รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น บุคคลทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจกันว่าต้องเป็นเรื่องการหลอกลวงผู้เยาว์หรือนำผู้เยาว์ไปจากความดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองผู้เยาว์ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แม้ไปพบผู้เยาว์ที่อื่น เช่น ศูนย์การค้า ผับ เธคหรืองานวัด ฯลฯ แล้วพาผู้เยาว์ไปกระทำชำเรา ก็ยังมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่ดี ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีหรือสิบปีและปรับตั้งแต่สี่พันถึงสองหมื่นบาท “ และวรรคสามบัญญัติว่า “ ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท“ และมาตรา 319 วรรคแรกบัญญัติว่า “ ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท “มาดูกรณีศึกษาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4465/2530 ( ประชุมใหญ่)โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้พราก น.ส. ก. อายุ 16 ปีเศษไปเสียจากนาย จ. บิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้มีดปลายแหลมขู่บังคับให้ น.ส. ก. ไปกับจำเลยและจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเรา น.ส. ก. 2 ครั้ง โดย น.ส. ก.ไม่เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม จำคุก 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ผู้เสียหายมีอายุเพียง 16 ปีเศษ ยังอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ผู้เสียหายจึงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายแม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ตาม ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน มิฉะนั้นย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่บิดามารดาให้อิสระแก่ผู้เสียหาย ที่จะเที่ยวที่ไหนและกลับเมื่อใด ไม่เคยสนใจสอบถามหรือห้ามปราม ผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราจึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ศาลย่อมปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ได้ มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท
อ่านเพิ่มเติม >รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.comอายุความบัตรเครดิตนั้นมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น ทางฝ่ายสถาบันการเงินจึงพยายามทำสัญญาต่างๆ เพื่อลากให้เป็น “บัญชีเดินสะพัด” ให้ได้เพราะบัญชีเดินสะพัดมีอายุความถึง 10 ปี ถึงขนาดให้ลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วมอบเช็คให้ไว้เบิกจ่ายเลยทีเดียว เรามาดูกันสิว่าศาลท่านจะเล่นด้วยหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2550 แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก์กับจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาใช้สินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ/หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า จำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยอย่างทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้ให้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย และคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือออกรหัสประจำตัวแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตได้นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว กรณีถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปี แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ สรุปว่า ศาลท่านไม่เล่นด้วยนะครับ อายุความยังเป็น 2 ปีเช่นเดิมสำหรับบัตรเรดดี้เครดิต
อ่านเพิ่มเติม >รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.com กรณีที่มีบุคคลอื่นทำปลอมบัตรเครดิตหรือลักบัตรเครดิต เช่น เป็นการลักหรือโจรกรรมข้อมูลจากบัตรเครดิตในขณะมีการใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ โดยผู้ขโมยข้อมูลเป็นพนักงานของร้านค้าหรือสถานบริการ หรือข้อมูลถูกขโมยจากเครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์ที่คนร้ายลักลอบติดตั้งไว้บริเวณด้านบนของเครื่อง เอ ที เอ็ม (มีการถ่ายภาพหรือบันทึกข้อมูล ขณะมีการใช้บัตรเครดิตนั้นกดรหัสประกอบบัตรเครดิตเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม) ซึ่งเจ้าของบัตรเครดิตไม่ทราบเรื่อง หรือขโมยจากข้อมูลที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตเก็บรักษาไว้ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาทำบัตรเครดิตปลอม แล้วมีการนำบัตรปลอมนั้นออกไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งการเบิกถอนเงินจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ซึ่งกรณีที่สองนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิกหรือเจ้าของบัตรเครดิตที่ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมให้มีการทำบัตรเครดิตปลอม ไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่ธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตได้ออกทดรองไปก่อน จากการใช้บัตรเครดิตปลอมของบุคคลอื่น เพราะธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะต้องจัดทำบัตรเครดิตและจัดเก็บข้อมูลเป็นความลับ ให้ยากต่อการถูกลักหรือโจรกรรมข้อมูลไปได้ เว้นแต่เจ้าของบัตรเครดิตมีส่วนรู้เห็นให้บุคคลอื่นทำบัตรเครดิตปลอมขึ้นมา แล้วมีการนำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม เจ้าของบัตรเครดิตนั้นต้องรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากสมาชิกบัตรเครดิตได้รับใบแจ้งยอดหนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตเป็นรายเดือนจากธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตแล้ว ถ้าตรวจสอบใบแจ้งยอดหนี้แล้วเห็นว่าตนมิได้ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการรายใด รวมทั้งการเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง เอ ที เอ็ม ก็ต้องรีบแจ้งและทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรไปทันที เพื่อธนาคารหรือบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยกเลิกบัตรเครดิตใบดังกล่าว แล้วออกบัตรเครดิตใหม่ให้แทนต่อไป สำหรับกรณีบัตรเครดิตถูกคนร้ายลักไปแล้วนำไปใช้นั้น มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยล่าสุด ซึ่งมีความน่าสนใจดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2550 ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ระบุว่า บัตรเครดิตนี้ธนาคารได้ออกให้และสงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ถือบัตรยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตไปให้บุคคลอื่นใช้ ดังนั้นในกรณีที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแก่สถานประกอบกิจการและร้านค้าเป็นการใช้บัตรเครดิตซึ่งมิได้เป็นไปโดยถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและ/หรือเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอม อนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยมิได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ ถ้าบัตรเครดิตถูกขโมยไปใช้ เราก็ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่เราไม่ได้ก่อขึ้นครับ
อ่านเพิ่มเติม >