ฉบับที่ 256 เรียกเก็บค่าส่วนกลางหมู่บ้านสูงกว่าที่กำหนดในสัญญา ต้องจ่ายไหม

        คนที่ซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรร แน่นอนว่าต้องมีหน้าที่ร่วมกันจ่ายค่าส่วนกลาง เพื่อเป็นเงินที่นิติบุคคลหรือคณะกรรมการหมู่บ้าน นำไปดูแลพื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้าน อาทิ ค่าบำรุงดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโครงการให้อยู่สภาพที่ใช้งานได้ ซ่อมไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะ ค่าพนักงานรักษาความปลอดภัย ค่าแม่บ้านและคนสวนในโครงการ ตลอดจนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตอบแทนแก่พนักงาน เป็นต้น  ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อบ้านสักหลัง “ค่าส่วนกลาง” จึงเป็นอีกเรื่องที่หลายคนนำมาพิจารณาเปรียบเทียบในการตัดสินใจซื้อบ้านด้วยและการเรียกเก็บ “ค่าส่วนกลาง” ก็อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ควบคุมโดยคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด  และในการเรียกเก็บค่าส่วนกลางก็ต้องระบุอัตราที่เรียกเก็บไว้ให้ชัดเจนในสัญญา ด้วยเหตุนี้หลายคนที่ซื้อบ้านจึงอาจวางใจว่าหากมีเหตุต้องจ่ายเงินค่าส่วนกลางก็ต้องเป็นไปตามสัญญา แต่ปรากฎว่า มีบางโครงการที่ไปขอคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดปรับค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้น ทำให้เงินที่ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อบ้านจัดสรรต้องจ่ายสูงกว่าในสัญญา ฝั่งผู้บริโภคก็มองว่าเขาไม่ควรต้องจ่ายค่าส่วนกลางเกินกว่าที่ตกลงทำสัญญาไว้ สุดท้ายก็มีการฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาล          ในเรื่องนี้ ศาลฎีกาได้ตัดสินวางหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมตามสัญญา กล่าวคือ แม้โครงการจะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดให้เพิ่มค่าบริการสาธารณะ แต่ก็ยังต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขาย จะอ้างว่ามีภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเพื่อขอขึ้นค่าส่วนกลางดังกล่าวในภายหลังแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยผู้บริโภคในฐานะคู่สัญญาไม่ยินยอมด้วยมิได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4229/2564         ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามติของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีที่อนุญาตให้โจทก์ขึ้นค่าส่วนกลางในอัตราตารางวาละ 30 บาท ต่อเดือน ชอบแล้ว แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองย่อมต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งเป็นบุคคลสิทธิระหว่างกัน โดยให้เหตุผลว่าโจทก์มีสิทธิเก็บค่าบริการสาธารณะในอัตราตารางวาละ 20 บาท ต่อเดือน แต่โจทก์กลับเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสองเพียง 500 บาท ต่อเดือน แสดงว่าโจทก์ยอมสละสิทธิการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะเต็มตามที่ได้รับอนุมัติโดยกลับมาผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายแทน         แม้ต่อมาโจทก์จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีให้เพิ่มค่าบริการสาธารณะ โจทก์ก็ยังต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จะอ้างว่ามีภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเพื่อขอขึ้นค่าส่วนกลางดังกล่าวในภายหลังแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยจำเลยทั้งสองในฐานะคู่สัญญาไม่ยินยอมด้วยมิได้ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้สละสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ สัญญาจะซื้อจะขายเป็นไปตามแบบที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวดนนทบุรีกำหนด ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายตลอดไป เงินค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะมิใช่กำไรหรือขาดทุนของผู้จัดสรรที่ดิน แต่เป็นบริการที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องดำเนินการให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและอ้างถึงขั้นตอน หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะตามมาตรา 53 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการและวิธีการจัดสรรที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 32 ค่าบริการสาธารณะหรือค่าส่วนกลางเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปจริง มิใช่เป็นการเรียกเก็บเพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์ ต้องนำเงินไปใช้จ่ายให้ตรงตามประเภทที่กฎหมายกำหนด สมเหตุสมผล มีหลักฐาน ต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตรวจสอบได้ และอ้างถึงเหตุผลที่ขออนุญาตและเหตุผลที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีอนุญาตให้ขึ้นค่าบริการสาธารณะนั้น แม้จะเป็นการอ้างกฎหมายมาเป็นเหตุผลให้ดูประหนึ่งว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างนี้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภครับฟังว่า