ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 โศกนาฏกรรมรถตู้จันทบุรี ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อเยียวยา

จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารจันทบุรีพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะจนเกิดไฟไหม้ที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 คนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญแห่งปีแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่รัฐบาลนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารที่ทุกคนคุ้นชินอย่างทันทีและรวดเร็ว กับปัญหาที่รู้กันดี ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ที่นั่งแออัด ไม่เข้าจอดรับส่งผู้โดยสารในสถานี รถไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือมีแต่คนขับไม่บอก คนนั่งก็ไม่คาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมมานาน จนทุกคนเคยชินคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในช่วงแรกที่กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงยังร้อนแรง รัฐบาลรีบประกาศทันทีว่าจะยกเลิกรถตู้โดยสารเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสเร็วสุดใน 6 เดือนกันเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ และสุดท้ายกระแสข่าวการยกเลิกรถตู้โดยสารก็จางหายไป หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนแรก คุมเข้มพฤติกรรมการขับขี่รถตู้โดยสาร เริ่มจากรถตู้โดยสารประจำทางร่วมบริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีเส้นทางวิ่งกรุงเทพฯ ปลายทางต่างจังหวัด (ไม่นับรวมรถตู้โดยสารร่วมบริการของ ขสมก. ที่วิ่งในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล) ต้องติดตั้ง GPS Tracking แบบ Realtime Online ที่ทำงานได้ ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องรูดใบขับขี่แสดงตัวตนพนักงานขับรถในรถทุกคัน ทุกเส้นทาง ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้ติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ 21 มีนาคม 2560 เหมือนฟ้าผ่าลงกลางกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารอีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ มีสาระสำคัญ คือ ห้ามรถตู้โดยสารนั่งเกิน 13 คน สั่งทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มจากประกันภัยภาคบังคับ ห้ามทิ้งผู้โดยสาร บรรทุกผู้โดยสารและเก็บค่าโดยสารเกิน หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนรถหรือพักใบอนุญาตผู้ประกอบการได้ และต่อด้วยกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกรมฯ รองรับคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการจัดกำหนดที่นั่งสำหรับผู้โดยสารให้เหลือเพียง 13 ที่นั่ง และถอดเบาะด้านหลังออก 1 ที่ เพื่อให้มีทางออกไปยังประตูฉุกเฉินด้านหลังได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งประกาศฯ มีผลครอบคลุมถึงรถตู้โดยสาร ประเภทประจำทางและไม่ประจำทางในทุกหมวดเส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์จริง ใช่ว่าประกาศฯจะมีผลบังคับใช้ได้เลย เพราะทุกวันนี้ก็ยังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารบางรายอยู่ เรายังเห็นว่ามี รถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินอยู่ หรือ รถตู้ที่ยอมแก้ไขเบาะที่นั่งรถให้เหลือ 13 ที่นั่งแล้ว แต่ในช่องทางเดินฉุกเฉินกลับนำเบาะเสริมมาให้ผู้โดยสารนั่ง หรือเอาสัมภาระมาวางปิดกั้นทางออกฉุกเฉินแทน ยิ่งเมื่อพิเคราะห์จากสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารที่เกิดในรอบ 4 เดือนแรก ระหว่างมกราคมถึงเมษายน ของปี 2560 พบว่า รถตู้โดยสารเกิดเหตุมากถึง 127 ครั้ง หรือ เฉลี่ยเดือนละ 32 ครั้ง บาดเจ็บ 501 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 4 คน และเสียชีวิตมากถึง 65 คน หรือจะมีคนเสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทุก 1 คนในเวลา 2 วัน และจากข้อมูลอุบัติเหตุยังชี้ให้เห็นด้วยว่า รถตู้โดยสารสาธารณที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดนั้น มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถที่วิ่งในเขตเมืองหรือปริมณฑลอีกด้วย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขับรถเร็วนั่นเอง ดังนั้นจะไม่แปลกใจเลย ที่แม้กฎหมายจะบังคับทุกอย่างแล้ว แต่ความสูญเสียจะยังเกิดให้เห็นอยู่ หากทุกฝ่ายยังไม่จริงจังที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค อย่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ที่เรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากพบเห็นการกระทำที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขอให้โทรศัพท์แจ้ง 1584 ทันที พร้อมข้อมูลเส้นทางเดินรถและทะเบียนรถ เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงรถโดยสารปลอดภัยกันนะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ตั๋วรถไฟมีเลขที่นั่ง แต่ไม่มีเก้าอี้

ใครที่เคยเดินทางโดยสารด้วยรถไฟของบ้านเรา คงเจอปัญหารถไฟมาช้าไม่ตรงเวลากันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เจอปัญหาซื้อตั๋วที่มีเลขนั่งแล้ว แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรังสิต เพื่อที่จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้ซื้อตั๋วนั่งชั้นที่ 2 ในราคา 190 บาท ซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเมื่อรถไฟมาถึงผู้ร้องจึงขึ้นไปที่โบกี้ชั้น 2 และเดินดูหมายเลขที่นั่งตามตั๋วที่ซื้อมา แต่เขาไม่พบเบอร์เก้าอี้ของตนเอง จึงไปสอบถามกับพนักงานตรวจตั๋ว ซึ่งตอบกลับมาว่า ชั้น 2 มีที่นั่งถึงเบอร์ 20 กว่าเท่านั้น ส่วนเบอร์อื่นได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว เพราะทางการรถไฟได้ตัดตู้ชั้น 2 ไปหนึ่งตู้ ทำให้เบอร์ที่นั่งของผู้ร้องหายไป แต่สามารถไปร้องเรียนหรือขอคืนเงินค่าตั๋วได้ที่สถานีปลายทาง ส่วนตอนนี้ถ้ามีที่ว่างก็นั่งไปก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของหมายเลขเขาขึ้นมาก็ต้องลุกให้เขานั่งแทน ดังนั้นผู้ร้องจึงไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ซึ่งภายหลังก็มีเจ้าของหมายเลขขึ้นมา ทำให้ผู้ร้องต้องลุกไปนั่งที่อื่นสลับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมาย เมื่อลงจากรถไฟ คุณสมชายจึงไปสอบถามกับพนักงานขายตั๋ว ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินคืน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าหากไม่มีเบอร์หมายเลขที่นั่ง แล้วพนักงานจะขายตั๋วเบอร์ดังกล่าวให้ทำไม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามพนักงานขายตั๋วก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ กับคุณสมชายได้ เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของการรถไฟ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตั๋วโดยสารว่า ผู้ร้องได้ไปคืนตั๋วที่ปลายทางหรือยังและได้รับเงินคืนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้รับเงินคืนจะได้ทำจดหมายขอเงินคืนในครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ยังไม่ได้ไปขอเงินคืน เนื่องจากจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน  จึงขอให้ผู้ร้องส่งรูปถ่ายมาให้กับศูนย์ฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำเนาถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 สถานบริการเสริมความงามไม่สะอาด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม หนีไม่พ้นเรื่องความสะอาดของสถานที่ เพราะจัดว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสถานที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากเราบังเอิญเข้ารับบริการแล้วเผอิญพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีการรักษาความสะอาดเท่าที่ควร จะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณสมปองเข้าใช้บริการร้อยไหมแก้มที่สถานบริการเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เข้าไปพักในห้องพักของสถานบริการดังกล่าว เธอพบว่าห้องพักมีการนำเตียง 3 – 4 เตียงมาวางเรียงกัน โดยมีเพียงผ้าม่านโปร่งกั้นไว้ แต่ในวันที่คุณสมปองเข้าไปใช้บริการกลับไม่มีการกั้นม่านแต่อย่างใด อีกทั้งเตียงด้านข้างของคุณสมปองก็เป็นลูกค้าผู้ชาย ซึ่งในขณะนอนพักนั้นคุณสมปองมีเพียงผ้าขนหนูผืนเล็กสำหรับปิดช่วงหน้าอกเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อลูกค้าได้รับบริการเสร็จเรียบร้อยและลุกออกจากเตียง พนักงานก็จะทำความสะอาดเตียงด้วยการสะบัดและพับผ้าให้เข้าที่โดยไม่มีการเปลี่ยนผืนใหม่ และสิ่งที่เธอรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดคือ พยาบาลไม่ใส่ถุงมือ ใช้เพียงมือเปล่าหยิบเครื่องมือแพทย์ หรือหยิบยาที่ส่งให้กับลูกค้ารับประทาน ทำให้คุณสมปองส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานของสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ส่งหนังสือส่งถึง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลดังกล่าว ด้วยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และได้รับหนังสือตอบกลับมาดังนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เข้าตรวจสอบสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแล้ว ซึ่งพบว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการจดแจ้งถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน  พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และเมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมสนับสนุนฯ ได้เข้าไปตรวจสอบสถานบริการดังกล่าวก็พบว่า มีลักษณะเป็นจริงตามที่มีการร้องเรียนมา ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงแก้ไข ดังนี้1. กรณีห้องพักของสถานพยาบาล (ห้อง Treatment) สามารถจัดรวมให้มีได้ 4 เตียง ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และเปลี่ยนม่านกั้นเป็นแบบทึบแสง กั้นระหว่างเตียง เพื่อให้เป็นสัดส่วน มิดชิดและมีความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ นอกจากนี้ให้เปลี่ยนผ้าปูเตียง และผ้าอื่นๆ ที่ใช้แล้วทุกครั้ง เพื่อความอนามัยและป้องกันการติดเชื้อ2. ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อย่างเหมาะสม โดยทำตามคู่มือการทำความสะอาดเพื่อให้เครื่องมือปราศจากเชื้อ นอกจากนี้ให้พนักงานสวมถุงมือทุกครั้งที่ทำหัตถการ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 เครื่องสำอางราคาไม่เหมาะสม

เครื่องสำอางกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากดูดี ดังนั้นต่อให้เครื่องสำอางราคาแพงแค่ไหน เชื่อว่าหลายคนก็ยอมที่จะซื้อมาใช้ อย่างไรก็ตามเครื่องสำอางบางยี่ห้อ กลับคิดราคาตามใจชอบ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนที่ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้คุณปราณีไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านรังสิต และถูกชักชวนจากพนักงานขายเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวต่างชาติหน้าตาดีมาเชิญชวนให้เข้ามาทดลองสินค้า ซึ่งเธอได้บอกปฏิเสธไป เพราะไม่ได้ต้องการซื้อเครื่องสำอางดังกล่าว แต่พนักงานเหล่านั้นก็หว่านล้อมต้อนหน้าหลัง จนทำให้เธอไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้าไปทดลองสินค้าในที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลองสินค้าหลายชนิดที่พนักงานนำมาทดสอบให้ดู เธอก็มีความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อสอบถามราคากลับต้องตกใจ เพราะเครื่องสำอางแต่ละชิ้นราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียวเมื่อพนักงานเห็นว่าคุณปราณีมีท่าทางตกใจในราคาก็พากันเสนอโปรโมชั่นมากมาย ซึ่งเธอก็ได้ปฏิเสธไปเพราะไม่ต้องการเสียเงินจำนวนมากแต่พนักงานก็ไม่ได้ลดละความพยายามในการขาย ด้วยการเสนอราคาโปรโมชั่นสุดร้อนแรงลดกระหน่ำไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ คุณปราณีก็เริ่มลังเลใจและเกรงใจพนักงาน จนทำให้ตกลงซื้อสินค้ามาทั้งหมด 7 ชิ้น รวมเป็นเงินกว่า 100,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อเธอกลับบ้านมาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ก็พบว่า มีคนรีวิวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสินค้าในด้านบวกไว้มากมาย แต่หลายคนก็ไม่พอใจกับราคาสินค้า เพราะนอกจากจะแพงมากแล้ว ยังเสนอขายในราคาตามใจชอบ ทั้งๆ ที่หน้าร้านไม่ได้มีการจัดโปรโมชั่นที่เห็นได้แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่จะถูกเชิญชวนเพราะบอกว่าเป็นโปรโมชั่นลับเฉพาะสำหรับพนักงาน และเสนอให้กับผู้ซื้อเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ภายหลังการใช้สินค้าคุณปราณีพบว่ามีอาการผื่นคัน จึงไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มา เพื่อนำไปแจ้งยังบริษัทฯ เพื่อขอให้คืนเงิน แต่ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ใบรับรองแพทย์ไม่ได้ระบุว่าเธอแพ้ครีมของบริษัท จึงไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดสินค้าทั้งหมด ภาพถ่ายสินค้า ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์มาให้เพิ่มเติม และช่วยทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบราคา รวมทั้งส่งสินค้าทดสอบสารประกอบ ซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลจะเป็นอย่างไรไว้ติดตามกันต่อไป ทั้งนี้สำหรับใครที่พบเห็นสินค้ามีราคาไม่เหมาะสม ควรถ่ายรูปป้ายราคาสินค้าที่หน้าร้านเก็บไว้ หรือหากซื้อสินค้ามาแล้วก็ควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ก่อน และโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายในเบอร์ 1569 นอกจากนี้ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางโดยพิจารณาจากปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งสามารถทดสอบด้วยการทาทิ้งไว้ในบริเวณที่บอบบางอย่างใต้ท้องแขนเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ รวมทั้งเลือกซื้อเครื่องสำอางที่แสดงรายละเอียด ดังนี้1.มีเลขที่จดแจ้ง10หลักซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย.หรือ ค้นหาที่นี่ เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย นอกจากนี้เลขที่จดแจ้งยังมีไว้ในกรณีที่ผู้ใช้เกิดความผิดปกติกับผิวหนัง ซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งหรือตามตัวผู้ผลิตได้  2. มีฉลากภาษาไทยที่อย่างน้อยแสดงข้อความต่อไปนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ถูกฟ้องเพราะอาหารสุนัข

หลายคนที่รักสัตว์เลี้ยง มักมีความกังวลเรื่องอาหารของสัตว์เหล่านั้น เพราะต่างต้องการให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ แต่หากเผลอไปเลือกซื้ออาหารสัตว์ที่โฆษณาเกินจริง และส่งผลด้านลบต่อสัตว์เลี้ยงของเรา รวมทั้งลุกลามมาถึงเราด้วย จะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้างมาดูกัน คุณสมใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวาและต้องการให้น้องหมาได้รับอาหารที่ดีที่สุด เธอจึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับยี่ห้ออาหารสัตว์ยอดนิยมที่ขายผ่านทางออนไลน์ และในที่สุดก็ได้พบกับอาหารเม็ดของน้องหมายี่ห้อหนึ่งที่มีผู้มาลงประกาศไว้ในกลุ่มของคนรักสุนัขในเฟซบุ๊ก โดยมีการโฆษณาว่าสุนัขกินได้ทุกเพศ ทุกวัย มีกลิ่นหอมจนคนแอบเอาไปกิน ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายคนได้รีวิวสินค้าไว้ว่าคุณภาพดีจริง ทำให้คุณสมใจและเพื่อนๆ ตัดสินใจรวมกันสั่งซื้อจำนวน 15 กิโลกรัมในราคา 1,800 บาท ภายหลังได้รับสินค้า เธอพบว่าบรรจุภัณฑ์ของจริงไม่เหมือนในรูปที่ลงประกาศไว้ในเฟซบุ๊ก รวมทั้งการบรรจุอาหารยังใส่มาในถุงฟอยส์ธรรมดา ไม่มียี่ห้อ ไม่มีฉลาก รวมทั้งมีกลิ่นเหม็น มีรสเค็ม และวันหมดอายุเป็นเพียงกระดาษสติกเกอร์ติดที่ถุง นอกจากนี้เมื่อแกะถุงออกมาพบว่า ข้างในเป็นถุงพลาสติกมัดปากถุงเท่านั้น แต่เธอก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจและทดลองนำอาหารดังกล่าวให้สุนัขรับประทาน ซึ่งพบว่าน้องหมาไม่ยอมแตะอาหารดังกล่าวเลย แม้จะผสมกับอาหารเก่าให้รับประทาน น้องหมาก็เลือกเฉพาะอาหารเดิมและทิ้งอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ไว้ คุณสมใจจึงคิดว่าเป็นเพราะเปลี่ยนอาหารใหม่สุนัขจึงไม่ชิน เธอจึงใช้วิธีหักดิบให้อาหารใหม่เพียงอย่างเดียว แต่พบว่าเมื่อน้องหมากินเข้าไปแล้ว ไม่นานก็มีอาการอาเจียนและท้องเสีย คุณสมใจจึงลองเปลี่ยนกลับไปเป็นอาหารเม็ดยี่ห้อเดิมที่เคยให้ และพบว่าสุนัขของเธอกลับมามีอาการเป็นปกติเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงคิดว่าอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ที่เธอซื้อมา ต้องไม่มีความปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐาน จึงไปโพสต์ระบายความรู้สึกไม่ประทับใจลงในเฟซบุ๊กของกลุ่มของคนรักสุนัขดังกล่าว ซึ่งภายหลังก็ได้มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อสินค้าจำนวนมาก และเมื่อผู้ขายสินค้ามาเห็นข้อความดังกล่าวจึงทำให้เกิดการโต้เถียงกัน จนในที่สุดผู้ขายสินค้าก็ตัดสินใจนำข้อความดังกล่าวไปฟ้องหมิ่นประมาท และฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้คุณสมใจส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบให้ว่าสินค้าดังกล่าวได้มาตรฐานจริงหรือไม่ หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายอย่างไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดมาให้เพิ่มเติมได้แก่ ใบรับรองแพทย์ของสุนัข หลักฐานการซื้อขายสินค้าและตัวอย่างสินค้า เพื่อนำไปส่งทดสอบต่อไป ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องพบว่า บรรจุภัณฑ์ของจริงไม่ตรงกับในรูปที่โฆษณาไว้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายผลิตภัณฑ์จริงและรูปที่ใช้โฆษณาในเฟซบุ๊กมาให้เพิ่มเติม ซึ่งอาจเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงได้ นอกจากนี้การเลือกซื้ออาหารสัตว์ให้ปลอดภัยควรเลือกยี่ห้อที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อสินค้า ส่วนผสม อายุการเก็บหรือชื่อผู้ผลิต เป็นต้นสำหรับกรณีที่ผู้ร้องถูกฟ้องหมิ่นประมาท และถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560) ได้แก้ไขจากฉบับเดิมโดยได้ตัดความผิดฐานหมิ่นประมาทออกไป ดังนั้นหากข้อมูลที่ผู้ร้องได้โพสต์ไป สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงก็ไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.คอมฯ ดังกล่าว ทั้งนี้หากใครที่ไม่ต้องการให้ถูกฟ้องร้องจาก พ.ร.บ.คอมฯ ก็สามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการโพสต์ข้อความที่แสดงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เท่านั้น และหลีกเลี่ยงการแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นด้านลบ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการโต้เถียงและเสียเวลาในการฟ้องร้องคดีได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ปฏิบัติการทวงเงินคืน เมื่อคอนโดสร้างผิดแบบ

คุณทัศนีย์ ศิริการ ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เธอวางแผนซื้อคอนโด เพื่อเก็บเป็นสินทรัพย์ และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตัวเธอเองและหลานๆ จุดเริ่มต้นเรื่องดูเหมือนจะราบเรียบ อะไรคือจุดหักเหที่ทำให้เธอได้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ถูกละเมิดสิทธิอะไรบ้างดิฉันไปซื้อคอนโดแห่งหนึ่ง ย่านอโศก ช่วงที่ไปซื้อตอนนั้นไม่ได้มีห้องตัวอย่างให้ดู แต่เราเป็นลูกค้าของบริษัทผู้สร้างคอนโดแห่งนี้มาก่อน แล้วเซลส์ก็โทรมาแจ้งว่ามีโครงการนี้นะ สนใจไหม ซึ่งตอนเราไปซื้อเป็นช่วงพรีเซลส์ ห้องตัวอย่างก็ยังไม่เสร็จ แต่สนใจเลยตกลงทำสัญญาไป ส่งค่างวดไป 29 งวด เป็นเงินประมาณ 9 แสนกว่าบาท ระยะเวลา 2 ปีกว่า พอส่งครบ 29 งวด คอนโดฯ ก็เสร็จเขาถึงนัดไปตรวจห้อง เดี๋ยวนี้คอนโดบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เขาจะขายแบบนี้กันทั้งนั้น คือตึกยังสร้างไม่เสร็จแต่ก็ขายก่อน ผ่อนดาวน์ไปเรื่อยๆ โครงการก็สร้างไปเรื่อยๆ พอวันไปตรวจห้องก็พบว่า ตรงที่เขาเขียนว่าเป็นระเบียง มันกลายเป็นหน้าต่าง ไม่มีประตูออกไประเบียง เหมือนทำไว้วางคอมเพรสเซอร์แอร์ฯ แค่นั้น แล้วก็วางตรงกลางเลยไม่ได้ชิดมุมใดมุมหนึ่งเพื่อที่เราจะได้ออกไปตากผ้าหรือทำอะไรได้เลย คือ เข้าใจใช่ไหม คนไทยเรามันมีความรู้สึกว่าต้องออกไปตากผ้าที่ระเบียงให้ลมโกรก คือบ้านเราไม่มีเครื่องอบผ้า แล้วในห้องก็ไม่มีเครื่องซักผ้า มันเป็นจุดที่ส่งซักก็ไม่สะดวก เพราะมันมีหลายอย่างที่เราส่งไม่ได้ ทั้งรองเท้า ชุดชั้นใน พรมเช็ดเท้า ซึ่งมันก็ตากในห้องไม่ได้อีก ก็กลายเป็นว่าระเบียงของเขาเป็นแค่ช่องหน้าต่างที่เป็นบานกระทุ้งแต่ออกไปข้างนอกไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าตอนซื้อเราดูไม่ละเอียดหรือเปล่า ก็กลับมาดูแปลนในสัญญาซื้อขาย ซึ่งในแปลนจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วก็มีส่วนที่ยื่นเป็นแง่งออกมา ซึ่งคอนโดที่อยู่ในปัจจุบันก็ออกแบบเป็นแง่งแบบนี้แต่มีประตูและก็ออกไประเบียงได้ เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลยพอเราเห็นแบบนี้ตอนแรกก็เลยโทรไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ซึ่งหาเบอร์โทรจากอินเตอร์เน็ตเจอเบอร์ที่ไม่ใช่ 1166 แต่เป็นเบอร์ขึ้นว่าทนายเดชา แล้วก็มีหลายๆ เบอร์ขึ้นมาก็โทรไปแล้วถามว่าใช่ สคบ. ไหม เขาก็บอกว่าจะโอนสายไปที่ทนายให้ พอคุยเขาก็บอกว่าให้ไปหาเขาแล้วจะทำจดหมายแจ้งโนติสโครงการให้แต่จ่ายเงินเขามา 5,000 บาท ก่อน ก็ไปจ่ายนะตอนนั้น เขาก็ทำจดหมายแจ้งโนติสมาให้เราทางไลน์ว่าข้อความตามนี้โอเคไหม ซึ่งตอนนั้นที่ไปคุยกับเขา เราก็รู้สึกแปลกๆ อยู่อย่างคือเขาไม่ค่อยให้คำแนะนำอะไรที่ละเอียดเลย เราก็คิดว่าเราควรจะถามใครอื่นดีที่เป็นผู้รู้ ก็พอดีมีเพื่อนที่เรียนนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เป็นเพื่อนสมัยอยู่ที่จันทบุรีด้วยกัน เพื่อนก็บอกให้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะเพื่อนก็ไม่ได้รู้รายละเอียดเรื่องพวกนี้มากเท่าไรเลยอยากให้มาคุยกับคนที่รู้ดีกว่า พอมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิฯ ก็เลยได้มาคุย ได้เอารูปที่เคยโฆษณามาให้ดูว่าตรงนี้มันเป็นระเบียงจริงหรือเปล่า เพราะถ้าดูจากในรูปมันอาจจะเป็นระเบียงหรือกันสาดก็ได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แนะนำว่า ถ้าอยากทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ให้ไปขอคัดพิมพ์เขียวที่เขตโยธาฯ เราก็ไป ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ให้ เขาบอกว่าอยู่ๆ จะมาขอคัดไม่ได้ต้องมีจดหมายคำร้องจากศาลมาขอ เพราะเขากลัวเราจะไปก็อปปี้แล้วสร้างโครงการอื่น กลัวเราจะเป็นหน้าม้าเอาพิมพ์เขียวเขาไปใช้ต่อ ก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเราเป็นผู้บริโภคจริงๆ มีเรื่องแบบนี้ๆ แล้วไม่ได้จะเอาพิมพ์เขียวไปทำอะไร แค่อยากได้เงินดาวน์คืนแค่นั้น เขาเลยยอมแต่ให้เราเขียนเป็นคำร้องไว้แล้วให้ไปรับวันหลัง เขาจะหาให้ พอถึงวันที่ไปรับพี่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า เขาโทรไปแจ้งกับทางโครงการคอนโดแล้วนะว่า ทำไมทำแบบนี้ คือ ในพิมพ์เขียวเขียนว่า เป็นระเบียงแล้วทำไมให้ออกไปข้างนอกไม่ได้ ทำแบบนี้มันเสียชื่อเสียงหมดอะไรประมาณนี้ แล้วก็ให้พิมพ์เขียวเรามา พอได้มาแล้วก็รู้ว่ามันเป็นระเบียงจริงๆ แต่เราก็ดูไม่เป็น เลยไปให้พี่ที่โยธาฯ ที่ห้วยขวางช่วยดูให้ เขาก็บอกว่า เอาจริงๆ เขาก็ไม่อยากจะว่าคนอาชีพเดียวกัน แต่ว่าคนที่เป็นคนอนุมัติพิมพ์เขียวนี้ดูไม่ละเอียดเพราะถ้าเขียนว่า เป็นระเบียงมันจะต้องออกไปใช้พื้นที่ตรงระเบียงได้ แต่กลายเป็นเขียนว่าระเบียงแต่ตรงนั้นเป็นหน้าต่าง คือมันขัดแย้งกันในตัว เขาบอกว่าคนอนุมัติดูไม่ละเอียด ตรงนั้นถ้าไม่เป็นระเบียงต้องเขียนเป็นกันสาดหรือไม่ก็ต้องทำเป็นประตูให้ออกไปได้ เพราะระเบียงจะต้องเป็นพื้นที่ที่เราออกไปใช้สอยได้ เขาพูดไว้แบบนี้เลยและพี่เขาก็โทรไปที่โครงการฯ เหมือนกัน แต่ทางโครงการฯ แจ้งว่าพื้นที่ตรงระเบียงเขาไม่ได้คิดเงินนะ พอดีเราเอาโฉนดติดไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ให้น้องที่เป็นเซลส์แฟกซ์โฉนดมาให้ก่อนแล้ว เพราะเราอยากรู้เหมือนกันว่า ตรงนี้คิดเงินเราไหม ปรากฏว่าก็คิด เลยเอาโฉนดมายืนยันกับพี่ที่เป็นโยธา  พี่เขาก็บอกว่าให้เราไปฟ้อง สคบ. เลย แต่เรื่องยังไม่ถึง สคบ. เพราะว่ามาที่มูลนิธิฯ ก่อน แล้วพอดีกับมีจดหมายจากบริษัทฯ ส่งมาแจ้งให้ไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เลยมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทางศูนย์จึงแนะนำให้ตอบจดหมายกลับไปว่า ทางเราไม่สามารถรับโอนได้ เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขเรื่องระเบียงให้เรา คือก่อนหน้านั้นพอรู้ว่ามันไม่เป็นระเบียงก็ได้เขียนจดหมายไปแล้วว่าให้แก้ไขให้ภายใน 7 วันในส่วนที่ไม่เป็นระเบียง ถ้าไม่แก้ไขเราจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปแสดงว่าตอนแรกได้แจ้งทางโครงการไปแล้วว่าให้แก้ไขเป็นระเบียงให้ก่อน ยังไม่ได้เรียกร้องเงินคืน ใช่ คือให้แก้ไขภายใน 7 วัน ก็เขียนไปวันที่ 7 กุมภาพันธ์ แล้วประมาณต้นเดือนมีนาคม ทางบริษัทฯ ก็ส่งจดหมายมาให้เราไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เขียนไปว่า เราโอนไม่ได้เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขในส่วนที่เราแจ้ง และเราก็ขอเงินคืนเนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไข ถ้าไม่คืนเงินภายในกี่วัน เราจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมานี้ เราก็ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อแสดงตัวตามที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำ ว่าให้เราไปแสดงตัวว่าเราเป็นเจ้าของห้องและไม่ได้ผิดนัด ก็ถามน้องคนที่เป็นคนของโครงการว่า พี่มาโอนห้องมีชื่อของพี่อยู่ในคิวไหม น้องบอกว่าไม่มี ก็เลยโทรปรึกษาศูนย์ฯ ว่าจะทำอย่างไรต่อ ทางศูนย์แนะให้เราไปขอบัตรคิวแล้วไปเข้าคิวเหมือนปกติ เสร็จแล้วน้องที่ให้คิวของสำนักงานเขต ก็บอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ให้เราแจ้งเป็นผิดนัดไปเลยได้นะ น้องเขาก็เลยทำเป็นข้อร้องเรียนตามกฎหมายว่าผิดนัด บริษัทฯ ไม่ได้มาตามสัญญา เหมือนทางคอนโดฯ นัดเราเองแต่ไม่ได้มา  มีคนของโครงการคอนโดมิเนียมแห่งนี้ มานัดรับโอนกรรมสิทธิ์กับเจ้าของห้องอื่นๆ อีกหลายคน เพียงแต่ของเราไม่ได้อยู่ในระบบของเขา เข้าใจว่า เขาคงคิดว่าเราไม่มาแน่ๆ เพราะเราส่งจดหมายไปแล้วว่าไม่โอน แต่น้องที่รับทำบัตรคิวก็ทำเป็นผิดนัดให้ไว้ ก็ดี จะได้มีหลักฐานว่าเรามาจริง ซึ่งทางสำนักงานที่ดินก็ช่วยเหลือดีมาก เพราะจริงๆ เราไม่ได้ต้องการอะไรแค่อยากได้เงินคืน เพราะค่างวดที่จ่ายไปมันเป็นเงินเก็บจากเงินเดือนเรา เราก็ไม่ใช่คนรวยอะไร เป็นเงินจากน้ำพักน้ำแรง ก็อยากได้คืนแค่นั้น ซึ่งเราซื้อไว้ 2 ห้อง พอช่วงเดือนเมษายน ทางบริษัทฯ ก็ทำจดหมายมาให้โอนอีกห้องวันที่ 20 เมษายน เราก็ไปอีกก็เหมือนเดิมเลย คือไม่มีชื่อของเราอยู่ในคิว เราก็ทำเหมือนเดิม คือให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือว่าทางบริษัทฯ ผิดนัด ขณะที่รอทางที่ดินทำหนังสือผิดนัดอยู่ น้องที่เป็นพนักงานขายโครงการก็โทรมาว่า เรื่องของพี่ได้คุยกับเจ้านายแล้วและทางโครงการจะคืนเงินให้ทั้งหมด เลยถามว่าจะได้คืนภายในเมื่อไร เขาก็บอกว่าปกติระบบของเราจะจ่ายเช็คเดือนละ 2 ครั้ง คือ 15 วันจ่ายครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้คืนเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาโอนเงินคืนเข้าบัญชีเลยทั้ง 2 ห้อง เราก็มาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เขายอมคืนอาจจะเป็นเพราะว่าทางโยธาฯ โทรไปต่อว่ากับทางโครงการฯ แล้วมันเป็นจุดที่เขาผิดจริงๆ เพราะว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการแรกที่เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่น และเป็นโครงการแรกที่ระเบียงออกไปข้างนอกไม่ได้ ก่อนหน้านั้นก็มีระเบียงที่ออกไปได้ปกติ โดยเขาพูดทำนองว่า เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่นและที่ญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกเยอะมาก เขาเลยไม่ทำที่ให้ออกไปตรงระเบียงได้  ข้อมูลนี้ทราบมาตอนไปตรวจห้องแล้วน้องที่พาไปตรวจห้องเขาบอกไว้ ซึ่งจริงๆ เราก็มานึกๆ มันก็คนละประเทศกันไหม มันจะใช้หลักการเดียวกันแบบนี้ไม่ได้ ญี่ปุ่นเขาอาจจะไม่ค่อยมีแดด เขาก็ต้องมีเครื่องอบผ้าหรือเปล่า แต่แดดบ้านเราแรงขนาดนี้ ก็ควรเอาผ้าไปตากแดดดีกว่า พี่ยังต้องตากผ้าอยู่ลักษณะห้องทุกห้องเป็นแบบนี้เหมือนกันหมดใช่ค่ะ แปลนเดียวกันเป็นแบบนี้หมด แต่ก็ไม่แน่ใจว่าห้องอื่นเขาคิดกันอย่างไร พี่ไม่ได้คุยกับคนอื่นเลย แต่ประเด็นของพี่ พี่ว่ามาถูกทางตรงเราไปขอพิมพ์เขียวแล้วพิมพ์เขียวมันขัดแย้งกันเอง ก็เลยเป็นข้อที่ถ้าเขาต่อสู้ คนที่อนุมัติพิมพ์เขียวก็จะมีปัญหาหลังจากโอนเงินคืนมาแล้ว มีคนโทรติดต่อเข้ามาอีกไหมไม่มีเลย โอนเงินมาก็จบไม่ได้คุยอะไรกันอีกเลยอยากให้ฝากอะไรถึงคนที่กำลังจะซื้อคอนโดมีข้อควรระวังอะไรบ้างต้องถามเซลส์ให้ละเอียดว่า ห้องเป็นลักษณะอย่างไรแต่ถ้าเอาให้ชัวร์ๆ ก็คือไปดูห้องตัวอย่างก่อน รอห้องตัวอย่างเสร็จก่อน เพราะว่าตอนที่พี่ซื้อโครงการฯ นี้มันเป็นทำเลที่ดีมาก อยู่แถวถนนพระราม 9 ไปเส้นอโศก แล้วเราก็มีคอนโดฯ ที่ซื้อกับบริษัทฯ นี้มาก่อน แล้วไม่มีปัญหาอะไร คือเราก็มีความเชื่อมั่นระดับหนึ่ง แต่พอมาเจอแบบนี้ก็รู้สึกว่า ตัวเองไม่ละเอียดรอบคอบพอด้วยเหมือนกัน และสำคัญควรเก็บหลักฐานให้ดี เอกสารโบรชัวร์ ใบเสร็จต่างๆ พวกค่ามัดจำ รายละเอียดสัญญาจะซื้อจะขายก็เก็บไว้ทั้งหมดนะ เพราะว่าเวลามีปัญหาเรามีข้อมูลครบหมด ว่าเราซื้อเมื่อไร อย่างไร คือข้อมูลต้องพร้อม บทเรียนที่ได้จากการพยายามใช้สิทธิร้องเรียน เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลย โดยปกติคนเราก็จะนึกถึง สคบ. แต่พี่รู้สึกว่า สคบ. อาจจะดูแลไม่ทั่วถึงเพราะคนร้องเรียนเยอะ ทำให้มันล่าช้าและเราก็ไม่รู้ว่าพนักงานตรงนั้นอาจจะงานโหลด ทำให้มูลนิธิฯ เป็นทางเลือกที่ดีและช่วยเหลือพี่อย่างดี แต่เท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ คนที่มาร้องเรียนบางคนอาจจะคาดหวังให้มูลนิธิฯ ทำให้ทุกอย่าง ซึ่งมันก็คงไม่ได้เพราะคนก็มาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ เยอะเหมือนกัน อย่างของพี่เวลาทำจดหมายก็ส่งให้ทางศูนย์ช่วยดูว่า การใช้คำตรงไหนต้องแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ช่วยดูให้ตลอด แต่เป็นเรื่องของเรื่องตัวผู้บริโภคเองที่จะต้องลงมือปฏิบัติเอง ว่าร้องเรียนแล้วต้องทำตามคำแนะนำว่าควรไปที่ไหน อย่างไร ไม่ใช่ว่าโยนให้คนอื่นช่วยทำ แบบนั้นมันก็ไม่ใช่ เราเองต้องทำให้ถึงที่สุดก่อน ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่างตอนที่ดูพิมพ์เขียวก็พยายามหาข้อมูลว่าเขียนว่า AW นี่หมายถึงอะไร ก็ได้ความรู้มาว่าถ้าเป็นประตูมันต้องเขียนว่า AD คือ Door แต่ในพิมพ์เขียวเขียนว่า AW น่าจะหมายถึงหน้าต่างก็คือ พยายามหาข้อมูลให้พร้อมที่สุดเพื่อมาสนับสนุนคำร้องของเราให้ได้เยอะที่สุด พอมาถูกทางแล้วเรื่องมันก็ไว อย่างพี่ตอนแรกก็คิดว่าเงินคงไม่ได้คืน ถ้าได้คงต้องรอเป็นปีแน่ๆ แต่กรณีของพี่ประมาณ 5 เดือนก็ได้เงินคืนแล้วซึ่งพี่ดีใจมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 มาส่องดูสารเคมีในโฟมล้างหน้ากัน

แม้หลายคนจะชื่นชอบการทำสะอาดผิวหน้าด้วยโฟมล้างหน้า เพราะรู้สึกว่าช่วยทำความสะอาดได้ดี ใช้งานง่ายและพกพาสะดวก แต่รู้ไหมว่า โฟมล้างหน้าก็สามารถสร้างความระคายเคืองให้ผิวหน้าได้เช่นกัน โดยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นแดงหรือเป็นสิว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากส่วนประกอบบางชนิดที่อยู่ในโฟมนั่นเอง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสารวบรวม 31 ยี่ห้อโฟมล้างหน้ายอดนิยม จำนวน 34 ตัวอย่าง เพื่อมาตรวจสอบส่วนประกอบสำคัญบนฉลากที่สามารถส่งผลต่อการระคายเคืองผิวหน้าได้ว่าจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลการทดสอบจากโฟมล้างหน้า 34 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้1.กลุ่มสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES) และสารลดแรงตึงผิวสองประจุ ได้แก่ Cocamidopropyl Betaine สำหรับสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองและสามารถทำความสะอาดได้ดี ซึ่งสาร SLS จะมีความสามารถชำระล้างได้มากกว่าชนิดอื่น ทำให้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxideสาร 2 ชนิดนี้มีความเป็นด่างสูง ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้   3. กรดไขมันและเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ Potassium Myristate, Potassium Palmitate, Potassium Laurate, Potassium Oleate, Potassium Stearate, Stearate, Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid สารในกลุ่มนี้เกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย 4. สารกลุ่มน้ำหอม คือ Perfume, Fragrance, Parfum อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือคะคายเคืองในผู้ที่แพ้น้ำหอม 5. สารกลุ่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ Alcohol, Alcohol Denat, Benzyl Alcoholแอลกอฮอล์ประเภทนี้เป็นกลุ่มที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ โดยใช้เป็นส่วนผสมของยาทาผิว มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเป็นสารกันบูดสารเคมีที่ผสมในโฟมล้างหน้าแน่นอนว่าโฟมล้างหน้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการชำระล้าง จึงจำเป็นต้องใส่สารเคมีที่สามารถขจัดสิ่งสกปรกบนผิวหน้าได้ อย่างไรก็ตามสารเคมีเหล่านั้นสามารถส่งผลต่อความระคายเคืองผิวได้เช่นกัน ซึ่งบางคนใช้แล้วอาจเกิดอาการระคายเคืองหรือแพ้มาก ในขณะที่หลายคนอาจไม่เกิดอาการใดๆ เราจึงจำเป็นต้องตรวจสอบส่วนผสมหลักในโฟมล้างหน้าของแต่ละยี่ห้อก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหน้าของเรา ซึ่งมีดังนี้1. กลุ่มสารลดแรงตึงผิวสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเกือบทุกชนิด เพราะมีคุณสมบัติในการพาสิ่งสกปรกและไขมันให้หลุดออกได้ดีขึ้น ซึ่ง สารลดแรงตึงผิวที่สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหน้าได้มากก็คือ สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ อย่าง Sodium lauryl sulfate (SLS) เพราะนอกจากจะให้ปริมาณฟองจำนวนมากแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดได้รุนแรงกว่าชนิดอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ดังนั้นหากมีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยงอย่างไรก็ตามสำหรับสารลดแรงตึงผิวประจุลบอีกชนิดที่ชื่อคล้ายกัน คือ Sodium Laureth Sulfate (SLES) ถือว่ามีความอ่อนโยนและรุนแรงน้อยกว่าสาร SLS แต่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกันหากผสมอยู่ในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับสารลดแรงตึงผิวอีกประเภทหนึ่งที่มักผสมในโฟมล้างหน้าคือ Cocamidopropyl Betaine ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวสองประจุนั้น พบว่าทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยที่สุดและทำให้เกิดฟองน้อย แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกายส่วนในกรณีที่เคยมีกระแสข่าวว่า สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสาร SLS ไปผสมกับสารประกอบตระกูลเอมิน (amine) แล้วสามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็งนั้น นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดสารก่อมะเร็งจากสารเคมีดังกล่าว เพราะการที่สาร SLS จะสามารถทำปฏิกิริยากับสารตระกูลเอมินแล้วเกิดเป็นสารไนโตรซามิน จะต้องมีองค์ประกอบหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ต้องมีอุณหภูมิที่สูงกว่า 100C นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการติดตามตรวจสอบส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการใช้สารลดแรงตึงผิวในปริมาณที่เหมาะสม ---2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่เนื่องจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ควรเลือกให้มีความเป็นกรด – ด่างใกล้เคียงกับผิวหน้า แต่หลายคนอาจบังเอิญไปใช้โฟมล้างหน้าที่มีความเป็นด่างมากเกินไป ซึ่งก็คือ การใช้สบู่ที่มาในรูปแบบของโฟมล้างหน้านั่นเอง ซึ่งกลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxide รวมถึงเบสอื่นๆ ของมัน ได้แก่ Myristate, Palmitate, Laurate, Oleate, Stearate นอกจากนี้การใช้โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของกรดไขมัน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ได้แก่ Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เล็กน้อยในคนที่ไวต่อสารเคมี รวมทั้งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตันได้ด้วย เพราะมีการตกค้างของคราบไคลสบู่ในรูขุมขนได้ 3. สารในกลุ่มแอลกอฮอล์และน้ำหอมแอลกอฮอล์ในเครื่องสำอางสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ดีต่อผิวและกลุ่มที่สร้างความระคายเคือง เราจึงควรหลีกเลี่ยงกลุ่มสารที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ ได้แก่ Alcohol Denat, Benzyl Alcohol เพราะสามารถทำให้เกิดการผิวระคายเคืองผิว รวมทั้งทำให้ผิวสูญเสียน้ำและแห้งขึ้น ซึ่งนำไปสู่อาการแพ้หรือระคายเคืองได้ ส่วนคนที่มีแนวโน้มแพ้น้ำหอมในเครื่องสำอางง่ายก็ควรหลีกเลี่ยง โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของ Perfume, Fragrance หรือ Parfum เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสต่างแดน

ถุงลมมหาภัยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคฮาวายยื่นฟ้องฟอร์ด นิสสัน และโตโยต้า ที่เลือกใช้ถุงลมนิรภัยทาคาตะที่มีข้อบกพร่อง จนกลายเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่แทนที่จะเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน เขาให้เหตุผลว่า บริษัทรถเหล่านี้น่าจะรู้เรื่องความบกพร่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และรู้ว่าแอมโมเนียมไนเตรต(สารเคมีที่ใช้ในการปล่อยจรวด) เป็นสารที่ยากแก่การควบคุม และภูมิอากาศในฮาวายเองมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตลอดเวลา ซึ่งก็เอื้อต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่จะทำให้เกิดการระเบิดของถุงลมด้วยสำนักงานดังกล่าวเรียกร้องค่าเสียหาย 10,000 เหรียญต่อรถยนต์หนึ่งคัน ซึ่งคาดว่าในฮาวายมีรถยี่ห้อดังกล่าวที่ใช้ถุงลมทาคาตะอยู่ประมาณ 30,000 คัน  ก่อนหน้านี้รัฐนิวเม็กซิโก ก็ได้ยื่นฟ้องบริษัททาคาตะและบริษัทรถยนต์ไปแล้วเช่นกัน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย บาดเจ็บ 180 รายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับถุงลมดังกล่าว เลือกกินไม่ได้?หลายพื้นที่ในรัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละของอินเดียจัดงานเทศกาลกินเนื้อวัวเพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลกลางประกาศห้ามซื้อขายวัวเพื่อนำเข้าโรงฆ่าหลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้ผิดรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพในการเลือกของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเนื้อวัวในอินเดียที่มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย การแบนครั้งนี้จะทำให้มีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คนรัฐเกรละซึ่งมีประชากรที่บริโภคเนื้อวัวอยู่ถึงร้อยละ 70 นำเข้าเนื้อวัวจากรัฐอื่นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตันต่อปี  กฎหมายใหม่จะทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปริมาณเนื้อที่เข้าสู่ตลาดน้อยลงและบริษัทรับจ้างขนส่งที่ไม่ยินดีรับงานเพราะกลัวจะถูกทำร้ายเมื่อขับผ่านพื้นที่ ที่ต่อต้านการบริโภคเนื้อวัว รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนดรา โมดี ได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องการฆ่าวัว ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 อินเดียมีประชากรร้อยละ 20 ที่ไม่ได้นับถือฮินดู ไม่ปลื้มของนอกธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศดูจะไปได้ไม่สวยนักในเวียดนาม เบอร์เกอร์คิงตัดสินใจปิดสาขาในเมืองหลักๆ อย่างโฮจิมินห์และดานังไปหลายสาขา หลายเจ้าเลือกที่จะไม่เปิดสาขาเพิ่มแม้แต่เจ้าใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ที่เคยประกาศไว้เมื่อสามปีก่อนตอนเริ่มเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามว่าจะเปิดให้ได้ 100 สาขาภายใน 10 ปี ขณะนี้ก็มีเพียง 15 สาขาเท่านั้น เหตุผลหลักๆ ที่นักวิเคราะห์เขาบอกไว้ คืออาหารไม่ถูกปาก ราคาก็ไม่ถูกใจ แถมคนเวียดนามเขายังมีทางเลือกเป็นแซนวิช “บั๋นหมี่” ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามถนนในราคาย่อมเยา รสชาติโดนใจกว่าและดีต่อสุขภาพด้วย ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามได้ให้ใบอนุญาตกับธุรกิจต่างชาติ 148 แบรนด์ ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 43.7 ที่เป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม จอดได้ แต่จ่ายเพิ่มกรุงเดลลีมีประชากร 17 ล้านคน มีรถยนต์ 10 ล้านคัน(ในจำนวนนั้น 9.5 แสนคันเป็นรถส่วนตัว) ปัญหาเรื่องรถติด มลภาวะ และการขาดแคลนที่จอดรถจึงตามมาอย่างไม่ต้องสงสัยเทศบาลเมืองจึงเสนอมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยการขึ้นค่าจอดรถบนพื้นที่ข้างถนนในกรณีต่อไปนี้ : จอดตอนกลางวัน จอดช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น จอดช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ นอกจากนี้ใครที่มีรถมากกว่าสองคันก็จะต้องจ่ายค่าจอดมากกว่าคนอื่นที่พีคไปกว่านั้น คือค่าจอดรถในพื้นที่ใกล้ตลาดจะแพงขึ้นเป็นสามเท่า ข่าวบอกว่าเขาจะปรับค่าบริการจอดรถริมทางให้แพงกว่าการนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ ส่วนใครที่จะซื้อรถใหม่ก็ต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่ามีที่จอดด้วย ชาวเดลลีมีเวลาหนึ่งเดือน ในการแสดงความคิดเห็นก่อนที่นโยบายนี้จะประกาศใช้ เขาคำนวณไว้ว่าถ้าเป็นไปตามสูตรนี้จริง รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 6,000 ล้านรูปี (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ย่างกุ้งได้รถเมล์ใหม่ปีนี้เป็นการดำเนินงานปีแรกของขนส่งมวลชนย่างกุ้ง(Yangon Bus System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับบริการรถสาธารณะให้กับเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยผู้ใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน YBS นำรถเมล์ใหม่มาวิ่งแล้ว 2,600 คัน(2,000 คันเป็นของรัฐ ที่เหลือเป็นของเอกชน) เพื่อนำมาวิ่งแทนรถโดยสารรุ่นเก่าที่ทำงานล่วงเวลามาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เจ้าของรถเก่าเหล่านั้นสามารถนำรถไปส่งที่โรงหลอมแล้วรับคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อคันใหม่ได้ตามแผนนี้ผู้ประกอบการรายเดิมจะมี 3 ทางเลือก ได้แก่ เลิกกิจการ เข้าร่วมเป็นรถของ YBS หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) ทั้งนี้โครงสร้างรายได้สำหรับคนขับจะเป็นการรับเงินเดือนแทนการ “ทำยอด” เหมือนก่อนรัฐบาลพม่าจะต้องใช้งบประมาณ 70,000 ล้านจัต(ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ในการจัดซื้อรถเมล์ทั้งหมด 3,000 คัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2560ทรูฟิตเนส-ทรูสปา ปิดบริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน“ทรูฟิตเนส” ปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบ ซึ่งยังรวมถึงกิจการอื่นๆ ในเครือเดียวกัน ทั้ง ทรูสปา และ ทรูอีสต์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัทได้แจ้งเหตุผลในการปิดให้บริการเอาไว้ว่า ทางบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุนจนไปสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การปิดบริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าของทรูฟิตเนสนั้น ถือว่ามีความผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานการทำสัญญาหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงชื่อร้องเรียน ซึ่งในขั้นแรก สคบ. จะเชิญทางทรูฟิตเนสเข้ามาเจรจาเรื่องแนวทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย แต่หากหาข้อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะดำเนินการยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายต่อไป ซึ่งมีผู้เสียหายทยอยกันเข้ามายื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าร้อยราย โดยผู้เสียหายบางรายสมัครบริการแบบตลอดชีพเอาไว้ซึ่งมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสนบาททุเรียนเผา กินได้ไม่อันตราย แค่วิตามินน้อยลงกรมอนามัย ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุเรียนเผา” ไม่ทำให้เกิดกำมะถันเพิ่มจนเป็นอันตราย หรือกินแล้วถึงตาย หลังมีกระแสข่าวว่า มีคนกินทุเรียนเผาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า การเผาทุเรียนจะทำให้กำมะถันในทุเรียนเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียชีวิต แต่การเผาทุเรียนจะทำให้วิตามิน เช่น โฟเลต วิตามินบี วิตามินซี ลดลง รวมทั้งทำให้น้ำในทุเรียนระเหยออกไป ทุเรียนเผาจึงมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเผาทุเรียนจนไหม้ เพราะหากกินสะสมไปนานๆ ไม่ต่างจากกินอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงมะเร็งพร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนที่ผู้ที่ชอบรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการป่วยทรุดได้ เพราะในทุเรียนมีแป้งและไขมันสูง นอกจากนี้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติจึงควรเลี่ยง  “ดีท็อกซ์เท้า” อย. ยันไม่เคยรับขึ้นทะเบียนอย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า สามารถดีท็อกซ์เท้าเพียงแค่ใช้การปิดผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าเท้า หลังพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า “ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงกลางคืน เพียงปิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอน” โดยทาง อย. ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย. กำลังเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่า มีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทำการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อตามกฎหมายต่อไป หากเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่าซื้อ “ยุงจุดกันยุง-ธูปหอมไล่ยุง” ไม่ผ่านการรับรอง หลังมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผลิตภัณฑ์ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีสารอันตราย เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารชนิดนี้ อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนมาก่อน เพราะไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงความเหมาะสมของอัตราการใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุง ที่พบว่าผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ธูป หอมไล่ยุงฉลากภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีเหลือง-สีฟ้า 2. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุงฉลากเป็นภาษาเขมร บรรจุ กล่องกระดาษสีเขียว-สีเหลือง 3. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุง Ranger Scout บรรจุกล่องกระดาษสีน้ำเงิน-สีเขียว 4. ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงชนิดขดตราหัวเสือฉลากเป็นภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีแดง-สีขาว ห่อด้วยพลาสติก ใสไม่มีสี และ 5. ยาจุดกันยุงชนิดขดตรา Laojun ปิดด้วยแผ่นกระดาษ สีฟ้า-สีเหลือง-สีดำ มีรูปเด็กบนฉลาก โดยมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ การเลือกซื้อยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงทุกครั้ง จึงควรเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น เหตุขาดการมีส่วนร่วม-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ภาคประชาชนยืนหยัดค้านแก้กฎหมายบัตรทองตัวแทนภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง เพราะมีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หากปรับปรุงแก้ไขแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดลง โดยประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนมีความกังวลได้แก่  ประเด็นเรื่องการเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งในขั้นตอนการแก้กฎหมาย ก็จำกัดจำนวนกรรมการตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งผู้ให้บริการมีถึง 7 คน ที่เหลือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่วนในประเด็นปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ควรแก้ไข กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา  เช่น ปัญหาการจัดซื้อยา ที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหรือมีราคาแพงได้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มโรคเฉพาะเช่น ไตวาย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เป็นต้น นั้นกฎหมายที่ควรแก้ไข คือการเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับ สปสช. แต่กลายเป็นว่า มีการแก้ไขให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดหายาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เน้นนำเข้ารายการยา Top 10 ที่แต่ละรพ. ใช้ ซึ่งราคายาที่ซื้อมีราคาสูงกว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มากนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความกังวลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ เฟซบุ๊ค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/

อ่านเพิ่มเติม >