ฉบับที่ 247 รองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ

        การมาเยือนของโควิด-19 อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าการเดินห้างมัน “เอ้าท์” และการใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงด้วยการบุกป่าฝ่าลำธารน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจ “ขาลุย” อีกครั้งด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบรองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเสี่ยงจากอาการเท้าแพลงเพราะสะดุดรากไม้หรือก้อนหิน (ก่อนหน้านี้เราได้นำเสนอผลการทดสอบรองเท้าเดินป่าแบบธรรมดาไว้ในฉบับที่ 222 แถมด้วย “เป้เดินป่า” ในฉบับที่ 216 และ 245)          ครั้งนี้มีรองเท้าถูกส่งเข้าแข่งขันทั้งหมด 16 รุ่น (สนนราคาตั้งแต่ประมาณ 2,300 ไปจนถึง 11,200 บาท)* โดยองค์กรผู้บริโภคจากออสเตรีย สวีเดน สโลเวเนีย และ สาธารณรัฐเช็ค ข้อตกลงเบื้องต้นคือต้องเป็นรองเท้าเดินป่าที่เหมาะกับการสวมใส่ในทุกฤดูกาล  และมีทั้งรุ่นสำหรับผู้หญิงและผู้ชายคะแนนจากการทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ        1. คะแนนจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (ร้อยละ 70)             - การกันน้ำ (ทดสอบโดยการแช่รองเท้าที่ระดับความลึกของน้ำถึงกึ่งกลางระหว่างรูร้อยเชือกที่หนึ่งและสอง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก) การรักษาอุณหภูมิ และการระบายอากาศ              - ความทนทานต่อการขีดข่วนหรือสึกหรอ (กาว เชือกผูก พื้นรองเท้าด้านในและด้านนอก)             - ประสิทธิภาพในการกันลื่น บนพื้นผิวเซรามิกและกระเบื้องดินเผา ทั้งขณะเปียกและแห้ง (วัดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน)            - การดูดซับแรงกระแทก         2. คะแนนจากความเห็นของผู้ทดลองสวมใส่  (ร้อยละ 30)ใส่/ถอดสะดวก ผูกเชือกง่าย สวมใส่สบาย กระชับ ไม่กัดเท้า เดินได้อย่างมั่นใจทั้งบนพื้นผิวที่เปียกและแห้ง ใส่แล้วรู้สึกไม่ร้อน ไม่อับชื้น และทำความสะอาดง่าย เป็นต้น          * อ้างอิงจากราคาที่ซื้อเป็นหน่วยยูโร          * ในการทดสอบครั้งนี้ใช้รองเท้ารุ่นละ 5 คู่ (1 คู่ ส่งเข้าห้องแล็บ  2 คู่สำหรับอาสาสมัครหญิง และอีก 2 คู่ สำหรับอาสาสมัครชาย) อัตราค่าทดสอบอยู่ระหว่าง 312.42 – 356.42 ยูโร (ประมาณ 12,000 – 14,000 บาท) ต่อตัวอย่าง รุ่นที่มีหนังเป็นส่วนประกอบจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 247 10 แอปพลิเคชันเลือกซื้อของสด

        ยุคนี้อะไร อะไร ก็เดลิเวอรี่ ผู้บริโภคยุคใหม่จะจับจ่ายใช้สอยก็ง่ายดาย เพราะผู้ประกอบการหลายเจ้าเร่งพัฒนาสินค้าบริการให้ตอบโจทย์กับคนยุคใหม่มากมาย เช่น การสั่งซื้อสินค้าของสด ของแห้งหรือของใช้ผ่านแอปพลิเคชันที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากๆ           อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางคนอาจมีข้อสงสัย ว่าการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางแอปพลิเคชันกับซื้อตามห้างสรรพค้าเองมีข้อแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในเรื่องของเงื่อนไขการสั่งซื้อ สินค้ามีความสดใหม่หรือไม่ ราคาแพงหรือถูกกว่า การบริการจัดส่งแพ็คสินค้าต่างๆ หลังสั่งซื้อและวันหมดอายุ ทางฉลาดซื้อจึงได้ทดลองการสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ จาก 10  แอปพลิเคชันออนไลน์ ช่วงเวลา 14-21 กันยายน 2564 เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว         มาติดตามกันเลย        เราสำรวจแอปพลิเคชันอะไรบ้าง        1. Tops Online สินค้าจาก Tops        2. Tesco Lotus สินค้าจาก Tesco Lotus        3. BigC สินค้าจาก BigC        4. Makro สินค้าจาก Makro        5. CP Freshmart สินค้าจาก CP Freshmart        6. Freshket สินค้าจากทางแอปพลิเคชันจัดส่งเองไม่สามารถระบุได้        7. HappyFresh สินค้าจาก Gourmet Market         8. Line man Powered By Happyfresh สินค้าจาก Gourmet Market         9. FoodPanda (Pandamart) สินค้าจาก Pandamart        10. Grab (GrabSupermarket) สินค้าจาก Tops วิธีการทดสอบ        1. สำรวจเงื่อนไขวิธีการสั่งซื้อ และทดสอบสั่งซื้อสินค้าประเภท อาหารแห้ง/อาหารสด/ของใช้ (การสั่งซื้อสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขของแอปพลิเคชัน) เลือกวิธีการจัดส่งแบบรับสินค้าในวันถัดไปและเลือกชำระเงินปลายทางทุกแอปพลิเคชัน (ที่มีตัวเลือกชำระปลายทาง)         2. หลังสั่งซื้อดูการแพ็คสินค้าว่ามีการแยกอาหารสด/อาหารแห้ง/ของใช้  หรือไม่        3. สำรวจวันหมดอายุของสินค้ามีวันหมดอายุหรือไม่ เปรียบเทียบราคาสินค้าจากแอปพลิเคชันกับห้างสรรพสินค้า(ราคาสินค้าอาจเป็นไปตามช่วงเวลาที่บริษัทกำหนด)ผลทดสอบ        1. ทุกแอปจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด เรื่องการจัดส่งและการแพ็คสินค้า พบว่า ทุกแอปพลิเคชันที่ทำการสั่งซื้อมีการจัดส่งได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด  9 แอปพลิเคชันมีให้เลือกกำหนดเวลาจัดส่งในวันถัดไป มี 1 แอปพลิเคชัน Makro ไม่สามารถเลือกเวลาในการจัดส่งได้เพราะทางบริษัทเลือกเวลาจัดส่งเอง 3-5 วัน ในการจัดส่ง ส่วนการแพ็คสินค้า พบว่า Makro ไม่มีการแพ็คสินค้าแยกของสดของใช้          2. 7 แอปพลิเคชันมีชำระเงินปลายทาง มี 3 แอปพลิเคชันไม่มีตัวเลือกชำระเงินปลายทาง ได้แก่  Freshket,Grab By (GrabSupermarket), Makro         3. มีให้เลือกการจัดส่งรูปแบบถุงใช้ซ้ำ ลดโลกร้อน เกือบทุกแอปพลิเคชัน        4. ไม่พบสินค้าหมดอายุนำมาจัดส่ง พบเพียงขนมปังเนยสด 35 กรัม 6 ชิ้นจาก Makro ที่มีวันหมดอายุในวันถัดไปทันที        5. ราคามีโปรโมชั่นพิเศษหากซื้อครบตามเงื่อนไขกำหนด ราคาสินค้าจากการเปรียบเทียบกับที่วางจำหน่ายปกติในห้างค้าปลีก พบว่า Tops Online ,Tesco Lotus , HappyFresh ,Line man Powered By Happyfresh ราคาถูกกว่าสินค้าในห้างเล็กน้อย  อย่างไรก็ตามการสั่งซื้อหากครบตามจำนวนที่บริษัทกำหนดเป็นเงื่อนไข ทั้ง 10 แอปพลิเคชันจะมีโปรโมชั่นจัดส่งฟรีและส่วนลดเยอะกว่าจากการเดินเลือกซื้อที่ห้างข้อสังเกต        - สินค้าของสดส่วนใหญ่จะผลิตในวันที่ส่ง และ CP Freshmart ไม่มีของใช้        - การลงทะเบียนทุกแอปพลิเคชันไม่มีกรอกเลขบัตรประชาชน        - ส่วนใหญ่เกือบทุกแอปพลิเคชันสามารถเลือกขอใบกำกับภาษีได้ มี 1 แอปพลิเคชัน คือ Freshket ที่มีการออกใบเสร็จกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ทันทีหลังสั่งซื้อ        - แอปพลิเคชัน Makro เหมาะสำหรับร้านค้าเพราะต้องซื้อในปริมาณมากขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป        - การบริการลูกค้า กรณีสินค้าที่สั่งหมด พบว่าทุกแอปพลิเคชันมีการโทรศัพท์มาเพื่อสอบถามการเปลี่ยนสินค้า ยกเว้น Freshket ที่มีระบบคืนเงินทันทีหากสินค้าหมด                 สรุปผลการสำรวจ ฉลาดซื้อมองว่าในเรื่องราคาสินค้าที่แตกต่างกันนั้น อาจขึ้นอยู่กับช่วงเวลาโปรโมชันที่ทางบริษัทกำหนด ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อคือ ข้อดี ที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นทางเลือกเพื่อไม่ต้องเสียเวลากับการไปเดินห้าง  บางครั้งราคาส่วนลดทางแอปพลิเคชันมีเยอะกว่า แต่กรณีที่เป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ใช่ของห้างโดยตรงเอง สินค้าจะมีให้เลือกน้อยกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”

        คุณคิดว่าอวัยวะส่วนไหนของคนเราที่สกปรกที่สุด ?         คำตอบคือ “ช่องปาก”         การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวอาจดูแลความสะอาดในช่องปากได้ไม่ทั่วถึง ผู้บริโภคหลายคนจึงเลือกใช้ไหมขัดฟัน(Floss) มาช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารที่ติดอยู่บริเวณที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะซอกฟัน ด้านข้างของฟันที่อยู่ชิดกัน ร่องเหงือก และฟันกรามซี่ใน ซึ่งเมื่อใช้เส้นใยขนาดเล็กๆ นี้ขัดฟันหลังแปรงฟันอย่างน้อยวันละครั้งสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันฟันผุ ลดกลิ่นปาก ลดการสะสมของหินปูน และช่วยลดปัญหาเหงือกอักเสบเพราะมีคราบหินปูนที่ฝังแน่นบนผิวเคลือบฟันได้          ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หาซื้อได้สะดวก ส่วนใหญ่ที่วางขายจะเป็นแบบม้วนอยู่ในตลับ ซึ่งหากมองภายนอกเราไม่อาจรู้ได้ว่าไหมขัดฟันในตลับนั้นมีความยาวเท่ากับที่ระบุไว้บนฉลากจริงหรือไม่ ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของผู้ผลิตด้วยการชวนผู้บริโภคมาวัดความยาวของไหมขัดฟันกัน         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันจำนวน 14 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มาวัดความยาวของไหมขัดฟันเปรียบเทียบกับความยาวที่ระบุบนฉลาก เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”         ข่าวดี ทุกตัวอย่างมีความยาวที่วัดได้จริงมากกว่าความยาวที่ระบุไว้บนฉลาก         อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างของความยาวเฉลี่ยที่วัดได้ทั้ง 4 ครั้งในการทดสอบ กับความยาวที่ระบุบนฉลาก พบว่า ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล มีส่วนต่างมากที่สุดคือ +10.85 เมตร ส่วน ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ มีส่วนต่างน้อยที่สุด คือ +0.89 เมตร         เมื่อนำราคามาเปรียบเทียบกับความยาวเฉลี่ยที่วัดได้จริง เพื่อคำนวณหาราคาต่อเมตร พบว่า ยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีราคาสูงที่สุด คือ เมตรละ 3.49 บาท ส่วนยี่ห้อ fresh up มีราคาต่ำที่สุด คือ เมตรละ 0.35 บาท ข้อสังเกต- ทุกตัวอย่างมีข้อความหรือรูปภาพแนะนำวิธีการใช้ไหมขัดฟันไว้ให้  - จากข้อมูลที่ National Health Service (NHS) ของอังกฤษแนะนำความยาวของไหมขัดฟันที่ควรใช้ต่อครั้งไว้ประมาณ 45 เซนติเมตร พบว่ามี 8 ตัวอย่างที่บอกให้ใช้ความยาวตามที่แนะนำนี้ไว้บนฉลาก ได้แก่เดนท์พลัส ไหมขัดฟันเคลือบขี้ผึ้ง,สปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส,ออรัล-บี ไกล์ด โปร-เฮลธ์ ดีพ คลีน ฟลอส, Watsons Dental Floss,ออรัล-บี เอนเซนเชียล ฟลอส, fresh up, สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ และไหมขัดฟันเดนทิสเต้(18 นิ้ว = 45.72 เซนติเมตร)  ในขณะที่ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งยาวที่สุด คือ 50 เซนติเมตร และไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งสั้นที่สุด คือ 25 เซนติเมตร รวมทั้งมีตัวอย่างที่ไม่ได้ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งไว้คือ ยี่ห้อเดนติคอน ไหมขัดฟัน ฟลอส แอนด์ สมูท- วัสดุและส่วนประกอบหลักๆ ในไหมขัดฟัน คือ เส้นใยพลาสติกสังเคราะห์  ขี้ผึ้ง(wax) และกลิ่น/รสชาติ เมื่อสำรวจข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟัน พบว่ามี 4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุชนิดของเส้นใยพลาสติก ได้แก่ คอลเกต โททอล มินท์, ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์, fresh up และ สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ ส่วนที่ไม่ระบุว่าเคลือบขี้ผึ้งหรือไม่นั้นมี 2 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ และ fresh up อีกทั้งมีเพียงตัวอย่างเดียวที่ระบุว่าไม่มีกลิ่น/รสชาติ คือ ยี่ห้อ REACH- ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล ระบุว่าเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นใช้ไหมขัดฟัน เพราะมีเส้นไหมบางเพียง 0.04 มิลลิเมตร และเพิ่มโปรวิตามินบี 5 ที่ดีต่อเหงือกด้วย-ยี่ห้อสปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส ระบุว่าเป็นไหมขัดฟันแบบเอ็กซ์แพนดิ้งที่จะขยายตัวช่วยเพิ่มพื้นผิวให้พอดีกับซอกฟัน ต่างจากไหมขัดฟันแบบปกติที่จะมีช่องว่าง-ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุว่าได้ผ่านการรับรองคุณภาพโดยสมาคมทันตแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ส่วนยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีสัญลักษณ์ LABORATORY TESTED บนฉลาก คำแนะนำ - ไหมขัดฟันมีทั้งแบบเส้นใยไนลอนที่ลื่นและใช้ง่าย แต่จะบางและขาดง่าย และแบบพลาสติกเส้นใยเดี่ยว(PTFE) ที่เหนียวมากกว่า แต่อาจแข็งและบาดเหงือกจนเลือดไหลได้ - ควรเลือกใช้ไหมขัดฟันที่เส้นเล็กและแบนแผ่ออกได้เมื่อผ่านซอกฟัน สำหรับมือใหม่อาจเลือกใช้ชนิดเคลือบขี้ผึ้งเพราะใช้ง่าย แต่หากคล่องมือแล้วอาจใช้ชนิดไม่เคลือบขี้ผึ้ง เพราะมีความคมมากกว่า จะขจัดคราบหินปูนเกิดใหม่ได้ดีกว่า หรือจะปรึกษาทันตแพทย์เพื่อให้ช่วยเลือกให้ก็ได้-บางคนใช้ไหมขัดฟันแรกๆ อาจเจ็บและมีเลือดไหลได้ ซึ่งเลือดจะหยุดไหลเองถ้าสุขภาพเหงือกดี แต่หากเลือดยังไหลอยู่หลังจากใช้ไหมขัดฟันแล้ว 2-3 วัน ควรไปพบทันตแพทย์- หากไหมขัดฟันหมดกะทันหัน ไม่ควรใช้ด้ายเย็บผ้าหรือเส้นผมตัวเองมาแทนเด็ดขาด เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจึงยังมีเชื้อโรคติดอยู่ อาจเสี่ยงติดเชื้อได้- ไหมขัดฟันที่ใช้แล้วควรทิ้งทันที ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรียได้ เมื่อพิจารณาคุณสมบัติโดยรวมๆ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันที่นำมาทดสอบนี้แล้ว ดูไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นการเลือกซื้ออาจไม่สำคัญเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้สะอาดล้ำลึกยิ่งขึ้นข้อมูลอ้างอิง https://www.pobpad.com/https://www.hisopartyofficial.com/contenthttps://chulalongkornhospital.go.thhttps://www.thaihealth.or.th/https://themomentum.co/plastic-diary-ep3/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ห้างไหนช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ”

        จากเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง นิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ในเรื่องโยบายว่าด้วยการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุออกจากชั้นวาง โดยบริษัทมีระยะเวลาในการตอบกลับตั้งแต่วันที่ 5 - 23 เมษายน 2564          จากทั้งหมด 11 บริษัทที่ได้รับแบบสอบถาม มีบริษัทที่ตอบกลับมาเพียง 3 ราย คือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  (Big C)เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus)อิออน (ไทยแลนด์) (Maxvalu)ซึ่งในภาพรวมพบว่าทั้ง 3 ราย มีนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน ช่องทางร้องเรียน และการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางค่อนข้างชัดเจน อาจแตกต่างกันบ้างในอาหารแต่ละประเภท  รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย มาตรการ ช่องทางและระยะเวลาจัดการกับเรื่องร้องเรียน ของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ผลการสำรวจ(ผลการสำรวจมี 5 หัวข้อ ใช้หัวข้อละ 1 หน้า หน้าไหนข้อมูลน้อยลงภาพประกอบ)ความคิดเห็นต่อเรื่องการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cคำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสินค้าหมดอายุเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการเรื่องการเก็บสินค้าที่ใกล้หมดอายุและหมดอายุออกจากชั้นวาง เช่น การทำ MOU สินค้า (First in First out) การกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บสินค้าออกจากชั้นวางฯ ล่วงหน้าก่อนหมดอายุ เป็นต้นMaxvaluให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินการด้านสินค้าอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ เป็นอย่างมาก ในทุกๆ แผนกไม่ว่าจะเป็นสินค้าหารสดหรือาหารแห้ง ต้องเก็บออกจากชั้นวาง ตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีสินค้าหมดอายุในพื้นที่ขายและเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้าที่มาใช้บริการTesco Lotusตระหนักและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เพื่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากสาขาและช่องทางออนไลน์ได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด โดยมีมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ หรือ อาหารหมดอายุ ออกจากชั้นวางสินค้าทันที           นโยบายในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางBig Cนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับอาหารที่ใกล้หมดอายุ มีดังนี้        1. ห้ามจำหน่ายอาหารที่หมดอายุ        2. การทำ FIFO สินค้า (First in First out) เพื่อบริหารสินอายุสินค้า        3. กำหนดระยะเวลาในการเก็บออกจากชั้นวาง ล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ        4. สินค้าจะถูกเก็บล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ 1 วัน เพื่อทำลายทิ้ง Tesco Lotusมีแนวปฏิบัติเรื่องการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้า (Data Code Management) ซึ่งกำหนดมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า โดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้าMaxvaluมีนโยบายในการตรวจเช็คสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ โดยมีแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกอย่างชัดเจน หากพบว่าการดำเนินการมีปัญหา ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขทันที มาตรการ ขั้นตอน ในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีดังนี้        1. การทำ FIFO สินค้า (First in First out)            - ดำเนินการในทุกวันก่อนเปิดบริการ และระหว่างวันตามเวลาที่กำหนด            - ทำการคัดแยก หากพบอาหารที่ใกล้หมดอายุตามที่กำหนด            - หากพบอาหารเสื่อมสภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้เก็บออกจากชั้นวางฯ และนำไปกำจัดหรือทำลายตามวิธีการที่กำหนด        2. มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานเฉพาะ Maxvaluมาตรการเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง  คือ ปลา/เนื้อ ก่อนหมดอายุ 1-3 วัน ผัก/ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง สินค้าฝากขาย ก่อนหมดอายุ 1 วัน และ Dry/San&HBC ก่อนหมดอายุ 1 เดือน Tesco Lotusมาตรการการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า มีขั้นตอนดังนี้        1.   สินค้าที่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุสินค้า        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ใกล้หมดอายุและนำออกจากชั้นวางสินค้า ก่อนถึงวันหมดอายุอย่างน้อย 15 วัน แล้วแต่ประเภทและอายุสินค้า (shelf life) อาทิ สินค้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันหมดอายุ และสินค้าที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น        2.   สินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุ        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุ โดยนับอายุสินค้าจากวันผลิตที่แสดงอยู่บนภาชนะบรรจุเดิม ตามที่ระบุไว้ใน Shelf Life Guideline เพื่อจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุออกจากชั้นวาง ได้อย่างถูกต้องตามกำหนดนอกจากนั้น ในส่วนของอาหารสด  ฝ่ายควบคุณภาพสินค้าจะดำเนินการตรวจสอบปริมาณสินค้าสด และนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุจากชั้นวาง (Stock take) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบปริมาณสินค้า และการนำสินค้าออกจากชั้นวาง จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้าช่องทางร้องเรียนBig Cผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง    - Big C contact center โทร 1756 กด 2    - Facebook (FB) : Big C (ส่วนกลางและสาขา) Maxvaluผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - สำนักงานใหญ่ โทร 02-9701826-30 ต่อแผนก customer service    - เว็บไซต์ของบริษัท www.aeonthailand.co.th    - Facebook: MaxvaluThailand  Tesco Lotusผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - ร้านค้า ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน    - โทรสายด่วน 1712    - Facebook: Tesco Lotus และ Tesco Lotus Online      หากเป็นกรณีสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถขอรับเงินค่าสินค้าคืนได้ทันที นอกจากนี้ทุกข้อร้องเรียนปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย จะถูกส่งต่อไปยังทุกฝ่ายที่jเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างรอบด้านและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนBig Cดำเนินการติดต่อกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสานงานไปที่สาขาที่ถูกร้องเรียน หลังจากนั้นสาขาจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดMaxvaluแก้ปัญหาทันทีที่ทราบเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน Tesco Lotusแก้ไขปัญหา คืนเงินค่าสินค้าตามช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง นับจากได้รับเรื่องร้องเรียน ----ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของป่าสาละ ที่สำรวจประเมินความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคผ่านการจัดซื้ออาหารสดของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 แห่ง และห้างค้าปลีกขนาดกลางที่เน้นขายอาหารสดอีก 2 แห่ง (Big C / CP Fresh Mart / Foodland / Gourmet Market / Makro/  Tops / Tesco Lotus และ Villa Market) ประจำปี 2562 โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563จากการสำรวจโดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ห้างเหล่านี้ 5 รายไม่ได้คะแนนเลย ในขณะที่อีกสามห้างที่ได้คะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้ได้แก่ Makro ที่ได้ไป 25 คะแนน  Top ได้ 16.67  และ CP Fresh Mart ที่ได้ไป 12.50 คะแนนอีกประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจดังกล่าวคือมีตัวชี้วัด 2 ด้าน ได้แก่ กลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ที่ไม่มีห้างไหนให้ข้อมูลไว้เป็นสาธารณะให้ผู้บริโภคได้ทราบเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 245 เป้เดินป่า

        การเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศไม่สะดวกเหมือนเคยมาพักใหญ่ ผู้คนเริ่มโหยหาการเดินทาง การผจญภัย เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ เมื่อการระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงบ้างในยุโรปซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหน้าร้อน ผู้คนจึงเริ่มซื้อหาสินค้าประเภทอุปกรณ์เดินป่าจนบางอย่างขาดแคลนแล้วฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเป้เดินป่าที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้มาฝากสมาชิก มีให้เลือกกัน 20 รุ่น ให้คุณได้จินตนาการเวลาออกไป “เที่ยวทิพย์” เพื่อลดความเครียดกันไปพลางๆ การทดสอบซึ่งทำขึ้นในสาธารณรัฐเชคครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองด้าน        1. การทดสอบประสิทธิภาพ/คุณสมบัติ ทำในห้องแล็ป (ร้อยละ 60)แบ่งออกเป็น พื้นที่ใช้สอยสำหรับการใส่สิ่งของจำเป็นในการเดินป่า / ความสามารถในการกันน้ำ ทดสอบด้วยการตากฝนเทียมเป็นเวลา 30 นาที / ความแข็งแรงทนทาน ด้วยการทดลองใส่น้ำหนัก 9 กิโลกรัม แล้วแขวนด้วยหูจับ สายสะพายไหล่ รวมถึงการทดลอง “ทำตก” ที่ระยะ 40 มิลลิเมตร ทั้งหมด 20,000 ครั้ง และรูดซิปปิดเปิด 2,000 รอบ เป็นต้น / คุณภาพงานประกอบ รวมถึงการดูแลรักษา และอุปกรณ์ช่วยสะท้อนแสง         2. การทดลองใช้จริงโดยอาสาสมัคร 5 คน (ชาย 3 หญิง 2) ที่เปิด ปิด ปรับสาย และแบกน้ำหนักที่ 3 กิโลกรัมและ 9 กิโลกรัม แล้วให้ความเห็น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 242 สำรวจ ฟู้ดเดลิเวอรี ใครมีตัวเลือกรักษ์โลก

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็กดแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้คนลงได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างขยะพลาสติกจำนวนมากด้วย โดยในปี 2562 มีขยะพลาสติกจากธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีมากถึง 140 ล้านชิ้น           นับเป็นเรื่องดีที่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำบันทึกความร่วมมือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ซึ่งแม้เป็นเพียงความร่วมมือเชิงสมัครใจและยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักและหาวิธีช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางมากขึ้น         ในฐานะผู้บริโภค หลายคนก็คงอยากรู้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดที่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกนี้บ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มสำรวจตัวอย่างแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์(ฟู้ดเดลิเวอรี) จำนวน 36 แอปพลิเคชั่น ในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสำรวจว่าแอปฯฟู้ดเดลิเวอรีนั้นมีตัวเลือก‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ให้กับลูกค้าหรือไม่  ผลการสำรวจแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารทางออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี)         จาก 13 แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ พบว่ามี 4 แอปฯ ที่มีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’ ได้แก่ Burger King, Food Panda, Grab Food และ Line Man  ข้อสังเกต        - มี 9 แอปฯฟู้ดเดลิเวอรี่ (เลือกจากที่แนะนำโดย Play Store) ที่ไม่ได้ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีตัวเลือก ‘ลดการใช้ขยะพลาสติก’หรือไม่        - จากการสุ่มตัวอย่างแอปพลิเคชั่นยอดนิยม พบว่ามี 14 แอปฯ ที่ไม่ได้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์โดยตรง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ กลุ่มส่งสินค้า และกลุ่มแอปฯ สะสมแต้ม + โปรโมชั่น (ร้านอาหาร,ร้านกาแฟ และศูนย์รวมร้านอาหาร)  ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        แม้ตอนนี้จะมีหลายภาคส่วนร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ เพราะปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งก็เป็นปลายทางแล้ว         ดังนั้น เราน่าจะมาช่วยกันตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากต้นทางในการสั่งอาหารทางออนไลน์ โดยผู้บริโภค ควรใช้ตัวเลือกลดขยะพลาสติกในแอปฯ(ถ้ามี) เลือกสั่งจากร้านค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกร้านที่ใช้กล่องข้าวหรือปิ่นโตซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เพื่อสร้างกระแสผู้บริโภครักษ์โลกให้ร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายอยู่ในแอปฯ ต่างๆ นั้นรับรู้และแข่งกันสร้างสรรค์วิธีลดขยะพลาสติกมาเป็นกลยุทธ์การตลาดดึงดูดลูกค้าต่อไป    ข้อมูลอ้างอิงวารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2564

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ผลทดสอบกระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิ

        สายยืดอกพกแก้วมาทางนี้ ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเปรียบเทียบกระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิมาฝาก เราเลือกมา 23 รุ่น จากที่สมาชิกในยุโรปขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ทำไว้ในช่วงปลายปี 2020กระบอกน้ำเหล่านี้มีความจุระหว่าง 280 มล.ถึง 473 มล. สนนราคาตั้งแต่ 5 – 20 ยูโร จัดซื้อโดยองค์กรผู้บริโภคในออสเตรีย (Verein Fur Konsumenteninformation) สาธารณรัฐเชก (DTest) และเดนมาร์ก (Forbrugerraadet Taenk)         คะแนนในการทดสอบแบ่งออกเป็น 5 ด้านได้แก่        1.  ประสิทธิภาพ (ร้อยละ 60) คิดจากความสามารถในการรักษาอุณหภูมิน้ำร้อน/น้ำเย็น เมื่อเวลาผ่านไป 6, 12, และ 24 ชั่วโมง เมื่อวางกระบอกน้ำที่เติมน้ำร้อน/เย็น ปิดฝา แล้ววางไว้ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส โดยทดสอบทั้งการเติมน้ำครึ่งกระบอก และเติมถึงขีดสูงสุดที่ระบุรวมถึงการป้องกันการรั่วซึมเมื่อเติมน้ำร้อยละ 75 แล้วปิดฝา คว่ำไว้ 10 นาที และทดสอบการรั่วซึมอีกครั้งหลังเปิด/ปิด 600 ครั้ง        2.  ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 25) เช่น การเปิด/ปิดฝา เติม/เทน้ำ การทรงตัวของกระบอกเมื่อวางบนพื้นไม่เรียบ และความง่ายในการล้างทำความสะอาด        3.  รูปลักษณ์และการประกอบ (ร้อยละ 5) ดูจากการรอยเชื่อมต่อ สภาพภายนอกที่ดูสวยงาม มั่นคงแข็งแรง รับแรงเปิด/ปิดได้ดี        4.  ความทนทาน (ร้อยละ 5) ทดสอบด้วยการทิ้งกระบอกจากความสูง 80 ซม. ลงบนพื้นคอนกรีต 3 ครั้ง (ทิ้งแนวตรง 1 ครั้ง/ทิ้งด้านข้าง 2 ครั้ง) แล้วตรวจสอบความเสียหาย        5.  ความปลอดภัย (ร้อยละ 5) เป็นการตรวจหาการปนเปื้อนของสารประกอบกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH)         เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดีและของดีก็ไม่จำเป็นต้องแพง รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด (85 คะแนน) ในการทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้คือ Undersöka ของ Ikea ที่ราคาถูกที่สุดด้วย (ราคาในเมืองไทย 299 บาท ราคาที่ซื้อในยุโรป 5 ยูโร) ส่วน Contigo Autoseal West Loop ที่ราคาแพงที่สุดได้ไปเพียง 64 คะแนน         ·    ฉลาดซื้อมีสิทธิ์เผยแพร่ผลการทดสอบที่เราไม่ได้ลงทุนทำเองได้ เพราะเราเป็นสมาชิก ICRT ที่ร่วมลงขันปีละ 6,000 ยูโร หรือประมาณ 217,000 บาท หากมีงบประมาณพอ เราก็สามารถส่งตัวอย่างจากเมืองไทยไปให้เขาทดสอบ โดยรับผิดชอบจ่ายค่าทดสอบ เช่น กระบอกน้ำเก็บอุณหภูมิ ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 390 ยูโร (ประมาณ 14,000 บาท)          ·    เราเคยเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบขวดน้ำสุญญากาศ ขนาด 350-500 มล. จำนวน 12 ยี่ห้อที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำไว้ ในฉบับที่ 208 (ธันวาคม 2560) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

กระเป๋าเดินทาง

        สมาชิกฉลาดซื้อหลายท่านอาจกำลังเตรียมตัวออกเดินทางเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่พักหรือร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบกระเป๋าเดินทางแบบล้อลาก ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ มีทั้งแบบกล่องแข็งและแบบผ้าหนา ในขนาด “เคบินไซส์” หรือขนาดที่หิ้วขึ้นเครื่องบินได้ ผลที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลีย CHOICE ได้ทำไว้ทั้งหมด 12 รุ่น ราคาระหว่าง 1,100 ถึง 8,500 บาท        คะแนนรวม 100 คะแนน แบ่งออกเป็น        ร้อยละ 60      ความแข็งแรงทนทาน (การทดสอบในห้องแล็บฯ เปรียบเทียบความแข็งแรงทนทานของตัวกระเป๋า ล้อ และคันชัก รวมถึงการกันน้ำ)         ร้อยละ 40      การใช้งานได้สะดวก (ความพึงพอใจของอาสาสมัคร 3 คนที่ทดลองใช้)          ในภาพรวม กระเป๋าทุกรุ่นผ่านการทดสอบการตกจากที่สูงไปด้วยคะแนน 100 เต็ม (ใส่น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ทดสอบการตก 300 ครั้ง) ยกเว้นรุ่น Voyager Boston Collection ที่ได้ไป 80 คะแนน)  กระเป๋าเหล่านี้ได้คะแนนแตกต่างกันในเรื่องความทนทานต่อการถูกเจาะเมื่อมีของแหลมมีน้ำหนักหล่นใส่ หรือประสิทธิภาพการกันน้ำ (ทดสอบด้วยการตากฝนเทียมเป็นเวลา 10 นาที) ส่วนเรื่องการใช้งานสะดวกเวลาเข็นออกจากลิฟต์ หิ้วลงบันได ลากบนพื้นพรม ยางมะตอย และซีเมนต์ ก็อยู่ในขั้นดีถึงดีมากแทบทุกรุ่นรุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดคือรุ่นที่ราคาประมาณ 2,350 บาท ส่วนรุ่นที่ราคาถูกที่สุด (ประมาณ 1,100 บาท)* ก็ไม่ได้ขี้เหร่เลย เรียกว่าทุกรุ่นที่เรานำมาเสนอนั้นได้คะแนนดีเลยทีเดียว คงต้องแล้วแต่ความพึงพอใจในรูปลักษณ์ภายนอกและงบประมาณที่อยากลงทุนของแต่ละคน ไปดูกันเลยว่าคุณชอบแบบไหน         หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินของออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนธันวาคม โปรดตรวจสอบราคาที่เป็นปัจจุบัน ณ จุดขาย อีกครั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 234 ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

        กลับมาแล้วจ้า ผลการทดสอบเปรียบเทียบที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (หรือเรียกสั้นๆ ว่าคาร์ซีท) ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้โดยเก็บตัวอย่างคาร์ซีทรุ่นยอดนิยมที่วางตลาดในยุโรปในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 คราวนี้ให้เลือกพิจารณากัน 19 รุ่น โดยการทดสอบครั้งนี้ประกอบด้วยการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้จริงโดยทั้งผู้เชี่ยวชาญและครอบครัวตัวจริง คะแนนรวมคิดจากคะแนน 3 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัย ได้แก่ ประสิทธิภาพการป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้า ด้านข้าง ความแข็งแรงของตัวล็อก การยึดกับเบาะรถ และการดูดซับแรงกระแทก เป็นต้น (ร้อยละ 50) ความสะดวกในการใช้งาน ตั้งแต่การติดตั้ง√ใช้งาน√ปรับระยะหรือขนาด√ทำความสะอาด (ร้อยละ 40)การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ หรือ ergonomics ทั้งตัวที่นั่ง พนักพิง ความนุ่มสบาย และการใช้พื้นที่ในรถ เป็นต้น (ร้อยละ 10)นอกจากนี้ยังตรวจหาสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ถูกห้ามใช้ในยุโรปด้วย เช่น โพลีไซคลิกไฮโดรคาร์บอน พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ สีเอโซ และโลหะหนัก เป็นต้น         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบคราวนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 6,000 ยูโร (ประมาณ 222,000 บาท) โดยเฉลี่ย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 229 เปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไทยตื่นตัวที่จะซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากพบว่าตัวเองติดเชื้อ ผลสำรวจเปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19         ทีนี้มาดูเรื่องประกันภัยกันบ้าง เมื่อเราทราบแล้วว่ามีสิทธิการรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกซื้อประกันก็ควรซื้อกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ของเราและมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น บางคนอาจจะต้องการตรวจโควิด-19 ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือต้องการเงินชดเชยในช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน เป็นต้น โดยในการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง นอกจากผู้บริโภคจะดูสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในการทำสัญญาด้วย เพราะประกันแต่ละตัวของแต่ละบริษัท ก็มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นการรับประกันที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบางบริษัทก็มีเงื่อนไขที่กำกวม หรือไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการไว้         ฉลาดซื้อได้ทำการสำรวจประกันโควิด-19 จากโฆษณา เอกสารการขาย ที่สามารถหาได้จากสื่อต่างๆ และเวปไซต์ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 16  แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2563เงื่อนไขการรับประกันของทุกกรมธรรม์  1.ต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด(COVID-19) 2. ระยะเวลารอคอย 14 วัน (Waiting Period )หลังจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้ หมายถึง ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง/ระยะเวลารอคอย : บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (2019-nCoV)) ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรกตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย) หมายเหตุ  :  หลักเกณฑ์การรับเงินค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิต/เจ็บป่วยระยะสุดท้าย และภาวะโคม่า มีดังนี้         ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีผลบังคับและเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) 14 วัน (กรณีกรมธรรม์ที่กำหนดระยะเวลารอคอย)  หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมาย ว่าติดเชื้ออันเนื่องมาจากไวรัส COVID-19 ซึ่งมีลักษณะตามคำจำกัดความในกรมธรรม์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือต้องได้รับเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิตให้ผู้รับผลประโยชน์ (กรณีระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) หรือทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) ส่วนค่าทดแทนอย่างอื่นจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย*การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง การเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว**ภาวะโคม่า หมายถึง  ภาวะอาศัยเครื่องช่วยหายใจและไม่ตอบสนองอย่างน้อย 96 ชั่วโมง และสมองถูกทำลายถาวรเกิน 30 วัน*** การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ(อ.บ.1) หมายถึง การสูญเสียอวัยวะ หรือ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายข้อสังเกต        ·  ผู้ทำประกันสุขภาพต้องได้รับความคุ้มครองทุกโรค        ·  เจอ-จ่าย-จบ  หรือ เจอแล้วจ่าย ต้องสอบถามจากตัวแทนประกันภัยของแต่ละบริษัทว่ามีรายละเอียดอย่างไร        ·  บางกรมธรรม์มีข้อยกเว้นไม่รับทำประกันให้กับกลุ่มอาชีพพิเศษ หรือมีระยะเวลารอคอย ให้ผู้ซื้อประกันตรวจสอบกับผู้ขายก่อนซื้อแล้วก่อนจะซื้อประกัน โควิด-19 ควรดูอะไรบ้าง?         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไว้ว่า จุดที่ควรสังเกตในการซื้อประกันภัยโควิด-19 มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ ปัญหาสุขภาพ ข้อยกเว้นความรับผิดชอบ และการขายพ่วงประกันอื่นๆ1. อายุผู้เอาประกัน เพราะกรมธรรม์แต่ละฉบับจะมีความคุ้มครองในช่วงอายุที่แตกต่างกันในการรับประกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนซื้อประกันให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว2. ปัญหาสุขภาพ เงื่อนไขของกรมธรรม์บางฉบับ ไม่ได้ระบุหรือสอบถาม เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ให้ละเอียด เนื่องจาก บริษัทอาจใช้ข้ออ้างในเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ มาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธความคุ้มครองภายหลังโดยอ้างเรื่องการปกปิด หรือไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งเป็นมาก่อนการทำประกัน ( ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นท้ายคำเสนอของกรมธรรม์นั้นๆ )3. ข้อยกเว้นในการรับผิดชอบ โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยจะคิดเงื่อนไขโดยคำนึงว่าให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เงื่อนไประกันของบางบริษัทมีข้อยกเว้นที่กำหนดเรื่องอาชีพเอาไว้ หากเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน หรือบางบริษัทกำหนดว่าต้องติดเชื้อก่อนการซื้อประกันภัย โดยใช้เกณฑ์ระยะฟักตัว 14 วัน นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 14 วันหลังการซื้อประกัน คุณต้องไม่ป่วยเป็นโควิด ถ้าคุณป่วยประกันจะไม่รับผิดชอบ เป็นต้นและ 4. การขายพ่วงประกันอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ประกันในหลายรูปแบบ แต่นั่นก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีความจำเป็น ดังนั้น หากต้องการซื้อประกันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็ให้ซื้อเฉพาะเรื่องไปเลย ไม่ต้องพ่วงเรื่องประกันอื่นๆ ซึ่งจะหมดไปพร้อมกัน         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคอ่านรายละเอียดต่างๆ แล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ควรโทรถามบริษัทประกันให้เข้าใจก่อน แล้วจึงตัดสินใจซื้อ ก่อนตัดสินใจ ควร 1. ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ให้ดี ก่อนที่จะสมัครทำสัญญา บางกรมธรรม์มักพ่วงประกันอุบัติเหตุร่วมด้วย และหากกรมธรรม์ มีข้อความว่า  ต้องเกิดอุบัติเหตุและติดเชื้อไวรัส Covid -19 พร้อมกัน จึงจะได้เงินตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ดังนั้น ถ้าเกิดติดเขื้อไวรัส Covid -19 เพียงอย่างเดียว หรือ อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว ไม่มีสิทธิรับเงิน เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามสัญญา ดังนั้น ต้องตรวจสอบกรมธรรม์ให้ดีด้วย 2. เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า "เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19" อันนี้ ต้องดูความเห็นของแพทย์ บางคนหากติดเชื้อจริง แต่สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคแทรกซ้อน เช่น ความดัน หัวใจวาย ปอดติดเชื้อ แพทย์ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากไวรัสโควิด ก็อาจไม่เข้าเงื่อนไขของประกัน 3. ผู้บริโภคที่เอาประกันต้องแจ้งข้อมูลสุขภาพก่อนทำสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันอ้างในภายหลังเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีติดเชื้อก่อนทำประกัน  ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกัน 4. ผู้ที่ทำประกันชีวิต และสุขภาพไว้แล้ว  ขอให้ทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ จะรวมถึงการประกันกรณีติดเชื้อโควิดด้วยอยู่แล้ว ( ตาม“คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย”  )  ดังนั้น หากจะทำประกันภัยเพิ่ม ขอให้พิจารณาความจำเป็นอย่างรอบคอบ “คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.prachachat.net/finance/news-434595   หมายเหตุ 1 การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือ การเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19          2 ค่าชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50 วัน3 มีคุ้มครองการเสียชีวิต อวัยวะ สายตา ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1)      4 เงินชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา วันละ 300 บาท (สูงสุด14 วัน)5 กลุ่มอาชีพพิเศษ ดังนี้ บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล) และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท่าอากาศยาน แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักบิน6 เงินชดเชยกรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 500 บ./วัน (สูงสุด14วัน)7ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 300 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  8ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 700 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  9ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1,000 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)         10 สำหรับผุ้ที่ซื้อกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป มีระยะเวลารอคอย 14 วัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point