ฉบับที่ 100 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 255220 พฤษภาคม 2552หน่อไม้ปี๊บยุคใหม่ อย.รุกเข้มเรื่องความปลอดภัยอย. ออกมาตรการป้องกันปัญหาหน่อไม้ปี๊บไม่ได้มาตรฐาน โดยขอความร่วมมือไปยังส่วนภูมิภาค ให้เร่งกวดขันดูแลควบคู่ไปกับการอบรมให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยีการผลิต เนื่องจากหวั่นซ้ำรอยปี 49 ที่มีชาวจังหวัดน่านกว่า 200 ราย ป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษ “โบทูลิซึม” จากการบริโภคหน่อไม้ปี๊บที่ใช้วิธีการผลิตไม่ถูกต้อง ซึ่งในขั้นแรกนี้จะคัดเลือกจังหวัดที่มีผู้ผลิตหน่อไม้ปี๊บเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ชัยภูมิ เชียงราย และจันทบุรี เป็นจังหวัดนำร่อง วิธีเลือกซื้อหน่อไม้ปี๊บที่ได้มาตรฐานง่ายๆ ด้วยตัวเอง คือ ซื้อหน่อไม้ปี๊บที่แสดงฉลากถูกต้อง โดยต้องมีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต มีเลข อย. 13 หลัก แสดงส่วนประกอบ ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ นอกจากนี้ผู้บริโภคควรนำหน่อไม้ปี๊บมาต้มในน้ำเดือดประมาณ 20 – 30 นาที ก่อนบริโภคเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งยังช่วยลดความเปรี้ยวของหน่อไม้ลงได้ด้วย22 พฤษภาคม 2552ระวัง มิจฉาชีพออกหลอกลวงเงินแบบขายตรง หาสมาชิกร่วมลงทุนกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพโฆษณาชักชวนประชาชนให้นำเงินมาลงทุนเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเก็งกำไรจากราคาน้ำมันระหว่างประเทศ ด้วยการชักชวนให้สมัครสมาชิกแอบอ้างการขายสินค้าต่างๆ บังหน้า การหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าว ได้แพร่หลายออกไปในจังหวัดต่าง ๆ มากขึ้น จึงขอเตือนว่า พฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่ายการระดมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและเข้าข่ายกระทําความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 จึงแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจลักษณะชักชวนประชาชนให้สมัครสมาชิก และร่วมลงทุนซื้อขายสินค้าทางเว็บไซต์ โดยอ้างว่าเป็นบริษัทจากต่างประเทศ และผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสูงหากแนะนำคนมาสมัครเป็นสมาชิกและซื้อสินค้าทุกเดือน สมาชิกผู้แนะนำจะได้รับเงินค่าแนะนำสมาชิกในอัตราที่สูงด้วยเช่นกัน ข้อสังเกตคือ ธุรกิจประเภทนี้จะไม่ได้มุ่งเน้นการขายสินค้า แต่มีลักษณะเป็นการระดมเงินจากประชาชน และจัดคิวเงินโดยนำเงินของสมาชิกรายใหม่มาจ่ายหมุนเวียนให้กับสมาชิกรายเก่าต่อกันไปเรื่อยๆ เมื่อไม่สามารถหาคนมาเป็นสมาชิกเพิ่มหรือหาคนมาร่วมลงทุนเพิ่ม จะไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนได้อีก จากนั้นจะปิดบริษัทหนีไป ซึ่งอาจทำให้ประชาชนที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้รับความเสียหายจากการนำเงินไปลงทุน และสมัครสมาชิกกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวหากพบพฤติกรรมเหล่านี้ ให้แจ้งที่กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ โทร. 0-2273-9021 ต่อ 2627-35 หรือ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ โทร. 1359 หรือ ตู้ปณ.1359 ปณจ.บางรัก กรุงเทพฯ 10500 หรือ www.mof.go.th/fincrime2004 สํานักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร 02-831-9888 หรือ www.dsi.go.th กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สํานักงานตํารวจแห่งชาติ โทร. 0-2237-1199 โทรสาร 0-2234-6806 หรือ www.ecotecpolice.com สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทร.1166 หรือ www.ocpb.go.th สํานักงานสรรพากรพื้นที่จังหวัดในท้องที่เกิดเหตุ และสถานีตํารวจท้องที่เกิดเหตุทุกแห่งเครื่องทำน้ำเย็นใน ร.ร. กทม.ต้องปลอดตะกั่วกทม.ห่วงใยอนามัยนักเรียน เร่งตรวจเครื่องทำน้ำเย็นและคุณภาพน้ำดื่มในโรงเรียนต้อนรับเปิดเทอม โดยจัดดำเนินการภายใต้โครงการ “โรงเรียนกรุงเทพมหานคร น้ำดื่มปลอดสารตะกั่ว” ซึ่งจะเดินหน้าตรวจดูแลและป้องกันสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำดื่มจากเครื่องทำน้ำเย็นตามโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกทม.จำนวน 435 แห่ง การปนเปื้อนของสารตะกั่วในเครื่องทำน้ำเย็น อาจเกิดจากการบัดกรีด้วยตะกั่ว ตามจุดหรือบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสน้ำดื่ม เช่น บริเวณมุมขอบภายในของเครื่อง การเชื่อมถังน้ำดื่ม การขึ้นรูปเครื่องทำน้ำเย็นส่วนที่เก็บน้ำ การเชื่อมลูกลอยกับก้านส่วนที่สัมผัสกับน้ำดื่ม หากพบเครื่องลักษณะดังกล่าวต้องรีบเปลี่ยนทันทีเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน  27 พฤษภาคม 2552สเต็มเซลล์ไม่ผ่าน อย. ผิดกฎหมาย ใครใช้ ใครผลิต มีสิทธิติดคุก!น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกแถลงข่าวเตือนผู้บริโภค ว่าอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา หรือคำอวดอ้างสรรพคุณเรื่องการรักษาโรคของสเต็มเซลล์และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ เนื่องจากเป็นยาตามกฎหมายการผลิตและนำเข้าต้องได้รับการอนุญาตจาก อย.จากกรณีที่มีข่าวว่าโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนบางแห่ง เปิดให้บริการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ โดยที่ไม่ได้ผ่านการรับรองจาก อย. รวมทั้งความเข้าใจที่ผิดในกรณีที่ว่า หากใช้สเต็มเซลล์โดยแพทย์ที่รักษาเฉพาะรายไม่จำเป็นต้องผ่าน อย. นั้น ไม่เป็นความจริง น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี กล่าวชี้แจงว่า สเต็มเซลล์และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ทุกชนิด ทั้งเพื่อการรักษา หรือป้องกันโรคของมนุษย์หรือมุ่งหมายให้เกิดผลแก่สุขภาพใดๆ จัดเป็นยา ตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อนทั้งสิ้นรวมทั้งใช้เพื่อการศึกษาวิจัย เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง อัมพาต ต้องมีหนังสือแสดงความรับรอง ผ่านความเห็นชอบให้ทำการวิจัยจากสถาบันที่เกี่ยวข้องนั้นๆ หากมีผู้ใดทำการผลิต ขาย หรือนำเข้าสเต็มเซลล์และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิด ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และหากผลิตภัณฑ์ไมได้รับการขออนุญาตจาก อย. ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ“อย.ควอลิตี้ อะวอร์ด” รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์ปลอดภัยกระทรวงสาธารณสุข นำโดยรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวง นายวิทยา แก้วภราดัย จัดงานมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการได้อย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรมและจริยธรรมในการผลิตภัณฑ์และบริการ มีมาตรฐานที่ดีในเรื่องความปลอดภัย รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้ตั้งชื่อผลรางวัลนี้ว่า “อย.ควอลิตี้ อะวอร์ด ประจำปี 2552” หรือ “อย.Quality Award 2009” ภายใต้คำขวัญที่ว่า “คุณภาพ ปลอดภัย ใส่ใจสังคม” การมอบรางวัลในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีแรก แต่จากนี้ไปก็จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 22 รางวัล จาก 5 ประเภทผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งรายชื่อของ 22 ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล มีดังต่อไปนี้ 1.บริษัท โชติวัฒน์อุตสาห-กรรมการผลิต จำกัด 2.บริษัท เทพผดุงพร มะพร้าว จำกัด 3.บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด 6.บริษัท สุรพลนิชิเรฟู้ดส์ จำกัด 7.บริษัท ไอ.พี.แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด 8.บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด 9.บริษัท ไบโอแลป จำกัด 10.บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด 11.บริษัท โรเดีย ไทย อินดัสตรีส์ จำกัด 12.บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด 13.บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ แลบบอราทอรี่ แอนด์ เฮลท์แคร์ จำกัด 14.บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด 15.บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด 16.บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด 17.บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรี่ จำกัด 18.บริษัท คาวาซูมิ ลาบอราทอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด 19.บริษัท สยามเซมเพอร์เมด จำกัด 20.บริษัท ไบรด์ บิวตี้ แคร์ คอสเมติก จำกัด 21.กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาบายศรี และ 22.กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสามัคคีโพธิ์ประทับช้างฉลาดซื้อชวนมากินเปลี่ยนโลก วารสารฉลาดซื้อ จัดกิจกรรมร่วมรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ภายใต้สโลแกน “กินเปลี่ยนโลก” ร่วมกับกลุ่มกิจกรรม มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิสุขภาพไทย โดยใช้ชื่องานครั้งนี้ว่า “สินค้าปลอดสาร อาหารเปลี่ยนโลก..กับคนฉลาดซื้อ” โดยนำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการช่วยแนะนำผู้บริโภคให้รู้จักการกินเพื่อสุขภาพด้วยๆ วิธีง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งงานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 52 บริเวณลานที่ว่างใต้สถานีรถไฟฟ้า พญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิงานนี้ได้รับเกียรติจาก นายชัยภัทร เจริญพร ผอ.เขตราชเทวี เป็นประธานเปิดงาน ก่อนจะต่อด้วยกิจกรรมสาธิตการทำข้าวกล้องงอกแบบง่ายๆ ทำได้เองที่บ้าน เรียกว่าทั้งสะอาดและได้คุณค่า ต่อจากนั้นก็เป็นการทำครีมพอกหน้าจากมะขามเปียก ซึ่งทั้งสองกิจกรรมได้รับความสนใจจากผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาในบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการแสดงสนุกๆ จากคณะนักแสดงละครคนหน้าขาว แถมเมื่อจบงานยังมีการแจกพืชผักสวนครัวหลากหลายพันธุ์แบบยกกระถางให้กับคนที่มาร่วมงาน เรียกว่ามางานนี้ได้ทั้งความรู้และยังได้ของติดไม้ติดมือกับบ้านไปด้วยคุณ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงกิจกรรม “กินเปลี่ยนโลก” ว่า เป็นการร่วมรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของคนเมืองในปัจจุบัน โดยจะเน้นให้เลือกรับประทานอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล เลิกเดินเข้าตลาดสดใกล้บ้านแทนการเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ยิ่งถ้าสามารถปลูกผักกินเองได้ก็ยิ่งถือเป็นเรื่องดี ซึ่งถ้าเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นไปดังที่กล่าวมาได้ จะส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพตัวเองและยังช่วยสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อย ไม่ให้เกิดการผูกขาดของนายทุนรายใหญ่ๆ ในเรื่องการผลิตอาหาร”ใครที่สนใจกิจกรรมร่วมรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” อยากเป็นอาสาสมัครที่มาร่วมเผยแพร่แนวคิดนี้สู่คนรอบข้าง หรืออยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตัวเอง สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.food4change.in.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 กระแสในประเทศ

ฉบับที่ 99 กระแสในประเทศประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 25521 เมษายน 2552ผู้บริโภคโล่งใจ ถั่วพิสตาซิโออันตรายไม่มีขายในไทยจากการที่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ประกาศเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทุกชนิดที่มี ถั่วพิสตาซิโอ เป็นส่วนผสม หลังจากมีการตรวจสอบพบเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลาในถั่วชนิดนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคทางเดินอาหาร งานนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ของไทยจึงได้เร่งมือตรวจสอบ พร้อมประกาศให้คนไทยเราเบาใจได้ว่าไม่มีการตรวจพบถั่วพิสตาซิโอชนิดที่เป็นอันตรายแบบที่พบในสหรัฐฯ ในประเทศไทย ซึ่งจากตรวจสอบต้นต่อของถั่วพิสตาซิโอเจ้าปัญหา พบว่ามีผลิตมาจากบริษัท เซตตัน ฟาร์ม ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งประเทศไทยไม่มีการนำเข้าถั่วชนิดนี้จากบริษัทดังกล่าว แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อย. จึงทำการติดตามเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างถั่วชนิดดังกล่าว ไม่ว่าจะนำเข้าจากบริษัทใด หากพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา จะรีบแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทันที รวมทั้งเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกจากท้องตลาดและระงับการนำเข้าโดยด่วน 2 เมษายน 2552เพนต์ “เฮนนา” ระวัง!หายนะถามหาผิวภญ. วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกโรงเตือนวัยรุ่นที่ชื่นชอบการตกแต่งลวดลายลงบนร่างกายด้วย “เฮนนา” อาจได้รับอาการแพ้ทางผิวหนังแถมมาพร้อมกับความสวยงาม สาเหตุจากการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบเติมสาร p-phenylenediamine (PPD) หรือพีพีดี ลงในเฮนนา เพื่อทำให้สีที่วาดมีความเข้มขึ้นและติดทนนานกว่าปกติ โดยจะเรียกกันว่า แบล็กเฮนนา (Black Henna) หรือบลูเฮนนา (Blue Henna) ซึ่งเฮนนาเป็นสารจากพืชชนิดหนึ่ง ให้สีน้ำตาลอมส้ม นิยมมาใช้ตกแต่งผิวหนังและนำมาย้อมผม สำหรับสารพีดีพีเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่ง อย. กำหนดให้ใช้สารพีพีดีได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ย้อมผมเท่านั้น โดยกำหนดอัตราส่วนสูงสุดไว้ไม่เกิน 6% และต้องระบุคำเตือนไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเน้นย้ำให้ทราบว่าสารชนิดนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง และก่อให้เกิดอาการแพ้ ที่สำคัญคือห้ามนำไปย้อมขนคิ้วหรือขนตาเด็ดขาด เพราะหากเข้าตาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดได้ 29 เมษายน 2552สคบ. เตรียมติดดาบยุบกิจการขายตรงนอกระบบเพราะผลจากการที่มีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงมาร่วมประชุมสัมมนาผู้ประกอบการขายตรง ในจำนวนไม่ถึงครึ่งจากจำนวนที่คาดการว่ามีธุรกิจขายตรงในระบบกว่า 500 บริษัท ซึ่งมีสาเหตุมาจากธุรกิจขายตรงบางบริษัทได้ปิดกิจการไปแล้ว แต่การปิดกิจการไม่ได้แจ้งนายทะเบียน ทำให้ยังคงความเป็นบริษัทขายตรงอยู่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีมากกว่า 200 บริษัท ที่ไม่ได้ดำเนินกิจการ แต่ไม่มีการแจ้งปิดกิจการของธุรกิจขายตรงเหล่านั้น การประชุมสัมมนาครั้งนี้จัดโดยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อชี้แจงนโยบายและทำความเข้าใจในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงไปแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการที่พบความคลุมเครือของสถานภาพทางบริษัทขายตรงกว่า 200 บริษัทดังที่กล่าวมา ทำให้สคบ.เตรียมศึกษาแก้ไขกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กำกับและส่งเสริมธุรกิจขายตรง โดยการเสนอให้มีการเพิ่มอำนาจของนายทะเบียน ในการยุบ หรือเลิกธุรกิจขายตรงที่ไม่มีการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเกรงธุรกิจที่อยู่นอกระบบเหล่านี้จะอาศัยช่องทางกลายพันธุ์กลายเป็นแชร์ลูกโซ่ เด็กไทยจมน้ำตาย1,500คน/ปี สธ.จับเด็กเข้าคอร์สเอาชีวิตรอดกระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงาน "เปิดโครงการทดลองหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด" ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยใช้เวลาเรียน 15 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ว่า ขณะนี้การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทั่วโลกเสียชีวิตปีละ 230,000 คน มีจำนวนมากกว่าเด็กที่ตายจากโรคไอกรน โรคหัด โรคคอตีบ โรคอหิวาตกโรค โรคไข้เลือดออก และโรคไทฟอยด์รวมกัน ซึ่งมีไม่ถึงปีละ 200,000 คน และเป็นสาเหตุอันดับแรกของการเสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 1 เสียชีวิตปีละประมาณ 1,500 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน โดยพบเด็กอายุ 5-9 ปี เสียชีวิตมากที่สุด โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กปิดภาคเรียน มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 112 คนจากเด็กไทย 13 ล้านคน พบว่ามีเด็กว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อเป็นการป้องกันและลดจำนวนเด็กเสียชีวิตนายมานิตกล่าวว่า โดยในช่วงปิดภาคเรียนนี้ สธ.ได้ทำโครงการนำร่องจัดหลักสูตรฝึกสอนการว่ายน้ำให้กับเด็กอายุระหว่าง 4-7 ปี ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สุรินทร์ เพชรบูรณ์ และนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดในแต่ละภาค คือ สุรินทร์ 45 ราย ราชบุรี 33 ราย เพชรบูรณ์ 29 ราย และนครศรีธรรมราช 19 ราย โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานกับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อคัดเลือกโรงเรียนว่ายน้ำ และครูผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมแล้ว โดยจะสอนเรื่องการเอาชีวิตรอด พื้นฐานการว่ายน้ำ และความปลอดภัยทางน้ำ โดยตั้งเป้าภายใน 10 ปี เด็กอายุครบ 7 ปีจะมีทักษะในการว่ายน้ำเป็นครบทุกคน ซึ่งจะสามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำได้อย่างน้อยปีละ 100 คน ผลโหวตผลิตภัณฑ์ บริการ โฆษณายอดเยี่ยม ยอดแย่วารสารฉลาดซื้อเปิดผลโหวต “ผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา” ยอดเยี่ยมและยอดแย่ในความรู้สึกประชาชนทั่วประเทศ พบ “ปตท.-รถโดยสารสาธารณะ-โฆษณาขายตรงผ่านทีวี” ติดอันดับยอดแย่ โดยเฉพาะรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุปีละ 3-4 พันครั้ง 26 เมษายน ในงานเปิดบ้าน “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเปิดบ้านใหม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันว่า ในโลกที่เป็นอยู่เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนเอาเปรียบ ซึ่งคนที่มีความแข็งแรงในวิชาชีพ มีรายได้ ก็มักจะต่อสู้ได้ แต่สังคมไทยในปัจจุบันมีคนอยู่ในสภาพที่เรียกว่าหากไม่มีคนช่วยคงไม่สามารถรักษาสิทธิได้ จึงเกิดแนวคิดสร้างกระบวนการประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือ “ผมรู้สึกดีใจที่ขณะนี้มีความตื่นตัวในการรักษาสิทธิผู้บริโภค แต่เรื่องสิทธิผู้บริโภคยังอีกไกล และต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ในสิทธิของตนเอง เพราะตอนนี้เรายังไปไม่ถึงก้าวที่สองที่ทำให้ประชาชนรู้ตระหนักและรู้สิทธิของตนเอง” นายอานันท์ กล่าวต่อว่า อยากเห็นกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นปึกแผ่นโดยไม่ต้องอาศัยองค์กรนี้ และให้องค์กรนี้ทำหน้าที่เคียงข้างกับสภา เพราะปัญหาการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นได้เนื่องจากอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หากนักการเมืองไม่ดูแลประชาชน ก็เป็นหน้าที่เรากันเองที่ต้องทำงานกับฝ่ายกฎหมายเพื่อแก้ไขความอยุติธรรมในสังคมไทยที่มีอยู่ หรือผลักดันกฎหมายใหม่ๆ เพื่อดูแลให้เรื่องสิทธิผู้บริโภคมีความมั่นคงและยังยืนยิ่งขึ้น ในงานดังกล่าว ยังมีการแถลงข่าว ผลโหวต “ผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา ยอดเยี่ยมและยอดแย่ประจำปี 2551” ด้วย โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณายอดเยี่ยมและยอดแย่ในรอบปีที่ผ่านมา โดยสอบถามความเห็นประชาชนจำนวน 2,993 คน พร้อมเปิดให้มีการโหวตผ่านหน้าเว็บไซต์ของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และเว็บไซต์ www.consumerthai.org วารสารฉลาดซื้อ รายการกระต่ายตื่นตัว สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ไปนั้นทางคณะกรรมการพิจารณารางวัล ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา คือ ต้องเป็นสินค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยในส่วนของการโหวตยอดเยี่ยม ต้องไม่มีชื่อโหวตอยู่ในอันดับยอดแย่ ไม่ทำร้ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิ และไม่เป็นที่ถกเถียงในสังคม ดังนั้นผลการโหวตที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น ได้แก่   ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม แป้งเด็กเบบี้มายด์ บริการยอดเยี่ยม บริการของธนาคารไทยพาณิชย์ โฆษณายอดเยี่ยม โฆษณาของบริษัทไทยประกันชีวิต ชุดแม่ต้อย ผลิตภัณฑ์ยอดแย่ แก๊สและน้ำมันของบริษัท ปตท บริการยอดแย่ บริการรถโดยสารสาธารณะ โฆษณายอดแย่ การโฆษณาขายตรงผ่านทีวี น.ส.สารี ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า บริการรถโดยสารสาธารณะถือเป็นบริการยอดแย่ที่ได้รับการโหวตในอันดับต้นๆ และที่ผ่านมาจากงานวิจัยของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่า ในแต่ละปีมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเฉลี่ยปีละ 3,000-4,000 ครั้ง ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเข้าไปดูในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท โดยเป็นแผนงานในปี 2553 นี้ เนื่องจากเป็นบริการที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก และมีปัญหาการร้องเรียนบ่อยครั้ง ซึ่งมูลนิธิฯ ไม่เพียงแต่จะเข้าไปดูในเรื่องมาตรฐานรถและบริการเท่านั้น แต่จะดูถึงผู้ให้บริการ คือ ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะด้วย เนื่องจากพบว่ามักมีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว โดยเฉพาะรถสาธารณะที่เป็นบริการร่วมกับเอกชน เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องรายได้ ต้องแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่อง “รายการสุขภาพในทีวี” ให้ประโยชน์หรือหวังโฆษณา?โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แถลงผลการศึกษาในหัวข้อ "รายการสุขภาพในฟรีทีวี" โดยนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ ได้ทำการศึกษาพบว่า รายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพส่วนใหญ่ เลือกนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้ชมเท่าที่ควร คือนำเสนออาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยแต่นำไปสู่โรคร้ายแรง ทำให้ผู้ชมเกิดความกลัว วิตกกังวล ส่วนเนื้อหาที่เป็นการแนะนำให้ผู้ชมดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาแพทย์กลับมีให้ชมในสัดส่วนที่น้อยมาก ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกและเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยแทบไม่มีให้เห็นนอกจากนี้ ผลการตรวจสอบการเฝ้าระวังทางสื่อ พบว่ามีโฆษณาอยู่ในรายการเป็นจำนวนมาก ทั้งการโฆษณาตรงและโฆษณาแฝงในรายการ ซึ่งสินค้าที่โฆษณาส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จำพวกอาหารเสริม ยา ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย สถานพยาบาลเอกชน ซึ่งแฝงอยู่ในรายการทั้งในรูปแบบ กราฟิกรายการ โลโก้บริการและสินค้า รองลงมาคือ สปอตโฆษณาสั้นๆ แฝงเนื้อหา แฝงวัตถุผลิตภัณฑ์ และแฝงบุคคลที่มีการสวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งรายการที่มีโฆษณาแฝงมากที่สุดคือ รายการตะลุยโรงหมอ (ปัจจุบันเป็นรายการ ชิดหมอ) และสโมสรสุขภาพ รองลงมาเป็น รายการชูรักชูรส รายการชีวิตชีวา Daily และ อโรคาปาร์ตี้ รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การมีรายการเพื่อสุขภาพมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมปัจจุบันใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น แต่การโฆษณาในรายการยังถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะรายการประเภทนี้เป็นรายการที่มีลักษณะผ่อนคลายสมอง ทำให้เกิดการโน้มน้าวจิตใจคล้อยตามได้ง่าย ซึ่งการสอดแทรกการโฆษณาสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพ อาจเป็นการสร้างพฤติกรรมการบริโภคสินค้าด้านสุขภาพที่ฟุ่มเฟือย และสินค้าหลายๆ ตัวยังเป็นในลักษณะชวนเชื่อ คือยังไม่มีการตรวจสอบรับรองถึงเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย น.พ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ย้ำถึงปัญหาการโฆษณาแฝงในรายการสุขภาพว่า เป็นเรื่องที่ทางแพทยสภากำลังจับตาดูอยู่ ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ทางแพทยสภามีอำนาจเพียงขอบเขตดูแลเฉพาะตัวแพทย์เท่านั้น ไม่รวมถึงสถานประกอบการที่เป็นหน้าที่ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีคณะกรรมการจริยธรรมควบคุมดูแลว่าการนำเสนอเนื้อหาเป็นไปในระดับใด ทั้งนี้การร้องเรียนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของโฆษณาเรื่องจริยธรรมแพทย์ แต่มักเป็นการฟ้องร้องจากคู่แข่งทางการตลาดด้วยกันเองด้าน พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้จัดการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ เสนอแนวคิดว่าควรมีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาแฝง พร้อมทั้งจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีการโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก แม้แต่ในละครก็มักถ่ายภาพให้เห็นด้านหน้าหรือป้ายโรงพยาบาลอยู่ตรงหัวเตียงผู้ป่วยในเนื้อหาละคร ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เป็นการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 255217 มีนาคม 52ก่อนกิน สังเกตป้าย “ก๋วยเตี๋ยวอนามัย” ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ โดยนายสมโภช ศรีอัสดร นักวิชาการสาธารณสุข กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกันจัดโครงการ “ก๋วยเตี๋ยวอนามัย” เพื่อรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวใส่ใจเรื่องสุขลักษณะของอาหารที่ปลอดภัยและไร้สารพิษและกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลร้านก๋วยเตี๋ยวให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น   จากผลสำรวจของกรมอนามัยพบว่า มีร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศทั้งในแบบร้านค้า แผงลอย รถเข็น จนถึงที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า จำนวนรวมกันมากถึงกว่า 75,500 ร้าน เฉลี่ยมีคนไทยบริโภคก๋วยเตี๋ยวถึง 4 ล้านคนต่อวัน แต่ปัญหาคือ ร้านก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่มีการใช้สารกันเสียชนิด “เบนโซอิก” ในเส้นเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 22 ส่วนผักที่ใช้เป็นส่วนประกอบ ก็มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนร้อยละ 4–11 ในส่วนเครื่องปรุงก็พบว่ามีการใช้น้ำส้มสายชูที่ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 26 รวมทั้งยังพบสารพิษอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงและพริกป่นร้อยละ 19 ซึ่งหากสะสมพิษดังกล่าวไว้ในร่างกายเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ โครงการก๋วยเตี๋ยวปลอดภัยนี้ กรมอนามัยจะเฝ้าติดตามพัฒนาและประเมินผลร้านก๋วยเตี๋ยวที่ร่วมโครงการ ซึ่งหากร้านก๋วยเตี๋ยวใดผ่านการประเมินความปลอดภัยจะได้รับป้ายก๋วยเตี๋ยวอนามัย เพื่อการันตีเรื่องความสะอาดปลอดภัยให้กับผู้บริโภค 20 มีนาคม 2552ยอดผ่าตัดไส้ติ่งรพ.ชุมชนลดฮวบ เหตุแพทย์กลัวถูกฟ้องผลสำรวจโรงพยาบาลชุมชนเผยว่า แพทย์กว่าร้อยละ 50 ไม่กล้าผ่าตัดผู้ป่วย เพราะกลัวถูกฟ้อง ขณะที่ยอดผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาลชุมชนในรอบ 4 ปีลดลงถึงร้อยละ 25 โดย นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจากการสำรวจโรงพยาบาลชุมชนจำนวน 187 แห่ง ซึ่งสาเหตุของการลดลงของตัวเลขการผ่าตัดพบว่า โรงพยาบาลชุมชนกว่าครึ่งหรือ 94 แห่งระบุว่า กลัวการฟ้องร้องแล้วแพทย์ถูกดำเนินคดี ส่วนโรงพยาบาลชุมชน 87 แห่งหรือร้อยละ 46 ระบุว่าระยะทางระหว่างโรงพยาบาลชุมชนใกล้กับโรงพยาบาลใหญ่ จึงเลือกที่จะส่งต่อในกรณีที่อาจจะเกิดความเสี่ยงสูง ขณะที่อีก 80 แห่งหรือร้อยละ 42.8 ระบุว่าไม่มีวิสัญญี แพทย์ และเครื่องมือไม่พร้อม ส่วนความเห็นที่ว่าหากมี พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใดร้อยละ 55 ตอบว่า ช่วยได้บ้างดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ขณะที่ร้อยละ 15.5 บอกว่าไม่ช่วยเท่าใดนัก ซึ่งพ.ร.บ.นี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลต้องพิจารณาและผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป 21 มีนาคม 52คนเป็นภูมิแพ้ระวัง อาจตายเพราะแมลงทอดนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยตัวเลขของผู้ป่วยจากการรับประทานแมลงทอดที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 24 ธ.ค. 2550 – 7 ม.ค. 2551 พบว่ามีจำนวนถึง 118 คน จาก 7 จังหวัด คือ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา สุราษฏร์ธานี ชัยนาท และนครราชสีมา ซึ่งอาการที่พบในผู้ป่วยส่วนใหญ่มีทั้ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะรุนแรง พูดไม่ได้ ตัวสั่น เหงื่อออก ใจสั่น บางรายมีอาการชาตามร่างกาย ซึ่งจากการตรวจในห้องปฏิบัติการ ไม่พบสารพิษปนเปื้อนอย่างยากำจัดศัตรูพืชหรือสารอันตรายใดๆ ในตัวอย่างของแมลงทั้งที่ทอดและยังไม่ได้ทอด ใบเตย น้ำมันที่ใช้ทอดแมลง และอาเจียนของผู้ป่วย แต่ตรวจพบสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ตกค้างอยู่ โดยพบมากที่สุดในดักแด้หนอนไหมทอด ที่เก็บตัวอย่างจาก จ.สุราษฏร์ธานี ตรวจพบสารฮีสตามีน 875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ปริมาณฮีสตามีนในอาหารของไทยกำหนดไว้ให้มีได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเสริมว่า อาการหลังได้รับสารฮีสตามีนจะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป แต่ในกลุ่มที่มีประวัติภูมิแพ้หรือหอบหืด จะตอบสนองได้เร็วกว่ากลุ่มบุคคลอื่น ซึ่งอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากการตรวจสอบแหล่งที่มาของแมลงทอดที่มีรายงานผู้ป่วยจาก 7 จังหวัด พบรับดักแด้หนอนไหมมาจากแหล่งเดียวกันคือ ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว คาดว่ากระบวนการเก็บรักษาไม่ดีพอกว่าจะถึงมือแม่ค้ารายย่อย ทำให้เกิดการสะสมของสารฮิสตามีนที่ก่อภาวะเจ็บป่วยให้กับผู้บริโภค พบสารก่อมะเร็งในแก๊สโซฮอล์นางเดซี่ หมอกน้อย นักวิจัยด้านอากาศจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องปริมาณการแพร่กระจายของสารประกอบคาร์บอนิลในอากาศในเขตกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2549 – 2551 หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซล ว่าจากผลการวิจัยพบ อากาศในกรุงเทพฯ มีปริมาณสารพิษกลุ่มคาร์บอนิลซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น การวิจัยครั้งนี้เก็บตัวอย่างสารกลุ่มคาร์บอนิลในอากาศครอบคลุมพื้นที่ริมถนน 49 จุดในเขตกรุงเทพฯ ที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งตรวจพบค่าความเข้มข้นของสารกลุ่มคาร์บอนิล 10 ชนิด โดยเฉพาะในถนนที่มีการจราจรหนาแน่นอย่าง ริมถนนอนุสาวรีย์ชัย พระราม 5 รัชดาภิเษก สุขุมวิท และดอนเมือง มีค่าความเข้มข้นของสารฟอร์มัลดีไฮด์ 10.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินเกณฑ์ระดับความเสี่ยงของอเมริกาถึง 5 เท่า ส่วนสารที่พบอีกตัวคืออะเซทัลดีไฮด์มีปริมาณความเข้มข้นอยู่ในช่วง 3.31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในอเมริกากำหนดมาตรฐานไว้ที่ 2.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้แก๊สโซฮอล์มีสารพิษดังกล่าวเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ออกมาแล้วเจอกับแสงในบรรยากาศจะส่งผลให้มลพิษตัวอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสารฟอร์มัลดีไฮด์และอะเซทัลดีไฮด์ยังไม่มีการกำหนดมาตราฐานในเมืองไทย อย่างไรก็ตามหลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ทางด้านผู้เกี่ยวข้องอย่างนายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลว่า “ยอมรับว่าแก๊สโซฮอล์ มีผลเกี่ยวเนื่องกับการเกิดสารประกอบคาร์บอนิล หากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดไอเสียที่มีสารดังกล่าวปะปนกับไอเสีย อาจมากหรือน้อยแล้วแต่สภาพของเครื่องยนต์ ทั้งนี้หากรถยนต์เก่าดูแลไม่ดีมีโอกาสเกิดไอเสียที่มีสารพิษปะปนมาก และไม่ว่ารถชนิดนั้นจะใช้น้ำมันชนิดใดก็ตามจะมีไอเสียที่เป็นสารพิษออกมา เช่น จากน้ำมันดีเซลมีสารกำมะถันมาก น้ำมันเบนซินมีสารอะโรมาติกส์ และสารเบนซีน ที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง เป็นอันตรายมากกว่าสารกลุ่มคาร์บอนิล หากดูในภาพรวมแล้วแก๊สโซฮอล์จะเกิดมลพิษน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน” ไม่อยากให้ผู้ที่ได้รับข่าวสารกลัวว่าใช้แก๊สโซฮอล์แล้วจะเป็นมะเร็ง ในตัวของน้ำมันเองไม่มีสารที่ก่อมะเร็ง แต่หากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ใช้รถควรหมั่นนำรถตรวจสภาพ และจูนอัพเครื่องยนต์เสมอ เพราะรถยนต์เมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่งชิ้นส่วนจะผิดเพี้ยนไปจากเดิม แต่นิสัยคนไทยไม่เสียไม่ซ่อมจึงทำให้มลพิษเพิ่มขึ้น และไปโทษว่าแก๊สโซฮอล์ผิดอีกแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อย่าโยนภาระค่าไฟให้ประชาชนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคัดค้าน กกพ. ขึ้นค่าผ่านท่อ หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซให้กับ ปตท.จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 19.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.02 บาท ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2552 นั้น ด้านเครือข่ายผู้บริโภคที่มองเห็นถึงความไม่โปร่งใสและไม่เหมาะสมในเรื่องผลประโยชน์ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะได้รับ พร้อมๆ กับที่จะผลักภาระมาให้ประชาชน จึงรวมพลังกันออกมาคัดค้านทันที นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องอัตราค่าผ่านท่อก๊าซนี้ว่า ความจริงราคาที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้ก็ถือว่าไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดให้ค่าผ่านท่อเป็นค่าคงที่ตลอดอายุโครงการ ทำให้ในแต่ละปี ปตท. ได้กำไรส่วนเกินไปปีละกว่า 2,500 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้มีการประมาณการตัวเลขการใช้ก๊าซที่น้อยกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาค่าผ่านท่อสูงเกินจริง ซึ่งหากจะมีปรับราคาจริงควรเป็นการปรับลดมากกว่า ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลักสองข้อคือ ปตท.คิดอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return of Equality : ROE)สูงกว่าค่ามาตรฐาน คือคิดถึงร้อยละ 18 ทั้งที่ควรจะคิดเพียงเป็นร้อยละ 14 เท่านั้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 40 ปีไว้ในอัตราคงที่สูงถึงร้อยละ 10.5 ทั้งที่ความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยมีการปรับลดตลอดเวลา การคิดค่าผ่านท่ออยู่บนฐานอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงขนาดนี้ ทำให้ปตท.ได้ผลประโยชน์ไปมาก เลขาธิการ มพบ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการคำนวณกันไว้ว่า หากมีการปรับลดค่า ROE เป็นร้อยละ 14 และอัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นคือร้อยละ 5.75 มูลค่าก๊าซจะลดลงมากถึง 3,800 ล้านบาท และค่าบริการต้นทุนคงที่ (Demand Charge) ซึ่งเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของราคาค่าส่งท่อก๊าซจะสามารถลดลงจากเดิม 19.40 บาทเป็น 13.13 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น นอกจากนี้ ปตท.ยังมีความผิดเรื่อง ไม่คืนทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและนับเป็นการนำทรัพย์สินประชาชนมาหากำไรกับประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนที่สุดถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หากการปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านท่อก๊าซมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน คือค่าเอฟที (Ft) จะเพิ่มขึ้นทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคจะเข้ายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองและจะขอให้มีการคุ้มครองให้มีการระงับการอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซดังกล่าวของ กกพ.เพราะถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคและจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 กระแสในประเทศ

สุมาลี พะสิม ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 255211 ก.พ. 52 5 ปีผ่านไป ยังพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพียบ นิยายเรื่องยาวของเครื่องสำอางผิดกฎหมายยังไม่จบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยังตรวจวิเคราะห์พบเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพียบตลอดช่วงปี 2547-2551 โดยสารห้ามใช้ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ ปรอทแอมโมเนีย รองลงมา คือ สารไฮโดรควิโนนรวมกับกรดเรทิโนอิก และพบตัวอย่างที่มีสารไฮโดรควิโนนหรือพบกรดเรทิโนอิกอย่างเดียว รองลงมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีกฎหมายใหม่ด้านเครื่องสำอางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเครื่องสำอางอาเซียน กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องแจ้งและจัดทำแฟ้มข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขหวัด (สสจ.) ก่อนผลิตหรือนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้การติดตาม กำกับดูแลและแก้ปัญหาการใช้สารห้ามใช้ในเครื่องสำอางได้อย่างครอบคลุม สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการชุดทดสอบเครื่องสำอางนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 99499, 99926 หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ รุมค้านประกาศสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายจากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ประกอบด้วย สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และ หนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข และมี ผลบังคับใช้แล้วนั้น นพ.ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดี กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า การบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาลแน่นอน เพราะพืชทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมานาน หากมีการกำหนดเป็นวัตถุอันตรายแล้ว ถ้ามีครอบครอง หรือครอบครองไว้เพื่อจำหน่ายจะต้องมีการจดแจ้งหรือขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนนี้จะมีผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ปลูกหรือขายพืชเหล่านี้ ตามตลาดสดต่างๆ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น วิสาหกิจชุมชน ที่นำพืชสมุนไพรไทยมาดัดแปลงทำเป็นยาสมุนไพรด้วย 13 ก.พ. 2552 ก.สาธารณสุขขอให้ถอนประกาศพืช 13 ชนิดออกจากวัตถุอันตรายจากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้สมุนไพรไทย 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีตัวแทนจากหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมมากมายนั้น ต่างก็เห็นด้วยให้ถอนสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดออกจากการเป็นวัตถุอันตราย นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า “จากการรับฟังความเห็นต่างเห็นตรงกันว่า ควรมีการถอนประกาศที่ให้สมุนไพรไทย 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากมีผลกระทบ โดยเฉพาะการสร้างความกังวลในการใช้และบริโภคสมุนไพรดังกล่าว ทั้งในรูปแบบอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แม้ว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำไปเพื่อเจตนาคุ้มครองผู้บริโภค แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า น่าจะใช้วิธีอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า เช่น การส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้สมุนไพรในการควบคุมแมลงและศัตรูพืช การจัดตั้งกองทุนที่จัดเก็บภาษีจากการนำเข้าสารฆ่าแมลงเพื่อนำมาใช้ในการลดผลกระทบจากการใช้สารยาฆ่าแมลงรวมทั้งดูแลสุขภาพประชาชน ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะสรุปความเห็นจากที่ประชุมนี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมในการหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป” ขณะที่ นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ทางเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายเกษตรกรรม จะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีนางรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. เป็นประธาน เพื่อให้มีการตรวจสอบวิธีการกระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศฉบับนี้ว่ามีความไม่ชอบพากลหรือไม่ เพราะสันนิษฐานว่าจะมีผลประโยชน์จากบริษัทผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาชี้แจงเหตุผลโดยระบุว่าเกิดผิดพลาดนั้นไม่เพียงพอ ควรจะมีหน่วยงานอื่นเข้าไปตรวจสอบและหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศพืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ขอปรับเนื้อหาใหม่ รับทำสังคมสับสน ยันหวังดี ป้องกันเกษตรกรถูกหลอกใช้สารสกัดปราบศัตรูพืชไม่มีคุณภาพ ส.ส.ปชป.เรียกร้องให้ยกเลิก เผย"อภิสิทธิ์-สุเทพ"หนุนให้ทบทวน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงว่า “ผมจะทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้ถอนประกาศฉบับนี้ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อความบางส่วน อาทิ เพิ่มเติมชื่อสารนำหน้าชื่อพืชสมุนไพร พร้อมระบุว่าใช้สำหรับการผลิตสารปราบศัตรูพืชไว้ด้านหลัง เพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และจะถอนร่างประกาศของกรมฯ ที่ระบุถึงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกันด้วย" 16 ก.พ. 52สปสช.เสนอ ครม.ขยายสิทธิครอบคลุมคนไร้สัญชาตินพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ประชาชนประชาชนที่เกิดในประเทศไทยแต่ยังไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้และอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานซึ่งมีอยู่ประมาณ 370,000 คน ให้มีหลักประกันสุขภาพ โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในหลักการให้ใช้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวครอบคลุมบุคคลกลุ่มดังกล่าว โดยเริ่มในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับ ปี 2552 ในอัตรา 2,202 บาทต่อประชากร ซึ่งเป็นไปตามตามจำนวนที่มีการขึ้นทะเบียนจริง ที่ผ่านมา รพ.ในถิ่นทุรกันดารโดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน ต้องรับภาระด้านงบประมาณคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตามมนุษยธรรม โดยก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพยังพอมีงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมาดูแล แต่ปัจจุบันสิทธิด้านการรักษาครอบคลุมคนไทยทุกคน คนที่รอการพิสูจน์สัญชาติจึงไม่มีงบใดๆ มาช่วยเหลือ และหากไม่ดูแลคนกลุ่มนี้ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด หรือเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ทำให้สถานพยาบาลต้องรับภาระหนักขึ้นในการดูแล 26 ก.พ.52 เครื่องสำอางทำให้ขาวไม่มีสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษเรื่อง “ขาวอันตราย ...ขาวอย่างปลอดภัย” โดย รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตผู้ขายที่นำผงไข่มุก ไข่ปลาคาร์เวีย หรือน้ำลายหอยทาก ทั้งที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและใช้โดยตรง โดยอ้างว่าเพื่อบำรุงผิวพรรณนั้น ขอยืนยันว่า ทางการแพทย์ ไม่พบว่ามีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณแต่อย่างใด รวมถึงสารกลูตาไธโอนที่เป็นยารักษาโรคมะเร็ง แต่นิยมนำมาทำให้ผิวขาว ก็ยังไม่พบว่ามีการวิจัยทางการแพทย์ในมนุษย์ยืนยันสรรพคุณดังกล่าวเช่นกัน จึงไม่สามารถตอบได้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ ดีหรือไม่ดี ในส่วนของทองคำ พบว่า มีงานวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการสมานผิว ลดการอักเสบของผิวหนัง รวมถึงรักษาโรคปวดข้อ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ อนุภาพของเงินกับทองที่มีขนาดเล็กมาก อาจเข้าไปสะสมตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆของร่างกายทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ส่วนที่มีการโฆษณามากๆ อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ โดยมีครีมที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์สำหรับทา เพื่อให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะสเต็มเซลล์จะใช้วิธีฉีดเท่านั้น อีกทั้งการใช้สเต็มเซลล์ทางการแพทย์รับรองแต่เพียงการใช้เพื่อการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ดังนั้นเครื่องสำอางที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์นั้นไม่เป็นความจริง อย่างมากก็แค่มีสารในน้ำเลี้ยงสเต็มเซลล์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องสเต็มเซลล์อาจเป็นคำตอบของการรักษาในอนาคต วิธีที่ทำให้ผิวขาวทำได้แต่ก็คงไม่ขาวเกินกรรมพันธุ์ของแต่ละคน วิธีการคือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นการกางร่ม ใส่แว่นดำ รวมถึงการใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟเหมาะสม และมีการใช้ที่ถูกวิธี ผู้บริโภคยื่น 12,000 รายชื่อ เสนอ กม.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อประธานรัฐสภา19 กุมภาพันธ์ 2552 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคฟันธง...ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลไม่ อิสระจริง เดินหน้า ยื่น 12,000 รายชื่อเสนอกฎหมายฉบับของประชาชนต่อประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำไปพิจารณาผลักดันให้เป็นกฎหมายของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จากภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กลุ่มคนคอนโด ชมรมเพื่อนโรคไต ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค รวมจำนวน 120 คน ได้เดินทางมาเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อยื่นรายชื่อของประชาชนจำนวน 12,208 รายชื่อเพื่อเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ.....ฉบับของภาคประชาชนเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ฉบับปี 2540 จนถึงฉบับปัจจุบันในมาตรา 61 ที่ได้บัญญัติให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้มี (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลอยู่อีก 1 ฉบับ ซึ่งนำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้จัดประชุมพิจารณาสาระกฎหมายของรัฐบาลเปรียบเทียบกับร่างฉบับประชาชนไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างกัน เช่น ร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ได้ให้คณะกรรมการองค์การอิสระทำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลา แต่เน้นความสำคัญไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานที่จะเป็นผู้ชงเรื่องส่งขึ้นไปให้ คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ไม่ต่างจากโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังไม่สามารถทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปัญหาที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของภาคประชาชนนั้นจะให้ความสำคัญกับคณะกรรมการองค์การอิสระฯ โดยให้ทำงานในลักษณะเต็มเวลา และให้มีเลขาธิการสำนักงาน ทำหน้าที่เป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการและบริหารกิจการในสำนักงานเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในฉบับของภาคประชาชนนั้นจะเขียนอย่างชัดเจน ที่จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคขึ้นอย่างน้อยในทุกจังหวัด และที่สำคัญคือการสนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการฟ้องแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งร่างของรัฐบาลไม่มีในส่วนนี้ หรือการไม่เขียนอย่างชัดเจนว่า งบที่รัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนเพื่อการดำเนินการขององค์การอิสระนั้นจะเป็นจำนวนเท่าไร แต่กลับปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้องค์การอิสระผู้บริโภคไม่อิสระอย่างแท้จริง เพราะถูกควบคุมกำกับด้วยงบประมาณ ในขณะที่ร่างกฎหมายของประชาชนนั้นจะกำหนดชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศต่อปี หรือตกปีละ 300-400 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการกระจายงบของรัฐบาลตามโครงการต่างๆ ในปัจจุบันนอกจากนั้นนางสาวสารี คาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคมีที่ปรึกษา เป็นจุดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ มีการทำงานเชิงรุกไม่ตามแก้ปัญหา เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคในการให้ความเห็นต่อการดำเนินการทั้งที่เป็นประโยชน์และเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค อย่างเช่น การออกประกาศวัตถุอันตรายที่เป็นสมุนไพร 13 รายการ การออกกฎกระทรวงยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตและใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพไม่เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคว่าคิดเห็นอย่างไรไม่น่าจะกระทำได้“พวกเราเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลถูกนำมาบังคับใช้ในอนาคต เราก็อาจเห็นคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภค เป็นเพียงแค่คณะอนุกรรมการชุดหนึ่งเท่านั้นของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงได้ช่วยกันรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อ เสนอกฎหมายที่เป็นร่างของประชาชน โดยสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 12,208 รายชื่อ ซึ่งได้ยื่นให้ท่านประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกที่ดูแลรับผิดชอบ งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้นำไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายต่อไป และหวังว่าร่างกฎหมายองค์การอิสระของภาคประชาชนจะถูกบังคับใช้ในรัฐบาลสมัย นี้” นางสาวสารีกล่าว เครือข่ายผู้บริโภค ร้อง กทช.สะสางปัญหา 107 บาท12 กุมภาพันธ์ 2552 เครือข่ายผู้บริโภค 7 ภูมิภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือต่อ กทช.ให้ออกคำสั่งยกเลิกเงื่อนไขวันหมดอายุบัตรเติมเงิน และขอให้บังคับไม่ให้เรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท จี้ให้ยกเลิกใบอนุญาตผู้ประการที่เรียกเก็บ 107 บาทด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกว่า 200 คน นำโดยนางปฐมมน กันหา เครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง เดินขบวนจาก สถานีรถไฟฟ้า อารีย์ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เพื่อ ยื่นหนังสือเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยยกเลิกบทเฉพาะกาล ข้อ 36 วรรคสุดท้าย เพราะเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าเป็นช่องโหว่ที่ถูกนำมาอ้างว่าสัญญาใหญ่ยัง อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กทช.พร้อมทั้งขอให้ทาง กทช.มีคำสั่งที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการยกเลิกเงื่อนไขวันหมดอายุของระบบบัตรเติมเงิน และยกเลิกการเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณ ส่วนผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค และละเมิดสิทธิโดยการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการต่อบุคคลอื่น ขอให้ยกเลิกใบอนุญาต หรือกำหนดมาตรการการลงโทษขั้นเด็ดขาด รวมทั้งขอให้ กทช.เร่งดำเนินการคงสิทธิเลขหมาย โดยควบคุมการเรียกเก็บค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศกองบรรณาธิการ ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 25523 มกราคม 2552กรมวิทย์มุ่งธนาคารสเต็มเซลล์ ปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกรามารุ่ง นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้การนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้รักษาโรคยังเป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกยังไม่ได้รับการยืนยันมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ต้องยอมรับว่า เป็นการศึกษาวิจัยที่ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี โดยที่ผ่านมากรมวิทย์ฯ ได้ทำโครงการความร่วมมือกับสถานพยาบาลในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคแล้ว 2 โครงการ โดยประสบความสำเร็จ 1 โครงการ คือความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกผ่านหลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อทดแทนกล้ามเนื้อและหลอดเลือดฝอยที่ตายจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานบกพร่องในผู้ป่วยเด็กจำนวน 2 ราย ส่วนอีก 1 โครงการ คือ ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเลิดสิน ศึกษาการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูกเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเทียม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ในอนาคต กรมวิทย์ฯ จะพัฒนาการเพาะเซลล์ต้นกำเนิดใช้รักษาโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคเลือดต่างๆ ธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว เบาหวาน กระจกตา เป็นต้น และอาจจะพัฒนาเป็นธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อสาธารณประโยชน์เช่นเดียวกับสภากาชาดไทย 6 มกราคม 2552แพทย์เตือนพ่อแม่ซื้อของเล่น ระวังสารปนเปื้อนทำลายลูกนพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ในปี 2551 ได้เก็บตัวอย่างของเล่นในศูนย์พัฒนาเด็ก กทม. 23 แห่ง ตรวจหาสารตะกั่ว พบว่าของเล่นเด็กจาก 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน คือ 600 มล./กก. นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างของเล่นที่มีการวางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ 26 แห่ง พบ 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน และจากการซื้อของเล่นจากห้างและตลาดทั่วไปในกรุงเทพฯ พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี 126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพ 50 ชิ้น พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 9 ชิ้น สภาพปัญหาที่พบคือ มีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบล ซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาทการได้ยิน มีเส้นสายยาวเกินกว่า 30 ซม. ซึ่งเสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก มีช่องรูที่กว้างระหว่าง 5-12 มล. เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู และมีขอบแหลมคมที่ทำอันตรายเด็กได้ และจากผลการตรวจคุณสมบัติทางเคมีของของเล่น 80 ชิ้น พบว่ามีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน 6 ชิ้น ซึ่งมีผลให้ไอคิวต่ำ "พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้เด็ก ที่มีตรา มอก.รับรอง แม้จะไม่ปลอดภัย 100% แต่ก็พอที่จะบรรเทาอันตรายได้ในระดับหนึ่ง" 9 มกราคม 2552วิจัยพบเด็กโตขึ้นไอคิวยิ่งต่ำลงพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเยาวชนไทย เนื่องจากในโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เก็บข้อมูลทุกปีจากพื้นที่ตัวอย่างนำร่องจำนวน 1,500 คน 15 จังหวัดมาศึกษาพบว่า ต้นทุนของเด็กไทยในช่วงทารกหรือแรกเกิดอยู่ในระดับสากล คือมีไอคิวประมาณ 100 แต่เมื่อมาอยู่ระดับประถมศึกษาประมาณ 9-10 ขวบ กลับมีระดับไอคิวเหลือเพียง 97-98 แต่เมื่อโตมาในช่วงวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษาจะมีค่าไอคิวเฉลี่ยเหลือเพียง 90 ต้นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยแวดล้อมใดที่มีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็กไทย เพราะจากระดับไอคิวของเด็กแรกเกิดไทยแสดงให้เห็นว่าเรื่องของพันธุกรรมไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเกี่ยวกับการพัฒนาไอคิวเด็ก"วิธีที่จะกระตุ้นให้พัฒนาการของลูกดีคือการที่พ่อแม่เอาใจใส่สนใจในการตั้งคำถามของลูก ไม่ด่าว่า ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม เอาใจใส่ต่ออาหารและการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ รวมถึงได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกในช่วงวันหยุด เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการเล่นกับลูกให้เหมาะตามวัยจะช่วยให้พ่อแม่ได้รู้จักลูกตัวเองดีขึ้นด้วย อาทิ เกมหมากรุก เกมต่อคำภาษาอังกฤษ จิ๊กซอว์ เกมคอมพิวเตอร์พวกเกมซิมที่เป็นการสร้างเมืองวางแผนต่างๆ ซึ่งระหว่างการเล่นพ่อแม่สามารถสอนลูกไปพร้อมกันได้ ซึ่งเด็กจะซึมซับและนำมาใช้ในชีวิตจริงได้" อย.ชี้อันตราย"คุกกี้เสริมอึ๋ม" ใช้กวาวเครือขาวผิดวิธีเจอดีอย. เตือนอันตรายคุกกี้ผสมกวาวเครือขาว ชื่อผลิตภัณฑ์ F Cup Cookie ขายเกลื่อนเน็ต โอ้อวดสรรพคุณเพิ่มอึ๋ม นอกจากเสียเงินมากแล้วอาจเจออันตรายจากผลข้างเคียงของการใช้กวาวเครือขาวโดยผิดวิธี เนื่องจากจะรบกวนระบบฮอร์โมนเพศ อีกทั้งเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และกวาวเครือเป็นพืชสมุนไพรควบคุมที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่มีการขออนุญาตนำเข้ากับ อย. เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด ซึ่งในกรณีของผู้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากจำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์คุกกี้ดังกล่าว และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่คาดว่าจะผิดกฎหมาย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 29 มกราคม 2552หมอเตือนภัยฉีด"คาร์บ็อกซี่" หลุมพรางของคนคลั่ง"ผอม"นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม กล่าวถึงกระแสความนิยมของคาร์บ็อกซี่ (Carboxy) ว่า มีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลท์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ไม่รู้ว่าคาร์บ็อกซี่กำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ การใช้ก๊าซคาร์บอนฉีดยังเป็นการทดลอง ยังไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย รศ.นพ.นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการทำคาร์บ็อกซี่ว่า ฝรั่งเศส คือประเทศแรกที่นำมาใช้ และขยายความนิยมสู่อิตาลี ในปี 2533 จากนั้นได้รับการยอมรับและนิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียและยุโรป คาร์บ็อกซี่ เป็นนวัตกรรมความงามเพื่อใช้ลดไขมันเฉพาะที่ด้วยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี สลายตัวได้เร็ว เมื่อฉีดเข้าไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนังจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือดและทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป เช่น หน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง ต้นขา ฯลฯ ทั้งนี้ ในวงการแพทย์มีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน ถ้าใช้เหมาะสมไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดคาร์บ็อกซี่ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ปลอดภัยนั้นยังมีน้อย เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซี่ได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถถึงเวลาต้องยกเลิก?พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำลังมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า การรักษาพยาบาลที่ได้รับสิทธิคุ้มครองจากบริษัทประกันในช่วงแรก เมื่อรักษาหมดวงเงินประกัน ก็ต้องกลับเข้ามารักษาตามสิทธิของแต่ละบุคคล ซึ่งถือว่าไม่ได้รับการดูแลจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่อง "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในบริบทของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ของ นพ.ดร.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียรและคณะ ระบุว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคบังคับมีหลักไม่กำไร ไม่ขาดทุน แต่ผลกำไรของบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้จากประกันภัยประเภทนี้กลับมีสูงถึง 3.3 พันล้านบาทใน 4 ปี บวกกับปัจจุบันคนไทยมีหลักประกันสุขภาพทุกคน พ.ร.บ.นี้ไม่น่าจะมีความจำเป็นอีกต่อไป จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการปรับปรุงระบบเพื่อให้คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประกัน" นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวคิดในการเปลี่ยนระบบ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเพราะขณะนี้กองทุนผู้ประสบภัยจากรถเปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่ออกกฎหมายไว้ให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนเพราะไม่มีกองทุนใดคอยดูแล แต่ขณะนี้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งได้ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรจะให้เวลาในการหารือและตัดสินใจ เนื่องจากอาจจะกระทบกระเทือนหลายฝ่าย โดยเฉพาะธุรกิจการประกันภัย “ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาระดมความคิด พูดคุย ศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ปัจจุบันรายละเอียดต่างๆ ในสิทธิการรักษาพยาบาลเปลี่ยนไปมากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ยอมรับว่ามีข้อร้องเรียนเข้ามาเสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าในการจ่ายเงินของบริษัทประกันภัย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นการโยนหินถามทางว่า สังคมจะมีความคิดเห็นอย่างไร ส่วนจะดำเนินการทันทีหรือไม่นั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหลายเรื่องที่ต้องทำขณะนี้ คงจะต้องทำทีละเรื่อง เดือนละเรื่องและแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา" นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ประกันภัยรถยนต์อีก เพราะคนไทยทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับแล้ว หากรัฐบาลนำมาเป็นนโยบายและดำเนินการจริงจัง สปสช.ก็พร้อมดูแลรับผิดชอบผู้ประสบภัยอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ แต่ สปสช.คงไม่เป็นต้นเรื่องในการให้ยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวเอง ซึ่งหากยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว รัฐสามารถจัดเก็บภาษีอื่นทดแทนได้ เช่น การคิดภาษีจากน้ำมันเชื้อเพลิง 1 สตางค์ต่อลิตร หากยานพาหนะเติมน้ำมันเต็มถัง 50 ลิตร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปีจะเสียค่าภาษีเพียง 104 บาทต่อคันต่อปีเท่านั้น ถูกกว่าจ่ายเบี้ยประกันภัยในปัจจุบันหลายเท่า ผู้เสียหาย “ซานติก้า” และนักวิชาการ วอนผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 30 มกราคม 2552 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับกลุ่มแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “ซานติก้า…ปัญหาและทางออกของผู้บริโภค” ขึ้น โดยเชิญผู้เสียหายในเหตุการณ์ และนักวิชาการร่วมหาทางออก นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้เสียหายในเหตุการณ์ ไฟไหม้ร้านซานติก้า เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้ถือหุ้นร้านซานติก้า ได้แก่ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ ตามลำดับ รวมทั้งหมด 31 คน ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้ บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า สาเหตุหลักของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการออกแบบอาคารและการก่อสร้างที่ผิดแบบ หากมีการก่อสร้างที่ถูกต้อง มีระบบดังเพลิงที่ดี เหตุการณ์ร้ายๆ คงจะไม่เกิดขึ้น “การที่ผมออกมาฟ้องเรื่องนี้ เพื่อจะยกระดับมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย และเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตัวผมเอง และอยากจะใช้กฎหมายตัวนี้เป็นบรรทัดฐานให้ผู้บริโภคต่อไป และผมอยากให้ผู้ที่เสียหายต่อเหตุการณ์นี้ ได้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง” นายสันติสุขกล่าวนายชัยรัตน์ แสงอรุณ ตัวแทนจากสภาทนายความ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวขณะนี้ ได้มีผู้ไปขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความจำนวน 18 รายแล้ว สภาทนายความยินดีให้ความช่วยเหลือทุกท่าน“จากการทำงานที่ผ่านมา กรณีเกิดเหตุไฟไหม้เช่นนี้ซึ่งถือว่าเกิดเหตุโดยประมาท ผู้ประกอบการมักจะหลุดจากข้อหา เพราะภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับผู้บริโภค จึงค่อนข้างลำบาก แต่การฟ้องด้วย กม.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้ประกอบการว่า สถานประกอบการถูกต้องอย่างไง ผมคิดว่าข้อเท็จจริงของคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีผู้บริโภคต่อไป และอยากให้ผู้เสียหายออกมาใช้สิทธิของตัวเองและเพื่อให้กฎหมายผู้บริโภคที่ออกมาและมีอยู่ได้ถูกใช้โดยผู้บริโภค” นายชัยรัตน์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 กระแสในประเทศ

17 ตุลาคม 2551 สธ.โวยมีคนแอบใช้นมผลิตอาหารสัตว์ทำ "เบเกอรี่" จี้ คลัง-เกษตรฯ ส่งตรวจซ้ำ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอความร่วมมือให้ด่านศุลกากรทั่วประเทศตรวจสอบการนำเข้านมจากประเทศจีน ที่แจ้งวัตถุประสงค์เพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรแจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ของ อย.ประจำด่านอาหารและยา เพื่อสุ่มตรวจนมที่มีการนำเข้าทุกลอตซ้ำ เนื่องจากพบว่า มีการนำนมดังกล่าวมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์จากนม ที่คนนำมาบริโภค เช่น เบเกอรี่ต่างๆ อย.ได้กำชับเจ้าหน้าที่ประจำด่านอาหารและยาทั่วประเทศ ประสานกับเจ้าหน้าที่ของด่านศุลกากรและด่านปศุสัตว์ เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์จากนมต่างประเทศ โดยเฉพาะของจีนอย่างเข้มงวด และให้รอผลการตรวจหากการปนเปื้อนสารเมลามีนจากกรมวิทย์ฯ ก่อนที่จะนำสินค้าออกจากด่านทั้ง 32 ด่าน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------- 22 ตุลาคม 2551“หยินจี้หวง” ยาสมุนไพรทำเด็กจีนตาย ไม่พบในไทย ข่าวกระทรวงสาธารณสุขจีน สั่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศงดการใช้ยา “หยินจี้หวง” ที่ใช้รักษาโรคตับและโรคดีซ่านในทารก ซึ่งมีส่วนประกอบของสมุนไพร ดอกพุด และต้นสายน้ำผึ้ง ผลิตโดยบริษัท ไทฮั่ง ฟาร์มาซูติคอล เนื่องจากทำให้ทารกเสียชีวิตแล้ว 1 ราย และป่วยอีก 3 รายนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยได้เร่งตรวจสอบเป็นการด่วนแล้วพบว่า ไม่มียาดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย และไม่มีการผลิตหรือนำเข้ายาสมุนไพรจีน ที่มีส่วนประกอบของดอกพุดและต้นสายน้ำผึ้งในตำรับอื่นเข้าในประเทศไทยอีกด้วย ขอให้ประชาชนไทยมั่นใจได้ “สำหรับประชาชนที่นิยมใช้สมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วย แนะนำให้ซื้อจากร้านขายยาสมุนไพรที่มีใบอนุญาตถูกต้อง ถ้าเป็นยาแผนโบราณหรือยาสำเร็จรูป ต้องสังเกตว่ามีเลขทะเบียนตำรับยา หากพบข้อน่าสงสัยหรือไม่มั่นใจว่าเป็นยาสมุนไพรที่ปลอดภัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อ อย.จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบต่อไป” นักโภชนาการหนุนดื่มนมแม่ เลี่ยงเมลามีน นางสุจิต สาลีพัน นักโภชนาการ 8 กรมอนามัย กล่าวว่า การพบการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์นม นมผง อาหาร ขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของนมนั้น อาจทำให้ผู้ปกครองห่วงใยบุตรหลาน และอาจหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือระมัดระวังจนทำให้ร่างกายของเด็กขาดโปรตีนและแคลเซียม ซึ่งความจริงผู้ปกครองควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้มาเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยนมแม่แทน เพราะในน้ำนมแม่มีโปรตีน แร่ธาตุ และสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากกว่านมวัวและนมอื่นๆ ทั้งยังส่งผลให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรค ร่างกายแข็งแรง มีไอคิว อีคิวดี และเป็นการเสริมสร้างใยรักจากแม่สู่ลูกด้วยการสัมผัส ซึ่งเด็กสามารถดื่มนมแม่ได้ถึงอายุ 2 ขวบ และหากแม่ต้องเดินทางไปทำงาน ในปัจจุบันก็มีถุงเก็บน้ำนมที่แม่สามารถปั๊มเก็บไว้ให้ลูกดื่มได้ และยังอาจเสริมด้วยผลไม้บด เช่น กล้วยน้ำว้าบด เป็นต้น 29 ตุลาคม 2551ทั่วโลกร่วมร่างกฎคุมบุหรี่เถื่อน ห้ามดิวตี้ฟรีขายบุหรี่ปลอดภาษี รายงานจากการประชุมของสมาคมวิจัยการเสพติดนิโคตินและยาสูบภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 1 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สมาชิกสมาคม 160 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันหารือในประเด็น การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาบุหรี่เถื่อน โดยห้ามขายบุหรี่ปลอดภาษี โดยเฉพาะในร้านสินค้าปลอดภาษีของสนามบินต่างๆ ที่สามารถขายบุหรี่ได้แต่ต้องเป็นบุหรี่ที่จัดเก็บภาษีแล้วเท่านั้น เนื่องจากช่องทางนี้เป็นสาเหตุสำคัญในการมีบุหรี่เถื่อนเล็ดลอดออกมาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังห้ามโฆษณาขายบุหรี่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มาตรการห้ามโฆษณาบุหรี่ 100% จึงสามารถลดการสูบบุหรี่ได้เต็มที่ โดยเรื่องดังกล่าวนี้ยังจะต้องมีการประชุมอีก 2-3 ครั้ง จึงจะได้ข้อสรุป เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเด็นเหล่านี้บรรจุในกฎหมายของประเทศสมาชิกอนุสัญญาฯ มาก่อน 30 ตุลาคม 2551“อัมมาร” เซ็งนักการเมืองหัวหดไม่เก็บภาษี รพ.เอกชนที่ทุ่มรักษาชาวต่างชาติเต็มที่ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กรณีที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวคิดจะเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผลักดันมาตรการการจัดเก็บภาษีสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการรักษาโรคกับชาวต่างชาตินั้น ตนเองได้เสนอแนวคิดในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมานานแล้ว และสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ 100% ซึ่งในทางปฏิบัติยังไม่มีการจัดเก็บภาษีนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนแนวคิดนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงยังเป็นเรื่องยาก เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญ“แม้ สปสช.จะเล็งเห็นถึงความสำคัญ แต่ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายของภาครัฐได้สำเร็จ เพราะ สปสช.ไม่มีอำนาจเพียงพอ เรื่องนี้จะต้องใช้อำนาจของกระทรวงการคลังหรือรัฐบาล เป็นเจ้าภาพดำเนินการเท่านั้น แต่ขณะนี้เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดเก็บภาษี นักการเมืองก็หัวหด ไม่มีใครใจถึงกล้าทำสักคน ขณะนี้จึงยังคงเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น หากจะนำไปบังคับใช้จริง จะต้องมีการศึกษาผลกระทบทั้งข้อดี เสีย และอัตราการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเพียงพอ” ดร.อัมมาร กล่าว“เมดิเคิลฮับ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แพทย์ในระบบราชการถูกซื้อตัวไปอยู่ภาคเอกชนที่มีรายได้จาการรักษาชาวต่างชาติเป็นมูลค่าที่สูงมาก ซึ่งจากข้อมูลสถานพยาบาลเอกชนกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ที่ให้บริการรักษาชาวต่างชาติเมื่อปี 2550 พบว่า มีชาวต่างชาติมารักษาโรคในประเทศไทย ประมาณ 1.5 ล้านบาท มีรายได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท” ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง หัวหน้าโครงการติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทีดีอาร์ไอ กล่าว กิน “ปลา” ต้านเบาหวาน คนในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น จนต้องรณรงค์เพื่อลดปัญหาดังกล่าวกันขนานใหญ่ ล่าสุดมีการรณรงค์ “กินปลาไร้พุงต้านโรคเบาหวาน” ขึ้นเนื่องใน “วันเบาหวานโลก” 14 พ.ย. 2551 นี้ ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกได้มีการประเมินว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกอย่างน้อย 194 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 300 ล้านคน ในอีก 17 ปีข้างหน้า และจากการสำรวจในไทยที่ผ่านมาพบคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 3 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการชี้ให้เห็นด้วยว่า โรคเบาหวานนั้นมีความอันตรายสูงกว่าโรคเอดส์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึงปีละกว่า 3.2 ล้านคน ส่วนเอดส์นั้นเสียชีวิตเพียง 3 ล้านคนต่อปี “เบาหวานที่พบบ่อย คือ เบาหวานชนิดที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่อ้วน หรือคนอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นคนที่ออกแรง หรือออกกำลังกายน้อยเกินไป อีกทั้งในปัจจุบันนี้ยังพบมากในเด็ก ซึ่งเป็นการกินอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง และวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดปัญหาโรคอ้วนและโรคเบาหวาน คือการหันมาส่งเสริมการกินอาหารแบบไทยโดยการเน้นการบริโภคปลาให้มากขึ้น เพราะปลานั้นเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีราคาถูก ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานได้” พญ.ชนิกาอธิบายด้าน นพ.ฆนัท ครุธกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเสริมว่า ไม่ว่าจะเป็นปลาน้ำจืด หรือปลาน้ำเค็มก็มีคุณค่าไม่แตกต่างกันมาก แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ปลาน้ำเค็มนั้นจะมีไอโอดีนสูง แต่ก็จะมีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารตกค้างในทะเลอย่าง สารปรอท สารตะกั่ว ดื่ม “กาแฟ” ไม่ทำให้ผอมเพรียว ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลินิกและโรคเบาหวาน กล่าวว่า ขณะนี้มีการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า การดื่มกาแฟแล้วจะทำให้รูปร่างผอมเพรียว ซึ่งต้องบอกว่าไม่เป็นความจริงทั้งหมด แม้ว่ากาแฟจะมีส่วนต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย แต่หากดื่มเป็นปริมาณมาก โดยหวังว่าจะให้ร่างกายผอม หุ่นดีนั้นอาจเกิดอันตรายกับร่างกายได้ แทนที่จะผอม เพราะกาเฟอีนจะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายทำงานดีขึ้น แต่หากทานมากไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ“เป็นไปไม่ได้ที่กาแฟจะทำให้ลดน้ำหนักได้ เพราะไม่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันเช่นนั้น ทั้งนี้ ถ้าหากกินกาแฟสูตรใดสูตรหนึ่งแล้วสามารถลดน้ำหนักได้จริงคงเป็นการเติมสารอะไรบางอย่างทำให้มีผลต่อร่างกาย อาจเป็นยาลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก นอกจากนี้ หากดื่มกาแฟมากกว่าวัน 2 แก้วต่อวัน ก็อาจมีผลเสียกับร่างกายได้ เพราะหากร่างกายได้รับปริมาณกาเฟอีนเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้” นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการระดับ 9 กรมอนามัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ผู้บริโภคตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ต้านการละเมิดสิทธิของธุรกิจโทรคมนาคม4 พ.ย.51 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคจับมือสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดตัวศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน กรุงเทพมหานคร รวมกว่า 31 ศูนย์ทั่วกรุงเทพฯ พร้อมเดินหน้ารับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมบางรายยังมีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบลูกค้า โดยเฉพาะการกำหนดวันหมดอายุการใช้งานของซิมแบบเติมเงิน รวมทั้งการเก็บค่าต่อสัญญาณใหม่ 107 บาท นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “เราจะหยุดการเอาเปรียบของธุรกิจโทรคมนาคมได้อย่างไร” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการดังกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคในหลายๆ ปัญหาที่พบมาก คือการถูกเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนทั้งที่ไม่ได้เปิดใช้บริการใช้ซิมฟรีที่ได้รับแจกมา การใช้ซิมแบบเติมเงินแต่ถูกกำหนดวันหมดอายุการใช้งานต้องเติมเงินเพิ่มทั้งๆ ที่มีเงินเหลืออยู่ อีกปัญหาที่มีการร้องเรียนมาโดยตลอดคือ กรณีลูกค้าขอเปิดใช้งานโทรศัพท์หลังโดนระงับสัญญาณเพราะค้างชำระค่าบริการ แทนที่ผู้ให้บริการจะคิดค่าปรับตามอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดแต่กลับใช้วิธีเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณใหม่ ในอัตรา 107 บาทตายตัว และบางเจ้าก็เรียกเก็บในอัตรา 214 บาท ซึ่งเป็นการขัดกับข้อกำหนดในเรื่องของค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมตามพระราชบัญญัติการประกบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่ห้ามไม่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการนอกเหนือหรือเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) กำหนด แต่ในทางปฏิบัติยังมีการละเมิดสิทธิในเรื่องนี้อยู่ แต่เมื่อลูกค้าร้องเรียนหรือขอให้มีการยกเว้นก็จะมีการคืนเงินในส่วนนี้ให้ และเป็นการให้เฉพาะรายไม่ใช่ทุกรายเสมอไป “ในขณะนี้แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีหน้าที่เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและห้ามคิดค่าโทรในการร้องเรียน แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบอย่างเต็มที่จากผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ จึงถือเป็นหน้าที่ของ สบท. ที่นอกจากจะมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของตนเองแล้ว ยังจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนรวมตัวกันเพื่อปกป้องพิทักษ์สิทธิของตนเอง การจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิภาคประชาชนจะช่วยทำให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักในสิทธิของตนเองได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า จากปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเร่งให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้บริโภคเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดตั้ง “ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนในกิจการโทรคมนาคม” ขึ้น โดยจะเริ่มต้นในเขต กรุงเทพมหานครเป็นลำดับแรก โดยจะมีทั้งหมด 31 ศูนย์ มีพื้นที่ให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกเขตของกรุงเทพมหานคร โดยมีศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นองค์กรประสานงานกลาง โดยปัญหาเร่งด่วนที่วางเป้าว่าจะต้องมีข้อยุติภายในปีนี้คือ การกำหนดวันหมดอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน และการคิดค่าต่อสัญญาณโทรศัพท์ใหม่ที่ไม่ใช่ลักษณะของการคิดค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องทำไม่ได้กับผู้บริโภคทุกรายไม่ใช่รายที่มีการร้องเรียนเข้ามาเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >