ฉบับที่ 163 กระแสต่างแดน

ดีเซลไม่ดีจริง ทุกปีมีชาวลอนดอนประมาณ 4,300 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะทางอากาศ และสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของเมืองนี้ก็เลวร้ายถึงขั้นต้องประกาศให้ผู้คนงดออกจากบ้านกันเลยทีเดียว ลอนดอนมีระดับมลพิษเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว นายกเทศมนตรีของลอนดอน นายบอริส จอห์นสันก็ยอมรับว่าเขาคิดว่ามหานครแห่งนี้คงจะลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ให้อยู่เกณฑ์ได้ก่อนปี 2030 แน่นอน แนวคิดล่าสุดที่เขาเสนอเพื่อลดมลพิษในเมือง คือการจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ปล่อยมลพิษน้อยลง โดยเริ่มจากรถรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2013 เขาคาดว่าแผนการที่อาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านปอนด์นี้ น่าจะลดจำนวนรถเก่าออกไปจากท้องถนนลอนดอนได้ประมาณ 150,000 คัน (ทั้งนี้ค่าชดเชยอยู่ที่คันละไม่เกิน 2000 ปอนด์) นายบอริสบอกว่า เขาเห็นใจคนที่โดนกล่อมให้ซื้อรถดีเซลด้วยความเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมลพิษที่น้อยกว่าและค่าเชื้อเพลิงที่น้อยลง และเขาก็บอกด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามันคือความผิดพลาดทางนโยบาย (ปัจจุบันรถดีเซลมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ของตลาดในอังกฤษ) ทั้งนี้แผนส่งเสริมการใช้รถพลังไฟฟ้าที่เขาประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่ได้ผล จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมี 25,000 คันภายในปี 2015 ขณะนี้ยังมีเพียง 1,400 คันเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าต้องโทษกลไกตลาด ที่ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำเท่าที่ควร     ซูเปอร์ฟู้ดเอาตัวไม่รอด ปีนี้แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และมันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะร้อยละ 80 ของเมล็ดอัลมอนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดโลกมาจากที่นี่ เมื่อน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบพากันเหือดแห้ง เกษตรกรผู้ปลูกอัลมอนด์จึงสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ และตกเป็นจำเลยข้อหาเอาน้ำใต้ดินที่ควรเป็นแหล่งน้ำสำรองของผู้คนรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้เพื่อผลิต “ซูเปอร์ฟู้ด” ราคาถูกออกมาป้อนตลาดโลก มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อเกษตรกรไม่มีต้นทุนค่าน้ำ พวกเขาจึงสามารถขายอัลมอนด์ให้พ่อค้าที่ราคาขายส่งแค่ 3 – 4 เหรียญต่อปอนด์เท่านั้น แต่ถ้ามีการคิดต้นทุนที่แท้จริงแล้วละก็ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ด้านสมาคมผู้ปลูกอัลมอนด์แห่งแคลิฟอร์เนียบอกว่า อัลมอนด์เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และปีนี้เกษตรกรก็ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 33 ต่อการผลิตอัลมอนด์หนึ่งปอนด์ และตั้งคำถามกลับว่าการที่น้ำจะไม่พอใช้นั้นอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐเองหรือเปล่า ความจริงแล้วแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตนมและองุ่นได้ในปริมาณสูงกว่าอัลมอนด์ด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังนี้อัลมอนด์ได้รับความนิยมสูง(ด้วยสรรพคุณมากหลายตั้งแต่ลดโคเลสเตอรอล ลดความอยากอาหาร บำรุงผิว ฯลฯ) จึงมีคนนิยมปลูกมากขึ้น และทำรายได้ถึง 4,300 ล้านเหรียญต่อปีจากพื้นที่เพราะปลูกประมาณเกือบหนึ่งล้านเอเคอร์ ปีนี้ราคาอัลมอนด์สูงที่สุดในรอบ 9 ปี(ตันละ 10,500 เหรียญ) แต่ปัญหามันอยู่ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในคริสต์มาสนี้   ผลพลอยได้ ผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก คืออินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเรา มีเกาะอยู่ทั้งหมด 17,000 เกาะ และมีประชากรหลายสิบล้านคนที่ทำประมงเลี้ยงชีวิต ปัจจุบันเขามีเรืออวนไม่ต่ำกว่า 33,000 ลำ และทุกครั้งที่เรืออวนออกไปจับปลาทูน่า ก็มักมีผลพลอยได้เป็นปลาฉลามมาด้วย ปลาทูน่าจะถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนปลาฉลามที่ติดมาด้วยนั้น ชาวบ้านที่นั่นเขาก็นำมากินกันเป็นเรื่องธรรมดา หนังปลาฉลามยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนในชุมชนริมทะเล และถ้าคุณไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาซื้อลูกชิ้นปลาฉลาม หรือลูกปลาฉลามได้ไม่ยาก อินโดนีเซียจับปลาฉลามได้ปีละ 109,000 ตัน(น่าจะเป็นประเทศที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในโลกด้วย) และสามารถจับได้อย่างเสรี ไม่มีโควตา ไม่กำหนดขนาดของปลา จึงทำให้นักอนุรักษ์เริ่มวิตก สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว ปลาฉลามจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่เราเคยได้ยินข่าวการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่นักวิชาการเขาก็ยืนยันว่าถ้าเราคิดให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่า ฉลามตัวเป็นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่ในทะเลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าฉลามที่ตายแล้วหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียพบว่า นอกจากมันจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเลแล้ว ตลอดอายุขัยของมัน ฉลามหนึ่งตัวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.9 ล้านเหรียญ ขาปั่นทำป่วน เราอาจรู้จักโคเปนเฮเกนในฐานะเมืองหลวงจักรยานของยุโรป และเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก แหม่ ... ก็เขามีเลนจักรยานที่มีความยาวรวมกันทั้งหมดถึง 400 กิโลเมตรเชียว ไม่อยากจะคุยต่อว่าเทศบาลเขาประกาศว่าปีหน้าจะจัดงบให้อีก 75 ล้านโครน เพื่อเพิ่มเส้นทางและขยายช่องทางจักรยานด้วย ว่ากันว่าผู้คน 1 ใน 3 ของเมืองนี้เดินทางด้วยจักรยานเพราะมันถูกและเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่สาแก่ใจเทศบาลโคเปนเฮเกนที่ต้องการให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 50 เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2020 แต่เดี๋ยวก่อน ... หลายคนเริ่มสงสัยว่าพวกเขาหมกมุ่นกับการสร้าง “เมืองสองล้อ” มากเกินไปหรือเปล่า ... คุณอาจคิดว่ามันเป็นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักปั่น แต่พักหลังนี้เสียงบ่นทั้งจากตัวผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่ร่วมใช้เส้นทางกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที นักปั่นเริ่มฝ่าฝืนกฎจราจรกันมากขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมาเทศบาลต้องมีมาตรการลงโทษผู้ใช้จักรยานที่ละเมิดกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่าไฟแดงจะถูกปรับ 1,000 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) ถ้าขึ้นมาขี่บนฟุตบาทก็จะโดนค่าปรับ 700 โครน (ประมาณ 4,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยยกจักรยานที่จอดในสถานที่ส่วนบุคคลไปเก็บ และคิดค่าไถ่จักรยานคันละ 187 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) เป็นต้น เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าคนใช้จักรยานทำเหมือนตัวเองมีสิทธิพิเศษ ใครๆ ก็ต้องหลีกทางให้ ขึ้นรถไฟก็ต้องได้ที่นั่งและที่เก็บจักรยาน ปั่นอยู่บนถนนก็ไม่ต้องหยุดรอให้ผู้โดยสารที่ลงจากรถเมล์เดินขึ้นฟุตบาทก่อน เจอผู้พิการก็ไม่ชะลอ ... แหม่ ... นี่เข้าข่าย “เมืองดีแล้ว แต่ประชากรยังต้องปรับปรุง” เหมือนกันนะ เรื่องกินสอนกันได้ เด็กๆ ที่ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีอัตราน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่ากันว่าเรื่องนี้อยู่ในวิถีชีวิต คนฝรั่งเศสเชื่อว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการสอนให้กินอาหารเป็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาถูกสอนให้สามารถอ่านหนังสือได้นั่นเอง และการรักในรสชาติของอาหารก็เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องสอนกันตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสมักจะไม่ถามลูกว่า “อิ่มหรือยัง?” แต่จะถามว่า “ยังหิวอยู่ไหม?” และเวลาจะชักชวนลูกให้ทานอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่า “ทานสิลูก อร่อยนะ” ไม่ใช่ “ทานสิลูก มีประโยชน์นะ” นอกจากนี้ในร้านอาหารของฝรั่งเศสเขาจะไม่มี “เมนูสำหรับเด็ก” เพราะเชื่อว่าเด็กควรทานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ (แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบมันในตอนแรกก็ตาม) ทั้งนี้เพราะเด็กที่นี่ได้เรียนรู้การกินอาหารเพื่อสุขภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน สำหรับเด็กประถมนั้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันแบบ 4 คอร์ส (สลัด จานหลักที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จานชีส และของหวานที่มีผลไม้) และเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวบนโต๊ะอาหารคือน้ำเปล่า กระทรวงศึกษาฯ เขามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น โรงเรียนจะต้องให้เด็กได้ใช้เวลาทานอาหารกลางวัน อย่างต่ำ 30 นาที และเวลาพักกลางวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีเวลาเล่น และห้ามตั้งเครื่องเครื่องขายขนมอัตโนมัติในโรงเรียนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2557 บังคับใช้ “ค่าแท็กซี่มิเตอร์” 3 จังหวัดใหญ่ ภูเก็ตเรียกในสนามบินเพิ่ม 100 บ. กระทรวงคมนาคมประกาศอัตราแท็กซี่มิเตอร์ 3 จังหวัดใหญ่ เชียงใหม่-ขอนแก่น-ภูเก็ต 2 จังหวัดแรกเริ่มต้นที่ 2 กม.แรก 40 บาท ส่วนภูเก็ตเรียกในสนามบินบวกเพิ่ม 100 บาท เริ่ม 17 ก.ย. 57 จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 บาทระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 10 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อ ไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาท ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้กำหนด ดังนี้ (1) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารเรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท (2) กรณีการจ้างจากภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 10 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อ ไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาทค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ในกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสาร เรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 50 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 15 กิโลเมตรละ 12 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 15 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาท ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้กำหนด ดังนี้ (1) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารเรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสาร อีก 50 บาท (2) กรณีการจ้างจากภายในท่าอากาศยานภูเก็ต ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจาก ที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 100 บาท ที่มา  http://www.ratchakitcha.soc.go.th   "เครดิตบูโร" เตือน! อย่าหลงเชื่อ เรื่องลบข้อมูลแบล็กลิสต์ได้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า จากข่าวที่มีการจับกุมผู้โฆษณาชวนเชื่อประกาศทางอินเทอร์เน็ตว่าสามารถรับทำบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน รถยนต์ ให้กับผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำติดแบล็กลิสต์หรือปลดล็อกหนี้จากเครดิตบูโรนั้น เครดิตบูโรอยากจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า ข้อมูลในฐานข้อมูลมิใช่ข้อมูลแบล็กลิสต์ หรือเป็นข้อมูลที่แสดงความไม่น่าเชื่อถือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด สิ่งที่จัดเก็บตามที่กฎหมายกำหนด คือประวัติการก่อหนี้และประวัติการชำระหนี้ของบัญชีสินเชื่อที่บุคคลนั้นมีอยู่กับสมาชิกของเครดิตบูโร โดยปัจจุบันเครดิตบูโรมีสมาชิกทั้งสิ้น 80 สมาชิก ทั้งนี้ข้อมูลของการก่อหนี้ประเภทต่างๆ รวมทั้งประวัติการชำระเงินที่ไม่มีค้างชำระหรือประวัติการค้างชำระ ถ้ามีตามที่เกิดขึ้นจริงจะมีการจัดเก็บตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เครดิตบูโรไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลบทิ้งให้ต่างไปจากความเป็นจริงได้ และไม่มีใครไปปลดล็อกอะไรได้ตามที่มีการโฆษณาหลอกลวง อีกทั้งเครดิตบูโรไม่มีการจัดเก็บข้อมูลการชำระ หรือค้างชำระเกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ รายการบัญชีเงินฝาก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือข้อมูลทรัพย์สิน เงินฝากแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดเก็บ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษในทางอาญา “การจะแก้ไขข้อมูลในเครดิตบูโรสามารถทำได้ในกรณีที่ข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยต้องมีหลักฐานชัดเจนที่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้องเช่น เจ้าหนี้-ลูกหนี้ยืนยันว่าไม่ถูกต้อง ศาลมีคำพิพากษา ฯลฯ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง และอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด การทำธุรกรรมทางการเงินหรือการขอสินเชื่อนั้น ควรติดต่อสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด” นายสุรพล กล่าว   ห้ามช่อง 3 ออริจินอล ออนเเอร์ผ่านโครงข่ายเคเบิล ดาวเทียม ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในระบบอนาล็อกของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด สิ้นสุดสถานะการเป็นฟรีทีวี ตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) โดยไม่ขยายเวลาให้อีก จากที่ก่อนหน้านี้เคยขยายเวลาการเป็นฟรีทีวีให้ช่อง 3 อนาล็อกมาแล้วเป็นเวลา 100 วัน นับแต่วันที่ 26 พ.ค. โดยครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ซึ่งส่งผลให้ช่อง 3 อนาล็อก จะไม่สามารถออกอากาศในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลได้อีกต่อไป แต่การรับชมผ่านเสาอากาศหนวดกุ้งและก้างปลายังเป็นไปตามปกติ จากกรณีดังกล่าว ทางช่อง 3 ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติของ กสท. พร้อมขอให้ศาลทุเลาการบังคับใช้มติของ กสท.ดังกล่าว เพื่อให้ช่อง 3 ยังคงออกอากาศผ่านเคเบิลและทีวีดาวเทียมได้ต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ศาลยกคำร้อง ช่อง 3 จึงได้อ้างประกาศ คสช.ฉบับที่ 27 ว่า คุ้มครองให้โทรทัศน์ทุกช่องออกอากาศได้ทุกช่องทาง ทั้งภาคพื้นดิน ดาวเทียมและเคเบิล แต่ทาง คสช. ยืนยันว่า ไม่มีประกาศฉบับใดของ คสช.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบอนาล็อกหรือทีวีดิจิตอล ช่อง 3 จึงหันมาอ้างจำนวนคนดูช่อง 3 ผ่านระบบเคเบิลและดาวเทียมว่ามีมากถึง 70% ดังนั้นช่อง 3 จึงไม่ควรจอดำจากเคเบิลและดาวเทียม ซึ่งการอ้างดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ช่อง 3 กำลังจับคนดูเป็นตัวประกัน หลังจากนั้น ได้มีการประชุม กสท.เมื่อ วันที่ 5 ก.ย. แต่ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้การประชุมล่ม และนัดประชุมใหม่ในวันที่ 8 ก.ย. อย่างไรก็ตาม กสท. 3 คน ที่เข้าประชุมในวันที่ 5 ก.ย. ประกอบด้วย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ,พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ และ ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตภาษ์นันท์ ได้เปิดแถลงจุดยืนส่วนตัวต่อปัญหาช่อง 3 ว่า กสท.ต้องปฏิบัติตามมติเมื่อ วันที่ 1 ก.ย.ด้วยการออกคำสั่งทางปกครองแจ้งให้โครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมห้ามออก อากาศช่อง 3 อนาล็อก เนื่องจากไม่มีสถานะเป็นฟรีทีวีแล้ว และให้เคเบิลและดาวเทียมแจ้งผู้ชมทราบเป็นเวลา 15 วันว่าจะไม่สามารถรับชมช่อง 3 อนาล็อกได้อีก หลังการแถลงดังกล่าว ปรากฏว่า ช่อง 3 ไม่พอใจ จึงได้ส่งทนายไปฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 ก.ย.กล่าวหาว่า กสท. ทั้งสามคนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดย น.ส. สุภิญญาถูกกล่าวหามากสุด 3 ข้อหา คือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาท และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 18 ก.ย. 57 ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงกรณีที่ถูกช่อง 3 ฟ้องว่า อาจพิจารณา ฟ้องกลับ เนื่องจากเห็นว่าช่อง 3 มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะส่งทนายไปฟ้องก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ด กสท. จึงเห็นว่าการกระทำของช่อง 3 อาจเข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ภาคประชาสังคมจี้รัฐบาลบรรจุระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวในรัฐธรรมนูญ 7 กันยายน 2557 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จัดเสวนา ‘ระบบหลักประกันสุขภาพยุค คสช. ปฏิรูปอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเกี่ยวกับประเด็นหลักประกันสุขภาพอยาก ให้มีการใช้จ่ายเฉพาะคนยากจน นั่นแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ท่านยังมองครอบคลุมเฉพาะกรณีสงเคราะห์ผู้ยากไร้เท่านั้น ทั้งที่ความจริงสิ่งเหล่านี้คือสิทธิของประชาชนทุกคน จึงทำให้เราต้องลุกขึ้นมาเฝ้าจับตา เพราะหวั่นว่าจะมีบุคคลบางกลุ่มพยายามล้มหลักการสำคัญนี้ “เราอยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพมี มาตรฐานเดียว แต่จะรวมกองทุนต่าง ๆ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ อย่างไรก็ตาม หากรวมเป็นกองทุนเดียวกันได้ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ” ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าว และว่าในฐานะที่ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะทำทุกช่องทางให้เกิดขึ้น เพราะเราอยากเห็นทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติ ได้รับการดูแล น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อว่า แนวทางการปฏิรูปจึงควรบรรจุหลักการให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียว ไว้ในรัฐธรรมนูญ สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจัดการกับนโยบายที่อาจเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนรอบด้าน ด้าน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท ระบุถึงความเป็นห่วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ที่เข้ามาบริหารงานด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี ต้องพบกับข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ ระบบหลักประกันสุขภาพยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเตรียมทางออกไว้ โดยการปรับลดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ ส่วนหน่วยบริการต้องปรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริการมากขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง สธ.กับ สปสช. นั้น เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจาก สธ.ยังมีแผนเดินหน้าดำเนินการรวบอำนาจกลับคืน ยกตัวอย่าง การจัดตั้งเขตบริการสุขภาพ แต่ความจริงแล้วอยากให้หันกลับมาทบทวนภารกิจเดิมของตัวเองมีความเหมาะสมหรือ ไม่ เพราะปัจจุบัน สธ.มีงบประมาณอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ แต่กลับไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เช่น กรมสุขภาพจิตไม่นำผู้ป่วยทางจิตมารับการบำบัดอย่างเต็มที่ กรมควบคุมโรคยังไม่มีวิธีควบคุมโรคท้องถิ่นที่ดีพอ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบบริการฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินโยบายที่ดี แต่เกิดปัญหาในเชิงบริการจัดการมาก จึงเรียกร้องให้ สธ.ออกประกาศบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนยอมรับอัตราร่วมจ่ายกรณีฉุกเฉิน และต้องมีระบบสำรองเตียงนอนขั้นต่ำ 10% ให้กับผู้ป่วยทุกคนและเพิ่มตามสัดส่วนกำไรของโรงพยาบาล “เราได้รับจดหมายจากสภาผู้แทนราษฎรแจ้งกรณีประชาชนขอเข้าชื่อ 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายด้านการบริการสาธารณสุขไม่สามารถดำเนินการได้ แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกยกเลิก และยังไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคสช.นำเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยด้วย โดยทำอย่างไรให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย สำนักงานเขตบางซื่อช่วยเอาออกที !!!

เช้าวันที่ 11 มีนาคม  2557 คุณวิภาวรรณ ได้โทรศัพท์ร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเป็นผู้พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านประชาสุข ซอยประชาชื่น 33 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โดยตนและกลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างป้ายโฆษณาเหล็กขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้บริเวณหมู่บ้านประชาสุข ซอยประชาชื่น 33 ระหว่างซอยย่อยที่ 8 กับด่านเก็บเงินทางด่วนประชาชื่นขาเข้า กรุงเทพมหานครคุณวิภาวรรณ  ระบุว่า ป้ายโฆษณาเหล็กดังกล่าวนั้น ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง ก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่หรือใครที่เกี่ยวข้องเข้ามาแจ้งคนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงเลย ว่าจะมีการก่อสร้างป้ายโฆษณานี้ อยู่ดีๆ ก็มา สร้างๆ เสร็จก็ติดป้ายโฆษณาทันที โดยไม่สนใจเลยว่าคนแถวนี้จะคิดยังไง  ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปติดต่อใครยังไง ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของป้ายนี้ แล้วได้ขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่รู้หลังจากที่ป้ายสร้างเสร็จและเปิดให้โฆษณาแล้ว  คนในหมู่บ้านได้พยายามติดต่อไปที่สำนักงานเขตในท้องที่แล้ว  แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน นี่ก็ใกล้หน้าฝนแล้ว ตอนนี้กังวลว่าเกิดมีลมพายุแรงๆ พัดมา หากป้ายไม่แข็งแรงล้มหล่นลงมาจะรุนแรงแค่ไหน เกิดมีคนเจ็บคนตายใครจะมารับผิดชอบ คุณวิภาวรรณ จึงมาร้องเรียน เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา หลังการรับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้สอบถามรายละเอียดของที่ตั้งและลักษณะป้ายโฆษณา ก่อนนัดหมายลงพื้นที่ถ่ายรูป ดูสถานที่จริงของป้ายโฆษณานั้น  เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา ซึ่งพบว่า ป้ายโฆษณาเหล็กขนาดใหญ่ดังกล่าว  เป็นป้ายที่มีความยาวไม่เกิน 32 เมตร (วัดจากพื้นดิน) สูงไม่เกิน 30 เมตร เข้าข่ายเป็นป้ายโฆษณาที่มีลักษณะเป็นอาคาร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 และตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ต้องมีการขออนุญาตก่อนจะได้รับอนุญาตก่อสร้างได้จึงแนะนำให้คุณวิภาวรรณ ทำหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานเขตบางซื่อ พร้อมแนบเอกสารภาพถ่าย โดยขอให้สำเนาหนังสือร้องเรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักฐานด้วย  สำหรับในส่วนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ก็ต้องออกหนังสือถึงสำนักงานเขตบางซื่อเช่นกัน  ส่วนที่ต้องออกหนังสือด้วยนั้น ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่นในสำนักงานเขตว่าจะไม่แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคหรือไม่  แต่การออกหนังสือของมูลนิธิฯ เองก็ถือว่าเป็นการส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหากรณีนี้  และเพื่อการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ด้วย ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงออกหนังสือถึงสำนักงานเขตบางซื่อ เมื่อวันที่   11 เมษายน  2557  เพื่อขอให้ตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้างป้ายโฆษณานี้เช่นกันเวลาผ่านไปสามเดือน จนเมื่อวันที่  7  กรกฎาคม  2557  สำนักงานเขตบางซื่อ มีหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งผลการตรวจสอบป้ายโฆษณาว่า สำนักงานเขตบางซื่อได้ตรวจสอบป้ายโฆณษาดังกล่าวแล้วปรากฎว่า “ป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นป้ายที่ก่อสร้างโดยมิได้รับใบอนุญาต” และได้ออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อเปรียบเทียบปรับและแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายตามขั้นตอนต่อไปเห็นการทำงานของสำนักงานเขตบางซื่อแบบนี้แล้วต้องขอชื่นชม  ถึงจะใช้เวลานานไปหน่อย  แต่อย่างน้อยการร้องเรียนก็เป็นผล หน่วยงานก็ยังแลเห็นปัญหาของผู้บริโภค ที่เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ใช้อำนาจตามกฎหมายมีคำสั่งห้ามใช้อาคาร  ตามมาตรา 40  และมีคำสั่งให้รื้อถอน ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  ซึ่งโทษของการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานของถิ่นในกรณี  มีความผิด โทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวันละสามหมื่นบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนแต่เดี๋ยวก่อน เจอเข้าไปแบบนี้ ใครๆ ก็คิดว่าเรื่องจะจบ  แต่งานนี้ยังไม่จบง่ายๆ  หลังจากสำนักงานเขตมีคำสั่งห้ามใช้ป้ายโฆษณาดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเป็นป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย  เจ้าของป้ายก็ยังไม่ยุติการใช่ป้ายโฆษณาดังกล่าว  กลับยังใช้ป้ายเพื่อการโฆษณาหารายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเปิดทางให้ผู้ประกอบการบริษัทโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่งเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือบนป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และยังพบว่ามีป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันอีกด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีหนังสือถึงสำนักงานเขตบางซื่ออีกครั้ง เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้อย่างเร่งด่วนทันที  เพราะเล็งเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการเอกชนหรือเจ้าของป้ายผู้ให้เช่าสถานที่  ไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย กลับยังยิ่งฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง  สมควรที่หน่วยงานของรัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด  ซึ่งต่อจากนี้มูลนิธิฯและชาวบ้านผู้ร้องเรียนมีหน้าที่จะต้องร่วมกันจับตา ตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานเขตบางซื่อในครั้งนี้  ซึ่งหากมีความคืบหน้าในกรณีนี้ ผู้เขียนจะมาแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบอีกครั้งอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 “พรบ.ทวงหนี้” กฎหมายที่ลูกหนี้รอคอย

การกู้ยืมเงิน เพื่อการจัดซื้อสิ่งจำเป็นในชีวิต(บางสิ่งก็ไม่จำเป็น) เช่น ซื้อบ้าน เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ฯลฯ   สมัยนี้เป็นไปได้ง่าย เพราะมีทั้งสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจที่เสนอบริการเงินด่วน อันแสนง่ายดายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย ด้วยเงื่อนไขจูงใจ ทั้งจ่ายเงินคืนขั้นต่ำจากวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ฐานเงินเดือนที่ไม่สูงมาก    จ่ายน้อย ผ่อนนาน ฯลฯ ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดการใช้จ่ายเงินจาก บัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อหมุนเวียน กันเป็นจำนวนเงินมหาศาล บางคนก็ได้รับความสะดวกสามารถจ่ายคืนได้ปกติ แต่หลายคนได้เริ่มเข้าสู่สภาวะมีหนี้สินเกินตัวกันไปแล้วปัญหาหนี้สินที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้นั้นมีมากมาย  จนก่อให้เกิดอาชีพใหม่ คือ “การติดตามทวงหนี้”   พฤติกรรมของคนที่รับทวงหนี้มีหลากหลาย  ตั้งแต่  ทวงหนี้ทั้งวัน  โทรมาหาเจ้านายประจานหนี้   ข่มขู่ ว่าไม่ชำระจะต้องเข้าคุกเพราะโกงเจ้าหนี้  อ้างว่าเป็นตำรวจจะมาจับหากไม่ใช้หนี้  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง หรือใช้จดหมายที่เลียนแบบหมายศาลหลอกลูกหนี้  ฯลฯ  กลวิธีมีหลากหลายมากมาย  โดยเฉพาะการด่า หรือพูดจาหยาบคายดูหมิ่นเหยียดหยาม  เสมือนลูกหนี้ เป็น “อาชญากรของสังคม”ปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกหนี้แก่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง แต่ยังคงเป็นเพียงแนวปฏิบัติที่มิได้มีบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืน และไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ หรือการรับจ้าง หรือรับมอบอำนาจจากนิติบุคคลผู้ให้สินเชื่อดังกล่าว  อีกทั้งข้อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมการทวงหนี้มิได้ลดลงแต่อย่างใดในปีเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติรับหลักการเมื่อเดือนธันวาคม 2550 แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสุดสถานะลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาในเดือนกันยายน 2553 กระทรวงการคลังเสนอ ร่าง ร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าไปใหม่ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ  และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างระราชบัญญัติฯ  เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 จึงมิได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัตินี้ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้พิจารณาและจะนำเสนอ คสช. ให้ความเห็นชอบและบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับแรก  โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. ฉบับนี้แล้ว  โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ (ร่าง) พระราชบัญบัติการทวงถามหนี้ พ.ศ”สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ....1. ขอบเขตการใช้บังคับ- ผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งได้แก่ นิติบุคคลที่ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ นิติบุคคลที่รับซื้อ หรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด และบุคคลอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง- ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้- ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง3. การติดต่อกับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ทำได้เพียงสอบถามสถานที่ติดต่อลูกหนี้เท่านั้นโดยกำหนดวิธีปฏิบัติในการติดต่อกับบุคคลอื่น เช่น ผู้ทวงถามหนี้ต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ชื่อหน่วยงาน ไม่แจ้งความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ไม่ใช้ภาษา สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือหรือในสื่ออื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ ไม่ติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการทวงถามหนี้ ดังนี้4.1  วิธีปฏิบัติในการติดต่อกับลูกหนี้ผู้ทวงถามหนี้ต้องติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ ติดต่อในเวลา 9.00น. – 20.00น. แจ้งลูกหนี้ทราบถึงชื่อผู้ให้สินเชื่อและจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ แสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากผู้ให้สินเชื่อต่อลูกหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้วให้ผู้ทวงถาม ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้4.2 ข้อห้ามในการทวงถามหนี้ ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่น1) ไม่กระทำการในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น เสียดสีลูกหนี้หรือบุคคลอื่น เปิดเผยความเป็นหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึกหรือโทรสาร หรือใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ และทวงถามหนี้ในลักษณะอื่นตามคณะกรรมการประกาศกำหนด2) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการ ทวงถามหนี้โดยแสดงหรือใช้เครื่องหมาย เครื่องแบบหรือข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้ ทำโดยทนายความ สำนักงานกฎหมาย แสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกอายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต3) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หรือการเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้5. การกำกับดูแลผู้ทวงถามหนี้5.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 ท่าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร กฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละ 1 คน และเจ้าหน้าที่ สศค. เป็นฝ่ายเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ 3 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกันสศค. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ ประสานราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ให้สินเชื่อ ผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใด รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย6. บทกำหนดโทษ6.1 กำหนดแยกระหว่างการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับการกระทำผิด ที่ไม่ร้ายแรงให้แยกเป็นโทษทางปกครอง เช่น ติดต่อโดยไม่แจ้งชื่อ ที่มา ติดต่อนอกเวลา เรียกค่าธรรมเนียมเกินอัตรา และกรณีความผิดร้ายแรงให้แยกเป็นโทษอาญา โดยกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินกิจการฝ่าฝืน ปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสน6.2 โทษอาญา1) จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประกอบธุรกิจโดย ไม่จดทะเบียน เปิดเผยความเป็นหนี้กับบุคคลอื่น ใช้วาจาดูหมื่น เสียดสี จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค)2) จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เชื่อว่าเป็นการกระทำของทนายความ)3) จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ)7. บทเฉพาะกาลผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อยู่ก่อนวันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับ ให้ยื่นขอจดทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับลูกหนี้คงต้องตั้งตาคอยกันว่า  กฎหมายฉบับนี้จะคลอดเมื่อไร และจะคลอบคลุมพฤติกรรมของคนทวงหนี้ได้จริงหรือไม่  หวังว่า การพิจารณาร่างกฎหมายคงออกมาให้ลูกหนี้ได้ชื่นใจ สมกับคำที่ว่า   คสช. คืนความสุขให้กับคนไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ปลั๊กไฟรุ่นพิเศษ เสียบปุ๊บ ไฟดับปั๊บ...

คุณโสภา  ได้ซื้อปลั๊กไฟชนิดอย่างดียี่ห้อหนึ่ง จากร้านจำหน่ายที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็นปลั๊กไฟแบบ 5 ช่องเสียบ ยาว 4.5 เมตร  มา 1 อัน ในราคา 400 บาทเมื่อกลับมาถึงบ้าน  คุณโสภาได้หยิบปลั๊กมาเพื่อใช้งานทันที หลังจากเสียบปุ๊บ ทันใดนั้นไฟฟ้าทั้งชั้นก็ดับสนิท อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เปิดอยู่ เช่น ทีวี พัดลม คอมพิวเตอร์ ทุกอย่างดับหมด  แต่คุณโสภา ยังไม่อยากเชื่อว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมาจะเสีย ที่ไฟดับอาจเป็นเพราะพอดีการไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟก็ได้ คุณโสภาจึงไปขอทดลองเสียบปลั๊กไฟอีกครั้งกับบ้านอีกหลังหนึ่งในบริเวณเดียววัน เมื่อเสียบปุ๊บ ผลเป็นเช่นเดียวกัน คือ ไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นดับสนิท ทุกอย่างไม่สามารถใช้งานได้ คุณโสภาจึงรีบโทรศัพท์ไปที่ร้านเพื่อแจ้งว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมามีปัญหา แต่ร้านที่ซื้อบอกไม่เกี่ยวกัน ให้ไปติดต่อกับบริษัทเอาเองเจอแบบนี้ คุณโสภา มึนแปดด้านไม่รู้จะทำยังไง ปลั๊กก็เสีย ไฟก็ดับ จึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรียนที่มูลนิธิฯ แนวทางแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วง่ายมาก ตามสิทธิผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้ามาแล้วใช้งานไม่ได้ ผู้บริโภคก็ย่อมมีสิทธิได้เปลี่ยนสินค้าหรือได้เงินคืนกรณีนี้คุณโสภา สามารถนำสินค้าไปเปลี่ยนกับร้านที่ซื้อได้เลย แต่อาจจะมีปัญหาถกเถียงกันนิดหน่อย หากร้านที่ขายไม่ยอมให้เปลี่ยน อาจทำให้อารมณ์เสีย แต่ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาและไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ซื้อมาแล้วยังต้องเอาไปเปลี่ยน เพื่อความรวดเร็วจึงแนะนำให้กดโทรศัพท์ไปที่บริษัทผู้ผลิตปลั๊กไฟ ที่ระบุชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่กล่องผลิตภัณฑ์ เพื่อขอให้บริษัทส่งพนักงานเข้ามาตรวจสอบปลั๊กไฟที่ซื้อและระบบไฟฟ้าที่บ้านว่าเกิดจากสาเหตุใด หากมีความชำรุดเสียหายของอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า อันเกิดจากปลั๊กไฟที่ชำรุดเสียหายแล้วนำมาจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขหลังการแนะนำ คุณโสภาได้ทำตาม  และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน บริษัทได้ส่งช่างเทคนิคมาตรวจสอบปลั๊กไฟและระบบไฟฟ้าของบ้านทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าระบบไฟฟ้าของบ้านไม่มีปัญหา ช่างของบริษัทสามารถแก้ไขให้เป็นปกติเหมือนเดิมได้ แต่ในส่วนปลั๊กไฟที่ซื้อมานั้น ทดสอบแล้วพบว่ามีความชำรุดบกพร่องของสินค้าจริง บริษัทจึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการนำปลั๊กไฟตัวใหม่ที่ทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้มาให้แทน และขอนำปลั๊กไฟตัวปัญหากลับคืน เพื่อทดสอบหาสาเหตุต่อไปเรื่องเหมือนจะจบลงด้วยดี ถ้าคุณโสภาเป็นเพียงผู้บริโภคธรรมดาที่ไม่คิดมาก แต่คุณโสภา เข้าใจว่าปัญหาแบบนี้อาจเกิดได้กับทุกคนที่ซื้อปลั๊กไฟ และเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น จึงได้ขอสงวนสิทธิที่จะไม่ให้ปลั๊กไฟตัวปัญหาให้กับบริษัท แต่จะขอนำส่งให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ทดสอบหาข้อเท็จจริงของการชำรุดเสียหายของปลั๊กไฟนี้ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้การดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที กับการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทเช่นนี้ ทำให้คุณโสภา ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เกิดความสบายใจและไม่คิดจะ ซึ่งหากใครที่เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ ก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่า ปัจจุบันปลั๊กไฟ หรือปลั๊กพ่วง แบบต่างๆ ที่ขายกันในบ้านเรานั้น แท้จริงแล้ว มี มอก. เพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นมาตรฐานสายไฟ คือ มอก. 11-2531  หรือ มอก. 11 ที่เป็นสายไฟหุ้มฉนวนทองแดง PVC  เท่านั้น โดยที่ในส่วนที่เป็นรางปลั๊กไฟทั้งชุด มอก. ไมได้กำหนดมาตรฐานควบคุมไว้ ซึ่งการกำหนดให้มีมาตรฐานดังกล่าวของสายไฟดังกล่าว ทาง มอก.  ได้ออกเป็นมาตรฐานประเภททั่วไป ที่ไม่มีการบังคับ คือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าได้รับเครื่องหมายก็แสดงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆนั่นหมายความว่า ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่นำปลั๊กไฟมาขายนั้น ขอแค่มีสายไฟที่ถูกหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน มอก. ก็จะสามารถนำมาขายในประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็จะไม่บอกข้อมูลในส่วนนี้ให้ผู้บริโภคได้รับรู้กันด้วย บอกแค่ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้ มอก. เท่านั้นเท่านี้ ผู้บริโภคก็คิดกันไปเองว่า มอก. นี้คือ มาตรฐานของปลั๊กไฟทั้งชุด... อึ้งกันเลยใช่ไหมล่ะ !!!เจอแบบนี้ ผู้บริโภคก็คงต้องดูแลตัวเอง การเลือกใช้ปลั๊กไฟจึงควรพิจารณาในส่วนประกอบต่างๆ ของปลั๊กให้ดี ทั้งตัวปลั๊กเสียบ สายไฟฟ้าและวัสดุที่ใช้ทำรางปลั๊ก และอย่างน้อยก็ อย่าลืมมองหาปลั๊กไฟที่มีตรามาตรฐาน มอก. ในการพิจารณาเลือกซื้อ แม้จะมีมาตรฐานเฉพาะสายไฟอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและความปลอดภัยในการใช้งานนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กฎหมายคุ้มครอง “เจ้าหนี้”

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์มาบอกเล่าเช่นเคย โดยฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงกฎหมายเรื่องหนี้ที่น่าสนใจ โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวปัญหาจากชีวิตจริงของลูกหนี้และเจ้าหนี้  ซึ่งโดยปกติ เมื่อตกเป็นลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด  ทำให้แม้ตกเป็นลูกหนี้ ก็ยังสามารถโอน ขาย จำหน่ายทรัพย์สินของตัวเองได้  แต่หากมีลูกหนี้จอมขี้โกง ทราบดีว่าตนมีทรัพย์สินเพียงน้อยนิด ยังทะลึ่งไปโอนขายทรัพย์สินให้บุคคลอื่น และรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนี้ไป ตนเองจะมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เค้า แบบนี้ เจ้าหนี้ก็คงเสียเปรียบแย่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย ว่าเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้จะมีอะไรมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครบถ้วน กฎหมายก็มองเห็นความได้เปรียบเสียเปรียบของเจ้าหนี้ลูกหนี้ในเรื่องแบบนี้ จึงมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ขึ้น เรียกว่า “การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล (ของลูกหนี้)” อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 237 โดยมีสาระสำคัญว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย....” เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองเจ้าหนี้ให้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำให้ตนเสียเปรียบเท่านั้น การฟ้องไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้สิทธิอะไรมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลคือการทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับมาเป็นเช่นเดิม เช่น ลูกหนี้ทั้งตัวมีทรัพย์สินเพียงที่ดินอยู่หนึ่งแปลง หากโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้บุคคลอื่น  เจ้าหนี้จะเดือดร้อนเพราะไม่เหลือทรัพย์สินพอที่จะบังคับใช้หนี้  เมื่อลูกหนี้ขายที่ดินนี้ไปโดยรู้ดีว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม เพื่อให้ตนสามารถมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินแปลงนั้นได้  จึงเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 5207/2545 เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 คนที่เป็นเจ้าหนี้ แม้ยังไม่ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ก็มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือการที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น ต้องพิจารณาดูตัวผู้ทำสัญญากับลูกหนี้ด้วย ว่ารับโอนทรัพย์สินไปโดยสุจริตหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 5572/2552 จำเลยที่  1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยวางเงินมัดจำไว้ 100,000 บาท จากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท   เวลาต่อมา จำเลยที่ 1 กลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 5 เพื่อประกันหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวใช้หนี้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการการโอนดังกล่าว ซึ่ง ศาลฎีกาได้ตัดสินว่าการจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 5 รับจำนองโดยทราบดีว่าที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไว้แล้ว เพราะก่อนรับจำนอง จำเลยที่ 5 ไปดูที่ดินกับจำเลยที่1 ก็เห็นว่าที่ดินดังกล่าวกำลังมีการปลูกสร้างอาคารอยู่ และทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างย่อมรู้ดีว่าการจัดสรรที่ดินขายนั้น อาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะที่ดิน แล้วให้ผู้ซื้อปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเอง อีกทั้งยังทราบดีว่าที่ดินแปลงดังกล่าวที่ตนรับจำนองไว้เป็นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้เพื่อขาย การที่มีบ้านปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว เนื่องจากจำเลยที่5 รู้ว่าตัวจำเลยที่ 1 เองก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างบ้านก่อนแล้วจึงขายพร้อมที่ดินแปลงดังกล่าว อีกทั้งการรับจำนองและโอนที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้เป็นการดำเนินไปตามปกติ แต่เป็นการโอนจากหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างของจำเลยที่ 1 มาเป็นหนี้กู้ยืมเงินแล้วจดทะเบียนจำนอง ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เลย  พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่5 เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237  โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริตเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 การพัฒนาที่ต้องทบทวน

ไปประเทศอังกฤษเที่ยวนี้ เช่นเคยไม่พ้นภารกิจประชุมกรรมการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers  International) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภค 250 องค์กรใน 115 ประเทศทั่วโลก เป็นการประชุมวางแผนงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กรอีก 5 ปี ว่าจะมีบทบาทอย่างไรในทศวรรษที่ 21 การประชุมครั้งนี้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า จะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาหลายมาตรฐานของบริษัทข้ามชาติได้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การปฏิบัติของธนาคารที่มีสาขาทั่วโลกแต่คุ้มครองผู้บริโภคแตกต่างกัน หรือบริษัทอาหารไม่ยอมทำฉลากที่เข้าใจง่ายโดยใช้สีสัญญาณไฟจราจรในประเทศเยอรมนี ประเทศไทย และอีกหลายประเทศ แต่ทำเต็มที่ในประเทศอังกฤษ หรือมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ในยุโรปที่เข้มงวดกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยังผจญกับปัญหาความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ปัญหาชีวิตที่ไม่เท่ากันของผู้บริโภค ท้าทายองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก ว่าจะปรับตัวทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไรให้มีพลัง การประกาศเพียงอย่างเดียวว่า เราจะให้มี One Ban All Ban Policy ในประเทศอาเซียนหรือทั่วโลกไม่มีความหมายหากทำไม่ได้จริง พลังของผู้บริโภคจะช่วยสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร นอกจากเรื่องใหญ่ ยังได้เจอสิ่งเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ของผู้บริโภคทุกคน เพราะเกี่ยวข้องกับกระเป๋าผู้บริโภค คือปัญหาความไม่เป็นธรรมเรื่องราคาสินค้า เช่น ขนมปังปอนด์ขนาดใหญ่น้ำหนักมากกว่าบ้านเรา 2 ปอนด์ ราคาเพียง 50 บาท กาแฟที่ราคาพอๆ กับบ้านเรา กางเกงชั้นในผ้าฝ้ายอย่างดีที่บ้านเรา ราคาเกือบ 80 บาท  แต่ที่โน่นราคาเพียง 50 บาท ซึ่งสอดคล้องกับการทดสอบขององค์กรผู้บริโภคในเบลเยี่ยมที่พบว่า คนบราซิลต้องซื้อรถที่ผลิตในประเทศราคาแพง และคุณภาพแย่กว่ารถของตนเองที่ขายในยุโรป ทำให้คิดถึงรถญี่ปุ่นทุกยี่ห้อที่เราผลิตในประเทศไทย ว่าทั้งคุณภาพและราคารถเป็นแบบเดียวกันกับบราซิลหรือไม่ หรือที่พูดกันอย่างกว้างขวางและรณรงค์กันมากแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือเรื่องราคาน้ำมัน ที่เราใช้น้ำมันราคาสิงคโปร์บวก แต่ส่งออกในราคาสิงคโปร์ลบ  หรือเรามีต้นทุนเทียมอยู่ในราคาน้ำมันและสินค้าจำนวนมากในปัจจุบัน ในเมืองใหญ่ๆ ยังได้เห็นถนนที่มีเพียงสองเล็นเล็กๆ มีรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการตรงเวลา ฟุตบาทกว้างให้เดิน ทางจักรยาน และต้นไม้ เราคงไม่ต้องฝัน ถ้าอยากเห็นในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เห็นทีจะต้องช่วยกันคิดและทำร่วมกันทำ ก่อนมีถนนสี่เลนเต็มทั่วประเทศ ข้ามถนนต้องใช้สะพานลอยกันทุกจังหวัด ใกล้ปีใหม่ ฉลาดซื้อก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง สมาชิกและคนอ่าน แฟนฉลาดซื้อต้องการให้เราปรับตัวอย่างไร ช่วยกันแจ้งเข้ามา เพราะสังคม ประเทศ โลกเปลี่ยนทุกวัน แต่เราเปลี่ยนไปเพื่ออะไร ช่วยกันหาความหมายและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทำท่าจะเป็นหมันเมื่อเจอกฎเหล็กของคสช. ที่มีต่อสนช. ว่า กฎหมายที่สนช. มีสิทธิในการพิจารณาจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน หากย้อนไปพิจารณากฎหมาย 43 ฉบับที่ค้างท่อรอพิจารณา ซึ่งไม่มีร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผ้บริโภค และทั้ง 43 ฉบับก็เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งนั้น แต่สนช. บางคนก็ให้ข้อมูลว่า การเงินที่พูดถึงเป็นการเงินที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติ แต่ไม่ใช่การเงินที่เป็นอิสระ เป็นกองทุน ที่รัฐสภาไม่มีอำนาจในการอนุมัติวงเงิน ต้องจ่ายโดยไม่มีอำนาจใดๆ เป็นอิสระคล้ายๆ กับองค์การอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือไทยพีบีเอส ฟังดูแล้วเหมือนกับองค์การอิสระจะมีงบประมาณระดับพันล้านหรือหมื่นล้านบาทในการทำงาน แต่การกันเงิน 3 บาทต่อหัวประชากร ที่ถูกกำหนดไว้ในองค์การอิสระ หากคิดเป็นงบประมาณ ประมาณ  190 ล้านบาทต่อปี(บางคนบอกว่าน้อยกว่ามูลค่าห้องน้ำในรัฐสภาแห่งใหม่) การกันเงินเป็นเพียงหลักการเรื่องความอิสระขององค์กรนี้ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค และมีหลักประกันให้กับองค์กรว่า สามารถทำงานได้ไม่ว่ารัฐบาลจะชอบหรือไม่ชอบองค์กรนี้ ใดยต้องให้เงินองค์กรเพื่อผู้บริโภคนี้ขั้นต่ำ 190 ล้านบาทซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงิน 2.4 แสนล้านที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน หรือหากเทียบกับเม็ดเงินของกสทช. ที่วางแผนแจกกล่องดิจิตอลในตอนแรก 25,000 ล้านบาท   เรื่องการเงินเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งแต่อุปสรรคที่สำคัญกว่า คงเป็นปัญหาจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ไม่ยอมเสนอกฎหมายฉบับนี้ แถมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษว่า กฎหมายฉบับนี้ซ้ำซ้อนกับสคบ. 80% หากเป็นจริงคงไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ 2550 เพราะองค์การนี้ทำหน้าที่ให้ความเห็นหรือเสนอนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องคดี และตรวจสอบการทำงานของสคบ. ว่าสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หากจะซ้ำซ้อนก็คงมีเพียงการสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้กับผู้บริโภค ซึ่งยิ่งทำกันมากยิ่งเกิดประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภค การปฏิรูปครั้งนี้จะไม่ถึงฝั่ง หากไม่มีการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มเครื่องมือให้กับประชาชน ต้องจัดทำกฎหมายที่ให้อำนาจประชาชน ดำเนินการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่างเฝ้ารอมามากกว่า  16 ปี ประเทศนี้ไม่ได้ขาดแคลนเงิน แต่ขาดคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการแก้ปัญหาประเทศมากกว่าอำนาจของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เตรียมพร้อมให้ดี...อย่าให้ผีมารังควาน

ยุคนี้เหมือนยุคทองของพลเมืองดี ผู้บริโภคหลายรายเมื่อพบเห็นการถูกละเมิดสิทธิจากสินค้าต่างๆ เช่น พบสินค้าหมดอายุหรือไม่ได้คุณภาพ มักจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย แต่พบว่าผู้บริโภคหลายรายที่พยายามจะเป็นพลเมืองดีกลับถูกผู้ประกอบการที่กระทำผิดย้อนกลับมาข่มขู่ อันที่จริงการข่มขู่เจ้าหน้าที่หรือประชาชน จากผู้ประกอบการที่กระทำผิดมีมานานแล้ว มีหลายรูปแบบ เริ่มต้นอาจแค่ให้คนอื่นมาโน้มน้าวให้ยุติเรื่องโดยมาคุยโดยตรง หรือมาคุยกับคนใกล้ชิดแทน หรือไม่ก็ส่งจดหมายหรือโทรศัพท์มาข่มขู่ มาด้อมๆ มองๆ ให้เห็นเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว หรืออย่างรุนแรงถึงขนาดใช้กำลังประทุษร้ายหรือไปแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทก็โดนกันมาแล้ว น้องๆ เภสัชกร ที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ก็โดนกันหลายราย “ถ้าเป็นแบบนี้ผู้บริโภคที่พร้อมจะเป็นพลเมืองดีจะทำอย่างไร?” “หากตั้งใจจะทำดี อย่าหวั่นไหวครับ” แต่สิ่งแรกที่เราต้องยึดให้แม่นคือ “ข้อมูลที่เราได้พบเห็นหรือรับรู้มานั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง” หลายครั้งที่พลเมืองดีได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แล้วผลีผลามรีบไปดำเนินการ กว่าจะรู้ว่าข้อมูลที่ได้มานั้น มันมีส่วนจริงบ้างไม่จริงบ้างก็ถลำลงไปเยอะแล้ว อันดับแรกขอให้ตรวจสอบให้ชัดว่า ผลิตภัณฑ์อะไร เกิดกับใคร เกิดอันตรายอย่างไร ถ้ารู้จักกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยิ่งดี ให้เขาช่วยกันตรวจสอบให้ชัดว่าอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมันมาจากผลิภัณฑ์นี้จริงหรือไม่ และพยายามรักษาสภาพเดิมของสินค้าให้มากที่สุด เผื่อบางทีเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ เจ้าของสินค้าเขาจะอ้างไม่ได้ว่ามีการสลับเปลี่ยนตัวอย่าง (หรือหากจะส่งพิสูจน์เองควรให้มีเจ้าหน้าที่หรือคนกลางเป็นพยานรับรู้เห็นด้วย) โดยปกติ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลและพบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ อาจจะเกิดอันตราย ก็จะออกประกาศเตือนภัยให้ประชาชนรู้ แต่ผู้บริโภคบางรายหากอยากจะเตือนประชาชนด้วยตัวเองก็สามารถกระทำได้ แต่ขอให้เป็นการแจ้งข้อมูลเพื่อเตือนภัยจากสิ่งที่ตนเองพบ โดยอาจใช้ข้อความในลักษณะว่า “พบผลิตภัณฑ์สินค้าที่แสดงฉลากแบบนี้” ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือพบว่าทำให้ได้รับความเสี่ยงหรืออันตราย พยายามเลี่ยงข้อความที่ไประบุว่า “ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นทั้งหมด” มันเลวหรืออันตราย เพราะข้อมูลที่พบคือสิ่งที่เราเจอตรงหน้าเท่านั้น “หากเป็นพลเมืองดีแล้วโดนขู่” ขอให้ตั้งสติให้ดี ระลึกไว้เสมอว่าผู้ผลิตสินค้าที่ผิดกฎหมายมักไม่กล้าแสดงตัว เพราะหากแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เมื่อไร ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแน่นอน เมื่อตั้งสติได้แล้ว ขอให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน พร้อมทั้งเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าที่น่าจะเป็นมูลเหตุที่ทำให้ถูกขู่ไปด้วย เพื่อจะได้มีการบันทึกข้อมูลให้เห็นความเชื่อมโยงกัน หลังจากนั้นให้ไปแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทราบด้วย (เช่น โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่หากไม่ประสงค์จะแสดงตัว จะฝากคนอื่นๆ ไปแจ้งข้อมูลแทนตนเอง ขอให้มีข้อมูลที่ละเอียด ชัดเจนครบถ้วน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ให้กำลังใจพลเมืองดีทุกคนครับ “ถ้ามั่นใจในเจตนาดี อย่าให้ผีมารังควาน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 Google Translate ตัวช่วยแปลภาษา

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับชาวต่างชาติบินตรงมาจากสหรัฐอเมริกา ต้องสปีค ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ กันตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินข้าว คุยงาน ทำกิจกรรมทุกอย่าง คงเดากันได้ใช่ไหมคะ ว่าความวุ่นวายสำหรับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง จะมีมากมายแค่ไหน บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยมากค่ะ บางท่านอาจจะกำลังคิดว่าทำไมไม่หาคนแปลมาช่วย ถูกค่ะ เราหาคนมาช่วยแปลแน่นอน แต่ในบางช่วงเล็กๆ น้อยๆ เราก็ต้องสื่อสารด้วยประโยคภาษาอังกฤษไปบ้างเช่นกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องหา Talking Dict มาเป็นตัวช่วย แต่กว่าจะหาซื้อ กว่าจะกดแต่ละตัวอักษร คงไม่ได้คุยกันแน่  ดีว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยเราได้มาก แค่ยกสมาร์ทโฟนกดค้นหาแอพพลิเคชั่นสำหรับแปลภาษาก็ช่วยได้มากทีเดียว แอพพลิเคชั่นนี้เป็นที่รู้จักกันดี เป็นของ Google หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้โปรแกรมช่วยแปลภาษาบน Google มาบ้างแล้ว แอพพลิเคชั่นได้ย่อมาไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน  แอพพลิเคชั่นมีชื่อว่า Google Translate แอพพลิเคชั่น Google Translate  สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีบนสมาร์ทโฟน ภายในแอพพลิเคชั่นมีภาษาครอบคลุมมากกว่า 70 ภาษา ขั้นตอนแรกต้องเลือกภาษาที่ต้องการป้อนและภาษาที่ต้องการให้แปลออกมา จากนั้นจะมีวิธีการป้อนคำต่างๆ ได้ 3 วิธี วิธีที่ 1 สามารถพิมพ์ในรูปแบบคีย์บอร์ดปกติ วิธีที่ 2 สามารถกดรูปเส้นด้านขวามือ เพื่อให้มือเขียนเป็นคำที่ต้องการได้เลย และทางแอพพลิเคชั่นจะอ่านข้อความที่เขียนนั้นอัตโนมัติ และวิธีที่ 3 ระบบเสียง ให้กดรูปไมโครโฟนแล้วพูดเป็นเสียง เพื่อให้แอพพลิเคชั่นจับคลื่นเสียงแล้วอ่านเป็นข้อความให้อัตโนมัติ เมื่อแปลภาษาเรียบร้อยแล้ว ด้านหลังประโยคที่แปลจะมีสัญลักษณ์รูปลำโพง สามารถกดเพื่อให้แอพพลิเคชั่นอ่านออกเสียงให้ฟังได้ด้วย  นอกจากนี้ Google Translate  ยังเก็บข้อมูลที่เคยมีการแปลไว้ให้ด้วย เพื่อช่วยเก็บบันทึกการแปลภาษา เพื่อเอาไว้ใช้งานภายหลัง ข้อสังเกตอันหนึ่งสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ ไม่แนะนำให้แปลประโยคยาวๆ เนื่องจากการแปลประโยคที่ซับซ้อนของ Google ยังได้ผลไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่สามารสรุปใจความได้ในระดับพอใช้ อย่างน้อยแอพพลิเคชั่น Google Translate ก็ช่วยให้ความไม่เข้าใจในภาษาอังกฤษบางคำ เปลี่ยนมาเป็นสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้พอสมควร แค่นี้ก็ทำให้รู้สึก ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ ได้คล่องขึ้นมานิดนึงล่ะ

อ่านเพิ่มเติม >