ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 เลือกยาสีฟันให้เหมาะกับช่องปาก

ยาสีฟัน เป็นเครื่องสำอางอีกประเภทหนึ่งที่วางจำหน่ายมากมายหลายสูตรในท้องตลาดบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสูตรสมุนไพร สูตรฟันขาวหรือสูตรป้องกันฟันผุ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตนเอง รวมทั้งอาจเชื่อว่าการเลือกยาสีฟันที่ทำจากสมุนไพรจะดีกับช่องปากมากที่สุด แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือรู้จักหน้าที่ของยาสีฟันกันก่อนยาสีฟันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่วมกับแปรงสีฟัน มีลักษณะเป็นผง ของเหลวหรือของเหลวข้น ซึ่งแม้จะมีมากมายหลายยี่ห้อหรือหลายสูตร แต่หน้าที่หลักของยาสีฟันคือการช่วยทำให้ฟันสะอาด หรือเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน เพื่อให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น โดยทุกยี่ห้อจะมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้ 1. สารที่ใช้ทำความสะอาดหรือขัดฟัน ทำหน้าที่ขจัดคราบที่ติดบนผิวฟัน 2. สารลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่ช่วยทำให้เกิดฟอง 3. สารทำให้ข้น ทำหน้าที่ป้องกันการแยกตัวของเนื้อยาสีฟัน 4. สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง 5. สารปรุงแต่งกลิ่นรส ทำหน้าที่ให้กลิ่นและรสของยาสีฟัน 6. สารกันเสีย ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งยาสีฟันจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิตไปรู้จักยาสีฟันแต่ละสูตรกันแม้ยาสีฟันจะมีหลายสูตร แต่หากพิจารณาจากส่วนผสมจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ได้ ดังนี้1. สูตรผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันกลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้เมื่อใช้เป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนใช้ยาสีฟันกลุ่มฟลูออไรด์เป็นหลัก และควรแปรงฟันแบบ 2 – 2 – 2 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละนาน 2 นาที และภายใน 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟันควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 2. กลุ่มผสมสารฆ่าเชื้อโรค ยาสีฟันกลุ่มนี้ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผลและช่วยให้เหงือกแข็งแรงได้3. กลุ่มลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันกลุ่มนี้จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์หรือโพแทสเซียมไนเตรท ซึ่งเมื่อแปรงแล้วจะสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว4. กลุ่มช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันกลุ่มนี้มีส่วนผสมสารขัดฟัน และอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ร่วมด้วย ซึ่งสามารถช่วยขจัดคราบสีต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก ทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่จะไม่ขาวไปกว่าสีธรรมชาติเดิมของฟันอย่างไรก็ตามหากใช้เป็นประจำจะทำให้สารเคลือบฟันบางลง จนฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิมหรือมีอาการเสียวฟันมากขึ้น รวมทั้งอาจเกินอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ แนะวิธีการเลือกซื้อยาสีฟันหลักพิจารณาง่ายๆ ในเลือกซื้อยาสีฟันสามารถทำได้จาก 3 ข้อดังนี้1. ควรเลือกให้เหมาะสมกับปัญหาช่องปากของเรา เพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่แตกต่างกัน เช่น หากมีอาการเสียวฟันก็ควรใช้สูตรลดอาการเสียวฟัน อย่างไรก็ตามหากใช้งานแล้วผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการแพ้ยาสีฟันได้เช่นกัน เช่น อาการปวดแสบปวดร้อนในขณะที่ยาสีฟันอยู่ในปาก หรือหลังใช้งานแล้วพบว่าริมฝีปากดำคล้ำจากอาการแพ้ หรือเนื้อเยื่อบุผิวในปากหลุดลอกออกมาก็ควรเปลี่ยนสูตรใหม่ให้มีความอ่อนโยนมากขึ้น 2. เลือกยี่ห้อที่มีฉลากครบถ้วน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาสีฟัน (พ.ศ. 2552) กำหนดให้ที่กล่องและภาชนะบรรจุยาสีฟันต้องมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ชื่อผลิตภัณฑ์ 2. ชนิด 3. ชื่อสารที่เป็นส่วนผสมทั้งหมด 4. ปริมาณสุทธิ แสดงเป็นกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตร 5. วัน เดือน ปี ที่ผลิตและรหัสรุ่นที่ทำ 6. คำเตือนหรือข้อความตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7. วิธีใช้และข้อควรระวัง 8. ชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน3. มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะฟันผุเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีและง่ายที่สุดในการยับยั้งปัญหาดังกล่าว คือ การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์แปรงฟันเป็นประจำ โดยผู้บริโภคสามารถดูได้จากรายละเอียดส่วนผสม นอกจากนี้หากเราต้องการให้สุขภาพช่องปากดีอยู่เสมอนั้น ควรแปรงฟันและเหงือกให้ถูกวิธี เพราะสามารถช่วยให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรงได้จริง รวมทั้งควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือนอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 รู้เท่าทันอาหารคีโตเจ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ มีหมอบางคนออกมาแนะนำให้กินน้ำมันหมู ขาหมูเพื่อเป็นการลดน้ำหนัก และรักษาสุขภาพ เอ๊ะ...อย่างไร  เพราะเราได้รับการปลูกฝังมาตลอดว่า มันหมู หรือน้ำมันจากสัตว์นั้นเป็นไขมันอิ่มตัว เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  แต่ทำไมคุณหมอจึงกลับบอกว่าดี อันที่จริงความเชื่อเหล่านี้มีทฤษฎีความเชื่อมาจากสูตรอาหารแบบคีโตเจ้น สูตรอาหารแบบแอตกิ้นส์  และเรื่องน้ำมันที่มีประโยชน์และที่เป็นโทษต่อร่างกาย  วันนี้เรามารู้เท่าทันอาหารแบบ คีโตเจ้นหรือคีโตเจนิกไดเอ็ท (Ketogenic diet) กันเถอะอาหารคีโตเจ้นหรือคีโตเจนิกไดเอ็ท คืออะไร คนไทยไม่คุ้นเคยกับชื่ออาหารคีโตเจ้น แต่ถ้าบอกว่า อาหารสำหรับนักเพาะกาย นักกีฬา อาจเข้าใจได้ง่าย  เพราะอาหารนักเพาะกายจะกินโปรตีนเป็นหลัก เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้เป็นมัดๆ  รีดไขมันออก   ดารานักแสดงหนังบู๊ของฮอลลีวู้ดที่เน้นร่างกายที่บึกบึน จะต้องเพาะกายและกินอาหารแบบนี้ อาหารคีโตเจ้นเป็นสูตรอาหารที่คาร์โบไฮเดรตหรือแป้งต่ำ(เหมือนอาหารแอตกิ้นส์)  เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานจากโปรตีนและไขมันแทน  เป็นการลดหรือตัดแป้งออกซึ่งย่อยง่ายกว่า เช่น น้ำตาล น้ำอัดลม ข้าวขาว เป็นต้น เมื่อร่างกายกินแป้งน้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน ร่างกายจะขาดพลังงาน (น้ำตาลในเลือด)  ปรากฏการณ์นี้จะกินเวลา 3-4 วัน แล้วร่างกายจะค่อยๆ  ย่อยสลายโปรตีนและไขมันเพื่อสร้างพลังงาน ทำให้น้ำหนักลดลง ภาวะนี้เรียก คีโตซิสมีการใช้อาหารคีโตเจ้นรักษาอะไรบ้าง การแพทย์ทางเลือกใช้เพื่อลดน้ำหนัก แต่มีการใช้รักษาโรคบางชนิด เช่น ลมบ้าหมู โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท สิว เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งยังต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะยอมรับเป็นการรักษาตามมาตรฐานผลเสียจากการกินอาหารคีโตเจ้น อย่างแรกคือ โคเลสเตอรอลสูง เนื่องจากแหล่งโปรตีนมาจากเนื้อสัตว์ นม อาหารมัน  ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ  แต่ผลการศึกษาผู้ที่กินอาหารแบบแอตกินส์มานาน 2 ปี กลับมีไขมันเลวลดลงไตต้องทำงานหนักมากขึ้น อาจเกิดนิ่วในไตอาจทำให้กระดูกพรุน เพราะการกินโปรตีนมาก จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้นท้องผูก น้ำตาลในเลือดต่ำเล็กน้อย อาหารไม่ย่อย อาหารคีโตเจ้นดีจริงหรือไม่ เมื่อทบทวนงานศึกษาวิจัยจากวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้ พบว่า อาหารคีโตเจ้นเกิดประโยชน์ดังนี้1. การกินอาหารคีโตเจ้นช่วยควบคุมความหิว สามารถลดน้ำหนัก ระยะเวลาในการกินอาหารคีโตเจ้นอาจเป็นระยะสั้น (2-3 สัปดาห์) จนถึงระยะยาว (6-12 เดือน)  การกินอาหารคีโตเจ้นสามารถรักษาโรคอ้วนได้ ถ้าใช้ในการควบคุมของแพทย์2. การกินอาหารคีโตเจ้นช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่าอาหารไขมันต่ำ และการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบประสาท พบว่ามีผลที่น่าสนใจ ซึ่งต้องการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม3. การกินอาหารคีโตเจ้นระยะยาว ช่วยลดน้ำหนักและดัชนีมวลกาย นอกจากนี้ ยังลดไตรกลีเซอไรด์  LDL น้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่ม HDL  การกินอาหารคีโตเจ้นระยะยาวยังไม่พบผลข้างเคียงกับผู้ป่วย  จึงสามารถกินเป็นเวลานานได้สรุป  การกินอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ กินโปรตีนและไขมันสูงแบบอาหารคีโตเจ้นส์ หรือแบบแอตกินส์นั้นมีผลในการลดน้ำหนัก และทำให้ไขมันเลวลดลง  อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงก็มีตามมา เช่น ท้องผูก ไตทำงานหนัก กระดูกพรุน  ที่สำคัญ ต้องมีการศึกษาระยะยาวกว่านี้ ว่าอาหารที่โปรตีนสูงนั้นอาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 รถรับส่งนักเรียน..ใครเป็นเจ้าภาพ

ผลสำรวจคุณภาพบริการรถรับส่งนักเรียน กับเด็กนักเรียนจำนวน 3,392 คน ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียนใน 32 จังหวัด ทั่วประเทศของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เช่น เด็กมากกว่า 57% เดินทางทุกวันระยะไกลทางมากกว่า  16 กิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียน ผู้ปกครอง 11% ใช้จ่ายมากกว่า 900-1,200 บาท และ ร้อยละ 8.9 ใช้จ่ายมากกว่า 1,200 บาท สำหรับค่ารถรับส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งมากกว่า 10% ของรายได้ขั้นต่ำที่ประเทศมาเลเซียได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ประเด็นสำคัญสุดเรื่องความปลอดภัยความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย พบว่า รถรับส่งนักเรียน เป็นรถผิดกฎหมายสูงถึง 66.5 % เรียกว่าเป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภทรถตู้ รถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งหรือขนส่งจังหวัด  มีนักเรียนยืนบนรถรับส่งนักเรียนประมาณ 15% อุปกรณ์ความปลอดภัยมีไม่เพียงพอ การปล่อยเด็กลงรถเองเพื่อข้ามถนนไปโรงเรียนจากผลการศึกษา สะท้อนต้นตอปัญหาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กต้องไปเรียนไกลบ้านเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดของประเทศ หรือสะท้อนปัญหาบริการสาธาณะของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี การสนับสนุนให้มีบริการรถโรงเรียนเป็นความฝันของสังคมไทย สมาชิกฉลาดซื้อจะมีโอกาสได้เห็นหรือเปล่ายังไม่กล้ารับประกันการเยียวยาความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนยุ่งยาก ไม่มีประสิทธิภาพ คนขับรถหรือเจ้าของรถที่เป็นเจ้าของรถคันเดียวหรือบุคคลธรรมดาหมดตัวเมื่อเจออุบัติเหตุ มีการเยียวยาขั้นต้น หากต้องการเยียวยาต้องอาศัยการฟ้องร้องดำเนินคดีกรมการขนส่ง เป็นหน่วยงานหลัก แต่ทำเรื่องนี้ได้ลำบากเพราะรถรับส่งนักเรียนไม่ได้จอดที่ขนส่งให้ลงเวลา ตรวจสภาพ โรงเรียนเข้ามามีบทบาท มีตัวอย่างหลายโรงเรียน แต่เมื่อไม่ใช่ภารกิจหลักก็ทำบ้างไม่ทำบ้างขึ้นกับครูที่รับผิดชอบกิจการนักเรียน ผู้อำนวยการจะเห็นความสำคัญแค่ไหนที่จะให้รถรับส่งนักเรียนต้องขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน พร้อมต้องขึ้นทะเบียนกับขนส่ง ท้องถิ่นจะมามีส่วนร่วมได้อย่างไร การสนับสนุนรถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ในหลายประเทศเป็นภารกิจของท้องถิ่น แต่เมืองไทยสตง. จะยอมให้ทำได้หรือไม่การให้ข้อมูลผู้ปกครอง ประธานคณะกรรมการโรงเรียน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะหากผู้ปกครอง พ่อแม่ได้รับทราบข้อมูลความไม่ปลอดภัย รถรับส่งที่ไม่มีมาตรฐาน ย่อมเห็นความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการเรื่องนี้ น่าจะเป็นข่าวดีที่สุดที่จะทำให้เป็นจริงท้ายสุดหวังว่า จะไม่มีข่าวลืมเด็กไว้ในรถรับส่งนักเรียน เพราะการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียน มีการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ ไม่ใช่เพียงแค่ติดสติกเกอร์เตือนที่ประตูรถ ตูมตามเมื่อมีเหตุการณ์ การตรวจรถจากบุคคลที่สามก่อนรถออกจากโรงเรียน หรือการจัดการพื้นฐานเรื่องการนับจำนวนเด็ก การใช้เทคโนโลยีร่วมตรวจสอบ หรือเครื่องมืออีกมากมายในการมีส่วนร่วมของพ่อแม่และโรงเรียนจะถูกร่วมมือและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ปัญหา SPAM / SMS กวนใจ กับ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่

ปัญหา sms ขยะ ที่ส่งข้อความโฆษณามาชวนให้ซื้อสินค้า หรือสมัครใช้บริการต่างๆ ทั้ง sms ชวนสมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล เข้ามายังโทรศัพท์มือถือวันละหลายๆ ครั้ง หรือข้อความโฆษณาขายครีม ขายอาหารเสริมที่ส่งมาทาง Line หรือโพสฝากร้านค้าผ่าน Facebook หรือ Instagram ที่โพสซ้ำๆ จนเป็นน่ารำคาญ นับเป็นปัญหาที่พูดกันมานานในสังคมไทย มีการออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหา SPAM มาโดยตลอด  ล่าสุด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา SPAM โดยในมาตรา 11 กำหนดว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิด ความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท   ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ แก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย” ปัจจุบัน ประกาศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่สนใจก็สามารถ Download ข้อมูลกฎหมายดังกล่าว มาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.prachachat.net/ict/news-8775  สาระสำคัญโดยย่อของกฎหมายนี้ก็คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามกฎหมายนี้ ครอบคลุมทั้ง การส่งข้อความ sms , e- mail , line โฆษณาขายของ การโฆษณาในลักษณะฝากร้านใน facebook , Instragram   การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์ไปยังผู้รับ จะต้องได้รับความยินยอมจึงจะไม่เป็นความผิด และข้อมูลที่ส่งไปนั้น จะต้องระบุช่องทางหรือวิธีการในการปฏิเสธการรับข้อมูล เช่น ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ โทรสาร e-mail หรือ มีระบบตอบรับอัตโนมัติที่ผู้รับจะแจ้งยกเลิกการรับข้อมูลได้โดยง่าย   หากแจ้งปฏิเสธการรับข้อมูลไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อมูลโฆษณาต่าง ๆ มาอีก ผู้บริโภคก็จะต้องแจ้งเตือนไปยังผู้ส่งเป็นครั้งที่ 2 ให้ชัดเจนว่าทางผู้ประกอบการได้รับทราบถึงการปฏิเสธนี้อย่างชัดแจ้งแล้ว ถ้ายังฝ่าฝืนส่งมาอีกคราวนี้ ก็จะถือว่าผู้ส่งมีความผิดตามมาตรา 11 มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  นอกจากนี้ ก็จะมีบทบัญญัติว่าด้วยข้อยกเว้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การส่งข้อมูลเพื่อเรียกคืนสินค้า(Recall) เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า