ฉบับที่ 178 แก้กฎหมายซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด คุ้มครองผู้ซื้อบ้านและคอนโดมือ 2 ไม่ต้องจ่ายหนี้ส่วนกลาง

นี่คงเป็นข่าวดี สำหรับคนที่สนใจซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดผ่านช่องทางการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี ที่จะมีกฎหมายคุ้มครองคนซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดให้ได้รับความเป็นธรรมจากการขายทอดตลาดดียิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาความสนใจของผู้บริโภคที่จะซื้อบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดในตลาดดังกล่าวไม่ค่อยมีเท่าที่ควร เพราะเจอปัญหาที่ผู้ประมูลจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหนี้ส่วนกลาง ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นความผิดของผู้ประมูล แต่เนื่องจากลูกหนี้เดิมค้างชำระค่าส่วนกลางบวกกับดอกเบี้ยปรับที่เพิ่มขึ้น จนอาจจะมากพอๆ กับราคาประมูลขายห้องชุด ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการซื้อขาย กรมบังคับคดี ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปลดล็อกภาระผู้ซื้อห้องชุด ในที่สุดก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 เพิ่มเติม มาตรา 309 จัตวา ว่าด้วยการซื้อห้องชุดและบ้านจัดสรรจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 และเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น จึงขอสรุปโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ผู้ที่ประมูลซื้อที่อยู่อาศัย ประเภทอาคารชุด และ ที่ดินจัดสรร จากการขายทอดตลาดไม่ต้องรับภาระชำระหนี้ค่าส่วนกลางที่เจ้าของห้องเก่าค้างชำระไว้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ก่อนขายทอดตลาดเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดีที่จะต้องบอกกล่าวแก่ นิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลบ้านจัดสรร แล้วแต่กรณี เพื่อให้แจ้งหนี้สินค่าส่วนกลางที่ค้างชำระ ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้ง เพื่อออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ 2. เมื่อขายทอดตลาดแล้ว กรมบังคับคดีจะกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระหนี้คงค้าง เพื่อให้สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าของใหม่ได้ต่อไป โดยผู้ซื้อไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้   3. กรณีที่ นิติบุคคลฯ แจ้งว่าไม่มีหนี้ค้างค่าส่วนกลาง หรือ ไม่แจ้งภายใน 30 วันนับแต่ได้รับแจ้ง ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ หรือในกรณีบ้านจัดสรร หากยังไม่มีการตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อ 4. ขั้นตอนหลังจากนั้น เมื่อกรมบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ได้แล้ว ก็ให้นำเงินมาชำระให้นิติบุคคลฯ ก่อนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ โดยกรณีที่ดินจัดสรรแปลงนั้น ๆ ถูกระงับการโอนไว้เนื่องจากค้างหนี้ค่าส่วนกลาง ให้ถือเป็นอันยกเลิก โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีเหตุผลที่มาสำคัญเกี่ยวกับการบังคับคดีที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังมีข้อขัดข้อง ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เกิดกระบวนการโอนทรัพย์สินมีทะเบียนหรือเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว ที่สะดวกรวดเร็ว และเพื่อเป็นการคุ้มครองให้ผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องรับผิดค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากความรับผิดดังกล่าวเป็นของเจ้าของเดิม และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายไปแล้ว ทำให้แนวคำพิพากษาของศาลเดิมที่ ได้วางบรรทัดฐานไว้ให้ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะต้องรับผิดในหนี้ค่าส่วนกลางทั้งต้นเงินและค่าปรับที่เจ้าของเดิมค้างชำระจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8711/2554 หลักเกณฑ์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดนั้นกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงย่อมนำมาใช้บังคับแก่กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลด้วย มิใช่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าของห้องชุดเป็นผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายแม้เจ้าของร่วมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 กฎหมายมิได้ห้ามบุคคลอื่นชำระหนี้ดังกล่าวแทนเจ้าของห้องชุด ทั้งโดยสภาพห้องชุดเป็นอาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก บทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามบทกฎหมายและข้อบังคับเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม และต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คิดค่าปรับอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อเจ้าของร่วมไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ทั้งเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของคู่ความ เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. 213 วรรคสอง ดังนั้น คำพิพากษาข้างต้น จึงไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานในเรื่องความรับผิดของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดอีกต่อไป ซึ่งต่อจากนี้ไป ( หลังวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ) ผู้บริโภคที่ซื้ออาคารชุดหรือบ้านจัดสรรจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องกังวลกับหนี้ค่าส่วนกลางอีกต่อไปแล้ว และสามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ไม่จ่ายค่าผ่อนบ้านเพราะยังไม่สร้าง ต่อมาบอกเลิกสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบมัดจำหรือไม่

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามารู้จักสิทธิของผู้บริโภคที่ทำสัญญาซื้อบ้านหรืออาคารพาณิชย์กันครับ สมัยนี้ มีการสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากท่านลองสังเกตดีๆ จะพบว่าผู้ขายมักมีป้ายโฆษณาเปิดให้จองกันตั้งแต่ยังไม่เริ่มสร้าง ผู้บริโภคเมื่อเห็นว่าเป็นทำเลดี ก็รีบจองกันมากมาย กลัวจะเสียโอกาสได้ที่พักอาศัยอย่างที่ตนต้องการ  แต่เมื่อหลงจ่ายเงินจองบ้านไปแล้ว ตกลงทำสัญญากันเป็นหนังสือเรียบร้อย โดยไม่ได้สังเกตให้ดีว่าในสัญญาไม่ได้ระบุวันที่จะเริ่มก่อสร้าง และวันที่ต้องสร้างเสร็จเอาไว้ เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินงวดแรก จึงทราบว่า บ้านหรืออาคารพาณิชย์ที่วาดฝันไว้ ยังไม่เริ่มสร้าง เช่นนี้ จึงตัดสินใจไม่ชำระเงิน และบอกเลิกสัญญาเพื่อขอเงินจองคืน  แต่ผู้ขายก็มักชอบอ้างว่า ผู้บริโภคผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายเงินตามที่ตกลงกัน จึงขอริบมัดจำ เช่นนี้ มีสิทธิทำได้หรือไม่   เรื่องนี้ เกิดขึ้นกับผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งได้ทำสัญญาจะซื้อขายอาคาร โดยชำระเงินจองในวันทำสัญญา และตกลงชำระเงินดาวน์ 12 งวด ถึงกำหนดชำระเงินดาวน์งวดแรก ผู้ซื้อไม่ชำระเพราะผู้ขายยังไม่เริ่มก่อสร้าง จึงร้องเรียน สคบ.และบอกเลิกสัญญา ผู้ขายริบมัดจำ ผู้บริโภคจึงนำเรื่องขึ้นสู่ศาล และศาลได้ตัดสินให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี การไม่จ่ายเงินค่างวดยังไม่ถือว่าเป็นการทำผิดสัญญา ดังนั้น ผู้ขายไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ คำพิพากษาฎีกา 797/2556 แม้สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้แล้วเสร็จไว้ แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องรีบลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างที่แล้วเสร็จไว้ เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค เมื่อสัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้แต่เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยก็มีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้าง และก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักความสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 หาใช่การจะเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาแล้วเสร็จนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว เพราะจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว จึงมีหน้าที่ต้องรีบก่อสร้างโดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203  เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ดังนั้น การที่โจทก์ชำระเงิน 800,000 บาท แก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วย่อมมีความคาดหวังจะได้เห็นจำเลยปฏิบัติชำระหนี้ตอบแทน คือ การเริ่มลงมือก่อสร้าง แต่เมื่อจะครบกำหนดเวลาชำระเงินดาวน์งวดแรกได้ความว่า จำเลยยังไม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารพาณิชย์ทำให้โจทก์เกิดความไม่มั่นใจในโครงการของจำเลย เพราะเงินค่างวดที่จะจ่ายแต่ละงวดเป็นจำนวนมากถึงงวดละ 334,000 บาท โจทก์จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่างวดและไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จำเลยเองก็ไม่ได้แสดงความสุจริตโดยการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือหรือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดอีก จึงถือได้ว่าการชำระหนี้ของโจทก์มิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการริบมัดจำไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยไปแล้วพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 เมื่อพูดถึงเรื่องการวางเงินจองเพื่อซื้อที่ดินหรืออาคารพาณิชย์  โดยทั่วไป จะมีเขียนข้อตกลงในใบจองว่า จะไปทำสัญญาเป็นหนังสือกันอีกครั้งในภายหลัง จึงทำให้เข้าใจกันว่า ใบจองเป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้น เพื่อจะไปทำสัญญากันอีกครั้ง แต่เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลเรื่องหนึ่ง ถือว่าใบจองที่ทำกันเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา และในใบจองไม่ได้เขียนเรื่องการสิทธิบอกเลิกสัญญาไว้ จึงต้องใช้การเลิกสัญญาตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดว่าหากจะเลิกสัญญาต้องบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ก่อนโดยให้เวลาพอสมควร หากไม่ดำเนินการก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งในคดีตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีการซื้อขายที่ดินสองแปลง แปลงแรก ผู้ขายมีหนังสือแจ้งให้ผู้ซื้อมารับโอนแล้ว และให้มาชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด แต่ปรากฎว่าผู้ซื้อไม่ชำระเงิน ศาลจึงเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาของผู้ขาย ได้ทำตามกฎหมายแล้ว จึงถือว่าผู้ซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ แต่ที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ผู้ขายไม่ได้แจ้งให้ผู้ซื้อชำระเงิน และใช้สิทธิบอกเลิกทันที จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ซื้อผิดสัญญา และกรณีนี้ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงเลิกสัญญาต่อกัน จึงถือได้ว่าไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา ผู้ขายจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำของผู้ซื้อ ต้องคืนเงินมัดจำแก่ผู้ซื้อ คำพิพากษาฎีกาที่ 2569/2556โจทก์จองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จากจำเลยสองแปลงโดยวางเงินจองไว้แปลงละ 100,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการให้มัดจำและเป็นหลักฐานได้ทำสัญญากันขึ้นแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 แม้ตามใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์มีข้อความว่าให้ทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกัน และโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำก็ตาม แต่ใบจองระบุราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ไว้และระบุว่าวางเงินจองจำนวน 100,000 บาท กับระบุค่าโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยเป็นผู้ชำระซึ่งตามแผนผังที่ดินและภาพถ่ายอาคารพาณิชย์จำนวน 4 ภาพ ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ที่โจทก์จองซื้อเป็นแปลงหมายเลข 1314 และ 1315 แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์กันต่อไป จึงมีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ใบจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ ตามใบจองซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อความระบุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ หากโจทก์ประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์เพียงแปลงเดียว ทั้งโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ทั้งสองแปลงกับจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาโดยเหตุใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อหนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันมิได้กำหนดเวลาลงไว้แน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่กำหนดได้ หากจำเลยประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ชำระราคาที่ค้างชำระโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อน และจำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ประกอบมาตรา 369 การที่จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์เฉพาะแปลงหมายเลข 1314 เพียงแปลงเดียวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก่อน แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลากำหนด จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยเฉพาะที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1314 ชอบแล้ว และถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างบอกเลิกสัญญาต่อกันแม้ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายว่าสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์แปลงหมายเลข 1315 จึงไม่มีผลผูกพันกันต่อไป กรณีไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา จำเลยย่อมไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่ตกเป็นโมฆียะ

คดีนี้นายใจประกันชีวิตไว้กับจำเลย โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมา นายใจถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุ โจทก์ขอรับเงินจากจำเลย จำเลยปฏิเสธการจ่าย โดยอ้างว่านายใจไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ จึงใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต  ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง ระบุว่า “ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญานั้นก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป“ ซึ่งหน้าที่นำสืบในเรื่องนี้เป็นภาระการพิสูจน์ของผู้รับประกันภัย ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2557  ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกา หรือไม่ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคสอง เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่านายใจเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในขณะที่กรมธรรมประกันชีวิตมีผลคุ้มครอง  จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์  จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่ตกเป็นโมฆียะแล้ว  จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง ทางนำสืบของจำเลยคงมีแต่นายวันชัย ผู้รับมอบอำนาจช่วงของจำเลย และนายวิศิษฐ์ พนักงานของจำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริการผู้ถือกรมธรรม์มีหน้าที่ตรวจสอบและให้บริการแก่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นพยานเบิกความว่า นายใจเสียชีวิตภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่เริ่มต่ออายุสัญญา อยู่ในช่วงเวลาที่จำเลยสามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้ จำเลยจึงตรวจสอบสุขภาพของนายใจ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายใจมีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังก่อนที่จะขอต่อสัญญาประกันชีวิต ตามบัตรตรวจโรคของโรงพยาบาลบางมูลนากและเวชระเบียนผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลพิจิตร นายใจได้เคยตอบคำถามและแถลงข้อเท็จจริงในหนังสือรับรองสุขภาพเพื่อต่ออายุกรมธรรม์ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ขาดการชำระเบี้ย มีสุขภาพแข็งแรงและร่างกายสมบูรณ์ดีทุกประการไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ ไม่เคยได้รับการตรวจหรือแนะนำจากแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพหรือการเจ็บป่วยแต่ประการใด หากนายใจเปิดเผยข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบว่าเคยเข้ารักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง จำเลยจะไม่รับต่ออายุกรมธรรม์ จำเลยจึงใช้สิทธิบอกล้างสัญญา ซึ่งเป็นโมฆียกรรมและคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์แล้ว ตามหนังสือบอกล้างโมฆียกรรมและคืนเบี้ยประกันภัย อันเป็นการบอกล้างสัญญาภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่ขอต่ออายุสัญญาประกันชีวิตจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์   โดยพยานจำเลยทั้งสองปากมิได้เบิกความว่า โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด และจำเลยทราบว่านายใจเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งถือว่าเป็นมูลอันจำบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด คงได้ความเพียงว่าจำเลยได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิต ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันต่ออายุสัญญาเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้นำสืบว่า จำเลยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนหมายเหตุ ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยให้จำเลยผู้รับประกันภัย ที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตมีภาระการพิสูจน์ ( ฎีกาที่ 6711/2553)  แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ได้วางหลักเพิ่มเติมต่อไปว่า นอกจากผู้รับประกันภัยต้องมีภาระการพิสูจน์แล้ว ยังมีหน้าที่พิสูจน์ต่อไปตามข้อยกเว้นความรับผิดในมาตรา 865  วรรคสอง ให้ครบถ้วนสิ้นกระแสความด้วย กล่าวคือ ต้องนำสืบหรือพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ผู้รับประกันภัยได้บอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลเหตุอันจะบอกล้าง เมื่อใด ภายในกำหนดเวลา 1 เดือนแล้วหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ยังผ่อนไม่หมด แต่รถหาย ใครต้องรับผิดชอบ?

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องรถกันบ้าง หลายคนคงมีความจำเป็นต้องใช้รถ เพื่อไว้ทำงาน และความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็มีบางคนที่ยังผ่อนค่ารถอยู่ วันดีคืนดีรถหายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวเองก็เดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อรถสุดที่รักถูกขโมยไป ยังซ้ำร้ายถูกบริษัทไฟแนนซ์ตามทวงเงินค่าเช่าซื้อรถอีก หลายท่านก็สงสัย รถก็ไม่ได้ใช้ ควรผ่อนต่อไปหรือหยุดจ่าย ทำไมเรายังต้องรับผิดชอบอีก ประเด็นดังกล่าวนี้ เคยมีบริษัทไฟแนนซ์ ยื่นฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อที่รถหายต่อศาล และศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างสำคัญ คือ การที่รถหายไปนั้น มีผลให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่างวดรถนับแต่วันที่รถสูญหาย ดั่งที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบรถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมายจากคำพิพากษาดังกล่าว เห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อที่ทำกันนั้น ความจริงคือสัญญาเช่าประกอบกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า จึงต้องนำบทกฎหมายเรื่องการเช่าทรัพย์มาใช้ด้วย ซึ่งตามกฎหมายเช่าทรัพย์กำหนดว่า หากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป สัญญาเช่าสิ้นสุดลง กรณีเช่าซื้อก็นำเรื่องนี้มาใช้ ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อกันหายไป โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อจึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไป นอกจากนี้ ศาลได้ชี้ว่า มีข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้เช่าซื้อ กรณีรถหายไว้ด้วย ซึ่งจะ ผู้ให้เช่าซื้อมักจะเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการกำหนดไว้ในสัญญาว่า ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเสียหาย และค่าเช่าซื้อ กรณีสัญญาได้ยกเลิกกันไปไม่ว่าเหตุใดๆ ซึ่งข้อสัญญานี้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งศาลก็มองว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกัน แต่ที่ตกลงกันไว้ว่าหากทรัพย์สิน สูญหาย ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ก็ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ใช้บังคับกันได้ ในฐานะเบี้ยปรับ ซึ่งศาลสามารถปรับลดได้หากสูงเกินคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550 เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ความจริง เมื่อรถหาย ผู้ให้เช่าซื้อมักจะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากบริษัทประกันภัย โดยผู้บริโภคเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัย และบริษัทไฟแนนซ์เจ้าของรถเป็นผู้รับผลประโยชน์ การที่บริษัทไฟแนนซ์ ได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทประกันภัยแล้ว ยังมาเรียกเก็บเงินค่าเช่าซื้อกับผู้บริโภคอีก ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งหากได้รับไว้แล้ว ต้องคืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์โดยสรุป ก็คือผู้บริโภคควรที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง ตั้งแต่ตอนทำสัญญา ต้องอ่านข้อสัญญาให้ละเอียดด้วย หากเห็นว่าข้อไหนไม่เป็นธรรมก็ควรโต้แย้งหรือสอบถามตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพื่อจะได้ให้เขาแก้ไข เพราะเมื่อเกิดปัญหาใครจะต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาเปิดดูสัญญากันอยู่ดี และเมื่อเกิดเหตุรถหาย ท่านจะต้องรีบแจ้งความเพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงนำใบแจ้งความที่ได้ไปยื่นให้กับบริษัทประกันภัยที่ทำไว้รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์ด้วย และที่สำคัญคือ “ ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าซื้ออีก “ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อรถหายไม่จำเป็นจะต้องผ่อนชำระค่างวดต่อ เนื่องจากสัญญาถูกระงับไปแล้ว นับแต่วันที่รถหาย แต่จะต้องมีการมาคำนวณค่างวดรถที่จ่ายแล้วเป็นเงินเท่าใด และบริษัทประกันได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเป็นเงินเท่าใด ถ้า 2 จำนวนนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าราคาที่ประกันจะต้องจ่าย ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากเกินจำนวนที่ทำประกันรถหายก็จะต้องผ่อนชำระในส่วนที่เหลือแต่ในส่วนนี้ถ้ามีการนำคดีสู่ศาล ศาลมีอำนาจจะสั่งให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระต่อหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลโดยศาลจะกำหนดความเสียหายให้ตามสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 รถยนต์หายในห้างฯ บิ๊กซี

ฉบับนี้เป็นเรื่องรถยนต์หายอีกครั้ง ในฉบับก่อนๆ ผู้เขียนเคยเขียนถึงกรณีรถยนต์หายในห้างฯ แห่งหนึ่ง   เดิมแต่ละห้างฯ ใช้วิธีการแจกบัตรจอดรถสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยพนักงานของห้าง และค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของห้างฯ  ต่อมามีรถยนต์ของลูกค้าหายโดยที่บัตรเข้าออกยังอยู่ที่ตัวลูกค้า  ในคดีนั้น ต่อมามีการฟ้องร้องต่อศาลให้ห้างฯ และบริษัทฯ รปภ. ซึ่งห้างฯ จ้างมาดูแลความปลอดภัยในบริเวณห้างฯ ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์คันที่หาย  ในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า หากพนักงาน รปภ.ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตรวจสอบบัตรเข้าออกโดยละเอียดรอบคอบแล้วคนร้ายก็ไม่สามารถโจรกรรมรถยนต์ออกไปจากห้างได้  จึงพิพากษาให้ห้างฯกับบริษัท รปภ. ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้า  จากผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้บรรดาห้างสรรพสินค้าทั้งหลายเลิกแจกบัตรเข้าออกรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้าง(คงคิดว่าไม่แจกบัตรเข้าออก ก็ไม่ต้องตรวจบัตร จะได้ไม่มีกรณีที่จะอ้างว่าห้างประมาทเลินเล่ออีก)ต่อมามีผู้บริโภคไปใช้บริการของห้างฯ บิ๊กซี แล้วรถยนต์หาย  บริษัทประกันของลูกค้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้าไปแล้วช่วงสิทธิมาฟ้องห้างฯ บิ๊กซี กับ บริษัท รปภ. เป็นจำเลยร่วม ให้ ร่วมกันรับผิด  ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 คดีระหว่าง บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ กับ บริษัทบิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลย บริษัทพีเคเอฟเซฟตี้การ์ด จำกัด จำเลยร่วม ดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ ดังนี้ ลูกค้าที่มาใช้บริการยังสาขาต่างๆ ของจำเลยรวมทั้งสาขาลำลูกกาที่เกิดเหตุ  ซึ่งเป็นผู้ที่มาอุดหนุนสินค้าของจำเลย จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า หรือใช้บริการอื่นๆ หรือไม่  หากจำเลยจัดสถานที่จอดรถไว้กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอสะดวกสบาย ย่อมดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9) , 34 ยังได้บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่า การจัดสถานที่จอดรถของจำเลยเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ดีจำเลยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน และมีหน้าที่ดูแลด้วยตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยกันเอาเอง ได้ความจากนายชานุ หัวหน้าฝ่ายป้องกันความสูญหายของจำเลยสาขาลำลูกกาเบิกความว่า รถยนต์ของนายวินับหายไปขณะจอดอยู่ในลานจอดรถของจำเลยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552  เวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา และเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรสำหรับสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุยกเลิกไปแล้ว โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน แสดงให้เห็นว่าจำเลยเคยใช้วิธีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยโดยพนักงานและค่อนข้างรัดกุมเพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย  แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกจากลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลยและโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น  การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายขณะที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของจำเลยจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย  และที่จำเลยปิดประกาศไว้ว่า จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลย และการที่นายวินัยหรือลูกค้าซึ่งทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังคงเข้ามาจอดรถเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยจะถือว่าเป็นการเสี่ยงภัยเองของนายวินัยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ( ให้ใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ซื้อบ้านมือสอง บ้านเกิดชำรุดบกพร่อง ผู้ขายต้องรับผิดไหม ?

ในทุกวันนี้ ราคาของบ้านพัก คอนโด มีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันไปหาบ้านมือสองราคาถูก แต่เมื่อเลือกซื้อแล้ว อยู่ได้ไม่นานบ้านมีปัญหา เกิดความชำรุดต้องซ่อมแซม ผู้ขายมักจะอ้างว่าขายไปแล้ว บ้านเป็นของผู้ซื้อตนเองไม่เกี่ยว ส่วนผู้ซื้อก็มองว่า ตอนซื้อบ้านไม่เห็นความเสียหาย มันเกิดชำรุดจากภายใน ตรวจสอบไม่ได้ ขายของไม่ดี ต้องรับผิดชอบซ่อมให้ใช้อยู่อาศัยได้ เช่นนี้ใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ เคยมีผู้บริโภคฟ้องคดีต่อศาล ฟ้องว่าซื้อบ้าน แล้วพบว่าบริเวณชั้นสองของบ้าน เหล็กเส้นมีสนิมกัดกินคานบ้านชั้นสอง ทำให้บ้านเสียหาย เสื่อมราคาและประโยชน์ใช้งาน ฟ้องให้ผู้ขายรับผิด และศาลก็ได้ตัดสินว่าผู้ขายต้องรับผิดชอบ โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ขณะที่ขายผู้ขายรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของบ้านนั้นหรือไม่ ตามคำพิพากษาฏีกา ดังต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)อีกเรื่อง เป็นกรณีที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วพบภายหลังว่าผนังบางส่วนแตกร้าว เมื่อฝนตกมีน้ำซึมเข้ามาทำให้บ้านเสียหาย เช่นนี้ ศาลเคยตัดสินให้ผู้ขายต้องรับผิดชอบ แม้ว่าก่อนผู้บริโภคจะรับโอนบ้านได้มีการว่าจ้างบริษัทมาตรวจบ้านแล้วก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความจากคำพิพากษาของศาลฏีกาทั้งสองตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความชำรุดที่ไม่สามารถเห็นได้โดยง่าย แต่ต้องระวังว่า ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันพบเห็นความชำรุดบกพร่อง ไม่งั้นจะเสียสิทธิในการดำเนินคดี ซึ่งศาลเคยตีความว่าการทำบันทึกข้อตกลงว่าผู้ขายจะซ่อมแซมบ้านที่ชำรุด ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องคดีกับผู้ขาย โดยไปทำกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ถือว่าเป็นการทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพราะไม่ได้ทำกับผู้บริโภค เป็นผลให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อฟ้องเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ตามตัวอย่างฎีกาต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7053/2540การให้ถ้อยคำของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 เป็นการยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องอันเป็นการแสดงเจตนาจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คือโจทก์แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่นายวิชัย รังนกใต้ผู้แทนของจำเลยได้ทำบันทึกต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคือโจทก์ว่า จำเลยยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ร้องเรียน ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย เป็นเพียงหนังสือบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ถูกร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรปกครองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกรณีที่จำเลยให้ถ้อยคำไปตามหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนและมิใช่กระทำต่อเจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ ทั้งยังเป็นการยอมรับจะชำระหนี้ คือ ซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่อง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริโภคต้องไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกด้วย กรณีจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ซึ่งใช้บังคับขณะยอมรับจะชำระหนี้ (มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งการนำกฎหมายเอกชนมาปรับใช้กับกรณีนี้เพราะฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ที่ให้จำเลยชำระหนี้นั้นเป็นการฟ้องร้องที่โจทก์อ้างอิงสิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้บริโภคตรวจพบความชำรุดบกพร่องของบ้านที่จำเลยก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับสิทธิเรียกร้อง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2534 จึงเกิน 1 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจะบอกเลิกสัญญา ถือว่าบอกเลิกสัญญาหรือไม่

ตามสัญญาเช่าซื้อนั้น แม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดวันชำระค่าเช่าซื้อไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว  หลังจากนั้นผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดนัดและผู้ให้เช่าซื้อก็รับชำระเงินค่าเช่าซื้อนั้นไว้โดยไม่ทักท้วง ย่อมแสดงว่าในทางปฏิบัติ คู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญต่อไป ต่อมาหากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดก่อนแล้ว หากภายหลังผู้เช่าซื้อยังคงชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบตามกำหนด ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 บัญญัติว่า  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ และถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ “ ดังนั้น หากผู้ให้เช่าซื้อไม่บอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาและยึดทรัพย์คันที่เช่าซื้อคืนไม่ได้ กรณีตามหัวข้อบทความนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8238/2556 วินิจฉัยว่า เมื่อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 12 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า “การชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญของสัญญานี้” แล้วโจทก์ไม่อาจแปลข้อความนี้ให้เป็นอย่างอื่น ดังเช่นฎีกาของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาของการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญนั้นชอบแล้ว ดังนั้นแม้ในภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลา ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด หากโจทก์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อมาชำระภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 หนังสือที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองมิได้มีข้อความว่า โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1  คงมีข้อความเพียงว่าโจทก์ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 7 วัน หรือให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ พร้อมกับมีบทบังคับว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 387 แล้ว เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อถึง 51 เดือน แม้โจทก์ให้เวลาชำระหนี้เพียง 7 วัน ก็เป็นระยะเวลาพอสมควร โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 386 ให้ทำได้ ด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่าย และการตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แม้ถ้อยคำที่โจทก์ระบุในหนังสือบอกเลิกสัญญาว่า หากไม่ชำระหนี้โจทก์จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อความว่าโจทก์จะบอกเลิกสัญญา แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาอันแท้จริงของโจทก์เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโจทก์ต้องการบอกเลิกสัญญา จึงดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง ต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์ไม่ถือเอากำหนดเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเบี้ยปรับ รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน จึงไม่มีสิทธิคิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 บ้านไม่มีกำหนดเวลาสร้าง สัญญาไม่บอก จะหาทางออกอย่างไร

หลายคนฝันจะมีบ้านเป็นของตนเอง อดทนทำงานเก็บหอมรอมริบอย่างดี จนมีเงินพอ และตั้งใจว่าจะสร้างบ้านเป็นของตนเอง เพราะไม่ค่อยวางใจกับบ้านจัดสรร หรือพวกห้องชุดคอนโดต่างๆ ที่มักมีข่าวอยู่เสมอว่าสร้างไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงตามแบบ ใช้วัสดุไม่ได้คุณภาพ แต่เมื่อคิดจะสร้างเองก็ต้องมีการทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างมาดำเนินการ ทำสัญญากันตกลงกันว่าจะสร้างบ้านแบบไหนออกแบบบ้านโดยสถาปนิก และให้ผู้ว่าจ้างเป็นคนเลือกสี วัสดุต่างๆ ซึ่งก็เคยมีปัญหาเกิดขึ้นว่า ตอนตกลงทำสัญญาจ้างปลูกสร้างบ้านนั้น กำหนดแต่เรื่องเงินค่าก่อสร้าง ว่าจะจ่ายกันกี่งวด เป็นจำนวนเท่าใด แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จเอาไว้ เช่นนี้ ผู้รับจ้างก่อสร้าง จะต้องสร้างให้เสร็จเมื่อใด  ถ้าเวลาล่วงเลยผ่านไปนาน  บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บ้านจะมีสิทธิทำอะไรบ้าง ในเรื่องนี้ ก็เคยมีการฟ้องคดีต่อศาล เนื่องจากบ้านยังสร้างไม่เสร็จ ทั้งสัญญาจ้างก่อสร้างก็ไม่มีเขียนไว้ว่ากำหนดเวลาสร้างบ้านต้องภายในกี่เดือน กี่ปี ผู้ว่าจ้างก็อยากเลิกสัญญา เรียกค่าเสียหาย   โดยคดีดังกล่าว ศาลฏีกาได้วางแนวตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1378/2546 สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านระบุว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญา150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีก 1,433,190บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ภายในวันที่ 20 ของเดือน ส่วนที่เหลือ 3,694,110บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น แม้สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้ แต่ก็อนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระไปแล้ว แต่จำเลยก็ไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้าง โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลย และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้าน เมื่อตามหนังสือสอบถามโจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้าน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า"เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม...." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้" และมาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" ดังนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยของเงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์ไว้ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับชำระแต่ละงวดจนกว่าจะใช้คืนเสร็จแก่โจทก์  จากคำพิพากษาของศาลฏีกาดังกล่าว ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า แม้กำหนดเวลาปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ จะไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา ก็สามารถใช้เรื่องกำหนดเวลาผ่านชำระค่างวดมาเป็นตัวกำหนดได้ เพราะสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านนั้น ตามกฎหมาย ถือว่าเป็น “ สัญญาจ้างทำของ “ อย่างหนึ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของสัญญาคือผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ดังนั้น เมื่อผู้ว่าจ้างชำระเงินไปแล้ว ผู้รับจ้างก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างได้ผ่อนชำระค่างวดบ้านไปด้วย ในเมื่อไม่ได้ดำเนินการทั้งที่รับค่าจ้างไปแล้ว จนบ้านยังไม่ได้ปลูกสร้าง อีกทั้งมีเงื่อนไขว่าจะชำระเงินงวดสุดท้าย ต่อเมื่อบ้านได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น เมื่อบ้านยังสร้างไม่เสร็จ จึงถือว่าผู้รับจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา ตกเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วคืนได้   ซึ่งในฏีกาดังกล่าว ท่านผู้พิพากษาไพโรจน์ วายุภาพ  ได้มีหมายเหตุท้ายฏีกาอย่างน่าสนใจ ดังนี้  หมายเหตุ  สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านเป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องทำการปลูกสร้างบ้านจนเสร็จ จึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ตราบใดที่งานไม่เสร็จ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่การปลูกสร้างบ้านย่อมต้องใช้เวลานานพอสมควรจนกว่าจะเสร็จจึงจะถือว่าชำระหนี้ครบถ้วน แต่จำเลยกลับไม่ทำการปลูกสร้างบ้านเลย เมื่อโจทก์ไม่ต้องการผูกพันกันต่อไปจึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืน ซึ่งการบอกเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โดยจำเลยต้องตกเป็นผู้ไม่ชำระหนี้แล้วโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ถ้าจำเลยยังไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอีก โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จำเลยตกเป็นผู้ไม่ชำระหนี้แล้วหรือไม่ ปรากฏว่าสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ซึ่งถ้านำมาตรา 203 มาปรับ ก็ต้องถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระโดยพลันแล้ว จำเลยต้องลงมือก่อสร้างบ้านทันที เมื่อจำเลยไม่ทำการปลูกสร้างบ้านเลยย่อมถือว่าเป็นผู้ไม่ชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยลงมือก่อสร้างบ้านภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรได้ ถ้าจำเลยไม่ลงมือทำการปลูกสร้างบ้านภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา 387 ต่างกับการที่จำเลยลงมือก่อสร้างบ้านแล้วและทำงานไปเรื่อย ๆ ตามขั้นตอนของการก่อสร้าง ย่อมจะถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้หาได้ไม่ กรณีไม่น่าจะต้องพิจารณาว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยต้องปลูกสร้างบ้านได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่ได้รับจากโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้างดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ส่วนการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยไปถูกต้องทุกงวดก็คงเพียงแต่เป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่เสียสิทธิในการบอกเลิกสัญญาเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เช็คเดินทางหาย แต่ผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย ผลจะเป็นอย่างไร

คดีนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อเช็คเดินทางของโจทก์ 50 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวแทนของโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างทันทีที่ได้รับเช็ค หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวโจทก์จะไม่คืนเงินให้ ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ว่าเช็คเดินทางทั้งหมดหายไปโดยจำเลยลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างไว้แล้ว โจทก์คืนเงินให้แก่จำเลยไป ต่อมามีผู้นำเช็คเดินทางดังกล่าวทั้งหมดไปขึ้นเงินกับธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งโดยปรากฏว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในเช็คเดินทางดังกล่าวไว้ตามที่แจ้งความเท็จแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องศาลให้บังคับจำเลยให้คืนเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,287,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเรียกค่าเสียหายอีก 100,000 บาท ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2555 ได้วินิจฉัยว่า “...การที่มีการซื้อเช็คเดินทางซึ่งต้องยอมเสียเงินซื้อในอัตราร้อยละหนึ่ง ก็เพราะมีความปลอดภัยกว่าการนำเงินสดติดตัวไป และถ้าเช็คหายไปก็สามารถแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คได้ แต่เหตุที่มีผู้นำเช็คเดินทางของโจทก์ที่จำเลยซื้อ ไปเบิกเงินต่อธนาคารตามเช็คและธนาคารตามเช็คได้จ่ายเงินไป ทั้งๆ ที่จำเลยแจ้งโจทก์แล้วว่าเช็คเดินทางหายไปและโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนตามเช็คคืนให้จำเลยแล้วนั้น เป็นเพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งธนาคารตามเช็คจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์นั่นเอง  ส่วนเงื่อนไขการซื้อเช็คเดินทางที่กำหนดให้ผู้ซื้อเช็คลงลายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้ายของเช็คแต่ละฉบับทันทีที่ได้รับเช็คนั้น เป็นเพียงเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับเช็คดังกล่าวโดยไม่ชอบไม่สามารถเบิกเงินไปได้โดยง่าย เพราะจะมีการตรวจสอบเปรียบเทียบลายมือชื่อด้วย ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อตามเงื่อนไขดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อาจยกเป็นเหตุมาปฏิเสธไม่จ่ายเงินคืนจำเลยตามเงื่อนไขการซื้อเช็คไม่ได้ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยไม่ได้ลงรายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้าย แต่กลับแจ้งโจทก์ว่าลงลายมือชื่อแล้วย่อมเป็นเหตุให้โจทก์คาดว่าจะไม่มีใครนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงิน จึงไม่ได้แจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค และจำเลยทิ้งเช็คไว้ในกระเป๋าใส่กล้องถ่ายรูปซึ่งวางไว้ในรถเข็นกระเป๋าเดินทางหน้าห้องน้ำที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่นำติดตัวไปด้วยจึงทำให้หายไปถือได้ว่าจำเลยมิได้ระมัดระวังมิให้เช็คสูญหายหรือถูกลักขโมยเช่นเดียวกับที่จักต้องกระทำต่อเงินสดของตน ตามเงื่อนไขการซื้อในกรณีขอคืนเงิน จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายด้วย โดยเห็นสมควรให้ร่วมรับผิดกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442  ประกอบมาตรา 223” คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 947,000 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แสดงว่าพอใจในความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายดังกล่าวคิดเป็นเงิน 473,500 บาท พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 473,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 มิถุนายน 2540)เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ประกาศ “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” มีผลตามกฎหมายหรือไม่ ?

สวัสดีครับ ผู้อ่านทุกท่าน  วันนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่อง ป้ายต่างๆ ที่ชอบมีติดตามโรงแรม หรือตามที่จอดรถ ว่า “ ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน “ เคยสงสัยกันไหมครับว่าป้ายพวกนี้ มีผลทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด อย่างแรกที่เรารู้กันคือป้ายพวกนี้ คนที่ทำขึ้นมักจะเป็นทางเจ้าของโรงแรม หรือ ห้างร้านต่างๆ ที่เราเข้าไปใช้บริการ เวลาเราไปใช้บริการพักในโรงแรมต่างๆ บ่อยครั้งต้องเดินทางไปหลายที่จึงต้องมีกระเป๋าเดินทาง เสื้อผ้า และทรัพย์สินอีกมากมาย ที่ต้องใช้ติดตัวในการเดินทาง แน่นอนว่า เราต้องนำสิ่งของ สัมภาระต่างๆ เหล่านี้ เก็บไว้ในห้องพัก หรือต้องนำรถยนต์มาจอดไว้ในโรงแรม ระหว่างที่เราเข้าพักหรือเราต้องเดินทางออกไปข้างนอก ในความเข้าใจของผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการโรงแรม ย่อมเข้าใจว่า  หน้าที่ของโรงแรมไม่ใช่เป็นเพียงเปิดห้องพักเพื่อหลับนอนชั่วคราวเท่านั้น แต่ควรช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินให้แก่ผู้เข้าพักด้วย   แต่หลายโรงแรมก็มักชอบติดป้ายประกาศ เพื่อยกเว้นความรับผิดของตนเอง ในทำนองว่า “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” เช่นนี้ ผู้บริโภคที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองอีกหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้มีการโต้เถียงกันจนเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เป็นคดีที่ ผู้บริโภคไปใช้บริการในโรงแรมแห่งหนึ่งแล้วได้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม มีการล็อครถอย่างดี แต่เมื่อเสร็จธุระในโรงแรม กลับมาปรากฎว่ารถหายไป จึงฟ้องร้องโรงแรมให้รับผิดชอบ ซึ่งศาลได้ตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2544 ลานจอดรถเป็นของจำเลยจัดให้ผู้มาพักโรงแรมของจำเลยได้จอดรถ น. ซึ่งเป็นคนเดินทางจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบริเวณลานจอดรถดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ส่วนที่จำเลยปิดประกาศไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สิน ก็ไม่ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดตามประกาศดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 677 และในการจอดรถ น. ได้ปิดล็อกประตูรถทุกบานแล้วเพราะเป็นระบบเซ็นทรัลล็อก ย่อมถือได้ว่า น. มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 675 วรรคสาม รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป เท่านั้น ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ตาม ยังถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง น. ไม่จำต้องแจ้งฝากรถยนต์ไว้ต่อจำเลย จากคำพิพากษาฏีกานี้ ทำให้เราเห็นว่า  ป้ายประกาศของทางโรงแรม ที่มีข้อความยกเว้นความรับผิด กรณีทรัพย์สินสูญหายนั้น ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเป็นป้ายที่ทางโรงแรมเป็นผู้กำหนดไว้เพียงฝ่ายเดียว ทางผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการ เขาไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 677 ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่ อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น” อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกนิดว่า ถ้าเป็นทรัพย์สิน ของมีค่า ผู้เข้าพักต้องแจ้งให้ทางโรงแรมทราบและฝากไว้กับทางโรงแรม   โดยศาลมองว่า รถยนต์ เป็นเพียงทรัพย์สินที่มีราคาค่อนข้างสูงจริง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นของมีค่า ซึ่งทรัพย์สินที่มีค่าในที่นี้ คือ เงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ หากแขกพักอาศัยหรือคนเดินทางนำเข้ามาในโรงแรมแล้วเก็บรักษาไว้เองและเกิดการสูญหายหรือเสียหายไปเจ้าสำนักโรงแรมจำกัดความรับผิดไว้เพียง 5,000 บาท ทั้งนี้แม้ว่าของมีค่านั้นจะมีราคาเกินกว่า  5,000 บาทก็ตาม แต่หากสิ่งของมีค่ามีราคาไม่ถึง 5,000 บาท เจ้าของสำนักย่อมรับผิดตามแต่เพียงราคาของสิ่งนั้น มิใช่รับผิด 5,000 บาท     แต่อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเจ้าของโรงแรมจะต้องรับผิดไปเสียทุกกรณี  เพราะหากความสูญหายนั้น เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือสภาพของทรัพย์สินนั้นเอง อันเกิดจากคนเดินทาง เจ้าของทรัพย์สินหรือบริวารที่พามาด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 ที่บัญญัติว่า “เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้าอัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลาย อันเกิด แต่เหตุสุดวิสัยหรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้นหรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเองหรือบริวารของเขาหรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ” กรณีนี้ หากผู้บริโภคเห็นป้ายแล้วไม่เกิดความสงสัย เชื่อตามข้อความดังกล่าว ก็จะไม่กล้าเรียกร้องให้โรงแรมรับผิด  ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความเท่าทันในเรื่องเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ  

อ่านเพิ่มเติม >