ฉบับที่ 210 ประกันชีวิต+ประกันสุขภาพเจ้าไหนให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน

จากแบบประกันชีวิตที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ในตลาด เช่น ประกันชีวิตเพื่อการออมทรัพย์ ประกันเพื่อการศึกษาบุตร ประกันเพื่อวัยเกษียณอายุ ประกันเพื่อการลงทุน และยังมีแบบอื่น ๆ อีกหลายประเภท แต่สำหรับบทความนี้จะศึกษาเฉพาะประกันชีวิตแบบออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพ เท่านั้น“ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จึงขอยกตัวอย่างของบุคคลเพศชาย (นามสมมติ “นายธรรมดา ฉลาดซื้อ”) อายุ 35 ปี โสด ทำงานเป็นพนักงานในสำนักงานแห่งหนึ่ง ไม่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นความเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีความสนใจอยากเลือกซื้อประกันชีวิต แบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิต (สัญญาหลัก) จำนวน 200,000 บาท มีระยะเวลาการคุ้มครองชีวิต 20 – 25 ปี และชำระเบี้ยประกันในช่วง 15 – 20 ปี พร้อมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน  และการชดเชยการขาดรายได้ที่พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล โดยใช้ข้อมูลอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวประมาณ 3,000 บาท / วัน มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิต จากข้อมูลของ นายธรรมดา ข้างต้น ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลและเงื่อนไขหลักจากบริษัทประกันชีวิต จำนวนทั้งสิ้น 11 บริษัท มาแสดงไว้ในตารางที่ 4 เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการเลือกซื้อประกันชีวิตที่มา : ใบเสนอราคาจากตัวแทนประกันชีวิต ช่วงเดือน มิถุนายน  2561แต่สมมุติตอนนี้นายธรรมดา ฉลาดซื้อ มีอายุ 55 ปี นายธรรมดา จะต้องเสียเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นดังภาพด้านล่าง  แสดงให้เห็นว่าการทำประกันชีวิตนั้น ควรจะเริ่มทำเมื่ออายุน้อย ๆ เพราะว่าเบี้ยประกันชีวิตของสัญญาหลักจะไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าอายุจะเปลี่ยนแปลงไป ข้อสังเกต : เบี้ยประกันชีวิตของบริษัทส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุของผู้ประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น แต่มีบริษัทประกันชีวิต 2 แห่ง ที่อัตราค่าเบี้ยประกันชีวิต อายุ 35 ปี กับ 55 ปี มีจำนวนเท่ากัน คือ ชำระเบี้ยประกันเท่ากันทุกช่วงอายุ ได้แก่ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)จากตารางเปรียบเทียบข้อมูลการทำประกันชีวิต จะเห็นได้ว่าบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัท มีข้อเสนอและเงื่อนไขหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระแตกต่างกัน รวมถึงผลตอบแทน (เงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินปันผล) ที่แตกต่างกันด้วย ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาว่าควรจะเลือกซื้อประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิตไหนนั้น ฉลาดซื้อ จะใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ด้านการเงิน มาพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตโดยคิดผลตอบแทนที่ได้รับว่าประกันชีวิตของบริษัทไหนน่าสนใจมากที่สุด จากข้อมูลตารางที่ 4  คือการใช้ค่า IRR (Internal Rate of Return) มาช่วยในการพิจารณา             ค่า IRR หมายถึง อัตราลดค่า (Discounted Rate) หรือ อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) ที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด ที่คาดว่าจะต้องจ่ายในการลงทุนเท่ากับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตลอดอายุสัญญา  ซึ่งค่า IRR สามารถคำนวณได้ตามสมการเมื่อ  n       =   จำนวนปีที่คุ้มครองในการทำประกันชีวิต         ESt   =   ผลตอบแทนรายปี ตั้งแต่ปลายปีที่  1 ถึง n         I0      =   เบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระ         IRR   =   อัตราผลตอบแทนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างง่ายๆ สรุปก็คือ IRR เป็นการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน ที่เปอร์เซ็นต์มีค่าเป็นบวกมากเท่าใด แสดงว่าแบบประกันชีวิตนั้นๆ ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบที่ให้ค่าเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า ดังนั้น ค่า IRR ยิ่งมากยิ่งดี และไม่ควรติดลบ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 210 การเลือกซื้อประกันสุขภาพ

 “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะแบ่งปันประสบการณ์ การเลือกซื้อประกันชีวิตควบคู่ประกันสุขภาพ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่พวกเราต้องพบเจอ มีอิทธิพลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลที่แปลงเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องรีบเร่ง ทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว มีเวลาพักผ่อนน้อย  อาหารการกินไม่มีเวลาเลือกสรรมากนัก ส่วนเรื่องการออกกำลังกายแทบไม่ต้องพูดถึง ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงนำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพาหมอหรือโรงพยาบาล ปัญหาที่ทุกท่านประสบเหมือนกันคือ ถ้าไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ ท่านจะต้องเดินทางให้ถึงโรงพยาบาลแต่เช้าตรู่ เพื่อรอรับบัตรคิวและรอคิวตรวจที่แสนจะยาวนาน โอกาสที่จะพูดคุยรายละเอียดของโรคกับแพทย์ที่รักษานั้นก็สั้นเต็มที  หรือถ้าต้องการรักษาโรงพยาบาลเอกชน ก็จะพบกับค่ารักษาที่แสนจะแพงเกินกว่าที่คนชั้นกลาง จะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้             แนวทางการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การซื้อประกันสุขภาพ เพื่อกระจายความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถคาดเดาได้ให้กับบริษัทประกันชีวิต อย่างไรก็ตามการซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต ท่านไม่อาจซื้อเฉพาะประกันสุขภาพอย่างเดียวได้ จะต้องซื้อสัญญาประกันชีวิต หรือที่เรียกว่าสัญญาหลัก เสียก่อน จึงจะสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมได้ แตกต่างจากการซื้อประกันอุบัติเหตุ ที่สามารถซื้อได้เลยโดยไม่ต้องซื้อประกันอย่างอื่นร่วมด้วย  ดังนั้น  “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จึงขอให้รายละเอียดเกี่ยวกับประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันให้กับท่านผู้อ่าน  บทความนี้จะศึกษาถึงราคาเบี้ยประกันชีวิต(สัญญาหลัก) และประกันสุขภาพ ของบริษัทประกันชีวิต ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด 11 ราย นับเป็นครึ่งหนึ่งของบริษัทประกันชีวิตที่มีอยู่ในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนการตลาดรวมจำนวน 94.30%     รวมถึงได้แสดงราคาค่าห้องพักรักษาพยาบาลประเภทเตียงเดี่ยว ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในกรุงเทพมหานครไว้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเป็นข้อมูลประกอบการเลือกตัดสินใจซื้ออัตราค่าห้องสำหรับการรักษากรณีเป็นผู้ป่วยในต้องพักค้างในโรงพยาบาล ตารางรายชื่อบริษัทประกันชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย จำนวน 22 บริษัท ตารางแสดงสัดส่วนการตลาดของบริษัทประกันชีวิตสูงสุด 11 รายแรก  คำนวณจากเบี้ยประกันรับรวม เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2561 คิดเป็นสัดส่วนทางการตลาด 94.30 %ส่วน 11 บริษัทประกันชีวิตที่เหลือ และไม่ได้แสดงในตาราง มีสัดส่วนทางการตลาดรวม คิดเป็น 5.70 % เท่านั้นที่มา : ข้อมูลของสมาคมประกันชีวิตไทย ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2561ตารางอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวต่อคืน ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในกรุงเทพมหานคร ที่มา : สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า              หรือสามารถค้นหาอัตราค่าห้องพักรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นทั่วประเทศไทยได้จาก                 www.aia-delivery.com/15077383/อัตราค่าห้องโรงพยาบาลเบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) ที่เราจ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตนั้น จะมีอัตราค่าเบี้ยประกันที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้คือ เพศ ช่วงอายุ และ อาชีพ  เพศหญิงหรือชายก็จะมีอัตราเบี้ยประกันที่ไม่เท่ากันแม้ว่าอายุจะเท่ากัน ยิ่งอายุมากขึ้น หรือทำงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยหรืออุบัติเหตุได้ง่าย เบี้ยประกันชีวิตก็จะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่มีอายุน้อย หรืออาชีพที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า             ประเภทของความเสี่ยงสำหรับบริษัทประกันชีวิต ส่วนใหญ่จะจัดกลุ่มอาชีพ ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้             กลุ่มที่ 1 : เป็นงานที่ทำในสำนักงาน ไม่มีสภาพแวดล้อมของการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น พนักงานบัญชี พนักงานธนาคาร ครู/อาจารย์ นักเรียน/นักศึกษา นักวิชาการ แพทย์ อัยการ ผู้พิพากษา เป็นต้น             กลุ่มที่ 2 : เป็นงานที่ต้องติดต่อนอกสำนักงานเป็นครั้งคราว ไม่มีสภาพแวดล้อมของการเกิดอุบัติเหตุง่าย และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้แทนขาย พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เจ้าของร้านขายของชำ เจ้าของร้านเสริมสวย วิศวกร นักข่าว ช่างภาพ เป็นต้น             กลุ่มที่ 3 : ผู้ปฏิบัติงานด้านช่าง คนงานฝีมือ ธุรกิจไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูง เช่น หัวหน้าคนงานก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างประปา เจ้าของโรงกลึง เจ้าของไร่ เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น             กลุ่มที่ 4 : เป็นกลุ่มที่ต้องปฏิบัติการภาคสนาม มีความเสี่ยงในการเกิดโรคภัย และอุบัติเหตุสูง เช่น ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  กลุ่มนี้บริษัทประกันชีวิตบางแห่ง อาจจะไม่รับประกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงภัยสูงมาก เป็นต้น กรมธรรม์ประกันชีวิตในแต่ละฉบับจะมีเบี้ยประกันแบ่งแยกกันเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.      เบี้ยประกันชีวิต หรือเรียกว่าสัญญาหลัก เป็นเบี้ยประกันที่คุ้มครองชีวิตการจากไปก่อนเวลาอันสมควร หรือเกิดอันตราย ที่ทำให้ทุพพลภาพ เบี้ยประกันส่วนนี้เราจะได้รับคืนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกัน 2.      เบี้ยประกันสุขภาพที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า สัญญาเพิ่มเติมหรืออนุสัญญา คือสัญญาที่ระบุอัตราค่าห้องพักและค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกค้าที่จะต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ท่านจะซื้อเบี้ยประกันส่วนนี้ได้ บริษัทประกันจะบังคับให้ซื้อเบี้ยประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลักก่อน บริษัทประกันจะไม่ขายเบี้ยประกันสุขภาพให้กับลูกค้าแบบเดี่ยว ๆ  เบี้ยประกันส่วนนี้จะเป็นเบี้ยที่ส่งรายปีและไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืนเมื่อสัญญาประกันชีวิตสิ้นสุด และบริษัทประกันจะปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุก ๆ 5 ปี 3.      เบี้ยประกันหรือสัญญาเพิ่มเติมอื่น  ๆ เช่น สัญญาเพิ่มเติมการเกิดอุบัติเหตุ สัญญาเพิ่มเติมการคุ้มครองโรคร้ายแรง สัญญาค่าชดเชยรายวันที่ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ค่าชดเชยการขาดรายได้) เบี้ยประกันส่วนนี้จะเป็นเบี้ยที่ส่งรายปีและไม่ได้รับคืนเมื่อสัญญาประกันชีวิตสิ้นสุดลง เช่นเดียวกับเบี้ยประกันสุขภาพ             เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทประกันชีวิต อัตราค่าห้องพักของโรงพยาบาล ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันชนิดต่างๆ ของบริษัทประกันแล้ว คราวนี้ถ้าท่านผู้อ่านเกิดสนใจอยากจะทำประกันชีวิตไว้เพื่อความมั่นคงในชีวิต จะต้องทำอย่างไรบ้าง?             เริ่มแรกท่านสามารถสอบถามข้อมูลที่สนใจได้จาก Call Center ของบริษัทเหล่านั้น เพื่อนัดหมายให้ตัวแทนติดต่อกลับและพูดคุยเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต  หรือบางบริษัทจะขายผ่านธนาคารที่เป็นนายหน้า             สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ตัวแทนของบริษัทประกันจะเป็นคนให้ข้อมูลรายละเอียด เกี่ยวกับประเภทและเงื่อนไขการประกันได้ดีที่สุด เพราะว่าผลิตภัณฑ์แต่ละบริษัทมีมากมายหลากหลายชนิด รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ผู้ทำประกันชีวิตจะต้องรู้หลายอย่าง อาทิเช่น แผนค่าใช้จ่ายการรักษา จำนวนปีที่คุ้มครอง การส่งเบี้ยประกัน การได้รับเงินปันผล หรือการได้รับเงินคืนระหว่างระยะเวลาที่กรมธรรม์มีผลบังคับ การเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลกรณีที่ต้องเข้าใช้บริการในโรงพยาบาล การได้รับเงินค่าเบี้ยประกันที่เราส่งเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาคืน รวมทั้งการใช้สิทธิในการนำเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนภาษีในแบบ ภงด. 90 หรือ ภงด. 91 ประจำปี เช่น เบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพ (สัญญาเพิ่มเติม) สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าการทำประกันชีวิต ท่านต้องอ่านและศึกษาข้อมูลในใบเสนอราคาโดยละเอียด สิ่งไหนที่ไม่เข้าใจ ให้รีบหาคำตอบจากตัวแทนของบริษัทประกัน เนื่องจากการประกันชีวิตอาศัยความซื่อสัตย์ของผู้เอาประกันที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ การไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา อาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันชีวิตบอกล้างสัญญาในภายหลังได้ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อสินค้าทั่วไป ๆ ที่สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ประวัติข้อมูลของลูกค้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 209 “แชทเป็นพิษ”

 “เมื่อบุคคลใดเป็นลูกหนี้ของบุคคลอื่น ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่หาช่องทางหลีกเลี่ยงจนก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ฝ่ายผู้อื่น” “แชทเป็นพิษ”โลกในยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตแทบทุกระดับของสังคม ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างใช้ช่องทางเทคโนโลยี ในการติดต่อและทำธุรกรรมกันอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งเรื่องของการหยิบยืมเงินทองก็ใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  เมื่อเร็วๆ นี้ มีการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ “เรื่องการแชทขอกู้ยืมเงินเท่ากับการทำสัญญากู้ยืมเงิน” ซึ่งเปิดเผยข้อมูลโดยสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมายว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และมีหลักกฎหมายที่เข้ามาใช้พิจารณาได้จริงหรือไม่ โดยบทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลต่อผู้อ่านให้สามารถเข้าใจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเรื่องที่จำเลยได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์เป็นเงินกว่าสามแสนบาท โดยมีการขอยืมเงินผ่านช่องทางแชทสนทนาในเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วมีการโอนเงินผ่านธนาคารให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยจึงนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัว ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและกดสลิป ภายหลังจำเลยปฏิเสธไม่ชำระหนี้ โดยอ้างเหตุว่าฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” คดีนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงฟ้องไม่ได้”ศาลฎีกาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556 ได้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้ในการตัดสิน เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีข้อความตอนหนึ่งที่ว่า “…การทำธุรกรรมในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการในการติดต่อสื่อสารที่อาศัยการพัฒนาการเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีความแตกต่างจากวิธีการทำธุรกรรม ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อันส่งผลให้ต้องมีการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ การรับรองวิธีการส่งและรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้น่าเชื่อถือ และมีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมโดยวิธีการทั่วไปที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม….” การใช้กฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับ  จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการพัฒนาการใช้และการตีความกฎหมายของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำความเข้าใจผ่านประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นแรก “ฟ้องโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่” การที่จำเลยสมัครใจขอกู้ยืมเงินจากโจทก์กว่าสามแสนบาทในแชทสนทนาและตกลงปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด ถือเป็นการสมัครใจทำธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 มีผลใช้บังคับตามมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว” จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วประเด็นที่สอง “ฟ้องโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่” การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดดังกล่าวไปใช้เบิกถอนเงินสดรวม 8 ครั้ง ซึ่งการถอนเงินสดดังกล่าวจำเลยจะต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือการใช้บริการ ต้องใส่รหัสผ่าน 4 หลัก เลือกรายการถอนเงินจากบัญชีสินเชื่อเงินสด เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระ 6 ถึง 36 เดือน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ (5,000 ถึง 20,000 บาท ต่อรายการ) และรับเงินสดพร้อมสลิปไว้เป็นหลักฐานซึ่งในสลิปจะปรากฏอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในแต่ละครั้งอยู่ด้วย ถือเป็นอักษร อักขระ ตัวเลข ที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น จึงเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย ตามมาตรา 3 และเมื่อพิจารณาประกอบกับหลักฐานเป็นหนังสือตามประเด็นแรก และมาตรา 9 บัญญัติว่า   “ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน...” เมื่อโจทก์แสดงใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและส่งรหัสส่วนตัวเสมือนลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ประกอบทั้งจำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ รวม 11 รายการ โจทก์จึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายผู้ต้องรับผิดมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรก ข้อต่อสู้จำเลยฟังไม่ขึ้น และบรรทัดฐานดังกล่าว เป็นที่มาของคำพิพากษาในเวลาต่อมาอีกฉบับหนึ่ง คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 เป็นเรื่องที่โจทก์ประชดจำเลยโดยการปลดหนี้ให้ในแชทสนทนา ศาลก็นำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตีความว่าเป็นการปลดหนี้โดยได้ทำเป็นหนังสือแล้ว จึงมีผลเป็นการปลดหนี้ที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วจากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการตีความข้อความในแชทสนทนาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถือเป็นตัวอย่างบรรทัดฐานที่ดีต่อสังคมส่วนรวมและเป็นการชี้แนะแก่ตัวลูกหนี้ด้วยว่า “เมื่อบุคคลใดเป็นลูกหนี้ของบุคคลอื่น ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่หาช่องทางหลีกเลี่ยงจนก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ฝ่ายผู้อื่น” ถือเป็นคำพิพากษาที่พัฒนาการใช้กฎหมายได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ในมิติของเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 209 ผลิตภัณฑ์ลดเซลลูไลท์

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีข่าวดีที่จะช่วยให้คุณประหยัดเงินมาฝากอีกเช่นเคย ล่าสุดสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ร่วมกันทดสอบผลิตภัณฑ์เจลหรือครีมที่อ้างว่าใช้เพื่อลดเซลลูไลท์หรือผิวเปลือกส้ม ทั้งหมด 13 แบรนด์ยอดนิยมในยุโรป ว่า “เห็นผล” ภายในหนึ่งเดือนตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ทีมทดสอบแบ่งสัดส่วนคะแนนออกเป็นสามด้าน ร้อยละ 70 ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่วัดได้โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่นจำนวน และความลึกของรอยบุ๋ม (35) ความแตกต่างที่บันทึกได้ในภาพถ่ายอินฟราเรด (28)  และความแตกต่างของเส้นรอบวง ต้นขาก่อนและหลังการใช้ (7)   ร้อยละ 20 ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น กลิ่น เนื้อสัมผัส การซึมลงสู่ผิวหนัง)  ร้อยละ 10 ข้อมูลบนฉลาก (การแสดงข้อมูลที่ครบถ้วนและไม่อวดอ้างเกินจริง) อาสาสมัครที่เข้าร่วมทดสอบได้แก่ผู้หญิงอายุระหว่าง 18 – 50 ปี จำนวน 30 คน ที่มีลักษณะของผิวที่เหมาะแก่การทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ (คัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง) อาสาสมัครเหล่านี้จะใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 28 วัน วันละสองครั้งเช้า-เย็น โดยใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและนวดเบาๆ จนซึมเข้าผิวหนัง เราเสียใจที่จะต้องบอกคุณว่า ครีมหรือเจลเหล่านี้ยังไม่สามารถช่วยลดเซลลูไลท์ได้ดีนัก แม้แต่ Collistar Crio-gel Anticellulite ที่ได้คะแนนรวมดีที่สุด ก็ได้ไปเพียง 49 จากคะแนนเต็ม 100 เท่านั้น ที่น่าสนใจคือแม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะได้คะแนนประสิทธิภาพในระดับเฉลี่ย 2 ดาว แต่ในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้กลับได้ไปถึง 4 ดาวเลยทีเดียวอยากรู้ว่ายี่ห้ออื่นมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับแบรนด์นี้สักกี่มากน้อย เชิญติดตามได้ในหน้าถัดไปค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ประมาณ 3,300 ยูโร หรือประมาณ 128, 600 บาท ต่อหนึ่งตัวอย่าง (ยังไม่รวม ราคาผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ประมาณ 34 – 38 ขวด/หลอด สนนราคาก็มีตั้งแต่ประมาณ 300 ไปจนถึงเกือบ 2,000 บาท)  เงินมาจากไหน … เงินส่วนใหญ่มาจากค่าสมาชิกนิตยสารที่จัดพิมพ์โดยสมาชิกขององค์กร International  Consumer Research and Testing เพื่อนำเสนอผลทดสอบผลิตภัณฑ์/บริการให้ผู้บริโภคได้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ ฉลาดซื้อก็เป็นสมาชิกองค์กรนี้เช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 208 เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิด หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดด้วยหรือไม่

ทนายอาสาฉบับนี้ ผมอยากจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีข่าวออกมาไม่น้อย ว่าในบางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้กระทำไปในหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ แต่ก็มีผลทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพ ชื่อเสียง เหล่านี้ หากเราจะเอาผิด จะต้องไปเรียกร้องเอากับหน่วยงานต้นสังกัด หรือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้น  จะขอยกตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ คือ กรณีตำรวจไปยึดรถยนต์ของโจทก์ เป็นของกลาง ต่อมาปรากฏว่า ดูแลรักษาไม่ดี เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวสูญหาย เช่นนี้ ตำรวจต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2540 จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรใหญ่และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนคนทั้งสองต่างเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งเพื่อมิให้เกิดความเสียหายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีคนตายและได้รับบาดเจ็บ  ในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่ง และมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลาง เหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตน  แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายกรณี จึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ด้วยจะอ้างว่า ตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้หรืออีกกรณี ครูพลศึกษาของโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ศาลถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อต่อมานักเรียนคนนั้นถึงแก่ความตาย ครูพละดังกล่าวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่แม่ของนักเรียนคนนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2546จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา ได้สั่งให้นักเรียนชั้น ม.1 วิ่งรอบสนามระยะทาง 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ เป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัติ และได้สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม ต่ออีก 3 รอบ เป็นการกระทำโทษที่วิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเหมาะสมตามสมควรแก่พฤติการณ์ แต่การที่สั่งให้วิ่งรอบสนามต่อไปอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำไม่ได้เรียบร้อย ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย สภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง นับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นได้ว่าการลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนได้ เป็นความประมาทเลินเล่อ จนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนล้มลง ในการวิ่งรอบสนามรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชาย พ. จึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจ ก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย แต่ความไม่รู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้น้อยลงการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้น ม.1 ห้อง 1/4 ของโรงเรียน ว. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย พ. นักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาของเด็กชาย พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่งแม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิด ซึ่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผลคือต้องฟ้องหน่วยงานรัฐต้นสังกัด และเมื่อหน่วยงานรัฐรับผิดต่อผู้เสียหายแล้วจึงไปใช้สิทธิไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่อีกคราวหนึ่ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า450 Point

ฉบับที่ 208 ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก

ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวการเข้าปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นกระแสสังคมที่ช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิ่งอันตรายที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และน่าจะเกิดความระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังต้องการกำลังเสริมจากรัฐในด้านการกำกับควบคุมที่เข้มงวดต่อเนื่อง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะถึงแม้รัฐจะออกมาตรการที่รัดกุมแค่ไหน ภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ก็คงไม่หมดไปง่ายๆ ผู้บริโภคยังเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับผู้กระทำผิดทั้งรายใหม่และรายเก่า ดังนั้นการสร้างเครื่องมือตรวจสอบและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร นับเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยผู้บริโภคได้ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่ามีส่วนในการลดน้ำหนัก จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ได้แก่ C mart ,Shop at 24, LAZADA, We mall, Watsons, 11 street, Konvy, Shopee รวม 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16 ผลิตภัณฑ์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหายาไซบูทรามีน และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านอาการซึมเศร้า แต่มีผลข้างเคียงในการลดความอยากอาหาร ที่นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว แต่มีภัยแฝงถึงเสียชีวิต ผลทดสอบผลการทดสอบหา ไซบูทรามีน (Sibutramine) และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยารักษาโรคซึมเศร้า จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อสั่งซื้อจากเว็บขายสินค้าออนไลน์ 8 แห่ง พบว่า  มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนยาแผนปัจจุบัน ดังนี้  1. AIKA รุ่นผลิต 21/11/2017 พบ ไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน  2. MINIMAL By FALONFON รุ่นผลิต มกราคม 2018 พบ ไซบูทรามีน 3. S – Line รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ไซบูทรามีน 4. LYN รุ่นผลิต 10-01-2561 พบไซบูทรามีน 5. L-Fin by Luk-Sam-Rong รุ่นผลิต 1/7/60 พบ ไซบูทรามีน 6. Kalo รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ฟลูออกซิทีน  และยังพบด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ AIKA, L-Fin และ Kalo นั้น มีชื่อผู้รับอนุญาตคนเดียวกัน คือ บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัดการขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีไซบูทรามีน (Sibutramine) มีโทษตามกฎหมายภก. ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ http://www.facebook.com/rparun          ไซบูทรามีน(Sibutramine) แรกเริ่มนั้นใช้เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งพบว่าสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยการไปยับยั้งการดูดกลับ(reuptake) ของซีโรโทนิน(serotonin) และนอร์อะดรีนาลีน (noradrenaline) ที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการรับประทานอาหาร จึงมีการพยายามนำมาใช้เพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก แต่พบความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในด้านของการลดน้ำหนักเมื่อรับประทานยาผ่านไป 6 เดือน กลับพบว่าให้ผลต่างกับยาหลอกเพียงเล็กน้อย จึงทำให้หลายประเทศมีความพยายามในการเลิกใช้ยานี้ ไซบูทรามีน(Sibutramine) เดิมประเทศไทยมีเพียงชื่อการค้าเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา คือ รีดักทิล (Reductil) ชนิดแคปซูล 10 มิลลิกรัมและ 15 มิลลิกรัม ต่อมาบริษัทผู้นำเข้ายกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจภายใต้คำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2553 ดังนั้น ปัจจุบันห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือผู้รับอนุญาตขายยาผู้ใดขาย นำเข้า ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 120 วรรคสอง คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 120 วรรคสาม ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทแล้วแต่กรณี ส่วน ประชาชนทั่วไปที่ขายยาหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท ด้วย หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย และมีไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาทผลิตภัณฑ์อาหารที่มี fluoxetine มีความโทษตามกฎหมายfluoxetine เป็นยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRIs) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า กลไกการออกฤทธิ์โดยเพิ่มระดับสารสื่อประสาท serotonin ในสมอง นอกจากใช้ในโรคซึมเศร้า ยังมีข้อบ่งใช้ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนในโรคกลัวอ้วนรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากfluoxetine จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 25 (14 พ.ค.2555 ข้อ 3 (34)) กรณีที่มีการผสมยาตัวนี้ลงไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 207 พาราควอตในน้ำตาลทราย

เรื่องทดสอบฉบับนี้ เป็นความร่วมมือกันของทีมงานคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำการสำรวจด้านนโยบายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลต่อการใช้สารพาราควอต โดยส่งแบบสำรวจถึงกลุ่มโรงงานน้ำตาลไทย รวมทั้งสิ้น 47 บริษัท และทีมนิตยสารฉลาดซื้อ สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำตาลทรายในท้องตลาดจำนวน  21 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบหาการปนเปื้อนของพาราควอตในผลิตภัณฑ์  เหตุผลสำคัญที่ทีมงานเลือกการทดสอบน้ำตาลทรายและทำสำรวจกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการน้ำตาลและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ถือเป็นเสียงจากฟากฝั่งที่ยังคงต้องการให้มีการใช้สารพาราควอตต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะมี “มติ” ไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 จากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุตินำเข้าในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562   อย่างไรก็ตามเรื่องราวได้ยืดเยื้อกันมาจนถึงปัจจุบัน  โดยทั้ง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ดำเนินการทำตามมติข้างต้น ให้เหตุผลว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการใช้สารเคมีดังกล่าว เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีมติ แบน-ไม่แบน ในวันที่ 23 พฤษภาคม ปีนี้      ผลการสำรวจด้านโยบาย• จากจำนวน 47 บริษัทในกลุ่มโรงงานน้ำตาลทราย มีบริษัทที่ตอบแบบสอบถามกลับมาจำนวน 6 บริษัท (ดูตารางที่ 1) ตารางที่ 1 บริษัทและนโยบาย การใช้สารพาราควอต• มีบริษัทที่ไม่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 39 บริษัท ซึ่งผู้จัดทำแบบสอบถาม ได้ระบุไว้ชัดเจนในจดหมายว่า “กรณีท่านไม่สะดวกในการตอบแบบสอบถาม ขออนุญาตแปลความว่า “บริษัทท่านยังไม่มีนโยบายในการยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล”  • มีบริษัทที่ไม่ได้รับแบบสอบถาม 2 บริษัท คือ บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด และ บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัดผลทดสอบผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย พบว่าจากจำนวนทั้งสิ้น 21 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอต (สามารถดูตัวอย่างทั้งหมดได้ในตารางที่ 2)  ตารางที่ 2 ผลทดสอบการปนเปื้อนพาราควอตในน้ำตาลทรายฉลาดซื้อแนะ แม้จะไม่พบการปนเปื้อนพาราควอตในน้ำตาล แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ระบุว่า พบการปนเปื้อนสารพาราควอตใน กบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง ซึ่งมีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จำกัดให้มีในอาหาร(เนื้อสัตว์) คือ ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยปริมาณที่พบในปูนา อยู่ระหว่าง 24 – 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 – 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1 – 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 – 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ (น้ำปู) เรียกว่าเกินกว่าค่ามาตรฐานไปถึง 200 เท่าในบางรายการ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า พาราควอตมีการตกค้างจำนวนมากในพื้นที่เกษตรกรรม และสามารถส่งผ่านไปถึงสิ่งมีชีวิตที่สัมผัสสารโดยตรงด้วย  ดังนั้นทีมฉลาดซื้อขอร่วมสนับสนุนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตามมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการตรวจพาราควอตในซีรั่มของมารดาและสายสะดือของทารก ในกลุ่มประชากรที่อาศัยในพื้นที่เกษตร ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อำนาจเจริญ และกาญจนบุรี โดยเก็บตัวอย่างเลือด ซีรั่ม ปัสสาวะ รวมถึงขี้เทาในทารกแรกคลอด ยืนยันว่า ในประเทศไทยพบการตกค้างและสะสมของพาราควอตจากมารดาสู่ทารก ซึ่งพบปริมาณการสะสมมากกว่าในมารดาศาสตราจารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์  อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุข---------------------------------------------------------------------------รายชื่อโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 47 บริษัท 1. บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด  2. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด  3. บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด  4. บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด 5. บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด  6. บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด  7. บริษัท สหการน้ำตาลชลบุรี  8. บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด  9. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด  10. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด  11. บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด12. บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด13. บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด14. บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด 15. บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด16. บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)17. บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด18. บริษัท น้ำตาลนิวกว่างสุ้นหลี จำกัด19. บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด20. บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด21. บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด  22. บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด  23. บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด 24. บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด 25. บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด  26. บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด  27. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด  28. บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  29. บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด  30. บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด  31. บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด32. บริษัท มิตรเกษตร อุทัยธานี จำกัด33. บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) 34. บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) 35. บริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด36. บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)37. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด38. บริษัท น้ำตาลทรายกำแพงเพชร จำกัด39. บริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด40. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จำกัด41. บริษัท อุตสาหกรรมอ่างเวียง จำกัด (รง.น้ำตาลราชสีมา แก้งสนามนาง)42. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลที.เอ็น. จำกัด43. บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล จำกัด (รง.น้ำตาลอู่ทอง)44. บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด (มหาวัง)45. บริษัท โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จำกัด46. บริษัท สหเรือง จำกัด47. บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 207 ส่องฉลากลูกอมชุ่มคอและยาอมสมุนไพรบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ

ลูกอม(เม็ดอม) กับ ยาอม นั้นต่างกันในทางสรรพคุณ ลูกอมจัดเป็นอาหารส่วนใหญ่ไว้อมเพลินๆ ชุ่มคอ ส่วนยาอม เป็นยามีผลในทางบำบัดรักษา ถึงอย่างนั้นเวลารู้สึก คอแห้ง ระคายเคืองคอ เจ็บคอ จนเลยไปถึงไอถี่ๆ หลายคนก็รู้สึกว่า ลูกอม ยาอมก็เป็นทางออกที่พอจะช่วยให้ชุ่มคอและผ่อนเพลาอาการทั้งหลายลงได้บ้าง หรือบางคนไม่ได้มีอาการอะไรก็ยังชอบอมเพราะติดใจในรสชาติ  แต่หลายครั้งการเลือกซื้อก็ทำให้ผู้บริโภคสับสนหน่อยๆ เพราะลูกอมกับยาอมมักวางขายบนชั้นวางเดียวกัน (ยาอมที่เป็นยาสามัญประจำบ้านสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไป)  ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อนหรือไม่ได้อ่านฉลากก็อาจจะเลือกผิดวัตถุประสงค์ได้  ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงไปหยิบลูกอมที่โฆษณาให้อารมณ์ประมาณชุ่มคอ สดชื่น และเนียนๆ ว่าช่วยลดการเจ็บคอมาส่องฉลาก เน้นกันที่ผลิตภัณฑ์ทำจากน้ำตาลแท้(ยังครองใจตลาด) กับชนิดไม่มีน้ำตาล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมา แถมด้วยยาอมสมุนไพรที่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ ซึ่งปัจจุบันวางขายหลากหลายยี่ห้อ มาเจาะกันที่ส่วนผสมหรือตัวยา เพื่อไว้เป็นข้อมูลสามัญประจำบ้านแก่สมาชิกชาวฉลาดซื้อ  ตลาดลูกอม 8000 ล้าน ผลิตภัณฑ์เล็กๆ แต่การตลาดยิ่งใหญ่ ตลาดลูกอมนั้นมีมูลค่าสูงและเติบโตทุกปี ทำให้การแข่งขันสูง ทั้งเจ้าตลาดเก่าและรายใหม่ ลูกอมแบบชนิดเม็ดแข็งได้รับความนิยมมากที่สุด(สัดส่วน 43%) ส่วนรสชาติ เย็นสดชื่น คือรสชาติที่คนไทยชื่นชอบ รองลงมาเป็นลูกอมช่วยให้ปากหอม(ลดกลิ่นปาก) ฉลาดซื้อกับลูกอม ยาอมลูกอมนั้นแต่แรกเริ่มเดิมทีก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยา มีสรรพคุณแก้ไอ เจ็บคอ ลดการระคายคอ และวางขายกันในร้านยา ต่อมาจึงขยับมาเป็นอาหาร เพื่อให้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น แต่ภาพจำก็ยังทำให้รู้สึกถึงความเป็นยาของลูกอม  อย่างไรก็ตามลูกอมนั้นส่วนใหญ่ทำจากน้ำตาลล้วนๆ ส่วนสมุนไพรที่ใส่ลงไปจะเป็นเรื่องของรสชาติที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกสดชื่น เว้นก็แต่ใส่สมุนไพรเข้าไปเป็นจุดขาย ดังนั้นหากเป็นลูกอมจากน้ำตาลก็ควรระวังเรื่องปริมาณน้ำตาล ไม่อมบ่อยจนเพิ่มน้ำตาลในร่างกายมากไป รวมถึงเรื่องฟันผุด้วย แต่ปัจจุบันก็มีทางเลือกเป็นลูกอมชนิดซูการ์ฟรีหรือไม่มีน้ำตาล แต่ถ้าอยากได้สรรพคุณทางยา หรือรับคุณประโยชน์จริงๆ จากสมุนไพร ยาอมสมุนไพรเป็นทางออกที่ดี เดิมนั้นอาจมีรสชาติไม่ถูกปาก เพราะรสที่ฝาด ขม และสัมผัสในปากที่ให้ความรู้สึกระคายลิ้น แต่หลายผลิตภัณฑ์ก็ปรับปรุงรสชาติให้ “อร่อย” ขึ้น รสยอดนิยมก็คือ รสบ๊วย รสเปรี้ยวหวาน รสสัมผัสหวานๆ เย็นๆ การปรับตัวนี้ทำให้ตลาดยาอมสมุนไพรนั้นไม่ธรรมดาและมีแนวโน้มเติบโตไปเรื่อยๆ เห็นได้จากการจัดวางในร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย   เจ็บคอทำอย่างไรดี เจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งหลักๆ เป็นเรื่องเจ็บคอจากการติดเชื้อโรค กับเจ็บคอเนื่องจากสิ่งแวดล้อม(สูดควันบุหรี่ ภูมิแพ้ ฯลฯ) หรือการใช้เสียงมากเกินไป(พูดมากไป ตะโกนเสียงดังเป็นเวลานาน) หรือสภาวะของโรคบางอย่าง เช่น กรดไหลย้อน เป็นต้น การเจ็บคอ ระคายคอที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ การใช้ยาอมสมุนไพรหรือลูกอม ช่วยให้เกิดสภาพชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ ยิ่งเป็นยาอมสมุนไพร จัดว่ามีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำบัดอาการได้มาก และปลอดภัยกว่ายาแก้เจ็บคอหรือยาแก้ไอ ที่เป็นยาแผนปัจจุบัน   วิธีที่ดีและง่ายสุดเพื่อบรรเทาอาการคอแห้ง เจ็บคอ คือ ดื่มน้ำให้มากๆ ไม่เป็นน้ำเย็น ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องจะดีกว่า เพราะน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่เกิดการอักเสบ และควรเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการคันคอ พวกของทอด ของมัน อาหาร ผลไม้ รสหวานจัด   ส่วนยาอมที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช้เลยคือ ยาอมที่มียาปฏิชีวนะนีโอมัยซินเป็นส่วนผสม ยาเหล่านี้บรรเทาอาการเจ็บคอได้จากยาชาที่ผสมอยู่ แต่ยาปฏิชีวนะเป็นส่วนเกินเพราะไม่มีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาด้วย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 207 เครื่องทำกาแฟ Manual & automatic

ตามที่สัญญากันไว้ ฉบับที่แล้วเราลงผลทดสอบเครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล คราวนี้เรายังเอาใจคอกาแฟต่อไปด้วยผลทดสอบเครื่องทำกาแฟแบบอัตโนมัติและอัตโนมือ มีมาให้เลือกกัน 14 รุ่น แบ่งออกเป็นแบบอัตโนมัติ 8 รุ่น (ราคาระหว่าง 22,000 ถึง 89,000 บาท) และแบบแมนวลอีก 6 รุ่น (ราคาระหว่าง 3,500 ถึง 10,500 บาท) โดยรวมแล้วพบว่าถ้าอยากประหยัดเงินเราก็ต้องลงแรงกันหน่อย เพราะเครื่องทำกาแฟแบบแมนวลส่วนใหญ่ที่เราทดสอบก็ได้คะแนนใกล้เคียงกับเครื่องอัตโนมัติที่ราคาสูงกว่าหลายเท่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point