สวัสดีปีใหม่ปีมะเส็งนะคะ ผู้อ่านทุกท่าน เทศกาลปีใหม่ผ่านพ้นไป หลายคนคงได้หยุดพักผ่อนกันอย่างเต็มที่ (แม้ว่าวันหยุดจะน้อยไปนิ๊ด 555) บางคนได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ บางคนก็กลับบ้าน พอเทศกาลปีใหม่ผ่านไป มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็ต้องกลับเข้าประจำโต๊ะทำงานกันต่อไป กลับมาใช้ชีวิตผจญปัญหาจราจรติดขัดในเมืองกรุงเหมือนเดิม ปัญหาการจราจรบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครติดขัดตลอด ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ไปได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนนานนับเป็นชั่วโมง จะหลีกเลี่ยงเส้นทางก็ไม่แน่ใจว่าจะติดเหมือนกันหรือไม่ จึงได้แต่ร้องเพลงรอกันต่อไป ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงลองหาแอพพลิเคชั่นที่มีประสิทธิภาพมาช่วยปัญหาที่เกิดขึ้น (อย่างน้อยก็ช่วยอะไรได้บ้างนะคะ) แอพพลิเคชั่น Google Maps เป็นบริการแสดงแผนที่ประเทศไทย (รวมถึงทั่วโลก) บอกถึงสภาพการจราจรบนท้องถนน ตำแหน่งที่ยืนอยู่ไปจนถึงค้นหาตำแหน่งจุดหมายที่ต้องการเดินทางไปถึง ระบบขนส่งมวลชน อย่างเช่น สถานีรถไฟฟ้า BTS สายรถเมล์ที่สามารถทำให้จุดหมายปลายทางนั้นได้ โดยแอพพลิเคชั่นจะบอกระยะทางการเดินทาง รวมถึงเวลาที่จะใช้ในการเดินทาง เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมา Google Maps จะบอกตำแหน่งที่เรายื่นอยู่ปรากฏบน Google Maps จากนั้นให้กรอกสถานที่จุดหมายที่ต้องการเดินทาง โดยจะมีเมนูที่แสดงผลสถานที่ใกล้เคียงบริเวณที่ค้นหา ให้คุณเลือกเพิ่มเติมอีกด้วย ในกรณีที่การแสดงผลไม่ตรงกับสถานที่ที่คุณต้องการ เมื่อเจอสถานที่นั้นแล้ว คุณสามารถเปลี่ยนมุมมองเป็นแผนที่ 3 มิติหมุน 360 องศา หรืออาจจะเป็นในรูปแบบภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากนี้ยังสามารถดูภาพท้องถนน หรือเรียกว่า Google Street View ในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน บน Google Maps ที่แสดงผลอยู่นั้น คุณสามารถดูสภาพการจราจรไปด้วยในตัว ว่าเส้นทางใดสภาพการจราจรติดขัดควรหลีกเลี่ยง เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกเส้นทางการเดินทางที่ไม่ติดตัดและที่ดีที่สุด และแอพพลิเคชั่นยังคำนวณเวลาในการเดินทางให้ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัว หรือขึ้นรถเมล์ โดยจะบอกสายรถเมล์ที่ผ่านบริเวณจุดหมายให้อีกด้วย Google Maps สามารถติดตั้งในรูปแบบแอพพลิเคชั่น โดยผู้ที่ใช้ระบบ iOS สามารถไปดาวน์โหลดได้ที่ App Store สำหรับผู้ใช้ระบบ Android สามารถไปดาวน์โหลดได้ที่ Android Market เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Google Maps มาใช้งานแล้วมีปัญหา Google Maps ไม่ระบุตำแหน่ง ให้ไปเช็คที่ Settings > Privacy > Location Services ลองดาวน์โหลดและดึงประโยชน์ของ แอพพลิเคชั่น Google Maps มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อาจจะช่วยแก้ความหงุดหงิดใจในระหว่างที่อยู่บนท้องถนนได้สักเล็กน้อย ^_^
อ่านเพิ่มเติม >ผู้อ่านจำหนังสือเล่มหนาๆ ปกเหลืองๆ ที่ถูกแจกจ่ายไว้ตามบ้านทุกหลังคาเรือนได้ไหมค่ะ คุณสมบัติของเล่มนี้จะช่วยค้นหาเบอร์ติดต่อร้านค้า สำนักงาน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์บ้านของเราก็มีระบุไว้ สมุดเล่มนี้มีชื่อว่า “สมุดหน้าเหลือง” หรือเรียกว่า เยลโล่เพจเจส (YellowPages) เป็นชื่อที่ผู้เขียนและผู้อ่านรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเล่มหนา มีปกสีเหลือง โดยได้รวบรวมรายชื่อธุรกิจ สินค้า และบริการ มาเรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อแจกจ่ายไปตามบ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน และแหล่งธุรกิจ ภายหลังสมุดหน้าเหลืองได้ถูกพัฒนาเป็นรูปแบบออนไลน์ บน http://www.yellowpages.co.th แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนในโลกปัจจุบัน สมุดหน้าเหลือง จึงถูกพัฒนามาเป็น YellowPages Live Application และสามารถรองรับทุกระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น iOS (iPhone หรือ iPad), Android OS, BlackBerry OS, Windows Phone, Windows Mobile และ สมาร์ทโฟน หรือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับ J2ME จะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้จาก http://www.typlive.com/mobile มาติดตั้งใช้งานได้ทันที แอพพลิเคชั่น YellowPages Live มีอยู่ 5 ส่วน คือ ส่วนแรก Highlight เป็นส่วนที่อัพเดทข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ ส่วนที่สอง Search จะเป็นส่วนค้นหาหมายเลขสำคัญ เบอร์ฉุกเฉิน คำค้นยอดนิยม ส่วนลดร้านอาหาร และโปรโมชั่นต่างๆ โดยสามารถคลิกรับโปรโมชั่นที่ต้องการได้ทันที ส่วนที่สาม Map สามารถค้นข้อมูลและให้แสดงผลในรูปแบบแผนที่ได้ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทราบเส้นทางการเดินทาง ส่วนที่สี่ Content อัพเดทราคาน้ำมัน ราคาทอง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เลขหมายน่าสนใจ 4 หลัก รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนที่ห้า Member เป็นส่วนของการ log in สำหรับสมาชิก ผู้อ่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกกับแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ได้ทันที ผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้กันนะคะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการค้นหาเบอร์ติดต่อในกรณีเหตุสุดวิสัยและสามารถพกพาไปได้ทุกสถานที่ แถมแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ยังสามารถรองรับได้ทุกระบบปฏิบัติการได้ขนาดนี้ มีแอพฯ นี้ไว้ในมือถือก็ดีไม่น้อยนะคะ
อ่านเพิ่มเติม >พื้นที่บนโลกอินเตอร์เน็ตกว้างขวางมากในปัจจุบัน หลายคนได้เปรียบเปรยไว้ว่า อินเตอร์เน็ตช่วยย่อโลกให้แคบขึ้น ไม่ว่าลูกหลาน ญาติพี่น้อง จะเดินทางไปพำนักอยู่คนละซีกโลก เพียงแค่สื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต อย่าง E-Mail Facebook Twitter ก็ช่วยทำให้ระยะทางที่ไกลแสนไกล หายไปในพริบตา แม้ว่า E-Mail Facebook จะสามารถสื่อสารกันข้ามโลกโดยไม่มีขีดจำกัด แต่ก็มีอุปสรรคในเรื่องการใช้ก็คือ ผู้ส่งและผู้รับสาร จะติดต่อผ่านเพียงตัวอักษรเท่านั้น โดยต้องรอการตอบกลับจากอีกฝ่าย ส่วน Twitter สามารถพูดคุยกับเห็นภาพได้ทันที แต่ต้องผ่านการ log in เสียก่อน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนขอยกแอพพลิเคชั่นที่สามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ทุกสถานที่ อย่างแอพพลิเคชั่น Viber ที่จะช่วยให้การติดต่อข้ามช่องว่างเวลาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องผ่านการ log in ใดๆ Viber เป็นแอพพลิเคชั่นในหมวดของผู้ให้บริการ VOIP (Voice Over IP) ที่สามารถดาวน์โหลดได้จาก App Store และขยายการใช้งานไปยัง Android Market ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้ Viber ใน Blackberry และ Nokia อีกด้วย โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ที่ http://www.viber.com ความสามารถที่แอพพลิเคชั่น Viber ให้กับผู้ใช้คือ คุณสามารถโทรผ่านแอพพลิเคชั่น Viber หาเบอร์ปลายทางที่มีแอพพลิเคชั่น Viber เช่นกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งรูปแบบการโทรจะเหมือนกับโหมดการโทรของโทรศัพท์มือถือที่เรามีอยู่ รวมถึงการส่งข้อความ ที่มีลักษณะคล้ายกับ Line หรือ Whatsapp เพียงแต่สีของแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นสีม่วง ถ้าผู้อ่านอยากทราบว่าเบอร์ปลายทางที่จะโทรหานั้นมีแอพพลิเคชั่น Viber หรือไม่ แค่เข้าแอพฯ และไปที่ contacts เท่านี้ก็จะทราบได้ทันทีว่าใครบ้างที่จะสามารถติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้ โดยด้านหลังของรายชื่อจะคำว่า Viber ต่อท้ายไว้ด้วย ใครที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ หรือเดินทางท่องเที่ยวไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย Viber ก็ถือเป็นแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจ ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารได้บ้าง เพียงแต่อย่าลืมว่าแอพพลิเคชั่นนี้ต้องใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตเท่านั้น อิอิ **แนะนำว่า ให้โทรบริการที่มีบริการให้ใช้ไวไฟฟรี
อ่านเพิ่มเติม >“เหตุด่วน เหตุร้าย แจ้งศูนย์รับบริการแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191” ประโยคเด็ดที่ใครหลายคนจำได้ขึ้นใจ เวลามีเหตุการณ์คับขัน ดูไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หมายเลข 191 ต้องผุดอยู่ในความคิดเป็นอันดับแรก เพราะน้อยคนนักที่จะทราบเบอร์สถานีตำรวจในพื้นที่นั้นๆ เพื่อที่จะโทรแจ้งเหตุการณ์ต่างๆ ในเวลาอันสั้นและทันท่วงทีได้ วันนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กันสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “Thai Police Phonebook” ผลิตขึ้นโดย กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นแอพฯ ที่เก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนถึง สารวัตร จากทุกกองบัญชาการทั่วประเทศ ขั้นตอนแรกผู้อ่านต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “Thai Police Phonebook” โดยคลิกที่ App Store หรือ Android Market บนโทรศัพท์มือถือ หรือคลิกโหลดได้ที่ play.google.com สำหรับระบบแอนดรอยด์ หรือคลิกโหลดที่ http://itunes.apple.com/th/app/thai-police-phonebook/id544328261?mt=8 สำหรับระบบ iOS แบบไม่ต้องเสียค้าใช้จ่ายใดๆ ภายในแอพพลิเคชั่น จะมี 2 เมนู คือ เมนูสมุดโทรศัพท์ตำรวจ (Police Phonebook) ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของข้าราชการตำรวจแต่ละท่าน ทั้งตำแหน่ง สังกัด เบอร์โทรศัพท์สำนักงาน เบอร์โทรศัพท์มือถือ เพียงพิมพ์ชื่อหรือนามสกุลบุคคลที่ต้องการในช่องค้นหา หรือถ้าต้องการค้นหาแบบละเอียดก็สามารถคลิกแถบด้านบนขวามือ เท่านี้ก็จะทราบรายละเอียดของข้าราชการตำรวจคนนั้น อีกเมนู คือ เมนูเกี่ยวกับกองสารนิเทศ (About us) เป็นเมนูบอกสถานที่ตั้งของกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบอร์ติดต่อ เมล พร้อมเมนูลิ้งไปยังเว็บไซต์ facebook twitter และ Google Map เพื่อแสดงแผนที่ที่ตั้งของหน่วยงาน แม้ว่าเหตุการณ์คับขันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อย่างน้อยการมีเบอร์โทรหรือเบอร์สำนักงานตำรวจของพื้นที่ที่อยู่อาศัย และบริเวณสถานที่ทำงาน ก็ถือว่าช่วยเพิ่มความอุ่นใจขึ้นมาระดับหนึ่ง อ้อ เอาไว้ตรวจสอบพวกชอบแต่งตัวเป็นตำรวจมาหลอกชาวบ้านได้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม >เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนตั้งใจไปช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยความเพลิดเพลิน แต่พอดูราคากับปริมาณสุทธิของสินค้าทำให้ความเพลิดเพลินนั้นหายไปเลยทีเดียว ผู้อ่านสังเกตไหมคะ ว่าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีขนาดแตกต่างกัน โดยที่ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก หรือบางทีดูภายนอกสินค้ากล่องใหญ่น่าจะคุ้ม แต่พอคำนวณจริงๆแล้วกล่องเล็กคุ้มกว่า ด้วยจิตวิญญาณของผู้บริโภคแบบฉลาดซื้อจึงรู้สึกเพลียกับการคำนวณของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค้นพบแอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณปริมาณสุทธิของสินค้ากับราคา ของสินค้า 2 ประเภท เพียงแค่กรอกตัวเลข แอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้ามาให้อย่างรวดเร็ว แค่นี้ผู้เขียนก็ยิ้มออก ^_^ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า App Box ซึ่งภายในแอพฯ นี้ จะมีแอพฯ ย่อยอีกมากมาย ผู้อ่านสังเกตไอคอนที่เขียนว่า Price Grab ที่จะช่วยผู้อ่านเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างสินค้า 2 ชนิด โดยหน้าจอจะแบ่งเป็น 2 ส่วนซ้ายขวา คือ สินค้า A และสินค้า B ซึ่งในสินค้าแต่ละชนิด ผู้อ่านต้องกรอกราคาและปริมาณสุทธิของสินค้า หลังจากกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว โปรแกรมจะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้าระหว่าง 2 ชนิด ถ้าสินค้า B มีความคุ้มค่ามากกว่าสินค้า A จะปรากฏภาพดังนี้ A < B นอกจาก Price Grab ใน App Box แล้ว ยังมี Currency โปรแกรมคำนวณเรื่องสกุลเงินของแต่ละประเทศ Date Calc โปรแกรมคำนวณระยะเวลา Day Until เป็นสมุดบันทึกรายการนัดหมายที่สามารถใส่รูปได้ Holidays รายละเอียดของรายการวันหยุดประจำปีของแต่ละประเทศที่รวบรวมไว้ Loan โปรแกรมสำหรับคำนวณดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ยืมหรือผ่อนทั้งหลาย pCalendar โปรแกรมคำนวณสำหรับสาวๆ (คำนวณการมีประจำเดือน) Tip Calc โปรแกรมคำนวณการจ่ายทิป ภาษี คำนวณได้ทั้งสินเครื่องอุปโภคบริโภค Unit โปรแกรมแปลหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของพื้นที่ ความยาว ความดัน อุณหภูมิ ปริมาตร น้ำหนัก เช่น กิโลเมตรเป็นเซนติเมตร ลองหาแอพพลิเคชั่น App Box มาเล่นกันดูนะคะ
อ่านเพิ่มเติม >ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่คุณเปิดรับคือการคลิกลงบนจอโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต หรืออุปกรณ์ไอทีชนิดอื่นๆ เพื่ออ่านข้อความของใครต่อใครว่ามุมโลกแต่ละมุมเป็นอย่างไรบ้าง ก็คงไม่แปลกอะไรที่คุณจะรู้จัก Twitter แต่เนื่องจากบางท่านอาจไม่รู้จัก twitter จึงขออธิบายความหมายกันสักหน่อย Twitter (ทวิตเตอร์) เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก โดยผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ข้อความอัปเดตที่ส่งเข้าไปยังทวิตเตอร์จะแสดงอยู่บนเว็บเพจของผู้ใช้คนนั้นบนเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ถูกสร้างขึ้นโดย Jack Dorsey หรือผู้อ่านสามารถตามทวิตได้ที่ @jack สำหรับผู้อ่านที่ใส่ใจเรื่องเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่ชอบติดตามข่าวสารสิทธิผู้บริโภค ความเป็นไปในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งชื่นชอบการใช้อินเตอร์เน็ตในการท่องโลกออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขอแนะนำทวิตเตอร์ในแวดวงผู้บริโภคที่ต้องการทราบด้านโทรคมนาคมให้ทุกคน following ตามข่าวสารอย่างทันถ่วงที ในส่วนบุคคล คนแรกขอแนะนำ “สุภิญญา กลางณรงค์” หรือทวิตเตอร์ “@supinya” ผู้หญิงคนเดียวจากจำนวน 11 คน ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยจะอัพเดททุกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ซึ่งจะดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในส่วนของวิทยุและโทรทัศน์ คนที่สอง พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ “@DrNateeDigital” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ “@TakornNBTC” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนหน่วยงานที่น่าสนใจแนะนำเป็น “@NBTCrights” และ “@Teleconsumer” สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เป็นอีกช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งปัญหา เรื่องราวอัพเดต ของนโยบายด้านกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม อีกหนึ่งช่องทาง ลองตามข่าวสารทาง twiiter กันดูนะคะ รวดเร็วทันใจจริงๆ **มือถือทุกรุ่นสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น twitter ได้ฟรีค๊า
อ่านเพิ่มเติม >“อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยระวังสุขภาพให้ดีนะคะ” เป็นประโยคฮิตเหมาะสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่อากาศเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ ก็ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นกัน อย่างโรคที่มากับน้ำในวิกฤติน้ำท่วม โรคที่มากับอาหารในวิกฤติโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งทุกโรคที่เกิดขึ้น ถ้าเรารู้จักเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดของโรคเหล่านั้นแล้ว จะทำให้การแก้ไขและการป้องกันโรคเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจในการรักษาถึงสาเหตุที่แท้จริงมากขึ้น การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นอย่างกะทันหันจึงถือว่าสำคัญ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการปฏิบัติต่างๆ ได้ในเว็บไซต์หมอชาวบ้านที่ www.doctor.or.th ได้ทุกเวลา แต่ถ้าผู้อ่านไม่สะดวกที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในเวลาเร่งด่วน แอพพลิเคชั่น DoctorMe ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจมากทีเดียว แอพพลิเคชั่น DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นที่ย่อคู่มือการดูแลสุขภาพด้วยตนเองลงมาไว้บนมือถือแบบฉบับพกพา ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นช่วยบอกวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น กว่า 200 รายการ โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล อาการเจ็บป่วย และโรคต่างๆ รวมถึงการใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรอีกด้วย ภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งอาการบริเวณที่คุณเจ็บป่วย หรือสามารถป้อนคำเพื่อค้นหาโรคที่เกิดขึ้นได้เลย เมื่อค้นหาเจอแล้ว แอพพลิเคชั่นจะบอกถึงอาการ สาเหตุ การรักษา การดูแลตนเอง และคำอธิบายที่เกี่ยวข้องของโรคดังกล่าวไว้ แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยเกินเยียวยา แอพพลิเคชั่นนี้ยังมีปุ่มสำหรับคลิกเพื่อโทรไปยังสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 ในกรณีเร่งด่วนได้อีกด้วย ล่าสุดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ออก Version 1.6 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบัน ChangeFusion สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด โดยเพิ่มเติมข้อมูลพิกัดและหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ และสามารถดูโรงพยาบาลใกล้เคียงจากจุดที่ค้นหา พร้อมคำนวณระยะทาง เปิดดูแผนที่ และเดินทางตามเส้นทางที่แผนที่ได้ลากเส้นไว้ให้ รวมถึงมีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาล เพื่อสะดวกในการติดต่อกับโรงพยาบาลได้ทันที ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น DoctorMe สามารถรองรับได้ทั้งผู้ใช้ iOS และ Android ซึ่งสามารถดาวน์โหลด ได้ที่ www.doctorme.in.th แอพพลิเคชั่น DoctorMe ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก แม้ว่าในชีวิตประจำวันบางท่านอาจจะไม่ต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ถ้าได้ลองศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ สาเหตุของการเกิดโรค ขั้นตอนการรักษา รวมถึงขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีแล้ว ถือได้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้เป็นหมอชาวบ้านที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ลองดาวน์โหลดมาศึกษากันดูนะคะ
อ่านเพิ่มเติม >หลังจากที่แนะนำให้ผู้อ่านตรวจจับความเร็วกับแอพพลิเคชั่น Traffy bSafe เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะและพนักงานขับรถบริการสาธารณะบนท้องถนนไปฉบับก่อนหน้านี้ ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับร้องเรียนรถบริการสาธารณะประเภทแท็กซี่กันบ้าง พอพูดถึงรถแท็กซี่ ผู้อ่านหลายคนคงส่ายหน้ากับการเลือกรับผู้โดยสาร โดยมีเหตุผลรองรับต่างๆ นานา อย่างเช่น “ไปส่งรถไม่ทัน” “จะไปเติมแก๊ส” “แถวนั้นรถติด” เป็นต้น แค่นี้ก็ทำให้เอือมระอากับการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ไปแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่โชคดีได้รถแท็กซี่ตกลงไปส่งจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ก็อาจเจอกับความโมโห ฉุนเฉียว พูดจาไม่สุภาพของคนขับรถแท็กซี่ เสมือนไม่พอใจที่จะไปจุดหมายปลายทางนั้น หรือไม่ก็ขับขี่ด้วยความไม่ระมัดระวัง จนทำให้รู้สึกเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของผู้โดยสารเลย แอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Siam Squared Technologies เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้การร้องเรียนถึงพฤติกรรมของคนขับรถแท็กซี่ที่ผู้โดยสารไม่พึงพอใจและเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับการใช้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ร้องเรียนจะถูกส่งไปยังบริษัทเพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลต่อไปยังกรมขนส่งทางบกอีกครั้ง ขั้นตอนในการส่งเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนแรกจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถแท็กซี่เจ้าปัญหา โดยผู้โดยสารจะสังเกตหมายเลขทะเบียนรถได้จากบริเวณประตูด้านหลังทั้งสองข้าง ขั้นตอนที่สองจะให้เลือกเรื่องที่ต้องการร้องเรียน โดยในแอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือก ดังนี้ ไม่รับผู้โดยสาร ฝ่าฝืนกฎจราจร มีพฤติกรรมหยาบคาย และโกงค่าโดยสาร ในขั้นตอนนี้ผู้อ่านสามารถเลือกได้หลายตัวเลือก ขั้นตอนที่สาม ผู้อ่านสามารถพิมพ์ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ต้องการร้องเรียนได้ พร้อมทั้งทางแอพพลิเคชั่นจะปักหมุดบนแผนที่ตรงบริเวณที่ผู้อ่านร้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ารถแท็กซี่คันนั้นวิ่งในบริเวณใด เมื่อเติมข้อมูลทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้คลิกเมื่อส่งข้อมูล สำหรับผู้อ่านที่เล่นเฟสบุ๊กสามารถโพสต์ข้อความการร้องเรียนได้ทันที โดยในหน้าต่างถัดไป แอพพลิเคชั่นจะสอบถามการแชร์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนผ่านเฟสบุ๊ก เพียงคลิกตามขั้นตอน ข้อความเหล่านั้นก็จะไปปรากฏบนเฟสบุ๊กให้ทันที แต่ข้อจำกัดของแอพพลิเคชั่นนี้ก็มีเช่นกัน เพราะยังไม่สามารถรองรับอุปกรณ์ไปทั้งหมด ซึ่งจะรองรับเฉพาะอุปกรณ์ตระกูล iOS เท่านั้น อาทิ iPhone, iPad เป็นต้น โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ฟรีได้ที่ http://itunes.apple.com/th/app/taxi-reporter/id501278589?mt=8 เอาเป็นว่าช่วยกันรายงานพฤติกรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องการบริการ และความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้โดยสารมากขึ้นกว่าเดิม
อ่านเพิ่มเติม >เย้!! วันหยุดยาวปีนี้จะไปไหนดีนะ พับงานที่เคร่งเครียดและแสนอันน่าเบื่อ (ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น!!) ลงลิ้นชักโต๊ะทำงานไปก่อนเลย แล้วหันมาเปิดตู้เสื้อผ้าและกระเป๋าตังค์กันสักหน่อยว่าทริปท่องเที่ยวทริปนี้จะเป็นฮ่องกง เกาหลี ยุโรป หรือจะไปทะเล ภูเขา น้ำตก กันดี แต่ถ้าทริปของคุณเพิ่งเริ่มวางแผนแล้วล่ะก็คุณอาจต้องว้าวุ่นใจสักหน่อย เพราะที่พักและตั๋วรถไฟ รถทัวร์ เครื่องบินของคุณอาจจะไม่มีที่เหลือแล้วก็เป็นได้ หรือถ้ามีก็อาจได้ในราคาที่แพงเกินไป ฉลาดซื้อ ฉลาดช้อปอย่างเรา ก็ต้องมีการวางแผนทริปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวๆ ไว้ล่วงหน้ากัน เพื่อไม่ให้รายจ่ายหนักเกินไปสำหรับคนฉลาดซื้ออย่างเราๆ โดยสามารถจัดการหาที่พัก ตั๋วเดินทางได้ในราคาที่เหมาะสมและพึงพอใจอีกด้วย และศึกษาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวว่าเปิดปิดกี่โมง ต้องเสียค่าเข้าชมหรือไม่ ก็จะทำให้วางแผนค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวในแต่ละทริปควรวางแผนเรื่องค่าใช้จ่าย ที่พัก การเดินทางและสถานที่ท่องเที่ยวให้ดีเสียก่อน เมื่อคิดออกว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ไอทีอย่างเราเริ่มด้วยการเข้าอินเตอร์เน็ตค้นหาตั้งแต่สถานที่ที่จะไป ที่พัก อาหาร การเดินทาง ซึ่งจะมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไว้มากมาย การจองที่พักออนไลน์ ข้อดีสำหรับการจองผ่านระบบออนไลน์ก็คือราคามักจะถูกกว่าการ walk in ซึ่งถือว่าเป็นโปรโมชั่นที่น่าสนใจมากทีเดียว เช่น จะเดินทางไปพักที่จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณถนนคนเดิน คุณสามารถเข้าเว็บไซต์หาที่พักราคาถูกเช่น www.agoda.co.th, www.hotelsthailand.com หรือลองใช้คำค้นหาใน google กันเลยว่า “จองพี่พัก”รับรองขึ้นมาให้เลือกเพียบ!!! ผู้เขียนขอยกตัวอย่างโรงแรมในเชียงใหม่ถ้าจองผ่านระบบออนไลน์ราคาจะอยู่ที่ 330 บาท/ห้อง/คืน แต่ถ้าจองแบบธรรมดาก็จะได้ในราคา 450 บาท/ห้อง/คืน ต่อไปมาดูเรื่องการเดินทาง ใครหลายคนคงไม่รู้ว่ารถทัวร์ก็สามารถจองออนไลน์ได้เช่น www.จองตั๋วรถทัวร์.com www.thairoute.com ประโยชน์ของการจองล่วงหน้าก็คือเลือกที่นั่งได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อตั๋วด้วยตนเอง ไม่ต้องไปลุ้นหน้าชานชาลา ที่สำคัญลดค่าใช้จ่ายอย่างน้อยก็ตั้ง 100-200 บาทในการเดินทางไปจองตั๋วแล้ว ส่วนคนที่ต้องการโดยสารเครื่องบิน สายการบินของไทยบางสายการบินมีโปรโมชั่นในแต่ละช่วง ถ้ามีการวางแผนท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าแล้วล่ะก็คุณก็จะได้ตั๋วเครื่องบินในราคาที่ถูกหรืออาจเทียบเท่ากับราคารถทัวร์เลยทีเดียว ประหยัดเวลา เหลือเวลาไปท่องเที่ยวได้หลายที่เลย ซึ่งสายการบินและเว็บจองก็มีมากมายเช่น www.expedia.co.th , www.airasia.com จะเห็นได้ว่าการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวล่วงหน้าเป็นผลดีกับเรื่องการหาที่พัก การหาตั๋วรถทัวร์ ตั๋วเครื่องบิน ในราคาที่ถูกกว่าและพึงพอใจมากกว่าการไม่วางแผนล่วงหน้าซะอีก เมื่อการวางแผนเที่ยวอย่างฉลาดเลือก ฉลาดซื้อพร้อมแล้ว ก็ตบเท้าลากกระเป๋า พร้อมลุย...ได้เลย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- App: Iphone,Ipad น่าสนใจ : Thailand Travel ,iThai,Trip Journal, thaibus, Thai RailwayApp: Android น่าสนใจ : thai2trip , Thai Airport Flight Info, TripIt, Where in thai เว็บไซต์น่าสนใจ : www.thaipackagetour.com, www.wonderfulpackage.com, www.guru-tour.com, www.dealdidi.com ,www.pantip.com/cafe/blueplanet ข้อแนะนำ การเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 45 วัน เพราะโปรโมชั่นบน Internet จะล่วงหน้าอย่างน้อย 45 วันถึงจะมีโปรโมชั่นดีๆ คะ
อ่านเพิ่มเติม >ความประมาทที่ก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ จากผู้ขับรถบริการสาธารณะ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้โดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พอเกิดข่าวอุบัติเหตุครั้งหนึ่งผู้โดยสารก็จะพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น โดยการเปลี่ยนชนิดรถบริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ แต่สำหรับผู้โดยสารที่ไม่สามารถเลือกใช้รถบริการสาธารณะรูปแบบอื่นได้ ก็คงต้องหวาดหวั่นกับการขับรถด้วยความประมาทของรถบริการสาธารณะต่อไป การร้องเรียนพนักงานขับรถบริการสาธารณะผ่าน Call Center 1584 เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในฐานะผู้บริโภคจะสามารถร้องเรียนได้ แต่การร้องเรียนในช่องทางนี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายเท่าไร รวมทั้งไม่มีหลักฐานความประมาทในการขับรถที่เป็นรูปธรรม จึงอาจทำให้การร้องเรียนที่ต้องการให้ปรับปรุงการบริการไม่เป็นผลมากนัก เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนอย่างทันท่วงที โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค) ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Traffy bSafe ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ได้กับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำบนมือถือในสังคมปัจจุบัน ทั้ง iPhone และ Android สามารถดาวน์โหลด Traffy bSafe mobile app ได้ฟรีที่ http://info.traffy.in.th/2011/09/02/traffy-bsafe Traffy bSafe หรือเครือข่ายเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยรถสาธารณะเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจจับความเร็วในขณะที่รถบริการสาธารณะวิ่งอยู่บนท้องถนนแบบ real-time และสามารถแจ้งร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยของการเดินทางโดยรถสาธารณะได้ทันที ก่อนเข้าแอพพลิเคชั่นเพื่อวัดความเร็ว โปรแกรมจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถหรือสายรถเมล์ก่อนเป็นอันดับแรก โดยการวัดความเร็วของแอพพลิเคชั่นนี้จะไล่ตามความเร็วของรถบริการสาธารณะ ซึ่งใช้แถบสีในการแบ่งระดับ 3 ระดับ ดังนี้ แถบสีเขียวหมายถึงระดับ Speed Safe อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แถบสีเหลืองหมายถึงระดับ Speed Caution อยู่ในเกณฑ์ควรระมัดระวัง แถบสีแดงหมายถึงระดับ Speed Danger อยู่ในเกณฑ์อันตราย เมื่ออยู่ในระดับอันตรายโปรแกรมจะสอบถามเพื่อส่งเรื่องร้องเรียน โดยสามารถอัพโหลดรูปภาพเป็นหลักฐานในการร้องเรียน เพียงกดส่งข้อมูลต่างๆ ก็จะส่งไปยัง NECTEC เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์ 1584 กรมการขนส่งทางบก ไม่ว่าการร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างน้อย Traffy bSafe ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ความสะดวกในการร้องเรียนเพิ่มขึ้น และใช้ข้อมูลในแอพพลิเคชั่นเป็นหลักฐานได้ทางหนึ่ง เพียงแค่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ช่วยกันสอดส่องและรักษาสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนคนละไม้คนละมือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุอาจลดน้อยลงได้บ้าง
อ่านเพิ่มเติม >