ฉบับที่ 225 ห้างไทยเขาจัดการอย่างไรกับถุงก๊อบแก๊บ

            ทุกวันนี้นักช้อปทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านใบ เฉลี่ยคนละ 150 ใบ พันรอบโลกได้ถึง 4,200 รอบ (www.oceancrusaders.org) และที่น่าเป็นห่วงคือพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ถูกใช้งานเฉลี่ยเพียงแค่ใบละ12 นาที แต่อาจยังเป็นขยะอยู่บนผิวโลกได้ถึง 400 ปี           แม้มันจะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่สถานการณ์ขยะล้นทั้งบนดินและในทะเลทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินการใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลาสติกลง รัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มประกาศแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเทศไทยซึ่งรั้งอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ก็จะเริ่มแบนตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 (ยกเว้นถุงใส่แกง ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์) ในขณะที่หลายประเทศก็ใช้วิธีทำให้ถุงพลาสติกไม่ใช่ของ “ฟรี” อีกต่อไป    “แล้วผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องการลดขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง” จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย ฉลาดซื้อ ได้รับคำตอบดังนี้ เทสโก้ โลตัส  เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกใน โครงการภูมิใจไม่ใช้ถุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 บริษัทลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 190 ล้านใบ และมอบแต้มคลับการ์ดให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงไปทั้งสิ้น 5,900 ล้านแต้ม ยกเลิกการใช้ถาดโฟมในทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562  มีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้นในร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และ เทสโก้ โลตัส ตลาด ทั้งหมด 1,800 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 เปิดตัว “กรีนเลน” ช่องทางชำระเงินพิเศษปลอดถุงพลาสติก ในสาขาใหญ่ 200 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลอดถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 10 แห่ง  ................ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนและทุกวันพุธ  รวมทั้งงดการแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศในวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม)  ตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้านใบ ภายใน 5 ปี ให้คะแนนพิเศษเมื่อลูกค้าช้อปสินค้าที่บิ๊กซีครบตามกำหนด และ ลูกค้าใช้ “ถุงผ้า” หรือ “ตะกร้า” หรือ ลูกค้านำถุงผ้ารักษ์โลกบิ๊กซี กลับมาใช้  หรือ “วิธีการอื่นที่ไม่ใช้ถุงพลาสติก”  ใช้กาบกล้วย ใบตอง วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ภาวชนะโฟม ใน 25 สาขา เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ รัชดา พระราม 4 และวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมีแผนยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม สำหรับสินค้าที่บิ๊กซีเป็นผู้ผลิตหรือบรรจุ ในทุกสาขาตั้งแต่ปี 2563เป็นศูนย์กลางรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว เช่น กล่องนม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ และ กล่องน้ำดื่ม ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้ง 107 สาขาทั่วประเทศ เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ประกอบเป็นแผ่นหลังคาเพื่อผู้ประสบภัย อันเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม............... ซีพี ออลล์  เซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มโครงการรณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติก ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ตั้งแต่ปี 2550  โครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 663  ล้านใบ คิดเป็นยอดบริจาคกว่า 132 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2562) โดยได้ส่งมอบเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับ 77 โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ  เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษและแก้วแบบย่อยสลายได้ ใน 300 สาขา ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ และจะขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ ต่อไป โครงการ “รักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว เครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติบนเกาะต่างๆ ชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ดำเนินการแล้วบนเกาะลันตา เกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี รวมถึงเกาะเต่า เกาะเสม็ด และเกาะพีพี โครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก”  ขยายโครงการไปสู่สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นโครงการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและสังคม โครงการ “ปฏิเสธถุง...ได้บุญ” หนึ่งในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นฯ ในโรงพยาบาล เมื่อลูกค้าปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ร้านจะสะสมยอดค่าใช้จ่ายไว้ 0.20 บาทต่อถุง และมอบให้กับโรงพยาบาล ปัจจุบันดำเนินงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง  การนำขยะพลาสติกกลับมาให้ชุมชนใช้ประโยชน์ Recycled Plastic Road จากแนวคิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งนอกจากผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้ช่วยพัฒนาชุมชน เริ่มที่สาขาสายไหม ซอย 3 และสาขาราษฎร์ พัฒนา ซอย 24 โดยจะพัฒนาและขยายในสาขาต่อๆไป    ........................... เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศเจตนารมณ์เป็นห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยโครงการ THE MALL GROUP GO GREEN ; GREEN EVERYDAY ที่งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง หากมีความจำเป็นต้องใช้ ขอความร่วมมือบริจาค 1 บาทต่อถุง 1 ใบ เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับ WWF-ประเทศไทย............................ กลุ่มเซ็นทรัล จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกพร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ จัด Green Checkout แคชเชียร์ช่องพิเศษ สำหรับลูกค้าที่งดรับถุงหรือนำถุงผ้ามาเอง    ..................................... สถานการณ์ปัจจุบันในไทย -          คนกรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) -          คนไทยสร้างขยะวันละ 1.14 กิโลกรัม มากกว่าร้อยละ 60 เป็นขยะอาหารซึ่งสร้างก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน -          ทุกวันมีขยะพลาสติกและโฟมเกิดขึ้น 7,000 ตัน สถานการณ์โลก-          ร้อยละ 50 ของพลาสติกที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ ถูกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จากเคยผลิตได้เพียง 2.3 ล้านตันในปี 1950 เราผลิตพลาสติกได้ถึง 448 ล้านตันในปี 2015-          ชาวโลกผลิตขยะพลาสติกปีละ 300 ล้านตัน-          โดยรวมแล้ว ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยจะสร้างขยะพลาสติกมากกว่าประเทศที่ยากจน คนเยอรมันและคนอเมริกันทิ้งขยะมากกว่าคนในอินเดียและเคนย่าถึง 10 เท่า แน่นอนขยะที่เกิดขึ้นมักถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่แนวโน้มนี่อาจเปลี่ยนไปเมื่อหลายประเทศประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะ-          ในปี 2017 คนยุโรปสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 32.74 กิโลกรัม ในนั้นมีถ้วยกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ 16,000 ล้านใบ (www.statista.com)  และถึงแม้จะบริหารจัดการขยะได้ดีกว่าที่อื่นๆ ร้อยละ 60 ของขยะในยุโรปก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล-          ร้อยละ 30 ของขยะจากครัวเรือนและสำนักงานในอเมริกา เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์-          ข้อมูลจาก Ocean Conservancy ในปี 2017 ระบุว่าร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกในทะเล มาจากจีน และสี่ประเทศในอาเซียน (ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)  -          แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิแห่งชมพูทวีป รองรับขยะพลาสติกปีละ 540 ล้านกิโลกรัม -          ข้อมูลจาก Alliance to end plastic ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  --- “อย่าลืม” โปรดพกถุงผ้าติดตัวไว้เสมอ เพราะห้างร้านส่วนใหญ่เริ่มการรณรงค์งดให้ถุงพลาสติกแล้ว บางห้างงดทุกวัน บางแห่งงดในวันที่ 4 ของเดือน---

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ปัญหาจากการใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ

                โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ โดยนิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสายการบินต้นทุนต่ำ(low cost Airline) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 30 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ความคิดเห็นของประชาชนต่อสายการบินต้นทุนต่ำ(low cost Airline) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ความรู้ทั่วไปเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์         พบว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยทราบว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้างเมื่อเกิดปัญหาเช่น กรณีเครื่องบินดีเลย์ กฎหมายการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ หรือทราบว่าเมื่อเกิดปัญหาควรติดต่อหน่วยงานใด แต่รายละเอียดเชิงลึกส่วนใหญ่จะไม่ทราบ เช่น กรณีเครื่องบินดีเลย์ กว่าครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 53.8 ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้า 2-3 ชั่วโมง มีสิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  แต่ร้อยละ 53.7 ยังไม่ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้า 5-6 ชั่วโมง สิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  ถ้าไม่ต้องการเดินทางก็สามารถติดต่อก็ขอคืนค่าโดยสารได้ และสามารถขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมค่าชดเชยจำนวน 600 บาท และร้อยละ 59.1 ไม่ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้ามากกว่า 6 ชั่วโมง หรือ ยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  ถ้าไม่ต้องการเดินทางก็สามารถติดต่อก็ขอคืนค่าโดยสารได้ และสามารถขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมค่าชดเชยจำนวน 1200 บาทและที่พักจำนวน 1 คืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ผลทดสอบสารทาเลตในของเล่น/ ของใช้พลาสติก

ทาเลต (Phthalates) เป็นกลุ่มของสารที่ใช้ผสมในพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ลดความหนืด โดยทำให้เกิดความอ่อนนิ่มมากขึ้น ทาเลตไม่มีพันธะเคมีที่เชื่อมต่อกับพีวีซี จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์พีวีซีไปเกาะติดกับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะของเล่นเด็กและของใช้พลาสติกที่อาจมีส่วนประกอบของทาเลต เมื่อเด็กใช้มือหยิบจับสัมผัสของเล่นของใช้ ก็อาจได้รับสารทาเลตได้        ทาเลตบางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน ซึ่งขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ทาเลตบางชนิดจึงมีข้อจำกัดในของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่นในสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระเบียบภายใต้กฎหมาย PUBLIC LAW 110-314 มาตรา 108 เพื่อควบคุมปริมาณทาเลตในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ให้มีทาเลตได้ไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก ซึ่งในสหภาพยุโรปและแคนาดาก็มีการออกกฎหมายควบคุมเช่นกัน         เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณทาเลตในสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กอย่างชัดเจน ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นเด็ก ของคล้ายของเล่นที่เด็กอาจนำมาเป็นของเล่น และของใช้ประเภทพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด และบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ซึ่งมีคุณลักษณะผิวสัมผัสนิ่ม สามารถกด ยืด หรืองอได้ จำนวน 51 ตัวอย่าง ในเดือนพฤษภาคม 2562 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อนุพันธ์ทาเลตทั้งหมด 6 ชนิด (ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบ ในบริเวณหรือส่วนที่สัมผัสถึง) ได้แก่         1) บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)         2) ไดนอร์มอลบิลทิลทาเลต  di-n-butyl phthalate (DBP)           3) เบนซิลบิวทิลทาเลต  Benzyl butyl phthalate (BBP)          4) ไดไอโซโนนิลทาเลต  di-iso-nonyl phthalate (DINP)          5) ไดไอโซเดซิลทาเลต  di-iso-decyl phthalate (DIDP)         และ 6) ไดนอร์มอลออกทิลทาเลต  di-n-octyl phthalate (DNOP)          เพื่อเปรียบเทียบกับข้อกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับทาเลตในของเล่นของสหภาพยุโรป และมาตรฐานอุตสาหกรรม (ฉบับร่าง)โดยเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในตัวอย่างของเล่น แสดงดังตารางต่อไปนี้ซึ่งผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลตทั้ง 7 ชนิด จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้  แสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลต จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ทั้งหมด 51 ตัวอย่างสรุปผลการสำรวจ        ผลการตรวจของเล่น/ของใช้ จำนวนทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบสารทาเลต (phthalates) เกินกว่าค่ามาตรฐานสากล จำนวน 18 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 35.29 โดยชนิดของอนุพันธ์ทาเลตที่ตรวจพบมากที่สุด คือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)แผนภูมิผลการทดสอบปริมาณทาเลตในตัวอย่างของเล่น/ ของใช้ 51 ตัวอย่าง        และยังพบว่า ของเล่นที่ตรวจพบค่าทาเลตรวมสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้ รูปสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่        1)  ยางบีบหมู จาก ตลาดบางพลัด (หน้าเมเจอร์ปิ่นเกล้า) ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ (ต้องไม่เกิน 0.1) ประมาณ 378 เท่า         2)  แรคคูณสีเหลือง จาก ร้านค้าเช่น ชั้น 2 ห้างเซ็นจูรี่ฯ อนุสาวรีย์ชัยฯตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  36.42 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)                 และ 3)  พะยูนสีเขียว จาก ร้านค้าเช่าขายของเล่น แฟลตคลองจั่น ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  35.739 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)         โดยผลทดสอบจากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 20 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 45         ส่วนตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อนอกห้างสรรพสินค้า จำนวน 25 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36        ทั้งนี้ จากการสังเกตสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. พบว่า        ตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ที่สุ่มเก็บทั้งหมด 45 ตัวอย่าง (ไม่รวมของเล่นที่สั่งซื้อออนไลน์ 6 ตัวอย่าง) มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. 19 ตัวอย่าง และ ไม่มีเครื่องหมาย 32 ตัวอย่าง        ซึ่งของเล่น/ของใช้ที่มี มอก. 19 ตัวอย่างข้างต้น ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36.84        ส่วนที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. 26 ตัวอย่าง ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 11 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 42         และตัวอย่างของเล่นที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ทั้งหมด 6 ตัวอย่าง จากร้านค้าในเว็บไซต์ Shopee และ Lazada เป็นของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีคำอธิบายภาษาไทย ไม่มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. ซึ่งไม่พบสารทาเลตสูงเกินค่ามาตรฐานสากล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ผลประเมินซูเปอร์มาร์เก็ต

        จากการติดตามประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในปีที่สอง พบ มีซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงบางรายที่ได้คะแนนเพิ่ม ในขณะที่อีกหลายแห่งผลคะแนนเท่าเดิม ลดลงและไม่มีคะแนน สะท้อนชัดถึงความเพิกเฉยต่อการเปิดเผยนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่รับผิดชอบต่อสังคมให้ผู้บริโภครับทราบ ส่วนใหญ่เน้นแค่กิจกรรมประชาสัมพันธ์(PR) และกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR) ที่ไม่ยั่งยืน กล่าวคือซูเปอร์มาร์เก็ตไทยไม่ได้กำหนดไว้เป็นนโยบายอย่างชัดเจน ซึ่งจะถือว่าเป็นข้อผูกมัดที่กำหนดให้บริษัทต้องปฏิบัติตาม การประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมซูเปอร์มาร์เก็ตไทย        พ.ศ. 2561  สามองค์กรพัฒนาเอกชนประกอบด้วย องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก(มูลนิธิชีววิถี) ร่วมกันประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย 8 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 - เมษายน 2561  ในชื่อแคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’   มีข้อค้นพบที่สำคัญคือ ซูเปอร์มาร์เก็ตของไทยในภาพรวมยังมีระดับของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับที่มาของอาหาร นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และการทำงานกับคู่ค้า ค่อนข้างน้อย โดยมิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทำได้ค่อนข้างดีในภาพรวม คือมิติด้านเกษตรกรรายย่อย (Small-Scale Producers) ซึ่งพบว่าซูเปอร์มาร์เก็ต 5 ราย จาก 8 รายที่ได้รับการประเมินได้รับคะแนนในหมวดนี้        อย่างไรก็ตามมี 3 รายที่ไม่ได้รับคะแนนเลย เนื่องจากขาดข้อมูลสาธารณะที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน (รายละเอียดติดตามได้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 209 )ผลประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคม ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย 2562        แคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เปิดผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศไทย ประจำปี 2562 พบว่าในภาพรวม ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังทำคะแนนได้ไม่ดีนัก โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตถึง 4 รายที่ไม่ได้คะแนนเลยในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ Big C, Foodland, Gourmet Market และ Villa Market โดยการประเมินครอบคลุมตัวชี้วัดย่อยใน 4 มิติด้วยกัน คือ ความโปร่งใส สิทธิแรงงาน เกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรี        สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนจากการประเมินประจำปีนี้ ได้แก่ CP Freshmart (มิติความโปร่งใส 2 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 6 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 3 คะแนน) Makro (มิติความโปร่งใส 3 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 3 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 4 คะแนน) Tesco (มิติความโปร่งใส 10 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 14 คะแนน มิติเกษตรกรรายย่อย 5 คะแนน และมิติสิทธิสตรี 6 คะแนน) และ Tops (หมวดสิทธิสตรี 1 คะแนน)        ข้อค้นพบสำคัญและข้อสังเกต         1.รายที่ทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ CP Freshmart, Makro และ Tesco ส่วนที่ได้คะแนนเท่าเดิมคือ Tops (Tops ปีแรกขอสงวนสิทธิการเปิดเผยผลคะแนน) ส่วนรายที่คะแนนน้อยลงคือ Big C ลดจาก 1 เหลือ 0 คะแนนในปีนี้ มีข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะ Big C เพิ่งจะเปลี่ยนเจ้าของและออกจากตลาดหลักทรัพย์ไป ทำให้ไม่มีรายงานประจำปีเหมือนเมื่อครั้งแรกที่มีการประเมินผลไป ส่วนอีก 3 รายได้แก่ Foodland, Gourmet Market และ Villa Market ยังไม่เคยได้คะแนนเลยตั้งแต่การประเมินปีที่แล้ว         2.คะแนนของ Tesco เกือบทั้งหมดได้มาจากการประกาศนโยบายของบริษัทแม่ที่อังกฤษ ถ้าดูเฉพาะข้อมูลที่ปรากฎบนช่องทางของ Tesco Lotus ในไทยอย่างเดียวจะได้คะแนนน้อยมาก คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย และไม่ได้คะแนนเลยในมิติอื่นๆ        3.ประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกกำลังให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางอาหาร ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดมทุนในการพัฒนาความยั่งยืน การศึกษาวิจัยว่ารายได้ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนที่ทำงานบนเส้นทางควรเป็นเท่าใด เป็นต้น นั้น ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยกลับยังไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้ส่วนใหญ่ยังทำประเด็นความยั่งยืนกันในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ได้กำหนดไว้ในนโยบายของบริษัทเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจหลักแต่อย่างใด         4.ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย แม้มีการระบุว่า มีการซื้อตรงจากเกษตรกรแล้ว (Direct Sourcing) แต่เป็นแค่การซื้อตรงอย่างเดียวยังไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ผลิต เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าทำอย่างไร ทำไปเท่าไร กับที่ไหนบ้าง ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ได้         เทียบการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของไทยและต่างประเทศ        การประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี พบว่า จากซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 16 ราย มีถึง 8 รายในต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และมีการสื่อสารนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าวสู่สาธารณะ ส่งผลให้ผลประเมินของซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 8 รายได้ประกาศคำมั่นและจุดยืนต่อสาธารณะในการสนับสนุน “หลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ตลอดจนเปิดเผยรายชื่อผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบและดูแลงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมไปถึงคู่ค้า แรงงาน และเกษตรกรรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหาร        นอกจากนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศเนเธอร์แลนด์ 2 แห่ง (Albert Heijn และ Jumbo) เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสองรายแรกที่ให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะเปิดเผยรายชื่อคู่ค้าลำดับแรก (Frist-tier) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของห้างเอง        และเมื่อซูเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนีได้รับแรงกดดันจากผู้บริโภค จากผลการประเมินรอบแรก Aldi South ได้ประกาศนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน บนช่องทางสาธารณะของบริษัทเป็นครั้งแรก ตลอดจนเริ่มให้ข้อมูลถึงประเภทของความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานและแหล่งที่มาของความเสี่ยงดังกล่าว        ตัวอย่างของซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศที่มีผลประเมินดีขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี แสดงให้เห็นว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในหลายประเทศตระหนักว่า ปัญหาและสถานการณ์ในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่เกิดขึ้นกับแรงงานภาคเกษตรกร เกษตรกรรายย่อย และสตรี ในประเทศต้นทางการผลิต เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของตนเอง และในปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบผ่านการแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา การปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติกับคู่ค้าและสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นให้ผู้บริโภคได้รับทราบ         บทสรุป        ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต และเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ควรให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนยกระดับการบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนจากการทำประชาสัมพันธ์หรือการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ไปสู่การประกาศจุดยืน การจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ต่อผู้บริโภคตลอดจนการขยายขอบเขตของนโยบายไปมากกว่ากิจกรรมภายในของบริษัทไปให้ครอบคลุมถึงคู่ค้า เกษตรกรรายย่อย แรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งต่อและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่ธุรกิจค้าปลีกอาหารของประเทศไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 222 รองเท้าผจญภัย

    ฉลาดซื้อ ฉบับฤดูฝนขอเอาใจคนรักธรรมชาติและการผจญภัยด้วยผลการทดสอบรองเท้าสำหรับการเดินท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าเขา หลายคนต้องคิดหนักก่อนตัดสินใจเพราะรองเท้าเหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษที่มาพร้อมราคาที่ค่อนข้างพิเศษด้วย เรามีรองเท้า 15 รุ่น (สนนราคาระหว่าง 2,900 ถึง 6,800 บาท*) ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติต่างๆ รวมถึงความพึงพอใจจากผู้ที่ได้ทดลองใส่ออกไปผจญภัยมาให้คุณได้พิจารณา        การทดสอบ (ที่มีค่าใช้จ่าย 360 ยูโร หรือประมาณ 12,300 บาทต่อหนึ่งตัวอย่าง) แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องแล็บเพื่อวัดคุณสมบัติต่างๆ เช่น การระบายอากาศ ความทนทาน ความสามารถในการกันน้ำ การกันลื่นของพื้นรองเท้าทั้งบนพื้นผิวที่แห้งและเปียก เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งคือคะแนนความพึงพอใจจากอาสาสมัครที่ทดลองสวมใส่เดินป่าจริงๆ         โดยรวมแล้วเราพบว่ารองเท้าที่แพงที่สุดไม่ไช่รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุด แต่รุ่นที่ราคาถูกมากๆ ก็ไม่มีประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจเช่นกัน         หมายเหตุ ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร ที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบฯ จ่ายในประเทศของตนเอง โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 แว่นกันแดดสำหรับเด็ก

        ฉลาดซื้อรับร้อนด้วยผลทดสอบแว่นกันแดดที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT โดยสมาคมผู้บริโภคออสเตรีย (VKI) เป็นเจ้าภาพทำไว้ เขาทดสอบแว่นกันแดดสำหรับเด็กที่เป็นที่นิยมในยุโรป (แต่ผลิตในจีนหรือไต้หวันเป็นส่วนใหญ่) ไว้ทั้งหมด 30 รุ่นการทดสอบครั้งนี้ใช้ต้นทุนไม่มากเมื่อเทียบกับการทดสอบเรื่องอื่นๆ แต่ก็ได้ผลทดสอบที่ยืนยันว่าราคาอาจไม่บ่งบอกคุณภาพ แว่นสองรุ่นที่ได้คะแนนเต็ม 100 ได้แก่ Primetta และ Marvel Ultimate Spider-Man นั้นราคาไม่เกิน 300 บาท แต่แว่นราคาเกือบ 900 บาทกลับได้คะแนนไปแค่ 48 คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ระดับการป้องกันยูวี ความทนทานต่อการตกหล่น (สำรวจความเสียหายหลังปล่อยแว่นจากความสูง 1.5 เมตร ทั้งหมด 5 ครั้ง) ความทนทานต่อการแตกหัก (หลังถูกอาสาสมัครน้ำหนัก 75 กิโลกรัม นั่งทับบนเก้าอี้ 5 ครั้ง) การทนต่อรอยขีดข่วน (โดยใช้ปากกาทดสอบ Erichsen Hardness รุ่น 318S) การป้องกันแสงจากด้านข้างดวงตา (จากการสัมภาษณ์เด็กอายุระหว่าง 3 ถึง 6 ขวบจำนวน 4 คนที่ทดลองสวม) การเช็ดทำความสะอาดเลนส์ (โดยดูว่าเลนส์หลุดออกจากกรอบหรือไม่ขณะเช็ดทำความสะอาด) และการเลือกใช้วัสดุที่ปลอดโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิ้ล สารหนู และสารเคมีอันตรายเช่น พทาเลทและ PAH หรือโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 สีทาผนังกันความร้อน

        ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และรุนแรง ช่วงเดือนเมษายน หน้าร้อน อุณหภูมิ อาจสูงถึง 45 องศาเลยทีเดียว ภาวะโลกร้อนดังกล่าวทำให้ชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้สกัดกั้นรังสีความร้อนที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ได้น้อย        ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น การลดอุณหภูมิสะสมในตัวบ้าน อาคาร ให้ได้มากที่สุดมีความจำเป็นมากเพื่อลดพลังงานที่ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้วยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย        หลังคาจะเป็นส่วนที่รับความร้อนหลัก หากลดความร้อนสะสมใต้หลังคาแล้วด้วยแผ่นสะท้อนรังสีความร้อน ฉนวนบนฝ้าเพดานแล้ว ผนังบ้าน อาคาร จะเป็นส่วนที่รับความร้อนรองลงมา สีทาผนังประเภทที่มีความสามารถสะท้อนความร้อนได้จึงมีความจำเป็นที่จะซื้อหามาใช้งาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายระดับราคา บางยี่ห้อมีฉลากเบอร์ 5 การันตีประสิทธิภาพด้วย        ฉลาดซื้อจะเลือกนำเอาสีทาผนังอาคาร ที่มีความสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ โดยสอบถามร้านค้าที่เป็นที่นิยม สามแห่ง ได้แก่ โฮมโปร บุญถาวร และไทวัสดุ ซึ่งพนักงานได้แนะนำสีที่มีความสามารถดังกล่าว และเป็นที่นิยม ได้มา 6 ยี่ห้อ โดยเลือกสีเป็นแบบกึ่งเงาสีขาว Base A ได้แก่ 1.TOA รุ่น SuperShield Advance2.Captain รุ่น ParaShield Cool max 3.Beger รุ่น BegerCool Diamond Shield4.Jotun รุ่น JOTASHIELD5.Dulux รุ่น Weathershield6.Nippon paint รุ่น WEATHERBOND flex         เบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากฉลากพบว่า มาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ตัวอย่างสีได้รับการรับรองจะมีอยู่สองหมายเลข ได้แก่             1.มอก.2321-2549 (สีอิมัลชันทนสภาวะอากาศ) พบทุกยี่ห้อ            2.มอก.2514-2553 (สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์) พบบางยี่ห้อ         นอกเหนือจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กล่าวมายังมีสัญลักษณ์ที่รับรอง แสดงบนฉลากอีกหลายอย่างโดยสรุปเป็นตารางได้ดังนี้ แนวทางการทดสอบ        เนื่องจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ เป็นหน่วยงานที่ทดสอบสีตามมาตรฐาน มอก.2321-2549 และ มอก.2514-2553 จึงขอความอนุเคราะห์ส่งทดสอบตัวอย่างสีที่เตรียมไว้ ในบางรายการที่เกี่ยวข้องได้แก่             -   กำลังซ่อนแสง เป็นการทดสอบความสามารถในการทาปิดทับ โดยปรับความหนืดของสีที่เตรียมไว้ให้เท่ากัน แล้วเคลือบฟิล์มสีตัวอย่างบนแผ่นทดสอบขณะเปียกที่ความหนา 100 ไมโครเมตร             -  การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ (solar radiation reflectance)  ทดสอบตาม JIS R 3106 เตรียมตัวอย่างโดยเคลือบสีตัวอย่างบนกระจกให้มีความหนาขณะแห้ง 300 ไมโครเมตร  การทดสอบความร้อนสะสม และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน         ทดสอบโดยใช้ตู้ทดสอบ โดยเตรียมตัวอย่างด้วยการทาสีตัวอย่างด้วยแปรงทาสี 2 ชั้น เว้นระยะเวลาแต่ละชั้นห่างกัน 1 ชม. บนกระจก ขนาด  30x30 ซม. ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทหนึ่งสัปดาห์ โดยยึดแนวคิดตามหลักปฏิบัติของช่างทาสีโดยทั่วไป หลังจากที่ตัวอย่างที่เตรียมไว้แห้งสนิทดีแล้ว นำไปวางบนตู้ทดสอบที่เตรียมไว้ ใช้หลอดฮาโลเจน และหลอดกำเนิดแสงยูวี เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน เหนือกระจกที่ทาสีตัวอย่างไว้ แล้ววัดอุณหภูมิภายนอก และภายในตู้ทดสอบ โดยเริ่มจาก แผ่นกระจกเปล่าที่ไม่มีการทาสี เพื่อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบ ผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้น กระจกที่ทาสีตัวอย่าง นอกจากการวัดค่าอุณหภูมิแล้ว ยังวัดผลของสเปคตรัมของแสง/ รังสีความร้อน ที่ทะลุผ่านกระจกมาด้วย          ค่าอุณหภูมิแตกต่างที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพของสีตัวอย่างนั้น ใช้วิธีการดูความสามารถต้านทานการแผ่รังสีความร้อน โดยวัดอุณหภูมิภายในตู้ทดสอบ ณ เวลาเดียวกัน โดยเวลาที่กำหนด จะใช้เวลาที่ได้จากการทดสอบด้วยกระจกใสแล้วทำให้ค่าอุณหภูมิภายในและภายนอกมีค่าเท่ากัน ซึ่งจะอยู่ที่นาทีที่ 8 (ทดสอบที่อุณหภูมิเริ่มต้น 24.5˚C) ตามภาพที่ 3          สำหรับเวลานาทีที่ 8 นั้นอุณหภูมิที่วัดได้จะอยู่ที่ 47.3 ˚C และเมื่อทำการทดสอบที่กระจกทาสีตัวอย่าง หากที่เวลานาทีที่ 8 ตัวอย่างสีใดที่ได้ค่าอุณหภูมิต่ำที่สุด ย่อมมีประสิทธิภาพต้านทานรังสีความร้อนดี         ผลของสเปคตรัมแสง ความร้อน ที่ผ่านกระจกทดสอบเข้ามา จะแบ่งเป็น UV แสงช่วงที่มองเห็น (visible) และ รังสีความร้อน (infrared) ผลที่ได้เป็นดังนี้  ผลการทดสอบ        หลังจากทดสอบทั้ง 3 วิธีแล้ว โดยได้จากการทดลอง ผลของความร้อนสะสม แสง/ รังสีที่ส่องผ่าน และผลทดสอบจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ได้แก่ กำลังซ่อนแสง และ ค่า % สะท้อนรังสีความร้อน เป็นดังนี้ตารางที่ 2 ผลการทดสอบบทสรุป        จากตัวอย่างสีทั้งหมดลักษณะของเนื้อสี ความเข้มข้น ค่อนข้างใกล้เคียงกัน มีความสามารถในการทาปิดทับได้ดี ทาง่ายพื้นผิวสีที่ได้หลังจากทาด้วยแปรงสองครั้ง เรียบเนียนสวยงาม ผลของกำลังซ่อนแสง จะแสดงผลของการทาปิดทับที่ดี การทดสอบเนื้อสีจะถูกปรับความเข้มข้นให้เท่ากัน หากสีที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 2321–2549 จะมีค่าของกำลังซ่อนแสงจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่ง ทุกสีตัวอย่างมีค่าของ กำลังซ่อนแสง มากกว่าร้อยละ 80  โดยค่าสูงสุดคือ Nippon paint มีค่า 94.53 %        การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ตาม มอก.2514-2553 สีตัวอย่างจะต้องมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่งสีทุกตัวอย่างมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ได้เกือบ 90 % โดยค่าสุงสุดคือ 91.2 % ได้แก่ TOA และ Nippon paint        ผลการทดลองการสะสมความร้อน และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน ที่นาที ที่ 8 หลังจากฉาย แสง/ รังสีความร้อน พบว่าสี Nippon paint จะมีค่าความร้อนภายในตู้ทดสอบ น้อยที่สุด ที่ 33.7 ˚C สอดคล้องกับ ผลของแสง/ รังสีความร้อนที่ส่องผ่านเข้ามาต่ำที่สุด        ผลทดสอบเชิงตัวเลขถือว่า สีตัวอย่างทุกยี่ห้อ มีความสามารถที่ลดความร้อนได้ใกล้เคียงกันมาก สามารถทดแทนกันได้ มีความสามารถลดพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้อย่างแน่นอน เลือกใช้ตามความเหมาะสม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 216 เป้เดินป่า

            ปัจจุบันมีเป้เดินป่า (ที่เราส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในการใส่สัมภาระเดินทางทั่วไป) เข้ามาขายในบ้านเรามากมายหลายยี่ห้อ ด้วยสนนราคาที่ค่อนข้างแพง นักเดินทางจึงค่อนข้างคิดหนักก่อนจะลงทุน แต่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเรามีผลทดสอบเป้ความจุตั้งแต่ 40 ลิตร ที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้มาฝาก คราวนี้เรามีให้คุณได้เลือกกัน 19 รุ่น ในสนนราคาระหว่าง 1,550 ถึง 6,800 บาท*ทีมทดสอบแบ่งคะแนนเต็ม 100 คะแนนให้กับคุณสมบัติ 7 ด้านดังนี้        -          ความสะดวกในการใช้งาน                                                                                                                                             40 คะแนน                    (บรรจุสัมภาระครึ่ง/เต็มกระเป๋า ใช้งานปิด/เปิด เข็มขัดล็อคเอว ความกระชับของกระเป๋าเมื่อผู้ใช้ก้มตัว ฯลฯ)                                                        -          เนื้อที่ใช้สอยทั้งภายในและภายนอก                                                                                                                             15 คะแนน        -          ประสิทธิภาพการกันน้ำ (ด้วยการจำลองสภาพฝนตก)                                                                                                     15 คะแนน        -          ความแข็งแรงของหูหิ้วและสายสะพาย                                                                                                                          10 คะแนน        -          ความเรียบร้อยสวยงามในการประกอบ                                                                                                                        10 คะแนน        -          ความสะดวกในการทำความสะอาด                                                                                                                               5 คะแนน        -          การมีชิ้นส่วนสะท้อนแสง                                                                                                                                             5 คะแนน         งานนี้ต้องยอมรับว่าของดีนั้นมีต้นทุนสูงอยู่บ้าง แต่ใช่ว่าเราจะหาของราคาปานกลางที่มีคุณภาพดีไม่ได้ พลิกหน้าถัดไปเพื่อดูผลคะแนนรวมหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านที่คุณใส่ใจเป็นพิเศษได้เลย        ·        หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาที่จ่ายโดยองค์กรสมาชิกที่ซื้อสินค้ามาทดสอบ ที่เมืองไทยราคาอาจแพงหรือถูกกว่า โปรดตรวจสอบราคากับทางร้านอีกครั้ง        ·        ค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 390 ยูโร (ประมาณ 14,000 บาท) และค่าจัดทำรายงานผลอีก 1,500 ยูโร (ประมาณ 53,000 บาท) ทั้งนี้องค์กรสมาชิกที่ร่วมส่งตัวอย่างเป้เข้าทดสอบจะร่วมกันหารค่าใช้จ่าย              แม้ฉลาดซื้อจะไม่ได้ส่งตัวอย่างไปทดสอบที่เยอรมนีด้วย แต่ในฐานะสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ที่จ่ายค่าสมาชิกปีละประมาณ 210,000 บาท) เราสามารถใช้ผลทดสอบได้ด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 214 ผลทดสอบดินสอสี

หนึ่งในของขวัญของฝากที่สามารถสร้างเสริมจินตนาการเด็กได้กว้างไกลด้วยสนนราคาที่ไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแถมยังอยู่ได้นานหลายปี ก็คงหนีไม่พ้นดินสอสี  ฉลาดซื้อ ขอต้อนรับวันเด็กปี 2562 ด้วยผลการทดสอบดินสอสีหรือสีไม้ที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้   การทดสอบสีไม้ 28 รุ่น (สนนราคาระหว่าง 32 ถึง 370 บาทเมื่อคิดเป็นเงินไทย) ครั้งนี้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) การทดสอบในห้องแลปเพื่อวัดความทนต่อแรงกด ความแข็งแรงของไส้ดินสอเมื่อตกพื้น รวมถึงการกลิ้งของตัวดินสอ 2) การทดลองใช้งานโดยอาสาสมัครเพื่อดูความสะดวกในการจับ ระบาย และความแน่นของสี 3) การตรวจหาสารอันตราย เช่น โลหะหนัก พทาเลท และ PAHs (กลุ่มสารเคมีก่อมะเร็ง) ในภาพรวมเราพบว่า “ราคา” มีผลต่อคุณภาพ สีไม้รุ่นที่ราคาถูกมากๆ ได้คะแนนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรุ่นที่ราคาสูงกว่า หลายรุ่นที่เนื้อไม้ดี สีสด ระบายได้สวย แต่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินปริมาณที่ทีมทดสอบกำหนด จะได้คะแนนรวมไปเพียงแค่หนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น โชคดียังเป็นของเราที่มีสีไม้ที่ราคาไม่แพง แต่คุณภาพและความปลอดภัยอยู่ในระดับสามดาวขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 รองเท้าสำหรับขาลุย

         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาสมาชิกสายรักธรรมชาติบุกป่าฝ่าดงไปดูผลทดสอบรองเท้ารัดส้นแบบออฟโร้ดด้วยฟังก์ชันที่ “พิเศษ” ของมัน สนนราคาจึงค่อนข้างสูง หลายคนจึงยังลังเลว่าจะซื้อดีหรือไม่ ถ้าจะซื้อจะเลือกรุ่นไหน ตัวรองเท้าควรจะเป็นหนังแท้ หนังกลับ หรือหนังเทียม พื้นรองเท้าควรเป็นโฟม ยางพารา หรือเทอร์โทพลาสติก โชคดีที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ที่เราเป็นสมาชิก เขาทำการทดสอบเอาไว้ 18 รุ่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทยด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนนในการทดสอบแบ่งออกเป็น- ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ       70 คะแนนเป็นการวัดประสิทธิภาพทางเทคนิคของรองเท้า เช่น การกันลื่น (ทั้งบนพื้นดินและพื้นกระเบื้อง) ความแข็งแรงของส่วนประกอบ (ห่วง สายรัด และพื้นรองเท้า) และอายุการใช้งาน (ความทนทานต่อการเสียดสี การบิดงอ และความคงทนของสี) - ความพึงพอใจของผู้สวมใส่     30 คะแนนอาสาสมัครจะให้ความเห็นเรื่องความรู้สึกสบายในการสวมใส่ ความยากง่ายในการสวม/ถอด การระบายอากาศ การทรงตัวเมื่อเดินบนพื้นผิวต่างๆ รวมถึงความพึงพอใจต่อรูปลักษณ์ภายนอกของรองเท้า        โดยรวมแล้วรุ่นที่ได้คะแนนดีมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็มีรองเท้าราคาสูงบางรุ่นได้คะแนนอันดับล่างๆ เหมือนกัน พลิกหน้าต่อไปแล้วจะได้รู้กันว่ารองเท้ารุ่นไหนดีงามสมราคา (และคำร่ำลือ) กว่ากัน * ราคาที่แสดงเป็นราคาขณะที่ซื้อสินค้ามาทดสอบ และเป็นการแปลงจากค่าเงินยูโรเป็นเงินบาทโดยปัดเศษ ก่อนตัดสินใจซื้อโปรดตรวจสอบราคาอีกครั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point