ทุกการใช้จ่ายของประชาชนจะมีส่วนหนึ่งเป็นภาษีรวมไปด้วยเสมอ ฉบับนี้จึงพามารู้จักกับภาษีกัน คำว่า ภาษี คือ ภาระที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องนำส่งให้ภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อสนับสนุนรัฐและกิจการของรัฐ โดยอาจจะอยู่ในรูปของเงินหรือไม่ก็ได้ ซึ่งตัวภาษีนั้นอาจจะใช้ชื่อเรียกว่า ภาษี หรือชื่ออย่างอื่นก็ได้แต่ต้องไม่ใช่การบริจาคหรือการจ่ายตามอัธยาศัย ซึ่งประเภทของภาษีที่ต้องชำระมีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับภาษีที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่ประชาชนอย่างเราต้องเข้าใจและรู้จักมี 2 ประเภท คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ รูปแบบหนึ่งของการเสียภาษี โดยเงินรายได้ของเราจะถูกหักทันทีจากผู้จ่ายเพื่อนำส่งให้สรรพากร ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ หลายคนอาจสงสัยว่าภาษีเหล่านี้ที่เก็บไปนั้นจะนำไปทำอะไรบ้าง และผลประโยชน์กลับมายังประชาชนจริงหรือไม่ จากคำถามนี้ ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA จึงได้ดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “ภาษีไปไหน” เพื่อตอบคำตอบให้กับประชาชน โดยการนำเสนอภาพรวมรายได้การจัดเก็บของรัฐบาล จากกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และข้อมูลด้านงบประมาณรายรับรายจ่ายของประเทศ แอปพลิเคชั่นนี้จะมีหมวดสำคัญด้านล่างหน้าจออยู่ 5 หมวด ได้แก่ หมวดหน้าหลักจะสามารถค้นหาโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยการกดปุ่มค้นหาใหม่ ซึ่งจะปรากฎโครงการพร้อมรายละเอียดรอบบริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นอยู่บริเวณนั้น กับการค้นหาชื่อโครงการ หน่วยงาน หรือบริษัทผ่านช่องค้นหาโดยตรง ซึ่งหมวดนี้จะแสดงข้อมูลในรูปแบบแผนที่ประเทศไทยเพื่อให้เห็นพิกัดที่ชัดเจนของโครงการที่เกิดขึ้น หมวดภาษีมาจากไหนจะรวบรวมสถิติผลรวมรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในรูปแบบ Dashboard และการจัดอันดับ Ranking ข้อมูลต่างๆ หมวดงบประมาณจะบ่งบอกถึงวงเงินงบประมาณในแต่ละปี ผลการเบิกจ่าย รวมถึงวงเงินตามยุทธศาสตร์ที่มี ส่วนหมวดจัดซื้อจัดจ้างจะเป็นภาพรวมงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่าโครงการรวม ผลการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละเดือน เป็นต้น และหมวดตั้งค่าจะให้เลือกตั้งค่าตำแหน่งที่ตั้งและภาษาที่ใช้ภายในแอปพลิเคชั่น ทั้งนี้ในหน้าหลักจะมีสัญลักษณ์ 3 ขีดด้านบนซ้ายมือ ซึ่งจะเปลี่ยนการแสดงผลจากข้อมูลในรูปแบบแผนที่เป็นข้อความ และมีสัญลักษณ์ตัวกรองด้านบนขวามือที่ช่วยให้สามารถค้นหาขั้นสูงได้ นอกจากแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติ Android แล้ว ยังสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ http://govspending.data.go.th/ ได้อีกช่องทางหนึ่ง คำตอบว่า “ภาษีไปไหน” สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้นำคำตอบมาอยู่ในแอปพลิเคชั่นนี้เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะให้ผู้อ่านได้ทราบและตรวจสอบข้อมูลต่อไป
อ่านเพิ่มเติม >เหตุฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดหรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดทันทีทันใดโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งสถานการณ์ในลักษณะนี้ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นนั้น จะช่วยทำให้ลดระยะเวลา ลดแรงกดดันได้มากทีเดียว ฉบับนี้จึงพามารู้จักกับแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ThaiEMS 1669 เมื่อต้องการความช่วยเหลือ แอปพลิเคชั่น ThaiEMS 1669 สามารถช่วยคุณได้ทันที โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีในทุกระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน แอปพลิเคชั่น ThaiEMS 1669 ถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชนอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีอย่างครบครัน เริ่มแรกให้ลงทะเบียนเข้าใช้งาน โดยมีวิธีการลงทะเบียนให้เลือก 4 รูปแบบ ได้แก่ ลงทะเบียนด้วย EMS Smart Card คือการใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักในการลงทะเบียนเข้าระบบ ลงทะเบียนด้วย Facebook ลงทะเบียนด้วย email และลงทะเบียนด้วยข้อมูลส่วนตัว คือการใช้ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เลขประจำตัวประชาชน หรือกรณีที่เคยลงทะเบียนมาแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นครั้งแรกแนะนำให้ลงทะเบียนด้วยข้อมูลส่วนตัวก่อน หน้าแรกของแอปพลิเคชั่นจะปรากฏปุ่มสีแดงสำหรับกดเรียกรถพยาบาล ซึ่งทำให้ง่ายต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก และเหมาะกับการเกิดเหตุฉุกเฉินที่สุด ขณะรอรถพยาบาลเดินทางมาถึง สามารถกดปุ่มติดตามสถานะแจ้งเหตุได้ การกดปุ่มสีแดงจะสามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถส่งภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มไปได้พร้อมกัน เพื่อให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินทราบถึงสถานการณ์นั้นได้อีกทาง สำหรับหมวดเมนู ตรงบริเวณมุมด้านขวาบน จะรวบรวมรายละเอียดต่างๆ เป็นหมวดหมู่ที่เน้นเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่วิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ ข้อมูลการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีหมดสติกะทันหัน โรคลมชัก หัวใจวาย โรคหอบหืด กระดูกหัก ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าปกติ สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นต้น และเรียนรู้การคัดแยกภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการตรวจสอบโรงพยาบาลใกล้เคียงพร้อมเส้นทางที่ช่วยนำทางไปยังโรงพยาบาลนั้นได้ นอกจากนี้ด้านข้างของปุ่มสีแดงสำหรับกดเรียกรถพยาบาล จะเห็นปุ่มที่มีสัญลักษณ์ AED เป็นปุ่มที่ช่วยค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติที่ใกล้ที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่วนปุ่มที่มีสัญลักษณ์ CPR จะเชื่อมต่อไปยังวิธีการปฐมพยาบาลในรูปแบบ CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า ทั้งนี้ควรศึกษาข้อมูลไว้ล่วงหน้า แนะนำดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThaiEMS 1669 มาติดสมาร์ทโฟนไว้ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ตัวเราและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างน้อยให้สามารถกดปุ่มฉุกเฉินเรียกรถพยาบาลและแจ้งพิกัดได้ทันที เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดฝันขึ้น
อ่านเพิ่มเติม >สภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนมักมาคู่กับการเกิดลมมรสุมหรือเกิดพายุพัดผ่านตลอด ดังนั้นการติดตามข่าวสารเพื่อแจ้งเตือนเรื่องพายุเข้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถรับมือและป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะการเกิดพายุพัดผ่านบริเวณใดจะส่งผลให้ประชาชนบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากการฝนตกหนักเบาตามลำดับ จนอาจกลายเป็นภัยธรรมชาติตามมาได้ ด้วยหน้าที่ที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อติดตามจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติจากน้ำ บรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย จึงได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสาธารณภัยนี้โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Thai Disaster Alert โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มีหน้าที่แจ้งเตือนภัยข่าวสารสาธารณภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแบบ Real Time ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้แอปพลิเคชันได้ทราบข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทำให้ทันท่วงทีในการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันตนเองและทรัพย์สินก่อนที่ภัยจะมาถึง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงและผลกระทบได้อีกทางหนึ่ง เมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้งานใส่ข้อมูลเพศ วันเดือนปีเกิด ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนให้เลือกจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัยได้ 3 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่เลือกนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายหลัง และเลือกตั้งค่าเปิดสิทธิ์เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Location Service) บนสมาร์ทโฟน ซึ่งหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฎหมวดหมู่ ได้แก่ สัญลักษณ์กระดิ่ง สัญลักษณ์แผนที่ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) สัญลักษณ์โทรศัพท์ และสัญลักษณ์รูปคน สัญลักษณ์กระดิ่ง จะแสดงข่าวสารการแจ้งเตือนโดยเรียงข่าวล่าสุดอยู่ด้านบนสุด เป็นข้อความสั้นๆ กระชับ และมีเอกสารอ้างอิงของข้อมูลนั้นๆ มุมบนขวาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูแหล่งที่มาได้ทันที ในหน้านี้จะมีเมนู 2 เมนูเพิ่มเติม ได้แก่ เมนูแจ้งเตือนในพื้นที่และเมนูแจ้งเตือนล่าสุด โดยเมนูแจ้งเตือนล่าสุดจะสามารถเลือกค้นหาข่าวตามช่วงวันเวลาต่างๆ ได้ตามต้องการ ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนภาษาที่แสดงบนแอปพลิเคชันได้ที่หน้านี้ สัญลักษณ์แผนที่จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย โดยจะขึ้นแสดงเป็นแถบสีในพื้นที่จังหวัดนั้นว่ามีพื้นที่ไหนเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัยบ้าง ผู้ใช้งานสามารถกดเลือกจังหวัดบนแผนที่ เพื่อดูการแจ้งเตือนเฉพาะจังหวัดได้ สัญลักษณ์ที่ตั้ง (Location) เป็นหมวดสำหรับปรับเปลี่ยนจังหวัดที่ต้องการรับแจ้งเตือนภัย สัญลักษณ์โทรศัพท์เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง กองปราบปราม ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์ กทม. ศูนย์ควบคุมจราจร แจ้งเหตุเพลิงไหม้ แพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น และสัญลักษณ์รูปคนจะเป็นหน้าสำหรับแก้ไขข้อมูลส่วนตัว แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้สามารถเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้ชิด ดังนั้นขอแนะนำว่าประชาชนที่สนใจโดยเฉพาะประชาชนที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert มาติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมในการรับมือไม่ให้ทรัพย์สินเสียหายได้ทันเวลา
อ่านเพิ่มเติม >แม่บ้านแทบจะทุกคนต้องเคยเจอกับปัญหาเรื่องการคิดเมนูกับข้าวแน่นอน เพราะในแต่ละวันเรื่องสำคัญที่สุดนั่นก็คือการเตรียมอาหาร 3 มื้อให้กับครอบครัว ถ้าเทียบเมนูกับข้าวมื้อละ 3 อย่าง วันละ 3 มื้อ ภายใน 1 วัน แม่บ้านแต่ละครอบครัวก็ต้องคิดหาเมนูมากถึง 9 เมนู ซึ่งไม่แปลกเลยที่เมนูจะวนไปวนมาจนไม่รู้จะทำกับข้าวอะไรให้กับคนที่บ้านแล้ว อาจจะส่งผลให้ครอบครัวรู้สึกเบื่ออาหารเดิมๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น แม่บ้านทุกคนต้องพยายามคิดค้นหาเมนูใหม่ๆ มาตลอดเวลา ถ้าหากกำลังมองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อปรับสูตรเมนูของครอบครัว หรือเพิ่มเติมเมนูแปลกใหม่ มาลองรู้จักกับแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Cookpad กันดู เพราะแอปพลิเคชั่นเกิดขึ้นมาตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเข้าค้นหาเมนูเพื่อนำมาทำอาหารและเป็นพื้นที่สำหรับแชร์สูตรอาหารด้วย นอกจากมีแอปพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกบนสมาร์ทโฟนแล้ว ยังมีเว็บไซต์ https://cookpad.com อีกด้วย การทำอาหารเป็นงานสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ด้านอาหาร แอปพลิเคชั่นนี้จึงเหมาะกับทั้งคนที่รักการทำอาหาร และผู้ที่เพิ่งเริ่มทำอาหาร เพราะภายในแอปพลิเคชั่นจะมีบอกถึงรายละเอียดส่วนผสม พร้อมวิธีทำเป็นขั้นตอนอย่างละเอียด หรือแม้กระทั่งเคล็ดลับต่างๆ ที่ควรรู้ โดยมีผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหารได้แบ่งปันไว้ ดังนั้นถือได้ว่าแอปพลิเคชั่นนี้เป็นตัวกลางในการรวบรวมเมนูอาหาร สูตรอาหาร และวิธีการทำอาหารของแต่ละคนมาไว้ด้วยกัน วิธีการใช้งานเพียงแค่ค้นหาชนิดอาหารที่ต้องการภายในแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว ทั้งอาหารไทย อาหารฮาลาล อาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น ฯลฯ อาหารหวาน เช่น ขนมเค้กเนยสดแตงไทย ขนมบ้าบิ่น ขนมเปียกปูน ขนมแตงไทย ขนมกล้วย เค้กไข่ คุกกี้ เป็นต้น อาหารทานเล่น อย่างเกี๊ยวกรอบไส้หมูสับ ปอเปี๊ยะ ขนมปังหน้ากุ้ง ฯลฯ หรือต้องการหาเมนูอาหารใหม่ๆ เมนูที่ยังไม่เคยกินยังไม่เคยลองทำ หรือแม้แต่อาหารคลีน อาหารคีโต ก็มีเช่นกัน นอกจากค้นหาเมนูต่างๆ ได้แล้ว แอปพลิเคชั่นได้แบ่งหมวดการเรียนรู้เพื่อให้ง่ายต่อความต้องการ ได้แก่ หมวดเมนูต้มจืด หมวดวัตถุดิบตามฤดูกาล เพื่อให้สามารถหาวิธีจัดการกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้านหรือมีอยู่ในท้องถิ่น หมวดท้าทายให้ลองทำ หมวดเคล็ดลับใหม่ หมวดล่าสุด สำหรับเมนูอาหารที่ได้แบ่งปันล่าสุด ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแบ่งปันสูตรอาหารได้ด้วย ไอเดียเมนูอาหารภายในแอปพลิเคชั่น Cookpad ผู้ใช้สามารถทำตามได้ง่าย สามารถทำกินได้เองทุกบ้านแน่นอน งั้นขอตัวไปหาสูตรอาหารเพื่อทำซุปเต้าหู้กิมจิก่อนนะคะ
อ่านเพิ่มเติม >บางครั้งการทำงานอาจจำเป็นต้องใช้ภาษาที่สองรองจากภาษาไทย อย่างภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลที่ใช้สำหรับสื่อสารกับคนต่างชาติ เพื่อช่วยสื่อสารเรื่องงานหรือเรื่องทั่วไป ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้เตรียมตัวกับสถานการณ์แบบนี้ และอาจเป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับคนบางคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษเอาซะเลย เมื่อไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ ความตื่นตระหนกจะตามมาทันที ฉบับนี้จึงมาแนะนำแอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการเรียนรู้การสนทนาภาษาอังกฤษตั้งแต่เบื้องต้น แต่มีครบทุกทักษะ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน โดยเน้นประโยคง่ายๆ ให้เข้าใจ แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Duolingo ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการเรียนภาษาที่เข้าถึงง่าย สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแบบทดสอบที่มุ่งเน้นทักษะด้านการอ่านและการฟัง และตั้งใจให้ผู้ใช้งานมีความสนุกสนานกับการเรียนภาษาภายในแอปพลิเคชั่นนี้ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หลังจากเปิดแอปพลิเคชั่นมาในครั้งแรกนั้น แอปพลิเคชั่นจะสอบถามความต้องการของการเรียนรู้ ตั้งแต่เลือกเรียนรู้ภาษาใด มีให้เลือกหลายภาษา เช่น ภาษาเกาหลี ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส เป็นต้น และเลือกระดับความรู้มีให้เลือกตั้งแต่ไม่มีพื้นฐานเลยหรือสามารถสนทนาได้ในแบบง่ายๆ ต่อจากนั้นให้เลือกเป้าหมายในการเรียน ตามด้วยเลือกเวลาการเรียนต่อวัน โดยมีให้เลือกตั้งแต่ 5 นาทีไปจนถึง 20 นาที ซึ่งบทเรียนเบื้องต้นจะเน้นคำศัพท์พื้นฐานในชีวิตประจำวันและการสร้างประโยคเบื้องต้น ทำให้ผู้ใช้แอปสามารถจดจำ เข้าใจและนำไปใช้จริงได้ การเริ่มบทเรียนจะเริ่มขั้นพื้นฐาน ต่อด้วยหมวดความรู้ตามลำดับ เช่น หมวดทักทาย หมวดอาหาร เป็นต้น บทเรียนในแต่ละบทจะมีรูปแบบเหมือนเกมตอบคำถามที่สอดแทรกการสอนภาษาไปในตัว ครบทั้ง 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ทำให้ดูไม่น่าเบื่อ ในแต่ละคำถามจะมีปุ่มให้กดฟังการออกเสียงได้ตลอดเวลา เพื่อให้ฝึกฟังและทวนคำถาม พร้อมกับอ่านออกเสียงได้ถูกต้อง มีข้อคำถามให้แปลประโยค ให้เขียนประโยค รวมทั้งให้เติมคำที่หายไปให้สมบูรณ์ ดังนั้นผู้ใช้งานจะได้ฝึกทักษะที่ครบถ้วนจริงๆ ในกรณีที่ไม่ผ่านบทเรียน สามารถเริ่มเรียนใหม่ได้ จนกว่าจะผ่านการทดสอบนั้น ทั้งนี้การเรียนรู้ภาษาในแอปพลิเคชั่นนี้ไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถเพิ่มภาษาที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมได้ โดยให้เปิดหน้าแรกของแอปพลิเคชั่นและกดปุ่มสัญลักษณ์ธงชาติด้านบนมุมซ้าย ซึ่งเป็นปุ่มสัญลักษณ์ที่ช่วยเพิ่มบทเรียนในภาษาอื่นที่ต้องการเรียนเพิ่มเติม จากการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ในภาษาญี่ปุ่นแอปพลิเคชั่นได้เพิ่มหมวดการฟังการออกเสียงตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น ได้แก่ ตัวอักษรฮิรางานะ และตัวอักษรคาตากานะ เพื่อเป็นตัวช่วยในการฝึกให้เข้าใจได้รวดเร็วขึ้น นอกจากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนแล้ว ผู้พัฒนา Duolingo ยังมีช่องทางการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ https://th.duolingo.com ให้อีกด้วย การเรียนรู้วันละ 5-20 นาทีต่อวันเป็นประจำทุกวันผ่านแอปพลิเคชั่น Duolingo อย่างน้อยจะทำให้เกิดการจดจำที่ดี เข้าใจคำศัพท์ เข้าใจรูปประโยค เริ่มตั้งแต่การฟัง อ่าน เขียน จนนำไปสู่การพูดภาษาที่ได้เรียนรู้นั้นได้ ความตั้งใจศึกษาหาความรู้และขยันหมั่นเพียรนั้นจะช่วยทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม >เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาออกมานั้นมักเกิดขึ้นเพื่อมาตอบสนองความต้องการที่มีอยู่ของผู้ใช้ อย่างเอกสารสำคัญต่างๆ ที่จำเป็นต้องนำส่งอย่างเร่งด่วน แต่ความพร้อมในการนำส่งเอกสารเป็นอุปสรรค เหตุการณ์ในลักษณะนี้เชื่อว่าต้องเคยมีประสบการณ์กันบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ทำงานตามสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่ทำงาน ซึ่งไม่มีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์สำนักงาน ปัญหาเหล่านี้กลับกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้การทำงานมีความล่าช้า จนบางครั้งได้สร้างความกังวลใจตามมา ลองมาดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Scannable นี้กัน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่เหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาสรุปเอกสารหรือไม่มีเครื่องถ่ายเอกสารที่จะช่วยสแกนเอกสารที่จำเป็นเพื่อส่งต่อให้กับที่ทำงานหรือบุคคลอื่น ข้อดีสำหรับแอปพลิเคชั่นนี้คือ แม้ว่าจะสแกนบิดเบี้ยวแค่ไหนแต่แอปพลิเคชั่นจะจัดการให้เป็นหน้ากระดาษสวยงาม พร้อมกับปรับแต่งภาพและสีให้ตัวอักษรสามารถเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้ายังไม่พึงพอใจกับการปรับแต่งของแอปพลิเคชั่นก็สามารถปรับแต่งเพิ่มเติมเองได้ภายหลัง ดังนั้นหมดปัญหากังวลใจกับแสงและเงาที่จะทับภาพขณะที่ถ่ายรูปได้เลย รับรองว่าภาพที่สแกนออกมาสวยแน่นอน การใช้งานง่ายมาก ขั้นตอนแรกต้องอนุญาตการเข้าถึงกล้องถ่ายรูปภายในสมาร์ทโฟนก่อน เมื่อเข้ามาสู่แอปพลิชั่นในหน้าแรกจะปรากฎเป็นกล้องถ่ายรูปเพื่อใช้ถ่ายสแกนภาพที่ต้องการ โดยหน้าจอจะปรากฎปุ่มต่างๆ เริ่มจากด้านซ้ายมือดังนี้ ปุ่มสัญลักษณ์สามจุด เป็นปุ่มที่ให้เข้าสู่การตั้งค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าแสงแฟลช การตั้งค่าการถ่ายภาพ โดยใน 2 เมนูนี้สามารถเลือกในรูปแบบอัตโนมัติ หรือเปิดปิดด้วยตนเองได้ และมีอีกเมนูที่น่าสนใจนั่นคือ เมนู Recents ที่จะช่วยเก็บภาพสแกนที่เคยถ่ายสแกนไว้แต่ไม่ได้เก็บบันทึกไว้ ซึ่งช่วยทำให้เก็บข้อมูลที่อาจจะพลาดในการบันทึก ต่อไปเป็นปุ่มสัญลักษณ์อักษร S (เอส) เป็นปุ่มที่ให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมต่อไปยังเครื่องปริ๊นเตอร์เพื่อสแกนเอกสารภายในที่ทำงาน ปุ่มสัญลักษณ์ถังขยะเพื่อลบภาพเอกสารที่สแกน และปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกเพื่อจบการถ่ายภาพและนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป การถ่ายภาพเอกสารสามารถถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สแกนออกมาเป็นไฟล์เดียวกันได้ โดยภาพที่ถ่ายแต่ละภาพนั้นจะปรากฎให้เห็นด้านล่างของหน้าจอ เมื่อเสร็จสิ้นการถ่ายภาพ ให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นกดที่ปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกหรือกดที่ภาพด้านล่าง จากนั้นจะปรากฎรายละเอียดภาพทั้งหมด โดยกรณีที่ต้องการแก้ไขภาพให้กดปุ่มสัญลักษณ์ขีดสามขีดบริเวณมุมล่างซ้ายของภาพไนั้นเพื่อแก้ไข ซึ่งจะมีเมนู 4 เมนู ได้แก่ เมนูลบ เมนูกลับภาพ เมนูครอบภาพ และเมนูตกแต่งภาพ เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีวิธีการส่งภาพและการบันทึกภาพให้เลือก โดยสามารถส่งภาพไปยังอีเมล แอปพลิเคชั่นไลน์ ข้อความ ฯลฯ สำหรับผู้ใช้ที่มีการเก็บข้อมูลไว้ใน Evernote อยู่แล้วสามารถเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ได้ทันที ทั้งนี้ถ้าบันทึกลงในสมาร์ทโฟนจะแยกเป็นภาพ แต่ถ้าส่งภาพไปยังที่อื่น สามารถส่งเป็นสกุลไฟล์ Pdf ได้ ตอนนี้ไม่ต้องกังวลใจแล้วถ้ามีใครต้องการเอกสารแบบเร่งด่วน แค่มีสมาร์ทโฟนกับแอปพลิเคชั่น Scannable ก็พร้อมเสมอ แอปพลิเคชั่นนี้เหมาะอย่างยิ่งกับความเร่งรีบแบบนี้จริงๆ ซึ่งช่วยทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว แถมเอกสารมีความคมชัดเสมือนใช้เครื่องปริ๊นเตอร์ในการสแกนเลยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม >ในฐานะประชาชนคนหนึ่งในประเทศไทยตั้งแต่เกิดจนเติบโต ทุกคนจำเป็นต้องติดต่อกับหน่วยงานของรัฐเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิด การแจ้งเข้าทะเบียนบ้าน การทำบัตรประจำตัวประชาชน การทำใบขับขี่ การทำประกันสังคม การติดต่อกับการไฟฟ้า การประปา รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาลต่างๆ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน จึงทำให้สรุปได้ว่าทุกคนต้องได้เข้าใช้บริการจากหน่วยงานรัฐอย่างแน่นอน ล่าสุดตามแผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) เพื่อวางรากฐานของประเทศในการยกระดับการให้บริการประชาชน ทำให้ภาครัฐได้จัดทำแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อ “ทางรัฐ” ขึ้น เพื่อมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการจากทางภาครัฐได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว แอปพลิเคชั่นทางรัฐนี้ เป็นระบบกลางของประเทศที่รวบรวมบริการของหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญมาไว้ในที่เดียว โดยประโยชน์ที่ได้รับจาก แอปพลิเคชันทางรัฐ คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีความสะดวกและรวดเร็ว สามารถติดตามสถานะการขอใช้บริการภาครัฐได้สะดวก ค้นหาข้อมูลการติดต่อราชการได้ และได้รับบริการตามสิทธิ์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ปัจจุบันมีการรวบรวมบริการไว้ให้กว่า 30 บริการ เช่น การตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สถานะผู้ประกันตน สิทธิหลักประกันสุขภาพ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร หนังสือรับรองผลการทดสอบ O-Net ตรวจสอบข้อมูลใบสั่งจราจร ข้อมูลทะเบียนรถ การจองคิวอบรมใบขับขี่ เช็คโฉนดที่ดิน ข้อมูลติดต่อราชการ การแจ้งเอกสารหาย การยื่นคำร้องกรณีต่างๆ รวมถึงบริการค่าน้ำ ค่าไฟ ที่สามารถชำระค่าบริการผ่าน QR Code ฯลฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมบริการภาครัฐให้บริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ขั้นตอนแรกหลังดาวน์โหลดเสร็จ ต้องสมัครเข้าใช้งานโดยสแกนบัตรประจำตัวประชาชนและสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนในลำดับแรก เมื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่นจะปรากฎบริการต่างๆ ตามหมวดหมู่ ได้แก่ หมวดข้อมูลของฉัน หมวดการศึกษา หมวดสิทธิประโยชน์/สวัสดิการ หมวดสุขภาพ หมวดพาหนะ/การเดินทาง หมวดสาธารณูปโภค หมวดที่ดินที่อยู่อาศัย หมวดการงาน/อาชีพ หมวดข้อมูลภาครัฐและหมวดงานยุติธรรม/กฎหมาย ต่อจากนั้นกดเลือกหัวข้อที่ต้องการ โดยการเริ่มต้นครั้งแรกนั้น ภายในแอปพลิเคชั่นจะให้กดอนุญาตการเช้าถึงข้อมูลนั้นๆ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลใบขับขี่ แอปพลิเคชั่นจะปรากฎหน้าให้ความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูล เมื่อกดยอมรับเรียบร้อยแล้ว จะมีข้อมูลใบอนุญาตปรากฎ ตั้งแต่เลขที่ใบอนุญาต ชนิดใบอนุญาต วันเริ่มและหมดอายุของใบอนุญาต หรือในหัวข้อแจ้งเอกสารหายออนไลน์ เมื่อกดยอมรับเรียบร้อยแล้ว จะเชื่อมต่อกับระบบที่สามารถแจ้งเอกสารหายออนไลน์และตรวจสอบสถานะการแจ้งความผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเตือนการหมดอายุ การเปลี่ยนสถานะของเอกสารได้อีกด้วย เพียงมีแอปพลิเคชั่นทางรัฐก็สามารถเพิ่มความสะดวกสบายได้ดีจริงๆ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการเดินทาง ลดขั้นตอนการยื่นส่งเอกสาร และเพิ่มการเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม >สมัยนี้อินเทอร์เน็ตได้เชื่อมโลกไว้รวมกันจนทำให้สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งโลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตกันมากขึ้น แค่เพียงมีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้ทั่วทุกที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถช่วยหาสินค้าที่ต้องการได้หลากหลายกว่าเดิม ทั้งในแง่ของชนิดของสินค้า ราคาของสินค้า และประเทศผู้ขายสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าได้มากขึ้น ประกอบกับเมื่อมีการแข่งขันทางการตลาดอย่างสูงจะยิ่งทำให้ราคาลดต่ำลงตามอุปสงค์และอุปทาน สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทั้งสิ้น เมื่อโลกอินเทอร์เน็ตได้ย่อโลกของการเข้าถึงสินค้าและบริการมาไว้ในสมาร์ทโฟน ดังนั้นการซื้อสินค้าในต่างประเทศก็ย่อมทำได้ง่ายและมีความรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนมาก ในบางครั้งสินค้าบนโลกออนไลน์เหล่านั้นจะแจ้งราคาเป็นสกุลเงินประเทศนั้นๆ ดังนั้นผู้บริโภคกลุ่มนี้เหมาะมากที่จะดาวน์โหลดแอปลพิเคชั่น Currency Converter Calculator ไว้บนสมาร์ทโฟนอย่างยิ่ง Currency Converter Calculator เป็นแอปพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณแปลงค่าเงินบาทอย่างง่ายๆ ที่ไม่มีความยุ่งยากในการใช้งาน หน้าตาของแอปพลิเคชั่นนี้จะเหมือนกันกับเครื่องคิดเลขที่ใช้กันทั่วไป แต่มีความพิเศษตรงที่สามารถแปลงค่าเงินต่างประเทศให้ได้ทันที โดยอ้างอิงจากข้อมูลเงินบาท ณ วันนั้นๆ ซึ่งจะมีการอัปเดตอัตราการแลกเปลี่ยนให้โดยอัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลวันและเวลาที่มีการอัปเดตของแอปพลิเคชั่นได้บริเวณด้านล่างหน้าจอ วิธีใช้ก็ไม่ซับซ้อน เพียงเลือกสกุลเงินที่ต้องการให้แอปพลิเคชั่นคำนวณ โดยสามารถเรียกดูอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินได้ทั่วโลกกว่า 150 สกุลเงิน รวมถึงเงินดิจิตอลอย่างค่าเงินคริปโต (Cryptocurrency) ซึ่งถือว่าแอปพลิเคชั่นนี้สามารถรองรับการแปลงสกุลเงินเกือบทั่วโลกทีเดียว อาทิเช่น US Dollar ประเทศสหรัฐอเมริกา, Yen ประเทศญี่ปุ่น, Won ประเทศเกาหลี, Ringgit ประเทศมาเลเซีย, Rupee ประเทศอินเดีย, Dong ประเทศเวียดนาม และ Bitcoin เป็นต้น หลังจากนั้นให้กดคำนวณเหมือนกับการใช้เครื่องคิดเลขได้เลย นอกจากนี้แอปพลิเคชั่น Currency Converter Calculator นี้ยังเหมาะกับกลุ่มที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ ช่วยให้การคำนวณค่าใช้จ่ายในขณะที่อยู่ต่างประเทศสะดวกยิ่งขึ้น และยังสามารถช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายให้ตรงตามความต้องการได้อีกด้วย โดยแอปพลิเคชั่นนี้สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android และที่สำคัญสามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้
อ่านเพิ่มเติม >ยุคสมัยปัจจุบันองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการให้บริการหลังการขายทั้งสิ้น เนื่องจากปัจจุบันบริการหลังการขายเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อสินค้าเหล่านั้นด้วย ถ้าสินค้าใดไม่มีบริการหลังการขายหรือยากแก่การเข้าถึง หรือแม้กระทั่งมีปัญหาจุกจิกกวนใจในการติดต่อประสานงาน ผู้บริโภคหลายคนเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้านั้นเลยก็มี เมื่อกล่าวถึงบริการหลังการขาย สิ่งหนึ่งที่ทำให้นึกถึงคือ call center ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าติดต่อสื่อสารกับเจ้าของสินค้าเหล่านั้นได้ แต่ call center กลับสร้างปัญหาในการเข้าถึงอย่างมาก ซึ่งควรจะเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้รวดเร็วที่สุด กลับกลายเป็นช่องทางที่ให้รอสายนานที่สุดเช่นกัน บางครั้งกดเลือกอยู่นาน แต่ไปไม่ถึงจุดหมายที่ต้องการสักที ต้องวางสายและกดโทรออกเริ่มใหม่อีกครั้ง ทำให้ท้อใจไปตามๆ กันเลยทีเดียว เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านต้องเคยประสบกับปัญหาในลักษณะนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นถ้าต้องการให้ความท้อใจนี้หมดไป ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Call Zen มาไว้ติดสมาร์ทโฟนกันดู ช่วยข้ามขั้นตอนการรอสายนานไปได้มากเลย Call Zen เป็นแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ผ่านระบบ Call Center มาไว้ภายในที่เดียวกัน ปัจจุบันมีหมวดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 22 หมวด ได้แก่ หมวดเบอร์ติดต่อพิเศษสำหรับโควิด-19 หมวดแจ้งเหตุทุจริต หมวดโทรคมนาคม ซึ่งเกี่ยวกับเครือข่ายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต หมวดธนาคาร หมวดบัตรสมาชิก หมวดบัตรเครดิต หมวดฉุกเฉินและบริการสาธารณะ เช่น สายด่วนกรมทางหลวง ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์บริการข้อมูลจราจร แจ้งรถหาย มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง เป็นต้น หมวดสายการบิน หมวดอี-คอมเมิร์ซ หมวดมือถือและอุปกรณ์ไอที หมวดขนส่ง หมวดประกันชีวิต หมวดประกันภัย หมวดโรงพยาบาล หมวดเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง หมวดสาธารณูปโภค หมวดอุปกรณ์ตกตแงบ้าน หมวดหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐ หมวดสื่อมวลชน หมวดแจ้งเหตุอัคคีภัย หมวดแจ้งเหตุอุทกภัย และหมวดบริการส่งอาหาร หลังจากเลือกเข้าไปตามหมวดแล้ว แอปพลิเคชั่นจะปรากฎหมวดหมู่ย่อยให้เพิ่ม เพื่อให้เลือกเข้าถึงตามความต้องการที่แท้จริง เช่น ติดต่อเจ้าหน้าที่ อายัดบัญชี แจ้งปัญหาร้องเรียน สอบถามยอดค้าชำระ ยกเลิกข้อความโฆษณา เป็นต้น จากนั้นแอปพลิเคชั่นจะแจ้งรายละเอียด เวลาทำการ และหมายเหตุระยะเวลาก่อนกดข้ามขั้นตอน ทั้งนี้ถ้าต้องการติดต่อก็สามารถกดโทรออกภายในหน้านี้ได้ทันที แอปพลิเคชั่นจะมีการแจ้งการอัปเดตข้อมูลภายในผ่านหัวข้อข่าวสาร บนหน้าหลักของแอปพลิเคชั่น ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่ามีการอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่เท่าไร และเป็นข้อมูลด้านใดบ้าง หลังจากทดลองใช้แอปพลิเคชั่น Call Zen มาสักพักแล้วรู้สึกพึงพอใจมากกว่าในอดีตที่ต้องรอสายแล้วรอสายอีกจนเหนื่อยใจแถมเสียเวลากับการใช้บริการ Call Center เป็นอย่างมาก ช่วยลดความหงุดหงิดและรำคาญใจไปได้มากจริงๆ
อ่านเพิ่มเติม >ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าช่วยทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบายอย่างมาก ประกอบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดแบบนี้ช่วยได้มากที่สุด ฉบับนี้ขอมาเขียนถึงแอปพลิเคชั่น LandsMaps ที่นำเทคโนโลยีช่วยมาเติมเต็มให้กับประชาชนช่วยให้รู้ราคาประเมินของแปลงที่ดินทุกจุดทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเดินทางไปสอบถามเจ้าหน้าที่กรมที่ดินด้วยตนเอง แอปพลิเคชั่น LandsMaps จัดทำขึ้นโดยกรมที่ดินร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการหาตำแหน่งแปลงที่ดิน ได้ทราบราคาประเมินของที่ดินนั้น และเชื่อมต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรมที่ดิน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย โดยผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว ให้ลงทะเบียนสมัครเข้าใช้งาน โดยกำหนดชื่อบัญชีผู้ใช้ กำหนดรหัสผ่าน ใส่เบอร์มือถือและอีเมล หลังจากนั้นจะได้รับรหัส OTP เพื่อนำมากรอกลงในแอปพลิเคชั่น ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการลงทะเบียน ขั้นตอนการค้นหาไม่มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากนัก หลังจากเข้าแอปพลิเคชัน LandsMaps หน้าจอจะปรากฎภาพแผนที่ ให้ผู้อ่านมองหาและกดปุ่มสัญลักษณ์ขีดสามขีดที่อยู่บริเวณด้านบนซ้ายมือของแอปพลิเคชั่น ซึ่งจะแสดงเมนูต่างๆ ดังนี้ เมนูค้นหารูปแปลง เมนูค้นหาสถานที่สำคัญ เมนูปิดเปิดผังเมืองกรุงเทพมหานคร เมนูรูปแบบแผนที่ เมนูแปลงที่บันทึก เมนูรายละเอียดประเภทของที่ดิน เมนูวิธีใช้ เมนูเงื่อนไขและข้อตกลง และเมนูออกจากระบบ เมื่อต้องการค้นหาแปลงที่ดินให้เลือกกดที่เมนูค้นหารูปแปลง ต่อจากนั้นให้เลือกระบุจังหวัด ระบุอำเภอ และเลขที่โฉนดที่ดินลงไป แอปพลิเคชั่นจะประมวลผลและปรากฎจุดแปลงที่ดินที่ค้นหา โดยแสดงรายละเอียดตั้งแต่เลขที่โฉนด เลขที่ระวาง เลขที่ดิน หน้าสำรวจ ตำบล อำเภอ จังหวัด เนื้อที่ ค่าพิกัดแปลง ราคาประเมินต่อตารางวา ระยะเวลารอคิวรังวัด และสามารถกดดูข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ คิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการรังวัด ระบบการคำนวณภาษีอากร หน้าเว็บไซต์กรมธนารักษ์ หรือเชื่อมต่อไปยังแผนที่เพื่อนำทางไปยังแปลงที่ดินหรือไปยังสำนักงานกรมที่ดิน ในรูปแบบแผนที่ Google map ส่วนเมนูค้นหาสถานที่สำคัญใช้สำหรับค้นหาสถานที่ต่างๆ เมนูปิดเปิดผังเมืองกรุงเทพมหานครทำให้เห็นภาพผังเมืองของพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมนูรูปแบบแผนที่สำหรับเปลี่ยนมุมมองแผนที่แบบเส้นทางหรือแผนที่แบบดาวเทียม เมนูแปลงที่บันทึกใช้ในกรณีที่ค้นหาแปลงที่ดินและได้กดปุ่มบันทึกแปลงนี้ ที่ดินแปลงจะถูกเก็บบันทึกไว้ในเมนูนี้ เมนูรายละเอียดประเภทของที่ดินเป็นข้อมูลที่อธิบายความหมายของที่ดินประเภทต่างๆ ใครที่กำลังมองหาตัวช่วยในการตรวจสอบราคาประเมินที่ดินและรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ลองดาวน์โหลดมาใช้งานดูได้ แอปพลิเคชั่น LandsMaps ช่วยให้ชีวิตสะดวกและสบาย ไม่ต้องเดินทางไปถึงกรมที่ดินด้วยตนเองได้จริงๆ
อ่านเพิ่มเติม >