ฉบับที่ 146 ที่ดินข้างเคียงตอกเข็มจนบ้านทรุด ใครต้องรับผิดชอบ

การตอกเสาเข็มส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินที่จะก่อสร้างจะไปจ้างให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการให้  ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างทำของมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587  ผู้รับจ้างมีหนี้ที่จะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ และส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติทั่วไปในลักษณะจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิที่จะออกคำสั่งบังคับบัญชาผู้รับจ้างดังนายจ้างกับลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน  ผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิควบคุมวิธีการทำงาน  จึงถือว่าเป็นการงานของนายจ้างเอง ฉะนั้นโดยหลัก ผู้ว่าจ้างทำของจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่ผู้รับจ้างก่อขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่จ้าง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ซึ่งบัญญัติว่า  “ ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง “ มาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2554  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...แม้งานตอกเสาเข็มเสร็จแล้ว แต่การก่อสร้างบ้านยังคงดำเนินต่อมา ตราบใดที่การก่อสร้างโดยรวมยังไม่เสร็จสิ้นก็ถือว่าโจทก์ยังถูกทำละเมิดอยู่อายุความละเมิดเริ่มนับเมื่อการก่อสร้างโดยรวมเสร็จสิ้นแล้ว  โจทก์ฟ้องคดียังไม่พ้นปีหนึ่ง นับแต่วันก่อสร้างโดยรวมเสร็จสิ้น  สิทธิของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ   การตอกเสาเข็มในการสร้างบ้านของจำเลยที่ 1 นั้นมิได้ใช้แผ่นเหล็กชีทไพล์ (Steel Sheet Pile) ย่อมส่งผลให้มีแรงสั่นสะเทือนไปยังพื้นที่ข้างเคียง จึงเป็นเหตุให้พื้นที่โรงจอดรถและถนนรอบบ้านของโจทก์ทรุดตัวและแตกร้าว และถึงแม้จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 ว่าจ้างบริษัท ป.จำกัด ทำการงานในส่วนการตอกเสาเข็มซึ่งล้วนเป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดให้ใช้วิธีตอกเสาเข็มเพื่อจะได้เสียค่าสินจ้างน้อยกว่าวิธีใช้เสาเข็มเจาะ  จำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้กำหนดให้บริษัท ป. จำกัด ใช้วิธีตอกเสาเข็มตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงล้วนเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  จึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันบริษัท ป.จำกัด ได้ก่อให้เกิดแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้กระทำการดังกล่าวในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ดังนั้น ความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 และโจทก์ย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ว่าด้วยตัวแทน  จำเลยที่  2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167  ประกอบมาตรา 425 และมาตรา 427 ที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 ผลของการซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน (2)

เมื่อนิติกรรมการซื้อขาย(ที่ดิน) เป็นโมฆะ ผู้ซื้อจะเรียกเงินมัดจำหรือเงินค่าที่ดินคืนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่ารู้หรือไม่รู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน ศึกษาได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้   กรณีรู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6399/2551 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทราบดีมาแต่แรกว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนั้น มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี แต่โจทก์ก็ยอมตนเข้าผูกพันทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฏหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินมัดจำไป 400,000 บาท จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ มาตรา 411 บัญญัติว่า บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่  โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ โจทก์และจำเลยทราบดีว่าที่ดินมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน  แต่ก็ซื้อขายกันโดยหลีกเลี่ยงข้อกำหนดดังกล่าวโดยวิธีทำสัญญาจะซื้อจะขาย อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งยังจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้จะซื้อเป็นการอำพราง และทำพินัยกรรมไว้ว่าเมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นของจำเลย ซึ่งนิติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นโมฆะมาแต่ต้น มิใช่กรณีที่เป็นโมฆียะแล้วมาถูกบอกล้างในภายหลัง อันที่จะทำให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม เงินค่าที่ดินบางส่วนที่จำเลยชำระไปจึงเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะได้รับเงินดังกล่าวคืนจากโจทก์ “ กรณีไม่รู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2889/2553 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ขณะโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 อีก  การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเพราะต้องการที่ดินพิพาทโดยไม่รู้มาก่อนว่าที่ดินพิพาท อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่กำหนดข้อห้ามโอนไว้  กรณีดังกล่าวไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหรือกระทำการชำระหนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฏหมายหรือศีลธรรมอันดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 จำเลยที่  1 จึงต้องคืนเงินค่าที่ดินที่ได้ชำระมาแล้วให้แก่โจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ผลของการซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอน (1)

  ที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีราคา สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพ และทรัพยากรที่ดินดังกล่าวมีจำนวนจำกัดเมื่อเทียบกันกับจำนวนประชากรที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น  คนจนก็อยากจะมีที่ดินเมื่อรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ก็เกิดปัญหาประชาชนที่อ้างปัญหาความยากจนไม่มีที่ดินทำกินบุกรุกป่าสงวนหรือป่าเสื่อมโทรมเกิดเป็นปัญหามวลชน   ดังนั้นบางครั้งรัฐก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกเอกสารสิทธิต่างๆ ให้หลายประเภทเพื่อแก้ปัญหาที่ทำกินของราษฎร  ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โฉนดครุฑดำ ครุฑแดง ครุฑเขียว(ซึ่งความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่โฉนดก็ได้) แต่ด้านหลังของเอกสารดังกล่าวมักจะมีตัวพิมพ์สีแดงเป็นข้อกำหนดห้ามโอนในชั่วระยะเวลาหนึ่งเช่น สิบปี ฯลฯ ทั้งนี้รัฐมีความประสงค์ที่จะให้ราษฎรมีที่ดินทำกินและเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินดังกล่าวตกไปอยู่ในมือของนายทุน แต่ก็มีผู้ที่อยากจะได้ที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวทำนิติกรรมต่างๆ นานาหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าว ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร ศึกษาได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาตามข้อกำหนดห้ามโอน เป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอน ย่อมตกเป็นโมฆะ “   แม้จะตกลงให้มีการจดทะเบียนโอนกันเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตกเป็นโมฆะเช่นกัน ( ฎ.5083/2537 , 36/2549) กรณีเป็นที่ดินมือเปล่า ก็จะถือว่าสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบไม่ได้ ( ฎ.9087/2539 , ฎ.3133/2538) ถ้าได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว ก็ถือว่าผู้ซื้อครอบครองที่ดินนั้นไว้แทนผู้ขาย (ฎ.3372/2538 , ฎ.1765/2548) แม้พ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้วก็ตามผู้ซื้อก็ไม่มีสิทธิในที่ดิน (ฎ.3372/2538) บางรายทำสัญญาไว้หลายชั้น เช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้โอนหลังพ้นกำหนดห้าม และผู้ขายยังจดทะเบียนการเช่าให้ผู้ซื้อ และทำพินัยกรรมไว้ว่าหากผู้ขายตายให้ที่ดินตกเป็นของผู้ซื้อ นิติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นโมฆะมาแต่ต้น (ฎ.1365/2554)   เมื่อนิติกรรมการซื้อขายเป็นโมฆะ ผู้ซื้อจะเรียกเงินมัดจำหรือเงินค่าที่ดินคืนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่ารู้หรือไม่รู้ถึงข้อกำหนดห้ามโอน ซึ่งจะขอต่อเรื่องราวในฉบับหน้าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 2

  ต่อกันจากคราวก่อน เรื่อง ฝากครรภ์ไว้กับโรงพยาบาลแล้ว หากเกิดปัญหาขึ้น มีทางสำหรับการชดเชยเยียวยาครับ มาดูตัวอย่างกรณีศึกษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2554 คดีระหว่าง นางสุภีย์  ศรีบุญเพ็ง โจทก์ กับ กระทรวงสาธารณสุข จำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ การประเมินสถานการณ์ที่จะทำคลอดให้โจทก์ของ ส. แพทย์เวรผิดพลาด เมื่อโจทก์ไม่สามารถคลอดเองโดยธรรมชาติ ส. ได้ทำคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถคลอดทารกออกมาได้  เป็นเหตุให้ทารกตกอยู่ในภาวะเครียดและถ่ายขี้เทาปนออกมาในน้ำคร่ำจนมาสู่การสำลักน้ำคร่ำ ปอดแตก และสมองขาดออกซิเจนจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ประกอบกับโจทก์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะคลอดทารก แต่ต้องรอทำการคลอดเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร  เมื่อแพทย์และพยาบาลเริ่มทำการคลอดให้โจทก์ด้วยวิธีการต่างๆ  ไม่ว่าการให้คลอดเองตามธรรมชาติและต่อมาโดยใช้เครื่องสุญญากาศดูดทารก ก็ไม่อาจนำทารกออกมาได้  ทั้งๆที่ก่อนคลอดสุขภาพโจทก์และทารกอยู่ในสภาพปกติ  ต้องถือว่าการตายของทารกมีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการทำคลอดที่ล่าช้าเนิ่นนานเกินไปและการเลือกใช้วิธีการทำคลอดที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของโจทก์อย่างทันท่วงที จึงเป็นการไม่ใช้ความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนและความระมัดระวังตามแกติวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาลอย่างเพียงพอ นับเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่จำเลยต้องรับผิดชอบ"   หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,800,000  บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 120,000 บาท  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยใช้เงิน 360,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืนโดยให้ใช้ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องทำนองเดียวกันนี้( ข้อเท็จจริงเหมือนกันเลย)  และผู้เสียหายไปฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ในชั้นไกล่เกลี่ย กระทรวงสาธารณสุขยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย 200,000 บาท  โรงพยาบาลที่เกิดเหตุคือ โรงพยาบาลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  สาวท้องแก่ใกล้คลอดขอให้เลือกโรงพยาบาลดีๆ หน่อยก็แล้วกัน   พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538 “ หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย “ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 1

โรงพยาบาล ของรัฐในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีสังกัดดังนี้ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.มหาวิทยาลัยของรัฐ 3.หน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ เช่น  กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา 4.หน่วยงานทหาร ตำรวจ 5.รัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลรถไฟ โรงพยาบาลยาสูบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2538  มาตรา 4 บัญญัติว่า “ ในพระราชบัญญัตินี้ “ เจ้าหน้าที่ “ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด “   “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย“ และตาม มาตรา 5 บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เข้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่  ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง“ มาตรา 6 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ “ มีปัญหาต่อไปว่าผู้เสียหายจะต้องฟ้องยังศาลไหน ศาลปกครอง หรือ ศาลยุติธรรม ? มีหลักดังนี้ กรณีต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรม คือ 1.เป็นการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ( เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ ) 2.เป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่มิใช่เกิดจาก  การใช้อำนาจตามกฎหมายปกครอง , การออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น  ,  จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร  กรณีต้องฟ้องต่อศาลปกครอง คือ 1. การกระทำละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 2.การกระทำละเมิดตาม (1) เกิดจาก การใช้อำนาจตามกฏหมายปกครอง , การออกกฏ คำสั่งทางปกครอง หรือ คำสั่งอื่น , จากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ , จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การที่แพทย์โรงพยาบาลของรัฐผ่าตัด/รักษาโรคแก่คนไข้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองหรือไม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า  การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ประจำโรงพยาบาล  ถือว่าเป็นการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามปกติ เป็นการกระทำทางกายภาพ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่   68/2544 , 70/2544, 213/2545, 250/2545,566/2545,546/2547   คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ (2/2545, 14/2548) ครั้งหน้า เราจะมีกรณีศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 สัญญาไม่เป็นธรรมกรณีบัตรเครดิตหาย

ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่อง ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องรับผิดต่อธนาคารฯ ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในการยื่นคำขอมีบัตรเครดิตนั้นผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาตามที่ทางธนาคารฯ เจ้าของบัตรเครดิตได้กำหนดไว้  ซึ่งในสัญญาดังกล่าวจะมีข้อตกลงต่างๆ ที่ทางธนาคารฯ เจ้าของบัตรเครดิตกำหนดไว้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็น “สัญญาสำเร็จรูป” “สัญญาสำเร็จรูป” หมายความว่า สัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีการกำหนดชื่อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะทำในรูปแบบใด ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน” สัญญาสำเร็จรูปมีผลก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมความไม่เสมอภาคในการทำสัญญา เพราะจะมีการกำหนดความละเอียดหลักเกณฑ์ทางสัญญาไว้เป็นแบบสำเร็จรูป คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเวลาพอที่จะตรวจสอบหรือหากสามารถตรวจสอบได้ก็ไม่อาจจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต่อรองเงื่อนไขให้เป็นประการอื่นใด ทำให้เกิดปัญหาการทำสัญญาโดยไม่สมัครใจ หรืออยู่ในภาวะที่ต้องยอมรับข้อเสียเปรียบที่อาจเห็นอยู่แล้วตั้งแต่ตอนทำสัญญา  ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า  สัญญาสำเร็จรูปมีลักษณะของความไม่เป็นธรรมตั้งแต่รูปแบบของสัญญา กล่าวคือ ใช้ตัวเล็ก มีข้อความละเอียดมากมาย ใช้ศัพท์เทคนิคเข้าใจได้ยาก และมีการพัฒนามาจากกรณีความผิดพลาดที่คู่สัญญาฝ่ายที่นำมาใช้เคยประสบมาก่อน จึงมีการเขียนในลักษณะปิดช่องทางที่เคยผิดพลาดและพยายามเอาเปรียบอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น เพราะเคยผ่านบทเรียนมามากในขณะที่อีกฝ่ายเพิ่งจะเข้าทำสัญญาเป็นครั้งแรกหรือเพิ่งเคยทำไม่กี่ครั้ง ทำให้ขาดประสบการณ์ ไม่สามารถรู้เท่าทันอีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงเป็นลักษณะของมืออาชีพกับมือสมัครเล่น   ซึ่งมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540  ได้บัญญัติไว้ว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น (8) ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัดหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการชำระหนี้ “ ลองมาดูตัวอย่างที่ศาลฎีกานำบทบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาปรับบทบังคับสักเรื่องหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร(จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร(โจทก์)ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย  ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร  โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป  ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 วิธียื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค

ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาสำหรับคดีผู้บริโภคโดยให้ศาลฎีกามีอำนาจกลั่นกรองเฉพาะคดีผู้บริโภคที่มีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะขึ้นสู่ศาลฎีกาเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากเดิมในคดีแพ่งสามัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.)มาตรา 248 ที่ใช้ “ ระบบสิทธิ” ซึ่งถือหลักว่า การฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ การห้ามฎีกาเป็นข้อยกเว้นมาเป็น “ ระบบอนุญาต “ ซึ่งถือว่า การฎีกาเป็นสิ่งที่กฎหมายห้าม คู่ความจะสามารถฎีกาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เหตุผลก็เนื่องจากระบบการฎีกาแบบเดิมคู่ความที่แพ้คดีมักใช้สิทธิฎีกาเป็นช่องทางในการประวิงคดี ทั้งๆ ที่คดีนั้นไม่เป็นสาระอันควรขึ้นสู่ศาลฎีกา ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่คู่ความที่สุจริต ดังนั้น มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ จึงได้กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะยื่นฎีกาต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อนคดีนั้นจึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ ส่วนวิธีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกานั้นจะต้องทำอย่างไรนั้นก็ศึกษาได้จากกรณีศึกษาดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2554 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยฎีกา และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยฎีกา ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการยื่นฎีกาคดีผู้บริโภคจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเหล่านั้น บทบัญญัติใน มาตรา 248 แห่ง ป.วิ.พ. จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับในคดีผู้บริโภคได้ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค โดยในวรรคสองได้บัญญัติไว้อีกว่า การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว กับมาตรา 52 บัญญัติว่า ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาตาม มาตรา 51 ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนั้นต้องมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทหากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินกว่าสองแสนบาท คู่ความก็ไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เลย ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียงใดก็ตาม คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้เสมอ ไม่มีข้อจำกัดห้ามฎีกาแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้คดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถยื่นฎีกาได้ คู่ความที่ฎีกาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นจะด่วนมีคำสั่งรับฎีกาของคู่ความโดยที่คู่ความมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อนให้ครบถ้วนหาได้ไม่ คดีนี้แม้โจทก์จะฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและในปัญหาข้อกฎหมายโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาดังกล่าวโดยที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการรับฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หมายเหตุ ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5359/2554 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 สัญญาต่างตอบแทน

ฉบับนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายบ้านและที่ดินพร้อมเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟของโครงการแก่งกระจานคันทรีคลับ  จังหวัดเพชรบุรี  โดยผู้บริโภคจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงหมาย เฟสซีแอล 486  ในราคา 1,200,000 บาท  โดยวางเงินค่าจองซื้อเป็นเงิน 10,000 บาท ต่อมาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยชำระเงินมัดจำ 20,000 บาท ส่วนเงินมัดจำที่เหลืออีก 503,000 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็นเงิน 60 งวด โดยผู้ขายจะทำการก่อสร้างบ้านเมื่อผู้บริโภคชำระเงินมัดจำครบ 24 งวด ภายหลังจากที่ผู้บริโภคผ่อนชำระเงินมัดจำไปได้ 18 งวด  ผู้ประกอบธุรกิจมีหนังสือแจ้งให้ผู้บริโภคบ้านที่ดินที่จะซื้อในเฟสซี แปลงหมายเลข ซีแอล 486 และให้ไปเลือกที่ดินแปลงใหม่ในเฟสบีแทน  ผู้บริโภคไม่ยินยอมจึงบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนแต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ยอมคืนให้จึงต้องมาฟ้องศาล คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “  การที่โจทก์ทั้งสองตกลงใจจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและสมัครเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ก็เพราะการจูงใจที่เกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายตามที่ปรากฏในแผ่นพับและภาพในวีดีทัศน์  ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพรรณนาประชาสัมพันธ์ซึ่งได้โฆษณาตามแผ่นพับและภาพในวีดีทัศน์ให้ปรากฏต่อบุคคลทั่วไป  ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสอง ผู้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่าขอย้ายที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขาย  โดยกำหนดเวลาให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเลือกแปลงที่ดินก่อนเป็นลำดับที่ 6 มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิเลือกก่อนอันเป็นการกำหนดวัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองผิดไปจากข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดกันไว้ โดยโจทก์ทั้งสองไม่ตกลงยินยอมด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งหนี้ที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญากันไว้  จำเลยที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิงดชำระค่างวดที่ดินและบ้านอันเป็นการตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 2 และบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย   หมายเหตุผู้เขียน  1.คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิ่งสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามแผ่นพับโฆษณา ฯลฯ เป็นการซื้อขายตามคำพรรณนา  ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 503 วรรคสอง บัญญัติว่า “ ในการขายตามคำพรรณนา ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามคำพรรณนา “ แต่ปัจจุบัน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 11 ได้บัญญัติเกี่ยวกับข้อตกลงนอกสัญญาว่า  “  ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของหรือบริการหรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา  หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม “ 3. ตามปพพ. มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด    ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา ผู้บริโภคซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิที่จะงดการผ่อนค่างวดให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจได้ และไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญา เพราะการส่งค่างวดต่อไปทั้งๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจผิดสัญญาจะยังความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (3)

ตอนจบของฎีกา(ที่  8772/2550) เรื่อง  ฝากเงินไว้แล้วไม่ได้ติดต่อกับธนาคารไปเกือบสิบปี เมื่อไปถอนเงินโดนปฏิเสธ ... ตลอดจนการที่จำเลยสั่งยกเลิกบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ในปี 2516 แล้วโอนเงินที่ยังคงเหลืออยู่ทุกบัญชีรวมทั้งบัญชีของโจทก์ไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าไปติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่คืนดังที่พยานจำเลยเบิกความอ้างมาส่งเป็นพยานหลักฐานยืนยันข้ออ้างข้อเถียงของจำเลยแต่ประการใด คงมีเพียงคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยเพียงปากเดียวที่กล่าวอ้างขึ้นลอยๆ อีกทั้งยังได้ความจากนายสมเกียรติว่าหากโจทก์ไม่ได้นำสมุดฝากเงินไปตรวจสอบและปรับยอดเงินตามที่จำเลยได้ระบุไว้ในบัญชีของจำเลยก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการเบิกถอนเงินแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎข้อบังคับอันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยระบุไว้ในสมุดฝากเงินเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้อย่างกว้างๆ มิได้เป็นกฎข้อบังคับที่ใช้อย่างเคร่งครัด   ส่วนที่นายสมเกียรติพยานจำเลยเบิกความว่า ธนาคารจำเลยจะเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินไว้เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจำเลยจะนำไปทำลายตามระเบียบของจำเลยนั้น ก็เป็นระเบียบที่จะต้องปฏิบัติภายในองค์กรของจำเลยเองไม่มีผลที่จะนำมาใช้ต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอกหรือเป็นเหตุให้ระยะเวลาการรับฝากเงินของจำเลยสิ้นสุดไปด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า อาจเป็นไปได้ที่โจทก์สั่งจ่ายเงินโดยเช็คออกจากบัญชีหมดแล้วและไม่ได้นำสมุดฝากเงินไปปรับยอดเงิน จึงไม่ปรากฏยอดเงินที่จำเลยค้างชำระคืน บัญชีของลูกค้าเช่นจำเลยจึงถูกปิดไปโดยระบบนั้น ก็เป็นการคาดคะเนของจำเลยเองโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ มานำสืบให้เห็นจริงตามที่อ้างดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ตราบใดที่จำเลยยังมิได้บอกเลิกสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งจำเลยออกสมุดฝากเงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไปดังนี้ แม้โจทก์จะฝากเงินเมื่อปี 2504 การที่โจทก์ขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้วจำเลยไม่ยอมจ่ายเงินให้อ้างว่า ไม่พบว่ามียอดเงินในบัญชี จึงเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้ ต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ขอถอนเงินในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 เมษายน 2545 ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้นชอบแล้วหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยรับฝากจากโจทก์ไว้คืนโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,596.33 บาท โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2507 จนถึงวันฟ้องและคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวทบต้นนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ซึ่งปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งไว้ว่าดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือเกินความเป็นจริงแต่อย่างใด คงให้การต่อสู้แต่เพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเอากับจำเลยได้เท่านั้น รวมทั้งมิได้นำสืบหักล้างอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ภาระการพิสูจน์ว่าในแต่ละช่วงโจทก์ได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเท่าใดและมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งจะต้องนำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารจำเลยที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าที่นำเงินมาฝากกับจำเลยตลอดจนข้อตกลงเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นให้ศาลเห็น เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ศาลเห็นในประเด็นดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นตามที่โจทก์ขอได้นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยว่าจำเลยจะคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสมุดฝากเงินดังกล่าวปีละ 2 ครั้ง หากมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็จะนำดอกเบี้ยและเงินฝากมาเป็นต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่นำมารวมได้นั้นในลักษณะคล้ายๆ กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง และโจทก์สามารถใช้สมุดฝากเงินเบิกถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์และสอดคล้องกับรายการคิดดอกเบี้ยในสมุดฝากเงินอีกด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นในเรื่องนี้โดยชัดแจ้งแล้วและเห็นได้ว่าการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยมาจนถึงวันฟ้องเพียงปีละ 1 ครั้งนั้น นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขตามกฎข้อบังคับที่ระบุไว้ในสมุดฝากเงินนั้น จำเลยจะต้องคิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงปีละ 2 ครั้ง อันเป็นกฎข้อบังคับที่จำเลยกำหนดขึ้นเองในการรับฝากเงินจากโจทก์ตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวยังมิได้ถูกยกเลิกหรือระงับสิ้นไป จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิดตามกฎข้อบังคับดังกล่าวต่อโจทก์ได้โดยลำพัง ทั้งกฎข้อบังคับซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวก็มิใช่ข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ประการใด แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยทบต้นถึงวันฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว ย่อมถือได้ว่าสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีหนังสือดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันดังกล่าวเป็นเงิน 342,318.99 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 342,318.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (2)

ฎีกา(ที่  8772/2550)ในคดีที่ฝากเงินไว้แล้วไม่ได้ติดต่อกับธนาคารไปเกือบสิบปี เมื่อไปถอนเงินโดนปฏิเสธ จึงฟ้องศาลซึ่งสู้กันถึงฎีกานั้น เรามาตามต่อกันเลยครับ ...ส่วนจำเลยมีนายสมเกียรติซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่ดูแลบัญชีธนาคารและบัญชีลูกค้าทั่วไปของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่าบัญชีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นบัญชีรุ่นแรกที่จำเลยออกให้แก่ลูกค้าโดยยอมให้ใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ด้วยแต่จำกัดจำนวนการใช้เช็คไม่เกินเดือนละ 4 ฉบับ หากใช้เช็คแล้วก็ไม่จำต้องใช้สมุดฝากเงินเพื่อนำมาถอนเงินออกจากบัญชีแต่อย่างใด แต่ยอดเงินในสมุดฝากเงินจะถือเป็นยอดที่ถูกต้องแท้จริงไม่ได้จนกว่าจะได้มีการปรับยอดบัญชีตามระยะเวลาที่จำเลยกำหนดไว้   ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินได้มีการเปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้สาขาของจำเลยทุกสาขามีหนังสือแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากบัญชีของลูกค้าคนใดขาดการติดต่อกับจำเลยแต่ยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะโอนไปไว้ในบัญชีไม่เดินหรือเรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อแล้วจำเลยจะจ่ายเงินคืนไป ต่อมาในปี 2516 บัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ถูกยกเลิกเนื่องจากมีความยุ่งยากในการปฏิบัติและโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ต่อไป ตามระเบียบของจำเลยนั้นเอกสารที่เกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินจะเก็บไว้เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจำเลยจะทำลายเกี่ยวกับสมุดฝากเงินจะต้องนำไปปรับบัญชีปีละ 2 ครั้ง ทุกสิ้นเดือนมิถุนายนและสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปีตามข้อบังคับของธนาคารที่ระบุไว้ในสมุดฝากเงินดังกล่าวเพื่อจะดูว่าลูกค้าได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารหรือไม่เพียงใดด้วย แม้หากลูกค้าไม่นำสมุดฝากเงินไปปรับดอกเบี้ยก็ตาม ธนาคารก็จะคิดและลงไว้ในการ์ดบัญชีให้และลูกค้าสามารถนำสมุดฝากเงินไปปรับบัญชีให้ตรงกันแล้วถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ ลักษณะการคิดดอกเบี้ยตามสมุดฝากเงินนั้น หากมีเงินฝากและมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น จำเลยก็จะนำเงินฝากและดอกเบี้ยมาเป็นต้นเงินและคิดดอกเบี้ยจากเงินที่นำมารวมนั้นในลักษณะคล้ายๆ กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง เกี่ยวกับสมุดฝากเงินนั้น หากโจทก์ไม่ได้นำไปตรวจสอบยอดเงินตามที่จำเลยระบุไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการเบิกถอนแต่อย่างใด แต่ธนาคารก็จะต้องตรวจดูว่ามีเงินคงเหลือในบัญชีอยู่หรือไม่เพียงใดด้วย เห็นว่า จำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โดยรับฝากเงินและให้ประชาชนทั่วไปกู้ยืมเงินซึ่งในการรับฝากเงินจำเลยจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าดอกเบี้ยที่จำเลยเรียกจากผู้มากู้ยืมเงินซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะเป็นผลกำไรของจำเลย จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าการรับฝากเงินจากโจทก์เป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งจำเลยออกสมุดฝากเงินให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐานนั้นได้กำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาการรับฝากเงินเช่นนี้ไว้แต่อย่างใดด้วย ดังนั้น เมื่อการรับฝากเงินหรือฝากทรัพย์เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง หากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะรับฝากเงินจากโจทก์ต่อไปแล้ว จำเลยย่อมกระทำได้โดยการบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยก็ไม่เคยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยออกสมุดฝากเงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ ที่จำเลยนำสืบและอ้างในฎีกาว่าเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้ทุกสาขาของจำเลยมีหนังสือโดยส่งจดหมายแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากลูกค้าคนใดขาดการติดต่อและยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะนำไปโอนไว้ในบัญชีไม่เดินหรือที่เรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อรับเงินคืนไป จนกระทั่งบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2516 และจำเลยโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ และจำเลยจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินไว้เพียง 10 ปี ตามระเบียบของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็จะนำไปทำลายนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือที่แจ้งไปยังโจทก์ว่าได้เปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และงดจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ต่อไปแล้ว... แหม เข้มข้นจริงๆ ไปติดตามตอนจบในฉบับหน้าครับ

อ่านเพิ่มเติม >