โจทก์ไม่ได้สละสิทธิการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะเต็มจำนวนตามที่ได้รับอนุญาตอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเนื่องจากทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 47         จากคำพิพากษาข้างต้น  ผู้บริโภคก็สบายใจได้ว่า หากมีการเรียกเก็บค่าส่วนกลาง ก็ต้องเก็บตามสัญญาเท่านั้น จะเก็บเกินกว่าสัญญาก็ต้องได้รับความยินยอม หากไม่ยินยอมก็เรียกเก็บไม่ได้ อย่างไรก็ดี การชำระค่าส่วนกลางให้ตรงตามเวลาในสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ฉบับแก้ไขเมื่อปี 2558  ได้กำหนดหน้าที่และผลของการค้างค่าส่วนกลาง โดยกำหนดว่าหากมีค้างชำระเกินกว่าสามเดือนอาจถูกระงับการใช้บริการของส่วนกลาง และหากค้างเกินกว่าหกเดือน ได้เปิดโอกาสให้นิติบุคคลบ้านจัดสรรและผู้ประกอบการสามารถแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (อายัด) ในที่ดินจัดสรรแปลงที่ค้างชำระค่าส่วนกลางได้แต่ตั้ง 6 เดือนขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 คำรับสารภาพ ช่วยลดโทษได้จริงหรือ

        ตามที่มีข่าวคดีขับรถบิ๊กไบค์ชนหมอบนทางม้าลายจนเสียชีวิต และหลังศาลมีคำพิพากษาก็เกิดกระแสของคดีนี้ และตั้งคำถามต่อบทลงโทษที่ผู้กระทำผิดได้รับว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก และมีการคาดหวังที่จะเห็นบทลงโทษอย่างเหมาะสมเพื่อป้องปราม และเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ขับขี่รถบนท้องถนนให้รักษากฎระเบียบจราจรและความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ซึ่งมีประเด็นว่า ในคดีดังกล่าว ศาลอาญามีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรารวมถึง ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดย ประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินโดยไม่ปฏิบัติตาม เครื่องหมายบนพื้นทางเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ศาลเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ทำให้โทษที่จำเลยได้รับจากการกระทำความผิดต่าง ๆ ดังกล่าว เหลือเพียง จำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา         นอกจากนี้ศาลยังสั่งริบจักรยานยนต์ของกลางที่ใช้กระทำผิด และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยด้วย         จากคดีดังกล่าว จึงมีเรื่องที่น่าสนใจว่า การรับสารภาพช่วยให้บรรเทาโทษหรือลดโทษได้เสมอไปหรือไม่ ซึ่งในความจริงแล้วการรับสารภาพที่จะเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เป็นบทบัญญัติในการ "ใช้ดุลพินิจของศาล" ไม่ใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเสมอไป ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2547                 "ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่         การรับสารภาพ อาจมีสาเหตุได้หลายประการ และบางอย่างก็อาจไม่เป็นเหตุให้ศาลบรรเทาโทษ เช่นกรณีการรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ยากที่จะอ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษ แม้จะกระทำความผิดครั้งแรกก็ตาม         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2546         "จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากถึง 110,000 เม็ดน้ำหนัก 10,496.92 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 1,044.916 กรัม แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทนก็ตาม แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม ขึ้นไปกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย การที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล เป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ขณะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้และมาเบิกความยืนยันความผิดของจำเลยที่ 2 ด้วยตนเอง จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ"         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2527        จำเลยไปขอเงินผู้ตายซึ่งเคยเป็นภรรยามีบุตรด้วยกัน แต่เลิกกันแล้ว ผู้ตายให้ไปเอาที่บ้าน จำเลยขู่จะฆ่ามารดาผู้ตายห้ามก็ไม่ฟัง จำเลยตีและเตะจนผู้ตายล้มลงไปในนามีน้ำขัง จำเลยตามไปกดคอจนตายเพราะขาดอากาศหายใจ ดังนี้ เป็นการข่มเหงรังแกเอาแก่สตรีโดยปราศจากเมตตาปรานีและโดยไม่มีเหตุอันน่าเห็นใจแต่อย่างใดกระทำต่อหน้าพยาน ทั้งถูกจับกุมได้ในทันทีหลังเกิดเหตุแม้รับสารภาพ ก็เป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยได้         จากตัวอย่างคำพิพากษาที่ยกมาข้างต้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อเทียบเคียงกับคดีที่เกิดขึ้น การรับสารภาพของผู้ขับบิ๊กไบค์ดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นการรับสารภาพโดยจะถือว่าให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของศาล หรือเป็นเพราะกระแสสังคมกดดัน และจำนนต่อพยานหลักฐาน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ศาลอาจใช้ดุลยพินิจไม่มีเหตุลดโทษก็ได้  โดยคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด มีการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 แจ้งแบบไหน จึงผิดฐานแจ้งความเท็จ

        ในช่วงนี้ ตามที่ปรากฎในหน้าข่าวเกี่ยวกับคดีของดาราท่านหนึ่งที่เสียชีวิตจากการไปล่องเรือ และปรากฎว่าตำรวจได้มีการตั้งข้อหากับผู้ที่อยู่บนเรือเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จ ซึ่งก็มีหลายคนสงสัยว่าแจ้งความเท็จเป็นยังไง มีโทษอย่างไรบ้าง ดังนั้น ในวันนี้ จึงขอหยิบยกประเด็นกฎหมายในเรื่องความผิดเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จมาเล่าสู่กันฟังครับ        ความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นความผิดทางอาญา โดยมีกำหนดอยู่ใน   ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 172 และ 173  ดังนี้          มาตรา 137 "ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน         มาตรา  172  บัญญัติว่าผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         มาตรา  173  บัญญัติว่าผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน  6,000  บาทน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”         การแจ้งความเท็จนั้น อาจทำได้โดย การบอกกับเจ้าพนักงาน การตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น ให้การเท็จในฐานะเป็นพยาน  หรือการแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐานก็ได้ ข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง 'อนาคต' ไม่ถือเป็นความเท็จ  นอกจากนี้ การแจ้งความเท็จนั้นต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง มิใช่การแสดงความคิดเห็น หรือการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคตด้วย และผู้แจ้งต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งตนเองแจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้งเพราะหากแจ้งตามที่เข้าใจเช่นนี้ถือว่าผู้แจ้งไม่มีเจตนา         หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงนึกถึงการไปแจ้งความกับตำรวจที่โรงพัก แต่ความจริงการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จรวมถึงกรณีไปทำนิติกรรมหรือจดทะเบียนกับเจ้าพนักงานต่างๆ เช่น จดทะเบียนโอนที่ดินด้วย         คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2141/2532         จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อ เจ้าพนักงานที่ดินขอรับมรดกที่ดินมีโฉนด แล้วจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำและยืนยันรับรองบัญชีเครือญาติต่อ เจ้าหน้าที่ที่ดินที่สอบสวนที่ดินมรดกว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 4 คน คือ จำเลยทั้งสี่ อันเป็นเท็จ ซึ่ง ความจริงจำเลยทั้งสี่ต่าง ทราบดี อยู่แล้วว่าผู้ตายยังมีบุตรสาวอีก 2 คน เป็นทายาทโดยธรรม เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ตาม คำขอของจำเลยทั้งสี่ทำให้กรมที่ดินและบุตรสาวอีก 2 คน ของผู้ตายเสียหาย จำเลยทั้งสี่ย่อมมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในวันที่กระทำความผิดนั้นเอง        นอกจากนี้  การที่ไปแจ้งความบอกเล่าตามความเข้าใจของตน แล้วต่อมาตำรวจไม่ได้ไปดำเนินคดีหรือเอาผิดกับผู้ถูกแจ้ง ก็ไม่ถือว่าผู้แจ้งมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะการที่ผู้ถูกแจ้งจะผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตำรวจต้องไปดำเนินการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำความผิด        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2555          จำเลยแจ้งข้อเท็จจริงโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับ ส. มีการชำระเงินค้างชำระจำนวนเท่าใด จนกระทั่งในวันเกิดเหตุจำเลยได้นำรถยนต์ไปพบโจทก์และ ส. เพื่อทำความตกลงกันและ ส. ได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้  ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริงที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับมิได้มีข้อความใดที่จำเลยกล่าวอ้างอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจึงตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ  เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้งก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ และถึงแม้จำเลยจะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ และส. ในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์  ก็น่าเชื่อว่าเป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน  ส่วนการกระทำตามที่จำเลยแจ้งจะเป็นความผิดดังกล่าวหรือไม่เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวน  และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ลูกตาย พ่อทำสัญญายอมกับคนทำละเมิดแล้ว แม่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่

        อย่างที่ทุกท่านทราบว่าความสัมพันธ์ของคนที่ยินยอมตกลงจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากัน อยู่กินเป็นครอบครัวเดียวกัน กฎหมายไทยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยาที่ต้องรับผิดรับชอบร่วมกัน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ก็เป็นสินสมรส  แต่ในบางเรื่องกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองแต่ละคนไว้เป็นการเฉพาะ เช่นในกรณีที่มีคนทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตาย เช่นนี้ตามกฎหมายให้สิทธิผู้เป็นบิดาและมารดาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้  ซึ่งค่าเสียหายส่วนนี้ก็รวมถึง “ค่าขาดไร้อุปการะ” ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อกัน ได้แก่ บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร และบุตรก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา การที่มีคนมาทำละเมิดทำให้บุตรตาย ทำให้บิดามารดาขาดคนอุปการะเลี้ยงดู เช่นนี้ ศาลก็ให้ผู้เป็นบิดามารดาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากคนทำละเมิดต่อบุตรของตนได้  อย่างไรก็ดี ก็เกิดประเด็นน่าสนใจว่า หากบิดาได้ไปฟ้องคดีเอง โดยมารดาไม่รู้ แล้วบิดาก็ไปตกลงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความแล้ว และมีข้อตกลงจะไม่ติดใจฟ้องร้องกันอีก เช่นนี้จะมีผลอย่างไร          เรื่องนี้ได้มีคดีเกิดขึ้นจริง และไปถึงศาลฏีกา จนที่สุดศาลฏีกาก็ได้มีคำพิพากษาวางแนวตัดสินคุ้มครองมารดามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะนี้ด้วย เพราะศาลเห็นว่า สิทธิในการเรียก “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20920/2556         สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้         นอกจากนี้  “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในความเป็นจริงบุตรนั้นได้เลี้ยงดูบิดามารดาจริงหรือไม่  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2562         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองตาย ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคตผู้ตายจะได้อุปการะโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถ

ในการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ แน่นอนว่าประวัติทางการเงินของผู้เช่าซื้อก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะนำมาพิจารณา หากประวัติไม่ดี บริษัทหรือสถาบันการเงินอาจจะพิจารณาไม่อนุมัติการเช่าซื้อรถยนต์ของผู้เช่าซื้อได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้แล้ว ผู้เช่าซื้อจะไปหาบุคคลอื่นที่มีประวัติการทางด้านการเงินดีกว่าตน มาเป็นผู้เช่าซื้อแทน ที่เห็นกันอยู่เสมอคือคนใกล้ชิดหรือใช้บุคคลในครอบครัวมาทำสัญญาเช่าซื้อ เช่น คนเป็นแฟนกัน หรือพี่น้องกัน ก็ ทำให้การทำสัญญาเช่าซื้อไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะผู้เช่าซื้อในสัญญา ไม่ใช่ผู้เช่าซื้อตัวจริง         ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้เช่าซื้อตัวจริงผิดนัดไม่จ่ายเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญา ผู้เช่าซื้อที่มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อจึงถูกทวงถามจากบริษัทหรือธนาคารที่เช่าซื้อหรือให้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืน  เช่นนี้เองผู้เช่าซื้อ (ตามสัญญา) จึงไปเอารถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เช่าซื้อ (ตัวจริง) โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เช่าซื้อที่แท้จริง กลายเป็นปัญหาว่า การกระทำของผู้เช่าซื้อตามสัญญาจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่        เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดเรื่องราวจนฟ้องร้องกันถึงศาลฏีกา ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้น ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง เพราะมองว่าผู้เช่าซื้อที่ทำสัญญาเช่าซื้อ ไม่มีเจตนาทุจริต  การกระทำจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ศาลฏีกาพิพากษากลับให้ผู้เช่าซื้อมีความผิดฐานลักทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยคือผู้เช่าซื้อผู้มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตัวจริง เพื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะชำระเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยแล้วให้จำเลยคืนรถที่เช่าซื้อแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริษัทผู้จำหน่าย และเมื่อถึงวันเวลานัด จำเลยขับรถที่เช่าซื้อไปรอผู้เสียหายที่ 2 ก็หาทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่สำเร็จแล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562                 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว         ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ซื้อบ้านในโครงการ และอยากรื้อรั้วของโครงการเพื่อขยายที่ดินทำได้ไหม

        หลายคนคงเคยเจอปัญหาจากการซื้อบ้านจัดสรร ทั้งปัญหาข้อพิพาทเรื่องการใช้สิทธิในถนน และที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคของโครงการอยู่ เช่นเมื่อที่ดินมีราคาสูงขึ้น เจ้าของโครงการบางแห่งกลับนำส่วนที่เป็นถนนหรือสาธารณูปโภคไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทำให้เกิดข้อพิพาทตามมาในเรื่องของกรรมสิทธิ์หรือการใช้สิทธิที่ดินดังกล่าว หรือบางกรณีมีปัญหาการใช้สิทธิในถนนของโครงการ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันจนคดีถึงศาลฎีกา         มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของเจ้าของบ้านหลังหนึ่งซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับรั้วหมู่บ้าน เเล้วจะขอรื้อรั้วหมู่บ้านเพื่อล้อมใหม่ เเต่ผู้จัดสรรไม่ยอม เจ้าของบ้านจึงฟ้องผู้จัดสรรที่ดิน ซึ่งต่อมาเรื่องก็ไปจบที่ศาลฏีกา โดยศาลได้ตัดสินว่าเจ้าของบ้าน รื้อรั้วของหมู่บ้านจัดสรรมิได้  คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552         หมู่บ้านจัดสรรของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย แสดงว่ามีการจัดทำแผนผังโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินหรือประโยชน์เกี่ยวกับสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม การจราจร ความปลอดภัย การสาธารณูปโภค และการผังเมือง มีหลักเกณฑ์และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว สิ่งก่อสร้าง ถนน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินดังกล่าวนี้ ย่อมถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน บุคคลใดจะทำให้เสื่อมค่าทำให้ขาดประโยชน์ หรือผิดแผกไปจากที่ได้รับอนุญาตแล้วมิได้ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจัดสรรโฉนดเลขที่ 6516 พร้อมบ้านจากโครงการของจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 911 จากผู้มีชื่อ อันเป็นที่ดินนอกโครงการจัดสรรและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่มีอาณาเขตด้านหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 6516 โจทก์ประสงค์จะรื้อรั้วด้านที่ติดกันออก แล้วกั้นรั้วใหม่ให้เป็นผืนเดียวกันและถมที่ดินให้มีระดับเสมอกัน แต่จำเลยห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองรื้อรั้วและใช้ทางเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 911 เห็นว่า รั้วและทางเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ผู้ใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือก่อให้เพิ่มภาระผูกพันโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิรื้อรั้วและใช้ถนนหมู่บ้านเพื่อประโยชน์ของที่ดินโจทก์ทั้งสองที่อยู่นอกหมู่บ้านจัดสรรได้         จากคำพิพากษาของศาลฏีกา จะเห็นได้ว่า “รั้วและทาง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และนิยามคำว่า “สาธารณูปโภค” ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หมายถึง“สิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสัญญาหรือตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต” เมื่อกฎหมายต้องการให้รั้วและทางเป็นของใช้ร่วมกัน ดังนั้น แม้การรื้อรั้วอย่างกรณีตามคดีนี้จะไม่กระทบใคร แต่เมื่อรั้วและทางถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภค แม้เป็นผู้ซื้อบ้านในโครงการก็ไม่สามารถที่จะนำสาธารณูปโภคใดๆ ก็ตามมาเป็นของส่วนตัวได้ เพราะเป็นของใช้ส่วนรวมของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 บอกกล่าวบังคับจำนองไม่ครบ 60 วัน ลูกหนี้จำนองพ้นความรับผิด

        หลายท่านอาจเคยเจอภาวะพิษเศรษฐกิจเกิดเป็นหนี้จนต้องเอาบ้านและที่ดินไปจำนองเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย ดังนั้น “หนี้จำนอง” จึงเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ผมจึงอยากนำความรู้กฎหมายจำนองมาบอกเล่าครับ  โดยคดีที่เกิดขึ้นนี้มีการทำสัญญาจำนองกันในช่วงเวลาที่ก่อนกฎหมายจำนองที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ แต่ตอนจะบอกกล่าวบังคับจำนอง เป็นช่วงที่กฎหมายที่แก้ไขมีผลบังคับแล้ว ดังนั้นการบอกกล่าวก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ นั่นคือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน แต่ปรากฎว่าหนังสือบอกกล่าวของผู้รับจำนองกำหนดเวลาให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองเพียง 30 วันซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ผลคือการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอ้างไม่ได้ว่าผู้จำนองไม่ปฏิบัติตามคำบอกกกล่าวทวงถาม ทำให้ผู้จำนองไม่ต้องรับผิด คำพิพากษาฎีกาที่ 5702/2562         โจทก์และจำเลยทั้งสามจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ คือ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 การที่โจทก์ผู้รับจำนองประสงค์จะบังคับจำนองนับจากนั้น โจทก์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่         โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองอันเป็นการกำหนดระยะเวลาน้อยกว่าหกสิบวันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้แน่นอนแล้ว จะนำระยะเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปรวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้องว่าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันแล้วหาได้ไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง         ดังนั้น หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองต้องกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 60 วัน ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาให้ไถ่ถอนจำนองเมื่อใด ไม่เป็นคำบอกกล่าวบังคับจำนอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1608/2506 (ประชุมใหญ่))         โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยเพียงว่า ให้จำเลยชำระเงินและไถ่ถอนการจำนองเสียภายในเร็ววันที่สุดนั้น เห็นได้ว่า ไม่ได้กำหนดให้ไถ่ถอนการจำนองเมื่อใด เอาความแน่นอนในการที่จะพิเคราะห์ว่าภายในเวลาอันสมควรหรือไม่ไม่ได้ จึงไม่เป็นคำบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แฝงสัญญาค้ำประกันในการเช่าซื้อข้อตกลงให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วม ใช้บังคับได้หรือไม่

        สวัสดีทุกท่านครับ  ในฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าซื้อที่มีรูปแบบการทำสัญญาที่แปลกและน่าสนใจ คือผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญากับผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภครายหนึ่ง แต่มีการให้บุคคลที่มิใช่ผู้เช่าซื้ออีกคนหนึ่งมาร่วมทำสัญญาและให้ร่วมรับผิดด้วย         โดยบุคคลนี้ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ตามสัญญา แต่หากเกิดการผิดนัด ผิดสัญญาต้องมาร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาล ฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อก็มาฟ้องบุคคลที่ร่วมทำสัญญาคนดังกล่าวมาร่วมรับผิดโดยอ้างว่ามีข้อตกลงในสัญญา คดีนี้ศาลมองเจตนาของการทำสัญญา ปกติประเพณีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป ก็ไม่มีการทำสัญญาลักษณะแบบนี้และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อต้องการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม และเมื่อมีข้อสงสัย ศาลก็ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับคนที่อาจเสียหาย คือคนที่ทำสัญญาร่วมรับผิด โดยเห็นว่าสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจึงตกโมฆะไปทั้งฉบับ มาฟ้องให้รับผิดไม่ได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2563         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 บัญญัติว่า “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ในการที่จะชำระหนี้ แทนลูกหนี้เท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่แสดงเจตนาต่อกันเป็นสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น แม้ชื่อและลักษณะของสัญญาจะมิใช่สัญญาค้ำประกัน แต่ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยเนื้อหาของสัญญามิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มีสถานะเป็นผู้เช่าซื้อ    อย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวคงมีเพียงข้อกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ กับจำเลยที่ 1 จนสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ อย่างผู้เช่าซื้อด้วย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นในลักษณะนี้ จึงเพ่งเล็งให้เห็นเจตนาและวัตถุประสงค์ของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจได้ว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2 เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับตนเพื่อเป็นประกันร่วมรับผิดในกรณีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเพิกเฉยไม่ชำระหนี้  อันเป็นสัญญาที่ก่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่แตกต่างจากการที่บุคคลภายนอกทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายค้ำประกัน ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1         นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมา ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ให้เช่าซื้อโดยทั่วไปมีวิธีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหนึ่ง แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญาค้ำประกันยินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ กับผู้เช่าซื้อเป็นอีกฉบับ หรือมีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อ แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ อย่างลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้ออีกฉบับหนึ่งดังเช่นคดีนี้ จึงนับว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาว่า สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่คู่สัญญากระทำเพื่อหลบเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ที่ห้ามตกลงกันให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมหรือไม่ เมื่อมีข้อสงสัยย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11         ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตีความและรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2  ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม แต่ไม่อาจทำเป็นสัญญาค้ำประกันให้มีข้อตกลงเช่นนั้นได้    จึงหลบเลี่ยงการทำสัญญาค้ำประกันที่มีข้อจำกัดมิให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้         จากคำพิพากษาของศาล ก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันมากขึ้น ฝั่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการต้องมีผู้ค้ำประกัน ก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย กำหนดข้อสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเมื่อเจอพฤติกรรมเช่นนี้และศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่มีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาที่ดูแลธุรกิจเช่าซื้อ เช่าห้องชุด เช่าที่อยู่อาศัย และสัญญาอื่นๆ ก็ควรพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 การบอกเลิกสัญญาโดยปริยาย

        สวัสดีครับ ในฉบับนี้จะขอหยิบยกเรื่องใกล้ตัวพวกเรา ที่หลายคนอาจไม่ได้สนใจมากนัก มาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือเรื่องของการบอกเลิกสัญญา แน่นอนว่าเมื่อเราต้องการผูกพันเรื่องใดเรื่องหนึ่งและต้องการให้เกิดความชัดเจน มีหลักฐานยืนยันกันได้ และกฏหมายยอมรับ ก็ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลังจากทำสัญญาไปแล้ว บ่อยครั้งที่มักเกิดปัญหา ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ ก็อาจมีเหตุที่อยากจะเลิกสัญญากัน ซึ่งหลายคนคงเข้าใจว่าการบอกเลิกสัญญาก็ต้องทำเป็นหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นกัน แต่ความจริง การบอกเลิกสัญญาอาจเกิดจากพฤติการณ์บางอย่าง ซึ่งศาลก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า หากเป็นกรณีใดที่ถือว่ามีผลบอกเลิกสัญญาโดยปริยายบ้าง เช่น  เจ้าของทางพิพาทนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาท ไม่ให้ใช้ทางอีกต่อไป ก็ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาให้ใช้ทางโดยปริยาย  หรือทำสัญญาซื้อขายที่ดิน เมื่อผู้ขายส่งมอบที่ดินขาดตกบกพร่อง ผู้ซื้อจึงไม่รับโอน และไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ พฤติการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และผลของการบอกเลิกสัญญาทำให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเสมือนไม่เคยทำสัญญากันมาก่อน ฝ่ายที่รับเงินไว้ก็ต้องคืนเงินหรือส่งมอบทรัพย์คืนแก่คู่สัญญา         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4645/2540           จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ แต่เมื่อไม่มีข้อกำหนดเวลากันไว้ โจทก์จึงใช้ทางได้ตราบเท่าที่จำเลยยินยอม หากจำเลยไม่ยินยอมโจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ทาง เพราะสิทธิของโจทก์เกิดจากความยินยอมของจำเลย แม้การที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์สร้างทางได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ แต่ในกรณีบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาทไว้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2539           จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาถึงเกือบครึ่ง เป็นการส่งมอบที่ดินที่ขาดตกบกพร่องถึงขนาดซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 อย่างแน่นอนโจทก์จึงมีสิทธิบอกปัดเสียหรือเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์บอกปัดไม่ยอมรับโอนที่ดินพิพาทและไม่ชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญากรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง แล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์                 อีกประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ทำให้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ย ในกรณีที่ผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง         คำพิพากษาฎีกาที่ 5196/2548               โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย โจทก์ผ่อนชำระเงินดาวน์แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญาและต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งให้นำเงินที่เหลือไปชำระ แสดงว่าจำเลยได้ยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยได้พัฒนาที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด ส่วนที่หนังสือของจำเลยระบุว่าก่อนถึงวันนัดให้โจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยก่อนวันที่กำหนดในหนังสือเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไปรับโอนกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว โดยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวระบุในสัญญา อย่างไรก็ตามการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าจำเลยยังพัฒนาที่ดินไม่เรียบร้อย แต่โจทก์ก็พร้อมที่จะไปรับโอนกรรมสิทธิ์ตามวันเวลาที่จำเลยกำหนดนัด เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์มีหนังสือตอบรับยืนยันไปยังจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ไปตามกำหนดนัดจึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายได้         การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้บอกเลิกสัญญาจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นกัน การที่โจทก์ได้เบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาว่าได้มอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ว่าได้ยอมรับการกระทำของทนายความที่กระทำแทนโจทก์ในกรณีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 การบอกเลิกสัญญาจึงชอบแล้ว         โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและการบอกเลิกสัญญาของโจทก์มีผลสมบูรณ์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะมีหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกครั้งหนึ่งและโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดดังกล่าว ก็เป็นเพียงการให้โอกาสแก่จำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาข้อพิพาทกันอีกต่อไป แต่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยก็ยังผิดนัดอีก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเลิกสัญญากับจำเลยอีกต่อไป         เมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับให้แก่โจทก์และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่รับไว้ด้วย ซึ่งการคิดดอกเบี้ยในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด แต่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติผิดสัญญา และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดจากจำเลยในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ซื้อที่ดินพร้อมบ้าน แต่สัญญาระบุแค่ซื้อที่ดิน แบบนี้จะได้บ้านบนที่ดินด้วยหรือไม่

ฉบับนี้มีเรื่องราวใกล้ตัวน่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกันอีกเช่นเคย  นั่นคือประเด็นของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ก็มีบ่อยครั้งที่เกิดปัญหาจนถึงขั้นฟ้องร้องกันในศาล ส่วนหนึ่งเพราะการซื้อทรัพย์เหล่านี้จะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้บริโภคเมื่อตัดสินใจจะซื้อควรต้องตรวจสอบข้อมูลข้อสัญญาต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่างตัวอย่างในคราวนี้ผมหยิบปัญหาของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ตั้งใจจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินแต่สัญญาที่ซื้อขายกันระบุแค่ซื้อที่ดิน เช่นนี้จึงมีคำถามต้องคิดกันต่อว่า ซื้อขายที่ดินแต่หากมีบ้านอยู่บนที่ดินจะได้บ้านด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบอกว่าเคยเกิดขึ้นหลายครั้งจนมีเรื่องราวฟ้องร้องจนถึงศาลฏีกาและศาลก็ได้ตัดสินวางแนวเรื่องนี้ไว้ คือการซื้อขายที่ดินที่ไม่ได้กล่าวถึงบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินต้องถือว่าขายบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2507)         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2507         เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินตอนต้นระบุถึงที่ดินซึ่งมีห้องแถวรวมอยู่ด้วย แม้ตอนต่อมาจะเขียนสัญญาซื้อขายใช้คำแต่เพียงว่า ผู้ขายยอมขายที่ดิน ผู้ซื้อยอมรับซื้อที่ดินโดยไม่มีข้อความเพิ่มเติมว่า "พร้อมกับห้องแถวด้วย" ก็ต้องหมายความว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง คือห้องแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินและเป็นส่วนควบของที่ดิน         เมื่อสัญญาซื้อขายแสดงว่า ยอมขายห้องแถวด้วย โดยไม่มีข้อตกลงพิเศษว่า ให้ห้องแถวคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายไม่มีสิทธินำสืบว่าต้องการขายแต่ที่ดิน ไม่ขายห้องแถว เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  802/2544         บ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินในลักษณะตรึงตราถาวรนับได้ว่าเป็นส่วนซึ่งโดยสภาพเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป บ้านจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบ้านซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144                  จากทั้งสองคำพิพากษา เราจะเห็นว่า ศาลวินิจฉัยว่าบ้านที่ปลูกบนที่ดินแบบตรึงตราถาวรเป็น “ส่วนควบ” ของที่ดินโดยสภาพ  ซึ่งตามกฎหมาย “ส่วนควบ” คือ ส่วนของทรัพย์ซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป         อีกคดีที่น่าสนใจ  เมื่อมีหลักว่า บ้านคือส่วนควบของที่ดินเช่นนี้ เมื่อที่ดินเป็นทรัพย์ที่ห้ามโอนตามกฎหมาย ดังนั้นบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวก็ต้องห้ามโอนตามกฎหมายด้วยเช่นกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550)         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550         บ้านของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดปลูกสร้างอย่างแน่นหนาถาวรบนที่ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมถูกห้ามโอนด้วย แม้โจทก์จะอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ประสงค์จะยึดบ้านพิพาทอย่างสังหาริมทรัพย์ โดยในการขายทอดตลาดผู้ที่ซื้อทรัพย์จะต้องรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินไปเอง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้วเสียก่อน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้

อ่านเพิ่มเติม >