ฉบับที่ 237 FoodChoice ตัวช่วยของการรับประทานอาหาร

        สุขภาพที่แข็งแรงย่อมเกิดมาจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นอาหารที่เลือกรับประทานในชีวิตประจำวันมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ฉบับนี้จึงมาแนะนำการเลือกรับประทานอาหารในแบบฉบับใส่ใจและลงลึกถึงสารอาหารและข้อมูลทางโภชนาการกันดีกว่าค่ะ         เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “FoodChoice” ที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอีกหลายฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” ตั้งใจมีไว้เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะจำแนกข้อมูลต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของปริมาณสารอาหาร ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน ให้ข้อมูลในหน่วยช้อนชา และทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการอีกด้วย         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมี 3 หมวด ดังนี้ หมวดแรกคือประวัติการค้นหา จะช่วยเก็บข้อมูลที่ได้ค้นหาข้อมูลบนฉลากโภชนาการทั้งหมด หมวดสองใช้สำหรับสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์เพื่อให้แอปฯ ประมวลผลข้อมูลบนฉลากโภชนาการ และหมวดสามเป็นข้อมูลทั่วไปของแอปพลิเคชั่น ได้แก่ การใช้งาน เกณฑ์สีและการจัดเรียงข้อมูล หน่วยงานที่ร่วมพัฒนา ช่องทางการติดต่อ และข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้         เมื่อต้องการทราบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ให้สแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ หลังจากนั้นจะปรากฎภาพข้อมูลโภชนาการในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยแยกเป็นสารอาหารในปริมาณต่างๆ พร้อมคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่เป็นโรคใดบ้าง และช่วยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมได้ ดังนี้        1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด        2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง        3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด        4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก          ในกรณีที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถถ่ายรูปของด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลขอย. 13 หลัก เพื่อแชร์รูปภาพให้ข้อมูลในแอปพลิเคชั่นทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะช่วยกันเพิ่มข้อมูลด้านโภชนาการและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกัน         การใช้แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” อย่างน้อยก็ช่วยสร้างให้ผู้บริโภคได้ตระหนักในการเลือกบริโภคและใส่ใจกับข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคและพิจารณาถึงคุณค่าของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไปและน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับแต่อาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ปลูกต้นไม้แถมสุขภาพดีกับ Plant Nanny

        ช่วงนี้สถานการณ์ร้อนผ่าว ร้อนแรงในหลายเรื่องพร้อมๆ กัน แต่ที่เครียดมากคงเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ในฐานะอย่างเรา (ผู้เขียน) รับรองว่าเรื่องนี้เครียดสุดๆ เมื่อไม่นานมานี้ได้แอบเห็นแอปพลิเคชั่นสุดน่ารักน่าชังแว๊บๆ จึงได้ดาวน์โหลดมาลองเล่นดู ช่วยทำให้เพลินอารมณ์และคลายเครียดได้ดีเชียว แถมพ่วงด้วยประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพร่างกายของเราด้วยนะจะบอกให้         มารู้จักแอปพลิเคชั่น Plant Nanny กัน แอปพลิเคชั่นนี้มีไว้ช่วยดูแลสุขภาพในรูปแบบเกมส์ปลูกต้นไม้ มีวิธีเล่นง่ายๆ คือ พยายามดูแลรดน้ำต้นไม้ให้โต และนำต้นไม้นั้นย้ายไปไว้ในสวนเพื่อจัดให้สวยงาม โดยปริมาณน้ำที่ใช้รดต้นไม้มาจากปริมาณน้ำที่ผู้เล่นดื่มในแต่ละวันนั่นเอง สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          มาเริ่มต้นเล่นเกมส์กันเลยดีกว่า หลังจากดาวน์โหลดมาเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมจะให้เลือกหน่วยของปริมาณน้ำที่ต้องการระหว่างมิลลิลิตร (ml) กับออนซ์ (oz) ซึ่งบ้านเราส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบมิลลิลิตร (ml) และให้เลือกน้ำหนักของผู้เล่น พร้อมกิจกรรมประจำวันว่าอยู่ในระดับปกติหรือระดับตื่นตัวตลอดเวลา เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนหมดแล้วโปรแกรมจะคำนวณว่าในแต่ละวันผู้เล่นจำเป็นต้องดื่มน้ำในปริมาณเท่าใด        