ฉบับที่ 196 ควบคุมอารมณ์ด้วยการฝึกการหายใจ

หลังจากฉบับที่แล้วได้แนะนำวิธีการประเมินสภาพจิตใจภายใต้สภาวะสังคมที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและความเครียดรอบตัว ฉบับนี้จึงนำเทคนิคอีกรูปแบบหนึ่งมาแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฝึกการหายใจที่ลึกและถูกต้อง การหายใจที่ถูกวิธีจะสามารถต่อสู้กับความวิตกกังวลและความเครียดได้ส่วนหนึ่งเช่นกัน การหายใจลึกๆ จะช่วยทำให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก จากเดิมที่มักเกิดความวิตกกังวลและความเครียดที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด ความโมโห อารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย ดังที่จะเห็นจากการรายงานข่าวของสื่อสำนักต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในรูปแบบคลิปวิดีโอ เนื่องจากเกิดการกระทบกระทั่งกันจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดยจะเห็นว่าข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดมาจากการควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ทั้งสิ้นแอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า BellyBio เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยตรวจสอบการหายใจและสอนวิธีการหายใจลึก ซึ่งจะทำให้อารมณ์เย็นลงได้ การใช้แอพพลิเคชั่นนี้ต้องอยู่นิ่งกับตนเองชั่วขณะ ไม่ควรทำกิจกรรมใดๆ เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นจะปรากฏคำแนะนำในการใช้ วิธีการใช้แอพพลิเคชั่นนี้คือ เมื่อกดเริ่มต้นแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้นำโทรศัพท์ไปเสียบไว้ที่ขอบกางเกง โดยให้หน้าจอหันออกด้านนอก ให้ด้านหลังโทรศัพท์สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะเริ่มทำงาน โดยจะใช้สัญลักษณ์เป็นเส้นคลื่นสีแดงและสีขาวขึ้นลงเพื่อบอกจังหวะในการหายใจของเรา เมื่อมีการหายใจที่นิ่งขึ้น แอพพลิเคชั่นจะเปลี่ยนหน้าจอเป็นตัวอักษร เพื่อบอกจังหวะการหายใจเข้าและการหายใจออกอย่างช้าๆ  ถ้าเส้นคลื่นยิ่งต่ำลงมากเท่าไร นั่นหมายความว่าการหายใจเป็นปกติ ซึ่งแสดงออกถึงอารมณ์ที่ปกติและสงบมากขึ้นการฝึกการหายใจจะทำกี่นาทีก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แอพพลิเคชั่น เมื่อจบการฝึกในแต่ละครั้ง แอพพลิเคชั่นจะทำการบันทึกสถิตินั้นไว้ โดยสามารถเรียกดูภายหลังได้ เพื่อนำมาเปรียบเทียบการหายใจและอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งสามารถทำให้เข้าใจอารมณ์ของตนเองได้เพิ่มขึ้นแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยฝึกให้การหายใจเข้าและออกเป็นไปอย่างถูกวิธี เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ดี  ถ้าหากรู้สึกว่ามีความวิตกกังวล ความเครียด ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ลองเปิดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อฝึกการหายใจเข้า การหายใจออกให้เป็นจังหวะ น่าจะช่วยทำให้อารมณ์สงบได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ประเมินความเสี่ยงสภาพจิตกับ Smile Hub

สังคมในปัจจุบันที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและเครียด เราจึงต้องพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น  เพราะหากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาพวกนี้ได้ ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่ไม่ดีตามมา  คำว่าสุขภาพจิตนั้น กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข อันเป็นผลจากการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบคลุมถึงความดีงามภายในใจ ภายใต้สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเกิดจากภาวะกดดันและความเครียดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่ราบรื่น สิ่งที่สามารถแก้ไขและทำได้นั่นคือ การฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการสะสมสารเอ็นดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุข ซึ่งควรฝึกปฏิบัติเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย และที่สำคัญควรรู้เท่าทันสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ ฉบับนี้ขอแนะนำแอพพลิเคชั่นประเมินความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต มีชื่อว่า “Smile  Hub” เป็นแอพพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิตที่ใส่ใจและห่วงใจสุขภาพจิตของประชาชน แอพพลิเคชั่น “Smile  Hub” จะแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ช่วงอายุ ได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 11 ปี วัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี วัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี และสูงวัย 60 ปีขึ้นไป โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นการทำแบบประเมินเพื่อประมวลผลลัพธ์ออกมา พร้อมกับมีวิดีโอแนะแนวทางการพัฒนาในส่วนของการประเมินกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 11 ปี จะให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำแบบประเมิน โดยแบ่งออกเป็นเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี จะเน้นโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก เด็กอายุ 3 ถึง 5 ปี และเด็กอายุ 6 ถึง 11 ปี จะเป็นแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์กลุ่มวัยรุ่น 12 ถึง 17 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ และแบบประเมินภาวะซึมเศร้า สำหรับกลุ่มวัยทำงาน 18 ถึง 60 ปี จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 4 ส่วน คือ แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้ใหญ่ และแบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น  ส่วนกลุ่มสูงวัย 60 ปีขึ้นไป จะแบ่งแบบประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุฉบับสั้น และแบบประเมินภาวะซึมเศร้าผู้เขียนไม่ได้คิดว่าการใช้แอพพลิเคชั่นนี้จะใช้เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิต แต่มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้ลองทำแบบประเมินเพื่อวัดสภาพจิต ซึ่งหมายถึงการมีความสามารถในการจัดการปัญหาในการดำเนินชีวิต มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และฝึกคิดและมองโลกในแง่บวก เพียงเพื่อให้รู้เท่าทันความเสี่ยงและป้องกันสภาวะสภาพจิตที่มีความกดดันและความเครียดของตนเองที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ZogZag กินเที่ยวนอนด้วยแอพพลิเคชั่นเดียว

ฉบับนี้ผู้เขียนขอพาเดินทางไปยังสถานีที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยแอพพลิเคชั่นทีให้บริการอย่างครบวงจร ซึ่งได้รวบรวมร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวไว้ในแอพพลิเคชั่นเดียวกัน โดยสามารถค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงจากจุดที่ยืนอยู่ได้ รวมทั้งสามารถค้นหาสิ่งที่รวบรวมไว้ได้ทั้งประเทศ มารู้จักแอพพลิเคชั่นนี้กันดีกว่า แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า ZogZag77 สิ่งแรกแอพพลิเคชั่นนี้จะให้เข้าสู่ระบบ โดยสามารถเลือกเข้าระบบโดยผ่านเฟสบุ๊คได้เลยหรือจะไม่เข้าสู่ระบบก็ได้ ภายในแอพพลิเคชั่นจะมีภาพแบ่งเป็นหมวดหมู่ ดังนี้ สถานที่ท่องเที่ยวใกล้คุณ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก โปรโมชั่นส่วนลด ของฝาก ซอกแซกพาเที่ยว วางแผนประกันภัยการเดินทาง ค้นหาตามภาค และเบอร์โทรฉุกเฉิน ทั้งนี้ขอพูดถึงแค่หมวด สถานที่ท่องเที่ยวใกล้คุณ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ซอกแซกพาเที่ยว ค้นหาตามภาค และเบอร์โทรฉุกเฉิน นะคะ สถานที่ท่องเที่ยวใกล้คุณ ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก จะเป็นหมวดที่มีความเชื่อมต่อกันระหว่างข้อมูล เพราะเมื่อเข้าไปในหมวดนี้แอพพลิเคชั่นจะค้นหาร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงให้ทราบ โดยจะบอกระยะทาง รายละเอียดพิกัด เบอร์โทรติดต่อ เวลาเปิดปิดทำการ และสามารถเชื่อมต่อกับแผนที่ของ google map ได้ด้วย แต่ผู้อ่านต้องมีการเปิดแชร์สถานที่บนสมาร์ทโฟนให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่ถ้าผู้อ่านต้องการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักในจังหวัดอื่นๆ แนะนำให้ไปที่หมวดค้นหาตามภาค ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็นภาคภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก หลังจากนั้นผู้อ่านสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการค้นหาได้ มาถึงหมวดของซอกแซกพาเที่ยว โดยแบ่งเป็นหมวดย่อย ดังนี้ เส้นทางแนะนำ เที่ยวตามใจ ททท. และแซ่บแซ่บ เริ่มจากเส้นทางแนะนำนั้นเป็นการแนะนำ เส้นทางการเดินทางสถานที่ท่องเที่ยวจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่งโดยมีแผนที่และรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น ในส่วนของเที่ยวตามใจจะเป็นการแบ่งประเภทการท่องเที่ยวออกเป็นทะเล ภูเขา มรดกโลก ร้านอาหารอร่อย และสถานที่ท่องเที่ยวช่วงกลางคืน  หมวด ททท. จะแบ่งสถานที่ท่องเที่ยวตามเดือนว่าในแต่ละเดือนนั้นจะมีประเพณีใดบ้าง สถานที่ใด และจังหวัดใด สุดท้ายแซ่บแซ่บ จะเน้นคนที่ชอบเดินทางค้นหาร้านอาหารที่อร่อยตามเส้นทางท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด  ท้ายสุดเบอร์โทรฉุกเฉินของแอพพลิเคชั่นจะรวมทุกเบอร์โทรตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาล เบอร์โรงพยาบาล เบอร์ธนาคาร เบอร์การขนส่งต่างๆ เบอร์น้ำไฟ เบอร์วิทยุเกี่ยวกับการจราจร เบอร์แหล่งสอบถามข้อมูลต่างๆ และเบอร์สายด่วน เหตุด่วน ฉุกเฉิน โดยสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการค้นหาเบอร์ต่างๆ ได้อีกด้วย ใครไม่ได้ค้นหาข้อมูลก่อนออกเดินทางลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาก็น่าช่วยให้พร้อมที่จะออกเดินทางได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

เทศกาลสงกรานต์กำลังมาเยือนในปี 2560 หลายคนอมยิ้มกับเทศกาลนี้เพราะได้หยุดยาวหลายวันทีเดียว ซึ่งบางคนวางแผนกลับบ้านต่างจังหวัด หรือบางครอบครัววางแผนท่องเที่ยว สิ่งที่สำคัญของเทศกาลนี้คือการเดินทาง ไม่ว่าจะวางแผนในเรื่องใดก็ต้องมีการเดินทางเกิดขึ้น และการเดินทางทุกครั้งจะต้องระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่ทุกคนอาจจะสนุกสนานจนลืมนึกถึงความปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้คาดหมาย เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็จะมีการบาดเจ็บร่างกายขึ้น  ฉบับนี้ผู้เขียนจึงนำแอพพลิเคชั่นที่จะสามารถช่วยเหลือในเบื้องต้นเกี่ยวกับปฐมพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นั่นคือ แอพพลิเคชั่น EMS 1669 ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส, โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนวิธีการปฏิบัติการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกาย วิธีใช้แอพพลิเคชั่นนี้ง่ายมาก เมนูจะปรากฏทั้งหมด 5 หมวด ได้แก่ หน้าแรกหมวดเรียกรถพยาบาล ภายในหน้านี้จะปรากฏปุ่มวงกลมสีแดงสำหรับกดเรียกรถพยาบาลเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หมวดที่สองจะเป็นวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน จะมีข้อมูลปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่างเช่น วิธีการปฏิบัติเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีปฏิบัติเมื่อผู้บาดเจ็บหมดสติกะทันหัน การเกิดอาการชัก อาการหัวใจวาย โรคลมแดด โรคหอบหืด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถผู้ปฐมพยาบาลสามารถปฏิบัติได้อย่างทันถ่วงที หมวดที่สามจะเป็นการเรียนรู้การคัดแยกภาวะฉุกเฉิน เพื่อเรียนรู้การรับมือกับอาการต่างๆ ที่จะเกิดกับผู้บาดเจ็บ ซึ่งส่วนท้ายของแต่ละอาการภายในหมวดนี้จะมีการรวบรวมคำถามคำตอบที่มีประโยชน์ไว้  หมวดที่สี่เป็นหมวดคัดแยกภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ปฐมพยาบาลสามารถตัดสินใจและประเมินสถานการณ์ โดยแอพพลิเคชั่นจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นเพื่อให้เป็นหลักในการประเมินว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนหรือไม่หมวดสุดท้ายเป็นหมวดโรงพยาบาล โดยภายในหมวดนี้จะรวบรวมโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณโดยรอบ พร้อมที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ระยะทางจากจุดเกิดเหตุไปยังโรงพยาบาล และแผนที่การเดินทาง เส้นทางการเดินทางที่เชื่อมต่อกับ google map ได้ทันที นอกจากนี้ได้รวบรวมโรงพยาบาลทุกจังหวัดในประเทศโดยมีทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนลองดาวน์โหลดมาศึกษาและเรียนรู้การปฏิบัติตนในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันนะคะ เพื่อเป็นความรู้และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือทุกครั้งที่มีการเดินทางควรมีความระมัดระวังควบคู่ไปด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 Transit การเดินทางด้วยรถไฟและรถไฟฟ้าแต่ละประเทศ

ตั้งแต่การคมนาคมสะดวกรวดเร็ว มีสายการบินเพิ่มขึ้นหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศมีทางเลือกมากขึ้น ประกอบกับราคาค่าเดินทางของสายการบินที่แข่งขันกัน จึงทำให้ราคาถูกมากกว่าเดิม และลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศถูกมากเมื่อเทียบเท่ากับราคาตั๋วเครื่องบินที่เดินทางภายในประเทศ จึงเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนหันเหไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นฉบับนี้ผู้เขียนขอเอาใจผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศต่างๆ แบบท่องเที่ยวด้วยตนเองสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้ผู้เดินทางสามารถเรียนรู้เส้นทางการเดินรถไฟและรถไฟฟ้าของประเทศนั้นได้ก่อนเดินทางไป โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อคู่มือเส้นทางการเดินรถแอพพลิเคชั่นนี้ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่น แต่ได้พัฒนาไว้หลายประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน อังกฤษ เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย จีน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน อินโดนีเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และอาจจะมีมากกว่านี้การค้นหาแอพพลิเคชั่นให้ใช้คำว่า Transit ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลด เช่น ประเทศเกาหลี ใช้คำว่า Korea Transit, ประเทศฮ่องกง ใช้คำว่า Hong Kong Transit, ประเทศสิงคโปร์ใช้คำว่า Singapore Transit เป็นต้น ภายในแอพพลิเคชั่นจะมีภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของประเทศกำกับ ผู้ใช้สามารถเลือกสถานีที่เริ่มต้นและสถานีปลายทางที่ต้องการไป โดยให้กดตรงสัญลักษณ์วงกลมของสถานีนั้นๆ แล้วเลือกว่าเป็นสถานีเริ่มต้นหรือสถานีปลายทาง และตรงสัญลักษณ์ยังปรากฏคำว่า hotels around the spot หมายถึง ข้อมูลโรงแรมที่ตั้งโดยรอบสถานี ซึ่งจะทำให้สะดวกในการค้นหาโรงแรมที่ใกล้กับสถานีรถไฟได้อีกด้วยเมื่อได้สถานีที่ต้องการเดินทางแล้วให้กดเลือก Depart now แอพพลิเคชั่นจะแสดงเส้นทางสายรถไฟที่ต้องเดินทางหรือต้องเปลี่ยนขบวน พร้อมทั้งช่วงเวลาในการเดินทางการ เพื่อใช้สำหรับคำนวณระยะเวลาในการเดินทางแต่ละทริปด้วยนอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะเดียวกัน โดยใช้การค้นหาแอพพลิเคชั่นคำว่า Rail ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลดเช่นกัน แอพพลิเคชั่นนี้จะเพียงแค่กดเลือกสถานีที่ต้องการเริ่มต้น หลังจากนั้นจะปรากฏเส้นทางการเดินทางที่ต้องผ่านแต่ละสถานีให้เลือกอีกครั้งแอพพลิเคชั่นทั้งสองรูปแบบมีเส้นทางการเดินทางของประเทศไทยเช่นกัน ชื่อแอพพลิเคชั่น Bangkok Transit และ Thailand Rail และขอแนะนำว่าผู้อ่านลองดาวน์โหลดรูปแบบการเดินทางของประเทศไทยมาศึกษาก่อน เพื่อให้เกิดความชำนาญและเข้าใจมากขึ้น เมื่อไปใช้แอพพลิเคชั่นของประเทศต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 สักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9

ภาพการต่อแถวเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความอาลัยของประชาชนที่หลั่งไหลเดินทางเข้ามาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ความหนาแน่นของมวลชนยังคงเป็นภาพที่ได้เห็นผ่านการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์และการรายงานสถานการณ์บนสังคมโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ บริเวณท้องสนามหลวงในเวลานี้จึงถือว่าเป็นศูนย์รวมของประชาชนทั่วประเทศที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางมาสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวง อาจจะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือสามารถต่อแถวจากจุดใด มีประตูตรงจุดใดบ้างบริเวณท้องสนามหลวง ผู้เขียนมีตัวช่วยที่จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่าสถานการณ์โดยรอบท้องสนามหลวงในขณะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สถานการณ์เป็นอย่างไรก่อนเดินทางผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ZONE  เพราะแอพพลิเคชั่นนี้จะบอกรายละเอียดต่างๆ ไว้ในบริเวณท้องสนามหลวงที่เกี่ยวกับการเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9  ได้แก่ ประตูทางเข้าเพื่อต่อแถวบริเวณสนามหลวง  เวลาในการเปิดประตูทางเข้าสนามหลวง  เวลาในการเปิดปิดการเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9  บอกข้อมูลการต่อแถว จุดหางแถวที่สามารถไปต่อแถวได้ในเวลานั้น เป็นต้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะทำให้รู้ความเคลื่อนไหวตลอดเวลา พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วอีกด้วยเมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่น ZONE  ให้กดไปที่ current  zone และให้เลือกข้อมูลเข้าร่วมพิธี ณ ท้องสนามหลวง โดยจะมีข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น  การรับบริจาคหรือการขอความช่วยเหลือต่างๆ  คำแนะนำการเข้าคิวเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 การแจ้งจุดขึ้นรถและจุดที่รถออก และจุดขึ้นรถฟรีบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง  จุดบริการมอเตอร์ไซต์  แผนผังเต็นท์ต่างๆ ที่ให้บริการในเรื่องอาหารและคอยช่วยเหลือประชาชนทั้งนี้แอพพลิเคชั่นมีในส่วนของกระดาษคำถาม (Board) เพื่อให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นแต่ละคนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เดินทางมาจากจังหวัดไหนในประเทศไทยก็ตาม  แอพพลิเคชั่นนี้จะสร้างความอุ่นใจขึ้นเพราะจะทำให้รู้จักพื้นที่โดยรอบท้องสนามหลวงมากขึ้น  และรู้ขั้นตอนการปฏิบัติตนเพื่อเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทางกับ “iTIC”

เดือนธันวาคมเป็นเดือนแห่งการเดินทางท่องเที่ยว เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมวางแผนหาแหล่งท่องเที่ยวในช่วงหยุดปีใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว แต่ในช่วงหยุดยาวแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการเดินทาง การวางแผนเส้นทางการเดินทางเพื่อไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงมีความสำคัญเช่นกัน ถ้ามีปัญหาในเส้นทางการจราจรก็คงทำให้ทริปการท่องเที่ยวไม่สนุกนัก ผู้เขียนได้เจอแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่น่าสนใจในการให้ข้อมูลเส้นทางการเดินทางบนท้องถนนในประเทศไทย จัดทำโดยกรมการขนส่งทางบก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “iTIC” เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏภาพแผนที่และเส้นทางการจราจร โดยบริเวณมุมบนขวามือจะมีสัญลักษณ์ 4 อัน ได้แก่ สัญลักษณ์รูปคน สัญลักษณ์รูปกล้อง สัญลักษณ์รูปกรวยจราจร และสัญลักษณ์รูปไฟจราจร โดยแต่ละสัญลักษณ์จะมีรูปแบบการบอกรายละเอียดที่แตกต่างกันไปสัญลักษณ์รูปคน จะเป็นปุ่มสำหรับรายงานเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ว่าบริเวณใดมีอุบัติเหตุ มีการก่อสร้าง หรือมีปัญหาใดเกิดขึ้นสัญลักษณ์รูปกล้อง จะเป็นปุ่มที่จะแสดงสัญลักษณ์บนแผนที่ เพื่อบอกว่าจุดใดมีกล้องบ้าง นอกจากนี้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นยังสามารถกดเข้าไปดูภาพของกล้องเพื่อให้ทราบสภาพการจราจรบนถนนบริเวณนั้นในเวลานั้นได้ทันทีสัญลักษณ์รูปกรวยจราจร จะเป็นปุ่มที่แสดงให้เห็นถึงการรายงานอุบัติเหตุ บริเวณสิ่งก่อสร้าง หรือปัญหาต่างๆ โดยสัญลักษณ์จะแตกต่างกันออกไปตามที่มีผู้รายงานเข้ามายังแอพพลิเคชั่นนี้ รวมถึงข้อมูลจากทางผู้จัดทำแอพพลิเคชั่นเอง อย่างเช่น รูปเครื่องอัศเจรีย์(เครื่องหมายตกใจ) รูปคนกำลังก่อสร้าง รูปรถเสีย เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดที่เกิดขึ้นได้สัญลักษณ์สุดท้ายคือ สัญลักษณ์รูปไฟจราจร เป็นการแสดงให้เห็นสภาพการจราจรบนท้องถนนตามเส้นทางต่างๆ ว่ามีสภาพการจราจรที่คล่องตัวหรือติดขัดมากเพียงใด โดยแอพพลิเคชั่นจะใช้สีในการแบ่งสภาพการจราจร อย่างเช่น สีเขียว สีส้ม และสีแดงอย่าลืมสำรวจเส้นทางและสภาพการจราจรก่อนออกเดินทางไปท่องเที่ยวกันนะคะ จะได้เที่ยวอย่างมีความสุข และไม่สะดุดกับการเดินทาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สุขพอที่พ่อสอน

“...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”“...ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ...”พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะนำมาบอกต่อผู้อ่านให้รู้และน้อมนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำมาเป็นคติเตือนใจให้มีความพอดีและเพียงพอนอกจากพระราชดำรัสที่ยกมาบางส่วนนี้แล้ว ผู้อ่านสามารถเข้าถึงพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่คัดตัดตอนมาเผยแพร่ลงในแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “สุขพอที่พ่อสอน”แอพพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” นี้ เกิดขึ้นจากสำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทมาเผยแพร่ โดยพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทจะมีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ การศึกษา การพัฒนา ความพอเพียง รู้จักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรมจริยธรรม ความสุขและความปรารถนาดี และความยุติธรรมภายในแอพพลิเคชั่นจะมีอยู่ 5 หมวด ดังนี้ หมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ หมวดเลือกข้อความ หมวดส่งต่อ และหมวดข้อมูล ซึ่งในทั้ง 5 หมวดนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกับ 9 เรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยจะมีความแตกต่างกันไป ก็คือ หมวดพระราชดำรัส จะเป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเลือกพระราชดำรัสที่ต้องการตามเรื่อง 9 เรื่อง หมวดนี้เป็นหมวดที่สำคัญ เนื่องจากผู้ใช้แอพพลิเคชั่นต้องเลือกเรื่องที่อยู่ภายในหมวดนี้ก่อน แล้วจึงไปอ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในหมวดอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องที่ได้เลือกไว้หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ จะเป็นภาพพระกรณียกิจในอิริยาบถต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเลือกโดยอิงจากภาพพระกรณียกิจเหล่านั้น สำหรับหมวดเลือกข้อความ จะแบ่งตามข้อความพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เพื่อให้สะดวกในการหาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการ หมวดส่งต่อ เป็นหมวดที่ใช้เมื่อผู้ใช้แอพพลิเคชั่นได้เข้าไปดูพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการภายในหมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ และหมวดเลือกข้อความ โดยมีความต้องการที่จะเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค หรือส่งต่อไปยังเมล หรือต้องการบันทึกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทนั้นไว้ ให้กดมาที่หมวดนี้ และหมวดสุดท้ายเป็นหมวดข้อมูล จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแอพพลิเคชั่นนี้พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ภายในแอพพลิเคชั่นนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยควรน้อมนำไปปฏิบัติกันโดยทั่วหน้า เพื่อให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามคำว่า “สุขพอที่พ่อสอน”

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 186 บันทึกเบอร์โทรศัพท์ด้วยการถ่ายรูปนามบัตร

    ผู้เขียนจำได้ว่าในสมัยก่อนที่การใช้โทรศัพท์มือถือยังไม่เป็นที่นิยมแบบในปัจจุบัน สมุดจดเบอร์โทรศัพท์เป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น ส่วนใหญ่มักจะนิยมซื้อสมุดจดเบอร์โทรศัพท์เล็กๆ พกติดตัวไว้เสมอ เมื่อต้องการติดต่อใครก็จะนำสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ออกมาดูและหาตู้โทรศัพท์สาธารณะหยอดเหรียญหรือใช้บัตรโทรศัพท์เพื่อติดต่อกับคนปลายสาย  แต่เมื่อกาลเวลาและยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ากันมากขึ้น โทรศัพท์มือถือจึงถูกนำมาใช้แทนที่สมุดจดเบอร์โทรศัพท์ที่เคยมีมา และจากวิวัฒนาการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือสามารถบันทึกเบอร์โทรศัพท์ได้มากทีเดียว ถ้าการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ลงในโทรศัพท์มือถือมีจำนวนไม่มาก ผู้อ่านก็สามารถพิมพ์บันทึกได้อย่างไม่ลำบาก แต่ถ้าต้องการบันทึกเบอร์โทรศัพท์มากกว่า 10 เบอร์ ก็คงต้องใช้เวลาในการบันทึกมากทีเดียว แล้วถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้น วันนี้ผู้เขียนขอแนะนำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้ง่ายในการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ลงในเครื่อง โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีนามบัตรที่มีรายละเอียดชื่อ เบอร์โทร เป็นต้นให้ผู้อ่านดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า CamCard เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นสามารถเริ่มต้นโดยการกดที่สัญลักษณ์กล้องถ่ายรูป จากนั้นให้ถ่ายรูปนามบัตรที่มีอยู่ หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะอ่านข้อมูลบนนามบัตรนั้น  ซึ่งจะแบ่งเป็นชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เบอร์โทรสาร เบอร์โทรศัพท์มือถือ ที่อยู่ เมล์ รวมถึงจะมีภาพแผนที่ของ google ระบุตำแหน่งของที่อยู่ด้วย จากนั้นให้กดบันทึก หรือทำการแก้ไขข้อมูลด้วยตนเองก่อนบันทึกก็ได้ ข้อมูลต่างๆ ภายในนามบัตรก็จะถูกบันทึกไว้ในแอพพลิเคชั่น พร้อมกับรูปถ่ายนามบัตรนั้นทันที นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ นั้นจะไปปรากฏอยู่ใน Contact รายชื่อในสมุดโทรศัพท์ในเครื่องในเวลาเดียวกัน  ในแอพพลิเคชั่นนี้จะสามารถเลือกวิธีการเรียงลำดับของนามบัตรที่ถูกถ่ายรูปไปได้ ทั้งเรียงโดยวันที่ที่ทำการบันทึก เรียงโดยรายชื่อ และเรียงโดยชื่อบริษัท เพื่อความสะดวกในการค้นหาภายหลังทั้งนี้ผู้เขียนขอแนะนำว่าแอพพลิเคชั่น CamCard จะมีประสิทธิภาพในการอ่านนามบัตรภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย แต่อย่างไรก็ตามก่อนการกดบันทึก ผู้อ่านก็สามารถแก้ไขรายละเอียดที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้องก่อนได้เช่นกันอย่างน้อยแอพพลิเคชั่น CamCard ก็ช่วยลดเวลาในการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ทีละเบอร์ได้ และเหมาะที่สุดสำหรับผู้อ่านที่ต้องติดต่อลูกค้าเป็นจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม >