ฉบับที่ 116 ต้มเค็มปลาตะโกก

ปลายเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุกเกือบทุกเย็นค่ำทีเดียว  เช้าวันเสาร์หลังคืนฝนตกและฟ้าเพิ่งหมาดฝนไปเมื่อสาง  วันที่ไม่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่จับรถเมล์ประจำอำเภอเข้ากรุงเทพฯ แบบนี้ ตลาดสดดูจะเป็นที่ให้เรียนรู้เรื่องอาหารการกินได้เป็นอย่างดี ที่ตลาดสดเช้านี้มีปลาแม่น้ำออกมาวางขายมากมาย ทั้งปลาเค้า ปลากด  ปลาตะโกก  ปลาตะเพียน  ปลาสวาย และปลาแขยง  ผิดกับช่วงก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อราวเดือนกรกฎาคมที่แม้เข้าสู่หน้าฝน แต่ฝนพัดพามาตกแถวบ้านน้อยครั้งเต็มที ที่ลุ่มอย่างอำเภอผักไห่แม้จะเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยปลา มีน้ำปลา และปลาร้าเป็นของขึ้นชื่อของถิ่นนี้มาแต่สมัยก่อน ตอนนี้แทบจะเอ่ยปากบอกได้ว่าแทบจะไม่มีปลาจะกินกันก่อนเลยทีเดียว แม่ค้าปลา 5 – 6 รายที่เอาปลาวางขายต่างยิ้มหัว เมื่อฉันบอกว่าจะวิ่งกลับไปเอากล้องที่บ้านมาถ่ายภาพปลาและตัวแม่ค้า  สัก 5 นาทีให้หลังฉันกลับมาทั้งแม่ค้าปลาและคนขับรถรับจ้างในตลาดต่างพากันเชียร์ให้ซื้อปลากันใหญ่  ฉันว่ารออีกสักพักฉันจะตามไปที่บ้านของพวกเธอและถามว่าอยู่กันแถวไหน  ทุกคนว่ามาจากคลองมะขามเทศ  คลองเล็กๆ ก่อนเชื่อมต่อจากแม่น้ำน้อยผ่านไปทาง ต.ลาดชะโด ฉันนึกภาพตามที่พวกเธอว่า ระหว่างทางสัญจรของ อ.ผักไห่ กับ จ.สุพรรณบุรี จะมีเส้นทางลาดยางเก่าๆ ทอดตัวยาวเป็นแนวขนานไปกับคลองเล็กๆ  ซึ่งบางแห่งจะมียอตั้งอยู่ริมคลองนั้นไม่มากนัก  ผิดกับสมัยที่ฉันยังอยู่ในวัยเด็ก ที่ยอตั้งรอท่าเพื่อยกขึ้นมาถี่กว่าทุกวันนี้ แม่ค้าหลายคนว่า ถ้ามาเช้ากว่านี้มีปลาให้เลือกเยอะ เพราะยกยอกันขึ้นมา  ปลาเค้า ปลาเนื้ออ่อนไม่มีเกล็ดตัวใหญ่มีเยอะกว่าใคร ถูกคนครัวร้านอาหารเหมาซื้อไปมากโขแล้วก็ยังมีเหลืออยู่  ฉันนึกในใจว่ามาตลาด 7 โมงเช้านี่ก็ถือว่าเช้าแล้วสำหรับฉันเชียวนา แม่ค้าปลาเกือบทั้งหมดมาจากบ้านที่หาปลากันเอง หลายคนทำนาด้วย  มีเพียงแค่เจ้าเดียวเท่านั้นที่บอกว่าไม่ได้หาเองแต่ไปรับซื้อจากเพื่อนบ้านข้างๆ กันมาขาย การซื้อ-ขายปลาสดในตลาดสดสมัยนี้ต่างไปจากแต่ก่อนด้วยเหมือนกัน  แต่ก่อนตอนไปตลาด ถ้าจะเดินผ่านหรือนั่งชี้เลือกปลาในกะละมังที่แม่ค้าจับขังใส่ไว้ในตาข่าย เวลาพวกมันดิ้นขลุกขลักก็ต้องระมัดระวังเพราะน้ำจะกระเส็นกระสายแตกกระจายอยู่ตามแรงดีดของปลา  คนทำปลาให้กินมักเลือกปลาเป็นๆ ขนาดตัวตามที่ต้องการหรือมีแล้วชี้ในถังหิ้วกลับบ้าน  คนไหนที่ไม่อยากทำปลาเป็นก็ชี้ให้แม่ค้าทุบหัวแล้วเอาเชือกกล้วยร้อยเข้าทางเหงือกออกทางปาก ให้คนซื้อหิ้วกลับไปขอดเกล็ด ผ่าพุงล้างไส้   หากแต่ปัจจุบันคนซื้อหลายคนกลับนิยมซื้อปลาที่ตายแล้วแต่ตายังวาวใส เลือกชี้ให้คนขายช่วยทำปลาจนออกมาเป็นชิ้นๆ พร้อมเอากลับไปปรุงที่บ้านมากกว่าซื้อตัวเป็นๆ จับไปขังก่อนจัดการสังหารเองก่อนปรุงด้วยหวังว่าจะได้เนื้อสดๆ  แม่ค้าปลากดที่ฉันเจอส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลากดแช่น้ำแข็งไปเสียหมดแล้ว  แม่ค้าว่าเอาขังไว้มาขายไม่ได้ เดี๋ยวนี้จับปลากดได้ก็ปลดเบ็ดแล้วน็อคน้ำแข็งรวมเอาไว้ พอเช้าก็เอามาขาย  แม้ฉันจะชอบกินเนื้อปลาสดๆ ยังไง พอเจอแบบนี้เข้าก็ต้องตามน้ำไปกับแม่ค้าเขาเหมือนกันนะนี่ เช้านั้นฉันได้ปลาตะโกก ตัวหนัก 9 ขีด ราคา 45 บาทมาบ้าน  ก่อนหน้านี้ฉันเคยสับสนระหว่างปลาตะโกก กับปลาตะเพียนอยู่เหมือนกัน  แต่แม่ว่ามันสังเกตไม่ยากตรงที่ปลาตะโกกตัวยาวกว่าปลาตะเพียน     ตอนได้มามันตายเสียแล้วแหละแต่ตายังใส แม่ว่าไม่ต้องเอาใส่ตู้เย็น สายๆ วันนั้นแม่จัดการผ่าพุงล้างท้องเอาเหงือกออก แล้วต้มเค็ม ต้มมันทั้งเกล็ดนั่นแหละ เพราะเกล็ดปลาตะโกกนั้นเคี้ยวมันอร่อยพอๆ  กับเกล็ดปลาตะเพียนเลยทีเดียว   สูตรต้มเค็มปลาตะโกกพริกไทยเม็ดตำให้แหลกกับกระเทียมและรากผักชี   แล้วเอาไปต้มในน้ำให้เดือด ปรุงรสเปรี้ยวด้วยมะขาม รสหวานด้วยน้ำตาลปี๊บ รสเค็มด้วยเกลือและซีอิ้ว จนรสชาติครบ 3 รสดีแล้ว จึงใส่ปลา ใส่มะเขือเทศ หรือสับปะรด ก่อนจะปิดเตายกหม้อลงให้ใส่ต้นหอมหั่นท่อนลงไปด้วย ปลาตะโกกสดๆ นอกจากจะต้มเค็มอร่อยไม่แพ้ปลาตะเพียนแล้ว ยังเอาไปต้มกับน้ำปลาร้าแล้วแกะเอาแต่เนื้อสุกๆ มาตำโขลกกับเครื่องแกงน้ำยาสำหรับกินกับขนมจีนได้อร่อย เนื้อน้ำยาฟู นุ่ม น่ากินมาก และถ้าคุณเกิดนึกอยากกินปลาตะโกกขึ้นมา ลองออกตามหาที่ตลาดสดใกล้บ้านดูสิคะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 ข้าวต้มสุขภาพ และการเตรียมงานใหญ่ชาวกินเปลี่ยนโลก

เมื่อวานมาประชุมออฟฟิศจนค่ำ ทำให้กลับบ้านนอกไม่ทันรถบัสเที่ยวสุดท้าย เมื่อคืนเลยเลือกนอนค้างบ้านพี่เก๋ เพราะใกล้ที่ประชุม สายวันนี้ต้องประชุมเรื่องการออกแบบลานวัฒนธรรม ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 7 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 1 – 5 กันยายน นี้ที่เมืองทองธานี...... ปีนี้นอกจากจะมีเพื่อนเครือข่ายเกษตรทางเลือก และชุมชนต้นแบบความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังมีเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านมาร่วมกัน วางแผนออกแบบเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งในปีนี้ จะเน้นไปเรื่องความหอมของพืชผัก อาหาร และสมุนไพร จากทั่วประเทศไทย มานำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนกับผู้สนใจ เพื่อให้เกิดการนำมาปรับประยุกต์ใช้ในวิถีประจำวันได้อย่างสมสมัย ปีนี้มีคอนเซ็ปต์ของมหกรรมสมุนไพรฯ คือ " หอมกรุ่นทั่วไทย หอมไกลทั่วโลก " นอกจากจะมีข้าวหอมหลากชนิด กับผักสมุนไพรเด่นตามคอนเซ็ปต์ของแต่ละภาคมาโชว์ในรูปแบบของอาหารพร้อมชิม และการสาธิตวิธีการปรุงพร้อมสรรพคุณแล้ว ยังมีโซนทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนเมือง ซึ่งปีนี้นอกจากจะมีแปลงผักคนเมืองและสาธิตการดูแลสวนครัวแบบอินทรีย์ที่เหมาะกับคนเมืองแล้ว ยังมีหน่วยให้ความรู้เคลื่อนที่ (mobile unite) ของโครงการสวนผักคนเมือง มาเปิดตัวให้ได้รู้จักกันในงาน และตามไปบริการในละแวกใกล้บ้านอีก 7 หน่วยอีกด้วย ปีนี้โครงการพัฒนากลไกอาหารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มาร่วมเปิดบูธให้บริการข้อมูลอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่สนใจ ในรูปแบบของเกมส์ที่ขออุบไว้ รอให้ท่านผู้สนใจไปร่วมกิจกรรมกันในงาน ส่วนชาวกินเปลี่ยนโลก ปีนี้เตรียม ทำหนังสือเรื่องถั่วพื้นบ้านจากงานศึกษาออกมา 2 เล่ม พร้อมกิจกรรมรณรงค์กินถั่วพื้นบ้าน ซึ่งมี “นิทรรศการถั่วๆ” ว่าด้วยสาธิต การกิน การปลูก และพันธุ์เมล็ดถั่วพื้นบ้าน พร้อมกับนิทรรศการกินได้พร้อมคู่มือการกินโปรไบโอติกพื้นบ้าน !! ทั้งนี้ในบริเวณลานวัฒนธรรมปีนี้ เราออกแบบรณรงค์ลด ละ เลิก การสร้างขยะ โดยขอเชิญชวนให้ผู้สนใจไปงานมหกรรมพกพาภาชนะส่วนตัวสำหรับใส่อาหารรับประทาน จาน ช้อน ปิ่นโต และถุงใส่ของต่างๆ ไปเอง พร้อมมีกิจกรรม “ธนาคารขยะ” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนถุงพลาสติกแล้วมาใช้ซ้ำใหม่อีกด้วย จบการประชาสัมพันธ์ ...เช้าตรู่หลังฟ้าสางใหม่ๆ วันนี้ พี่เก๋ตื่นและลงมาตั้งหม้อข้าวต้มแล้วเตรียมตัวออกไปวิ่งที่สระน้ำ สวนสาธารณะท้ายหมู่บ้าน ก่อนออกไปบอกฉันที่หมกตัวอยู่ในคอมพ์ฯ “ดูข้าวต้มด้วยนะ” จนพี่เก๋กลับมาจากวิ่งแล้วร้องทักฉันเรื่องข้าวต้มนั่นแหละ จึงได้เดินตาตื่นไปดูหม้อข้าวบนเตาแก๊ส เฮ้อ! เกือบไป .... ดีนะที่พี่เก๋ตั้งหม้อข้าวบนเตาไฟอ่อน ข้าวหอมมะลิในหม้อกำลังเดือด ปุดๆ เบาๆ เม็ดขาวๆ แตกปริเปื่อยกำลังชวนกิน นี่ถ้าไหม้คงจะต้องต้มใหม่อีกรอบ พี่เก๋ปิดเตาไฟ หันมาเตรียม เห็ดฟาง เห็ดหอม เต้าหู้ ผักชี กระเทียมและขิง เต้าหู้ขาว 2 ชิ้น หั่นเป็นก้อนพอคำ เห็ดฟาง 1 ขีด และเห็ดหอมสดอีก 1 ขีด ผ่ากลาง ผักชีหั่นหยาบ และขิงซอยเป็นเส้นบาง และบุบกระเทียมไทยไว้ผัด 2 หัว เครื่องปรุงข้าวต้มสุขภาพก็พร้อมปรุงแล้ว!! วิธีทำข้าวต้มสุขภาพ 1.ตั้งกระทะบนเตาไฟ เทน้ำมันลงใส่ รอให้ร้อนแล้วใส่ก้อนเต้าหู้หั่นชิ้นลงไปทอดให้เหลืองหอมจึงปิดเตาแล้วตักเต้าหู้ขึ้นพัก 2.เปิดเตาไฟอีกครั้ง ใส่กระเทียมบุบสับหยาบลงไปผัดในน้ำมันให้เหลืองหอม แล้วลำเลียงเครื่องปรุง อันได้แก่ เห็ดหอมสด เห็ดฟาง และเต้าหู้ทอดลงไปผัดเพื่อดึงความหวานหอมของเนื้อเห็ดออกมา ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขณะผัด 3.เมื่อเห็ดหอมและเห็ดฟางสุกแล้วปิดเตาไฟ ตักใส่ลงในหม้อข้าวต้มที่สุกรอไว้ก่อนหน้านี้ คนให้เข้ากัน ชิมและปรุงรสด้วยซีอิ๊ว โรยด้วยขิงซอย ผักชีหั่นหยาบ และพริกไทยป่น ตักเนื้อข้าวต้มในชามเข้าปากแล้วใจก็ยังอดนึกฝักถั่วแปบอ่อนๆ ถ้าเอามาผัดกับเครื่องข้าวต้มเหล่านี้ก็คงอร่อยเนอะ...จำถั่วแปบที่เล่าในเล่มก่อนได้ไหมคะ ถั่วแปบที่ปลูกไว้เมื่อกลางมิถุนายน ครั้นปลายเดือนกรกฎาคมก็ได้เพื่อนบ้านผู้หวังดีมาช่วยตัดหญ้าหน้าบ้านให้ แต่ความที่เขาไม่รู้จักก็เลยตัดต้นถั่วแปบที่กำลังงามทิ้งไปด้วย กะว่าในงานมหกรรมฯ นี่แหละ คงจะได้ต้นและเมล็ดถั่วแปบกลับไปปลูกใหม่ที่บ้านอีกครั้ง คุณล่ะคะ สนใจถั่วแปบและถั่วและโปรไบโอติกพื้นบ้านหรือเปล่า? ถ้าสนใจเชิญในงานมหกรรมฯ นะคะ ไว้เจอกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 เมนูเด็ดจากมะขามเพาะ

หน้ามะขามหวานช่วงต้นกุมภาพันธ์ปีนี้ฉันได้มะขามหวานจากเพื่อนและพี่มากินอยู่เนืองๆ หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งนี้เพราะมะขามนั้นมีอัตราความผันแปรทางพันธุกรรมสูง หากเอาเมล็ดมะขามพันธุ์สีชมพูไปเพาะให้เกิดต้นใหม่ โอกาสที่เราจะได้ต้นใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมมีอยู่สูงมากแม้ฉันจะชอบกินมะขามหวานเพราะมันช่วยการระบาย และชะล้างลำไส้ นอกเหนือไปจากรสชาติและความสนุกจากการดุนแยกเนื้อออกจากเมล็ดในปากมากแค่ไหนก็ตาม ปริมาณการกินมะขามหวานในแต่ละวันก็ยังต้องถูกควบคุมอยู่ดี ทั้งนี้เพราะในเนื้อมะขามหวานมีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลอยู่สูง แต่การนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ หรือกลับจากการเดินทางระยะไกล ฉันก็ยังใช้มะขามเป็นผู้เยียวยาพยาบาลอาการท้องผูกอยู่เสมอเมื่อฉันมองเม็ดมะขามหวานที่กินเหลือกองแยกไว้ ฉันใคร่ครวญในใจว่าจะทำยังไงกับมันดี สิ่งที่เคยได้ยินจากคอกาแฟบ่นค่อนข้างบ่อยๆ ยามเจอกาแฟสำเร็จรสเปรี้ยวปร่า หาว่าปนเมล็ดมะขามคั่วใส่ อันนี้ไม่จริง เพราะกาแฟสำเร็จยี่ห้อนั้น กินเมื่อไหร่ๆ ก็รสนั้นทุกทีไปนั่นสินะ ... คั่วเม็ดมะขามกิน เป็นช้อยส์ถัดมา แต่พอนึกว่าจะต้องคั่วให้สุกด้วยไฟอ่อนๆ นานๆ แล้วจึงปล่อยให้เย็นแล้วเอามาขบเขี้ยวกิน เป็นของกินเล่นยามขาดแคลนในวัยเด็ก รสชาติมันไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ ทางเลือกนี้จึงปล่อยผ่านไปคิดมาคิดไป มาลงตัวที่เม็ดมะขามงอกนี่แหละ เพียงแต่เมื่อเริ่มทำกับตอนได้ผลนั้นมันมีช่วงห่างพอควรทีเดียวแต่จะเป็นไรไป ทำทิ้งๆ ขว้างๆ ไว้ พอลืมๆ ไปเดี๋ยวก็ได้กิน วิธีทำเม็ดมะขามงอกเอาเม็ดมะขามมาเพาะลงในกระถางดินหน้าบ้าน วางสุมๆ ไว้ในนั้นแล้วรดน้ำทุกวัน วันละหน 3 วัน 5 วัน ผ่านไป ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเม็ดมะขามมันเม็ดใหญ่ ใช้เวลาซึมซับความชื้นนาน จึงไม่เหมาะกับการเอาผ้ายืดห่อหุ้มแล้วรดให้น้ำชุ่มตลอดเวลาเหมือนเพาะถั่วเขียว ทั้งๆ ที่มะขามกับถั่วเขียวก็พวกถั่วพวกเดียวกันแท้ๆ 7 วัน ผ่านไป เปลือกมะขามดูอ่อน ซีกเมล็ดเริ่มแง้มอ้า ดูเหมือนว่าจะมีความหวัง ราว 15 วัน นั่นไง…มันออกมาเป็นต้นกล้าอ่อน มียอดมีใบสีเขียวของใบเลี้ยงคู่ชุดแรกกับกลีบเมล็ดทั้ง 2 ฝา เหมือนถั่วงอกหัวโตสีเขียวที่มีปีกใบปรกหัวไว้ ทดลองเอากลีบเมล็ดมาลองชิมแบบดิบๆ อืม ....ฝาด ส่วนยอดใบนั้นเปรี้ยวแบบเดียวกับยอดอ่อนใบมะขามต้นใหญ่ๆ ไม่ผิดกันเชียวดีละ .... ลองทำต้มยำยอดมะขาม(เพาะ) ซะเลย เครื่องปรุงมี ขาหมู ข่า ตะไคร้ หอม ใบมะกรูด เกลือ น้ำปลา และยอดมะขามที่ถอนออกมาจากกระถางเพาะ ตัดเอาแต่ส่วนที่อยู่เหนือดินแล้วล้างให้สะอาดตั้งหม้อน้ำบนเตาเอาขาหมูที่สับเป็นท่อนๆ ใส่ลงไปพร้อมกับใส่เกลือ ใช้ไฟอ่อนๆ เคี่ยวให้เปื่อย พอเริ่มขาหมูจะเปื่อยใส่ข่าแก่ 4 – 5 แว่น กับต้นตะไคร้ทุบ 2 ต้น และหอมแดงบุบ 5 – 8 หัว ครั้นขาหมูเปื่อยดีแล้วเติมใบมะกรูด น้ำมะขามเปียกนิดหน่อย น้ำปลา ก่อนยกหม้อต้มยำลงจากเตาเอาพริกขี้หนูสวนบุบใส่ลงไปพร้อมๆ กับยอดมะขาม(เพาะ)หลังชิมรสชาติ พบว่า กลีบเมล็ดมะขามนั้นรสฝาดหายไป มีรสมันๆ หวานนิดๆ มาแทนเมื่อถูกทำให้สุกในน้ำร้อน ยอดมะขามเพาะ ดูจะเหมาะกับบ้านสวนที่ไม่มีที่ให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ และไม่ได้หวังผลว่าจะได้กินอย่างรวดเร็วทันใจเมนูยอดมะขามเพาะที่คิดว่าจะทำถัดไปเริ่มประดังประเดเข้ามาหลังจากปากซดน้ำแกงคำแรก ทั้งแกงคั่วปลาแห้งกับยอดมะขาม ยำกุ้งสดยอดมะขามสด แต่ทุกความคิดก็ต้องสงบสยบลงไป มีแต่เสียงซดน้ำโฮกๆ อยู่ครู่ใหญ่ ... สมใจคนรอจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 112-113 มะแฮะ ในผัดหมี่ซั้ว

หมี่ซั้ว  ในความคุ้นเคย มักถูกดัดแปลงไปทำอาหารเมนูอื่นๆ นอกจากผัดหมี่ซั้ว ตามแต่ความนึกอยากกิน วันหนึ่งอยากกินก๋วยเตี๋ยวน้ำ หรือผัดสปาเก็ตตี้ แต่ความขี้เกียจที่จะไปตลาดมีมากกว่า  เส้นหมี่ซั้วมักถูกเอามาใช้ทดแทนกันได้เสมอ  ก็เส้นหมี่ซั้วทำจากแป้งสาลี มีความนุ่มและออกรสเค็มปะแล่ม  มีความยาว นุ่มเหนียว  สมกับที่คนจีนมักเอามาผัดเป็นอาหารมงคลในโอกาสแซยิด 60 ปี  โดยมีนัยว่าเป็นศิริที่ทำให้มีอายุยืนยาว ค้นหาของตกค้างในตู้เก็บอาหารแห้งต่อไป พบเห็ดหอมแห้ง และถั่วมะแฮะเมล็ดลายที่พี่ยายเอามาฝาก  พี่ยายผันตัวมาทำการเกษตรทางเลือกเองสัก 10 กว่าปี  และยังชักชวนชาวบ้านแถบอีสานพัฒนาพลังงานทางเลือกของตัวเอง  โดยก่อนหน้าที่พี่ยายจะลงมือทำเกษตรบนดินแทนห้องประชุมและหน้ากระดาษนี้ย้อนไปอีกเกือบ 10 ปี พี่ยายเป็นผู้ที่พัฒนาการกินแบบทางเลือก ที่ทดลองกินถั่วมากหมายหลายประเภทวิธี ถั่วมะแฮะที่พี่ยายมาฝาก เม็ดกลม สีแดง ลายกระ  มีขนาดใหญ่กว่าและเปลือกหุ้มเมล็ดบางกว่าถั่วมะแฮะที่ฉันเอาพันธุ์จากอำเภอกุดชุมมาปลูก  ถั่วมะแฮะที่ฉันปลูกเป็นถั่วมะแฮะเมล็ดเล็กสีเหลืองนวล เปลือกหนา  ขนาดเอาไปแช่น้ำนานกว่าครึ่งวันแล้วเอาไปต้มกับน้ำธรรมดาเกือบ 1 ชั่วโมงก็ยังไม่สุก   พี่ยายไขความจริงให้ฉันฟังเมื่อเจอหน้าว่า ถั่วมะแฮะของฉันเป็นถั่วมะแฮะหิน  ชาวบ้านอีสานเขาไม่กินเมล็ดแห้ง  นั่นสินะ ตอนที่ฉันเก็บเมล็ดมาปลูก ฉันถามเจ้าของพันธุ์ว่ากินยังไง   เขาว่ากินฝักตอนเป็นเม็ดเต็มแต่ยังอ่อนๆ  เอาไปลวกต้มจิ้มแจ่ว หรือซุป  ครั้นเมื่อไปที่บ้านป่าคู้ ชาวกะเหรี่ยงโปวที่นั่น บอกว่ากินฝักสดทั้งแบบสดและลวกสุกเช่นกัน อืม...ไม่น่าเลยเรา ถั่วมะแฮะแดงลายกระนั้น  แช่น้ำ แค่ 3 ชั่วโมงก็เปลือกนิ่ม ต้มกินเล่นเปล่าๆ ก็มันดี  เอาไปปรุงอาหารอื่นๆ ต่อได้ง่ายและสุกไว  เคยเอามาทำน้ำนมมะแฮะให้เพื่อนพี่น้องทดลองดื่มกันในงานฉายหนัง Food inc. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดร่วมกับกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรทางเลือก และมูลนิธิชีววิถี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา นับว่าเป็นเมนูทางเลือกใหม่จากถั่วพื้นบ้านในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับความสนใจและสอบผ่าน เดินไปดูสวนเล็กๆ รกๆ หน้าบ้าน  มียอดฟักทองอวบเต่งและมีดอกตัวผู้ของมันเบ่งบาน  ... แม้จะเล็งและเพ่งดูอยู่นานดอกฟักทองที่บ้านก็ไม่มีดอกไหนกลายเป็นดอกตัวเมียสักดอกเดียว  แม้ความหวังที่จะได้กินลูกฟักมันๆ จากต้นที่เอาเมล็ดพันธุ์จากลูกที่กินอร่อยมาปลูกจะเหือดหายไปแล้ว  แต่ยอดและก้านอ่อนอันอวบอิ่มนั่นแปลงเป็นเมนูอาหารอร่อยได้หลากหลายไม่แพ้ผลเช่นกัน  พี่น้องชาวบ้านที่ปลูกฟักทองยังคงมีเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกแล้วให้ผลดีอย่างที่เขาคัดเอาไว้จากการกิน   โอกาสและความน่าจะเป็นที่จะมีลูกฟักทองกินในสวนรกๆ ของก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน  และหวังว่าวันนั้นฉันจะเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ชาวบ้านคัดสรรไว้แบ่งปันเพื่อนคนอื่นที่อยากปลูกต่อได้เองด้วย ผัดหมี่กับถั่วมะแฮะ เครื่องปรุง  หมี่ซั้ว 1 ถุง ,  ยอดและก้านอ่อนของฟักทองลอกขนออก  1 จาน  ,  กระเทียมสัก 1 หัว , เห็ดหอมแช่น้ำแล้วหั่นเส้น 3 – 4 ดอก ,  ถั่วมะแฮะลายแห้ง  1/ 4 ถั่ว (ถั่วมะแฮะแห้งล้างแล้วสงน้ำให้สะเด็ด ใช้เครื่องปั่นเนื้อไฟฟ้าปั่นแบบแห้ง) วิธีทำ 1.ต้มเส้นหมี่ซั้วในน้ำที่เดือดจัดสัก 5 นาที เส้นสุกพอดีดับเตา  เทน้ำทิ้ง ล้างด้วยน้ำเย็นสะอาด แล้วพักน้ำให้สะเด็ดรอไว้ 2.นำถั่วมะแฮะแห้งที่ปั่นละเอียดมาต้มกับน้ำ  1 ½ ถ้วย  นานสัก 15 นาที  จนเนื้อถั่วสุกดีแล้วจึงใส่เห็ดหอมซอย  กระเทียมสับลงไปน้ำต้มถั่วมะแฮะ  ปรุงรสด้วยซีอิ๊วตามชอบ  เมื่อเดือดและได้รสดีแล้วใส่ยอดฟักทองลงไป   ตอนนี้น้ำจะหดหายไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังพอมีน้ำขลุกขลิกอยู่บ้าง  ดอดฟักทองสุกดีอย่าให้ทันเฉาสลด ก็ปิดเตา เอาเส้นหมี่ซั้วที่ลวกแล้วใส่ชามแล้วเอาน้ำถั่วมะแฮะที่ปรุงเสร็จแล้วราดหน้า ก่อนกิน นึกขึ้นได้ว่าในตู้เย็นมีของดีเก็บไว้  ของที่มาไกลจากทะเลสาบน้ำกร่อยของพัทลุง ที่ชาวพัทลุงไม่ยอมเรียกที่นั่นว่า “เลสาบสงขลา” แต่เรียกว่า “เลสาบ” เฉยๆ   โรยด้วย กุ้งแก้ว  ของชาวบ้านจากเกาะหมาก  อ.ปากพยูน  จ.พัทลุง  ตอนไปเจอมันครั้งแรกในแหล่งผลิตและจำหน่าย ฉันเข้าใจว่ามันเป็นกุ้งเสียบ  หากแต่คนขายซึ่งยืนยันว่า “ฉันทำเองกับมือ”  บอกว่า มันเรียกกุ้งแก้ว  ซึ่งเอาเป็นกุ้งหัวแข็งในทะเลสาบมาล้างทำความสะอาด ตัดหัวทิ้ง เพราะส่วนของกรีมันแข็ง  อบแห้งด้วยเตาถ่านนาน 6 ชั่วโมง   แถมยังบอกฉันด้วยว่า “ราคาไม่แพงหรอก เพราะ 1 กิโล นั้นทำจากกุ้งสด 7 กิโล” หมี่ซั้วจานนี้  ว่าไปแล้ว รสชาติหน้าตาคล้ายบะหมี่ญี่ปุ่นเหมือนกันแฮะ  มีน้ำขลุกขลิกและกินหอมกลมกล่อมของถั่วมะแฮะ เห็ดหอม และซีอิ้วขาว   ประทังความหิวชั่วคราวได้เยี่ยมแบบประหยัด และขี้เกียจได้ด้วยค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 ถั่วแปบ รออีกแป๊บก็จะได้กิน

ถั่วแปบ รออีกแป๊บก็จะได้กิน พอเข้ากลางเดือนมิถุนายน ฝนก็เริ่มตกลงมาถี่ขึ้นจากก่อนหน้านี้   ความคำนึงที่จะให้ต้นไม้ในสวนรกๆ ที่บ้านร้างที่จังหวัดนนท์ดูจะผ่อนเพลาความกังวลลงไปได้อย่างมาก  ส่วนที่บ้านแม่ที่ฉันเพิ่งย้ายกลับมาอยู่ ฉันเล็งแลดูว่าพอจะมีที่ทางให้ต้นไม้ชนิดใหม่ที่แม่ไม่เคยรู้จักได้มีที่หยั่งรากอาศัยไหม ริ้วรั้วข้างประตูด้านนอก น่าจะเป็นทำเลที่เจ้าฝูงไก่ต็อกจอมซ่าของแม่มาคุ้ยเขี่ยไม่ได้ วันที่ฝนตกหนักฉันเริ่มเอาเมล็ดถั่วแปบที่ได้มา 4 – 5 เมล็ด แช่น้ำ พอรุ่งเช้าเพียงแค่หย่อนเมล็ดถั่วแปบลงหลุม  รอฝนชุ่มๆ ตกลงมา  ฉันก็ฝันเตลิดไปถึงเมนูจากมันเสียแล้วสิ “ถั่วแปบ” ในความคุ้นเคยของเด็กต่างจังหวัดในภาคกลางนั้นเป็นเพียงชื่อขนมชนิดหนึ่ง   หากเมื่อได้ออกเดินทางไปอีสานและภาคเหนือบ่อยๆ  ชื่อนี้ก็กลายเป็นความคุ้นเคยในฐานะผักพื้นบ้านประเภทถั่วที่ปลูกง่าย โตไว และได้กินฝักสดๆ กลางก่อนกลางแก่ได้ในปีละหน ในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือช่วงปลายเดือนตุลาคมไปยันมกราคม ในการศึกษา “ความรู้ก้นครัวจากถั่วพื้นบ้าน” โดยคณะทำงานศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นจากถั่วพื้นบ้านในระบบการผลิตที่ยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น โดนมีคุณนันทา กันตรีและคณะเป็นผู้ศึกษานั้นพบว่ามีถั่วแปบมีปลูกอย่างแพร่หลายทั้งในภาคเหนือ  ภาคอีสาน  และแถบผืนป่าตะวันตกในจังหวัดสุพรรณบุรี  อุทัยธานี และนครสวรรค์  โดยทางภาคเชียงใหม่นั้นเรียก  มะแปบ   ส่วนคนแม่สอด อำเภอชายแดนไทยพม่าใน จ.ตากเรียก มะแป๊บ หรือถั่วหนัง และในทางอีสานเรียกถั่วใหญ่หรือบักแปบ ผักสดๆ ของบักแปบนั้นต้องนำไปลวกให้สุกเสียก่อน จึงน้ำไปจิ้มแจ่วหรือป่นแบบอีสานได้อร่อยนัก นอกจากนี้บักแปบยังนำมาทำซุบ ก้อย  ตามสไตล์ของคนอีสานได้อีกด้วย  ส่วนทางภาคเหนือนั้น นอกจากลวกฝักมะแปบให้สุกกินกับน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม แล้วยังนำไปใส่ในแกงสารพัดผักพื้นบ้านอย่างแกงแค แกงส้ม  รวมทั้งนำไปผัดกับน้ำมัน และนำไปยำตามวิถีของชาวเหนือที่จะตำเครื่องแกงซึ่งคือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ถั่วเน่า(หรือกะปิ)  ตำให้เข้าเข้ากันพอแหลก  แล้วนำไปผัดคั่วไฟในกระทะให้หอม ใส่เนื้อสับหรือหมูสับลงไปผัดจนสุกแล้วจึงใส่ฝักมะแปบที่ลวกไว้แล้วลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันก็ได้ยำมะแปบที่อร่อยแบบล้านนาอีกหนึ่งเมนู  กินคู่กับข้าวนึ่งและแคบหมูกรอบๆ เค็มๆ มันๆ  ได้อย่างเพลิดเพลินเจริญอาหาร ส่วนอีกหนึ่งเมนูที่จะมาชวนทำมะแปบกินกัน คือ “แกงเลียงถั่วแปบ” เป็นเมนูตำรับอาหารพื้นบ้านของมอญแถบ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี โดยตำรับนี้ได้จาก แม่พะเยาว์ กาหลง ที่บอกเราว่าคนที่นี่ชอบถั่วแปบฝักกลมมากกว่าฝักแบน เพราะหวานและกรอบกว่า ถั่วแปบชนิดอื่น ซึ่งหทัยชนก อินทรกำแหง และกำพล กาหลง คณะวิจัยสำรวจพบว่าถั่วแปบแถบผืนป่าตะวันตกนี้มีไม่ต่ำกว่า 8 สายพันธุ์   แกงเลียงถั่วแปบอย่างมอญเครื่องปรุงปลาช่อนต้มสุก หรือสดย่าง (แบบไม่รมควัน)   1 ตัว , ถั่วแปบ   1      ถ้วย , มะขามเปียก      2 – 3  ฝัก เครื่องแกงกระชาย  2 – 3 หัว ,  ตะไคร้  1  ต้น ,  หอมแดง  2 – 3    หัว ,  กระเทียม   1   หัว , พริก         5 – 10   เม็ด  (ตามความชอบเผ็ดของแต่ละคน) , ปลาร้าสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ , เกลือ 1 หยิบมือ วิธีทำ 1. ตั้งน้ำต้มปลา โดยใส่เกลือ และ ปลาร้าสัก 1 ตัว  ต้มจนสุก สุกแล้วยกพักขึ้นจากน้ำ 2. ตำเครื่องแกง โดยเริ่มจากกระชาย ตะไคร้ หอม กระเทียม หอมแดง และพริกให้เข้ากันดีแล้วเติมปลาร้าสับลงไปโขลกให้เข้ากัน 3. แกะเอาแต่เนื้อปลามาโขลกกับเครื่องแกง 4. กรองเอาน้ำต้มปลามาตั้งไฟต้มอีกครั้ง แล้วใส่เครื่องแกงที่ตำเข้ากันดีกับเนื้อปลาต้มลงไปละลาย ปรุงรสเปรี้ยวเค็มด้วยมะขามเปียกและน้ำปลาให้รสชาติกลมกล่อมพอดีอย่างที่ชอบใจ 5. เมื่อน้ำแกงเดือด  ใส่ถั่วแปบที่ล้างสะอาด ดึงเส้นเหนียวที่สันออก และหั่นเป็นท่อนพอคำลงไป  รอให้เดือดและถั่วแปบสุกแล้วจึงยกลง  ตักใส่ถ้วยร้อนๆ กินกับข้าวสวย อร่อยมาก ถั่วแปบมีมีวิตามินเอ และบี สูง  มีสารที่จำเป็นในการผลิตเม็ดเลือดขาวให้แก่ร่างกายที่ชื่อไฟโตฮีแมคกลูตินิน (phytohemagglutinine) และเยื่อใยสูง  หมอยาพื้นบ้านใช้เมล็ดถั่วแปบแก้ไข้ บำรุงธาตุ แก้อาการเกร็ง  รากมีสรรพคุณแก้ซางเด็ก  รากถั่วแปบกับรากขัดมอนตัวผู้ และรากพันงู แช่น้ำกินแก้ไอ  ชาวบ้านทางเหนือ นำรากถั่วแปบมาตากแดดให้แห้งแล้วฝนกินกับน้ำใช้ดับพิษไข้ ใครอยากทดลองปลูกถั่วแปบดูเพราะดอกสวยมีทั้งสีขาวและม่วง ส่วนฝักมีทั้งสีเขียวและม่วงแดง  และแม้เป็นบ้านในเมืองก็ปลูกได้ เหมาะเป็นไม้ริมรั้ว คาดว่าปลายปีนี้จะมีฝักและเมล็ดมาให้ทดลองปลูกกัน  .... โปรดอดใจรอ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 ข้าว – ถั่ว – งา มากับกุยช่าย

เมนูอันใหม่นี้มีที่มาจากเหตุอันน่ายินดีของเพื่อนพ้องน้องพี่ต่างองค์กร เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์กับหลานสาวคนใหม่เอี่ยม น้องลูกน้ำ - ลูกของศจินทร์ เจ้าของคอลัมน์ connecting ในฉลาดซื้ออาหารตำรับคุณแม่หลังคลอดที่เราคุ้นเห็นจะเป็นแกงส้มกับแกงเลียง แกงอย่างแรกช่วยเรื่องการระบายส่วนอย่างหลังช่วยเพิ่มน้ำนมเพื่อการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบอีกหลายชนิดที่ปรุงให้แม่ลูกอ่อนกินเรียกน้ำนม เช่น หัวปลี แมงลัก พริกไทยอ่อน เมล็ดขนุน และกุยช่ายกุยช่าย หมอยาร้านสมุนไพรบุญเหลือที่ตลาดบางบัวทองเคยแนะเพื่อนแม่ลูกอ่อนของฉันให้นำมาต้มกับเนื้อปลา ใส่กระเทียมสด เป็นอีกเมนูที่เพิ่มมาจากผัดกุยช่ายกับตับและขนมกุยช่ายช่วงให้นมลูกซึ่งควรมีระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ฉันเลยทดลองเมนูใหม่จากวัตถุดิบอินทรีย์ที่มี ทดลองทำมาได้ 2 เมนู คือ ขนมกุยช่ายสุขภาพ กับโจ๊กบำรุงแม่ลูกอ่อน ขนมกุยช่ายสุขภาพเริ่มด้วยการตระเตรียม ข้าวกล้องหอมมะลิ 1 แก้ว ถั่วเขียวอินทรีย์ 1 แก้ว งา 3 สี (ขาว-ดำ-น้ำตาล) อย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา กุยช่ายปลูกเอง 1 กำมือ (หั่นเป็นท่อน 1 ซม.) และน้ำ 3 แก้ว ข้าวกล้อง ถั่วและงา ทั้ง 3 อย่างนี้ แยกถ้วยเอาไปซาวน้ำแล้วสงให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นค่อยๆ นำทีละอย่างไปปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าให้ละเอียด จากนั้นนำส่วนผสมทั้ง 3 อย่างเทลงภาชนะทนไฟ หรือพิมพ์ขนมเค้กก็ได้ เติมน้ำ คนให้เข้ากันดีแล้วเติมเกลือกับใบกุยช่ายลงไป จากนั้นนำไปนึ่ง โดยนำพิมพ์เค้กใส่ลงในหม้อนึ่งหรือซึ้ง หาฝาปิดพิมพ์เค้กไว้เพื่อป้องกันไอน้ำหยดลงไปทำให้หน้าขนมแฉะ นึ่งไฟกลางประมาณ 30 นาที จะได้ขนมกุยช่ายที่เคี้ยวมันๆ มีสารอาหารจากข้าวกล้อง ถั่ว งา พร้อมกากใยที่แม่ลูกอ่อนต้องการอย่างมาก แต่เนื้อขนมไม่เหนียวเหมือนขนมกุยฉ่ายทั่วไปที่ใส่แป้งข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว หลังนึ่งใหม่ๆ กินกับน้ำจิ้มที่ทำจากซีอิ๊วดำ ผสมกับน้ำส้มสายชูหมัก น้ำตาลโตนด เคี่ยวบนเตาไฟสัก 10 นาทีแล้วหั่นพริกสดใส่ลงไป ตอนทดลองชิมนี่ไม่มีใครมาชิมด้วย ขนมจึงถูกแช่เก็บไว้ เมื่อจะกินอีกที เอาชิ้นขนมขนาดที่ต้องการมาอังบนกระทะเคลือบ ใช้น้ำมันมะพร้าวเทลงกระทะเล็กน้อย อุ่นให้เหลืองหอม ก็ได้รสชาติแปลกจากตอนเริ่มทำไปอีกแบบ   อีกสูตรที่แปลงจากขนมกุยช่ายสุขภาพ คือ โจ๊กบำรุงแม่ลูกอ่อน เมนูนี้ต้องเตรียมเครื่องปรุงเพิ่มอีก ดังนี้ค่ะ น้ำซุปผัก ผักกะหล่ำปลีอินทรีย์ เห็ดหอม กุ้งแห้งวิธีทำน้ำซุป น้ำซุปผัก เตรียมจากหอมแดง กระเทียม และใบหม่อน และน้ำสะอาด ตั้งไฟอ่อน ใส่กุ้งแห้งกับเกลือไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้ม เมื่อเดือดใส่ผักกะหล่ำ จนกะหล่ำนิ่มกำลังกิน เห็ดหอมที่แช่น้ำแล้วหั่นเป็นชิ้น จากนั้นใส่ขนมกุยช่ายที่เราทำไว้ลงไป คนให้เข้ากันก็จะได้เป็นโจ๊กร้อนๆ เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่ความหอมของเครื่องปรุงที่เข้ากันอย่างกลมกล่อมกุ้งแห้งตัวใหญ่คัดพิเศษ ผลิตแบบคนทำรับประกันความสะอาดทุกขั้นตอนได้มาตอนที่ฉันเริ่มทดลองพอดีคนรับประกันไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพี่บุญยืน คอลัมน์นิสต์ฉลาดซื้อของเราอีกคน ที่กำลังแบกภาระหนักในการผลิตกุ้งแห้งอินทรีย์ปลอดสารเคมีมาจำหน่ายให้พวกเรากินแบบไฟท์บังคับ ดูท่าว่าลูกค้าจะกึ่งบังคับกึ่งขอร้องกันไปอีกยาวนาน เพราะหลังจากที่เครือข่ายผู้บริโภคออกเก็บตัวอย่างกุ้งแห้งทั่วตลาดส่งให้ฉลาดซื้อไปตรวจแล้วเจอสีปนอยู่ในกุ้งแห้งทุกตัวอย่าง มีข่าวดีฝากไว้ก่อนจาก ตอนไปฟังการบรรยายวันเปิดตลาดสีเขียวในโรงพยาบาลต้นแบบปทุมธานีเมื่อต้นมีนาคม วิทยากรอาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและแพนดูลั่ม ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ต้มข้าวกับถั่วเขียวกินอย่างละเท่าๆ กัน ใช้ล้างพิษโลหะในตัวได้” ดีและง่ายจนน่าปลื้มใจและสนุกสนานไปกับการทดลองดูนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 109 แคอ้าว: เมนูใหม่จากสิ่งที่(ไม่)คุ้นเคย

นับจากช่วงฤดูหนาวตั้งแต่ปลายปีมาแล้ว ฉันมีโอกาสได้เห็นความงดงามของดอกไม้รายทาง ดอกคำฝ้ายที่บานเหลืองสดดอกโตอร่ามตามาจนถึงช่วงก่อนวาเลนไทน์ และในช่วงรอยต่อจากนั้นก็เป็นสีชมพูหวานที่บานสะพรั่งทั้งต้นที่ร่วงหล่นเป็นพรมชมพู ซึ่งจะมีดอกคูนและเหล่าดอกไม้สีม่วงปนขาว เสลา อินทนิน ตะแบก และในช่วงเดือนมีนาคมไปจนหลังสงกรานต์ ก่อนที่จะมีดอกหางนกยูงแดงสดเบ่งบานในปลายฤดูร้อนก่อนที่จะมีเม็ดฝนตกลงมาเพื่อเปลี่ยนบรรดาเหล่าต้นไม้รายทางให้กลับมาเขียวสดชื่นอีกครั้ง … ทั้งนี้ต้องไม่อยู่ในเงื่อนไขที่เกินคาดเดาได้ของสภาพดินฟ้าอากาศที่วิปริตแปรปรวนในบรรดาดอกไม้ที่เบ่งบานแบบพร่างพรูไปทั้งต้นที่เราคุ้นๆ กันอยู่นี้ ที่ในหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองกลับมีดอกแคป่ารวมอยู่ด้วยอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แค่ป่าหรือแคอ้าว เป็นพืชตระกูลถั่วยืนต้นขนาดใหญ่ที่ฉันไม่เคยรู้จักมาก่อน มันออกดอกโดยที่เราไม่ทันได้เห็นบนต้นที่โตสูงใหญ่แต่มักร่วงหล่นเกลื่อนในช่วงเช้าๆ ... แต่เช้ามืด มีบางวันที่ฉันบังเอิญเห็นบางคนเก็บมันไปแต่ไม่ทันได้ถามทัก จนวันหนึ่งพี่ยามในหมู่บ้านเอาดอกขาวๆ โตๆ มาใส่ตะกร้าหน้าจักรยานของเขา จึงได้รู้ว่าเขาไม่ได้เก็บไปใส่แจกันหากแต่เอาไปกิน และอร่อยซะด้วย“เกรียง” หมอยาพื้นบ้านที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งเป็นคนพาฉันไปตระเวนดูผักพื้นบ้านและแจงสรรพคุณและวิธีกินของคนที่นั่นบอกกับฉันว่า “แคอ้าวกินอร่อย” รสขม ทำให้เจริญอาหาร คนที่กุดชุมนิยมเอาไปลวกจิ้มแจ่วหรือป่น หรือเอาไปหมก ซึ่งละม้ายคล้ายเคียงกับ “นก” เจ้าของไร่ดินดีใจ ที่ตอนนี้แบ่งเวลาจากงานในฟาร์มอินทรีย์ของตัวเองที่หนองฉาง จ.อุทัยธานี มาช่วยเป็นทีมวิจัยอาหารถั่วพื้นบ้าน เธอเล่าให้ฟังอย่างตื่นเต้นว่าที่บ้านเธอมีการเก็บแคอ้าวมาขายในตลาดซึ่งคนนิยมเอาไปหมก เป็นอาหารของชาวลาวเวียงที่นั่น ซึ่งสนนราคาที่ขายเฉพาะดอกแคอ้าวนั้นนับว่าราคาดีพอแรงทีเดียวสุดท้ายฉันก็ยังไม่ยอมเอาแคอ้าวมาลวกกินลำพังอยู่ดี แต่กลับนึกสนุกที่จะเอารูปและความที่ได้จากนกและเกรียงส่งไปให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเหยื่อทดลองชิมเมนูพิลึกพิลั่นที่ตอบกลับมาตรงกันทุกคน คือ “ขม” แต่ “ขมแบบไหน?” เป็นสิ่งที่ท้าทายหลนปลาเค็ม แกล้มแคอ้าว ความขมทำให้นึกไปถึงหลนปลาเค็ม พี่ฝนเตรียมเครื่องปรุงที่ใช้สำหรับหลนปลาเค็มให้ คือ หมูสามชั้น 1 ชิ้น ปลาอินทรีย์เค็ม 1 ชิ้น หัวกะทิคั้นสด 4 ช้อนโต๊ะ หอมแดง 10 หัว กระชาย 4 – 6 ราก พริกสดสีเขียวสีแดง 2 – 3 เม็ด ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากเครื่องหลนคือไข่เป็ด 2 ฟอง กับดอกแคอ้าวเริ่มแรกเอาดอกแคอ้าวมา บางคนที่เคยกินมันบอกว่าต้องเอาส่วนปลายกลีบดอกออก บางคนว่าไม่ แต่ที่เห็นตรงกันทุกคนคือให้เอาเกสรตัวผู้ออกไป ฉันเลยตัดสินใจเอาส่วนปลายกลีบดอกออก ทั้งนี้เพื่อความสวยงามของรูปสำเร็จของมันพอดึงเกสรออกค่อยๆ ลากเบาๆ มาทางก้าน ดอกแคอ้าวจึงถูกแปลงกลายเป็นพัด ตอนนี้นำไปล้างแล้วทิ้งให้สะเด็ดน้ำจากนั้นหันไปแล่เอาส่วนหนังหมูออกแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พอคำ เสร็จแล้วแบ่งชิ้นหมูหั่นออกเป็น 2 ส่วนส่วนหนึ่งเอามาสับกับปลาเค็มจนละเอียด พักรอไว้ เตรียมซอยหอมแดง กระชาย และพริกขี้หนูให้เป็นแว่นๆ หยาบๆ รอปรุงเตรียมผสมเครื่องปรุงโดยตอกไข่เป็ดใส่ลงในชามน้ำกะทิ ตีให้เข้ากันดี แล้วเติมหมูสับกับปลาเค็มและหมูชิ้นลงไป คนให้เข้ากันดี แล้วเติมหอมแดง กระชาย และพริกขี้หนู เคล้าให้เข้ากันดีใช้ถาดแบนเป็นภาชนะวางเรียงใบพัดดอกแคแล้วตักเครื่องปรุงที่ผสมแล้วลงไป จากนั้นเอาไปนึ่งด้วยไฟแรง 10 นาทีก็สุกแล้วตื่นเต้นตอนที่มันออกมาให้เห็นหน้าตานี่แหละ น่าตาดีพอใช้ ...เมื่อชิมดูจึงรู้ว่าส่วนที่ว่าขมๆ กันนั้นอยู่ที่ก้านดอก ซึ่งรสขมๆ คล้ายฝักถั่วชนิดหนึ่งที่คนอีสานเรียกลิ้นฟ้า แต่ที่บ้านฉันเรียกเพกานั่นเองบรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อเมนูใหม่นี้ ต่างว่า อร่อย พร้อมชี้แนะสารพัด เช่น ไม่ใส่กะทิก็ได้ , ไม่ใส่ไข่ก็ได้ , ใส่เครื่องปรุงน้อยลงหน่อยในแต่ละคำ(ดอก) สารพัดคำแนะนำนี้ล้วนปรับไปตามรสของลิ้นที่แต่ละคนต้องการได้ ... (หลาย)ทีเดียวเชียวนะเนี่ย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 108 น้ำสลัดทางเลือกเพื่อคนรักผักสุขภาพ

ก่อนขึ้นปีใหม่ ฉันและเพื่อนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนผู้ผลิตผักอินทรีย์ ที่บ้านป่าคู้ล่าง  หมู่บ้านเล็กๆ ของชาวโปว หรือที่คนอื่นมักเรียกเขาว่ากะเหรี่ยง ซึ่งอยู่เขตพื้นที่ติดต่อระหว่างเมืองกาญจน์กับสุพรรณบุรี  ทัวร์ครั้งนี้จัดโดยพี่เจน ระวิวรรณ และพี่พยงค์  ศรีทอง  ซึ่งทำงานด้านการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และพันธุกรรมพืชท้องถิ่น ในโครงการ การพัฒนาระบบนิเวศน์และอนุรักษ์พืชพันธุ์ กับกลุ่มชาวบ้านในแถบนั้นมาตั้งแต่ปี 35เกือบ 10 ปีแล้วที่พี่เจนและพี่พยงค์ส่งเสริมอาชีพชาวบ้านในแถบนี้โดยหันมาปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้สารเคมีหลังจากมีปัญหาเรื่องการจำกัดพื้นที่ในการทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมมาสู่การปลูกผักอินทรีย์ หลังจากมีผลผลิตส่งขายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งตามห้างสรรพสินค้าอยู่พักใหญ่  พี่เจนกับชาวบ้านก็หันมาสรุปบทเรียนแล้วปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาดใหม่  โดยอาศัยหลักความคิดของ CSA :  community supported agriculture ที่ชาวแคนนาดา-อเมริกา พัฒนามาจากระบบสหกรณ์ของชาวญี่ปุ่นอีกที โครงการพี่เจนกับพี่พยงค์ ซึ่งปัจจุบันได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำโครงการผักประสานใจ มา 8 ปี โดยการเปิดรับสมาชิกที่ต้องการรับซื้อผักล่วงหน้าและจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับเกษตรกร  เป็นการร่วมลงทุนของคนกินเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกร โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเข้ามาร่วมประกันความเสี่ยงในการผลิตที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร  รวมทั้งยินยอมที่จะกินผักชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรพยายามปลูกขึ้นตามรอบฤดูกาลปลูกในระบบการทำเกษตรแบบอินทรีย์ วันที่เราไปเยี่ยมบ้านป่าคู้  นอกจากมีการต้อนรับด้วยอาหารธรรมชาติปรุงรสแบบชาวโปว การหลามข้าวรอบกองไฟเคล้าเสียงเพลงตงโดยเครื่องดนตรีของชนเผ่าที่เรียกว่านาเดย  การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างสมาชิกผู้รับผักกับชาวบ้านที่ปลูกผัก  และลงแปลงผักและตัดผักกลับบ้านแล้ว  เช้าวันที่เราเดินสำรวจแปลงและตัดผักนั้น พี่เจนกับกลุ่มแม่บ้านได้เตรียมอาหารเช้าแบบสดใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพ และเกษตรอินทรีย์สุดๆ ข้าวต้มเห็ด 3 อย่าง กับถั่ว 5 สี  ร้อนๆ  วางเรียงเคียงคู่กับผักเมืองหนาวอินทรีย์ ที่มีให้กินอย่างหลากหลายและชวนกินเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้ถูกนำมาจัดวางเรียงอย่างสวยงาม  ซึ่งหากถ้าเรามาในช่วงหน้าฝนหรือหน้าแล้งเมนูสลัดบาร์แบบนี้คงต้องเปลี่ยนไปเป็นผักอื่นๆ ไปตามความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศที่จะเอื้อให้ผักต่างๆ เติบโต ที่น่าสนใจไม่แพ้กันกับสลัดบาร์คือน้ำสลัด  ซึ่งมี 2 สูตร  ขอนำมาฝากผู้อ่านฉลาดซื้อค่ะ สูตรแรกเป็นน้ำสลัดที่ทำจากไข่แดงของพี่โหน่ง สูตรสองเป็นน้ำสลัดฟักทองของพี่เจน ถามสูตรพี่เจนซึ่งเป็นคนที่ชอบทำกับข้าวและทำกับข้าวได้อร่อยเกือบทุกประเภท  พี่เจนว่าใช้ฟักทองนึ่งแล้วเอามาบดให้ละเอียดแล้วผสมนม น้ำมะนาว เกลือ พริกไทย โรยด้วยงาคั่ว  โดยรสชาติและเนื้อใช้วิธีชิมให้มีรสเข้มเล็กน้อยตามที่เราชอบ เผื่อว่าเมื่อผสมกับผักสดๆ แล้วจะได้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อมพอดิบพอดี เห็นน้ำสลัดฟักทองของพี่เจน  ครั้งหนึ่งฉันเคยทดลองทำน้ำสลัดฟักทองเช่นกัน  ส่วนผสมคล้ายๆ  แต่เปลี่ยนจากนมเป็นน้ำมันรำ น้ำมันงา  โดยเอาฟักทองนึ่งแล้วผสมกับน้ำเล็กน้อยแล้วเอาไปปั่น  ได้เนื้อสลัดข้นๆ จึงเอามาผสมกับน้ำมะนาวหรือน้ำส้มหมักผลไม้เท่าที่มีอยู่ในตู้เย็นให้ออกรสเปรี้ยว แล้วเติมน้ำมันรำและน้ำมันงาลงไป แต่ด้วยความที่น้ำสลัดฟักทองที่ฉันทำมันค่อนข้างข้น  บางทีฉันก็ใช้มันกินเป็นครีมหรือแยมแทน โดยใช้วิธีการเอางาตัด ถั่วกระจก หรือขนมปังมาทาหรือจิ้ม  อีกสูตรหนึ่งที่เพิ่งทดลองทำหลังจากไปเจอน้ำสลัดฟักทองอร่อยๆ ของพี่เจน คือน้ำสลัดถั่วเขียว วิธีทำใช้ถั่วเขียวอินทรีย์ ประมาณ ¼ ถ้วยแช่น้ำ ตอนเช้า  ตกค่ำก็เอามาปั่นกับหางกะทิให้ละเอียด  แล้วน้ำถั่วเขียวปั่นไปตุ๋นกับหางกะทิ  1 ถ้วย และหัวกะทิ  1 ถ้วย  ฉันเพิ่มสีให้เขียวสวยขึ้นโดยใส่น้ำย่านางคั้นลงไปด้วยอีก 1 ถ้วย  เมื่อถั่วสุกดีแล้วใส่เกลือและน้ำตาลทราย และพริกไทยป่นลงไป  จากนั้นยกลงจากเตาปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น  ถั่วที่กวนไว้จะพองตัวขึ้นมาและน้ำจะแห้งงวดลงเล็กน้อย ก่อนจะกินกับผักสลัดจึงค่อยเอามาปรุงรสเพิ่มโดยใส่น้ำมะนาวลงไป จะได้รสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เคล็ดไม่ลับ ตอนตุ๋นนี่ ใช้วิธีใส่น้ำลงในกระทะใหญ่ แล้วเอาหม้อใบเล็กที่เราจะเคี่ยวถั่วกับกะทิตั้งในกระทะ แล้วค่อยๆ คน เพื่อป้องกันถั่วเขียวจับตัวเป็นก้อน  ซึ่งวิธีนี้จะป้องกันการไหม้ก้นหม้อได้เป็นอย่างดี สลัดน้ำถั่วเขียวสูตรนี้ ตอนทำฉันนึกไปถึงน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ น้ำสลัดแขก และไพล่ไปถึงข้าวตังหน้าตั้ง  และยังคิดทำน้ำสลัดจากพืชผักพื้นบ้านไทยๆ โดยไม่ใช้ ไข่นมเนยแทนอีกหลายสูตร  ส่วนคนกินอย่างคุณสารี บก.ฉลาดซื้อบอกว่า “อร่อยดี”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 107 สวัสดีปี 53 จากในสวน

เช้าวันเสาร์ เป็นเช้าแรกของการกลับมาบ้านหลังจากที่ไปอยู่กับแม่มา 1 สัปดาห์ - - ตื่นนอนราวเจ็ดโมงกว่า ลงมาก็ลอบถอนหายใจกับใบไม้แห้งที่กลาดเกลื่อนถนนแคบๆ เล็กๆ หน้าบ้าน ฉันกวาดเศษใบไม้แห้งใส่ที่ตักผงขยะเอาไปเทคลุมดินใต้ต้นไม้และในกระถางที่อยู่ในสวน  หอยทากอัฟริกาที่อยู่คู่บ้านฉันยังคงดำเนินชีวิตของมันไปอย่างปกติ และฉันก็รู้สึกปกติไปแล้วกับบรรดาไข่สีเหลืองเม็ดเล็กๆ ที่มันไข่เรี่ยไว้ตามซอกมุมอับแสง ครั้นพอเหลือบไปดูเก้าอี้และโต๊ะไม้ตัวเก่ายิ่งทำให้ต้องทอดถอนใจเฮือกใหญ่ ปลวกฟันคมฝูงใหญ่กำลังกัดแทะเนื้อไม้เก่าๆ ที่ทั้งทนทานและแข็งแรงอย่างเมามัน ฉันลากดึงเอาชุดรับแขกกลางสวนออกอย่างเก้กัง ได้แต่เอาน้ำฉีดไล่ปลวกให้ออกไปจากโต๊ะแล้วลากไปตากแดดแรง แล้วปล่อยให้ท่อสายยางลำเลียงน้ำประปามาเอ่อท้นพื้นที่เต็มไปด้วยฝูงปลวก ใจหนึ่งคิดถึงว่าแล้วรากโมกกับส้มจี๊ด อีก 3-4 ต้นที่ขึ้นคลุมบริเวณนี้จะถูกพวกฝูงมดแทะทึ้งไหม แล้วใจก็ไพล่ไปคิดต่อเรื่องบริการแสนห่วยของบริษัทกำจัดปลวกรายเดียวที่ใช้สมุนไพรล่อเหยื่อและฉีดพ่นเมื่อ 4 ปีก่อน นึกถึงน้ำส้มควันไม้ และอีกสารพัดสมุนไพร รวมทั้งงานวิจัยของ ม.เกษตรที่เอาเชื้อรามากำจัดปลวก เพื่อนบ้านที่ฉันเพิ่งออกปากขอบคุณที่ช่วยมารดน้ำต้นไม้ให้เมื่อไม่อยู่บ้านบอกให้ฉันใช้วิธีง่ายๆ แต่ได้ผลด้วยกระป๋องสเปรย์หัวฉีดพิฆาต แต่ฉันยังเกี่ยงเรื่องสารตกค้างในสารพัดผักที่ปลูกไว้กินและดูรอบบ้านมากมาย ผักกินได้ที่ใครอีกหลายคนไม่คาดคิดว่ามันจะกินได้จริงคงจะกินไม่ได้จริงๆ ก็อีตอนนี้แหละ ละจากฝูงปลวกกับชุดรับแขก ฉันใช้สายยางน้ำฉีดพรมต้นไม้ที่รกๆ ไปอย่างสบายใจ อากาศกำลังเย็นสบาย กอกล้วยไม้ 2-3 กระถางกำลังแตกตาดอก บางกระถางคลี่กลีบสวยออกมาให้ได้ชมแม้ว่าในกอเดียวกันจะมีอีกหลายดอกที่กำลังซีดสีและเหี่ยวโรย สามถั่วก็ดูจะรักใคร่กลมเกลียวดี ฉันหมายถึงอัญชันที่เลื้อยพันเกาะเกี่ยวกับดอกแคแข่งกับถั่วพู อัญชันนั้นแม้จะมีแค่กลีบเดี่ยว แต่ออกดอกดกแทบทุกข้อและติดฝักแทบทุกดอกหากไม่เก็บดอกสดไปกินหรือตากแดดเสียก่อน ส่วนถั่วพู ที่เพิ่งเอาลงใหม่เมื่อเดือนกันยายน ก็กำลังแตกดอกและออกฝักชุดแรกๆ ให้ได้เห็น เจ้าต้นแคผู้เอื้อเฟื้อนั่นก็ออกดอกขาวพราวมีให้เก็บเต็มกอบได้ทุกวัน ใต้โคนต้นแคฉันเอา ”ลองซีเมนต์” ราคาถูกแค่ 80 บาทมาทำเป็นกระถางขนาดใหญ่ ก็มีกอโหระพาที่ดอกแก่และร่วงโรยให้รอลุ้นอยู่ว่าจะมีกล้าขึ้นมาตอนไหน กอดอกอ่อมแซ่บหรือเบญจรงค์ห้าสีบานรับแสงทั้งสีนวล สีแปลกจากอื่นๆ ในสวนซึ่งมีสีม่วงอ่อนและม่วงเข้ม ... อืมจะขาดก็แต่สีชมพูหวานไปอีกสี ขณะที่อีกฟากของรั้วข้างบ้านมีต้นงาที่กำลังออกดอกสีขาวกลีบบานชูกิ่งก้านรับลมไหว เมล็ดที่ฉันหว่านทิ้งไว้คงปลิวไปตก ดีที่เพื่อนบ้านดูจะเข้าอกเข้าใจในความอยากปลูกต้นไม้ของฉันแม้ว่าจะงงๆ กับวิธีการทำสวนของฉันเมื่อแรกมาเป็นเพื่อนบ้าน หรือคำกล่าวว่าเธอและลูกได้รู้จักต้นไม้ใบผักไปพร้อมๆ กับผลผลิตที่ออกดอกผลใบ ถึงกระนั้นฉันก็ออกตัวและขออภัยต่อพี่ข้างบ้านเสมอเมื่อสารพัดไม้เลื้อยอย่างถั่วพู ยอดมันเทศ ตำลึง แตงร้าน มะระขี้นก รวมไปถึงกิ่งพริก และผักโขมจะเลื้อยไปกวนข้างทางเดินตรงริมรั้วของทั้งสองบ้าน สวนที่ดูไม่เป็นสวนผักอย่างที่ฉันปลูก ใต้ร่มไม้ใหญ่ใบโปร่งอย่างปีบที่เพิ่งออกดอกมาให้ชมเพียง 2 ครั้งในรอบ 4 ปี ยังรกเรื้อไปด้วยผักหวานบ้าน ผักหวานป่า เหมียง และผักใบแต่งกลิ่น อย่างกะเพรา โหระพา สะระแหน่ แมงลัก เบียดกับกองผักกูด และกอผีเสื้อสีม่วงแดงที่รสเปรี้ยวอร่อยที่ฉันชอบกินคู่กับผักเป็ดทั้งในเมนูสลัดผักสด และยำผักสดต่างๆ เพื่อนบ้านยังเย้าอย่างอารมณ์ดีว่าตอนที่ฉันไม่อยู่นี่มีคนมาจับจองบ้านเอาไว้ ฉันว่าฉันก็อยากยกให้พวกเขามาอยู่เหมือนกันถ้าจะมาอยู่จริง คู่นกผัวเมียตัวกระจิ๊ดเดียวที่มีปากเรียวโค้งงุ้มเล็กๆ เพื่อให้เหมาะกับการดูดกินน้ำหวานและเกสรดอกไม้ รวมทั้งแมลงตัวจิ๋วในบางครั้งคราว พวกชอบส่งเสียงจิ๊บๆ ใสๆ เจี๊ยวจ๊าวแต่ฟังเพลินยามมันมาเล่นหยดน้ำเย็นที่ค้างอยู่ตามยอดไม้ใบไม้ แต่คราวนี้เจ้าตัวใหญ่กว่านิดหนึ่งและมีท้องสีเหลืองทำหน้าที่คีบใยขาวมาลองข้างในรังอันขยุกขยุยที่สะท้อนให้เห็นความเพียรพยายามในการเก็บเศษนั่นนี่ที่ดูไม่น่าจะสร้างเป็นรังได้ ขณะที่ทุกรอบของการปฏิบัติการอย่างขะมักเขม้น มันจะต้องเรียกเสียงแหลมใสให้นกอีกตัวซึ่งมีสีท้องเหลืองสดกว่าแต่มีคอเป็นสีน้ำเงินเข้มเกือบดำมาคอยสอดส่องและส่งสัญญาณให้กันและกัน ท่ามกลางเสียงอึกทึกจากปรับซ่อมเพื่อเข้ามาอยู่ใหม่ของเพื่อนบ้านอีกฟากของรั้ว ความสุขที่นอกไปจากคิดทำเมนูแปลกๆ ใหม่ๆ ที่กินได้อร่อย ปลอดภัยและประหยัดตังค์แบบไม่จำเจซ้ำซากนักจากในสวนของฉันก็มีอันประกอบไปด้วยความสุขปลีกย่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ... ที่เอามาฝากและแบ่งปันกัน สุขสันต์ปี 53 ค่ะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 106 รับปีใหม่แบบฟักทอง

รับปีใหม่ฉบับนี้ ขอเสนอขนมจากฟักทอง…ค่ะ ไม่ใช่เค้กและไม่ใช่เค้กฟักทอง แต่เป็นขนมฟักทองพื้นบ้านของเรานี่แหละ ที่เอามาตกแต่งหน้าตาเสียใหม่ให้อินเทรนด์   ฟักทองหรือบักอึ ในภาษาถิ่นอีสาน คืออาหารชั้นดีที่นิยมกินทั้งในและนอกประเทศ นอกจากที่จะถูกนางซินเอาไปทำเป็นรถตอนไปเต้นรำก่อนเที่ยงคืนกับเจ้าชาย และเด็กๆ ในยุโรปอเมริกาเอามาทำหน้ากากผีสัญลักษณ์วันปล่อยผี ฮาโลวีน ในสิ้นเดือนตุลาคม ฟักทองเนื้อมันๆ สีเหลืองอร่ามตายังช่วยบำรุงสายตา รักษาอาการตาฝ้าฟาง รวมทั้งอาการตาบอดกลางคืนด้วย เพราะว่ามีเบต้าแคโรทีนกับวิตามินเอสูงมาก เมล็ดฟักทองที่นิยมนำมาขบเคี้ยวเพลินๆ นั้น มีผลการวิจัยว่าป้องกันการเกิดนิ่วเพราะเมล็ดฟักทองมีสารฟอสฟอรัสสูง ช่วยยับยั้งการเกิดผลึกนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งยังช่วยการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยในกระบวนการย่อยสลายอาหารในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อประสาท รักษาสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย ถ้าร่างกายขาดเจ้าสารตัวนี้แล้ว กระดูกจะเปราะแตกง่าย อ่อนเพลียง่าย ในเมล็ดฟักทองยังมีธาตุสังกะสีสูง ซึ่งแร่ธาตุนี้ช่วยป้องกันรักษาโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากโต และช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายให้เป็นปกติ รวมถึงพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ให้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม และช่วยปรับระดับฮอร์โมนเพศชายที่ขับออกจากลูกอัณฑะให้อยู่ในระดับปกติ ป้องกันการผิดปกติของต่อมลูกหมาก อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นหมันและเป็นมะเร็ง ส่วนน้ำมันในเมล็ดฟักทองเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นน้ำมันคุณภาพดีที่ช่วยลดการอุดตันไขมันในเส้นเลือดได้ คำแนะนำของผู้รู้บอกว่าให้รับประทานเนื้อฟักทองทุกวัน วันละ 2 ชิ้นนอกจากจะช่วยป้องกันโรคริดสีดวงและโรคผนังลำไส้โป่งพอง เพราะฟักทองมีใยอาหารสูง กินฟักทองแบบง่ายและอร่อยที่สุดคือ เอาไปนึ่งให้สุกกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินเป็นขนมของว่าง ซึ่งใครชอบหวานก็จิ้มน้ำตาล หรือพิถีพิถันมากอีกหน่อยก็ขูดมะพร้าวทึนทึกคลุกเกลือคลุกน้ำตาลโรยหน้าเวลาจะกิน ฟักทองยังคู่กับครัวไทยด้วย เพราะปลูกง่าย ลูกแก่จัดเก็บเป็นลูกไว้ได้นานเป็นเดือน เราจึงมีเมนูฟักทองมากมาย ตั้งแต่แกงคั่ว แกงเผ็ด แกงกะทิ ผัดฟักทองใบโหระพากับกระเทียมเจียวหอมๆ ทั้งแบบใส่ไข่ และไม่ใส่ไข่ รวมไปถึงเสนอหน้าอยู่ในแกงเลียง และอีกสารพันเมนู ขนมฟักทองคราวนี้ได้ทดลองทำขนมฟักทองแทนเค้กดู โดยดัดแปลงสูตรมาจากการทำขนมกล้วยอีกที ซึ่งแม้ขั้นตอนการทำจะกล้วยๆ แต่มีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจกันพอสมควร เครื่องปรุง ฟักทอง 1 กก. , หัวกะทิ ? ถ้วย , แป้งข้าวเจ้า 1/3 – ? ถ้วย , เกลือ 1 ช้อนชา , มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้น 1 ลูก น้ำตาล 1/3 ถ้วย (ถ้าไม่ชอบไม่ต้องใส่) วิธีทำ 1. เริ่มที่นึ่งฟักทองให้พอสุกแล้วยกลง จากนั้นเอาฟักทองมายีในภาชนะอบเค้กให้เป็นเนื้อละเอียด 2. เตรียมหัวกะทิกับน้ำกะทิไว้สัก 4 – 5 ช้อน เพื่อไว้ใช้โรยตกแต่งหน้า เอาส่วนที่เหลือละลายเกลือและน้ำตาล 2. เติมน้ำกะทิที่เตรียมไว้ลงไปภาชนะ คนให้เข้ากัน ค่อยๆ เติมแป้งข้าวเจ้าลงไป คนให้เข้ากันดี คอยสังเกตดูเนื้อไม่ควรเละหรือแข็งเกินไป 4.เกลี่ยเนื้อฟักทองรวมเครื่องให้เรียบเสมอหน้า จากนั้นใช่กะทิที่เหลือ 4 – 5 ช้อน มาผสมกับเกลือนิดหน่อย และแป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันดีแล้วราดหน้าเนื้อฟักทอง ตกแต่งด้วยชิ้นฟักทองหั่นเส้นให้สวยงาม แล้วเอาไปนึ่งประมาณ 25 – 30 นาที สังเกตว่าจะสุกหรือยังให้ลองใช้ส้อมจิ้มตรงกลางดูว่าไม่มีเนื้อแฉะๆ ติดอยู่ จานเด็ดนี้ ได้แป้งมันเป็นตัวช่วยจับก้อนเนื้อฟักทอง หากมากเกินไปเนื้อขนมจะแข็ง แต่ถ้าน้อยไปก็จะเละนิ่ม ขอให้ท่านผู้อ่านอิ่มฟักทองในรูปแบบที่แต่ละท่านชอบก็แล้วกัน ส่วนอิฉันเห็นว่า แค่มีตำลึง ฟักทอง มะรุม และผักอีกสารพัดบานตะไทไว้ใกล้ตัว ยังไงๆ ก็ไม่ต้องพึ่งอาหารเสริมหรือแม้กระทั่งข้าวสีทองจีเอ็มโอที่คุยเขื่องคำโม้ว่าจะรักษาโรคตา(ไม่)ได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >