ฉบับที่ 199 คืนสินค้าเร็ว แต่ได้รับเงินช้า

คุณปราณีสั่งซื้อเครื่องสำอางจากรายการขายของในช่องเคเบิลทีวี ซึ่งผู้ดำเนินรายการแจ้งว่าหากซื้อไปใช้แล้ว เกิดอาการแพ้ก็สามารถคืนสินค้าได้ เธอจึงตัดสินใจลองสั่งเครื่องสำอางดังกล่าวมาใช้ดูเป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจากทดลองใช้ไปได้ประมาณ 3 วัน คุณปราณีกลับรู้สึกมีอาการคันและผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า จึงไปพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งวินิจฉัยว่าเกิดจากอาการแพ้เครื่องสำอางนั่นเอง เธอจึงโทรศัพท์ไปแจ้งบริษัทเครื่องสำอางถึงอาการแพ้ดังกล่าว เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน เมื่อบริษัทเครื่องสำอางรับทราบก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับสินค้าคืน และขอเลขบัญชีของคุณปราณีไป เพื่อจะโอนเงินค่าสินค้าให้ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปเกือบ 4 เดือนก็ไม่พบว่ามีการโอนเงินคืนจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยโทรศัพท์ไปสอบถามที่บริษัทเครื่องสำอางถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับมาว่าเหตุที่คืนเงินล่าช้า เพราะผู้ร้องแจ้งเลขบัญชีผิดและไม่มีการติดต่อเข้ามายังบริษัทเพื่อแจ้งเลขบัญชีใหม่ ทำให้บริษัทไม่สามารถโอนเงินคืนให้ได้ อย่างไรก็ตามบริษัทยินดีรับผิดชอบด้วยการโอนเงินคืนเต็มจำนวน ซึ่งภายหลังผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้วก็ยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ต้องการค่าเทอมคืน

คุณสุชาติพาลูกชายเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน โดยเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 60,000 บาท/เทอม แต่เมื่อเปิดภาคเรียนไปได้เพียง 1 เดือนก็เกิดโรคระบาดมือเท้าปากภายในโรงเรียน ซึ่งลูกชายของเขาก็ติดได้ติดโรคดังกล่าวมาด้วย ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้หยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรอให้อาการหายสนิท อย่างไรก็ตามเมื่อลูกชายกลับไปที่โรงเรียนก็พบว่าได้ติดโรคดังกล่าวมาอีกครั้ง ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายกลับไปพบหมอ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวเป็นรอบที่สอง ซึ่งรวมๆ แล้วเสียค่ารักษาพยาบาลไปทั้งหมดประมาณ 90,000 บาท โดยคุณสุชาติได้สังเกตว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกชายติดโรคมาอีกครั้งเป็นเพราะ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเล่านิทาน ที่ให้นักเรียนหลายห้องมารวมกันเพื่อฟังนิทาน ซึ่งเด็กบางคนมีอาการของโรคอยู่ แต่โรงเรียนไม่มีการคัดแยกเด็กป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทำให้อาจเกิดการแพร่เชื้อได้ดังนั้นคุณสุชาติจึงคิดว่า ต่อให้อาการของลูกชายหายสนิท แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคเช่นนี้ ก็อาจทำให้ลูกชายติดโรคดังกล่าวกลับมาเช่นเดิมได้ เพราะตามประกาศของสาธารณสุขกำหนดมาตรการป้องกันไว้ว่าจะต้องปิดห้อง ปิด ชั้นหรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 - 7 วัน แต่ทางโรงเรียนกลับประกาศให้นักเรียนหยุดเรียนเพียง 3 วันเท่านั้น เขาจึงแจ้งไปยังโรงเรียนเพื่อขอลาออก พร้อมขอให้คืนเงินค่าเทอมที่เสียไป และยินดีให้หักค่าใช้จ่ายที่ลูกชายได้เข้าเรียนไปแล้ว 1 เดือนออกได้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาหวังไว้ เพราะทางโรงเรียนแจ้งว่าตามนโยบายการคืนเงินค่าเทอม จะสามารถคืนให้ได้เพียงร้อยละ 40 ของเงินทั้งหมดหรือ 18,800 บาทเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า กรณีนี้อาจถือได้ว่าโรงเรียนผิดสัญญาจ้างทำของ หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืนได้ ซึ่งควรได้รับเงินคืนตามจริงด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นจะเชิญให้มีการเจรจากันก่อนที่มูลนิธิ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทางโรงเรียนยืนยันว่าสามารถคืนเงินได้ตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสินน้ำใจและผู้ร้องไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเรียกเก็บจากโรงเรียนได้อีก ทำให้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำเอกสารไปยังสาธารณสุข โดยขอให้เข้าไปตรวจสอบโรงเรียน เพื่อให้มีการแสดงหลักฐานว่าโรงเรียนไม่มีมาตรการในการจัดการโรคระบาดที่เหมาะสมจริงๆ แต่ในระหว่างนี้ยังต้องรอการตอบกลับจากสาธารณสุข และผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 แพ้ยา ใครรับผิดชอบ

คุณชัยเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอที่โรงพยาบาลวิภาวดี โดยก่อนผ่าตัดแพทย์ได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ซึ่งเขาก็รับทราบและตกลงรับการรักษา หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างการพักฟื้นในห้องพักผู้ป่วย คุณชัยมีอาการปวดแผล พยาบาลจึงได้ฉีดยาแก้ปวดให้ หลังได้รับการฉีดยาเข้าไปประมาณ 5 นาที เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคุณชัยเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก  ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบาก เหมือนมีอะไรติดในคอ จึงเรียกให้พยาบาลกลับมาดูอาการอีกครั้ง ซึ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการชงน้ำขิงให้เขาดื่ม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอให้แทน อย่างไรก็ตามอาการของคุณชัยกลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเขาเริ่มหายใจไม่ออก หน้า ลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด ทำให้พยาบาลรีบนำคุณชัยเข้าห้องไอซียู และภายหลังแพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการแพ้ยา ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลนั่นเองหลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล คุณสุชัยก็ต้องตกใจอีกครั้งเมื่อพบว่า ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินเกือบ 700,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น เขาจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้คุณชัยชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยาจะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้คุณสุชัยไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ทางโรงพยาบาลให้คุณชัยทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 200,000 กว่าบาท โดยเป็นยอดค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาอาการแพ้ยา ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เห็นว่าการเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้ป่วย เพราะแพทย์ควรมีความระมัดระวังต่อการรักษามากกว่านี้ หรือควรสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดยาบรรเทาอาการปวดแผลเป็นอาการแพ้ยา และรีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายเป็นความประมาทเลินเล่อก็ได้ และทางโรงพยาบาลควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ป่วย รวมทั้งคุณชัยได้ชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามที่ตกลงกับโรงพยาบาลแล้ว ศูนย์ฯ จึงช่วยส่งหนังสือแจ้งโรงพยาบาลให้ระงับการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย โดยขณะนี้กำลังรอการตอบกลับจากโรงพยาบาล และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบผลเสียหายอันเนื่องจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่า จะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้ อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไป 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะ คุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ‘อุบัติเหตุบนท้องถนน’ เป็นเพราะเรื่องอาถรรพ์หรือพฤติกรรมเสี่ยงกันแน่

ถ้าลองค้นหาในกูเกิ้ลด้วยคำว่า อุบัติเหตุทางถนน และ อาถรรพ์ คุณก็จะได้ผลลัพธ์ประมาณว่า ‘10 ถนนอันตราย สุดเฮี้ยนในเมืองไทย’‘10 ถนนที่เฮี้ยนที่สุดในประเทศไทย’ หรือ‘สะพรึง!!! 7 โค้งอันตราย อาถรรพ์หรือประมาทเอง?’หรือพาดหัวข่าวตามหน้าสื่อก็เช่น ‘ตูมสนั่น! เก๋งชนรถ 'คาราบาวแดง' แยกอาถรรพ์สังเวย 4 ศพ’ ‘อาถรรพ์โค้ง ศาลปู่โทน  รถพ่วง 18 ล้อเสยกระบะสาหัส 7’ ถ้อยคำจำพวกนี้บอกอะไรเราได้บ้าง? คราวนี้ ลองมาดูสถิติอุบัติเหตุจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนในปี 2560 ถึง ณ วันที่ 28 สิงหาคม มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 647,145 คน เสียชีวิต 9,757 คน รวม 656,902 คน ประเมินตัวเลขแบบหยาบ เรามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 กว่าคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาบูรณาการกันจะได้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 22,281 คนต่อปี ตัวเลขมากขนาดนี้ ทุกหัวโค้งในประเทศก็คงเป็นโค้งอาถรรพ์เกือบหมด ใช่หรือไม่? องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ทำตัวเลขประมาณการไว้เมื่อปี 2556 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นอัตราการตายที่ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน สถิติแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าทำลาย แต่การสื่อสารเนื้อหาที่หวือหวาด้วยเรื่องอาถรรพ์สารพัดและพระเครื่องของเหล่าเกจิดัง มันได้กลบฝังความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงไปอย่างมาก จนละเลยค้นหาสาเหตุที่ประกอบด้วยปัจจัยหลากหลาย และในบางครั้งก็ซับซ้อน ใหญ่โต ถึงระดับโครงสร้างร้อยละ 24 ของคนไทยหรือ 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นป้องกันไม่ได้ อุบัติเหตุเป็นเคราะห์ร้าย โชคชะตา อาถรรพ์ ปัจจัย 2 ระดับของอุบัติเหตุบนท้องถนน น่าสนใจทีเดียวเมื่อพบว่า คนไทย 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ มันคือคราวเคราะห์ โชคชะตา อาถรรพ์ แต่ถ้าเราพาตัวเองหลุดจากโค้งอาถรรพ์ แล้ววิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะพบว่า มี 2 ระดับที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่เราอาจนึกไม่ถึงมาก่อนและคิดเหมาไปว่าเป็นเรื่องเดียวกัน 1.สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เมาแล้วขับ โทรแล้วขับ หรือการขับรถเร็ว เป็นต้น 2.สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เช่น การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีถุงลมนิรภัย หรือโครงสร้างของรถไม่แข็งแรงเพียงพอ ที่ต้องแยกออกเป็น 2 ปัจจัย เพื่อให้การวิเคราะห์และแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างถูกต้อง เพราะการเกิดอุบัติเหตุไม่จำเป็นต้องมาคู่กับการสูญเสียชีวิตทุกครั้ง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า“เราต้องมองสาเหตุทั้งสองระดับ คือสาเหตุของการเกิดเหตุและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกับคน รถ และถนน เราจึงจะได้ภาพรวมว่าเหตุการณ์นี้จะจัดการตรงจุดไหนได้บ้าง เราจึงต้องวิเคราะห์ทั้งสองส่วน เวลาเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเราจะไม่สรุปแค่ว่าขับรถโดยประมาท ทุกวันนี้ เรื่องอุบัติเหตุถูกครอบงำ ถูกทำให้มองไม่ลึก เช่น ถูกมองแบบบิดเบือนเชื่อมโยงกับอาถรรพ์ ปาฏิหาริย์ โชคชะตา ซึ่งทำให้การมองปัญหาเพื่อนำไปสู่การป้องกันมีจำกัด”นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 43 ไม่มีคู่กรณี แต่กลับมีการเสียชีวิตถึงร้อยละ 34 แสดงว่าความตายเกิดจากวัตถุอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้าย เป็นต้น หรือเพราะสภาพกายภาพของถนน ทั้งที่วัตถุเหล่านี้ควรมีระยะห่างจากขอบทางอย่างน้อย 5-7 เมตร แต่สภาพความเป็นจริงคือ 3-4 เมตรหรือกรณีถนนบริเวณหน้าศาลอาญารัชดาที่ถูกเรียกขานเป็นโค้งอาถรรพ์ นพ.ธนะพงษ์ อธิบายว่า ถ้าเป็นทางหลวงรถสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การออกแบบถนนบริเวณโค้งจะมีการยกระดับความลาดเอียงขึ้นเพื่อป้องกันการหลุดโค้งของรถ แต่สำหรับถนนในเมืองซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รถทำความเร็ว ทางโค้งจึงไม่ได้ออกแบบให้มีความลาดเอียงไว้ เมื่อวิเคราะห์ต่อไปว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดเวลากลางคืน ถนนโล่ง รถจึงทำความเร็วเกินกำหนด แต่เมื่อถนนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำความเร็วระดับนี้ อุบัติเหตุรถหลุดโค้งจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่แทนที่จะวิเคราะห์หาปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ กลับถูกสื่อเล่นข่าวเป็นโค้งอาถรรพ์ จนการมองปัญหาผิดเพี้ยนไป“อีกประการคือเวลาพูดถึงอุบัติเหตุ ต้องไม่โทษเหยื่อหรือตัวเหตุการณ์ เช่นไม่มองว่าเพราะรถซิ่ง โจ๋ซิ่งทำให้เสียชีวิต โดยไม่รู้ตัว คำนี้ทำให้คนรับสารไม่รู้สึกถึงการอยากป้องกัน มองแค่ว่าเขาทำตัวเอง บางทีจะรู้สึกว่าสมควรแล้วที่เกิดกับคนเหล่านั้น ไม่ไปชนคนอื่นก็ดีแล้ว ทั้งที่เราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่เราถูกทำให้สรุปไปอย่างนั้น ดังนั้น การนำเสนอ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นอกจากต้องไม่เชื่อมโยงกับเรื่องอาถรรพ์แล้ว ยังต้องไม่ตำหนิกล่าวโทษตัวเหยื่อ และต้องชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย เช่น ฝนตกถนนลื่นซึ่งเราจะเห็นประจำ แต่คำถามคือถ้าฝนตกถนนลื่น ทำไมอุบัติเหตุจึงเกิดกับคันนี้คันเดียว แสดงว่าต้องมีอะไรมากกว่าฝนตกถนนลื่น อาจเป็นไปได้ว่ายางรถยนต์ของคันนี้เป็นยางเสื่อมสภาพหรือคันนี้ขับเร็ว คือสิ่งที่จะถูกวิเคราะห์และนำเสนอ ต้องการการเปลี่ยนมุมมองของคนที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ปัญหาต้องเห็นองค์ประกอบที่ครบถ้วน”องค์ประกอบ 4 ด้านของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อกล่าวถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน คน ถนน รถ และสภาพแวดล้อม ใน 4 ปัจจัยนี้ ปัจจัยแรกมีผลมากที่สุดต่อการเกิดอุบัติเหตุ มันคือเรื่องของพฤติกรรม ยามที่คุณขับขี่รถไปบนท้องถนน เชื่อเหลือเกินว่าคุ้นเคยดีกับพฤติกรรมการขับขี่รถที่ไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงถือเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ทุกครั้งที่พูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรามักได้ยินคำพูดซ้ำๆ ว่า ต้องสร้างจิตสำนึก ต้องสร้างจิตสำนึก และต้องสร้างจิตสำนึก เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เสมอเพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่เราก็สร้างจิตสำนึกกันมานานมากแล้ว พฤติกรรมการขับขี่ (หรือแม้กระทั่งเรื่องอื่นๆ) ก็ไม่เปลี่ยน ใช่หรือไม่ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะวิธีการสร้างจิตสำนึกของเราล้มเหลว ตัววิธีการสร้างจิตสำนึกเองต่างหากที่น่าจะมีปัญหาหรือไม่เพียงพอ“ถ้ากล่าวเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งที่สังคมต้องการตอนนี้คือไม่ใช่แค่เรื่องสร้างจิตสำนึก แต่เรากำลังต้องการการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมว่า การมีพฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมอันตรายและให้คนในสังคมกำกับหรือกดดันควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าวแน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างจิตสำนึกยังเป็นความจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ หากต้องใส่องค์ประกอบอื่นๆ ลงไปด้วยรวมเป็น 4 องค์ประกอบ1.การสร้างจิตสำนึก2.การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม3.การบังคับใช้กฎหมาย4.การใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพยกตัวอย่าง การจอดรถในที่จอดรถของผู้พิการที่ปัจจุบันลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเข็ดขยาดจากการถูกถ่ายคลิปหรือรูป แล้วส่งต่อกันในโลกโซเชียลมีเดีย และนี่กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากสำนึกที่ถูกสร้าง แต่เกิดจากมาตรการทางสังคมที่ก่อรูปบรรทัดฐานที่ควรจะเป็น“ผมขยายความเรื่องบรรทัดฐาน มันไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานผ่านโลกโซเชียลอย่างเดียว เราสามารถสอดแทรกเข้าไปในกลไกที่มีอยู่ เช่น ทำให้องค์กรต้นสังกัดกำหนดพฤติกรรมความปลอดภัย ยกตัวอย่างองค์กรหนึ่งบอกกับพนักงานว่า ต่อไปถ้าจะขี่มอเตอร์ไซค์มาต้องใส่หมวก ไม่ใส่จะมีผล จะเห็นว่าพฤติกรรมนี้ไม่ได้ถูกกำกับด้วยตัวปัจเจกแล้ว แต่ถูกกำกับด้วยตัวองค์กร เป็นตัวช่วยอีกแบบในการสร้างบรรทัดฐาน”หรือกรณีการขับรถแซงเข้ามาเบียดที่คอสะพานเพื่อหวังจะได้ไปก่อน นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึกยังคงต้องทำต่อไป แต่วิธีการที่ได้ผลกว่าคือรถคันอื่นๆ จะต้องไม่ยอมรถจำพวกนี้ ต้องแชร์พฤติกรรมนี้ และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดไปในเวลาเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายดูจะเป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย นพ.ธนะพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เรามักพูดว่าคนไทยขาดจิตสำนึกทำให้ไม่ยอมใส่หมวกกันน็อกเวลาขี่รถจักรยานยนต์ แต่พอคนไทยคนเดียวกันนี้ข้ามไปประเทศมาเลเซีย กลับหยิบหมวกกันน็อกขึ้นมาใส่ คำถามคือ คนคนนี้เกิดจิตสำนึกขึ้นมาโดยพลัน หรือเพราะเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดของมาเลเซียการใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพเพื่อกำกับพฤติกรรมเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ต้องนำมาใช้ ยกตัวอย่างปัญหาการขับขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นมาบนฟุตปาธ ที่ผ่านมาการรณรงค์ การสร้างจิตสำนึก พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ล่าสุด หน่วยงานรัฐออกนโยบายให้ผู้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อปรับและแบ่งค่าปรับคนละครึ่ง นพ.ธนะพงศ์ตั้งคำถามว่า วิธีการที่ง่ายกว่านั้นคือติดอุปกรณ์ขวางไว้ดีหรือไม่ จะช่วยขจัดพฤติกรรมให้หายไปได้ ไม่ใช่เพราะมีจิตสำนึกหรือถูกจับ แต่หายไปเพราะไม่สามารถทำพฤติกรรมนี้ได้ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพมากำกับ หรือกรณีรถวิ่งเร็วในซอย การติดป้ายรณรงค์หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าคงไม่อาจทำได้ตลอด แต่การสร้างเนินชะลอความเร็วจะบังคับให้รถทุกคันต้องขับช้าลง ดังนั้นอิทธิพลทางกายภาพจึงมีผลต่อพฤติกรรมบนท้องถนนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายธูป เทียน ดอกไม้ ไม่ใช่คำตอบ แต่เดี๋ยวก่อน สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพไม่ใช่คำตอบสมบูรณ์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบนท้องถนน ไม่ใช่เลย เราคงเคยเห็นผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่สนใจสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพและยังคงทำผิดกฎจราจรเช่นเดิม“เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เราทำเรื่องเดียวไม่ได้ ต้องทำกับตัวปัจเจก กับบรรทัดฐาน กับการบังคับใช้กฎหมาย และกับด้านกายภาพไปพร้อมๆ กัน ผมกำลังบอกว่า เวลาเราคิดเรื่องนี้ มันไม่เบ็ดเสร็จ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ต้องสร้างจิตสำนึก ไม่จริงหรอก พลังมันไม่พอ ต้องทำควบคู่กันหลายอย่าง”ไกลและกว้างกว่านั้น นพ.ธนะพงศ์ อยากให้เรามองปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมเชิงปัจเจกหรือกฎหมาย เช่น เวลาเผชิญปัญหารถติด ความคิดโดยทั่วไปคือทำไมไม่ขยายถนน แต่เมื่อขยายถนน สิ่งที่ตามมาคือรถวิ่งเร็วขึ้น เพราะสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น เสี่ยงทั้งต่อผู้ขับขี่และต่อคนเดินถนนหรือปัญหาในระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เมื่อระบบขนส่งมีข้อจำกัด ผู้คนจึงเลือกการซื้อรถยนต์ส่วนตัวเป็นทางออก แล้วปัญหาต่างๆ ก็ติดตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งหมดนี้บอกอะไร?มันกำลังบอกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องของพลังงานลี้ลับ แต่เป็นปัจจัยจากตัวบุคคล รถ ถนน และสภาพแวดล้อม ธูป เทียน ดอกไม้ และเครื่องเซ่นสรวง จึงไม่ใช่คำตอบของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ผ่านกลไกทั้ง 4 ด้านไปพร้อมๆ กันและการแก้ไขปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างต่างหากคือคำตอบที่ได้ผลยั่งยืนกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 Thai Weather ปรับตัวตามการพยากรณ์สภาพอากาศ

หลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงฝนตกอย่างต่อเนื่อง และในบางช่วงเกิดจากมรสุมพัดผ่าน จึงทำให้บางครั้งฝนตกช่วงเช้า ช่วงเย็น หรือตกตลอดทั้งวัน จนไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำหรับประชาชนที่ต้องเดินทางไปทำงานพอสมควร เนื่องจากไม่แน่ใจในสภาพอากาศที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวอากาศร้อนแล้วเปลี่ยนเป็นฝนตก สลับกันไป ถ้าไม่มีการเตรียมตัวมาก็อาจต้องมีตากฝนตากแดดจนเป็นไข้หวัดกันได้  ฉบับนี้ผู้เขียนจึงเห็นว่าในฐานะประชาชนในประเทศไทยคนหนึ่ง ควรที่จะได้รู้และศึกษาสภาพอากาศได้ก่อนล่วงหน้า จึงนำแอปพลิเคชันของกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีชื่อว่า Thai Weather มาแนะนำให้ดาวน์โหลดลงบนสมาร์ทโฟนเพื่อติดตามสภาพอากาศได้ตลอดเวลา ภายในแอปพลิเคชัน Thai Weather จะแบ่งเมนูหลักเป็น 15 หมวด ได้แก่ เมนูแผนที่เตือนภัยจะบอกข่าวเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น เมนูพยากรณ์อากาศเป็นส่วนที่จะบอกรายละเอียดถึงอุณหภูมิ การพยากรณ์ฟ้าฝนในแต่ละจังหวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการทราบข้อมูลจากวันนี้และถัดไปอีก 4 วัน เมนูสภาพอากาศจะบอกถึงรายละเอียดถึงอุณหภูมิ การพยากรณ์ฟ้าฝนจังหวัดที่ผู้ถือสมาร์ทโฟนอยู่ ณ เวลานั้น เมนูกรุงเทพจะเป็นรายงานและพยากรณ์ฝนภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมนูประกาศจะบอกข่าวสารที่ต้องประกาศ เมนูแผ่นดินไหวจะรายงานการเกิดแผ่นไหวล่าสุดรอบประเทศไทยและทั่วโลก เมนูทางเดินพายุจะรายงานทิศทางการเดินทางของพายุ เมนูเรดาร์จะเป็นการแสดงภาพสภาพอากาศในรูปแบบเรดาร์ เมนูดาวเทียมจะเป็นการแสดงภาพสภาพอากาศผ่านดาวเทียม เมนูแผนที่อากาศจะแสดงบริเวณที่เกิดความกดอากาศสูงและความกดอากาศต่ำ เมนูสื่อวีดีทัศน์จะเป็นวิดีโอพยากรณ์อากาศในแต่ละวัน เมนูถ่ายภาพแบ่งปันจะให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถแบ่งปันรูปภาพที่ถ่ายด้วยตนเอง แล้วนำมาใส่ตัวเลขอุณหภูมิ ณ เวลานั้นเพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียต่อไป เมนูสื่อเผยแพร่จะรายงานข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพอากาศ ส่วนเมนูปรับตั้งค่า เมนูแจ้งเตือนและเมนูติดต่อเรา จะช่วยในการตั้งค่าการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน การเปิดระบบการแจ้งเตือนภัย และข้อมูลรายละเอียดการติดต่อกรมอุตุนิยมวิทยาพร้อมแผนที่การเดินทางลองดาวน์โหลดมาพกติดตัวกันไว้ จะได้ไม่ต้องมาคอยหาข่าวสารจากทางอื่น ยิ่งสำหรับคนทำงานที่ต้องเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ จะได้คาดการณ์สภาพอากาศและตระเตรียมอุปกรณ์กันแดดกันฝนได้ทัน ซึ่งน่าจะช่วยไม่ให้เป็นโรคยอดฮิต อย่างไข้หวัดได้บ้างเล็กน้อย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2560สคบ.บุกเต็นท์รถมือสองรับผิดชอบคนซื้อรถแล้วเจอปัญหาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์มือสอง บริเวณถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา หลังได้รับข้อร้องเรียน เรื่องรถยนต์ชำรุดแล้ว โชว์รูมไม่รับผิดชอบ สคบ.ให้ทำบันทึกข้อตกลงให้โชว์รูมรถมือสองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบพบรถยนต์หรูมือสองในโชว์รูม กระทำผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 22 คัน บก.ปคบ.จึงได้แจ้ง 3 ข้อหา ได้แก่ เป็นผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ใช้แล้วไม่ติดฉลากสินค้า หรือมีฉลากแต่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังไม่จัดให้มีหลักฐานการรับเงินที่ถูกต้องและทำผิดข้อตกลงชำระหนี้ให้ผู้บริโภคด้วยธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้ว หรือเต็นท์รถมือสอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการ และเป็นสินค้าควบคุมฉลาก คือ ต้องติดฉลากสินค้าให้ชัดเจน มีรายละเอียดยี่ห้อ รุ่นปี ขนาด และมีสมุดคู่มือรถ รุ่นปี ราคา ทะเบียน และข้อมูลการประสบภัยด้วยกรณีที่ไม่ติดฉลากให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับรับเจาะลักยิ้ม ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ได้เข้าตรวจสอบร้านรับเจาะส่วนต่างๆ ของร่างกาย  ชื่อร้านแจ็ค ดอว์สัน บริเวณตลาดนัดจตุจักร จากการตรวจสอบพบนายธนธัช กาลมหา อายุ 49 ปี เป็นเจ้าของกิจการและผู้ให้บริการ ทำลักยิ้ม เจาะ ขยาย กรีดหู ผ่าเนื้อนูน และขายยาชา โดยผู้รับบริการส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่ทราบข้อมูลจากสื่อโซเชียล โดยวิธีการเจาะลักยิ้ม จะทายาชาบริเวณแก้มผู้รับบริการ จากนั้นจะให้อมแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อในปาก ก่อนลงเข็มเจาะแก้มทีละข้างทะลุเข้าไปในช่องปาก หลังจากนั้นจึงใส่จิวหรือเครื่องประดับ ติดไว้ที่แก้มทั้งสองข้าง ประมาณ 1-2 เดือน จึงกลับมาถอดจิวออก ซึ่งการเจาะลักยิ้มด้วยวิธีดังกล่าวเข้าข่ายตามนิยามในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่จะต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากแพทยสภาเท่านั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้ง 2 ข้อหากับเจ้าของร้าน คือ ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้การใช้เข็มเจาะเข้าไปที่บริเวณแก้มเพื่อทำลักยิ้ม โดยบุคคลที่มิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะบนใบหน้าประกอบไปด้วยเส้นประสาท และกล้ามเนื้อจำนวนมาก หากผู้กระทำไม่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้รับบริการปากเบี้ยว ใบหน้าผิดรูป และอาจเกิดการติดเชื้อที่บาดแผล จนแผลเน่า หรือติดโรคติดต่อจากเข็มที่ใช้เจาะได้หมา-แมวเสี่ยงตายจากยากำจัดเห็บหมัดไม่มีทะเบียน ระวังยากำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวที่ไม่ได้รับการรับรองจาก อย. ใช้แล้วอาจทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กำจัด เห็บหมัดชนิดหยดหลังสำหรับสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการแพ้และเสียชีวิต โดยมีการจำหน่ายตามร้านจำหน่ายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สำหรับสัตว์ ตลอดจนทางเว็บไซต์สำหรับผู้รักสัตว์เลี้ยง ซึ่งจากการตรวจสอบของ อย. พบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เช่น ผลิตภัณฑ์หยดหลังสำหรับสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว Detick, ผลิตภัณฑ์หยดหลังสำหรับสัตว์เลี้ยงสุนัข และแมว Kill Out, ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดในแมวและสุนัข D-SURE, ผลิตภัณฑ์หยดหลังกำจัดเห็บหมัด Fiprocide ฟิโปรไซด์, ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดในแมวและสุนัข OUT SJDE, ผลิตภัณฑ์กำจัดขี้เรื้อน เห็บ หมัด พยาธิหนอนหัวใจ E-tick+ และผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดในแมวและสุนัข tick FREEโดยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์พบฟิโพรนิล(fipronil) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่ง ผู้ผลิต ผู้นำเข้าต้องขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หากฝ่า ฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ขายจะมีความผิดฐาน จำหน่ายวัตถุอันตรายที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและครบถ้วน หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในขณะนี้อย. ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตจำนวน 1 ราย และผู้จำหน่ายสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์สำหรับสัตว์ในตลาดจตุจักรจำนวน 4 ร้าน คสช.ใช้ ม.44 สั่ง 12 สายการบินห้ามบินนอกประเทศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สั่งห้ามบริษัท องค์กรที่ไม่ได้รับใบอนุญาตการเดินอากาศ ระงับการเดินอากาศระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560-31 มกราคม 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำ และการจะตรวจสอบมาตรฐานการบินของ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization (ICAO)) ที่จะเดินทางมาตรวจในวันที่ 20-27 กันยายนนี้ โดยมี 12 สายการบินที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ประกอบด้วย1.บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด, 2. บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด, 3. บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด, 4. บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด, 5. บริษัท เจ็ท เอเชีย แอร์เวย์ จำกัด, 6. บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด, 7. บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด, 8. บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ จำกัด, 9. บริษัท วีไอพี เจ็ทส์ จำกัด, 10. บริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด, 11. บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด และ 12. บริษัท สกาย วิว แอร์เวย์ จำกัดที่มาของคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ดําเนินการเดินอากาศระหว่างประเทศจํานวนหนึ่งที่ยังไม่ผ่านการตรวจประเมินและได้รับใบรับรอง ผู้ดําเนินการเดินอากาศใหม่ (Recertification of Air Operator Certificate (RE-AOC)) และการตรวจประเมินความก้าวหน้า เกี่ยวกับการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern (SSC))ค้าน กรมวิชาการเกษตร ยื้อเวลาไม่ยอมเพิกถอน “พาราควอต – คลอร์ไพริฟอส”เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรและเครือข่ายต่างๆ มากกว่า 40 องค์กร ผิดหวังต่อคำแถลงและผลการพิจารณาของกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง ที่ยื้อเวลาการเพิกถอนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป ทั้งที่มีอำนาจสามารถทำได้ทันที โดยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอ้างว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ทั้งๆ ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้ยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างรุนแรง มีงานวิชาการที่ชัดเจนรองรับ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551ออกคำสั่งระงับการใช้สารพิษทั้งสองชนิดได้เพื่อสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เครือข่ายฯ จะเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและศาลากลางทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิเสธการต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสที่กำลังหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งเพิกถอนทะเบียนของสารพิษดังกล่าวตาม Road Map เพื่อให้มีการยุติการใช้สารเคมีทั้งสองชนิด ภายในปี 2562 อย่างไม่มีเงื่อนไข

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 กระแสต่างแดน

แพ็กสุดคุ้ม Ofcom องค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของอังกฤษทำการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคเพื่อจัดทำข้อเสนอที่จะช่วยให้การเลือกแพ็กเกจบริการบรอดแบนด์เป็นเรื่องง่ายขึ้นเขาพบว่า ร้อยละ 75 ของผู้บริโภคเลือกแพ็กเกจจากราคาเป็นหลัก แต่พวกเขาไม่แน่ใจว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตหรือปริมาณข้อมูลที่ได้มานั้นคุ้มค่าคุ้มราคาหรือไม่  แม้ผู้บริโภคจะสามารถเปลี่ยนไปใช้บริการเจ้าอื่นได้เมื่อสิ้นสุดสัญญาโดยไม่ต้องเสียค่าปรับ แต่มีผู้บริโภคถึงร้อยละ 60 ที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากผู้ประกอบการก่อนวันหมดสัญญา นั่นหมายความว่าลูกค้าไม่ได้ใช้สิทธิเลือกอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่มีผู้ให้บริการแข่งขันกันอยู่ในตลาดไม่ต่ำกว่า 10 ราย Ofcom จึงเสนอให้มีข้อบังคับเรื่องการแจ้งเตือนเหมือนกรณีของประกันรถยนต์ นอกจากนี้ยังเสนอให้ ผู้ประกอบการจ่ายค่าชดเชยกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้บริการได้เกินสองวันทำการ/ไม่สามารถเริ่มใช้บริการได้ในวันที่ตกลงกัน หรือถูกพนักงานนัดมาติดตั้งหรือแก้ไขโทรมายกเลิกนัดด้วย  ช่วยกันกิน ช่วยกันใช้ ขณะนี้ประชากรจิงโจ้ในออสเตรเลียมีมากจนน่าเป็นห่วง จาก 27 ล้านตัวในปี 2010 เพิ่มเป็น 45 ล้านตัวในปีที่แล้ว(ในขณะที่ประชากรออสซี่มีเพียง 25 ล้านคน) รัฐบาลจึงขอความร่วมมือให้มีการบริโภคเนื้อจิงโจ้ให้มากขึ้นที่แดนจิงโจ้นั้น ผู้ประกอบการสามารถขอสัมปทานในการฆ่าจิงโจ้เพื่อการค้าได้ แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีใครไปขอ เพราะไม่มีความต้องการของตลาดแถมราคาก็ถูกจนไม่น่าลงทุน  คนออสซี่ไม่นิยมบริโภคเนื้อจิงโจ้ เนื้อที่ผลิตได้ก็ถูกส่งออกแทบทั้งหมด ร้อยละ 70 ส่งไปรัสเซีย ที่เหลือใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ ส่วนหนังและขนของมันก็เป็นสินค้าส่งออกเช่นกัน แต่หางจิงโจ้ยังสามารถหาซื้อได้ในย่านไชน่าทาวน์ในเมืองซิดนีย์เพราะเป็นที่นิยมของลูกค้าเชื้อสายจีน กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์นี้บอกว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการลดจำนวนจิงโจ้จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแต่อย่างใด ที่สำคัญคือจิงโจ้ปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่าวัวด้วยซ้ำ  หนี้ซ้ำซ้อน วันนี้คนนอร์เวย์เป็นหนี้กันมากขึ้น ธนาคารแห่งชาติของนอร์เวย์เปิดเผยว่าตัวเลขคนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 และมักจะมีเจ้าหนี้มากกว่าหนึ่งราย ทั้งหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้าน  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแคมเปญการตลาดของสถาบันการเงินที่ส่งเสริมให้คนกู้เงินทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ความหละหลวมในการตรวจสอบหนี้เดิมของลูกค้าที่ทำให้คนเป็นหนี้อยู่แล้วสามารถกู้เพิ่มได้ และการออกใบแจ้งหนี้ที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน   ภาครัฐจึงแก้เกมด้วยการห้ามใช้ประเด็นต่อไปนี้ – “ยื่นของ่าย” “ได้รับอนุมัติเร็ว” หรือ “โอนเงินทันที” ในการโฆษณา นอกจากนี้ยังปรับปรุงฐานข้อมูลและกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบใหม่เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขอกู้ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ส่วนใบแจ้งหนี้ในแต่ละเดือนนั้น เขากำหนดให้มีการแสดงหนี้ทั้งหมดให้จบภายในบิลเดียว ให้เห็นหนี้ที่ต้องชำระในเดือนนี้และหนี้ทั้งหมดด้วย หลังพายุสงบ เฮอริเคนฮาร์วีย์ ทำให้มีคนอพยพออกจากบ้านไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ระหว่างนั้นพวกเขาต้องเผชิญความยากลำบากที่มากกว่าแค่ลมและฝนศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในเท็กซัสได้รับเรื่องร้องเรียนเกือบ 2,000 เรื่อง ประมาณ 600 กว่าเรื่องเป็นการถูกผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันถือโอกาสขึ้นราคา อีกไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องคือการได้รับโทรศัพท์สายที่ไม่ต้องการ เช่น โทรมาขายประกัน ชวนบริจาค หรือขอข้อมูลเรื่องความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของที่พักราคาแพง เช่นโรงแรมในเครือเบสต์เวสเทิร์น ที่ขึ้นค่าห้องพักจากคืนละไม่เกิน 150 เหรียญ(ประมาณ 5,000 บาท) เป็น 280 เหรียญ(ประมาณ 9,200 บาท) ข่าวบอกว่าขณะนี้โรงแรมประกาศคืนเงินให้ผู้เข้าพักแล้วไหนจะมีพวกหลอกลวงที่โทรมาชวนลงทุนในโครงการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารที่เสียหายจากพายุ และศูนย์ฯ คาดการณ์ว่าอีกหนึ่งเดือนจะมีเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของบ้านที่โดนผู้รับเหมาเชิดเงินค่าซ่อมบ้านหนีไปแน่นอนที่อเมริกามีทีมพิเศษดูแลจัดการเรื่องเหล่านี้ เพราะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์พายุหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคาทรินา ริต้า หรือวิลม่า  ได้เวลาเปลี่ยนโค้ด เหตุการณ์ไข่ไก่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในยุโรปส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้ ที่ผู้คนไม่ค่อยคุ้นชินกับอาหารปนเปื้อนของสารเคมี ถึงขั้นเกิด egg phobia การสำรวจฟาร์มไก่ในประเทศจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,200 ฟาร์ม พบว่ามีถึง 52 ฟาร์มที่มีไข่ไก่ปนเปื้อนเกินกำหนด ข่าวบอกว่าเขาไม่ได้ทำการสำรวจเลยตั้งแต่ปี 2010 ร้อนถึงกระทรวงความปลอดภัยของอาหารและยา ที่ตัดสินใจประกาศจะนำระบบโค้ดใหม่มาใช้กับไข่ไก่ในประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปจากเดิมที่ระบุเพียงฟาร์มที่เลี้ยงและภูมิภาคที่ตั้งของฟาร์ม ผู้ประกอบการจะต้องแสดงวันที่ ที่ไก่ออกไข่ รหัสฟาร์ม และวิธีที่ใช้เลี้ยง(เลี้ยงแบบออกานิก/เลี้ยงด้วยระบบเปิด/เลี้ยงในโรงเลี้ยง/เลี้ยงในกรง) นักวิชาการบอกว่าเราอาจต้องกินไข่ไก่ถึง 126 ฟองในคราวเดียวจึงจะได้รับอันตรายเฉียบพลันจากฟิโพรนิล แต่ก็ต้องไม่ประมาทผลในระยะยาวเพราะคนส่วนใหญ่รับประทานไข่ทุกวัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 บทบรรณาธิการ

มติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข ที่มี 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ ให้มีการเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความสี่ยงสูง 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต(paraquat)  สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะพิษเฉียบพลันสูงและเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน และ คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) สารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารกอย่างถาวรและหลายประเทศทั่วโลกห้ามการใช้ในพืชผักและอาหาร รวมทั้งให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารก่อมะเร็งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในประเทศไทย โดยห้ามใช้ในเขตชุมชน พื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ เป็นต้นอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แถลงอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ว่ากระทรวงเกษตรขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัย แต่จะส่งเรื่องนี้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ทั้งที่กระทรวงเกษตรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯต้องยอมรับว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัยเช่นเดียวกัน ทำให้การเพิกถอนสารเคมีที่มีอันตราย ถูกทำให้เนิ่นช้าออกไปโดยไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้บริโภค เหมือนกรณีแร่ใยหิน(Asbestos) ที่มีมติคณะรัฐมนตรี ให้มีระยะเวลายกเลิกการนำเข้ายกเลิกการใช้ที่ชัดเจน แต่กลับถูกเริ่มต้นศึกษาใหม่โดยกระทรวงอุตสาหกรรมปัจจุบันพาราควอต มี 48 ประเทศ ยกเลิกการใช้ ซึ่งกว่าครึ่งอยู่ในทวีปยุโรป ส่วนประเทศในทวีปเอเซีย ที่ประกาศห้ามใช้พาราควอต ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ศรีลังกา เวียดนาม ลาว กัมพูชา ซีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่มีประเทศที่ประกาศจำกัดการใช้จำนวน 7 ประเทศ โดยที่มี มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศดังกล่าว หรือแม้แต่ประเทศที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตสารชนิดนี้ คือประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็ยังประกาศห้ามใช้ ทำให้พาราควอตยิ่งเข้าเงื่อนไขการพิจารณาเพิกถอนทะเบียนของกรมวิชาการที่ว่า หากประเทศผู้ผลิตต้นทางมีการยกเลิกหรือประกาศห้ามใช้ คณะกรรมการสมควรพิจารณายกเลิกการใช้หรือห้ามใช้เช่นเดียวกัน (Certificate of Free Sale) หรือในอนาคตของอาเซียน หากสมาชิกกลุ่มอาเซียนยกเลิกประเทศไทยก็ควรยกเลิกเช่นเดียวกัน (One Ban All Ban Policy) นิตยสารฉลาดซื้อในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ขอเรียกร้องกรมวิชาการเกษตรให้อาศัยอำนาจตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย(ฉบับปรับปรุงแก้ไข 2551) ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เช่นเดียวกับที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการในกรณีไม่ให้ใบอนุญาตสารเมโทมิล และคาร์โบฟูราน ที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ครีมสลายไขมัน มีประโยชน์จริงหรือ

หลายคนที่มีความกังวลเรื่องไขมันส่วนเกิน มักมองหาสารพัดวิธีเพื่อกำจัดปัญหาดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เชื่อว่าเป็นทางลัดก็หนีไม่พ้นการใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยสลาย ละลายหรือดูดไขมันได้ แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริงหรือ ทำไมต้องกำจัดไขมันส่วนเกินเหตุผลที่หลายคนมักกังวลกับไขมันส่วนเกิน มักมีสาเหตุหลักจากเรื่องความสวยงามและสุขภาพ เพราะนอกจากไขมันส่วนเกินจะทำให้ขาดความมั่นใจ เนื่องจากมักพบมากที่บริเวณหน้าท้อง ต้นขาหรือต้นแขนจนทำให้ใส่เสื้อผ้าไม่สวยหรือดูอ้วนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจหรือไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดไขมันแม้คนส่วนใหญ่จะทราบว่าวิธีการกำจัดไขมันส่วนเกินนั้น ไม่มีอะไรมาก แค่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่เนื่องจากวิธีเหล่านั้นต้องทำเป็นประจำและใช้เวลาสักพักจึงจะเห็นผล ทำให้หลายคนต้องหาวิธีลัดในการกำจัดปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ทรีตเมนท์ละลายไขมัน เจลและมาส์กสลายไขมัน หรือสบู่ระเบิดไขมัน ออกมาโฆษณาว่าสามารถช่วยสลาย ละลายหรือดูดไขมันได้ โดยจะทำให้แขนขาเรียวเล็กหรือหน้าท้องแบนขึ้น เนื่องจากเต็มไปด้วยส่วนผสมที่มีประสิทธิภาพในการสลายไขมันที่อยู่ภายใต้ชั้นผิว ทั้งยังปลอดภัยเพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติและมี อย. อย่างไรก็ตามผู้บริโภคอย่างเราต้องไม่ลืมว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงามเท่านั้น โดยไม่สามารถอ้างว่า บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค ความเจ็บป่วย มีผลต่อโครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายได้ เพราะหากทำได้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะกลายเป็นยารักษาโรคแทน ซึ่งต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นยาและแสดงไว้บนฉลาก เป็นอักษรและตัวเลข เช่น Reg. No. 2C 93/52 โดยไม่ต้องมีกรอบ อย. ล้อมรอบ แตกต่างจากการจดแจ้งว่าเป็นเครื่องสำอางและใช้เลขที่จดแจ้ง 10 หลัก ซึ่งที่ผ่านมาองค์การอาหารและยา (อย.) ได้พบว่ามีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่จัดเป็นเครื่องสำอาง แต่อวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา เช่น โลชั่นปลูกผม ครีมเสริมสร้างทรวงอก ครีมลดไขมัน สบู่ลดความอ้วน โลชั่นกระชับจุดซ่อนเร้น หรือครีมฆ่าเชื้อโรค เป็นต้นแสดงให้เห็นว่าหากเราหวังผลในการลดไขมันส่วนเกิน แต่ดันไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอาง ซึ่งมีประสิทธิภาพเพื่อความสะอาดหรือความสวยงาม ก็ไม่อาจช่วยรักษาหรือทำให้เกิดผลต่อโครงสร้างใดๆ ของร่างกายได้นั่นเอง นอกจากนี้หากเราเลือกใช้เครื่องสำอางดังกล่าวโดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อน อาจพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เข้าข่ายเครื่องสำอางอันตรายที่มีการใส่สารห้ามใช้หรือกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย ซึ่งหลักการง่ายๆ ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางให้ปลอดภัยนั้น สามารถทำได้ด้วยการตรวจสอบฉลากภาษาไทย ที่อย่างน้อยต้องระบุชื่อเครื่องสำอาง, ส่วนผสม, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า, ปริมาณสุทธิ, เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, ว/ด/ป ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งเลขที่จดแจ้งด้วย สามารถทำได้ด้วยการตรวจสอบฉลากภาษาไทย ที่อย่างน้อยต้องระบุชื่อเครื่องสำอาง, ส่วนผสม, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า, ปริมาณสุทธิ, เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, ว/ด/ป ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งเลขที่จดแจ้งด้วยแนะวิธีกำจัดไขมันส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ1. ออกกำลังกาย ด้วยการคาร์ดิโอ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยานหรือแอโรบิก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที สามารถช่วยลดไขมันได้อย่างดี แต่ต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะการที่ร่างกายจะเผาผลาญไขมันส่วนเกินได้มากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับสารอาหารและพลังงานที่ร่างกายได้รับด้วย2. ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากเครื่องมือเพื่อการสลายหรือดูดไขมันมีมากมาย เช่น เลเซอร์ คลื่นวิทยุ คลื่นเสียงความถี่สูงหรือความเย็นสลายไขมัน ซึ่งให้ประสิทธิผลที่ดี แต่ต้องเลือกสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการสถานพยาบาลเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยหรือป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่างๆ นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาเพื่อฉีดสลายไขมัน เพราะปัจจุบัน อย. ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนยาใดๆ ที่มีคุณสมบัติเพื่อสลายไขมัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ฉีดยาดังกล่าวเข้าไปเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้***ร่วมแชร์กันนะครับ***

อ่านเพิ่มเติม >