ในระบอบทุนนิยมนั้น วัตถุที่เรียกว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสิ่งของต่างๆ ประโยคในบทเพลงที่บอกว่า “มีเงินเดินซื้อสินค้าได้...” หรือ “คนเราเคารพคบกันที่เงิน...” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะสร้างเงินขึ้นมา แต่ท้ายที่สุด มนุษย์เราก็กลับก้มหัวยอมสยบให้กับอำนาจของ “พระเจ้าเงินตรา” ได้ด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแต่เงินจะใช้เพื่อจับจ่ายซื้อวัตถุหรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้เท่านั้น ทุกวันนี้เงินยังมีอำนาจซื้อได้แม้แต่กับจิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนกระทั่งชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน ดุจเดียวกับที่ “อนุศนิยา” ลูกสาวทายาทมหาเศรษฐีรายใหญ่ ได้ใช้เงิน 60 ล้านบาทซื้อ “คุณหมอศตวรรษ” มาเป็น “สามีเงินผ่อน” ครอบครองเป็นคู่ชีวิตของเธอ เพราะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือถือกำเนิดในครอบครัวของมหาเศรษฐีรายใหญ่ อนุศนิยาจึงเป็นผู้หญิงที่เหมือนจะเลิศเลอเพอร์เฟ็คในทุกทาง รูปสวย รวยทรัพย์ การศึกษาดี ฐานะทางสังคมไม่ด้อยกว่าใคร แต่ทว่าลึกๆ แล้ว แม้ว่าฉากหน้าจะมีความสุขจากการเสพวัตถุต่างๆ แต่ฉากหลังของอนุศนิยากลับถูกทดสอบด้วยคำถามว่า วัตถุและเงินทองเป็นเพียง “ของมายา” หรือเป็นความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเธอกันแน่? กับบททดสอบแรก อนุศนิยาต้องเรียนรู้ว่า แม้จะ “คาบช้อนเงินช้อนทอง” ติดตัวมาเกิดเป็นทายาทมหาเศรษฐี แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินทอง เหมือนกับที่ “นันทพล” บิดาของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคไต ก็เป็นโรคสมัยใหม่ที่มักจะเกิดในบรรดาหมู่ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย และก็มักต้องมีรายจ่ายให้กับค่าซ่อมบำรุงร่างกายแบบแพงแสนแพงเช่นกัน แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร อนุศนิยาจึงยังต้องวุ่นวายกับปัญหาการช่วงชิงทรัพย์สินในกองมรดกจากบรรดาคุณอาผู้หญิงทั้งสี่ ที่ทุกคนต่างคอยตอดเงินกงสีของตระกูลอยู่เป็นประจำ จนไปถึงปัญหาระหว่างเธอกับอาแท้ๆ อย่าง “ชยากร” ที่คิดกับเธอมากไปกว่าความสัมพันธ์แบบอากับหลาน ส่วนบททดสอบที่สองนั้นก็คือ “โสมมิกา” คาสโนวี่สาวประจำแวดวงไฮโซ ที่แม้ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอนุศนิยามาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่เพราะทั้งคู่ต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยและโดดเด่นในวงสังคมไม่แพ้กัน ต่างคนจึงหมั่นไส้และอิจฉาตาร้อนจนไม่เคยมีมิตรภาพที่แท้จริงให้แก่กันแต่อย่างใด แต่ทว่า บททดสอบเรื่องสายสัมพันธ์ที่เปราะบางในครอบครัว หรือความขัดแย้งแบบ “เพื่อนที่ไม่รัก แถมหักเหลี่ยมโหด” ก็ยังไม่เทียบเคียงกับบททดสอบสุดท้าย ที่ไม่เพียงสำคัญยิ่ง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลักในชีวิตของอนุศนิยา บทเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ “เสาวรส” มารดาของหมอศตวรรษ ได้เล่นการพนันเกินตัว จนติดหนี้ครอบครัวของอนุศนิยาถึง 60 ล้านบาท และได้ยื่นข้อเสนอให้บุตรชายของเธอมาแต่งงานเป็นสามีในนามกับอนุศนิยา เพียงเพื่อขัดดอกผ่อนชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าว ในแง่หนึ่งหมอศตวรรษเองก็อาจ “ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกปราสาทงามให้เธอ” และ “ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ร่ำรวยจ่ายเงินเร็วร้อนแรง” เพราะเขาก็เป็น “เพียงผู้ชายคนนี้ที่มีใจมั่นรักเธอ” ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นที่อนุศนิยาเห็นว่าหนี้สิน 60 ล้านบาทเป็นตัวกั้นกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา เธอจึงตั้งแง่ดูถูกและรังเกียจเขาที่ยินยอมเสียศักดิ์ศรีมาแต่งงานเป็นสามีขัดดอกแลกเปลี่ยนกับหนี้ที่มารดาของเขาได้ก่อเอาไว้ จนเมื่อภายหลัง เพราะคุณงามความดีของหมอศตวรรษ ผู้เป็นลูกที่ดีของมารดา เป็นชายหนุ่มที่รักษาสัญญาและมุ่งมั่นทำงานเพื่อปลดหนี้ให้แม่ เป็น “สามีแห่งชาติ” ในสายตาของผู้หญิงทั้งหลายทั้งในจอและนอกจอ และอาจเป็นชายที่ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” แต่ความดีที่เขาแสดงให้ประจักษ์จริง ก็สามารถพิชิตหัวใจของอนุศนิยาได้ในที่สุด แต่แน่นอน บททดสอบเรื่องอำนาจของเงินกับคุณงามความดีของมนุษย์ย่อมต้องมีคลื่นมากระทบแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เมื่อในอีกฟากความคิดของอนุศนิยาก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า “แข็งดังเหล็กเงินก็มักจะง้างได้เสมอ” เธอจึงถูกทั้งชยากรและโสมมิการ่วมกันวางแผนปั่นหัวทำลายความรักและสร้างความร้าวฉาน จนทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เสมือนแก้วอันเปราะบางอยู่แล้วนั้น แทบจะล่มสลายภินท์พังลงไป มีคำอธิบายที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ในอดีตนั้น มนุษย์เราสร้างวัตถุสิ่งของขึ้นมา และมักใช้วัตถุนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้พันผูกกันในทางความรู้สึก เช่น เวลาผู้ใหญ่ให้วัตถุสิ่งของแก่เด็กหรือลูกหลาน หรือเวลาคนเราให้ของขวัญที่ระลึกแก่กันและกัน เป้าหมายของการใช้วัตถุสิ่งของแบบนี้ก็เพื่อผูกสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นเข้าไว้ด้วยกัน แต่ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมได้ทำให้วัตถุไม่ได้ทำหน้าที่ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นคนเราที่ทำหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านให้วัตถุชนิดหนึ่ง (หรือเงิน) เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุชนิดอื่นเป็นการทดแทน แบบที่ทั้งอนุศนิยาและโสมมิกาต่างก็คิดว่า การมีเงินในมือเป็นสิบๆ ล้านนั้น สามารถใช้ซื้อวัตถุหรือแม้แต่คนมาครอบครองได้นั่นเอง บนสายสัมพันธ์ที่คนไม่ได้เชื่อมโยงคนผ่านวัตถุสิ่งของ แต่กลับเป็นสิ่งของที่ใช้คนเป็นทางผ่านเชื่อมโยงไปสู่วัตถุหรือเป้าหมายใดๆ เช่นนี้ ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยาก หรือแม้จะมีอยู่บ้าง ก็พร้อมจะล่มสลายไปได้ไม่ยากนัก เพียงเพราะเงินได้กลายเป็นวัตถุที่มีอำนาจเข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรา ต้องผ่านบททดสอบหลายข้อกว่าถึงฉากจบที่อนุศนิยาจะเข้าใจว่า เฉพาะคนที่เชื่อมั่นว่า “เงินคือพระเจ้า” เท่านั้นจึงยอมก้มหัวสยบให้กับอำนาจของพระเจ้าเงินตรา จนเมื่ออนุศนิยาตระหนักได้ว่า “ผู้ชายดีๆ เขาไม่ได้มีไว้ขาย อยากได้เธอต้องสร้างเอง” หรือเริ่มเรียนรู้ว่า เงิน 60 ล้านก็เป็นเพียงวัตถุที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนให้กับคนเรา ความรักของเธอที่มีต่อผู้ชายธรรมดาและ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” อย่างหมอศตวรรษ ก็สามารถทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่ใน “ปราสาทงามเลิศเลอ” ได้ไม่แพ้กัน
สำหรับสมาชิก >เดี๋ยวนี้ “แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ” ที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปไม่ได้มีคุณสมบัติแค่การป้องกันรอยขีดข่วนที่จะเกิดกับหน้าจอมือถือของเราเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนใช้งานโทรศัพท์มือถือ 1 ในนั้นก็คือ คุณสมบัติในการป้องกัน “แสงยูวี” และ “แสงสีฟ้า” ซึ่งเป็นแสงที่ถูกส่งผ่านมาจากหน้าจอมือถือ เป็นแสงที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา ยิ่งทุกวันนี้หลายคนใช้ชีวิตแบบติดหน้าจอ ใช้เวลาอยู่กับการจิ้มและสไลด์ไปบนหน้าจอมือถือสมาร์ทโฟนเกือบตลอดทั้งวัน นั้นเท่ากับว่าดวงตาของเรากำลังถูกแสงจากหน้าจอมือถือทำร้ายไปเรื่อยๆแต่อย่างที่บอกว่าปัจจุบันเรามีแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันอันตรายจากแสงยูวีวางจำหน่ายให้คนใช้สมาร์ทโฟนได้เลือกซื้อหามาใช้งาน หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่เราซื่อมาป้องกันแสงยูวีได้จริง ฉลาดซื้อจึงขอรับอาสานำตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือไปทดสอบดูสิว่า มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวีและแสงสีฟ้าได้จริงตามที่โฆษณาหรือไม่ และแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการป้องกันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนการทดสอบเราได้เลือกตัวอย่าง แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยทั้ง 5 ตัวอย่างเป็นแผ่นกันรอยชนิดที่เป็นกระจกนิรภัย รุ่นที่ใช้สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน iPhone6 ประกอบด้วย1. Hishield รุ่น Blue Light Cut Tempered Glass2. CESSORY รุ่น Glass Protector 9H3. Focus BC รุ่น Premium Tempered Glass 9H Hardness4. Dapad รุ่น Glass screen protector Blue light cut5. Dr. eyes Film by VOX. รุ่น Tempered Glassใช้วิธีการทดสอบโดยนำแสงจากแหล่งกำเนิดที่ทราบค่า (ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร) ส่องผ่านฟิล์มตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ผลของสเปคตรัมของแสงที่ผ่านออกมาว่ามีองค์ประกอบของแสงอย่างไร เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ1.Spectrometer2.Integrating Sphere3.Light sourceวิธีการทดสอบ1.เตรียมกระจกเพื่อใช้ติดฟิล์มกันรอยใช้กระจกใสขนาด 2 มิลลิเมตร ตัดให้ได้ขนาดเท่ากับฟิล์มกันรอย โดยเตรียมกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มเป็นตัวควบคุมด้วย2.วัดสเปคตรัมของแสงของแผ่นกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มกันรอย เปรียบเทียบกับกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยทั้ง 5 ตัวอย่าง แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์สเปคตรัมของแสงที่ผ่านกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยออกมาหา ค่าเฉลี่ยของ % การส่องผ่านของแสงยูวีในช่วง 380 – 400 นาโนเมตร ผลการทดสอบ เส้นกราฟแสดงผลการทดสอบการกรองแสงยูวีช่วงความยาวคลื่น 380-400 นาโนเมตร ตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่นำมาทดสอบมีความสามารถในการกรองแสงยูวี A, B, C (ความยาวคลื่นของแสง UV-C 100-280 nm, UV-B 280-315 nm และ UV-A 315-400 nm)ได้สูงสุดเกือบ 90 % คือ CESSORY รุ่น Glass Protector 9H เพียงตัวเดียวที่กรองได้เพียง ประมาณ 85 % ส่วนแสงที่อยู่ในช่วงมากกว่า 400 nm ขึ้นไป ซึ่งแสงสีฟ้าก็อยู่ในช่วงคลื่นนี้ ตัวอย่างที่นำมาทดสอบยังป้องกันการผ่านของแสงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นอย่างไรก็ตามการติดแผ่นกันรอยป้องการแสงยูวี ก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยลดอันตรายจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่อาจส่งผลกับสายตาของเราได้ หากจำเป็นต้องใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นประจำและต่อเนื่องครั้งละนานๆ ก็ควรหาซื้อแผ่นกันรอยที่ช่วยป้องกันแสงยูวีมาติดไว้เพื่อช่วยถนอมดวงตาของเรา กลุ่มคลื่นแสงที่สายตามองเห็นได้กลุ่มคลื่นแสงที่ตามองเห็น (Visible light) ซึ่งมีความยาวคลื่น 400 – 800 นาโนเมตร เป็นกลุ่มคลื่นแสงสีต่างๆ จำนวน 7 สีตั้งแต่คลื่นแสง สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด และสีแดง เรียงตามความยาวของคลื่นจากน้อยไปหามาก คลื่นแสงกลุ่มนี้เป็นคลื่นแสงที่ประสาทตาของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ กลุ่มแสงที่สายมองเห็นไม่ว่าจะอยู่ที่คลื่นใด ก็มีผลกระทบต่อดวงตาของเราทั้งสิ้น หากดวงตาเขาเราสัมผัสกับแสงเหล่านั้นนานเกินไปส่วนแสงยูวี A B C เป็นกลุ่มแสงที่อยู่ในช่วงคลื่นที่ต่ำกว่า 400 – 280 nm เป็นกลุ่มแสงที่เรามองไม่เห็น แต่ก็มีอันตรายต่อดวงตาเช่นกัน เพราะดวงตาของเราจะดูดซับเอารังสียูวีเอาไว้แบบเดียวกับผิวหนังของเรา ส่งผลทำให้จ่อประสาทตาเสื่อมอันตรายของแสงจากหน้าจอสมาร์ทโฟนแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นแสงที่มีผลต่อดวงตาของเรา เมื่อดวงตาของเราต้องจ้องอยู่กับหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อาการที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ดวงตามีอาการล้า ตาแห้ง อาจมองเห็นไม่ชัดชั่วคราว นอกจากนี้ในระยะยาวอาจส่งผลทำให้จอประสาทตาเสื่อมวิธีดูแลดวงตาของเราให้อยู่กับเราไปนานๆการติดแผ่นกันรอยป้องกันแสงยูวีจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่ง ในการลดอันตรายของแสงต่อดวงตาของเรา แต่วิธีการดูแลรักษาดวงตาของเราที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากพฤติกรรมการใช้งาน1.ใช้แต่พอดี ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้งานต่อเนื่องกันเกิน 2 ชั่วโมง ควรให้สายตาของเราได้พักบ้าง อย่าจ้องอยู่แต่ถ้าจอ ควรพักสายตาด้วยมองไปยังออกไปไกลๆ ที่จุดอื่น กะพริบตาบ่อย อย่าจ้องหน้าจอจนตาแห้ง2.ใช้งานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ แสงสว่างที่เพียงพอ ไม่มากและน้อยเกินไป มองแล้วสบายตา และควรอยู่ในระยะห่างที่พอดี ประมาณ 30 ซม.จะช่วยให้สายตาของเราไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป2.ให้ดวงตาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือการนอนหลับ ให้ดวงตาที่เมื่อยล้าของเราได้พักอย่างเต็มที่3.ดื่มน้ำเยอะๆ การดื่มน้ำช่วยให้ดวงตาของเราชุ่มชื้นขึ้น เพราะการที่ต้องจ้องอยู่กับหน้าจอนานๆ จะทำให้ตาแห้ง4.กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก-ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินเอสูง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก กล้วย ฯลฯ รวมทั้งอาหารในกลุ่มโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมและบำรุงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ นม ปลา เป็นต้นขอขอบคุณ ห้องปฏิบัติการแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
สำหรับสมาชิก >ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18 ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา
สำหรับสมาชิก >เมื่อราวช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ในภาพยนตร์เลื่องชื่ออย่าง “เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์” ฮอลลีวูดเคยสร้างตัวละคร “สมีโกล” ที่ลุ่มหลงอำนาจของแหวน และพยายามจะตามหาเพื่อเป็นเจ้าของแหวนแห่งอำนาจ จนกระทั่งเกิดวลีอมตะที่สมีโกลมักพูดเสมอว่า “แหวนของข้า!!!” สิบกว่าปีให้หลัง ในละครโทรทัศน์เรื่อง “กำไลมาศ” เราก็ได้เห็นภาพจำลองการทวงสิทธิและอำนาจคำรบใหม่ แต่ในครั้งนี้เป็นตัวละครผีนางรำอย่าง “ริ้วทอง” ที่รอคอยชายคนรัก และตามหากำไลทอง จนเป็นจุดเริ่มต้นของประโยคที่ผีตนนี้กล่าวว่า “กูขอสาบาน...ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ภพกี่ชาติ กูจะกลับมาเอากำไลและชีวิตของกูคืนจากมึง...” การแย่งสิทธิและอำนาจเหนือกำไลครั้งนี้ ถูกเล่าผ่านเรื่องราวข้ามภพชาติที่ตัวละครซึ่งต่างมี “บ่วงกรรม” ร่วมกันจากชาติก่อน ต้องโคจรมาพบกันอีกครั้งในชาติภูมิปัจจุบัน ในชาติก่อนนั้น ริ้วทองซึ่งเป็นนางรำลูกเจ้าของคณะหุ่นกระบอก เคยได้รับความช่วยเหลือจาก “ท่านชายดิเรก” เมื่อครั้งที่เธอถูกคนร้ายฉุดตัวไป และกลายเป็นจิตปฏิพัทธ์กันจนท่านชายได้ทำ “กำไลมาศ” มอบให้ริ้วทองเป็นตัวแทนความรักความผูกพันระหว่างคนทั้งสอง ด้วยคำกลอนที่ท่านชายเอ่ยให้ริ้วทองฟังว่า “กำไลมาศวงนี้พี่ให้น้อง แทนบ่วงคล้องใจรักสมัครหมาย...” แต่เพราะครอบครัวของริ้วทองมีฐานะยากจน เธอและพ่อแม่จึงมีเหตุให้ต้องลี้ภัยโจรมาขอพึ่งใบบุญของ “เสด็จในกรมฯ” เจ้าของวังติณชาติ และยังเป็นบิดาของ “ท่านหญิงรัมภา” ซึ่งก็เป็นคู่หมั้นหมายกับท่านชายดิเรกนั่นเอง และเมื่อทรัพยากรมีน้อย แต่ความปรารถนามีเกินกว่าปริมาณทรัพยากรนั้น หรือพูดในภาษานักเศรษฐศาสตร์ว่า เพราะอุปทานหรือซัพพลายมีผู้ชายเพียงคนเดียว แต่อุปสงค์หรือดีมานด์กลับมาจากความต้องการของทั้งริ้วทองและท่านหญิงรัมภา สงครามต่อสู้เพื่อช่วงชิงทรัพยากรบุรุษเพศคนเดียวกันจึงเกิดขึ้นกับสตรีทั้งสองคน ในยกแรกนั้น เพราะริ้วทองต้องมาพึ่งชายคาอาศัยวังของท่านหญิงรัมภาอยู่ แม้จะถูกทารุณกรรมทั้งกาย วาจา และจิตใจ ริ้วทองจึงทนอยู่กับสภาวะจำยอมที่ทั้งถูกถากถาง เฆี่ยนตี และลงทัณฑ์ เพียงเพราะอำนาจที่เธอมีน้อยกว่าท่านหญิงผู้เป็นเจ้าของวังและมีศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าในทุกๆ ทาง แต่เพราะริ้วทองคือหญิงคนแรกที่พานพบสบรักกับท่านชายดิเรกมาก่อนท่านหญิงรัมภา ดังนั้น ลึกๆ แล้ว ริ้วทองจึงเชื่อว่า “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม ฉันมีสิทธิ์จะรักไม่ผิดใช่ไหม” ในขณะเดียวกับที่กลุ่มชนชั้นนำอย่างท่านหญิงรัมภาและคนรอบข้างอย่าง “ท่านหญิงภรณี” “ท่านชายอรรถรัตน์” และสาวใช้อย่าง “เจิม” ยังพยายามวางแผน “มาทำลายความรักเรา” จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ของริ้วทองต้องถึงแก่ความตาย ริ้วทองจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมจากตระกูลติณชาติให้ได้ ด้วยเหตุนี้ ภายหลังเมื่อท่านหญิงรัมภาได้ปรามาสริ้วทองว่า “เจ้าพี่ไม่ได้รักเธอ เขาก็แค่ลุ่มหลงที่เปลือกภายนอกของเธอเท่านั้น” ริ้วทองจึงไม่คำนึงถึงอำนาจศักดิ์ชั้นที่แตกต่างกันอีกต่อไป แล้วกล่าวโต้ตอบท่านหญิงสูงศักดิ์กลับไปว่า “แต่ถ้าเลือกได้ ท่านหญิงก็อยากจะให้ท่านชายลุ่มหลงที่เปลือกบ้าง ใช่หรือไม่ล่ะเพคะ” การตอบโต้เพื่อทวงสิทธิพึงมีพึงได้ในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงฉากที่ริ้วทองได้ตบหน้าเจิมซึ่งร่วมกับท่านหญิงรัมภากดขี่จิตใจผู้หญิงต่ำศักดิ์ชั้นอย่างเธอ และบอกกับสาวใช้ของท่านหญิงว่า “จำไว้...ถึงกูจะจน แต่กูก็เป็นคนเหมือนกัน” อันเป็นการสื่อความว่า มนุษย์ควรกระทำกับคนอื่นในฐานะของมนุษย์ไม่แตกต่างกัน แม้จิตสำนึกที่เปลี่ยนไป จะทำให้ริ้วทองลุกขึ้นมาปฏิวัติตอบโต้ต่อกรเพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมในการครอบครองท่านชายดิเรก แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยอำนาจที่น้อยกว่าท่านหญิง พร้อมๆ กับที่ผู้ชายคนเดียวกันนี้ก็ยังมีอุปสงค์จากตัวแทนของกลุ่มทุนใหม่อย่าง “ล้อมเพชร” เข้ามาร่วมแย่งชิงทรัพยากรครั้งนี้ด้วย ริ้วทองผู้ที่ไม่มีทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำจากตัวละครอื่นๆ ที่มีฐานานุภาพสูงกว่าเธอทั้งสิ้น ภาพฉากเปิดเรื่องที่ริ้วทองถูกท่านหญิงรัมภาทำร้ายฟันแขนจนขาด และถูกฆ่าตายกลายเป็นผีนางรำที่โดนกักขังไว้ในบึงบัวของวังติณชาติ จึงเป็นภาพที่ให้คำอธิบายและความชอบธรรมว่า ทำไมผีนางรำตนนี้จึงเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และรอวันเพื่อกลับมาทวงความยุติธรรมและสิทธิเหนือ “กำไลมาศ” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อมาถึงชาติภพใหม่ ด้วยเหตุปัจจัยของ “บ่วงกรรม” ที่พันธนาการให้ตัวละครทั้งหมดในเรื่องได้กลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ “อินทวงศ์” ได้ถูกลบเลือนไฟล์ความทรงจำที่เขาเป็นท่านชายดิเรกในชาติปางก่อน แถมยังกลับมาตกหลุมรักท่านหญิงรัมภาที่กลับมาเกิดใหม่เป็น “เกล้ามาศ” ในปัจจุบัน ริ้วทองที่ถูกขังไว้พร้อมกับความ “รักจนจะเป็นจนจะตาย” จึงรู้สึก “เหมือนโดนกรีดหัวใจเพราะเธอแย่งไปครอง” ความแค้นหรือความขัดแย้งที่ทับทวีในการช่วงชิงทรัพยากรแบบข้ามภพข้ามชาติจึงกลับมาปะทุอีกคำรบหนึ่ง ทว่า โดยหลักของละครโทรทัศน์แล้ว แม้ช่วงต้นจะต้องเปิดฉากให้เห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุด ละครก็ต้องหาทางคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวนั้นลงไป ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงเลือกใช้วิธีรอมชอมด้วยการจัดสรรทรัพยากรกันเสียใหม่ให้ลงตัว โดยให้ริ้วทองยอมเชื่อในคำเทศนาของ “พระปราบ” และยอมรับการอโหสิกรรมที่เกล้ามาศและตัวละครต่างๆ มีให้แก่วิญญาณที่เคยถูกกักขังไว้อย่างเธอ ภาพการอโหสิกรรมที่ตัวละครต่างมีให้กันและกันในฉากจบนั้น ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยกับคนดูว่า แม้ความขัดแย้งเรื่องการช่วงชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้นมาได้ในสังคม แต่ความขัดแย้งนั้นก็คลี่คลายได้ในโลกจินตนาการ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าอโหสิกรรมเป็นคำตอบแบบที่ริ้วทองยอมลดละเลิกความแค้นที่สลักฝังอยู่ในวง “กำไลมาศ” ได้จริงๆ ในโลกของละครแล้ว คำถามที่ชวนให้น่าคิดต่อมาก็คือ ทำไมเราจึงยังคงเห็นภาพการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิและความยุติธรรมของบรรดาคนที่มีอำนาจน้อยอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกความจริง
สำหรับสมาชิก >อากาศร้อนอบอ้าวต่อเนื่องแบบนี้ หลายคนคงดับกระหายคลายร้อนด้วยเครื่องดื่มเย็นๆ โดยเฉพาะน้ำอัดลม น่าจะเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่จะเลือกหยิบมาบริโภค ไม่ใช่เพียงแต่แค่น้ำอัดลมเท่านั้น แต่เครื่องดื่มจำพวกที่ให้น้ำตาลเป็นหลักหลายประเภทมักจะถูกเลือกหยิบมาช่วยคลายร้อนด้วยเช่นกัน ผู้เขียนก็ดื่มน้ำบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเน้นดื่มน้ำเปล่า รอบโต๊ะทำงานจะมีแต่น้ำที่มีรสหวานทั้งนั้น ดื่มน้ำหวานๆ แล้วชื่นใจดีจริงๆ สุดท้ายผลที่ตามมาก็คือร่างกายบริโภคน้ำตาลมากเกินไป แถมมาด้วยแคลอรี่มาพุ่งกระฉูด น้ำหนักมีตัวเลขที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำอย่างไรดีล่ะคะ!! ปรับการบริโภคด่วนค่ะ...แต่การลดการบริโภคน้ำหวานๆ ช่างยากเหลือเกิน ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องหาเครื่องมือมาช่วยในการควบคุมปริมาณน้ำตาลและแคลอรี่ที่จะบริโภคในแต่ละวัน นั่นคือ แอพพลิเคชั่น Scannerd Plus ภายในแอพพลิเคชั่น Scannerd Plus จะมีข้อมูลเครื่องดื่มต่างๆ ที่สามารถบอกปริมาณแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม และปริมาณไขมัน โดยเพียงนำสินค้ามาสแกนด้วยแอพพลิเคชั่น ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสินค้านั้นจะขึ้นมาปรากฏ ในแต่ละวันจะบริโภคกี่ชนิดก็ได้ เพียงแค่สแกนและเก็บเป็นข้อมูลไว้ แอพพลิเคชั่นจะคำนวณปริมาณแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม และปริมาณไขมันที่ได้บริโภคไปแล้ว พร้อมทั้งบอกปริมาณที่ผู้บริโภคควรได้รับต่อวันไว้ เช่น ปริมาณแคลอรี่ไม่ควรเกิน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน ปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน และปริมาณไขมันไม่ควรเกิน 13 ช้อนชาต่อวัน ในส่วนของแคลอรี่ ถ้ามีการบริโภคในปริมาณที่มากกว่า 2,000 แคลอรี่ต่อวัน แอพพลิเคชั่นจะแนะนำการเผาผลาญส่วนเกิน โดยคิดปริมาณที่ต้องเผาผลาญเป็นนาที ซึ่งมีวิธีการเผาผลาญ 3 รูปแบบ ได้แก่ การวิ่ง การเดิน และการขี่จักรยาน นอกจากการคำนวณในแต่ละวันแล้ว แอพพลิเคชั่น Scannerd Plus ยังเก็บสถิติโดยรวมได้ ทั้งในเรื่องการบอกสถิติการดื่มในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ดื่มอะไรมากที่สุด ครั้งล่าสุดดื่มอะไร จากการตรวจวัดโดยใช้แอพพลิเคชั่น ทำให้ผู้เขียนได้ทราบตัวเลขปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป จึงต้องขอกลับมาดูแลตัวเองด้วยการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสักนิด อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ขอแนะนำว่าบริโภคน้ำเปล่าดีที่สุดค่ะ
สำหรับสมาชิก >สำหรับใครที่อยากมีเครื่องพิมพ์สำหรับพิมพ์งานนำเสนอที่ต้องใช้สี สแกนหรือทำสำเนาเอกสาร หรือสั่งพิมพ์รูปถ่ายจากไฟล์ออกมาติดฝาบ้านโดยไม่หวั่นต่อค่าหมึกหรือค่ากระดาษ ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลการทดสอบเครื่องพิมพ์แบบออล-อิน-วัน มาฝาก องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียและองค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำการทดสอบเครื่องพิมพ์ประเภทนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอเสนอเพียง 22 รุ่นที่ได้คะแนนรวมมากกว่า 70 คะแนน ทีมงานให้คะแนนเครื่องพิมพ์เหล่านี้จากคุณภาพงานพิมพ์ สแกน ทำสำเนา รวมถึงการใช้งานและการเชื่อมต่อกับเครือข่ายด้วย พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูเครื่องพิมพ์ที่คุณสนใจ ย้ำอีกครั้งว่าคุณต้องมั่นใจว่าจะใช้มันอย่างคุ้มค่า เพราะถ้าทิ้งไว้นานโดยไม่ใช้ หัวฉีดอาจอุดตัน เป็นภาระให้คุณต้องยกไปซ่อมอีก เช่นเคยเราพบว่าของดีที่สุดไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด การทดสอบครั้งนี้พบว่าสามรุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดมีสนนราคาตั้งแต่ 3,000 ไปจนถึง 14,590 บาท -------------------------------------------------------------------------------คะแนนรวม 100 แต้มแบ่งออกเป็น คุณภาพงานพิมพ์และเวลาที่ใช้* (ร้อยละ 45) การสแกน (ร้อยละ 15) การทำสำเนา (ร้อยละ 15) ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 20) และการเชื่อมต่อ (ร้อยละ 5)------------------------------------------------------------------------------- คุณภาพงานพิมพ์ วัดจากการสั่งพิมพ์เอกสารข้อความขาวดำ ตารางแสดงสี บนกระดาษธรรมดา และเอกสารที่มีข้อความและภาพประกอบสี และรูปถ่ายความละเอียดสูง (ขนาดภาพ 8x10 นิ้ว) บนกระดาษคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังดูความทนทานต่อความชื้นด้วยการใช้ปากกาไฮไลท์ป้ายบนเอกสาร และใช้น้ำหยดลงบนภาพถ่ายหลัง 24 ชั่วโมง
สำหรับสมาชิก >ความลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจไทยและการติดหล่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นตัวเร่งให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนไทยต้องหันมาผลักดันการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีของโลก ครอบคลุมประเทศต่างๆ สองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวจักรสำคัญ ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศคือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม และยังมีประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมอีก 5 ประเทศ คือ โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และไต้หวัน ขณะที่สหรัฐอเมริกา หัวเรือใหญ่ผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ก็เป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทย จึงเป็นเรื่องยากที่ไทยจะทำเฉยกับรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า โดยไม่มีไทยอยู่บนขบวนรถ ฟากฝั่งภาคธุรกิจเอกชนแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ไทยเข้าร่วม ส่วนฟากรัฐบาลนั้น แม้จะมีความสนใจ แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เนื่องจากเนื้อหาในข้อตกลงมีบางส่วนที่อาจสร้างความเสียหายในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจ เช่น การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น บนจุดยืนของผู้บริโภค ทีพีพีเหมือนจะเป็นประเด็นระดับรัฐ ระดับโลกที่ห่างไกล ทว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว แรงกระแทกจากทีพีพีอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยาและอาหารซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ทั้งยังรวมถึงการแทรกแซงอำนาจในการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐ ที่สุดท้ายแล้วจะกระทบกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขบวนนี้อาจจะนำมาซึ่งหายนะอีกมหาศาลเท่าใดยังคาดการณ์ไม่ได้ ยา : ผูกขาดไม่สิ้นสุด ยาน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะส่งผลกระทบวงกว้างและเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าประเด็นหลักๆ ที่อยู่ในทีพีพีประกอบด้วยการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ซึ่งจะบังคับให้องค์การอาหารและยา (อย.) ที่รับหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาจะต้องยินยอมให้ยาใหม่ที่ขึ้นทะเบียนในไทยผูกขาดข้อมูลความลับทางการค้า 5 ปี หรือ 8 ปี นี่ย่อมเท่ากับการกีดกันบริษัทที่ผลิตยาชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่าไม่ให้สามารถขึ้นทะเบียนยาและเข้าสู่ตลาดได้หรือเข้าสู่ตลาดช้าลง ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อบ่งใช้ ในทีพีพีอนุญาตให้สามารถจดสิทธิบัตรการใช้ใหม่ของสารเก่าได้ หมายถึงยาตัวเก่าที่มีอยู่เดิม เช่น แอสไพรินที่ต่อมารู้ว่าเมื่อรับประทานไปนานๆ จะทำให้เม็ดเลือดจางลง จึงสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ เมื่อพบข้อบ่งใช้ใหม่ ทีพีพีระบุว่าต้องยินยอมให้จดสิทธิบัตร กับอีกประเด็นที่มาคู่กันคือวิธีการใหม่ของการใช้สารเก่า ยกตัวอย่างเช่นเพราะเด็กรับประทานยายาก จึงดัดแปลงยาแก้ปวดสำหรับเด็กที่ใช้ทานเป็นแปะหน้าผากหรือแปะที่ผิวหนังเพื่อให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนัง ลักษณะนี้ก็สามารถจดสิทธิบัตรได้ ทั้งที่ทั้งสองกรณีนี้ไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่เลย นี่ย่อมเท่ากับเป็นการยืดอายุการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรออกไปไม่สิ้นสุดหรือที่เรียกว่า Evergreening Patent ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ยืดอายุสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปีหรือการที่ระบุให้ อย. ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจแทนเจ้าของสิทธิ์ นั่นคือถ้ามียาชื่อสามัญเดียวกันจะมาขึ้นทะเบียน อย. ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิ์รู้โดยละเอียด ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ อย. โดยไม่จำเป็น “ผลการศึกษาพบว่า ถ้าให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่ถ้าเรายืดอายุสิทธิบัตรไป 5 ปี ในปีที่ 5 เราจะเสียไป 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ทำไมการขยายอายุจึงมีมูลค่าน้อยกว่าการผูกขาดข้อมูลยา เพราะการผูกขาดข้อมูลยา ถ้าเกิดขึ้น มันจะเกิดวันนี้เลย แต่การยืดอายุสิทธิบัตรนั้น พอยาจะหมดมันก็ยืดไป มันจึงใช้เวลา แต่พอสุดท้ายปลายทาง การผูกขาดข้อมูลยาในปีที่ 30 ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่การขยายอายุสิทธิบัตรจะเป็น 6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เนื่องจากพอขยายอายุไปเรื่อยๆ ทุกยาก็ขยายอายุหมด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านยาก็จะสูงขึ้น เพราะยาไม่หมดอายุสักที” เป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมหาศาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพในที่สุด จีเอ็มโอ: โจรสลัดชีวภาพจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตา ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ แต่ก็ถูกภาคประชาชนกดดันจนต้องล้มเลิกไป มีการตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอที่ผ่านมาสอดรับกับความต้องการในทีพีพี หากไทยเข้าร่วมทีพีพี เราจะถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมยูปอฟ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants: UPOV) หรือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้สิทธิบริษัทหรือนักปรับปรุงพันธุ์สามารถผูดขาดพันธุ์พืชทุกชนิดเป็นเวลา 20 ปี และไม่อนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี อธิบายว่า “สมมติว่าถ้าเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทแห่งหนึ่งมาปรับปรุงพันธุ์ต่อ ทางบริษัทก็จะอธิบายว่ามันเป็นอนุพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ของเขา และการคุ้มครองพันธุ์พืชจะไม่ใช่แค่ส่วนขยายพันธุ์เท่านั้น ถ้าคุณเอาเมล็ดไปปลูกแล้วให้ผลผลิตขึ้นมาก็ถือว่าละเมิด เขาสามารถตามไปยึดผลผลิตได้ อันนี้เองที่คนบอกว่ายูปอฟ 91 ก็คือกฎหมายสิทธิบัตรที่ขยายมาสู่พืช ซึ่งจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นสองถึงหกเท่าตัว” ประเด็นที่ 2 คือการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยในรายละเอียดของตัวบทยังเรียกร้องให้ขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในดีเอ็นเอหรือหน่วยพันธุกรรม ประเด็นที่ 3 คือการเรียกร้องให้ไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ให้เป็นไปโดยง่าย ซึ่งคำว่าจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์นี้ยังสามารถขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรดีเอ็นเอ หมายความว่ากินความรวมไปถึงหน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ วิฑูรย์ กล่าวว่า “ถ้าสรุปก็คือมันทำลายกลไกการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นของประเทศอย่างร้ายแรง และเอื้ออำนวยให้เกิดโจรสลัดชีวภาพ ปัจจุบัน โลกนี้มีกติการะหว่างประเทศอันหนึ่งชื่อว่าอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศทั่วโลกทุกประเทศเป็นสมาชิก ยกเว้นประเทศเดียวคืออเมริกา อนุสัญญานี้บอกว่าใครก็ตามที่เอาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ไปใช้ประโยชน์ เอาไปปรับปรุงพันธุ์ คุณต้องขออนุญาตเจ้าของทรัพยากร ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ไปใช้ฟรีไม่ได้ ซึ่งกฎหมายไทยเขียนรองรับไว้หมดแล้ว แต่ภายใต้ทีพีพีบอกว่าถ้าคุณเข้ายูปอฟ 91 คุณต้องแก้กฎหมายพันธุ์พืช ปี 2542 ซึ่งพูดถึงหลักการแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้” เพิ่มตัวเลขผลกระทบ การคุ้มครองการลงทุน: อำนาจรัฐที่สาบสูญประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลตัวที่สุด แต่ผลกระทบอาจครอบคลุมวงกว้างมากกว่า เพราะอะไร? กล่าวโดยรวบรัดได้ว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมทีพีพี ไทยจะต้องดูแลนักลงทุนต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จุดเป็นจุดตายของเรื่องนี้คือ นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยสามารถฟ้องร้องรัฐบาลไทยได้ หากพวกเขาเห็นว่าการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือการออกกฎหมายของรัฐกระทบต่อผลกำไรจากการลงทุน ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชนในประเทศ เช่น กรณีออสเตรเลียที่ออกนโยบายบังคับให้ซองบุหรี่จะต้องไม่มีตราสินค้าและออกแบบให้ไม่ดึงดูด เพื่อต้องการลดปริมาณการสูบบุหรี่ในประเทศที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่รัฐบาลออสเตรเลียกลับถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกฟ้องร้องผ่านกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ภายใต้หลักการคุ้มครองการลงทุน โดยการฟ้องนี้ไม่ใช่การฟ้องต่อศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่เป็นการฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเลือก ผลชี้ขาดออกมาเช่นไร คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามนั้นและไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ สิ่งนี้ย่อมเท่ากับจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยที่จะดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศ เพราะหากนโยบายดังกล่าวถูกนักลงทุนมองว่าจะก่อผลกระทบ การฟ้องร้องผ่านกลไกไอเอสดีเอสย่อมส่งผลให้นโยบายนั้นชะงักงัน หรือทำให้รัฐบาลต้องคอยเกรงอกเกรงใจนักลงทุนต่างประเทศ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ ว็อทช์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อนมักจะมีคนบอกว่าบทการลงทุนดูแลนักลงทุนดีกว่าคนในชาติ ซึ่งผิดหลักการปฏิบัติที่เท่าเทียมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี ในเมื่อบอกว่าต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ทำไมจึงดูแลนักลงทุนดีกว่า ในทีพีพีครั้งนี้เลยเขียนชัดๆ เลยว่าการดูแลนักลงทุนต่างชาติดีกว่าคนในชาติ ไม่ถือว่าขัดกับหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แปลว่าต่อจากนี้คุณไม่ต้องดูแลคนในชาติก็ได้ ถ้าคุณบอกว่าเดิมต้องเอาร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อแต่นี้ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ได้ แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติ “ยกตัวอย่างเรื่องการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแล้วกัน ที่เราห่วงมากอย่างป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ ประปา ไฟฟ้า ก๊าซ พวกนี้จะมีข้อกำหนดแบบหนึ่งเลยที่เมื่อก่อนเราไม่เคยมีในฉบับอื่นๆ แต่เคยได้ยินว่ามีวิธีการเขียนแบบนี้อยู่ มันเรียกว่า Umbrella Cause หมายถึงเขียนเป็นร่ม คือถ้าต่อจากนี้ทำสัมปทานกับรัฐ แล้วเขียนกติกาต่างๆ ไว้น้อยกว่าในทีพีพี ให้ถือว่าสัมปทานนั้นถือกติกาเท่ากับทีพีพีโดยอัตโนมัติทันที และสามารถฟ้องรัฐผ่านกลไกไอเอสดีเอสได้เช่นกัน” .......... ขณะที่สหรัฐฯ ผ่านบทบาทของสภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียนก็โน้มน้าวให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมทีพีพี ล่าสุด ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ส่งเทียบเชิญชวน แม้ว่ารัฐบาลไทยจะแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ขอศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อน แต่ความพยายามปรับแก้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายจีเอ็มโอ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลับมีทิศทางสอดคล้องกับทีพีพีโดยบังเอิญเป็นความบังเอิญจริงๆ หรือไม่ ผู้บริโภคต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดต่อไป ----------------------------------------------------------------ความเคลื่อนไหวของสภาธุรกิจอเมริกันฯทีพีพีมีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะพบว่า ประเด็นนี้ค่อยๆ เพิ่มกระแสขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2558 เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 โดยสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยยังอยู่ในระดับเทียร์ 3 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งหมายถึงไทยยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ขณะที่คิวบา อุซเบกิซสถาน และมาเลเซียได้รับการเลื่อนขึ้นจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่สมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแม้จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ไม่ครบถ้วน แต่ถือว่ามีความพยายาม จุดสังเกตที่ทำให้รายงานชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงคือ กฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามมิให้รัฐบาลของตนทำข้อตกลงกับประเทศใดๆ ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 และมาเลเซียก็คือหนึ่งในสมาชิกของTPP ที่กำลังจะมีการลงนามข้อตกลงนี้หลังจากรายงานฉบับดังกล่าวออกมา หลังจากนั้นเพียง 10 วัน สภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธาน USABC พร้อมผู้แทนจาก 29 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น แอบบ็อตต์, ไมโครซอฟต์, อีไล ลิลลี่, ฟิลิปส์ มอร์ริส, มอนซานโต้ เป็นต้น ได้เข้าพบอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือในประเด็นว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในวันที่ 6 สิงหาคม ต่อด้วยการเข้าพบจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนของบริษัทจากสหรัฐฯ โดยมีอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมหารือด้วย วันที่ 7 สิงหาคม USABC เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาการพูดคุยเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน โร้ดแม็ปการปฏิรูปการเมือง และ ‘ทีพีพี’ จะเห็นได้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในประเด็นทีพีพีต่อประเทศไทย น่าจะมีการวางจังหวะก้าวเอาไว้แล้ว ทุกอย่างจึงสอดรับกันเช่นนี้
สำหรับสมาชิก >มนุษย์ไม่เคยกำหนดความหมายของสิ่งใดๆ ไว้เพียงชุดเดียว แต่เรามักให้นิยามความหมายของสิ่งต่างๆ ไว้มากมายกว่าหนึ่งชุดนิยามเสมอ เพียงแต่ว่าเรามักจะมีข้อตกลงร่วมกันว่า ความหมายชุดใดจะกลายเป็นนิยามหลักที่คนทั่วไปในสังคมยอมรับ และข้อตกลงของนิยามดังกล่าว ก็จะมีผลมากำหนดความคิดและการกระทำของคนในสังคมนั้นในที่สุด เช่นเดียวกับนิยามของคำว่า “ภรรยา” หรือ “ความเป็นเมีย” นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดความหมายของคำนี้ว่าอย่างไร ในท่ามกลางความเป็นจริงของภรรยาที่มากมายหลายประเภทนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพเมีย(หลวง)อย่าง “นพนภา” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ที่ทั้งขี้หึงและระรานผู้หญิงคนอื่นของสามี จนถึงภาพของผู้หญิงขี้เมาอย่าง “ลำยอง” เมียที่ทอดทิ้งทั้งสามีและไม่สนใจดูแลลูกๆ เลย ในละครเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” แต่ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ เราก็ยังได้เห็นภาพที่ผิดแผกแตกต่าง แต่ถือเป็นอุดมคติของหญิงสาวแบบ “ริน ระพี” ภรรยาที่ดีแสนดีของ “ปลัดศรัณย์” แห่งละครเรื่อง “ปดิวรัดา” ละครเรื่องนี้เริ่มต้นจากเสียงพูดของนางเอกริน ระพี ที่ให้นิยามว่า “ปดิวรัดา หมายถึงภรรยาผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” โดยเปิดฉากย้อนยุคพีเรียดไปเมื่อปี พ.ศ. 2502 หรือสองปีก่อนที่สังคมไทยจะรู้จักกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีได้ตีกลองประชุมจนลือลั่น ในห้วงก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯนั้น ริน ระพี ซึ่งมีฐานะเป็นลูกเลี้ยงของ “ท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ” และ “เพ็ญแข” ตัดสินใจทดแทนบุญคุณของพ่อแม่บุญธรรม ด้วยการแต่งงานกับศรัณย์ชายหนุ่มที่เธอไม่เคยพบหน้าค่าตามาก่อน แถมเขายังเคยบอบช้ำกับความรักครั้งเก่ากับ “ดวงสวาท” ผู้หญิงที่ปฏิเสธเขา เพื่อไปแต่งงานกับ “คุณชายนริศ” เพียงเพราะชื่อเสียงเกียรติยศและความมุ่งหวังในทรัพย์สินเงินทองมากกว่า แม้ลึกๆ รินจะหวั่นใจกับสภาพที่ต้องแต่งงานคลุมถุงชนกับศรัณย์ แต่เธอก็กล่าวกับบิดามารดาบุญธรรมว่า “ชีวิตที่นำด้วยอารมณ์ อารมณ์จะพาไปขึ้นสวรรค์ พาไปลงนรก เป็นได้ทั้งสองทาง แต่ชีวิตที่นำด้วยหน้าที่ หน้าที่ความรับผิดชอบจะพาไปทิศทางเดียว คือพาไปสู่สิ่งที่ดีงาม...หน้าที่ของเด็กที่แม่เอามาทิ้งอย่างรินมีเพียงอย่างเดียวคือ ตอบแทนพระคุณท่านทั้งสอง” ด้วยยึดมั่นที่จะทำ “หน้าที่” และมี “ความรับผิดชอบ” ในฐานะภรรยาที่ดี รินจึงเก็บกระเป๋าไปเป็นคุณนายปลัดในจังหวัดทางภาคใต้ และยอมที่จะเผชิญบททดสอบมากมายที่เธอไม่เคยพานพบมาก่อนในชีวิต สำหรับบททดสอบแรกสุดนั้น ก็คือสามีอย่างศรัณย์ที่คอยกลั่นแกล้งริน เพราะรู้ความจริงว่าเธอแอบสวมรอยมาเป็นบุตรีแท้ๆ ของท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ เพื่อคลุมถุงชนแต่งงานกับเขา ศรัณย์จึงหมางเมิน และกระทำต่อเธอประหนึ่งเป็นอากาศธาตุที่ไม่มีตัวตนอยู่ในบ้านแต่อย่างใด แต่เพราะยึดหลักที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” ประหนึ่งนางสีดาที่เดินลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีของตน รินจึงยืนหยัดที่จะลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีแห่งความเป็นศรีภรรยาไม่แตกต่างกัน เพราะ “หน้าที่” เป็นหัวใจหลักของความเป็นภรรยา รินจึงทำหน้าที่ดูแลบ้านเรือนให้เรียบร้อยไร้ที่ติ สำรับอาหารคาวหวานและฝีมือทำน้ำพริกลงเรือก็ปรุงได้รสเลิศถูกปาก และเสื้อผ้าของสามีก็ถูกซักรีดอบร่ำน้ำปรุงจนหอมกรุ่นชื่นใจ ความเป็นเบญจกัลยาณีและเสน่ห์ปลายจวักของเธอค่อยๆ มัดใจศรัณย์จนเริ่มคลายความเย็นชา กลับกลายมาเป็นความรู้สึกพึงใจกับผู้หญิงที่เขาเคยตั้งแง่เอาไว้ตั้งแต่แรก นอกจากบททดสอบจากปลัดหนุ่มผู้เป็นสามีแล้ว รินยังต้องปรับตัวให้เข้ากับดินแดนชนบท ที่ในยุคก่อนแผนพัฒนาฯนั้นช่างเต็มไปด้วยภยันตราย เพราะมีกลุ่มโจร “เสือขาว” ออกอาละวาดปล้นสะดมทรัพย์สินชาวบ้าน แต่ที่เหนือไปกว่ากลุ่มโจรนั้น รินก็ยังต้องถูกทดสอบความอดทนจากดวงสวาท หญิงคนรักเก่าที่ย้อนกลับมาขอคืนดีกับปลัดศรัณย์อีกครั้งหนึ่งด้วย แต่กระนั้น ด้วยธีมหลักของละครที่ยืนยันอยู่ตลอดว่า “ภรรยาที่ดีย่อมตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” การทำหน้าที่เป็น “ภรรยาที่ซื่อสัตย์และภักดี” และยืนเคียงข้างสามีอย่างไม่กลัวอันตรายใดๆ ก็ได้รับการพิสูจน์และกลายเป็น “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ที่เป็นสุขของรินในตอนจบเรื่อง และในขณะเดียวกัน เป็นเพราะนิยามของ “ภรรยา” อาจไม่ได้มีแค่คำนิยามว่าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามีเท่านั้น ละครจึงได้สร้างภาพภรรยาในแบบอื่นๆ อีกสามคนขึ้นมาเทียบเคียงกับตัวละครอย่างริน ดวงสวาทเป็นภาพเมียแบบแรก ที่แม้จะแต่งงานออกเรือนไปกับคุณชายนริศ แต่เพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี บทลงโทษของเธอก็คือชีวิตที่ตกต่ำลง และการตัดสินใจฆ่าตัวตายของสามีที่ยอมรับสภาพความล้มเหลวในชีวิตคู่ของเขาไม่ได้ ส่วนภรรยาแบบที่สองก็คือ “บราลี” ที่ไม่ใช่ความภักดี แต่เป็นความลุ่มหลงสามีอย่าง “พณิช” ที่แม้จะคอร์รัปชั่นโกงกิน เธอเองกลับมิได้ห้ามปรามขัดขวางเขา จนถูกสามีทอดทิ้งไปในตอนท้ายที่สุดของเรื่อง หรือภรรยาแบบที่สามก็คือ “นิ่ม” ที่เลือกเป็นเมียโจรอย่าง “เสือบาง” ก็ภักดีต่อผัวจนยอมทรยศพ่อแม่และทุกๆ คน และท้ายสุดก็ต้องตายตกไปตามกันกับผัวโจรของตน บทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ที่มีต่อดวงสวาท บราลี และนิ่ม ก็ไม่ต่างจากการขับเน้นให้เห็นว่า ในท่ามกลางภาพของเมียหลายๆ แบบในสังคมไทยยุคก่อนก้าวสู่ความทันสมัย แต่ความหมายของเมียที่เปรียบเป็น “เพชรงามน้ำหนึ่ง” ซึ่งสังคมยอมรับ ก็ยังต้องเป็นเฉพาะภรรยาที่ซื่อสัตย์ ภักดี และส่งเสริมให้ชีวิตสามีดำเนินไปในทางที่ดีงามเท่านั้น จากโลกสัญลักษณ์ของละคร เมื่อย้อนกลับมามองดูรอบตัวในปัจจุบัน ภายใต้กระแสที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากได้ออกไปก้าวหน้าโลดแล่นในโลกกว้างเกินกว่าแค่ในปริมณฑลของบ้านและชีวิตครอบครัว แต่ความหมายของ “ปดิวรัดา” แบบริน ระพี ก็ยังถูกผูกเอาไว้กับ “หน้าที่” ของอิตถีเพศที่ต้อง “ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” ซึ่งเผลอๆ อาจจะไม่ใช่นิยามชุดแรกๆ ที่ภรรยายุคนี้จะบอกกับตนเองเท่าใดนัก คำถามที่น่าสงสัยยิ่งก็คือ แล้วเหตุไฉนโลกสัญลักษณ์จึงยังเลือกเก็บภาพอุดมคติของภรรยาก่อนแผนฯ มาเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้หญิงหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้เสพและชื่นชมกันเยี่ยงนี้หนอ?
สำหรับสมาชิก >อากาศร้อนๆ แบบนี้ เดินทางไปไหนมาไหนก็ทำให้รู้สึกหงุดหงิดได้ง่าย แถมต้องมาเจอบรรยากาศรถติดหรือต้องนั่งรถเป็นเวลานานๆ ท่ามกลางอากาศอบอ้าว ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นเย็นๆ คลายความร้อนและความหงุดหงิดได้บ้างสักเล็กน้อย แอพพลิเคชั่น JOOX เป็นแอพพลิเคชั่นที่รวมบทเพลงทั้งไทยสากล ลูกทุ่ง เพลงสากล โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ที่ www.joox.co.th ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการ iOS เมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นลงในสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว เริ่มด้วยการลงทะเบียน ซึ่งอาจจะลงทะเบียนโดยใช้การเชื่อมต่อกับ facebook ของตนเองหรือลงทะเบียนใหม่ก็ได้ โดยภายในแอพพลิเคชั่นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 หน้า ได้แก่ หน้าหลักที่จะช่วยบอกรายละเอียดเพลงโปรดและเพลงที่เล่นล่าสุดว่ามีอะไรบ้าง หน้าเนื้อหาเพลงที่ถูกจัดเรียงเป็นหมวดหมู่เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน และหน้าที่รวบรวมเพลงโดยแบ่งเป็นประเภทของเพลง ในหน้าเนื้อหาเพลงจัดเป็นประเภทตามหมวดหมู่ที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ การเลือกเพลงจากชื่อศิลปิน การเลือกเพลงจากเพลย์ลิสต์ อย่างเช่น เพลงป็อป เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต เพลงอินดี้ เพลงอะคูสติก เพลงรัก เพลงร็อค เป็นต้น การเลือกเพลงจากความต้องการดูมิวสิควีดิโอในเพลงนั้น แต่ถ้าเลือกเพลงโดยไม่ผ่านหมวดดูมิวสิควีดิโอ จะสามารถสังเกตว่าเพลงนั้นมีมิวสิควีดิโอหรือไม่ ให้ดูสัญลักษณ์ MV ด้านหลังชื่อเพลง ทั้งนี้แอพพลิเคชั่นยังมีการรวบรวมชาร์ตเพลงฮิต มีทั้งเพลงไทย เพลงสากล เพลงจีน เพลงลูกทุ่ง เพื่อให้ติดตามและได้รู้ว่าเพลงใดในช่วงนี้ฮิตติดชาร์ตอยู่บ้าง แม้กระทั่งเพลงออกใหม่ก็สามารถฟังได้ที่แอพพลิเคชั่นนี้เช่นกัน ความพิเศษของแอพพลิเคชั่นนี้คือ จะสามารถดาวน์โหลดเพลงที่ชื่นชอบมาไว้ที่เครื่องสมาร์ทโฟนได้แทบทุกเพลง ยกเว้นเพลงที่มีสัญลักษณ์ VIP ปรากฏอยู่หลังชื่อเพลง จะไม่สามารถดาวน์โหลดได้ ซึ่งการดาวน์โหลดเพลงจะช่วยทำให้ช่วงที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตสามารถฟังเพลงที่ดาวน์โหลดได้ไม่ติดขัด บอกได้เลยว่าแอพพลิเคชั่น JOOX ช่วยให้สบายอารมณ์ในการเดินทาง หรือยามว่างได้อย่างมาก จริงๆ นะคะ
สำหรับสมาชิก >ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า sms หรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ โทรศัพท์มือถือ Smart Phone เดี๋ยวนี้ ทำอะไรได้มากมาย นอกจากเป็นโทรศัพท์ เอาไว้ติดต่อ โทรออก-รับสายแล้ว ยังใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ท่องเว็บไซต์ เล่นเกมส์ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ พูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้คนผ่าน Social Network หรือจะช็อปปิ้งซื้อของออนไลน์ก็สามารถทำได้ไม่ยาก จะดูหนัง ฟังเพลง ก็มีให้เลือกจนตาลาย หลายคนใช้แล้วก็ติดใจ เพราะมันทำให้ชีวิตมีสีสัน สะดวกสบาย และสนุกสนาน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า “โลกนี้ไม่มีอะไร ฟรี” ทุกอย่างมีราคาที่เราต้องจ่าย บางคนได้รับบิลค่าโทรศัพท์แล้วแทบจะเป็นลม เพราะถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตหลายพัน หลายหมื่น หรือบางรายโดนกันไปเป็นแสนบาท ก็เคยมีมาแล้ว ปัญหาทำนองนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเจ้าโทรศัพท์ Smart Phone รุ่นใหม่ๆ นี่แหละ ด้วยความที่มันฉลาดแสนรู้ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อคอยอัพเดท App ต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ คนที่มีเพื่อนในโซเชียลเยอะๆ เดี๋ยวคนโน้นอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค เดี๋ยวคนนี้แชร์คลิปมาในไลน์ เผลอแปล๊บเดียวใช้อินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ซึ่งการใช้งานส่วนที่เกินจากแพ็คเกจที่สมัครไว้นี่ ถ้าไม่ได้ซื้อแบบเหมาจ่าย Unlimited บริษัทมือถือจะคิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่ใช้งาน ราคาประมาณ 1 -2 บาท/MB ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละค่าย และเป็นแนวโน้มของแพ็คเกจ 4G ที่เราจะไม่ค่อยเห็นโปรโมชั่นเหมาจ่าย Unlimited เพราะโครงข่ายไม่เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมต่อเน็ตทิ้งไว้ตลอดเวลา โปรโมชั่นของ 4G จึงมักจะกำหนดปริมาณข้อมูลที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ เช่น จ่าย 488 บาท เล่นเน็ตได้ 10 GB ส่วนเกินจากนี้คิดตามจริงเป็น MB ตามปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากลักษณะโปรโมชั่นของ 3 G ที่ผ่านมา ที่เมื่อใช้เกินจะปรับลดความเร็วลงแต่ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม ใครที่ใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน ปัญหาก็อาจจะไม่หนักมาก เพราะพอหมดเงินที่เติมไว้ โทรศัพท์มันก็ตัดบริการไปเอง แต่คนที่ใช้แบบรายเดือนจะเสี่ยงหน่อย เพราะค่าใช้จ่ายจะเกิดขึ้นตามการใช้งานของคุณ ซึ่งบอกไว้เลยว่า มือถือ 4G นี่ ยิ่งเน็ตแรงเท่าไร โอกาสที่ค่าบริการจะพุ่งก็มีมากเท่านั้น เพราะยิ่งโหลดไว ผู้บริโภคก็ยิ่งเพลิน ดูหนังฟังเพลงไปเรื่อย อย่างดู youtube นี่ เมื่อคำนวณออกมาจะใช้เน็ตประมาณ 1.5 MB/นาที ถ้าค่าบริการ MB ละ 1 บาท ดู 1 ชั่วโมง ก็ต้องจ่าย 90 บาท แล้วเดี๋ยวนี้คนเราจ้องหน้าจอมือถือวันละกี่ชั่วโมงก็ลองนึกดูแล้วกันครับ ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า smsหรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ เมื่อค่าใช้จ่ายใกล้เต็มวงเงินบริษัทจะโทรศัพท์ หรือ sms มาแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า และเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกินบริษัทก็จะระงับบริการชั่วคราวเอาไว้ก่อน เพื่อมิให้เกิดค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ แต่หากวันดีคืนดีเกิดมีค่าใช้จ่ายเกินมา คุณก็สามารถร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. ได้ ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมได้เคยมีมติให้บริษัทมือถือคิดค่าบริการกับผู้ร้องเรียนได้เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินกว่าวงเงินที่จำกัดไว้ จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัย 2G แล้ว เพียงแต่ที่ต้องหยิบมาเล่าให้ฟังอีกครั้งก็เพราะในยุค 4G นี้ โอกาสเกิดปัญหา Bill Shock จากค่าบริการอินเทอร์เน็ตมันจะมีมากกว่า และความเสียหายจะร้ายแรงกว่า ดังนั้นลองหยิบใบแจ้งค่าใช้บริการของคุณมาตรวจสอบดูสิว่า ได้ระบุจำกัดวงเงินค่าใช้บริการไว้ตรงกับที่คุณแจ้งหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่ผู้บริโภคจำได้ว่ากำหนดวงเงินค่าบริการไว้แค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการเป็นพันบาท สอบถามไปจึงได้ความว่า บริษัทเห็นว่าเป็นลูกค้าชั้นดี จึงปรับเพิ่มวงเงินค่าบริการให้โดยพละการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละราย กำหนดเงื่อนไขของเครดิตลิมิตไว้แตกต่างกัน บางค่ายไม่รวมค่าบริการตามแพ็คเกจที่สมัครไว้ เช่น ค่าบริการตามแพ็คเกจ 488 บาท เครดิตลิมิตไว้ 1,000 บาทแบบนี้บริษัทก็จะมีสิทธิคิดค่าบริการได้ในวงเงินไม่เกิน 488 + 1,000 บาท ไม่ใช่ 1,000 บาทถ้วนตามที่เราเข้าใจทั่วไป แต่ส่วนที่เหมือนกันเกือบทุกค่ายก็คือ เครดิตลิมิต นี้จะไม่รวมค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ (International Roaming) ดังนั้น ลองศึกษาเงื่อนไขจากผู้ใช้บริการของคุณ แล้วกำหนดวงเงินค่าใช้บริการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของคุณ รับรองว่าคุณจะไม่กระเป๋าฉีกเพราะค่าโทร ค่าเน็ตแน่นอน
สำหรับสมาชิก >