ยังไม่จบเพียงนี้ เพราะผู้เล่นต้องเลือกขนาดแก้วที่ใช้ดื่มเป็นประจำ ไม่ว่าจะในรูปแบบแก้วสั้น แก้วยาว แก้วมัค ขวด กระติก ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขปริมาณน้ำกำกับอยู่ ต่อจากนั้นมาเริ่มปลูกต้นไม้กันได้เลย เมื่อผู้เล่นได้ดื่มน้ำตามปริมาณที่ตั้งไว้ในแอปพลิเคชั่น ให้กดค้างบริเวณปุ่มสัญลักษณ์วงกลมที่มีชนิดของแก้วน้ำที่เลือกไว้อยู่ตรงกลาง จนกระทั่งเกิดเส้นสีฟ้าโดยรอบวงกลมนั้น เมื่อรดน้ำต้นจนครบปริมาณน้ำที่เพียงพอ ต้นไม้ก็จะเติบโตขึ้นในทุกวันนั่นเอง         บริเวณหน้าแอปพลิเคชั่นจะมีปุ่มสัญลักษณ์ต่างๆ อยู่ ดังนี้ ปุ่มสัญลักษณ์หยดน้ำสีส้มตรงมุมบนซ้ายจะบอกการเติบโตของต้นไม้ ถัดมาเป็นปุ่มสัญลักษณ์กล้องถ่ายรูปสำหรับถ่ายภาพต้นไม้ของเรา ด้านบนขวาจะมีปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกสีฟ้าจะแสดงให้รู้ว่าวันนี้ผู้เล่นได้ดื่มน้ำไปในปริมาณเท่าใด นอกจากนี้ยังสามารถกดแถบหมวด History ด้านล่างเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ประวัติการดื่มน้ำทั้งหมดได้ด้วย         ต่อมาเป็นปุ่มสัญลักษณ์ขีด 3 ขีด โดยภายในจะแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ ภาพรั้วจะไปยังหน้าสวนไว้สำหรับเก็บต้นไม้ที่เติบโตเต็มที่แล้ว ภาพร้านค้าจะให้เป็นแผงขายของให้เลือกซื้อตั้งแต่กระถางต้นไม้ ชนิดพันธุ์ต้นไม้ น้ำ ภาพพื้นหลัง เป็นต้น ภาพภูเขาจะเป็นที่เก็บภาพพื้นหลังที่ได้ซื้อไว้ และภาพประแจจะเป็นส่วนของการตั้งค่าภายในแอปพลิเคชั่นทั้งหมด         แอปพลิเคชั่น Plant Nanny นี้เป็นได้ทั้งเกมส์ทั้งสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้เล่นดื่มน้ำในปริมาณที่ควรได้รับในแต่วันให้เพียงพอ โดยการดื่มน้ำนั้นไม่ควรน้อยเกินไปและมากจนเกินไป ซึ่งถ้ามีการรดน้ำต้นไม้เกินปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน แอปพลิเคชั่นจะแจ้งเตือนให้ผู้เล่นได้รู้ตัวทันทีว่าให้ระมัดระวังที่จะดื่มน้ำมากจนเกินไป         เพลิดเพลินและสนุกสนานกับการเล่นเกมส์ แถมได้รับสุขภาพดี แบบนี้ดีจริงๆ นะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ชำระภาษีรถประจำปีแบบ New Normal ผ่าน “DLT Vehicle Tax”

        กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ต้องลดการเดินทางไม่ไปอยู่ในพื้นที่แออัด ต้องป้องกันตนเองโดยการลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ แถมช่วงนี้ยังต้องช่วยกันรักษาการ์ดไม่ให้ตก เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง ดังนั้นไม่แปลกที่หน่วยงานต่างๆ ยังคงออกเทคโนโลยีมาสนับสนุนบริการในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง         ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มช่องทางการชำระภาษีรถประจำปีแบบ New Normal ผ่านแอปพลิเคชันชำระภาษีรถประจำปีที่มีชื่อว่า “DLT Vehicle Tax” และเปิดบริการตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติที่ชื่อ “Kiosk” เรียบร้อยแล้ว         การชำระภาษีรถด้วยตนเองง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ซึ่งในขั้นตอนแรกต้องลงทะเบียนชื่อ นามสกุล เมล เลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ โดยระบบจะส่งรหัส OTP ผ่านเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้เพื่อให้เข้าไปตั้งรหัส PIN Code ของแอปฯ ต่อจากนั้นให้เลือกปุ่มชำระภาษีรถ จะปรากฎขั้นตอนการชำระภาษี 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เลือกรูปแบบชำระภาษี ขั้นที่ 2 เลือกประเภทรถ ขั้นที่ 3 บันทึกข้อมูลทะเบียนรถ และขั้นที่ 4 บันทึกข้อมูลประกันภัยรถ         ขั้นที่ 1 การเลือกรูปแบบชำระภาษีจะให้เลือกชำระภาษีรถตนเองหรือชำระภาษีแทนเจ้าของรถ โดยจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถนั้น ต่อจากนั้นแอปฯ จะไปขั้นที่ 2 ให้เลือกประเภทรถ 4 ประเภท ดังนี้ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ในกรณีที่เป็นรถที่มีอายุเกิน 7 ปีจะไม่สามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax และตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ได้         เมื่อไปถึงขั้นที่ 3 จะให้บันทึกข้อมูลทะเบียนรถและจังหวัดของรถ ขั้นสุดท้ายจะให้กรอกรายละเอียดของข้อมูลประกันภัยรถ เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วแอปพลิเคชั่นจะให้ QR Code สำหรับนำไปชำระภาษีผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ หลังจากชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงเครื่องหมายการเสียภาษีรถชั่วคราวในระหว่างที่รอรับเครื่องหมายฉบับจริง โดยสามารถขอรับเครื่องหมายฉบับจริงได้ 2 วิธี คือ เลือกให้จัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือรับเอกสารด้วยตนเองที่ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) สำนักงานกรมการขนส่งทางบก         ทั้งนี้สามารถชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) สำนักงานกรมการขนส่งทางบกได้ ซึ่งทำตามขั้นตอนเหมือนกับแอปพลิเคชั่น DLT Vehicle Tax แต่จะได้รับเครื่องหมายฉบับจริงทันที      ใครมีรถยนต์ที่ถึงเวลาต้องชำระภาษีประจำปีแล้ว แต่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานกรมการขนส่งทางบกด้วยตนเอง ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax มาใช้บริการกันดู กดชำระภาษีประจำปีผ่าน DLT Vehicle Tax แล้วทำแค่นั่งรอไปรษณีย์มาส่งถึงที่บ้าน ซึ่งเหมาะกับยุคสมัยเทคโนโลยีบริการออนไลน์จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 หยุดเบอร์โทรรบกวน ด้วยแอปพลิเคชั่น “กันกวน”

        ช่วงสภาวะที่ยังคงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างต่อเนื่องแบบนี้ ส่งผลให้หลายองค์กรทำงาน “หาลูกค้า” ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำเป็นต้องลงพื้นที่ตามแหล่งชุมชน ต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยตนเอง อย่างกลุ่มที่ทำงานขายประกัน ขายบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนลูกค้าแบบตัวต่อตัว        เมื่อไม่สามารถหาลูกค้าในรูปแบบเดิมได้ จึงต้องหันมาใช้รูปแบบการโทรศัพท์ถึงกลุ่มเป้าหมายแทน แต่บางครั้งการโทรศัพท์เพื่อขายสินค้าและบริการในลักษณะนี้ก็ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจกับกลุ่มเป้าหมายเท่าใดนัก บางทีไม่ใช่แค่เพียงการขายประกัน ขายบัตรเครดิต ขายตรงเท่านั้น แต่บางกลุ่มก็มาในรูปแบบมิจฉาชีพที่ทำให้เกิดการเสียเงินผ่านค่าโทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว  ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชน แถมก่อให้เกิดความรำคาญกับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย         สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เห็นถึงปัญหาและพัฒนาแอปพลิเคชั่น “กันกวน” ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมีสิทธิ์ในการปิดกั้นการโฆษณาการขายสินค้าและบริการที่ไม่ต้องการเองได้ และเป็นฐานข้อมูลในการร่วมกันดูแล คอยแลกเปลี่ยนข้อมูลของกลุ่มธุรกิจที่ใช้โทรศัพท์มาขายสินค้าหรือบริการ โดยแอปพลิเคชั่น “กันกวน” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         หลังจากเปิดแอปพลิเคชั่น “กันกวน” มาใช้ในครั้งแรก จะต้องกรอกเลขโทรศัพท์มือถือและหมายเลขบัตรประชาชนเพื่อให้ระบบตรวจสอบ และสร้างบัญชีด้วยการใส่ชื่อนามสกุล เมล เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่น โดยแอปพลิเคชั่นนี้จำเป็นต้องเปิดอนุญาตการใช้งานให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์ด้วย เพื่อให้เข้าไปกลั่นกรองเบอร์ที่มีการขายสินค้าและบริการไม่ให้โทรศัพท์เข้ามากวนคุณได้         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมีรายการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ทั้งหมดที่ถูกส่งรายงานเข้ามาว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่มีการโฆษณาและการขาย ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลกลางจำนวนทั้งสิ้น 494 หมายเลข โดยฐานข้อมูลนี้ทุกคนสามารถร่วมส่งข้อมูลที่เห็นว่าเบอร์โทรศัพท์ไหนเข้าข่ายรบกวนและเป็นการขายสินค้าและบริการได้ เพียงกดปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายบวก แล้วกรอกรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์นั้นลงไป และเลือกกดแจ้งไปยังแอปฯ กันกวน เพื่อให้ กสทช. ดำเนินการจัดประเภทเป็นเบอร์รบกวน และนำข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลกลางเพื่อส่งข้อมูลเบอร์ดังกล่าวไปยังทุกคนที่ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ หรือเลือกกดปิดกั้น เพื่อดำเนินการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามาสำหรับสมาร์ทโฟนเครื่องนี้เท่านั้น         การเลือกกดแจ้งไปยังแอปพลิเคชั่นกันกวน จะถูกแบ่งการปิดกั้นเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มขายประกัน กลุ่มขายบัตรเครดิต กลุ่มทวงถามหนี้ กลุ่มขายเกมส์ออนไลน์ กลุ่มขายคอนเทนต์ออนไลน์ กลุ่มขายสื่อลามก กลุ่มโฆษณารบกวน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถตั้งค่าเองเพื่อเลือกอนุญาตไม่ปิดกั้นเฉพาะบางเบอร์ได้ และตั้งค่าให้ปรับปรุงฐานข้อมูลแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย         ใครมีปัญหาการโทรมากวนใจเพื่อขายสินค้าและบริการในช่วงนี้ ลองใช้แอปพลิเคชั่น “กันกวน” กันดูนะคะ เป็นตัวเลือกที่สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 คัดแยกเห็ดมีพิษ ผ่านแอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย”

        เห็ดมีรสชาติอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นอาหารที่ปราศจากไขมัน มีปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ มีโปรตีนสูง บางชนิดมีคุณสมบัติในการป้องกันโรค ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงตับ บำรุงกระเพาะ บำรุงลำไส้ เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เป็นต้น คนไทยจึงมักนำเห็ดมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร แต่บางครั้งก็มีประชาชนได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดเช่นกัน โดยที่ไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้ ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ และการแยกแยะในการระบุชนิดของเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ        กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่อยากให้ประชาชนได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “คัดแยกเห็ดไทย” ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการคัดกรองให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นรู้จักเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้ โดยสามารถดาวน์โหลดในระบบปฏิบัติการ Android        ภายในแอปพลิเคชั่นมีข้อมูลเกี่ยวกับการคัดแยกชนิดเห็ด 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเห็ดระโงกกินได้ กลุ่มเห็ดระงากพิษ กลุ่มเห็ดระโงกไส้เดือน กลุ่มเห็ดโคนกินได้ กลุ่มเห็ดผึ้งกินได้ กลุ่มเห็ดก่อและเห็ดน้ำหมากกินได้ กลุ่มเห็ดหมวกจีนและเห็ดคันร่มพิษ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว         ขั้นตอนแรกหลังจากดาวน์โหลดต้องลงทะเบียนผู้ใช้งาน โดยให้ระบุชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์มือถือ อายุ จังหวัด พร้อมกับกำหนดรหัสในการเข้าใช้งาน แอปพลิเคชั่นคัดแยกเห็ดไทยนี้ไม่มีเมนูซับซ้อน ใช้งานได้ง่าย มีการใช้ข้อมูลที่เป็นความรู้ในเรื่องของกลุ่มเห็ดชนิดต่างๆ แบ่งเป็นเห็ดมีพิษและเห็ดที่รับประทานได้ นอกจากนี้มีข้อมูลที่ให้ความรู้ในรูปแบบคู่มือชนิดเห็ดที่มีพิษ ที่ระบุข้อมูลเรื่องสารพิษ วิธีการแยกเห็ดมีพิษกับเห็ดที่ทานได้ วิธีการทดสอบเห็ดพิษที่ไม่ถูกต้อง ข้อแนะนำในการบริโภคเห็ด วิธีการเก็บและรักษาตัวอย่างเห็ดที่สงสัยว่ามีพิษ รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและแนวทางการรักษา         ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้พัฒนาให้แอปพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดว่ามีพิษหรือไม่ ได้ทันที ผ่านการใช้กล้องสมาร์ทโฟน เพียงกดเข้าเมนูที่เขียนว่า 24h Realtime สแกนเห็ด แอปพลิเคชั่นจะนำไปยังกล้องสมาร์ทโฟน เพื่อให้สแกนภาพหรือถ่ายภาพเห็ดที่ผู้ใช้มีความสงสัยว่าเป็นเห็ดชนิดทานได้หรือมีพิษ ซึ่งแอปพลิเคชั่นจะปรากฎผลทันทีใน 3 ลักษณะ ดังนี้ ถ้าภาพเห็ดไม่ชัดเจนจะปรากฎข้อความว่า N/A ระบุไม่ได้ ถ้าเป็นเห็ดที่สามารถรับประทานได้จะปรากฎข้อความชนิดเห็ดและสัญลักษณ์ภาพช้อนส้อมอยู่ในวงกลมสีเขียว และถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะปรากฎข้อความชนิดเห็ดและสัญลักษณ์ภาพหัวกระโหลกอยู่ในวงกลมสีแดง         หลังจากนี้ไม่ต้องกังวลแล้วว่าเห็ดที่ซื้อมาจากตลาดหรือเห็ดที่เจอในป่า จะทำให้เกิดอันตรายจากการรับประทาน เพราะแอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” สามารถตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ให้กับคนไทยในการแยกแยะเห็ดที่รับประทานได้กับเห็ดที่มีพิษได้มากจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 New Normal กับไทยชนะ & แอปพลิเคชั่นจองคิว

        หลังจากที่รัฐบาลประกาศผ่อนปรนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทำให้ร้านค้าและผู้ประกอบการสามารถทยอยเปิดกิจการได้เป็นปกติ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎและมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขึ้นอีก จึงทำให้เห็นว่ารัฐบาลและผู้ประกอบการต้องเพิ่มแนวทางที่สามารถตอบโจทย์มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ภายในพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในรูปแบบ New Normal        สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนจากมาตรการของรัฐ ที่ให้ร้านค้าและผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com เพื่อรับคิวอาร์โค้ดมาติดที่ร้าน ซึ่งจะช่วยเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการและกำหนดจำนวนผู้เข้ารับบริการเพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการในลักษณะการเช็คอินและเช็คเอาท์         โดยร้านค้าและผู้ประกอบการจะมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อคัดกรองคนและลดความแออัดของผู้ใช้บริการ อยู่ 2 รูปแบบ คือ การลงทะเบียนโดยการกรอกชื่อนามสกุลและเบอร์โทรลงในแผ่นกระดาษ และการลงทะเบียนผ่าน QR Code ไทยชนะ ดังนั้น New Normal สำหรับผู้ใช้บริการอย่างเรา ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเช่นกัน          การลงทะเบียนผ่าน QR Code ไทยชนะ ให้สแกน QR Code ไทยชนะที่ร้านค้าและผู้ประกอบการได้จัดเตรียมไว้ผ่านกล้องโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน จะปรากฎให้เลือกเมนู “เช็คอินร้าน” และเมนู “เช็คเอาท์/ประเมินร้าน” ผู้ใช้บริการเพียงทำหน้าที่กดเช็คอินเมื่อเข้าร้าน และกดเช็คเอาท์พร้อมประเมินร้านเมื่อออกจากร้าน แต่สำหรับผู้ใช้บริการที่เพิ่งใช้สแกน QR Code ไทยชนะครั้งแรก จะต้องกดรับข้อตกลงและความยินยอม และกรอกหมายเลขโทรศัพท์ก่อนทำการเช็คอิน         ไม่เพียงแต่การลงทะเบียนผ่าน QR Code ไทยชนะเท่านั้นที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ แต่ร้านค้าและผู้ประกอบการหลายแห่งได้มีแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์เพื่อใช้ลงทะเบียนในการเข้าใช้บริการโดยตรง วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกดจองคิวในระบบก่อนที่จะมีการเข้าใช้บริการจริง เปรียบเสมือนเป็นการนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งเป็นการช่วยลดความแออัดและจำกัดผู้ใช้บริการตามกฎและมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐประกาศออกมา        การใช้แอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ในการจองคิวเข้าใช้บริการต่างๆ เช่น การจองคิวทำบัตรประชาชน การจองคิวทำใบขับขี่ออนไลน์ การจองคิวทำพาสปอร์ต การจองคิวชมภาพยนตร์ การจองคิวเข้าบริการฟิตเนส การจองคิวทำฟัน การจองคิวขึ้นเขาคำชะโนด ฯลฯ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต New Normal ในรูปแบบใหม่ อย่างการเข้าคอร์สฟิตเนสออนไลน์ การเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ เป็นต้น         การปรับหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนในประเทศไทยปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ควบคู่ไปกับความพยายามฟื้นฟูธุรกิจและผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ ทุกคนต้องช่วยกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 มารู้จัก “ThaiFightCOVID” และ “Card2U”

        ฉบับนี้ยังคงมาย้ำเตือนให้ผู้อ่านทุกคนตระหนักถึงการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขการติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยจะลดลงก็ตาม        ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลในการเฝ้าระวังอย่างมากมาย อย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่คอยเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยใช้ชื่อว่า “ThaiFightCOVID” ซึ่งสามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ ThaiFightCOVID.depa.or.th ภายใน “ThaiFightCOVID” จะมีข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ข่าวสารที่รวบรวมจากประกาศรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่ประกาศมาตรการการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงประกาศจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรวบรวมข่าวสารจากสถานการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นด้วย          ต่อจากนั้นไม่นาน ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Card2U” ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 เพิ่มเติม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS เริ่มแรกผู้อ่านต้องลงทะเบียนโดยใช้ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และสร้างรหัสผ่าน จากนั้นให้กดเพื่อรับการ์ด กรอกเพศและอายุเพื่อที่จะเข้าหน้าหลัก         หน้าหลักจะมีรูปการ์ดชื่อนามสกุลของผู้ใช้แอปพลิเคชัน และ QR Code ของการ์ดด้านข้าง ซึ่งด้านล่างจะมีหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน หมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ หมวดตรวจสอบข่าวปลอม หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อ หมวดพื้นที่เสี่ยง หมวดจดบันทึกการเดินทาง หมวดประเมินความเสี่ยง หมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด หมวดโปรสู้โควิด หมวดรวมสายด่วน และหมวดไทยรู้สู้โควิด          หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน และหมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเหมือนกับ “ThaiFightCOVID” หมวดตรวจสอบข่าวปลอมจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หมวดไทยรู้สู้โควิดจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากหน้าเฟซบุ๊กไทยรู้สู้โควิด แต่หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ละเอียดขึ้น และมีข้อมูลโรงพยาบาลที่รับตรวจพร้อมราคา ส่วนหมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิดจะเป็นการแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน โดยจะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และแผนที่สำหรับเดินทาง         ความแตกต่างจาก “ThaiFightCOVID” คือ หมวดพื้นที่เสี่ยงจะแจ้งพิกัดจุดเสี่ยงบนแผนที่ประเทศไทย หมวดจดบันทึกการเดินทาง เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเก็บข้อมูลการเดินทางโดยใช้วิธีเช็คอิน หมวดประเมินความเสี่ยงเป็นการตอบคำถามแบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หมวดโปรสู้โควิดที่รวบรวมร้านอาหารพร้อมโปรโมชันมานำเสนอให้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน และหมวดรวมสายด่วน เพิ่มขึ้นมา         ไม่ว่าจะเป็น “ThaiFightCOVID” หรือแอปพลิเคชัน “Card2U” ก็เป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์และถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนไทยได้ตระหนักและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างใกล้ชิด ดังนั้นต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันด้วยใจจริงๆ และอย่าลืมปฏิบัติตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) กันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ติดตาม COVID-19 กับ COVID Tracker

        ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นช่วงที่ทุกคนต้องการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการเฝ้าระวังตนเองและครอบครัวให้มากที่สุด โดยแต่ละคนอาจใช้วิธีการติดตามข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ติดตามจากโทรทัศน์ จากเฟสบุ๊ค จากทวิตเตอร์ จากจังหวัด จากชุมชน ฯลฯ ซึ่งข่าวสารที่ได้รับมาอาจมีข้อมูลที่มีความผิดพลาด บิดเบือน หรือไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดสภาวะตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม        ฉบับนี้จึงมาแนะนำเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนศูนย์เช็คข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารการระบาดของเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยแบบเรียลไทม์ เว็บไซต์นี้มีชื่อว่า COVID Tracker หรือลิ้ง https://covidtracker.5lab.co/ ผู้ที่คิดค้นเป็นกลุ่มทีม 5lab ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น ได้เห็นว่ามีข่าวปลอมและข้อมูลที่แพร่สะพัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือข้อมูลข่าวสารอันไหนดี ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้มีความคิดที่จะสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารโดยการดึงข้อมูลจากสื่อหลักและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือมาประกอบ         ปัจจุบันเว็บไซต์ COVID Tracker มีผู้ติดตามอยู่จำนวนมาก โดยหน้าหลักในเว็บไซต์ COVID Tracker จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย และสัญลักษณ์เพื่อแสดงพิกัดของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไทย ซึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้จะเป็นภาพไอคอนต่างๆ และสีที่แตกต่างกันเพื่อแสดงความหมายของสถานะผู้ป่วยและสถานะข่าวทีเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ติดตามสามารถคลิกดูความหมายของไอคอนได้จากมุมด้านล่างซ้าย         สัญลักษณ์ไอคอนเหล่านี้จะแสดงบนแผนที่ประเทศไทย ตามพิกัดที่เกิดข่าวหรือมีผู้ป่วยเกิดขึ้น เมื่อคลิกบริเวณสัญลักษณ์ไอคอน ระบบจะแสดงข้อความที่มีรายละเอียดของผู้ป่วย รายละเอียดสถานที่ แจ้งวันที่เกิดข่าว รายงานสถานะของผู้ป่วย รวมทั้งแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้วหรือไม่         ด้านบนสุดของหน้าเว็บไซต์จะเป็นตัวอักษรวิ่ง เพื่อแจ้งตัวเลขล่าสุดของจำนวนยอดสะสม จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้ที่รักษาหาย ในแต่ละวัน และทางด้านบนขวาจะมีเมนูที่เขียนว่า ดูข่าวล่าสุด ซึ่งเป็นเมนูที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเรียงเหตุการณ์ก่อนหลังจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกข้อมูลที่ปรากฎอยู่บนหน้าเว็บไซต์จะลิ้งไปยังแหล่งข้อมูลที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น โดยสามารถเข้าไปคลิกเพื่ออ่านข้อมูลจากแหล่งข้อมูลได้โดยตรง         เว็บไซต์ COVID Tracker ยังมีการรวบรวมข้อมูลพิกัด รายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลต่างๆ ไว้บนหน้าเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดตามและผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล นอกจากนี้เว็บไซต์นี้ยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน เพื่อรองรับชาวต่างชาติอีกด้วย         สำหรับผู้ติดตามเว็บไซต์ COVID Tracker ยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ที่ @covidtrackerth ได้อีกช่องทางหนึ่ง         เว็บไซต์ COVID Tracker จึงเป็นเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ดีจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ตรวจสอบอาการเบื้องต้น COVID-19 กับแอปพลิเคชั่น “ใกล้มือหมอ”

        ตั้งแต่ต้นปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เริ่มแพร่กระจายและขยายการติดเชื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนี้ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินร้อยทุกวัน ภาครัฐได้มีมาตรการการเฝ้าระวังอาการ การกักตัวเองในบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหวังให้ประชาชนตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้         สิ่งหนึ่งที่ประชาชนสามารถเฝ้าระวังนั่นคือ การหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด การล้างมือ การไม่ใช้มือสัมผัสหน้า จมูก ดวงตา การสวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางก็ควรต้องศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโดยการเฝ้าสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำแอปพลิเคชั่นเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่อาจต้องสงสัยว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือเป็นอาการอื่นกันแน่         แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “ใกล้มือหมอ” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS โดยขั้นแรกให้เลือกระบบการใช้งานเป็นบุคคลทั่วไป และกรอกชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และ E-Mail เพื่อลงทะเบียนเข้าใช้งาน        จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น ทำให้แอปพลิเคชั่นได้เพิ่มในส่วนของการติดตามเพื่อแจ้งข้อมูลจุดที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นให้ทราบว่าบริเวณใด โดยสามารถดูรายละเอียดได้ว่าผู้ติดเชื้อเป็นใคร และได้เพิ่มปุ่มในส่วนของการตรวจสอบอาการ COVID-19 เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วย         ขั้นตอนการตรวจสอบอาการ COVID-19 จะเป็นการให้ตอบคำถามตามอาการที่เกิดขึ้นจริง เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศา ไอแห้ง อ่อนเพลีย หายใจลำบาก หอบเหนื่อยผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น เพื่อแอปพลิเคชั่นจะคำการวิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อหรือไม่ ถ้ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อจะมีปุ่มให้กดเพื่อดูข้อมูล เบอร์ติดต่อ ระยะทาง แผนที่ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถติดต่อโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้เร็วที่สุด          สำหรับอาการอื่นๆ ในแอปพลิเคชั่นนี้ได้รวบรวมหมวดการค้นหาอาการ การค้นหาข้อมูลโรคต่างๆ โดยการแบ่งลักษณะอาการป่วยออกตามอวัยวะภายในร่างกาย ตามประเภทโรคที่เกี่ยวข้อง และตามลักษณะอาการของโรค เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา เมื่อค้นหาได้แล้วจะเจอข้อมูลที่บอกลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้นอย่างละเอียด มีวิธีการรักษา พร้อมทั้งวิดีโอแนะนำเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น         