีตอนหนึ่งที่ Nikita ซึ่งเป็นนักฆ่าได้ทำลายศพของฝ่ายตรงข้ามในอ่างอาบน้ำที่ทำด้วยกระเบื้องโดยการเอาน้ำกรดเข้มข้นราดลงไปบนศพจนเกิดควัน จากการที่กรดเผาไหม้ศพคนจนกลายเป็นของเหลว จากนั้น Nikita ก็เปิดน้ำก๊อกราดศพละลายลงท่อระบายน้ำไป วิธีการทำลายศพด้วยกรดเข้มข้นนั้นไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเคมี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่วิเคราะห์แร่ธาตุหรือสารเคมีบางชนิดในอาหาร จำเป็นต้องทำลายเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อให้หมดไป เพื่อให้ทำการวิเคราะห์ได้ตามต้องการ กรดที่นักวิทยาศาสตร์ใช้นั้นเข้มข้น รุนแรง และภาชนะที่ใช้นั้นก็ต้องเป็นแก้วชั้นดีเท่านั้น การวิเคราะห์ถึงจะสำเร็จได้ตามประสงค์ แต่สิ่งเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับกรดกัดแก้ว สมัยที่ผู้เขียนจบวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใหม่ๆ ได้ไปทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัย โรงพยาบาลรามาธิบดี มีหน้าที่ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหารต่างๆ จนวันหนึ่งก็มีตัวอย่าง ก้อนหิน ระบุให้วิเคราะห์แร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งปัญหาที่สำคัญคือ การย่อยสลายองค์ประกอบหลักที่เป็นหินนั้นใช้กรดธรรมดาไม่ได้ ผู้เขียนจึงไปเปิดคู่มือการวิเคราะห์หินก็พบว่า กรดที่ใช้ย่อยสลายหินได้คือ กรดกัดแก้ว ซึ่งเป็นกรดที่สามารถกัดให้ภาชนะที่เป็นแก้วกร่อนได้ ในการวิเคราะห์แร่ธาตุในอาหารนั้น ภาชนะที่ใช้โดยปรกติจะทำจากแก้วเนื้อดี แต่กรณีการวิเคราะห์จากก้อนหินโดยอาศัยกรดกัดแก้วเป็นตัวช่วยนั้น ภาชนะที่ใช้ต้องทำจากโลหะที่ชื่อ เซอร์โคเนียม (Zirconium) เท่านั้น การย่อยสลายถึงจะสามารถทำได้โดยปลอดภัย ดังนั้นถ้าเป็นไปตามข่าวที่เกิดในเกาหลี สิ่งที่จะเป็นหายนะตามมาสำหรับคนเกาหลีในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุก็คือ คงมีหลายคนติดเชื้อโรคจนตายในภายหลัง เพราะผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้สูดดมกรดกัดแก้วเข้าปอดไปในปริมาณที่คงไม่ตายทันที เพราะสามารถถูกอพยพไปอยู่เมืองอื่นได้ แต่สุขภาพของร่างกายโดยเฉพาะปอดคงไม่ปลอดภัย เนื่องจากกรดกัดแก้วคงกัดเนื้อเยื่อปอดทำให้เกิดแผลจนสามารถติดเชื้อโรคในอากาศซึ่งปรกติไม่สามารถทำอันตรายคนที่มีปอดแข็งแรงได้ ความช่วยเหลือด้านการเงิน ที่ครอบคลุมถึงการได้ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และค่าชดเชยจากส่วนราชการในจำนวนที่เหมาะสมนั้น จริงแล้วไม่คุ้มกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประชาชนเลย ทั้งนี้เพราะอุบัติเหตุของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเป็นสิ่งที่คาดคะเนได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ประชาชนได้ทราบหรือไม่ว่า โรงงานที่อยู่ในละแวกบ้านของตนนั้นมีสารเคมีที่ก่ออันตรายร้ายแรง สมัยที่ผู้เขียนจบการศึกษากลับมาทำงานใหม่ๆ นั้น เป็นจังหวะเริ่มแรกของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีการออกแบบและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยค่อนข้างน่าเชื่อถือ มีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพมาเล่าให้ฟังว่าได้ไปซื้อที่แถวนิคมไว้บ้างเพื่อเก็งกำไร ซึ่งก็คงได้กำไรอย่างที่ตั้งใจเพราะคนไทยมักมองว่า สถานที่ใดถ้าจะต้องมีคนเข้าไปทำงานเยอะมักมีราคาดี เนื่องจากเป็นทำเลค้าขาย โดยไม่ได้ดูว่า นิคมอุตสาหกรรมนั้นต้องใช้สารเคมีมากๆ ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมีนั้น สารเคมีที่เอามาใช้มักก่อมะเร็งได้แทบทั้งนั้น ในหลักการด้านพิษวิทยาที่ผู้เขียนเรียนมาสอนให้รู้ว่า โรงงานอะไรก็ตามที่ผลิตสารพวกโพลีเมอร์มักใช้สารที่เป็นโมโนเมอร์มาผลิต สำหรับตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นโพลีเมอร์แล้วนั้นความเป็นอันตรายมักหมดไปเนื่องจากกลายเป็นสารเฉื่อย ไม่ค่อยทำปฏิกิริยากับใครแล้ว แต่สารตั้งต้นคือ โมโนเมอร์ นั้นโดยธรรมชาติต้องไวมากๆ จึงจะถูกผลิตเป็นโพลีเมอร์ได้ ความไวนั้นรวมไปถึงการที่สามารถทำปฏิกิริยากับ ดีเอ็นเอ หรือหน่วยพันธุกรรมในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ด้วย ดังนั้นประเด็นสำคัญที่อยากให้ผู้อ่านเก็บไว้คิดคือ ถ้าบริเวณโดยรอบบ้านท่านนั้นมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ก็ควรรู้ว่าเขาใช้สารเคมีอันตรายหรือไม่ ถ้ามีการใช้แล้วเกิดปัญหาเช่น ไฟไหม้หรือระเบิด ท่านจะทำอย่างไร บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แค่บ้านจัดสรรบางแห่งที่ราคาไม่แพง ก็มีคนซื้อบ้านไว้เก็บสารเคมีอันตรายเช่นกัน ดังนั้นถ้าท่านเห็นว่าเพื่อนบ้านไม่ค่อยอยู่บ้านแต่มีถังอะไรไม่รู้กองอยู่เต็ม ก็ไม่ควรเมินเฉย หาเวลาคุยกัยหน่วยงานของรัฐที่ดูแลความสงบของบ้านเมือง ไม่ว่าเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ และถ้าพบว่าไม่ไหวจริงหรือไม่รู้จะทำอย่าง ก็ลองติดต่อที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดู อาจมีทางป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างได้หวังรอค่าชดเชยเลย เพราะไม่คุ้มเหมือนตัวอย่างที่เกิดไฟไหม้คลังสินค้าของท่าเรือคลองเตยเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน คนที่เหลือรอดชีวิตนั้น ตอนนี้ดูไม่จืดเลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 ติดฉลากจีเอ็มโอ มีหรือในอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา มลรัฐที่เคยมีผู้ว่าการเป็นคนเหล็ก (Arnold Alois Schwarzenegger) คือ แคลิฟอร์เนีย กำลังมีการต่อสู้ทางความคิด แบบว่าใช้เงินกันน่าดูของกลุ่มคนสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือ บริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ส่วนอีกฝ่ายคือ เกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ร่วมหัวจมท้ายกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและองค์กรเอกชน ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหาเรื่องให้คนกลางคือ ผู้บริโภค เกิดอาการเวียนหัวคือ Proposition 37 (ซึ่งเป็นรัฐบัญญัติชื่อ “California Right to Know Genetically Engineered Food Act” คนอเมริกันเรียกกันง่าย ๆ ว่า Prop 37) ซึ่งกล่าวถึงการ ติดฉลากอาหารที่ตัดแต่งพันธุกรรมจะมีการลงมติว่า ประกาศได้หรือไม่ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำไมเรื่องนี้จึงน่าสนใจ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจไม่ทราบว่า สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศเดี่ยวที่ใครแบ่งแยกไม่ได้เหมือนประเทศไทย การรวมตัวเป็นสหรัฐนั้น มีกฎหมายกลางซึ่งใช้บังคับทั้งประเทศ มีกฎหมายรัฐที่ใช้บังคับทั้งรัฐ แถมกฎหมายท้องถิ่นที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นอีกด้วย ดังนั้นแต่ละรัฐจึงเปรียบเสมือนแต่ละประเทศที่มักมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนกระทรวง (ซึ่งใช้คำว่า Department of ต่างๆ ไม่ใช่ Ministry of เช่นบ้านเราซึ่งเข้าใจว่าเลียนแบบอังกฤษ) เช่น เมื่อมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกา ก็ย่อมมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เดียวกันในระดับรัฐ และมีอำนาจออกกฎหมายที่ใช้เฉพาะในรัฐได้ ขอเพียงอย่างเดียวกฎหมายนั้นต้องไม่แย้งกฎหมายกลางที่ออกตามรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น   ดังนั้นในประเด็นของอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ที่ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดจาก อย. ของสหรัฐอเมริกาให้มีการติดฉลากอาหารประเภทนี้เหมือนประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศไทย (ผู้เขียนภูมิใจมากที่ได้เขียนอย่างนี้) จะด้วยเหตุผลใดคงไม่เกินท่านผู้อ่านจะเดาได้ เพราะระบบรัฐสภาของสหรัฐนั้นว่าไปเปิดเผยทุกอย่างจนออกนอกหน้า กล่าวคือ ในการออกกฎหมายอะไรก็ตาม จะมีการประกาศให้รู้กันล่วงหน้าเป็นเวลานานพอควร นานจนกฎหมายบางฉบับแท้งคาปากกาไปเลย เพราะมีการวิ่งเต้นล้มกฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยบุคคลที่ทำอาชีพเป็น lobbyist บทความในฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอยกเอาเรื่องของ การติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมในรัฐแคลิฟอร์เนียมาเป็นตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามในอนาคตว่า ฝีมือ lobbyist นั้นจะแน่สักแค่ไหน ข้อมูลจากวารสาร Nature ฉบับออนไลน์ (http://www.nature.com) วันที่ 20 August 2012 ได้ออกข่าวระบุว่า ปฏิบัติการเพื่อให้มีกฏหมายติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรม (Prop 37) นั้นเป็น expensive war ทั้งนี้เพราะ ฝ่ายผู้ประกอบการได้เริ่มต้นตั้งงบประมาณในการรณรงค์คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ด้วยวงเงินราว 13 ล้านเหรียญดอลลาร์ หรือประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนฝ่ายผู้สนับสนุนกฏหมายนี้คือ องค์กรอิสระที่ต่อต้านการใช้กระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมกับอาหารนั้นก็ตั้งงบไว้ในการรนณรงค์ครั้งนี้ 2.5 ล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งคงได้จากการบริจาคล้วนๆ ความสำคัญของ Prop 37 นี้ก็คือ มันเป็นตัวแทนของปรัชญาพื้นฐานของสิทธิของผู้บริโภคที่มีสิทธิจะรู้ถึงคุณลักษณะของสินค้าที่จะบริโภค โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นว่า การตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีอันตรายหรือไม่ ในขณะที่ผู้ผลิตก็กล่าวอ้างว่า การติดฉลากนั้นจะกระทบถึงผู้บริโภคแน่เพราะมันต้องใช้เงิน ซึ่งส่งผลถึงการเพิ่มราคาสินค้า การพยายามให้มีการติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมีมาแล้วใน 19 รัฐ แต่ก็แท้งหมดทุกครั้ง เพราะมีการต่อต้านจากผู้ประกอบการ แต่สำหรับแคลิฟอร์เนียในครั้งนี้ดูเหมือนจะเสร็จแน่ เนื่องจากมีการรณรงค์อย่างจริงจังในการออกกฎหมายนี้ และถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย อีกหลายรัฐคงเอาบ้าง ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของชาวอเมริกันเลยทีเดียว การติดฉลากอาหารผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนี้ ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกามักอยู่ในกลุ่มหลัง ถึงขนาดเรียกกฏหมายในลักษณะนี้ว่า เป็นกฎหมายที่ต่อต้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความรู้สึกว่า กฎหมายลักษณะนี้จะทำให้เกิดความท้อแท้ในการจะพัฒนาความรู้ในการดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขายผู้บริโภค ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐส่วนใหญ่ไม่คิดว่า การตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้น เป็นการทำให้เกิดชีวิตแบบใหม่ เพราะสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงนั้นได้มีการกลายพันธุ์ไปแล้ว และที่สำคัญและมักหลงลืมกันก็คือ การทำงานของหน่วยพันธุกรรม (gene) ลักษณะหนึ่งมักมีผลต่อการทำงานของหน่วยพันธุกรรมอื่นด้วยในเซลล์เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การตัดแต่งพันธุกรรมของถั่วเหลืองให้ต่อต้านสารกำจัดวัชพืชนั้น ได้ทำให้ถั่วเหลืองมีการสร้างสารไอโซเฟลโวน (isoflavone) เช่น เจ็นนิสติน (genistin) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ผู้บริโภคหวังว่าต้องได้จากการบริโภคถั่วเหลือง(เพื่อลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม) ลดลงไปถึงระดับที่นักตัดแต่งพันธุกรรมเรียกว่า ต่ำปรกติ (หมายความว่า ถึงต่ำก็ยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าไม่ผิดปกติ) นักตัดแต่งพันธุกรรมพืชมักกล่าวว่า การที่พืชทางเศรษฐกิจสามารถต้านสารกำจัดวัชพืชนั้น เป็นผลดีต่อเกษตรกร เพราะช่วยประหยัดเวลาในการใช้สารเคมี เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่า สารกำจัดวัชพืชจะไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นพืชที่ต้องการ แต่ในกรณีนี้นักต่อต้านการใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรมกลับคิดว่า เกษตรกรพันธุ์ใหม่มีความมักง่ายที่จะไม่สนใจว่า สารเคมีที่ตกค้างบนพืชนั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่งผลให้ผลิตผลการเกษตรนั้นมีสารตกค้างในปริมาณที่สูงขึ้น อีกทั้งความสามารถในการใช้สารเคมีได้ตามสบายยังส่งผลถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้ออาหารที่แพงขึ้นด้วย โดยผู้ขายสารเคมียิ้มสบาย ทำไมการติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมจึงสำคัญสำหรับผู้บริโภคในรัฐแคลิฟอร์เนีย คำตอบก็คือ ปัจจุบันมีนักวิชาการได้ประเมินว่า อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น มีองค์ประกอบที่ได้จากพืชตัดแต่งพันธุกรรม มากกว่าร้อยละ 70 (ข้อมูลเหล่านี้ดูได้จาก Youtube) ตัวเลขที่แน่นอนนั้นยังไม่ยืนยัน แต่ที่แน่ๆ คือ มีการทำการทำโพลล์ (poll หรือคำเติมคือ opinion poll) หลายการสำรวจเช่น ของ Thomson Reuters ในปี 2010 พบว่า คนอเมริกันทั่วไปกว่าร้อยละ 90 ต้องการฉลากดังกล่าว อย่างไรก็ดี การดูข้อมูลจากการทำโพลล์นั้นมักต้องติดตามให้ทันสมัยเพราะข้อมูลเปลี่ยนไปมาได้ตลอด ที่สำคัญก็ต้องดูว่าเป็นโพลล์ของสำนักไหน เพราะคนทำโพลล์ก็ต้องกินข้าว อยู่บ้าน มีรถขับ และอยากได้เฟอร์นิเจอร์ประดับกายอื่นๆ เหมือนกัน จะหวังคนทำโพลล์ถือศีลครบห้าข้อตลอดนั้น ชาติหน้าบ่าย ๆ ค่อยหวังแล้วกัน ดังนั้นการเต้าโพลล์จึงเป็นของธรรมดาในประเทศทุนนิยม ในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เคยมีการทำโพลล์ว่าคนในรัฐนี้ร้อยละ 67 สนับสนุนการขึ้นภาษีบุหรี่ ดังนั้นบริษัทผลิตบุหรี่จึงทุ่มเงินราว 50 ล้านเหรียญเพื่อรณรงค์ต่อต้านกฎหมายนี้ และประสบความสำเร็จเสร็จที่สุดว่ากฎหมายเพิ่มภาษีบุหรี่ต้องตกไป จึงมีนักข่าวหลายคนคาดว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นกับกฎหมายการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมได้ ต้องคอยดูกัน ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจไม่เคยทราบหลักการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของไทยว่า เรามีข้อกำหนดอย่างไร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม มีอาหารในหมวดที่ต้องแสดงฉลาก 22 ชนิด ซึ่งอาหารที่ควบคุมจะเป็นอาหารประเภทถั่วเหลืองและข้าวโพด ในประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า “ให้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรมเป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก ซึ่งหมายความว่า อาหารที่มีถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่มีสารพันธุกรรมหรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรมนั้นอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรกต้องติดฉลากบอกปริมาณ” จึงมีคำถามว่า ถ้าองค์ประกอบชนิดที่ 4 เป็นอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมและมีปริมาณเกินร้อยละ 5 ขึ้นไปด้วย จะต้องแสดงฉลากขององค์ประกอบที่ 4 หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ (โดยอธิบายในเชิงว่าคงไม่มีอาหารอะไรที่จะมีองค์ประกอบลำดับที่ 4 มีปริมาณเกินร้อยละ 5) การออกประกาศติดฉลากของอาหารตัดแต่งพันธุกรรมของไทยนั้น เป็นการทำตามธรรมเนียมของประเทศที่เป็นสมาชิกที่ดีของ WTO ที่พึงกระทำตามที่ Codex ขององค์การสหประชาชาติกำหนด ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นใหญ่โตเกินว่า Codex จะกล้าวอแว ดังนั้นการที่จะมีการออกกฎหมายการติดฉลากอาหารตัดแต่งพันธุกรรมเพียงในรัฐเดียวของมหาประเทศนี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรจับตามองจากคนทั้งโลก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 เมาแล้วขับแต่ไม่ถูกจับ (มีหรือ)

“ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน” ถ้าถามเด็กปัจจุบันว่ากลอนแปดบทนี้ใครแต่ง อาจพบว่าเด็กบางคนร้อง เอ๋อ ไม่ใช่ อ๋อ เพราะมันคงดูเชยบรมถ้าตอบคำถามแบบนี้ได้ คงมีแต่ผู้ใหญ่ล้าสมัยแบบผู้เขียนที่พอจำได้ว่า สุนทรภู่ แต่งไว้ในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่นั้นเป็นกวีสุดยอดของไทย แต่มีพฤติกรรมสุดแย่คือ ติดสุรายาดองเป็นอาจิณ ตามภาษาคนไทยใจเบิกบาน ดีใจก็เหล้า เสียใจก็เหล้า บวชก็เหล้า แต่งงานก็เหล้า แถมงานเผาคนอื่นก็เหล้า (จนสุดท้ายเหล้าก็ทำให้ตนเองถูกเผา) ทั้งที่อาราธนาศีลห้าเป็นประจำจนชินชาลืมไปว่าศีลข้อ 5 ห้ามดื่มเหล้า สุนทรภู่นั้นโชคดีที่สมัยนั้นยังไม่มีกฏหมายห้ามขี้เมาขี่ม้า ขี่ช้าง หรือพายเรือ จึงไม่ต้องถูกจับตรวจลมหายใจวัดปริมาณแอลกอฮอล์เหมือนขี้เมาสมัยนี้ เราเลยอดอ่านนิราศของสุนทรภู่เกี่ยวกับการถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์หรือการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เมื่อถูกศาลสั่งลงโทษ เหมือนกับข่าวที่ดาราดังหลายคนต้องกระทำโดยไม่ตั้งใจ มีข่าวว่า มีผู้หวังดีแนะนำให้ดื่มนมเปรี้ยวหลังเมาแล้วตั้งใจจะขับรถ ซึ่งกรณีดื่มนมเปรี้ยวแกล้มเหล้านี้ รมช.สาธารณสุขท่านหนึ่งได้ออกมาให้ข่าวว่า ได้สั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดลองว่า นมเปรี้ยวสามารถลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้จริงหรือไม่ ผลการศึกษาพบว่าการดื่มนมเปรี้ยวลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้เพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ไม่ช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจนผ่านเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของตำรวจที่ด่านได้ ความจริงคนไทยมีภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรในคนติดเหล้าคือ รางจืด ช่วยถอนอาการเมาค้างได้ แต่ยังไม่มีใครทดสอบว่าสมุนไพรนี้ ช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจสำหรับนักดื่มที่ต้องการขับรถตอนกลางคืนหรือไม่   แล้ววันหนึ่งนักข่าวท่านหนึ่งที่นิยมคุยกับผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อประกอบการทำข่าวเกี่ยวกับสินค้าที่อาจมีการหลอกลวงผู้บริโภคก็ได้โทรมาถามว่า มีโอกาสไหมที่จะลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจของขี้เมาก่อนขับรถผ่านด่านตำรวจ เพราะมีคนนำสินค้าชนิดหนึ่งมาโฆษณาขายใน youtube ว่า เมื่อบริโภคสินค้านี้แล้ว รับรองเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ บอดแน่ พร้อมทั้งส่ง URL ของคลิปใน youtube มาให้ด้วย ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า เมื่อท่านดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เร็วช้าขึ้นกับแต่ละคนว่ามีเวรกรรมประมาณใด เพราะระดับความเมาขึ้นกับระดับเอนไซม์ในร่างกายที่ทำงานในการกำจัดแอลกอฮอล์ว่าสูงหรือต่ำ ที่สำคัญด้วยคือ สภาวะร่างกายโดยเฉพาะตับนั้นแข็งแรงหรืออ่อนแอ แอลกอฮอล์นั้นเป็นชื่อสามัญประจำบ้านของสารอินทรีย์ที่มีชื่อทางเคมีว่า เอ็ทธิลแอลกอฮอล์ สารนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้มนุษย์และสัตว์เมาได้ ดังนั้นมนุษย์บางคนที่กินเหล้าเมาจึงถูกสังคมประณามว่า เมาเหมือนสัตว์ที่ใช้เฝ้าบ้าน ซึ่งเป็นความไม่ยุติธรรมกับสัตว์ประเภทนี้เลย เพราะเวลาเอาเหล้าเทใส่ชามให้เขาดื่ม เขามักเลี่ยงที่ไม่ดื่ม (ยกเว้นในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ซึ่งต้องจับกรอกปาก เขาก็เมาได้เหมือนคน) ดังนั้นจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะพูดว่า คนเมาเหมือนเขา การที่มีหน่วยงานหนึ่งยับยั้งการเผยแพร่โปสเตอร์รูปคนกินเหล้าแล้วกลายร่างเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งนั้น ถูกต้องแล้วเพราะเป็นการไปละเมิดสิทธิสัตว์ประเภทนั้น เมื่อแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าเลือดแล้ว ปราการด่านแรกในการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากเลือดคือ ตับ ดังนั้นตับจึงมักเป็นอวัยวะที่ถูกทำลายในผู้ติดเหล้า จนเกิดอาการตับแข็ง ซึ่งเป็นสภาวะรับประกันว่า ผู้ที่ตับแข็งนั้นจะไม่เป็นมะเร็งเพราะเซลล์ตับมันพังจนเป็นมะเร็งไม่ไหวแล้ว ในเซลล์ตับนั้นมีเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮดรอจีเนส ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเอ็ทธิลแอลกอฮอล์ไปเป็นสารอีกชนิดชื่อ อะเซ็ตทัลดีไฮด์ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนต่อไปอีกเป็นกรดน้ำส้มหรือ อะเซ็ทติกแอซิด (ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับกรดน้ำส้มสายชูที่เราใช้เติมก๋วยเตี๋ยว) ด้วยเอนไซม์อะเซ็ตทัลดีไฮด์ดีไฮดรอจีเนส จากนั้นน้ำส้มสายชูที่ได้ในตับจะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ และเนื่องจากแอลกอฮอล์ให้พลังงานมากกว่าแป้งเกือบสองเท่าตัว จึงทำให้คนติดเหล้านั้นไม่หิวข้าว แต่เป็นความอิ่มแบบขาดแคลนสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอื่น ๆ ส่งผลให้เซลล์ตับอ่อนแอ คนที่กินเหล้าในปริมาณมาก ๆ นั้น แอลกอฮอล์จะไปกดระบบประสาททำให้ซึมได้ในบางคน แต่บางคนก็ทำให้ความอดกลั้นต่อความทุกข์ยากของชีวิตหมดไป จึงระบายออกมาแบบการโวยวาย นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังทำให้มนุษย์หมดยางอายได้ สามารถทำในสิ่งที่ต้องการความยั้งคิด เช่น การเปลือยกายในที่สาธารณะ หลายท่านอาจเคยเห็นคนที่เมาปลิ้นแบบสิ้นสตินั้นมีอาการปวดหัวเมื่อสร่างเมา ซึ่งเรามักใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า แฮ้ง มาจากคำว่า hangover สาเหตุสำคัญของอาการ แฮ้ง นี้เกิดเนื่องจากร่างกายกำจัดอะเซ็ตทัลดีไฮด์ไม่ทัน เลยทำให้ปวดสมองในกระโหลกได้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงใช้คุณสมบัตินี้ในการผลิตยาเลิกเหล้า โดยหาสารที่ยับยั้งการทำงานของอะเซ็ตทัลดีไฮด์ดีไฮดรอจีเนส ส่งผลให้มีการสะสมของอะเซ็ตทัลดีไฮด์ในสมองของผู้ดื่มจนปวดกระโหลกเป็นประจำ โดยไม่รู้ว่า ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) ได้เอายานี้ผสมเหล้าให้กิน และเมื่อมีอาการนี้บ่อยเข้า ถ้าชีวิตยังพอมีบุญอยู่บ้างก็เกิดอาการเบื่อที่จะดื่มเหล้าได้ ที่เล่ามาอย่างยืดเยื้อนี้เพื่อให้เห็นคุณสมบัติทางชีวเคมีของแอลกอฮอล์ว่า ถูกลดปริมาณได้ด้วยเอนไซม์ แอลกอฮอล์ดีไฮดรอจีเนส ดังนั้น ในสินค้าที่อ้างว่าลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้นั้น ถ้าเป็นสินค้าที่มีเอนไซม์นี้อยู่ แล้วแอลกอฮอล์ยังอยู่ในทางเดินอาหาร โอกาสลดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจก็สูง ซึ่งในคลิปของ youtube ที่ผู้เขียนเข้าไปดูนั้น ก็พบว่า เป็นการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจหลังจากบริโภคสินค้าตามเหล้าที่ดื่มทันที ซึ่งไม่ตรงกับพฤติกรรมจริงของนักดื่มที่มัก hang around อยู่ในผับหรือบาร์จนเมา เพราะถ้าไม่ต้องการเมาจะไปดื่มเหล้าหาพระแสงด้ามอะไร สินค้าที่มีขายเพื่อลดแอลกอฮอล์ในลมหายใจนั้นคงไม่ช่วยอะไร ถ้าแอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตแล้ว เพราะถึงมีเอนไซม์อะไรก็ตามที่ทำลายแอลกอฮอล์ได้ ตัวเอนไซม์เองคงไม่พ้นถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจัดการป่นเป็นกรดอะมิโน หมดสภาพเอนไซม์ไปเลย ในการวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจด้วยเครื่องที่เรามักเห็นตำรวจถือในโทรทัศน์นั้น เป็นการวัดระดับแอลกอฮอล์ที่ซึมเข้าเลือด แล้วบางส่วนผสมกับเลือดไหลผ่านไปสู่ปอดและระเหยออกมา เมื่อผู้ดื่มเป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจที่พ่นผ่านเครื่อง (ซึ่งมีระบบตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่างกับ GT-200) จะเป็นปริภาคโดยตรงกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งเป็นตัวกำหนดความเมาของผู้ดื่ม ดังนั้นผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าลดแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้ อาจเจอปัญหาว่า มันลดได้เฉพาะในเวลาที่แอลกอฮอล์ยังไม่ซึมเข้าเลือด แต่พอซึมเข้าไปในระบบเลือดแล้ว คราวนี้ขึ้นอยู่กับว่ามันจะออกมาที่ปอดเข้าสู่ลมหายใจออกเท่าไร ตำรวจเท่านั้นที่จะตอบได้ เมื่อท่านถูกขอให้เป่าอุปกรณ์ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ประเด็นที่สำคัญก็คือ ใน youtube นั้นมีคลิปหนึ่งที่มีผู้ไปสัมภาษณ์แพทย์ท่านหนึ่งของออสเตรเลียซึ่งได้ฟันเสาธงเลยว่า สินค้านี้เชื่อไม่ได้ และในประเทศออสเตรเลียห้ามจำหน่าย ดังนั้นผู้ที่ดื่มเหล้าจนแอลกอฮอล์ซึมเข้าเลือดไปแล้ว โอกาสที่จะหาอะไรมาทำลายแอลกอฮอล์ได้คงไม่มี ยกเว้นว่ามีใครคิดทำการทำวิจัยว่า มีสารอะไร หรืออาหารอะไร ที่สามารถกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในตับให้เปลี่ยนแอลกอฮอล์ไปเป็นอัลดีไฮด์แล้วต่อเป็นกรดน้ำส้มได้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังไม่เคยมีใครประกาศว่าค้นพบ และในกรณีที่ทำได้ ก็ต้องเป็นการกระตุ้นก่อนที่จะดื่มสุราเมรัย เสมือนเป็นการเตรียมระบบเผาผลาญให้พร้อมเสมอที่จะเผาแอลกอฮอล์ทิ้ง ซึ่งคอสุราหลายท่านคงไม่ปรารถนานักเนื่องจากเป็นการลดความบันเทิงในอารมณ์เมานั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 หนทางเพื่อความเป็นอมตะ

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้ฟังรายการธรรมะทางช่อง 7 ซึ่งพระธรรมโกศาจารย์ แห่งวัดประยูรวงศาวาสได้บรรยายว่า พระพุทธเจ้าเคยเทศน์ให้พระอานนท์ฟังเมื่อเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ว่า ถ้าใครดำรงชีวิตโดยยึดถืออิทธิบาท 4 แล้วสามารถมีอายุยืนได้ชั่วกัลป์ แต่พระอานนท์ไหวไม่ทันว่ามีความหมายอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงทรงปลงอายุสังขารเมื่ออายุ 80 พรรษา เพราะพญามารได้เข้าทูลอารธนาขอให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน(จาก www.kanlayanatam.com ให้นิยามคำว่า 1 กัลป์ คือ 4,320,000,000 ปี มนุษย์) เรื่องนี้ฟังดูก็แปลกดีเพราะหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งผู้เขียนเข้าใจว่า อยู่ชั่วกัลป์คือ อยู่ไปเรื่อยๆ แบบฝรั่งเรียกว่า immortal แต่ท่านพระธรรมโกศาจารย์ก็ได้เฉลยไว้ประมาณว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะที่บอกว่า อิทธิบาท 4 ช่วยทำให้อยู่ได้ชั่วกัลป์นั้น หมายความว่า การถือปฏิบัติอิทธิบาท 4 นี้ทำให้ชีวิตคนเรามีความหมายเมื่อยังมีลมหายใจ ซึ่งทำให้ผู้เขียนพอเข้าใจว่า คนที่แม้ยังมีลมหายใจอยู่ถ้าไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมีประโยชน์ต่อสังคมเสียเลยก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว   สำหรับ อิทธิบาท 4 ซึ่งแปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จช่วยให้อายุยืนนั้น น่าจะหมายถึง การที่เรามีความพอใจที่เกิดมาเป็นคน (ฉันทะ) จึงต้องมีความพากเพียรในการประกอบการงานไม่ขาดตอน (วิริยะ) ไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว โดยทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ (จิตตะ) พร้อมทั้งคอยสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป (วิมังสา) การประพฤติดังนี้ คนเป็นเท่านั้นที่ทำได้ ในทางวิทยาศาสตร์อาจอธิบายได้ว่า เมื่อเราทำงานแล้วมีความพอใจในผลงานที่ได้ทำ ผลนั้นย่อมกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมา สารนี้ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายสมดุล สดชื่น แข็งแรง ดังนั้นเมื่อเทียบกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นนัยกับพระอานนท์ว่า ทรงปรารถนาจะอยู่เป็นกัลป์เพื่อทรงทำงานที่ทรงรักคือ การเผยแพร่พุทธศาสนา น่าจะสามารถทำให้พระองค์มีอายุยืนยาวได้จริงๆ แต่จะได้นานแค่ไหนนั้นคงไม่มีใครตอบได้ เพราะเราคงต้องถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเราอยู่ได้ถึง 1 กัลป์ จะอยู่ไปทำไมและเพื่อใคร บางทีคำถามนั้นอาจจะจบลงที่ว่า ถ้าพระพุทธองค์ยังอยู่จะมีประโยชน์ต่อสรรพสัตว์มากมายแค่ไหนและนั่นคงเป็นคำตอบของการอยู่ไปทำไม และเพื่อใครจริงๆ ดังนั้นเมื่อพุทธศาสนิกชนเข้าใจแล้วว่า ชั่วกัลป์ นั้นเป็นอย่างไร แต่ฝรั่งหรือคนไทยบางคนก็ยังเข้าใจว่า ชั่วกัลป์ คือ ช่วงเวลาที่นานมากๆ นัยหนึ่งคือ นานจนเมื่อนึกถึงการมีชีวิตแล้วกลายเป็นอมตะ จึงมีการแสวงหาอะไรก็ได้มากินหรือใช้กับร่างกาย เพื่อทำให้ร่างกายนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่เสื่อมสลายไป(ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้) ประเด็นเรื่องความเป็นอมตะนั้น ใน www.quackwatch.com มีผู้เขียนบทความน่าสนใจเรื่องหนึ่งชื่อ Position Statement on Human Aging โดยกล่าวในแง่ว่า ในปัจจุบันมีคนเชื่อว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้น ทำให้มีกระบวนการหรือสินค้าที่ป้องกันความแก่(antiaging) มาขายให้แก่คนที่อยากอยู่ยั้งยืนยงชั่วกัลปาวสานได้ ก่อนอื่นท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมเซลล์ในร่างกายเราถึงแก่ได้ คำอธิบายคือ เซลล์ร่างกายเรานั้นมีการแบ่งเซลล์เมื่อถึงความเหมาะสมหนึ่งคือ อิ่มพลังงาน มีทรัพยากรในเซลล์พอ หรือมีการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์จากภายนอกเซลล์ ในการแบ่งเซลล์นั้นต้องมีการเพิ่มจำนวนโครโมโซม(ดีเอ็นเอที่ห่อหุ้มด้วยโปรตีน) เป็นสองเท่าของของเดิมก่อน แล้วจึงแยกโครโมโซมออกจากกัน จากนั้นก็มีการแบ่งส่วนที่เหลือของเซลล์ออกเพื่อให้เป็นสองเซลล์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของการเพิ่มจำนวนโครโมโซมคือ ดีเอ็นเอที่เป็นหน่วยพันธุกรรมของเราแต่ละแท่งนั้น มีบริเวณส่วนปลายที่เรียกว่า ทีโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งมักจะขาดแหว่งไปทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ ในขณะที่เซลล์ก็พยายามซ่อมให้เท่าเดิม ยามที่เซลล์ยังเยาว์อยู่ก็ซ่อมได้ดี แต่เมื่อเซลล์มีอายุเพิ่มขึ้นการซ่อมนั้นก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง จนสุดท้ายนานเข้าก็ซ่อมไม่ได้เลย ทำให้การแบ่งเซลล์ต้องหยุด แล้วเซลล์ก็เริ่มแก่ จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าสามารถทำให้การซ่อมทีโลเมียร์สมบูรณ์ได้ เซลล์ก็ไม่น่าแก่ (ความจริงปรากฏการณ์นี้เกิดกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งตัวได้ตลอดเวลา แต่เป็นการแบ่งแล้วไม่พัฒนาเซลล์ให้ทำงาน) ในบทความของ quackwatch ที่ผู้เขียนเข้าไปดูนั้น กล่าวถึงอายุไขของมนุษย์ว่า เคยมีชาวฝรั่งเศสชื่อ Madame Jeanne Calment ตายเมื่ออายุได้ 122 ปี ในขณะที่ปัจจุบันคนอเมริกันมีอายุไขเฉลี่ยที่ 77 ปี (ใกล้กับความหมายของ 1 กัลป์ ที่กล่าวในตอนต้น) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 30 ปี จากเดิมคือ 47 ปี เมื่อ ค.ศ. 1900 ดังนั้นในศตวรรษที่ 21 นี้คนอเมริกันควรมีอายุไขเฉลี่ย 90 ปี ถ้าวิทยาการทางการแพทย์ยังพัฒนาไปข้างหน้าดังในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกามีนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มที่ทำการศึกษาถึงกระบวนการที่ทำให้ร่างกายมนุษย์แก่ ซึ่งว่าไปแล้วมันน่าจะหมายถึง การแก่ของเซลล์ต่างๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ผลรวมของความแก่ทำให้มนุษย์ตาย ความเข้าใจในกระบวนการนี้น่าจะช่วยในการชะลอให้ความแก่เกิดช้าที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงการทำให้มนุษย์หยุดความแก่ได้ ในประวัติศาสตร์จีนก็มีตัวพ่อที่พยายามหาทางต่อสู้กับความแก่คือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ตายเน่าเป็นเหยื่อให้แบคทีเรียกินไปในที่สุด ส่วนอียิปต์โบราณก็พยายามทำมัมมี่ ซึ่งสุดท้ายก็เหลวกลายเป็นศพแห้งอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่พอจะกล่าวว่าสำเร็จเกี่ยวกับมัมมี่ก็คือ มีผู้สร้างหนังเอาความหวังในการทำมัมมี่ของคนโบราณมาหารับประทานไปหลายเรื่อง ความเป็นอมตะนั้นเป็นความฝันอันเลื่อนเปื้อนที่สุด ในหลักศาสนาพุทธแล้ว ใครต้องการเป็นอมตะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากครอบครัวซึ่งไม่เคยมีคนตาย(ซึ่งเป็นไปไม่ได้แม้จะแอบไปตั้งนามสกุลใหม่ก็ถือว่ายังมีโคตรเง่าอยู่) ดังนั้นความหวังสู้ความแก่ หวังเป็นอมตะ โดยไปซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการโฆษณาในอินเตอร์เน็ตว่า ชะลอหรือหยุดความแก่ได้ ก็เป็นเพียงหวังลมๆ แล้งๆ ในอินเตอร์เน็ตท่านผู้อ่านจะพบข้อมูลในการโฆษณาว่า มีผลิตภัณฑ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นต้นตอของความแก่ของเซลล์ได้ ในความเป็นจริงแล้ว อนุมูลอิสระเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่จะทำให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโตแล้วเข้าสู่ภาวะ Senescence(biological aging) ซึ่งเป็นการหยุดการแบ่งเซลล์และอยู่เฉยเหมือนคนที่เกษียณแล้ว ไม่ต้องทำงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ รอยย่นบนใบหน้า เมื่อใดที่สภาวะนี้เกิดทั่วร่างกายคนผู้นั้นก็ไม่ใช่คนเป็นแล้ว ดังนั้นการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ เป็นการลดอันตรายที่เป็นผลเนื่องจากอนุมูลอิสระ แต่ไม่ใช่การชะลอความแก่เสียทีเดียว ปัจจุบันในวงการแพทย์บางประเทศซึ่งอาจรวมประเทศไทยด้วย ได้มีสาขาการแพทย์ที่เรียกว่า Geriatric Medicine ซึ่งน่าจะหมายถึงการศึกษาโดยอายุรแพทย์ที่พยายามชะลอความแก่ของคนไข้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ คำแนะนำในการปรับปรุงด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่ กินเหล้า เป็นต้น คำแนะนำเหล่านี้เป็นความหวังที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นปฏิบัติการดังกล่าวจึงควรเกิดขึ้นในสถานพยาบาลไม่ใช่บนอินเตอร์เน็ต เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนกันโดยตรง การแนะนำที่หวังจะชะลอความแก่นั้นต้องจัดพิเศษเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ยังมีการนำคำว่า antiaging medicine มาใช้ในการโฆษณาเพื่อชะลอความแก่ โดยมักเป็นการขาย วิตามินผสมยาบางขนาน ตลอดจนฮอร์โมนเพศบางชนิด โดยมักโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่าการใช้ ยา วิตามิน หรือฮอร์โมนเพศ นั้นทำให้แก่ช้าลง ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้แก่ช้านั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าการจะจัดการโดยใช้ปัจจัยเดียวได้ อีกประเด็นที่มีการพยายามนำมาใช้ในการแนะนำเพื่อชะลอความแก่คือ การจำกัดปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารให้น้อยกว่าที่คนปรกติกิน เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่เรียกว่า Lean body คือมีแต่เนื้อ (หุ้มกระดูก) ปราศจากไขมัน เหมือนกับเวลาเราซื้อไก่ ส่วนที่เป็น lean คือ อกไก่ เพราะมีไขมันต่ำ ในการศึกษาเกี่ยวกับการจำกัดพลังงานในอาหารในสัตว์ทดลองนั้น ผลมักปรากฏว่า สัตว์ทดลองนั้นเป็นมะเร็ง(เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสารก่อมะเร็ง) น้อยกว่าสัตว์ปรกติที่กินตามใจปาก(ถูกกระตุ้นด้วยสารก่อมะเร็งเดียวกัน) แต่ความรู้นี้ก็ยังไม่สามารถนำไปต่อยอดขนาดทำให้สัตว์ทดลองอายุยืนกว่าปรกติได้ โดยสรุปแล้วบทความเรื่อง Position Statement on Human Aging (ซึ่งเป็นบทความที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร Scientific American Magazine และ Journal of Gerontology: Biological Sciences) นั้นหวังให้ผู้บริโภคตระหนักว่า ความก้าวหน้าทางวิชาการในปัจจุบันยังไม่สามารถประกาศว่า ความแก่ชะลอได้ หรือยืดช่วงอายุของแต่ละคนออกไปได้ เพียงแต่มีแนวโน้มว่า การปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตให้เหมาะสม เช่น การกินอาหารให้ครบถ้วนนั้น น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เร่งให้เราแก่เร็วได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point