ฉบับที่ 236 แอบเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แล้วเอาไปคิดเงิน ผิดลักทรัพย์หรือไม่

        ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่        โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง         และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522         การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์          ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 สามีหรือภริยาทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสไปค้ำประกันหนี้ ต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่

        ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวของคนที่แต่งงานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้วมาเสนอในคราวนี้ครับ  เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ มีข่าวเกี่ยวกับคู่สามีภริยาที่เป็นคนดังมีประเด็นพิพาทกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันหนี้ของสามีหรือภริยามาเล่าสู่กันฟัง        อย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังสมรส ถือเป็นสมบัติร่วมกันของสามีภริยา แต่ถ้าเป็นเรื่องไปก่อหนี้ เช่นการที่สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งไปค้ำประกันหนี้ให้ใครสักคน จะถือว่าคู่สมรสของคนที่ไปค้ำประกัน เขาจะต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้เคยตัดสินในเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ สามีหรือภริยาของคนที่ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมาย แต่ถ้าคู่สมรสคนที่ค้ำประกันเสียชีวิต สามีหรือภริยานั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทตามหลักกฎหมายมรดก แต่ความรับผิดจะจำกัดไม่เกินทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่ตนได้รับ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)          คำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)            ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ  ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  แต่หากสามีถึงแก่ความตาย ภริยาคงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทโดยธรรมคือรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของสามีที่ตกทอดได้แก่ตนเท่านั้นตาม ม.1601         อยากให้ดูเทียบกับอีกกรณี ที่ภริยาไปลงนามในหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาสามีไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน เช่นนี้ ถือว่าภริยาให้สัตยาบันแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้กู้ยืมดังกล่าว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550         จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์         จากตัวอย่างข้างต้นที่หยิบยกมา เราจะเห็นได้ว่า การเป็นสามีภริยากัน มีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราควรทราบว่าสามีหรือภริยาของตนเองได้ไปทำสัญญาอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ และหมั่นตรวจสอบว่าตนได้ให้ความยินยอมใดๆ ไปในการดำเนินการของคู่สมรสของตนเอง มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 3 )

        ในตอนที่ 2 เราได้อธิบายความเบื้องต้น ในการให้ทราบว่ามีบุคคลใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ เรื่องหลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหลายคนคิดว่าจะเป็นมาตรการที่ห้ามใช้ ห้ามบันทึก ข้อมูลของคน ซึ่งไม่ใช่ เพราะที่จริงแล้ว เนื้อหาหลักคือ ให้นำไปใช้เท่าที่จำเป็น ปลอดภัย และโปร่งใส โดยอยู่บนพื้นฐานในเรื่องสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งถือว่าเป็นสิทธิที่เกิดจากความสมัครใจในการที่จะเลือกในการให้ “ความยินยอม” ในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล ความยินยอมนั้นเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว คือผู้ให้ความยินยอมซึ่งแสดงต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และต้องมีผู้รับการแสดงเจตนาคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีหน้าที่ที่จะต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบที่กฎหมายที่กำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่า ความยินยอมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นใบอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้กับข้อมูลนั้น โดยรายละเอียดของความยินยอมจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้         1) ลักษณะทั่วไปของความยินยอม            ความยินยอมต้องขอก่อนจะมีการประมวลผล โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องให้ความยินยอมโดยปราศจากความกลัวที่จะเกิดผลเสียสำหรับตนเองหรือปราศจากอิทธิพลหรือแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งความยินยอมดังกล่าวต้องเกิดจากความสมัครใจและเป็นอิสระหมายความว่า ความยินยอมนั้นจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการให้เข้าทำสัญญาหรือใช้บริการใดๆและไม่มีเงื่อนไขในการยินยอมเพื่อการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีความจำเป็น        2) วิธีการหรือแบบของการขอความยินยอม            การขอความยินยอมจะต้องชัดแจ้งหรือเป็นการเจตนาของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจนว่าได้มีความยินยอมเพื่อการเก็บใช้รวบรวมใช้หรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยชัดแจ้งเท่านั้น และต้องไม่ขอความยินยอมในลักษณะที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยวิธีการของความยินยอมโดยหลักนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือหรือทำโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีดังกล่าวได้ - การขอความยินยอมนั้นต้องแยกออกจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน มีแบบหรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงง่าย การขอความยินยอมจะต้องมีรายละเอียดข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วน แต่เนื้อหาต้องไม่ยาวจนเกินไป รวมทั้งภาษาที่อ่านง่ายด้วย        3) ข้อมูลเพื่อการขอความยินยอม ซึ่งจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและการแจ้งวัตถุประสงค์นั้นจะต้องไม่ทำให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์และไม่เป็นการหลอกลวง ซึ่งผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเพิ่มวัตถุประสงค์ใหม่เองได้โดยไม่ขอความยินยอมใหม่        4) การให้ความยินยอมต้องเพิกถอนได้ โดยหลักแล้ว เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะถอนความยินยอมเสียเมื่อใดก็ได้โดยจะต้องถอนความยินยอมได้ง่ายเช่นเดียวกับการให้ความยินยอม การกำหนดวิธีการยกเลิกหรือเพิกถอนความยินยอม อาจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวสามารถแจ้งยกเลิกความยินยอมได้โดยง่าย เช่น ทางเว็บไซต์ของผู้ควบคุมข้อมูล เป็นต้น กล่าวโดยสรุป “ความยินยอม”(Consent) ต้องประกอบด้วย            1. ต้องทำโดยชัดเจนเป็นหนังสือหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์            2. ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล            3. ต้องแยกส่วนความยินยอม ใช้ภาษาที่อ่านง่ายและไม่เป็นการหลอกลวง            4. ต้องมีความเป็นอิสระในการให้ความยินยอม            5. ต้องสามารถถอนความยินยอมเมื่อไหร่ก็ได้ เว้นแต่มีข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอม         ดังนั้น หัวใจหลักของกฎหมายบอกว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เมื่อให้ใครไปแล้ว เขาจะต้องเอาไปใช้ตามวัตถุประสงค์และความจำเป็น คือ นำไปใช้เท่าที่บอกว่าจะใช้ ไม่เอาไปใช้งานอื่นเกินเลย กว่าที่ขอความยินยอมไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อมีข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ก็ต้องเก็บรักษาและใช้มันอย่างปลอดภัย จะเผยแพร่ต่อให้คนอื่นไม่ได้ถ้าไม่ได้ถามเราก่อนและเราในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบอกเลิกการครอบครองข้อมูลนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ การที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ใช้สิทธิในการที่จะเลือกในการให้ความยินยอมในการให้ข้อมูลแล้ว หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูล จะต้องทำอะไรบ้างและห้ามทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องที่สำคัญมากและมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 2 )

       ความเดิมจากตอนที่ 1 ที่ได้อธิบายข้อมูลส่วนบุคคลคืออะไร ได้แก่อะไร ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จะมีผลบังคับใช้เกี่ยวข้องกับเราทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล รวมถึงผู้ประกอบการ หน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่โดยตรงกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้งาน        ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เนื่องมาจากสหภาพยุโรป (European EU) ได้ออก GDPR (General Data Protection Regulation) เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ซึ่งนอกจากมีผลบังคับใช้แก่การส่งข้อมูลภายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ผู้ประกอบการในไทยที่ติดต่อ รับส่งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Cross-Border Data Transfer Issues) ก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมและเพียงพอด้วย และที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือในมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการทำธุรกิจระหว่างประเทศ   หากประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ย่อมทำให้เสียโอกาสและความเชื่อมั่นจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และอาจรวมไปถึงประชาคมโลกด้วย เพราะปัจจุบันมีการตื่นตัวเรื่อง Data Protection เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายล้านบัญชี หรือกรณีความลับทางทหารของประเทศมหาอำนาจได้รั่วไหลออกมาสู่สาธารณะ เป็นต้น ที่ผ่านมาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยได้กำหนดไว้โดยทั่วไปในกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องดังกล่าวนี้         อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนบุคคลก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันเพราะสามารถส่งต่อกันข้ามประเทศได้ และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมีความซับซ้อนมากขึ้นในการนำไปใช้ประโยชน์ จึงถือได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งในด้านธุรกิจและในด้านความมั่นคงในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจ เราจึงจำเป็นต้องทราบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเรานั้นคือใครบ้าง         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และ         การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้นหากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่เพื่อหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยหลักทั่วไป ผู้เผยแพร่ก็จะมีความผิดตามกฎหมายนี้         ด้วยเหตุนี้ บุคคลสำคัญที่เก็บข้อมูลของเราอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนใครจะเป็นผู้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราก็ต้องขออนุญาตเจ้าของข้อมูลก่อนหรือไม่ และใช้ข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์อะไร การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใครจะมีอำนาจที่จะเก็บได้ตามหลักกฎหมาย เหล่านี้คือคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 6 “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล “ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล          การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ เพื่อนำไปรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลต่อไปนั้น ต้องเก็บจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง และได้รับการยินยอมโดยตรงจากเจ้าของข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรหรือผ่านระบบออนไลน์ตามรูปแบบที่กำหนด ดังนั้นก่อนที่จะยินยอม เจ้าของมูลต้องอ่านรายละเอียดให้ดี รวมถึงเก็บข้อมูลว่าได้ยินยอมให้เก็บ ใช้ เปิดเผยข้อมูล ไปกับหน่วยงานใดบ้าง โดยต้องแจ้งรายละเอียดชัดเจนครบถ้วน ผู้เก็บข้อมูลต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล การใช้ข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล ระยะเวลาที่เก็บ เงื่อนไขต่างๆ ให้เจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน ที่สำคัญข้อมูลรายละเอียดในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลต้องแยกส่วนออกมาจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เพื่อให้เจ้าของข้อมูลอ่านและทำความเข้าใจก่อนที่จะยินยอมให้เก็บข้อมูล         ข้อมูลส่วนบุคคลที่ให้ไว้นั้น ผู้มีสิทธิเด็ดขาดคือเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลสามารถยกเลิกการเก็บข้อมูล การนำไปใช้ แก้ไขและลบข้อมูลออกจากระบบได้ โดยที่ผู้เก็บข้อมูลไม่สามารถปฏิเสธได้ ดังนั้น ผู้เก็บข้อมูลต้องเตรียมการให้การยกเลิกทำได้สะดวกเช่นเดียวกับการยอมรับ ซึ่งการคุ้มครองนี้รวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่ส่งไปเพื่อสมัครงาน ผู้สมัครสามารถแจ้งให้ทางบริษัทส่งข้อมูลกลับหรือทำลายข้อมูลส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย เอกสารการศึกษา ฯลฯ หลังจากการสมัคร เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญเหล่านี้รั่วไหลออกไป และผู้เก็บต้องรักษาข้อมูลให้ปลอดภัยเป็นความลับ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องมีหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล มิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของของมูล หรือเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ และดูแลไม่ให้เกิดการสูญหาย ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้ประกอบการหรือองค์กรที่เก็บข้อมูลต้องมีการวางระบบ วิธีการ คณะทำงาน ทีมงานที่รับผิดชอบ ในการดูแลข้อมูลให้ปลอดภัยมากที่สุด แต่หากข้อมูลเกิดรั่วไหลหรือถูกขโมยไป ผู้เก็บข้อมูลต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบใน 72 ชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุ         ในฐานะเราเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เรามีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมายในการที่จะติดตามหรือตรวจสอบในการไม่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รายละเอียดนี้ ติดตามกันต่อไปในตอนที่ 3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 1 )

        สถานการณ์ปัจจุบันกับการเฝ้าระวังและดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อโควิค – 19 แต่ในขณะเดียวกัน ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 ในวันที่ 28 พ.ค.2563 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รูปแบบการดำเนินธุรกิจและการกระทำของหน่วยงานรัฐ โดยผู้เขียนจะยกเอาประเด็นทั่วไปมากล่าวเบื้องต้น        ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้ยกตัวอย่างว่าอย่างไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นเพื่อให้มีหลักในการพิจารณาโดยจะกำหนดแนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้        แนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล        ขั้นตอนพื้นฐานเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคล แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ        1. ขอบเขตของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่อยู่ในขอบเขตความหมายของข้อมูลส่วนบุคคล        2. การกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุข้อมูลส่วนบุคคลตามกระบวนการทำงานต่างๆขององค์กรและจัดการตามความเสี่ยงของแนวปฎิบัติ        ความสามารถในการระบุไปถึงเจ้าของข้อมูลมี 3 ลักษณะ        1.การแยกแยะ หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถระบุแยกแยะตัวบุคคลออกจากกันได้ เช่น ชื่อสกุล หรือเลขบัตรประชาชน        2. การติดตาม หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้ในการติดตามพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่บุคคลนั้นทำได้ เช่น Log file        3. การเชื่อมโยง หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้เชื่อมโยงกันเพื่อระบุไปถึงตัวบุคคล         ดังนั้นข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นข้อมูลทั้งหลายที่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้ แม้ว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นจะไม่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลได้แต่หากใช้ร่วมกับข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นๆประกอบกันแล้วก็สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ โดยไม่จำเป็นว่าข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นนั้นได้มีอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ และเมื่อเป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานหรือองค์กรทั้งหลายจะต้องขอความยินยอมในการที่จะเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ และต้องปฎิบัติตามแนวปฎิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ         ตัวอย่างที่เป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อสกุลหรือชื่อเล่น เลขหนังสือเดินทาง เลขบัตรประกันสังคม เลขใบอนุญาตขับขี่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น IP address , Cookie ID หรือข้อมูลทางชีวมิติ เช่น รูปใบหน้า,ลายนิ้วมือ,ฟิล์มเอกซเรย์ ข้อมูลสแกนม่านตา ,ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง,ข้อมูลพันธุกรรม หรือข้อมูลระบุทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์,โฉนดที่ดิน หรือข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้างต้นได้ เช่น วันเกิดหรือสถานที่เกิด,เชื้อชาติ,สัญชาติ,น้ำหนัก ส่วนสูง ข้อมูลการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลบันทึกต่างๆที่ใช้ติดตามหรือตรวจสอบกิจกรรมต่างๆของบุคคล เช่น Log file เป็นต้น         ตัวอย่างข้อมูลที่ไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจที่ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ที่ทำงาน ,อีเมล์ที่ใช้ในการทำงาน,อีเมล์ของบริษัท หรือข้อมูลผู้ตาย         ข้อมูลอ่อนไหว ( Sensitive Personal Data ) เป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของบุคคล แต่มีความละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ในการเลือกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างข้อมูลอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ หรือข้อมูลสุขภาพจิต ข้อมูลชีวภาพ เป็นต้น         ข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นสาระสำคัญเบื้องต้นที่คนไทยจะต้องเข้าใจว่าคืออะไร และได้แก่อะไรบ้าง รายละเอียดเนื้อหาต่อไป โปรดติดตามตอนที่ 2 ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทำสัญญายอมในคดีแพ่งจะมีข้อตกลงยกเว้นให้สิทธิดำเนินคดีอาญาได้ จริงหรือไม่

ช่วงนี้เรายังอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แต่เราก็ยังต้องระมัดระวัง เน้นอยู่บ้าน ถ้าออกไปไหนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งนะครับ  ในฉบับนี้ผมก็อยากจะพูดถึงกฎหมายในเรื่องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า เวลาเราตกลงกันได้เพื่อให้เรื่องยุติและมีหลักฐาน เราก็จะทำสัญญายอมกัน แต่ทราบหรือไม่ว่าผลของการทำสัญญายอม กฎหมายจะถือตามสัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลให้หนี้เดิมที่เคยโต้แย้งกันระงับไปด้วยผลของสัญญายอมนะครับ อย่างเช่นในคดีตัวอย่างที่จะยกมาพูดถึงกันในวันนี้         เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยจ่ายหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์เป็นเช็ค ต่อมาเช็คเด้งทำให้ขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ก็เอาเรื่องมาฟ้องศาลทั้งคดีแพ่งและอาญา ต่อมาในคดีแพ่ง โจทก์กับจำเลยเขาตกลงกันได้ ก็ทำสัญญายอมกันไว้ และในสัญญายอมมีข้อตกลงว่า สัญญายอมไม่ผูกพันคดีอาญา คือโจทก์ยังมีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ ศาลฎีกาก็มองว่า เมื่อทำสัญญายอมกันแล้ว ทำให้หนี้ตามเช็คที่พิพาทกันหมดไป และต้องรับผิดกันตามสัญญายอมที่เกิดขึ้น มีผลให้คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปด้วย ดังนั้นการทำข้อตกลงที่ให้คดีอาญายังมีอยู่ ก็เป็นการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีผลใช้บังคับ และข้อตกลงนี้สามารถแยกออกต่างหากได้จากข้อตกลงอื่นในสัญญายอม จึงไม่ทำให้สัญญายอมโมฆะทั้งหมด ยังมีผลใช้บังคับได้ คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2788/2562         มูลหนี้ซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ซึ่งจําเลยที่ 2 ชําระหนี้ด้วยเช็คพิพาท ถูกโจทก์ นําไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในคดีแพ่งดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทําให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระเงินตามมูลหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์ รถยนต์จากการออกเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอม ยอมความเท่านั้น แม้จําเลยที่ 2 จะไม่ชําระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก จึงต้องถือว่าหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และ อุปกรณ์รถยนต์ที่จําเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลในคดีนี้ มีคําพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ส่วนที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุไว้ว่า การทําสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่วินิจฉัยอยู่นี้ เป็นทํานองยกเว้น มิให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันด้วยก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง กฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งข้อตกลง ดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทําให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ ตามมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         จากตัวอย่างคดีนี้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้นะครับว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความใดๆ ก็ตาม แม้คู่สัญญาจะมีเสรีภาพในการทำสัญญา แต่ก็ต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายด้วย ดังนั้นเราต้องตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยก่อนทำสัญญา หากไปกำหนดข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วและมีข้อตกลงนั้นขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่มีผลใช้บังคับเหมือนในคดีนี้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เงื่อนไขประกันภัยที่ต้องรู้

ช่วงนี้หลายคนคงสนใจทำประกันโควิด-19   ผมจึงขอแนะนำบางเรื่องที่ควรใส่ใจ แม้การทำประกันอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการวางแผนและประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากแต่ทุกอย่างก็ย่อมทั้งมีข้อดีและข้อเสีย      หากไม่ศึกษารายละเอียดให้ดี อาจจะต้องทนปวดหัวกับปัญหาที่ต้องตามมา เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาก็ย่อมได้    ฉะนั้นก่อนทำสัญญาประกัน ขอให้ทุกท่านอ่านข้อความ เงื่อนไขต่างๆ ให้จบก่อน แล้วค่อยไปทำสัญญานะครับ         อย่างในตัวอย่างที่หยิบยกมาคุยในวันนี้ ก็จะเป็นคดีประกันที่ศาลฏีกาได้เคยตัดสินถึงความรับผิดของบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ยังต้องรับผิด  แม้รถยนต์ที่เอาประกันภัยจะมีการขายให้บุคคลอื่นไป แต่เมื่อการซื้อขายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือว่ารถยนต์ยังเป็นของผู้เอาประกันภัย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหาย บริษัทประกันก็ย่อมมีหน้าที่ผูกพันตามสัญญาประกันภัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13071/2558         โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก. ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้         ขณะเกิดเหตุ บ. ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์ เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัย หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้ว ได้ขายรถให้ บ. ดังนั้น บ.จึงถือว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนโจทก์ เมื่อรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ บ. กฎหมายก็ถือเสมือนว่า โจทก์เป็นผู้ประมาทเลินเล่อร้ายแรงเองทำให้รถยนต์สูญหาย บริษัทประกันจึงไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879        “ มาตรา 879  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ”        อีกคดีเป็นเรื่องของผู้เอาประกันภัย ที่ประมาทเลินเล่อขับรถชนรถคันอื่นจนเกิดความเสียหาย เมื่อประกันชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ก็มีสิทธิเรียกร้องคืนจากผู้เอาประกันภัยที่ทำละเมิดได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2559         การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้         ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)         สุดท้ายนี้ ฝากว่าหากมีคนใกล้ตัวกำลังวางแผนซื้อประกัน ขอให้มีสติ พึงระลึกว่าก่อนทำสัญญาประกัน เรามีอำนาจต่อรองมากกว่า มีสิทธิเลือกว่าจะทำกับเจ้าไหนก็ได้ ควรตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ให้ดี เพราะเมื่อทำสัญญาแล้ว เขาได้เงินเราไปแล้ว อำนาจต่อรองเราลดลงทันที และอาจต้องปวดหัวกับเงื่อนไขต่างๆ   ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าก่อนทำสัญญาอ่านเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีนะครับ เพื่อประโยชน์ของท่านเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เหตุแห่งมาตรการทางกฎหมายกักตัวคุมโรค 14 วัน

        ในช่วงนี้หลายคนคงติดตามข่าวสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีมาตรการจัดการและป้องกันตามระดับความร้ายแรงของโรคที่เกิดขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวอยู่ต่อเนื่องว่าหลายคนไปต่างประเทศกลับมาก็มีอาการป่วยและเพื่อป้องกันความเสี่ยงการระบาดของโรค รัฐก็ประกาศ “ขอความร่วมมือ” กลุ่มคนดังกล่าวกักตัวเองอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 14 วัน ที่เน้นย้ำว่า เป็นการขอความร่วมมือเพราะช่วงนั้นยังไม่ได้มีการใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับแต่อย่างใด ใครไม่กักตัวก็ไม่ผิด ต่อมา วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศมาฉบับหนึ่ง คือ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2563” ซึ่งประกาศดังกล่าว มีผลให้โรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 นำไปสู่มาตรการทางกฎหมาย ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ในประเทศไทยหลายอย่าง         ดังนั้นรู้กฎหมายฯ ในฉบับนี้ ผมจึงขอกล่าวถึงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อดังกล่าว เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจและคลายความสงสัยว่า มาตรการทางกฎหมายที่รัฐมีนั้นใช้บังคับได้เพียงใด ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเราทุกคนที่เกิดมาบนแผ่นดินไทย เรามีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางครับ ทุกคนมีสิทธิเดินทางจะไปเที่ยวที่ไหนก็ไปได้ ในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของคนไทยในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ ไว้ในมาตรา 38 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือการผังเมืองหรือเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์”  และมาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ...”         ดังนั้นหากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ เรามีสิทธิเดินทางจะไปที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครจะมีสิทธิมาจับตัวหรือนำเราไปกักขังได้ครับ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 ทั่วโลกตื่นตัวกับเรื่องนี้และการติดเชื้อทำให้หลายประเทศมีผู้เสียชีวิต แถมพบการติดเชื้อในบ้านเราด้วย แบบนี้ถือว่าเกิดภาวะไม่ปกติแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องออกมาดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรค สิ่งแรกที่รัฐทำเพื่อให้ตนเองมีอำนาจจัดการกับโรคติดต่อนี้ได้ตามกฎหมายคือ ออกประกาศก่อนเลยว่า โรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย ผลคือเมื่อโรคนี้ถูกประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว ก็จะถือว่าโรคดังกล่าวเข้าสู่มาตรการทางกฎหมายของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทันที ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออก ประกาศว่าโรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศดังกล่าวก็เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563         ดังนั้น นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เมื่อมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เริ่มมีผลใช้บังคับ ทำให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการจัดการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย ดังนี้             1. เจอคนต้องสงสัยเป็นโรค COVID-19 แล้วต้องแจ้ง (มาตรา 31 และ 32 ) หากมีการพบผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน สถานประกอบการ หรือสถานพยาบาล ต้องดำเนินการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ภายใน 3 ชั่วโมงที่ตรวจพบ และแจ้งให้กับกรมควบคุมโรคทราบโดยเร็วที่สุดในทุกช่องทาง             2. เรียกคนต้องสัยว่าเป็นโรค COVID-19 มาตรวจ ควบคุมตัวไว้จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย ( มาตรา 34 (1) )            3. ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงมารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 (มาตรา 34 (2) )             4. ให้นำศพหรือซากสัตว์ ซึ่งตายหรือสงสัยว่าตายด้วยโรค COVID-19 ไปรับการตรวจ หรือจัดการทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ของโรค COVID-19 (มาตรา 34 (3) )            5. สั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้านโรงเรือนสถานที่ หรือพาหนะ กำจัดความติดโรค COVID-19 หรือทำลายสิ่งใดๆ ที่มีเชื้อหรือสงสัยว่ามีเชื้อโรคติดต่อ COVID-19 (มาตรา 34 (4) )            6. สั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือ พาหนะ กำจัดสัตว์ แมลง ตัวอ่อนของแมลงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค COVID-19 (มาตรา 34 (5) )             7. สั่งห้ามบุคคลไม่ให้กระทำการ หรือดำเนินการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นเหตุให้โรค COVID-19 ระบาดออกไป (มาตรา 34 (6) )             8. สั่งห้ามคนเข้าไปหรือออกจากที่ ซึ่งเจ้าพนักงานกำหนดให้เป็นสำหรับแยกกักหรือกักคนหรือสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรค COVID-19 แพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้อื่น (มาตรา 34 (7) )             9. เข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มี หรือสงสัยว่ามีโรค COVID-19 เกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมมิให้มีการแพร่ของโรค (มาตรา 34 (8) )           10. กรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจในพื้นที่จังหวัดตนเอง ดังนี้                ·  สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว (มาตรา 35 (1) )                 ·  สั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค COVID-19 หยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว (มาตรา 35 (2) )                 ·  สั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค COVID-19 เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษาหรือสถานที่อื่นใดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ (มาตรา 35 (3) )           11. ในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็น COVID-19 หรือเป็นพาหะนำโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจสั่งให้บุคคล ดังกล่าว ถูกแยกกัก ถูกกักกัน ถูกคุมไว้สังเกต ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (มาตรา 42 )     ดังนั้น 11 ข้อข้างต้นนี้ ผมต้องเรียนว่าเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ ยังมีอำนาจและหน้าที่อีกหลายอย่างที่กฎหมายให้ไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค COVID-19    ทั้งนี้ กฎหมายก็มีไว้เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม ก็อยากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงต่อตนเองและคนในครอบครัวและขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ไม่จ่ายค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิล็อคห้องไหม?

        หลายท่านน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการเช่า โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ การจะเก็บเงินซื้อบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนจึงหันไปเช่าบ้าน เช่าห้องอยู่  ทั้งคนต่างจังหวัดมาหางานทำในเมืองใหญ่ และนักศึกษาทั้งหลายที่หาหอพัก อพาร์ทเม้นต์เพื่อเรียนใกล้มหาลัย  สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือ ผู้ให้เช่าของเรา เขามีสิทธิในบ้านที่เราเช่าแค่ไหน เขาเป็นเจ้าของบ้านหรือห้องที่เราเช่าก็จริง แต่เมื่อทำสัญญาเช่าแล้ว เขายังมีสิทธิเข้ามาทำอะไรก็ได้ในทรัพย์ที่ให้เช่าหรือเปล่า ซึ่งในเรื่องนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะกฎหมายยังคุ้มครองสิทธิของผู้เช่าอยู่นะครับ          เช่นในกรณีตัวอย่างที่จะยกมานี้ เป็นเรื่องของผู้เช่าที่เจอปัญหาหนี้สิน ทำให้หาเงินมาจ่ายค่าเช่าไม่ได้ตามสัญญา และต่อมาผู้ให้เช่าก็มาล็อคปิดห้องเช่า เช่นนี้ ศาลถือว่าในกรณีที่ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิรบกวนการครอบครองทรัพย์สินของผู้เช่า ไม่ว่าจะเป็นการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปจากสถานที่เช่า หรือล็อคกุญแจสถานที่เช่าไม่ให้ผู้เช่าเข้าไปยังสถานที่เช่าได้ เพราะว่าผู้เช่ายังคงมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของตนอยู่ ถ้าผู้ให้เช่าไปรบกวนการครอบครองสิทธิของผู้เช่า ผู้ให้เช่าจะมีความผิดฐานบุกรุกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362  ดังเช่นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512         กรณีที่ผู้ให้เช่าใช้กุญแจพร้อมโซ่ล็อคบริเวณประตูรั้วและประตูบ้านที่ผู้เช่าครอบครอง ในขณะที่ผู้เช่าไม่อยู่และปิดบ้านไว้ การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ผู้เช่าไม่สามารถเข้าอยู่ในบ้านได้ ถือเป็นการบุกรุก         และในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ออกประกาศคุ้มครองผู้เช่า คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา   พ.ศ.  2561  ซึ่งในประกาศ ข้อ 4 กำหนดว่า ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทํากับผู้เช่าต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมายในลักษณะทํานองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้ (8) ข้อสัญญาที่กําหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคาร  หรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน  หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า  ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า  หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร         ดังนั้น หากพบผู้ประกอบการรายใด ใช้ข้อสัญญาที่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิปิดกั้นการเข้าใช้ประโยชน์อาคาร ยึดทรัพย์สินของผู้เช่า ถือว่าข้อสัญญานั้นใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดต่อประกาศดังกล่าว และมีความผิดตามกฎหมาย มีบทลงโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อสัญญา 1 ฉบับ  และผู้บริโภคอย่างเราๆ หากจะไปทำสัญญาเช่าบ้าน เช่าห้องชุด ก็ต้องหมั่นตรวจสอบข้อสัญญาให้ดีก่อนทำสัญญานะครับ  หากเจอใครใช้สัญญาเอาเปรียบ ก็ควรใช้สิทธิร้องเรียน เพราะเราอย่าลืมว่าสัญญาเช่าที่เขาเอามาทำกับเรา ไม่ได้ใช้กับแค่เราคนเดียว ยังนำไปใช้กับทุกคนที่จะมาเช่าห้องหรือบ้านทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 คดีบัตรเครดิต คนใช้บัตรหลักก่อหนี้คนเดียว คนใช้บัตรเสริมต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่?

        สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับฉบับนี้ เรามาพูดถึงเรื่องที่หลายท่านเคยเจอหรืออาจเจอสักวัน คือการเป็นหนี้บัตรเครดิต บางคนมีบัตรหลายใบ บางคนทำบัตรเครดิตทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม จึงมีคนสงสัยว่า กรณีเราเป็นคนใช้บัตรเสริม เกิดวันหนึ่งคนใช้บัตรหลักไปสร้างหนี้ไว้ เราจะถูกฟ้องให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ จึงขอหยิบยกคดีตัวอย่างสักเรื่องซึ่งศาลฏีกาได้เคยตัดสินไว้ และเป็นสิ่งที่น่ายินดีกับลูกหนี้บัตรเสริมซึ่งไม่ต้องรับผิด เนื่องจากในคดีนี้ศาลฏีกาเห็นว่าผู้ใช้บัตรหลักเป็นคนไปก่อหนี้เพียงคนเดียวโดยตรง ดังนั้นผู้ใช้บัตรเสริมจึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดด้วย         คำพิพากษาฎีกาที่  2765/2560         การทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลัก ซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริม         แม้ในใบสมัครบัตรเสริมมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ก็ไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นข้อสัญญาไม่ธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภค ประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมกับกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์         จากคำพิพากษานี้ เราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายเรื่องนะครับ ตั้งแต่ข้อสัญญาในใบสมัครบัตรเสริมที่ระบุให้ผู้ใช้บัตรเสริมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม อันนี้ศาลก็เห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงใช้บังคับไม่ได้ อีกประเด็นคือคนก่อหนี้คือคนใช้บัตรหลักผู้เดียว และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ก็กำหนดไว้แล้วว่าผู้ใช้บัตรหลักต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด  เช่นนี้ ใครเป็นคนใช้บัตรหลักก็ต้องระวัง และพิจารณาให้ดีว่าควรให้ใครใช้บัตรเสริม

อ่านเพิ่มเติม >