ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2566

สถิติร้องเรียนสายด่วน 1569 ไม่ติดป้ายราคามาอันดับหนึ่ง         ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เผยถึง กรณีสถิติการร้องเรียนของสายด่วน 1569 (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์) ในช่วงมกราคม – กันยายน 2566 ว่า มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งหมด 2,767 เรื่อง และเป็นหมวดเกี่ยวกับอาหารมากที่สุด           สำหรับอันดับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด มีดังนี้ 1.ไม่ติดป้ายแสดงราคา 1,390 เรื่อง 2.จำหน่ายราคาแพง 549 เรื่อง โดยมีการเปรียบเทียบกับปีก่อนร้องเรียนเพิ่มถึง 251 เรื่อง 3. ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาทิ เช่น ปริมาณสินค้าไม่เหมาะสมกับราคา ป้ายราคาไม่ชัดเจน 359 เรื่อง 4. ใช้เครื่องชั่ง/มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ไม่ได้มาตรฐาน  240 เรื่อง 5. แสดงราคาขายปลีกไม่ตรงกับราคาที่ขาย 169 เรื่อง         พบ “ถุงยางแจกฟรี” ของ สปสช. แอบขายออนไลน์         ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวถึง กรณีพบถุงยาที่แจกฟรีโดย สปสช. ไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการนำสิ่งของที่รัฐแจกฟรีให้แก่คนทั่วไปมาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งนี้ขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ไม่เช่นนั้นทาง สปสช. จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย         การแจกถุงยางฟรี คือ สิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยทาง สปสช. จัดให้แก่ชายไทยทุกคน พร้อมกับแจกยาคุมกำเนิดให้แก่สตรี โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอีกด้วย ดังนั้นอย่าหลงเชื่อผู้ที่หาประโยชน์โดยมิชอบเตือนภัย! ระวังไลน์ปลอม “กรมบัญชีกลาง”         กรมบัญชีกลางโดนมิจฉาชีพปลอมไลน์ โดยใช้ชื่อ “สพบ.กรมบัญชีกลาง” และ “กรมบัญชีกลาง” เพื่อหลอกลวงโดยมีการส่งต่อในกลุ่มไลน์ต่างๆ  นางสาวทิวาพร ผาสุก รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า มีมิจฉาชีพแอบอ้างโดยใช้ข้อมูลของกรมบัญชีกลางทำเป็นลิงก์ปลอม แอปพลิเคชันปลอม เว็บไซต์ปลอม หนังสือราชการปลอม เพื่อให้ข้าราชการ ผู้รับบำนาญและบุคคลในครอบครัว ประชาชนหลงเชื่อจนเกิดความเสียหาย จึงขอย้ำว่า “กรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายส่งไลน์ SMS หรือโทรศัพท์หาข้าราชการหรือประชาชน ดังนั้นเตือนอย่าหลงเชื่อ อย่ากด อย่าดาวน์โหลด อย่าแชร์เด็ดขาด” เร่งทำมาตรฐาน “บันไดเลื่อน” ป้องกันเหตุไม่คาดฝัน         จากเหตุการณ์ที่พบว่า มีผู้บริโภคหลายคนเจออุบัติเหตุเกี่ยวกับบันไดเลื่อนจนเกิดความไม่ปลอดภัยบาดเจ็บและพิการนั้น วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566  สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) มีมติเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นการด่วน         โดยนางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า จากเหตุพบว่ามีอุบัติเหตุบันไดเลื่อนและทางลาดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าต่างๆ บ่อยครั้ง จึงได้สั่งให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานบันไดเลื่อน ทางเดินอัตโนมัติ ลิฟท์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ด้านนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เตรียมออกประกาศมาตรฐาน “บันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟท์” เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า โดยอ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ส่วนประกอบ การติดตั้ง ความสูง ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน  ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2567    พิพากษายกฟ้องคดี “กระทะโคเรียคิง” โฆษณาเกินจริง         จากกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้บริโภคที่เสียหาย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากเป็นการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 นั้น         เมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษา ซึ่งนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายและทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่า ตามการโฆษณาของบริษัทว่ากระทะมี 8 ชั้น ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่ากระทะไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนประกอบตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากจำเลยพิสูจน์ว่ากระทะมีการเคลือบกว่า 8 ชั้นจริง แต่ไม่สามารถมองเห็นการแยกชั้นเป็น 8 ชั้นด้วยตาเปล่าได้ ศาลจึงวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการผิดสัญญาที่ไม่ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามโฆษณา ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจึงเตรียมยื่นอุทธรณ์เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อจนถึงที่สุด         ย้อนกลับไปยังต้นเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคฟ้องร้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น คือ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ”กระทะโคเรีย คิง ใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วย หินอ่อนเงิน , หินอ่อนทอง , พร้อมด้วย เทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย เมื่อนำไปปรุงอาหารทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยราคา กระทะใบละ 15,000 บาท แต่หากซื้อผ่านรายส่งเสริมการขายจะเหลือเพียง 3,900 บาท และซื้อ 1 ใบ แถมอีก 1 ใบ”  ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าไม่เป็นตามโฆษณา อีกทั้งพบประเด็นการตั้งราคาขายสูงจริง คืออ้างว่า ราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง (Fake Original Price)”  สคบ. จึงมีมติสั่งระงับโฆษณาทั้งหมด ต่อมามีผู้เสียหายจากการซื้อกระทะดังกล่าวได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงประกาศเป็นตัวกลางฟ้องคดีแบบกลุ่มแทนผู้บริโภคที่เสียหายจากกระทะ โคเรีย คิง โดยเชื่อว่าจะเป็นคดีผู้บริโภคตัวอย่างเพื่อทำให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการโฆษณาสินค้าและคุณภาพสินค้าเป็นไปตามที่โฆษณาให้ดีมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2566

เตือน! “อย่าซื้อขนมโรลออน” ที่ลักลอบนำเข้าไทย        3 กันยายน 2566 ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า พบขนมบรรจุขวดที่มีหัวเป็นลูกกลิ้ง ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “โรลออน” วางจำหน่ายใกล้โรงเรียน และช่องทางออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไม่ได้รับอนุญาต สังเกต คือ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลข อย. รวมถึงไม่ทราบส่วนประกอบหรือส่วนผสม และไม่มีผู้นำเข้า         ทางอย.จึงขอเตือนว่าไม่ควรซื้อมาบริโภค ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงได้รับอันตราย หรือใช้วัตถุกันเสีย สี วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งอาจมีสารปนเปื้อนจากการผลิตจากภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ขนมที่ได้รับอนุญาตต้องมีฉลากภาษาไทยระบุข้อมูลให้ครบถ้วน  สำหรับ ผู้นำเข้าและจำหน่าย ขนมที่ไม่ขออนุญาตนำเข้ามีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  BTS ชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าขัดข้องไม่ยอมปิดขณะเดินทาง         จากกรณีที่มีดราม่าระบบรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง โดยได้มีผู้ใช้ติ๊กต๊อกบัญชี @star111042 ได้โพสต์คลิปประตูรถไฟฟ้า BTS เปิดขณะวิ่งอยู่ พร้อมแคปชันระบุว่า "เมื่อคนซวยๆ อย่างฉันมาขึ้นรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเลยซวยไปด้วย” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่มีประตูรถไฟฟ้าเปิดค้างไว้ ขณะเดินทางระหว่างสถานีบางจาก-สถานีปุณญวิถี หลังเกิดเหตุ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกมาชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระบบความปลอดภัยมีสัญญาณแจ้งเตือนประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า (TC) จึงรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องศูนย์ควบคุม (CCR) และประสานเจ้าหน้าที่ไปยืนดูแลบริเวณประตูที่ขัดข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารเข้าใกล้ประตู พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการแก้ไขประตูดังกล่าวที่สถานีถัดไป        อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าว และประตูที่ขัดข้องอย่างละเอียด เพื่อหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก อย่าซื้อ นมแม่แช่แข็งให้ลูกกิน         20 กันยายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์เตือนกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง ที่มีการโพสต์ ซื้อ-ขาย นมแม่แช่แข็ง โดยมีการระบุข้อความว่า "มีคนไปโพสต์ในกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง บอกว่ามีนมแม่แช่แข็งเหลือ จะขาย คนก็แชร์ไปหลายพันละ อันนี้เตือนแม่ๆ ว่า นมแม่นี่ ของใครของมัน ไม่ควรเอานมแม่คนอื่นมาป้อนให้ลูกตัวเอง ถ้าไม่ผ่านการตรวจเชื้อ และผ่านธนาคารนมแม่มาแล้ว เพราะนมแม่ เป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสที่จะมีเชื้อต่างๆ จากแม่ที่ผลิตนมนั้น เช่น HIV ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี EBV CMV herpes  ซึ่งหากเด็กติดเชื้อขึ้นมาเรื่องใหญ่” นอกจากนี้  ปกติหากนมแม่เหลือและอยากแบ่งปันให้คนอื่น  จะมีธนาคารนมแม่ ที่เขาจะตรวจสอบว่าแม่ติดเชื้อไหม นมปลอดภัย มีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ ยาต่างๆ หรือไม่ เพื่อให้เด็กที่กินนั้นปลอดภัย Bangkok Airways ประกาศ “ชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร สัมภาระก่อนบิน”         17 กันยายน 2566 หลังจากที่สายการบินต่างชาติ เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ได้มีการออกกฎชั่งน้ำหนักและสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อสำรวจและนำมาคำนวณกำหนดการกระจายน้ำหนักบนเครื่องบิน ลดการใช้เชื้อเพลิงนั้น         ทางบางกอก แอร์เวย์ส สายการบิน ประเทศไทย ก็ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีดังกล่าวอีกด้วย โดยระบุข้อความดังนี้ “เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินพลเรือนสากล เรื่องการใช้ข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับคำนวณน้ำหนักผู้โดยสารและสัมภาระถือขึ้นเครื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำหนักของเที่ยวบินอยู่ภายใต้ขอบเขตการกำหนดน้ำหนักอากาศยานสำหรับการวิ่งขึ้นสูงสุด (Maximum Take-Off Weight) และทำการบินได้ด้วยความปลอดภัย ตั้งแต่ 15 ก.ย. ถึง 31 ต.ค. 66 เป็นต้นไป บริษัทขออนุญาตเก็บข้อมูลโดยการชั่งน้ำหนักผู้โดยสารรวมสัมภาระถือขึ้นเครื่อง ณ บริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่อง จึงขอความร่วมมือจากท่านผู้โดยสารชั่งน้ำหนัก นอกจากนี้  บริษัทขอยืนยันว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานเท่านั้น มพบ.เผยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดจะได้รับเงินคืนจาก “Thai Air Asia X”         หลังจาก วันที่ 31 สิงหาคม 66 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” รหัสเที่ยวบิน XJ บริการสายการบินราคาประหยัด เส้นทางไปต่างประเทศ หลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดทำการบินขนส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปี         15 กันยายน 2566 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ)” มีผลครอบคลุมเจ้าหนี้ทุกคนที่เป็นผู้โดยสาร ทั้งผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่างได้สิทธิรับคืนเงินทั้งหมด โดยไม่มีดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องทั้ง 2กรณี ส่วนที่ก่อนหน้านี้ มีผู้โดยสาร 11 คน พากันมายื่นร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค มูลค่าความเสียหายกว่า 4 แสนบาทนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนให้ดำเนินการหาทนายฟ้องคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทาง “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ยื่นคำร้องค้าน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำหน่ายคดีที่ผู้บริโภคฟ้องเพราะศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น คดีอื่นๆ ที่มีการยื่นฟ้องหรือบังคับคดีจึงต้องหยุดชั่วคราวเพื่อรอการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม ศาลมีข้อแม้ว่า หากสายการบินไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา ก็จะเดินหน้าในกระบวนการทางศาลต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2566

10 แอปพลิเคชันอันตรายบนแอนดรอยด์         สิงหาคม 66  ตำรวจสอบสวนกลางโพสต์เฟซบุ๊กเตือนประชาชน พบแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์ดักข้อมูลแฝงอยู่และมียอดการดาวน์โหลดทะลุล้านครั้ง โดยบางแอปได้มีการนำออกจาก Play Store แล้ว แต่ยังสามารถติดตั้งผ่านช่องทางอื่นได้อยู่ เช่น รูปแบบ  Mini-Game ที่มีการให้ผู้ใช้เข้ามาเล่นเพื่อรับรางวัล ซึ่งมี 10 แอปพลิเคชัน ดังนี้ 1.Noizz (แอปตัดต่อวิดีโอพร้อมเพลง) 2.Zapya (แอปแชร์ไฟล์ ย้ายไฟล์) 3.VFly (แอปสร้างวีดีโอ) 4.MVBit (แอปตัดต่อวีดีโอ) 5.Biugo (แอปตัดต่อวีดีโอ) 6.Crazy Drop (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 7.Cashzine (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 8.Fizzo Novel (แอปอ่านหนังสือออฟไลน์) 9.CashEM (แอปรับรางวัล) 10.Tick (แอปดูวีดีโอเพื่อรับรางวัล) ทั้งนี้ การป้องกัน คือ อัปเดตซอฟต์แวร์สม่ำเสมอ ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ และระมัดระวังอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อทั้งหลาย พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงไม่คลิกโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ  บังคับใช้แล้ว เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกกฎหมายความปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยการกำหนดที่นั่งนิรภัยพิเศษและการป้องกันอันตราย หากเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 66 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งที่นั่งนิรภัย(คาร์ซีท)  และคาร์ซีทต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่มีคาร์ซีทแต่มีเด็กอายุต่ำกว่าที่กำหนด ให้ปฏิบัติตาม ดังนี้ 1.ขับช้าๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และขับชิดซ้าย 2.ให้เด็กนั่งที่นั่งโดยสารตอนหลัง ถ้าเป็นรถกระบะหรือกึ่งกระบะให้นั่งตอนหน้า แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ 3. ให้มีผู้ดูแลเด็กตลอดระยะทางหรือให้เด็กรัดเข็มขัดเฉพาะหน้าตัก ทั้งนี้ ในกรณีรถรับจ้างและรถสาธารณะยกเว้นไม่ต้องมีคาร์ซีทได้ ส่วนโทษปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ศาล ปค.กลาง พิพากษายกฟ้อง สธ. กรณีประกาศแบนพาราควอต         29 สิงหาคม 66 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ ทางเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองและเกษตรกรรวม 56 ราย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีร่วมกันประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ.2563 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง(ฉบับที่ 3) การกำหนดปริมาณสารพิษคลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์  พาราควอตบิส(เมทิลซัลเฟต) หรือพาราควอตเมโทซัลเฟต ตกค้างสูงสุด (MRLs) ในสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการผลิต-การค้า ควบคุมตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ นำเข้า-ส่งออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย         อย่างไรก็ตาม ทางศาลได้ให้เหตุผล ดังนี้  ประกาศดังกล่าวคือการกำหนดคุณภาพอาหารที่มีสารพิษตกค้างซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน ไม่ตรวจพบวัตถุอันตรายการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมาย ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเกษตรกรเกินสมควร พิพากษายกฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ ภาครัฐ-เอกชน ดูแลลงโทษ ผู้ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก๊งมิจฉาชีพ         จากกรณีที่มีข่าวตำรวจไซเบอร์จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สุดท้ายได้มีการซักทอดไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนนั้น                 นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งหลายที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของประชาชน หากบุคคลในองค์กรได้กระทำตัวเป็นขโมย ลักลอบข้อมูลจากแก๊งมิจฉาชีพ จะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นความผิดในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอม และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 27 และมีบทลงโทษ ตามมาตรา 79 วรรค 2 ของ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจงปม 'ปังชา' ยันขายได้แต่อย่าเลียนแบบภาชนะ          จากกรณีร้านดังได้ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า 'ปังชา' สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบจนเป็นประเด็นดรามานั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้แจง พร้อมยืนยันว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะของร้านที่เป็นข่าวซึ่งจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต ดังนั้นการใช้คำว่า ปังชากับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ         อนึ่ง “คำ” ที่เป็นลักษณะทั่วไปของสินค้าหรือบริการไม่สามารถนำมาจดลิขสิทธิ์ได้ เช่น ถ้าจะจดคำว่า “ขาว” กับ “ผงซักฟอก” หรือ “ใส” กับ “น้ำดื่ม” อย่างนี้ ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ “เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของสินค้า” (ที่มา ดร. พีรภัทร ฝอยทอง)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2566

ย้ายสิทธิบัตรทอง! โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านได้แล้ว        ตามที่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกทม. เพื่อทำงาน-เรียนหนังสือ และไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย เดิมนั้นต้องกลับไปรักษายังจังหวัดที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นก็คือ การย้ายสิทธิรักษาเข้ามาอยู่ในกทม. โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ชวนผู้ที่อาศัยในกทม. แต่สิทธิบัตรทองอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำการย้ายสิทธิเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยให้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ ใกล้ที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาซึ่งสำหรับการย้ายสิทธิสามารถทำได้ผ่านช่องทาง ดังนี้        1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ        2. Line OA สปสช. (ID@nhso) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง        3. ติดต่อด้วยตนเอง ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันเวลาราชการ        4. สายด่วน 1330  ตรวจยึดไส้กรอกแดงสุดฮิตจากจีน        วันที่ 20 ก.ค. 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมปศุสัตว์(กปศ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขยายผลตรวจสอบแหล่งขายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยได้เข้าตรวจค้นที่อาคารแห่งหนึ่ง ย่านประชาชื่น กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ยี่ห้อ “Shuanghui” จำนวน 1,440 แท่ง และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 20 รายการ และทั้งหมดคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีนทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการยึดสินค้าทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ ของกลางที่ตรวจยึดได้มีการส่งตรวจวิเคราะห์ หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกันเสีย และสี ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าพบสารปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” โดยผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้ามซื้อสมุนไพร ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.         จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยี่ห้อผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางอย. จึงได้ตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายในพื้นที่ จ.พิษณุโลก  และได้ประสาน สสจ.พิษณุโลก ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งก็พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล สูตรกระจายเส้น เอ็นยึด ดังกล่าวจริง เป็นจำนวน 26 ซอง พร้อมกับยาผงจินดามณี จำนวน 55 ซอง และสมุนไพรไทยมีรูปรากไม้ จำนวน 39 ซอง นอกจากนี้ ทางอย.ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทั้ง 3 รายการ ไม่พบข้อมูลอนุญาตจาก อย. และฉลากผลิตภัณฑ์ไม่มีการแสดงทะเบียน พร้อมกับยังพบสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนในยาผงจินดามณี อีกด้วย ทางอย.จึงได้เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อสมุนไพรทั้ง 3 รายการ มาใช้ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย อันตรายต่อสุขภาพ บางกอกแอร์เวย์ส เตือน! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชวนลงทุน         30 ก.ค. 2566 ทางสายการบางกอกแอร์เวย์ส ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยหน้าเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Airways โดยระบุข้อความว่า "แจ้งเตือนกรณีมีการแอบอ้างลงโฆษณาในช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยใช้ชื่อ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ภาพเครื่องบิน และโลโก้ของสายการบินฯ ในการเชิญชวนและเปิดโอกาสให้ลงทุนหุ้นกับสายการบินฯ"  ซึ่งทางสายการบิน ได้แจ้งว่า ทางสายการบินไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง และบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ใช่สายการบิน อย่างไรก็ตาม ทางสายการบิน แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและระวังกลอุบายจากมิจฉาชีพที่หลอกล่อให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนส่วนตัวและเอกสารสำคัญอีกด้วย  มพบ. พาผู้เสียหาย “ออลล์ อินสไปร์ คอนโดสร้างไม่เสร็จ” ยื่นฟ้องศาล         20 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิบริโภคและนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากผิดสัญญาก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด         โดยนางสาวณัฐวดี กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย มีจำเลย คือ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งการยื่นฟ้องแยกตามศาลเนื่องจากเป็นไปตามทุนทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี  ยื่นฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี ซึ่งการที่ผู้เสียหายตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออลล์ อินสไปร์ เนื่องจากผู้บริหารเข้าข่ายเจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจนจากที่มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อ 7 ก.ค. 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่กับพบว่ามีแต่ความเพิกเฉย ไม่มาพบกับผู้เสียหาย เมื่อไปพบถึงสำนักงานใหญ่ พบแค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและเสนอแผนชดเชยค่าเสียหายผ่อนชำระเป็นรายงวด เมื่อมีบางคนยอมทำตามข้อเสนอของบริษัท แต่ปรากฏว่าบริษัทก็ยังเบี้ยวหนี้ เพราะจ่ายแค่ 1 งวด แล้วหายไปเลย ไร้ช่องทางการติดต่อ         ดังนั้นผู้เสียหายที่จ่ายเงินจอง เงินดาวน์  เงินทำสัญญา เงินผ่อนแต่ละงวดไปแล้ว ต้องการเรียกเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ อาจยื่นฟ้องคดีอาญาอีกด้วย เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้ประกอบการเนื่องจาก บริษัทฯ มีเจตนาไม่ชำระหนี้คืนให้ผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2566

พบ “สเตียรอยด์” ในสินค้ายี่ห้อ “โสมผสมกระชายดำ ตราเทพี”         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสมกระชายดำ ตราเทพี เลขสารบบอาหาร 40-2-00658-2-0012 โดยในฉลากได้ระบุว่า คือ “ชา สมุนไพร ตราเทพี  มีสรรพคุณกล่าวอ้างว่า แก้ปวดตามข้อ ปวดหลัง ปวดเอว โรคเก๊าท์ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ กระดูกทับเส้นประสาท ... มีเลขวันผลิต 30/12/22 และหมดอายุ  30/12/24  เมื่อนำมาตรวจสอบด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์พบว่า มีการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ เมื่อตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ได้มีการยกเลิกโดยผู้ประกอบการตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564  โดยเลขสารบบอาหารดังกล่าวอยู่ที่ จ.ขอนแก่น อย.จึงได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังหากมีการกระทำผิดจะดำเนินตามกฎหมาย พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทาน  การบินไทยห้ามนำ “กระเป๋า-ยานพาหนะ มีแบตเตอรี่ลิเธียม” ขึ้นเครื่อง         การบินไทยประกาศออกมาทางเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” กรณีห้ามนำกระเป๋าเดินทางหรือยานพาหนะที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมขึ้นเครื่องบิน  โดยทางการบินไทยได้มีการระบุข้อความดังนี้ เรียนท่านผู้โดยสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอเรียนให้ท่านผู้โดยสารทุกท่านทราบว่าบริษัทฯ ไม่รับกระเป๋า Smart Baggage ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียม ในลักษณะดังนี้        1.สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry on) และสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) ที่ติดตั้งแบตเตอรี่แบบที่ถอดไม่ได้ และมีกำลังไฟเกิน 2.7 วัตต์ *ไม่รับในทุกกรณี           2.ยานพาหนะขนาดเล็กส่วนบุคคลที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมในการขับเคลื่อน , Segway         3.กระเป๋าที่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน กระเป๋าเดินทางที่ขี่ได้ Motorize Baggage, Rideable Carry-On Baggage         ทั้งนี้ ทางการบินไทยยังระบุว่าอีกว่า ทางการบินไทยไม่รับผิดชอบการจัดเก็บ/การรับฝากสิ่งของทุกประเภทที่ไม่อนุญาตให้นำไป  จับแหล่งขายซากเนื้อสัตว์ ฟอร์มาลีน-โซดาไฟ         26 พฤษภาคม 2566 ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการสืบทราบถึงกรณีการลักลอบการนำเข้าซากสัตว์แบบผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จึงได้มีการประสานนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารผิดกฎหมายพบว่า มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลิตไส้ตัน หมึกกรอบ สะไบนาง และนำไปส่งขายที่ร้านหมูกระทะในพื้นที่ และในจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังตรวจพบซากเนื้อสัตว์ เช่น  ไส้ตันแช่แข็ง ระบุว่านำเข้าจากเยอรมันนี จำนวน 39 กล่อง 500 กก. ไส้ตันแปรรูปแช่สารโซดาไฟ และฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 200 กก. สไบนางแช่สารโซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และฟอร์มาลิน จำนวน 2 ถัง น้ำหนัก 400 กก. และหมึกกรอบแช่สารฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 100 กก.         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ซากสัตว์ทั้งหมดไม่พบเอกสารรองรับและไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ตามกฎหมาย ทั้งยังตรวจพบสารฟอร์มาลินในน้ำแช่สไบนาง ไส้ตัน และหมึกกรอบ ในการทดสอบด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลินเบื้องต้น         ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดและอายัดสินค้าจำนวนกว่า 1,200 กก รวมทั้งให้ผู้ประกอบการนำเอกสารมาแสดงหากไม่นำมาทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  เตือนนักเรียนแบกกระเป๋าหนัก เสี่ยงกระดูกสันหลังคด         นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนไม่ควรแบกกระเป๋าน้ำหนักเกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว เนื่องจากการแบกกระเป๋าหนักมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยจะมีอาการปวดที่บ่า ต้นคอ ซึ่งคือสาเหตุของการปวดหลังเรื้อรัง ส่งผลให้มีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ เช่น หลังค่อม ไหล่และเชิงกรานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก  และแนะนำให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการโรคกระดูกคดเอียงอีกด้วย         ส่วนเด็กที่ถือกระเป๋ารูปแบบหิ้ว สะพายข้าง หากมีน้ำหนักเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพื่อรับน้ำหนักตัวเราจะเอียงตามทำให้บุคลิกภาพเราจะเป็นไปตามนั้น  ส่วนกล้ามเนื้อก็จะพัฒนาไปในลักษณะนั้นๆ ซึ่งเมื่อคนเราปกติใช้ร่างกายด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติและส่งผลต่อการเจริญเติบของเด็กได้ มพบ. เสนอ อย. ให้ควบคุมจดแจ้งเครื่องสำอางที่เคยถูกห้ามขาย ครีมผิวขาวเพิร์ลลี่         จากกรณีที่มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากครีมผิวขาว “เพิร์ลลี่” และให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือด้านคดีนั้น ล่าสุดทางศาลอุทธรณ์มีคำสั่งห้ามขายครีมผิวขาวเพิร์ลลี่แล้วแต่ปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ยังคงพบว่ามีจำหน่ายอยู่ในทางออนไลน์         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษา “ห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชื่อ เพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ โลชั่น เลขที่จดแจ้ง 10-1-5733777 และเพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ ชั่น พลัส เลขที่จดแจ้ง 10-1-5749866” แต่ทางมูลนิธิฯ ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนเลขจดแจ้งใหม่ เป็น “โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเซ็นทีฟไวท์ ครีม สูตร พลัส x 2) Pearly Lotion Intensive WCream PlusX2”  และ โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเทนซีฟครีม) Pearly Lotion Intensive Cream ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค. 66 )         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดมายังช่องทางต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคปลอดภัยและร่วมสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. อยากให้ควบคุมเรื่องการจดแจ้งผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพราะจากข้อมูลที่มูลนิธิฯ รวบรวมไว้ พบว่ามีเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริมจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้รับการถอนทะเบียนจะนำผลิตภัณฑ์มาปะแป้งแต่งตัว เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วจดแจ้งใหม่นำมาจำหน่าย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2566

พบจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ใน “ก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูป”        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดผลทดสอบก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูปร่วมกับทางสาธารณสุข จ.นนทบุรี พบตัวอย่างอาหารบรรจุถุงพลาสติกสีแดงฉลากระบุว่า “เลอรส” เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ก๋วยเตี๋ยวเรือเส้นเล็ก โดยเลขสารบบอาหาร 12-2-01765-6-0002 วันผลิต 01/02/23 และวันหมดอายุ 01/05/23 พบจุลินทรีย์เกิดโรค Bacillus cereus  6,600 CFU/กรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 พ.ร.บ. พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ Bacillus cereus ในเครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ได้ไม่เกิน 1,000 CFU/กรัม ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต่อมาทางบริษัทก๋วยเตี๋ยวเรือเลอรสได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูป เส้นเล็ก”ดังกล่าวได้มีการให้ทาง อย. อายัดล็อตดังกล่าวแล้วและไม่นำออกมาจำหน่ายอีก หิ้วผลไม้เข้าไทย มีโทษปรับ 2 หมื่น-คุก 1 ปี        กรมวิชาการเกษตร แจ้งถึงการนำเข้าผลไม้สดเข้ามายังประเทศไทย ระบุหากไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 (และแก้ไขเพิ่มเติมมีโทษทั้งจำและปรับ)         อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขอแจ้งเตือนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้าประเทศให้ระวังการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเจตนากระทำผิดเพราะหากมีการตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับและสินค้าจะทำการยึดเพื่อไปทำลายตามกฎหมายกักพืช ที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวมักจะซื้อตามคำแนะนำของไกด์นำเที่ยว จึงฝากให้ประชาชนระมัดระวังเพื่อไม่ต้องเสียเงินกับสินค้ากลุ่มนี้และฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 21 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เตือนซื้อตั๋วรถไฟนอกระบบ เสี่ยงถูกโกง         นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำตั๋วรถไฟปลอมมาจำหน่ายหรือมีการเปิดรับจองตั๋ว การให้โค้ดจองหรือการซื้อขายตั๋วโดยสารนอกระบบ ซึ่งจะทำให้เสียทั้งทรัพย์และเวลา โดยไม่สามารถเดินทางได้จริง ที่ผ่านม พบว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นผู้โดยสารได้ซื้อตั๋วมาทางเฟซบุ๊ก  ดังนั้นการรถไฟฯ จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อตั๋วจากคนภายนอกหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ใช่ของการรถไฟฯ โดยตรง เพราะอาจเป็นตั๋วที่ปลอมแปลงขึ้นมา และระวังอย่าหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นพนักงานการรถไฟฯ และนำตั๋วไปขายต่อเพราะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"         เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไตรมาสแรกไทย พบ กทม.เกิดเหตุสูงที่สุด ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้า เหตุคนต้องรีบออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากท้องถนนเกือบหมื่น บาดเจ็บร่วม 2 แสน         ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่เสียชีวิต 44,810 คนและบาดเจ็บ 1,945,345 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี เสียชีวิต 7,526 คน บาดเจ็บ 179,978 คน ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5         ข้อมูลจากกลุ่มพัฒนานโยบายและสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เรื่อง "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" ช่วง 1 ม.ค. - 2 เม.ย. 2566 พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 60 คน พาหนะที่ชนมากที่สุดคือรถยนต์และรถกระบะ โดยช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนพลุกพล่านทั้งเพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะหรือออกไปซื้อของที่ตลาดหรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า ทำให้ผู้เดินเท้าอาจขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนนหรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระตุ้นรัฐให้ความสำคัญการโดยสารรถสาธารณะปลอดภัย         11 เมษายน พ.ศ.2566  นางนฤมล เมฆบริสุทธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า จากประเด็นข่าวเผยแพร่ถึงเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัททัวร์บังคับให้คนขับรถ ขับรถไป-กลับ ระหว่าง ชัยภูมิ-กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 รอบติดกันโดยไม่ได้พักนั้น น่ากังวลว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนจนเกิดอันตรายทั้งผู้โดยสารและรถที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุแต่กระทบไปถึงครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีมาตรการการลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวทั้งในช่วงสงกรานต์ และรวมไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีการฉวยโอกาสกระทำแบบเดิมเพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการรถโดยสารในการเดินทาง รวมถึงกรณี รถผี รถเถื่อน หรือรถที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขนส่งแต่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการให้บริการกับผู้บริโภค         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในการตรวจจับรถที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาและเสนอให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร เพิ่มจำนวนรถและกำลังคนขับเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >