ฉบับที่ 212 เมีย 2018 : เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน

   พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “เมีย” เอาไว้ว่า “หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย”    ความหมายโดยนัยที่พ่วงมากับนิยามตามพจนานุกรมนี้ก็คือ เพราะเมียคือผู้ที่ถูกสังคมกำหนดให้ “เป็นคู่” และถูกครอบ “ครองของชาย” ดังนั้น นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมา บทบาทของบรรดาเมียๆ จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็น “ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัว    แต่เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงปัจจุบัน เราจะยังแน่ใจได้หรือไม่ว่า เมียแห่งปี 2018 จะยังคงดำรงวัตรปฏิบัติหรือมีความคิดความเชื่อที่เป็นไปตามนัยซึ่งพจนานุกรมได้สร้างความชอบธรรมเอาไว้   ชีวิตของผู้หญิงอย่าง “อรุณา” แห่งละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” เริ่มต้นชีวิตครอบครัวก็ด้วยนิยามแบบพจนานุกรมที่ว่า เมียก็คือผู้หญิงที่ถูกกำหนดเป็น “คู่ครองของชาย” เพราะฉะนั้น หลังจากแต่งงานอยู่กินกับ “ธาดา” และมีบุตรสาวคือ “น้องนุดา” แล้ว เธอก็เลือกที่จะสละความสุขทั้งชีวิต โดยปวารณาตัวให้กับสามีและลูกสาวอันเป็นที่รัก   ฉากเปิดเรื่องของละครที่อรุณาบรรจงจัดเตรียมสำรับอาหารเป็นเกี๊ยวน้ำสูตรเด็ดที่สืบทอดมาจากมารดา ตลอดจนการวิ่งสาละวนไปไหว้เจ้าทำบุญเพื่อให้ผลานิสงส์แผ่ซ่านไปถึงสามีที่กำลังจะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน เหล่านี้ก็คือการบอกผู้ชมคนดูว่า เมียในเวอร์ชันก่อนปี 2018 นั้น ทุกลมหายใจเข้าออกต้องยึดเรื่องครอบครัวและความสำเร็จของสามีเอาไว้เป็นสรณะ   จนกระทั่งมีบทพิสูจน์ใหม่แทรกเข้ามาเป็นตัวแปรในชีวิตของผู้หญิงที่เป็นเมียนั่นแหละ ลมหายใจเข้าออกของอรุณาก็ก่อกลายเป็นคำถามข้อใหม่ว่า เมียในบทบาทผู้ที่เป็นคู่และถูกครอบครองของบุรุษเพศ จะคงเป็นเพียงคำตอบเดียวในชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไปจริงหรือไม่   และการปรากฏตัวขึ้นของตัวละครอย่าง “กันยา” น้องสาวลูกพี่ลูกน้องของอรุณา ที่เข้ามาแทรกอยู่กึ่งกลางระหว่างชีวิตครอบครัวของเธอกับธาดา ก็คือบททดสอบต่อคำถามข้างต้นดังกล่าว   ด้วยทัศนะของผู้หญิงแบบกันยาที่พูดกับอรุณาว่า “คนเราถ้าอยากได้อะไร จะต้อง fight ต้องอย่าไปยอม” ดังนั้นเมื่อกันยาย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้าน และต้องการที่จะช่วงชิงสิทธิ์แห่งการเป็นภรรยาของธาดาขึ้นมา เธอจึงทำทุกอย่างตั้งแต่ยั่วยวน วางหมากกล หรือกระทั่งปั่นหัวพี่เขย จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นอนุภรรยาของธาดาในเขตรั้วไพศาลของบ้านใหญ่หลังเดียวกับอรุณา   แม้ว่าตอนต้นของเรื่อง อรุณาจะเคยพูดกับเพื่อนรักอย่าง “ธารี” ว่า “ชีวิตแต่งงานถ้าเดือดง่ายก็พังกันหมดสิ” หรือแม้แต่เตือนสติธารีที่กำลังมีปัญหากับสามีเจ้าชู้อย่าง “ชาติชาย” ว่า “คำว่าหย่ามันมีไว้ใช้ครั้งเดียวเท่านั้น คือครั้งที่คิดว่าใช้เท่านั้นจริงๆ อย่าพูดไปเรื่อยเพราะอารมณ์” แต่เมื่อ “ผงที่เคยเขี่ยจากตาคนอื่น” หลุดมาเข้าตาของเธอบ้าง อรุณาก็ถึงกับขาดสติและแทบจะมิอาจจัดการกับปัญหาใดๆ ในชีวิตของเธอได้เลย   ในช่วงแรกที่เผชิญปัญหานั้น อรุณายังคงยืนกรานว่า ไม่ว่ามรสุมคลื่นลมจะโถมถามาเพียงใด แต่การพยายามรักษาความอยู่รอดของครอบครัวก็ยังคงเป็นหน้าที่หลักของหญิงผู้เป็นภรรยา อาจเนื่องด้วยว่าโลกทัศน์ของผู้หญิงที่สังคมหลอมหล่อเอาไว้นั้น ต้องยึดมั่นในคติประจำใจที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั่นเอง   ก็เหมือนกับประโยคที่อรุณาพูดกับแม่บ้านผู้ชมที่ติดตามการสาธิตทำเกี๊ยวน้ำผ่านวิดีโอออนไลน์ของเธอว่า “คุณแม่บ้านทุกคน พวกเราเหมือนคนห่อเกี๊ยว เกี๊ยวคือครอบครัวของเรา เราต้องช่วยกันประคับประคองทุกอย่างให้เหนียวแน่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องทำทุกอย่างด้วยความรักและความใส่ใจ และเราจะผ่านอุปสรรคไปได้ทุกอย่าง”   อย่างไรก็ดี หากจิตสำนึกเรื่อง “ช้างเท้าหลังต้องเสียสละและอดทน” เป็นสิ่งที่สังคมติดตั้งเอาไว้ให้กับผู้หญิงอย่างอรุณาได้ เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยน และปมความขัดแย้งระหว่างเธอกับสามีและน้องสาวสุกงอมจนถึงจุดแตกหัก อรุณาก็เริ่มทบทวนตัวเอง และค่อยๆ พัฒนามุมมองใหม่ที่ท้าทายและตั้งคำถามกับ “ตรรกะป่วยๆ” ที่เคยถูกดาวน์โหลดเอาไว้แต่เดิม   ในขณะที่เมียในยุคก่อนปี 2018 ต้องยึดมั่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาใดๆ ที่ชายผู้เป็นสามีสาดซัดเข้ามา แต่ในความเป็น “เมีย 2018” แล้ว อรุณาก็เลือก “คิดใหม่ทำใหม่” และก้าวข้ามสถานการณ์เอารัดเอาเปรียบที่สามีก่อขึ้น แต่กลับต้องเป็นเธอที่เผชิญทุกขเวทนาเอาไว้ผู้เดียว   หลังจากที่ธาดามิอาจตอบคำถามได้ว่ายังรักเธออยู่หรือเปล่า อรุณาก็ค้นพบคำตอบว่า วลีสวยๆ ที่ผู้ชายมักพูดว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเพียง “จิตสำนึกปลอมๆ” ที่สังคมสืบทอดฝากฝังไว้ให้กับผู้หญิงเท่านั้นเอง    และประโยคที่เธอกรีดร้องกับสามีว่า “ฉันอยู่กับคุณ ทำทุกอย่างเพื่อคุณ ฉันควรจะเป็นคนที่คุณขอบคุณสิ” ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยว่า คงถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างหน้าที่ที่สังคมกำหนดให้เธอเป็นแม่พระผู้เสียสละอย่างไม่ลืมหูลืมตา กับการเปิดโอกาสให้เธอได้ทำตามใจปรารถนาของตนเองเสียบ้าง อันนำมาซึ่งการจดทะเบียนหย่ากับธาดาในที่สุด   ยิ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่ที่เข้ามาในชีวิตอย่าง “วศิน” บิ๊กบอสวัยหนุ่มหัวหน้างานคนใหม่ อรุณาก็พบว่า ชีวิตที่เคยมีตัวเลือกเพียงข้อเดียวคือสามีและครอบครัว จริงๆ แล้วก็ลวงตาไม่ให้บรรดา “เมีย 2018” ได้เห็นตัวเลือกอื่นๆ ในชีวิต เหมือนที่วศินพูดกับเธอว่า “ผมแค่รู้สึกว่าคุณฉลาดกว่าจมตัวเองอยู่ในครัวหรือทำความสะอาดบ้าน”   จนมาถึงฉากจบ ในขณะที่ตัวเลือกแบบหันกลับไปคืนดีกับอดีตสามี ก็อาจเหมาะกับผู้หญิง “ช้างเท้าหลัง” แบบเดิมๆ หรือในขณะที่การเลือกเป็น “ซิงเกิ้ลมัมแม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็มักเป็นคำตอบของผู้หญิงที่อยากยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง แต่กับ “เมีย 2018” ที่ลุกขึ้นมาปรับลุคแต่งตัวทำผมเสียใหม่ ได้ออกไปใช้ชีวิตโลดแล่นนอกบ้าน และกล้าเผยความในใจสู่สาธารณชนผ่านสังคมออนไลน์ การตอบตกลงรับรักกับวศินชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าแต่ก็พร้อมจะยืนเคียงข้างชีวิตของเธอ ก็ดูจะเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ของบรรดาเมียๆ ในยุคสมัยนี้   บทเรียนชีวิตของอรุณาเฉกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทิ้งคำถามใหม่กับคุณสามีว่า “เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน” เท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคุณผู้หญิงทั้งหลายด้วยว่า หากผู้หญิงคือเพศที่ต้องทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะมีสักช่วงชีวิตบ้างไหมที่เธอจะรู้จักหันกลับมาทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้าง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระเป๋าขึ้นเครื่อง

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเสนอผลทดสอบกระเป่าเดินทางขนาดเล็ก หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เคบินไซส์” ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้* มีให้สายเที่ยวได้เลือกกัน 19 รุ่น ตั้งแต่ราคาต่ำกว่า 1,000 บาทไปจนถึงเกือบ 35,000 บาท ทั้งแบบกล่องแข็งและแบบที่ทำด้วยวัสดุเส้นใย  คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็นสองด้าน ได้แก่ -                 - ร้อยละ 60 >> คะแนนความสะดวก/คล่องตัวในการใช้งาน (ผู้ทดสอบลองใช้แล้วตอบแบบสอบถาม)  -                 - ร้อยละ 40 >> คะแนนความแข็งแรงทนทานของกระเป๋าและส่วนประกอบ (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ให้คำแนะนำเรื่องขนาดกระเป๋าเดินทางที่อนุญาตให้ผู้โดยสารนำขึ้นเครื่องได้จะต้องมีความยาวไม่เกิน 56 เซนติเมตร (22 นิ้ว) ความกว้างไม่เกิน 45 เซนติเมตร (18 นิ้ว) และความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร (10 นิ้ว) เมื่อรวมส่วนประกอบรอบๆ ตัวกระเป๋าแล้ว อย่างไรก็ตาม สายการบินสามารถกำหนดขนาดได้ตามความเหมาะสม เช่นรุ่นของอากาศยานที่ใช้ หรือชั้นที่นั่งโดยสาร เป็นต้น หากมีข้อสงสัยโปรดตรวจสอบกับสายการบินก่อนลงมือจัดของหมายเหตุ  ขนาดของกระเป๋าที่เรานำเสนอเป็นขนาดและความจุที่วัดได้โดยทีมทดสอบ อาจจะไม่ตรงกับตัวเลขที่เห็นในโฆษณาหรือฉลากผลิตภัณฑ์    การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Which? (อังกฤษ) และ UFC (ฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศเช่นเดียวกับฉลาดซื้อ ทั้งสององค์กรร่วมมือกันซื้อกระเป๋าส่งเข้าทดสอบ และหารค่าใช้จ่ายในการทดสอบ (ค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 545 ยูโร หรือประมาณ 27,000 บาท) ฉลาดซื้อก็สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปร่วมทดสอบได้หากเรามีเงินทุนสนับสนุนจากสมาชิกมากพอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 โซเดียมในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  ผลิตภัณฑ์ประเภท ปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส ที่วางจำหน่ายทั่วไป เป็นของว่าง ที่อร่อยถูกปากผู้บริโภคทุกวัย ปลาเส้นปรุงรสส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเนื้อปลาบด (ซูริมิ) แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ผสมคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสแตกต่างกันไปตามรสชาติที่หลากหลาย เช่น รสชาติแบบออริจินัล เผ็ดน้อย เผ็ดมาก ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามรสนิยม และทราบหรือไม่ว่า ปลาเส้นปรุงรสของไทย ยังเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อไปเป็นของฝากกันอีกด้วย  ปลาเส้นปรุงรส ให้สารโปรตีนจากเนื้อปลาบด และคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง อาจนับเป็นของว่างมีประโยชน์ได้ หากแต่ว่าปริมาณโซเดียมที่แฝงอยู่ในปลาเส้นแต่ละรสชาตินั้น บางรสมีปริมาณโซเดียมสูงมาก ควรระวังในการรับประทาน ซึ่งเราสามารถดูปริมาณโซเดียมได้จากฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนซองบรรจุภัณฑ์   แต่บางทีซื้อของไปยืนเพ่งสายตาดูฉลากตัวหนังสือเล็กๆ นานๆ ก็ลำบากเหมือนกัน ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอเอาใจผู้บริโภคที่ชอบกินปลาเส้น โดยอ่านฉลากโภชนาการดูปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำเป็นข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันตารางเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส เรียงลำดับปริมาณโซเดียมจากมากไปน้อยข้อสังเกตต่อปริมาณโซเดียมจากฉลากผลิตภัณฑ์ จากการพิจารณาฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า   ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ ปลากรอบเชิญชิม (Crispy Fish) ยี่ห้อ เรือ มีปริมาณโซเดียม 210 มิลลิกรัม ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด พบว่ามี 2 ตัวอย่าง คือ ปลาสวรรค์ (รสดั้งเดิม) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) และ ปลาสวรรค์ (รสซูเปอร์แซ่บ) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) มีปริมาณโซเดียม 800 มิลลิกรัม  โดยส่วนใหญ่หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 กรัม และพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ซึ่งไม่สามารถทราบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคได้ ได้แก่ ปลาหวานแผ่น ยี่ห้อ มายช้อยส์ไทย (My Choice Thai) และ ฮอกไกโดชีสฟิชแซนด์วิช (เนยแข็งชนิดโพรเซสชีสผสมปลาเส้น) ยี่ห้อ โอกิยะ OHGIYAข้อควรรู้เกี่ยวกับปริมาณโซเดียม    เนื่องจากปริมาณการบริโภคโซเดียมที่สูงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตที่สูงขึ้น ซึ่ง Institute of Medicine ได้กำหนดค่าปริมาณโซเดียมสูงสุดของการบริโภคที่ไม่เกิดอันตรายในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไว้ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เปรียบเทียบเป็นเกลือป่นประมาณ  6  กรัม หรือ 1 ช้อนชา)  และ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน  แม้ว่าโซเดียมจะมีความสำคัญต่อร่างกาย แต่การบริโภคโซเดียมมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งหากมีปริมาณโซเดียมในร่างกายมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ หลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และยังส่งผลต่อการเป็นโรคไตด้วย   ทราบอย่างนี้แล้ว การหมั่นอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการเป็นประจำก่อนเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร จะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณโซเดียมในแต่ละมื้อได้อย่างเหมาะสม ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดมีปริมาณโซเดียมมากหรือน้อย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักกินขนมจนเกือบหมดห่อ หากสามารถสอนเด็กๆ ให้เข้าใจความสำคัญของการอ่านฉลากโภชนาการได้ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักการบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละมื้อปลาเส้น  ปลาเส้นหรือปลาเส้นปรุงรส ผลิตจากเนื้อปลาบดแช่แข็งที่เรียกว่า "ซูริมิ"  เป็นอาหารว่างที่นิยมรับประทานกันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา   วารสารฉลาดซื้อเคยทดสอบปลาเส้นปรุงรสพบว่า มีปริมาณโซเดียมสูงมาก หากรับประทานในขนาดหรือปริมาณ 30 กรัม จะได้โซเดียมสูงถึงประมาณ 500 มิลลิกรัม(ค่าเฉลี่ย) ซี่งเด็กไม่ควรได้รับโซเดียมจากขนมหรืออาหารว่างเกิน 200 มิลลิกรัม เพราะเขายังต้องรับประทานอาหารหลักอื่นๆ อีก การรับประทานปลาเส้นหรือขนมรสเค็มมันต่อเนื่องจะทำให้ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงพ่อแม่อย่าปล่อยให้เด็กรับประทานมากเกินไป ทั้งนี้รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงด้วยซูริมิ   คำว่า “ซูริมิ” (Surimi) ฟังดูก็รู้ว่ามาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเนื้อปลาที่นำมาผ่านกระบวนการ จนได้เนื้อปลาที่มีความเหนียวและยืดหยุ่น  เนื้อขาวเนียนละเอียด ปลาซูริมิจะนำมาทำผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ปูอัด นอกจากนี้ยังมี ไส้กรอก  ลูกชิ้น ปลาเส้น เนื้อปลาเทียม เนื้อกุ้งเทียม ตลอดจนผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ต่างๆ    ปลาซูริมิ เป็นอาหารทะเลที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่นๆ และมีปริมาณไขมันต่ำ จึงจัดเป็นอาหารสุขภาพ    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคซูริมิ และผลิตภัณฑ์จากซูริมิรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนประเทศไทยซูริมิก็ได้กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เพราะมีความสามารถในการผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งการบริโภคก็มีคนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากอาหารญี่ปุ่น    ซูริมิคุณภาพพรีเมียมจะผลิตจากปลา Alaska pollock ซึ่งเป็นปลาที่มีไขมันต่ำ เนื้อสีขาว และมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนซูริมิที่ผลิตได้จากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทยใช้ปลาทรายแดงเป็นวัตถุดิบ หรือปลาทะเลอื่นๆ ที่มีเนื้อขาว ส่วนปลาน้ำจืดนั้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซูริมิไม่ได้เนื่องจากปัญหากลิ่นโคลน เนื้อปลาไม่มีความเหนียวและเนื้อไม่ขาว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 การแก้ปัญหาจราจรด้วยการลดรถสาธารณะใช่แนวทางที่ดีจริงหรือ

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของการจราจรที่ติดขัดแทบทุกจุดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร อยู่ดีๆ คณะกรรมการแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีใครรู้จักว่ามีใครเป็นคณะกรรมการบ้าง ก็เสนอมาตรการใหม่ เอารถเมล์ที่ถูกมองว่าคันใหญ่กีดขวางการจราจรออกไป เพื่อแก้ปัญหารถติดตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนรามคำแหง ทันทีที่มาตรการเผยสู่สาธารณะ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกๆ ช่องทางว่าคนกลุ่มนี้เขาคิดอะไรกันอยู่ มีหลายคนแสดงความคิดเห็นผ่านเพจ safethaibus และ inbox เช่น“รถเมล์ 1 คันจุดคนได้มากกว่า 50 คน ทำไมถึงไม่เพิ่มรถสาธารณะ แล้วลดรถส่วนตัวแทน” “ทำรถสาธารณะให้ดีขึ้น ออกมาตรการจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะกันดีมั้ย” “เอารถเมล์ออก แต่รถส่วนตัวยังวิ่งเหมือนเดิม จะแก้ปัญหาได้ยังไง” ถึงประเด็นนี้จะวิจารณ์กันร้อนแรงแค่ไหน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนคิดเรื่องนี้ด้วย โดย พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่นอกจากมีแผนการหาจุดจอดรถ Park & Ride หรือจอดแล้วจรให้ประชาชนเชื่อมต่อรถชัทเทิลบัส (Shuttle Bus) แล้ว ขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ขสมก.ต้องลดจำนวนรถเมล์ประจำทางในเส้นทางรามคำแหง ในสายที่มีปริมาณรถมากแต่คนขึ้นน้อย เพราะรถมีขนาดใหญ่และเก่า เมื่อเกิดปัญหารถติดรถเสียจะใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจากแนวคิดของ รอง ผบช.น นั่นหมายความว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนรถเมล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ เสริมเติมเข้าไปด้วย ทั้งการหาที่จอดรถ การให้บริการรถชัทเทิลบัสส่งต่อสถานีรถไฟฟ้า โดยมุ่งหวังว่าการมีจุดจอดที่รองรับปริมาณรถส่วนตัวได้มากพอ แล้วมีรถชัทเทิลบัสนำพาไปส่งจุดปลายทาง จะช่วยลดปริมาณการนำรถส่วนตัวเข้ามาวิ่งบนถนนรามคำแหงได้อ่านดูเหมือนจะเคลิ้มไปกับภาพที่สวยหรู รถยนต์จะน้อยลง ถนนจะโล่งขึ้น… แต่ในความเป็นจริงท่านคณะกรรมการฯ อาจจะคิดผิดหรือคิดไม่ครบ เพราะจากมาตรการที่ออกมายังไม่เห็นถึงแรงจูงใจที่คนใช้รถยนต์ส่วนตัว อยากที่จะเอารถไปจอดไว้ที่จุดจอดแล้วใช้รถชัทเทิลบัสไปสถานีรถไฟฟ้าเลย ต้องยอมรับก่อนว่า ส่วนหนึ่งที่คนมีรถส่วนตัวเพราะอยากสบาย ถึงรถติดแค่ไหนก็ยังสบายๆ นั่งอยู่ในรถฟังเพลงเปิดแอร์ได้ ดีกว่าไปทนยืนเบียดสูดกลิ่นเหงื่อไคลของผู้ร่วมทางคนอื่นๆ ในรถสาธารณะ ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนความทรมานจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ฝนตกรถติดน้ำท่วม ยืนรอเป็นชั่วโมงรถเมล์ก็ยังไม่มา หรือรถไฟฟ้าที่เบียดเสียดมากๆ ในช่วงเร่งด่วน เรียกว่าแน่นจนขึ้นไม่ได้ ท่านจะสร้างแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างไร การทำให้ระบบรถสาธารณะที่บรรทุกคนได้จำนวนมากใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นคำตอบมากกว่าเป็นปัญหา ทุกที่ของเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างควบคุมปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่วิ่งในเมือง ยิ่งเป็นเส้นทางก่อสร้าง ยิ่งต้องกำหนดเส้นทางเลี่ยงออกจากจุดก่อสร้าง และเสริมด้วยแรงจูงใจที่อยากให้คนมาใช้รถเมล์ เพิ่มรถเมล์ที่มีคุณภาพเข้ามาแทน แบบนี้ประชาชนถึงอยากจอดรถแล้วไปใช้รถสาธารณะ แต่ปัญหารถสาธารณะบ้านเมืองเราเป็นของแสลงทำให้ดีได้ยาก คนไทยก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้กันในระดับสินค้าขายดี จึงเข้าใจว่าคณะกรรมการชุดนี้คงหมดหนทาง เมื่อไม่สามารถควบคุมปริมาณรถส่วนตัวได้ เลยมาลงที่รถสาธารณะอย่างรถเมล์แทน โดยใช้เหตุผลที่ทุกคนเบื่อหน่ายกับรถเมล์ ที่หลายคันมีสภาพเก่าทรุดโทรม บางสายคนใช้น้อย คนขับหลายรายไร้วินัยเป็นแรงหนุน ซึ่งต้องบอกว่าพลาดครับ แม้ว่าคล้อยหลังออกมาตรการเพียงสองวัน รอง ผบช.น. จะได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะไม่ได้เป็นการลดจำนวนของรถเมล์บนถนนรามคำแหง แต่เป็นการลดขนาดของรถเมล์ลงจากรถขนาดใหญ่บางสายที่มีคนขึ้นน้อยให้เป็นมินิบัส เพื่อให้ถนนโล่งขึ้นลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าจะมองกันให้ลึกแล้ว ปัญหารถติดสำหรับคนเมืองไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่รอวันแก้ไข แต่มันคือวิถีชีวิตที่คนเมืองทุกคนต้องเจอตั้งแต่ตื่นเช้ามาทำงานจนเลิกงานกลับเข้าบ้าน ยิ่งผสมกับมหกรรมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งทำให้เพิ่มปริมาณการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีหลักประกันอะไรจะยืนยันได้ว่า เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้วรถจะไม่ติดอีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเพียงบางจุด ย่อมไม่อาจทำให้ปัญหาในภาพรวมแก้ไขไปด้วยได้ ตัวอย่างของมาตรการแก้ไขปัญหารถติดบนถนนรามคำแหงนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ดีของผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาให้ชัดเจนก่อน ไม่งั้นก็จะตกม้าตายแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระแสต่างแดน

ค่าาเข้าชม  ผู้บริโภครายหนึ่งตื่นเต้นกับโฆษณาขายบ้านในอินเทอร์เน็ต โอ้ว... บ้านหลังโตพร้อมระเบียงกว้างใหญ่ในเขตเมืองเอช รัฐบาเซิล-ลันด์ชัฟท์ ประกาศขายในราคาเพียง 300,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 10 ล้านบาท) เธอจึง “คลิก” แสดงความสนใจ  จากนั้นเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นแพทย์ชาวสเปนชื่อแคทาลีนา ตอบกลับมาว่าเธอได้มอบอำนาจให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Partner Real Estate เป็นนายหน้าดูแลเรื่องการขาย  ต่อมา “ลอร่า วัตสัน” ตัวแทนขายก็โทรมาแจ้งว่าหากเธอต้องการ “เข้าชมบ้าน” ก็ให้ชำระเงิน 12,000 ฟรังก์(ประมาณ 4 แสนบาท) เข้ามาก่อน โดยย้ำชัดเจนว่าไม่ใช่ค่ามัดจำ  มันชักจะยังไง ลูกค้ารายนี้ลองหาข้อมูลผ่านเว็บกูเกิล แต่ก็ไม่พบชื่อของคุณหมอคนดังกล่าวในโรงพยาบาลที่อ้างว่าทำงานอยู่ เธอจึงแจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ  การสืบสวนพบว่า PRE เป็นบริษัทกำมะลอที่นำโฆษณาขายบ้านจากเว็บที่ประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มาใส่ในเว็บตัวเองแล้วสวมรอยเป็นตัวแทนขายโดยเจ้าของตัวจริงไม่รู้เรื่องเลยเที่ยวบินบูมเมอแรง  เบอลินมีท่าอากาศยานสองแห่ง ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของเมือง แต่ไม่มีใครเดินทางระหว่างสองสนามบินนี้ด้วยเครื่องบิน... ยกเว้นผู้โดยสารกลุ่มนี้  เที่ยวบินของสายการบินอีซี่เจ็ทจากท่าอากาศยาน Tegel ตอนเหนือของเบอลินไปยังเมืองซูริคสวิตเซอร์แลนด์ มีกำหนดออกเดินทางเวลา 21:20 น. แต่ด้วยเหตุขัดข้องทางเทคนิค กว่าจะขึ้นบินได้ก็เลย 23:00 น. ไปแล้ว  สนามบินปลายทางมีช่วงเวลาเคอฟิวระหว่าง 23:30 น. และ 06:00 น. แต่กัปตันก็มั่นใจว่ามีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำเครื่องลงได้เป็นกรณีพิเศษ โชคร้าย... กัปตันเข้าใจผิด  ว่าแล้วก็เตรียมบินกลับที่เดิม แต่เวลานั้นสนามบิน Tegel ปิดแล้ว กัปตันจึงต้องนำเครื่องไปลงที่สนามบิน Schönefeld ทางตอนใต้ของเบอลิน ซึ่ง ณ เวลานั้นมีแท็กซี่ให้บริการอยู่เพียง 5 คัน สร้างความเพลียจิตให้กับผู้โดยสารทั้ง 200 คนมิใช่น้อยไม่ชอบเรียนซ้ำ  ปีการศึกษา 2018-2019 ฮานอย โฮจิมินห์ และเมืองใหญ่อื่นๆ เริ่มต้นด้วยเสียงบ่นของพ่อแม่ผู้ปกครองที่หงุดหงิดเพราะหาซื้อหนังสือเรียนให้ลูกหลานไม่ได้  รัฐบาลเวียดนามลดจำนวนการพิมพ์หนังสือเรียนลงเรื่อยๆ โดยส่งเสริมให้นักเรียนใช้หนังสือมือสองที่รุ่นพี่ฝากไว้กับโรงเรียน เพราะแต่ละปีมีหนังสือเรียนหลายร้อยล้านเล่ม (คิดเป็นมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านดอง) ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ   แม้ทางการจะยืนยันว่าเนื้อหาสาระในเล่มไม่ได้เปลี่ยน หนังสือเรียนมือสองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ มีผู้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทำให้พ่อแม่อยากซื้อหนังสือใหม่ให้ลูก ที่สำคัญราคาหนังสือเรียนในเวียดนามก็ถูกมาก (ชุด 6 เล่มสำหรับเด็กประถมราคาไม่เกิน 108 บาท/ ชุด 13 เล่มสำหรับ ม.ต้น ไม่เกิน 200 บาท และชุด 14 เล่มสำหรับ ม.ปลาย ไม่เกิน 220 บาท)   เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ปกครองจ่ายค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนมากที่สุด ข้อมูลระบุว่าปีนี้พวกเขาจ่ายไปเกือบหนึ่งในสามของเงินเดือนอยากดังต้องดี  จีนประกาศผลการจัดอันดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบุคคลในวงการบันเทิง ว่ากันว่านอกจากหน้าตาและความสามารถแล้ว “ความดีงาม” จะทำให้คุณไปได้ไกลในจีนแผ่นดินใหญ่  จากนักร้องนักแสดงเชื้อสายจีนทั้งหมด 100 คน มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ว่าด้วยผลงานการแสดง การร่วมงานการกุศล และการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม  อันดับหนึ่งเป็นของ สวี เจิง ดารานำจากภาพยนตร์ตลกเคล้าดราม่า Dying to Survive ที่พูดถึงความพยายามในการเสาะหายาราคาถูกให้กับผู้ป่วยมะเร็ง (หนังเรื่องนี้ทำรายได้แซง จูราสสิก เวิลด์ และทำให้รัฐบาลจีนประกาศลดค่ายารักษามะเร็งด้วย)  อันดับสองและสามได้แก่ สมาชิกวงบอยแบนด์ TFBoys ที่โดดเด่นด้านงานการกุศล  ส่วนดาราสาว ฟ่าน ปิงปิง แม้จะโด่งดังและ “อินเตอร์” ที่สุด แต่เธอเข้ามาที่โหล่เพราะกำลังถูกทางการสอบสวนในข้อหาเลี่ยงภาษีนั่นเองสงครามราคา  ในอังกฤษ โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอยู่ที่ 4,271 ปอนด์(ประมาณ 184,000 บาท) แต่ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นธุรกิจที่ไม่มีการควบคุมเรื่องราคา บริการนี้จึงค่อนข้างแพงและมักไม่ชัดเจนว่าผู้ซื้อบริการจะได้อะไรบ้าง หน่วยงานกำกับดูแลตลาดและการแข่งขันจึงเริ่มสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนและความโปร่งใสในการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ ระหว่างที่รอผล เรามีคู่มวยเด็ดให้ชมไปพลางๆ ... Co-op (ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16) ออกแพคเก็จ “พิธีศพแบบเรียบง่าย” ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งที่เน้นความหรูหราอย่างบริษัท Dignity   Dignity (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12) ไม่ยอมแพ้ ประกาศลดราคาแพคเก็จบริการของตัวเองลงมาเช่นกัน แต่ Co-op ก็ตอบโต้ด้วยการลดราคาแพคเก็จที่ถูกที่สุดลงจากเดิมอีก 100 ปอนด์  หุ้นของ Dignity ตกฮวบฮาบเพราะนักวิเคราะห์ระบุว่าหากจะสู้ราคากับ Co-op ให้ได้บริษัทจะต้องยอมขาดทุนกำไรประมาณ 1.5 ล้านปอนด์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้กฎหมายกับทนายอาสา

“หนี้นอกระบบ…กับมุม(มอง)ในทางกฎหมาย”ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในปัจจุบัน เป็นผลให้การจับจ่ายใช้สอยทางการเงินของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การหยิบยืมเงินทองของผู้อื่นจึงเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคมักเลือกใช้ แต่เมื่ออำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทั้งในเชิงผลประโยชน์ และการบีบบังคับให้ผู้กู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ต้องตกลงเข้าทำสัญญาโดยสภาวะจำยอมและจำใจ จึงทำให้ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน คือ “ปัญหาหนี้นอกระบบ” ด้วยความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญของรายได้ และสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้รายได้ที่เข้ามาในครอบครัวไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น หนี้สินจึงเป็นโบนัสก้อนโตที่ตามมาโดยที่ผู้กู้นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และแม้ว่ารัฐบาลในยุคหลังๆ จะให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวกลับยิ่งทวีความรุนแรงและสร้างผลกระทบที่กว้างมากขึ้นคำว่า “หนี้นอกระบบ” ถือเป็นการปล่อยเงินกู้รูปแบบหนึ่งโดยเมื่อพิจารณาในแง่มุมทางกฎหมาย จะพบว่ามักเป็นการให้กู้ยืมเงินที่มีการตกลงคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง อาทิ ดอกเบี้ยรายวัน รายเดือน หรือรายปี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอัตราที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น กล่าวคือ กฎหมายกำหนดห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยกันเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ในระหว่างประชาชนทั่วไปด้วยกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบมาตรา 4 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตัวอย่าง นายเอ กู้ยืมเงิน นายบี จำนวน 100,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน (ร้อยละ 24  ต่อปี) โดยนายเอ ได้ชำระดอกเบี้ยไปให้นายบี แล้วเป็นเงิน 25,000 บาท ภายหลังครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา นายเอ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ นายบี ผู้ให้กู้จึงฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งแต่เดิมนั้นศาลฎีกาได้วางหลักไว้คำพิพากษาหลายฉบับในทำนองเดียวกันว่า “การที่ผู้ให้กู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบ มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 (กฎหมายเก่า) ดอกเบี้ยทั้งหมดในการกู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ เป็นผลให้ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยได้เลยตามกฎหมาย แต่ต้นเงินจำนวน 100,000 บาท ยังคงสมบูรณ์ เพราะแยกส่วนออกจากดอกเบี้ยได้ ดังนั้น ผู้ให้กู้จึงคงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ในส่วนต้นเงินจำนวน 100,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแม้ดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ผู้กู้ได้ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราไปแล้ว จำนวน 25,000 บาท ถือเป็นกรณีที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยโดยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้กู้จึงไม่อาจเรียกคืนได้หรือให้นำมาหักกับต้นเงินที่ผู้กู้ค้างชำระอยู่ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ประกอบ มาตรา 411”    เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นช่องทางที่ทำให้เจ้าหนี้นอกระบบแสวงหาผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะเรียกดอกเบี้ยที่เกินอัตราไม่ได้ตามกฎหมายก็จริงอยู่ แต่จำนวนเงินที่ผู้กู้จ่ายมาเพื่อชำระดอกเบี้ยไม่ว่าจำนวนเท่าไร ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้หรือนำมาหักกับต้นเงินก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำเจ้าหนี้นอกระบบยังมีสิทธิได้รับเงินต้นคืนเต็มตามจำนวนเสียอีก จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มความไม่เป็นธรรมแก่ตัวผู้กู้ซึ่งมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบจึงไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งยังส่งผลให้มีจำนวนผู้ให้กู้นอกระบบเพิ่มมากยิ่งขึ้น   สืบเนื่องจากปัญหาที่ผู้เขียนได้กล่าวไปนั้น  ปัจจุบันศาลฎีกาได้กลับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) ซึ่งได้วางแนวบรรทัดฐานในเรื่องของการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เสียใหม่ทำนองเดียวกัน ความว่า “การที่ผู้ให้กู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบ มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 (กฎหมายเก่า) ดอกเบี้ยทั้งหมดในการกู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ เป็นผลให้ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยได้เลยตามกฎหมาย แต่ต้นเงินจำนวน 100,000 บาท ยังคงสมบูรณ์ แต่การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยไป 25,000 บาท ถือไม่ได้ว่าผู้กู้ชำระหนี้อันเป็นการกระทำตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระหรือเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตามมาตรา 407 ประกอบมาตรา 411 เมื่อดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นเป็นโมฆะ เท่ากับว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยเอาไว้ ผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมาย การที่ผู้ให้กู้รับเงินซึ่งเป็นการชำระดอกเบี้ย จำนวน 25,000 บาทไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จึงต้องนำเงินจำนวน 25,000 บาทดังกล่าวที่ผู้กู้ชำระไปหักกับต้นเงินของผู้ให้กู้จำนวน 100,000บาท ผู้กู้จึงเหลือหนี้ที่ต้องชำระ คือ ต้นเงินจำนวน 75,000 บาท และดอกเบี้ยผิดนัดจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้จนครบถ้วน”   คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวถือเป็นอีกตัวอย่างของการใช้คำพิพากษาที่ให้ความคุ้มครองผู้กู้ซึ่งแต่เดิมมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ให้กู้ ให้ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม ทั้งเป็นบรรทัดฐานที่ดีที่ทำให้เจ้าหนี้นอกระบบจะต้องกลับมาให้ความสำคัญถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ไม่เกิดความรับผิดในทางอาญาแก่ฝ่ายผู้ให้กู้เองและความเหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย เพราะคำว่า “หนี้นอกระบบ” แม้อาจเป็นคำที่ดูน่ารังเกียจสำหรับหลายท่าน แต่ก็ถือเป็นความหวังที่หยิบยื่นให้กับหลายครอบครัวที่มืดดำและไม่เห็นแม้แสงสว่างในชีวิต ได้มีโอกาสกลับมามีความหวังอีกครั้ง แม้ท้ายที่สุดผลของมันอาจจะสวยงามกับลูกหนี้หรือไม่ก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 จดหมายถึงบอกอ

      กองบก.ขออภัยในความผิดพลาดและแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องในบทความบนเว็บไซต์แล้วค่ะ ทั้งนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลและขอชี้แจงพร้อมขออภัยมายังบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) ดังนี้ 1.อัตราผลตอบแทน IRR (1.77%) แบบประกันกรุงเทพ 200 ของบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) เป็นไปตามที่บริษัทแจ้งข้อมูลมา ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 2 จากจำนวน 11 บริษัทที่นิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการศึกษา 2.นิตยสารได้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องในทุกช่องทาง และได้จัดทำข่าวแก้ไขให้สื่อมวลชนในวันที่ 19 กันยายน 2561 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 3.บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ ได้แถลงแก้ไขข้อผิดพลาดผ่านรายการวิทยุ FM 96.5 MHz ช่วงเวลา 20.35 – 21.00 น. วันที่ 19 กันยายน 2561

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เปิดร้านชำ ไม่ให้ชีช้ำ

ร้านขายของชำมักเป็นสถานที่ ที่มีคนมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบ่อยๆ ประเด็นที่ร้องเรียนก็หลากหลาย เช่น มีการขายยาด้วย มีสินค้าไม่ถูกต้อง มีสินค้าหมดอายุ ฯลฯ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงมีกิจการร้านขายสินค้าอยู่บ้าง ยิ่งขนาดร้านใหญ่ สินค้าที่จำหน่ายก็ยิ่งเยอะ โอกาสพลาดไปมีสินค้าที่สุ่มเสี่ยงหลงหูหลงตาในร้าน ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา คงเป็นความเสี่ยง ถูกร้องเรียนให้ชีช้ำ ถือโอกาสนี้ เตือนผู้อ่านที่เป็นเจ้าของร้านขายของชำให้ไม่พลาด ชีวิตจะได้ไม่ต้องไปปวดหัวกับการถูกดำเนินคดีภายหลังลูกค้าเรียกหาอาจจะพาชีช้ำ : เจ้าของร้านชำที่ดีย่อมเอาใจใส่ลูกค้า ยิ่งลูกค้าต้องการสินค้าอะไร เจ้าของร้านแทบจะพลีกายถวายชีวิตไปขวนขวายหามาขายในร้านให้ได้ ตั้งสติก่อนเที่ยวไปหามานะครับ ร้านขายของชำ แม้จะมีสินค้าได้หลากหลาย แต่หากลูกค้าอยากได้ยาต่างๆ ท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า สินค้าพวกยาเอามาขายในร้านไม่ได้นะครับ มียากลุ่มเดียวเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาต คือ”ยาสามัญประจำบ้าน” วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ดูฉลากให้ละเอียดครับ ยาสามัญประจำบ้านจะมีข้อความแสดงบนฉลากว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” ถ้าไม่มีอย่าให้มันมาเสนอหน้าอยู่ในร้านเราเด็ดขาด เดี๋ยวความเสี่ยงจะตามมา อาจติดคุกติดตะราง ได้ไม่คุ้มเสียครับยี่ปั่วมั่วๆก็ชีช้ำได้ : ร้านขายของชำบางร้านจะไปซื้อสินค้ามาจากยี่ปั้ว บางทียี่ปั้วแนะนำสินค้าแปลกๆ ให้เอามาขายที่ร้าน  บอกว่ากำลังนิยม รับรองขายดีแน่นอน  อย่ารีบหลงเชื่อนะครับ เช็คให้ดีก่อน สินค้านั้นต้องไม่ใช่ยา หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก็ต้องระวัง ถ้าฉลากไม่ครบ หรือสรรพคุณระบุเป็นยาหรือโฆษณาเกินจริง อย่าใจอ่อนรับมาขาย  เพราะอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ของฝากขาย ซ้ำร้ายจะกลายเป็นเหยื่อ : หลายครั้งที่ไปตรวจร้านขายของชำ และเจอสินค้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้งหรือฉลากไม่ครบ อาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง พอถามแหล่งที่มา เจ้าของร้านมักบอกว่ามีเซลล์มาฝากวางขาย หากขายไม่หมดเซลล์จะมาเก็บกลับคืนภายหลัง ระวังให้ดีนะครับ ตรวจสินค้าที่เขาฝากวางให้ดี หากสินค้านั้นไม่มีข้อมูลแสดงว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง หรือฉลากไม่ครบถ้วน อย่ารับวางไว้ที่ร้านเด็ดขาด มีเรื่องทีไร เซลล์หายหัวทุกทีชื่อแปลกๆ อย่าแหกตาตื่นไปซื้อ : จากประสบการณ์ที่ไปตรวจร้านขายของชำ พบเครื่องสำอางที่แปลกทั้งชื่อและชนิด เช่น ครีมนมเบียด กลูตาผีดิบ เยลลี่ลดอ้วน ฯลฯ ส่วนใหญ่สินค้าพวกนี้ฉลากไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมาย สอบถามผู้ขายว่าไปซื้อมาจากไหน ได้ข้อมูลว่าเห็นมันดังในอินเทอร์เน็ต เลยซื้อจากออนไลน์มาขาย  ตั้งสติครับ ลำพังแค่ชื่อสินค้าที่มันผิดปกติแบบนี้ คงไม่มีหน่วยงานไหนอนุญาตแน่นอน อย่าหาของร้อนจากออนไลน์มาใส่ร้านตัวเองเลยครับ ยังไงใช้ คาถา 4 สงสัย 2 ส่งต่อ ตรวจสอบสินค้าต่างๆ จะได้ไม่พลาดให้ชีช้ำนะครับ (1) สงสัยไม่มีหลักฐานการอนุญาต? (2) สงสัยขาดข้อมูลแหล่งที่มา? (3) สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป? (4) สงสัยใช้แล้วผิดปกติ? (1) ส่งต่อข้อมูลเตือนภัย (2) ส่งต่อเจ้าหน้าที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ขัดหลักสากล

ในโอกาส 40 ปี แห่งการก่อตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) ฉลาดซื้อได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์  หรืออาจารย์จิ ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) คนที่ 3 และรองประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน เคยถูกเรียกว่า “อาจารย์นอกคอก” อาจารย์จิเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กศย. กลุ่มงานเล็กๆ ที่ร่วมปฏิบัติการทางสังคมในประเด็นปัญหายามาอย่างยาวนาน  ถึงมุมมองของท่าน ต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง   ปัญหาของร่าง พ.ร.บ. ยาขณะนี้คือ “ คือประเด็นของร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้นั้น จริงๆ มันไม่ได้เพิ่งเกิด ก็มีความพยายามมานานมาก เพราะว่าเป็น พ.ร.บ. ที่เก่ามาก ตั้งแต่ปี 2510 จนกระทั่งมาปี 2557 ในปีนั้นได้มีการพูดคุยเวทีมากมายในการที่จะพยายามสรุปประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ นั้นยอมรับได้ระดับหนึ่งของ พ.ร.บ. ยา  ต้องเข้าใจว่า พ.ร.บ.ยา นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือในการควบคุมดูแล ไม่ว่าจะผลิตยา ขายยา นำเข้า และการใช้งาน เพราะฉะนั้นตรงนั้น ผู้บริโภคเองก็มีส่วน ผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่างๆ ก็อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้ประกอบวิชาชีพหลักของการดูแลตาม พ.ร.บ.นี้นั้นก็คือวิชาชีพเภสัชกรรม พอหลังจากปี 57 ได้ข้อสรุปในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า มีผลดีต่อการที่จะทำให้ผู้บริโภคนั้นจะได้รับยาอย่างปลอดภัยและมีการใช้อย่างปลอดภัยก็คือ ในเรื่องการของ กระบวนการขึ้นทะเบียนยา เราก็บอกว่า อย่างน้อยๆ เรามีปัญหาในการเข้าถึง เพราะราคามันแพงมาก เพราะฉะนั้นน่าที่จะใช้กลไกในเรื่องของมีการควบคุมราคาตั้งแต่ตอนที่เขาจะมาขายในประเทศเรา ก็คือมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการเสนอโครงสร้างราคา หรือในรูปของการที่ต้องต่อรองราคาให้มันเหมาะสม ว่าคุณจะเริ่มมาขายในประเทศนี้นั้น คุณจะขายในราคาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นตรงนั้นก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเข้าถึง ส่วนในกลไกในเรื่องของ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางยา นั้นก็คือว่า เราจะเห็นเลยว่า ถ้าในเรื่องของราคาที่เมื่อกี้พูดถึงนั้น ถ้าสมมติปัจจุบันนี้ยามันมีสิทธิบัตร เขาจะตั้งราคาแพงมาก เพราะว่ามันไม่มีตัวเปรียบเทียบ มีการผูกขาดเจ้าเดียว เราถึงเรียกร้องว่า ต้องมีโครงสร้างราคาหรือมีกลไกการต่อรองเพื่อให้มันเหมาะสม เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ และก็ต่อมานั้นเราจะเห็นชัดว่าถ้าอย่างนี้ เราต้องพึ่งยานำเข้าอยู่ตลอดนี่มันก็จะเป็นปัญหาความมั่นคงของระบบยาในประเทศ เพราะฉะนั้นการที่ต้องทำให้อุตสาหกรรมในประเทศนั้นพึงตนเองได้ และสามารถที่จะพัฒนาในเรื่องของอุตสาหกรรมยาได้เพื่อสามารถที่จะผลิตยาชื่อสามัญออกมาในเวลาที่เหมาะสมหลังจากยาหมดอายุสิทธิบัตร ถูกไหม เพราะฉะนั้นเขา(บริษัทยาในประเทศ) ต้องมีการเตรียมตัวไง เพราะว่าในการทำยาชื่อสามัญนั้นไม่ได้หมายความว่าพอหมดสิทธิบัตรปั๊บ รู้ว่าหมดปั๊บจะเอามาขายได้เลย เพราะมันต้องมีกระบวนการในการวิจัยพัฒนา มีกระบวนการในการมาขึ้นทะเบียนยา ถ้าเขารู้ข้อมูลว่า ยาแต่ละตัวที่มาขายในประเทศไทยนั้น มีสิทธิบัตรหรือเปล่า ในประเทศไทย สิทธิบัตรนั้นมันจะหมดอายุเมื่อไหร่ คือว่าเราต้องการที่จะให้มีการแจ้งบอกข้อมูลสถานะสิทธิบัตรของยา เพราะยาบางตัวอาจมีสิทธิบัตรหลายใบ สิทธิบัตรแต่ละใบมันมีเวลาไม่เท่ากันเวลาที่มันไม่เท่ากัน คือเวลาที่มันต่างกัน เพราะเวลาที่มาขอในช่วงต่างกัน แม้ว่าเป็น 20 ปีนับจากวันยื่นคำขอ นึกออกไหม แต่ถามว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลจำเป็นไหม ลองคิดดูสมมติว่าตามหลักการทั่วไปก็คือเวลาที่เขามาจดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์มันต้องมีข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศ แต่ข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศไทยนั้นมันบกพร่องมาก มันไม่สามารถที่จะค้นได้ มันไม่ได้สามารถหาได้ เพราะฉะนั้นมีหลายๆ ประเทศเลย เขามีกลไกที่ชัดเจนของกระบวนการในการขึ้นทะเบียนยาว่า คุณต้องให้ข้อมูลสิทธิบัตรนี้ ถ้าคุณให้ข้อมูลนี้มันก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมด้วย เพราะอุตสาหกรรมนั้นเขาก็สามารถที่จะรู้ว่า มียาตัวนี้นะ มันจะหมดสิทธิบัตรในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเริ่มวิจัยแล้ว พอวิจัยเสร็จเขาก็ต้องเริ่มกระบวนการที่จะไปขอขึ้นทะเบียนตำรับยา เพราะฉะนั้นพอยาหมดสิทธิบัตรปั๊บเขาก็ออกตลาดได้ในเวลาที่ไม่ช้า พอมียาชื่อสามัญออกราคามันก็ไม่ผูกขาดแล้ว มันก็มีการลดราคากัน และถ้ามีการแข่งขันกัน กลไกตลาดมันก็จะได้ทำงาน ในที่ประชุมตอนปี 57 นั้น เขาตกลงกันชัดเจนว่าต้องแจ้งข้อมูลสิทธิบัตร สิทธิบัตรต้องมีข้อมูลเรื่องโครงสร้างราคายา แต่ปรากฏว่าฉบับร่างปัจจุบัน ที่เขาเอามารับฟังความเห็นล่าสุดเลย ที่ขึ้นในเว็บไซต์ของ law moment ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่จะเสนอกฎหมาย ปรากฏว่าเราไม่เห็นเรื่องโครงสร้างราคา เรื่องนี้ถูกเอาออก ทำไมถึงเอาออกไป ที่เคยตกลงตอนปี 57 พอมีเปลี่ยนรัฐบาล มันมีเรื่องการเมือง กฎหมายมันก็เลยยังไม่ได้นำเสนอข้อนั้น ข้อดีๆ ข้อหนึ่งที่ผู้บริโภคควรได้กลับไม่ได้เสียแล้ว มันหายไป ประเด็นที่สองก็คือว่า ตอนนั้นตกลงกันว่าอายุทะเบียนยานั้นจะเป็น 5 ปี เพราะว่าของเดิมนั้นมันไม่มีอายุ มันไม่มีอายุมันแย่มาก ถูกไหม เพราะว่ายาที่ไม่ดี ยาเก่า ยาที่มันมีผลข้างเคียงเยอะแยะมันก็ไม่ออกจากตลาดสักที การที่มันไม่ออกจากตลาดนั้นเป็นเพราะเราไม่มีกลไก หรือว่ากลไกเรานี้มันทำงานไม่ดี กลไกที่ว่ามันคือ กลไกการทบทวนตำรับยากับในเรื่องของอายุทะเบียน คือสองอันนี้เชื่อมโยงกัน คือถ้ามันมีอายุทะเบียนตำรับยามันก็จะทำให้เกิดการทบทวนทะเบียนตำรับ และถ้าเขียนให้ชัดว่าต้องมีกระบวนการในการทบทวนทะเบียนตำรับ มันก็เป็นการบังคับให้การมีอายุหรือใกล้หมดอายุนั้น ก่อนให้ใบอนุญาตใหม่ต้องทบทวน ไม่ใช่ให้โดยอัตโนมัติ เพราะว่าถ้าเราไม่มีกลไกการทบทวน พอถึงหมดอายุ 5 ปี มาเสียเงินต่อละ มันก็ต่อได้ เพราะฉะนั้นตรงนั้นไม่เห็น มันหายไป ไม่เห็นชัดเจน และที่เคยคุยกันแค่ 5 ปีพอ มาเป็น 7 ปี ขยายเป็น 7 ปี ซึ่งอาจจะอ้างว่า เป็นเพราะอาจทำให้เกิดภาระงานหรืออะไร ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นหลัก 5 หรือ 7 ปี ก็ขอให้มีทบทวนก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย อันนี้คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคที่ชัดเจน  ผลกระทบกับผู้บริโภคที่มีแน่ๆ คือเรื่องการโฆษณายาใช่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่ากระทบมากต่อผู้บริโภค คือ เราจะเห็นว่าตอนนี้ ผู้บริโภคถูกหลอกจากการโฆษณาการส่งเสริมการขายยานี่เยอะมาก แม้ว่ายาเองจะบอกว่า ยาเองมันมีประเภทของมัน ถ้าเป็นยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษจะโฆษณาไม่ได้ แต่เราก็เห็นเขาทำกัน มีทั้งการเลี่ยง การส่งเสริมการขายด้วยวิธีการต่างๆ ปรากฏว่าในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ก็เขียนว่าต่อไปการโฆษณา ซึ่งเดิม ต้องยอมรับว่าของเดิมมันดีอยู่แล้ว ที่ว่าการโฆษณานั้นต้องมาขออนุญาต กฎหมายใหม่เขาก็เปิดช่องว่า ขออนุญาตก็ได้หรือจดแจ้งก็ได้ จดแจ้งหมายถึงว่าไม่ต้องขออนุญาต คุณเพียงบอกว่า คุณจะโฆษณาข้อความแบบนี้แล้วคุณก็ไปโฆษณาได้เลย แล้วเขาค่อยไปตามหาจับ ถ้าสมมติว่าผิด กว่าจะจัดการปัญหาการโฆษณาได้ โอ้ย..ชาวบ้านติดไปตั้งเยอะแล้ว มันฝังในความคิดผู้บริโภคไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่มีประโยชน์ มันทำให้กระบวนการที่ดูแลตรงนี้มันลดลง เพราะฉะนั้นนี่คือหัวใจหลักๆ เลย 3-4 ข้อที่มันมีผลต่อผู้บริโภคมาก อย่างอื่นๆ นั้น ก็คือในเรื่องของหลักการทั่วไป ในเรื่องของยานั้น ยามันไม่ใช่สินค้าทั่วไป ยานั้นมันเกิดจากการที่หมอต้องสั่งจ่ายยาให้เรา แต่ว่าถ้าเราไม่มีกลไกในการถ่วงดุล หมออาจจะสั่งยาที่อาจจะมีผลเนื่องมาจากการส่งเสริมการขาย อาจจะมีผลเนื่องมาจากอะไรไม่รู้ ก็สั่งยาโดยที่ว่ามันอาจจะมีปัญหา ไม่ว่าเรื่องของราคาแพง หรือมันอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของยาตีกัน หรือปัญหาที่คนไข้อาจจะแพ้แล้วไม่ได้บอกหรืออะไรก็ตามเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโดยหลักสากลเลยเขาถึงมีวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นมา มีเภสัชที่คอยดูแลเพราะมันคือการทำงานในการถ่วงดุลกัน คนหนึ่งเขียนใบสั่ง อีกคนหนึ่งนั้นเมื่อรับใบสั่งมาก็เป็นคนจ่ายจัดยารับผิดชอบในเรื่องยา เพราะฉะนั้น คนจ่ายก็ต้องดูว่าคนไข้เคยได้รับยาอะไรมาแล้วบ้าง ถ้าได้ยานี้นั้นจะมีปัญหายาตีกันไหม หรือมีปัญหากับอาหารการกินจะได้แนะนำคนไข้ได้ ถูกไหมคะ เพราะหมอเขามีความชำนาญในของเรื่องการวินิจฉัยการรักษา เภสัชนั้นชำนาญในเรื่องของยา และเราจะเห็นเลยว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเร็วมาก ยาก็ออกมาใหม่ๆ เร็วมาก เพราะฉะนั้นแค่ตามเรื่องยาก็จะไม่ทันเทคโนโลยีแล้ว ให้หมอตามทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเองนั้นมันก็จะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ยาในทุกประเทศนั้น เขาก็จะมีหลักการที่ชัดเจนของการแยกอำนาจในการดูแลว่าคนที่สั่งนั้นก็จะไม่จ่าย นึกออกไหม คนที่สั่งจะไม่จ่าย มันชัดเจน ประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ หลักการเรื่องถ่วงดุลนี้ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะอะไร เพราะเขาแบ่งยาเป็น 4 ประเภท ประเภทแรกนั้นก็คือยาควบคุมพิเศษ คือยาควบคุมใบสั่ง เป็นยาที่มันอาจจะมีผลอย่างที่เมื่อกี้อาจารย์เล่า ยาตีกันบ้าง ยาที่มันอาจจะเพิ่งใช้ใหม่ๆ มันยังไม่มีข้อมูลมากพอ มันจำเป็นต้องควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด อันนี้ก็คือยาที่หมอสั่งแล้วก็ให้เภสัชนั้นจ่ายตามใบสั่งยา ประเภทที่สองคือยาอันตราย ยาอันตรายนั้น คือยาที่มันไม่ได้อันตรายเท่ายาควบคุมพิเศษ เป็นยาที่ใช้มานานพอควรระดับหนึ่ง มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ให้เภสัชจ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ กับประเภทที่สามคือ ยาสามัญ เป็นยาทั่วไปที่มันใช้มานานค่อนข้างปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านก็ซื้อใช้เองได้ รู้พอควร และก็มีขนาดของรูปแบบของยาที่ชัดเจน เช่น พาราเซตามอลก็เป็นแพ็คแค่ 10 เม็ด ไม่ใช่ให้ขายทั้งขวด ถ้าทั้งขวดก็ต้องเป็นยาอันตราย ถูกไหมคะ เพราะไม่งั้นคนไข้ก็เอาไปกรอกทีละ 50 เม็ด มันก็เป็นอันตราย คือยาทุกตัวก็เป็นยาอันตราย แต่ว่ารูปแบบของการที่จะทำให้เป็นยาสามัญที่คนไข้เข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรสาธารณสุขนั้น มันมีวิธีการจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแพ็คจะเป็นยังไง(เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เกินขนาด) หรือว่าคำแนะนำเหล่านี้มันก็จะประกอบอยู่ในกลุ่มของยาสามัญ แต่ใน ร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้มียาประเภทที่สี่ คือ ยาที่ไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ ไม่ใช่ยาอันตราย แต่ไม่รู้ยาอะไร ซึ่งประเภทนี้ไปเปิดให้บุคลากรอื่นๆ สามารถจ่ายยาได้ แปลว่าอะไร จะให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เยอะอีกหนึ่งกลุ่ม เพื่อให้บุคลากรอีกเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการแพทย์อีกตั้งหลายสาขาเยอะแยะ พยาบาลก็มีเยอะแยะในการจ่าย ซึ่งมันก็จะไม่ถูกมันไม่ได้ใช้หลักการของการที่จะดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้ยาให้มีการถ่วงดุลของอำนาจในการที่จะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มเภสัชทั้งหลายรวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งหลายถึงจะออกมาคัดค้าน แล้วถ้าจำเป็น คือหลายคนก็บอกว่าบ้านเรานี่แบ่งให้มันชัดแบบนี้ หมอนี่จ่ายยานั้นไม่ได้ จะไปหาเภสัชอยู่ในคลินิกได้ทุกคลินิกหรือเปล่า จะอะไรหรือเปล่า อันนี้มันเป็นข้อยกเว้นว่า โอเค สถานการณ์ในบางสถานการณ์นั้นในบริบทของยาบางประเภท ถ้ายังไม่พร้อมคุณก็มาเขียนระบุไปสิว่าให้มีการยกเว้น แต่หลักนี้มันต้องยึดหลักไว้ก่อนแล้วมายกเว้น การยกเว้นต้องมีเงื่อนไข นึกออกไหม ยกเว้นให้หมอจ่ายยานั้น หรือให้จ่ายยาได้ในกรณี... ไม่ใช่เฉพาะสั่งเท่านั้น เช่น จ่ายยาได้ในกรณีที่ถ้าพื้นที่นั้นไม่มีร้านขายในอาณาเขตสักกี่กิโลก็ว่าไป อะไรก็ว่าไป มันก็จะเป็นข้อยกเว้น ถ้าสมมุติเงื่อนไขนั้นมันหมดไปมันเข้าสู่ระบบ โอเค มันก็มีใบสั่งไปที่ร้านยา ไม่งั้นใบสั่งมันก็ไม่ไป ฉะนั้นต้องมีใบสั่ง ต้องให้เภสัชอยู่ประจำ แล้วคุณไม่มีใบสั่งไป คือไม่รู้ว่าอะไรแก้ปัญหาอะไร เพราะว่าหลักของมันไม่ชัดเจนเท่านั้นแหละ อันนี้คือประเด็น  ดูเหมือนมีปัญหาพัวพันกันไปเรื่อยๆ ใช่ มันก็พัวพันกันไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีใบสั่งยา ยาขายง่าย ใช้คล่อง ก็อย่างนี้แหละ เพราะว่ามันไม่ยึดหลักไง ถ้ายึดหลักแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาของการขาดแคลน พอแก้ปัญหา โอเค พื้นที่นี้ไม่มีร้านยาเพราะมันอยู่ไกลกันมาก ร้านยายังไม่ไปเปิดหรอก โอเคก็เป็นข้อยกเว้นไป ในคลินิกเอกชนคุณจะไม่มีเภสัชไปอยู่ หรือจ่ายโดยหมอคนเดียวก็โอเครับสภาพไป แต่ถ้ามันมีร้านยาคุณจะมาขายเองสั่งเองอย่างนี้ทำไม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปชาร์ตค่ายาแพงมากขึ้นไปอีกไหม เหมือนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลาย มันไม่รู้เลยว่าเป็นค่ารักษาหรือค่ายา  จากการทักท้วงของหลายฝ่าย ล่าสุดคือพอมีเสียงค้านออกมาเยอะ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบในกฎหมายนี้เขาก็นัดประชุม นัดประชุมในเรื่องของวิชาชีพเภสัช และก็กับคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ  และก็ผู้คัดค้านทั้งหลาย สรุปว่าจะมีการแก้ในประเด็นว่ากลุ่มยาเขาจะเหลือแค่ 3 กลุ่ม คือ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตรายและยาสามัญ            ก็เป็นข้อที่ดีขึ้น แต่ยังไม่รับปากเรื่องโครงสร้างราคา ไม่พูดถึงเรื่องการแก้โครงสร้างราคา เรื่องของการโฆษณาเอาจดแจ้งออก ทาง อย. ยอมแก้ ประเด็นที่สองอันนั้นยอมแก้ เรื่องของข้อยกเว้น ก็ไม่ใช่เป็นข้อยกเว้น เป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายเลย แล้วไม่มีเงื่อนไขว่าจะเมื่อไหร่ นึกออกไหมว่าจะให้หมอ ให้ทันตแพทย์ สัตวแพทย์  ที่สามารถจ่ายยาได้โดยที่ไม่มีเงื่อนไขเลย พวกนี้จ่ายยาได้โดยไม่มีข้อบังคับอะไร แต่เรื่องที่จะเปิดให้วิชาชีพอื่นๆ นี้จ่ายยาได้นั้นถูกตัดออก เพราะยาประเภทสี่มันถูกตัดออกไปแล้ว  สามหรือสี่จำไม่ได้ มี แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ 3 แพทย์ เป็นข้อยกเว้นได้ แต่ว่าพยาบาลไม่ได้ แต่ว่ามันไม่มีเงื่อนไข ถ้าสมมุติเรายึดหลักถ่วงดุลมันต้องมีเงื่อนไขว่าจ่ายได้กรณีไหนได้บ้าง นี่มันจ่ายได้ตลอดในคลินิกของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันก็ยากที่จะแก้ปัญหา  คนทั่วไปเขาจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เรากังวลก็คือเมื่อเกิดความไม่รอบคอบในกระบวนการทำกฎหมาย มันก็จะเป็นกฎหมายไม่ดีออกมา แม้ว่ามันจะมีข้อดีกว่าฉบับที่แล้ว แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้แก้ในหลักการใหญ่ๆ หรือว่ามันก็ไม่ได้รองรับสถานการณ์ปัจจุบันที่เรามีการขายยาออนไลน์ มันจะมีกติกายังไงในการที่จะไม่ให้มีการขายออนไลน์หรือให้ขายออนไลน์แล้วผู้บริโภคปลอดภัย ถูกไหม มันไม่มีเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเองก็ต้องตาม และพยายามที่จะรักษาสิทธิของตัวเองในการที่จะรัฐเองต้องให้ความคุ้มครองปลอดภัยของเขา

อ่านเพิ่มเติม >