ฉบับที่ 211 คนกรุงกับชีวิตหนี้

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนของคนกรุงเทพมหานคร พบ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 77 มีหนี้สิน ร้อยละ 14 ปลอดภาระหนี้ และมีร้อยละ 8.5 ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีหนี้สินหรือไม่ โดยเป็นหนี้เกี่ยวกับการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นอันดับ 1 ร้อยละ 37.6 รองลงมาได้แก่ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 28.2 การกู้ยืมเงินจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 18.8 และการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่เป็นหนี้ก่อน ปี 2561 ที่น่าสนใจคือ เหตุผลหรือความจำเป็นที่ต้องเป็นหนี้ พบว่า ร้อยละ 23.6 เป็นหนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป แหล่งเงินกู้และภาระหนี้  แหล่งเงินกู้อันดับ 1 คือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 36.4 รองลงมาคือ ไฟแนนช์ ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบหนี้คือ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 15.3 ยังต้องใช้บริการของคนปล่อยกู้(หนี้นอกระบบ) โดยร้อยละ 40 เป็นหนี้น้อยกว่า 100,000 บาท ร้อยละ 30 เป็นหนี้ในช่วง 1-5 แสนบาท และร้อยละ 17.4 เป็นหนี้ในช่วง 5 แสน – 1 ล้านบาท        สำหรับสภาพคล่องพบว่า ร้อยละ 53.4 เคยผิดนัดผ่อนชำระ และร้อยละ 34.4 ไม่เคย ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหนี้   คนกรุงส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 จะทราบข้อมูลเรื่องอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 52.3 ทราบว่ามีกฎหมายเรื่องทวงถามหนี้ และเคยถูกทวงถามหนี้ถึงร้อยละ 46.3 ในลักษณะของจดหมายมากที่สุด ร้อยละ 33.5 พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 19.6 คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 15.4 ตามลำดับเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ   คนกรุงที่ตอบแบบสำรวจครั้งนี้ มีร้อยละ 22.8 ที่ก้าวไปถึงขั้นถูกดำเนินคดี แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ไม่ไปถึงขั้นดังกล่าว และเมื่อสอบถามถึงมาตรการที่ทางรัฐดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ ไม่ว่าจะเป็น คลินิกแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย, สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง(สินเชื่อพิโก) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย(นาโนไฟแนนซ์) ประมาณ ร้อยละ 40 จะทราบว่ามีแหล่งสินเชื่อที่เป็นมาตรการใหม่เหล่านี้ แต่จากทุกข้อที่ทำสำรวจว่าทราบหรือไม่ทราบ หากรวมร้อยละของผู้ที่ตอบว่า ไม่ทราบ กับที่ตอบว่า ไม่แน่ใจ ก็พอจะเห็นภาพรวมได้ว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯ มีข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะตัดสินใจเข้าสู่มาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ   โดยเฉพาะคลินิกแก้หนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของคุณชูชาติ บุญยงยศ  ในนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 209 พบว่า ไม่มีผู้บริโภคแม้แต่รายเดียวที่ผ่านเกณฑ์อันเข้มงวดซับซ้อนจนสามารถใช้คลินิกแก้หนี้ได้ นาโนไฟแนนซ์ คืออะไร   นาโนไฟแนนซ์ หรือชื่อเต็มๆ ว่า สินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ คือ สินเชื่อเงินกู้สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นทะเบียนการค้า นาโนไฟแนนซ์ จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าสินเชื่อแบบอื่นทั้งนี้ก็เพราะรัฐต้องการสนับสนุนให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนนำเงินไปประกอบอาชีพ หรือต่อยอดกิจการ หรือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งสุดท้ายเพื่อนำไปสู่การปลดหนี้ได้ในที่สุด โดยลูกค้าแต่ละรายสามารถกู้เงินได้สูงสุด ไม่เกิน 100,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี  จุดประสงค์ของโครงการนาโนไฟแนนซ์ คือ ภาครัฐต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันเกือบสิบล้านครัวเรือน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศที่รายรับไม่พอกับรายจ่าย จึงต้องกู้หนี้มาใช้เพื่อการบริโภค และมูลหนี้ก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้กำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” พบว่า ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีจำนวนบัญชีสะสม 112,571 บัญชี เพิ่มขึ้น 32,255 บัญชี หรือ 40% จากไตรมาสที่ 1/2560 ส่วนสินเชื่อสะสมอยู่ที่ 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 937 ล้านบาท หรือ 43.7% ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท หรือโต 197% เทียบจากไตรมาสแรกที่มีหนี้เสียสะสมเพียง 37 ล้านบาทเท่านั้น  ซึ่งเป็นสัญญาณที่ส่อเค้าว่า โครงการนี้อาจจะไปไม่รอดโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,171 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 24 - 28 สิงหาคม 2561

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 211 การแก้ปัญหาจราจรด้วยการลดรถสาธารณะใช่แนวทางที่ดีจริงหรือ

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของการจราจรที่ติดขัดแทบทุกจุดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร อยู่ดีๆ คณะกรรมการแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีใครรู้จักว่ามีใครเป็นคณะกรรมการบ้าง ก็เสนอมาตรการใหม่ เอารถเมล์ที่ถูกมองว่าคันใหญ่กีดขวางการจราจรออกไป เพื่อแก้ปัญหารถติดตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนรามคำแหง ทันทีที่มาตรการเผยสู่สาธารณะ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกๆ ช่องทางว่าคนกลุ่มนี้เขาคิดอะไรกันอยู่ มีหลายคนแสดงความคิดเห็นผ่านเพจ safethaibus และ inbox เช่น“รถเมล์ 1 คันจุดคนได้มากกว่า 50 คน ทำไมถึงไม่เพิ่มรถสาธารณะ แล้วลดรถส่วนตัวแทน” “ทำรถสาธารณะให้ดีขึ้น ออกมาตรการจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะกันดีมั้ย” “เอารถเมล์ออก แต่รถส่วนตัวยังวิ่งเหมือนเดิม จะแก้ปัญหาได้ยังไง” ถึงประเด็นนี้จะวิจารณ์กันร้อนแรงแค่ไหน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนคิดเรื่องนี้ด้วย โดย พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่นอกจากมีแผนการหาจุดจอดรถ Park & Ride หรือจอดแล้วจรให้ประชาชนเชื่อมต่อรถชัทเทิลบัส (Shuttle Bus) แล้ว ขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ขสมก.ต้องลดจำนวนรถเมล์ประจำทางในเส้นทางรามคำแหง ในสายที่มีปริมาณรถมากแต่คนขึ้นน้อย เพราะรถมีขนาดใหญ่และเก่า เมื่อเกิดปัญหารถติดรถเสียจะใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจากแนวคิดของ รอง ผบช.น นั่นหมายความว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนรถเมล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ เสริมเติมเข้าไปด้วย ทั้งการหาที่จอดรถ การให้บริการรถชัทเทิลบัสส่งต่อสถานีรถไฟฟ้า โดยมุ่งหวังว่าการมีจุดจอดที่รองรับปริมาณรถส่วนตัวได้มากพอ แล้วมีรถชัทเทิลบัสนำพาไปส่งจุดปลายทาง จะช่วยลดปริมาณการนำรถส่วนตัวเข้ามาวิ่งบนถนนรามคำแหงได้อ่านดูเหมือนจะเคลิ้มไปกับภาพที่สวยหรู รถยนต์จะน้อยลง ถนนจะโล่งขึ้น… แต่ในความเป็นจริงท่านคณะกรรมการฯ อาจจะคิดผิดหรือคิดไม่ครบ เพราะจากมาตรการที่ออกมายังไม่เห็นถึงแรงจูงใจที่คนใช้รถยนต์ส่วนตัว อยากที่จะเอารถไปจอดไว้ที่จุดจอดแล้วใช้รถชัทเทิลบัสไปสถานีรถไฟฟ้าเลย ต้องยอมรับก่อนว่า ส่วนหนึ่งที่คนมีรถส่วนตัวเพราะอยากสบาย ถึงรถติดแค่ไหนก็ยังสบายๆ นั่งอยู่ในรถฟังเพลงเปิดแอร์ได้ ดีกว่าไปทนยืนเบียดสูดกลิ่นเหงื่อไคลของผู้ร่วมทางคนอื่นๆ ในรถสาธารณะ ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนความทรมานจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ฝนตกรถติดน้ำท่วม ยืนรอเป็นชั่วโมงรถเมล์ก็ยังไม่มา หรือรถไฟฟ้าที่เบียดเสียดมากๆ ในช่วงเร่งด่วน เรียกว่าแน่นจนขึ้นไม่ได้ ท่านจะสร้างแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างไร การทำให้ระบบรถสาธารณะที่บรรทุกคนได้จำนวนมากใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นคำตอบมากกว่าเป็นปัญหา ทุกที่ของเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างควบคุมปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่วิ่งในเมือง ยิ่งเป็นเส้นทางก่อสร้าง ยิ่งต้องกำหนดเส้นทางเลี่ยงออกจากจุดก่อสร้าง และเสริมด้วยแรงจูงใจที่อยากให้คนมาใช้รถเมล์ เพิ่มรถเมล์ที่มีคุณภาพเข้ามาแทน แบบนี้ประชาชนถึงอยากจอดรถแล้วไปใช้รถสาธารณะ แต่ปัญหารถสาธารณะบ้านเมืองเราเป็นของแสลงทำให้ดีได้ยาก คนไทยก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้กันในระดับสินค้าขายดี จึงเข้าใจว่าคณะกรรมการชุดนี้คงหมดหนทาง เมื่อไม่สามารถควบคุมปริมาณรถส่วนตัวได้ เลยมาลงที่รถสาธารณะอย่างรถเมล์แทน โดยใช้เหตุผลที่ทุกคนเบื่อหน่ายกับรถเมล์ ที่หลายคันมีสภาพเก่าทรุดโทรม บางสายคนใช้น้อย คนขับหลายรายไร้วินัยเป็นแรงหนุน ซึ่งต้องบอกว่าพลาดครับ แม้ว่าคล้อยหลังออกมาตรการเพียงสองวัน รอง ผบช.น. จะได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะไม่ได้เป็นการลดจำนวนของรถเมล์บนถนนรามคำแหง แต่เป็นการลดขนาดของรถเมล์ลงจากรถขนาดใหญ่บางสายที่มีคนขึ้นน้อยให้เป็นมินิบัส เพื่อให้ถนนโล่งขึ้นลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าจะมองกันให้ลึกแล้ว ปัญหารถติดสำหรับคนเมืองไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่รอวันแก้ไข แต่มันคือวิถีชีวิตที่คนเมืองทุกคนต้องเจอตั้งแต่ตื่นเช้ามาทำงานจนเลิกงานกลับเข้าบ้าน ยิ่งผสมกับมหกรรมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งทำให้เพิ่มปริมาณการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีหลักประกันอะไรจะยืนยันได้ว่า เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้วรถจะไม่ติดอีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเพียงบางจุด ย่อมไม่อาจทำให้ปัญหาในภาพรวมแก้ไขไปด้วยได้ ตัวอย่างของมาตรการแก้ไขปัญหารถติดบนถนนรามคำแหงนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ดีของผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาให้ชัดเจนก่อน ไม่งั้นก็จะตกม้าตายแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ประกันชีวิต+ประกันสุขภาพเจ้าไหนให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน

จากแบบประกันชีวิตที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ในตลาด เช่น ประกันชีวิตเพื่อการออมทรัพย์ ประกันเพื่อการศึกษาบุตร ประกันเพื่อวัยเกษียณอายุ ประกันเพื่อการลงทุน และยังมีแบบอื่น ๆ อีกหลายประเภท แต่สำหรับบทความนี้จะศึกษาเฉพาะประกันชีวิตแบบออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพ เท่านั้น“ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จึงขอยกตัวอย่างของบุคคลเพศชาย (นามสมมติ “นายธรรมดา ฉลาดซื้อ”) อายุ 35 ปี โสด ทำงานเป็นพนักงานในสำนักงานแห่งหนึ่ง ไม่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นความเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีความสนใจอยากเลือกซื้อประกันชีวิต แบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิต (สัญญาหลัก) จำนวน 200,000 บาท มีระยะเวลาการคุ้มครองชีวิต 20 – 25 ปี และชำระเบี้ยประกันในช่วง 15 – 20 ปี พร้อมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน  และการชดเชยการขาดรายได้ที่พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล โดยใช้ข้อมูลอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวประมาณ 3,000 บาท / วัน มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิต จากข้อมูลของ นายธรรมดา ข้างต้น ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลและเงื่อนไขหลักจากบริษัทประกันชีวิต จำนวนทั้งสิ้น 11 บริษัท มาแสดงไว้ในตารางที่ 4 เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการเลือกซื้อประกันชีวิตที่มา : ใบเสนอราคาจากตัวแทนประกันชีวิต ช่วงเดือน มิถุนายน  2561แต่สมมุติตอนนี้นายธรรมดา ฉลาดซื้อ มีอายุ 55 ปี นายธรรมดา จะต้องเสียเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นดังภาพด้านล่าง  แสดงให้เห็นว่าการทำประกันชีวิตนั้น ควรจะเริ่มทำเมื่ออายุน้อย ๆ เพราะว่าเบี้ยประกันชีวิตของสัญญาหลักจะไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าอายุจะเปลี่ยนแปลงไป ข้อสังเกต : เบี้ยประกันชีวิตของบริษัทส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุของผู้ประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น แต่มีบริษัทประกันชีวิต 2 แห่ง ที่อัตราค่าเบี้ยประกันชีวิต อายุ 35 ปี กับ 55 ปี มีจำนวนเท่ากัน คือ ชำระเบี้ยประกันเท่ากันทุกช่วงอายุ ได้แก่ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)จากตารางเปรียบเทียบข้อมูลการทำประกันชีวิต จะเห็นได้ว่าบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัท มีข้อเสนอและเงื่อนไขหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระแตกต่างกัน รวมถึงผลตอบแทน (เงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินปันผล) ที่แตกต่างกันด้วย ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาว่าควรจะเลือกซื้อประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิตไหนนั้น ฉลาดซื้อ จะใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ด้านการเงิน มาพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตโดยคิดผลตอบแทนที่ได้รับว่าประกันชีวิตของบริษัทไหนน่าสนใจมากที่สุด จากข้อมูลตารางที่ 4  คือการใช้ค่า IRR (Internal Rate of Return) มาช่วยในการพิจารณา             ค่า IRR หมายถึง อัตราลดค่า (Discounted Rate) หรือ อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) ที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด ที่คาดว่าจะต้องจ่ายในการลงทุนเท่ากับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตลอดอายุสัญญา  ซึ่งค่า IRR สามารถคำนวณได้ตามสมการเมื่อ  n       =   จำนวนปีที่คุ้มครองในการทำประกันชีวิต         ESt   =   ผลตอบแทนรายปี ตั้งแต่ปลายปีที่  1 ถึง n         I0      =   เบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระ         IRR   =   อัตราผลตอบแทนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างง่ายๆ สรุปก็คือ IRR เป็นการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน ที่เปอร์เซ็นต์มีค่าเป็นบวกมากเท่าใด แสดงว่าแบบประกันชีวิตนั้นๆ ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบที่ให้ค่าเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า ดังนั้น ค่า IRR ยิ่งมากยิ่งดี และไม่ควรติดลบ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 210 การเลือกซื้อประกันสุขภาพ

 “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะแบ่งปันประสบการณ์ การเลือกซื้อประกันชีวิตควบคู่ประกันสุขภาพ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่พวกเราต้องพบเจอ มีอิทธิพลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลที่แปลงเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องรีบเร่ง ทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว มีเวลาพักผ่อนน้อย  อาหารการกินไม่มีเวลาเลือกสรรมากนัก ส่วนเรื่องการออกกำลังกายแทบไม่ต้องพูดถึง ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงนำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยที่ต้องพึ่งพาหมอหรือโรงพยาบาล ปัญหาที่ทุกท่านประสบเหมือนกันคือ ถ้าไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ ท่านจะต้องเดินทางให้ถึงโรงพยาบาลแต่เช้าตรู่ เพื่อรอรับบัตรคิวและรอคิวตรวจที่แสนจะยาวนาน โอกาสที่จะพูดคุยรายละเอียดของโรคกับแพทย์ที่รักษานั้นก็สั้นเต็มที  หรือถ้าต้องการรักษาโรงพยาบาลเอกชน ก็จะพบกับค่ารักษาที่แสนจะแพงเกินกว่าที่คนชั้นกลาง จะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้             แนวทางการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การซื้อประกันสุขภาพ เพื่อกระจายความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถคาดเดาได้ให้กับบริษัทประกันชีวิต อย่างไรก็ตามการซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต ท่านไม่อาจซื้อเฉพาะประกันสุขภาพอย่างเดียวได้ จะต้องซื้อสัญญาประกันชีวิต หรือที่เรียกว่าสัญญาหลัก เสียก่อน จึงจะสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมได้ แตกต่างจากการซื้อประกันอุบัติเหตุ ที่สามารถซื้อได้เลยโดยไม่ต้องซื้อประกันอย่างอื่นร่วมด้วย  ดังนั้น  “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จึงขอให้รายละเอียดเกี่ยวกับประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันให้กับท่านผู้อ่าน  บทความนี้จะศึกษาถึงราคาเบี้ยประกันชีวิต(สัญญาหลัก) และประกันสุขภาพ ของบริษัทประกันชีวิต ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด 11 ราย นับเป็นครึ่งหนึ่งของบริษัทประกันชีวิตที่มีอยู่ในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนการตลาดรวมจำนวน 94.30%     รวมถึงได้แสดงราคาค่าห้องพักรักษาพยาบาลประเภทเตียงเดี่ยว ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในกรุงเทพมหานครไว้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเป็นข้อมูลประกอบการเลือกตัดสินใจซื้ออัตราค่าห้องสำหรับการรักษากรณีเป็นผู้ป่วยในต้องพักค้างในโรงพยาบาล ตารางรายชื่อบริษัทประกันชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย จำนวน 22 บริษัท ตารางแสดงสัดส่วนการตลาดของบริษัทประกันชีวิตสูงสุด 11 รายแรก  คำนวณจากเบี้ยประกันรับรวม เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2561 คิดเป็นสัดส่วนทางการตลาด 94.30 %ส่วน 11 บริษัทประกันชีวิตที่เหลือ และไม่ได้แสดงในตาราง มีสัดส่วนทางการตลาดรวม คิดเป็น 5.70 % เท่านั้นที่มา : ข้อมูลของสมาคมประกันชีวิตไทย ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2561ตารางอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวต่อคืน ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในกรุงเทพมหานคร ที่มา : สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า              หรือสามารถค้นหาอัตราค่าห้องพักรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นทั่วประเทศไทยได้จาก                 www.aia-delivery.com/15077383/อัตราค่าห้องโรงพยาบาลเบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) ที่เราจ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตนั้น จะมีอัตราค่าเบี้ยประกันที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้คือ เพศ ช่วงอายุ และ อาชีพ  เพศหญิงหรือชายก็จะมีอัตราเบี้ยประกันที่ไม่เท่ากันแม้ว่าอายุจะเท่ากัน ยิ่งอายุมากขึ้น หรือทำงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยหรืออุบัติเหตุได้ง่าย เบี้ยประกันชีวิตก็จะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่มีอายุน้อย หรืออาชีพที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า             ประเภทของความเสี่ยงสำหรับบริษัทประกันชีวิต ส่วนใหญ่จะจัดกลุ่มอาชีพ ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้             กลุ่มที่ 1 : เป็นงานที่ทำในสำนักงาน ไม่มีสภาพแวดล้อมของการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น พนักงานบัญชี พนักงานธนาคาร ครู/อาจารย์ นักเรียน/นักศึกษา นักวิชาการ แพทย์ อัยการ ผู้พิพากษา เป็นต้น             กลุ่มที่ 2 : เป็นงานที่ต้องติดต่อนอกสำนักงานเป็นครั้งคราว ไม่มีสภาพแวดล้อมของการเกิดอุบัติเหตุง่าย และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้แทนขาย พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เจ้าของร้านขายของชำ เจ้าของร้านเสริมสวย วิศวกร นักข่าว ช่างภาพ เป็นต้น             กลุ่มที่ 3 : ผู้ปฏิบัติงานด้านช่าง คนงานฝีมือ ธุรกิจไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูง เช่น หัวหน้าคนงานก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างประปา เจ้าของโรงกลึง เจ้าของไร่ เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น             กลุ่มที่ 4 : เป็นกลุ่มที่ต้องปฏิบัติการภาคสนาม มีความเสี่ยงในการเกิดโรคภัย และอุบัติเหตุสูง เช่น ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  กลุ่มนี้บริษัทประกันชีวิตบางแห่ง อาจจะไม่รับประกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงภัยสูงมาก เป็นต้น กรมธรรม์ประกันชีวิตในแต่ละฉบับจะมีเบี้ยประกันแบ่งแยกกันเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.      เบี้ยประกันชีวิต หรือเรียกว่าสัญญาหลัก เป็นเบี้ยประกันที่คุ้มครองชีวิตการจากไปก่อนเวลาอันสมควร หรือเกิดอันตราย ที่ทำให้ทุพพลภาพ เบี้ยประกันส่วนนี้เราจะได้รับคืนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกัน 2.      เบี้ยประกันสุขภาพที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า สัญญาเพิ่มเติมหรืออนุสัญญา คือสัญญาที่ระบุอัตราค่าห้องพักและค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกค้าที่จะต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ท่านจะซื้อเบี้ยประกันส่วนนี้ได้ บริษัทประกันจะบังคับให้ซื้อเบี้ยประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลักก่อน บริษัทประกันจะไม่ขายเบี้ยประกันสุขภาพให้กับลูกค้าแบบเดี่ยว ๆ  เบี้ยประกันส่วนนี้จะเป็นเบี้ยที่ส่งรายปีและไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืนเมื่อสัญญาประกันชีวิตสิ้นสุด และบริษัทประกันจะปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุก ๆ 5 ปี 3.      เบี้ยประกันหรือสัญญาเพิ่มเติมอื่น  ๆ เช่น สัญญาเพิ่มเติมการเกิดอุบัติเหตุ สัญญาเพิ่มเติมการคุ้มครองโรคร้ายแรง สัญญาค่าชดเชยรายวันที่ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ค่าชดเชยการขาดรายได้) เบี้ยประกันส่วนนี้จะเป็นเบี้ยที่ส่งรายปีและไม่ได้รับคืนเมื่อสัญญาประกันชีวิตสิ้นสุดลง เช่นเดียวกับเบี้ยประกันสุขภาพ             เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทประกันชีวิต อัตราค่าห้องพักของโรงพยาบาล ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันชนิดต่างๆ ของบริษัทประกันแล้ว คราวนี้ถ้าท่านผู้อ่านเกิดสนใจอยากจะทำประกันชีวิตไว้เพื่อความมั่นคงในชีวิต จะต้องทำอย่างไรบ้าง?             เริ่มแรกท่านสามารถสอบถามข้อมูลที่สนใจได้จาก Call Center ของบริษัทเหล่านั้น เพื่อนัดหมายให้ตัวแทนติดต่อกลับและพูดคุยเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต  หรือบางบริษัทจะขายผ่านธนาคารที่เป็นนายหน้า             สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ตัวแทนของบริษัทประกันจะเป็นคนให้ข้อมูลรายละเอียด เกี่ยวกับประเภทและเงื่อนไขการประกันได้ดีที่สุด เพราะว่าผลิตภัณฑ์แต่ละบริษัทมีมากมายหลากหลายชนิด รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ผู้ทำประกันชีวิตจะต้องรู้หลายอย่าง อาทิเช่น แผนค่าใช้จ่ายการรักษา จำนวนปีที่คุ้มครอง การส่งเบี้ยประกัน การได้รับเงินปันผล หรือการได้รับเงินคืนระหว่างระยะเวลาที่กรมธรรม์มีผลบังคับ การเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลกรณีที่ต้องเข้าใช้บริการในโรงพยาบาล การได้รับเงินค่าเบี้ยประกันที่เราส่งเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาคืน รวมทั้งการใช้สิทธิในการนำเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนภาษีในแบบ ภงด. 90 หรือ ภงด. 91 ประจำปี เช่น เบี้ยประกันชีวิต (สัญญาหลัก) สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพ (สัญญาเพิ่มเติม) สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าการทำประกันชีวิต ท่านต้องอ่านและศึกษาข้อมูลในใบเสนอราคาโดยละเอียด สิ่งไหนที่ไม่เข้าใจ ให้รีบหาคำตอบจากตัวแทนของบริษัทประกัน เนื่องจากการประกันชีวิตอาศัยความซื่อสัตย์ของผู้เอาประกันที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ การไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา อาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันชีวิตบอกล้างสัญญาในภายหลังได้ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อสินค้าทั่วไป ๆ ที่สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ประวัติข้อมูลของลูกค้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม

ซูเปอร์มาร์เก็ต คือหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้บริโภคไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็นที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครอบครัว การเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานโดยตรงและสร้างงานโดยอ้อมจำนวนมาก การเป็นปลายทางของสินค้าของซัพพลายเออร์  เกษตรกร ชาวประมงและผู้ประกอบการรายย่อยอีกนับล้านทั่วประเทศ หากจะกล่าวว่าซูเปอร์มาร์เก็ต คือคนกลางที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคนับล้านเข้าด้วยกันคงจะไม่ผิดนักปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอาหารของซูเปอร์มาร์เก็ตงานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟม (2561) ชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ในหลายประเทศทั่วโลก เกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหาร กลายเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) เนื่องมาจากรายได้ที่จากการขายสินค้าการเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ การขาดอำนาจการต่อรอง และพื้นที่ในการสะท้อนปัญหาไปถึงผู้ซื้อ ในขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปนั้น มีรายได้ที่เติบโตน้อยกว่าค่าครองชีพ ทำให้แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา ในบางรายต้องทำงานเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และพบแรงงานในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเชิงสัญญาการจ้างงาน การต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการหางานและเข้าทำงาน จนก่อให้เกิดปัญหาความยากจนแม้ว่าจะมีงานทำ(In-work Poverty) ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต จึงชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ ที่สามารถใช้อำนาจต่อรองในฐานะผู้ซื้อผ่านนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น ว่ามีนโยบายครอบคลุมไปถึงประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร เป็นที่มาของงานรณรงค์ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก  โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ที่จะเริ่มต้นด้วยการใช้ กรอบการประเมินนโยบายด้านความเท่าเทียมและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทค้าปลีก  เพื่อมองภาพสถานการณ์ของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  โดยหวังให้เกิดความร่วมมือหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขายอาหารรายใหญ่ในระบบอาหารของไทย บริษัทค้าปลีกที่ได้รับการประเมินนโยบายในปี 2560-2561 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะนั้น พิจารณาจากมูลค่าการตลาด สัดส่วนของกลุ่มสินค้าอาหาร และความสำคัญต่อกลุ่มผู้บริโภคในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมาก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการติดต่อและได้รับการประเมินมีทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ฟู้ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ท, ซีพี เฟรชมาร์ท, และ Gourmet Market    ทั้งนี้นอกเหนือจากประเทศไทยซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ก็ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะด้านความเป็นธรรมและยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยมีองค์การอ็อกแฟมในระดับสากลเป็นองค์กรผู้ประเมิน โดยใช้กรอบการประเมินชุดเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศไทยกรอบและแนวทางการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทยกรอบการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทย เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารนั้นอ้างอิงมาจากกรอบ Food Retailers Accountability Tool ขององค์การอ็อกแฟมในระดับสากล โดยประกอบไปด้วยการประเมินใน 4 มิติ คือด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการรายย่อย และด้านสตรี ซึ่งทั้งสี่มิติถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาหารที่โปร่งใสและเป็นธรรมมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ พิจารณาจากการมีนโยบายและการกำกับดูแล ตลอดจนคณะกรรมการหรือผู้บริหารที่ดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท(Human Rights Due Diligence) การพัฒนาและปรับใช้กลไกร้องทุกข์และการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ(Grievance Mechanism and Remedy) ตลอดจนการมีมาตรฐานจริยธรรมทางการค้าและการตลาด(Ethical Marketing Standards)มิติด้านแรงงาน ครอบคลุมถึงการมีนโยบายสิทธิแรงงานสำหรับห่วงโซ่อุปทานของบริษัทงยึดตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ เช่น แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง สถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ การจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ การไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับใช้ในองค์กร ตลอดจนการสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานมีนโยบายและแนวปฏิบัติแบบเดียวกัน นอกจากนี้มิติด้านแรงงานยังให้ความสำคัญกับการที่บริษัทเข้าร่วมหรือจัดตั้งการริเริ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่น่าเชื่อถือ(Credible Multi-stakeholder Initiatives) เพื่อร่วมกันจัดการกับปัญหาสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพมิติด้านผู้ประกอบการรายย่อย การประเมินในมิติผู้ประกอบการรายย่อยนั้น องค์ประกอบสำคัญของการประเมินคือ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessments: HRIAs) ของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย การสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงของผู้ผลิต การมีแนวทางการจัดซื้อและข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรม การสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถรวมตัวเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองของผู้ผลิต ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มรายได้ของผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานมิติด้านสตรี เน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมของสิทธิระหว่างชายและหญิง ตลอดจนบทบาทและความสำคัญของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาจากการลงนามพันธสัญญาส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ(UN Women's Empowerment Principles), ความโปร่งใสในการติดตามและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสตรีในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท การประเมินผลกระทบของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อสตรี การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปรับปรุงบทบาทของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้นหลักการประเมินจะพิจารณาบนพื้นฐานของนโยบายของบริษัทที่เผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น ทางเว็บไซต์ขององค์กร รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืนและธรรมภิบาลขององค์กร ตลอดจนหลักจริยธรรมพนักงานและนโยบายการจัดซื้อที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นต้น โดยพิจารณาจากนโยบาย การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โครงการ รวมถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย และสตรีเหตุผลหลักในการพิจารณาจากข้อมูลสาธารณะ เนื่องจากสามารถแสดงให้ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนประชาชนทั่วไปในประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลและรับทราบความมุ่งมั่นตั้งใจของบริษัทค้าปลีกในการเป็นองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารระยะเวลาการดำเนินการและการมีส่วนร่วมการประเมินครั้งนี้ทางภาคีทั้งสามองค์กรได้ประสานกับทางบริษัทค้าปลีกอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมิน การนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ทางบริษัทได้แสดงความคิดเห็นตลอดจนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ภายใต้กรอบเวลาที่เพียงพอ (4 เดือน) ให้ทางบริษัทสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาในกระบวนการทำงาน ทางภาคีทั้งสามให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล และคำอธิบายเพิ่มเติมแก่ทางบริษัทค้าปลีกที่ถูกประเมิน ตลอดจนยินดีตอบคำถามและข้อสงสัยเพื่อให้ทางการจัดทำ Scorecard ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังได้เชิญทางซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด เข้าร่วมพบปะเพื่อร่วมรับฟังหลักการและเหตุผล