ฉบับที่ 197 ข้าวรักษาเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานมักจะได้รับคำเตือนให้ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล รวมทั้งจำกัดปริมาณข้าวไม่ให้รับประทานมากเกินไปเพราะแป้งในข้าวมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่วันนี้มีผลิตภัณฑ์ข้าวบรรเทาเบาหวาน ... มันคืออะไร? มีผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งแผ่นพับโฆษณามาให้ผมดู พร้อมทั้งถามว่า “มันรักษาเบาหวานได้จริงหรือ?” โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ วันหนึ่งมีบริษัทมาขายข้าว โดยให้ข้อมูลว่าข้าวชนิดนี้เป็นข้าวที่รักษาเบาหวานได้ ในระหว่างขายสินค้า ก็จะมีผู้คนที่อ้างว่าเป็นเบาหวานและปัจจุบันหายจากโรคนี้แล้ว เพราะกินข้าวชนิดนี้ ราคาขายกิโลกรัมละ 220 บาท ถ้าสมัครเป็นสมาชิกจะเหลือกิโลกรัมละ 175 บาท ตนเองสงสัยว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปราคาประมาณกิโลกรัมละ 50 บาทเอง ทำไมข้าวชนิดนี้ถึงราคาแพงมาก แล้วมันดีจริงหรือผมดูผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็เหมือนข้าวสารทั่วๆไป แต่ที่น่าสนใจคือรายละเอียดในแผ่นพับ อธิบายว่า ข้าวชนิดนี้เป็นนวัตกรรมโภชนาการบำบัด สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหาน และบุคคลทั่วไป ผลิตโดยกระบวนการพิเศษ ทำให้ลดแป้งในเม็ดข้าว ทำให้การเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลช้าลง ทำให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ได้หมด ไม่เหลือในระบบเลือด (เบาหวานลด) นอกจากนี้ก็มีเนื้อหาที่อธิบายโรคแทรกซ้อนในเบาหวาน รวมทั้งอธิบายคุณสมบัติของข้าวชนิดนี้ว่า จะมีสารสกัดน้ำมันรำข้าวซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว และมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อย สามารถช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม ลดความเสี่ยงโรคสายตา บำรุงผิวพรรณ ทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ฯลฯ รวมทั้งมีการอ้างอิงวิชาการต่างๆ ด้วย ซึ่งหากดูข้อมูลตรงนี้จะเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ระบุชัดเจนว่ารักษาโรคได้ โดยพยายามเลี่ยงมาใช้คำว่า “ลด” ความเสี่ยงต่างๆแต่ที่น่าประหลาดใจคือ ข้อความจากรูปถ่าย ป้ายโฆษณาที่ผู้ขายนำมาตั้งไว้ระหว่างขาย กลับแสดงรูปผู้ป่วยหลายคน(บางรายมีแผลลุกลามที่ขา) และมีข้อความโฆษณาสรรพคุณของข้าวชนิดนี้ อย่างเข้มข้นกว่าในแผ่นพับ เช่นระบุว่า ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน  ป้องกันโรคเบาหวาน  ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคสมองเสื่อมผู้บริโภคถามว่า ตนควรจะกินข้าวนี้แทนข้าวกล้องที่กินประจำดีไหม ผมจึงแนะนำไปว่า การรับประทานข้าวกล้องก็ได้วิตามินและแร่ธาตุอยู่แล้ว  ข้าวชนิดนี้มีการอ้างกรรมวิธีการผลิต  ซึ่งผมไม่ทราบว่ากรรมวิธีการผลิตที่แท้จริง  มันจะเป็นอย่างที่โฆษณาหรือไม่ มีข้อสังเกตสองสามอย่างคือ  ข้าวชนิดนี้ราคาจะแพงกว่าข้าวทั่วๆ หลายเท่า และข้อความที่โฆษณาหลายอย่าง โดยเฉพาะในป้ายที่ตั้งโฆษณา เป็นข้อความที่เข้าข่ายเสมือนเป็นยารักษาโรค ซึ่งในแง่ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถโฆษณาแบบนี้ได้ หากจะโฆษณาแบบนี้จะต้องพิสูจน์ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายอมรับว่ามีสรรพคุณดังกล่าวจริงและต้องมาขอขึ้นทะเบียนเป็นยาด้วย  นอกจากนี้ฉลากโภชนาการที่แสดงด้านหลังภาชนะบรรจุ ก็ไม่ใช่แบบที่ถูกต้อง แสดงว่ายังไม่ได้ขออนุญาตใช้ฉลากที่แสดงคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นจึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าคุณค่าสารอาหารที่อ้างว่ามี ตรงกับที่แสดงในฉลากหรือไม่ เพราะเมื่อไม่ได้มาขออนุญาต จึงไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานใดๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ข้อระวัง ในการมอบอำนาจฟ้องคดี

เชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์เคยมอบหมายงานบางอย่างให้ผู้อื่นทำแทนบ้าง  ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องทำหลักฐานมอบอำนาจขึ้นมาโดยทำเป็นหนังสือ เช่น มอบอำนาจให้ไปแจ้งความ ไปยื่นเอกสาร ติดต่อที่หน่วยงานต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งในการดำเนินคดีก็เช่นกัน เราก็มักจะมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนเรา ซึ่งบางคนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในคดีหนึ่ง ก็มีการโต้แย้งกันในเรื่องหนังสือมอบอำนาจ จนเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลฏีกา เรื่องมีว่า โจทก์สองคน ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียว ซึ่งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ต้องมีการติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยสู้ว่าไม่ติดให้ครบถ้วน ซึ่งสุดท้าย ศาลฏีกาก็วินิจฉัยว่า เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลเดียว กระทำการครั้งเดียว การติดอากรแสตมป์ของโจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นหลักฐานในคดีได้  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง  ตามนัยคำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557 คำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557    หนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่า “โจทก์ทั้งสองขอมอบอำนาจให้ อ.เป็นผู้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสองเพื่อฟ้องร้องและดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งห้า ในข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด  สัญญาประกันภัย เรียกค่าเสียหาย ต่อศาลจังหวัดพัทยา โดยให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ...” ข้อความที่ระบุแจ้งชัดเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้า ฐานละเมิด ประกันภัย และเรียกค่าเสียหายคดีนี้เท่านั้น มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งห้า หรือฟ้องบุคคลอื่น อันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม แต่เป็นเพียงวิธีการที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฏากร ข้อ 7 (ก) กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลผู้มอบคนละ 10 บาท โจทก์ทั้งสองจึงต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจรวม 20 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จำนวน 30 บาท จึงครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 118 จากคำพิพากษาศาลฏีกาข้างต้น เราจะเห็นว่า เรื่องการมอบอำนาจฟ้องคดีมีความสำคัญ หากหนังสือมอบอำนาจไม่ระบุข้อความให้ชัดเจน หรือติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย  ทำให้อำนาจฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ ศาลอาจยกฟ้องได้ อีกประเด็นคือกรณีมีผู้มอบอำนาจสองคน มอบหมายในหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลเดียวทำการแทน การติดอากรแสตมป์ต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่มอบอำนาจ อย่างเช่นในคดีนี้ มีผู้มอบอำนาจสองคน ต้องติดคนละ 10 บาท รวม 20 บาท  แต่ถ้าเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์ จำนวน 30 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ทำอย่างไรดี ถูกบังคับซื้อตั๋วโดยสาร

สัปดาห์ก่อนมีเพื่อนสมาชิกสอบถามมาว่า “เวลาที่เราต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ  แล้วอยู่ดีๆ ถูกบังคับให้ซื้อตั๋วโดยสารที่ราคาแพงกว่าเดิม  หรือคนนั่งเต็มรถแต่ทำไมยังมีผู้โดยสารขึ้นมานั่งกับพื้น มายืนตรงทางเดินบนรถอีก เจอแบบนี้ผู้บริโภคอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง แล้วมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบบ้างไหม  อยากอธิบายแบบนี้ครับว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นปัญหาที่ยังพบเจอได้ในปัจจุบัน แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีกฎหมายควบคุมลงโทษพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการ แต่เราก็ยังพบเห็นปัญหาแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ  เพื่อให้คลายข้อสงสัยและตอบข้อซักถามของเพื่อนสมาชิก วันนี้ผมจะมาบอกเล่าสู่กันฟังแบบพอเข้าใจเบื้องต้นแล้วกันนะครับ • ขายตั๋วโดยสารแพงกว่าปกติ  กรณีนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 38 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการและมาตรา159  บัญญัติว่า  ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่นผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและมาตรา 135  บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 38 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทจากข้อบัญญัติดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องการควบคุมกำกับมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ซึ่งหมายได้รวมถึงบริษัทเจ้าของรถ รวมถึงพนักงานขาย เจ้าหน้าที่บริษัท เรียกเก็บค่าโดยสารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นหากพบว่ามีการจำหน่ายตั๋วหรือคิดค่าโดยสารแพงเกินกว่าปกติที่กฎหมายกำหนดไว้ พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสาร จะมีความผิด ตาม มาตรา 38 ประกอบกับ มาตรา 159  ฐานจำหน่ายตั๋วเกินราคา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  10,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือบริษัทเจ้าของรถ ก็มีความผิดตาม มาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  20,000 บาทอีกด้วย  • รถเต็มแล้วคนขับก็ยังรับผู้โดยสารขึ้นมาบนรถ กรณีนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  มาตรา 107 บัญญัติว่า  ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตและมาตรา 127 บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรา 26  วรรคสอง มาตรา 101 มาตรา 102 (1) (2) หรือ (4) มาตรา 103  มาตรา 103 ทวิ มาตรา 104  มาตรา 105 มาตรา 106  หรือมาตรา 107  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง  มาตรา 31 ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (4) จำนวนที่นั่ง และ (7) ค่าขนส่งและค่าบริการ ไว้และมาตรา 131 บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 31 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (14) หรือ (15) หรือ ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา 32 มาตรา 33 หรือมาตรา 34 หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 35  หรือมาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทดังนั้นหากพบว่ามีการรับผู้โดยสารเกินจากจำนวนที่นั่งบนรถ  พนักงานขับรถจะมีความผิด ตาม มาตรา 107 ประกอบกับ มาตรา 127  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  5,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือบริษัทเจ้าของรถ ก็มีความผิดตาม มาตรา 31 (4),(7) ประกอบมาตรา 131 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  50,000 บาท อีกด้วย เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการนั้นมีบทลงโทษเทียบปรับตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็อาจจะมีผู้ประกอบการที่เจตนาฝ่าฝืนกฎหมายหลุดลอดสายตาการตรวจของเจ้าหน้าที่ไปได้ แต่หากเราที่เป็นผู้ใช้บริการพบเจอกับตัว เราไม่ควรยอมปล่อยให้หลุดรอดไปนะครับ เพราะผู้บริโภคมีสิทธิร้องเรียน  เราเชื่อว่า “ ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ”  ฉะนั้นหากเราพบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เรามีสิทธิร้องเรียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  ด้วยวิธีการดังนี้1. เก็บรายละเอียด หลักฐาน ต่างๆให้ครบถ้วน เช่น หมายเลขทะเบียนรถ เส้นทางวิ่ง  ภาพถ่าย  คลิป  2. ร้องเรียน สายด่วนของกรมการขนส่งทางบก 1584  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)  02-248 3737 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่าจะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้คุณสุชัย อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไปถึง 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะฟรี 10,000 – 20,000 กิโลเมตรอย่างไรก็ตามคุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ใช้สิทธิฉุกเฉินไม่ได้

ก่อนหน้านี้เราเคยเสนอเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคหลายรายที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่สามารถใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าได้ ปัจจุบันเราก็ยังพบปัญหานี้อยู่ แต่มีความคืบหน้ามาให้ผู้บริโภคได้รู้กันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณสมจิตรเรียกรถพยาบาลให้รีบมารับเพื่อนที่มีอาการหมดสติอยู่ภายในบ้าน ซึ่งได้ถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาลเปาโล เพราะอยู่ที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น โดยแพทย์ได้ช่วยเหลือด้วยการพาเข้าห้องไอซียู อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษา ทางโรงพยาบาลได้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าเป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งคุณสมจิตรก็ยินยอมจ่ายเงินดังกล่าวไปในเวลาต่อมาเพื่อนของเธอได้เสียชีวิตลง แต่ภาระอื่นๆ ยังคงอยู่ เพราะแพทย์ได้แจ้งว่ายังมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมอีกเกือบ 1,000 บาท ซึ่งคุณสมจิตรก็ได้จ่ายเพิ่มไปอีกครั้ง แต่เธอก็สงสัยว่ากรณีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้หรือไม่ จึงสอบถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และได้รับการตอบกลับว่า กรณีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ โดยให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายผ่านระบบของ สปสช. ได้เลย อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสมจิตรติดต่อกลับไปยังโรงพยาบาลก็พบว่า ทางโรงพยาบาลไม่ได้ทำเรื่องตั้งเบิกให้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คุณสมจิตรจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งเอกสารต่างๆ มาเพิ่มเติม ได้แก่ ใบเสร็จการชำระเงิน สำเนาบัตรประชาชนของผู้เสียชีวิต และช่วยร่างหนังสือถึง สปสช. เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลโดยการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า และทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้ดำเนินการตั้งเบิกกองทุนฉุกเฉิน พร้อมโทรศัพท์สอบถามที่โรงพยาบาลถึงการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังไม่มีการตั้งเบิก อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีดังกล่าวจะนำเรื่องเข้าพิจารณาและขอติดต่อกลับมา โดยภายหลังได้มีการเยียวยาผู้ร้องด้วยการแจ้งว่าจะตั้งเบิกกรณีฉุกเฉินให้ แต่จะได้รับเงินคืนเพียง 10,000 กว่าบาท โดยเช็คจะออกอีกประมาณ 2 เดือนถัดไป ซึ่งผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียนทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหากรณีการใช้สิทธิฉุกเฉินที่ไม่ทั่วถึง ทาง สปสช. จึงได้ได้ออกประกาศล่าสุด โดยกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดฟรี โดยไม่ต้องจ่ายเงินใน 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งกลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สามารถใช้สิทธิได้มี 6 ประเภท ดังนี้ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตนอกจากนี้เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว จะต้องดูแลรักษาเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมงแรกนอกจากนี้เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว จะต้องดูแลรักษาเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมงแรก แต่ให้เรียกเก็บจากกรมธรรม์ประกันภัย หรือกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิรักษาพยาบาลตามกฎหมาย เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กรมบัญชีกลาง หรือตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายตามที่ภาครัฐกำหนด เช่น ค่าห้องผ่าตัดใหญ่ 2,400 บาท/ชั่วโมง ค่าอัลตราซาวน์ 1,150 บาท/ครั้ง ค่า MRI สมอง 8,000 บาท/ครั้ง ค่าลิ้นหัวใจเทียม 29,000 บาท/อัน ค่าสายยางและปอดเทียม 80,000 บาท/ชุด ส่วนการรักษาพยาบาลหลัง 72 ชั่วโมงนั้น ให้โรงพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิรับการรักษาอยู่ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบปกติ แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรักษาต่อในโรงพยาบาลแห่งนั้นก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามหากใครสงสัยว่าจะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้หรือไม่ก็สามารถโทรศัพท์สอบถามก่อนได้ที่สายด่วน 1669 (ฟรี) เพื่อช่วยให้เกิดการคัดกรองที่ถูกต้อง รวมทั้งหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรแจ้งที่เบอร์สายด่วนดังกล่าวได้เช่นกัน โดยมีแนวทางในการแจ้งรายละเอียดดังนี้ 1. ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 2. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 3. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 4. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 5. บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก๊ส 6. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 7. ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และ 8. รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล หรือในกรณีที่มีข้อสงสัยอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โทร. 02-8721669 หรือสายด่วน สปสช. 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 บันไดเลื่อนเป็นเหตุ

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวคนจีนประสบอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนในห้างสรรพสินค้า ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนั้นในฝั่งบ้านเราบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าตัวแทนของห้างร้านหลายแห่งก็ได้ออกมายืนยันถึงระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสุชาติและลูกชายไปเดินซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านถนนสามเสน โดยหลังจากซื้อสินค้าเสร็จเรียบร้อยและกำลังลงบันไดเลื่อนกลับบ้าน เขาพบว่าบันไดเลื่อนมีอาการสั่นจนรู้สึกได้ ทำให้ลูกชายที่จูงมือลงมาพร้อมกันล้มลง ซึ่งในขณะนั้นลูกชายได้ใช้มือยันพื้นเอาไว้ ทำให้ถูกบันไดเลื่อนหนีบมือได้รับบาดเจ็บรุนแรง โดยเกิดแผลฉีกขาดที่บริเวณมือขวาและมีเลือดออกจำนวนมากคุณสุชาติจึงรีบพาลูกชายไปโรงพยาบาลที่ทำประกันอุบัติเหตุไว้ ซึ่งได้รับการรักษาตามวงเงินประกัน คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่อาการของลูกชายจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติม เขาจึงพาไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่สู้ค่าใช้จ่ายไหวแทน ซึ่งทางโรงบาลดังกล่าวได้ช่วยเหลือด้วยการเบิกค่ารักษาพยาบาลกับสิทธิฉุกเฉินให้ ต่อมาคุณสุชาติจึงไปร้องเรียนที่ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด เขาจึงต้องโทรศัพท์ไปร้องเรียนอีกครั้ง ซึ่งภายหลังพนักงานส่งเรื่องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ขอโทษคุณสุชาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมตอบกลับมาว่า ให้เขานำรายละเอียดใบเสร็จการรักษามาฝากไว้ที่จุดประชาสัมพันธ์ของห้างฯ และจะดำเนินการเยียวยาชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามจริงให้อย่างไรก็ตามคุณสุชาติกลับไม่ได้รับการเยียวยาค่าเสียหาย เพราะหลังจากพนักงานได้ตรวจสอบรายละเอียดของใบเสร็จการรักษาพยาบาลก็พบว่า ในใบเสร็จระบุว่าเบิกได้ ทำให้ประกันของบริษัทไม่จ่ายให้ ทางห้างฯ จึงไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามใบเสร็จ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสุชาติจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แจ้งให้ผู้ร้องไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดวันที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากบันไดเลื่อนของห้างจริง แต่พบว่าหลังจากผู้ร้องไปขอพนักงานแจ้งว่าในบริเวณที่เกิดเหตุภาพจากกล้องไปไม่ถึง จึงไม่สามารถขอภาพมาเป็นหลักฐานได้ อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ให้ผู้ร้องทำเอกสารสรุปค่าเสียหายทั้งหมดที่มี เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปแล้วและในอนาคตที่คาดว่าจะต้องไปรักษาจนกว่าแผลจะหาย ค่าเดินทางในการไปรักษาพยาบาลหรือไปดำเนินการเรียกร้องในเรื่องดังกล่าว จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องให้มีการเจรจากับตัวแทนของห้าง ซึ่งภายหลังยินดีชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้ตามใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางห้างจะขอนำไปพิจารณาก่อนและจะติดต่อกลับมาภายหลัง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์

สาวๆ เกือบทั่วโลกใฝ่ฝันให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดีได้สัดส่วน ทำให้อาหารเสริมลดน้ำหนักเป็นหนึ่งสินค้าขายดีสำหรับคนอยากหุ่นดีด้วยวิธีลัด ยิ่งด้วยยุคสมัยนี้ที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้การซื้อของสะดวกสบายง่ายเพียงปลายนิ้ว ธุรกิจการขายอาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์จึงยิ่งขยายตัวและควบคุมได้ยากขึ้น ซึ่งหากใครไม่อยากโดนหลอกให้เสียเงินฟรี ลองมาดูเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ร้องรายนี้กันคุณมานีสนใจอยากลดน้ำหนัก เธอจึงเลือกซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักที่โฆษณาผ่านทางร้านค้าออนไลน์ในแอปพลิเคชันอินสตาแกรม (Instagram) และพบว่ามียี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาว่า เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศเกาหลี ได้มาตรฐานปลอดภัย มี อย. และ GMP ช่วยให้แขนขาเรียว ลดไวไม่ลดทานฟรี เหมาะกับคนดื้อยา อ้วนสะสม หลังคลอด ซึ่งหลังจากดูรายละเอียดต่างๆ แล้ว เธอก็คิดว่าสินค้าดังกล่าวน่าจะปลอดภัยจริง จึงตัดสินใจสั่งซื้อและโอนเงินชำระค่าสินค้าไปจำนวน 550 บาทอย่างไรก็ตามหลังแจ้งแม่ค้าว่าโอนเงินเรียบร้อยแล้วและสอบถามถึงเลขพัสดุสินค้ากลับพบว่า แม่ค้าไม่สนใจข้อความของเธอและปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเป็นอาทิตย์ โดยได้ตอบกลับมาภายหลังว่ากำลังจัดส่งอยู่ ขอให้เธอเย็นๆ ก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้คุณมานีมั่นใจว่าโดนโกงเงินแน่นอน เธอจึงไปแสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรมของแม่ค้าและขอให้คืนเงินที่โอนไป ซึ่งแม่ค้าก็ได้เข้ามาตอบกลับว่าจะคืนเงินให้ แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปพร้อมส่งสินค้ามาให้แทน เมื่อได้รับสินค้าคุณมานีก็พบว่าบรรจุภัณฑ์ไม่เหมือนกับในรูปที่โฆษณาไว้ เธอจึงไม่กล้ารับประทานและติดต่อกลับไปยังแม่ค้าอีกครั้งเพื่อขอให้คืนเงิน ซึ่งแม่ค้าก็ได้แจ้งมาว่าจะคืนเงินให้ แต่ต้องส่งสินค้าคืนมาก่อน และเมื่อคุณมานีส่งสินค้าดังกล่าวคืนไป แน่นอนว่าแม่ค้าก็หายเข้ากลีบเมฆไป ด้วยการลบบัญชีผู้ใช้ในอินสตาแกรมทิ้งและปิดทุกช่องทางการสื่อสารกับเธอ ทำให้คุณมานีต้องส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ขอแยกเป็นสองกรณี กรณีที่ซื้อสินค้าแล้วโดนโกงเงินนั้น ผู้ร้องสามารถรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น โฆษณาการขายสินค้าดังกล่าวบนอินสตาแกรม บทสนทนาซื้อขาย หลักฐานการโอนเงินและสินค้าที่ซื้อมา ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้ หรือแจ้งเบาะแสและส่งตัวอย่างสินค้าให้ อย. ลงพื้นที่ตรวจสอบผ่านทางสายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียน ผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไปอย่างไรก็ตามในกรณีนี้พบว่าผู้ขายได้ปิดร้านค้าบนอินสตาแกรมไปแล้ว รวมทั้งผู้ร้องได้ส่งสินค้าคืนไปแล้ว และไม่สามารถติดตามหาเบาะแสอื่นๆ ของสินค้านี้ได้อีกเลย มีเพียงชื่อยี่ห้อเท่านั้น จึงแนะนำให้ผู้ร้องร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. เพื่อให้ติดตามและสุ่มเก็บตัวอย่างมาเพื่อตรวจสอบต่อไป สำหรับกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมักโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผิวขาวหรือเสริมสรรถทางเพศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงอาหารที่ช่วยเสริมหรือเติมเต็มสารอาหารที่ร่างกายขาดเท่านั้น ไม่ใช่ยาที่สามารถออกฤทธิ์หรือมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากดังนี้ 1. หากสินค้าดังกล่าวเป็นอาหารจะต้องใช้เลข อย. 13 หลัก 2. หากเป็นยาจะต้องใช้เลขทะเบียนยาและไม่ได้อยู่ในกรอบของ อย. ซึ่งจะต้องระบุว่า “ทะเบียนยาเลขที่” หรือ “Reg. No.” ตามด้วยอักษรและตัวเลขนอกจากนี้เราควรตรวจสอบรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองจากอย. ได้จริงหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx ซึ่งหากพบว่า รายละเอียดในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ ควรสันนิษฐานว่าอาจเป็นสินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน และไม่ควรเสี่ยงรับประทานเนื่องจากอาจทำให้ได้รับสารอันตรายอย่าง ไซบูทรามีน (Sibutramine) เพราะที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ที่มักโฆษณาว่าช่วยลดน้ำหนักจำนวนมาก ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายและมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ มากไปกว่านั้นหากพบว่า สินค้าดังกล่าวเข้าข่ายเป็นยารักษาโรคก็ถือว่าผิดกฎหมายได้เช่นกัน เพราะตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่า ต้องไม่ขายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง การขายในอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ยา มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย เพราะยาถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท            ทั้งนี้หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และรับประทานภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจพบสารอันตรายดังที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือสารอันตรายอื่นๆ อีก นอกจากนี้การรับประทานยาลดความอ้วน ต้องทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เพื่อช่วยให้รูปร่างสมส่วนและสุขภาพดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 สุวรรณา มณีนพ แฟนฉลาดซื้อ

กว่า 24 ปี ที่นิตยสารฉลาดซื้อ ส่งความรู้ ความคิด ผ่านทางตัวหนังสือ สื่อสารกับผู้อ่านมาจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่ยุคกระดาษเฟ้อ มาจนในปัจจุบันที่ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ หรือแม้แต่แผงหนังสือ ที่ทยอยปิดตัวบ้าง ลดขนาดกิจการลงบ้าง สายๆ วันหนึ่ง ฉลาดซื้อเราเผอิญไปพบกับเจ้าของแผงหนังสือเล็กๆ ตั้งอยู่ภายในโรงอาหารของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พี่สุวรรณา มณีนพ ที่เป็นมากกว่าคนขาย เธอเป็นอีกหนึ่งของพลังผู้บริโภคที่สนับสนุนให้งานคุ้มครองผู้บริโภคขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เธอเล่าให้เราฟังว่า “พี่เป็นทั้งคนขายที่แผงนี้แลัวก็ทำธุรกิจสายส่งหนังสือด้วย ปัจจุบันเราส่งนิตยสารให้กับผู้อ่านในละแวกนี้ และส่งให้กับหน่วยงานราชการ บริเวณกระทรวงสาธารณสุข เช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตอนนี้คนซื้อหนังสือน้อยลงเพราะว่าเดี๋ยวนี้คนใช้เงินยาก จะใช้ซื้ออะไรแต่ละทีก็ต้องคิดนานหน่อย อย่างเมื่อก่อนร้านเราใหญ่กว่านี้ แต่เดี๋ยวนี้หนังสือก็ลดลง เลิกผลิตกันไปหลายเจ้า หายไปหลายเล่มเลย ที่ยังอยู่ก็ไม่รู้อยู่ได้อย่างไร ที่จริงโฆษณาก็ไม่ค่อยมี ดูจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สำนักพิมพ์เขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน นี่ขนาดเป็นเจ้ายักษ์ใหญ่ แต่ก่อนเราขายได้ถึง 500 ฉบับ ตอนนี้เหลือแค่ 300 ฉบับเอง ที่เราต้องส่งตามหน่วยงานราชการล่าสุดนิตยสารครัวก็ปิดไปอีกเล่มคิดว่าสถานการณ์การอ่านหนังสือเป็นอย่างไรเดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยอ่านหนังสือนะ คนที่อ่านหนังสือคือคนที่อายุ 50 กว่าขึ้นไป ถ้าอายุน้อยกว่านี้เขาไม่อ่าน ก็ไม่รู้ว่าหนังสือจะอยู่ได้อีกกี่ปีเพราะตอนนี้ก็น้อยลงไปเยอะ ขนาดหน่วยงานราชการที่รับอยู่เป็นประจำก็ลดลงไปเกือบครึ่ง ก็ไม่รู้ว่าประหยัดงบหรือไม่มีคนอ่าน ได้ยินมาว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงแต่คิดว่ามันน่าจะอยู่ตัวระดับนี้แล้ว ที่จะดีขึ้นคงไม่หวังเลยรู้จักฉลาดซื้อได้อย่างไรรู้จักฉลาดซื้อมาประมาณ 2 ปีได้แล้ว พอดีที่ที่เราส่งหนังสือพิมพ์ให้อยู่ เขาอยากได้ “ฉลาดซื้อ” ก็เลยต้องหาให้เขา จึงติดต่อไปที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเลย ให้ส่งหนังสือให้ทุกเดือน เดือนละ 10 เล่ม เอาไว้ส่งด้วย ขายที่แผงด้วยและก็อ่านเองด้วย อย่างที่แผงเราจะวางทั้งเล่มใหม่ เล่มเก่า เราจะวางไว้หลายๆ เล่ม วางดักไว้บนชั้นปนกับนิตยสารประเภทต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนมีโอกาสเห็นมากขึ้น (ประมาณว่ามองตรงไหนก็เจอฉลาดซื้อ) ฉลาดซื้อมีประโยชน์อย่างไรบ้างดีนะ พี่ชอบอ่านตรงที่มีเปรียบเทียบสินค้า แต่ไม่ได้ฟันธงว่าห้ามใช้ แต่ให้เราคิดเอาเองว่าควรจะเลือกสิ่งไหน ทำให้มีความรู้ และสามารถแยกได้ว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดีอย่างไร แล้วก็ไม่ได้โชว์แต่ยี่ห้อดังๆ เขาสุ่มมาให้หลากหลายยี่ห้อ บางทียี่ห้อไม่ดังคนไม่ค่อยรู้จักแต่กลับดีกว่ายี่ห้อดังๆ ก็มีพอจะยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหม เท่าที่อ่านมาแล้วได้นำไปใช้จริงๆ เช่นเรื่องอะไรบ้างที่อ่านแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปซื้อตามหนังสือเลยก็จะมีพวกเรื่องของกินนะเพราะว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างเช่นขนมเปี๊ยะเพราะเป็นคนชอบกินขนมเปี๊ยะ ก็ดูเรื่องถั่วกวนอะไรพวกนี้ เรื่องยาปฏิชีวนะในเนื้อหมู ไก่ทอดเกาหลี ก็จะสนใจพวกเรื่องเกี่ยวกับของกินมากกว่าเรื่องแนวอื่นๆ แต่ก็อ่านทั้งเล่มเคยคิดไหมว่าอย่างนี้ต่อไปเราจะกินอะไรไม่ได้เลย มีความกังวลบ้างไหมก็เคยคิดเหมือนกันแต่ก็รู้สึกว่าช่างมันเถอะ เพราะเราไม่ได้กินต่อเนื่องนานๆ แต่นานๆ กินที ก็จะใช้วิธีการเลือกกินเอา กินให้มีความหลากหลาย(สมกับเป็นแฟนฉลาดซื้อ)กับคนรอบๆ ข้างเคยได้ให้ความรู้อะไรกับสิ่งที่เราเคยอ่านมาบ้างไหมก็บอกนะ ว่าในหนังสือฉลาดซื้อบอกไว้ว่ากินอันนี้มีสารกันบูดเยอะไม่ดีนะ ไม่ดีอย่างไรๆ ซึ่งเขาก็ฟัง และอยากรู้ข้อเปรียบเทียบของเรื่องที่เราเล่าด้วยว่าดี ไม่ดีอย่างไรอ่านทั้งเล่มนี่ชอบคอลัมน์ไหนอีกบ้างจะดูเป็นเล่มๆ ไปเพราะปกติก็จะเปิดดูตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ถ้ามีเรื่องไหนที่สนใจก็จะอ่านรายละเอียดเยอะหน่อย เช่น บางเรื่องใกล้ตัวก็จะอ่านเยอะหน่อย นานหน่อย ของที่เลือกได้เราก็ต้องเลือกของที่มันดีๆ เราเลือกอ่านเรื่องที่สนใจเป็นเล่มๆ ไป อย่างพวกคอลัมน์ที่คนมาใช้สิทธิ(เสียงผู้บริโภค) พี่คิดว่า ดีนะ พี่ก็ชอบอ่านแล้วเคยได้ร้องเรียนหรือใช้สิทธิเรื่องอะไรบ้างไหม ยังไม่เคยร้องเรียนนะ เพราะเป็นคนประเภทยอมรับ ถ้าใครไม่ดีเราก็อย่าไปยุ่งกับเขา แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะไปร้องเรียน เช่น อย่างเราซื้อของ ถ้ายี่ห้อนี้ไม่ดีก็จะไม่ซื้อแล้วอะไรแบบนี้มากกว่า จะเป็นประมาณนั้น แล้วช่องทางอื่นๆ ในการเลือกรับข่าวสารต่าง จากไลน์หรือ เฟสบุ๊ค หลักๆ แล้วพี่จะเลิกเชื่อข่าวสารจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือไม่ได้ แต่พี่ได้รับข่าวสารในแต่ละวันนี้เยอะมากเลยนะ แต่ส่วนใหญ่เชื่อถือไม่ค่อยได้ เวลาเราได้รับข่าวมาสักเรื่อง อ่านแล้วจะเชื่อถือไม่ได้เสียทีเดียว ต้องอ่านว่าส่งมาจากไหน พิสูจน์ทดสอบแล้วเป็นอย่างไร แล้วแต่ว่ามันเป็นข้อมูลแบบไหน อย่างเช่น ถ้าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ เราก็ดูว่าที่มาของข้อมูลมาจากไหน ตัวเองมีไลน์ของกรมอนามัยอยู่นะ อันนี้ก็มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งเลยนะกับเรื่องโฆษณาเกินจริงที่มีมากมายในปัจจุบันพวกโฆษณาสินค้าที่เขาบอกสรรพคุณเกินจริงอันนี้น่ากลัวจังเลย ตอนนี้คนไทยก็เชื่อโฆษณาจังเลย จะทำอย่างไรให้เขาระวังตัวให้มากๆ บางทีเห็นเค้าระดมโฆษณาในเฟสบุ๊คถี่ๆ นะ แค่นี้ก็ได้ผลแล้วส่วนที่เห็นมากๆ คือการขายของ ขายสินค้า ขายพวกเครื่องสำอางหรืออะไร ส่วนใหญ่เน้นไปเรื่องสุขภาพ บางทีก็เหมือนหลอกขายกันชัดๆ เลยอย่างที่เคยเห็นก็คือ พวกพลาสเตอร์ที่แปะส้นเท้าแล้วดูดซึมสารพิษอะไรแบบนี้ มันจะเป็นไปได้ยังไงอันนี้ ก็เห็นเขาโฆษณาอยู่ทุกวันนี้ เขาก็ขายได้นะ แต่พี่ก็เห็นมีคนมาเม้นท์ตอบอยู่นะ ซึ่งก็ทำให้เห็นว่ามีคนรู้ทันเขาอยู่นะ เป็นแฟนกันขนาดนี้อยากให้ฉลาดซื้อทดสอบเรื่องอะไรบ้างไหมคะ อยากให้ฉลาดซื้อให้ข้อมูลเรื่องยาให้มากๆ  พี่สังเกตว่า คนทั่วไปชอบคิดว่ายาเป็นของดี กินได้ไม่มีอันตราย อย่างยาแก้ปวด แก้ไข้ คือเห็นคนแค่เป็นหวัดนิดหน่อยก็จะกินยา โดยเฉพาะพวกที่โฆษณาเยอะๆ อยากให้แนะนำเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม อีกเรื่องก็สมุนไพร บางคนคิดว่าสมุนไพรกินแล้วไม่มีผลเสียต่อร่างกาย กินเข้าไปเถอะ กินติดต่อกันไปนานๆ เลยแบบนี้ ญาติพี่เอง ก็เป็นเขากินยาขมนี่แหละ กินติดต่อกันเป็นหลายๆ เดือนเลยนะ แก้ร้อนใน ซึ่งพี่ก็ว่าไม่ดีนะ กินติดต่อไปนานๆ แบบนี้ เพราะถ้าเราไม่เป็นอะไรจะไปกินมันทำไม ถ้าเรื่องทดสอบอยากให้ทำเรื่องครีมทาหน้า พวกเสริมสวยทั้งหลาย  ซึ่งเดี๋ยวนี้เห็นมีโฆษณาตามสื่อต่างๆ เยอะมาก ส่วนใหญ่เขาก็จะเอาดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นห่วงคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ เพราะเค้าจะเชื่ออย่างเดียว ไม่รู้ว่าจะไปหาข้อมูลจากทางไหน บางทีถ้าเรามีข้อมูล ข้อมูลจะช่วยเราได้เยอะ ในเรื่องของการตัดสินใจ อยากให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้เข้ามาดูแล แล้วก็เรื่องซื้อรถมือสอง แล้วถูกพวกบริษัทการเงินเอาเปรียบ เช่น เวลาเขาผ่อนไม่ไหว เอารถไปคืน แต่เขาต้องผ่อนต่อ ไม่รู้ว่ามันติดอะไร เช่น ค้างส่งหรือเปล่า เลยอยากให้ฉลาดซื้อให้ความรู้เรื่องนี้ด้วย พี่รู้สึกว่าเหมือนสัญญาเขาเอาเปรียบด้วย อีกเรื่อง เรื่องการขายฝากที่ดิน ล่าสุดกลายเป็นยึดที่ ยึดบ้านเขาไปเลย เลยอยากให้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการขายฝากที่ดินหรือการขายฝากทรัพย์นั้นผู้บริโภคจะต้องมีความรู้อย่างไรจึงจะไม่เสียเปรียบ อยากให้ให้ความรู้แบบนี้ด้วยค่ะ สุดท้ายก็อยากฝากว่า ฉลาดซื้อจริงๆ มีประโยชน์มากเลย น่าเสียดายที่คนสนใจน้อยไปหน่อย น่าเสียดายหนังสือดีๆ อยากให้อยู่นานๆ นะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 การทดสอบแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์

แสงแดดมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่อินฟราเรด (Infrared IR) ไม่มีสีแต่อยู่ในรูปของรังสีความร้อน ต่อไปคือแสงช่วงที่สายตามองเห็น (Visible light VL) และช่วงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet UV)อยู่ในรูปของพลังงาน ที่มีความสามารถทำลายเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ การเกิดความร้อนในรถยนต์เกิดจากการที่กระจกรถยนต์ไม่สามารถกันคลื่นอินฟราเรด ที่เป็นคลื่นความร้อนได้ เมื่อผ่านเข้ามายังตัวรถแล้ว คลื่นอินฟาเรดจะไม่สามารถสะท้อนออกไปได้ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกภายในรถ ความร้อนสะสมจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ  สำหรับข้อกำหนดความสามารถของแผ่นฟิล์มติดรถยนต์ แบ่งเป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้- VLT (Visible Light Transmission) ความสามารถในการส่องผ่านของแสงในช่วงสายตามองเห็น ค่ายิ่งมากแสงผ่านได้เยอะ ทำให้การมองผ่านชัดเจน - VLR (Visible Light Reflectance) ความสามารถในการสะท้อนแสงในช่วงสายตามองเห็น เป็นค่าแสดงการสะท้อนออกของแสงจากกระจกที่ติดฟิล์ม ค่ามากกระจกที่ติดฟิล์มจะมีลักษณะคล้ายกับกระจกเงา- Glare Reduction การลดความจ้า เป็นการวัดเปอร์เซ็นเปรียบเทียบค่าการส่องผ่านได้ของแสงช่วงที่มองเห็น ระหว่างกระจกที่ติดฟิล์มกรองแสงกับไม่ติดฟิล์มกรองแสง- IRR (Infrared Rejection) เป็นค่าที่แสดงความสามารถในการลดความร้อนเนื่องจากคลื่นความร้อน(Infrared) จากแสงแดด- UVR (Ultraviolet Rejection) ค่าที่แสดงความสามารถในการลดแสงอัลตราไวโอเลตเราทดสอบอะไรบ้าง1. ทดสอบการป้องกันรังสียูวี ช่วง  UVA และ UVB ความยาวคลื่น 280-400 นาโนเมตร2. ทดสอบการส่องผ่านของแสงช่วงที่สายตามองเห็น ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร3. ทดสอบการลดรังสีอินฟราเรด หรือรังสีความร้อน ความยาวคลื่น 800-1000 นาโนเมตร4. ทดสอบการป้องกันความร้อนสะสมการทดสอบออกแบบให้สามารถวัดความสามารถของฟิล์มติดรถยนต์ในเรื่องการช่วยลดแสงยูวี การช่วยลดแสงสว่างในช่วงที่สายตามองเห็น ความสามารถในการกันรังสีความร้อน (Infrared) และการป้องกันความร้อนสะสมสำหรับการออกแบบการวัด ได้จำลองตู้ทดสอบซึ่งเป็นตัวแทนของรถยนต์ที่มีกระจกที่ติดฟิล์มตัวอย่าง ปิดอยู่ด้านบน รับแสงจากหลอดฮาโลเจน มีเครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัมอยู่ภายใน และหัววัดอุณหภูมิภายนอกและภายใน ซึ่งผลการวัดจะแสดงถึงความสามารถในการกันแสงและความร้อนของฟิล์มตัวอย่าง อุปกรณ์1. ตู้ทดสอบขนาดปริมาตร 0.5 ลูกบาศก์ฟุต 2. แผ่นกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง3. เครื่องวัดอุณหภูมิ4. เครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัม ช่วง ยูวี ถึง อินฟราเรด (200-1000nm)5. หลอดไฟฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์วิธีการทดสอบเลือกฟิล์มที่นิยมใช้กันทั่วไปในตลาดโดยเลือกอยู่ในระดับการกรองแสงเท่าๆ กันประมาณ 60 % (ตามค่าที่แจ้งบนฉลาก) แต่ค่าจำเพาะบางค่าอาจไม่เหมือนกัน แสดงดังตารางดังนี้ทดลองโดยการวัดค่าอุณหภูมิทุกๆ 30 วินาที เป็นเวลา 15 นาที โดยเรียงลำดับดังนี้1. ตู้เปล่า2. แผ่นกระจกไม่ติดฟิล์ม3. แผ่นกระจกติดฟิล์มยี่ห้อต่างๆ4. นำค่าที่ได้มาวิเคราะห์ผลวัดค่าสเปคตรัมของแสงเพื่อตรวจสอบแสง ที่ผ่านกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง ผลของแสงที่ได้จากหลอดฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์ มีลักษณะครอบคลุมช่วงที่ต้องการทดสอบ ที่ความยาวคลื่น 200 – 1000 นาโนเมตร เป็นดังนี้ภาพที่ 5 ผลของแสงและรังสีความร้อนภายในตู้ทดสอบ ที่ถูกวัด ขณะไม่มีกระจกกั้น เท่ากับ 100%สรุปผลการทดสอบการทดสอบฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์นี้ ผลที่ได้พบว่าทุกๆ ยี่ห้อสามารถป้องกันแสง UV ได้ใกล้เคียงกัน การป้องกันความร้อน ถ้าค่าความแตกต่างของอุณหภูมิด้านนอกกับด้านในมีน้อย แสดงว่าสามารถกันความร้อนได้ดี และพบว่า Hi-Kool มีความสามารถกันความร้อนความร้อนได้ดีกว่าทุกยี่ห้อ แต่ความสามารถของการส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็น ผ่านเข้ามาได้ค่อนข้างน้อย หากค่าแสงช่วงสายตามองเห็นได้ผ่านเข้ามาได้น้อยเกินไปก็ทำให้การมองเห็นได้ไม่ดีอาจจะลดทัศนวิสัยในการขับรถได้สำหรับในการพิจารณาเรื่อง การส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็นค่าความสว่างของแสง(Lux) มากจะทำให้การมองเห็นชัดเจนกว่าค่าความสว่างของแสงน้อย ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนเวลาขับรถเวลากลางคืน  ทำให้ ฟิล์ม 3M อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ จากข้อมูลในตารางที่ 2 ฟิล์มยี่ห้อ Xtra-Cole อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับ ความสามารถในการป้องกันความร้อน และทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่                 การป้องกันความร้อนได้ดีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเลือกฟิล์มกรองแสงไว้ใช้งาน แต่ยังมีตัวแปรอื่นๆ ให้พิจารณาเช่น ความคงทนต่อรอยขีดข่วน การซีดจาง เปลี่ยนสี การหลุดร่อนตามอายุการใช้งาน การรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ การรบกวนระบบนำทาง GPS เป็นต้นขอขอบคุณห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 กระแสต่างแดน

เยอรมันก็มุงความอยากรู้อยากเห็น(และอยากถ่ายรูป) เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่บางครั้งมันก็ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดอุบัติเหตุรถโดยสารชนท้ายรถบรรทุกแล้วเกิดไฟลุกไหม้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย บนมอเตอร์เวย์สาย A9 ในแคว้นบาวาเรียนั้นเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้ดีข่าวระบุว่าทีมช่วยเหลือใช้เวลา 10 นาทีเพื่อมายังที่เกิดเหตุ ทั้งๆ ที่ควรมาถึงเร็วกว่านี้หากไม่ต้องเจอกับรถที่ชะลอดู ถ่ายรูป ถ่ายคลิป กว่ารถพยาบาลและรถดับเพลิงจะเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ไฟก็โหมจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บออกมาได้รัฐบาลของแคว้นบาวาเรียกำลังเตรียมพิจารณาขึ้นค่าปรับสำหรับเยอรมันมุง จาก 20 ยูโร(775 บาท) ในปัจจุบัน เป็น 155 ยูโร(6,000 บาท) และอาจแถมโทษจำคุกให้ด้วย เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เอาอะไรมาแลกก็ยอมPurple บริษัทผู้ให้บริการฮอทสป็อตไวไฟรายหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษทดลองซ่อนเงื่อนไขแปลกๆ ลงไปในข้อตกลงการเข้าใช้ไวไฟฟรี(ที่ผู้ใช้ควรอ่านให้ถี่ถ้วนก่อนจะกด “ยอมรับ”) ในสองสัปดาห์ บริษัทพบว่ามีผู้ใช้ 22,000 คนที่ “ยินดี” สละเวลามาทำงานบริการสังคม เช่นล้างห้องน้ำสาธารณะ ขูดหมากฝรั่งตามพื้นถนน หรือล้วงท่อระบายน้ำ เป็นเวลา 1,000 ชั่วโมงเขาเสนอให้รางวัลกับคนที่อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขโดยละเอียด(และพบข้อความแปลกๆ) มีผู้ได้รางวัลไปทั้งหมด... หนึ่งคน ผลการทดลองนี้ยืนยันอีกครั้งว่า เราหน้ามืดขนาดไหนเวลาอยากใช้ของฟรี สามปีก่อนหน้านี้บริษัทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสรายหนึ่ง ก็เคยทดลองในลอนดอน แม้จะเขียนไว้ชัดเจนว่าบริการฟรีนั้นจะต้องแลกกับ “ลูกคนแรก” ก็ยังมีคนลงชื่อใช้ถึง 6 คนต่ำกว่าคาดจากการเปรียบเทียบความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตของ 139 ประเทศทั่วโลก ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์สูงเป็นอันดับ 10 กำลังจะดีแล้วเชียว แต่... ผลสำรวจระบุว่า บรอดแบนด์สำหรับอินเทอร์เน็ตบ้านในออสเตรเลียยังมีราคาแพงเกินไป ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้ประเทศยังไม่พร้อมที่จะเป็น “เศรษฐกิจดิจิตัลระดับเวิร์ลดคลาส” อย่างที่ตั้งใจ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วระดับการเข้าถึงของออสเตรเลียหล่นลงไปที่อันดับ 57)ความเร็วเบรอดแบนด์เฉลี่ยของเขาอยู่ที่ 11.1Mbps หรืออันดับที่ 50 ของโลก ในขณะที่อันดับหนึ่งอย่างเกาหลีมีความเร็วเฉลี่ยสูงสุด 28.6Mbps (สิงคโปร์เพื่อนบ้านเราอยู่อันดับ 7)ร้อยละ 56 ของคนออสซี่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตของเขาอยู่ในระดับแถวหน้าและรัฐบาลก็ทุ่มงบประมาณลงไปกับโครงการ NBN (New Broadband Network) ไม่น้อย ไม่ต้องรีบเริ่มแล้ว! แผนลดความแออัดของรถไฟโตเกียวในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อสยบความวุ่นวายโกลาหลในการเดินทางให้ได้ก่อนถึงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวอยากขอร้องจากมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายคือ ช่วยมาขึ้นรถกันก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วนกันบ้างนางยูริโกะ โคอิเกะ เคยเสนอแผนนี้ไว้เมื่อครั้งที่เธอสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เธอบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเปลี่ยนทัศนะของคนญี่ปุ่นที่คุ้นชินกับชั่วโมงทำงานอันยาวนานและการเบียดเสียดขึ้นรถไฟไปทำงานในช่วงเวลาเดียวกันแผนดังกล่าวประกอบด้วยความร่วมมือจาก 260 บริษัทและหน่วยงาน ที่จะเพิ่มบริการรถเที่ยวเช้าตรู่จัดหาของรางวัลให้กับผู้ที่เลือกเดินทางก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงให้พนักงานในบริษัทตัวเองเลือกเวลาทำงานได้ แบบนี้เรียกจริงจังตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของมาเลเซีย การขายกุ้งแห้งย้อมสีมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 ริงกิต(ประมาณ 785,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วสองพี่น้องคู่หนึ่งถูกจับได้(เพราะมีคนถ่ายคลิปไว้) ว่าพ่นสีสเปรย์ลงในกุ้งแห้งเพื่อให้มีสีแดงสดน่ารับประทานและขายได้ราคาดีขึ้น กุ้งธรรมดากิโลกรัมละ 20 ริงกิต แต่กุ้งสีสวยของร้านนี้ขายได้ถึง 25 ริงกิตเนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารทะเลในท้องถิ่นและการท่องเที่ยวของเมืองโคตาคินาบาลูในภาพรวม ศาลจึงตัดสินให้ผู้กระทำผิดจ่ายค่าปรับสูงสุด 100,000 ริงกิต  

อ่านเพิ่มเติม >