โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากบทความฉบับที่แล้ว นำเสนอปัญหาของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่มีความรู้สึกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ มือถือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน มีอายุการใช้งานที่สั้นมากจนผิดปกติ บางครั้งการชำรุดบกพร่องของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กล่าวมานั้นยังพอใช้งานได้ เพียงแต่ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์บางชิ้นชำรุดเสียหาย ต้องการแค่เปลี่ยนอะไหล่ แต่พอติดต่อศูนย์บริการหลังการขาย ก็ประสบปัญหาอะไหล่ไม่มี หรือค่าแรงในการซ่อมแพงกว่าการซื้ออุปกรณ์เครื่องใหม่ ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นองค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐของเยอรมนีที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่างมีความกังวลกับการที่อายุการใช้งานเฉลี่ยของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสั้นลง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียและสิ้นเปลืองงบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอิเลคทรอนิกส์ตามมาอีกด้วยสำหรับบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการทางสังคม ที่เข้ามาช่วยจัดการเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดมาจาก การชำรุดบกพร่องของโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟนก่อนอายุอันสมควรRepair Café Repair Café เป็นการรวมกลุ่มของผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อมและต้องการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ เนื่องจากว่า การซ่อมสมาร์ตโฟนในเยอรมนีมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะซ่อมเล็กหรือซ่อมใหญ่ เนื่องจากค่าแรงของช่างซ่อมนั้นมีราคาสูงตามมาตรฐานช่างฝีมือในประเทศที่พัฒนาแล้ว การรวมกลุ่มในรูปแบบ repair café จึงเป็นการนัดพบปะกันของผู้ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มคนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการช่วยเหลือกัน เพื่อให้คนในกลุ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในกรณีที่สมาร์ตโฟนมีปัญหา โดยในกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นช่างซ่อมมืออาชีพมาสอน และสนับสนุนทางด้านทักษะและความรู้ ตลอดจนการช่วยหาอะไหล่ ในรูปแบบอาสาสมัคร และหากการซ่อมไม่ประสบความสำเร็จทาง repair café ก็ไม่ได้รับประกันผล เนื่องจากการให้ช่างซ่อมมืออาชีพตามร้านหรือตามศูนย์ซ่อมของสมาร์ตโฟนนั้นๆ บางครั้งก็ไม่ได้ดีไปกว่าการซ่อมเองในรูปแบบ repair café ตัวอย่างการซ่อมเองตามกลุ่ม repair café ที่ผู้บริโภคสามารถซ่อมได้เอง เช่น การเปลี่ยนหน้าจอที่แตกหักชำรุด บางครั้งอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือการซ่อม คือ นักศึกษาตามมหาวิทยาลัย การซ่อมสมาร์ตโฟนยิ่งรุ่นใหม่ๆ ก็จะยิ่งซ่อมเองได้ยากกว่า การที่มาพบปะกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาสาสมัคร จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่าการซ่อมด้วยตัวเองเพียงคนเดียว สำหรับเวลาที่ใช้ในการซ่อมขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ของอาสาสมัครทางเทคนิค จากการสำรวจข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า กรณีตัวอย่างการซ่อม หน้าจอสมาร์ตโฟน ราคาซ่อมที่ศูนย์จะตกประมาณ 166 ยูโร ซึ่งราคานี้รวมค่าแรงและค่าอะไหล่แล้ว แต่ลูกค้าต้องรอนานถึง 10 วัน ในขณะที่การซ่อมตาม repair café จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และราคาค่าซ่อมไม่คิด แต่คิดค่าอะไหล่ 100 ยูโร และค่ากาแฟ อีก 10 ยูโร รวมเป็น 110 ยูโร สามารถประหยัดเงินได้ 56 ยูโร แต่ประหยัดเวลาได้ถึง 10 วันรูปแบบการจัดการทางสังคมแบบนี้ถือได้ว่า เป็นการจัดการเรื่องขยะอิเลคทรอนิกส์ที่ทำให้เกิดความยั่งยืน และทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวม และผู้บริโภคที่สามารถจัดการซ่อมแซมสมาร์ตโฟนของตัวเองได้ ก็ย่อมมีความรู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถของตน และมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ไปพร้อมๆ กันด้วยประเทศแรก ที่ให้กำเนิด repair café คือ ประเทศ เนเธอร์แลนด์ โดยเริ่มในปี 2009 โดยดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในการผลิตและการใช้ทรัพยากรโลก ปัจจุบันมีจำนวน repair café 1,000 แห่ง ใน 25 ประเทศ ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเบอร์ลินมีอัตราการจัด repair café บ่อยครั้งมาก เนื่องจากทางเทศบาลให้การสนับสนุนไม่คิดค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน สมาคมเพื่อการกุศล และศูนย์เยาวชนที่กระจายอยู่ตามชุมชน รูปแบบการจัดการทางสังคมเพื่อสาธารณกุศลลักษณะนี้น่าสนใจมาก ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ น่าที่จะมีรูปแบบการจัดการของสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพลเมืองและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ในการก้าวไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะ(ที่มา: Test ฉบับที่ 6/2016)
สำหรับสมาชิก >ฉันเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าผ่อนอารมณ์จากไอแดดด้านนอก ข้าวของสารพันถูกจัดเรียงบนชั้นไว้อย่างสวยงาม ยั่วความ อยากได้ อยากมี เป็นอย่างดี ของพื้นๆหลายอย่างมักดูดีขึ้นในห้างเสมอ ฉันคิดในใจ พลันที่สายตาเหลือบไปเห็นกองผักหลากชนิดที่ถูกจัดวางอยู่ไม่ไกล ยังไม่ทันที่จะก้าวเข้าไปดูใกล้ๆ ความรู้สึกขัดแย้งในใจก็ปรี่เข้ามาอย่างช่วยไม่ได้ ข่าวหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า ของที่ประทับ”ตราออร์แกนิก” ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง ถูกตรวจพบว่า มีสารปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ผลตรวจสอบคงเป็นที่ผิดหวังของหลายฝ่าย จึงกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงเสียใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ หรือในโลกโซเชียล ฉันนึกกระหยิ่ม และอยากจะพูดดังๆ ว่า “เพิ่งรู้กันหรอกหรือ”จริงๆ แล้วด้วยความที่ฉันเรียนเรื่องอาหาร และผูกพันอยู่กับวงการอาหารมาบ้าง ความเข้าใจที่ว่าความเป็นออร์แกนิกมันเป็นวิถีชีวิต มากกว่าการตีตราด้วยสัญลักษณ์เพียงไม่กี่อย่าง ก็ค่อยๆถูกซึมซับเข้าไปในแก่นความคิด ปรัชญาออร์แกนิกที่ฉันเข้าใจคือ การหวนกลับไปสู่ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมให้มากที่สุด ให้ลองย้อนกลับไปดูว่าคนโบราณเขาปลูกพืชอย่างไร ทำอย่างไรให้ดินสมบูรณ์ในโลกที่สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ยังไม่เป็นที่รู้จัก การหว่านเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศถือว่าเป็นการเพาะปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติล้วนๆ การสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชโดยมีมนุษย์และสรรพสัตว์ในธรรมชาติเป็นผู้ช่วยทีขาดไม่ได้ แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้ให้ผลผลิตมากเท่าการเกษตรในยุคปัจจุบัน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณภาพ และคุณค่าอาหารของพืชผล แต่ในปัจจุบันเมื่อเกษตรกรรมถูกทำให้กลายเป็นอุตสาหรรมกลายๆ เรื่องราวของการปลูก การหว่าน ผู้คนที่ผ่านเข้ามาทำในวงจรการปลูก ก็ค่อยๆหายไป พร้อมๆกับการเข้ามามีส่วนร่วมของพ่อค้าคนกลาง การตัดตอน ต่อ เติม เรื่องราวการผลิตเพื่อเน้นค้ากำไร ทำให้ผู้บริโภคสมัยใหม่เกิดความหวาดระแวง จนต้องหันมาพึ่งพากับสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานออร์แกนิก” แทน กระนั้นก็ตาม มาตรฐานความเป็นออร์แกนิกที่ผู้บริโภคหวังจะพึ่งพา ก็ถูกฉีกออกด้วยกำลังเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมออร์แกนิก ที่กำลังเนื้อหอมในตลาดปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเคยคุยกับคุณลุงฝรั่งคนหนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญ คุณลุงเป็นคนตัวไม่ใหญ่นัก แต่ดูทะมัดทะแมง ลุงแกเล่าว่า แกเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองที่ไม่ได้ไกลออกไปนัก เมื่อฉันถามว่าฟาร์มของลุงปลูกพืชแบบออร์แกนิกมั้ย แกกล่าวว่า“ออร์แกนิกเหรอ มันก็แค่ภาพลักษณ์เท่านั้นแหละ สิ่งที่ผมทำมันยิ่งกว่าออร์แกนิกเสียอีก” คุณลุงกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมให้เหตุผลว่า ผักทุกอย่างที่ปลูกที่ฟาร์มล้วนแล้วแต่ได้รับการดูแลอย่างดีเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว โดยลูกแก แฟนของลูก เพื่อนของลูก มาช่วยกันลงแขก แกไม่สนใจกับมาตรฐานออร์แกนิกที่ถูกกำหนดขึ้น เพราะการขอจดมาตรฐานไม่เพียงแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น(การขอจด USDA Organic ในฟาร์มอย่างแกมีค่าใช้จ่ายปีละเกือบล้านบาทเลยทีเดียว) แต่ยังทำให้ราคาสินค้าของแกสูงขึ้นมากจนคนทั่วไปไม่สามารถซื้อหาได้ นอกจากนี้แกก็ไม่เห็นถึงความสำคัญว่าต้องหาที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าให้ใหญ่โต แกบอกว่า มีกลุ่มคนที่เข้าใจ และเชื่อใจในการปลูกของแกที่คอยอุดหนุนกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แกแนะว่าแกขายของผ่าน Farmers’ Market (ตลาดนัดเกษตรกร) ซึ่งต้องการสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึง CSA (Community Supported Agriculture) ที่คล้ายๆกับเครือข่ายการสนับสนุนการเกษตรที่จะทั้งกลุ่มจะไปเหมาผลิตภัณฑ์ฟาร์มมาทั้งปี โดยที่ทางฟาร์มจะส่งผักผลไม้ที่ได้ตามฤดูกาลไปให้สมาชิกอาทิตย์ละครั้ง ด้วยการสนับสนุนจากชุมชนเช่นนี้ ทำให้ฟาร์มของแกอยู่ได้ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็อยู่อย่างมีความสุข เพราะเหมือนเป็นการเผยแพร่ปรัชญาออร์แกนิกไปในตัวฉันเข้าใจได้ดีว่าในความหมายของคุณลุง Farmers’ Market เป็นอย่างไร มันคือตลาดที่มีกลุ่มเกษตรกรเป็นตัวตั้งตัวตี มักจัดขึ้นบนลานโล่งแจ้งหรือทางข้างถนน ไม่ว่าหน้าฝนหน้าหนาว แดดจะออก หิมะจะตก ทุกวันอาทิตย์ ชาวบ้านร้านช่อง เกษตรกร หรือคนธรรมดา ก็จะมารวมตัวกันในที่ที่นัดไว้แล้วเปิดหลังรถขายของขึ้น เพราะบางคนก็ขนของมาเต็มกระบะ แล้วก็โยนผักผลไม้มาให้คนที่จะมาซื้อได้ชิม ไม่มีการแต่งตัวสวยงามใดๆ จากผู้ขาย ไม่มีการเช็ดพืชผลแบบเช็ดแล้วเช็ดอีก เพราะบางรายก็เพิ่งเด็ด ขุด เอาพืชพันธุ์ของตนเองออกมาเมื่อตอนเช้าของวันนั้นเอง หัวแครอทยังมีคราบดิน ผลไม้ก็จะมีให้ชิมเป็นหย่อมๆ ลูกที่สุกเต็มที่ ดูเหมือนจะเริ่มเน่า เป็นลูกที่หวานที่สุด และก็ราคาถูกที่สุด เพราะต้องรีบขายให้ออก ไม่เพียงแค่พืชผักเท่านั้นยังมีสินค้าอื่นอีกมาก ทั้งแยม โยเกิร์ต ขนมปัง ซึ่งคนที่นำมาขายก็จะมีเต้นท์เป็นของตัวเอง เมื่อคนขาย พบคนซื้อ บทสนทนาที่มาที่ไปของอาหารต่างๆ ก็เกิดขี้นอย่างช่วยไม่ได้ “ผักนั้นเอามาจากไหน ปลูกยังไง เนื้อหมูนี้ออร์แกนิกหรือเปล่า ทำไมถึงออร์แกนิก ทำไมถึงไม่ทำออร์แกนิก ให้อะไรเป็นอาหารไก่ ผลไม้นี้ตอนปลูกใช้อะไรเป็นปุ๋ย เอาไปทำอะไรกินดี ส่วนไหนที่อร่อยที่สุด นมนี้เป็นหางนมหรือไม่ ชีสนี้ใช้นมแพะ หรือนมวัว ขนมปังนี้ใช้แป้งอะไรทำ คนแพ้ Gluten ทานได้มั้ย บลา บลา บลา” บทสนทนาล้วนดeเนินไปอย่างมีอรรถรส ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คำถามมักติดตามมาด้วยคำอธิบายยาวเหยียด พร้อมกับเหตุผลที่ทำให้ฉันสัมผัสได้ดีถึงหยาดเหงื่อ แรงงาน ความภูมิใจ และความรู้สึกผูกพัน ที่คนขาย มีต่อผลผลิตของเขาเมื่อฉันก็ย้อนกลับมามอง Farmers’ Market ในบ้านเรา ฉันพบว่ามันไม่ได้เป็น ตลาดของเกษตรกรตรงตัวแบบที่เราเข้าใจกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ขายผลิตผลทางการเกษตรตรงๆ ส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ขายมักเป็นอาหารแปรรูป ทั้งของกินเล่น เครป ขนมปัง วัฟเฟิ้ล ชา กาแฟ ไอศกรีม เบอร์เกอร์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือตกแต่งซึ่งล้วนแล้วแต่เน้นสินค้าทำมือให้เข้ากับรสนิยมต่างชาติ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองไทย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นคนไทยซึ่งมักส่งสำเนียงภาษาต่างชาติออกมาเป็นประจำ ทำให้ฉันสามารถบอกได้เกือบจะทันทันทีว่าเขาเหล่านี้หาได้เป็นคนไทยทั่วๆไปไม่แน่นอนว่าการผลิตสินค้าเพื่อเอาใจคนกลุ่มนี้ ผู้ผลิตและผู้ขายย่อมต้องมีต้นทุนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ หรือ ต้นทุนความรู้ ทั้งความรู้ในการผลิต และความรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกษตรกรไทยทั่วไปที่ยังต้องเก็บหอมรอมริบเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คงไม่สามรถยกระดับตัวให้กลายเป็นผู้ขายในตลาดนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันกับที่ Farmers’ Market ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเมืองกรุง ผู้คนมากมายต่างพากันมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าคลีนๆที่ว่านึ้ เกษตรกรหลายรายที่ไม่ได้ขัดสนได้ถือเอาตลาดแห่งนี้เป็นที่พบปะกับผู้บริโภค เรียนรู้ตลาดและความต้องการที่หลากหลาย แต่ใช่ว่าผู้ขายสินค้าการเกษตรทั้งหมดจะเห็นตรงกัน เพราะพร้อมๆกับที่ชื่อเสียงของตลาดแห่งนี้ได้มีมากขึ้น บริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ค่อยๆ กินรวบทั้งระบบการผลิต การค้าส่ง และค้าปลีก ก็เล็งเห็นช่องทางการขายแบบใหม่ ที่ให้กำไรดีกว่าสินค้าเดิม ก็ได้หาเหตุแอบแฝงมาในนามเกษตรกรรายย่อย และขายสินค้าของตนเองอย่างภาคภูมิใจด้วยถือว่าตนเองก็เป็น “ออร์แกนิก” เช่นกัน ฉันถอนหายใจอย่างปลงๆ พร้อมกับรู้สึกกระอักกระอ่วนเล็กๆ อาจเป็นเพราะมีเค้าลางส่อว่า “เงิน” มีค่ามากกว่า “ปรัชญา” ที่ฉันเคารพหรือเปล่า ฉันคิดไปว่า “เงิน” สามารถ “ซื้อ” ปัจจัยการผลิตได้ตั้งแต่ ที่ดิน นักวิชาการ แรงงาน วัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อเอามาสร้างความร่ำรวยให้เพิ่มขึ้นได้อย่าง “ง่ายดาย” แล้วอะไรคือ หยาดเหงื่อแรงงานของคนผลิตที่ฉันอยากสนับสนุน “เงิน” ของฉันจะถูกนำไปใช้เพียงเพื่อต่อ “เงิน” ให้คนอื่นที่ไม่ได้ขัดสนอะไรเท่านั้นหรือ แล้วความภูมิใจที่ฉันอยากมอบให้แรงงาน เหมือนกับคุณลุงเจ้าของฟาร์มคนนั้นมันอยู่ไหน ฉันรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง มันช่วยไม่ได้ ก็เมื่อความคิด จินตนาการมันสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงฉันเดินค่อยๆเดินถอยออกมาจากชั้นผัก “ออร์แกนิก” พร้อมๆ กับยิ้มเยาะให้กับตัวเลือกที่จำกัดของผู้บริโภคชาวกรุงยังอีกไกล...ที่คนบ้านเราจะเห็นออร์แกนิกเป็นปรัชญามากกว่าเป็นเพียงสินค้าสุขภาพยังอีกไกล...กว่าปรัชญาจะแทรกซึมให้เข้าไปถึงเบื้องลึกในใจของคนไทยยังอีกไกล...ที่แรงงานภาคเกษตรจะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่าเม็ดเงินยังอีกไกล...ที่ตราออร์แกนิกจะสิ้นความหมายเพราะความเชื่อใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กันยังอีกไกล...ที่ Farmers’ Market จะเป็นของทุกคน เพื่อทุกคน อย่างแท้จริงฉันคงได้แต่เพียงหวังว่า “วันนั้น” จะมาถึง ก่อนที่จะสายเกินไป
สำหรับสมาชิก >ผู้เขียนกินกาแฟมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนกล่าวห้ามไว้ เนื่องจากเด็กที่กินกาแฟแล้วมักนอนไม่หลับ แต่ในความเป็นจริงสำหรับผู้เขียนแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าได้เข้านอนก่อน 22.00 น.โดยไม่มีความกังวลใจเรื่องใด ต่อให้เพิ่งดื่มกาแฟก็หลับได้ เพียงแต่ต้องตื่นกลางดึกเพื่อใช้ห้องน้ำ เพราะแคฟฟีอีนในกาแฟนั้นเป็นสารกระตุ้นการถ่ายปัสสาวะมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่กาแฟเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นและหนุ่มสาว การถือถ้วยกาแฟเย็นราคาไม่ต่ำกว่า 35 บาทดื่มในที่สาธารณะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่ผู้เขียนได้เปลี่ยนพฤติกรรมการชงกาแฟดื่มแบบโบราณที่ใช้ถุงผ้าไปเป็นการดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่เรียกว่า 3 in 1 เพื่อวัตถุประสงค์เพียงเพื่อคงระดับแคฟฟีอีนในร่างกาย โดยไม่ยึดติดกับรสชาติของกาแฟและไม่ดื่มกาแฟสด(ใส่นมและน้ำตาล) แบบที่ขายในปัจจุบันเพราะเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงมากจนไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนักท่านผู้อ่านหลายท่านที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอาจได้เคยเห็นโฆษณาเปิดตัวกาแฟแบบ 3 in 1 หลายยี่ห้อ ซึ่งมีข้อความประมาณว่า “ดื่มแล้วคล้ายการดื่มกาแฟสด” คำกล่าวนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า ควรลองซื้อยี่ห้อที่ถูกที่สุดมาชิมดู เพราะเมื่อคำนวณราคาแล้วตกเพียงซองละ 5.40 บาท แต่ถ้าไปดื่มตามร้านกาแฟ คงต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกสัก 5-10 เท่าในประเด็นของกาแฟสดนั้น คอกาแฟทั้งหลายคงพอทราบว่า คนฝรั่งเศสนั้นมีกาแฟสดชงในแบบที่เรียกว่า French Pressed Coffee หรือเรียกสั้นๆ ในสหรัฐอเมริกาว่า Pressed Coffee ซึ่งว่าไปแล้วเป็นวิธีการชงกาแฟที่ผู้บริโภคชงได้เองและปัจจุบันมีผู้นำอุปกรณ์การชง(แก้วชง) แบบนี้เข้ามาขายแล้วในประเทศไทยด้วยราคาที่ไม่แพงนักคือ 200-600 บาท ตามขนาดของอุปกรณ์ French Press นั้นเป็นวิธีชงกาแฟง่ายๆ เพียงแค่เลือกชนิดกาแฟตามที่ชอบแล้วชั่งน้ำหนัก(ซึ่งขึ้นกับขนาดแก้วชง) ตามที่คู่มือของเครื่องชงกาแฟให้ไว้ใส่ลงในแก้วชง(ที่ลวกด้วยน้ำเดือดก่อน) จากนั้นจึงเทน้ำเดือดตามปริมาตรที่คู่มือกำหนดไว้ลงในแก้ว ชงรอประมาณ 5-6 นาทีก็กดก้านที่ดันกากกาแฟลงไปอยู่ก้นแก้วชง แล้วรินแยกน้ำกาแฟออกมา เติมนมสดหรือครีมและน้ำตาลตามชอบ (คำเตือน: น้ำหนักกาแฟคั่ว ปริมาตรน้ำ และอุณหภูมินั้นเป็นตัวกำหนดรสชาติของน้ำกาแฟ ซึ่งต้องปฏิบัติตามคู่มือ ทางผู้ผลิตอุปกรณ์ไม่รับผิดชอบถ้ากาแฟไม่อร่อยอย่างที่คิดเนื่องจากไม่ทำตามข้อแนะนำ)ลักษณะเฉพาะของกาแฟสดชนิด French Pressed Coffee คือ การมีกากกาแฟเหลืออยู่ที่ก้นแก้วชง ซึ่งผู้ดื่มอาจรู้สึกถึงความสากคอ(ของกากกาแฟขนาดเล็กมากที่ลอยอยู่ในน้ำกาแฟ) แลกกับความรู้สึกที่เขาว่ากันว่า ผลิตให้ผู้บริโภคได้ฟินเหมือนดื่มกาแฟสด (ฟินมาจากคำว่า ฟินาเล่ ซึ่งแปลว่า จบแบบสมบูรณ์แบบ) รสสัมผัสหลังการดื่มกาแฟ 3 in 1 ที่เคลมว่าคล้ายกาแฟสด อึกแรกทำให้ผู้เขียนพบว่า มันมีความสากคออยู่ ในตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นอะไรจึงได้แต่นึกในใจว่า กาแฟซองนี้มันตกสเปคหรือไรจึงสากคอ แต่หลังจากหยิบซองกาแฟมาอ่านฉลากก็พบว่า องค์ประกอบหนึ่งของกาแฟในซองคือ ผงกาแฟบดละเอียด (microground coffee) ผสมกับกาแฟสำเร็จรูปและอื่น ๆ การเติมผงกาแฟบดละเอียดนี้เองที่คงทำให้ให้กาแฟ 3 in 1 ชนิดนี้มีลักษณะสัมผัสและรสชาติหลังการชงละม้ายคล้ายกาแฟสดแบบ French Pressed Coffee ของจริง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้เขียนระลึกได้หลังจากการดื่มกาแฟดังกล่าวนั้นคือ รสสัมผัสที่ไม่ต่างจากการดื่มกาแฟสดที่ชงด้วยถุงผ้าแบบโบราณของอาโก ซึ่งให้กากละเอียดลอยอยู่ในน้ำกาแฟเช่นกันความรู้เกี่ยวกับ French Pressed Coffee ที่ผู้เขียนตั้งใจนำมาฝากคือ มีบทความเรื่อง Pressed coffee is going mainstream — but should you drink it? เขียนโดย Heidi Godman เมื่อ 29 เมษายน 2016 ใน www.health.harvard.edu ซึ่งมีประเด็นที่ผู้เขียนสนใจว่าทำไมถึงมีคำถาม เราควรดื่มกาแฟที่ชงแบบนี้หรือไม่Heidi Godman เกริ่นว่า กาแฟชงด้วยเครื่องชงแบบฝรั่งเศสนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกา เพราะซื้อหาได้ง่ายในราคาถูก แถมวิธีชงก็ไม่ต้องการทักษะนัก ไม่ต้องเปลืองกระดาษกรองเหมือนวิธีชงด้วยเครื่องแบบอื่น แต่การไม่มีกระดาษกรองแล้วมีกากกาแฟผสมออกมากับน้ำกาแฟนั้น Heidi กล่าวว่ามันอาจก่อปัญหาบางอย่างได้โดยอธิบายดังนี้น้ำกาแฟแบบ French Pressed Coffee นี้มีสารเคมีธรรมชาติที่ละลายในไขมันชนิดหนึ่งเรียกว่า ไดเทอร์ปีน(diterpene) มากกว่าการชงกาแฟแบบทั่วไป(อย่างน่าจะมีนัยสำคัญ) ซึ่งทำให้นักดื่มกาแฟมืออาชีพแซ่ซ้องว่า มันทำให้กาแฟอร่อยขึ้นกว่าเดิม แต่ปรากฏว่ามีอาจารย์แพทย์ชื่อ Dr. Eric Rimm ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและโภชนาการของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ได้ทำลายบรรยากาศการดื่มกาแฟลักษณะนี้ โดยกล่าวว่า การดื่มกาแฟแบบ French Pressed Coffee ราว 5-7 แก้วต่อวันอาจทำให้ไขมันชนิด LDL (ซึ่งคนไทยรู้กันในชื่อ ไขมันตัวเลว) ในเลือดสูงขึ้นได้ เท่ากับว่ายิ่งเป็นการเพิ่มความกังวลให้กับคอกาแฟ จากเดิมที่นักดื่มกาแฟ(สมัครเล่น) กังวล กล่าวคือ ผู้ดื่มคออ่อนๆ มักนอนไม่หลับ กระส่ายกระสับและหัวใจเต้นแรงผิดปรกติพร้อมความดันโลหิตที่สูงขึ้น เนื่องจากการดื่มกาแฟสด จะทำให้ได้รับแคฟฟีอีนเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเลิกดื่มกาแฟ อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับกาแฟโดยทั่วไปยังคงสรุปว่า การดื่มกาแฟแบบคนธรรมดาที่ไม่เข้มข้นดุเดือดอย่างสบายๆ วันละแก้วสองแก้วนั้น ยังก่อประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยผู้ดื่มจะมีความตื่นตัวสดชื่นขึ้น แคฟฟีอีนในกาแฟเป็นตัวกระตุ้นให้เอ็นซัมของระบบทำลายสารพิษในเซลล์ตับทำงานดีขึ้น กาแฟให้แร่ธาตุคือ แมกนีเซียม โปแตสเซียม และวิตามินคือ ไนอาซิน รวมทั้งสารต้านออกซิเดชั่นต่างๆ อีกทั้งมีข้อมูลว่า การดื่มกาแฟ อาจช่วยชะลอการเป็นเบาหวานแบบที่สอง ด้วยซ้ำดังนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟแบบ French Pressed Coffee คือ เมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปีควรถามแพทย์ที่อ่านผลเลือดของท่านว่า ระดับไขมัน LDL และโคเลสเตอรอลนั้นเพิ่มขึ้นจนเกินระดับมาตรฐานหรือไม่ พร้อมกับคอยสังเกตว่า กาแฟในถ้วยที่ดื่มต้องขมแบบที่กาแฟควรเป็น ไม่หวานจ๋อยด้วยน้ำตาลและไม่มันจนเลี่ยนด้วยครีมนม เพราะความหวานและมันในกาแฟนั้นมักเป็นสาเหตุทำให้แพทย์ ซึ่งดูแลสุขภาพท่านท้อใจในชีวิตการเป็นแพทย์ เนื่องจากแนะนำอย่างไรๆ ไขมันตัวเลวในเลือดคนไข้ก็ไต่ระดับขึ้นเอาๆ เพราะคนไข้ชอบดื่มกาแฟที่หวานและมัน
สำหรับสมาชิก >สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการตัวเล็กๆ ที่ทำงานคุ้มครองอย่างเข้มแข็งและเต็มไปด้วยสีสัน ต้องมาสะดุดเมื่อถูกผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องราวการทำงานแต่ละช่วงเวลาเป็นตลกร้ายที่พวกเราอาจหัวเราะไม่ออก แต่เมื่อเราถามว่าเขาเริ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่เมื่อไหร่ แววตาคู่นั้นกลับมีประกายอีกครั้ง สันติดเล่าย้อนกลับไปว่า “เริ่มงานด้านผู้บริโภคตอนมาเป็นเภสัชนี่ละครับ ผมเห็นปัญหาเรื่องของการบริโภคแล้วก็เห็นปัญหาเรื่องของการใช้ยาของชาวบ้าน แต่ก่อนก็เป็นภสัชที่โรงพยาบาลชุมชน รพ.บ้านหมอ ตอนนั้น รพ.มีวิกฤติ คือเป็นช่วงที่ รพ.เข้าสู่ระบบ 30 บาทใหม่ๆ (ยุคแรกของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) งานมันมากมาย พองานมากๆ เข้าแพทย์ก็เริ่มลาออก ทันตแพทย์ เภสัชก็ลาออกกันหมดเลย ผมก็เป็นรุ่นที่ไปแทน ตอนนั้นเป็นข่าวดังมากที่มีบุคลากรทางการแพทย์ลาออกกันหมด ย้ายหนีกันหมด เราก็พยายามทำงานเชิงรุก เพราะเราเจอปัญหามากเนื่องจากวันหนึ่งๆ มีคนไข้ประมาณ 600 คน มีเตียง 30 เตียง คือบางทีมันจ่ายยาคนเดียวไม่ไหว เราก็พยายามออกไปเยี่ยมบ้าน และให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง แล้วเราก็รู้ ก็ไปเจอว่ามันมีปัญหา ปัญหาที่ซับซ้อนในการใช้ยาของชาวบ้าน เช่น มีกลุ่มทุนในหมู่บ้านที่ต้มยาขายเอง หรือกลุ่มพระสงฆ์ที่ซื้อยาแผนปัจจุบันไปบดทำยาสมุนไพร ก็เลยคิดว่าการไปทำงานเชิงรับในโรงพยาบาลมันช่วยอะไรไม่ได้ ตอนนั้นรู้จักพี่ภาณุโชติ(ภก.ภาณุโชติ ทองยัง) แกก็เลยชวนมาทำปัญหาเรื่องยาไม่เหมาะสมในชุมชน ซึ่งมันก็พอดีกับที่เจอเราก็เลยออกมาทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เลยเริ่มที่ รพ.ชุมชนก่อน แต่ทำงานใน รพ.ชุมชนก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา คือต้องหลังจากที่แพทย์เลิกตรวจแล้ว เวลาหลังบ่ายสองโมงเราถึงจะออกไปทำงานกับชาวบ้านได้ก็ทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณสักสามปีก็เลยย้ายไปทำงานที่ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่อุทัยธานี ตอนนั้นก็ทำเต็มตัวเลยนะ ไปทำหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ผมเจอเคสหนึ่งตกใจมากเลย คือมีเด็กป่วยแล้วทิ้งเจลแปะหน้าผากลงไปในน้ำ พอดีฝนตกน้ำมันก็ไหล ชาวบ้านไปเจอแล้วเข้าใจว่ากินได้ เขาก็ไปจับมาแล้วก็หุงข้าวเตรียมจะกินละ ตอนนั้นคิดว่าชาวบ้านเขาไม่รู้จริงๆ เรื่องราวเป็นข่าวใหญ่โตมากเลย เราก็ไปดูเห็นว่านี่มันเจลแปะลดไข้ธรรมดา เลยคิดว่าเราต้องทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น อยู่ที่นั่น(อุทัยธานี) ก็ทำเรื่องแก้ปัญหาหน่อไม้ปี๊บ เรื่องการฉีดยาฆ่าแมลงแตงกวาก่อนการเก็บเกี่ยว เช่นพรุ่งนี้จะเก็บเย็นวันนี้ก็จะฉีด เราก็เข้าไปให้ความรู้ ซึ่งตอนหลังพบว่า เราเข้าไปต่อสู้กับระบบทุนใหญ่ บางพื้นที่เขาทำขนาด 50 ไร่ ใช้เครื่องฉีด ใช้รถพ่น เราก็เลยคิดว่าเรื่องการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ พอย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอยุธยา จึงทำเรื่องเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจังหลักๆ มีอะไรบ้างคะมีเครือข่ายโรงเรียน เช่น งาน อย.น้อย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว แต่แทนที่เราจะทำกับเด็กอย่างเดียว ผมเข้าไปทำกับชุมชนด้วย แล้วผมก็ไปชวนชาวบ้านมาเป็นเครือข่ายผู้บริโภคด้วย มาให้ช่วยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาของชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาใหม่ๆ แล้วคนในชุมชนก็ตอบปัญหาไม่ได้ อันแรกจำได้แม่นว่า มีตัวดูดน้ำ อันนี้เด็กๆ และอาจารย์ที่โรงเรียนจะเป็นคนที่แจ้งมา ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ผมไปอยู่โรงเรียนหนึ่งเห็นเข้าตกใจมาก เพราะว่าทุกคนในโรงเรียนเล่นไอ้ตัวนี้อยู่ คุณครูก็จะไม่รู้เพราะว่าเด็กจะซ่อนเอาไว้ใต้โต๊ะในลิ้นชัก ครูไม่รู้ แล้วก็กลัวว่าถ้าบอกออกไปจะเป็นความผิด เราเลยไปหาผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกว่าใครมีเอาออกมานะ ไม่เอาออกมาจะมีความผิดปรากฏว่าทั้งโรงเรียน หรือมีอยู่โรงเรียนหนึ่งคือ เด็กกลัวความผิด เลยเอาไปทิ้งไว้ในชักโครก พอเปิดชักโครกมา โอ้โห มันพองเต็ม กลายเป็นส้วมตันทั้งโรงเรียน เราเลยต้องให้ความรู้ว่ามันอันตรายอย่างไร โดยเฉพาะพวกเด็กเล็กๆ ที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังเอามากินยังอม พอพยายามให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะมีเอาไปเล่นที่บ้านด้วย ตอนหลังก็รู้ว่ามันเป็นสินค้าที่ห้ามจำหน่ายอยู่แล้วเพราะผิดกฎหมาย ตอนนั้น สคบ.ออกประกาศมาแล้ว พอเราแจ้งไป สคบ.ก็มากวาดล้างที่อยุธยา แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ยังมีไหมก็ยังมีอยู่นะแต่มันก็ลดน้อยลง เหมือนชุมชนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เวลาผมไปทำงานแบบนี้ผมไม่ได้ไปคนเดียว จะพาชาวบ้านเครือข่ายในชุมชนนั้นไปด้วยให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหา ต่อไปพอเขาเห็นว่าสิ่งใดผิดสังเกตก็จะแจ้งเรา อีกอันที่เราเจอก็คือ เครื่องแช่น้ำน่ะครับ สปาเท้า ที่ต้องเอาเท้าแช่ลงไปแล้วจะมีเครื่องไฟฟ้าอะไรสักอย่างใส่ที่เอวเวลาเปิดกระแสไฟฟ้าจะผ่านตัวน้ำ แล้วน้ำจะเปลี่ยนสี น้ำจะแต่ละสีจะมีการบอกเล่าหรือวินิจฉัยโรคที่ต่างกัน เป็นใบเหมือนเสี่ยงเซียมซี เช่น ถ้าน้ำออกเป็นสีแดงสนิม อันนี้จะเป็นโรคเกี่ยวกับเลือด ถ้าน้ำออกเป็นสีเขียวเป็นโรคตับเป็นน้ำดี ถ้าเป็นเหลืองๆ โรคน้ำเหลือง ชาวบ้านก็ไปทำสปาเท้ากันเต็มเลย มีลงพื้นที่แล้วไปเจออยู่วัดหนึ่ง เขาลงทุนซื้อเลยนะครับ วัดก็มีรายได้ คนก็มานั่งแช่กันเป็นชั่วโมง เราก็ไม่ได้นะครับน้ำที่คุณแช่มันไม่สะอาด แล้วมันไม่ใช่ว่าเป็นโรคตับแล้วน้ำมันไหลมาจากเท้า ตอนนั้นถึงขนาดมีปัญหากับวัดเพราะไปทำให้วัดเขาสูญเสียรายได้ แต่ที่หนักสุดของพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานบริการสุขภาพ(คลินิก) เพราะว่าจังหวัดนี้มีนิคมอุตสาหกรรมมาก ประเด็นแรกๆ ที่เราเข้าไปดู เป็นเรื่องของยาลดความอ้วน ประมาณสักปี 52 หรือ 53 มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐท่านหนึ่ง กินยาลดความอ้วนจนเสียสติ กินจนเป็นบ้าเลย ทางสำนักงานต้นสังกัดก็ไม่จ้างต่อ (ทุกวันนี้ก็ยังคล้ายๆ คนสติไม่ดีขายผักอยู่ที่ตลาด) เราเห็นแล้วรู้สึกว่า “ปล่อยให้มีอยู่ได้อย่างไร” เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง ผมเริ่มจากการสำรวจก่อนเลยว่ามีแหล่งจำหน่ายกี่แหล่ง แล้วมีช่องทางอะไรบ้าง ไปเจอช่องทางหนึ่ง น่ากลัวมาก คือเจ้าของคลินิกเป็นแพทย์ แพทย์จริงๆ นะครับ เขาใช้วิธีนี้ คือเวลาคนมารักษา เขาจะจ่ายยาให้ ให้คนรักษาเอายาไปขายต่อได้ มันก็เหมือนว่าตัวหมอไม่ผิด เพราะจ่ายยาตามใบสั่ง ถูกไหมฮะ ยาพวกนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คนที่ซื้อไปก็เอาไปขายต่อ เป็นยาชุดเลย เช่นยาชุดละ 250 บาท ก็ไปขายต่อชุดละ 300 ช่วงนั้นระบาดไปทั่วอยุธยาเลย “ยาชุดลดความอ้วน” มีน้องคนหนึ่งที่ใช้ยาตอนชุดนี้ตอนเรียนหนังสือน้ำหนัก 50 กิโลกรัมกว่าๆ เขากินยาพวกนี้ 2 ปีกว่าจะจบ เพราะกลัวว่าตอนรับปริญญาแล้วจะไม่สวย พอจบแล้วตอนนี้เลิกกิน แต่น้ำหนักขึ้นมาถึงประมาณ 120 กิโลกรัม หรือมีอีกคลินิกหนึ่ง ตอนแรกแสดงตนว่าเป็นแพทย์แล้วมีใบประกอบโรคศิลปะด้วย มีบัตรมีอะไรครบ แต่ผมสังเกตว่าบัตรมันไม่เหมือนบัตรแพทย์ แต่เขาก็มาขออนุญาตที่เรานะ คือผมดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ได้ดูเรื่องการออกใบอนุญาต แต่ผมมาเห็นว่ามันผิดสังเกต คิดว่าบัตรนี้มันไม่ใช่แน่ แต่เราก็ยังทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะหมอส่วนใหญ่ต้องบอกว่าเส้นใหญ่ พอดีมีเหตุสาวโรงงานคนหนึ่งกินยาลดน้ำหนักแล้วเสียชีวิต เราเลยได้เข้าไปสืบข่าว ตอนนั้นขอดูหมดเลย ปรากฏว่าเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก คือเขาเคยเป็นนักเรียนแพทย์แล้วเลขที่ติดกันกับเพื่อนซึ่งชื่อเดียวกัน แต่คนละนามสกุล แต่คนที่มาเปิด(คลินิก)ที่นี่น่ะเรียนไม่จบแพทย์ เลยไปเรียนต่อต่างประเทศพอกลับมาก็มาทำธุรกิจแบบนี้ โดยที่เอาใบประกอบวิชาชีพของเพื่อน เพราะชื่อเดียวกันไง ที่นี้เขาก็ถ่ายเอกสารแล้วเปลี่ยนตรงนามสกุล เราก็เลยบอกนี่มันผิดหมดเลยนะ เราจับสังเกตจากเรื่องยา เนื่องจากใช้ยาไม่มีทะเบียน พอมีคนเสียชีวิตเราก็เลยเข้าไปตรวจสอบเอกสารทั้งหมด เลยถึงบางอ้อว่าบัตรประชาชนก็คนละอย่าง ใบประกอบวิชาชีพตัวจริงก็คนละอย่าง สุดท้ายเราก็แจ้งไปที่ตัวแพทย์จริงๆ ที่อยู่ชลบุรี(ทางเราสอบถามไปที่แพทย์ชื่อนี้ก่อนว่ามีการสั่งซื้อยาเป็นล้านๆ บาทเลย ทางนั้นไม่รู้เรื่อง เราเลยอ๋อแบบนี้ ) จึงให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกัน เรื่องคดีนั้นผมไม่ได้ตามต่อ ส่วนคลินิกก็ถูกปิดไปแล้ว ในส่วนของ สสจ.เราจะเช็คมาตรฐานว่ามีตามเกณฑ์หรือไม่ หากมีการเปิดคลินิก จากนั้นจะมีตรวจประจำปี ปีละครั้งจากนั้นผมก็คิดว่าจะทำอะไรสักอย่างกับยาลดความอ้วนในจังหวัดอยุธยาดี เลยคิดว่าต้องใช้การส่งสายลับไป พวกคลินิกที่มีปัญหาเพิ่งปิดได้หมดเมื่อประมาณสักปีที่แล้ว กว่าจะเข้าไปควบคุมได้มันยาก เพราะยาพวกนี้ต้นทุนต่ำ เขาแค่สั่งของจริงที่มันถูกต้อง 1 กระปุก แต่ที่เหลือก็สั่งจากตลาดมืดมา เวลาเราไปตรวจก็จะนับแค่นี้ 30 เม็ด อ้อ ไม่มีจ่ายเลยนะ แต่ทำไมคนเดินเข้าเดินออกเยอะจังเลย ตั้งแต่วันนั้นมาวันนี้ 10 ปีแล้วผมคิดว่าเราควบคุมได้แล้ว แต่ตอนนี้มาในรูปแบบใหม่ คือไปขายส่งตามอินเทอร์เน็ต เรื่องที่ยังต้องเฝ้าระวัง หลังจากเรื่องยาลดความอ้วน ก็มีเรื่องธุรกิจตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนเสริม ตอนแรกไม่อยากยุ่งเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นธุรกิจของแพทย์ เหมือนจะคุยกันยาก แต่พอเป็นเรื่องฉีดวัคซีนเสริม ผมเริ่มรับไม่ได้ เหมือนกับว่าเขาต้องการระบายวัคซีนที่ใกล้จะหมดอายุ แล้วโรงพยาบาลที่ทำแบบนี้เป็น รพ.เอกชนใหญ่ๆ ที่อยู่ชานเมืองทั้งนั้นเลย วิธีการคือจะสต็อกของไว้ พอ 3 เดือนหมดอายุก็จะไปเดินสายฉีดตามโรงเรียน คิดดูนักเรียนในเกาะเมืองอยุธยาประมาณ 20,000 คน ต้องมารับการฉีดวัคซีนใกล้หมดอายุน่ะ ไข้หวัด สมองอักเสบ ประมาณนี้ เข้าใจว่าเป็นการระบายของเพราะตอนมาเห็นใส่กล่องโฟมมา ซึ่งมันไม่ได้อยู่แล้วน่ะครับ ผมเจอโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีกลุ่มบุคคลนำวัคซีนที่อีก 1 เดือนจะหมดอายุ แล้วใส่กล่องโฟมเปล่าๆ ไม่มีน้ำแข็งอะไรเลยนะ สนนราคาเข็มละ 700 บาท มานำเสนอ เคยเรียกเซลล์มาสอบถาม เขายอมรับว่าเป็นการระบายของ แต่ตัวเขาเองจะทำโดยตรงไม่ได้ก็ต้องไปหาโรงพยาบาลหรือคลินิกมาพักของไว้ก่อน แล้วให้ รพ.เหล่านี้ทำโครงการตรวจสุขภาพกับโรงเรียน ส่วนโรงเรียนทำเรื่องแจ้งกับผู้ปกครองว่า แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ถ้าจะฉีดก็เข็มละ 700 บาท แต่ส่วนใหญ่ด้วยความไม่รู้และไว้ใจผู้ปกครองก็จะให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีนพวกนี้ เราก็สงสารเด็กที่ต้องมาเจ็บตัวโดยใช่เหตุ ตอนนั้นเราก็ออกประชาสัมพันธ์เลยเพื่อเตือนเรื่องพวกนี้ แต่ก็มีเรื่องที่กระทบกระทั่งกันนะ เพราะบางโรงเรียนเขาได้ส่วนแบ่งหรือเปอร์เซ็นต์ เช่น หัวละร้อย นักเรียนจำนวนสองพันก็กินนิ่มเลย เราต้องใช้วิธีการเข้าไปคุย ทำความเข้าใจ ทำหนังสือแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการไปให้ และเรียกพนักงานขายของบริษัทมาปราม ก็ควบคุมได้ระดับหนึ่ง หลังๆ หนักกว่า พอไม่มีการวัคซีนแล้ว คราวนี้เป็นการตรวจสุขภาพนักเรียนเลย เช่น เด็กมัธยมต้องเสียเงินค่าตรวจสุขภาพปีละ 100 บาท ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้เริ่มมาตอนไหน ผมนำเรื่องนี้ไปเสนอในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเลย เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่า เราควรสร้างเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสุขภาพตามช่วงวัยนะ เด็กวัยไหนควรทดสอบอะไร เช่น ทดสอบสมรรถภาพ สำหรับนักศึกษาทดสอบอะไร ต้องตรวจอะไร เช่น โรคร้ายแรง ก่อนเข้างานตรวจอะไร ผู้สูงอายุตรวจอะไร แต่มันเป็นประเด็นที่ “เงียบ” มากเลย เจอปัญหาแบบนนี้เข้ากับตัวเอง เลยถึงบางอ้อว่า “ประชาชนนี่ละเป็นเหยื่อ” เรื่องราวของเภสัชกรสันติ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่บอกเล่าผ่านฉลาดซื้อ ยังคงมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลจากการทำงานอันเข้มข้นของเขา จนโดยผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท โปรดติดตามในฉบับหน้า
สำหรับสมาชิก >ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลการทดสอบกระเป๋าล้อลากเอาใจคนรักการเดินทางกันบ้าง ผลการทดสอบที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทำไว้คราวนี้ มีมาให้พิจารณากัน 17 รุ่น ทั้งแบบที่ทำจากพลาสติกและแบบที่ใช้วัสดุผ้า มีทั้งแบบ 4 ล้อ และ 2 ล้อ สนนราคาเริ่มตั้งแต่ต่ำกว่า 3,000 ไปจนถึงมากกว่า 20,000 บาท โชคดียังเป็นของผู้บริโภคอย่างเรา เพราะรุ่นที่ดีที่สุดไม่ใช่รุ่นที่แพงที่สุดและรุ่นที่ราคาต่ำที่สุดก็ไม่ได้คุณภาพต่ำตามราคา และทีมทดสอบพบว่าส่วนประกอบอย่างคันชัก ซิปและล้อของกระเป๋าทุกรุ่นที่ทดสอบมีความแข็งแรงทนทานในระดับที่น่าพอใจ แต่จะเฉือนกันอยู่ก็ตรงความทนทาน ความสามารถในการกันน้ำซึมเข้าของตัวกระเป๋า และความพึงพอใจของผู้ใช้ ... ติดตามรายละเอียดได้ในหน้าถัดไป
สำหรับสมาชิก >ยุคนี้เป็นยุคของคนรักสุขภาพ ใครๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ เล่นกีฬา ออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น เป็นผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการรองรับกระแสคนอยากออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากเหตุการณ์ของ “แคลิฟอร์เนีย ว๊าว” ฟิตเนส เซ็นเตอร์ชื่อดัง ที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปิดตัวลงในปี 2555 จากการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเป็นคดีฉ้อโกง มีผู้เสียมากกว่าหนึ่งพันคน ผลจากกรณีของ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่กับทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องหันกลับมามองหามาตรการควบคุมดูแล และรวมถึงตัวผู้บริโภค ผู้ใช้บริการสถานออกกำลังกาย ที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานการบริการและเรื่องสัญญาการให้บริการมากขึ้น ปกป้องตัวเองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว การเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ต้องคำนึงถึงหลายๆ องค์ประกอบ มากกว่าจะมองเพียงแค่สุขภาพหรือรูปร่างที่เราจะได้ แต่ยังต้องมองถึงเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายจากการใช้บริการ ระบบดูแลที่มีมาตรฐานของสถานที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ชวนให้ตกใจ เมื่อมีผู้ใช้บริการฟิตเนสเสียชีวิตเนื่องจากเหตุไฟไหม้อาคารที่ฟิตเนสดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่แม้ต้นเพลิงจะเกิดขึ้นในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตรงส่วนของฟิตเนสก็ตามแต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานปัจจุบัน สถานบริการด้านการออกกำลัง หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ มีกฎหมายที่ควบดูแลหลักๆ อยู่ 4 ฉบับ คือ สถานออกกำลังกาย แบบไหนน่าใช้บริการ จากจำนวนของสถานออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออก “ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานออกกำลังกายต่างๆ นำไปเป็นปฏิบัติ ซึ่งในมุมของผู้ใช้บริการเองก็จำเป็นต้องทราบถึงมาตรฐานต่างๆ ที่มีการกำหนดควบคุม เพื่อที่เราจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย 1.มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม- อาคาร สถานที่ตั้ง ทั้งภายใน ภายนอก ต้องดูแล้วมีความมั่นคง แข็งแรง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร - ต้องมีการแสดงแผนผังสถานที่ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกทางหนีไฟ ป้ายห้ามสูบบุหรี่ และระเบียบการใช้บริการที่ชัดเจน- ต้องมีการติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 1,000 ตารางเมตรสำหรับอาคารขนาดใหญ่ และติดตั้ง 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 100 ตารางเมตร สำหรับอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละเครื่อง ต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร สามารถมองเห็นได้ง่าย และนำไปใช้ได้โดยสะดวก- จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์ (มาตรความสว่าง (lux meter))- ห้องออกกำลังกายที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีคุณภาพการปรับอากาศที่ดี มีอุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส และห้องออกกำลังกายที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีการถ่ายเทอากาศที่เพียงพอไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ความดังของเสียงในห้องออกกำลังกายเฉลี่ยสูงสุดต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ)- มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการออกกำลังกาย เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ต้อนรับ พื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย และพื้นที่กิจกรรมการออกกลุ่ม- พื้นที่จัดวางอุปกรณ์ ควรมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และช่องทางเดินร่วมไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร- พื้นที่กิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่ม มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2x2 ตารางเมตร- มีห้องน้ำ แยกชาย-หญิง อย่างละ 1 ห้องต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 15 คน, 2 ห้อง ต่อผู้ใช้บริการ 40 คน, 3 ห้อง ผู้ใช้บริการไม่เกิน 80 คน และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ 1 ห้อง ต่อจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50 คน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์เก็บของ และอ่างล้างมือแยกชาย-หญิง ที่สะอาดและเพียงพอ2.มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย- ต้องมีอุปกรณ์ หรือรูปแบบวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การสร้างเสริมระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต การสร้างเสริมระบบกล้ามเนื้อ และการสร้างเสริมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ- มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาดและพร้อมใช้งานทุกวัน- ต้องมีป้ายคำแนะนำ คำเตือนในการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดไว้เห็นได้ชัดเจน- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันโลหิต และ สายวัดรอบเอว3.มาตรฐานด้านการให้บริการ- มีการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพแก่สมาชิก ก่อนการให้บริการครั้งแรก เพื่อคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต การจัดทำประวัติสุขภาพ และการตอบแบบสอบถามการประเนิมความพร้อมก่อนออกกำลังกาย- จัดให้มีคำแนะนำ หลักการ และขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โปรแกรมการออกกำลังกาย การประเมินผลสมรรถภาพทางกายและสัดส่วนของร่างกาย- จัดทำป้ายคำแนะนำและคำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ป้ายคำแนะนำหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วิธีการออกกำลังการที่เหมาะสมกับเพศและวัย ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ- มีบริการน้ำดื่มที่สะอาดและมีปริมาณเพียงพออยู่ใกล้บริเวณที่ออกกำลังกาย โดยไม่คิดค่าบริการ4.มาตรฐานบุคลากรผู้ให้บริการ- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ควรมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ, วิทยาศาสตร์การกีฬา, พลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (instructor exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ได้รับการฟื้นฟูวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างน้อยปีละครั้ง- บุคลากรผู้ให้บริการด้านการออกกำลังกาย สามารถทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกาย คัดกรองสุขภาพก่อนกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย และประเมินสมรรถภาพของสมาชิกทั้งก่อนและหลังการรับบริการ- มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ 1 คนต่ออุปกรณ์ออกกำลังกายทุกชนิดไม่เกิน 15 เครือง และกรณีการออกกำลังกายกลุ่ม มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำ 1 คน ต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 30 คน5.มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน- ต้องมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน ได้แก่ แผนการช่วยชีวิต และแผนการระงับอัคคีภัย อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์สถานพยาบาลใกล้เคียงติดไว้ในที่มองเห็นชัดเจน- ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล พร้อมใช้ตลอดเวลา โดยชุดปฐมพยาบาลควรเก็บไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิท หรืออุปกรณ์ที่กันน้ำ และติดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาลต่างๆ ไว้ด้วย ที่มา : คู่มือ ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฉบับที่ 1โดย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรม อนามัย กระทรวงสาธารณสุข คนไทยกับการออกกำลังกาย สุขภาพดีได้ไม่ต้องง้อฟิตเนสประโยคที่บอกว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” คงไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงแต่อย่างใด เพราะต่อให้มีเงินไปสมัครตามฟิตเนสชื่อดัง ค่าสมาชิกหลักพันหลักหมื่น อุปกรณ์แน่น เทรนเนอร์เก่ง แต่ถ้าได้แค่สมัครสมาชิกทิ้งไว้โดยไม่เคยไปใช้บริการเลย หรือเดือนหนึ่งจะได้เข้าไปออกกำลังสักครั้งสองครั้ง แบบนั้นสุขภาพดีๆ ก็คงไม่ทางเกิดขึ้นกับเราแน่นอน ฉลาดซื้อ ขอเสนอทางเลือกให้กับคนที่มีใจรักอยากจะออกกำลังกาย อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่อยากต้องเสียทรัพย์ไปกับฟิตเนส เซ็นเตอร์ ด้วย 3 ทางเลือกในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายด้วยตัวของคุณเอง 1.ออกไปสูดอากาศอันสดชื่นที่ “สวนสาธารณะ”ประเทศไทยเรามีสวนสาธารณะอยู่ทั้งหมด 593 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูลจากการสำรวจของกองออกกำลังกายฯร่วมกับศูนย์อนามัย) ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นผู้คนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย ไปใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเลิกเรียน เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งหลักๆ ก็มักจะเลือกวิธีเดินหรือวิ่ง แต่สวนสาธารณะหลายๆ ที่ก็ยังมีกิจกรรมออกกำลังกายวิธีอื่นๆ เตรียมไว้รอคนรักสุขภาพ ทั้งเต้นแอโรบิก รำมวยจีน รวมทั้งมีเครื่องออกกําลังกายกลางแจ้ง สำหรับคนที่อยากอยากลองออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์แต่ไม่อยากลงทุนซื้อเครื่องมาไว้ที่บ้าน และก็ไม่อยากต้องเสียเงินไปสมัครเป็นสามาชิกตามฟิตเนส เซ็นเตอร์ เรียกว่าเราสามารถมีสุขภาพดีได้ไม่ยาก ขอแค่แบ่งเวลาวันละนิด อย่างน้อย 30 นาที หารองเท้าสำหรับออกกำลังกายดีๆ สักคู่ แค่นี้ก็ออกไปออกกำลังกายกันที่สวนสาธารณะใกล้บ้านได้แล้ว2.ฟิตผ่านหน้าจอ กับช่องออกกำลังกายใน “Youtube”เดี๋ยวนี้เราสามารถหาดูคลิปวิดีโอต่างๆ ได้เกือบจะทุกอย่างผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) แน่นอนว่าวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายก็มีให้ชมมากมายเช่นกัน ในต่างประเทศจะมีช่องรายการในยูทูป (Youtube Channel) ที่เสนอวิดีโอเฉพาะเกี่ยวกับการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องรายการที่ทำโดยคนไทยที่ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ฉลาดซื้ออยากแนะนำ 3 ช่องรายการเกี่ยวกับการออกกำลังกายในยูทูป ที่สอนทั้งท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ แค่ดูก็ทำตามได้ทันที พร้อมด้วยความรู้เกี่ยวการดูแลสุขภาพ เรื่องของโภชนาการ เอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เอาเป็นว่าไปเปลี่ยนชุดสำหรับออกกำลังกาย แล้วเปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ คลิ้กรอไว้ที่เว็บไซต์ยูทูปได้เลยFitjunctionsหนุ่มๆ สาวๆ ที่อยากฟิตหุ่นให้เฟิร์ม อยากมีกล้ามอย่างสร้างซิกแพ็ค น่าจะชื่นชอบช่องรายการนี้เป็นพิเศษ เพราะ Fitjunctions มีคลิปวิดีโอที่สอนท่าออกกำลังกายตั้งแต่เริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ไปจนถึงความรู้สำหรับที่อยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ปรับรูปร่างให้ดูใหญ่ขึ้น ที่สำคัญคือมีคลิปที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเรา การออกกำลังกายแบบไหนมีผลต่อรูปร่างอย่างไร รวมทั้งเรื่องการกินอาหาร ว่ากินอย่างไรถึงจะดีต่อร่างกาย ตามสโลแกนของช่องที่ว่า “แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับการ ฟิตหุ่นและรักษาสุขภาพ เน้นหลักๆ 3 ข้อ คือ ไม่อดของอร่อย ไม่หักโหม และเน้นที่การสอนความรู้ที่เข้าใจง่าย แต่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์”KalamareTVช่องรายการของพิธีสาวเก่งชื่อดังอย่าง “กะลาแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ” ที่ทำยูทูป แชนแนล เป็นของตัวเอง โดยในช่องรายการของเธอก็จะรวบรวมหลากหลายผลงานในฐานะพีธีกรของเธอเอาไว้ให้แฟนคลับและคนที่ชอบผลงานของเธอได้เข้ามาชมกัน ซึ่ง 1 ในรายการที่มีให้ชมทาง KalamareTV ก็คือรายการ “ทุกที่ทุกท่ากับกาละแมร์” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่พิธีกรคนเก่งจะมาสอนท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เรียกว่าเป็นท่าออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากอิริยาบถธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งการนั่ง การยืน การนอน ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่ายสุดๆ ไม่ต้องออกไปไหนไกล แค่อยู่บ้านก็ออกกำลังกายได้Fit Minutes [by Mahidol]ช่องรายการนี้เป็น ช่องรายการย่อยของ มหิดล แชนแนล (Mahidol Channel) เป็นช่องรายการที่จะมาสอนการออกกำลังกายแบบถูกต้องถูกวิธี ที่เราสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายๆ เพราะมีการอธิบายขั้นตอนต่างๆ แบบละเอียดในการออกกำลังกายแต่ละท่า คำแนะนำที่ถูกต้อง ได้ความรู้ว่าท่าออกกำลังกายแต่ละท่าที่เราทำอยู่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างไร ส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนไหน สามารถทำได้เองสบายๆ ที่บ้าน ซึ่งเราสามารถทำได้ไปพร้อมกับๆ เทรนเนอร์ผู้ฝึกสอนในคลิปได้ทันที3.สุขภาพดีผ่านตำรา ด้วยสารพัดคู่มือออกกำลังกายปัจจุบันมีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เทคนิคต่างๆ ในการดูแลสุขภาพและรูปร่างออกมาว่างจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สามารถซื้อมามาลองอ่านลองฝึกด้วยตัวเองดูได้ นอกจากนี้ยัง E-book เกี่ยวกับการออกกำลังกายให้โหลดไปอ่านกันฟรีๆ ซึ่งมี 2 เว็บไซต์ที่ฉลาดซื้ออยากจะแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพอยากออกกำลังกายลองคลิ๊กเข้าไปดูกัน 1.เว็บไซต์ของกองออกกำลังกาย กรมอนามัย (dopah.anamai.moph.go.th) ที่นี่มี E-book ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย ทั้งความรู้ในการการเล่นกีฬา และดูแลรักษาสุขภาพสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่น การเดินเพื่อสุขภาพ การออกกำลังสำหรับผู้สูงวัย การออกกำลังกายสำหรับเด็ก การยืดเหยียดพื้นฐาน ฯลฯ2.ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร สสส. (resource.thaihealth.or.th) ในเว็บไซต์นี้จะมีบริการ E-book ให้โหลดไปอ่านกันแบบฟรีๆ จำนวนมาก โดย 1 หมวดหมู่ยอดนิยมก็คือ หมวดการออกกำลังกาย ซึ่งมี E-book ที่แนะนำเรื่องการออกกำลังกายมากกว่า 100 เล่มให้ได้ลองโหลดไปอ่านและฝึกออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน
สำหรับสมาชิก >ทุกครั้งก่อนกินข้าวผู้เขียนมักสำรวจอาหารในจานว่า ครบห้าหมู่หรือไม่ ถ้าเป็นการกินที่บ้านส่วนใหญ่มักครบ แต่ถ้าต้องกินนอกบ้านแล้วส่วนใหญ่ต้องกำหนดว่า เมื่อกลับถึงบ้านควรไปกินอะไรเพิ่มบ้าง นอกจากจำแนกอาหารว่าครบห้าหมู่หรือไม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่พยายามสังเกตคือ อาหารจานนั้นน่าจะมีคอเลสเตอรอลมากหรือน้อย โดยดูจากองค์ประกอบส่วนที่เป็นไขมันและส่วนที่เป็นหนังเช่น หนังหมู ทั้งนี้เพราะเราถูกสอนมาให้เลี่ยงไขมันชนิดนี้เพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดเกี่ยวกับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจและสมองอย่างไรก็ดีในระยะหลังนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาของคอเลสเตอรอลต่อสุขภาพของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะข้อมูลจากการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการนั้นต่างไปจากเดิมคือ มีมุมมองในการทำวิจัยเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลที่กว้างไกลกว่าเดิม ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าต่อดังนี้ข้อมูลจากอินเตอร์กล่าวว่า ทุกๆ 5 ปี หน่วยงานรัฐการของสหรัฐอเมริกาคือ กระทรวงเกษตร (US. Department of Agriculture หรือ USDA )และกระทรวงสาธารณสุข (US. Department of Health and Human Services หรือ USHHS ) มีความร่วมมือในการสร้าง ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนในชาติ หรือ Nation's dietary guidelines ซึ่งเป็นการระบุชนิดของอาหารและวิธีการบริโภคที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งในด้านน้ำหนักตัวและการป้องกันโรค ข้อแนะนำนี้มีการนำไปใช้ประยุกต์กับโครงการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของประชาชน เช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำของปี 2015 เพื่อใช้ในช่วงปี 2016-2020 นั้นเป็นการแนะนำในกรอบกว้างๆ ที่หวังลดการได้รับสารอาหารบางชนิดที่มากเกินพอดีของคนอเมริกัน โดยรายงานของกรรมการที่สร้างข้อแนะนำนี้ยังยึดโยงกับข้อแนะนำในปี 2010 เป็นหลัก ซึ่งกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหารต่างๆ เช่น ความปลอดภัยของกาแฟ คาเฟอีนและน้ำตาลเทียมชนิดแอสปาเตม แต่มีสิ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญเกิดขึ้นในคำแนะนำใหม่นี้คือ การไม่กล่าวถึงการจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่คนอเมริกันกินในแต่ละวัน จากเอกสาร Scientific Report of the 2015 Dietary Guidelines Advisory Committee ของสหรัฐอเมริกานั้นกล่าวว่า ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกันแต่เดิมนั้น ได้เคยแนะนำให้กินคอเลสเตอรอล ซึ่งอยู่ในอาหารต่างๆ รวมกันไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน(ซึ่งเท่ากับกินไข่ได้สองฟองต่อวันเท่านั้น) เพราะระดับความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นในระบบไหลเวียนโลหิต เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการตีบตันของเส้นเลือด ถ้าเกิดขึ้นที่หัวใจอาจทำให้คุณหัวใจวายตาย (heart attack) หรือถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง(stroke ) อาจนำสู่การเป็นอัมพาตบางส่วนของร่างกาย ดังนั้นข้อแนะนำในการบริโภคอาหารของคนอเมริกันเก่าในปี 2010-–2015 จึงมุ่งเน้นให้ประชาชนมองเห็นถึงอันตรายที่เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลสูงในระบบเลือดกว่าคนปรกติทั่วไป ทว่าในข้อแนะนำใหม่ที่จะใช้ต่อไปอีก 5 ปีนั้น ไม่จัดคอเลสเตอรอลเป็นสารอาหารที่ต้องกังวลในการกินเกินแล้ว เพราะคณะกรรมการผู้สร้างข้อแนะนำกล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ไม่ได้แสดงว่าปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารนั้นมีความสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลในเลือด จริงๆ แล้วร่างกายเราเองสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเพื่อใช้เองทุกวัน ซึ่งอาจมากกว่าปริมาณที่กินจากอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับข้อกำหนดทางพันธุกรรมว่า ร่างกายของแต่ละคนต้องการใช้คอเรสเตอรอลเท่าไรและกำจัดได้ดีเพียงใด ทั้งนี้เพราะอนุพันธ์ของคอเลสเตอรอลนั้น เป็นสารที่ร่างกายใช้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนบางชนิดและเปลี่ยนเป็นเกลือน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไป อีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากๆ คือ คอเลสเตอรอลนั้น เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นที่ต้องมีสอดแทรกในชั้นไขมันที่ทำหน้าที่เป็นผนังเซลล์ หรือผนังออร์กาเนล (คือเอ็นโดพลาสมิคเร็ทติคิวลัม) ของเซลล์ซึ่งเป็นบริเวณสร้างโปรตีนในเซลล์และทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารพิษก่อนถูกกำจัดออกจากร่างกายอาหารที่สามารถเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย ได้แก่ ไข่แดง หนังสัตว์ต่างๆ(โดยเฉพาะหนังของขาหมูพะโล้) เนื้อติดมัน หอยนางรม กุ้ง นม เนย เป็นต้น ส่วนการสร้างขึ้นเองในร่างกายนั้น ร่างกายเราสร้างได้จากไขมันธรรมดาที่กินเข้าสู่ร่างกาย โดยเซลล์ตับนั้น เป็นเซลล์ที่รับผิดชอบงานนี้ราวร้อยละ 20-25 ดังนั้นการกินอาหารไขมันสูงจึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการสร้างคอเลสเตอรอลของร่างกายสู่ระดับสูงสุดได้ประเด็นที่น่าสนใจคือ บางขณะที่เราต้องการอาหารไขมันสูง เพื่อให้ได้พลังงานเนื่องจากต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น อาจมีไขมันส่วนที่กินเกินไปเพิ่มการสร้างคอเลสเตอรอลได้ ดังนั้นประชาชนจึงควรทราบวิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอล วิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอลโดยหลักการแล้วทำได้โดยการเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินเข้าไปในมื้ออาหาร เพื่อเร่งให้มีการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นสารอื่น อาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินสูง ได้แก่ แตงต่างๆ มะม่วง แอปเปิ้ล ถั่วหลายชนิดมีเพคตินสูง สำหรับผลไม้นั้นเป็นที่รู้กันว่า ส้มต่างๆ เป็นแหล่งสำคัญของเพคติน ที่น่าสนใจมากคือ ขนมเปลือกส้มโอซึ่งเป็นการสกัดเอาเพคตินจากส่วนสีขาวของเปลือกมาผสมน้ำตาลแล้วทิ้งให้แข็งตัว ดังนั้นถ้าทำให้ขนมนี้มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ขนมเปลือกส้มโอก็จะเป็นแหล่งที่ดีของเพคตินในราคาไม่แพงนัก บทบาทของเพคตินในการลดคอเลสเตอรอลคือ เพคตินสามารถจับเกลือน้ำดีในลำไส้ใหญ่แล้วพาเกลือน้ำดีออกจากร่างกายไปกับอุจจาระ ซึ่งเป็นการลดการดูดซึมเกลือน้ำดีกลับไปยังถุงน้ำดี(เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) การลดปริมาณเกลือน้ำดีนี้เป็นการบังคับให้ตับต้องนำเอาคอเลสเตอรอลในเลือดที่ไหลผ่านตับไปสร้างเป็นเกลือน้ำดีใหม่ จึงทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ประเด็นสำคัญของคอเลสเตอรอลที่เกี่ยวกับสุขภาพของท่านประเด็นสำคัญคือ คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบของไลโปโปรตีนสำคัญในเลือด ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า low density lipoprotein (LDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 25 คอเลสเตอรอลร้อยละ 50 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 21) ซึ่งควรมีในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หรือ 10 มิลลิลิตร) และ high density lipoprotein (HDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 33 คอเลสเตอรอลร้อยละ 30 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 29) ซึ่งควรมีในเลือดไม่ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไขมันทั้งสองนี้ได้ถูกแปลให้เข้าใจง่ายว่าเป็น คอเลสเตอรอลเลวและคอเลสเตอรอลดี ตามลำดับ เพราะว่าไลโปโปรตีนชนิดแรกนั้น ถ้ามีมากในเลือดแล้วจะเป็นดัชนีว่า หัวใจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสูง ส่วนไลโปโปรตีนชนิดหลัง ถ้ามีมากในเลือด ก็หมายความว่า หัวใจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นกับปัจจัยทาง พันธุกรรมและการใช้พลังงานในแต่ละวันด้วยอย่างไรก็ดีแม้ว่านักวิทยาศาสตร์สุขภาพชาวอเมริกันจะเห็นพ้องต้องกันในปัจจุบันว่า ความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไรแล้ว ท่านผู้บริโภคอย่าละเลยหลักการสำคัญทางโภชนาการที่ว่า ไม่พึงกินอะไรให้อิ่มมากเกินจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารมันๆ นั้นควรกลัวเข้าไว้ มิเช่นนั้นเวลาไปตรวจสุขภาพแล้วผลเลือดออกมาว่า คอเลสเตอรอลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป คุณหมอที่ดูแลสุขภาพท่านอาจมีเคืองได้ในฐานที่ท่านไม่ใส่ใจในคำแนะนำ
สำหรับสมาชิก >วันนี้ใครๆ ก็สามารถรู้ได้ว่าใช้พลังงานไปเท่าไร เดินไปแล้วกี่ก้าว นอนหลับเพียงพอหรือยัง และยังสามารถแชร์กิจกรรมการออกกำลังกายหรือท้าแข่งกับเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ได้อีก ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะอุปกรณ์วัดความฟิตของร่างกายชนิดที่ใช้สวมรอบข้อมือนั่นเอง ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบที่ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียทำไว้มาฝากสมาชิกเพื่อประกอบการตัดสินใจอุปกรณ์ที่ลงสนามครั้งนี้มีทั้งหมด 13 รุ่น สนนราคาตั้งแต่ 2,590 บาทไปจนถึง 13,000 ส่วนใหญ่สามารถใช้ได้กับแอปแอนดรอยด์และ IOS และมีฟังก์ชั่นพื้นฐานอย่างการนับก้าว วัดระยะทาง หรือนับแคลอรี หรือวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่จะแตกต่างกันในเรื่องการบันทึกข้อมูล(ด้วยแอปเสริม) เช่น การนอนหลับ อาหารที่รับประทาน หรือการแชร์ข้อมูลในสังคมออนไลน์ เป็นต้นการทดสอบครั้งนี้พบว่าอุปกรณ์ทั้งหมดมีระดับความเที่ยงตรงในการวัดเกินร้อยละ 90 แต่คะแนนจะแตกต่างกันในเรื่องของความยากง่ายในการใช้งาน (ตั้งค่า อ่านค่า จัดการข้อมูล) หรือความสบายในการสวมใส่ ก่อนตัดสินใจซื้ออย่าลืมขอลองสวมและใช้งานก่อนด้วย No pain, no gainงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตท ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise พบว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่า อุปกรณ์นี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง “ความไม่อยากเคลื่อนไหว” ของพวกเขาได้ แม้ว่าดร. เกรกอรี่ เวล์ค หัวหน้าทีมวิจัยจะยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคือสิ่งที่สำคัญกว่า แต่เขาก็พบว่าอุปกรณ์นี้มีประโยชน์ในการทำให้ผู้คนประเมินตนเองได้เที่ยงตรงมากขึ้น การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าคนส่วนใหญ่จะประเมินระดับการใช้พลังงานของตัวเองสูงเกินจริงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีน้ำหนักเกิน
สำหรับสมาชิก >พูดถึงพืชผักผลไม้ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสารเคมีตกค้าง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกประการหนึ่งของไทย ยิ่งเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่เปิดเผยผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี พบว่า ตัวอย่างผักผลไม้ที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q มีสารพิษตกค้างเกินค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRL มากที่สุดถึงร้อยละ 57.14เรียกได้ว่าข่าวนี้เพิ่มความไม่ไว้ใจต่ออาหารของผู้บริโภคและสะเทือนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของเครื่องหมาย Q ถึงขนาดว่ากรมวิชาการเกษตรตั้งท่าจะฟ้อง Thai-PAN ในข้อหาหมิ่นประมาท ขณะที่ Thai-PAN ก็ตอบรับด้วยการบอกว่าจะฟ้องกลับฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะทำความรู้จักกับเครื่องหมาย Q และปัญหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร ที่ไม่ใช่แค่มิติแคบๆ ว่าเพราะเกษตรกรเห็นแก่ตัว แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนสารเคมี-คิว-อาหารปลอดภัย ปัญหางูกินหาง ผู้บริโภคไม่มั่นใจ ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่รู้กันในวงกว้างจนอาจไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันอีก มันไม่ใช่แค่ว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมากและส่งต่อยาพิษสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบที่ทำให้เรื่องนี้แก้ยากกว่าที่คิด (ดูล้อมกรอบ-สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด) และแล้วมันก็สร้างเขาวงกตอันวกเวียนให้เรื่องนี้ เพราะเมื่อสารเคมีตกค้างเป็นปัญหา ภาครัฐซึ่งพยายามส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยก็ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่สามารถควบคุมที่ต้นตออย่างการจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้สารเคมีได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคืออิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ ในบรรดานโยบายยิบย่อยเหล่านั้นก็มีเครื่องหมายคิวรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย คิวจึงเกิดขึ้นเพื่อการันตีว่าผักผลไม้ที่ติดเครื่องหมายนี้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งแน่นอนว่า ราคาของพืชผักประเภทนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าตามท้องตลาดโดยทั่วไป ทว่าการตรวจสอบของ Thai-PAN กลับทำให้เห็นว่า คิวไม่สามารถการันตีได้ทั้งที่จ่ายแพงกว่า แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร อิสรีย์ เจียมอนุกูลกิจ เป็นคนหนึ่งที่บริโภคผักผลไม้อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและคิดว่าผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารมีรสชาติดีกว่า โดยปกติเธอจะซื้อสินค้าเหล่านี้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและตลาดนัดเกษตรกรบางโอกาส แม้เธอจะไม่รู้จักเครื่องหมายคิวมาก่อน แต่เมื่อเธอรู้ข่าวเรื่องนี้ เธอบอกว่า“รู้สึกหดหู่และผิดหวังที่เราให้ความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เจ้าของฟาร์มได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากในกรุงเทพฯ เลยเลือกมองเรื่องความสด สะอาด และรสชาติแทน และหลีกเลี่ยงผักที่มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีเยอะๆ”----------------------------------------------------------------------------------------------- สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด การปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้เป็นเพียงปลายเหตุของห่วงโซ่ปัญหาที่ยาวกว่านั้น รากฐานปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือประเทศไทยไม่มีการควบคุมดูแลการนำเข้าและการใช้สารเคมีให้อยู่ในร่องในรอย โดยข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2553-2558 เรียงตามลำดับคือ 117,815 ตัน, 164,538 ตัน, 134,480 ตัน, 172,826 ตัน, 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมดจากต่างประเทศ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งการที่สารเคมีตัวหนึ่งจะขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการว่าปลอดภัย หมายถึงไม่มีพิษเกินไปทั้งต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ไม่มีการตกค้างยาวนาน การลดจำนวนการขึ้นทะเบียนสำหรับสารเคมีอันตรายถือเป็นการควบคุมชั้นที่หนึ่ง “ชั้นที่ 2 คือควรมีการควบคุมการขาย การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลการใช้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ คือทุกครั้งที่ชี้ปัญหานี้ขึ้นมาก็จะโทษว่าเกษตรกรเห็นแก่ตัว แค่นี้มันแก้ปัญหามั้ย อันนี้เป็นโจทย์การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมวิชาการเกษตรที่ยังทำหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องได้ เขาห้ามใช้ในอาหารก็เอาไปใช้ ห้ามใช้ในข้าวก็ใช้ในข้าว คือสารเคมีเวลาขึ้นทะเบียนจะถูกระบุด้วยว่าใช้ในอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถูกใช้ทั่วไปดังนั้นต้องคุมที่การขายด้วยว่าเอาไปใช้อะไร คนขายจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ได้รับการอบรมเหมือนการขายยารักษาโรค คุณปลูกคะน้า ปลูกแตงโม ใช้อันนี้ๆ ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับทุกสิ่งอย่าง นี่คือการควบคุมกำกับดูแลการใช้ ซึ่งหมายถึงคุณต้องไปควบคุมที่การขายและการโฆษณา”เปรียบเทียบผลย้อนหลัง แนวโน้มดีขึ้นThai-PAN ทำการสำรวจสารเคมีตกค้างในผักตั้งแต่ 2555-2559 (ยกเว้นปี 2556 ที่ตรวจข้าวบรรจุถุงแทน) พบว่า กลุ่มสินค้าผักซึ่งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2555, 2557 และ 2558 เมื่อนำข้อมูลภาพรวมทั้ง 3 ปีมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2559 โดยนำเฉพาะการวิเคราะห์สารตกค้างใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น พบว่า ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลดลงเป็นลำดับ จากที่เคยพบสูงถึงร้อยละ 48.57 ในปี 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 38.71 ในปี 2557 ร้อยละ 22.50 ในปี 2558 และลดลงเหลือร้อยละ 17.98 ในปี 2559มองในแง่นี้หมายความว่า การสุ่มตรวจสอบตัวอย่างและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะช่วยสร้างการตื่นตัวและผู้ประกอบการเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลดการปนเปื้อน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เชื่อว่าวิธีการนี้ Thai-PAN มาถูกทาง“กลุ่มที่เราจับตาดูมีแนวโน้มดีขึ้น คือมีการตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานน้อยลง แสดงว่าเมื่อชี้ปัญหา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข มีการระวังตัวมากขึ้น ดีขึ้น แต่พอมาปีนี้เราขยายขอบเขตการตรวจ จากเดิมเราตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 90 กว่าชนิด ปีนี้ตรวจหาเพิ่ม 450 ชนิด ตัวเลขก็เลยขึ้นมา อันที่เราไม่เคยเจอก็เข้ามา ถ้าเราจับตาดูเพิ่มขึ้น ชี้เป้ามากขึ้น มันก็มีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมตัวสารเคมีตกค้างมากชนิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าอาหารเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น”การเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ตรวจหาทำให้พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตราคิวพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดจากทุกแหล่ง โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.14ตีให้ตรงจุด ภายหลังที่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกมาโดย Thai-PAN กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาโต้แย้งและพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายคิว 2 ประเภท แต่นี่คงไม่ใช่จุดที่ต้องขยายความให้ยืดยาว เพราะอะไร? กิ่งกรชี้ประเด็นว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ผู้บริโภคย่อมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ ย่อมมีความปลอดภัย คงไม่ใช่หน้าที่ที่จำเป็นนักที่ผู้บริโภคจะต้องแยกแยะได้ว่าอะไรคือความต่างของเครื่องหมายคิวแต่ละชนิด “ประเด็นหลักของเราไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร หรือไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่การมีตราคิวติด ถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร กรมวิชาการเกษตรหรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ต้องไปดูว่าใครเอาตราของตนเองไปใช้โดยไม่ถูกต้อง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก ถ้าผู้บริโภคซื้อไปด้วยความเข้าใจว่าเป็นตราคิวจริง มีตัวเลขการรับรองเป็นปัจจุบัน ใช้ถูกต้อง แต่สินค้าผิดสเป็กก็เป็นหนึ่งประเด็น แต่ถ้าไม่ใช่ตราคิวจริงหรือปลอมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับตรานี้ไปใช้ เอาไปใช้โดยผิดกฎหมาย ทั้งสองประเด็นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็ของเจ้าของตรา เราคิดว่านี่คือการปล่อยปละละเลยที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำเสมือนว่าคุณปล่อยให้ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการหลอก โดยเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่อ้างมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจะซื้อได้ตามท้องตลาด” กิ่งกร อธิบายอะไรคือจุดอ่อนของเครื่องหมายคิว?ผศ.พีรชัย กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ตรวจอิสระของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) อธิบายว่า ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกรก่อน เพราะว่ากระบวนการตรวจสอบโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับระบบคุณภาพแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของตัวสินค้า ผู้ผลิตต้องมีความตระหนักเรื่องนี้ก่อน สองคือเรื่ององค์กรรับรอง ผู้ตรวจก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป หมายถึงผู้ตรวจตรารับรอง ในองค์กรรับรองก็จะมีตัวมาตรฐานว่าข้อหนึ่งสองสามต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องศึกษาก่อนว่าถ้ารับการรับรองจากมาตรฐานนี้ เราจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัว แล้วพอผู้ตรวจไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้งก็จะเขียนรายงานขึ้นมา แล้วก็จะมีกรรมการอีกชุดหนึ่งเรียกว่าอนุกรรมการรับรอง อนุฯ นี้ก็จะดูจากเอกสารและพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ นี่คือกระบวนการคร่าวๆ“แต่อันที่จริงถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์และทำตามมาตรฐาน มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กระบวนการรับรอง เราไม่ได้รับรองตัวผลผลิต แต่เรารับรองกระบวนการผลิต หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการป้องกันการปนเปื้อนหรือสารเคมีในทุกขั้นตอน แต่โดยธรรมชาตก็มีสารเคมีล่องลอยอยู่แล้ว ปนเปื้อนได้บ้าง แต่ต้องไม่เกิดค่ามาตรฐาน”การตรวจสอบของ มกท. จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลผลิตมีควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เช่น เกษตรกรแจ้งมาว่าจะปลูกผักกวางตุ้ง 1 ไร่ ในรอบการผลิตนั้นในระบบอินทรีย์ปริมาณการผลิตไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ถ้าปริมาณสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติก็ต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุใด มีการสวมสิทธิ์หรือไม่ การรับรองของ มกท. เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระเงินเพื่อรับการตรวจ หากผ่านก็จะได้รับการรับรองจาก มกท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอีกทีจากสหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือไอโฟม (International Federation of Organic Agricultural Movement: IFOAM) หมายความว่าตัวเกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะได้รับการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่ตัวองค์กรผู้ตรวจเองก็ต้องรักษามาตรฐานการตรวจสอบของตนเพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแต่ในกรณีเครื่องหมายคิว ผศ.พีรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องหมายคิวเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบคล้ายๆ กับ มกท. เพียงแต่มีข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบและมีรอบของการทำงาน แต่เพราะมีการให้การรับรองจำนวนมาก แบบปูพรม ตัวนโยบายก็ต้องการให้เกษตรกรได้เครื่องหมายคิว ทำให้การติดตามตรวจสอบหรือการตรวจซ้ำอาจมีปัญหา ผศ.พีรชัย ประเมินจากระบบว่า“ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ พอได้คิวแล้วก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ พอจังหวะราคาดีก็อาจจะเร่งโดยการใช้สารเคมีเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผลผลิตได้จำนวนหรือผักสวยตามที่ตลาดต้องการ ด้านหน่วยงานรัฐ งบประมาณที่ลงไม่มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ก็ทำตามงบประมาณ แต่ระบบของเอกชน คุณต้องจ่ายเงิน เหมือนกับเราซื้อตรา ซื้อความมั่นใจ แต่เราไม่สามารถปั๊มตราเองได้ ต้องให้องค์กรตรวจสอบมารับรองเรา องค์กรตรวจสอบก็ต้องเอาจริงเอาจัง หลุดไม่ได้ เพราะเกษตรกรอุตส่าห์จ่ายตังค์ให้ได้ตรา ทำแบบนี้ ความเชื่อมั่นระยะยาวจะไม่เกิดแต่คิวเป็นของฟรี หน่วยราชการบริการ มีข้อจำกัดด้านกำลังคน งบประมาณ บางทีการตรวจสอบไปไม่ถึง ลงรายละเอียดไม่ถึง ก็อาจจะมีจุดบกพร่องหรือรั่วไหล แต่ราชการก็พยายามชูคิวขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ามีมาตรฐาน มีการรับรอง แต่ว่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น อันนี้ก็เป็นข้ออ่อนประการหนึ่ง”คราวนี้ลองมาฟังเสียงเกษตรกรบ้าง สุรศักดิ์ ใจโปร่ง เจ้าของสวนฟุ้งขจร-บึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 9 ปี เขาเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องหมายคิวรับรองเรื่องกระบวนการผลิตในด้านหนึ่ง สุรศักดิ์มองว่า สินค้าเกษตรปลอดภัยหรืออินทรีย์ ตลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เครื่องหมายคิวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม จากพื้นฐานที่เริ่มจากตลาดสีเขียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ทำให้สุรศักดิ์มีทัศนะว่า ตลาดสีเขียวเน้นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ส่วนเครื่องหมายคิวเป็นปัจจัยในการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น “คิวที่เราเห็นตามห้าง เหมือนเป็นกลลวงทางสังคมที่ว่าเป็นการแอบอ้าง คิวเป็นแค่ความปลอดภัย ไม่มีความเชื่อใจเป็นส่วนผสม ตรวจปีละครั้ง แต่เราจะเข้าสู่สังคม เราก็ต้องเอามาตรฐานคิวเป็นก้าวแรก ที่เราเห็นมีการปนเปื้อนเยอะ จุดหนึ่งเพราะเกษตรกรไม่มีพื้นที่ปลูกของเขาเอง ต้องไปรับซื้อจากเกษตรกรที่เขาเชื่อใจระดับหนึ่ง ถ้าคนเรามีความโลภ ขาดจิตสำนึก ก็จะมองแค่จะขายผลผลิตเยอะ ก็ขัดกับหลักการเกษตรอินทรีย์ของเรา ที่จะไม่เน้นผลผลิต แต่เน้นทำงานด้วยความสบายใจ ผักที่เราให้กับผู้บริโภคเราคิดว่ามันเป็นยา ไม่ทำให้เขาไม่สบาย ให้ผู้บริโภคได้ทานของที่ดีที่สุด” ขณะที่ ผศ.พีรชัยและสุรศักดิ์จะให้มุมมองเรื่องความซื่อสัตย์ของตัวเกษตรกรว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ด้านกิ่งกรกลับแสดงทัศนะอีกมุมหนึ่งเชิงระบบว่า การผลิตสินค้าเกษตรมีคนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จำนวนมาก การรับรองก็มีรายละเอียดที่ยุ่งยาก เช่น เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานในพื้นที่กี่แปลงและในพื้นที่แปลงนั้นผลิตอะไรบ้าง จะต้องมีการทำบัญชีตามระบบ ถ้าได้รับการรับรองคะน้า กะหล่ำ ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดอื่นจะได้รับการรับรองตามไปด้วย จึงต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กิ่งกร กล่าวว่า ตัวระบบฐานข้อมูลตรวจสอบรับรองค่อนข้างมีปัญหา ระบบมาตรฐานที่ดีตัวระบบฐานข้อมูลต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเกษตรกรคนหนึ่งได้รับการรับรองเป็นเนื้อที่กี่ไร่ มีผลผลิตอะไรบ้างในปีนั้นๆ ระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจะมีการรับรองกันปีต่อปี มีการสุ่มตรวจสอบ ดังนั้น “ถ้าระบบตรวจเช็คไม่ดี มันสอดไส้ได้ตลอดเวลา บอกเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ แน่นอน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ทำได้ตลอด ได้ทุกทาง เช่นเอามาสวม เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือตลอดทั้งระบบ ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดีรองรับและมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ แล้วคนทำทำตามหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเซ็นชื่อ จะมาบอกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ มันไม่ใช่ประเด็น” กล่าวโดยสรุปคือจะต้องมีระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างที่รากเหง้าอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังปล่อยปละละเลยการจำกัดการนำเข้าสารเคมีจนท่วมประเทศเช่นเวลานี้--------------------------------------------------------------------------------------------------------เครื่องหมาย Q คืออะร? คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือเครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของลักษณะของเครื่องหมาย การได้มาก การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมาย Q มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากและซับซ้อน ในที่นี้จึงขออธิบายเฉพาะเครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหารโดยย่นย่อเครื่องหมายรับรอง Q หมายถึง เครื่องหมายรับรองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้เพื่อแสดงถึงการให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น (Essential Quality) โดยผู้ที่ต้องการใช้เครื่องหมาย Q จะต้องยื่นคำขอกับหน่วยรับรอง ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่หน่วยรับรองกำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงสามารถติดเครื่องหมาย Q บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น โดยผู้ได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการรับรองผลิตภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายรับรองที่หน่วยรับรองกำหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตในระดับฟาร์มของสินค้าเกษตรต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง, ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามีปัญหา และสินค้าต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จำเป็นและตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกำหนด เป็นต้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.acfs.go.th/qmark
สำหรับสมาชิก >สังคมไทยเรามีระบบคิดเรื่อง การเคารพนับถือผู้อาวุโสและบรรพบุรุษในสายเครือญาติ ระบบคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่ฝังรากอยู่ลึก หากแต่ยังแปรรูปแปลงร่างกลายมาเป็นความเชื่อในชีวิตประจำวันเรื่องการเคารพบูชาผีบรรพบุรุษ โดยผีที่ดำรงอยู่ในสถาบันครัวเรือนและมีบทบาทใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” หรือเราอาจเรียกต่างกันไปว่า “ผีเหย้าผีเรือน” หรือ “ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน” นั้น เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกัน ที่ด้านหนึ่งสมาชิกสังคมรุ่นหลังต้องแสดงกตเวทิตาต่อบรรพชนของตนเอง โดยมีวัตรปฏิบัติที่ลูกหลานต้องกระทำกันสืบเนื่องอย่างการเซ่นไหว้และบวงสรวงเคารพบูชา เพื่อที่อีกด้านหนึ่งผีบ้านผีเรือนท่านก็จะได้คุ้มครองและนำพาความสุขความเจริญมาให้กับสมาชิกครัวเรือนนั้นๆ อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ว่าผีบ้านผีเรือนจะเป็นความเชื่อที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าการรับรู้ความเชื่อดังกล่าวจะสถิตเสถียรโดยไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง และหากเราอยากรู้ว่าผีบ้านผีเรือนยุคใหม่ได้ปรับเปลี่ยนลุคโฉมโนมพรรณกันไปอย่างไร ก็คงต้องสัมผัสผ่านภาพตัวละคร “ไรวินท์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” จับความตามท้องเรื่องของละคร เริ่มต้นจากนางเอก “แพรขาว” ที่สามี “พัสกร” ไปคว้าผู้หญิงอื่นมาเป็นอนุภรรยา เธอจึงตัดสินใจหอบ “ชมพู” ผู้เป็นลูกสาวมาเช่าบ้านริมน้ำเพื่ออยู่กันเพียงลำพังสองแม่ลูก และเป็นที่บ้านริมน้ำแห่งนี้เองที่วิญญาณเจ้าบ้านเจ้าเรือนของไรวินท์ ได้ออกมาปกป้องแพรขาวทั้งจากสามีและภยันตรายต่างๆ และก็เป็นที่นี่อีกเช่นกัน ที่แพรขาวได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตชาติว่า ทำไมไรวินท์จึงกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนติดอยู่ในเรือนริมน้ำหลังนั้น ในอดีต ไรวินท์เป็นชายหนุ่มรูปงาม แต่มีบิดาที่เจ้าชู้และทิ้งมารดาของเขาไปอยู่กินกับภรรยาใหม่ แม้จะมีบทเรียนจากชีวิตคู่ของบิดามารดามาก่อน แต่ก็เข้าตำราที่ว่า “เกลียดสิ่งใดก็กลับเลือกเป็นสิ่งนั้น” เมื่อไรวินท์ตกลงตามใจมารดาโดยยอมแต่งงานกับ “สีนวล” เขากลับเลือกเจริญรอยตามประวัติศาสตร์ความผิดพลาดของบิดา อันเป็นปมปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง เพราะถูกจับคลุมถุงชน กับเพราะผู้หญิงอย่างสีนวลก็ไม่ใช่คนที่เขารัก ดังนั้นภายหลังแต่งงานกัน ไรวินท์จึงยังคงเลือกคบและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกมากหน้าหลายตา ตั้งแต่สาวน้อยแรกรุ่นอย่าง “บัวน้อย” น้องสาวของเพื่อนรักอย่าง “รำไพ” หญิงสาวมีหน้ามีตาทางสังคมอย่าง “สุดสวาท” และผู้หญิงที่เขาหลงใหลหัวปักหัวปำยิ่งอย่าง “มาลาตี” ชะตากรรมของสีนวลที่แม้จะเป็นเมียแต่งอยู่ในเรือนหลังงาม จึงไม่ต่างจากการตกอยู่ในบ่วงพันธนาการที่มีเสียงเพลง “จำเลยรัก” ก้องอยู่ในห้วงจิตใจตลอดเวลาว่า “เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไย ฉันทำอะไรให้เธอเคืองขุ่น กักขังฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนบาป...” จนเมื่อลูกสาวของทั้งคู่จมน้ำเสียชีวิต ไรวินท์จึงสบโอกาสขอแยกทางกับสีนวล โดยยกเรือนหลังใหญ่และสมบัติทั้งหมดให้เธอครอบครอง จวบจนวาระสุดท้ายของสีนวลผู้ที่ภักดีแต่มีจิตใจแหลกสลาย เธอก็ได้แต่เอามีดกรีดข้างเสาเรือนเพื่อรอคอยเขาแบบนับวันนับคืน จนตรอมใจตายในที่สุด ดังนั้น เมื่อไรวินท์ที่ชีวิตบั้นปลายถูกผู้หญิงที่เขาหลงใหลอย่างมาลาตีหลอกลวงจนสิ้นเนื้อประดาตัว ได้กลับมาที่เรือนงามหลังใหญ่อีกครั้ง เขาจึงเสียชีวิตลงโดยถูกพันธนาการไว้ด้วยแรงแค้นของวิญญาณสีนวล และกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่แพรขาวมาพำนักอาศัยอยู่นั่นเอง ด้วยโครงเรื่องที่ดูซับซ้อนซ่อนปม แต่อีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้ผูกเรื่องให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อเรื่องผีของคนไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ ตามจินตกรรมของคนไทย ผีบรรพบุรุษมักถูกรับรู้ว่ามีรูปลักษณ์เป็นชายแก่สูงวัย ปรากฏตัวในชุดไทยโบราณ นุ่งโจงกระเบนบ้างหรือก็อาจเป็นผ้าม่วง และสถิตอยู่ในศาลพระภูมิที่ผ่านกาลเวลายาวนานของบ้านแต่ละหลัง แต่เพราะไรวินท์เป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่สืบต่อมาถึงยุคปี 2016 เยี่ยงนี้ เขาจึงเป็นผีเจ้าเรือนที่มีภาพลักษณ์เป็นชายหนุ่มรูปงาม ปรากฏร่างในชุดสูทสีขาวตลอดเวลา สถิตพำนักในศาลพระภูมิที่ดูโอ่อ่าหรูหรา ไปจนถึงมีกิจกรรมยามว่างที่คอยเล่นเปียโนขับกล่อมแพรขาวและคนในบ้านให้รู้สึกรื่นรมย์ แม้จะมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นนี้ แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ละครได้ทดลองสลับบทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายให้กับตัวละครหลักของเรื่องไปด้วยในเวลาเดียวกัน หากย้อนกลับไปดูเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านอย่าง “โสนน้อยเรือนงาม” ที่ถูกนางกุลากักขังให้เป็นข้าทาสทอผ้าย้อมผ้าอยู่ในเรือนหลังงาม จนมาถึงนางเอก “โสรยา” ในละคร “จำเลยรัก” หรือ “ภัทรลดา” ในละคร “ทางผ่านกามเทพ” นั้น ตัวละครผู้หญิงมักถูกนำเสนอให้กลายเป็นผู้ถูกขูดรีดและถูกกระทำทั้งกายวาจาใจ และคอย “เชิญคุณ(ผู้ชาย)ลงทัณฑ์บัญชา จนสมอุราจนสาแก่ใจ...” แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไรวินท์กับสีนวลแล้ว เมื่อทั้งคู่ได้สิ้นใจวายปราณลง อำนาจที่ผกผันทำให้ผีสีนวลได้พันธนาการวิญญาณของไรวินท์หนุ่มรูปงามได้กลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน และทำให้เขาซาบซึ้งความรู้สึกของการถูกกักขังในเรือนริมน้ำ แบบที่ครั้งหนึ่งสีนวลเคยสัมผัสมาแล้วเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ละครมอบหมายบทบาทให้แพรขาวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือเป็นผู้หารายได้ต่างๆ เข้ามาในครัวเรือน ผีเจ้าเรือนอย่างไรวินท์ก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่เลี้ยงเด็กและเป็นเพื่อนเล่นของลูกสาวแพรขาว อันเป็นพันธกิจที่เขาไม่เคยทำมาก่อน โดยมีวิญญาณของสีนวลคอยใช้อำนาจจับตามองและประเมินผลดูว่า พฤตินิสัยและการปฏิบัติตัวของอดีตสามีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร จนเมื่อผู้ชายอย่างไรวินท์เริ่มเข้าอกเข้าใจและค่อยๆ เปลี่ยนทัศนะจาก “คนบาป” มาเป็น “พ่อนักบุญ” แบบที่เขาได้กล่าวกับแพรขาวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ยอมสละตนอย่างถึงที่สุดเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน” เมื่อนั้นวิญญาณของไรวินท์ก็ได้หลุดพ้นบ่วงกรรมและการถูกกักกันเอาไว้ในเรือนงาม บนความสัมพันธ์ของหญิงชายในชีวิตจริงนั้น คงไม่ต้องรอกักขังบุรุษเพศให้เป็นผีเจ้าบ้านเจ้าเรือนแต่อย่างใด หากเพียงผู้ชายได้ตระหนักว่าผู้หญิงไม่ใช่ “โสนน้อยเรือนงาม” หรือ “จำเลยรัก” ที่อยู่ใต้อาณัติบงการแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ที่เคียงคู่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ก็จะเกิดขึ้นได้ในเรือนหลังงามเช่นเดียวกัน
สำหรับสมาชิก >