ที่สำคัญแอปพลิเคชั่นใกล้มือหมอจะมีข้อความเตือนทุกขั้นตอนว่า การซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรนั้น อาจก่อนให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การแพ้ยา การดื้อยา หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต         ดังนั้นเมื่อมีอาการใด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัวตัวร้อน หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ COVID-19 อย่าซื้อยามารับประทานเองกันนะคะ ให้ใช้แอปพลิเคชั่นนี้เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบอาการเบื้องต้น อย่างน้อยก็ช่วยลดความวิตกกังวลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 พุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา         มาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และลดการไปในสถานที่แออัดกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เปิด Moovit มั่นใจไม่ออกนอกเส้นทาง

        แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครมานานมากแค่ไหน แต่ก็ใช่ว่าจะรู้เส้นทางทั่วทั้งหมด และเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็ถึงเวลาคิดหนักถึงหนักมาก ต้องศึกษาเส้นทางการเดินทางอยู่นานเป็นวัน เพราะบางเส้นทางถ้าเลยจุดหมายเมื่อไรก็ต้องหาทางกลับตัวอีกยาว บางคนอาจกำลังคิดว่าทำไมไม่ขึ้นแท็กซี่ไปเลย บอกตรงๆ ก็อยากจะขึ้นแท็กซี่อยู่นะ แต่ในฐานะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องบริหารเงินแบบเดือนชนเดือนอย่างเรา คงไม่มีเงินมากพอที่จะขึ้นแท็กซี่ได้ตลอด ยิ่งระยะทางไกลยิ่งดูดเงินในกระเป๋าอย่างหนัก ดังนั้นจึงต้องหันมาพึ่งรถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับเงินในกระเป๋า         ล่าสุดผู้เขียนต้องเดินทางไปอาคารหนึ่งที่อยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ไม่มีบีทีเอส ไม่มีรถไฟใต้ดิน มีแต่รถโดยสารสาธารณะหรือรถเมล์เป็นตัวเลือกที่เหมาะกับเงินในกระเป๋า แล้วขึ้นรถเมล์สายอะไรล่ะ ลงป้ายไหนล่ะ แบบนี้ต้องพึ่งพากูเกิ้ล ค้นหาไปเรื่อยๆ จนได้ไปเจอกับแอปพลิเคชันหนึ่งที่มาตอบโจทย์คำถามทุกสิ่งอย่างได้เป็นอย่างดี นั่นคือ แอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Moovit         แอปพลิเคชัน Moovit ใช้งานได้ง่ายมากไม่ซับซ้อน มีรายละเอียดอยู่ 3 หมวด ได้แก่ หมวด Directions หมวด Stations และหมวด Lines        หมวด Directions เป็นหมวดที่ใช้สำหรับพิมพ์สถานที่ที่ต้องการเดินทางไปเพื่อทำการค้นหาเส้นทาง โดยพิมพ์และกดค้นหา แอปพลิเคชันจะแสดงเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ไปจนถึงจุดหมายที่ต้องการเดินทางไปถึง ซึ่งจะมีเส้นทางให้เลือกหลายเส้นทางพร้อมแจ้งเวลาในการเดินทาง ระยะทาง วิธีการเดินทางของแต่ละเส้นทางไว้ให้ตัดสินใจด้วย เมื่อเลือกเส้นทางได้แล้วสามารถกดเข้าไปดูแผนที่และข้อมูลรายละเอียดการเดินทางในแต่ละช่วงได้         ยกตัวอย่างเช่น จากจุดที่ยืนอยู่ให้เริ่มเดินไปประมาณ 500 เมตรจะเจอรถไฟใต้ดิน ขึ้นรถไฟใต้ดินไปลงสถานีลาดพร้าว ขึ้นรถเมล์สาย 92 โดยในการขึ้นรถเมล์นั้นจะมีรายละเอียดจำแนกจำนวนป้ายรถเมล์และชื่อป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่านให้ด้วย หรือเพื่อเพิ่มความมั่นใจสามารถกดปุ่ม Navigate เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันถึงจุดใดแล้วด้วยก็ได้        หมวด Stations เป็นหมวดที่ค้นหาป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ เรือคลองแสนแสบ บริเวณใกล้จุดที่ค้นหา โดยแอปพลิเคชั่นจะบอกสายรถเมล์ที่ผ่านป้ายรถเมล์นั้นด้วย และถ้ามีสายรถเมล์ที่ต้องการเดินทางก็สามารถกดเข้าไปดูเส้นทางพร้อมข้อมูลรายละเอียดการเดินทางได้ทันที         สุดท้ายหมวด Lines เป็นหมวดที่ใช้ในการค้นหาป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ เรือคลองแสนแสบทั้งหมดที่มีอยู่ แต่หมวดนี้จะมีความพิเศษเพิ่มสำหรับการค้นหารถเมล์ นั่นคือจะมีรูปป้ายรถเมล์ขึ้นบนแผนที่ซึ่งจะช่วยให้รู้เส้นทางชัดเจนยิ่งขึ้น         นอกจากนี้ยังมีแผนที่เส้นทางการเดินทางบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ และเส้นทางเดินคลองแสนแสบแบบออฟไลน์ให้ดาวน์โหลดเก็บไว้ในแอปพลิเคชั่นกรณีที่สมาร์ทโฟนไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย โดยขณะนี้แอปพลิเคชัน Moovit นี้สามารถใช้ได้ที่กรุงเทพมหานครและในเชียงใหม่เท่านั้น         การเดินทางด้วยรถเมล์ของผู้เขียนในครั้งนี้ แอปพลิเคชัน Moovit ช่วยได้ดีจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >