ฉบับที่ 226 คดีรถชน ผู้ตายมีแอลกอฮอล์ คนขับที่เป็นคู่กรณีต้องรับผิดไหม

        สวัสดีครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงและเริ่มหนาวกันแล้ว ต้องดูแลสุขภาพกันให้ดีๆ  อย่าประมาทนะครับ เดี๋ยวจะป่วยเป็นภูมิแพ้  เมื่อพูดถึงเรื่องความประมาท ประกอบกับใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ก็อยากหยิบยกเรื่องราวน่าสนใจของคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถชนมาเล่าสู่กันฟัง หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรถชนก็มักพบว่า สาเหตุมาจากคนขับที่ไม่ได้ระมัดระวังให้ดี  ซึ่งในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อด้วยความเร็ว ระหว่างที่ขับตามหลังรถกระบะคันหนึ่ง อยู่ดีๆ รถกระบะคันดังกล่าวก็หยุด เพราะมีรถอีกคันออกมาจากปั๊มน้ำมัน ทำให้จำเลยที่ขับรถสิบล้อหักรถไปทางขวาไปชนกับรถผู้ตาย ต่อมาก็พบว่าผู้ตายมีแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ จำเลยจึงอ้างว่าผู้ตายก็มีส่วนประมาทด้วย  ซึ่งต่อมาศาลฏีกาก็ได้ตัดสินว่าแม้ผู้ตายจะมีแอลกอฮอล์ แต่เมื่อจำเลยขับรถประมาท จำเลยก็ไม่พ้นความรับผิด         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2550         จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนน ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถคันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวาเมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากบรรทุกของหนักเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะ ซึ่งขับอยู่ข้างหน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ก็หามีผลให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดและการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกาย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น ก็ถือว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้          จากคดีนี้ นอกจากเรื่องแอลกอฮอลล์แล้ว เราจะเห็นได้ว่าศาลฏีกาก็มองว่า เมื่อผู้ตายไม่ได้มีส่วนประมาทกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ         อีกประเด็นที่อยากฝากไว้คือ กรณีที่เมาแล้วขับกับขับรถประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลวางหลักไว้ว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อตัดสินลงโทษ ต้องใช้บทลงโทษที่หนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 “มาตรา 291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2550         การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด         สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงทุกท่านที่จะใช้รถใช้ถนน ขอให้มีความระมัดระวัง เอื้อเฟื้อต่อกัน บางเรื่องหากเราไม่ใชอารมณ์ เคารพกฎหมาย ถ้อยทีถ้อยอาศัย คดีความก็จะไม่เกิดขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ตัวแทนหรือแม่ข่าย แชร์ลูกโซ่มีความผิดหรือไม่

        สวัสดีครับ ฉบับนี้ผมขอหยิบยกเรื่องราวที่เป็นกระแสสังคมเกี่ยวกับการลงทุนหวังรวยไว ใช้เงินต่อเงิน ที่เรียกว่า “แชร์ลูกโซ่” อย่างแชร์แม่มณี ที่มีวงเงินความเสียหายกว่าพันสามร้อยล้านบาท  จริงๆ ว่าไปแล้ว เรื่องของปัญหาแชร์ลูกโซ่ เกิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจากแชร์น้ำมันแม่ชม้อย แชร์ก๊วยเตี๋ยว แชร์เทรดหุ้น เทรดเงิน เทรดทอง ยิ่งการสื่อสารที่ย่อโลกให้มาอยู่ในโทรศัพท์มือถือ เรามีเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์  พลังการแชร์ยิ่งมากขึ้น กดครั้งเดียว ข้อมูลหลอกลวงแพร่ไปสู่สังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว   เป็นผลให้วงเงินความเสียหายจากแชร์ลูกโซ่เพิ่มสูงขึ้น จำนวนผู้เสียหายจากเดิมกระจุกในกลุ่มจังหวัด ก็กระจายไปทั่วประเทศ           เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก แน่นอนต้องตามหาคนรับผิดชอบ คำถามที่หลายคนสงสัยคือ พวกตัวแทนหรือแม่ข่ายทั้งหลายที่มาเชิญชวนให้เราไปลงทุน พวกเขามีส่วนรับผิดชอบแค่ไหน หรือเขาแค่ผู้เสียหายคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องรับผิดอะไรเลย อย่างที่ทราบว่ากรณีแชร์ลูกโซ่นี้ มีการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลมากมาย และศาลฎีกาก็ได้เคยตัดสินไว้แล้วว่า เหล่าตัวแทนหรือแม่ข่ายก็ต้องร่วมรับผิดในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนเช่นกันคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้นเป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อๆ ไป สมาชิกรายต้นๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” และ “ผลประโยชน์ตอบแทน” ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 บาท ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้           สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากไว้สองเรื่องนะครับ เรื่องแรกคือ ขอให้ทุกท่านระวังอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงผิดปกติ เพราะปัจจุบันโลกโซเชียลสามารถสร้างภาพลวงตาให้เราหลงเชื่อได้ง่าย อย่าลืมว่าคนที่เราเห็นอยู่ เราไม่ได้รู้จักเขาจริง ดังนั้นก่อนลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดี หลีกเลี่ยงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยคนชักชวนใช้ภาพถ่ายแสดงความร่ำรวย มีธุรกิจหลายอย่าง อย่าโลภหวังรวยทางลัดนะครับ เพราะสุดท้ายก็อย่างที่เห็นกันมันไม่ได้จบสวยงาม ต้องมาวิ่งวุ่นหาตำรวจ เดินสายเรียกร้องหน่วยงานทั้งหลายให้ช่วยดูแล เสียทั้งเงินและเวลา เรื่องที่สองคือหากใครจะทำ ก็เตรียมใจให้ดี อย่าคิดว่าเป็นแม่ข่าย แล้วจะรอด เพราะกฎหมายไปถึงด้วย โดยเฉพาะเนทไอดอล เซเลปทั้งหลาย จะโฆษณาการลงทุนแชร์ให้ใคร ก็ขอให้ระมัดระวัง ตรวจสอบที่มาที่ไปให้ดี เพราะเมื่อมีคนหลงเชื่อคุณ แล้วมาร่วมแชร์ถือว่ามีส่วนร่วมในการทำผิดด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ลูกหนี้รู้ไว้ อย่าตกใจเมื่อถูกฟ้องอายัดเงินเดือน

        สวัสดีครับ ผมอยากพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนควรทราบเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในช่วงที่เศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ หลายคนที่เป็นลูกหนี้มักกลัวว่า เกิดไม่ใช้หนี้ เจ้าหนี้จะมายึดเอาเงินเดือน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของลูกหนี้ไปไหม  บางครั้งก็มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมายมาขู่ว่า จะฟ้องคดี ยึดทรัพย์ อายัดเงินเดือน  สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นเสมอกับคนที่เป็นหนี้ และหลายคนเกิดความกังวล บางคนถึงกับลาออก หางานใหม่ซึ่งการทำเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร         ดังนั้น เราควรมีความรู้ทางกฎหมายในเรื่องการอายัดเงินเดือนไว้  เพื่อลดความวิตกกังวล และสามารถวางแผนจัดการหนี้ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกลัวคำขู่ของเจ้าหนี้หรือทนายที่รับทวงหนี้         โดยเมื่อปี 2560 มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 30 กำหนดมูลค่าของสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่อายัดไม่ได้หรือมีอายัดได้จำกัด เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และบำเหน็จหรือค่าชดเชย ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 เช่นนี้ ลูกหนี้ต้องจำไว้ว่า ถ้าเจ้าหนี้จะยึดเงินเดือนก็ยึดได้ แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินเดือน 19,500 บาท ไม่ถูกอายัด แต่หากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัดทั้งหมด ก็อายัดได้เพียงแค่ 10,000 บาท ต้องเหลือให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่าย 20,000 บาท  หรือหากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัด 5,000 บาท ถูกอายัด 5,000 บาท ลูกหนี้เหลือไว้ใช้จ่าย 25,000 บาท เป็นต้น         อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในอดีต เคยมีประเด็นขึ้นสู่ศาลฏีกาในเรื่อง การอายัดเงินเดือนซ้ำ กรณีลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายคน ซึ่งศาลฏีกาก็ตัดสินไว้ว่า การยึดอายัดซ้ำต้องเป็นกรณีทรัพย์รายเดียวกัน ดังนั้น เงินเดือนของลูกหนี้ หากอายัดในจำนวนที่แยกต่างหากจากกันกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ถือว่าอายัดซ้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5749/2553        การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ                  นอกจากนี้ กรณีเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ เจ้าหนี้ก็อายัดไม่ได้  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559         เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุ ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการ เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ชึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 สิทธิของผู้ซื้อที่ดินที่เป็นที่สาธารณประโยชน์

        เช่นเคยผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายใกล้ตัวทุกท่านมาบอกเล่า โดยจะขอหยิบยกเรื่องของสิทธิในที่ดินมาพูดถึงอีกสักครั้ง เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหากันไม่น้อย เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน  สิทธิผู้บริโภคกำหนดว่าผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ตรวจสอบเพียงข้อสัญญา แต่ต้องตรวจถึงทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วย         อย่างกรณีตัวอย่างคดีที่ยกมาให้ดูกันนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อไปซื้อที่ดินซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งกฎหมายวางหลักไว้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ ประเด็นคือถ้าทำสัญญาซื้อขายกันแล้วจะมีผลใช้บังคับได้แค่ไหน และหากสัญญาเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ผู้ซื้อมีสิทธิขอเงินค่าที่ดินคืนได้เพียงใด ประเด็นดังกล่าว มีคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่าการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่กัน เป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะ และหากโจทก์ผู้ซื้อรู้อยู่ขณะทำสัญญาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าชำระนี้ไปโดยรู้อยู่ว่าตนเองไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้เงินค่าที่ดินคืน         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2555        ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่กัน จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 และมีผลเป็นการเสียเปล่าเท่ากับโจทก์จำเลยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันและต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมแก่กันโดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172        แต่การที่โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และมาตรา 411 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่จำเลยดังกล่าว        นอกจากนี้ แม้เป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น  ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็ ไม่ได้กรรมสิทธิ์            คำพิพากษาฎีกาที่ 1642/2506        ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ แต่ถ้าหากบุคคลอื่นเข้ามากั้นรั้วปลูกเรือนแพและสิ่งอื่นๆ กีดขวางหน้าที่ดินของเจ้าของที่ดินที่ติดกับที่ชายตลิ่งเต็มหมด จนไม่สามารถใช้สอยชายตลิ่งเข้าออกสู่ลำแม่น้ำได้แล้ว ย่อมถือว่าเจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์        มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของ แผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น        (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมา เป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน        (2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ        (3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์         มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กัน มิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา        มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินใน เรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน        มาตรา 1307 ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้น จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ยืมเงินผ่านแชต เป็นหลักฐานฟ้องศาลได้ไหม

          สวัสดีครับ ฉบับนี้นำเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะเรื่องการหยิบยืมเงิน ที่ต้องบอกว่าไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ที่อะไรๆ ก็ดูแพงไปหมด เกิดภาวะเงินขาดมือ หมุนไม่ทัน ก็ต้องหยิบยืมจากคนใกล้ตัวมาหมุนไปก่อน และช่องทางสื่อสารที่นิยมกัน ยืมเงินกันง่ายไม่ต้องมาจ้องตา คือคุยยืมกันผ่านอินบ๊อกในเฟซบุ๊คหรือไลน์  ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าข้อความแชตสนทนาในเฟซบุ๊คหรือไลน์ ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องได้  จึงอยากนำความรู้ดีๆ มาฝากสำหรับการแชตอย่างไรให้มีหลักฐาน และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง        ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยืมเงินกันก่อน โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับการยืมเงินกันไว้ว่า ถ้ามีการกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น"        จากข้อความดังกล่าวถูกตีความว่า แชตที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้            1. ข้อความสนทนา (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน            2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชตจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้            3. หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ             หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้[1]            อีกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องคดีกู้ยืมเงิน คือ อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ 1.   ถ้าสัญญากู้ยืมเงินมีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จะมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระคืนงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) หาใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ อนึ่ง กรณีที่มีการชำระต้นเงินคืนบางส่วน หรือชำระดอกเบี้ย ย่อมเป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และให้นับอายุความใหม่นับแต่เวลานั้น ตามป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 2.   สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่มีข้อตกลงให้ผ่อนชำระคืนต้นเงินเป็นงวดๆ จะใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 "มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี" สัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อตกลงให้ชำระต้นเงินคืนในคราวเดียว เช่น ให้ชำระต้นเงินทั้งหมดคืนในวันที่ 30 มิ.ย.59 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2551 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง และจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสาร จ.1 ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาอายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปีวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุ แม้สัญญากู้ยืมเงินที่พิพาทในคดีนี้ แม้มีจะข้อตกลงให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่ในส่วนของต้นเงินนั้น คู่สัญญาตกลงกันให้ชำระในวันที่ 9 พ.ค.40 ในคราวเดียว จึงใช้อายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 [1] เพจเฟสบุ๊ค สำนักงานกิจการยุติธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความยินยอมไม่เป็นละเมิด

        อย่างที่เรารู้กันว่าคนไทยเราชอบอะไรง่ายๆ เรื่องเล็กน้อย ก็ยอมๆ กันได้ เช่น ข้างบ้านมาสร้างรั้วล้ำมาในเขตบ้านเรา แต่เราเห็นว่านิดๆ หน่อยๆ ก็ปล่อยยอมให้เขาสร้าง เช่นนี้เขาก็ถือว่าสร้างโดยเรายินยอม จึงไม่ผิด หรือมีคนมาหยิบหนังสือเราไปอ่าน เราก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร เขาก็ไม่ผิด แต่รู้ไหมว่า การยินยอมบางอย่างมันมีผลทางกฎหมายด้วยนะครับ         ผมขอยกตัวอย่างในคดีทางการแพทย์ อย่างที่รู้เราไปหาหมอให้เขารักษา เท่ากับเรายินยอมให้เขารักษา เพราะเขาต้องใช้เครื่องมือแพทย์กับร่างกายเรา ทั้งเจาะร่างกาย ใช้เข็มแทง ผ่าตัด วางยาสลบ และเขาก็ยินยอมรักษาให้เรา หากภายหลังพบว่า หมอเขารักษาไม่ดี เช่นนี้จะถือเอาความยินยอมของเรา มาอ้างเพื่อพ้นความรับผิดได้ไหม เรื่องนี้ มีคำพิพากษาของศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า แม้จะได้รับความยินยอมแต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของหมออันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หมอก็ต้องรับผิดต่อโจทก์                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552        การตรวจร่างกายของผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร พยาธิสภาพอยู่ที่ไหนและอยู่ในระยะใดเพื่อจะนำไปสู่การรักษาได้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้แพทย์จักต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์มิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาที่ต่อเนื่องกัน การที่จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล...ด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษา ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร และไม่มีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลได้ฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการหลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงโดยโจทก์ไม่มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์        ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษาแม้จะเป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์เพื่อการรักษาได้ แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้        ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446        อย่างไรก็ตาม การยินยอมก็ต้องมีขอบเขต ถ้าเป็นการยินยอมที่ต้องห้ามตามกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็เป็นละเมิดต้องรับผิด เช่น กรณีผู้เสียหายยินยอมมีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด การยินยอมก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ  จึงถือว่ากระทำละเมิด ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8932/2557                ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด" แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 โดนหลอกซื้อที่ดินที่จะถูกเวนคืน ทำไงดี

        สวัสดีผู้อ่าน ทุกท่านครับ ในฉบับนี้ ก็มีคดีของผู้บริโภคที่น่าสนใจมาแบ่งปันเช่นเคย โดยครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของผู้บริโภคที่ไปซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ดันดวงซวย มารู้ทีหลังว่าบ้านที่ซื้อมา เป็นบ้านที่กำลังจะถูกเวนคืน  เจอแบบนี้ท่านทั้งหลายจะทำยังไงครับ                 แต่สำหรับผู้บริโภคคนที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้ เขาไม่ปล่อยเรื่องนี้ไว้เฉยๆ เขาเห็นว่าเป็นการหลอกลวง และเอาเปรียบคนที่อยากมีบ้านเป็นของตนเอง จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีผู้บริโภค  และสุดท้าย ศาลก็ให้ความเป็นธรรม โดยตัดสินว่าผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าตอนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน  มีการปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืน ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่ขายแก่ผู้บริโภค มีการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญา จึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561        การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้        จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี        อีกกรณี ที่เจอหลอกให้ซื้อที่ดินที่จะถูกเวนคืน ศาลก็ได้วางหลักไว้ชัดว่า กรณีถูกหลอกแบบนี้  ถือว่าสัญญาที่ทำเป็นโมฆียะ สามารถบอกล้างได้ โดยการทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ขายเพื่อขอเงินคืน        ( โมฆียะ คือการกระทำที่ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะถูกบอกล้างเมื่อ บอกล้างแล้ว ให้ถือว่า เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และมีผลให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น สำหรับกรณีซื้อบ้าน จึงหมายถึงสัญญาซื้อขายบ้านที่ทำไว้จะมีผลใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา จนกว่าจะมีการบอกล้างทำให้สัญญาเป็นโมฆะ )        คำพิพากษาฎีกาที่ 1955/2538        จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ โดยจำเลยรู้อยู่เเล้วว่าโจทก์ซื้อที่ดินนี้ไปสร้างโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง เเละรู้ว่าที่ดินจะถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อขุดคลองชลประทาน เเต่ไม่เเจ้งให้โจทก์ทราบความจริง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อ ซึ่งตามปกติถือเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆียะ          เมื่อโจทก์ได้ไปทวงเงินคืนจากจำเลยถือว่าได้บอกล้างโมฆียะกรรมเเล้ว สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆะมาเเต่เเรก คู่สัญญาต้องคืนกลับสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เเละโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามที่ระบุในสัญญา        ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค ก่อนจะซื้อที่ดินไม่ว่าจะซื้อจากโครงการต่างๆ  หรือจะเป็นคนรู้จัก คนสนิทแนะนำ ก็ต้องตรวจสอบให้เเน่ใจก่อน เป็นไปได้ควรไปดูที่ดินแปลงที่จะซื้อจริงๆ ขอดูเอกสารต่างๆ รวมถึงนำเลขที่โฉนดไปตรวจสอบตามหน่วยงานต่างๆ เรื่องการเวนคืนที่ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบ หลอกลวง บ้านหลังหนึ่งเราอาจอยู่ไปทั้งชีวิต ดังนั้นต้องรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อและทำสัญญานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 เงินจองรถ ขอคืนได้ไหม?

        หลายท่านคงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อรถหรือจองรถมาบ้าง แต่หลายครั้งที่พบว่าเมื่อจองไปแล้ว เกิดปัญหาทำให้ผู้บริโภคต้องการเลิกสัญญาจอง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถจัดหารถยนต์ให้แก่ผู้บริโภคได้ ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ตามที่กําหนด ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น เมื่อส่งมอบรถยนต์มีรายการอุปกรณ์และของแถมไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในใบจอง ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามเงื่อนไขการจอง ซึ่งเหล่านี้ เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิขอเงินคืนกลับถูกปฏิเสธ ซึ่งหลายท่านไม่ทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองดูแลผู้บริโภคเรื่องนี้อยู่        กฎหมายที่ว่า ก็คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2551 เป็นประกาศของสํานักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยประกาศดังกล่าวมีผลให้สัญญาจองรถยนต์ใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุรายละเอียดสาระสําคัญตามที่ได้กําหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีการจอง เช่น ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ (ถ้ามี) จํานวนเงิน หรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นเงินมัดจํา(ถ้ามี) ราคา กําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ฯลฯ        นอกจากควบคุมสัญญาจองรถแล้ว ยังกำหนดสิทธิให้แก่ผู้บริโภคที่สำคัญเลย คือทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิยกเลิกสัญญาจองได้โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากผู้บริโภค ซึ่งเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคที่มีสิทธิได้รับเงินจองคืนมีดังนี้        1. ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2. ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลากําหนด        3. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกําลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กําหนดในสัญญา        4. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กําหนดในสัญญา        5. ผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกําหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ส่งมอบสัญญาให้แก่ผู้บริโภคหรือส่งมอบสัญญาโดยไม่มีข้อสัญญาที่มีสาระสําคัญ หรือส่งมอบข้อสัญญาที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ ฉบับดังกล่าว จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ        ดังนั้น สำหรับคนที่เจอปัญหาไปจองรถ แล้วไฟแนนซ์ไม่ผ่านก็ไม่ต้องกังวล ตอนนี้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องนี้ชัดเจน ว่าบริษัทต้องคืนเงินจอง และต้องคืนภายใน 15 วันนับแต่ที่ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาด้วย ดังนั้น หากผู้ขายไม่คืนเงินจองก็สามารถร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงิน หรือหากไม่คืนก็สามารถดำเนินคดีต่อศาลได้ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551ข้อ 3 (4) ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ (5) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม (4) แล้วผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โดนหลอกให้โอนเงิน ( อีกแล้ว)

        สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ทนายโสภณ กลับมารายงานตัว ฉบับนี้ผมจะขอหยิบยกเรื่องราวที่คนมักจะพบเป็นข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของการหลอกให้โอนเงิน เชื่อว่าหลายท่านคงรู้ดีว่าปัจจุบันนี้ พวกมิจฉาชีพมักแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ส่วนหนึ่งอาศัยความโลภ ความอยากของคนเรามาใช้ประโยชน์ ทำให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไป ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีแง่มุมทางกฎหมาย และมีคำตัดสินของศาลหลายๆ ส่วนที่น่าศึกษา และเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงเอามาบอกเล่ากับผู้อ่านทุกท่านครับ         คดีแรกที่เกิดขึ้น  เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน เพราะหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่อเดือนที่สูงกว่าปกติ(ร้อยละ 15 ต่อเดือน) โดยได้โอนเงินไปให้แก่จำเลยเกือบสองล้าน แน่นอนเพื่อให้เหยื่อตายใจ ในช่วงแรกก็มีการจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันจริง แต่พอสักพักก็ไม่จ่ายให้ หายไปติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จึงไปแจ้งความกับตำรวจ โดยตำรวจก็ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อดำเนินการ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยก็อ้างว่า ที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ไปแจ้งตำรวจเป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไป ไม่ใช่การร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นหลักไว้ว่า การที่โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานโดยมีพนักงานสอบสวนเวรรับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษในความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558        รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่                คดีที่สอง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 61 คนว่า ผู้เสียหายแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรบ้าง หรือได้รับเงินประกันสังคมคืนจากสำนักงานประกันสังคมบ้าง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันอ้างว่าจะมีการโอนเงินภาษีหรือเงินประกันสังคมดังกล่าวคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร (ตู้เอทีเอ็ม) ตามรายการขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกบอกซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนได้รับคืนเงินค่าภาษีจากกรมสรรพากร และเงินประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนหลงเชื่อนำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ของแต่ละคนไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารตามขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงเป็นเหตุให้มีการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายแต่ละคนทั้ง 61 คนไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อหลายคนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้         จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ในการเบิกถอนเงินสดทำการเบิกถอนเงินสดที่มีการโอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายทั้ง 61 คน ทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกได้เงินของผู้เสียหายทั้ง 61 คนไปในที่สุด ซึ่งคดีนี้มีข้อน่าสนใจว่าการที่จำเลยกับพวก อ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ถือว่ามีการหลอกลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นหรือไม่ ต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินวางหลักไว้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด จำเลยกับพวกจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว         คำพิพากษาฎีกาที่ 8145/2559        "ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 นั้น ถ้าผู้กระทำกระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จะต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 342          การที่จำเลยเพียงแต่แสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 342 (1)"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอนจบ

        ในปัจจุบัน มีการดำเนินการเข้าถือครองอาคารชุดของคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ผู้บริโภคอันเป็นคนไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดเป็นจำนวนมากมีความกังวลใจก็คือ การเข้าถือครองอาคารชุดของคนต่างด้าวมีแค่เพียงการถือครองในฐานะชื่อความเป็นเจ้าของเท่านั้น  ได้มีการเปิดให้เช่าต่อทางธุรกิจในส่วนอาคารชุดที่เข้าถือครองกรรมสิทธิ์ โดยลักษณะการกำหนดสัดส่วนให้บุคคลอื่นเป็นนายหน้าหาลูกค้าเข้ามาดำเนินการเช่าอาคารชุดต่อในอาคารชุดดังกล่าว เพื่อหาผลกำไรทางธุรกิจ โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวขาจรที่เข้าพักชั่วคราว ซึ่งแม้จะเป็นอำนาจโดยชอบธรรมตามกฎหมายดังที่ได้อธิบายไปข้างต้น ทว่าปัญหาที่ตามมามากยิ่งขึ้น คือความกังวลใจของผู้ถือครองอาคารชุดที่คนไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยท่านอื่น เพราะมีความคาดหวังที่จะได้รับความปลอดภัย ไม่ได้รับการรบกวนจากคนแปลกหน้าที่สลับกันเข้ามาพักอาศัย รวมถึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ซึ่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ได้หมายเหตุท้ายกฎหมายกำหนดว่า        ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือในปัจจุบัน ปัญหาที่อยู่อาศัยภายในเมืองได้เพิ่มทวีมากขึ้น และระบบกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่อาจสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งต้องอยู่อาศัยในอาคารเดียวกัน โดยร่วมกันมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดในอาคารนั้นแยกจากกันเป็นสัดส่วนได้ สมควรวางระบบกรรมสิทธิ์ห้องชุดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารเดียวกัน สามารถถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคาร ส่วนที่เป็นของตนแยกจากกันเป็นส่วนสัดและสามารถจัดระบบค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอาคารร่วมกันได้       นอกจากนั้นสมควรวางมาตรการควบคุมการจัดตั้งอาคารชุดให้เหมาะสม เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่  ผู้ที่จะมาซื้อห้องชุดเพื่ออยู่อาศัย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ต่อมาปัจจุบันได้มี พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดว่า ด้วยพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ใช้บังคับมานาน และปรากฏว่า หลักเกณฑ์และรายละเอียดหลายประการไม่สามารถใช้บังคับได้จริง ในทางปฏิบัติและไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชนที่ซื้อห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้เพื่อแก้ไข ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองประชาชนผู้ซื้อห้องชุด เพื่อการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสมควรปรับปรุงอัตรา ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้  เพื่อจะให้การคุ้มครองประชาชนทั่วไปได้อย่างแท้จริงผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะ ให้มีการทบทวนข้อกฎหมาย ในปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้พระราชอาคารชุด พ.ศ. 2522 และกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการถือครองกรรมสิทธิ์อาคารชุดของคนต่างด้าว เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนแก้ไข รวมถึงให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบในทุกมิติก่อนการตัดสินใจเพิ่มมาตรการในการให้สิทธิ์คนต่างด้าวในการเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมและให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นคนไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดให้ได้รับการปกป้องเฉกเช่นเดียวกัน ดังนี้        ข้อ 1. ขอให้พิจารณาและศึกษาผลกระทบต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม. พ.ศ.2542 โดยให้ศึกษาผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกรรมประเภทอื่นด้วยว่าสมควรมากน้อยเพียงใดที่จะแก้ไข        ข้อ 2. ขอให้พิจารณาและศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ให้ครอบคลุมถึงการเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยโดยควรกำหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกัน และกำหนดกรอบของจำนวนพื้นที่ให้เหมาะสมด้วยว่าควรปฏิบัติมากน้อยเพียงใด        ข้อ 3. ขอให้พิจารณาและศึกษาผลกระทบก่อนการแก้ไขพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้การจัดสรรที่ดินครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์ในการเช่าได้ด้วย เพราะปัจจุบันโครงการที่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินไม่สามารถนำที่ดินไปให้เช่าได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ จึงเป็นการให้ความคุ้มครองประชาชนทั่วไปให้มีการจัดสรรที่ดีตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นจะต้องแก้ไขตามข้อเสนอ        ข้อ 4. ขอให้พิจารณาและศึกษาผลกระทบก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ให้คนต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ได้เกินกว่า ร้อยละ 49 แต่อาจกำหนดเป็น ร้อยละ 60 หรือ ร้อยละ 70 โดยกำหนดเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งการลงทุนของชาวต่างชาติหรือแหล่งท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน โดยสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 49 มีความเพียงพออยู่แล้วและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดเอาไว้แล้ว        ข้อ 5. ขอให้พิจารณาและออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในอาคารชุดของคนต่างด้าว ไม่อาจกระทำได้ หากโครงการก่อสร้างอาคารชุดนั้นมีวัตถุประสงค์หลักในการให้คนไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้รับความปลอดภัยจากการถือครองอาคารชุด รวมถึงการมีผลักดันให้กำหนดบทบังคับที่อาจให้สิทธิ์ผู้ถือครองอาคารชุดที่เป็นคนไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยที่ได้รับผลกระทบสามารถใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้หากมีการฝ่าฝืน และกำหนดโทษแก่บุคคลที่ฝ่าฝืนด้วย จะสามารถบังคับใช้ให้คนต่างด้าวไม่อาจกระทำการที่เป็นการรบกวนขัดสิทธิบุคคลอื่นได้        ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ หากมีการศึกษาข้อกฎหมายและกรณีตัวอย่างต่างๆที่เกิดขึ้นจริงในสภาพสังคมปัจจุบัน จะทำให้มองเห็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างแท้จริง ดังนั้นเพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัย และเก็บข้อมูลต่างๆ  เพื่อนำมาซึ่งการแก้ไขกฎหมายและให้เกิดการตระหนักรู้ของผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการที่จะใช้กฎหมายในเรื่องนี้สามารถใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ต่อไป                                         

อ่านเพิ่มเติม >