เมื่อเร็วๆ นี้ ฉลาดซื้อได้นำเสนอผลสำรวจความพึงพอใจในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสอบถามประชาชนคนที่ใช้จริง ทำให้เห็นหลายเรื่องหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาในการใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการรอรถ ที่มีถึง 41% ของตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม ที่ต้องทนรอรถนานถึง 16 – 30 นาที หรือเรื่องความสะดวกในการเดินทาง ที่พบว่ามีถึง 31% ที่ต้องต่อรถโดยสารมากกว่า 1 ต่อ จึงจะไปถึงจุดหมาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีถึง 45% ที่เคยเจอปัญหารถโดยสารประจำทางรับ – ส่งผู้โดยสารนอกป้ายโดยผลสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นโดย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งไม่ได้มีแค่รถโดยสารประจำทางในกทม.และปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังมีผลสำรวจในส่วนของรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รถบัส หรือ รถทัวร์ ลองมาดูกันสิว่าประชาชนที่ต้องเดินทางจากกทม.ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วยรถโดยสารสาธารณะ เขามีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยข้อมูลเฉพาะของการสำรวจวิธีสำรวจ : สัมภาษณ์ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด สถานที่สำรวจ : 1.สถานีขนส่งหมอชิต 2.สถานีขนส่งสายใต้ใหม่จำนวนกลุ่มตัวอย่าง : 413 ตัวอย่างช่วงเวลาที่ทำสำรวจ : 4 – 13 กุมภาพันธ์ 2558ข้อสรุปจากผลสำรวจ-เหตุผลในการเลือกเดินทางโดยรถประจำทางระหว่างจังหวัด พบว่า 70% เลือกเพราะความสะดวก และมีถึง 32% เลือกเพราะค่าใช้จ่ายถูก-จากผลสำรวจพบว่า มีผู้ใช้รถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เป็นรถ 2 ชั้น ถึง 60% จากรถทั้งหมด-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัด ส่วนใหญ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงจุดจอดรถรับ-ส่ง สูงกว่าความจำเป็น คือการเดินทางเพื่อเข้าสู่งสถานีขนส่งทั้ง หมอชิต และ สายใต้ใหม่ ยังมีบริการรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้โดยสารต้องเลือกใช้บริการที่สะดวกกว่า อย่าง แท็กซี่ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่า -ยิ่งเมื่อดูในจุดจอดหรือสถานีรับ - ส่งรถประจำทางระหว่างจังหวัดในพื้นที่ต่างจังหวัด ยิ่งถือว่าค่อนข้างเป็นปัญหา เพราะยังขาดระบบการเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องใช้ รถยนต์ส่วนตัว เป็นหลัก-การเดินทางระหว่างจังหวัด มีจุดจอดรับ-ส่งหรือสถานีขนส่ง ที่มีความปลอดภัย สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการได้พอสมควร แต่จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เดินทางที่สถานีขนส่งหมอชิต รอรถน้อยกว่าการไปขึ้นรถที่สถานีขนส่งใต้ใหม่-รถประจำทางระหว่างจังหวัด ไม่มีการบรรทุกผู้โดยสารเกิน -ผู้โดยสารตระหนักถึงความปลอดภัยเมื่อเริ่มเดินทางระหว่างจังหวัด จากอัตราการคาดเข็มขัดที่สูงกว่าการเดินทางภายในจังหวัด-มีผู้โดยสารรถประจำทางระหว่างจังหวัดถึง 34% ที่ตอบว่าไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย โดยเหตุผลหลักคือ รู้สึกอึดอัด 76% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง -การแจ้งให้คาดเข็มขัดนิรภัยจากพนักงานขับรถหรือพนักงานบนรถ มีผลต่ออัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสาร
อ่านเพิ่มเติม >ปี 2553 และ ปี 2556 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ* ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคาร และส่งตัวอย่างสีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว พบว่า ผู้ผลิตสีน้ำมัน ยังมีการใช้ตะกั่วในการผลิตสี โดยเฉพาะสีโทนสดใส ค่อนข้างสูง จากจำนวนตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ในปี 2556 พบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน (100 ppm เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm โดยทางนิตยสารฉลาดซื้อได้นำรายชื่อตัวอย่างสี ทั้ง 120 ตัวอย่างไว้ในฉบับที่ 151 กันยายน 2556 และในปี 2558 นี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารเป็นครั้งที่สาม เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมพบว่า เป็นข่าวดี มีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อ แต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ ส่วนเรื่องฉลากยังพบว่า บางผลิตภัณฑ์มีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยระบุฉลากว่า ปราศจากตะกั่ว แต่ผลทดสอบกลับพบมีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน การทดสอบในปี 2558 นี้ ทางผู้วิจัยได้เลือกสียี่ห้อเดียวกันกับตัวอย่างของ ปี 2553 และ 2556 โดย• เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบสารตะกั่วสูงกว่า 100 ppm • เลือกเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นหลังกลุ่มตัวอย่างของปี 2553 และ 2556• สียี่ห้ออื่นที่ผลิตโดยผู้ผลิตสีในกลุ่มตัวอย่างของ ปี 2553 และ 2556 รวมทั้งสิ้น 100 ตัวอย่าง(56 ยี่ห้อ จากผู้ผลิต 35 บริษัท) ซึ่งทางฉลาดซื้อจะขอนำเสนอเป็นสองส่วน โดยฉบับนี้จะลงรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบปริมาณสารตะกั่วเกินค่า 100 ppm จำนวน 61 ตัวอย่าง และอีก 39 ตัวอย่างซึ่งพบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 ppm จะนำเสนอในฉบับถัดไป ทดสอบโดยห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ รับรองมาตรฐานโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์สารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (Environmental Lead Proficiency Analytical Testing – ELPAT) 2 แห่ง • ห้องปฏิบัติการ Certottica Scarl ประเทศอิตาลี • ห้องปฏิบัติการ AIJU Research Center ประเทศสเปน วิธีวิเคราะห์ CPSC – CH – E1003.09.1 • ขูดสีจากชิ้นไม้ และใช้กรดย่อยสารตะกั่วในสี• วิเคราะห์สารตะกั่วในสารละลายด้วยเครื่อง ICP - AES *มูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ทำงานเพื่อความเป็นธรรมและความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาและติดตามนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม สถานการณ์มลพิษอุตสาหกรรม และรูปแบบการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน เน้นส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ธรรมาภิบาล และความพร้อมรับผิดของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ผลกระทบของสารเคมีอันตรายที่เกิดต่อระบบนิเวศน์ ชุมชน และสุขภาพของคนงานงานศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย (Asian Lead Paint Elimination Project) เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) และองค์กรภาคประชาสังคมใน 7 ประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และไทย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Switch Asia)องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติได้กำหนดให้การเพิกถอนสารตะกั่วจากสีเป็นวาระเร่งด่วน โดยจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint - GAELP) และกำหนดเป้าหมายให้รัฐสมาชิกทุกประเทศออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในการผลิตสีภายในปี 2563 ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเนปาล โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เตือนผู้ประกอบการไทยให้ปฏิบัติตาม กฎหมายต่างประเทศอย่างเคร่งครัดและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าของตนอย่างต่อ เนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการส่งออก เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกสีทาและวานิชไปฟิลิปปินส์เฉลี่ยปีละ 616 ล้านบาท
สำหรับสมาชิก >ผลทดสอบที่นอนสปริง การนอนหลับที่มีคุณภาพนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความมืด ความเงียบ อุณหภูมิที่เหมาะสม และสำหรับบางคนก็รวมถึงคุณภาพของที่นอนด้วย ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบที่นอนที่ประเทศสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้อย่างต่อเนื่องในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ด้วยความจำกัดด้านเนื้อที่เราจึงของนำเสนอเฉพาะที่นอนประเภทสปริงก่อน ส่วนผลทดสอบที่นอนยางพารานั้นเราจะนำเสนอโอกาสต่อไป ที่นอนสปริงมีข้อดีเรื่องการกระจายน้ำหนัก และโครงสร้างที่เป็นสปริงยังทำให้อากาศหมุนเวียนได้ จึงทำให้เราไม่รู้สึกร้อนเกินไป นอกจากนี้ยังมีให้เลือกหลายระดับตั้งแต่แบบนุ่ม ปานกลาง ไปจนถึงแข็ง แต่อาจมีข้อเสียตรงที่มันยากต่อการพลิกกลับด้าน เพราะน้ำหนักของมันค่อนข้างมาก การทดสอบครั้งนี้เป็นการให้คะแนนกับสมรรถนะ (การรองรับสรีระ การระบายความชื้น และการความคงตัว เป็นต้น) และความแข็งแรงทนทานของที่นอน ที่วัดได้จากความเปลี่ยนแปลงหลังการวางน้ำหนัก 140 กิโลกรัมลงบนที่นอน 30,000 ครั้ง (รวมถึงการวางบุหรี่ที่ติดไฟไว้บนที่นอนด้วย) ในกรณีของที่นอนเหล่านี้ ซึ่งคละขนาด (ทั้งเตียงเดี่ยว และเตียงคู่) เรายังไม่พบว่ามีรุ่นไหนได้คะแนนถึง 5 ดาว ส่วนใหญ่ก็ได้ไป 4 ดาว มีเพียง 5 รุ่นเท่านั้นที่ได้ไปเพียง 3 ดาว (Cumbrian Meadow ของ Sealy / Sensaform Airflow Memory 2000 ของ Sleepmasters / Holmsta ของ Ikea / Natural Pillowtop 1500 ของ Marks Spencer / Bronze Seal 2012 ของ Slumberland) ติดตามคะแนนในแต่ละด้านของที่นอนเหล่านี้ได้ในหน้าถัดไป ---------------------------------------------------------------------------------------- - อย่าตื่นเต้นกับจำนวนของสปริงที่ผู้ขายบอกคุณ ทีมงานทดสอบพบว่าจำนวนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของสปริงเหล่านั้น - บางคนเชื่อว่าการซื้อแผ่นรองราคาแพง (ซึ่งอาจราคาพอๆกับที่นอนใหม่!) มาปูทับบนที่นอนเก่าที่เริ่มเสื่อมสภาพจะช่วยแก้ไขการ “จม” ของที่นอนได้ แต่ความจริงคือแผ่นรองไหนๆ ก็เหมือนกัน จะถูกหรือแพงก็ไม่สามารถช่วยทำให้ที่นอนคืนสภาพได้ ---------------------------------------------------------------------------------------- โดยทั่วไปที่นอนมีอายุการใช้งานได้ถึง 10 ปี (ไม่ว่าจะเป็นที่นอนสปริงหรือที่นอนยางพารา) ถ้าคุณดูแลรักษามันให้ดี ถ้าเป็นไปได้ให้คุณถอดผ้าปูที่นอนออกให้ที่นอนได้ระบายความชื้นจากเหงื่อของเราประมาณ 20 นาที ในช่วง 3 เดือนหลังจากซื้อมาใหม่ ให้หมั่นกลับที่นอนทุกๆสัปดาห์ (หน้า/หลัง หัว/ท้าย) หลังจากนั้นทำทุกๆ 3 หรือ 4 เดือน อย่าลืมแกะพลาสติกที่หุ้มมาให้หมด (ไม่ต้องเก็บไว้กันฝุ่น) เพราะถ้าทิ้งไว้อาจทำให้ที่นอนชื้นและสกปรกได้ ----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านเพิ่มเติม >แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถโดยสารสาธารณะเป็นตัวเลือกให้ใช้บริการหลากหลายประเภท ทั้ง รถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ เรือด่วน แต่ปริมาณกลับไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ เพราะเมื่อเรามองดูสภาพการจราจรบนท้องถนน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ทั้งความแออัด ความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย มลภาวะเป็นพิษ ปัญหาเหล่านี้ล้วนยังอยู่คู่ถนนเมืองไทย เป็นปัญหาใหญ่ที่มองยังไงก็ยังไม่เห็นทางออก ระบบขนส่งมวลชนหลักในกรุงเทพฯ คงต้องยกให้กับ รถเมล์ เพราะไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา แม่ค้า หรือว่าพนักงานบริษัท ต่างก็เป็นลูกค้าของ ขสมก. ทั้งสิ้น แน่นอนว่าปัญหาจากบริการรถโดยสารสาธารณะส่วนหนึ่งย่อมมาจากรถเมล์ แต่ปัญหาเหล่านั้นมีอะไรบ้าง การสอบถามจากปากคนที่ใช้บริการรถเมล์เป็นประจำน่าจะช่วยให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่ยังเป็นปัญหาและสิ่งที่ผู้บริโภคที่ใช้บริการต้องการให้เกิดการปรับปรุง สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้ ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการ และความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารประจำทาง” โดยประเด็นที่ทำการสำรวจมีอย่างเช่น พฤติกรรมก่อนและหลังใช้บริการ, ทัศนคติต่อความปลอดภัยของจุดจอดรับ-ส่ง, เหตุผลในการเลือกใช้บริการ, ระยะเวลาในการรอรถโดยสาร, สภาพรถภายในและภายนอก ฯลฯ โดยการสำรวจความคิดเห็นได้แบ่งประเภทการสำรวจรถโดยสารเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ รถโดยสารประจำทางในกทม.และปริมณฑล กับรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ซึ่งฉลาดซื้อขอเลือกนำเสนอในประเด็นรถโดยสารประจำทางใน กทม.และปริมณฑลก่อน เพื่อประกอบกับบทความเรื่องเด่นซึ่งเกี่ยวกับรถโดยสารประจำทางพอดี ข้อมูลเฉพาะของการสำรวจ *ปริมาณตัวอย่างในการเก็บข้อมูล 307 ตัวอย่าง *สถานที่ในการสำรวจ : บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสวนจตุจักรและเซ็นทรัลลาดพร้าว บริเวณเดอะมอลล์งามวงศ์วานและพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน บริเวณเซ็นทรัลบางนาและสี่แยกบางนา บริเวณเซ็นทรัลปิ่นเกล้าและเมเจอร์ปิ่นเกล้า ข้อสรุปจากผลสำรวจ -รถเมล์หรือรถโดยสารประจำทาง ยังคงเป็นตัวเลือกแรกในการเดินทางของคนกทม.และปริมณฑล ด้วยเหตุผลของราคาที่ถูกกว่าวิธีการเดินทางประเภทอื่นๆ มากถึง 59% โดยมีผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเพียงแค่ 3% เท่านั้น -ในการเดินทางโดยรถประจำทางในกทม. ผู้ใช้ยังต้องต่อรถโดยสารมากกว่า 1 ต่อเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางถึง 31% -ระยะเวลาในการรอรถ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คือ 41% บอกว่าต้องใช้เวลารอ 16-30 นาที ขณะที่มี 3% ที่ต้องรอรถนานมากกว่า 1 ชั่วโมง -เรื่องความถี่ของการมาของรถโดยสารประจำทางในกทม. พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามคือ 56% รู้สึกพอใจในระดับปานกลาง -สภาพรถทั้งภายนอกและภายใน ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกพอใจในระดับปานกลาง คือ 52% สำหรับสภาพรถภายนอก และ 57% สำหรับสภาพรถภายใน -มารยาทการให้บริการของพนักงานขับรถ ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกพอใจปานกลาง คือ 57% -การรับส่งผู้โดยสารนอกป้าย แม้ว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะบอกว่าไม่เคยพบปัญหาดังกล่าว แต่อีก 45% ที่เหลือเคยเจอปัญหารถโดยสารประจำทางการรับส่งผู้โดยสารนอกป้าย ซึ่งต้องถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง -ความรู้สึกปลอดภัยโดยรวม 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกพอใจมาก ส่วนอีก 37% รู้สึกพอใจปานกลาง ขณะที่มี 6% รู้สึกไม่พอใจมากที่สุด
สำหรับสมาชิก >“อย่างที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกบอกอย่างชัดเจนว่า “แร่ใยหิน” หรือ “แอสเบสตอส” (Asbestos) ซึ่งมักใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ ท่อน้ำซีเมนต์ ผ้าเบรค และคลัทช์ นั้นเป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากก่อให้เกิดโรคร้ายต่อมนุษย์หากหายใจเข้าไป เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด จนหลายๆ ประเทศได้สั่งห้ามผลิตและใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินแล้ว และแม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2554 ที่เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการอันตรายของแร่ใยหิน ตามยุทธศาสตร์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออก กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรงยังไม่มีการปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว ทำให้ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลา อีกทั้งผู้ประกอบการที่ยังมีความต้องการใช้แร่ใยหินชนิดนี้อยู่ ได้พยายามให้ข้อมูลในเรื่องของ ราคาสินค้าที่อาจทำให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหากเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแร่ใยหิน ส่วนในประเทศไทยของเรา มากกว่าร้อยละ 90 ของแร่ใยหินที่นำเข้า จะใช้เพื่อการผลิตสินค้าประเภทซีเมนต์ใยหินเช่น กระเบื้องทนไฟ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ และประมาณร้อยละ 7 ใช้เพื่อการผลิตสินค้าประเภทเบรค คลัทช์ ที่เหลืออีกร้อยละ 3 ใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่นฉนวนกันความร้อน กระเบื้องยางปูพื้น ภาชนะพลาสติก เสื้อผ้าทนไฟ กระดาษลูกฟูก สายฉนวนเตารีด เป็นต้น แต่ก็ยังมีอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ในบ้านเรา ที่ยังคงผลิตสินค้าประเภทกระเบื้องมุงหลังคาแบบมีแร่ใยหินอยู่เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน ราคาถูกกว่ากระเบื้องแบบไร้แร่ใยหิน ทั้ง ๆ ที่ราคากระเบื้องทั้งสองแบบอาจจะมีราคาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทางแผนงานฯ จึงร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และเครือข่ายผู้บริโภค จัดให้มีการสำรวจราคากระเบื้องมุงหลังคาที่มีและไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลในการผลักดัน กระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าที่ไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นทางเลือกในผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องของสุขภาพ ของตัวเองเเละคนงานก็ย่อมเลือกเเบบไม่มีเเร่ใยหิน รณรงค์ให้ผู้ประกอบการผลิตกระเบื้องที่ไม่มีส่วนผสมแร่ใยหิน และสุดท้ายก็เพื่อให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ---------------------------------------------------- 1.ระยะเวลาการสำรวจ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 - 28 ก.พ. 2558 2.การเลือกพื้นที่สำรวจ เลือกจากเขตสาธารณสุขจำนวน 12 เขต เขตละ 2 จังหวัด โดยวิธีการจับสลาก รวม 24 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ชัยนาท ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี มุกดาหาร* นครศรีธรรมราช สุราษฎรธานี สงขลา ตรัง บวกกรุงเทพฯ เขตชั้นใน และชั้นนอก 3.การสำรวจราคากระเบื้องมุงหลังคา 3.1สำรวจราคาจากร้านค้าไทวัสดุก่อสร้าง และ ร้านค้าในเขตอำเภอเมือง ของจังหวัดเป้าหมาย 3.2สำรวจราคากระเบื้องลอนคู่ขนาด 4 มม. สีซีเมนต์และสีมาตรฐาน และกระเบื้องลอนคู่ขนาด 5 มม. สีซีเมนต์และสีมาตรฐาน 4.สัมภาษณ์ช่างมุงกระเบื้องหลังคา เรื่องความรู้เกี่ยวกับแร่ใยหิน ในทุกจังหวัดเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 48 ราย เรื่องเล่าจากช่างมุงหลังคา ความเห็นจากช่าง/ผู้รับเหมา การสำรวจความเห็นจากช่าง/ผู้รับเหมารวม 48 คน ในพื้นที่จังหวัดที่เข้าร่วมการสำรวจ พบว่า กระเบื้องที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในกลุ่มนี้ 5 อันดับแรกคือ กระเบื้องตราช้าง กระเบื้องตราเพชร กระเบื้องตราห้าห่วง กระเบื้องตราลูกโลก และกระเบื้องทีพีไอ ตามลำดับ กระเบื้องที่ช่างเหล่านี้เลือกใช้บ่อยที่สุด 3 แบรนด์ได้แก่ ตราช้าง ตราเพชร และตราห้าห่วง ตามลำดับ เหตุผลอันดับต้นๆที่ช่างเลือกใช้กระเบื้องตราช้างคือความแข็งแรงทนทานและความเป็นที่นิยม สำหรับกระเบื้องตราเพชรอันดับหนึ่งคือราคา ตามด้วยความแข็งแรงทนทาน และเหตุผลที่เลือกกระเบื้องตราห้าห่วงอันดับแรกคือความแข็งแรงทนทาน ตามด้วยราคา ในกรณีที่ลูกค้าขอคำแนะนำ ...(จะใช้ยี่ห้ออะไรดีนะช่าง) ยี่ห้อที่ถูกแนะนำโดยช่างกลุ่มนี้มากที่สุด 4 อันดับแรกได้แก่ ตราช้าง (ร้อยละ 66.7) ตามด้วยตราเพชร (ร้อยละ 14.6) ตราลูกโลก (ร้อยละ 10.4) และตราห้าห่วง (ร้อยละ 8.3) ด้วยเหตุผลเรื่องความแข็งแรงทนทานและราคาเป็นหลัก ในกรณีที่ลูกค้าเจาะจงเลือก … จากประสบการณ์ของช่าง แบรนด์ที่ลูกค้าเจาะจงเลือกใช้มากที่สุดได้แก่ ตราช้าง (ร้อยละ 88.9) ตราเพชร (ร้อยละ 24.4) ตามด้วยตราลูกโลกและตราห้าห่วง (ร้อยละ 17.8 เท่ากัน) ความเข้าใจเรื่องแร่ใยหิน ช่าง/ผู้รับเหมาประมาณร้อยละ 70 ทราบว่ากระเบื้องมุงหลังคาทำจากวัสดุอะไรบ้าง ร้อยละ 50 ตอบว่ารู้จักแร่ใยหิน และกระเบื้องที่ช่าง/ผู้รับเหมาเชื่อว่ามีแร่ใยหินได้แก่ (เรียงตามลำดับความถี่ของการเลือกตอบ) ตราเพชร ตราลูกโลก ตราห้าห่วง ตราช้าง และตราทีพีไอ มากกว่าร้อยละ 60 เชื่อว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของช่างที่ทำงานกับกระเบื้อง *หมายเหตุ ช่าง/ผู้รับเหมาที่ให้ข้อมูลในการสำรวจครั้งนี้ มีอายุระหว่าง 27 ถึง 67 ปี และทำงานในวงการก่อสร้างเป็นเวลา 3 ถึง 48 ปี ความเห็นของช่าง/ผู้รับเหมาต่อเรื่องอันตรายของแร่ใยหิน กลุ่มที่เห็นว่าแร่ใยหินมีอันตรายต่อคนทำงานและผู้อยู่อาศัย “เชื่อว่าแร่ใยหินมีอันตรายจึงเลือกซื้อ/ใช้กระเบื้องประเภทที่ไม่มีแร่ใยหิน” “แนะนำผู้ว่าจ้างให้ใช้กระเบื้องหลังคาแบบที่ไม่มีใยหิน” “เวลาตัดจะสวมหน้ากากกันฝุ่น แต่ถ้ามีรุ่นใหม่ที่ไม่มีแร่ใยหินมีออกมาขายมากขึ้น คิดว่าคงเลือกใช้ แบบไม่มีแร่ใยหิน” “ลูกน้องบางคนเป็นโรคทางเดินหายใจ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะแร่ใยหินหรือไม่” “เวลาเจาะ ตัด จะมีฝุ่นเข้าจมูก อาจทำให้เกิดโรคตามมา” “เวลาตัดฝุ่นฟุ้งกระจายมากกว่ากระเบื้องชนิดอื่นๆ” “ถ้ามีอันตราย คนที่ได้รับอันตรายมากสุดคือช่าง ผู้อยู่อาศัยอาจได้รับอันตรายบ้างแต่ไม่เสี่ยงเท่า ช่าง” “อันตรายกับช่างที่สัมผัส อันตรายกับผู้อยู่อาศัยจากฝุ่นใยหินที่ฟุ้งกระจายในบ้าน” “อันตรายต่อช่าง หายใจไม่ออก ป้องกันโดยการใช้ผ้าปิดจมูก แต่ไม่น่ามีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย” “อาจเป็นอันตรายต่อตัวช่างเพราะต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด แต่ไม่แน่ใจว่าอันตรายกับผู้อยู่อาศัยหรือไม่” “เป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย” “มีอันตรายถ้าใช้ระยะยาว เพราะมีส่วนประกอบเป็นวัสดุที่ก่อมะเร็ง” “ฝุ่นและสิ่งสกปรกจากแผ่นกระเบื้องทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้” “มีผลต่อสิ่งแวดล้อม น้ำฝนไม่สะอาด ส่งผลต่อสุขภาพ” “อันตรายแต่ต้องรู้จักวิธีใช้” “อาจทำให้เกิดมะเร็งได้” “โรคปอด โรคผิวหนัง” “น่าจะอันตรายแต่ผู้รับเหมาส่วนใหญ่ให้ลูกจ้างให้ใส่หน้ากากและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อยากให้ตรวจสอบวัสดุก่อสร้างว่ามีแร่นี้หรือไม่ ถ้ามีควรแจ้งผู้รับเหมา ลูกค้า หน่วยงานรัฐต้องเข้ามา จัดการ” กลุ่มที่เห็นว่าแร่ใยหินไม่มีอันตรายต่อคนทำงานและผู้อยู่อาศัย “ไม่น่าจะมีอันตรายเพราะเป็นสิ่งที่คนใช้กันเยอะ” “ใช้กันทั่วไปในการสร้างที่อยู่อาศัย” “ยังไม่เคยเห็นผลกระทบต่อร่างกาย” “ไม่แน่ใจเพราะยังไม่เห็นผลโดยตรง” “ไม่น่าจะอันตรายเพราะไม่ได้สัมผัสเป็นเวลานาน” “คิดว่าแร่ใยหินไม่อันตราย แต่ฝุ่นละอองจากกระเบื้องทุกชนิดมีอันตราย” “ไม่น่าจะอันตราย เพราะนำมาสร้างที่อยู่คน การผลิตต้องมีมาตรฐาน”
อ่านเพิ่มเติม >เป็นเรื่องน่ายินดีเสมอถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายสร้างความฟิตให้กับตัวเอง และวันนี้เรามีผู้ช่วยที่ทำให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยอุปกรณ์ที่บอกได้ว่าวันนี้เราเดินหรือวิ่งเป็นระยะทางเท่าไร ใช้พลังงานไปแค่ไหน พักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เพียงแค่เราป้อนข้อมูลพื้นฐานบางอย่างเช่น อายุ เพศ ส่วนสูง หรือน้ำหนัก ลงไป ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบฟิตเนสแบนด์ ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้ทั้งหมด 15 รุ่น สนนราคาประมาณ 2,800 ถึง 6,600 บาท อุปกรณ์นี้ทำงานด้วยโปรแกรมที่ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการ iOS 6 หรือสูงกว่า / แอนดรอยด์ 4.3 หรือสูงกว่า (ยกเว้น Withings Pulse O2 ที่ใช้กับแอนดรอยด์ 2.3.3) และสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ได้ ข้อสำคัญคือผู้ใช้ต้องไม่ลืมถ่ายข้อมูลเข้าโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์บ่อยๆ เพราะอุปกรณ์นี้มีข้อจำกัดเรื่องหน่วยความจำ รุ่นที่เก็บข้อมูลได้นานที่สุดในการทดสอบนี้ก็เก็บได้ไม่เกิน 30 วัน ส่วนด้านพลังงานนั้นอุปกรณ์ส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่ชนิดที่สามารถชาร์จใหม่ได้ ขณะที่บางรุ่นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี ในภาพรวมแล้วอุปกรณ์นี้ ทั้งแบบที่มีและไม่มีหน้าจอแสดงผล สามารถตอบโจทย์ของคนรักสุขภาพได้ดีพอใช้ ทุกรุ่นกันน้ำได้เพราะต้องสัมผัสกับเหงื่อ และบางรุ่นก็สามารถใส่เล่นกีฬาทางน้ำได้ด้วย เราพบว่าฟิตเนสแบนด์ที่เราทดสอบมีความแม่นยำในการนับก้าว การคำนวณระยะทางและแคลอรีที่ใช้ไปได้ในระดับพอใช้ถึงดีมาก นอกจากนี้โดยเฉลี่ยแล้วคะแนนด้านความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอกและความทนทาน ก็อยู่ในระดับดีเช่นกัน ... ติดตามผลคะแนนของแต่ละรุ่นได้ในหน้าถัดไป ก่อนซื้ออย่าลืมตรวจสอบราคาอีกครั้ง และเพื่อความแน่ใจกรุณาสอบถามผู้ขายว่าระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์นี้กับระบบในโทรศัพท์มือถือของคุณสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่
สำหรับสมาชิก >ต่อเนื่องจากเล่มก่อนหน้า เราขอนำเสนอผลการทดสอบเสื้อและชุดว่ายน้ำป้องกันรังสีสำหรับเด็กที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้ สัดส่วนการให้คะแนนเป็นดังนี้ - การป้องกันรังสียูวี ร้อยละ 60 (ปัจจุบันยังมีหลายมาตรฐานในการวัดค่าการป้องกันรังสียูวี ผู้ผลิตต่างรายจึงใช้มาตรฐานต่างกัน แต่ในที่นี้จะวัดตามมาตรฐาน UV Standard 801) - ฉลาก ร้อยละ 30 (หมายถึง การให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค มีการอ้างอิงว่าใช้มาตรฐานใด) - การใช้สารเคมีร้อยละ 10
สำหรับสมาชิก >แม้จะอยู่ใต้ฟ้าแต่เราก็ไม่กลัวแสงแดด เพราะมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ช่วยสกัดกั้นไม่ให้รังสีจากดวงอาทิตย์เข้ามาทำร้ายผิวเราได้ นอกจากครีมกันแดด หมวก และร่มแล้ว เรายังมีเสื้อป้องกันรังสียูวีที่ทำออกมาเอาใจผู้ชื่นชอบกีฬากลางแจ้งอีกด้วยนะ ฉลาดซื้อฉบับนี้นำผลทดสอบเสื้อกันรังสียูวี ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทำไว้ มาฝากสมาชิกกัน หลักๆ แล้วเขาต้องการดูค่าการป้องกันรังสีของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว (ค่า UPF) และดูว่าสอดคล้องกับฉลากหรือไม่ และในกรณีของเสื้อหรือชุดเด็ก จะมีการตรวจหาสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมาในเนื้อผ้า เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ โนนิลฟีนอล และพทาเลท ด้วย การทดสอบนี้เป็นไปตามมาตรฐานของเสื้อผ้าที่ป้องกันรังสียูวี UV Standard 801 ครั้งนี้เขาเน้นเสื้อผ้าเด็กเป็นพิเศษ เพราะคนยุโรปเน้นให้เด็กๆ ได้อยู่กลางแจ้งเพื่อรับแสงแดดที่มีไม่บ่อยนักในรอบปี และเสื้อผ้าเหล่านี้ก็เป็นทางออกสำหรับเด็กๆ ที่ไม่ชอบให้ทาครีมกันแดดซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเด็กด้วย สัดส่วนการให้คะแนนเป็นดังนี้ - การป้องกันรังสียูวี ร้อยละ 60 (ปัจจุบันยังมีหลายมาตรฐานในการวัดค่าการป้องกันรังสียูวี ผู้ผลิตต่างรายจึงใช้มาตรฐานต่างกัน แต่ในที่นี้จะวัดตามมาตรฐาน UV Standard 801) - ฉลาก ร้อยละ 30 (หมายถึง การให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค มีการอ้างอิง ว่าใช้มาตรฐานใด) - การใช้สารเคมี ร้อยละ 10 ฉบับนี้เราขอลงผลทดสอบของเสื้อผู้ใหญ่ 7 รุ่น และเต็นท์สำหรับเด็กอีก 5 รุ่น มาให้ชมกันเป็นน้ำจิ้มก่อน ส่วนผลของชุดและเสื้อยืดเด็กนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมติดตามกันในฉบับต่อไป --------------------------------------------------------------------------------------------------- ทำอย่างไรให้เนื้อผ้าป้องกันรังสียูวีได้? วิธีที่ผู้ผลิตนิยมใช้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการป้องกันแสงแดด ได้แก่ การใช้ผ้าที่ทอหนาและแน่นในการตัดเย็บ เพราะช่องว่างระหว่างเส้นใยที่น้อยลงจะช่วยลดแสงที่ผ่านเข้ามาด้วย การใช้สีย้อม เพราะสีย้อมบางชนิดที่ความเข้มข้นระดับหนึ่ง สามารถลดการส่งผ่านรังสียูวีได้ บางชนิดสะท้อนรังสีออกไปได้บางส่วน บางชนิดจะไม่รับรังสีเข้ามาเลย เช่น สีย้อมสีดำ ณ ปัจจุบัน เราไม่สามารถทราบได้ว่าเสื้อตัวดังกล่าวสามารถกันรังสีได้หรือไม่จากการดูด้วยตาเปล่า ต้องดูจากฉลากที่ระบุค่า UPF เท่านั้น เสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อการป้องกันรังสีอาจใช้สีย้อมระดับพรีเมียมซึ่งมีโมเลกุลที่สามารถสกัดรังสีได้ เมื่อใช้สีย้อมมากขึ้น ระดับความเข้มข้นของสีและการป้องกันยูวีก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ต้องย้ำว่าสีที่ใช้ (เหลือง แดง ฟ้า เขียว ฯลฯ) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าการป้องกันยูวี การเติมสารเคมีบางชนิดลงไป เช่น สารเพิ่มความสว่าง และสารต้านยูวี เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ ซิงค์โคไซด์ เบนโซไทรอาโซล ทินูวิน 312 เป็นต้น การเลือกชนิดของเส้นใย เช่นโพลีเอสเตอร์ สามารถต้านรังสีได้ดีมาก ไนลอนก็ทำได้ดี ไหมและขนแกะก็พอใช้ แต่เส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย เรยอน แฟลกซ์ และปอ ป้องกันรังสีได้ไม่ดีนักถ้าไม่มีการเติมสารเคมีเพิ่มลงไป ที่สำคัญ ผ้าฝ้ายที่ไม่ผ่านการฟอกหรือผ้าสีธรรมชาติจะต้านรังสีได้ดีกว่าฝ้ายที่กัดสีแล้ว หมายเหตุเพิ่มเติม: Ø เมื่อผ้าถูกยืดออกร้อยละ 10 ความสามารถในการต้านรังสีจะลดลงถึงร้อยละ 40 Ø เมื่อผ้าเปียกน้ำ ความสามารถในการต้านรังสีจะลดลงประมาณร้อยละ 30 - 50 Ø ผ้าเก่าหรือผ้าที่ซีดแล้วจะสามารถป้องกันยูวีได้น้อยลง --------------------------------------------------------------------------------------------------- ก่อนลงทุนซื้อเสื้อ/ชุดป้องกันยูวี - เลือกเสื้อผ้าที่มีการติดฉลากตามมาตรฐาน UV 801 - ถ้าเป็นไปได้ เลือกชนิดที่ป้องกันยูวีโดยวิธีการทางกายภาพ ไม่ใช่ทางเคมี - ควรเลือกเสื้อผ้าที่ปกปิดแขนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของแขน และส่วนบนของขา - ถ้าเป็นชุดเด็ก ค่าการป้องกันยูวี (UPF) ควรอยู่ระหว่าง 40-60 เพื่อให้เด็กได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอ --------------------------------------------------------------------------------------------------- เสื้อผู้ใหญ่ ---- บ้านเรากับเสื้อป้องกันยูวี? ในบรรดาสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษนั้น ที่มาแรงที่สุดในบ้านเราคงไม่มีใครเกินสิ่งทอป้องกันแบคทีเรีย (ก็อากาศร้อน ช่วยขับเหงื่อผู้คนกันขนาดนี้) ส่วนเรื่องสิ่งทอป้องกันยูวีนั้นยังไม่เท่าไร เพราะเรามีจริตที่จะหลบแดดกันอยู่แล้ว ยกเว้นใครที่ต้องทำงานหรือชอบงานอดิเรกที่ต้องอยู่กลางแจ้งจริงๆ เช่นนักกีฬา หรือขาปั่นจักรยาน ที่อาจต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์นี้อยู่ แต่คุณรู้หรือไม่? บ้านเรามีสภาพอากาศและพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งเส้นใยของมันสามารถป้องกันรังสียูวีได้โดยธรรมชาติ แถมยังระบายกลิ่นอับได้ดี ประเทศในยุโรปรู้จักใช้ประโยชน์จากใยชนิดนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เยอรมนีก็ใช้เพื่อผลิตหมวกป้องกันยูวีให้กับนักกีฬาด้วย พืชที่ว่านี้คือกัญชง (ถูกแล้ว มันเป็นญาติกับกัญชา) ซึ่งเคยมีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 แต่กำลังจะถูกพิจารณาให้เกษตรกรสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ในเบื้องต้นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กำลังศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์กัญชงที่มีระดับเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ต่ำ เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูก แต่แม้จะมีการปลูกในภาคเหนือบ้างแล้ว ปริมาณวัตถุดิบก็ยังไม่เพียงพอต่อการผลิต เราจึงยังต้องนำเข้าจากประเทศลาวอีกเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าตอนนี้ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท และนอกจากจะนำมาทอผ้าแล้ว เปลือกและเมล็ดของมัน ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่างด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ดร.ประเทืองทิพย์ ปานบำรุง สาขาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
สำหรับสมาชิก >ด้วยความอยากอินเทรนด์ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึงในเดือนมิถุนายนนี้ ฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอผลการทดสอบลูกฟุตบอลรุ่นต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำโดย Proteste Brazil องค์กรผู้บริโภคของประเทศบราซิล ซึ่งนอกจากจะจริงจังกับการเล่นฟุตบอลไม่แพ้ใครแล้วยังเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ด้วย เราจะได้ติดตามเรื่องราวของฟุตบอลจากมุมมองของผู้บริโภค ตั้งแต่เรื่องของคุณภาพสินค้า ไปจนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิตไปด้วยกัน เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าลูกฟุตบอลรุ่นที่ใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ (Official) นั้น “เหนือ” กว่าลูกฟุตบอลในรุ่นเดียวกันที่ใช้ซ้อม (Replica) ในด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่ใช้ ลูกฟุตบอลชนิด Official จริงจึงมักมีราคาแพงกว่าพวก Replica บางครั้งแพงกว่าถึง 10 เท่า Proteste Brazil จึงร่วมมือกับสถาบันเพื่อการวิจัยเทคโนโลยี Institute for Technological Research ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของบราซิล ทำการทดสอบลูกฟุตบอล 17 รุ่น (ทั้งชนิดที่ใช้แข่งและใช้ซ้อม) จากผู้ผลิต 7 ราย โดยอิงกับเกณฑ์ของฟีฟ่า (FIFA) กำหนด ตั้งแต่ น้ำหนัก เส้นรอบวง ความกลม การสะท้อนกลับ การดูดซับน้ำ การรั่วซึม และการคงสภาพของลูกบอลหลังการใช้งาน สโมสรฟุตบอลฟลูมิเนนเซ่ของบราซิลก็ส่งนักเตะ 4 คนและผู้รักษาประตูอีก 3 คน มาร่วมทดสอบประสิทธิภาพของลูกฟุตบอลเหล่านี้จากการใช้งานจริงในสนามด้วย พิเศษสุดสำหรับผู้อ่านฉลาดซื้อ เรามีผลทดสอบประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกของลูกฟุตบอล ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในเกมการแข่งขัน (แต่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับรองของฟีฟ่า) เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็มีหลายคนหงุดหงิดกับลูกฟุตบอลรุ่น “จาบูลานี” ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อัฟริกาใต้ แม้ว่ามันจะได้รับการชื่นชมว่ากลมกลิ้งไม่มีใครเกิน แต่มันก็เป็นลูกฟุตบอลที่ควบคุม และคาดเดาการเคลื่อนไหวได้ยากที่สุดด้วย ข่าวบอกว่าอาดิดาสได้ปรับปรุง “บราซูกา” ซึ่งเป็นลูกฟุตบอลสำหรับการแข่งขันบอลโลกปีนี้ให้ดีกว่าเดิม ... แล้วเราจะได้รู้กันจากผลการทดสอบในหน้าถัดไป Show me the money! กีฬา .. เงินตรา .. เป็นยาวิเศษ ประมาณการรายได้ของ FIFA จากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 อยู่ที่ 4,000 ล้านเหรียญ (เกือบ 130,000 ล้านบาท) ร้อยละ 60 มาจากค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ที่เหลือมาจากสปอนเซอร์ 24 แบรนด์ ตลาดสินค้าเกี่ยวกับฟุตบอล (เสื้อกีฬา ลูกฟุตบอล รองเท้า) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5,000 ยูโรนี้มีผู้เล่นหลักๆอยู่เพียงสองราย การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2014 นี้จะเป็นสังเวียนการต่อสู้ระหว่างทีมอาดิดาส จากเยอรมนี กับทีมไนกี้ จากอเมริกานั่นเอง ใน World Cup 2014 นี้ อาดิดาสซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการจะเป็นผู้จัดหาลูกฟุตบอล ชุดและอุปกรณ์ของกรรมการ รวมถึงเสื้อผ้าของอาสาสมัครที่ช่วยงานในสนาม และเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมที่เคยเป็นแชมป์อย่างเยอรมนี และอาร์เจนตินา ยาวไปถึงเสปน ซึ่งเป็นแชมป์ปัจจุบันด้วย อาดิดาส ทำสัญญากับฟีฟ่าเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 และจะเป็นไปจนถึงปีพ.ศ. 2573 ในปี 2557 นี้อาดิดาสจะเป็นผู้จัดหาลูกฟุตบอลให้กับการแข่งขันดังกล่าวเป็นครั้งที่ 12 จากเทลสตาร์ในปี 2514 มาถึงจาบูลานีในปี 2553 และบราซูก้าในปีนี้ ค่ายไนกี้ กลุ่มธุรกิจเสื้อผ้ากีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ไนกี้เป็นสปอนเซอร์ของทีมเจ้าภาพบราซิลซึ่งเคยเป็นแชมป์มาแล้ว 5 สมัย และทีมยอดนิยมของผู้ชมทั่วโลกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส อีกต่างหาก อาดิดาส คุยไว้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับฟุตบอลทั้งหมดของบริษัทจะทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (2,000 ล้านยูโร) ในปีนี้ และจะสามาระชนะคู่แข่งอย่างไนกี้ได้ขาดลอย ---------------------------------------------------------------- Fair Game vs Fair Trade แต่ละปีมีลูกบอลเพื่อการกีฬากว่า 60 ล้านลูกถูกจำหน่ายออกไป สองในสามของจำนวนดังกล่าวคือลูกฟุตบอล ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการให้เครื่องหมายรับรอง “Fair Trade” ด้วย เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการจ้างงานหรือใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต อย่างช็อคโกแลต กาแฟ สับปะรด เสื้อผ้า เป็นต้น สถิติในปี 2552 ระบุว่าในบรรดาลูกฟุตบอลที่ขายไปนั้น มีลูกฟุตบอลที่ได้รับการรับรองด้วยเครื่องหมาย Fairtrade ประมาณ 118,000 ลูก ลดลงไปจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 16 นั่นหมายความว่า ณ จุดนี้มีไม่ถึงร้อยละ 0.2 ของลูกบอลที่ใช้ในการเล่นกีฬาที่มีตรารับรอง Fair Trade ส่วนแบ่งการบริโภคลูกบอลในยุโรป (สถิติปี 2552) อังกฤษ ร้อยละ 15 ฝรั่งเศส ร้อยละ 15 เยอรมนี ร้อยละ 15 อิตาลี ร้อยละ 13 สเปน ร้อยละ 11 สวีเดน ร้อยละ 3* (สวีเดนเป็นประเทศที่มีการบริโภคลูกบอล Fair Trade มากที่สุด) ---------------------------------------------------------------- เจาะลึกเบื้องหลัง Brazuca ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ที่อัฟริกาใต้ อาดิดาสผลิตลูกฟุตบอล “จาบูลานี” ที่ว่ากันว่ากลมที่สุด ตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอล เพราะมีชิ้นส่วนน้อยที่สุด (8 ชิ้น) และใช้แรงอัดและความร้อน ทำให้ลูกฟุตบอลกลมกลึงไร้รอยเย็บ แตกต่างจากเจ้า “ทีมไกสต์” ที่ใช้อย่างเป็นทางการในเวิลด์คัพ ปี 2549 ที่เยอรมนี ซึ่งมีชิ้นส่วนถึง 14 ชิ้น เมื่อเหนือฟ้ายังมีฟ้า เทพกว่า “จาบูลานี” ก็ต้องมี “บราซูกา” ลูกฟุตบอลรุ่นที่ 12 ที่อาดิดาสผลิตเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ บราซูการุ่นที่ใช้ในการแข่งขันเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว ในสนนราคาลูกละ160 เหรียญ (ประมาณ 5,200 บาท) เราขอพาคุณเยี่ยมชมโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีนที่ผลิต อาดิดาส บราซูกา (ซึ่งยังคงคอนเซปต์กลมเนี๊ยบด้วยชิ้นส่วนที่ลดลงเหลือแค่ 6 ชิ้น) ดูทั้งแระบวนการผลิตและการใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆกันเลย บราซูกา มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ ลูกบอลชั้นใน ทำจากยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ และชั้นนอกที่ทำจากหนังเทียม การเชื่อมต่อเข้าด้วยกันจะอาศัยกาวและความร้อน ลูกบอลชั้นในที่ทำจากยางจะถูกสูบลมเข้า ทากาว แล้วปิดทับด้วยผ้าที่ตัดออกเป็นชิ้นๆ หลังจากลูกบอลผ่านการตรวจเช็คขนาด จะถูกทากาวทับอีกรอบ และนำไปอบ ลูกบอลจะถูกปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงเพื่อดูว่ามีการรั่วไหลของลมหรือไม่ ลูกที่รั่วจะถูกทำลาย ชั้นนอกของลูกบอลจะประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้น ชั้นในซึ่งทำด้วยโฟมจะนุ่มและหนากว่า ขั้นตอนการทำลูกบอลชั้นนอกเป็นขั้นตอนที่เกิดเสียงดังมาก จากการสังเกตพบว่าพนักงานไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงใดๆ อาดิดาสให้ข้อมูลว่าระดับเสียงดังกล่าวไม่เกินมาตรฐาน ทั้งของจีนและของนานาชาติ แต่โรงงานก็กำลังพยายามลดความดังของเสียงลงด้วยการปรับแต่งเครื่องจักรและการติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียง พื้นผิวลูกบอลชั้นนอกจะมีการพิมพ์ลวดลายเฉพาะของบราซูกา โดยใช้เครื่องพิมพ์ทั้งหมด 10 เครื่อง (1 เครื่องต่อ 1 สี) จากนั้นเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อป้องกันการขูดขีด ขั้นตอนนี้มีกลิ่นของสารเคมีค่อนข้างมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากาก ผู้จัดการโรงงาน บอกว่ามีกฎให้พนักงานแต่ละคนอยู่ในพื้นที่พิมพ์งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 20 นาที อาดิดาสแจ้งว่า โรงงานจะเลือกใช้เฉพาะสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงาน และมีการจัดตรวจสุขภาพ ให้พนักงานเป็นประจำ ลูกบอลด้านนอกทั้งสองชั้นจะถูกประกบเข้าหากันด้วยกาวและแรงอัดจากเครื่องจักร จากนั้นโลโก้ของอาดิดาสและฟีฟ่าจะถูกพิมพ์ลงไป และเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มอีกครั้ง งานประกอบชั้นนอกของลูกบอลเข้ากับชั้นใน ชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำมาทากาวให้ติดกันก่อนนำมาครอบทับลูกบอลชั้นใน จากนั้นอีก 2 ชิ้นที่เหลือจะถูกติดลงไป ขั้นตอนนี้จะทำโดยผู้หญิงเท่านั้น ทางโรงงานบอกว่านิ้วของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนการอบด้วยความร้อน หรือ thermal bonding เพื่อทำให้ทุกชิ้นส่วนติดกันเป็นเนื้อเดียวโดยไม่ต้องเย็บนั่นเอง ก่อนจะถูกนำไปจัดลงกล่องเพื่อส่งขาย ลูกฟุตบอลที่ทำเสร็จแล้วจะต้องถูกสังเกตอาการเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อดูว่ามีการรั่วไหลของลมหรือไม่ ถ้ารั่วก็ไม่ได้ไปต่อ ---------------------------------------------------------------- ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเตะ โดย FIFA ร่วมกับมหาวิทยาลัยลัฟเบรอ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ การสัมภาษณ์ผู้เล่น 48 คน และแบบสอบถามที่ทำกับผู้เล่น 231 คน ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2556 ผลสำรวจ - ร้อยละ 85 ของนักเตะที่ตอบแบบสอบถามพึงพอใจกับลูกฟุตบอลที่ใช้อยู่ - สิ่งที่นักเตะให้ความสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับลูกฟุตบอลคือน้ำหนักและการกระเด้ง (rebound) - นักเตะคิดว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญและควรได้รับการปรับปรุงได้แก่ ความเสถียรของลูกฟุตบอลเมื่อลอยผ่านอากาศ การเคลื่อนไหวเป็นแนวโค้ง และความเร็วของลูกฟุตบอล - นักเตะมีความเห็นหลายหลายเรื่องคุณสมบัติที่ดีของลูกฟุตบอล และแน่นอนความแตกต่างนี้มีมากที่สุดระหว่างกลุ่มนักเตะกับผู้รักษาประตูนั่นเอง //
อ่านเพิ่มเติม >ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณหลบร้อนไปเดินเล่นแถวซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปกันบ้าง บอกก่อนว่าเราไม่ได้พาคุณไปหาโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม แต่เราจะพาคุณไปพบกับอีกมิติของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เหล่านี้ นั่นคือนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ไกลออกไปจากสังคมรอบบ้านตัวเอง ไปถึงสังคมในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นต้นทางการผลิตอาหารมาเลี้ยงคนยุโรปด้วย การสำรวจครั้งนี้ เน้นที่นโยบายด้านมาตรฐานแรงงานและขั้นตอนการจัดซื้อสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา ของผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรป ทีมวิจัยขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) เจาะจงเลือกห้างที่นำเข้าผัก ผลไม้จากประเทศกำลังพัฒนา (อ้างอิงจากรายชื่อขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD) เพื่อนำมาขายให้กับผู้บริโภคภายใต้แบรนด์สินค้าของห้าง (House brand/private brand) และมีผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต 25 แห่งใน 8 ประเทศ (บางเจ้ามีสาขามากกว่าหนึ่งประเทศด้วย) และสิ่งที่มองหาเพื่อให้คะแนนและจัดอันดับความรับผิดชอบต่อสังคมในการสำรวจครั้งนี้ได้แก่ นโยบายและจรรยาบรรณทางธุรกิจที่อิงแนวปฏิบัติของนานาชาติที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา การนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ปฏิบัติจริง มีฝ่ายที่รับผิดชอบโดยตรงและมีการรายงานต่อสังคม มาตรฐานแรงงานที่ห้างเรียกร้องจากผู้จัดหาสินค้าในประเทศกำลังพัฒนา เงื่อนไขทางธุรกิจและมาตรฐานแรงงานที่ห้างใช้กับผู้จัดส่งผัก ผลไม้สดในประเทศกำลังพัฒนา โดยการเก็บข้อมูลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นข้อมูลที่บริษัทประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ และส่วนที่เป็นการตอบแบบสอบถามที่ออกแบบโดย Centre for Research on Multinational Corporations (SOMO) --------------------------------------------------------------- ตัวอย่างของข้อตกลงระหว่างประเทศที่ห้างเหล่านี้ใช้อ้างอิงได้แก่ - ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) - ปฏิญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (International Labour Organization’s Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) - แนวทางการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (Guidance Standard of Social Responsibility: ISO 26000) - มาตรฐานสากลที่ให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน Social Accountability 8000 certification - มาตรฐานสมัครใจ ว่าด้วยการประกอบธุรกิจและการคำนึงถึง สิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) - แนวปฎิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD’s Guidelines for Multinational Enterprises) - ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เป็นหลักสากลที่ผู้ประกอบการจะนำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อให้เป็น บรรษัทพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Corporate Citizen) - มาตรฐานสากลว่าด้วยการบริหารจัดการคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร (Global Food Safety Initiative: GFSI) ---------------------------------------------------------- ผลการสำรวจปรากฏว่าซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปที่มีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเน้นเรื่องมาตรฐานแรงงานและขั้นตอนการจัดซื้อสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้คะแนนผ่านครึ่งมีเพียง 3 แห่งได้แก่ ห้าง Co-op Italia ของอิตาลี ห้าง Ahold (ย่อมาจาก Albert Heijn holding) ของเนเธอร์แลนด์ และ ห้าง ICA ของสวีเดน ส่วนอีก 22 ห้างนั้นได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 ทั้งนี้ คะแนนที่ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ทางบริษัทเปิดเผยต่อทีมวิจัย หลายห้างได้คะแนนต่ำเพราะไม่ให้ข้อมูลว่าได้มีการนำนโยบายไปลงมือปฏิบัติจริงอย่างไร เป็นต้น มารู้จักกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนอยู่ใน 3 อันดับต้นกันสักเล็กน้อย สมาชิกฉลาดซื้อที่เตรียมเดินทางไปย่ำยุโรปจะได้เลือกอุดหนุนกันได้ถูกเจ้า //
สำหรับสมาชิก >