ฉบับที่ 115 ซื้อคอนโดฯ ได้ห้องแต่สระว่ายน้ำไม่เสร็จ ไม่รับโอนได้ครับ

สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนนำเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับผู้บริโภคมาเป็นอุทาหรณ์ ในการซื้อคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดนั้น ผู้ประกอบธุรกิจมักจะโฆษณารายละเอียดของโครงการในแผ่นพับโฆษณาหรือโบชัวร์ระบุสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ เช่น สนามเด็กเล่น ร้านอาหาร คลินิก สวนหย่อมพักผ่อน สระว่ายน้ำ ช้อปปิ้งพลาซ่า ภัตตาคาร เนอสเซอรี่ ฯลฯ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุด เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่สร้างหรือหากจะสร้างก็ไม่อยู่ในกรอบเวลาตามสัญญา นึกอยากจะสร้างเมื่อไรก็สุดแท้แต่อำเภอใจของผู้ประกอบธุรกิจ ครั้นผู้ประกอบธุรกิจสร้างห้องชุดเสร็จแจ้งให้ผู้ซื้อไปรับโอนห้อง แต่สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เสร็จ ผู้ซื้อจะไม่ไปรับโอนก็กลัวผิดสัญญาถูกริบเงิน สร้างความชอกช้ำระกำใจให้อย่างมาก ขนาดอาจถึงกับต้องไปกินน้ำเก๊กฮวยแก้เก๊กซิม ความจริงแล้วไม่ต้องกลัวหากผู้ประกอบธุรกิจ ยังสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกไม่แล้วเสร็จ ก็ให้ทำหนังสือไปแจ้งเป็นหลักฐานว่าให้สร้างให้แล้วเสร็จก่อน แล้วจะไปรับโอนอาคารชุดได้ แต่เดิมนั้นศาลฎีกาตีความในเรื่องแผ่นพับโฆษณาว่า เป็นการซื้อขายตามคำพรรณนาแม้จะไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาแต่ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพรรณนา ต่อมาหลักการนี้ได้มาบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ว่า “ ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ จากกฎหมายมาตรานี้ ผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม “คดีตามอุทาหรณ์นี้แม้จะตัดสินก่อนใช้ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ แต่ผลก็เหมือนกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2552 จำเลยมิได้การก่อสร้างให้เป็นไปภายในระยะเวลาที่ประกาศโฆษณาไว้และเมื่อผู้บริโภคทั้งสองไม่ชำระค่างวดต่อแล้ว จำเลยได้มีหนังสือให้ผู้บริโภคทั้งสองไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ถือข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาในการชำระค่างวดตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงถือมิได้ว่าผู้บริโภคทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเมื่อพิเคราะห์แผ่นพับโฆษณาและรายละเอียดโครงการซึ่งจำเลยได้ระบุสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการโดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2539 แล้ว ทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่า ผู้ที่เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการของจำเลยรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสองในคดีนี้ก็โดยเชื่อว่าจำเลยจะต้องก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามที่ระบุไว้อันถือได้ว่าเป็นการซื้อขายตามคำพรรณนา โดยผู้บริโภคทั้งสองถือเอาเงื่อนไขตามโฆษณาเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญา การที่จำเลยมิได้ดำเนินการดังกล่าวให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้คืนเงินที่ผู้บริโภคทั้งสองชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย หมายเหตุผู้เขียน คดีนี้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งสอง จำเลยคือ บริษัทรัชดาคอนคอร์ด จำกัด ชื่อโครงการคือ “ โครงการรัตนโกสินทร์ไอส์แลนด์” จำเลยต่อสู้คดีว่า คำว่า “ ห้องชุด” ตามคำนิยามในสัญญาข้อ 1 มิได้หมายความรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว แต่ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย สมน้ำหน้าจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 การรอนสิทธิคืออะไร.

ในการซื้อขายทรัพย์สินกันนั้นนอกจากผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ขายแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังได้กำหนดให้ผู้ขายจะต้องรับผิดในการ รอนสิทธิในทรัพย์สินที่ขายด้วย เพราะนอกเหนือจากการที่ผู้ซื้อมีความประสงค์ที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ซื้อยังต้องการที่จะครอบครองทรัพย์สินที่ตนได้ซื้อมาโดยปกติสุขปราศจากการรบกวนของบุคคลอื่นด้วย  มาตรา 475 จึงบัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น “ จากบทบัญญัติมาตรา 475 นี้ จึงกล่าวได้ว่าการรอนสิทธิ คือการที่มีบุคคลผู้ใดก็ตาม มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้น ไม่ว่าการรอนสิทธินั้นจะเป็นการรอนสิทธิทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ในทรัพย์สินที่ซื้อขายก็ตาม นอกจากบทบัญญัติ มาตรา 475 ที่วางหลักให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิไว้เบื้องต้นแล้ว มาตรา 479 ยังบัญญัติต่อมาอีกว่า “ ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น แลซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด " สิทธิของบุคคลผู้รบกวนขัดสิทธินั้นจะต้องเป็นสิทธิที่มีโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้ขายต้องรับผิด เช่น สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิการเช่า สิทธิอาศัย โดยสิทธินั้นไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สิทธิเสมอไป แม้เป็นบุคคลสิทธิ เช่น ตามสัญญาเช่า ก็ก่อให้เกิดการรอนสิทธิได้ อุทาหรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจมีดังนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2053/2538 จำเลยผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 แม้จะไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม และเมื่อโจทก์ต้องจำยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทซึ่งซื้อมาจากจำเลยไปเพราะเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา ความรับผิดของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 481 แต่มีอายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/10 คำพิพากษาฎีกาที่ 6472/2539 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแม้ไม่มีข้อตกลงให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิ แต่โดยผลของกฎหมายผู้ขายต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่ามีการรอนสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วในเวลาทำสัญญาจะซื้อจะขาย แม้จำเลยผู้ขายจะไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกรอนสิทธิ แต่โจทก์ผู้ซื้อได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยมีหน้าที่ต้องขจัดเหตุที่ถูกรบกวนสิทธิไปเสียก่อนถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยังไม่ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์วางไว้ตามสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 หลักฐานนะ มีมั้ย

ฉบับนี้มีคดีผู้บริโภคตัวอย่างที่น่าสนใจใหม่ล่าสุดมาให้สมาชิกได้อ่านดู เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย แจ้งให้แก้ไขหลายครั้ง บริษัทฯ เลยบอกเลิกสัญญาริบเงิน แบบว่ารำคาญนั่นแหละ ดูกันซิว่าจะริบเงินได้หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2552 คดีระหว่าง นายวีรวุฒิ พงศ์สุรพัฒน์ โจทก์ กับ บริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  โจทก์คือนายวีรวุฒิยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงจำเลยจะต้องปลูกบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2540 นั่นก็หมายความว่าบ้านจะต้องเสร็จทุกอย่างรวมทั้งรายละเอียดพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่กลับปรากฏว่าภายในเดือนกันยายน 2540 ดังกล่าว บ้านหาได้แล้วเสร็จไม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เพียงแต่ขอระงับการผ่อนชำระค่างวดไว้ก่อน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องระยะเวลา แต่ถือเอาความสำเร็จเรียบร้อยของบ้านเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงาน 9 รายการ จำเลยก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีรายการต้องแก้ไขเพียงแต่ขอให้โจทก์ชำระเงินดาวน์ที่ค้างอยู่ทั้งหมดก่อน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541  จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธ์ และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 18 มีนาคม 2541 ปรากฏว่าก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธ์ 1 วัน คือในวันที่ 17 มีนาคม 2541 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 21 รายการ ครั้นต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยสร้างบ้านให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้โจทก์ไปตรวจความเรียบร้อยของบ้านในวันที่ 16 เมษายน 2541 ซึ่งมีการตรวจความเรียบร้อยดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 20 รายการ จากนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ปรากฏว่าโจทก์ไม่ไปตามกำหนดนัด แต่หลังจากวันนัด 3 วัน คือในวันที่ 23 พฤษภาคม 2541 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย ขอยกเลิกวันโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือฉบับสุดท้ายแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 3 มิถุนายน 2541 แต่ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 ก่อนวันนัด 3 วัน บิดาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า จำเลยยังแก้ไขงานไม่เสร็จเรียบร้อยเกือบ 30 รายการ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าในทัศนะของโจทก์นั้น จำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ดังนั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถือเอาระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านเป็นสำคัญ แต่ถือเอาการก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นสำคัญแล้ว เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีเอกสารใดมานำสืบให้เห็นว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผิดวิสัยที่จำเลยเป็นถึงบริษัทมหาชนรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพแต่ไม่ปรากฏเอกสารใดมายืนยันว่าที่โจทก์ให้มีการแก้ไขงานนั้นได้แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีวิศวกรผู้ควบคุมงานเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องเห็นว่าเสร็จเรียบร้อยจริง แม้จำเลยมีนายชาญรงค์ ทัพกฤษณ์ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างของจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยได้แก้ไขงานครั้งสุดท้ายให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วก็ตาม ก็เป็นคำเบิกความที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน อันเป็นการผิดวิสัยของผู้รับสร้างบ้านที่มีคุณภาพพึงกระทำ โดยเฉพาะกรณีของโจทก์มีการขอให้แก้ไขงานหลายครั้งชี้ให้เห็นว่าลูกค้ารายนี้น่าจะมีปัญหา แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีเอกสารหรือภาพถ่ายประกอบสัญญาไว้ เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาโดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไปสัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 2,343,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2542 จึงให้ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 รู้กฎหมายกับทนายอาสา รถยึดไป ข้าฯไม่ว่า แต่ซีดี ข้าฯ ใครอย่าแตะ

รถยึดไป ข้าฯไม่ว่า แต่ซีดี ข้าฯ ใครอย่าแตะ เวลาที่ผู้บริโภคถอยรถยนต์ใหม่สภาพป้ายแดงออกมา ก็มักจะชอบนำไปตกแต่งประดับยนต์ เปลี่ยนล้อแม็กซ์ เปลี่ยนวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่น ซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียง ถ้าซื้อรถยนต์ด้วยเงินสดก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากบริษัทลิสซิ่งหรือไฟแนนซ์ หากเอาเงินไปตกแต่งรถยนต์จนค้างค่างวดแล้วถูกยึดรถยนต์คันนั้นไป ปัญหามีอยู่ว่าเครื่องเสียงที่ติดรถไปนั้นจะเป็นของใคร คำตอบอยู่ที่ว่า เครื่องเสียงนั้นเป็นอุปกรณ์ของรถยนต์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 บัญญัติว่า “ อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแลใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” มาดูตัวอย่างของจริงกันเลยดีกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2545 จำเลยนำวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง หาใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดการดูแลใช้สอยหรือรักษาอันเป็นทรัพย์ประธานไม่ ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ. 147 วรรคท้าย ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติมหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที “ นั้น ก็เป็นแบบฟอร์มที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว และเป็นข้อความที่มาจากปัญหาที่มักเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อรายอื่นที่ผู้เช่าซื้อมักนำสิ่งของเข้าดัดแปลง ต่อเติมหรือติดกับทรัพย์ที่เช่าซื้อ และเมื่อต้องการเอาสิ่งของดังกล่าวคืนก็จะทำการรื้อไปอันทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อของโจทก์เสียหาย แต่กรณีที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไปจึงไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาดังกล่าว โจทก์หาอาจจะยกข้อสัญญาที่ปรากฏว่าเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลยหาได้ไม่ คำโบราณว่า ครกนั้นคู่กับสาก แต่เครื่องเสียงไม่จำเป็นต้องคู่กับรถยนต์เสมอไป ------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อ

ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่จัดการแก้ไขทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์แล้ว ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อนั้นคืนให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อก็ต้องมอบค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่รับมานั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ทั้งนี้ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องมอบค่าใช้ทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นด้วย ดังกรณีศึกษาดังต่อไปนี้ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2543 ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ หากระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ย่อมส่งผลให้เครื่องยนต์ ระบบทำความเย็นและอื่นๆ ใช้การไม่ได้ไปด้วย การที่ระบบไฟฟ้ารถยนต์คันที่จำเลยเช่าซื้อไปจากโจทก์เสียทั้งระบบ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันรับมอบรถยนต์ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ อันผู้ขายต้องรับผิด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรถยนต์คันใหม่ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดต่อมาและใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2545 จำเลยเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ผู้เช่าซื้อ เพราะสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นสาระสำคัญในการใช้รถ จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อโดยรถยนต์ไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ประกอบ มาตรา 547 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างเหตุอันเกิดจากบริษัท น. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ยังไม่โอนทะเบียนยังไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยไม่ได้ เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถจัดการแก้ไขให้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องส่งมอบรถยนต์คืนจำเลยก่อนเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาเลิกสัญญาโดยชอบแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยโจทก์ต้องคืนรถยนต์พิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถยนต์พิพาทให้จำเลยด้วย ส่วนจำเลยต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ “ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันหรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อชำระไปแล้ว และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 มัดจำคืออะไร ผลของมัดจำมีแค่ไหน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 377 บัญญัติว่า “ เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว  อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย “ ดังนั้นมัดจำต้องเป็นสิ่งที่คู่สัญญามอบให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญา  ซึ่งต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถส่งมอบให้ไว้แก่กันได้และและต้องเป็นเงินหรือสิ่งของซึ่งมีค่าในตัวเอง เช่น เงินทอง ช้างม้าวัวควาย ฯ  หากไม่มีค่าในตัวเองแม้จะเป็นทรัพย์สินก็ย่อมจะส่งมอบให้ไว้เป็นมัดจำไม่ได้ เช่น โฉนด น.ส. 3ก. สัญญากู้ยืม หนังสือค้ำประกันของธนาคาร ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้มีค่าในเพียงฐานะที่เป็นเพียงเอกสารสิทธิไม่อาจริบได้เมื่อมีการผิดสัญญาหรือจะริบเอกสารไปก็ไม่เกิดประโยชน์อย่างใด  แต่เช็คหรือตั๋วเงินอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเองเพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้  จึงส่งมอบให้ไว้แก่กันเป็นมัดจำได้  แต่เมื่อริบมัดจำก็ต้องฟ้องเรียกเงินตามเช็คหรือตามตั๋วเงินภายในอายุความ  กรณีทำสัญญากู้แทนการวางมัดจำเป็นเงินตามสัญญาจะซื้อขาย  สัญญากู้จึงมีมูลหนี้มาจากการที่มีหนี้จะต้องวางมัดจำตามสัญญาจะซื้อขาย  เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาซึ่งผู้ขายมีสิทธิริบเงินมัดจำ ผู้ขายย่อมฟ้องบังคับตามสัญญากู้ได้  กรณีเช่นนี้ถือว่ามีการส่งมอบเงินให้ผู้กู้แล้ว  สำหรับจูบมัดจำนั้นก็เป็นแต่เพียงชื่อเพลงไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด หากมีการผิดสัญญาก็เป็นเพียงผิดสัญญาใจไปฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ ผลแห่งมัดจำนั้นก็เป็นไปตาม มาตรา 378 บัญญัติว่า “ มัดจำนั้น  ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ (1) ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้  หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น และ (3)  ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอยู่คดีหนึ่งกล่าวคือ ผู้บริโภคไปวางเงินจำนวนหนึ่ง ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน  แต่ในสัญญาว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ต่อมาผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาปัญหามีว่าเงินที่วางไว้ดังกล่าวในวันทำสัญญาจะเป็นเงินมัดจำหรือไม่ ถ้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจก็ริบได้ ถ้าไม่เป็นก็ต้องคืน คำพิพากษาฎีกาที่ 9514/2544 วินิจฉัยว่า  แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม  แต่เงินดังกล่าวก็มิได้หมายความว่าจะเป็นมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์  จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์  ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวด จำนวน 87,000 บาท ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่เงินมัดจำ  เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญา  จำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้ คดีมันพลิกครับท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ข้อควรระวังก่อนซื้อบ้านหรืออาคารชุด

ในการซื้อบ้านหรืออาคารชุดผู้บริโภคมักจะต้องวางเงินจอง ผ่อนเงินดาวน์ก่อน ส่วนเงินที่เหลือที่จะชำระในวันโอนถ้ามีเงินไม่พอก็ต้องกู้สถาบันการเงินและผ่อนชำระเป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งหน้าที่จัดหาสถาบันการเงินนั้นเป็นหน้าที่ของผู้บริโภค การที่สำนักงานขายของโครงการมีโฆษณาว่าสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าไปกู้เงินก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเรียกหลักฐานจากผู้บริโภคเพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้ก็ดี รวมทั้งเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงบริษัทเจ้าของโครงการแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากโครงการก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟ้องได้ว่าทางผู้ประกอบธุรกิจมีสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ผู้บริโภค ซึ่งศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานดังนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 529/2541 ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีข้อสัญญาใดระบุหน้าที่จำเลยว่าเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ให้แก่โจทก์ การที่สำนักงานขายจำเลยมีโฆษณาของสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าจำเลยไปกู้ยืมเงินถือเป็นเรื่องของสถาบันการเงินที่จะโฆษณาหาลูกค้า หามีผลผูกพันให้จำเลยต้องจัดหาสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ไม่ แม้พนักงานของจำเลยจะเรียกหลักฐานจากโจทก์เพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องให้ความสะดวกแก่โจทก์เพื่อประโยชน์แก่การขายอาคารชุดของจำเลยมากกว่าที่จำเลยจะผูกพันในรูปสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ ส่วนเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงจำเลยแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออาคารชุดจำเลย ก็ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟังได้ว่าจำเลยมาสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ " ซึ่งในสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมักจะระบุว่า “ในกรณีที่ผู้จะซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้จะขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ผู้จะซื้อได้ชำระมาแล้วทั้งหมดทันที รวมทั้งมีสิทธินำห้องชุดที่จะซื้อจะขายกันตามสัญญานี้ไปขายให้กับบุคคลใดก็ได้โดยผู้จะซื้อไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าทดแทนใดๆ จากผู้จะขายทั้งสิ้น " ดังนั้นการที่ผู้บริโภคกู้ไม่ผ่านไม่มีเงินไปโอนกรรมสิทธิ ตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือในวันที่ผู้ประกอบธุรกิจนัดไปโอน ฝ่ายผู้บริโภคจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อาจถูกริบเงินต่างๆ ได้ นี่คือเหตุผลที่ต้องทดลองกู้เพื่อประเมินศักยภาพของตนเองว่าจะกู้ได้แค่ไหนเพียงใดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านหรืออาคารชุด ซึ่งถ้าหากผู้บริโภคชายจะซื้อบ้านหรืออาคารชุดเพื่อเป็นเรือนหอ หากคนเดียวกู้ไม่ผ่าน ก็อาจจะต้องให้แฟนมาช่วยร่วมกู้ด้วยเผื่อจะกู้ผ่านได้วงเงินตามที่ต้องการ แต่ถ้าตัวเองกับแฟนร่วมกันกู้แล้วไม่ผ่านก็คงต้องปรับลดวงเงินหรือปรึกษากับทางสถาบันการเงินว่าจะต้องทำอย่างไรดี ส่วนข้อตกลงในสัญญาที่ว่าหากฝ่ายผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่ฝ่ายผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของฝ่ายผู้จะขายได้นั้นข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ดังคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 3301/2547 โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน ดังนั้นเงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้เป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ “ คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย จากยอดเงิน 840,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ธนาคารปล่อยให้ดอกเบี้ยบานแล้วนำมาฟ้อง

“ในการใช้สิทธิแห่งตนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า  ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี  บุคคลทุกคนต้องกระทำการโดยสุจริต” คดีตัวอย่างในฉบับนี้เป็นเรื่องของธนาคารไม่รีบฟ้องคดีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ แต่กลับเลี้ยงไข้ให้ดอกเบี้ยบานแล้วนำมาฟ้อง  โดยส่วนที่หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อมาชำระหนี้บัตรเครดิต เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงก็น่าเกลียดมากคือหักมา 6.68 บาท (สงสัยทั้งบัญชีมีอยู่เท่านั้น) เรื่องนี้น่าจะเข้ากับสุภาษิตกฎหมายที่ว่า  เมื่อมาศาลด้วยมืออันสกปรก  ศาลย่อมไม่รับบังคับบัญชาให้  มาดูกันสิว่าผลคดีจะออกมาอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551  ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541  การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ดังนั้นจึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247 พิพากษายกฟ้องเขียนต้นฉบับมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนต้องขอพูดหน่อยว่า  สะใจโก๋จริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 ค่าปรับ ดอกเบี้ย กรณีชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า

เกิดมาเป็นผู้บริโภคจนๆ จนขนาดจะซื้อรถยนต์ก็ไม่มีเงินสดเพียงพอ ต้องใช้บริการบริษัทไฟแนนซ์ ครั้นถึงเวลาชำระค่าเช่าซื้อเกิดมีปัญหาค่าเทอมลูกบ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟบ้าง ทำให้ส่งค่าเช่าซื้อไม่ตรงวันตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อส่งค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดในสัญญาเช่าซื้อของบริษัทไฟแนนซ์ทุกบริษัท มักจะระบุค่าปรับกรณีชำระหนี้ค่าเช่าซื้อล่าช้าไว้ด้วย ผู้เช่าซื้อบางคนส่งไม่ตรงตามงวดเลยตั้งแต่เริ่มเช่าซื้อจนกระทั่งส่งค่างวดหมด พอไปปิดบัญชีเพื่อโอนทะเบียนรถยนต์เจอค่าปรับดอกเบี้ยล่าช้าเป็นหมื่นก็มี เรามาดูผลทางกฎหมายของการชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงงวดกันนะครับ ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ เช่น เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามงวด ผู้ให้เช่าซื้อก็มิได้บอกเลิกสัญญาคงยอมรับค่าเช่าซื้อที่ชำระเกินกำหนดเวลาเรื่อยมา ดังนี้ผู้ให้เช่าซื้อจะมาบอกเลิกสัญญาในภายหลังโดยอ้างว่า ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดกันไม่ได้ กรณีเช่นนี้หากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 389 โดยต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาอันสมควรก่อน ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2547 , 2677/2547 , 4772/2540 , 5794/2539 , 4211/2539 , 1030/2536 เป็นต้น  ส่วนเรื่องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2547 โจทก์(ผู้เช่าซื้อ) ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนดแต่จำเลย(ผู้ให้เช่าซื้อ) ก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิจะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์ได้ “ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2529 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยรวม 20 งวด เป็นรายเดือนทุกเดือน ถ้าหากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนด จะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดทุกงวด แต่จำเลยก็ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างเลย แสดงว่าการชำระหนี้รายนี้ฝ่ายจำเลยมิได้เจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาโดยเคร่งครัด ซึ่งเท่ากับเป็นการสละเงื่อนเวลาอยู่ในตัว ดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จำเลยจะมาขอคิดดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระให้โจทก์ภายหลังไม่ได้ จำเลยจึงต้องโอนรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยต่อไป “ เขียนบทความจบแล้ว ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตคำพังเพยโบราณที่ว่า ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ ขึ้นมาทันทีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 เซ็นยอมความไป ก็ใช่ว่าต้องยอมให้ถูกเอาเปรียบไปด้วย

มาตรา 887 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบบุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย" คดีตัวอย่าง รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) ถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับไปในทางการที่จ้างชนท้ายได้รับความเสียหาย รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท. ต่อมาโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าเสียหาย 18,000 บาท โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับบริษัท ท. ว่าจะไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อบริษัทและผู้เกี่ยวข้องอื่น ต่อมาโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) เอารถยนต์เข้าซ่อม อู่ใช้เวลาซ่อม 32 วัน โจทก์ขาดรายได้จากการเอารถยนต์ออกขับรับจ้าง จึงมาฟ้องศาลเรียกค่าขาดรายได้ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จำเลยทั้งสอง(ผู้เอาประกันภัย) ก็ยกเรื่องโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมกับบริษัท ท.ไปแล้วขึ้นต่อสู้  ปัญหาจึงมีว่าสัญญาประนีประนอมดังกล่าวทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับไปแค่ไหน คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิด จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้อย่างน่ารับฟังไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2551 ว่า  “ เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท.ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้นหากมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่ “ พิพากษายืน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 400 บาท แทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 บัญญัติว่า “ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน “

อ่านเพิ่มเติม >