ฉบับที่ 236 ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน ตอนที่ 1

        ร้อยปีที่แล้วเป็นศตวรรษของอะตอมเพราะมีการศึกษารู้ว่า อะตอมในโมเลกุลมีอะไรบ้างเป็นองค์ประกอบ ตลอดจนสามารถปลดปล่อยพลังงานของอะตอมออกมาเป็น Atomic bomb จากนั้นเมื่อถึงศตวรรษ 21 นี้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเป็น ศตวรรษของยีน เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถรู้ว่า รหัสพันธุกรรมบนโครโมโซมภายในเซลล์ของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งได้มีการศึกษาถึงความหมายของรหัสพันธุกรรมที่อยู่บนยีนแต่ละยีนว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถแปลต่อไปว่า รหัสพันธุกรรมแบบไหนที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตที่เป็นสุขไร้โรคหรือทุกข์อมโรคได้         ความแตกต่างของลำดับนิวคลีโอไทด์ ที่เป็นองค์ประกอบของแต่ละยีนนั้นส่งผลต่อการทำงานของยีนทั้งในด้านบวกหรือลบ ความแตกต่างกันเพียงตำแหน่งเดียวของลำดับพันธุกรรมของแต่ละยีนซึ่งเรียกว่า single nucleotide polymorphism หรือ SNP (นักวิทยาศาสตร์บางคนใช้คำว่า SNiP เพื่อให้จำง่าย) อาจส่งผลถึงการเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ ตัวอย่างเช่น sickle cell anemia คือการที่เม็ดเลือดแดงบางส่วนของผู้ป่วยมีลักษณะผิดปรกติมีสัณฐานคล้ายเคียวเกี่ยวข้าว ความผิดปรกตินี้ทำให้เม็ดเลือดนั้นไม่สามารถนำออกซิเจนได้เหมือนเม็ดเลือดปรกติที่มีสัณฐานกลมเป็นแอ่งเว้าตรงกลาง สาเหตุที่ก่อความผิดปรกติคือ เกิดการกลายพันธุ์ของนิวคลีโอไทด์ 1 หน่วยของยีนที่สร้างโปรตีนฮีมในเม็ดเลือดแดงชื่อ hemoglobin-beta gene อย่างไรก็ดียีนสร้างโปรตีนฮีมของเม็ดเลือดแดงมีหลายยีน เพราะคนที่เป็น sickle cell anemia นั้นยังมีเม็ดเลือดแดงที่ปรกติบ้าง จึงยังมีชีวิตอยู่ได้แบบค่อนข้างลำบาก         มีการศึกษาพบว่า ความแตกต่างกันขององค์ประกอบที่เป็นหน่วยพันธุกรรมหรือ SNP ของยีนแต่ละยีนนั้นมักส่งผลถึงการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ (ซึ่งถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม) ที่เกี่ยวเนื่องกับการตอบสนองต่อสารอาหารบางชนิดต่างไปจากคนปรกติทั่วไป ด้วยอิทธิพลของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า nutrigenomic ซึ่งใช้อธิบายว่า คนหลายคนที่มีรูปแบบชีวิตเหมือนกันโดยเฉพาะการกินอาหารนั้น กลับมีการแสดงออกทางร่างกาย (phenotype) ต่างกันในด้านน้ำหนัก ความแข็งแรง ความอดทน และอื่น ๆ         ข้อมูลที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นที่มาของธุรกิจให้บริการตรวจความแปรเปลี่ยนขององค์ประกอบทางพันธุกรรมของแต่ละยีน (SNP) ที่มีผลต่อสุขภาพเนื่องจากการกินอาหารตลอดไปจนถึงพฤติกรรมความเป็นอยู่ ในธุรกิจนี้ผู้รับบริการจะได้รับอุปกรณ์คือ cotton bud สำหรับกวาดกระพุ้งแก้มเพื่อเก็บเซลล์พร้อมน้ำลายที่มีเซลล์ที่หลุดออกมาแล้วใส่ลงในภาชนะที่มีน้ำยาสำหรับคงสภาพของเซลล์ แล้วส่งทางไปรษณีย์กลับไปยังห้องปฏิบัติการของบริษัทเพื่อทำการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งหมดบนโครโมโซมที่ได้จากเซลล์ เพื่อหาว่ามีลักษณะของพันธุกรรมที่เป็น SNP ของยีนที่มีการตอบสนองต่อการใช้สารอาหารแต่ละชนิดที่กินจากอาหารแต่ละมื้อต่างไปจากคนปรกติส่วนใหญ่หรือไม่         จากนั้นบริษัทจะแปลผลออกมาโดยนักวิชาการที่รู้ดีในศาสตร์นี้ว่า ลูกค้าผู้นั้นควรกินอาหารที่มีองค์ประกอบอย่างไร เพราะถ้าลูกค้ามี SNP ที่ส่อจะเกิดโรคไม่ติดต่อบางโรค เช่น กระดูกพรุน เบาหวานประเภทที่ 1 มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ  การเลี่ยงสารอาหารบางอย่างหรือเพิ่มสารอาหารบางอย่างอาจช่วยให้ชีวิตดำเนินได้เป็นสุขขึ้น และมักมีการเพิ่มคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านความเป็นอยู่ เช่น การออกกำลังกาย (โดยอาศัยข้อมูลจากแบบสอบถามที่ส่งไปพร้อมกับน้ำลาย)         ประเด็นคือ กระบวนการของบริษัทเหล่านี้เชื่อได้แค่ไหน คำตอบคือ แล้วแต่บุญและกรรมที่อาจทำกันมาแต่ชาติปางก่อนว่าบริษัทนั้น กลวงแบบบริษัทขายไม้ล้างป่าช้าตรวจวัตถุระเบิดหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานชื่อ The U.S. Government Accountability Office หรือ US. GAO ซึ่งทำหน้าที่สำคัญให้วุฒิสภา (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ในการตรวจสอบความโปร่งใสของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศทั้งหมด (โปรดอย่าสับสนว่าเหมือน ป.ป.ช ของไทย) แม้การทุจริตของประธานาธิบดีก็ไม่มีการเว้น ดังนั้นเมื่อมีการหลอกลวงในการขายสินค้าหรือบริการสำคัญๆ ที่มีผลกระทบถึงผู้บริโภค เช่น กรณีของการตรวจหน่วยพันธุกรรมเพื่อดูว่ามีความสัมพันธ์กับโรคเนื่องจากการบริโภค หน่วยงาน US. GAO จึงเข้าทำการตรวจสอบและได้เผยแพร่เอกสารอิเล็คโทรนิคอย่างน้อย 2 เรื่องคือ NUTRIGENETIC TESTING: Tests Purchased from Four Web Sites Mislead Consumers และ DIRECT-TO-CONSUMER GENETIC TESTS: Misleading Test Results Are Further Complicated by Deceptive Marketing and Other Questionable Practices         ใจความสำคัญของเอกสารทั้งสองชิ้นนั้นระบุว่า การให้บริการตรวจสอบองค์ประกอบทางพันธุกรรมเพื่อทำนายผลหรือการแนะนำพฤติกรรมการกินเพื่อหลีกเลี่ยงโรคไม่ติดต่อต่างๆ ของบางบริษัทนั้นดูจะเชื่อไม่ได้ โดยทางสำนักงานได้ทดลองส่งตัวอย่างที่ได้จากการกวาดกระพุ้งแก้มของสตรีนางหนึ่งไปยัง 4 บริษัทที่มีการโฆษณาบริการบนอินเทอร์เน็ต ผลปรากฏว่า การแปลผลและคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารนั้นไปคนละทิศละทาง ซึ่งผู้ทำรายงานเข้าใจว่า ความแตกต่างนั้นเกิดเนื่องจากข้อมูลที่ตอบไปในแบบสอบถามซึ่งต่างกัน นั่นเป็นการแสดงว่าคำแนะนำนั้นแทบไม่ได้ขึ้นกับการวิเคราะห์หน่วยพันธุกรรมแต่ขึ้นกับคำตอบในแบบสอบถามมากกว่า         ทางสำนักงาน US. GAO ได้ทำการทดลองอีกครั้งหนึ่ง โดยส่งตัวอย่างของหนึ่งชายไปยัง 2 บริษัท ซึ่งผลของคำแนะนำที่ได้นั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยขึ้นกับข้อมูลที่กรอกไปในแบบสอบถาม (เช่นกัน) และเมื่อส่งตัวอย่างของหนึ่งหญิงไปยัง 9 บริษัท พร้อมกับการตอบแบบสอบถามซึ่งให้ข้อมูลที่ต่างกัน แถมข้อมูลที่ส่งไปบางบริษัทนั้นได้หลอกว่าเป็นตัวอย่างจากเพศชาย ผลคำแนะนำที่ได้กลับมาจึงไม่น่าประหลาดใจว่า คำแนะนำจาก 9 บริษัทแก่ผู้หญิงคนเดียวกันจึงต่างกันไปโดยสิ้นเชิง         เรื่องของการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม โดยเฉพาะของมนุษย์เพื่อหาเงินนั้นมีข่าวหนึ่งทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่ระบุว่า นักการเมืองไทยคนหนึ่งได้ลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับการบริการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเพื่อแปลผลไปสู่การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายตามหลักการที่เรียกว่า nutrigenomic เพื่อแก้หรือป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกิน บริษัทที่ให้บริการนี้ชื่อ DNAnudge        ประเด็นที่น่าสนใจคือ บริการนี้อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไร และการบริการนี้เป็นจริงตามที่โฆษณาไว้ที่ว่า ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่เหมาะสมกับรหัสพันธุกรรมที่แต่ละคนมี...หรือไม่         คำว่า Nudge นั้นมีความหมายว่า การสะกิดให้ใครสักคนเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระทำอยู่ไปในแนวใหม่ที่ควรจะดีขึ้นกว่าเดิม ในที่นี้ DNAnudge มีความหมายโดยรวมว่า เป็นการบริการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้าเพื่อแปลเป็นข้อมูลที่ใช้แนะนำให้ลูกค้าปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่ (ควรจะ) ดีขึ้นต่อสุขภาพของลูกค้า         สิ่งที่ลูกค้าต้องทำคือ (บ้วนปากให้สะอาดแล้ว) กวาดกระพุ้งแก้มด้วย cotton bud เพื่อให้ได้เซลล์ออกมาใส่ลงไปในภาชนะที่เรียกว่า DnaCartridge แล้วเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะนำไปต่อเชื่อมกับเครื่องมือที่เรียกว่า NudgeBox ซึ่งน่าจะเป็นอุปกรณ์วิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (ขนาดย่อที่เล็กมากแต่มีประสิทธภาพสูง) ที่เริ่มจากการปล่อยน้ำยาเฉพาะเข้าสู่ DnaCartridge เพื่อสกัด DNA ออกมาจากตัวอย่างเซลล์กระพุ้งแก้ม แล้วส่ง DNA ที่สกัดได้เข้าสู่ส่วนของ NudgeBox เพื่อวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้า (รายละเอียดในหลักการทางวิศวกรรมสามารถเข้าไปดูได้จากเว็บเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา         การวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมนั้นผู้ให้บริการกล่าวในเว็บว่า เป็นการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้ง 3 พันล้านตำแหน่งของ DNA ภายในเวลาสั้นราว 60 นาที เพื่อให้ทราบส่วนที่เรียกว่า SNP ของยีน ที่ตอบสนองต่อสารอาหารเฉพาะ เช่น ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว แป้ง เกลือ หรืออื่นๆ ในการก่อให้เกิดโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวานประเภทที่ 1 ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือแม้แต่มะเร็ง (ถ้าเชื่อว่าเป็นไปได้) เป็นต้น         ข้อมูลจากการวิเคราะห์จาก NudgeBox อยู่ในลักษณะที่เป็นสัญญาน Digital จะถูกส่งเข้าสู่ส่วนที่เรียกว่า capsule ซึ่งภายในมี Chip ของวงจรอิเล็คทรอนิคที่เป็นส่วนหนึ่งของสายรัดข้อมือที่ถูกถอดไปประกอบติดกับ NudgeBox ขณะมีการวิเคราะห์ดีเอ็นเอและเมื่อ capsule ได้ข้อมูลที่เป็นรหัสพันธุกรรมของลูกค้าแล้ว capsule นั้นจะถูกนำกลับไปประกอบกับสายรัดข้อมือของลูกค้าซึ่งจะส่งต่อข้อมูลรหัสพันธุกรรมไปยัง Application ของ DNAnudge ที่ลงไว้ใน Smartphone ของลูกค้าเพื่อใช้เป็นฐานเมื่อต้องการวิเคราะห์ว่า อาหารใดเหมาะกับลูกค้าหรือไม่ โดยเว็บของบริษัทผู้ให้บริการกล่าวว่า ข้อมูลใน capsule จะถูกทำลายทิ้งเพื่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การทำงานต่อไปขอให้ติดตามในตอนที่ 2 ของ ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ควรใช้ Far UVC ฆ่าเชื้อในสถานบริการหรือไม่

        องค์ประกอบของแสงอาทิตย์นั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น แสงที่มองเห็นได้ (visible light) และ แสงที่มองเห็นไม่ได้ (invisible light) โดยแสงที่มองเห็นได้นั้นอยู่ในแถบความยาวคลื่นช่วงระหว่าง 400 – 700 นาโนเมตร ส่วนแสงที่มองไม่เห็นนั้นมีสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความยาวคลื่นเกิน 700 นาโนเมตรขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า อินฟราเรด (infrared) มีพลังงานต่ำกว่าพลังงานของแสงสีต่างๆ และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 400 นาโนเมตรลงมา ซึ่งเรียกว่า อัลตราไวโอเล็ท (ultraviolet หรือ UV) นั้น มีพลังงานสูงกว่าพลังงานของแสงที่มองเห็นได้        แสงอัลตราไวโอเล็ทนั้นมักแบ่งง่าย ๆ (www.who.int/uv/uv_and_health/en/) เป็น 3 ระดับคือ UVA (ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร), UVB (ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร) และ UVC (ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร) โดย UVA นั้นไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรนักเพียงแค่ทำให้คนที่ผิวคล้ำโดยกำเนิดแล้วคล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม แสง UVB เป็นแสงที่เมื่อส่องผิวราว 15-20 นาที ในช่วงเช้าและบ่ายแก่ ๆ จะช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่ถ้ามากไปก็จะไม่ค่อยดี ระดับความร้อนอันตรายต่อผิวหนังชั้นล่างที่เป็นเซลล์มีชีวิตในลักษณะที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และมีโอกาสขยายต่อเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVC นั้นยังไม่ต้องพูดถึงเพราะแม้เป็นแสงที่มีพลังงานสูงมากจนฆ่าเซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี แต่แสง UVC นี้ถูกดูดซับไว้ด้วยก๊าซโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก        ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 นั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวิถีชีวิตแบบเดิมของมนุษย์ มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กันแบบ นิวนอร์มอล อย่างไรก็ดีมีข่าวเรื่องหนึ่งที่ทั้งน่าตื่นเต้นและชวนให้กังวล นั่นคือ มีแนวความคิดในการใช้แสงที่มีความยาวคลื่นในช่วง far UVC (207-222 นาโนเมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงความยาวคลื่นที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคทั่วไปคือ ราว 245 นาโนเมตร) ช่วยในการฆ่าไวรัสที่ก่อโรคดังกล่าว โดยที่คนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นและได้รับแสง far UVC ไม่ได้รับอันตราย         แนวความคิดนี้มันช่าง  โหด มัน ฮา เพราะ แสง far UVC นั้นเป็นแสงที่มีพลังงานทำลายล้างได้สูงกว่าแสง UVC ที่ 245 นาโนเมตรเสียอีก ซึ่งโดยพื้นฐานความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว แนวความคิดในการใช้แสงกลุ่ม UV เพื่อฆ่าไวรัสที่ก่อให้เกิด Covid-19 นั้น ควรทำได้เฉพาะการฆ่าไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัตถุเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในการใช้แสงกลุ่ม UV ในสถานที่ที่มีคนอยู่ได้ เลยเป็นประเด็นที่ควรหาความรู้มาศึกษากัน    Far-UVC light กับการฆ่าเชื้อโรค        ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากบทความวิจัยเรื่อง Far-UVC light: A new tool to control the spread of airborne-mediated microbial diseases (doi:10.1038/s41598-018-21058-w) ซึ่งเผยแพร่ใน www.nature.com/scientificreports เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในบทความแสดงให้เห็นว่า แสง far UVC ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำคือ 2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตรของแสง far UVC ที่ความยาวคลื่น 222 nm สามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่อยู่ในฝอยน้ำ (aerosol) ได้มากกว่าร้อยละ 95 และกล่าวว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ประหยัดสุดและได้ผลดีในการฆ่าไวรัสเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่กระจายในอาคาร (ผลงานนี้ตีพิมพ์ก่อนมีการระบาดของ Covid-19)         งานวิจัยที่กล่าวถึงข้างบนเป็นผลงานของทีมนักวิจัยที่ Center for Radiological Research ของ Columbia University Irving Medical Center (CUIMC) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา ในแวดวงที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของแสง UV เข้าใจว่า หน่วยงานนี้น่าจะมีความร่วมมือกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยทางญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะได้มีข้อมูลเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตถึงการทดสอบหลอด Care222® series ของบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นที่ปล่อยแสงความยาวคลื่น 222 นาโนเมตร (far UVC) ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ฆ่าเชื้อในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาลต่างๆ ว่า ได้ผลดี โดยมีเอกสารรับรองประสิทธิภาพของการใช้แสง far UVC ในการทำลายไวรัส ชื่อ Performance test for virus inactivation efficacy by UV irradiation จากสถาบัน Kitasato Research Center for Environmental Science (KRCES) สังกัด Kitasato University         ตัวอย่างงานวิจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้แสง far UVC ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ของกลุ่มนักวิจัยของ Columbia University นั้นเช่น บทความเรื่อง Germicidal Efficacy and Mammalian Skin Safety of 222-nm UV Light ตีพิมพ์ใน Radiation Research ปี 2017 ได้แสดงให้เห็นว่า far UVC (222 นาโนเมตร) ขนาด 0.036 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร สามารถฆ่า methicillin-resistant Staphylococcus aureus ได้ และในบทความเรื่อง 207-nm UV Light—A Promising Tool for Safe Low-Cost Reduction of Surgical Site Infections. II: In-Vivo Safety Studies ตีพิมพ์ใน PLoS ONE ปี 2016 กล่าวถึงการฉายแสง far UVC (207 นาโนเมตร) ขนาด 157 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร นาน 7 ชั่วโมง ให้กับหนูถีบจักรสายพันธุ์ที่ไม่มีขน (hairless SKH1-Elite strain 477 mice) แล้วปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังการได้รับแสง นักวิจัยได้ทำการศึกษาผิวหนังของหนูและพบว่า แสงที่ความยาวคลื่น 207 นาโนเมตรนั้นไม่ก่ออันตรายต่อผิวหนังหนู         ล่าสุดในปี 2020 ทีมนักวิจัยจาก Columbia University ได้เผยแพร่ข้อมูลในบทความชื่อ Far-UVC light (222 nm) efficiently and safely inactivates airborne human coronaviruses (doi: 10.1038/s41598-020-67211-2.) ใน www.nature.com/scientificreports ซึ่งเป็นการรายงานผลการทดลองใช้แสงที่ความยาวคลื่น 222 นาโนเมตรด้วยขนาดของแสงที่ 1.7 และ1.2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร ฆ่าเชื้อ coronavirus สายพันธุ์ alpha HCoV-229E และ beta HCoV-OC43 ที่อยู่ในสภาพเป็นละอองฝอย (aerosol) ตามลำดับได้สำเร็จถึงร้อยละ 99.9 จึงเสนอว่าการใช้แสง Far UVC ในลักษณะดังกล่าวน่าจะฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ได้ (โคโรนาไวรัสมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้ในการทดลอง) ด้วยขนาดความเข้มข้นของแสงที่จำกัดไว้ที่ประมาณ 3 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 90, 95, 99.5 และ 99.9 ด้วยระยะเวลาการฉายแสง 8 นาที,11 นาที, 16 นาที และ 25 นาที ตามลำดับ โดยไม่ทำอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น         สมมุติฐานที่อธิบายว่า far UVC ฆ่าไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังและน่าจะรวมถึงชั้นเนื้อเยื่อของตานั้นเพราะแสงในระดับ far UVC ไม่สามารถทะลุผ่านเซลล์ชั้นบนๆ ของผิวหนังซึ่งตายแล้วรวมถึงชั้นเนื้อเยื้อ (tear layer) ของลูกตาได้ ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของ David J. Brenner ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของ Columbia University Irving Medical Center ในบทความเรื่อง Far-UVC Light Could Safely Limit Spread of Flu, Other Airborne Viruses ของเว็บ www.photonics.com         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า มีผู้เสนอให้ใช้แสง far UVC บนเครื่องบินโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ในกรณีฉุกเฉินที่ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่บนเครื่องก่อนนำเครื่องลงที่สนามบินปลายทาง อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังรู้สึกระแวงว่า จริงหรือที่ว่าแสง far UVC นั้นไม่เป็นอันตรายต่อตามนุษย์ ทั้งนี้เพราะ แสง far UVC นั้นมีพลังงานสูงมาก  จึงอาจทำให้เกิดความร้อนแก่บริเวณที่แสงสัมผัสหรือทำให้น้ำตาที่อยู่ในลูกตามีอุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าผู้บริหารการใช้แสงไม่ชำนาญในการควบคุมปริมาณความเข้มแสงและช่วงเวลาการสัมผัสที่ถูกต้อง         ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่หาได้นั้นกล่าวว่า ปัจจุบัน US.FDA ยังไม่รับรองการใช้แสง far UVC ในสถานบริการที่มีผู้บริโภคอยู่ เพียงแต่ยอมให้หลอดกำเนิดแสงชนิดนี้ถูกใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องที่ต้องปลอดเชื้อเช่น ห้องผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีใครพยายามซื้อหลอดที่ให้แสง far UVC (ซึ่งอาจมีขายใน platform online ในไม่ช้านี้) เพื่อฆ่าไวรัสในสถานบริการในขณะที่มีผู้บริโภคอยู่ด้วย เช่น ผับ บาร์ อาบอบนวด สนามมวยหรือโรงภาพยนต์ เนื่องจากกระบวนการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล (personal distancing) นั้นทำได้ลำบาก สถานที่ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเป้าหมายของสินค้านี้ แม้ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยก่อนก็ตาม “อย่าหาทำ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ผู้บริโภคได้อะไรจากน้ำมันกัญชา

        ในช่วงที่กัญชา (Cannabis indica) กำลังจะถูกกฏหมายนั้นพืชที่เป็นพี่น้องของกัญชาคือ กัญชง (Cannabis sativa) ก็ได้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของสังคมไทยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากกัญชง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการสรรทนาการ แต่เป็นด้านการนำเปลือกจากลำต้นไปทำเส้นใยเพื่อผลิตสินค้าหลายชนิดที่มีความทนทาน ทำเป็นเส้นด้ายและเชือกสำหรับการทอผ้าเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ผลิตเป็นกระดาษ ใช้ดูดซับกลิ่นของน้ำหรือน้ำมัน ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ การนำน้ำมันที่ สกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันเฮมพ์ (Hemp oil หรือ Hemp seed oil) มาใช้ในกิจการด้านอาหารและโภชนาการและการนำน้ำมันที่ สกัดจากต้นและใบกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันซีบีดี (cannabidiol oil) มาใช้เป็นยาบำบัดบางโรคที่เกี่ยวกับสมอง         น้ำมันเฮมพ์นั้นได้มาจากการบีบ (หีบ) น้ำมันที่อยู่ในเมล็ดกัญชง ซึ่งมีขั้นตอนทำนองเดียวกับการสกัดน้ำมันจากเมล็ดพืชน้ำมันทั่วไป สิ่งที่ควรทราบคือ น้ำมันเฮมพ์นั้นไม่ควรมีสาร CBD (cannabidiol) หรือ THC (tetrahydrocannabinol) หรือสารแคนนาบินอยด์ชนิดอื่นๆ เพราะในเมล็ดกัญชงมีสารเหล่านี้น้อยมากจนถึงไม่มีเลย         ข้อมูลทางโภชนาการของน้ำมันเฮมพ์คือ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินอี วิตามินบีต่าง ๆ ธาตุโปแทสเซียมและธาตุแมกนีเซียม ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัวนั้นมีประมาณร้อยละ 82 โดยเป็นกรดไขมันโอเมกา-6 ราวร้อยละ 54 และมีกรดไขมันโอเมกา-3 มีร้อยละ 22 (ซึ่งถือว่ามีในปริมาณสูงกว่าเมล็ดพืชอื่น ๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 7) แต่เมื่อเทียบกับน้ำมันจากเมล็ด flax (ลำต้นถูกใช้ทอเป็นผ้าลินิน) ซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 53 แล้วน้ำมันเฮมพ์ดูว่าแพ้ราบคาบ (โดยเฉพาะเรื่องราคา) นอกจากนี้น้ำมันเฮมพ์ยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ จึงเหมาะสำหรับใช้ปรุงอาหารที่ไม่ต้องใช้ความร้อนเช่น สลัดผัก หรือทำเครื่องสำอางค์ เช่น ครีมทาผิว แชมพู และสบู่ เป็นต้น        สำหรับน้ำมันซีบีดี (CBD oil) ซึ่งสกัดมาจากทุกส่วนของกัญชงยกเว้นเมล็ดนั้น มีสารสำคัญหลักคือ สาร CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ ที่ไม่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการทำงานของสมอง น้ำมันซีบีดีนั้นถ้าสกัดโดยไม่ผ่านการแยกสารอาจมีสาร THC ปนนิดหน่อยขึ้นกับกฏหมายของแต่ละประเทศอนุญาตให้มีได้เท่าไหร่ เช่น ในยุโรปนั้นผลิตภัณฑ์ซีบีดีที่ถูกกฏหมายสามารถมี THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.2 ส่วนในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีสาร THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.3 สำหรับไทยนั้นในอนาคตอันใกล้น่าจะกำหนดปริมาณ THC ในผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีได้ไม่เกินร้อยละ 1         ในอนาคตอันไม่ไกลนักผู้เขียนเข้าใจว่า น้ำมันซีบีดีคงได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นยาบำบัดโรคบางชนิดตามกฏหมายในหลายประเทศ ดังนั้นในการซื้อน้ำมันซีบีดีที่ขายออนไลน์ สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรกระทำคือ คุยกับแพทย์ที่รู้และเข้าใจในโรคที่ผู้ต้องการใช้น้ำมันซีบีดีเป็นเสียก่อน ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการสั่งซื้อออนไลน์มาใช้ตามคำแนะนำของผู้ไม่รู้จริง         ประเด็นสำคัญที่มีการเตือนไว้ในอินเทอร์เน็ต คือ สินค้าที่ระบุว่าเป็นน้ำมันซีบีดีนั้นมีหลายลักษณะ ซึ่งราคานั้นต่างกันมากแม้แต่ในแพลทฟอร์มของการค้าออนไลน์เดียวกัน เนื่องจากองค์ประกอบที่ต่างกันน้ำมันซีบีดีจึงมีการขายอยู่ใน 3 รูปแบบคือ         ลักษณะแรกเป็นน้ำมันที่สกัดอย่างง่ายจากต้นและใบของกัญชงดังนั้นจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอะไรต่อมิอะไรผสมอยู่ ซึ่งอาจมีสาร THC ปนบ้างเล็กน้อย         ส่วนลักษณะที่สองนั้นเป็นน้ำมันที่มีการสกัดแยกให้ได้สารในกลุ่มของแคนนาบินอยด์ต่าง ๆ ผสมกันแต่ไม่มี THC แล้ว และ         ลักษณะสุดท้ายเป็นน้ำมันที่มีการแยกเอาเฉพาะแคนนาบิไดออลอย่างเดียวออกมา ซึ่งลักษณะสุดท้ายนี้มีราคาแพงที่สุดและควรใช้ในลักษณะยาบำบัดโรคที่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล        ข้อมูลจากการวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันซีบีดีที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ นั้น ผู้บริโภคควรทราบระดับการวิจัยว่าถึงขั้นใดคือ ในคน ในสัตว์ หรือระดับหลอดทดลอง ซึ่งความจริงแล้วก็ขึ้นกับชนิดของความเจ็บป่วยว่าทดลองได้ถึงระดับใดด้วย ผู้เขียนได้ให้ระหัส doi หรือ Digital object identifier สำหรับผู้ที่สนใจและสามารถเข้าค้นหาในอินเตอร์เน็ทเพื่อดูรายละเอียดของแต่ละบทความ ตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันซีบีดีมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น        ·  เจ็บปวดเรื้อรัง ปวดไมเกรน เจ็บปวดที่เกิดจากเส้นประสาท และเจ็บปวดจากมะเร็ง (ศึกษาได้ผลในคนไข้ doi: 10.1186/s10194-018-0862-2)         ·  หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง (ศึกษาได้ผลในเซลล์มะเร็งเต้านมที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi: 10.1016/j.toxlet.2012.08.029)         ·  โรคลมชักหรือลมบ้าหมู (การศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1007/s13311-015-0375-5)         · โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.3389/fneur.2017.00299)         ·  กล้ามเนื้ออ่อนแรง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ที่เลี้ยงในหลอดทดลองและผลในสัตว์ทดลอง doi: 10.4103/1673-5374.197125)         ·  โรคพาร์กินสัน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1089/can.2017.0002)         ·  อาการอักเสบที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.4155/fmc.09.93)         · สิว (ศึกษาได้ผลในเซลล์ผิวหนังที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1172/JCI64628)         ·  โรคสะเก็ดเงินบนผิวหนัง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ keratinocyte ที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1016/j.jdermsci.2006.10.009)         ·  กระดูกหัก (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi 10.1002/jbmr.2513)         ·  โรควัวบ้า (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.1523/JNEUROSCI.1942-07.2007)         ·  เบาหวาน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1016/j.ajpath.2011.11.003)         ·  ความดันโลหิตสูง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1172/jci.insight.93760)         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลถึงผลของน้ำมันซีบีดีต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  คลื่นไส้ วิตกกังวล สมาธิสั้น โรคจิตเภท อาการติดยา อาการอยากเหล้า อยากบุหรี่ โรคหัวใจ อาการลำไส้แปรปรวน และความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ด้วย ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าน้ำมันซีบีดีนั้น เข้าข่ายเป็นยาครอบจักรวาฬซึ่งพึงต้องระวังอย่างมากในการซื้อหามาใช้         อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจคือ การสกัดน้ำมันซีบีดีจากต้นกัญชงมีขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาก เพราะน้ำมันซีบีดีนั้นมีปริมาณน้อยมาก ต้องใช้ต้นกัญชงจำนวนมากในการสกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการได้น้ำมันซีบีดีคุณภาพสูงต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาแพงซึ่งใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่อุณหภูมิต่ำมาก เพื่อให้ได้น้ำมันที่เมื่อระเหยเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกแล้วได้น้ำมันที่ปราศจากกลิ่นของตัวทำละลาย จึงทำให้ราคาน้ำมันซีบีดีแพงกว่าน้ำมันเฮมพ์หลายเท่าตัว แพลทฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการขายน้ำมันจากกัญชงจึงพยายามโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด (เอง) ว่า น้ำมันเฮมพ์มีศักยภาพคล้ายน้ำมันซีบีดีหรือสินค้าบางยี่ห้อระบุเลยว่า น้ำมันที่ขายนั้นสกัดจากทั้งใบ ต้น ดอกและเมล็ด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคที่สนใจสินค้าเข้าใจสับสนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ภูมิคุ้มกันกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

        ในช่วงชีวิตที่อยู่บนดาวดวงนี้ของผู้เขียน ไม่เคยพบปรากฏการณ์ใดที่ทำให้คนทั้งโลกเครียดได้เท่ากับการระบาดของเชื้อไวรัสชื่อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราวปลายปี 2019 ซึ่งเรียกว่าโรค COVID-19 ตลอดมาจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้คือ ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 เหตุการณ์อาจดูดีขึ้นบ้างในบางส่วนของโลก แต่จำนวนของคนที่ตายด้วยโรคนี้คงต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่า สูง แม้ว่าจะไม่สูงเท่าในอดีตสมัยที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังพัฒนาไม่ดีเท่าปัจจุบันที่มีคนตายเป็นหลายล้านคนเนื่องจากไข้หวัดใหญ่สเปนใน ค.ศ. 1918         สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าการติดเชื้อและการตายเนื่องจาก COVID-19 จะลดลงหรือไม่นั้นคือ ระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนในแต่ละส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติหรือภูมิคุ้มกันซึ่งถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน ในประการหลังนี้ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความหวัง ซึ่งจะสมหวังหรือผิดหวังนั้นยังไม่สามารถกล่าวได้ในตอนนี้         แม้ว่าความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนนั้นดูให้ความหวังค่อนข้างมากเพียงแต่ต้องรอเวลาเท่านั้น สำหรับประการแรกคือ การที่ประชาชนจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้เองนั้นก็เป็นความหวังที่น่าสนใจ แต่ความหวังนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ที่แน่ๆ คือ ความแข็งแรงของประชาชนแต่ละคนจะแปรตามพฤติกรรมความเป็นอยู่ในสังคมนั้นว่า เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพันธุกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังในบางประเทศ         มีประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอีกประการคือ ความเจริญของประเทศก็เป็นปัจจัยที่น่าจะกำหนดความเสี่ยงเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาและยังมีการฉีดวัคซีน BCG เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค ซึ่งเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันแล้วน่าจะมีผลพลอยได้ในการป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ได้ด้วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันแบบฆ่าสิ่งแปลกปลอมไม่เลือกด้วยเม็ดเลือดขาวบางประเภทนั้น ดูว่าจะกระตุ้นได้ดีและยืนยาวด้วย ดังนั้น BCG จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในประเทศเหล่านี้ติดเชื้อหรือตายน้อยกว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วและเลิกการฉีดวัคซีน BCG ให้เด็ก (ดูได้จากลำดับจำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิตเนื่องจาก COVID-19 ที่ประกาศแต่ละวัน)         ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) นั้นเป็นประเด็นความรู้ใหม่ของผู้เขียน อาจเนื่องจากไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนักในความรู้เบื้องต้นของวิชาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (เมื่อนานมาแล้ว) ที่ได้เรียนมา ผู้เขียนเข้าใจว่าประเด็นนี้คงอยู่ในเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคซึ่งใช้ความรู้ทางระบาดวิทยาซึ่งผู้เขียนไม่ได้สนใจนัก แต่ในช่วงของการระบาดของ COVID-19 นั้น เรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่นี้ได้เป็นประเด็นที่บางประเทศทางยุโรปยกขึ้นมาเป็นแนวทางหนึ่งในการพยายามควบคุมโรคนี้        แนวคิดเกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันหมู่ นั้นได้จากการสังเกตว่า การที่คนซึ่งหายป่วยแล้วไม่ป่วยซ้ำหรือคนที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่ป่วยนั้นเกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย เพราะเมื่อไม่มีใครป่วยเชื้อโรคก็ไม่มีการเพิ่มจำนวนและไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เสมือนได้เกิดภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มประชากรในสังคมนั้น ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่จึงดูว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการป้องกันประชากรที่อ่อนแอ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ ในทางอ้อมจากโรคระบาด         มีข้อสงสัยว่าภูมิคุ้มกันหมู่เกิดได้ไหมกับคนไทยปัจจุบันนี้        เนื่องจากในหลักการแล้วภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดได้ต้องมีการติดเชื้อในประชากรอย่างน้อย 60-70 % ก่อน ประเด็นนี้สำหรับผู้เขียนแล้วเมื่อพิจารณาการบริหารการติดเชื้อของประเทศไทย ซึ่งพยายามควบคุมและแนะนำให้คนไทยห่างไกลโรค (ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ถูกต้อง) โอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่คงยาก         ในอดีตภูมิคุ้มกันหมู่ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกป้องกันนั้น ประสบความสำเร็จในเรื่องของไข้ทรพิษ โปลิโอ หัด และคางทูม โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้นานหลายสิบปี อย่างไรก็ดีเรายังขาดหลักฐานที่จะระบุว่า ภูมิคุ้มกันในคนไข้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นอยู่ในร่างกายคนนานเพียงใด         ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับการหวังพึ่งภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ต้องมีประชากรติดเชื้อบ้างและประชากรนั้นต้องเป็นประชากรที่แข็งแรงจนไม่ตายหลังติดเชื้อ จนมีภูมิคุ้มกันต่อ SARS-CoV-2 ได้เป็นอย่างดี ความน่ากังวลนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานใดกล้าพูดว่า ประเทศไทยมีประชากรที่แข็งแรงพร้อมสู้ไวรัสด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นเป็นเท่าใดและอยู่ส่วนไหนของประเทศบ้าง        การมีร่างกายแข็งแรงพร้อมถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อติดเชื้อนั้น มีปัจจัยหลายประการที่จำเป็น เช่น การกินอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ (ปัจจุบันเรายึดแนวทางการกินอาหารครบห้าหมู่ในแต่ละวัน) การนอนหลับพักผ่อนที่พอเพียง การขับถ่ายที่เป็นปรกติและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายหรือได้ออกแรงทุกวันอย่างพอเพียงจนร่างกายแข็งแรงไม่ติดเชื้อเช่น หวัด ในฤดูที่มีการระบาด         ตัวอย่างดัชนีชี้วัดที่อาจแสดงว่า ไทยพร้อมหรือไม่ที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ความไม่มีระเบียบในการแย่งกันซื้อเหล้าทันทีที่มีการคลาย lockdown (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเหล้าทำลายตับ อวัยวะที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน) ความแออัดของการไปโรงพยาบาลในแต่ละวันก่อนและหลัง COVID-19 มาเยือน การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการที่รัฐจ่ายเช่น กรณีประกันสังคม บำนาญ หรือแม้แต่การใช้บัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งมากเหลือล้นและแสดงว่าคนไทยป่วยมากเหลือเกิน                    ในด้านการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนนั้น จำนวนสถานที่ออกกำลังกายทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงอัตราค่าบริการในประเทศไทยนั้นยังดูไม่น่าพอใจ อีกทั้งอัตราการใช้สถานออกกำลังกายซึ่งอาจรวมถึงการซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ออกกำลังกายยังดูต่ำอยู่ สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือ ความหลงผิดของสังคมที่คิดว่า e-sport เป็นของดีเพื่อใช้แก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุม (ทั้งที่จริงแล้วควรต่อต้านเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนลดการออกแรงกายเพื่อสุขภาพและทำลายสุขภาพตา จนถึงภาพรวมของสุขภาพที่ทำให้เข้าข่ายนั่งนานตายเร็ว)         เรื่องของการมีภูมิคุ้มกันทั้งเนื่องจากการติดเชื้อแล้วไม่ตายหรือได้รับวัคซีน (ถ้ามีในอนาคต) เป็นเรื่องสำคัญในบางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่ง ดร. แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติกล่าวไว้ในเดือนเมษายน 2020 ว่า เป็นไปได้ที่ในอนาคตสหรัฐจะพิจารณานโยบายการมีบัตรผ่านทางสำหรับผู้ที่มีแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเรียกว่า Immunity Passport และจากนั้นราวปลายเดือนเมษายนประเทศชิลีและประเทศเยอรมันก็มีแนวคิดที่จะออก "บัตรภูมิคุ้มกัน" (Immunity Cards) เพื่อให้คนที่ติดเชื้อและหายแล้วสามารถกลับไปทำงานนอกบ้านได้         ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2020 ว่า อย่าได้เชื่อเกี่ยวกับกระแสข่าวลือที่บางประเทศจะออก“immunity passport” แก่ประชากรที่ได้รับการระบุว่า มีภูมิคุ้มกันต้านไวรัส SARS-CoV-2 เพียงเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปทำงานหรือเดินทางได้อย่างเสรี เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดีแล้วจะไม่กลับมาติดเชื้อใหม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 26 เมษายนว่า ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อนั้นมีแอนติบอดีต่อสู้กับเชื้อไวรัสสูงแค่ในบางคน ในขณะที่บางคนกลับมีระดับแอนติบอดีต่ำในกระแสเลือด         สิ่งที่องค์การอนามัยโลกกังวล         การที่คนซึ่งทราบว่าตนเองมีระดับของแอนติบอดีสูงในขณะตรวจด้วย rapid tests อาจละเลยในการควบคุมตนเองให้มีระยะห่างในการติดต่อกับผู้อื่น และอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อไปแม้ไม่มีอาการ ทั้งนี้เพราะ COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ การตอบสนองของร่างกายในการสร้างแอนติบอดีนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจนัก ประการหนึ่งที่สำคัญและยังไม่มีความแน่ใจคือ โปรตีนที่เป็นแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 นั้นมีอายุได้นานเพียงใด และเมื่อใดจะถูกทำลายลง ซึ่งตอนนั้นร่างกายคงเหลือเพียง memory cell เพื่อปกป้องการติดเชื้อซ้ำ         การสร้างแอนติบอดีต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้นได้รับการยืนยันจาก Kara Lynch นักวิจัยจาก University of California, San Francisco ที่ศึกษาน้ำเลือดของผู้ติดเชื้อแล้วราว 100 คน ซึ่งได้รับการบำบัดโรคที่ที่ Zuckerberg San Francisco General Hospital โดยใช้วิธีเดียวกับที่ใช้ที่ประเทศจีนซึ่งสามารถเลือกตรวจเฉพาะโปรตีนที่จับกับ spike protein ของ SARS-CoV-2 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนไข้สามารถสร้างแอนติบอดีได้ในช่วง 2-15 วันหลังมีอาการป่วย (ข้อมูลการศึกษาในจีนกล่าวว่า 10-15 วัน) โดยแอนติบอดีที่เกิดก่อนคือ IgM จากนั้นจึงเป็น IgG (ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี) นอกจากนี้มีข้อมูลจากการศึกษาอื่นๆ ว่า แอนติบอดีนี้คงสภาพในระบบเลือดนานอย่างน้อย 2 อาทิตย์         เนื่องจาก COVID-19 นั้นเพิ่งมีการระบาดได้เพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นประเด็นที่ยังไม่มีการกล่าวถึงคือ เรื่องของ memory cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวบางส่วนที่ถูกกระตุ้นให้รู้จักเชื้อโรคที่เคยเข้าสู่ร่างกายแล้วพร้อมสร้างแอนติบอดี (memory B-cell) หรือปรับตัวให้เป็นเม็ดเลือดขาวพร้อมสู้เชื้อ (memory T-cell) ได้เร็วเพียงใดเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งว่าไปแล้วข้อมูลลักษณะนี้จะแสดงได้เมื่อมีการผลิตวัคซีนแล้วฉีดแก้ประชากรทั่วไป         มียกประเด็นเกี่ยวกับ memory cells ที่เกิดจากโรค SARS ซึ่งเกิดจาก SARS-CoV ซึ่งเป็น  coronavirus กลุ่มใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ในงานวิจัยเรื่อง Lack of Peripheral Memory B Cell Responses in Recovered Patients with Severe Acute Respiratory Syndrome: A Six-Year Follow-Up Study ในวารสาร Journal of Immunology ปี 2011 ว่า คนไข้ 23 คน ที่เคยเป็นโรค SARS ในฮ่องกงเมื่อปี 2003 นั้นมีทั้ง memory B-cell และ memory T-cell แต่เฉพาะ memory T-cell ของคนไข้ร้อยละ 60 เท่านั้นที่ตอบสนองต่อโปรตีนซึ่งแสดงความเป็นแอนติเจนของ SARS-CoV        ดังนั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าคุณสมบัติของวัคซีนต้าน COVID-19 จะเป็นอย่างไร โดยทุกคนต่างหวังว่ามันคงไม่ต่างจากกรณีของฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่ก่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันได้นานถึงราว 88 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 แนวใหม่ของวัคซีน: กรณี Covid-19

        สิ่งที่บุคคลากรด้านการแพทย์ต้องการไว้ในมือเพื่อต่อสู้กับ Covid-19 คือ ยาบำบัดเชื้อและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ในกรณีของยาบำบัดเชื้อนั้นปัจจุบันยังไม่มียาที่ชะงัดจริงๆ ชนิดชุดเดียวจบ แต่ก็มียาที่สามารถนำมาใช้โดยเทียบเคียงในการแก้ปัญหาที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ไปยับยั้งการเพิ่มปริมาณกรดนิวคลิอิกที่เป็นหน่วยพันธุกรรมของไวรัส เพื่อขัดขวางการเพิ่มปริมาณของไวรัสแล้วทำให้การติดเชื้อจบลง ส่วนวัคซีนนั้นมักเกี่ยวกับการลดการระบาดของเชื้อสู่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อหรือเพิ่งเริ่มติดเชื้อ เพราะวัคซีนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจัดการกับไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องของวัคซีนที่กำลังถูกพัฒนาในแนวใหม่  ซึ่งดูว่าน่าจะดีกว่าวัคซีนในลักษณะเดิมๆ ในบางมิติ         วัคซีนนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้ตายหรืออ่อนฤทธิ์ลง บ้างก็ใช้เพียงบางส่วนของเชื้อจุลินทรีย์ (เช่นผนังเซลล์) หรืออยู่ในลักษณะของท็อกซอยด์ (toxoid คือสารพิษจากจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์) เป็นต้น คุณสมบัติของวัคซีนที่สำคัญคือ เป็นโปรตีนที่มีศักยภาพเป็น แอนติเจน (antigen) ซึ่งเมื่อถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์แล้วจะชักนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เป็นเม็ดเลือดขาว (white blood cells) ที่จัดการกับจุลินทรีย์โดยตรงและเม็ดเลือดขาวที่สร้างโปรตีนที่เรียกว่า แอนติบอดี (antibody) ที่สามารถจับตัวกับบางส่วนของจุลินทรีย์แล้วส่งผลให้เกิดกระบวนการทำลายจุลินทรีย์นั้น ๆ นอกจากนี้หน้าที่ที่สำคัญของวัคซีนอีกประการคือ การกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ชนิด memory cell ที่สามารถจำจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์ลักษณะนี้มักอยู่ได้นานในระบบเลือดเพื่อเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่อาจเข้าสู่ร่างกาย แต่นานเพียงใดนั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนด         ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นมักมีความจำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้นๆ แต่ก็มีบ้างเช่นกันที่ภูมิคุ้มกันนั้นสามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมอื่น เช่น เชื้อโรคที่มีความคล้ายกับเชื้อที่เป็นเป้าของวัคซีนที่เข้าสู่หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในร่างกายเช่น เซลล์มะเร็ง ในลักษณะดังกล่าวนี้วัคซีนทำหน้าที่กระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ทำหน้าที่เก็บกวาดทุกอย่างที่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างที่มีการพูดถึงในประเด็นนี้คือ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG ซึ่งเด็กในชาติกำลังพัฒนาได้รับเพื่อป้องกันวัณโรคทุกคน) ได้ถูกกล่าวถึงว่า วัคซีนนี้มีส่วนทำให้ประเทศยากจนติด covid-19 น้อยและไม่รุนแรงเท่าคนในประเทศพัฒนาแล้ว         การผลิตวัคซีนเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ covid-19 นั้น มีบริษัทยาและมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งได้แข่งกันทำ เพราะผู้ที่ทำได้สำเร็จก่อนย่อมได้ชื่อว่า ช่วยให้ประชากรโลกรอดตายได้เร็วขึ้นพร้อมทั้งรายได้มหาศาลที่ตามมา ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2563 กล่าวว่า มีวัคซีนราว 78 ชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งอย่างน้อย 5 ชนิดเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในคน โดยวัคซีนที่อาศัยเทคนิคการใช้หน่วยพันธุกรรมหรือกรดนิวคลิอิกของไวรัสเป็นแนวทางในการผลิตนั้นดูน่าสนใจที่สุด         ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า บริษัทหนึ่งชื่อ Novavax ได้ใช้วิธีการทางด้าน genetic recombination โดยเริ่มจากการหาตำแหน่งของหน่วยพันธุกรรมของไวรัสที่เป็นตัวสร้าง ตุ่มโปรตีน (spike protein) บนผิวของไวรัสซึ่งเป็นที่เข้าใจว่า นอกจากมีบทบาทในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายแล้วยังน่าจะมีบทบาทในการกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ชิ้นส่วนพันธุกรรมดังกล่าวนั้นได้ถูกสร้างในรูป DNA (deoxyribonucleic acid) plasmid แล้วนำใส่เข้าไปในเซลล์ของแบคทีเรียหรือยีสต์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยในการผลิตโปรตีนที่เป็นตุ่มบนผิวของไวรัสออกมาในปริมาณมาก เพื่อนำไปใช้เป็นองค์ประกอบของวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิต้านในผู้ที่ยังไม่ป่วย         ในลักษณะที่คล้ายกันคือ การใช้หน่วยพันธุกรรมชนิด RNA (ribonucleic acid) เป็นแนวทางในการผลิตวัคซีนและได้รับอนุญาตให้เริ่มมีการทดสอบในคนเป็นทีมแรกแล้วคือ วัคซีนของบริษัท Moderna ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยพยายามผลิตวัคซีนเกี่ยวกับโรค severe acute respiratory syndrome (SARS) และ Middle East respiratory syndrome (MERS) มาแล้ว        ในเว็บของ Moderna กล่าวว่านักวิจัยของบริษัทร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (The National Institute of Allergy and Infectious Diseases หรือ NIAID) ได้ทำการศึกษาจนรู้ลำดับของกรดอะมิโนที่ประกอบขึ้นเป็นตุ่มโปรตีนบนผิวไวรัส จากนั้นได้ใช้ความรู้พื้นฐานทางชีวเคมีประเมินว่า รหัสพันธุกรรมที่ควรปรากฏอยู่บน RNA (หรือถ้าจะพูดให้ชัดคือ mRNA) นั้นควรมีการเรียงตัวเช่นไร แล้วจึงทำการสังเคราะห์สาย mRNA ที่ต้องการขึ้นมาในห้องปฏิบัติการ ซึ่งคงต้องเติมยีนกระตุ้นการทำงาน (promoter gene) ของ mRNA (ในลักษณะเดียวกันกับการใช้ CaMV P-35S ช่วยในการผลิตสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือ GMO) ที่สามารถบังคับให้เกิดการถอดระหัสของ mRNA หลังจากเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเพื่อให้ได้โปรตีนที่มีเอกลักษณ์ตรงกับตุ่มโปรตีนบนผิวไวรัส โดยที่ mRNA นี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของวัคซีน จึงเรียกกันว่า mRNA vaccine ซึ่งมีระหัสว่า mRNA-1273 (ในความเป็นจริงมีบริษัทอื่น เช่น CureVac ในเมืองบอสตันที่อ้างว่ากำลังผลิต mRNA vaccine เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดดังเช่นที่ Moderna ให้ไว้ในเว็บของบริษัท) โดยข้อดีของ mRNA วัคซีนคือ ตัว mRNA จะถูกทำลายทิ้งในที่สุดหลังจากปิดงานในลักษณะเดียวกับที่เกิดต่อ mRNA ของคน (และสัตว์) ทั่วไป         ในการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนนั้น NIAID เป็นผู้รับผิดชอบในการอนุญาตให้ Moderna ได้สิทธิข้ามขั้นตอนเพื่อเริ่มทำการทดลองวัคซีนในคนได้อย่างเร่งด่วน เพื่อดูว่าวัคซีนก่อปัญหาสุขภาพแก่อาสาสมัครและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือไม่ วัคซีนของ Moderna ได้เริ่มทดสอบแล้วที่สถาบันวิจัยด้านสาธารณสุุข Kaiser Permanente Washington ในนครซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน เมื่อวันจันทร์ 16 มีนาคม 2020 โดยอาจมีวัคซีนของบริษัทอื่นดำเนินการตามในไม่ช้า         การทดลองวัคซีน mRNA-1273 ขั้นตอนที่ 1 นั้นนำทีมโดยแพทย์หญิงลิซา แจ็คสัน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ชายและผู้หญิง (ที่ไม่ตั้งครรภ์) อายุระหว่าง 18-55 ปี จำนวน 45 คน โดยกลุ่มตัวอย่างได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน คือ 25, 100 หรือ 250 ไมโครกรัม สองเข็มในระยะเวลาห่างกัน 28 วัน จากนั้นจึงดูผลด้านความปลอดภัยและการตอบสนองต่อวัคซีน (การสร้างภูมิคุ้มกัน) นาน 1 ปี ผู้ที่สนใจในรายละเอียดของปฏิบัติการนี้สามารถอ่านดูได้ที่ https://www.niaid.nih.gov/news-events/nih-clinical-trial-investigational-vaccine-covid-19-begins         มีข้อมูลว่าสำนักข่าว CNN ได้สัมภาษณ์อาสาสมัครทั้งชายและหญิงที่เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้พบว่า อาสาสมัครต่างสบายใจที่ทราบว่าในวัคซีนนั้นไม่ได้มีเชื้อไวรัสจริง แต่มีเพียงสิ่งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสิ่งนั้นจะมีส่วนในการสร้างโปรตีนที่เหมือนกับโปรตีนซึ่งอยู่บนผิวของไวรัสออกมา เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายโปรตีนนั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไวรัสที่มีอยู่ในร่างกายถูกทำลายในที่สุด         ตามหลักการทั่วไปแล้วก่อนมีการทดลองยาหรือวัคซีนในคนนั้น จำต้องเริ่มต้นทดสอบในสัตว์ทดลองก่อน เพื่อดูขนาดที่เหมาะสมของยาหรือวัคซีนพร้อมดูความเสี่ยงในการก่ออันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงการตรวจวัดด้านเภสัชจลศาสตร์เพื่อดูว่า การดูดซึม การกระจายตัว และการขับออกจากร่างกายเป็นอย่างไรในสัตว์ทดลอง จากนั้นจึงเริ่มทดสอบในคนซึ่งขั้นตอนแรกมักใช้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีราว 20-80 คน เพื่อทดสอบความปลอดภัยและตรวจสอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าขั้นตอนที่สองซึ่งใช้อาสาสมัคร 30-300 คน ซึ่งบางครั้งอาจใช้อาสาสมัครที่อยู่ในส่วนของโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคนั้นเลยเพื่อวัดประสิทธิภาพของวัคซีนในสภาวะจริงไปด้วย จากนั้นในขั้นตอนที่สามซึ่งเป็นการทำเหมือนขั้นตอนที่สองแต่ใช้อาสาสมัครประมาณ 1000-3000 คน เมื่อการทดสอบสำเร็จสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะเป็นผู้ประเมินผลว่าวัคซีนนั้นได้ผลหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีขั้นตอนที่สี่ซึ่งไม่บังคับแต่เป็นการทำหลังวัคซีนออกสู่ตลาดแล้วโดยเป็นการเก็บข้อมูงในกลุ่มคนเฉพาะเช่น คนท้อง เด็ก ผู้สูงวัย ฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น ผลข้างเคียงในคนบางกลุ่ม อายุของยาหรือวัคซีนหลังการผลิต เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ตรวจมะเร็งวิธีใหม่

        การตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการเกิดมะเร็งนั้น จำเป็นต่อการวินิจฉัยเพื่อการบำบัดที่ถูกต้องทางการแพทย์ แต่ข่าวคราวเชิงวิชาการเกี่ยวกับการตรวจการเป็นมะเร็งเบื้องต้นด้วยวิธีอื่นๆ ก็ปรากฏขึ้นเป็นข้อมูลในสังคมการเรียนรู้ของเรา แต่ประเด็นซึ่งน่าคำนึงคือ วิธีการดังกล่าวเชื่อได้แค่ไหน สุนัขกับการดมกลิ่นหามะเร็ง         วิธีการแรกที่สดับมาและน่าสนใจคือ การพึ่งพาให้สุนัชช่วยในการตรวจวินิจฉัยการเป็นมะเร็งเบื้องต้น โดยอาศัยพื้นฐานว่า สุนัขนั้นมีระบบรับกลิ่นดีกว่ามนุษย์ราว 10000 เท่า มีข้อมูลที่ย้อนหลังไปถึงปี 1989 ว่ามีจดหมายน้อยของแพทย์สองคนเขียนถึงบรรณาธิการวารสาร Lancet เพื่อเล่าว่า สาวหนึ่งมาหาแพทย์เพื่อจัดการกับมะเร็งผิวหนัง ซึ่งอยู่ในขั้นที่ยังไม่ก่ออันตราย นางเล่าว่าสุนัขของนางขยันมาดมกลิ่นบริเวณที่เป็นไฝตำแหน่งหนึ่ง โดยไม่สนใจไฝที่อยู่ตำแหน่งอื่นของร่างกาย แม้ขณะใส่ชุดนอนปิดบัง สุนัขตัวนั้นก็ยังเข้าดมที่ตำแหน่งเดิมนั้น นางจึงสงสัยและเริ่มกังวลใจจึงมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างจริงจัง แล้วพบว่าเริ่มเป็นมะเร็งผิวหนังจริง         ผ่านไปหลายปีจึงมีการประชุมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับการใช้สุนัขในการตรวจเบื้องต้นของการเป็นมะเร็งในคนอย่างเป็นระบบที่สหราชอาณาจักรในปี 2003 จากนั้นจึงมีงานวิจัยตีพิมพ์ในประเด็นดังกล่าวบ้าง เช่น ในปี 2006 บทความชื่อ Diagnostic Accuracy of Canine Scent Detection in Early- and Late-Stage Lung and Breast Cancers ในวารสาร Integrative Cancer Therapies ให้ภาพของกระบวนการทำงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่า สามารถนำสุนัขบ้านธรรมดามาฝึกอย่างเร่งรัดเพื่อระบุคนไข้มะเร็งปอดและคนไข้มะเร็งเต้านมด้วยการดมกลิ่นลมหายใจได้หรือไม่ พร้อมทั้งดูว่าระยะการเป็นมะเร็ง อายุของคนไข้ การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมการกิน มีผลต่อการใช้สุนัขระบุการเกิดมะเร็งหรือไม่ ผลการใช้สุนัขดมลมหายใจของผู้ป่วยมะเร็งปอดนั้น บทความวิจัยรายงานว่า ได้ผลที่ดีเมื่อเทียบกับการให้สุนัขดมกลิ่นชิ้นเนื้อมะเร็งปอด ค่าความสัมพันธ์อยู่ที่ 0.99 ส่วนในเรื่องของมะเร็งเต้านมนั้นผลที่ได้อยู่ในลักษณะเดียวกันที่ความสัมพันธ์ 0.88 โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นไม่เปลี่ยนไปตามระยะของการเป็นมะเร็ง         ในปี 2015 มีบทความทบทวนเอกสารเรื่อง Study of the art: canine olfaction used for cancer detection on the basis of breath odour. Perspectives and limitations ในวารสาร Journal of Breath Research ซึ่งเป็นการพิจารณางานวิจัยที่ใช้สุนัขดมกลิ่นลมหายใจที่แตกต่างกันระหว่างลมหายใจของผู้ที่เป็นมะเร็งและลมหายใจของผู้ไม่เป็นมะเร็ง ประการสำคัญที่ระบุในบทความคือ สุนัขต้องถูกฝึกมาอย่างดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยที่นึกไม่ถึง (confounding factor) ที่อาจมาเบี่ยงเบนผล เช่น กลิ่นควันบุหรี่จากผู้ร่วมงาน กลิ่นเฉพาะของสารเคมีที่ใช้ในโรงพยาบาลที่ปนเปื้อนในลมหายใจของอาสาสมัครที่เก็บได้ และบางครั้งสุนัขขาดสมาธิในการทำงาน สุดท้ายบทความดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันงานวิจัยที่กำลังทำกันนั้นเป็นการใช้สุนัขตรวจมะเร็งผิวหนัง (melanoma) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (bladder cancer) มะเร็งรังไข่ (ovarian cancer) มะเร็งเต้านม (breast cancer) มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) มะเร็งทางเดินอาหารตอนล่าง (colorectal cancer) และมะเร็งปอด (lung cancer) เป็นต้น หนอนเซ็นจู         สำหรับวิธีการตรวจพิเคราะห์การเริ่มเป็นมะเร็งด้วยวิธีอื่นนั้น ในเดือนมกราคม 2563 โทรทัศน์ช่องหนึ่งได้ออกอากาศสารคดีที่พาไปดูการตรวจโอกาสการเกิดมะเร็งอย่างเร็วในประเทศญี่ปุ่น โดยการตรวจสอบนั้นมีต้นทุนที่น่าจะถูกกว่าการตรวจในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในสารคดีตอนแรกที่ออกอากาศนั้นเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งโดยใช้แค่ปัสสาวะของผู้รับบริการที่ไม่ต้องอดอาหารด้วย “หนอนเซ็นจู” ซึ่งมีความสามารถพิเศษด้านการดมกลิ่น หนอนจะเลื้อยเข้าหากลิ่นที่เซลล์มะเร็งปล่อยแล้วถูกขับออกในปัสสาวะ จากนั้นต้องรอผลประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้หนอนได้ทำงานซ้ำหลายครั้งเพื่อความแม่นยำ โดยสามารถรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระยะต่างๆ ด้วยความแม่นยำถึงร้อยละ 90        หนอนเซ็นจูในที่นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caenorhabditis elegans ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มักเรียกง่าย ๆ ว่า C. elegans หนอนชนิดนี้เป็น super-smeller ที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย และที่น่าสนใจคือเป็นหนอนชนิดเดียวกับที่บางครั้งพบปนเปื้อนในปลาดิบที่ใช้ทำซูชิ         Dr. Takaaki Hirotsu ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Kyushu University ในเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง A Highly Accurate Inclusive Cancer Screening Test Using Caenorhabditis elegans Scent Detection ในวารสาร PLOS ONE เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 โดยงานวิจัยเริ่มจากการทดสอบความสามารถของหนอนในการคลานเข้าหาเซลล์มะเร็งนั้น ต่างจากการคลานเข้าหาเซลล์ปรกติหรือไม่ จากนั้นจึงทดสอบว่า หนอนสายพันธุ์เดียวกันที่ถูกตัดเอายีนเกี่ยวกับการดมกลิ่นออกไปสามารถคลานเข้าหาเซลล์มะเร็งหรือไม่ ผลปรากฏว่าหนอนปรกติมีความไวต่อการเข้าหาเซลล์มะเร็งในขณะที่หนอนซึ่งไม่มียีนดมกลิ่นไม่สนใจต่อเซลล์มะเร็ง จึงสรุปว่าการเข้าหานั้นเป็นการดมกลิ่นที่เซลล์มะเร็งปล่อยออกมา         ในงานวิจัยนั้นได้ทดสอบตัวอย่างปัสสาวะของอาสาสมัคร 242 คน ซึ่ง 24 คนนั้นเป็นมะเร็ง (มีผลพบ tumor marker) โดยพบว่าหนอนวินิจฉัยถูก 23 คน ผิดพลาดแค่ 1 คน (ซึ่งเรียกว่า ผลลบเทียม) และในกลุ่มควบคุม 218 คน ซึ่งไม่เป็นมะเร็งนั้นผลออกมาว่าไม่เป็นมะเร็ง 207 คน (แสดงว่ามี ผลบวกเทียม เพียง 11คน) บทความเรื่องนี้สรุปว่า  หนอนสามารถใช้ตรวจสอบความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้ที่หลายอวัยวะคือ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ตับอ่อน ท่อน้ำดี ต่อมลูกหมาก เต้านมและปอด วิเคราะห์จากน้ำลาย         ส่วนสารคดีเรื่องที่สองนั้นเป็นการใช้น้ำลายเพียง 2-3 หยด เพื่อตรวจคัดกรองและคาดการณ์การเกิดมะเร็งบางอวัยวะ เช่น มะเร็งตับอ่อน ในความจริงแล้วการใช้น้ำลายเพื่อตรวจสอบโอกาสเป็นมะเร็งนั้นมีการศึกษามาหลายปีแล้วในบางประเทศ Dr. Magoto Sunamura สังกัด Digestive Surgery and Transplantation Surgery, Tokyo Medical University Hachioji Medical Center และเป็นประธานบริษัท Saliva Tech ซึ่งให้บริการตรวจนั้นให้ข้อมูลว่า เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำลายซึ่งแตกต่างกันไปตามสภาวะของสรีรภาพของร่างกายที่ปรกติหรือผิดปรกติเช่น มะเร็งตับอ่อน เต้านม ปอด และมดลูก         ในบทความเรื่อง Salivary metabolomics with alternative decision tree-based machine learning methods for breast cancer discrimination ตีพิมพ์ในวารสาร Breast Cancer Research and Treatment เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2019 และบทความเรื่อง Elevated Polyamines in Saliva of Pancreatic Cancer ในวารสาร Cancers (Basel) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 ซึ่ง Dr. Magoto Sunamura เป็นหนึ่งในผู้นิพนธ์ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างน้ำลายที่เก็บจากคนที่อดอาหารแล้ว 9 ชั่วโมง ซึ่งแช่งแข็งที่ -80 องศาเซลเซียสทันทีก่อนนำไปวิเคราะห์ปริมาณสาร (ที่เกิดขึ้นในเซลล์ของร่างกายซึ่งถูกขับออกมาทางน้ำลาย) ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า metabolomics ซึ่งใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์เป็นชุดได้แก่ Capillary electrophoresis และ liquid chromatography ที่ควบไปกับ mass spectrometry โดยผลจากการวิเคราะห์นั้นถูกนำไปแปรผลด้วยคอมพิวเตอร์ (เข้าใจว่าเป็นการแปรผลได้รูปซึ่งเรียกว่า contour map) เพื่อดูว่าน้ำลายที่ถูกตรวจนั้นต่างไปจากผลเฉลี่ยของคนทั่วไปซึ่งเก็บเป็นมาตรฐานก่อนหน้านั้นหรือไม่ ถ้ามีความต่างก็แสดงว่ามีแนวโน้มการเป็นมะเร็ง ซึ่งรูปแบบความต่างนั้น (โดยอาศัยความชำนาญ) สามารถบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งชนิดใด         ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า สารเคมีซึ่งเซลล์มะเร็งปล่อยออกมาแล้วให้กลิ่นนั้นคืออะไร คำตอบที่อาจเป็นไปได้คือ เป็นสารกลุ่ม polyamine ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสิ่งมีชีวิตขณะที่มีการแบ่งเซลล์ ตัวอย่างสารกลุ่มนี้เช่น พิวตรีซีน (putrescine) สเปรมิดีน (spermidine) และสเปรมีน (spermine) โดยอาจมีสารเคมีอื่น ๆ ในกลุ่มอัลเคน (alkanes) เม็ททิเลเต็ดอัลเคน (methylated alkanes) สารประกอบอะโรมาติก (aromatic compounds) และ อนุพันธ์เบ็นซีน (benzene derivatives) ซึ่งจริงแล้วสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ระดับสูงแต่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใช้วิธีการที่ดูง่ายกว่าดังอธิบายให้ทราบข้างต้น         วิธีการดังกล่าวข้างต้นเชื่อได้แค่ไหน ท่านผู้อ่านลองอ่านข้อมูลแล้วชั่งใจก่อนคิดว่าควรเชื่อเพียงใด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 LDL ในเลือดสูงแล้วอายุยืน...จริงหรือ

        วงการวิทยาศาสตร์สุขภาพเชื่อกันมานานแล้วว่า คอเลสเตอรอล นั้นถ้ามีมากเกินไปในร่างกาย (โดยเฉพาะที่ปรากฏในเลือด) เป็นดัชนีที่ชี้ถึงความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดทั้งที่หัวใจและสมอง อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ในเรื่องนี้ยังมีข้อยกเว้นบ้าง เพราะคอเรสเตอรอลนั้นเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย มิเช่นนั้นร่างกายคงไม่สร้างขึ้นมา        หน้าที่สำคัญหนึ่งของคอเลสเตอรอลคือ เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ที่ทำให้ผนังเซลล์มีความยืดหยุ่นพอดี สามารถทำหน้าที่ได้ตามปรกติที่ควรเป็น อีกทั้งผู้ที่จบการศึกษาด้านพิษวิทยาย่อมตระหนักดีว่า สารพิษส่วนใหญ่ในร่างกายมนุษย์นั้นมักถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับออกจากร่างกายที่ออร์กาเนลในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโครโซม (แหล่งรวมของระบบเอ็นซัมเปลี่ยนแปลงสารพิษ ที่สำคัญคือ ระบบไซโตโครม พี-450) ซึ่งมีงานวิจัยที่นานกว่า 50 ปีแล้วบอกว่า ไมโครโซมนั้นมีองค์ประกอบหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้คือ คอเลสเตอรอล ภายหลังอีกไม่นานก็มีการค้นพบว่า ไมโครโซมนั้นจริงแล้วคือ ผนังเซลล์ที่ม้วนพับเข้าไปอยู่ในเซลล์ในช่วงที่ไม่มีการแบ่งเซลล์ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่พบว่า คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบสำคัญของออร์กาเนลนี้ ทั้งนี้เพราะความอ่อนตัวของผนังเซลล์ (cell membrane fluidity) ที่พอเหมาะพอดีจะส่งผลถึงการทำหน้าที่ทางชีวภาพของผนังเซลล์นั้นถูกกำหนดด้วยปริมาณคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม ซึ่งสามารถดูได้จากหลายคลิปใน YouTube เช่น เรื่อง Cholesterol and Fatty Acids Regulate Membrane Fluidity ที่ https://www.youtube.com/watch?v=wnBTZ02wnAE        อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ควรคำนึงคือ ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตนั้นโอกาสที่จะพบว่าความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดสูงมีน้อยมาก ทั้งนี้เพราะร่างกายเด็กคงนำคอเลสเตอรอลไปใช้สร้างผนังเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ได้หมด แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยที่การสร้างเซลล์น้อยลงแต่ระดับการสร้างคอเรสเตอรอลยังคงที่ โอกาสที่ความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นจนก่อปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและสมองจึงอาจเกิดได้ ในคนที่กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ จนเกิดการออกซิเดชั่นที่ทำลายชั้นไขมันของผนังเซลล์ด้วยอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดขึ้นในเซลล์ที่ประกอบเป็นผิวหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดไม่ราบเรียบเหมือนปรกติ ดังนั้นในคนที่ขาดการออกแรงกายจนเลือดไม่มีโอกาสสูบฉีดแรงๆ เป็นครั้งคราว คอเลสเตอรอลที่เคลื่อนตัวช้าๆ ในเส้นเลือดจึงมีโอกาสตกตะกอนเกาะติดกับผนังเส้นเลือดที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอนุมูลอิสระ (ในลักษณะการเกิดตะกรันในท่อประปาเหล็กซึ่งเป็นสนิม) ซึ่งเมื่อมากขึ้นย่อมขัดขวางการไหลของเลือดที่นำออกซิเจนไปส่งให้เซลล์ในที่สุด และถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดที่เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือสมอง โอกาสเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น         ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดเนื่องจากการมีระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือดของคนไทยนั้น เริ่มเป็นไปด้วยดีในปัจจุบัน เนื่องจากมีการรนณรงค์ของหน่วยงานด้านสุขภาพ เห็นได้จากการที่คนไทยเริ่มมีการออกกำลังกายมากขึ้น กินอาหารระมัดระวังขึ้น แม้จะรู้ว่าคอเลสเตอรอลไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวในการก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดของหัวใจและสมอง แต่การระวังในการกินอาหารนั้น เป็นเรื่องดีซึ่งส่งผลในการลดความเสี่ยงที่น่าสะพรึงกลัว อย่างไรก็ดีปัจจุบันกลับมีคนไทยบางคนเริ่มออกมาพูดตามที่ฝรั่งเขียนบทความในเว็บต่างๆ ซึ่งอ้างว่ามาจากบทความวิชาการในหลายเว็บเช่น Daily Mail, Guardian, Independent, Telegraph, BBC Radio Four และอื่น ๆ ว่าการเพิ่มขึ้นของคอเรสเตอรอลในเลือดเมื่ออายุเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี เพราะมีงานวิชาการบ่งชี้ว่าสัมพันธ์กับการมีอายุที่ยืนยาวขึ้น (นี่เป็นการค้านกับความคิดเดิม) อีกทั้งยังแนะนำให้เกิดแนวความคิดในการเลิกกินยากลุ่มสแตตินที่หมอมักสั่งให้กินเมื่อตรวจพบว่า มีค่า LDL ในเลือดสูงเกินระดับปรกติ เพราะเข้าใจว่ามันไม่ก่อประโยชน์         แนวความคิดที่มีการกล่าวถึงนั้นสืบเนื่องมาจากงานวิชาการของกลุ่มนักวิจัยนานาชาติที่มี Magle Stora Kyrkogata ซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดนเป็นชื่อต้นของบทความเรื่อง Lack of an association or an inverse association between low-density lipoprotein cholesterol and mortality in the elderly: a systematic review ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Open ของปี 2016 รายงานชิ้นนี้เป็น “การนำผลการวิจัยเดิม 19 ฉบับ มาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับ LDL-คอเลสเตอรอลและความเสี่ยงโดยรวมของการเสียชีวิตในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี” แล้วได้ผลสรุปว่า “การมีคอเลสเตอรอลไม่ดีคือ LDL ในเลือดสูงเมื่อคนมีอายุเกิน 60 ปีแล้ว อายุจะยืนยาวโดยไม่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยาสแตตินที่แพทย์มักให้กินเมื่อค่า LDL ในเลือดสูงนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลย”         ทว่าปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นก็ไม่ต่างจากที่เริ่มเกิดในต่างประเทศ เพราะเริ่มมีเหล่าบุคคลซึ่งมีเบื้องหลังการขายสินค้าไขมันบางประเภทได้เริ่มนำข้อมูลจากบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่อ้างถึงข้อมูลจากบทความวิจัย (ที่จะกล่าวถึงต่อไป) ซึ่งดูมีปัญหาในการแปรผลตามความเห็นของผู้รู้ในวงการสุขภาพเกี่ยวกับการบริโภคอาหารไขมัน สิ่งที่น่าสนใจคือ คนไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าไขมัน LDL ในเลือดสูงและต้องกินยากลุ่มสแตตินนั้น ดูเหมือนว่าจะยอมรับกับข้อมูลดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยไม่ใช้กาลามสูตร 10 อาจเป็นเพราะมันตรงกับความต้องการส่วนลึกที่ไม่อยากพะวงต่อค่า LDL และการกินยาสแตติน         บทความดังกล่าวใน BMJ Open ของปี 2016 นั้นได้ถูกวิจารณ์ถึงความหละหลวมในการศึกษา ซึ่งอ่านได้จากบทความเรื่อง Flawed cholesterol study makes headlines ในเว็บ www.bhf.org.uk ซึ่งกล่าวประมาณว่า จำนวนของผู้ถูกสำรวจในการศึกษานั้นนับรวมได้เกือบ 70,000 คน แต่มีเพียง 9 จาก 19 การศึกษาเท่านั้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด โดย 2 ใน 3 ของจำนวนอาสาสมัครนั้นมาจากเพียงการศึกษาเดียว (คือ งานวิจัยของนักวิจัยชาวเดนมาร์คจากมหาวิทยาลัย University of Southern Denmark เรื่อง Association of lipoprotein levels with mortality in subjects aged 50+ without previous diabetes or cardiovascular disease ในวารสาร Scandinavian Journal of Primary Health Care ในปี 2013) ซึ่งหมายความว่า การกระจายตัวของอาสาสมัครที่นำมาพิจารณานั้นไม่ได้เป็นการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเช่นที่ควรเป็นตามวิธีการสำรวจในการทำวิจัย ซึ่งอาจส่งผลต่อการสรุปผลในบทความ         สำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความวิจัยตัวจริงของกลุ่มนักวิจัยเดนมาร์คจะพบความเป็นจริงว่า งานวิจัยนั้นมีข้อสรุปมากกว่าที่บทความจาก BMJ Open ของปี 2016 ยกมาอ้าง คือ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีระดับคอเลสเตอรอลรวม HDL-คอเลสเตอรอล หรือ LDL-คอเลสเตอรอล สูงได้ปราศจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ซึ่งรวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (coronary heart disease) และเส้นเลือดในสมองอุดตัน (stroke) หรือเบาหวาน มีอัตราการตาย (ก่อนวัยอันควร) ต่ำ แต่ยังปรากฏว่า การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลโดยใช้ยาสแตตินนั้นยังให้ประโยชน์ต่อคนไข้ในการเอาชีวิตรอดโดยไม่มีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอล และพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงนั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) อย่างเด่นชัดในสตรีสูงวัย         สิ่งที่สำคัญคือ มีงานวิจัยเยอะมากที่รายงานผลว่า ยากลุ่มสแตตินนั้นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคหัวใจ (อาจมีผู้ตั้งประเด็นว่า งานวิจัยเหล่านั้นอาจได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตยากลุ่มสแตติน ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ต้องหาหลักฐานกันต่อไป) ซึ่งบทความใน BMJ Open ของปี 2016 ไม่ได้กล่าวถึงในรายงาน อีกทั้งการที่อาสาสมัคร (อายุเกิน 50 ปี) ที่มี LDL สูงและถูกพิจารณาว่ามีอายุยืนนั้น อาจเป็นเพราะได้เริ่มกินยาสแตตินหรือเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารเพื่อลดการรับคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายแล้ว และอาจมีการเพิ่มการออกกำลังกายเข้าไปในชีวิตประจำวันด้วย จึงมีผลให้ความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจลดลง แม้ว่าระดับคอเรสเตอรอลจะไม่ลดลงเท่าค่าเฉลี่ยของคนปรกติ แต่ก็เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในระดับหนึ่ง และที่แน่ ๆ คือ นักวิจัยชาวสวีเดน ที่ออกมาป่วนว่าระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้นดี ไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนไข้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ใยอาหารกับความเสื่อมของสมอง

        เวลาพูดถึงใยอาหารเรามักคิดกันว่า มันเป็นเรื่องของความสบายเมื่อต้องเข้าห้องน้ำหลังตื่นนอน ทั้งนี้เพราะใครก็ตามที่กินผักและผลไม้ในปริมาณที่เหล่าหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งไทยและเทศแนะนำคือ ราวครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ย่อมได้ใยอาหารซึ่งมีผลโดยตรงคือ ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก และผลโดยอ้อมคือ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดโอกาสมีน้ำหนักเกิน        อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาถึงผลของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ที่มีผลถึงอวัยวะสำคัญอื่นๆ คือ สมอง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) โดยใยอาหารกลุ่มนี้มีบทบาทเป็น prebiotic คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เป็น probiotic กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดไขมันสายสั้นโดยประมาณคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 และกรดอะซิติคร้อยละ 65 เป็นผลพลอยได้ (โดยปรกติแล้วในสิ่งมีชีวิตนั้น กรดเหล่านี้จะอยู่ในรูปของเกลือ) ซึ่งเซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมกรดบิวทิริคในรูปเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานได้ รายละเอียดดูได้ฟรีในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 (โดยอาศัย google นำทาง)         กล่าวกันว่าในกรณีของบิวทิเรตนั้น เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ใช้สารนี้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้นในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจมีพลังงานเพื่อดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอ จนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ปรากฏการลักษณะนี้จะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงจากสภาวะปรกติซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไปเป็นภาวะไม่ปรกติ        Wikipedia ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และกำจัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเด็นหลังมีการให้เหตุผลว่า แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตายตามหลักการของ Warburg effect (ซึ่งกล่าวประมาณว่า เซลล์มะเร็งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยพลังงานน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว) ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถใช้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบิวทิเรตไปเป็นพลังงานนั้นจำต้องผ่านกระบวนการใน ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหลักของเซลล์ปรกติ แต่เซลล์มะเร็งนั้นไม่ใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด ซึ่งนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง กระบวนการนี้ค่อนข้างซับซ้อนเกินขอบเขตของบทความนี้ แต่กล่าวได้โดยสรุปว่า บิวทิเรตน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้         ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับใยอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีคือ ได้มีงานวิจัยใหม่กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังมีงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice ซึ่งบทความนี้แสดงให้เห็นว่า บิวทิเรตซึ่งเกิดในลำไส้ใหญ่ของหนูสูงอายุที่ได้กินใยอาหารชนิดอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสซึ่งเป็นใยอาหารที่แบคทีเรียใช้ทำอะไรไม่ได้         ไมโครเกลียเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ อย่างไรก็ดีในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่ออาการสมาธิสั้นและการอักเสบเรื้อรังในสมอง ถ้ามีการทำงานมากเกินไป สมมุติฐานนี้ดูเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา         งานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร  Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปประมาณว่า บิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนแบคทีเรียที่ผลิตบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ ย่อมส่งผลถึงการป้องกันไม่ให้ไมโครเกลียทำงานเกินจำเป็นเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนเฉพาะในหนูแก่ (ซึ่งเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสมองแล้ว) ส่วนหนูวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นไม่ชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร โดยเฉพาะส่วนนิ่มของใบผัก เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักกาดขาว ฯลฯ ถั่ว ข้าวโอ๊ต แตงต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม และขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี น่าจะช่วยชะลอความแก่ของสมองของผู้สูงอายุได้ดี สำหรับส่วนแข็งของใบผักเช่น ก้าน นั้นมีประโยชน์ในด้านการอุ้มน้ำของอุจจาระจึงทำให้ถ่ายสะดวก และการจับสารพิษที่อาจก่ออันตรายแก่ลำไส้ใหญ่ออกไปจากร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับข่าวหนึ่งในมติชนออนไลน์ประจำวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่กล่าวว่า สมาคมสภาผู้สูงอายุจังหวัดพะเยาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปีแล้วพบว่า ผู้สูงอายุนั้นต่างก็กินอาหารแบบพื้นบ้านล้านนาที่เป็นอาหารประเภทผักที่ปลูกเองกับน้ำพริก ปลา กล้วยน้ำว้า แตงกวา และพืชใบเขียวทั่วไปที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช        ประเด็นที่ท่านผู้อ่านควรทำความเข้าใจคือ การที่ผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีเกลือบิวทิเรตสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ในรูปแคปซูลได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นสามารถช่วยทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่ดีขึ้น มีประเด็นที่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อคือ สารอาหารอะไรก็ตามที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่เปลี่ยนบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ อย่างไรก็ดีในสถานะการณ์ที่เอทีพีในเซลล์มีมากเกินพอแล้ว ตับจะเลือกใช้อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดไขมันต่าง ๆ (ซึ่งมีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าบิวทิเรต) ตามความต้องการของร่างกาย ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010 ดังนั้นจะเห็นว่า โอกาสที่บิวทิเรตที่กินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่หรือต่อไปถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่ โอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานอาจรอดไปสู่ระบบเลือด ซึ่งไปถึงสมองได้บ้างดังสมมุติฐานของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า การกินผักผลไม้เพื่อให้ได้ใยอาหารนั้นอาจช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เปลี่ยนวิกฤตในอากาศ...เป็นอาหาร

                มีการพยากรณ์มานานพอควรแล้วว่า มนุษย์บนโลกน่าจะเพิ่มเป็นประมาณหมื่นล้านคนในปี 2050 ซึ่งทำให้นักบริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศหลายคนกังวลว่า โลกอาจกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยกระบวนการเกษตรแบบดั้งเดิม         สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเคยได้ยินข่าวหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีความพยายามนำเอาสาหร่าย spirulina ซึ่งก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีขึ้นทั่วไปทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดมาเป็นแหล่งของโปรตีนแก่ประเทศยากจน แต่ปรากฏว่าระหว่างการประเมินความปลอดภัยในหนูทดลองนั้น มีผลการศึกษาบางประเด็นที่ส่อถึงปัญหาบางประการ องค์การอนามัยโลกจึงได้หันความสนใจในภารกิจหาโปรตีนให้ประเทศยากจนไปยัง ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่อุดมทั้งโปรตีนและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อีกทั้งข้อความใน Wikipedia ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายประเภทนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า U.S. National Institutes of Health ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่พอจะแนะนำให้กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เช่นกัน         ผ่านไปกว่า 50 ปี ความพยายามค้นหาแหล่งโปรตีนราคาถูกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม จนล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตชื่อ Air Protein ของบริษัท startup (ชื่อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์) ในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้คุยว่า สามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาศัยจุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศรอบตัวมนุษย์ให้กลายเป็นโปรตีน และอาจถึงการผลิตเป็นไขมัน วิตามินและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพื่อการบริโภคของมนุษย์         คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้เขียนโชคดีได้พบเว็บบนอินเทอร์เน็ตหนึ่งที่มีสารคดีออนไลน์เรื่อง Decoding the Weather Machine ซึ่งผลิตโดย NOVA PBS (ราคา DVD สารคดีนี้ขายอยู่ที่ประมาณ $15.45) จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า ทำไมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ดังนั้นการลดการปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ จึงกำลังเป็นสิ่งที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังทำอยู่ ส่วนประเทศที่พัฒนาได้แค่ที่เป็นอยู่ ซึ่งมักมีงบการวิจัยต่ำกว่า 1% GDP ก็ดูคนอื่นทำต่อไปข่าวเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโปรตีนจากอากาศ         ความสามารถในการสร้างโปรตีนจากองค์ประกอบของอากาศที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ผู้เสพข่าวบางคนว่า เป็นไปได้จริงหรือที่จะสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ข้อมูลที่ได้หลังจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นการอาศัยจุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph (ซึ่งจริงแล้วมีในธรรมชาติรวมถึงในลำไส้ของมนุษย์) เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีน กล่าวอีกนัยหนึ่งประมาณว่า ในขณะที่พืชดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นสารอาหารและองค์ประกอบอื่นที่พืชต้องการ จุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph ใช้แหล่งพลังงานอื่นในกระบวนการที่ต่างกันแต่ได้ผลในแนวทางเดียวกัน ดังที่ Dr. Lisa Dyson ผู้เป็น CEO ของ Air Protein (และเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัทแม่ชื่อ Kiverdi ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม) คุยไว้ในคลิปที่บรรยายให้ TEDx Talks ชื่อ A forgotten Space Age technology could change how we grow food (www.youtube.com/watch?v=c8WMM_PUOj0)         Hydrogenotroph นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานที่ได้จากการรีดิวส์คาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเป็น ก๊าซเม็ทเตน กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ด้านอีเล็คโตรเคมิคอลเพื่อใช้การสร้างสารพลังงานสูงคือ ATP ซึ่งถูกนำไปใช้ในกิจการสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างโปรตีน ดังนั้นเมื่อปริมาณของเซลล์แบคทีเรียเพิ่มขึ้นมากพอ ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสกัดเอาโปรตีนออกมาได้ความจริง Lisa Dyson ได้ยอมรับในการบรรยายต่างๆ ว่า แนวคิดเรื่องโปรตีนจากอากาศนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ NASA ที่ทำตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความพยายามมองหาวิธีผลิตอาหารสำหรับภารกิจในอวกาศของนักบินในอนาคตที่ต้องไปยังต่างดาวที่มีทรัพยากรจำกัดในการประทังชีวิต ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "ระบบวงปิดของคาร์บอน หรือ the close loop carbon cycle" ที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงองค์ประกอบจากอากาศที่หายใจออกมาเป็นอาหารให้นักบินอวกาศกิน และเมื่อมีสิ่งขับถ่ายต่างๆ ออกมา ซึ่งโดยหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว วงจรดังกล่าวไม่ใช่วงจรปิดเสียทีเดียว เพราะต้องมีการเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไปช่วยให้วงจรเดินหน้าได้ พร้อมกำจัดบางสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้ง         ข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญมากเพราะ Lisa Dyson ได้พยายามกล่อมให้ผู้ฟังคล้อยตามคือ ผลพลอยได้จากการสร้างโปรตีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพราะกระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีการปลูกป่าบนพื้นโลกให้มากขึ้น พืชจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยประสิทธิภาพดีกว่าและประหยัดกว่า แถมยังเป็นการผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วยผลกระทบที่อาจถูกละเลยไปอย่างตั้งใจ         สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลยคือ ผู้ผลิต Air Protein ได้ทำเป็นลืมที่จะกล่าวถึงการประเมินในลักษณะ Cost/Benefit ของกระบวนการ ซึ่งควรจะเป็นส่วนที่แสดงถึง ความคุ้มทุนของการดำเนินการของบริษัทในการผลิต เพราะเท่าที่ผู้เขียนตามดูในการบรรยายของ Lisa Dyson นั้นไม่ได้ระบุว่า  มีการใช้น้ำ แร่ธาตุ และพลังงานมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต         สิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ Air Protein นั้นไม่ได้เป็นบริษัท startup เพียงแห่งเดียวที่คุยว่า สามารถใช้อากาศในการผลิตโปรตีน เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน บริษัทสัญชาติฟินแลนด์หนึ่งที่ชื่อว่า Solar Foods ก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า กำลังสร้างสารอาหารคือ โปรตีนจากอากาศซึ่งตั้งชื่อว่า Solein (ซึ่งน่าจะมาจากการสมาสคำ solar และ protein) โดยที่กระบวนการของบริษัทนี้ได้เลยจากการพิสูจน์ความเป็นไปได้แล้ว เพราะ Solar Foods คุยว่า สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ขณะนี้ได้เตรียมที่จะผลิตในขนาดของอุตสาหกรรมพร้อมทั้งขอจดสิทธิบัตรและทำการระดมทุนได้ราว 2 ล้านยูโรผ่านการจัดการของ Lifeline Ventures โดยหวังว่าจะกระจายสินค้าคือ Solein ในปี 2021 และในปี 2022 ตั้งเป้าจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหาร 50 ล้านมื้อ (ข้อมูลจากบทความชื่อ The Future of Protein Might be ‘Gas Fermentation,’ or Growing Food Out of Thin Air ในเว็บ https://thespoon.tech วันที่ 26 เมษายน 2019)          สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการสร้างอาหารจากอากาศคือ การดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มีความยากง่ายขึ้นกับสถานที่เลือกทำการผลิต เพราะถ้าเป็นอากาศจากชุมชนที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงนั้น ความจำเป็นในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจากอากาศก่อนเพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์คงต้องลงทุนสูงพอดู นอกจากนี้เมื่อการผลิตโปรตีนนั้นไม่ต้องการพื้นที่มากนักและคงควบคุมการผลิตได้ด้วยระบบอัตโนมัติแล้ว การลดของจำนวนตำแหน่งงานทางด้านปศุสัตว์อย่างมากมายคงไม่ยากที่จะคาดเดาได้ และที่น่าสนใจคือ นอกจากความพยายามผลิตโปรตีนจากอากาศแล้ว ยังมี startup อีกมากมายที่มุ่งเน้นในการปฏิวัติกระบวนการผลิตอาหารอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย จนอาจทำให้ไม่เหลือที่ยืนแก่เกษตรกรในหลายประเทศที่ยังไม่ปรับตัวมัวแต่ประท้วงเรื่องการห้ามใช้วัตถุอันตราย ทั้งที่กระบวนการผลิตอาหารในอนาคตนั้นน่าจะเป็นกระบวนการปิดที่ไม่ต้องใช้วัตถุอันตรายช่วยเหลือการผลิตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 นมดิบ...ดีหรือไม่

        เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 มีข่าวหนึ่งกล่าวว่า ชายสูงวัยคนหนึ่งและทีมงานหลายร้อยชีวิตเดินทางไปยังสหกรณ์โคนมหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เพื่อชมกระบวนการผลิตนมและทดลองรีดนมวัว ก่อนจะพลั้งปากกล่าวประมาณว่า “ต่อไปไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะกินนมบูดอีก ให้เอาแม่วัวไปให้เด็กที่โรงเรียน จากนั้นช่วงเช้าก็รีดนมให้เด็กกิน”          ทันทีที่ข่าวตีพิมพ์ขึ้นสู่โลกออนไลน์ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ก็มีข่าวต่อเนื่องว่า นักวิชาการหนุ่มซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหนึ่งได้ให้ความเห็นใน facebook ถึงเรื่องการดื่มนมดิบว่า "ไม่ควรดื่มน้ำนมดิบ เพราะอาจมีอันตรายจากเชื้อโรค” พร้อมข้อมูลสรุป ซึ่งคนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพรู้กันทั้งนั้นว่า นมดิบนั้นเป็นนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อก่อโรคด้วยความร้อนในระดับที่เรียกว่า พาสเจอร์ไรซ์ จึงเสี่ยงรับเชื้อโรคอันตรายซึ่งอาจจะปนเปื้อนในนมหลายชนิด เช่น บรูเซลล่า (Brucella), แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter), คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium), อีโคไล (E. coli), ลิสทีเรีย (Listeria) และซาลโมเนลล่า (Salmonella) ซึ่งก่ออันตรายร้ายแรงได้ในหลายระดับต่อผู้ดื่ม และต่อมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน รองโฆษกพรรคการเมืองหนึ่งก็ได้ให้ข่าวทำนองเดียวกัน เพื่อตอกย้ำความไม่รู้ของชายสูงวัย         ปัจจุบันคนไทยบางคนเริ่มนิยมกินอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปที่ปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่างๆ หรือแม้ผ่านการแปรรูปก็ผ่านแต่น้อยซึ่งเรียกว่า Green และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้สิ่งที่ Green นั้นเป็น Organic (อาหารอินทรีย์) ด้วย หนักไปกว่านั้นบางคนยังชอบให้ของกินเป็น Raw คือ อาหารพวกผักและผลไม้สด ต้นอ่อนของพืช เมล็ดพืช เนื้อสัตว์ ปลา ฯลฯ ที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง ไม่มีการเติมแป้งและน้ำตาล โดยใช้ความร้อนไม่เกิน 49 องศาเซลเซียสในการปรุง         ในเรื่องการกินอาหารสดไม่ผ่านการปรุงนั้น มีบทความเรื่อง “Raw-milk fans are getting a raw deal” ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ The Globe and Mail ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2010 ให้ข้อมูลว่า พระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรทรงชอบเสวยนมดิบ (raw milk) ที่ไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนใด ๆ และทรงสนับสนุนว่า นมดิบนั้นป้องการอาการแพ้และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ นอกจากนี้ยังมีข่าวกล่าวกันว่า ในอดีตนั้นเคยทรงให้รีดนมดิบของวัวเลี้ยงในพระราชวังวินเซอร์ส่งไปให้พระราชนัดดา (เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่) เสวยในสมัยที่ทั้งสองศึกษาที่ Eton College การที่พระราชินีและพระราชนัดดาไม่เคยทรงป่วยทั้งที่เสวยนมดิบนั้นผู้เขียนเข้าใจว่า คงเป็นเพราะวัวทรงเลี้ยงนั้นได้รับการดูแลอย่างดีในโรงวัว ซึ่งสะอาดพร้อมภักษาหารปลอดจากภัยร้าย ต่างจากวัวชาวบ้านที่นอนกลางดินกินหญ้ากลางทราย และอาบน้ำที่มักได้จากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อบาดาล        ในหลายประเทศมีกฎหมายห้ามการจำหน่ายนมดิบ เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร เพราะในตำราจุลวิทยาทางอาหารทั่วไปมักกล่าวถึงนมดิบว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ดื่มต่อการรับเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะเชื้อหลายชนิดนั้นสร้างสารพิษออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ ในขณะที่เชื้อบางชนิดก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารด้วยตัวมันเอง         สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นประถมต้น ราว 60 ปี มาแล้ว ผู้เขียนจำได้ว่า น้าสาวชอบซื้อนมสดจากแขก (อินเดีย) ซึ่งถีบจักรยานมาส่งที่บ้านเป็นประจำ น้าของผู้เขียนทำการต้มนมสดจนเดือดแล้วทิ้งให้เย็นก่อนดื่ม ซึ่งเป็นพฤติกรรมเฉพาะของคนทางเอเชียบางกลุ่ม ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเพื่อนร่วมหอพักในมหาวิทยาลัยสมัยที่ผู้เขียนเรียนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชาวจีนฮ่องกงนั้น ก็ต้มนมสดที่ซื้อจากซูเปอร์มาเก็ตก่อนดื่มเป็นประจำโดยให้เหตุผลว่า เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยและชอบกลิ่นของนมที่ผ่านการต้มแล้ว         ความชอบกลิ่นนมที่ต้มแล้วของคนไทยนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำนมวัวบรรจุกระป๋องโลหะที่ผ่านการสเตอริไลซ์ยี่ห้อหนึ่งของสวิสเซอร์แลนด์ขายได้ดีในไทย แต่กลับหาดื่มไม่ได้ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะคนอเมริกันชินต่อการดื่มนมพาสเจอไรซ์ และคนอเมริกันส่วนมากไม่เคยรู้เลยว่า มีการต้มนมให้เดือดเพื่อดื่มบนโลกนี้         ในนิวซีแลนด์นั้นกำหนดว่า ผู้บริโภคสามารถซื้อนมที่รีดสดจากเต้าวัวของเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับรัฐเท่านั้น โดยที่เกษตรกรเหล่านี้ต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดว่า มีความสามารถในการตรวจสอบสิ่งเป็นพิษในนม เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค มีการเก็บข้อมูลการขายและทำฉลากติดสินค้า ซึ่งต้องบอกวันผลิต คำแนะนำในการเก็บรักษา และข้อควรระวังในการดื่มนมดิบสำหรับผู้ดื่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย แต่สิ่งที่สำคัญในการซื้อขายนั้นคือ ต้องเป็นการขายตรงจากเกษตรกรสู่มือผู้บริโภค (ผู้ซื้อและผู้ขายจึงรู้จักกันดี) ห้ามขายผ่านจุดรวบรวมสินค้าเช่น ร้านของสหกรณ์ อีกทั้งผู้ซื้อต้องให้ข้อมูลที่พักอาศัยแก่เกษตรกรผู้ขาย เพื่อให้สามารถติดต่อได้อย่างทันทีทันใด ในกรณีที่ภายหลังการขายนมไปแล้วเกิดตรวจพบว่า นมนั้นไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยเกี่ยวกับการปนเปื้อน ที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลจากบทความชื่อ Raw milk ในเว็บ www.consumer.org.nz เมื่อ 30 มิถุนายน 2016 กล่าวว่า เมื่อปี 2014 มีผู้ติดเชื้อจากการดื่มนมดิบ 41 คน ซึ่ง 9 คน อายุต่ำกว่า 15 ปี แล้วผู้ป่วย 2 คน มีอาการร้ายแรงถึงขั้นไตวาย และต่อมาในปี 2015 ก็มีรายงานของผู้ป่วยจากการดื่มนมดิบอีก 13 คน         ประเทศอื่นที่มีการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตสำหรับผู้ที่สามารถทำตามข้อกำหนดเพื่อขายนมดิบนั้นคือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีกฏหมายประจำรัฐที่ยอมให้มีการขายได้ด้วยข้อกำหนดที่ต่างกันไปในแต่ละรัฐ) อย่างไรก็ดีหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาคือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ได้พยายามเตือนว่า มันเสี่ยงต่อหายนะที่มีอันตรายถึงชีวิตของผู้ดื่มนมดิบเพราะมีข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 1993 ในการระบาดของโรคครั้งใหญ่ในประเทศ 55 ครั้งนั้น ร้อยละ 75 ของการระบาดเกิดในรัฐที่มีการอนุญาตให้ซื้อขายนมดิบได้ตามกฎหมาย ที่น่าสังเกตคือ การเกิดโรคเนื่องจากการกินเนยแข็งในรัฐที่มีกฏหมายอนุญาตให้ขายเนยที่ทำจากนมดิบนั้นสูงเป็น 6 เท่าเมื่อเทียบกับรัฐที่ไม่อนุญาต          ผู้เขียนได้มีโอกาสดูข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน 2011 ของเว็บ เสียงจากอเมริกา (www.voathai.com) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มนมดิบว่า ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกานั้น การขายนมสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีเพื่อฆ่าเชื้อเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงทำให้มีการชุมนุมประท้วงที่กรุงวอชิงตันดีซีหลังจากมีการจับเกษตรกรที่นำนมสดไม่ผ่านการฆ่าเชื้อในรัฐที่มีกฎหมายอนุญาตข้ามไปขายในรัฐที่ไม่มีกฏหมายอนุญาต โดยผู้ประท้วงรายหนึ่งถึงกับนำวัวมารีดนมและให้บริการดื่มในการชุมนุมประท้วงนั้นด้วย แต่ข่าวไม่ได้กล่าวต่อว่า หลังจากการประท้วงแล้วมีคนท้องเสียหรือไม่         อย่างไรก็ดีการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารระบาดนั้น ไม่ได้มีนมดิบเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจัยอื่นเช่น การสัมผัสเชื้อจากสัตว์ต่างๆ หรือแม้แต่การสัมผัสน้ำจากปศุสัตว์ที่ไม่ได้รับการบำบัดให้สะอาดก่อนทิ้งก็ก่อให้เกิดโรคระบาดได้ ดังนั้นงานวิจัยต่างๆ จึงไม่สามารถระบุว่า ในการระบาดของโรคนั้นมีนมดิบเป็นสาเหตุหลักของโรคและที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาก็ไม่มีใครสามารถหาข้อมูลได้ว่า นมดิบที่ขายตรงต่อผู้บริโภคนั้นมีเชื้อก่อนการบริโภคหรือไม่ ที่สำคัญนมที่ผลิตเพื่อบริโภคในช่วงที่เกิดปัญหามักถูกดื่มหรือทิ้งส่วนที่เหลือไปแล้ว         ข้อมูลจากเว็บของ เสียงจากอเมริกา นั้นกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้นิยมดื่มนมดิบหลายคนในรัฐที่ไม่มีการอนุญาตให้มีการซื้อขาย ได้เลี่ยงอุปสรรคดังกล่าวด้วยการร่วมทุนเข้าหุ้นกันเลี้ยงวัวที่ฟาร์มนอกเมืองเสียเอง ตัวอย่างคือ ฟาร์มที่เฮดจ์บรูคซึ่งอยู่นอกกรุงวอชิงตันนั้น มีการขายหุ้น 25 หุ้นสำหรับวัวตัวหนึ่ง ซึ่งเจ้าของหุ้นแต่ละรายได้รับนมจากเต้าของวัวตัวนั้นซึ่งสดใหม่สมใจ (ในการเสี่ยงโรค) สัปดาห์ละราว 4 ลิตร

อ่านเพิ่มเติม >