การส่งข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรการกุศล หรือการส่งข้อมูลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์  กฎหมายฉบับนี้ ออกแบบมาตามหลักการ Opt-Out คือ ผู้บริโภคต้องแสดงเจตนาว่าจะไม่รับข้อความโฆษณาต่างๆ ไปยังผู้ประกอบการ เมื่อปฏิเสธไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อความมารบกวนอีกจึงจะถือว่า ผู้ประกอบการมีความผิด  ในต่างประเทศ ที่ใช้ระบบ Opt-Out ควบคุมการทำตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ มิให้รุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Do not call register ซึ่ง อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ระบบลงทะเบียนห้ามโทร” ซึ่งจะเป็นระบบกลางที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับข้อความโฆษณาต่าง ๆ ได้มาลงทะเบียนไว้ และในกรณีที่บริษัท ห้างร้าน จะทำการส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็จะต้องมาตรวจสอบข้อมูลกับ Do not call list ก่อน ถ้าเกิดบริษัท ส่งข้อความโฆษณา ไปยังผู้ที่มาลงทะเบียนปฏิเสธไว้ ก็จะถือว่ามีความผิดทันที   ส่วนของไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่มีระบบกลาง ผู้บริโภคก็ต้องขวนขวายแจ้งไปยังผู้ประกอบการแต่ละรายเอง แถมยังต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ผู้ประกอบการได้รับทราบคำปฏิเสธแล้วยังฝ่าฝืนส่งข้อความโฆษณามา จึงจะถือว่าเป็นความผิด ก็ไม่รู้ว่า กฎหมายที่มีลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัว แบบนี้ จะกำราบผู้ประกอบการให้หยุดส่ง SPAM ได้นานสักเท่าไร ปิดท้าย กันด้วยเกร็ดความรู้ของคำว่า SPAM ซึ่งเป็น คำแสลง ในภาษาอังกฤษ ที่ใช้เรียก การพยายามยัดเยียดส่งข้อความโฆษณาไปยังผู้รับจนเกิดความรำคาญ ซึ่งไทยเราก็เรียก ทับศัพท์ตามว่า “สแปม” คำนี้มีที่มาจาก เนื้อหมูกระป๋องยี่ห้อ SPAM ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในชีวิตประจำวันของพวกฝรั่ง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีหมูกระป๋องยี่ห้อนี้ขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเหตุที่ SPAM กลายมาเป็น ศัพท์แสลงก็ต้องย้อนกลับไป เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุค 70 มีรายการโทรทัศน์ของประเทศอังกฤษ ชื่อ Monty Python ซึ่งเป็นรายการตลกสั้นๆ มีอยู่ตอนหนึ่ง ตัวเอกของเรื่องเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกเมนูล้วนแต่มีส่วนผสมของ “SPAM หมูกระป๋อง” แม้ลูกค้าจะบอกว่าไม่ต้องใส่ SPAM ได้ไหม ก็ไม่วายที่พนักงานของร้านจะพยายามยัดเยียด ให้ลูกค้ากิน SPAM ให้จงได้ จนเกิดเป็นความโกลาหล ปนฮาขึ้น ลองเข้าไปชมคลิปรายการ Monty Python ตอน SPAM ทาง YouTube แล้วจะเห็นภาพชัดเจน https://www.youtube.com/watch?v=anwy2MPT5RE  เข้าใจว่า พวกฝรั่ง คงจะอินกับมุขตลกนี้มาก ดังนั้น ต่อมา เมื่อมีการพยายามส่งข้อความโฆษณา ขายสินค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภค จนรกหูรกตา หน้ารำคาญ จึงเรียกพฤติกรรมนี้ว่า SPAM

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 พีรพล อนุตรโสตถิ์ กับชัวร์ก่อนแชร์

 “ ชัวร์เหรอ? ” วลีบ่งบอกอารมณ์สงสัย ที่เขากล่าวท้ายประโยคเรื่องในกระแสที่ยังไม่มีข้อสรุป หรือเป็นข้อมูลที่ถูกส่งต่อๆ กันมา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสืบค้นหาความจริงที่เรามักได้ยินจนคุ้นชินในช่วงหนึ่งของข่าวภาคค่ำ สำนักข่าวไทย ของโย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย อสมท. (ช่อง 9 MCOT HD) ผู้ผลิตรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งนอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านไอที, บล็อกเกอร์และผู้ให้ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ภายใต้ชื่อ @YOWARE (โยแวร์)ที่เราจะพามารู้จักที่มาของ ชัวร์ก่อนแชร์ กันให้มากยิ่งขึ้นเป็นนักสื่อสารมวลชนแต่แรกใช่ไหมเรียนจบมาวิชาเอกสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ตอนเริ่มต้นทำงานในวงการสิ่งพิมพ์มาก่อน เริ่มงานทำหนังสือ หนังสือเล่ม นิตยสาร เคยทำนิตยสารคอมพิวเตอร์มาก่อน เขียนบทความคอมพิวเตอร์ แปลหนังสือคอมพิวเตอร์ เคยเขียนหนังสือคอมพิวเตอร์ ต่อมาก็อยากมาทำข่าว อยู่ที่สำนักข่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2548 ระยะเวลา 12 ปี พอเป็นผู้สื่อข่าวก็ได้ทำข่าวไปประจำที่กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาฯ และเป็นผู้ประกาศข่าวภาคสนามและในเวลาเดียวกันก็ยังทำงานด้านไอทีไปด้วย ก็คือจัดรายการวิทยุด้านไอทีที่นี่ และด้วยเป็นความชอบและความถนัดอยู่แล้ว ก็ได้ทำข่าวไอทีอยู่บ้างคือเนื่องจากว่าข่าวไอทีของสำนักข่าวไทยนั้นก็จะผสานไปกับข่าวทั่วๆ ไป เราก็เลยได้มีโอกาสไปทำข่าวไอทีอยู่บ้างเป็นระยะ ก็เป็นข่าวไอทีเชิงสังคมที่ทำผ่านมาและก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ พอมียุคโซเชียลมีเดียเราก็เข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย เริ่มเขียนบล็อก ใช้งานทวิตเตอร์และก็พยายามติดตามอ่านโลกไอที ติดตามไอทีอยู่ตลอด บนโซเชียลมีเดียผมก็เป็นคนที่ชอบเขียนข้อมูลและให้ข้อมูลเรื่องของไอทีมากๆ แต่ช่วงการทำงานก็มาทำชัวร์ก่อนแชร์ตั้งแต่เริ่มก็ 2 ปีกว่า ตอนหลังก็ทำแต่ชัวร์ก่อนแชร์อย่างเดียวทำไมถึงคิดว่าการเช็คข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์เป็นเรื่องสำคัญถึงกับมาทำเป็นรายการโทรทัศน์ เป็นเพราะผลกระทบ แต่เดิมเราเห็นข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันผิดๆ มันมีมาตั้งนานแล้ว จริงๆ มันมีตั้งแต่สมัยจดหมายลูกโซ่หรือการบอกกล่าวใครคนนั้น คนนี้บอกมาและพอมาถึงยุคอินเทอร์เน็ตเราก็เจอปัญหานี้ก่อนในยุคที่เป็นฟอร์เวิร์ดอีเมล์ตอนหลังก็มี MSN ที่เป็นช่องทางในการแชร์เรื่องผิดๆ กันมา  ซึ่งตอนฟอร์เวิร์ดอีเมล์ก็เดือดร้อนระดับหนึ่งเพราะยุคนั้นยังไม่มีอะไรให้ตรวจสอบง่ายๆ Google ก็ยังไม่มีแต่ก็ยังไม่กว้างมากเท่าไร เพราะคนยุคนั้นก็ยังใช้อินเทอร์เน็ตไม่เยอะเพราะฉะนั้นก็เหลือข่าวลือไม่เยอะ แต่พอยุคนี้เป็นยุคที่คนจำนวนเยอะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือเทคโนโลยีมันพร้อม คนก็พร้อมและการเข้าถึงก็พร้อมหมายถึงเทคโนโลยีพร้อมคือมันเร็ว มันน่าสนใจ มันดึงดูด มันง่าย มีภาษาไทยและก็พกพาได้ อยู่ในมือถือ มันเล็กลง ราคาก็ถูกและอินเทอร์เน็ตก็ไปทั่วถึง นี่คือเทคโนโลยีพร้อม คนก็เข้าถึงด้วยเพียงแต่คนที่เข้าถึงนั้นไม่พร้อมเพราะว่าถ้านึกภาพสมัยก่อนเราเคยแนะนำว่าถ้าซื้อคอมพิวเตอร์หรือจะให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเราจะมีคำแนะนำว่าให้หันคอมพิวเตอร์ออกมาข้างนอก อย่าหันเข้ากำแพงเพราะเราจะได้ดูว่าเด็กกำลังทำอะไร ระวังเด็กโดนหลอกหรือว่าพ่อแม่บางคนจะไม่ให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเลยจนกว่าจะขึ้นมัธยมแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คืออินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์มาอยู่ในรูปของสมาร์ทโฟนที่จริงๆ มันมีพลังสูงกว่าสมัยก่อนที่เราห้ามเด็กเล่นกันอีก มันมาพร้อมประสิทธิภาพ พร้อมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วด้วยและเข้าได้ทุกอย่าง แต่เผอิญมันไปตกอยู่ในมือคนที่ไม่เคยจับคอมพิวเตอร์มาก่อนในชีวิตเลยซึ่งน่าจะมีพอสมควร ถ้านึกถึงตอนที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเข้ามาตอนนั้นก็จะมีกลุ่มนักศึกษาที่จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วพอขยายกว้างขึ้น ก็ขยายไปถึงกลุ่มคนทำงานและขยายไปที่นักเรียน   และตอนนี้มันถึงมาที่กลุ่มคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เลย  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหม่มากคือไม่รู้ว่าของบนดิจิทัลมันปลอมง่าย ภาพรีทัชมันง่ายเหลือเกิน ทำวิดีโอให้คนเชื่อ เรื่องวิดีโอสมัยก่อนจะมีคนสอนว่าถ้าแค่ภาพนิ่งอย่าไปเชื่อถ้าเป็นวิดีโอเชื่อได้เลย ปัจจุบันมันก็ไม่ใช่แล้ว วิดีโอก็ยังเชื่อไม่ค่อยได้อีกและถ้ามีวิดีโอแล้วมีแคปชั่นมันก็อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด ถึงมีคำอธิบายแต่คำอธิบายก็อาจจะคนละเรื่องกับวิดีโอนั้นก็ได้ มันมีความซับซ้อนขึ้นแต่คนที่เข้ามานั้นไม่มีความพร้อม ไม่มีความตระหนักรู้ในธรรมชาติของดิจิทัลมากพอ ทำให้โดนหลอกได้และเข้าใจผิดไปบ้างในข้อมูลข่าวสารที่เข้ามา พอเป็นอย่างนี้แล้วมันจึงเป็นภาพใหญ่ๆ ของผลกระทบ คือ สมัยก่อนข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้กระทบต่อคนมากนักและคนที่เข้าไปใช้ข้อมูลพวกนี้ก็ไม่มาก มันอาจจะสร้างความเข้าใจผิดแต่ความเข้าใจผิดนั้นมันไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญอะไรและก็จะมีข่าวลักษณะที่หน่วยงานต้องออกมาชี้แจ้งว่าข่าวนี้ไม่จริง ข่าวนั้นไม่จริงและก็มีปรากฏการณ์พวกที่สร้างข่าวปลอมเพื่อหาโฆษณา หาคนคลิกโฆษณา พวกสร้างข่าวปลอมก็สร้างเรื่องขึ้นมาพอเรื่องแพร่กระจายออกไปก็ต้องมีหน่วยงานออกมาชี้แจงว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง ดาราออกมาฟ้องซึ่งฟ้องไปก็จับใครไม่ได้เพราะใช้เทคโนโลยีในการซ่อนตัว แต่มันมีผู้เสียหายจากการเข้าใจใจผิดเกิดขึ้น พวกข่าวดาราตายอะไรพวกนี้ พอมันมีแบบนี้เกิดขึ้นนักข่าวเองก็มีสำนักงานข่าวไทย อสมท. ก็ทำข่าวแบบนี้บ่อย ผมเองก็ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะตอนนั้นผมทำข่าวไอทีก็จะเหมือนว่าอะไรที่มันเกิดบนโลกโซเชียลมีเดียเขาก็จะให้เราทำ เราก็ทำแบบนั้นอยู่บ่อยๆ รวมทั้งนักข่าวในสายอื่นๆ ก็ต้องทำข่าวแนวนี้อยู่บ่อยๆ เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ที่จะทำอะไรให้เป็นลักษณะหมวดหมู่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นรายการฟอร์มขึ้นมา  การทำงานของชัวร์ก่อนแชร์ชัวร์ก่อนแชร์ เริ่มไอเดียตั้งแต่ปี 2557 และได้เริ่มออกอากาศจริงตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2558 ก็ออกเป็นชัวร์ก่อนแชร์ที่เป็นสกู๊ปสั้นๆ รายสัปดาห์ เน้นเอาเรื่องที่แชร์กันไม่จริงไปหาคำตอบมาว่าความจริงมันคืออะไรและเอามาอธิบายให้ประชาชนฟังบนหน้าจอทีวีในช่วงข่าวค่ำ เป็นสกู๊ปสั้นๆ เหมือนกับสกู๊ปข่าวและหลังจากนั้นกระแสตอบรับก็ดี มีคนชอบและทางผู้บริหารเองก็คิดว่ามันน่าสนใจและมีประโยชน์กับคนก็เลยเพิ่มความถี่ของรายการจากสัปดาห์ละครั้งเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้งคือเสาร์ อาทิตย์ จนประมาณเดือนเมษายน 2559 ก็เพิ่มจากเสาร์ อาทิตย์เป็น 7 วันก็คือมีชัวร์ก่อนแชร์ทุกวันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และเราก็เก็บข้อมูลเหล่านี้มาเรื่อยๆ เพื่อที่จะหาทางว่าเราจะทำให้คนเข้าใจมากขึ้นในประเด็นต่างๆ ซึ่งการทำเนื้อหาแบบชัวร์ก่อนแชร์ มันก็จะเป็นการต้องแก้ข้อมูลที่ไม่จริงที่มีเข้ามาเรื่อยๆ ไปทีละอันๆ และต้องไปหาคำตอบแต่ละอันมาสะสมไว้และทำเพื่อให้คนดูในปัจจุบันดูและคนดูในอนาคตได้ดู เพราะว่าธรรมชาติหนึ่งของเรื่องที่แชร์กันมันก็จะวนไปวนมา เราต้องการสร้างข้อมูลที่เข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วให้กับคนดูทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นฐานชัวร์ก่อนแชร์เกิดขึ้นมานอกจากมีคอนเทนต์ในโทรทัศน์เรายังเปิดช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนคือ ไลน์ของสำนักข่าวไทย (@TNAMCOT) ก็จะเป็นไลน์ที่ส่งข้อมูลเข้ามาถาม คือตอนที่สร้างชัวร์ก่อนแชร์ขึ้นมามันมีโจทย์หนึ่ง คือเรารู้ได้อย่างไรว่าคนแชร์อะไรกัน มันไม่เหมือนข่าวทั่วไป เช่น ข่าวอาชญากรรมเขาก็จะฟังวิทยุสื่อสารตำรวจหรือมีวงข่าวกู้ภัยเพื่อที่จะรู้ว่าเกิดอะไรที่ไหน ข่าวการเมืองเขาก็มีแจ้งหมายอะไรที่ไหนกัน แต่พอมันมาเป็นโซเชียลเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องไหนถูกแชร์ ยากมากที่จะรู้ให้ทั่ว ตอนแรกเลยคิดว่า อยากจะให้คนได้ส่งข้อมูลเข้ามาถามด้วยเพราะจริงๆ แล้วเราก็อยากจะให้ลำดับความสำคัญกับเรื่องที่คนกำลังได้รับแชร์มาแล้วสงสัยในเวลานั้นจริงๆ เราก็มีช่องทางนี้ขึ้นมาแล้วคนก็ส่งข้อมูลเข้ามาถาม เราก็ตอบกลับเข้าไป ทีนี้ส่วนคำถามตรงนี้เลยทำให้ได้ข้อมูลมาว่า เวลาที่คนที่ระดับผู้เชี่ยวชาญนั้น เวลาเขาไม่ตอบ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆ มันมีคนเชื่อจริงๆ เวลาคนส่งเข้ามาถามผมก็จะคุยตอบกลับไป คนส่งเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นผมมาตอบเอง แต่ผมอ่านเองเพราะผมต้องการจะรู้เพราะมันไม่มีระบบที่จะช่วยในเวลานั้น ไม่มีระบบอะไรเลยที่จะช่วยให้กระบวนการตรงนี้มันทำได้ง่ายกว่านั้น ง่ายที่สุดในตอนนั้น คือต้องอ่านเองและอ่านอย่างเดียวไม่ได้ด้วยต้องตอบด้วย เพราะว่าพออ่านปุ๊บมันจะขึ้นอ่านที่ฝั่งคนส่ง ถ้าอ่านไม่ตอบก็ดูไม่มีมารยาทอีก เราก็เลยอ่านเองตอบเองในช่วงประมาณ 2 ปีแรก บางทีเราก็คิดว่าเรื่องแค่นี้เขาเชื่อหรือ เราก็พิมพ์กลับเข้าไปถามเหมือนทดสอบว่า อยากรู้มุมมองความคิดเขาว่าตกลงเขาเชื่อจริงหรือว่าแค่ส่งมาขำๆ ก็ปรากฏว่าเราเจอคนที่เขาเชื่อจริงๆ จนเอาไปลองทำ บางคนส่งมาบอกว่าช่วยรีบตอบด้วยนะคะ เพราะว่ากำลังทุกข์ใจเพราะเป็นโรคมะเร็งอยู่อยากรักษา เห็นช่องทางที่เขาแชร์กันว่ารักษามะเร็งได้ก็อยากทำ เราก็เลยเห็นว่ามันมีคนที่เชื่อจริงๆ และเราไม่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ มันควรจะมองเป็นเรื่องที่จริงจัง อย่างน้อยคือ ให้ค้นหาในอินเทอร์เน็ตเขาจะต้องเจอคำตอบนั้นบ้าง พยายามทำให้มันมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ก็ตั้งใจแบบนั้นมาตลอด คือมันเหมือนการทำงานทีเดียว 2 – 3 อย่างไปด้วยตลอด คือในเชิงการสร้างคอนเทนต์ สร้างเนื้อหาก็คือหาคำตอบออกมาให้คนที่อยู่ในปัจจุบันดู และเวลาเดียวกันก็เอาคำตอบให้คนที่อยู่ในอนาคตดูด้วย  เพราะรู้ว่าเรื่องที่แชร์กันมันจะวนไปวนมา เพราะฉะนั้นระบบคอนเทนต์นี้มันควรจะต้องถูกจัดเก็บเข้าไปในระบบที่คนเข้าถึงง่ายอีกรอบด้วย ก็พยายามจะวางระบบตรงนี้ไว้ ก็ใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วนี้ ไม่ได้ให้คนต้องโหลดแอฟฯ อะไรใหม่ เข้า Google พิมพ์คำว่าชัวร์ก่อนแชร์แล้วตามด้วยเรื่องที่สงสัยปัจจุบันทั้ง Google , Youtube , Facebook 3 อันนี้ถ้าค้นคำว่าชัวร์ก่อนแชร์แล้วพิมพ์เรื่องที่สงสัย เช่นชัวร์ก่อนแชร์เว้นวรรคตามด้วยมะเร็ง ก็จะเข้าไปถึงข้อมูลที่เขาสงสัยได้ง่ายขึ้นก็เป็นความตั้งใจส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวไหนประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่ของคนไทยจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องอะไรที่มันเกี่ยวโยงกับสุขภาพ เช่นทำแล้วสุขภาพจะดีขึ้นอย่างไร หรือจะรักษาโรคอย่างไร แต่ว่าโดยรวมๆ ส่วนใหญ่ 80 % ขึ้นไปของเรื่องที่แชร์กันเป็นเรื่องที่ไม่จริง เรื่องที่เก่าแล้ว ซึ่งอันนี้ผมละนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เห็นด้วยว่ามันมีประมาณนี้แหละคือส่วนใหญ่ 80 - 90 % ของเรื่องที่แชร์กันไม่ใช่เรื่องจริง แล้วใน 80 - 90 % ที่เป็นเรื่องที่ไม่จริงนั้นก็เป็นเรื่องสุขภาพส่วนใหญ่ ในเรื่องสุขภาพมันก็จำแนกออกเป็นเรื่องคำแนะนำกับคำเตือน คำแนะนำก็อย่างเช่นทำแบบนี้ กินแบบนี้เพื่อที่จะได้ดีขึ้น แบบนี้ป้องกันโรคนี้ได้ คำเตือนก็คืออย่าทำแบบนี้ อย่ากินแบบนี้เพราะมันจะทำให้เป็นโรคนั้นโรคนี้ ซึ่งโรคที่เป็นโรคปลายทางมากที่สุดก็จะเป็นโรคมะเร็ง คำเตือนห้ามกินแบบนี้เพราะจะเป็นโรคมะเร็ง คำแนะนำให้ทำแบบนี้เพื่อจะรักษามะเร็ง มันเป็นโรคปลายทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและเป็นโรคที่กระตุ้นให้เกิดการแชร์มากพอสมควร รองลงมาก็เบาหวาน ความดัน ไต อะไรพวกนั้น ส่วนใหญ่ที่คนไทยจะแชร์ๆ กันก็จะเป็นเรื่องพวกนี้หรือถ้าเป็นเรื่องใกล้ๆ ก็จะเป็นเรื่องอาหาร จริงๆ แล้วก็จัดอยู่ในหมวดสุขภาพเหมือนกันเพราะเวลาแชร์เรื่องอาหารอะไรสักอย่างสุดท้ายมันก็จะสะท้อนกลับไปที่เรื่องสุขภาพอีก เช่นแชร์เรื่องอาหารปลอมถ้ากินก็จะเป็นมะเร็ง ต่อจากอาหารเรื่องที่เหลือก็คละเคล้ากันไป เช่นเรื่องกฎหมาย เรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องวิทยาศาสตร์ความเข้าใจทางเทคโนโลยี เตือนการใช้อินเทอร์เน็ต ใช้มือถือ ใช้ไลน์ สติ๊กเกอร์ไลน์ฟรีอะไรแบบนี้ ก็จะมีเรื่องพวกนี้แชร์กันมีทั้งเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างเรื่องไหนที่รู้สึกสนุกที่สุดจนรู้สึกอยากทำต่อหรือเรื่องที่ยากที่สุดมันมีหลายเรื่องที่พยายามจะทำพิสูจน์ คือทุกเรื่องบางทีมันเป็นเรื่องของความเชื่อ ความลี้ลับที่ไม่มีใครเคยพิสูจน์ ถ้าเรื่องไหนพิสูจน์ได้ก็จะพยายามพิสูจน์ให้คนดูเห็นหน้าจอและใช้การได้เปรียบของการเป็นคอนเทนต์วิดีโอซึ่งมันทำให้คนดูเชื่อถือได้มากกว่า ก็พยายามใช้คอนเทนต์วิดีโอเพื่อให้คนเห็นภาพว่ามันไม่จริง อย่างเช่นมันมีเรื่องที่แชร์ว่าน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วก็ทำเป็นคลิปวิดีโอ มีคนเทน้ำสีดำกับของเหลวเทลงไปผสมกันแล้วคนๆ มันก็ฟูขึ้นมากลายเป็นฟองใหญ่ๆ ก็แชร์กันมาว่าให้ระวังอย่ากินน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังไม่อย่างนั้นตายแน่ๆ เพราะถ้ามันผสมกันเข้าไปในท้องมันก็จะออกมาเป็นแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่รู้สึกตื่นเต้นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า  แต่ว่าเวลาเราหาคำตอบเรื่องนี้เราก็ต้องหาให้ได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งมันง่ายมากแค่เอาน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วคนๆ ให้เข้ากันตามคลิปซึ่งก็ปรากฏว่ามันไม่ใช่ แต่เราก็ต้องไปหาคำตอบอีกว่าแล้วมันคืออะไร ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ขึ้นมาได้ สุดท้ายกรณีนี้คือได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเรื่องโภชนาการก่อน คือนำน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วก็ทดลองว่ามันไม่เกิดอย่างที่แชร์กัน ในขณะเดียวกันก็ไปหาจนเจอว่ามันคือสารอะไร ซึ่งก็คือโพลียูรีเทนที่ช่างทั่วไปบางคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันคือสารเคมี 2 ตัวคือโพลีและยูรีเทน ผมก็เพิ่งรู้จากการเรื่องนี้ คืออาจารย์ที่ ม.เทคโนฯ ธัญบุรีบอกมาพอรู้แล้วเราก็อยากพิสูจน์เองอีกเพราะเราพิสูจน์เองมันทำให้เราพูดได้อย่างหนักแน่นว่ามันใช่หรือไม่ใช่ บางทีเราต้องใช้เวลามากเลยกับการตามหาซื้อของ พอได้มาแล้วทำเพื่อที่จะพูดแค่ประโยคเดียวว่าใช่ แต่เป็นคำว่าใช่ที่เรารู้สึกมั่นใจที่จะพูดว่าใช่หรือไม่ใช่ พอใช้โพลียูรีเทนมาลองทำดูมันก็ขึ้นมาแบบนั้นจริงๆ ก็ทุกๆ เรื่องถ้าพิสูจน์ได้ ทดลองได้ก็จะพยายามหาทางพิสูจน์ เรื่องที่สนุกนอกจากเรื่องที่ได้ทดลองเอง อย่างเช่นแชร์กันว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันเคลือบแว็กซ์ เราก็ติดต่อไปที่โรงงานเพื่อขอดูคือ ขอดูก็ไม่พอเพราะต้องเอามาให้คนดูในทีวีด้วย ขอดูว่าในกระบวนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันจะมีแว็กซ์อยู่ตรงไหนบ้าง ตอนนั้นก็ติดต่อไป ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เรื่องที่คนส่งเข้ามาให้ช่วยเช็คมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรหรือพอๆ กับเมื่อก่อน มีคนส่งเข้ามามากขึ้น หมายถึงคนที่ส่งมาและมาขอข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น ในวันนั้นเริ่มจากศูนย์เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ตอนนี้ เดือนกรกฎาคม 2560 มีประมาณ 70,000 คนที่อยู่ในไลน์แอด ก็อาจจะเป็นคนที่แอคทีฟอยู่ประมาณหนึ่ง คือมันยังไม่มีเครื่องมือนับ เราพยายามจะนับอยู่ว่าจริงๆ แล้วมีคนที่ส่งมาประจำกี่คน ส่งเรื่องอะไร พยายามจะหาทางนับตรงนี้อยู่ แต่ว่าเรารู้สึกได้ว่ามันมีจำนวนคนที่มากขึ้น ก็จะมี 2 แบบคือมาพร้อมคำถามใหม่กับอีกแบบคือมาพร้อมคำถามเก่าที่เราเคยทำไปแล้ว ส่วนใหญ่คือเรื่องที่แชร์ตอนนี้ ฐานข้อมูลของชัวร์ก่อนแชร์ คือตอบได้ไปส่วนใหญ่แล้ว มันจะมีคำตอบอยู่ในสิ่งที่ชัวร์ก่อนแชร์เคยทำไว้อยู่แล้วมีคำตอบอยู่พอควร แต่ว่ามันก็ยังตอบไม่หมด มีเรื่องที่เราบันทึกไว้แล้วรอคำตอบ รอการผลิตอีกจำนวนพอสมควร ถ้าจะแบ่งย่อยไปก็คือเรื่องที่รอคนมายืนยัน บางเรื่องไม่ได้เร่งด่วนหรือบางเรื่องที่มันซีเรียสมากๆ แล้วยังไม่มีคำตอบ บางทีมันก็ต้องรอคนมาตอบ เราก็ต้องรอคนที่ใช่จริงๆ ซึ่งเรายังเน้นไปที่การทำคำตอบสำหรับในวิดีโอที่ออกทีวีเป็นหลักเพราะมันมีความน่าเชื่อถือในตัวเองและมันเป็นแมส มันออกโทรทัศน์ อยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคชัวร์ก่อนแชร์เป็นเหมือนทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉยๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาวเหมือนเวลาเราไปต่างประเทศแล้วเรามีคู่มือเล่มหนึ่งที่ทำให้เราพูดกับคนในประเทศนั้นได้โดยที่เราพูดภาษานั้นไม่ได้ เราก็ไม่ต้องการให้คนมายึดโยงชัวร์ก่อนแชร์ตลอดเวลา เราต้องการให้คนมีภูมิคุ้มกันระดับสูงในตัวเองที่จะป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใหม่ที่เขากำลังจะเข้าไป ทุกคนอย่างไรก็ต้องเข้าไปสู่โลกใหม่ที่เป็นโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไร้พรมแดนและเป็นโลกที่ทุกอย่างสามารถปลอมขึ้นมาได้ สร้างได้ เขาต้องมีความเข้าใจมากเพียงพอ แต่ก็ไม่ต้องการให้เขาออกจากโลกพวกนี้เพราะว่าการที่เขาไม่สนใจใยดีกับโลกเทคโนโลยียุคใหม่มันก็ทำให้เขาเสียโอกาสอีกหลายอย่างเหมือนกัน เราก็อยากให้เขาเข้าไปอยู่ในนั้น แต่ในเวลาที่มันเป็นเวลาเฉพาะหน้าแบบนี้ที่ข้อมูลมันเยอะมาก นึกภาพคนที่เข้าไลน์ครั้งแรกแล้วไปพบกลุ่มเพื่อนแล้วก็เจอข้อมูลพวกนี้เยอะๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง และตอนนี้เขาก็ไม่รู้ว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ดี ก็เป็นสิ่งที่มันคาใจในชีวิตของเขาว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ เรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริง ค้นก็ค้นไม่เป็นหรือค้นเป็นก็โดนผลการค้นหาหลอกอีก ค้นไปเจอเรื่องหลอกกัน 5 - 6 อันแล้วก็คิดว่ามันเป็นจริงเพราะค้นออกมาแล้วเจอเยอะ สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ใช้ชัวร์ก่อนแชร์เป็นทางลัดในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ดูแลสุขภาพกับ “iCare Health Monitor”

วันนี้ขอมาดูแลสุขภาพกันนะคะ ปัจจุบันการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บในยุคสมัยนี้จะมากับอาหารการกินเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการทำงานที่อยู่ภายใต้ภาวะความกดดันและความเครียด ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาที่ใส่ใจสุขภาพของตนเองได้ตลอดเวลา หรือบางคนอาจจะไม่แม้แต่เสียเวลาในการไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วยซ้ำ สุขภาพร่างกายควรได้รับการดูแลเอาใส่ใจเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “iCare Health Monitor” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบสุขภาพในเบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android หลังจากที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏหน้าหลัก โดยมีให้เลือกตรวจวัดสุขภาพทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการมองเห็นหรือ Vision ด้านการได้ยินหรือ Hearing ด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen ด้านจิตวิทยาหรือ Psychological ด้านการมองเห็นหรือ Vision จะเป็นการตรวจวัดการมองเห็นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นรูป สี เส้น ด้านการได้ยินหรือ Hearing จะเป็นการทดสอบการฟังเสียงที่ได้ยินที่ออกมาจากแอพพลิเคชั่น ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity จะทดสอบการเป่าลมโดยใช้ปอด ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะให้เป่าลมอย่างเต็มแรงผ่านช่องไมโครโฟนของสมาร์ทโฟนสำหรับด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen และด้านจิตวิทยาหรือ Psychological แอพพลิเคชั่นจะให้ตรวจวัดโดยวิธีเดียวกันนั่นคือ ให้นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลังสมาร์ทโฟนโดยให้การกดหน้าจอค้างไว้ในขณะที่นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลัง และรอจนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ หรือผู้ใช้สามารถตรวจเช็คสุขภาพแบบรวดเร็ว โดยกดปุ่มวงกลมใหญ่มีข้อความว่า Quick Check จนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ ก็จะได้ผลการตรวจวัดทั้ง 5 ด้านซึ่งภายในแอพพลิเคชั่น “iCare Health Monitor” ยังสามารถเก็บสถิติการตรวจวัดในแต่ละครั้งเพื่อนำมาเปรียบเทียบย้อนหลังได้อีกด้วยนอกจากนี้แอพพลิเคชั่นยังมีหมวดการตรวจวัดจำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้ทราบเป็นระยะทางและจำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญออกไปในแต่ละวัน โดยจะมีผลสรุปเป็นกราฟให้เห็นอย่างชัดเจนของการก้าวเดินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาในวันนั้นๆ และผลสรุปเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายปีมาใส่ใจสุขภาพกันวันละนิดนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >