ฉบับที่ 246 จอดรถในที่สาธารณะต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

        กล่าวถึงปัญหาโลกแตกของคนมีรถแล้ว เรื่องที่จอดรถคือที่สุด ซึ่งหลายคนคงจะเคยประสบพบเจอ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่รถมีจำนวนมาก แต่พื้นที่จอดรถมีน้อย ผลที่ตามมาคือที่จอดรถมีไม่เพียงพอ ต้องไปจอดตามข้างทางข้างถนน บนที่สาธารณะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อขึ้นชื่อว่าที่สาธารณะ หลายคนมักคิดว่าที่สาธารณะใครๆ ก็มีสิทธิใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะจอดได้ตามอำเภอใจนะครับ หากจอดไม่ดี ก็มีปัญหากันได้         ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเรื่องปัญหาที่จอดรถในทางสาธารณะเคยเกิดปัญหากันถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาล สู้กันจนถึงศาลฏีกามาแล้ว เนื่องจากผู้ฟ้องเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องเอากระถางต้นไม้มาวางตรงแนวร่นอาคารของตนเอง แล้วเอารถมาจอดบนทางสาธารณะทำให้คนอื่น ไม่สามารถใช้พื้นที่จอดรถได้ เป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน จึงถือเป็นการละเมิดทำให้เกิดความเสียหาย มีสิทธิบังคับให้ผู้ที่ถูกฟ้องจอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นเขตพื้นที่ของผู้ถูกฟ้องได้ ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8253/2559         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8253/2559         การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้         นอกจากนี้ หากการจอดรถบนทางสาธารณะแม้จะเป็นหน้าบ้านของตนเอง แต่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น เนื่องจากไม่สามารถสัญจร หรือถอยรถเข้า-ออกได้อย่างสะดวกนั้น ยังมีความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 ว่าด้วยการกระทำการต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ห่มเหง คุกคาม หรือกระทำการให้เดือดร้อนรำคาญต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518         จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ซื้อบ้านจัดสรรเจอภัยพิบัติบ้านชำรุด เคลมประกันได้ไหม

        ช่วงนี้สถานการณ์โควิดระบาดก็ว่าแย่แล้ว ยังมีเรื่องซ้ำเติมหลายๆ คนกับเหตุการณ์โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในสมุทรปราการเกิดระเบิด จนทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งชีวิต ร่างกายและสุขภาพ และแน่นอนว่าในบริเวณดังกล่าวมีบ้านเรือนประชาชนอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ไปสร้างในบริเวณใกล้โรงงาน ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านในโครงการใกล้โรงงานก็ได้รับผลกระทบความเสียหายในบ้านเรือนมากมาย ต้องการการซ่อมแซมบ้านอย่างเร่งด่วน ด้วยเชื่อว่ายังอยู่ในระยะประกันตามสัญญา แต่ปัญหาที่พบคือ “ประกันที่ทำของโครงการ อ้างว่าไม่ครอบคลุมความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติ”  ผมจึงอยากหยิบยกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของบ้านจัดสรรมาฝากกันครับ         ก่อนอื่น ทราบกันหรือไม่ จริงๆ พวกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านของพวกโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ต้องดำเนินการตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด ตาม พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน มาตรา 34  ซึ่งถือได้ว่าเป็น “แบบสัญญามาตรฐาน” ถ้าโครงการใดไม่ใช้สัญญามาตรฐานนี้ หรือมีการไปใส่ ดัดแปลง ตัดทอนเรื่องสำคัญ ให้มีเนื้อหาแตกต่างจากสัญญามาตรฐาน จะมีผลคือ เจอโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และข้อสัญญาที่แตกต่างจากสัญญามาตรฐานก็จะไม่มีผลบังคับใช้ด้วย         ในเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของแบบสัญญามาตรฐาน กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (มีสิ่งปลูกสร้าง) ข้อ 11 ระบุว่า เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้จะซื้อแล้ว ผู้จะขายต้องรับผิดในความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่อง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่ผู้ซื้อพึงได้รับ  โดยกรณีโครงสร้างของอาคารได้แก่ เสาเข็ม ฐานรก เสา คาน พื้น โครงหลังคา และผนังที่รับน้ำหนัก ภายใน 5 ปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์  กรณีส่วนควบ เช่น ประตู หน้าต่าง กระจก รวมถึงรั้ว กำแพง ภายใน 1 ปีนับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์           มีข้อสังเกต ว่าตามแบบสัญญามาตรฐานดังกล่าว ไม่ได้ระบุเลยว่า ความรับผิดในความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้น จำกัดเฉพาะกรณีเกิดเหตุจากการก่อสร้างของผู้ขายเท่านั้น อย่างไรก็ดี พบว่าในทางปฏิบัติหลายโครงการมักไปเขียนข้อสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรให้ตัวเองรับผิดชอบในความชำรุดเฉพาะในกรณีที่เกิดจากเหตุการก่อสร้างของตนเท่านั้น  เพื่อจะอ้างไม่รับผิดชอบกรณีความเสียหายจากบุคคลภายนอกหรือภัยพิบัติ   เช่นนี้เห็นได้ว่าการเขียนข้อสัญญาลักษณะนี้ ถือว่าเข้าข่ายเขียนข้อสัญญาที่ขัดหรือแตกต่างต่อแบบของสัญญามาตรฐาน เป็นข้อสัญญาที่ยกเว้นความรับผิดในความชำรุดบกพร่อง จนสร้างภาระให้ผู้ซื้อเกินสมควร อาจเข้าข่ายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีผลบังคับและควรถือว่าสัญญาดังกล่าว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแบบสัญญามาตรฐานเพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค ที่ควรได้รับความคุ้มครองในกรณีเกิดความชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่ผู้ซื้อพึงได้รับ          ในเรื่องความชำรุดบกพร่อง ก็มีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น กรณีซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย แม้จะไปตรวจบ้านก่อนรับโอน แต่ในส่วนโครงสร้างที่ผู้ซื้อไม่เห็นประจักษ์ถึงความชำรุดตอนส่งมอบ เมื่อต่อมารับโอนแล้วพบ ผู้ขายก็จะต้องรับผิดชอบ จะบอกปัดโดยอ้างว่าผู้ซื้อไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนรับโอนไม่ได้ ตามแนวคำพิพากษาฏีกา ที่ 17002/2555          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555        การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าว จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)          กรณีซื้อบ้านใหม่อยู่ไม่ถึงปี พบชำรุดหลายจุดจนไม่อาจอยู่อาศัยได้ ก็ถือว่าเป็นความชำรุดที่ทำให้เสื่อมประโยชน์ใช้สอยตามปกติคือซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ถือเป็นการชำรุดก่อนเวลาอันควร ไม่ใช่เรื่องชำรุดบกพร่องจาการใช้สอยตามปกติ เช่นนี้ ผู้ขายก็ต้องรับผิด         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2543         โจทก์ทั้งสามซื้อทาวน์เฮาส์หลังพิพาทมาในสภาพใหม่เพิ่งก่อสร้างเสร็จจากจำเลย และเข้าอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ได้เพียง 6 เดือน ก็เกิดความชำรุดบกพร่องในส่วนสำคัญหลายรายการ จนไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้อย่างปกติสุขหรือเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติต่อไปได้ เป็นการชำรุดบกพร่องก่อนเวลาอันสมควร จึงหาใช่เป็นเรื่องที่ความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นจากธรรมชาติของการใช้สอยไม่ จำเลยผู้ขายย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทาวน์เฮ้าส์นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 472

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 โฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา ถ้าไม่ทำตามที่โฆษณาเรามีสิทธิอย่างไร

ฉบับนี้ ผมก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายใกล้ตัวมาเสนออีกเช่นเคย ในช่วงโควิดระบาดเช่นนี้ ธุรกิจหลายอย่างได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจซื้อขายห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม หลายคนก็อาศัยช่วงนี้ที่ราคาคอนโดถูกลงเพื่อจับจองเป็นเจ้าของ ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักแสนจนหลักสิบล้าน การที่เราจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงอยากนำเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ มาแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่ทุกท่านในการซื้อคอนโดครับ         หลายท่านคงเริ่มจากค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและไปดูสถานที่จริง อย่างไรก็ดีเราจะพบว่าฝั่งโครงการ ซึ่งเป็นผู้ขายมักมีการทำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เพื่อให้เราตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น มีทั้งทำโฆษณาในออนไลน์ แจกแผ่นพับ โปสเตอร์ป้ายใหญ่โต แต่เมื่อเราตัดสินใจทำสัญญาซื้อคอนโดไปแล้ว ผู้ขายมักไม่ทำตามคำโฆษณาและทำให้เกิดข้อพาทกัน เช่นในคดีหนึ่ง ผู้ประกอบการได้ทำเปิดขายอาคารชุด มีการแจกแผ่นพับโฆษณาโดยมีรูปแผนผังทำให้ผู้ซื้อเชื่อว่าที่ดินทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่ผู้ซื้อจะสามารถใช้สอยได้  แต่ต่อมากลับแจ้งผู้ซื้อว่าที่ดินดังกล่าว ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อมาฟ้องศาลเพื่อให้ทำตามที่โฆษณาไว้         ต่อมาศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ประกอบการต้องทำตามที่โฆษณาโดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม         ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับ จะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือ เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย          จากคำพิพากษาข้างต้น ยังมีหลักกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่น่าสนใจคือ ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางนั้นคือทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วม ไม่ว่าทรัพย์นั้นทะเบียนอาคารชุดจะระบุไว้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ลูกจ้างรายวันไปทำละเมิดคนอื่น นายจ้างต้องรับผิดด้วยหรือไม่

เมื่อวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก  ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งก็ปิดกิจการเพราะทนพิษโควิดไม่ไหว หลายคนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ  กลับมาในประเด็นของเรา เมื่อพูดถึงลูกจ้าง ทุกคนคงพอทราบว่า ลูกจ้างเมื่อทำงานให้แก่นายจ้าง หากเกิดปัญหากับบุคคลภายนอก ทำให้เขาเสียหายใดๆ ก็ตาม กฎหมายเรากำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย แต่มีคนสงสัยว่า หากเป็นลูกจ้างรายวัน ความรับผิดในส่วนของนายจ้างจะมีแค่ไหน เพียงใด         ในกรณีนี้ เคยมีการฟ้องคดีกันจนถึงศาลฏีกา เป็นเรื่องที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จ้างลูกจ้างรายวันให้ขับรถบรรทุกไปส่งสินค้า แต่ปรากฏว่าลูกจ้างคนดังกล่าวขับรถไปเฉี่ยวชนกับรถโดยสารทำให้เกิดความเสียหาย นายจ้างก็ไปคุยเจรจาต่อรองค่าเสียหายที่โรงพัก พร้อมทั้งยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงตัดสินว่า พฤติการณ์ที่นายจ้างกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับว่ายอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้ก่อเหตุ แม้ จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของแล้วก็ตาม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย        อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ แม้ลูกจ้างที่รับจ้างขับรถส่งของ จะเลือกใช้เส้นทางที่นอกคำสั่งของนายจ้าง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้าง ผู้เป็นนายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 501-504/2517               จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ขับรถบรรทุกน้ำมันไปส่งที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพไปถึงจังหวัดหนองคายแต่หลังจากส่งน้ำมันเสร็จ ขากลับจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงจังหวัดนครราชสีมาแล้วก็แยกเข้าถนนสายนครราชสีมา-กบินทร์บุรีเพื่อจะกลับมายังบางนางเกรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่จอดรถโดยไม่ใช้เส้นทางเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 1แล้วเกิดเหตุชนกับรถยนต์อื่นที่อำเภอเมืองชลบุรี แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถออกนอกเส้นทาง ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รถยนต์ชำรุดซ่อมไม่หาย ฟ้องให้ชดใช้เป็นเงินได้

        ในเล่มนี้ก็มีความรู้ดีๆ มาแบ่งปันอีกเช่นเคย สำหรับช่วงนี้เราก็ยังอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ทั้งโรคโควิด 19 ที่ยังระบาดและฝุ่น PM 2.5 ที่ยังแก้ไม่ได้  และหลายท่านอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ ผู้เขียนก็มีความห่วงใย ขอให้ผู้อ่านทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพกันให้ดีๆ นะครับ         ปัญหาคลาสสิคที่เกิดอยู่บ่อยๆ คือ เวลาซื้อรถยนต์ ใช้ได้ไม่นานก็ต้องซ่อมบ่อยๆ ทั้งที่เพิ่งซื้อมา หลายคนคงปวดหัวเพราะการซื้อรถยนต์คันหนึ่งต้องใช้เงินไม่น้อย บางคนซื้อมาเพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน พอเจอรถเสียต้องซ่อมก็ทำให้กระทบกับการหารายได้ แน่นอนว่าเมื่อซ่อมหลายครั้งไม่หายคงต้องอยากขอเรียกเงินคืนซึ่งผู้ขายก็มักไม่ยอมจนเกิดคดีฟ้องร้องต่อศาล          เราในฐานะผู้บริโภคเองมีกฎหมายช่วยฟ้องคือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 สามารถฟ้องเป็น “คดีผู้บริโภค” เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้ อีกทั้งยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ หากผู้ผลิตและผู้ขายรถยนต์นั้นไม่สามารถจัดการปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เราซื้อมาได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท        ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้         เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลฏีกาข้างต้นคงจะสังเกตเห็น ว่าการที่เราเป็นผู้บริโภคแล้วใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลมีกฎหมายช่วยเราในหลายประการ เช่น แม้เราจะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เพราะเรายังผ่อนกับธนาคารก็ตาม แต่เมื่อเราได้สมุดคู่มือการรับบริการ ทำให้เรามีสิทธิรับบริการเกี่ยวกับรถยนต์ก็ถือว่าเรามีสัญญากับบริษัทแล้ว จึงฟ้องทั้งผู้ขายและผู้ผลิตได้  เมื่อรถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานไม่ได้ตามที่ตกลงสัญญาไว้ เราก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล         อีกอย่างคือ ภาระการพิสูจน์ว่ารถยนต์ได้รับการซ่อมจนหายเป็นปกติหรือไม่ กฎหมายกำหนดให้เป็นภาระของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อสืบไม่ได้จึงต้องฟังว่า คดีนี้รถยนต์พิพาทมีปัญหาความชำรุดบกพร่องตามฟ้องและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 คนถือบัตรเสริมต้องรับผิดร่วมกับบัตร (เครดิต) หลักทุกกรณีหรือไม่

        ในปีนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตไปพอสมควรจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 เรื่องที่จะหยิบยกมาแบ่งปันในวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวการใช้บัตรเครดิต หลายท่านรู้จักและได้ใช้บัตรเครดิต เพราะในยุคนี้ต้องยอมรับว่าการใช้บัตรเครดิตทำให้เราสะดวกมากขึ้น แต่ภายใต้ความสะดวกก็ต้องมีสิ่งที่เราต้องพิจารณาคือการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ค้างจนกระทบต่อเงินในบัญชีของเรา          คดีที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็เป็นเรื่องของคนใช้บัตรเสริมของบริการบัตรเครดิต ที่ตอนสมัครก็ไปลงลายมือชื่อในสัญญาสมัครบัตรเครดิตว่า ยอมรับผิดร่วมกับบัตรหลัก  ครั้นพอคนใช้บัตรหลักเป็นหนี้สถาบันการเงินก็มาฟ้องให้คนถือบัตรเสริมร่วมรับผิดด้วยก็เกิดการโต้แย้งกันเพราะคนใช้บัตรเสริมเห็นว่า ตนไม่ควรต้องรับผิดในหนี้ที่ตนเองไม่ได้ร่วมใช้ คดีก็สู้กันจนถึงศาลฏีกาและศาลได้ตัดสินคดีเป็นบรรทัดฐานเพื่อคุ้มครองสิทธิคนถือบัตรเสริม         กล่าวคือ คนถือบัตรเสริมไม่ต้องร่วมรับผิดใช้หนี้ของบัตรหลักเพราะตอนทำสัญญาสถาบันการเงินยึดถือผู้ใช้บัตรหลักเป็นลูกหนี้หลัก อีกทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัด ให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ดังนั้นข้อสัญญาที่ระบุให้คนถือบัตรเสริมต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้บัตรหลักจึงเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2560         แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นคู่สัญญาและมีข้อกำหนดในข้อ 1 ระบุว่า สมาชิกบัตรหลักและสมาชิกบัตรเสริมตามที่ปรากฏในใบสมัครจะต้องผูกพันร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าและหรือบริการอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนั้นมิใช่นิติกรรมประเภทสัญญาที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เพราะสัญญาบัตรเครดิตนั้นสามารถแยกการใช้จ่ายได้ระหว่างบัตรหลักคือบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 กับบัตรเสริมหรือบัตรเครดิตเสริมที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 นอกจากนี้เอกสารก็มิใช่สัญญาค้ำประกันที่จะผูกพันจำเลยที่ 2 ในอันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม โดยเห็นได้ชัดว่าการทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลักซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด          ดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักจะต้องมีมากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเสริมโจทก์จะพิจารณาดูจากเครดิตหรือความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการชำระหนี้จากผู้ถือบัตรหลักคือจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงอนุญาตในการออกบัตรเครดิตเสริมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลักษณะของสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริมเท่านั้น มิใช่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ผู้ถือบัตรเครดิตเสริมต้องมาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ในเอกสารที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในใบสมัครบัตรเสริมจะมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม แต่ข้อกำหนดในเอกสารคำขอเปิดบัตรเครดิตเสริมนั้นไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ข้อสัญญาดังกล่าวยังถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้โดยตรงเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายลูกหนี้เรียกดอกเบี้ยคืนหรือไม่

        ฉบับนี้ขอพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนี้  นั่นคือ “การกู้เงิน” อย่างที่เราทราบกันว่า พอเกิดโรคระบาดโควิด หลายคนตกงานขาดรายได้ แต่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม บางคนถึงขั้นต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละวันและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปกู้เงินนอกระบบ ผลที่ตามมาคือ ถูกคิดดอกเบี้ยที่สูง เจ้าหนี้นอกระบบบางรายคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเกินอัตราที่กฎหมายให้เรียกได้ กล่าวคือ  กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ  15 ต่อปี  หรือ  ร้อยละ  1.25  ต่อเดือน หากคิดเกินนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายทุกเดือนๆ ที่ถูกคิดเกินกฎหมายส่วนนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิเรียกคืนได้หรือไม่  ซึ่งศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่า เงินที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ลูกหนี้เรียกร้องให้คืนไม่ได้และเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน แต่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปหักกับเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อหักแล้วเงินต้นเหลือเท่าใด ลูกหนี้ก็รับผิดชอบหนี้เฉพาะส่วนที่เหลือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560         การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)         ดังนั้น หากท่านใดตกเป็นลูกหนี้นอกระบบ เราควรต้องรอบคอบโดยเก็บหลักฐานการชำระเงินส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นแต่ละเดือนไว้ แนะนำให้โอนเข้าบัญชี ไม่ควรชำระเป็นเงินสด เพราะเจ้าหนี้จะไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานชำระหนี้ให้เรา เพื่อหากเกิดข้อพิพาทขึ้น เราจะได้มีหลักฐานต่อสู้ได้ว่าเงินดอกเบี้ยที่เราจ่ายไปนี้ ต้องนำไปหักเงินต้น จะอ้างว่าที่ผ่านมาเราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 อายุความ เรียกค่าสร้างบ้าน

สวัสดีครับฉบับนี้อยากหยิบยกปัญหาใกล้ตัวเราทุกคนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย หลายท่านคงฝันว่าอยากจะมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่ท่านทราบหรือไม่  ในเรื่องการก่อสร้างบ้าน กฎหมายได้กำหนดอายุความไว้หลากหลาย เช่น อายุความเรียกค่าจ้างทำของ กำหนดไว้ 2 ปีนับแต่รับมอบงาน แต่มีข้อสังเกตว่า อายุความ 2 ปีนี้ ใช้กับคู่สัญญาที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นคนธรรมดาที่ว่าจ้างให้สร้างบ้าน หรือเรียกว่าจ้างสร้างเป็นการส่วนตัว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2534         การฟ้องเรียกค่าจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 มีกำหนดอายุความ2 ปี นับแต่วันรับมอบงาน โจทก์สร้างบ้านและรั้วพิพาทเสร็จส่งมอบให้จำเลยเมื่อเดือนตุลาคม 2526 และจำเลยได้เข้าไปอยู่ในบ้านพิพาทเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2526 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเอาไม้แบบพิพาทของโจทก์ไปทำสะพานทางเดินและเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์ดังกล่าวคืนนั้นเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556         จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยโดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร  โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ  การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้าง เป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาคาจ้างจากผู้ว่าจ้าง จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้นต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลย  ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความถึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ         แต่ถ้าฝ่ายผู้ว่าจ้างทำโครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เช่น พวกบ้านจัดสรร และว่าจ้างผู้รับจ้างทำการรับเหมาก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนของผู้ว่าจ้าง เช่นนี้ ต้องใช้อายุความ 5 ปี ในการฟ้องร้องเรียกสินจ้าง          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9931/2552         คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง จำเลยรับจ้างก่อสร้างถนนและสะพานจากกรมทางหลวงแล้วจำเลยนำงานก่อสร้างสะพานไปว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอีกต่อหนึ่ง งานก่อสร้างสะพานเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างจากกรมทางหลวงอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้างเรียกเอาค่างานที่ได้ทำให้แก่จำเลยเพื่อกิจการของจำเลย เข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)          อายุความเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่เราต้องรู้เพื่อจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องของเราได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  เช่นในเรื่องนี้ หากจะเรียกค่าจ้างก่อสร้างบ้าน กรณีสร้างแบบส่วนตัว ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 2 ปี หรือหากเป็นบ้านโครงการก็ต้องฟ้องภายใน 5 ปีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ซื้อที่ดินโดยไม่รู้ว่ามีกฎหมายห้ามโอนจะมีผลอย่างไร

หลายท่านคงมีประสบการณ์ อยากได้ที่ดินสักแปลงมาปลูกบ้านหรือเอาไว้ทำเกษตรหรือทำธุรกิจ ก็ไปหาข้อมูลต่างๆ เพื่อพิจารณาในการซื้อที่ดิน ซึ่งในทุกวันนี้ราคาที่ดินก็แพงขึ้นทุกวัน ดังนั้นกว่าจะตัดสินใจซื้อก็ต้องคิดอย่างรอบคอบ จึงอยากหยิบกรณีเกี่ยวกับปัญหาซื้อขายที่ดินมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านครับ         หนึ่งในเรื่องสำคัญที่เราควรตรวจสอบลำดับต้นๆ คือ ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิแบบใด และเป็นที่ดินที่มีกฎหมายห้ามโอนหรือไม่ ซึ่งได้แก่ ที่ดิน สปก. เป็นที่รัฐให้ประชาชนเช่าเพื่อใช้ทำเกษตรกรรม ห้ามซื้อขายกัน หรือที่ดินซึ่งมีโฉนดแต่มีสัญญากำหนดห้ามโอนใน 10 ปี เป็นต้น สำคัญเพราะหากไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนจะมีเกิดปัญหาตามมาคือ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาของศาลฏีกาวางหลักไว้ว่า การจะซื้อจะขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนเป็นการทำนิติกรรมที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะตามมาตรา 150  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539         โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาตามข้อกำหนดห้ามโอนเป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอนย่อมตกเป็นโมฆะและเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจงดสืบพยานแล้วยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา24         ผลคือ ผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายหนี้ค่าที่ดินที่ค้างอยู่ และผู้ขายต้องคืนเงินค่าที่ดินทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อ จะอ้างว่าผู้ซื้อชำระหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9087/2539        ขณะโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทจากจำเลยนั้น โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอน นิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระและจำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไว้โดยถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระแต่อย่างใด         อีกกรณีคือ แม้จะตกลงให้โอนกันเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนก็ตกเป็นโมฆะ          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5083/2537         ถึงแม้จะฟังว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ โดยโจทก์สละการครอบครองก็เป็นการซื้อมาและเข้าครอบครองภายในกำหนดเวลาห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้จะโอนไปเพียงบางส่วนของที่ดินที่ห้ามโอนและมอบการครอบครองแล้ว ทั้งมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วก็ไม่อาจทำได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2549         ขณะที่ผู้ร้องและ ป. ผู้ตายทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันนั้น ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินมีข้อกำหนดห้าม ป. โอนที่ดินไปยังบุคคลอื่นภายในสิบปีตาม ป. ที่ดิน มาตรา 31 และยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ว่าผู้ร้องจะครอบครองนานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และถึงแม้ว่าผู้ตายตกลงจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายที่จะบังคับให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย         จากตัวอย่างคำพิพากษาของศาลข้างต้น เราจะเห็นว่าการซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนนั้น มีผลทำให้สัญญาซื้อขายที่ทำ ไม่มีผลใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีการตกลงกันให้โอนภายหลังครบกำหนดก็ตาม ดังนั้นหากจะวางแผนซื้อที่ดินก็ควรตรวจสอบดูให้ดีก่อนนะครับว่า ที่ดินแปลงนั้นๆ ติดเรื่องห้ามโอนหรือไม่ หากมีก็ไม่ควรไปซื้อเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 สิทธิของคนค้ำประกันที่ควรรู้

    การเป็นหนี้ เชื่อว่าหลายท่านหรือคนใกล้ตัวต้องมีมาคุยเรื่องหนี้กันบ้าง โดยเฉพาะหนี้จากการกู้ยืมเงินไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ แต่ในครั้งนี้ผมจะขอกล่าวถึงหนี้ของผู้ค้ำประกัน เพราะเป็นคนที่เจตนาดี ช่วยค้ำประกันหนี้ให้คนอื่นทั้งที่ตัวเองไม่ได้ใช้เงิน แต่สุดท้ายเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ตนเองก็โดนบังคับชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับผู้ค้ำประกันหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระได้  ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรื่องของ “สิทธิของผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกท่านควรรู้ครับ         เมื่อเจ้าหนี้มาทวงหนี้จากผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ ดังนี้        1. บอกปัดให้เจ้าหนี้ไปเรียกเอาจากลูกหนี้ก่อน ก่อนที่ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้น ผู้ค้ำสามารถให้เจ้าหนี้ไปเอาจากลูกหนี้ได้ก่อน ดังนั้นหากเจ้าหนี้มาทวงหนี้กับผู้ค้ำ ให้ผู้ค้ำแจ้งไปเลยว่า ให้ไปเอาจากลูกหนี้ก่อน        2. ตรวจสอบว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้หรือไม่ ถ้าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ ผู้ค้ำก็แจ้งเจ้าหนี้ให้ไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้        3. ตรวจสอบข้อสัญญาค้ำประกัน หากมีข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ ผลคือเจ้าหนี้จะต้องไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน จนก็กระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วจึงค่อยมีเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน        4. ตรวจสอบว่ามีการแจ้งให้ผู้ค้ำทราบหลังลูกหนี้ผิดนัดภายใน 60 วัน หรือไม่ เนื่องจากข้อกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าหนี้ให้ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันทราบเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ภายใน 60 วัน เพื่อที่ผู้ค้ำจะชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด โดยที่ผู้ค้ำฯไปเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ภายหลัง หากไม่แจ้งผู้ค้ำไม่ต้องรับผิดชอบในดอกเบี้ย ค่าติดตามทวงหนี้ ค่าสินไหมทดแทนต่างๆ        5. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการลดหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ หากมีผู้ค้ำได้รับประโยชน์นั้นด้วย เนื่องจากข้อกฎหมายให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ (ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ก็มีผลถึงผู้ค้ำประกัน แต่ถ้าเป็นผลเสียแก่ผู้ค้ำจะใช้บังคับไม่ได้ )        6. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีการขยายระยะเวลา โดยผู้ค้ำไม่ได้รับทราบหรือยินยอม ผู้ค้ำก็พ้นความรับผิด        7. หลังชำระหนี้แทนลูกหนี้ มีสิทธิฟ้องลูกหนี้ตามวงเงิน ที่ชำระแทน พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น          คำพิพากษาฎีกาที่  3847/2562  รูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไปยังค้ำประกัน กฎหมายไม่ได้ระบุรูปแบบไว้ และการแจ้งผู้ค้ำต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด หากไม่ได้แจ้งตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันต่างๆ         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดรูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วเพื่อผู้ค้ำประกันจะได้ใช้สิทธิเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้เพื่อลดภาระหนี้ การตีความข้อความในหนังสือบอกกล่าวจึงไม่จำต้องยึดถือรูปแบบที่เคร่งครัด         เมื่อปรากฏว่าหนังสือบอกกล่าวซึ่งโจทก์ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีเนื้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จำนวนเงินค้างชำระและยังมิได้ชำระหนี้ ขอให้ไปชำระหนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมายมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว         จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1  ผิดนัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็น อุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ตามมาตรา 686 วรรคสอง โจทก์คงเรียกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เท่านั้น         อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันแม้จะมีข้อกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ง่าย หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินหรือติดตามตัวไม่ได้ ผู้ค้ำก็ยังต้องรับผิดอยู่ ดังนั้นการจะค้ำประกันให้ใครควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดทั้งของตัวลูกหนี้เอง และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >