ฉบับที่ 204 ที่นอนยุบตัว

บางครั้งสินค้าก็มีราคาและคุณภาพที่สวนทางกัน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างเรา ที่นอกจากจะเสียเงินแล้วยังเสียเวลาในการเปลี่ยนคืนสินค้าอีกด้วย คุณแก้วตาต้องการที่นอนขนาด 6 ฟุต จึงไปเดินเลือกซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าเมกาบางนา ต่อมาเมื่อพบยี่ห้อที่ต้องการ เธอจึงตัดสินใจซื้อไปในราคาเกือบ 30,000 บาท แต่หลังจากที่นอนถูกจัดส่งมายังบ้านพักของเธอและใช้งานไปประมาณ 1 สัปดาห์กลับพบว่า ที่นอนดังกล่าวมีลักษณะยุบจมเป็นรอยตามส่วนของลำตัวที่กดทับ ไม่ฟูกลับคืนรูปดังเดิม เธอจึงแจ้งปัญหาไปยังบริษัท ซึ่งส่งพนักงานมาวัดระดับความยุบตัว และพบว่ายุบลงจากปกติจริงประมาณ 5 เซนติเมตร คุณแก้วตาจึงต้องการเปลี่ยนที่นอนใหม่ ซึ่งบริษัทก็ยินดีทำตามข้อเสนอดังกล่าว แต่สามารถจัดส่งสินค้าใหม่ให้ได้ในอีก 2 เดือนหลัง ด้านคุณแก้วตาเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องยินยอมรับข้อเสนอไป อย่างไรก็ตามเมื่อที่นอนมาส่งใหม่ตามกำหนด เธอกลับพบปัญหาอีกครั้ง เพราะเมื่อจัดที่นอนวางลงบนเตียงแล้วกลับพบว่า ที่นอนที่ถูกนำมาเปลี่ยนให้นี้ มีขนาดต่ำกว่าที่นอนเดิมเยอะมาก ซึ่งไม่ตรงตามขนาดมาตรฐานของสินค้าที่ขาย ส่งผลให้เธอต้องโทรศัพท์กลับไปร้องเรียนยังบริษัทอีกครั้ง และได้การตอบรับว่ายินดีจะเปลี่ยนสินค้าให้อีกรอบเมื่อสินค้ารอบที่ 3 มาถึงและถูกใช้งานไปประมาณ 2-3 วัน คุณแก้วตาก็ต้องพบกับปัญหาเดิมคือ ที่นอนยุบตัวไม่คืนรูปขึ้นมาอีก เธอจึงโทรศัพท์ไปร้องเรียนพร้อมแจ้งว่าไม่ต้องการเปลี่ยนที่นอนใหม่แล้ว แต่ต้องการให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ บริษัทจึงยื่นข้อเสนอว่า เธอสามารถเปลี่ยนที่นอนเป็นรุ่นอื่นได้ในราคาที่สูงกว่า(ให้จ่ายส่วนต่างเพิ่ม) หรือราคาที่ถูกกว่า(ให้ของสมนาคุณทดแทนส่วนต่าง) เพราะทางบริษัทไม่มีนโยบายคืนเงินให้กับลูกค้า แต่คุณแก้วตารู้สึกไม่มีความประทับใจในยี่ห้อนี้อีกต่อไปแล้ว จึงปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดพร้อมยืนยันให้มีการคืนเงินเช่นเดิมภายหลังทางบริษัทจึงตอบกลับมาว่า หากคุณแก้วตาต้องการคืนเงิน จะใช้เวลาในการพิจารณานาน รวมทั้งต้องหักเงินในส่วนค่าของแถมอีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณแก้วตาเห็นว่าในส่วนที่จะถูกหักนั้นอยู่ในราคาที่พอรับได้ เธอจึงรับข้อเสนอดังกล่าว แต่ขอให้มีการคืนเงินให้เร็วที่สุด ซึ่งบริษัทแจ้งว่าจะสามารถโอนเงินคืนได้ภายใน 3 สัปดาห์ โดยจะส่งพนักงานมารับสินค้ากลับไปก่อน ทั้งนี้เมื่อคุณแก้วตาสอบถามต่อว่า หากพนักงานมารับสินค้าแล้ว จะมีเอกสารหรือหลักฐานเพื่อยืนยันว่าจะได้รับเงินคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้หรือไม่ กลับได้รับคำตอบว่าทางบริษัทไม่มีให้และไม่เคยเกิดเหตุการณ์โกงเงินลูกค้าขึ้น ส่งผลให้คุณแก้วตากังวลว่าอาจไม่ได้รับเงินคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด และไม่ยินยอมให้พนักงานมารับที่นอนกลับไป พร้อมส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับในกรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 472 กำหนดให้ทรัพย์สินที่ชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ผู้ขายต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ก็ตาม หรือกรณีที่ความชำรุดบกพร่องไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ ซึ่งจะเห็นความชำรุดบกพร่องเมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ผู้ร้องก็สามารถเรียกให้บริษัทรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยสิทธิของผู้ซื้อเมื่อทรัพย์สินนั้นชำรุดบกพร่อง คือ 1. สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง 2. สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน 3. สิทธิบอก (ปัด) เลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย เงินมัดจำชำระหนี้บางส่วน ทั้งนี้หลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันหากพบว่า บริษัทไม่คืนเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดได้นั้น สามารถเป็นเอกสารการรับสินค้าก็ได้ ซึ่งพนักงานจะนำมาให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อเมื่อรับสินค้ากลับไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์

เพราะการทำประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ ซึ่งมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียดของประกันให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธนพรได้รับการเชิญชวนให้ทำประกัน จากพนักงานของบริษัทกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต เธอจึงแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ซึ่งพนักงานได้ตอบกลับมาว่ามีประกันชีวิตที่มีลักษณะคล้ายการออมแบบที่เธอต้องการ โดยเมื่อครบ 5 ปีจะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และที่สำคัญที่สุดคือลดเบี้ยประกันปีแรกอีก 10,000 บาท ทั้งนี้นอกจากข้อมูลที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว พนักงานได้แจ้งรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่ค่อยเข้าใจมากนัก แต่ก็ยินดีตกลงทำประกันดังกล่าว และตัดสินใจใช้บัตรเครดิตชำระค่าเบี้ยประกันไปจำนวน 40,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อคุณธนพรถึงบ้าน และอ่านเอกสารการทำประกันที่ได้รับมากลับพบว่า ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เธอต้องการ เพราะประกันดังกล่าวจะสามารถได้รับเงินออมต่อเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ในขณะที่เธอต้องการเพียงแค่ออมทรัพย์ไว้และได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามชราภาพ ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นนี้ คุณธนพรจึงโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้เมื่อผู้ร้องพบว่ากรมธรรม์ไม่ตรงกับที่พูดคุยเอาไว้ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการก็สามารถยกเลิกประกันได้ภายในกำหนดเวลาและได้เงินค่าเบี้ยประกันคืนทั้งหมด ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บอกเลิกสัญญาภายได้ใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัท หรือมากกว่า 15 วัน ขึ้นกับแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่มีการเสนอขาย ซึ่งภายหลังศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำจดหมายยกเลิกสัญญา และจดหมายปฏิเสธการชำระหนี้ของบัตรเครดิต และเมื่อได้รับเงินคืนเรียบร้อย ผู้ร้องก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 เครื่องพิมพ์ไม่มีหัวพิมพ์

ผู้บริโภคหลายคนที่ชื่นชอบการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ อาจลืมอ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของสินค้าและตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณโจนาธานต้องการเครื่องพิมพ์ใหม่ จึงตัดสินใจเลือกสินค้าผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่เคยซื้ออยู่แล้วเป็นประจำ โดยภายหลังพบสินค้าที่ต้องการ เขาจึงตัดสินใจซื้อและชำระเงินจำนวนกว่า 2,000 บาทไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสินค้า เขากลับพบว่าเครื่องพิมพ์ดังกล่าว ไม่สามารถพิมพ์ได้ เพราะไม่มีหัวพิมพ์และหมึกมาให้ ซึ่งเขาคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและต้องการเปลี่ยนคืนสินค้า จึงส่งเรื่องมาขอคำแนะนำที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยผู้ร้องติดต่อไปยังเว็บไซต์ขายของออนไลน์ดังกล่าว ซึ่งพนักงานได้ตอบกลับมาว่า สินค้าที่ผู้ร้องสั่งซื้อนั้น หน้าเว็บไซต์ระบุว่าเป็นเพียงอะไหล่ของเครื่องพิมพ์ จึงไม่มีหัวพิมพ์มาให้ อย่างไรก็ตามในกรณีหมึกพิมพ์นั้น ไม่มีการระบุหน้าเว็บไซต์ว่าไม่มีหมึกพิมพ์ ดังนั้นทางเว็บไซต์จะช่วยเยียวยาผู้ร้องด้วยการมอบบัตรกำนัลส่วนลดให้จำนวน 500 บาท สำหรับการซื้อสินค้าอื่นๆ ในครั้งถัดไป ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ถึงคราผู้หลอกลวงจะทวงคืน

นักคุ้มครองผู้บริโภคหลายท่านเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้ ผู้จำหน่ายสินค้าทั้งหลายก็มีการปรับกลยุทธ์ หรือมีเทคนิคการเอาตัวรอดมากขึ้นเช่นกัน  ลองดูกลยุทธ์ของพวกเขา เพื่อเราจะได้เท่าทัน 1. ตาต่อตาฟันต่อฟัน : ผู้จำหน่ายสินค้าหลายรายเริ่มหันมาเผยแพร่ข้อมูลตอบโต้นักคุ้มครองผู้บริโภคกันตรงๆ แบบแลกหมัด เช่น เปิดเฟซบุ๊คด่าเจ้าหน้าที่ อ้างว่าผลิตภัณฑ์สินค้าของตนปลอดภัย รุ่นที่ผู้บริโภคนำไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจเป็นของปลอม นอกจากนี้ยังอ้างว่า ตนทำมาหากินบริสุทธิ์เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ หาเงินเป็นทุนการศึกษาก็ถูกกลั่นแกล้ง 2. เข้าพบหัวหน้า อ้างอิงคนใหญ่คนโต : ผู้จำหน่ายสินค้าบางรายจะใช้วิธีอ้างอิงคนใหญ่คนโตที่มีอิทธิพลในสังคม และขอเข้าพบหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่หรือผู้บริโภค อ้างว่าตนได้รับผลกระทบจากการทำงานของผู้บริโภคหรือเจ้าหน้าที่  3. ใช้รูปถ่ายอวดบารมีข่มขวัญ : บางรายก็จะงัดเอารูปที่ตนเองถ่ายกับคนใหญ่คนโตมาโชว์ เพื่อให้นักคุ้มครองผู้บริโภคหรือเจ้าหน้าที่ยำเกรง บางรายก็ทำทีเป็นเข้ามาพบผู้ใหญ่เพื่อมาชี้แจงหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็ถือโอกาสขอถ่ายรูปคู่ด้วย สุดท้ายก็เอารูปไปโชว์หลอกชาวบ้านว่า ตนได้เข้าพบผู้ใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่รับทราบว่าปลอดภัย วิธีนี้ผู้ใหญ่บางคนเคยเสียมวยไม่ทันเกม โดนเด็กหลอกมาแล้ว  4. ส่งหนังสือขอให้แก้ข่าว : ผู้ผลิตหลายรายเริ่มฉลาด เมื่อถูกตรวจพบสารอันตราย ก็จะงัดเอกสารหลักฐานผลการตรวจวิเคราะห์ของตนเองออกมาต่อสู้ โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนตรวจทำไมไม่เจอ เจ้าหน้าที่อาจไปเจอของปลอมก็ได้ บางรายหัวหมอทำทีไปแจ้งความว่า มีคนปลอมผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนบริสุทธิ์และขอให้หน่วยงานแก้ข่าวให้ตนด้วย หากหน่วยงานไหนไม่เท่าทันก็จะหลวมตัวไปแก้ข่าวให้ สุดท้ายผู้ผลิตก็ใช้ข่าวที่หน่วยงานแก้ให้ไปแสดงประกอบการขายอีก งานนี้เลยไม่รู้ว่าใครโง่ ใครฉลาดกว่ากันเจอไป 4 กลยุทธ์ อย่าเพิ่งกังวล หากจะสู้กับผู้ผลิตที่หลอกลวงและหัวหมอแบบนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องเก็บให้ครบถ้วนชัดเจน เช่น เมื่อเจอผลิตภัณฑ์ที่อันตราย พยายามคงสภาพเดิมให้มากที่สุด อย่าแบ่งถ่ายใส่ขวดอื่น  บันทึกรายละเอียดต่างๆ ให้ละเอียดมากที่สุด เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร พบอะไร จำหน่ายที่ไหน โฆษณาอย่างไรคนที่ซื้อไปใช้มีอาการผิดปกติหรือไม่ ตรงนี้ถ้าเก็บข้อมูลได้เยอะยิ่งดีพยายามหาพยานบุคคลมารับรู้พร้อมๆ กับเรา เช่น นักข่าว หรือถ้าได้เจ้าหน้าที่ของรัฐมาเป็นพยานรับรู้ก็ยิ่งดีหากจะต้องนำส่งตรวจวิเคราะห์ต้องปิดผนึกให้มิดชิด เพื่อกันข้อครหาว่าเราสลับสินค้า และควรเก็บผลิตภัณฑ์ตามสภาพที่เหมาะสมของแต่ละชนิด เช่น แช่เย็น เก็บให้พ้นแสง ฯลฯ เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตอ้างได้ว่าผลิตภัณฑ์เสียหายระหว่างทางหากเรามีข้อมูลชัดเจนแล้ว เมื่อต้องชี้แจงหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาก็จะง่ายขึ้นในกรณีที่พบว่าผู้ผลิตลงข้อมูลตอบโต้เราในโลกโซเชี่ยล ขอให้เก็บบันทึกข้อมูลให้ละเอียด และหากจำเป็นเราอาจต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จัดการกับพวกนี้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ค้างค่าส่วนกลางห้องชุดเจ้าของห้องต้องระวัง

ครั้งนี้ก็มีเรื่องกฎหมายสำคัญใกล้ตัวผู้บริโภคที่จะเอามาแบ่งปันอีกเช่นเคย  แต่จะขอเน้นไปที่เรื่องของผู้อยู่อาศัยในแนวดิ่งหรือ คอนโดมิเนียม ที่เมื่อเราเข้าอยู่แล้ว จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมามากมาย หนึ่งในนั้นคือ ค่าส่วนกลาง ที่แน่นอนว่าเจ้าของห้องชุดทุกคนต้องจ่าย  แต่ก็พบว่าในหลายที่ นิติบุคคลอาคารชุดแทนที่จะไปฟ้องร้องใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเรียกค่าส่วนกลางจากเจ้าของห้อง กลับไปออกระเบียบข้อบังคับบีบให้ลูกบ้านอื่นๆ เสียสิทธิในการใช้ที่อยู่อาศัยตามปกติ เช่นนี้ ศาลเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้แล้ว ว่าทำไม่ได้ อย่างเช่น การออกระเบียบข้อบังคับที่จะไม่ส่งมอบบัตรผ่านประตูนิรภัยให้แก่เจ้าของห้องชุด ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เช่นนี้ถือว่าไปจำกัดสิทธิในการใช้สอยทรัพย์บุคคลเป็นการทำผิดกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8512/2553โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดพิพาทและการออกระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 อันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของร่วมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอาคารชุดตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 7 (1) (5) แต่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเพียงจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น ไม่มีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วม แม้โจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก มิใช่ออกระเบียบเพื่อบังคับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยที่ 1 กำหนดโดยหลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย การออกระเบียบข้อบังคับที่จะไม่ส่งมอบบัตรผ่านประตูนิรภัยให้แก่โจทก์ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์ส่วนบุคคล จึงไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำประตูนิรภัยปิดกั้นและไม่ยอมมอบบัตรผ่านประตูนิรภัย จึงเป็นการรบกวนสิทธิและทำให้เสื่อมความสะดวกแห่งสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของร่วมในอันที่จะเข้าไปใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล ถือว่าเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์อีกตัวอย่าง เป็นเรื่องการงดจ่ายน้ำประปา แม้การจ่ายน้ำประปานั้นจะต้องใช้อุปกรณ์บางส่วนที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางก็ตาม นิติบุคคลก็ไม่สามารถทำได้ หากทำเป็นการละเมิด นอกจากนี้ ศาลก็มีการกล่าวเตือนถึงเจ้าของห้องชุดเช่นกัน กรณีนิติบุคคลไม่เอาเงินที่จ่ายไปดูแลทรัพย์ส่วนกลาง ไปหาประโยชน์มิชอบอื่น เจ้าของห้องชุดเองก็ไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าส่วนกลาง ต้องไปว่ากล่าวดำเนินคดีต่างหาก ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10230/2553คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10230/2553ค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั้น เป็นหนี้ที่เกิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระหว่างกัน และเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.วิ.พ.ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิจารณาพิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้โดยวิธีอื่นหรือโดยพลการ นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลของตนในอาคารชุด และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางด้วย ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง จึงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์ส่วนกลางที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมนั้นด้วย ย่อมไม่ชอบที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินส่วนกลางของโจทก์เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการโจทก์ไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพราะจำเลยที่ 1 นำเงินไปใช้จ่ายโดยพลการ โจทก์ก็ต้องว่ากล่าวดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้กระทำเช่นนั้นหรือให้ชำระค่าเสียหาย ไม่เป็นเหตุโดยชอบที่โจทก์จะอ้างขึ้นเพื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกุมภาพันธ์ 2561อย.ใช้มาตรา 44 ปลดล็อกบริการขึ้นทะเบียน หวังเพิ่มประสิทธิภาพงานคุ้มครองผู้บริโภคเลขาธิการ อย.ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (เผยแพร่วันที่ 6 ก.พ.2561) ถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ปลดล็อกความล่าช้าเรื่องบริการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะทำให้ อย.สามารถเรียกเก็บค่าขึ้นทะเบียนเพื่อมาใช้ในกิจการของ อย. ได้ อีกทั้งทำให้การพิจารณาอนุญาตและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยปีงบประมาณ 2562 อย.ได้ของบประมาณราว 250 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารใหม่ 9 ชั้น ตั้งเป็นศูนย์บริการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service รวมถึงจะดำเนินการออกกฎหมายใหม่ และแก้ไขกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล โดยมองว่าน่าจะช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรก็ตาม แม้ว่า อย. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็เรียกว่าไม่สามารถป้องปรามการซื้อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการขายที่ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องช่วยกันเฝ้าระวังจับตาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ช่วยแจ้งเบาะแสที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อรีบดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างรวดเร็ว‘แท็กซี่โอเค’ ขนส่งทางบกจัดให้เพื่อยกระดับแท็กซี่ไทย หากผู้บริโภคเคยเห็นแท็กซี่ไฟสีเขียว ซึ่งดูแปลกตา และทำให้ไม่กล้าใช้บริการ ขอบอกว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะกรมขนส่งทางบกเขาออกมาบอกว่า แท็กซี่ไฟเขียวนั้นอยู่ในโครงการ “แท็กซี่โอเค” เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของแท็กซี่ไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ที่บริการไม่สุภาพและปฏิเสธผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ทำโครงการแท็กซี่โอเค ซึ่งกำหนดให้เเท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ จีพีเอส แทรคกิ้ง (GPS Tracking) ซึ่งจะแสดงข้อมูลผู้ขับขี่ ระบุพิกัดเส้นทางการเดินรถและการใช้ความเร็ว มีปุ่มฉุกเฉินกรณีผู้โดยสารต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินใกล้บริเวณที่นั่งผู้โดยสาร ทั้งยังมีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพภายในรถ และเชื่อมต่อข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการแท็กซี่ของกรมขนส่งทางบก เพื่อส่งข้อมูลการเดินรถแบบเรียลไทม์ (Real-Time) อีกด้วย ซึ่งผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเรียกรถผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ โดยมีค่าบริการเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นครั้งละ 20 บาทต่อไปเมื่อเห็นแท็กซี่ไฟสีเขียว ณ แห่งหนใด ผู้บริโภคก็สามารถโบกเรียกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ บัตรประชาชนหายอาจไม่ใช่เรื่องเล็กต้องรีบจัดการ ต้นปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคคงได้ยินข่าวหญิงสาวรายหนึ่ง ที่อยู่ดีๆ ก็ตกเป็นจำเลยและถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง เพราะถูกแอบอ้างเอาบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีกับธนาคารต่างๆ มากถึง 9 บัญชี ซึ่งความจริงก่อนหน้านี้เธอถูกมิจฉาชีพขโมยกระเป๋าสตางค์ขณะอยู่บนรถโดยสาร และเธอเองก็ได้ไปแจ้งความว่าบัตรประชาชนหายและได้ทำบัตรใหม่เรียบร้อยแล้ว กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถตกอยู่ในความเสี่ยงได้ ดังนั้นควรเก็บรักษาบัตรประชาชนให้อยู่ดีในที่ปลอดภัย ไม่วางทิ้งหรือฝากไว้กับคนที่ไม่รู้จักคุ้นเคยอย่างเด็ดขาด หรือเมื่อต้องใช้บัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรทำธุรกรรมใดๆ ก็ควรต้องขีดคร่อม เขียนข้อความกำกับทับบนสำเนาหน้าบัตรด้วยว่า ใช้เพื่ออะไร กับใครหรือหน่วยงานใด พร้อมระบุวันที่ให้ชัดเจน เป็นแนวทางการป้องกันเบื้องต้นที่สามารถทำได้แต่หากต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการแสดงตัวตนเพื่อแลกบัตรหรือติดต่อทำธุระกับหน่วยงานต่างๆ หรือใช้ฝากไว้เป็นหลักประกันกรณีเช่าสินค้าหรือบริการ หากเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือใช้ใบขับขี่หรือบัตรอื่นๆ แทนบัตรประจำตัวประชาชน และหากบัตรประชาชนหายอย่านิ่งนอนใจ แม้จะไม่ต้องใช้ใบแจ้งความในการดำเนินการทำบัตรใหม่ เพียงไปที่สำนักงานเขตเพื่อขอทำบัตรใหม่ก็สามารถทำได้ทันที แต่ให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นก็ควรไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เผื่อโชคร้ายมีคนเอาบัตรประชาชนเราไปทำเรื่องผิดกฎหมาย อย่างน้อยก็จะได้มีหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของเราเอง  ผักไฮโดรโปรนิกส์ไม่ปลอดภัย สวนทางความเชื่อผู้บริโภคThai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network) เปิดเผยผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไปปัจจุบันผู้บริโภคหันมาเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น ผักและผลไม้จะเป็นอาหารประเภทแรกๆ ที่กลุ่มคนรักสุขภาพเลือกบริโภค เพราะอุดมด้วยสารอาหารและกากใยที่ดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มผู้บริโภคผัก อาจต้องกลุ้มใจเพิ่มขึ้น เพราะผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปรนิกส์(รากไม่สัมผัสดิน) ที่หลายคนเชื่อ(ไปเอง) ว่าปลอดภัยนั้น ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network) ได้ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 ว่า มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไป โดยไทยแพนเองได้เก็บตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 30 ตัวอย่าง จากตลาดและห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ผักจำนวน 19 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 63.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการตกค้างของผักและผลไม้ทั่วไป ซึ่งไทยแพนได้เคยสำรวจและวิเคราะห์เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่ามีการตกค้างสูงกว่าผักทั่วไปที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานที่ร้อยละ 54.4  และนอกจากนี้ยังพบการตกค้างของไนเตรท ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในผักไฮโดรฯ อีกด้วย ปัญหาร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปครองแชมป์ปี 60ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด ทั้งโฆษณาเกินจริง สัญญาไม่เป็นธรรม รองลงมาได้แก่ การเงินการธนาคาร ซึ่งหนี้บัตรเครดิตยังคงเป็นประเด็นสำคัญศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนใน เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 ว่ามียอดร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,153 เรื่อง ผ่านช่องทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ ไปรษณีย์ เดินทางมาด้วยตนเอง ส่งอีเมล์ และร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจของมูลนิธิฯ ตามลำดับหมวดปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุด อันดับหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป ซึ่งมีการร้องเรียนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 41.54 โดยเฉพาะประเด็นปัญหา สินค้าที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและเลือกซื้ออุปโภคบริโภค เช่น การโฆษณาขายกระทะยี่ห้อดังที่คุณสมบัติสินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การปิดกิจการของสถานบริการออกกำลังกายที่ไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า หรือการไม่สามารถขอยกเลิกสัญญา คอร์สบริการเสริมความงาม เพราะข้อสัญญาที่ระบุว่าจะไม่คืนเงินทุกกรณีอันดับสอง คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 34.69 ฮิตที่สุดในหมวดนี้ ได้แก่ ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และปัญหาการเช่าซื้อรถ และอันดับสุดท้ายคือ ปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัญหาเรื่องร้องเรียนข้างต้นพบว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่มักเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ข้อมูลสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภคไม่ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว รวมถึงข้อสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่สำคัญคือ หน่วยงานของรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน รวดเร็ว รวมถึงไม่มีกลไกแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเป็นรายกรณี ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ มีข้อเสนอว่า ควรต้องทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคมาร้องเรียนจึงค่อยดำเนินการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 กระแสต่างแดน

สินค้าย่อไซส์ปรากฏการณ์ข้าวของเล็กลงที่ญี่ปุ่นวันนี้ ไม่ได้เกิดจากไฟฉายย่อส่วนของโดราเอมอน แต่เป็นผลจากแผนของรัฐบาลที่ต้องการสร้างภาวะเงินเฟ้อให้ได้ร้อยละ 2 ตามหลักคิดที่ว่า... เมื่อสินค้าแพงขึ้น ค่าแรงจะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมก็จะดีขึ้นเพื่อคงราคาขายไว้เหมือนเดิม ผู้ผลิตจึงใช้วิธีลดปริมาณสินค้า เช่น คิวพี ลดปริมาณซอสลงร้อยละ 13 (จาก 295 กรัมเหลือ 255 กรัม) โดยให้เหตุผลว่า ขนาดครอบครัวทุกวันนี้เล็กลง  ค่ายผู้ผลิตนมสดก็พร้อมใจกันเปลี่ยนจากขนาด 1 ลิตร มาเป็น 900 มิลลิลิตร “เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถหยิบจับได้ถนัดมือขึ้น”  ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการออกแบบ/เปลี่ยนแปลงหีบห่อให้เหมาะสมตอนนี้ท่านอาเบะคงคิดหนัก เพราะสินค้าก็แพงขึ้นแล้วแต่ค่าแรงในญี่ปุ่นยังคงเท่าเดิม หมายเหตุ: ใครอยากรู้ว่าอะไรถูกลดไซส์บ้าง สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.shrinkflation.info    ไม่มีก่อน ไม่มีหลังWeight Watchers ต้นตำรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์/บริการลดน้ำหนัก ด้วยรูปภาพ “ก่อน” และ “หลัง” ของผู้ใช้ ประกาศยกเลิกการโฆษณาในรูปแบบดังกล่าวแล้วเนื่องจากมัน “ไม่อินเทรนด์” การควบคุมน้ำหนักและการใช้ชีวิตอย่างระวังรักษาสุขภาพนั้นควรอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน... เขาว่าเวท วอทเชอรส์ (ซึ่งพิธีกรชื่อดัง โอปรา วินฟรีย์ เป็นทั้งพรีเซ็นเตอร์และผู้ถือหุ้น) บอกว่านั่นเป็นนโยบายแต่เขาไม่ได้ห้ามผู้ใช้บริการที่อยากจะโพสต์รูปตัวเองเพื่อโชว์ความเปลี่ยนแปลงให้โลกรู้แถมยังเปิดให้เด็กวัย 13 – 17 ปีสมัครเป็นสมาชิกฟรี เพราะเขาต้องการมีส่วนช่วยลดปัญหาการเกิดโรคอ้วนในเยาวชนอเมริกัน ฟังดูเหมือนจะดี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการออกมาเตือนว่า การพยายามควบคุมอาหารนั้นอาจนำไปสู่พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติในวัยรุ่นได้  ปิดก็ปรับได้ศาลแขวงเมืองโอ้คแลนด์สั่งปรับ Appenture Marketing บริษัทขายอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เป็นเงิน 114,000 เหรียญ (2.5 ล้านบาท) โทษฐานฝ่าฝืนกฎหมายการค้าที่เป็นธรรม และกฎหมายว่าด้วยการทำ สัญญาและการกู้ยืม บริษัทแจ้งลูกค้าว่าการที่สินค้าส่งถึงมือผู้บริโภคล่าช้ากว่ากำหนด ไม่อาจใช้เป็นเหตุในการขอเงินคืนได้   และยังแอบคิดค่าทำสัญญา 40 เหรียญ โดยไม่แจ้งยอดดังกล่าวในใบเรียกเก็บเงิน ความผิดดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน 2015 ถึงเดือนเมษายน 2016 บริษัทเลิกกิจการไปในปี 2017 แต่คณะกรรมการด้านการค้าชี้แจงว่า แม้ความเป็นไปได้ที่จะได้รับ การชดใช้ความเสียหายจะมีน้อย แต่การฟ้องร้องต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นไม่เอาเยี่ยงอย่างนิวซีแลนด์มีคดีฟ้องร้องผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ 12 กรณี (ที่ตัดสินแล้ว) และเรียกค่าปรับไปกว่า 1.23 ล้านเหรียญ (28 ล้านบาท)  เชิญชุมนุม ปลายปีที่แล้วกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Attac ได้เข้าไปนั่งประท้วงในร้านของ Apple ในปารีสเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเรียกร้องให้บริษัทจ่ายภาษีย้อนหลังให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส บริษัทบอกว่าการกระทำดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้พนักงานและทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน จึงยื่น ขอคำสั่งศาลห้ามกลุ่มคนดังกล่าวเข้ามาชุมนุมในร้านอีก ไม่ว่าจะสาขาใด หากฝ่าฝืนจะมีค่าปรับ 150,000  ยูโร (5.7 ล้านบาท) และค่าชดเชยความเสียหายอีก 3,000 ยูโร (115,000 บาท)  แต่ศาลตัดสินว่าคนเหล่านี้ไม่ได้กระทำการที่เป็นอันตราย พวกเขายังมีสิทธิชุมนุมได้ หากนั่งในร้านอย่างสงบและไม่ปิดทางเข้าออกประเด็นเรื่องภาษีของ Apple เป็นข่าวมาโดยตลอด สองปีที่แล้วบริษัทถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากรัฐบาลไอร์แลนด์ 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 450,000 ล้านบาท) อยู่ยากหากถามความเห็นของคนออสซี่วันนี้ เขาคงเสริมว่า “ตายก็ไม่ง่าย”  เพราะพื้นที่สำหรับใช้เป็นสุสานใกล้เมืองใหญ่ๆ ในออสเตรเลียมีจำกัด  จากการคำนวณพบว่าอีก 33 ปี ซิดนีย์จะไม่เหลือที่ทำสุสาน รัฐนิวเซาท์เวลส์จึงเสนอแผนทำสัญญาเช่าพื้นที่ฝังศพครั้งละ 25 ปี หากไม่มีการต่อสัญญา หรือไม่สามารถติดต่อญาติได้ ทางการก็จะย้ายกระดูกออกไปเพื่อให้รายใหม่ได้เข้าใช้พื้นที่แทนหลายคนเลือกใช้บริการเผาศพ เพราะถูกกว่าและไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่ แต่เนื่องจากบริการนี้ยังไม่มีกฎระเบียบชัดเจน สนนราคาที่ผู้บริโภคจ่ายจึงมีตั้งแต่ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 24,500 บาท) ไปจนถึง 4,000 เหรียญ (98,000 บาท) ทั้งๆ ที่บริการไม่ต่างกันมากแถมยังมีเรื่องฉาวเป็นระยะ บางเจ้าลดต้นทุนด้วยการแช่ศพไว้ในตู้เย็นแล้วเผารวมกันคราวเดียว บางรายแอบเปลี่ยนโลงสวยๆ (ที่ญาติจ่ายในราคา 1,700 เหรียญ) เป็นกล่องไม้ราคา 70 เหรียญก่อนนำเข้าเตาเผา เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หลายเทศกาลแห่งความสุขรอเราอยู่ ทั้งวาเลนไทน์ ตรุษจีน ต่อด้วยเด็กๆ ได้หยุดปิดเทอม แต่คนทำงานบางหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังดีใจที่ได้จะเดินทางไปศึกษาดูงานตามต่างจังหวัดไกลๆ เหตุผลหนึ่งที่อ้างกันบ่อย คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์คนทำงาน  ทั้งนี้ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องมีกิจกรรมดูงานทางไกลแบบนี้ทั้งนั้น นี่ยังไม่นับรวมถึงโรงเรียนที่มีอีกมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องจัดแผนพาเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายหรือทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางในการเดินทาง แล้วรถโดยสารไม่ประจำทางที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่น คือ รถโดยสารสองชั้น ที่ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 5,000  คันทั่วประเทศ และเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถโดยสารสองชั้น ก็เพราะสะดวก สบาย เบาะเอนนอนได้ มีอุปกรณ์บันเทิงครบครัน เครื่องเสียง คาราโอเกะ ขณะที่เสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เลือกรถเดินทางบอกว่า บางทีก็ไม่อยากเลือกรถโดยสารสองชั้น แต่มีความจำเป็นเพราะในพื้นที่หารถโดยสารชั้นเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนโยบายหน่วยงานที่ต้องการบริการที่มีต้นทุนราคาถูก มุ่งเน้นการประหยัดด้านงบประมาณและความสะดวกสบายของการเดินทาง จนละเลยถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการเดินทางไป ทำให้รถโดยสารสองชั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะตอบโจทย์เรื่องราคาและการบรรทุกคนได้ครั้งละมากๆ ไปคันเดียวได้เกือบ 50 คน มิเช่นนั้นหากเลือกรถโดยสารชั้นเดียวจะต้องว่าจ้างหลายคันส่วนการว่าจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางนั้น หลายพื้นที่ใช้ความใกล้ชิดรู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการว่าจ้างหรือวิธีการเสนอราคาค่าบริการรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงวิธีการว่าจ้างที่เป็นไปตามรูปแบบการจัดจ้างตามแบบหนังสือราชการทั่วไป ที่ยังขาดสาระสำคัญและข้อปฏิบัติในเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการ และความคุ้มครองสิทธิผู้ของเช่าและผู้โดยสารจากการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับจ้างหรือผู้ประกอบการอาจใช้เป็นช่องทางประวิงการชดใช้ค่าเสียหายหรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้  ดังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างน้อยสองแห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตากูก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 3 มีนาคม 2558 และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต๋ำ จังหวัดเชียงราย เมื่อ 8 มีนาคม 2559  ที่เราต้องสูญเสียบุคลากรระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารระดับสูงไปทั้งสองครั้งเลยทีเดียว หากย้อนดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารไม่ประทาง ทั้งประเภทชั้นเดียวและสองชั้นในปี 2560 แล้วพบว่า ในที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารไม่ประจำทางมากถึง 65 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 20 คน  บาดเจ็บถึง 536 คน มากกว่าครึ่งเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี  และในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการว่าจ้างรถโดยไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้สัญญามาตรฐานในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการยกร่างและพัฒนาข้อความสำคัญในสัญญาโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมุ่งเน้นที่การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ตั้งแต่การจัดทำสัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่มีมาตรฐานการป้องกันและความคุ้มครองความปลอดภัย พร้อมหลักการปฏิบัติของผู้โดยสารและความรับผิดของผู้รับจ้างหากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนจะขับเคลื่อนงานสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนี้ ส่งผ่านถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดนโยบายสั่งการ แต่ในทางปฎิบัติก็ยังไม่เห็นผลของการใช้สัญญามาตรฐานที่เป็นแบบของสัญญาในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนัก เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอ้าง เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับเทศบาลตำบลบางแห่ง คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ใช้สัญญาอื่นนอกเหนือไปจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ราชการกำหนดไว้ แต่เราไม่เชื่อในเหตุผลนั้น และได้ทดลองนำร่องการขับเคลื่อนการใช้สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยไม่ประจำทางกับเทศบาลตำบลของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ จนนำไปสู่การขยับเป็นนโยบายของจังหวัดที่เห็นชอบร่วมกันในการนำสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้ได้ และในฉบับหน้าเราจะมาวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและวิธีการขับเคลื่อน ที่ทำยังไงถึงเป็นนโยบายของจังหวัดพะเยาได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >


พฤติกรรมชาวกรุง กับการ Shopping Online

ฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย 32.4% โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จี้หน่วยงานรัฐรับผิดชอบโดยตรงฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping 40.7% ซื้อของราคา 501 – 1,000 บาท 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจัดเสวนาสมัชชาผูบริโภค ประจำปี 61 ชูประเด็น “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ”นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่เคยซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์และอาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,205 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2561  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) มีเป็นจำนวนมากและมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น สินค้าที่มีความหลากหลายที่อยู่บนร้านค้าออนไลน์ทั้งในแบบใช้ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ และแบบเว็บไซด์ที่จัดทำขึ้นเพื่อขายสินค้า การตัดสินใจ ความเชื่อมั่น ปัญหาต่างๆในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์เป็นอย่างไร โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ผ่านทางร้านค้าบน Facebook เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 30.9 อันดับที่สองคือร้านค้าบน Instagram ร้อยละ 25.4 อันดับที่สามคือ Lazada ร้อยละ 13.9 อันดับที่สี่คือ Shopee ร้อยละ 10.9 และอันดับที่ห้าคือ Kaidee ร้อยละ 7.8 และมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นสินค้าประเภท เสื้อผ้าผู้หญิง/ผู้ชาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 29.8 อันดับที่สองคืออาหารเสริมสุขภาพ ร้อยละ 13.0 อันดับที่สามคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ อุปกรณ์เสริมมือถือ ร้อยละ 9.1 และอันดับที่ห้าคือ สินค้าความงาม ร้อยละ 8.4กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 74.7 มีความเชื่อมั่น เพราะเชื่อมั่นในระบบ/เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.8 อันดับที่สองคือ เพราะสินค้าที่ซื้อได้รับการรับรองจากผู้ซื้อคนอื่นหรือการรีวิว ร้อยละ 31.0 อันดับที่สามคือ เพราะสินค้าได้รับการรับรองจากระบบ/เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 21.6 อันดับที่สี่คือ เพราะสินค้านั้นมีราคาถูกกว่าไปซื้อหน้าร้าน ร้อยละ 13.5 และคิดว่าสินค้าในร้านค้าออนไลน์ มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 62.9 ในส่วนของความน่าเชื่อถือ สินค้าบริโภค (ผลิตภัณฑ์อาหาร) ร้อยละ 45.8ในส่วนของราคาที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ 501 – 1,000 บาท ร้อยละ 40.7 อันดับที่สองคือ 101 – 500 บาท ร้อยละ 23.1 อันดับที่สามคือ 1,001 – 1,500 บาท ร้อยละ 19.5 อันดับที่สี่คือ 1,501 – 2,000 บาท ร้อยละ 9.5 อันดับที่ห้าคือ มากกว่า 2,000 บาท ร้อยละ 6.6 และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 0.6 การชำระค่าสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านทางระบบออนไลน์ ด้วยวิธีการ โอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร มากที่สุด ร้อยละ 61.1 อันดับที่สองคือ ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ร้อยละ 14.8 อันดับที่สามคือ โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ ร้อยละ 11.1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการจัดส่งสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ มีความรวดเร็ว ร้อยละ 75.8 เคยพบการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ร้อยละ 54.4 และเคยพบสินค้าชำรุด/เสียหาย หรือได้รับสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อสินค้า ร้อยละ 35.0กลุ่มตัวอย่างเคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 32.4 และเมื่อพบปัญหาจากการถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 39.6 อันดับที่สองคือ โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย/เฟสบุ๊ค ร้อยละ 28.7 อันดับที่สามคือ ร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 19.3 อันดับที่สี่คือ ไม่ดำเนินการใดๆ ร้อยละ 9.7 ในส่วนของการเคยมีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 60.8 เคยมีการตรวจดูสถานที่ผลิตของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 57.3 และเคยมีการตรวจสอบมาตรฐาน อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 58.4ทั้งนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร เสนอแนะว่า ควรมีหน่วยงานที่ดูแลจัดการในเรื่องการซื้อขายออนไลน์โดยตรง มีมาตรการเข้มงวด รวมถึงการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้จ่ายออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายโดยการหักบัญชีธนาคาร จากผู้ขายและผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี ตรงนี้จะแก้ไขได้อย่างไร นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ  กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เป็นที่น่าเสียดายหากภาครัฐจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยจากการเก็บภาษีอากร  เพราะในต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย มีการเก็บภาษีจากเฟสบุคได้แล้ว  ปีนี้เป็นปีที่ 2  สองปีซ้อนที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก กำหนดให้วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights’ Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภคจากธุรกิจออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความ ยุติธรรมให้แก่ผู้บริโภค(Building a Digital World Consumers Can Trust) ในปี พ.ศ. 2560 สู่ “การกำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม” (Making digital marketplaces fairer) ในปี 2561 อีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนวิถีชีวิตทุกคน ผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ที่ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถชำาระเงินซื้อข้าวของเครื่องใช้บริการได้ทั่วโลก แม้แต่เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ดนตรี  จองบริการ ขนส่งและที่พัก หรือซื้อตั๋วเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท คาดว่า ปี 2560 จะทะลุหมื่นล้านขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้ เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้ เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้น ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง หรือโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ โอ้อวดสรรพคุณ จะได้รับ การชดเชยเยียวยาเป็นอย่างดี หรือถูกจัดการจากหน่วยงานอย่างทันท่วงที  ด้วยเหตุนี้เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้บริโภคทั่วโลก จะสามารถ ทำาให้เกิดการกำากับตลาดดิจิทัลที่เป็นธรรมสำาหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ในวันพุธที่ 14 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ภายในงาน  มีการนำเสนองานวิจัย เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ โดย นางพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ  เสวนา “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplaces fairer)”  และมีกิจกรรมวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ เสวนา “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” , เสวนา “แนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายในออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ” , เสวนา เรื่อง “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล” , เสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” , เสวนา “ต้นแบบและความร่วมมือรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย”  และในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ร่วมรับฟังเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ความก้าวหน้าและอนาคต” ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ 02 248 3737 

อ่านเพิ่มเติม >