ฉบับที่ 267 น้ำตาลเทียมก่อโรค..???

        มีข่าวออนไลน์เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่แปลผลจากการศึกษาว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชื่อ อิริทริทอล (erythritol) อาจเป็นปัจจัยต่อความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดไปจนถึงคนธรรมดาที่เลือกกินอาหารคีโต (Ketogenic diet) เพื่อปรับปรุงน้ำหนักตัวให้เหมาะสม         อาหารคีโต คืออาหารที่ถูกปรับลดคาร์โบไฮเดรตจนคำนวณได้ว่ามีการกินไม่เกิน 50 กรัม/วัน และเน้นกินไขมันและโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายผลิตสารคีโตน (ketone bodies) จากไขมันเนื่องจากมีการใช้ไขมันทั้งจากอาหารที่กินและสะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทนการใช้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากการย่อยแป้งหรือน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการนำร่างกายเข้าสู่สภาวะคีโตสิส (ketosis) ซึ่งดีร้ายอย่างไรขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่แน่ๆ คือ ผู้กินอาหารคีโตมักพยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายโดยหันมากินน้ำตาลเทียมแทนโดยอิริทริทอลคือตัวเลือกที่นิยมกัน        สำหรับคำโฆษณาที่ใช้ในการขายน้ำตาลอิริทริทอลบนแพลทฟอร์มออนไลน์นั้นมักบอกว่า เป็นสินค้านำเข้าเช่น จากฝรั่งเศส 100% ขนาด 500 กรัม มีราคาเกือบ 200 บาท (น้ำตาลทราย 1000 กรัมราคาเฉลี่ยประมาณ 25 บาท) เหมาะกับผู้บริโภคอาหารคีโต ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไม่กระตุ้นอินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ทำให้ฟันผุเพราะจุลินทรีย์ย่อยอิริธรีทอลได้น้อย ช่วยในการขับถ่ายเพราะสามารถดูดซับน้ำในทางเดินอาหารไว้อย่างช้าๆ เหมือนใยอาหารทั่วๆ ไป (ความจริงคือผลข้างเคียงของน้ำตาลแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่กินมากแล้วทำให้ถ่ายเหลว)         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ดูคล้ายน้ำตาลทรายมาก เพราะผลิตทางเคมีจากน้ำตาลกลูโคส จริงแล้วร่างกายก็สร้างเองได้ในปริมาณน้อย เป็นสารที่มีความหวานราว 60-70% ของน้ำตาลทราย สามารถใช้ในการผลิตขนมอบได้แบบเนียนๆ ไม่แสดงผล aftertaste (หวานติดคอน่ารำคาญ) ในผู้บริโภค ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและมีฤทธิ์เป็นยาระบายน้อยกว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์อื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารคีโตและอาหารชนิดที่มีน้ำตาลต่ำซึ่งขายแก่ผู้ป่วยเบาหวาน         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มักถูกนำไปใช้ผสมกับสารสกัดจากหญ้าหวาน (stevioside) หรือกับสารสกัดหล่อฮังก๊วย (arhat fruit, Buddha fruit, monk fruit หรือ longevity fruit) ทั้งนี้เพราะสารสกัดทั้งสองมีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 ถึง 400 เท่า เวลาใช้จึงต้องใช้ในปริมาณน้อยทำให้ตวงปริมาณยาก จำต้องใช้อิริทริทอลซึ่งมีลักษณะหลอกตาดูคล้ายน้ำตาลทำหน้าที่เป็นเนื้อสัมผัสเพื่อให้ปริมาณสารให้ความหวานหลักถูกใช้ในปริมาณไม่มากจนเกินควร         สำหรับงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า การกินอิริทริทอลอาจเป็นปัจจัยก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ บทความเรื่อง The artificial sweetener erythritol and cardiovascular event risk ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้นเป็นการรายงานความเชื่อมโยงระหว่างอิริทริทอลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง         คำถามที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลคือ เหตุใดอยู่ดี ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้จึงสนใจว่า อิริทริทอลส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งที่น้ำตาลเทียมชนิดนี้มีการใช้มานานพอควรและดูว่าไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ แต่เมื่อตามดูบทความที่ผู้ทำวิจัยหลักให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ New York Times และ CNN ทำให้ได้ข้อมูลว่า จริงแล้วก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว ผู้ทำวิจัยได้ทำงานวิจัยก่อนหน้าที่ต้องการค้นหาว่า มีสารเคมีหรือสารประกอบที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนในเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไม่ ที่สามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตภายในระยะเวลาสามปีของการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ของ Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด 1,157 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บรวบรวมระหว่างปี 2004 ถึง 2011 จากอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแล้วพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอิริทริทอลในเลือดในระดับที่น่าสนใจจนนำไปสู่การวิจัยที่เป็นที่มาของบทความวิจัยที่ก่อความกังวลแก่ผู้ที่บริโภคอิริทริทอล         ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้น นักวิจัยได้ตรวจสอบระดับอิริทริทอลในเลือดของคนไข้ 2,149 คนจากสหรัฐอเมริกาและ 833 คนจากยุโรป แล้วพบว่าอาสาสมัคร (ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี เป็นหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง) มีความเข้มข้นของอิริทริทอลในเลือดสูง แล้วเมื่อทดลองเติมอิริทรีทอลลงในตัวอย่างเลือดหรือเกล็ดเลือดที่แยกออกมา (ซึ่งเกล็ดเลือดนั้นเป็นองค์ประกอบในเลือดที่เกาะกันเป็นก้อนเพื่อหยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดแผลและทำให้เกิดเลือดอุดตันในบางโรค) ในหลอดทดลองผลที่ได้ปรากฏว่า อิริทรีทอลทำให้เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นง่ายขึ้นในการจับตัวเป็นก้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในร่างกายอาจแตกออกจากกันแล้วไหลไปในหลอดเลือดเดินทางไปยังหัวใจ ซึ่งถ้ามีการตกตะกอนในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือถ้าไปตกตะกอนในเส้นเลือดสมองจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้         นอกจากนี้นักวิจัยได้ให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 8 คน กินอิริทริทอลในปริมาณเดียวกับที่พบได้เมื่อกินอาหารที่ใช้สารให้ความหวานนี้ เพื่อลองกระตุ้นให้ระดับอิริทริทอลในน้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่ (นานมากกว่า 2 วัน) ซึ่งคำนวณแล้วว่า สูงกว่าขนาดที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดทดลอง ส่งผลให้ผู้วิจัยประเมินว่า อิริทริทอลนั้นน่าจะเพิ่มปริมาณให้สูงได้ในร่างกายจากการกินอาหารจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความเสี่ยงอันตรายของหัวใจที่เกิดขึ้น ทำให้น่าจะศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัยในระยะยาวของอิริทริทอลเพิ่มเติม         มีการตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยดังกล่าวในหลายบทความในอินเตอร์เน็ทว่า ข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษาคือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการต่อการเป็นโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่ใช่สาเหตุ (causation) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง erythritol และความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พิสูจน์ว่า สารให้ความหวานนี้ทำให้เกิดโรคเพราะผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียมนี้ในปริมาณสูงเพื่อพยายามลดการกินน้ำตาลทรายให้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ดีคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทดลองให้คนสุขภาพปรกติกินสารให้ความหวานนี้จนอยู่ในสถานะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ยกเว้นทำการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีกระบวนการทางสรีรภาพคล้ายมนุษย์         ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากพวกเขามีระดับอิริทริทอลในเลือดสูง และผลการศึกษานี้ดูขัดแย้งกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายทศวรรษที่แสดงว่า สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างอิริทริทอลนั้นปลอดภัย จนได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม         ก่อนหน้านี้ในปี 2022 วารสาร BMJ ได้มีบทความเรื่อง Artificial sweeteners and risk of cardiovascular diseases: results from the prospective NutriNet-Santé cohort ได้รายงานผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานเทียมจากเครื่องดื่ม (แอสปาร์แตม อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม หรือซูคราโลส) สารให้ความหวานบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ ต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 103 388 คนจาก NutriNet-Santé cohort (เป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของอาสาสมัครประมาณ 171,000 คนที่เปิดตัวในฝรั่งเศสในปี 2009 เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางโภชนาการซึ่งหมายถึงการกินอยู่ตามปรกติและสุขภาพ) ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42.2 ปี ที่มีร้อยละ 79.8 เป็นเพศหญิง โดยข้อมูลการกินสารให้ความหวานเทียมได้รับการประเมินโดยบันทึกจากการกินอาหารใน 24 ชั่วโมงมากกว่า 1 ครั้ง และจากการประเมินผลได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงที่เป็นไปได้ระหว่างการกินสารให้ความหวานเทียมที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะแอสปาร์แตม อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม และซูคราโลส) และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดีสารให้ความหวานเหล่านี้ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่และกำลังได้รับการประเมินใหม่โดย European Food Safety Authority, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ         การกำหนดปริมาณการกินอิริทริทอลในอาหารนั้นเริ่มในปี พ.ศ. 1999 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุเจือปนอาหารแห่งสหประชาชาติ (JECFA) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การอาหารและการเกษตรและองค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงในการกินอิริทริทอลและกำหนด ปริมาณที่ยอมรับได้ต่อวัน (acceptable daily intake หรือ ADI) เป็น "ไม่ระบุ (not specified)" ซึ่งต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EU Scientific Committee on Food) สรุปว่า อิริทริทอลนั้นปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหาร การอนุมัติอิริทริทอลของสหภาพยุโรปยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้อิริทริทอลในเครื่องดื่ม เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรประบุว่า อาจมีผลข้างเคียงเกินเกณฑ์ของยาระบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ได้รับอิริทริทอลจากเครื่องดื่มในปริมาณสูง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ซักก่อนใส่

        หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก         ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน         มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง         นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า                 MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้         นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน         บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด        ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย         การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 %              ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่        นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550        เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ถุงเท้าและการนอนหลับ

        ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ติ๊กต๊อกเกอร์คนหนึ่งแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ การใส่ถุงเท้านอนอาจส่งผลร้ายต่อร่างกาย เสี่ยงต่อโรคไหลตาย โดยอ้างถึงข้อมูลจากบทความของหมอชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง (ไม่ระบุแหล่งที่มา) กล่าวว่า “การใส่ถุงเท้านอนส่งผลเสียต่อร่ายกายในระยะยาวโดยเฉพาะเด็กทารก เนื่องจากเวลาที่มนุษย์นอนนั้นอุณหภูมิของร่างกายต้องลดลง แต่เมื่อใส่ถุงเท้าแล้วกลายเป็นการขวางทางการระบายความร้อนของร่ายกาย จึงอาจทำให้ไหลตายได้”         ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้เกิดการอภิปรายกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยมีแนวโน้มว่า ไม่น่าจะจริง สุดท้ายติ๊กต๊อกเกอร์คนนี้ได้ออกมาขอโทษที่นำข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบมาเผยแพร่ เนื่องจากเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและตรงกับตัวเขาที่โดนแม่คอยบอกด้วยความหวังดีเสมอว่า “ให้ใส่ถุงเท้านอนนะลูก”         ประเด็นการใส่ถุงเท้านอนนั้น จริงแล้วเป็นเรื่องจำเป็นต่อสุขภาพสำหรับคนที่มีเท้าเย็นกว่าส่วนอื่นของร่างกายเป็นประจำ สำหรับผู้เขียนซึ่งสังเกตตนเองมานานกว่า 30 ปีแล้วพบว่า คืนใดที่รู้ว่าเท้าเย็นมากกว่าปรกติ แม้ห่มผ้าที่ทำให้ร่างกายอุ่นแล้วก็ตาม (อุณหภูมิห้องนอนถูกปรับอากาศอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส) ตอนรุ่งเช้ามักปวดหัวไมเกรน ซึ่งเมื่อเป็นบ่อยเข้าผู้เขียนจึงตั้งสมมุติฐานว่า ความเครียดของร่างกายเนื่องจากเท้าเย็นน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไมเกรน ดังนั้นผู้เขียนจึงเริ่มใส่ถุงเท้านอน หลังจากนั้นก็ไม่มีอาการไมเกรนในตอนเช้าอีกเลย ส่งผลให้ปัจจุบันผู้เขียนซึ่งมีอายุย่างเข้า 70 ปีแล้วก็ใส่ถุงเท้าเกือบทั้งวัน ยกเว้นวันที่อากาศร้อนมากช่วงกลางวันหรือเวลาต้องมีกิจกรรมที่เท้าเปียกน้ำ เช่น รดน้ำต้นไม้ สำหรับการปวดหัวไมเกรนเนื่องจากปัจจัยอื่นนั้นยังมีอยู่บ้างจึงต้องคอยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นเหตุกระตุ้นต่าง ๆ งานวิจัยเกี่ยวกับผลดีของการใส่ถุงเท้านอน         งานวิจัยที่อธิบายเกี่ยวกับการใส่ถุงเท้านอนแล้วส่งผลดีต่อร่างกายนั้นมีมากพอควร จึงขอยกตัวอย่างสัก 3 เรื่องที่น่าสนใจให้ผู้อ่านได้พิจารณา โดยงานวิจัยเรื่องแรกชื่อ Effects of Barefoot Habituation In Winter on Thermal and Hormonal Responses in Young Children - A Preliminary Study ในวารสาร Journal of Human Ergology นั้น เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างนักวิจัยชาวเกาหลี ญี่ปุ่นและฮ่องกง เกี่ยวกับผลของการใส่ถุงเท้าหรือไม่ใส่ถุงเท้าต่อการปรับตัวของร่างกายเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำ งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการสวมถุงเท้าหรือการเดินเท้าเปล่าเป็นประจำในฤดูหนาวมีผลต่อระดับอุณหภูมิผิวหนังของปลายแขนและปลายขา และมีผลต่อการขับฮอร์โมนบางชนิดในเด็ก โดยในการทดลองที่ 1 นั้น ได้ทำการวัดอุณหภูมิผิวหนังเท้าและขาในเด็กก่อนวัยเรียนนาน 30 นาที ขณะอยู่ในห้องเรียนที่ควบคุมไว้ที่อุณหภูมิ 23±2°C และความชื้น 50±5% ซึ่งพบว่าอุณหภูมิของผิวหนังที่ขาในกลุ่มเท้าเปล่ามีแนวโน้มว่าต่ำกว่าที่ขาของกลุ่มที่ใส่ถุงเท้า         ส่วนการทดลองที่ 2 เป็นการศึกษาในเด็กประถมซึ่งถูกแบ่งกลุ่มให้สวมและไม่สวมถุงเท้า จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณของฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งเมื่อเกิดความเครียดหรือความคับขันในสถานะการณ์ต่าง ๆ ระหว่างการนอนหลับตอนกลางคืนซึ่งพบว่า เด็กประถมในกลุ่มที่เท้าเปล่ามีแนวโน้มการขับนอร์อะดรีนาลีนและคอร์ติซอลออกมาในปัสสาวะ (ซึ่งขับออกมาในตอนเช้า) สูงกว่าเด็กประถมที่ใส่ถุงเท้า ทำให้สรุปได้ประมาณว่า เด็กเล็กที่มีนิสัยชอบเดินเท้าเปล่าต้องพยายามปรับตัวต่อความเย็นของอากาศให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งดูได้จากปริมาณฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างพลังงานเมื่อร่างกายมีความเครียดที่ตรวจพบในปัสสาวะสูงกว่าเด็กที่ใส่ถุงเท้า (ข้อมูลส่วนนี้อาจพอช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อเท้าเย็นเกินไปเพราะไม่ใส่ถุงเท้าแล้วฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการปรับตัวเมื่อเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อมต่อร่างกายต้องเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งการเผาผลาญให้เกิดความร้อนสูงขึ้น และถ้ากระบวนการดังกล่าวไม่สำเร็จหรือไม่เพียงพอ ผู้เขียนจึงเกิดอาการไมเกรน ดังนั้นการใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันความหนาวเย็นที่เท้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น)        บทความที่สองเป็นงานวิจัยของนักวิจัยชาวดัทช์เรื่อง Skin temperature and sleep-onset latency: Changes with age and insomnia ในวารสาร Physiology & Behavior ของปี 2007 ซึ่งศึกษาถึงผลของอุณหภูมิที่เท้าก่อนนอนหลับ บทความนี้ให้ข้อมูลว่า โดยปรกติช่วงเวลาที่เริ่มนอนจนหลับนั้นมีการลดลงอุณหภูมิของเท้าซึ่งทำให้นักวิจัยสนใจว่า ช่วงเวลาที่เริ่มเข้าสู่การนอนหลับนั้นมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิผิวหนังก่อนนอนหรือไม่ โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาทุกคนที่เลือกมานั้นไม่มีการใช้ยาที่ส่งผลต่อการนอนหลับหรือระบบนาฬิกาชีวิต ไม่ใช้ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น คนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 21-39 ปี เพศละ 4 คน) ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 56–80 ปี เพศละ 4 คน) และผู้สูงอายุ 8 คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับแต่มีสุขภาพดี (อายุ 51–66 ปี เพศละ 4 คน) โดยผลการศึกษาพบว่า ตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละวันที่มีการนอนหลับและการตื่นนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย        การศึกษานี้นักวิจัยสามารถเพิ่มแนวโน้มในการทำให้อาสาสมัครนอนหลับเร็วขึ้นได้ด้วยการทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้นจนถึงระดับที่ปกติเกิดขึ้นก่อนหลับและระหว่างการนอนหลับด้วยการทำให้เท้าอุ่นด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การปรับอุณหภูมิเท้าด้วย 1. แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนเข้านอน 2. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้ (heatable bed socks) ก่อนปิดไฟนอน และ 3. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้หลังปิดไฟนอน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การกระตุ้นให้เท้าอุ่นหรือการใส่ถุงเท้าปรับอุณหภูมิหลังจากปิดไฟนอนสามารถเร่งการนอนหลับในผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาการนอนหลับได้ ส่วนในผู้สูงอายุที่ปรกตินอนไม่ค่อยหลับนั้นไม่มีวิธีการใดในการศึกษานี้ที่ช่วยเร่งการนอนหลับ         ในการศึกษาถึงผลของการใส่ถุงเท้าต่อคุณภาพของการนอนหลับนั้น พบได้ในบทความเรื่อง Effects of feet warming using bed socks on sleep quality and thermoregulatory responses in a cool environment ในวารสาร Journal of Physiological Anthropology ของปี 2018 ซึ่งเป็นผลการศึกษาของนักวิจัยชาวเกาหลีที่ศึกษาในชายหนุ่ม 6 คน (อายุ 22.7 ± 2.0 ปี) ซึ่งไม่มีปัญหาการนอนหลับยากที่เข้าร่วมการทดลองถึงผลการทำให้เท้าอุ่นขึ้นระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 23°C ความชื้นสัมพัทธ์ 50% เพื่อวัดช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับ (sleep-onset latency) คุณภาพของการนอนหลับ ช่วงเวลานอนหลับทั้งหมด จำนวนการตื่นกลางคันหลังจากนอนหลับแล้ว ลักษณะการเคลื่อนไหวร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของทวารหนักและผิวหนังระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง และทำแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอนหลังตื่นนอนตอนเช้า         ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่สวมถุงเท้าสำหรับใส่นอน (bed socks ทำด้วยเส้นใย polyester 98.6% และ polyurethane 1.4%.) เทียบกับผู้ที่นอนเท้าเปล่านั้น มีช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับสั้นลงโดยเฉลี่ยคือ 7.5 นาที เวลานอนรวมนานขึ้น 32 นาที (กลุ่มไม่ใส่ถุงเท้าเฉลี่ยการนอนราว 7 ชั่วโมง) การตื่นนอนกลางดึกน้อยลง 7.5 เท่า และคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น 7.6% โดยที่มีอุณหภูมิของเท้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.3 °C ในขณะที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวหนังและทวารหนัก หรือการตอบแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอน ดังนั้นโดยสรุปแล้วการทำให้เท้าอุ่นโดยใช้ถุงเท้า (bed socks) ระหว่างการนอนหลับในสภาพแวดล้อมที่เย็นมีผลในเชิงบวกต่อคุณภาพการนอนหลับ แต่ไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกายซึ่งชี้ว่าคุณภาพการนอนหลับสามารถปรับปรุงได้โดยการปรับอุณหภูมิเท้าให้อุ่นไว้ตลอดการนอน         ก่อนจบบทความนี้ผู้เขียนมีความสนใจระหว่างการเขียนว่า bed socks นั้นต่างจากถุงเท้าที่ใส่กันเป็นประจำอย่างไร ก็ได้พบข้อมูลประมาณว่า “Bed sock” นั้นส่วนใหญ่เป็นถุงเท้ายาวซึ่งเมื่อใส่แล้วมักพับลงมาที่ระดับข้อเท้าหรืออาจไม่พับแล้วปล่อยยาวถึงหัวเข่า เป็นถุงเท้าที่หนากว่าปรกติและส่วนที่พับลงมาที่ข้อเท้าบางรุ่นมีความปุกปุยด้วยวัสดุใยสังเคราะห์หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น ฝ้ายหรือขนสัตว์         ราคาของถุงเท้าชนิดนี้ในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก เช่น ถ้าซื้อบนแพลตฟอร์มที่มีสินค้าขายเกือบทุกอย่างนั้นมีราคาราว 25 บาท (4 คู่ 100) ซึ่งท่านผู้อ่านคงพอเดาคุณภาพและความประทับใจได้ว่าน่าจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ขายบนแพลตฟอร์มในต่างประเทศนั้นเท่าที่เห็นคือ $10 สหรัฐขึ้นไป หรือหนักหน่อยที่เป็นแบรนด์เนมสำหรับคนไทยที่พอใจคำอธิบายคุณภาพว่า Adult Bed Socks in Organic Merino Wool, Natural White,...นั้นราคาของร้านที่เป็นสาขาในไทยคือ เกือบห้าพันบาท ซึ่งประหยัดได้เกือบ 40% (แสดงว่าราคาเดิมน่าจะเป็น 8 พันกว่าบาท) ดังนั้นผู้ที่สนใจในการดูแลสุขภาพเท้าเพื่อให้นอนหลับสบายขึ้นสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามความเหมาะสมของเท้าและกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคน ส่วนผู้เขียนนั้นถุงเท้าอเนกประสงค์ราคา 3 คู่ 100 ซึ่งจะหนาและมีขนาดใหญ่หน่อยก็พอเพียงต่อการป้องกันการเกิดไมเกรนหลังตื่นนอนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 กำจัดยุงด้วยยุง

        ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 มีข่าวจากสหรัฐอเมริกาในหลายเว็บไซต์ว่า คณะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในรัฐฟลอริดาได้อนุมัติการปล่อยยุงที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมหลายล้านตัวบน Florida Keys (ซึ่งเป็นกลุ่มหมู่เกาะปะการังราว 4,500 เกาะอยู่ที่ปลายคาบสมุทรฟลอริด้า รัฐฟลอริด้า) โดยใช้เวลา 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2564 ถึง 2565 เพื่อให้ยุงดัดแปลงพันธุกรรมหรือ ยุง GMO ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติปะปนอยู่กับยุงทั่วไปโดยหวังว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้ช่วยลดปริมาณยุงที่เป็นพาหะของเชื้อ ไวรัสเดงกี (Dengue virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก อาการคือ ไข้สูง 3-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เมื่อยแขนขา ปวดกระดูก และอาจมีผื่นแดงตามตัว เนื่องจากเส้นเลือดฝอยแตก เซื่องซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน และ ไวรัสซิก้า (Zika virus) ที่ก่อให้เกิดโรคซิก้า อาการคล้ายไข้เลือดออก เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นขึ้น และอีกลักษณะที่พบได้บ่อยกว่าคือ ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา         การอนุมัติโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการนำร่องที่มีการถกเถียงและถูกคัดค้านโดยกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จำนวนมากด้วยกังวลว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่คาดคิดต่อระบบนิเวศและอาจมีศักยภาพที่ก่อให้เกิดยุงลูกพันธุ์ทางที่สามารถต้านยาฆ่าแมลงได้ในอนาคต ผู้ไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติในครั้งนี้มีจำนวนมากเกือบ 240,000 คน ได้ลงชื่อในคำร้องทางเว็บไซต์ Change.org ที่กล่าวหาบริษัท Oxitec กำลังใช้รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นฐานทดลองแมลงกลายพันธุ์ ยุง GMO นี้มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร         บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Oxitec ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอาบิงดัน (Abingdon) ของสหราชอาณาจักร ได้ทำการทดสอบยุงดัดแปลงพันธุกรรมในที่โล่งเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยวางกล่องที่มีไข่ยุงที่ผสมพันธุ์แล้วไว้ในจุดที่เลือกใน Florida Keys โดยยุง GMO ของบริษัท Oxitec นั้นมีชื่อทางการค้าว่า Oxitec's Friendly™ เป็นยุงสายพันธุ์ Aedes aegypti หรือยุงลายซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มียีนที่เมื่อผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียแล้วป้องกันไม่ให้ลูกน้ำตัวเมียรอดชีวิตเป็นยุงตัวเมียที่กัดคนและก่อโรคอันตราย แต่ไม่เกิดปัญหากับลูกน้ำที่กลายเป็นยุงตัวผู้         จากบทความเรื่อง Description of OX5034 Aedes aegypti Mosquito, including Active and Inert Ingredients ที่ดาว์นโหลดได้จาก www.regulations.gov ซึ่งเป็นจดหมายจากผู้บริหารของ Oxitec ถึงผู้บริหารของ US.EPA มีข้อความอธิบายว่า ในยุงดัดแปลงพันธุกรรมนี้ในกรณีที่ลูกน้ำเป็นเพศเมียจะมียีน OX5034 rDNA (recombinant DNA) ที่ถอดรหัสได้โปรตีนชื่อ tTAVOX5034 ซึ่งจะเจริญเป็นยุงตัวเต็มวัยได้เฉพาะในสภาวะที่มียาปฏิชีวนะ tetracycline หรืออนุพันธ์ของ tetracycline เท่านั้น ดังนั้นในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติลูกน้ำเพศเมียจึงตายในระยะเป็นตัวอ่อนช่วง L2/L3 ในขณะที่ลูกน้ำเพศผู้สามารถมีชีวิตรอดจนโตเต็มวัย ซึ่งหมายความว่ายุงลาย OX5034 ที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติที่เลี้ยงโดยไม่มี tetracycline จะมีแต่ตัวผู้ที่ไม่กัดและไม่ดูดเลือดคนจึงไม่เป็นพาหะของโรค อธิบายง่ายๆ คือ การเลี้ยงยุงสายพันธุ์นี้ในห้องปฏิบัติการต้องมีการเติม tetracycline ลงไปในน้ำด้วยจึงจะได้ยุงตัวเมียรอดมาเป็นแม่พันธุ์         เป้าประสงค์สำคัญของการใช้ยุง GMO นั้นคือ การลดทอนจำนวนยุงตัวเมียไปเรื่อยๆ ยุง Oxitec's Friendly™ นั้นมี marker gene ที่ทำให้เรืองแสงในที่มืดจึงทำให้มันถูกแยกออกจากยุงพื้นบ้านอื่นๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นในการลงทุนใช้ยุงพิเศษนี้ ผลการทดลองที่เริ่มในปี 2020 จนถึงปี 2022 นั้นเป็นอย่างไร         นักวิจัยได้เสร็จสิ้นการศึกษายุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมในที่โล่งเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์ตามที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพทำการทดลองนั้นเป็นไปในเชิงบวก แต่ยังจำเป็นต้องมีการทดสอบที่ใหญ่ขึ้นเพื่อพิจารณาว่า สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการยับยั้งประชากรยุงที่อาจเป็นพาหะนำไวรัสได้หรือไม่         บทความเรื่อง First Results From Us Trial Of Genetically Modified Mosquitoes ในวารสาร Nature ของปี 2022 กล่าวว่า การทดลองนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ใน Florida Keys โดย Oxitec ได้ติดตามประเมินผลในพื้นที่ที่ปล่อยเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีการรายงานผลการทดลองครั้งแรกระหว่างการสัมมนาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 แม้ว่าจะยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลเป็นทางการก็ตามว่า ปฏิบัติการได้ผลหรือไม่         ในการประเมินผลนั้น หลังจากที่นักวิจัยได้วางกล่องที่มีไข่ยุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่ที่กำหนดไว้แล้วก็ได้วางกับดักล้อมรอบพวกมันในรัศมีมากกว่า 400 เมตร กับดักเหล่านี้บางส่วนถูกใช้เป็นแหล่งให้ยุงวางไข่ และบางส่วนใช้จับยุงตัวเต็มวัย ซึ่งนักวิจัยพบว่า ยุงตัวผู้ที่ฟักออกจากไข่มักบินไปมาภายในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (10,000 ตารางเมตร) รอบจุดที่ถูกปล่อย ซึ่งเป็นแนวเดียวกับที่ยุงลายป่าบินและเกิดการผสมพันธุ์กัน จากนั้นยุงป่าตัวเมียได้วางไข่ในกับดักของ Oxitec รวมถึงในกระถางดอกไม้ ฝาถังขยะและกระป๋องน้ำอัดลม ในบริเวณนั้น         นักวิจัยของ Oxitec เก็บไข่ยุงที่ได้จากยุงป่าตัวเมียที่ผสมกับยุงตัวผู้ของบริษัทได้มากกว่า 22,000 ฟอง แล้วนำไข่ทั้งหมดกลับไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อฟักให้ออกเป็นตัวซึ่งพบว่า ยุงตัวเมียตายหมดก่อนโตเป็นยุงเต็มวัย (ยุงตัวเมียทุกตัวมียีนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งเป็น lethal gene) นอกจากนี้ทีมงานยังพบว่ายีนที่ทำให้ยุงตัวเมียตายยังคงอยู่ในยุงป่าตัวผู้เป็นเวลาสองถึงสามเดือน หรือ ประมาณสามชั่วอายุของยุงและจากนั้นก็หายไป ทำให้ไม่พบยุงที่มียีนที่ทำให้ตายนั้นเกินกว่า 400 เมตรจากจุดปล่อย โดยตรวจสอบด้วยการวางกับดักเป็นเวลาสิบสัปดาห์หลังจากพบยุงตัวผู้ที่มียีนที่ทำให้ตายได้ครั้งสุดท้าย ผลจากการศึกษาที่ Florida Keys นั้นถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่แล้วหรือไม่         การศึกษาที่ Florida Keys เป็นเพียงการศึกษานำร่องเพื่อหาข้อมูลมาใช้พิจารณาว่า วิธีการนี้ยับยั้งประชากรยุงป่าได้ดีเพียงใด บริษัท Oxitec วางแผนที่จะรวบรวมข้อมูลเหล่าที่ได้จาก Florida Keys ไปใช้ในส่วนขยายของการศึกษาที่อื่น ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐนั้นๆ ล่าสุดเว็บของ Delta Mosquito and Vector Control district ใน Tulare county (เทศมณฑลทูแลร์) ของรัฐแคลิฟอร์เนียให้ข้อมูลว่า บริษัทกำลังรอการอนุมัติจาก US.EPA ในแผนงานที่จะปล่อยยุงตัวผู้ของบริษัทจำนวน 2.4 พันล้านตัว ในการศึกษาแห่งที่สองในเมืองวิเซเลีย (Visalia) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งบริษัทกำลังสร้างตึกศูนย์วิจัยและพัฒนา         ในความเป็นจริงนั้นการระบาดของโรคที่ยุงลายเป็นพาหะอาจเกิดขึ้นได้แม้เป็นพื้นที่ที่ประชากรยุงลายมีจำนวนน้อย ดังนั้นการลดจำนวนประชากรยุง จึงไม่อาจแปลได้ผลว่าเป็นการยับยั้งโรคแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามปฏิบัติการของบริษัท Oxitec นั้นยังดูดีกว่าปล่อยให้มียุงนี้เกิดกันตามบุญตามกรรมแล้วฉีดหมอกควันเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งดูไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างไร         ประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงคือ การลดจำนวนยุงลายไม่ทำให้ความต้องการยาฆ่าแมลงลดลง เพราะยุงลาย Aedes aegypti นั้นคิดเป็นเพียงประมาณ 4% ของประชากรยุงใน Florida Keys ยุงอีกสายพันธุ์คือ black salt marsh mosquito หรือ Aedes taeniorhynchus ซึ่งก่อความรำคาญมากกว่ายุงลายนั้น คิดเป็นประมาณ 80% ของประชากรยุงบน Florida Keys ดังนั้นบริษัทขายยาฆ่าแมลงจึงยังสบายใจอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ใบไม้มีโปรตีนสูงกว่านมหรือไข่..ได้หรือ

        เวลาผู้บริโภคได้รับข้อมูลถึงการมีโปรตีนปริมาณสูงในส่วนของพืชที่เป็นอาหารชนิดใหม่ (novel food) นั้น สำหรับผู้ซึ่งไม่ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนวิชาเคมีทางอาหารที่มีการใช้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหาร อาจจำเป็นต้องรับฟังโดยดุษฎี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผ่านวิชาดังกล่าวอาจฉุกใจว่า ปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นอาจไม่ใช่โปรตีนจริงก็ได้         กรณีตัวอย่างที่อาจเป็นปัญหานั้นได้แก่ การอ้างว่าใบของพืชชนิดหนึ่งมีโปรตีนสูงกว่านมหรือไข่ ซึ่งปรากฏในบางรายการโทรทัศน์บ้าง Youtube บ้าง หรือสื่อช่องทางอื่นๆ ซึ่งผู้รับข่าวสารจำต้องตั้งหลักคิดให้ดีแล้วถามตัวเองว่า ผู้ให้ข้อมูลได้ข้อมูลมาได้อย่างไร         ในความเป็นจริงแล้วตัวอย่างนั้นๆ ต้องถูกนำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการหรือเอกชนที่ได้มาตรฐานตามกระบวนการของ ISO ซึ่งผู้รับข้อมูลควรสอบถามผู้ให้ข้อมูลว่า ใครเป็นผู้วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนให้และควรมีเอกสารรับรองเป็นเรื่องเป็นราวจึงจะเชื่อได้ในระดับหนึ่ง         ทำไมจึงควรเชื่อได้แค่ในระดับหนึ่งนั้นมีคำอธิบายว่า ในการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนของสิ่งที่เป็นอาหารมนุษย์นั้น ถ้าสิ่งนั้นดูไม่น่าเป็นอาหารที่มีคุณค่า เช่น ใบปาล์ม ผู้รับข้อมูลต้องใช้วิจารณญาณว่า ข้อมูลนั้นอาจเป็น “ความเข้าใจผิด” เนื่องจากการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนเป็นเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจในการแปรผลที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นผลที่นำมาพูดอาจผิดพลาด เพราะผลการวิเคราะห์ที่ได้อาจไม่ได้หมายถึงโปรตีนจริงโปรตีนในพืช        เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ใบไม้จากพืชบางชนิดนั้นพอนับได้ว่าเป็นแหล่งของโปรตีนที่มนุษย์กินได้ ในหนังสือชื่อ Handbook of Hydrocolloids (Second edition) ซึ่งเป็น Series in Food Science, Technology and Nutrition พิมพ์โดย Woodhead Publishing Limited ในเมือง Oxford สหราชอาณาจักร ในปี 2009 มีบทที่ 15 เป็นเรื่องของ Vegetable protein isolates ซึ่งให้ข้อมูลว่า ใบไม้มีการสังเคราะห์โปรตีนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้นอาหารสัตว์บางชนิดจึงใช้โปรตีนเข้มข้นจากใบไม้ (leaf protein concentrate) บางชนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่งผลให้ใบไม้ดังกล่าวดูมีอนาคตในการเป็นอาหารเสริมโปรตีนที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์ องค์การอนามัยโลกจึงเสนอให้มนุษย์บริโภคโปรตีนที่สกัดจากใบไม้เป็นครั้งแรกในราวปี 1960 แต่ไม่ประสบความสำเร็จนักเนื่องจากโปรตีนที่สกัดได้จากใบไม้มักมีรสขม เหม็นเขียว และสีออกเขียวเข้ม สำหรับงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับโปรตีนในใบไม้มักเป็นการศึกษาใบอัลฟาฟา (alfalfa) ใบถั่วฟาบา ใบถั่วลันเตา ผักโขม (amaranth) พืชน้ำเช่น แหน (duckweed) ซึ่งมักแสดงผลว่า โปรตีนที่ศึกษามีกรดอะมิโนจำเป็นคือ เมไธโอนีน (methionine) ในปริมาณต่ำ และมักมีสารพิษทางโภชนาการคือ สารไฟเตต สารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ หรือสารแทนนิน เป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติ         ประเด็นสำคัญที่ผู้รับข้อมูลควรทราบคือ การหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นใช้วิธีการใด เพราะโดยปรกติแล้วการหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารซึ่งมีความหลากหลายนั้นมักใช้วิธี เจลดาห์ล (Kjeldahl method) เป็นหลัก ยกเว้นในบางกรณีใช้วิธีวัดการหักเหแสง (refractive index measurement) เพื่อหาปริมาณโปรตีนในนมสดซึ่งต้องการความรวดเร็ว เนื่องจากนมต้องได้รับการแปรรูปก่อนการเสียสภาพโดยพื้นฐานแล้วกระบวนการวิเคราะห์โดยวิธีเจลดาห์ลนั้น เป็นการวิเคราะห์จำนวนอะตอมไนโตรเจน โดยไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ไนโตรเจนนั้นอยู่ในโมเลกุลอะไร และที่สำคัญองค์ประกอบตามธรรมชาติของพืช เช่น ใบพืช นั้นมีสารธรรมชาติมากมายหลายชนิด (ที่ไม่ใช่โปรตีน) มีอะตอมไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบระดับโมเลกุล         นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีทางอาหารแบ่งสารประกอบในอาหารที่มีไนโตรเจนออกเป็น 2 ประเภทคือ protein nitrogen และ non-protein nitrogen ดังนั้นในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารด้วยวิธีเจลดาห์ลแล้วได้ผลเป็นปริมาณไนโตรเจนโดยรวมนั้นจะต้องเอาค่า conversion factor ที่ได้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเหมาะสมสำหรับอาหารแต่ละอย่างมาคูณค่าไนโตรเจนออกมาเป็นค่าปริมาณโปรตีน โดยค่า conversion factor สำหรับอาหารแต่ละชนิดที่นักวิเคราะห์รู้กันว่า ได้มีการทำวิจัยเชิงลึกแล้วว่าช่วยให้ได้ค่าโปรตีนจริงในอาหารแต่ละชนิดเป็นเท่าใด เช่น 6.38 สำหรับเนื้อสัตว์ ไข่และข้าวโพด, 6.25 สำหรับข้าวฟ่าง, 5.83 สำหรับข้าวเจ้า, 5.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ธัญญพืช, 5.6 สำหรับปลาและกุ้ง, 4.59 สำหรับสาหร่ายสีแดง เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดที่ทันสมัยขึ้นนั้นสามารถดูได้จากบทความเรื่อง Calculation of Nitrogen-to-Protein Conversion Factors: A Review with a Focus on Soy Protein ในวารสาร Journal of the American Oil Chemists' Society ของปี 2019 หรือจาก Official Methods of Analysis of AOAC INTERNATIONAL, 21st Edition (2019)         ปัญหาที่มักเกิดเกี่ยวกับการระบุถึงปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารใหม่ เช่น ใบไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งดูแล้วไม่น่ามีใครสนใจทำวิจัยหา conversion factor เฉพาะไว้ ผู้ทำการวิเคราะห์จำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไป คือ 6.25 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีโอกาสผิดพลาดได้         ตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเอาโอกาสผิดพลาดดังกล่าวไปหาประโยชน์คือ กรณีของนมด้อยคุณค่าที่ถูกเติมสารเมลามีน (melamine) ในประเทศจีน ซึ่งเมลามีนเป็นสารที่มี อะตอมไนโตรเจนในโมเลกุลสูง โดยสูตรเคมีของเมลามีนโมโนเมอร์คือ C3H6N6  ดังนั้นเมื่อมีการเติมเมลามีนลงในนมที่มีโปรตีนต่ำแล้ว เมื่อมีการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนในนมด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นอาจทำให้แปลความว่า นมที่ถูกปลอมแปลงมีปริมาณโปรตีนสูงเหมือนนมธรรมดา เพราะมีการใช้ conversion factors ของนมสดมาคูณค่าไนโตรเจนที่วิเคราะห์ได้ออกมาแล้วแปรผลเป็นปริมาณของโปรตีน         ดังนั้นจากการที่มีรายการโทรทัศน์บางรายการซึ่งเผยแพร่บนสื่อต่างๆ กล่าวถึงใบไม้ของพืชบางชนิด เช่น ใบปาล์ม ใบว่าน ว่ามีโปรตีนสูงนั้น ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างที่เป็นอาหารใหม่ด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นจำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไปคือ 6.25 เป็นตัวคูณเพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนออกมา ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้เพราะยังไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่า ใบไม้นั้นมีโปรตีน         ในการประเมิณคุณภาพของโปรตีนในตัวอย่างอาหารนั้น AOAC หรือ Association of Official Agricultural Chemists (ซึ่งเป็นองค์กรที่นักเคมีทางอาหารเชื่อถือ) ได้กำหนดไว้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กันในการประเมินเพราะสะดวกและเร็วที่สุดพร้อมทั้งมีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งนั้นคือ PER (Protein Efficiency Ratio หรือ อัตราส่วนประสิทธิภาพโปรตีน)         หลักการของ PER โดยย่อนั้นเป็นการใช้สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐาน (laboratory animals) เช่น หนู rat หรือหนู mouse ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนคน (แต่อาจใช้ไก่หรือปลาที่มีการเพาะพันธุ์จนเป็นมาตรฐานแล้วได้เช่นกัน) โดยแบ่งสัตว์ออกเป็นกลุ่ม ๆ ให้มีน้ำหนักเฉลี่ยของสัตว์ทั้งหมดใกล้เคียงกัน จากนั้นกำหนดให้กลุ่มหนึ่งกินอาหารมาตรฐานที่สัตว์นั้นกินแล้วเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ซึ่งมีไข่หรือเคซีนที่เป็นโปรตีนในนมเป็นแหล่งโปรตีน และอีกกลุ่มกินอาหารที่มีการแทนที่โปรตีนในอาหารทั้งหมดด้วยตัวอย่าง (เช่น ใบไม้) ที่สนใจศึกษา (ถ้าจะให้ละเอียดรอบคอบกว่าจำต้องมีกลุ่มที่สามที่เป็น pair fed control ด้วย) โดยเมื่อคำนวณค่าพลังงานรวมของอาหารที่ทดสอบแล้วต้องประมาณเดียวกันกับค่าพลังงานรวมของอาหารมาตฐานในลักษณะที่เรียกว่า isocaloric diet        ในการศึกษาต้องทำการจดน้ำหนักสัตว์และน้ำหนักอาหารที่สัตว์กินทุกวัน (เมื่อเก็บไว้ยืนยันการว่าการเจริญเติบโตเป็นปรกติ) และเมื่อสิ้นสุดการทดลอง เช่น 4 สัปดาห์ สัตว์ทดลองแต่ละตัวต้องถูกชั่งน้ำหนักแล้วหารด้วยน้ำหนักโปรตีนที่คำนวณจากน้ำหนักที่สัตว์กินอาหารรวมทั้งสิ้น ผลที่ได้คือ ค่า PER.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 เตี๋ยวน้ำในชามเมลามีน

        ภาชนะเมลามีนเช่น จาน ชาม ทัพพี ช้อน ถ้วยกาแฟ ฯลฯ จัดเป็นภาชนะพลาสติกที่มีราคาไม่แพง ทนกรด ทนด่าง ทนทาน (ไม่แตกง่าย) แล้วยังมีน้ำหนักเบา ผลิตให้มีลวดลายหลากหลายตามรสนิยมของแต่ละคน อย่างไรก็ดีภาชนะเมลามีนซึ่งต้องสัมผัสกับอาหารที่เราบริโภคนั้นมีข้อจำกัดบางประการคือ ถ้าอาหารมีความร้อนสูงราว 100 องศาเซลเซียส โอกาสเกิดการแพร่กระจายของฟอร์มาลดีไฮด์และเมลามีนออกสู่อาหารอาจเกิดขึ้น ซึ่งก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้         การสะสมของเมลามีนในร่างกายถึงปริมาณหนึ่งอาจก่อให้เกิดนิ่วในไตซึ่งนำไปสู่มะเร็งที่ไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงไม่สมควรนำภาชนะเมลามีนอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ หรือนำภาชนะเมลามีนใส่อาหารที่ร้อนจัด เช่น ใส่น้ำขณะที่เดือดจัด ของทอดที่ร้อนจัดซึ่งอาจมีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส เพราะความร้อนทำให้มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด (กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แพร่กระจายได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ลิตร...ข้อมูลนี้ได้จากเว็บของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช www.phonabon.go.th)         โมเลกุลของเมลามีนเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีสูตร C3H6N6 มีสถานะเป็นผลึกของแข็งสีขาว เมื่อนำเมลามีนมาทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลดีไฮด์หรือสารเคมีอื่นๆ จะได้เรซินเมลามีนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพลาสติกชนิดทนความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง จึงเหมาะในการนำมาผลิตเป็นแผ่นลามิเนตทนแรงดันสูง เช่น ภาชนะเมลามีน ฟอร์ไมก้า (formica) พื้นไม้ลามิเนต กระดานลบแบบแห้ง (white board) เป็นต้น         เนื่องจากการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเมลามีนเป็นไปอย่างแพร่หลาย จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าการใช้ภาชนะนั้นเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารมีความร้อนเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ออกมาของโมเลกุลเมลามีน การได้รับเมลามีนในขนาดต่ำอย่างต่อเนื่องอาจเชื่อมโยงกับโรคนิ่วในท่อไตของเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นในบางประเทศที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงมีการทำวิจัยและรายงานถึงปริมาณเมลามีนในระดับ ppm (ส่วนในล้านส่วน) ที่หลุดออกมาจากชามพลาสติก         บทความเรื่อง Liquid Chromatographic Determination of Melamine in Beverages ในวารสาร Journal of the Association of Official Analytical Chemists ของปี 1987 ให้ข้อมูลในการทดลองเทเครื่องดื่มได้แก่ นมเปรี้ยวเข้มข้น น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว และกาแฟด้วยปริมาตร 220 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียสลงในถ้วยเมลามีน โดยให้พื้นผิวเครื่องดื่มอยู่ต่ำกว่าขอบถ้วยด้านบน 5 มิลลิเมตรแล้วปิดปากถ้วยด้วยกระจกนาฬิกาก่อนวางถ้วยนั้นไว้ในอ่างน้ำอุ่นอุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที จากนั้นจึงนำเครื่องดื่มไปสกัดและวิเคราะห์หาปริมาณเมลามีนที่แพร่ออกมา ผลการวิเคราะห์พบระดับของเมลามีนปนเปื้อนในเครื่องดื่มที่ 0.45-3.54 ส่วนในล้านส่วน         เมลามีนปริมาณเล็กน้อยตามธรรมชาติอาจถูกตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์และพืช เพราะเมลามีนเป็นอนุพันธ์เกิดจากการสลายตัวของสารกำจัดแมลงคือ ไซโรมาซีน (cyromazine) ดังปรากฏข้อมูลในบทความเรื่อง Residue determination of cyromazine and its metabolite melamine in chard samples by ion-pair liquid chromatography coupled to electrospray tandem mass spectrometry ในวารสาร Analytica Chimica Acta ของปี 2005 ด้วยข้อมูลดังนี้ Codex Alimentarius Commission แห่งสหประชาชาติจึงได้กำหนดปริมาณเมลามีนสูงสุดที่อาจปนเปื้อนตามธรรมชาติในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกไว้ที่ 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอาหารคนชนิดอื่นและในอาหารสัตว์ (ข้อมูลจาก Wikipedia)        ชามเมลามีนกับก๋วยเตี๋ยว         การแพร่กระจายของเมลามีนสู่อาหารที่มีความร้อนสูงที่น่าจะเกิดขึ้นตามสมมุติฐานที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น น่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชียที่นิยมกินอาหารที่มีความร้อนจัดเช่น แกงจืด ก๋วยเตี๋ยวน้ำ และอื่น ๆ ดังนั้นจึงมีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตรชาวจีนไต้หวันที่ศึกษาถึงโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับเมลามีนที่แพร่ออกมาจากชามพลาสติกเมลามีนที่ใช้ใส่ก๋วยเตี๋ยวน้ำแบบของจีนซึ่งหากินได้ง่ายในไทย         บทความเรื่อง A Crossover Study of Noodle Soup Consumption in Melamine Bowls and Total Melamine Excretion in Urine.ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2013 ได้กล่าวถึงการศึกษานำร่อง (pilot study) ในอาสาสมัครซึ่งมีสุขภาพดี 16 คน (อายุ 20-27 ปี) ซึ่งกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ (อุณหภูมิเริ่มต้น 90 องศาเซลเซียส) มีน้ำแกง 500 มิลลิลิตร จากชามเมลามีนในช่วงเช้าวันหนึ่ง โดยมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 1 ครั้งจากผู้เข้าร่วมการศึกษาก่อนกินก๋วยเตี๋ยวหนึ่งครั้งและทุก 2 ชั่วโมงหลังกินก๋วยเตี่ยว ในช่วงเวลา 12 ชั่วโมง (การทดลองนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ทางธรรมชาติ ดังนั้นผู้เข้าร่วมบางคนจึงไม่ได้ถ่ายปัสสาวะทุกๆ 2 ชั่วโมง) หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ความเข้มข้นของเมลามีนในปัสสาวะที่เก็บแต่ละช่วงเวลาของแต่ละคนซึ่งพบว่า มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเมลามีนที่ถูกขับออกมาและสูงสุดที่ 4 ถึง 6 ชั่วโมง จากนั้นอีก 2 ชั่วโมง ปริมาณเมลามีนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว         ส่วนการศึกษาจริงนั้นได้ให้อาสาสมัครซึ่งระบุว่า ไม่ใช่กลุ่มเดิมจากการศึกษานำร่อง และอย่างน้อย 3 วันก่อนการทดลองต้องไม่กินอาหารจากภาชนะใส่อาหารที่ทำจากเมลามีน โดยกลุ่มที่ 1 (ชาย 3 คนและหญิง 3 คน) อดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ (อุณหภูมิเริ่มต้น 90 องศาเซลเซียส) มีน้ำแกง 500 มิลลิลิตร ในชามเมลามีนเป็นอาหารเช้าโดยใช้เวลากิน 30 นาที นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 (ชาย 3 คนและหญิง 3 คน) ที่ได้กินก๋วยเตี๋ยวน้ำชุดเดียวกันแต่ใช้ชามกระเบื้อง (ซึ่งตรวจไม่พบระดับเมลามีน) สำหรับระดับเมลามีนในปัสสาวะถูกวัดโดย triple-quadrupole liquid chromatography tandem mass spectrometry นอกจากนี้ในระเบียบวิธีวิจัยได้กำหนดหลังการศึกษาในช่วงแรกจบ ให้อาสาสมัครทุกคนได้พักโดยไม่กินอาหารจากภาชนะเมลามีนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วกลับมาทำการศึกษาซ้ำโดยสลับกลุ่มกันคือ ให้กลุ่มที่เป็นกลุ่มที่ 1 กินก๋วยเตี๋ยวในชามกระเบื้องแล้วกลุ่มที่ 2 กินก๋วยเตี๋ยวในชามเมลามีน         ผลการศึกษานั้น พบปริมาณเมลามีนรวมในปัสสาวะที่เก็บได้ในช่วง 12 ชั่วโมงเท่ากับ 8.35 ไมโครกรัม (ชามเมลามีน) และ 1.31 ไมโครกรัม (ชามเซรามิก) ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในปริมาณเมลามีนในปัสสาวะจากทั้ง 2 กลุ่ม โดยค่าครึ่งชีวิตโดยประมาณของการกำจัดเมลามีนในปัสสาวะคือ 6 ชั่วโมง (หมายความว่า ความเข้มข้นของเมลามีนในเลือดลดลงเหลือครึ่งหนึ่งทุก 6 ชั่วโมง จนสุดท้ายที่ระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านไป จะไม่สามารถใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ตรวจพบเมลามีนได้)         มีการระบุในผลการศึกษาว่า ชามเมลามีนที่ใช้ในการศึกษาทั้ง 2 ครั้งถูกเลือกมาจาก 5 ยี่ห้อ โดยปริมาณเมลามีนที่ปล่อยออกมาแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ ทำให้ผลการศึกษาสรุปได้ว่า แม้ว่ามีการขับเมลามีนออกมาในปัสสาววะของอาสาสมัคร แต่ก็มีค่าความเบี่ยงเบนสูง ดังนั้นผลการศึกษาที่พบว่า จานยี่ห้อหนึ่งปล่อยเมลามีออกมานั้นไม่ได้หมายความว่า จานยี่ห้ออื่นต้องปล่อยเมลามีนออกมาด้วยเมื่อใส่อาหารที่ร้อนจัด         สำหรับสถานะการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของภาชนะพลาสติกเมลามีนนั้นมีบทความเรื่อง การสำรวจเบื้องต้น : คุณภาพของเครื่องใช้ในครัวเรือนพลาสติกเมลามีน ในวารสารวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Bulletin of Applied Sciences) ในปี 2016 นั้น นักวิทยาศาสตร์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการได้สุ่มตัวอย่างเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนที่จำหน่ายในประเทศรวมทั้งสิ้นจำนวน 71 ตัวอย่าง แยกตามประเทศผู้ผลิตได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม และที่ไม่ระบุแหล่งผลิตเป็น 20, 36, 2 และ 13 ตัวอย่างตามลำดับ ซึ่งเมื่อตรวจสอบชนิดของพลาสติกเมลามีนด้วยเทคนิค Fourier transform infrared spectroscopy (FT-IR) พบว่าเป็นพลาสติกเมลามีนชนิดเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 21 ตัวอย่าง ชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ 8 ตัวอย่าง และชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 42 ตัวอย่าง         ผลการสำรวจพบว่า ภาชนะชนิดเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 62 (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในช่วง 16.0-797.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณเมลามีนในช่วง 3.0-455.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) สำหรับพลาสติกเมลามีนชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในช่วง 22.2-12,193.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณเมลามีนในช่วง 3.1-16.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ส่วนพลาสติกเมลามีนชนิดยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 88 (ตรวจพบปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์และปริมาณเมลามีนในช่วง 15.2-5,247.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 2.7-26.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ) จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่า เครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีปริมาณเมลามีนและปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นการนำเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทพลาสติกเมลามีนมาใช้งานควรให้ความระมัดระวังในการใช้.................................        มาตรฐานของภาชนะเมลามีน        -ยุโรปมีข้อบังคับ EU Regulation No. 10/2011 on plastic material and articles intended to come into contact with food กำหนดปริมาณเมลามีนไม่มากกว่า 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ไม่มากกว่า 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        -มาตรฐานประเทศไทย มี 2 มาตรฐาน คือ ภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน มอก. 524-2539 กำหนดให้ต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์โดยเทียบกับสารมาตรฐาน 4 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร แต่ไม่ได้กำหนดปริมาณสารเมลามีน และประกาศกระทรวงสาธารณะสุขฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะที่ทำจากพลาสติกซึ่งกำหนดให้ต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไอศกรีมแสนอร่อยมีสารพิษ

        ไอศกรีมเป็นของหวานที่มีราคาหลากหลาย กล่าวคือ บางยี่ห้อราคาถูกพอที่คนซึ่งเลี้ยงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำพอซื้อกินได้ ไปจนถึงบางยี่ห้อที่ราคา 1 scoop ละร้อยกว่าบาท ความแตกต่างของราคานั้นขึ้นกับกรรมวิธีการผลิตซึ่งมักมีวัตถุดิบ ที่อาจเหมือนกันแต่คุณภาพต่างระดับกัน         ไอศกรีมราคาแพงมักมีกลิ่นรสอร่อยกว่าไอศกรีมราคาถูก เช่นในกรณีของไอศกรีมรสวานิลลา ไอศกรีมราคาแพงมักใช้สารสกัดจากฝักวานิลลาจริงซึ่งมีราคาแพงพอควร ในขณะที่ไอศกรีมราคาถูกมักใช้กลิ่นรสวานิลลาสังเคราะห์ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจเหมือนหรือคล้ายของจริง แต่องค์ประกอบโดยรวมของกลิ่นและรสสังเคราะห์นั้นย่อมต่างจากวานิลลาจริงแน่นอน อย่างไรก็ตามการกินไอศกรีมที่ใช้ของดีและอร่อยนั้นก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับโอกาสเจอสารเคมีไม่พึงประสงค์ได้ ถ้าผู้ผลิตพลั้งพลาดปราศจากความรอบคอบในการคัดเลือกองค์ประกอบบางชนิดมาใช้ในการผลิต เพราะอร่อยและแพงจึงเจอสารพิษ         10 สิงหาคมของปีนี้เว็บของสำนักข่าวหนึ่งของไทยมีหัวข้อข่าวเรื่อง ผู้บริโภคผวา! เบลเยียมสั่งเรียกไอศครีมเจ้าดังเพิ่ม หลังอียูเตือนพบสารก่อมะเร็ง โดยมีเนื้อข่าวที่น่าสนใจว่า เบลเยียมสั่งเรียกเก็บไอศกรีมยี่ห้อดังออกจากชั้นวางขายเพิ่มเติมจากที่เคยสั่งไปแล้วครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2022 ข่าวโดยสรุปกล่าวว่า พบเจอสาร 2-chloroethanol ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชนิดกระปุกใหญ่และถ้วยมินิซึ่งจะหมดอายุเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 จากนั้น European Food Safety Authority: EFSA ได้แจ้งเตือนแก่ประเทศสมาชิกอีกครั้ง (ข่าวปรากฏในวันที่10 สิงหาคม 2565) ว่าได้สุ่มตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในไอศกรีมยี่ห้อต่างๆ แล้วพบว่า ไอศกรีมยี่ห้อ XXX ที่ผลิตในฝรั่งเศสแต่มีบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีสารไม่พึงประสงค์ปนเปื้อน หน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศฝรั่งเศสจึงขอให้ร้านค้านำสินค้าล็อตที่ตรวจพบสารพิษออกจากชั้นวางสินค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ แหล่งข่าวทั้งไทยและเทศร่วมใจกันให้ข้อมูลว่า สารพิษที่พบนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสามารถก่อโรคร้าย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้บริโภคควรฟังหูไว้หูก่อนตื่นตระหนก         จากการค้นหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ 2-chloroethanol แล้วปรากฏว่า สารเคมีนี้ถูกจัดว่าเป็นสารพิษร้ายแรงชนิด extremely hazardous substance ซึ่งตามข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกาในรัฐบัญญัติ Emergency Planning and Community Right-to-Know Act (42 U.S.C. 11002) กำหนดว่า ต้องมีการรายงานปริมาณการผลิต การครอบครองและการใช้ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ         2-chloroethanol เป็นอนุพันธ์ของ ethylene oxide ซึ่ง ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อมะเร็งที่มีลักษณะเป็นกาซชนิดที่มีความนิยมในการใช้ฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ตามคุณสมบัติที่สามารถทำลายดีเอ็นเอของเซลล์อย่างชะงัดนัก ในกรณีของไอศกรีม XXX นั้นบริษัทแม่ของผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกากล่าวในเว็บของบริษัทว่า "ปริมาณ ethylene oxide ระดับหนึ่งถูกตรวจพบได้จากส่วนผสมเดียวคือ สารสกัดวานิลลา ที่จัดหาโดยซัพพลายเออร์รายหนึ่งของบริษัท สำหรับประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรปนั้น หน่วยงานตรวจสอบด้านสุขภาพ ANVISA ของบราซิลในเดือนสิงหาคมของปีนี้ ได้ออกการแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไอศกรีมรสวานิลลา XXX ที่นำเข้าจากฝรั่งเศสเช่นกัน         ปริมาณของ ethylene oxide ที่ถูกรายงานเป็นผลวิเคราะห์ต่างๆ นั้น โดยปรกติแล้วเป็นผลรวมของ ethylene oxide และ 2-chloroethylene เสมอ ด้วยเหตุผลว่า 2-chloroethanol นั้นมีจุดเดือดที่ 129°C และสลายตัวที่อุณหภูมิสูงกว่า 400°C จึงมีความคงตัวภายใต้สภาวะการอบหรือการปรุงอาหารทั่วไป ในขณะที่ ethylene oxide ระเหยได้ที่อุณหภูมิห้องเพราะมีจุดเดือดที่ 10.7°C ดังนั้นการตกค้างจึงมักเป็นการพบ 2-chloroethanol ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า เคยมี ethylene oxide ปนเปื้อนอยู่        ethylene oxide ที่ถูกพบในสารสกัดวานิลลานั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามรายงานการศึกษาหลายฉบับของ US. National Toxicology Program เช่น ใน NTP Report on Carcinogens Background Document for Ethylene Oxide, Final March 1999 ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีส่วนหนึ่งในรายงานที่กล่าวว่า 2-chloroethanol ซึ่งเป็นอนุพันธ์เกิดจาก ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อกลายพันธุ์ในการทดสอบหลายวิธีการ แต่ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง  เอกสารชื่อ 35-Ethyleneoxide ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยนำเข้า ethylene oxide จากต่างประเทศ โดยปริมาณนำเข้ารวมแล้วจากประเทศต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ.2544-2549 อยู่ในระดับ 3 ถึง 4 แสนกิโลกรัม สารพิษนี้มีประโยชน์ในการใช้อบฆ่าเชื้อโรคเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (ชนิดทำจากพลาสติก) ซึ่งไม่สามารถใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ, ใช้เป็นสารรมควันสำหรับผ้า ขนสัตว์ อาหาร, ใช้บ่มผลไม้ให้สุก และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีหลายชนิด เช่น acrylonitrile, nonionic surfactant เป็นต้น         ประเด็นที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้ความสำคัญคือ ทำไมอยู่ดีๆ EU จึงมีการตรวจสอบสารพิษที่เป็นข่าวในไอศกรีม จากการค้นหาข้อมูลได้พบว่า เว็บ https://affidiajournal.com มีบทความเรื่อง Ethylene oxide in ice cream: over 100 brands involved in France ได้ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีการแจ้งเตือนเรื่อง ethylene oxide ปนเปื้อนในวัตถุดิบทางการเกษตรตั้งแต่ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 เพราะพบว่า เมล็ดงาที่ถูกนำเข้าจากอินเดียปนเปื้อนสารพิษนี้ นับแต่นั้นมาวัตถุดิบทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ขิงและเครื่องเทศอื่นๆ รวมทั้งอาหารเสริมบางชนิดได้ถูกถอนออกจากตลาดเพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายหลังการตรวจพบสารปนเปื้อนดังกล่าว         ในฝรั่งเศสมีรายงานไอศกรีมหลายยี่ห้อที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้ในระดับสูงกว่าที่ชาวฝรั่งเศสควรได้รับ ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มี งา ขิง หรือเครื่องเทศ (ที่มักมีการปนเปื้อนของ ethylene oxide หรือ ในรูปของอนุพันธ์คือ 2-chloroethanol) โดยพบว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีสารทำให้คงตัว (food stabilizer) สองชนิดคือ locus bean gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E410 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อในเมล็ดของต้น carob หรือ Ceratonia silliqua) และ guar gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E412 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดของถั่ว Guar ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้) ถูกวิเคราะห์พบว่า มี ethylene oxide เกินขีดจำกัดสูงสุดตามกฎข้อบังคับ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จริงแล้วสารทำให้คงตัวทั้งสองไม่ได้ถูกใช้เฉพาะในไอศกรีมเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มี locus bean gum (E410) หรือ guar gum (E412) ได้ถูกถอนออกจากชั้นวางขายสินค้าของร้านขายของในฝรั่งเศส         บทความเรื่อง Analysis of ethylene oxide in ice creams manufactured with contaminated carob bean gum (E410) ในวารสาร Food Additives & Contaminants: Part A ของปี 2021 ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างไอศกรีมมากกว่า 100 รายการ ที่ผลิตในปี 2021 จากฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีสาร E410 (locus bean gum) ซึ่งทำให้คาดว่า อาจมีการปนเปื้อนสารพิษคือ ethylene oxide ปฏิบัติการนี้ทำขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้ในการพัฒนาและตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงคือ GC-MS Triple Quad นี่คือคำตอบว่าทำไมอยู่ดีๆ European Food Safety Authority จึงลุกขึ้นมาทดสอบว่าไอศกรีมมี ethylene oxide หรือไม่ และการวิเคราะห์ (ซึ่งคงทำในอาหารหลายกลุ่มชนิด) ทำให้พบว่าตัวอย่างไอศกรีม 7 ใน 23 ตัวอย่างมี ethylene oxide น้อยกว่า 0.010 มก./กก. ส่วนตัวอย่างไอศกรีมที่เหลือมีการปนเปื้อนมากกว่า 0.010 มก./กก. โดยห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งพบ ethylene oxide ในตัวอย่างที่เหลือนั้นอยู่ในช่วง 0.021–0.052 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 1) หรืออยู่ในช่วงที่มากกว่า 0.018–0.056 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 2)         โดยสรุปแล้วข่าวการปนเปื้อนของสารพิษในไอศกรีมนั้น เป็นความประมาทซึ่งยากในการป้องกัน เพราะเกิดจากการใช้วัตถุดิบที่ได้จากประเทศซึ่งมีความหลากหลายในระดับของเทคโนโลยีการดูแลวัตถุดิบทางการเกษตร เหตุการนี้เป็นตัวอย่างที่หน่วยงานซึ่งดูแลความปลอดภัยของอาหารของนานาประเทศ สามารถใช้เป็นอุทาหรณ์กระตุ้นเตือนให้บริษัทซึ่งมีสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งจำเป็นต้องปราศจากเชื้อราและแมลง มีความพิถีพิถันในการเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบซึ่งมีกระบวนการ GAP (good agricultural practice) ที่ดี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลว่า แล้วเครื่องเทศที่มีวางขายในบ้านเราโดยไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรานั้นมีโอกาสปนเปื้อน ethylene oxide ซึ่งคงเหลือในรูปของ 2-chloroethanol หรือไม่ และในกรณีที่ผู้บริโภคบางคนเกิดกังวลว่า มีการปนเปื้อนจริง คำแนะนำที่น่าจะปฏิบัติไม่ยากคือ อย่ากินอะไรซ้ำซากและอย่ากินอะไรมากในแต่ละมื้อ เพราะ 2-chloroethanol นั้นถ้ามีปริมาณไม่มากเราสามารถขับทิ้งได้ทางปัสสาวะภายใน 24-48 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 อาหารเสริมเกลือบิวทิเรต

        การศึกษาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นทำให้มนุษย์สามารถดัดแปลงและปรุงแต่งการบริโภคอาหารให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในมื้ออาหารให้อยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่กินช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ต่ำลง พร้อมกับลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่มีสารอนุมูลอิสระเป็นปัจจัยก่อโรค เป็นต้น         ผลจากการศึกษาดังกล่าวข้างต้นนั้นทำให้ผู้ที่มีอาชีพในการค้นหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมองเห็นว่า น่าจะมีรายได้งามจากการขายผลิตภัณฑ์บางชนิดแก่ผู้บริโภคที่ไม่ชอบกินผักและ/หรือผลไม้ ซึ่งมีลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้ที่สั่งก๋วยเตี๋ยวไม่ผักไม่งอก จนนำไปสู่การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น “เกลือบิวทิเรต” (butyrate salt) ในแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ใหญ่หลายแห่ง         บทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาพมากมายได้กล่าวถึงเกลือชนิดนี้ว่า เป็นผลที่เกิดจากการที่ผู้บริโภคกินใยอาหารชนิด soluble fiber (ซึ่งสามารถอุ้มน้ำได้ดี) แล้วเมื่อลงไปถึงลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียที่ดีในลำไส้ใหญ่ได้กิน soluble fiber แล้วถ่ายเกลือชนิดนี้ออกมาซึ่งมีงานวิจัยพบว่า เกลือบิวทิเรตมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทำให้สมองเสื่อมช้าด้วย ดังนั้นการหลายคนไม่ชอบกินอาหารที่มีใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) จึงอาจมีเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ต่ำ การกินเกลือบิวทิเรตในรูปเม็ดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน่าจะดีเป็นแน่แท้...จริงหรือ         ก่อนอื่นเราควรทราบว่า ในธรรมชาติแล้วเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่มนุษย์มาจากไหน ข้อมูลนี้หาได้ไม่ยาก เช่น ในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ให้ข้อมูลว่า ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดีมีบทบาทเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ แล้วแบคทีเรียก็ถ่ายออกเป็นกรดไขมันสายสั้นคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 (butyric acid มีคาร์บอน 4 อะตอม) กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 (propionic acid มีคาร์บอน 3 อะตอม) และกรดอะซิติคร้อยละ 65 (acetic acid มีคาร์บอน 2 อะตอม) (ข้อสังเกตุคือ ในร่างกายมนุษย์นั้นสารที่มีความเป็นกรดมักถูกเปลี่ยนเป็น เกลือ เช่น กรดบิวทิริคไปเป็น เกลือบิวทิเรต เนื่องจาก pH ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายส่วนใหญ่เป็นกลางเช่น ประมาณ 7.4)         เซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต โดยมีสมมุติฐานว่า ในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจได้พลังงานจากบิวทิเรตเพื่อการดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอจนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ซึ่งทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงไปจากสภาวะปรกติ ส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไม่ดีตามควร ซึ่งเว็บ Wikipedia ได้ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของเกลือบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีสมมุติฐานว่ แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่กลับต้องตายตามหลักการของ Warburg effect         Warburg effect กล่าวว่า เซลล์มะเร็งนั้นอยู่ดำรงได้ด้วยพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว โดยไม่สามารถใช้เกลือบิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงเกลือบิวทิเรตไปเป็นพลังงานในเซลล์ปรกตินั้นจำต้องผ่านกระบวนการที่อยู่ใน “ไมโตคอนเดรีย”  แต่เซลล์มะเร็งนั้นเป็นเซลล์ที่ไม่มีการใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด จนนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มเซลล์มะเร็ง ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Histone deacetylase inhibitors: molecular mechanisms of action and clinical trials as anti-cancer drugs ในวารสาร American Journal of Translational Research ของปี 2011 ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกลือบิวทิเรตนำมาใช้เชิญชวนผู้บริโภคว่า ควรกินเกลือบิวทิเรต ?         งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า การกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีนั้นมีผลต่ออวัยวะอื่นนอกเหนือไปจากลำไส้ใหญ่ด้วย โดยงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมอง (ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ) ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ในบทความนี้เล่าถึงผลการทดลองว่า เกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ของหนูแก่ที่ได้กินอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสที่เป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีซึ่งแบคทีเรียกินไม่ได้         ไมโครเกลียนั้นเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ เข้าใจกันว่าในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้น ส่วนการอักเสบเรื้อรังในสมองถ้ามีมากเกินไปก็น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา ซึ่งมีงานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปว่า เกลือบิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         จากข้อมูลข้างต้นอาจทำให้หลายคนสรุปว่า การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเกลือบิวทิวเรตน่าจะดีต่อสมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วสารอาหารเกือบทุกชนิดที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของเกลือบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่สามารถเปลี่ยนเกลือบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetyl coenzyme A) ซึ่งถูกนำไปดำเนินการต่อกลายเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010         นอกจากนี้ในบทความเรื่อง Butyrate: A Double-Edged Sword for Health? ในวารสาร Advance Nutrition ของปี 2018 ให้ข้อมูลว่า การกินเกลือบิวทิเลตมากเกินไปจะส่งผลให้ตับมีการเปลี่ยนสารนี้ไปเป็น acetyl CoA ซึ่งเซลล์ตับสามารถนำไปสร้างเป็นกรดไขมันตลอดถึงคอเลสเตรอลได้เป็นอย่างดี จนผู้บริโภคนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง         ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโอกาสที่เกลือบิวทิเรตที่ถูกกินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่และ/หรือไปต่อถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่แล้วโอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานโดยเซลล์จะหลุดรอดไปตามกระแสเลือดสู่สมองได้บ้างย่อมเป็นไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 กินอย่างไรจึงอายุยืน

        นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการศึกษาด้านอาหารและโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมแคลอรีและโปรตีน ในอาหารว่า ความเหมาะสมของสารอาหารทั้งสองมีประโยชน์เกี่ยวกับช่วงอายุ (lifespan) ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในสัตว์ที่มีอายุไขสั้น เช่น หนอน Caenorhabditis elegans ไปถึงสัตว์ที่ใหญ่กว่าเช่น หนู กระต่าย ลิง ตลอดจนการศึกษาทางระบาดวิทยาและการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ในคน         มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สัดส่วนในอาหารของโปรตีนที่ถูกควบคุมปริมาณให้ไม่มากแต่ต้องเพียงพอต่อความต้องการของการดำรงชีวิต หรือเป็นการบริโภคโปรตีนจากพืชตระกูลถั่วในระดับแม้อาจสูงกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั้นอาจเพิ่มช่วงอายุและก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีโดยมีสมมุติฐานว่า เป็นการลดการบริโภคกรดอะมิโนบางชนิดซึ่งหมายถึง เมไทโอนีน (methionine) ทั้งนี้เพาะกรดอะมิโนเมไทโอนีนนั้นได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับกระบวนการที่เป็นวิถีทางของกระบวนการของการแก่ของเซลล์ต่างๆ ดังอธิบายไว้ในบทความเรื่อง Methionine Restriction Extends Lifespan in Progeroid Mice and Alters Lipid and Bile Acid Metabolism ในวารสาร Cell Reports ของปี 2018 โดยบทความนี้ได้ให้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในหนู mouse ว่า การจำกัดปริมาณกรดอะมิโนเมไทโอนีนลงระดับหนึ่งช่วยลดการถอดรหัสของดีเอ็นเอเพื่อสร้างโปรตีนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดการอักเสบและการตอบสนองเมื่อเกิดจากความเสียหายของ DNA และช่วยฟื้นฟูเซลล์เนื่องจากเกิดความผิดปกติของเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวกับไขมันและกรดน้ำดี สำหรับคำว่า progeroid ที่อยู่ในบทความที่กล่าวถึงนั้นเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายถึงกลุ่มอาการของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดน้อยมากในคน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะทางคลินิกที่คล้ายคนแก่ทั้งที่ยังหนุ่มสาว เช่น ผมร่วง รูปร่างเตี้ย ความหนาแน่นและลักษณะของผิวหนังเป็นแบบคนแก่ มักเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน         ในประเด็นเกี่ยวกับการมีอายุยืนเพราะมีรูปแบบการกินอาหารเหมาะสมนั้น Wikipedia และเว็บไซต์ต่าง ๆ (ซึ่งมีเอกสารวิชาการอ้างอิงในแหล่งเหล่านั้น) กล่าวถึง ชาวโอกินาวา (Okinawa) ในญี่ปุ่น ชาวบาร์บาเกีย (Barbagia) ในอิตาลี และชาวโลมา ลินดา (Loma Linda) ในสหรัฐอเมริกา         ชาวโอกินาวา ซึ่งมักประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรมอื่นๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีอัตราการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงภาวะกระดูกพรุนที่ต่ำกว่าคนญี่ปุ่นที่มีอายุ 90 ปีเท่ากัน สิ่งที่น่าสนใจคือ พบว่าการทํางานของสมองและร่างกายของคนญี่ปุ่นทั่วไปมักลดลงต่ำกว่า 50% ในขณะที่ชาวโอกินาวานั้น ยังมีสภาพร่างกายที่สามารถทํางานได้ราว 85 % ของเมื่อยังหนุ่มสาว โดยรูปแบบการกินของชาวโอกินาวา คือ        o  กินอาหารหลากหลายในแต่ละวันซึ่งตรงกับหลักการทางพิษวิทยาที่ว่า การได้รับสารเคมีทั้งธรรมชาติและสังเคราะห์ในอาหารนั้น ถ้าไม่จำเจนักร่างกายควรกำจัดทิ้งได้จนไม่เกิดการสะสม        o  กินอาหารในแต่ละมื้อให้รู้สึกอิ่มเพียง 80% เท่านั้น หรือแค่ให้ไม่รู้สึกหิว (เพราะหลังจากนั้นร่างกายจะปรับกระบวนการทางสรีระวิทยาที่จะส่งข้อมูลไปสมองว่า อิ่มแล้ว) เพื่อเป็นการป้องกันการกินเกินจนเป็นโรคอ้วน        o  กินอาหารทํามาจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ มิโซะ ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว และถั่วหมักอื่น ๆ ซึ่งมีสารพฤกษเคมีช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และภาวะกระดูกพรุน        o  ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยในการนำของเสียหรือสารพิษที่ร่างกายปรับเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วออกจากร่างกาย        o  กินอาหารเช้าเป็นอาหารหลักเพื่อให้ร่างกายปฏิบัติภาระกิจได้เต็มที่หลังจากอดอาหารในช่วงการนอนหลับทั้งคืน โดยลดปริมาณอาหารมื้ออื่นๆ ให้ต่ำลงในด้านพลังงาน        o  ปลูกผักกินเองและเผื่อแผ่เพื่อนบ้านเพื่อเลี่ยงสารเคมีตกค้าง        o  กินอาหารทะเลซึ่งอุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยกล่าวว่า โอเมก้า-3 อยู่ในกระบวนการที่ลดการสร้างพรอสตราแกรนดิน (prostraglandin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอักเสบ (inflammation) ของเนื้อเยื่อ         ชาวบาร์บาเกีย เป็นกลุ่มชนที่อาศัยในแคว้นซาร์ดิเนียของอิตาลีซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงถือว่ากิน อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (ซึ่งต่างจากอาหารอิตาเลียนแทบจะโดยสิ้นเชิง) ทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยที่สุดในโลก ซึ่งรูปแบบการกินของชาวบาร์บาเกีย คือ        o  กินอาหารมื้อเช้าเป็นหลัก โดยมีผักสด ผลไม้สด ธัญญาหาร ข้าวไม่ขัดสี เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่        o  ปรุงอาหารด้วยน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (ซึ่งมีโอกาสถูกเปลี่ยนให้เป็นอนุมูลอิสระน้อยมากต่างจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) ในน้ำมันถั่ว รำขาว และอื่น ๆ ซึ่งถึงมีประโยชน์สูงแต่ถ้ากินมากต้องกินร่วมกับพืชผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย) และมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล        o  กินอาหารที่มีถั่วเปลือกแข็งต่างๆ ซึ่งมีวิตามินอีและวิตามินอื่น ๆ สูงเป็นประจำ        o  ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศในการปรุงอาหารกินเอง โดยหวังประโยชน์จากพฤกษเคมีในปริมาณที่เหมาะสม        o  ดื่มไวน์พร้อมอาหารมื้อเย็นไม่เกิน 2 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้ชาย และไม่เกิน 1 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้หญิง ซึ่งกล่าวกันว่าน่าจะส่งผลดีต่อร่างกายและลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ (อย่างไรก็ดีสำหรับพุทธมามกะแล้วการดื่มน้ำองุ่นหรือน้ำผลไม้/น้ำผักที่มีสีเข้มหน่อย ก็ได้ประโยชน์แทบไม่ต่างจากการดื่มไวน์เลย แถมยังดีกว่าที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเมาไร้สติ)        o  กินปลาและสัตว์ปีกโดยเลี่ยงการกินสัตว์ใหญ่ เลี่ยงการอาหารปรุงสำเร็จทางอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เค็ม        o  หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งจริงแล้วคือ องค์ประกอบปรกติในอาหารแต่อยู่ในปริมาณ megadose ที่เพิ่มภาวะงานในการกำจัดทิ้งของตับและไตโดยไม่จำเป็น ยกเว้นแต่ว่าได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการขายสินค้า        o  กินอาหารเมื่อหิวอย่างช้าๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด โดยใช้เวลาในการกินแต่ละมื้ออย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เกิดความสุขไม่ต้องเร่งรีบจนเกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น         ชาวโลมา ลินดา นั้นอาศัยในเมืองโลมา ลินดา ในเขตซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ชาวเมืองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Seventh-day Adventist Church ซึ่งมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ท่ามกลางมลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ดีกว่าคนทั่วไปในสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องอํานวยความสะดวก เครื่องมือสื่อสาร ใช้คอมพิวเตอร์เหมือนคนในเมืองใหญ่ทุกประการ มีเพียงรูปแบบการกินอาหารและแนวคิดในการดํารงชีวิตที่ดูแตกต่างคือ เป็นมังสวิรัติแบบกินไข่และนมและไปโบสถ์เป็นประจำ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทำให้มีอายุยืน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคมะเร็งและโรคเบาหวานน้อยกว่าคนทั่วไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรูปแบบการกินอาหารคือ        o  กินอาหารเช้าเป็นมื้ออาหารหลักและลดปริมาณของอาหารมื้ออื่น        o  กินเนื้อสัตว์เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 2 ครั้งโดยประมาณ (ซึ่งคล้ายคนอินเดียวรรณะพราหมณ์ที่ต้องการกรดอะมิโนบางชนิดที่พืชผักมีต่ำไปหน่อย) หรือไม่กินเลยถ้ามีความรู้ในการจัดการอาหารให้มีคุณค่าครบตามที่ร่างกายต้องการ        o  กินถั่วเปลือกแข็งวันละประมาณ 1 กํามือทุกวัน เพื่อเป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว ใยอาหาร วิตามินอี ฯลฯ ซึ่งช่วยทําให้อิ่มได้นานขึ้น        o  หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร (เลี่ยงหวาน มัน เค็ม)        o  ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหาเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ทดแทนได้ไม่ยาก        o  กินอาหารช้า ๆ ร่วมกับผู้อื่นเพื่อสร้างความสุขและสัมพันธภาพที่ดี        o  หยุดกินทันทีเมื่อรู้สึกอิ่ม ซึ่งเหมาะมากสำหรับผู้ที่ไม่สนใจการกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์         โดยสรุปแล้วในกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีอายุยืนยาวที่สุดในโลกนั้น แม้ว่าถิ่นฐานที่อยู่อาศัย รูปแบบการดํารงชีวิตวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มาจากธรรมชาติคือ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ไม่กินอาหารจนอิ่มมากเกินไปโดยเน้นอาหารเช้าเป็นมื้อหลัก และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ออกกําลังกายอย่างเป็นประจํา มีสุขภาพจิตที่ดีพอในการรับมือกับความเครียดได้ อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีสังคมเพื่อแบ่งปันความสุขให้แก่กันและกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กินให้อายุยืน

        ราว 440 ปีก่อนคริสตกาล แพทย์ชาวกรีกชื่อ ฮิปโปเครติส กล่าวว่า "จงยอมให้อาหารเป็นยาและปรับให้ยาของท่านเป็นอาหาร (Let food be thy medicine and let thy medicine be food)" ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวถึงอย่างมาก แต่มักไม่ให้คำอธิบายเชิงวิชาการได้ว่า ทำไมจึงควรกินอาหารจานใดหรือรูปแบบใดเป็นประจำเพื่อให้มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่น่าจะเป็น         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด 3 กลุ่มในโลก ได้แก่ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา โดยเรียกคนใน 3 กลุ่มนี้ว่าอาศัยอยู่ใน “Blue Zone” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีประชากรอายุมากเกินกว่า 100 ปีอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่อายุยืนยาวเพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพกายรวมถึงความจําและสุขภาพจิตก็ดีมากอีกด้วย         บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Effect of Calorie Restriction on Mood, Quality of Life, Sleep, and Sexual Function in Healthy Non-obese Adults: The CALERIE 2 Randomized Clinical Trial ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ได้ระบุว่า การศึกษาหลายเรื่องเกี่ยวกับการมีอายุยืนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในคำกล่าวที่ว่า มีการใช้อาหารเป็นยา ซึ่งได้มาจากการเฝ้าสังเกตทั้งปริมาณและประเภทอาหาร รวมถึงช่วงเวลาการกินหรือไม่กินอาหารก็ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยปัจจัยที่สามเกี่ยวกับช่วงเวลาการกินนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในบทความเรื่อง The role of intermittent fasting and meal timing in weight management and metabolic health ในวารสาร Proceedings of the Nutrition Society ของปี 2020 ที่ระบุว่า ความตั้งใจอดอาหารเป็นครั้งคราว (fasting-mimicking diet) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี         ข้อสังเกตประการหนึ่งจากบทความใน JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ข้างต้นคือ มีคำแนะต่อการทำวิจัยในประเด็นนี้ว่า แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่แคลอรี่ของอาหารเป็นสำคัญนั้น การทำวิจัยควรมุ่งเป้าไปที่รูปแบบอาหารที่ช่วยในการรักษาดัชนีมวลกายหรือ BMI ให้ต่ำกว่า 25 พร้อมทั้งรักษาระดับไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามเพศและวัยที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการมีร่างกายที่ดูดีไม่มีไขมันเกินด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบอาหารที่เหมาะสมแม่นยำแก่ผู้บริโภคแต่ละคนนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยหลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นบ่งชี้ว่า รูปแบบอาหารที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งอายุ เพศ และพันธุกรรมของแต่ละคน         งานวิจัยเกี่ยวกับผลของอาหารต่อความยืนยาวของอายุนั้น มักเป็นการทบทวนการศึกษาด้านโภชนาการหลายร้อยเรื่องที่ศึกษาในห้องทดลองตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงมุมมองทางระบาดวิทยา เพื่อระบุหา รูปแบบโภชนาการที่เป็นตัวร่วมของอาหารเพื่อการมีอายุยืนยาวพร้อมมีสุขภาพดี โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดสีที่ใช้ทำขนมปังโฮลวีท) ในระดับกลางถึงสูง กินโปรตีนจากพืชในปริมาณที่ไม่ต้องมากนักเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการกินปลาเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น         พื้นฐานของอาหารที่น่าจะช่วยให้อายุยืนควรเป็นอย่างไร         บทความเรื่อง Nutrition, longevity and disease: From molecular mechanisms to interventions ในวารสาร Cell ของปี 2022 ได้วิเคราะห์การศึกษาหลายร้อยชิ้นที่ตรวจสอบผลของภาวะโภชนาการต่อการแก่ที่ช้าลงในสัตว์ทดลองที่มีช่วงอายุสั้น ในแง่การตอบสนองต่อสารอาหารที่สนใจศึกษา การจำกัดแคลอรี่ การอดอาหาร และการกินอาหารที่มีธาตุอาหารหลักในระดับที่ต่างกัน โดยที่งานวิจัยเหล่านั้นได้วิเคราะห์ภาวะโภชนาการและอาหารจากหลายแง่มุม ตั้งแต่การศึกษาในระดับเซลล์ ต่อไปถึงในสัตว์ทดลอง ก่อนขยายไปถึงการวิจัยทางคลินิกและทางระบาดวิทยาที่ศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชนใดๆ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านไป จนท้ายที่สุดนักวิจัยพบว่า อาหารที่ควรทำให้อายุยืนประกอบด้วย        1. อาหารที่อุดมด้วยพืชตระกูลถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีเช่นที่กลุ่มมังสวิรัติ และ Pescatarian (มังสวิรัติที่งดเว้น ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ทุกชนิดแต่กินปลา) กินในชีวิตประจำวัน        2. ร้อยละ 30 ของพลังงานได้มาจากไขมันพืช (น่าจะหมายถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว) เช่น ถั่ว น้ำมันมะกอก และธัญพืชต่างๆ        3. กินอาหารโปรตีนต่ำแต่เพียงพอจนถึงอายุ 65 แล้วจึงบริโภคโปรตีนในระดับปานกลาง (โดยอาหารที่มีโปรตีนสูงคือ อาหารที่ให้แคลอรีจากโปรตีนรวมร้อยละ 20 หรือมากกว่าต่อวัน)        4. อาหารมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจริงแล้วคงคลุมไปถึงอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็ม        5. เลี่ยงการบริโภคเนื้อแดง (เนื้อที่ต้มแล้วยังมีสีแดงเนื่องจากมีมัยโอกลอบินสูง ส่วนเนื้อขาวนั้นเช่น อกไก่ ซึ่งพอต้มแล้วจะซีด) หรือเลี่ยงเนื้อแปรรูปเช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก โดยเน้นให้กินเนื้อขาวแค่พอเพียง        6. ในวันหนึ่งให้กินอาหารในช่วง 12 ชั่วโมงและอดอาหาร 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นการลดการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย        7. ปฏิบัติตนตาม fasting-mimicking diet ซึ่งเป็นการวางโปรแกรมอาหารที่จำลองการอดอาหารโดย จำกัดแคลอรี่ให้ไม่เกิน 770 - 1,100 Kcal/วัน โดยเน้นโปรตีนที่มาจากพืช (ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช) เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index) เช่น ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ ปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำเพียง 5 วันติดต่อกันในแต่ละเดือน (25 วันที่เหลือ เลือกกินให้ดีที่สุด) เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน การปรับรูปแบบการกินอาหารนั้นมีลักษณะเป็นหลักตายตัวหรือไม่         อาหารนั้นควรถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องระวังการขาดสารอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี บางคนอาจมีร่างกายที่อ่อนแอลงถ้ายังกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำแต่พอเพียงแบบช่วงชีวิตหนุ่มสาว (โปรตีนต่ำมักนำไปสู่การขาดสารอาหารจำเป็นปริมาณน้อยหรือ micronutrients ด้วยเพราะสารกลุ่มนี้แทบทุกชนิดอยู่ในเซลล์ของเนื้อสัตว์) ดังนั้นจึงควรเข้าใจในการประเมินว่า ร่างกายของผู้สูงอายุนั้นอยู่ในสภาวะมีสุขภาพดีหรือไม่ โดยดูง่าย ๆ ว่า ถ้ายังคงกินอาหารแบบเดิมแล้วในหนึ่งปีเป็นหวัดบ่อยหรือไม่ คำแนะนำนี้อาศัยหลักว่า ไข้หวัดมักเกิดเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงกว่าที่ควร ซึ่งมักเกิดเนื่องจากการได้รับโปรตีนและสารอาหารสำคัญที่ต้องการในปริมาณน้อยเช่น สังกะสี ในเนื้อสัตว์ต่ำไป พร้อมไปกับการได้รับวิตามินเอจากเนื้อสัตว์หรือเบต้าแคโรทีนจากผักผลไม้ต่ำกว่าควร สำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเป็นโรคอ้วนก็ยังจำเป็นต้องบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูงเพื่อให้ได้พลังงานโดยไม่เพิ่มการหลั่งอินซูลิน         สำหรับในฉลาดซื้อฉบับต่อไป ของฝากจากอินเทอร์เน็ต จะกล่าวถึงกลุ่มชน 3 กลุ่มคือ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา ซึ่งมีงานวิจัยทำการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวถึงรูปแบบการกินอาหารแล้วว่า น่าจะช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุยืนนาน

อ่านเพิ่มเติม >