กรอบและแนวทางการประเมินนโยบาย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาคเอกชนสามารถสอบถามข้อมูลและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินในครั้งนี้นอกจากนี้ในระหว่างช่วงที่ทำการประเมิน บริษัทยังสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายด้วย ผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  ข้อสรุปจากการประเมินนโยบายสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของไทยทั้ง 8 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-เมษายน 2561 มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้1. ซูเปอร์มาร์เก็ตของไทยในภาพรวมยังมีระดับของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับที่มาของอาหาร นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และการทำงานกับคู่ค้า ค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีเพียงบางบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีความจำเป็นต้องจัดทำรายงานประจำปี และรายงานด้านความยั่งยืนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายรายนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและโปรโมชั่นเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (หรือมีบริษัทแม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) มีผลการประเมินที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ 2. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทำได้มากกว่ามิติอื่นๆในภาพรวม คือมิติด้านเกษตรกรรายย่อย (Small-Scale Producers) ซึ่งพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 ราย ได้รับคะแนนในประเด็นการส่งเสริมให้เกษตรกรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนจัดการอบรมและเพิ่มพูนความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามประเด็นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยสามารถพัฒนาได้อีกคือการพัฒนานโยบายและข้อตกลงการจัดซื้อที่เป็นธรรม (Sourcing practices and fair deals) เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทได้รับข้อตกลงที่โปร่งใส มั่นคง และยาวนานเพียงพอ ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยมีอานาจในการต่อรอง และรวมตัวกันเพื่อเพิ่มรายได้และให้ได้ข้อตกลงในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมเกษตรรายย่อยในปัจจุบันมักเป็นการทำงานเชิงโครงการในแต่ละกลุ่มสินค้าหรือแต่ละพื้นที่มากกว่าเป็นนโยบายที่มีความผูกพันกับองค์กร3. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังสามารถทำให้ดีขึ้นคือมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability) และมิติด้านแรงงาน (Workers) ซึ่งมีซูเปอร์มาร์เก็ต 3 รายที่ได้รับคะแนนในหมวดดังกล่าว ทั้งนี้ช่องว่างที่สำคัญคือการขาดการศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสี่ยงด้านแรงงานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอดจนการตรวจสอบด้านมนุษยนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ต่อไป นอกจากนี้มีบริษัทค้าปลีกเพียงส่วนน้อยที่แสดงคำมั่นอย่างเปิดเผยในการยอมรับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งระบุถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการแสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล4. มิติด้านสตรีเป็นมิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยได้รับคะแนนน้อยที่สุด ทั้งนี้ผลการประเมินดังกล่าวมิได้แสดงว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสตรีหรือความเท่าเทียมทางเพศ แต่แสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านสตรียังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างชัดเจนและเปิดเผย ตลอดจนไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในนโยบายที่ทางบริษัทปรับใช้กับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ อย่างไรก็ดีสัญญาณที่ดีที่เห็นได้บางประการคือมีซูเปอร์มาร์เก็ตไทยบางรายมีโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรี หรือวิสาหกิจที่ส่งเสริมอาชีพสตรี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้และลดความเปราะบางให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายจาก 7 รายที่มีผลการประเมิน ทั้งนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีผลการประเมินในแต่ละหมวดแสดงถึงการที่บริษัทค้าปลีกรายนั้น ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความเท่าเทียมของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของตน ตลอดจนเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนานโยบายด้านความโปร่งใสที่แตกต่างอย่างมีนัยยะจากองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตามภาพรวมของการประเมินชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) มาครอบคลุมถึงประเด็นด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรายย่อย ด้านสตรี และต้านความโปร่งใสของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก  ทั้งนี้หากผู้อ่านสนใจหรือต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านรายงาน “ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย กับนโยบายสาธารณะด้านสังคม” ฉบับเต็มได้ที่ www.dearsupermarkets.com------------------------------------------------บทบาทและความสำคัญของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2559) โดยมีสัดส่วนสูงถึงราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีมูลค่าเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27.4% ภาพของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมมาก ในปี 2544 สัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกส่งสมัยใหม่อยู่ที่เพียง 25% ในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้เข้ามาทดแทนธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม คือมีสัดส่วนเกินกว่า 60% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดนอกเหนือจากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานราวร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ คิดเป็นอันดับสามรองจากภาคการเกษตรและภาคบริการ ข้อมูลในในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วประเทศมีการจ้างงานประมาณ 6.6 ล้านคนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสดและอาหารแห้ง ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตและการเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับอำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะของปี 2559 พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาด (Market Share) สูงที่สุดในไทยคือ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีรายได้ในปี 2559 อยู่ที่ 218,163 ล้านบาท รองลงมาคือแม็คโคร (172,790 ล้านบาท) และบิ๊กซี (120,918 ล้านบาท) ตามลำดับ โดยซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งสามแห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 500,000 ล้านบาทนอกเหนือไปจากสัดส่วนทางการตลาดที่สูง ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ยังมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค (Market Penetration) และมีฐานลูกค้าจำนวนมาก โดยซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 7 อันดับแรกของไทยมีสาขารวมกันทั่วประเทศมากกว่า 3,000 สาขา ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนกระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตหลายรายได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ตลอดจนเป็นการลดต้นทุนการเปิดสาขา ทั้งยังช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น กล่าวได้ว่าจากนี้ต่อไปหน้าร้านของซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่แค่เพียงสาขานับพันที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่อยู่บนอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศเช่นกันในบรรดาสินค้านับหมื่นชนิดที่วางขายอยู่บนชั้นวางสินค้า กลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ คือสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสดต่างๆ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องไปจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันมาซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2558) สินค้าประเภทอาหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉลี่ย และเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคจึงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสำคัญกับซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ขวดบรรจุน้ำสุญญากาศ

จะเลือกขวดน้ำหรือกระบอกน้ำแบบสุญญากาศอย่างไรดี? น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนอาจจะเคยนึกสงสัย ด้วยว่าขวดหรือกระบอกน้ำประเภทนี้ มันมีหลากหลายราคาๆ แต่ที่แน่ๆ เริ่มต้นด้วยราคาที่แพงเอาเรื่อง และบางยี่ห้อแพงมากจนทำให้เกิดความกลัวว่าซื้อมาแล้วจะใช้คุ้มหรือไม่ เพราะฉะนั้นคราวนี้ นิตยสารฉลาดซื้อและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค จะช่วยคลายข้อสงสัยด้วยผลทดสอบวัดประสิทธิภาพของขวดน้ำชนิดนี้กันแบบตัวต่อตัว เราสุ่มเก็บตัวอย่างขวดน้ำสุญญากาศ ในขนาด 0.35-0.50 ลิตร (350-500 มิลลิลิตร) จำนวน 12 ยี่ห้อ เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เพื่อทดสอบใน 5 ประเด็นต่อไปนี้ โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค1.สัดส่วนการบรรจุต่อน้ำหนักของขวดน้ำสุญญากาศ2.ทดสอบความสามารถในการเก็บรักษาอุณหภูมิ(ร้อน-เย็น)3.การทดสอบ ตกจากที่สูง 1.5 เมตร4.การประเมินความสะดวกในการใช้งาน (ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน)5.สัดส่วนการบรรจุต่อน้ำหนักภาชนะสรุปผลการทดสอบตารางสรุปผลการทดสอบ ข้อสังเกต และคำแนะนำการเลือกซื้อขวดน้ำสุญญากาศ ควรคำนึงถึงลักษณะการใช้งานว่าจะใช้งานที่ไหน ในกรณีที่ใช้งาน Outdoor ควรคำนึงถึงภาชนะที่มีฝาปิดที่พร้อมใช้งานเป็นแก้วใช้รินสำหรับดื่มได้ กรณีที่ใช้งานสำหรับพกพา ขณะออกกำลังกาย ควรคำนึงถึงความสะดวกในการพร้อมดื่ม ควรพิจารณาขวดน้ำที่มีหลอดดูดอัตโนมัติกิตติกรรมประกาศเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องขอขอบพระคุณ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและเมคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ ใช้เครื่องมือวัดและพื้นที่การทดสอบ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ดูหนังออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ เจ้าไหนน่าใช้บริการที่สุด

พฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของคนยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก การรับชมภาพยนตร์เฉพาะแค่ในโรงภาพยนตร์หรือหน้าจอโทรทัศน์อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป คนที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์หลายคนเริ่มหันมารับชมผ่านทางสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ในอุปกรณ์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแม้ว่า ณ เวลานี้ในสื่อออนไลน์จะเต็มไปด้วยการเผยแพร่ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สำหรับคนที่อยากสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์ก็ยังมีบริการให้รับชมภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกกฎหมายไว้คอยบริการอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตภาพยนตร์และซีรี่ส์เพื่อฉายทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับรับชมทางออนไลน์โดยเฉพาะฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจคนชอบดูหนังที่อยากรับชมหนังและซีรี่ส์เรื่องดังผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ แท็บแล็ต ด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง (Streaming Video) ฉายภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ตารางเปรียบเทียบบริการของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันดูภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ฉลาดซื้อแนะนำ-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-ส่วนจะเลือกใช้บริการเจ้าไหนก็ขึ้นอยู่กับ เนื้อหาของภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่ต้องการรับชม ดังนั้นควรเข้าไปสำรวจดูเนื้อหาที่มีให้ชมของแต่ละเจ้า ก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการ-การจ่ายค่าบริการแบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ผู้ให้บริการจะทำการตัดเงินต่ออายุสมาชิกแบบอัตโนมัติ ดังนั้นหากต้องการยุติการใช้บริการต้องทำให้การติดต่อกับทางผู้บริการ เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก-นอกจากการดูภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์สตรีมมิ่งและแอปพลิเคชันที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เรายังสามารถรับชมภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธ์ผ่านทางมือถือผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Google Play Store ในมือถือระบบแอนดรอยด์ และ Itunes ในมือถือระบบ IOS ซึ่งมีภาพยนตร์จำนวนมากจำหน่ายให้กับใครที่อยากรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์บนมือถือและแท็บเล็ต โดยมีให้เลือกทั้งแบบเช่า คือเปิดดูได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กับแบบขายขาด สามารถโหลดเก็บไว้ดูภายหลังได้ โดยราคาแบบเช่าจะเริ่มที่ 60 บาท ส่วนราคาแบบขายขาดเริ่มที่ 280 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 199 ให้แอปนำทาง

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบความสามารถของ แอปพลิเคชั่นนำทาง ที่โหลดมาใช้ได้ในสมาร์ทโฟนทั้งระบบ Android และ iOS การทดสอบนี้ สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันทำไว้ ระหว่างครึ่งหลังของปี 2550 และครึ่งแรกของปี 2560 คะแนนที่ให้แบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้ประสิทธิภาพในการนำทาง ร้อยละ 45ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 35การแสดงข้อมูลการจราจร ร้อยละ 10ความหลากหลายของฟังก์ชั่น ร้อยละ 5ความสามารถเฉพาะของระบบ ร้อยละ 5ในภาพรวมยังไม่มีแอปที่ได้คะแนนประสิทธิภาพการทำงานหรือความสะดวกในการใช้งานในระดับ 5 ดาว แต่ก็ถือว่าเรามาถูกทางกันแล้วเพราะส่วนใหญ่ได้คะแนนไปถึง 4 ดาว 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 การทดสอบแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์

แสงแดดมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่อินฟราเรด (Infrared IR) ไม่มีสีแต่อยู่ในรูปของรังสีความร้อน ต่อไปคือแสงช่วงที่สายตามองเห็น (Visible light VL) และช่วงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet UV)อยู่ในรูปของพลังงาน ที่มีความสามารถทำลายเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ การเกิดความร้อนในรถยนต์เกิดจากการที่กระจกรถยนต์ไม่สามารถกันคลื่นอินฟราเรด ที่เป็นคลื่นความร้อนได้ เมื่อผ่านเข้ามายังตัวรถแล้ว คลื่นอินฟาเรดจะไม่สามารถสะท้อนออกไปได้ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกภายในรถ ความร้อนสะสมจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ  สำหรับข้อกำหนดความสามารถของแผ่นฟิล์มติดรถยนต์ แบ่งเป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้- VLT (Visible Light Transmission) ความสามารถในการส่องผ่านของแสงในช่วงสายตามองเห็น ค่ายิ่งมากแสงผ่านได้เยอะ ทำให้การมองผ่านชัดเจน - VLR (Visible Light Reflectance) ความสามารถในการสะท้อนแสงในช่วงสายตามองเห็น เป็นค่าแสดงการสะท้อนออกของแสงจากกระจกที่ติดฟิล์ม ค่ามากกระจกที่ติดฟิล์มจะมีลักษณะคล้ายกับกระจกเงา- Glare Reduction การลดความจ้า เป็นการวัดเปอร์เซ็นเปรียบเทียบค่าการส่องผ่านได้ของแสงช่วงที่มองเห็น ระหว่างกระจกที่ติดฟิล์มกรองแสงกับไม่ติดฟิล์มกรองแสง- IRR (Infrared Rejection) เป็นค่าที่แสดงความสามารถในการลดความร้อนเนื่องจากคลื่นความร้อน(Infrared) จากแสงแดด- UVR (Ultraviolet Rejection) ค่าที่แสดงความสามารถในการลดแสงอัลตราไวโอเลตเราทดสอบอะไรบ้าง1. ทดสอบการป้องกันรังสียูวี ช่วง  UVA และ UVB ความยาวคลื่น 280-400 นาโนเมตร2. ทดสอบการส่องผ่านของแสงช่วงที่สายตามองเห็น ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร3. ทดสอบการลดรังสีอินฟราเรด หรือรังสีความร้อน ความยาวคลื่น 800-1000 นาโนเมตร4. ทดสอบการป้องกันความร้อนสะสมการทดสอบออกแบบให้สามารถวัดความสามารถของฟิล์มติดรถยนต์ในเรื่องการช่วยลดแสงยูวี การช่วยลดแสงสว่างในช่วงที่สายตามองเห็น ความสามารถในการกันรังสีความร้อน (Infrared) และการป้องกันความร้อนสะสมสำหรับการออกแบบการวัด ได้จำลองตู้ทดสอบซึ่งเป็นตัวแทนของรถยนต์ที่มีกระจกที่ติดฟิล์มตัวอย่าง ปิดอยู่ด้านบน รับแสงจากหลอดฮาโลเจน มีเครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัมอยู่ภายใน และหัววัดอุณหภูมิภายนอกและภายใน ซึ่งผลการวัดจะแสดงถึงความสามารถในการกันแสงและความร้อนของฟิล์มตัวอย่าง อุปกรณ์1. ตู้ทดสอบขนาดปริมาตร 0.5 ลูกบาศก์ฟุต 2. แผ่นกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง3. เครื่องวัดอุณหภูมิ4. เครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัม ช่วง ยูวี ถึง อินฟราเรด (200-1000nm)5. หลอดไฟฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์วิธีการทดสอบเลือกฟิล์มที่นิยมใช้กันทั่วไปในตลาดโดยเลือกอยู่ในระดับการกรองแสงเท่าๆ กันประมาณ 60 % (ตามค่าที่แจ้งบนฉลาก) แต่ค่าจำเพาะบางค่าอาจไม่เหมือนกัน แสดงดังตารางดังนี้ทดลองโดยการวัดค่าอุณหภูมิทุกๆ 30 วินาที เป็นเวลา 15 นาที โดยเรียงลำดับดังนี้1. ตู้เปล่า2. แผ่นกระจกไม่ติดฟิล์ม3. แผ่นกระจกติดฟิล์มยี่ห้อต่างๆ4. นำค่าที่ได้มาวิเคราะห์ผลวัดค่าสเปคตรัมของแสงเพื่อตรวจสอบแสง ที่ผ่านกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง ผลของแสงที่ได้จากหลอดฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์ มีลักษณะครอบคลุมช่วงที่ต้องการทดสอบ ที่ความยาวคลื่น 200 – 1000 นาโนเมตร เป็นดังนี้ภาพที่ 5 ผลของแสงและรังสีความร้อนภายในตู้ทดสอบ ที่ถูกวัด ขณะไม่มีกระจกกั้น เท่ากับ 100%สรุปผลการทดสอบการทดสอบฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์นี้ ผลที่ได้พบว่าทุกๆ ยี่ห้อสามารถป้องกันแสง UV ได้ใกล้เคียงกัน การป้องกันความร้อน ถ้าค่าความแตกต่างของอุณหภูมิด้านนอกกับด้านในมีน้อย แสดงว่าสามารถกันความร้อนได้ดี และพบว่า Hi-Kool มีความสามารถกันความร้อนความร้อนได้ดีกว่าทุกยี่ห้อ แต่ความสามารถของการส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็น ผ่านเข้ามาได้ค่อนข้างน้อย หากค่าแสงช่วงสายตามองเห็นได้ผ่านเข้ามาได้น้อยเกินไปก็ทำให้การมองเห็นได้ไม่ดีอาจจะลดทัศนวิสัยในการขับรถได้สำหรับในการพิจารณาเรื่อง การส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็นค่าความสว่างของแสง(Lux) มากจะทำให้การมองเห็นชัดเจนกว่าค่าความสว่างของแสงน้อย ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนเวลาขับรถเวลากลางคืน  ทำให้ ฟิล์ม 3M อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ จากข้อมูลในตารางที่ 2 ฟิล์มยี่ห้อ Xtra-Cole อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับ ความสามารถในการป้องกันความร้อน และทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่                 การป้องกันความร้อนได้ดีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเลือกฟิล์มกรองแสงไว้ใช้งาน แต่ยังมีตัวแปรอื่นๆ ให้พิจารณาเช่น ความคงทนต่อรอยขีดข่วน การซีดจาง เปลี่ยนสี การหลุดร่อนตามอายุการใช้งาน การรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ การรบกวนระบบนำทาง GPS เป็นต้นขอขอบคุณห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)

อ่านเพิ่มเติม >