ฉบับที่ 165 ข้าวมันไก่

เมนูนี้เรียกว่า ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะแม้จะหากินได้ง่ายแต่ที่จะอร่อยถูกอกถูกใจนั้นกลับมีไม่มากเพราะต้องครบเครื่องทั้งข้าวหอมนุ่มไม่แฉะ เนื้อไก่ที่ไม่แห้ง น้ำจิ้มกลมกล่อมและน้ำซุปที่ชุ่มคอ ข้าวมันไก่มีต้นกำเนิดบนเกาะไหหลำ จีนกลางออกเสียงว่า “ไห่หนาน” เป็นเกาะทางตอนใต้ของประเทศจีนบนเกาะไหหลำนั้นมีไก่สายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีรสชาติดี เนื่องจากว่าบรรดาไก่ๆ ทั้งหลายได้กินพืชพรรณ ตามธรรมชาติอันวิเศษบนเกาะแห่งนี้ เนื้อของมันจึงมีรสชาติหวานไม่เลี่ยน ชาวไหหลำก็นิยมรับประทานไก่แบบง่ายๆ แค่เพียงไก่ต้มธรรมดากับข้าวที่หุงด้วยน้ำต้มไก่และชูรสด้วยน้ำจิ้มที่ออกเปรี้ยวนิดเผ็ดหน่อยจากพริกและขิง เท่านี้ถือว่าเป็นที่สุดของความอร่อยแล้ว เมื่อมีเหตุให้ต้องอพยพหนีตายจากสงครามช่วงปฏิวัติใหญ่ในจีน ชาวไหหลำเอาตำรับอาหารนี้ติดตัวมาด้วยข้าวมันไก่จึงกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อทั้งความอร่อยและหากินง่ายในทุกประเทศที่ชาวไหหลำได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย โดยมีการปรับแต่งสูตรไปบ้างตามสิ่งแวดล้อมใหม่ ข้าวมันไก่ของแท้คงต้องไปกินที่เกาะไหหลำ คนจีนเรียก “ไห่หนานจีฟ่าน” ที่สิงคโปร์จัดให้ข้าวมันไก่เป็นอาหารประจำชาติเรียกว่า “Hainanese Chicken Rice” ซึ่งว่ากันว่าจะไปให้ถึงสิงคโปร์ได้ ต้องกินข้าวมันไก่ของที่นั่น ความต่างของข้าวมันไก่ไทยกับสิงคโปร์อยู่ตรงที่น้ำจิ้ม บ้านเราเป็นน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวผสมขิงและพริกสด แต่ที่สิงคโปร์จะเป็นน้ำจิ้มสามแบบ คือแบบเปรี้ยวหวาน(สีส้มๆ) เค็มและซีอิ๊วดำ ซึ่งจะมีขิงแยกให้เติมต่างหากเพิ่มความเผ็ดร้อน เวลาเสิร์ฟจะมาพร้อมผักที่เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าแตงกวาหั่นสองสามชิ้นอย่างบ้านเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต ซึ่งความจริงแล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ของไทยได้เลียนแบบจากมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายแพ่งสวิสเซอร์แลนด์ มาตรา 2 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิก็ดี ในการปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ทุกคนจะต้องกระทำการโดยสุจริต การใช้สิทธิไปในทางที่ผิดอย่างชัดแจ้งย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คำว่า “สุจริต” เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้และเป็นนามธรรม ไม่มีความหมายทางเทคนิคหรือคำจำกัดความตามบทบัญญัติกฎหมายแต่ประการใด จึงต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป สำหรับบทความฉบับนี้เป็นเรื่อง สหกรณ์การเกษตรแห่งหนึ่งเป็นโจทก์ จำเลยเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดังกล่าวได้กู้เงินจากสหกรณ์ฯ โดยใช้บุคคลค้ำประกัน จำเลยค้างชำระหนี้มาตั้งนานจนขาดอายุความไปแล้ว โจทก์เอาเงินปันผลค่าหุ้นของจำเลยมาชำระหนี้เงินกู้บางส่วนเพื่อเป็นการรับสภาพหนี้มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง แล้วมาฟ้องจำเลยและผู้ค้ำประกันต่อศาล ผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6665/2556 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้วันที่ 31 มีนาคม 2534 โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 แต่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้โจทก์วันที่ 25 มกราคม 2539 จำนวน 5,398 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี ในวันที่ 25  มกราคม 2549 การที่โจทก์นำเงินปันผล 130 บาท และ 75 บาท ของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 และวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ตามลำดับ แม้จะเป็นการทำตามระเบียบของสหกรณ์โจทก์ แต่ก็เป็นการชำระหนี้โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นด้วย เป็นการกระทำของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังเป็นการกระทำหลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายโดยโจทก์ปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 6 และ 8 ปี พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่โดยอ้างระเบียบของสหกรณ์เป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง เช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำจึงถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ดังนั้นการที่โจทก์นำเงินปันผลของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้บางส่วน แม้จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยทั้งสามยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยนั้นหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุผู้เขียน คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2547 , 1687/2551 ซึ่งเป็นเรื่องธนาคารนำเงิน 6.68 บาทจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ไปถึง 2 ปีเศษและคิดดอกเบี้ยกับค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้รับ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กล่องโฟม เลิกได้ไหม

ทำดีต้องชม     ก่อนอื่นขอชื่นชมการทำงานของ อย.  ณ  ยุคสมัยนี้  ที่กล้าหาญ  ออกมาประกาศชื่อสินค้าไม่ปลอดภัยกว่า 20  รายการ  นับว่ามีกระบวนการพัฒนาการทำงานที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง   แต่ปัญหาเรื่องอาหารปลอดภัย  ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่รอการแก้ไขทั้งการโฆษณาหลอกลวง ทั้งกระบวนการผลิต ที่ผู้ผลิตขาดความรู้ความเข้าใจและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคโดยที่ผู้ผลิตเองก็มิได้ตั้งใจต้นเดือน พฤศจิกายน  2557  ผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมประชุมกับเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ๆกับกรุงเทพฯ  น้องๆ บอกว่า  วันนี้อาหารว่างเป็นขนมไทย(อุ้ยดีใจ..ของชอบของเราเลย) ถึงเวลาน้องๆ ก็เอาขนมมาเสิร์ฟ    เห็นแล้วว่าเป็นขนมตะโก้เผือกอยู่ในกล่องโฟม   ไม่ทันดูให้ละเอียดตักกินเลย   คำแรกถึงกับอึ้ง  เพราะขนมที่กินเข้าไป กลิ่นโฟมฉุนมาก  เลยก้มไปดูในกล่อง   บอกตรงๆ เห็นแล้วตกใจ  เพราะไม่ใช่ขนมชิ้นๆ ตักใส่กล่องมาอย่างที่เคยเห็น    แต่เป็นการเอาขนมใส่นึ่งมาในกล่องเลยเราเชื่อว่าแม่ค้าคงเน้นความสะดวกเป็นหลัก  คงไม่ทันนึกว่าทำเช่นนี้ จะเกิดอันตรายต่อคนกินอย่างไร     แต่เรื่องนี้ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภค  เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องออกมาเตือนกัน   ไม่อย่างนั้นจะเกิดวัฒนธรรมเลียนแบบ   และจะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนกินในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ งานนี้บอกตรง   หากใครจะใช้สิทธิ ร้องเรียน  น่าลำบากมากในการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาดูแล  เพราะไม่รู้หน่วยงานไหนกันแน่ที่ดูแลเรื่องนี้     ถ้าเป็นอาหาร(ในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป มีหีบห่อ) ก็รู้อยู่ว่า   อย. ดูแล  แต่ถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์(ที่เป็นโฟม) สมอ. และ สคบ. ดูแล   แต่พอเอาอาหารมาใส่กล่องโฟม  เลยยุ่งๆ ไม่รู้ใครกันแน่ที่ต้องดูแลเรื่องนี้  เอาเป็นว่าหน่วยงานไหนก็ได้ ช่วยออกมาส่งเสียงเตือนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค   ถึงอันตราย  ที่เรามองเห็นแต่ “ไม่รู้” ให้ได้รู้เพื่อป้องกันต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กระแสต่างแดน

บำบัดแบบโมบายผู้ประกอบการให้บริการแท็กซี่ Taxi Stockholm ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแท็กซี่ และพบว่ากว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าบอกว่า ช่วงเวลาการนั่งแท็กซี่เป็นเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดอะไรต่ออะไรไปเรื่อย แล้วก็เล่าให้คนขับฟัง เขาเลยเชื่อว่าน่าจะส่งนักจิตบำบัดออกไปนั่งประจำในรถแท็กซี่ เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ใช้บริการที่อยากได้ใครสักคนคุยด้วยขณะนั่งรถเสียเลย โดยเขาจะทดลองให้บริการนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์  ซึ่งเขาคาดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดีในเมืองที่ทั้งหนาว ทั้งขาดแสงอาทิตย์อย่างสต็อกโฮล์ม ในช่วงปลายปีอย่างนี้ มีอา ฟาเลน หนึ่งในนักจิตบำบัดในโครงการนี้บอกว่า เธอรับงานนี้เพราะรู้สึกว่ามันท้าทายและน่าจะทำให้เธอได้พบกับโจทย์การทำงานใหม่ๆ แต่กระนั้นเธอบอกว่า พอจะเดาได้ว่าผู้คนในเมืองนี้คงมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือโรคเหงากำเริบ เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่อยู่คนเดียว คนจากประเทศอื่นที่เข้ามาทำงานหรือมาใช้ชีวิตในเมืองนี้ก็มีปัญหาในการปรับตัวเช่นกัน เธอบอกว่าที่นี่อยู่ยาก เพราะคนสวีเดนเขาเงียบเฉยมากๆ เลยนะจะบอกให้ การโทรเรียกแท็กซี่บำบัดนั้น ถูกกว่าการไปพบนักจิตบำบัดที่คลินิก ซึ่งปกติมีค่าบริการครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และที่สำคัญในช่วงเวลาแค่ 10 นาทีบนรถ นักจิตบำบัดก็รู้ถึงปัญหาและสามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วย เอ้ย ... ผู้โดยสารให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทัศนคติบางอย่างให้ชีวิตดีขึ้นได้ แท็กซี่ สต็อกโฮล์ม ยืนยันว่าความลับจะไม่รั่วไหล เพราะคนขับเขาเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้แล้ว สปาไม่น่าปลื้ม เรื่องร้องเรียนต่อธุรกิจสปาและธุรกิจเสริมความงามในสิงคโปร์ก็มีมากไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน ข่าวบอกว่าความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าวยังไม่เป็นผล สองปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนกว่า 2,000 เรื่อง แต่ตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีผู้บริโภคอีกมากที่ยังไม่ได้มาร้องเรียนกับ CASE (Consumers Association of Singapore) หรือสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ แต่ที่แน่ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกรณีร้องเรียนถึง 227 กรณี (เทียบกับ 199 กรณีในปีที่แล้ว) และเรื่องที่ร้องก็หนีไม่พ้นเทคนิคการขายแบบ “ฮาร์ดเซล” ที่ลูกค้าจะต้องถูกต้อนเข้ามุมให้ซื้อบริการ คุณภาพงานบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไปจนถึงการปิดกิจการลงไปเฉยๆ ข่าวบอกว่า ปัญหาหลักๆ มาจากระบบการขึ้นทะเบียนพนักงานผู้ให้บริการ ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง เนื่องจากสถานประกอบการจะต้องขึ้นทะเบียนพนักงานก่อน จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจากตำรวจ แต่การปฏิบัติตามกฎดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ และการกำกับดูแลค่อนข้างหละหลวม กิจการที่ไม่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างจึงยังเปิดกันได้ทั่วไป และถ้าถูกจับได้ก็เสียค่าปรับแค่ประมาณ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 25,000 บาท) เท่านั้น น้ำฟรีต้องมีบ้างนักการเมืองพรรคสังคมนิยมของสวิสเซอร์แลนด์ กำลังผลักดันกฎหมายใหม่ ห้ามไม่ให้ร้านอาหารคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย เพราะเปิดมากจากก๊อกน้ำ ปัจจุบันมีบางร้านคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งทำให้ลูกค้าก็รู้สึกไม่คุ้ม จะเสียเงินทั้งทีขอสั่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มรสหวานแทนดีกว่า (ซึ่งไม่น่าจะดีต่อสุขภาพเท่าการดื่มน้ำเปล่า) ด้านสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ยืนยันว่าให้แต่ละร้านมีสิทธิตัดสินใจเองดีกว่า เพราะปัจจุบันมีบางร้านที่ต้องทำอย่างนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เขายกตัวอย่างร้านพิซซาแห่งหนึ่ง ที่ต้องพึ่งพารายได้จากเครื่องดื่มถึงร้อยละ 75 และทางร้านก็คิดค่าน้ำเปล่าเหยือกละ 85 บาทเท่านั้น แถมยังยกเว้นให้กับนักเรียน นักศึกษาด้วย ตามธรรมเนียมของร้านอาหารในเมืองเจนีวานั้น ถ้าคุณอยากได้น้ำธรรมดา ต้องบอกเขาให้ชัดๆ มิเช่นนั้นทางร้านจะถือว่าคุณต้องการน้ำแร่บรรจุขวด ไม่ต้องรู้สึกอายใครที่จะสั่งน้ำธรรมดาที่ไขมาจากก๊อก เพราะบริษัท SIG ผู้จัดหาแก๊ส ไฟฟ้า และน้ำประปาให้กับประชากรเมืองนี้เขายืนยันว่า น้ำของเขาซึ่งได้จากทะเลสาบเจนีวานั้นคุณภาพดีกว่าน้ำแร่ด้วยซ้ำ  เสี่ยงทั้งภูมิภาค ถ้าถามผู้คนในละตินอเมริกาว่ากลัวอะไรมากที่สุด จะได้รับคำตอบว่ากลัวโดนปล้น โดนฆ่าโดยแก๊งค์โจร แก๊งค์ค้ายาเสพติด แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่าในอุรุกวัย (ซึ่งเป็นประเทศที่จัดว่าปลอดภัยที่สุดในละตินอเมริกา) ความเป็นไปได้ที่จะประสบอุบัติเหตุทางถนนมีมากกว่าการถูกปล้นด้วยซ้ำ ในอาร์เจนตินา อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนอายุต่ำกว่า 32  ในขณะที่ “รถเมล์นรก” ก็มีอยู่เต็มท้องถนนในเมืองลิมาประเทศเปรู และรถเก่าๆ ทั้งจากอเมริกาและรัสเซียตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่ยังถูกใช้อยู่ในคิวบา ก็มีส่วนเพิ่มอัตราการเกิดอุบัติเหตุไม่น้อย ในการากัส เมืองหลวงของเวเนซูเอล่า กว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็คือผู้โดยสารที่ใช้บริการ “โมโตแท็กซี่” (คล้ายกับพี่วินที่บ้านเรา ต่างกันตรงที่เขานิยมนั่งซ้อนมากกว่าหนึ่งคน บางทีมากันทั้งครอบครัวพร้อมสัมภาระ และไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคอีกต่างหาก) สัญญาณไฟจราจรที่นี่ไม่มีความหมาย ไม่มีใครเคารพการจำกัดความเร็วหรือชะลอเมื่อถึงบริเวณทางม้าลาย สิทธิของคนเดินเท้าในภูมิภาคนี้เรียกได้ว่าตกต่ำถึงขีดสุด แม้อุบัติเหตุจากการจราจรจะสูงกว่าอาชญากรรมนั่นคือ ในประชากร 100,000 คนจะมี 16 คนที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน (อ้างอิงสถิติปี 2013) แต่ประชากรในภูมิภาคนี้เขาก็ยังไม่นับความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่นั่นเอง ขอหักมุมมาที่ประเทศไทยบ้าง สถิติของเราคือ 38.1 คนต่อประชากร 100,000 คน (สถิติปี 2010) หนักหนากว่าเขาอีกนะนี่ ...  ประหยัดเกินจริงฮุนได มอเตอร์ และเกีย มอเตอร์ ถูกศาลสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 300 ล้านเหรียญ โทษฐานที่แจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันเกินจริงในรถกว่า 1,200,000 คัน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืน “กฎหมายอากาศสะอาด” ของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาสองบริษัทนี้โฆษณาว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่วิ่งได้ไกลกว่ารถยนต์ของคู่แข่งด้วยน้ำมันในปริมาณเท่ากัน แต่ในปี 2012 ทั้งฮุนไดและเกียซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทแม่ ฮุนได มอเตอร์กรุ๊ป ออกมายอมรับว่าตนเองแจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันสูงเกินจริงในรถที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีก่อนหน้านั้น (แจ้งพลาดไปถึง 6 ไมล์ต่อแกลลอน)การยอมรับนี้เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม (EPA) เข้ามาตรวจสอบเนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า รถที่ซื้อไปไม่เห็นจะวิ่งได้ไกลเท่าที่แจ้งไว้บนสติ๊กเกอร์บนกระจกรถเลย บริษัทออกมาขอโทษในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทดสอบที่ทำขึ้นกับรถฮุนได อิลันทรา และเกีย ริโอ กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ผู้ผลิตจะต้องทดสอบอัตราการใช้เชื้อเพลิงของรถแต่ละรุ่น และติดสติ๊กเกอร์แสดงให้ผู้บริโภคได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ  ที่ผ่านมาบริษัททำการทดสอบทั้งหมดในประเทศเกาหลี แต่คำตัดสินของศาลระบุว่า ต่อไปนี้การทดสอบจะต้องทำในห้องปฏิบัติการในสหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อทดสอบการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉพาะ คำตัดสินนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงอุตสาหกรรมรถโดยรวม และเป็นก้าวสำคัญที่จะควบคุมให้รถรุ่นต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามที่โฆษณา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าธุรกิจที่เล่นตามกฎกติกาไม่ควรจะต้องมาแข่งขันในเกมเดียวกับธุรกิจที่ละเมิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์พฤศจิกายน 2557 ห้ามจำหน่าย “ภาชนะปนเปื้อนสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์” คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ได้มีคำสั่ง ห้ามจำหน่าย "ภาชนะหรือเครื่องใช้สำหรับบรรจุหรือสัมผัสอาหารที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์" หลังจากพบข้อมูลยืนยันชัดเจนแล้วว่า สารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งสามารถละลายออกมาปะปนในอาหาร เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็เคยทดสอบการแพร่กระจายออกมาของฟอร์มาลดีไฮด์ จากกลุ่มตัวอย่างเมลามีนปลอม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้ พบสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง เมื่อทดสอบตามอุณหภูมิใช้งานที่ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง และเมื่อทำการทดสอบ โดยใช้ตัวแทนอาหารที่เป็นสารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้ม ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำหรือแกงส้มร้อนๆ พบฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาเกินค่ามาตรฐาน 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร 38 ตัวอย่าง ภาชนะที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะที่นำเข้าจากต่างประเทศ วางขายตามตลาดนัดมีสีมันฉูดฉาด ไม่มีการแจ้งผู้ผลิตหรือชนิดของพลาสติกที่ใช้ผลิต “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” ฟอกฟันขาวได้จริงหรือ? อะไรที่ถูกแชร์ส่งต่อกันทางโลกออนไลน์ ต้องฟังหูไว้หู อย่าได้เชื่อตามทันที อย่างกรณีล่าสุด ที่มีการส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ว่า “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” นำมาฟอกฟันให้ขาวขึ้นได้ งานนี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย จึงต้องออกมาไขข้อข้องใจ ว่าเรื่องนี้จริงเท็จประการใด การทำฟันขาวด้วยมะนาวผสมเบกกิงโซดา หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต ถือเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากน้ำมะนาวมีความเป็นกรดสูงจะละลายแคลเซียมออกจากผิวฟัน ทำให้ฟันกร่อน และกรดจากมะนาวยังระคายเคืองเหงือกอาจทำให้เหงือกอักเสบได้ เมื่อเคลือบฟันกร่อนทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา และการที่เคลือบฟันถูกทำลายจะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายอีกด้วย ส่วนเบคกิงโซดาเป็นสารที่มีความสามารถในการทำความสะอาด จึงสามารถกำจัดคราบต่างๆ ที่ติดบนผิวฟัน รวมถึงคราบสีจากการดื่มน้ำชา กาแฟ จึงทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ฟันขาวจากเนื้อฟันข้างในได้ ผู้ที่มีเหงือกอักเสบและเสียวฟันอยู่แล้วไม่ควรนำวิธีนี้มาใช้เพราะอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ผู้ที่จัดฟันไม่ควรใช้เบคกิงโซดาขัดฟัน เพราะจะทำให้กาวยึดเครื่องมือจัดฟันอ่อนตัวและหลุดได้   อย.เชือด!!! “ครีมมหัศจรรย์” Firmax 3 อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อหลงใช้ผลิตภัณฑ์ Firmax 3 ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นครีมมหัศจรรย์ ใช้ทาตรงจุดชีพจร สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน ริดสีดวงทวารหนัก อัมพฤต-อัมพาต ฯลฯ หลังทำการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หลักจากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ Firmax 3 เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พบมีแหล่งกระจายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแห่งใหญ่อยู่ที่โคราชและหาดใหญ่ มีการจำหน่ายในลักษณะขายตรง ตัวสินค้าเองมีลักษณะเป็นเครื่องสำอางแต่กลับอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค อย.จึงได้ดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าที่จำหน่ายและผู้ที่นำเข้า หากผู้บริโภคคนไหนพบเห็นผลิตภัณฑ์ Firmax 3 หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรืออาหารเสริมที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงหรือแจ้งสรรพคุณว่ามีผลต่อการรักษาโรค สามารถแจ้งไปยัง อย.ให้ทำการตรวจสอบและเอาผิดได้ทันทีที่ สายด่วย อย. 1556   ส้มจีนมีใบ คือส้มผิดกฎหมาย? รู้หรือมั้ยว่า? ส้มจีนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด หากมีใบติดมาที่ผลส้มด้วยอาจเป็นส้มที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เพราะล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า ส้มจีนที่มีใบติดมาห้ามนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพราะเสี่ยงโรคและแมลงศัตรูพืช หากพบมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีการนำส้มจีนที่มีใบติดเข้ามาจำหน่ายในไทยแบบผิดกฎหมาย เพราะขายได้ราคาดีกว่าส้มไม่มีใบ ซึ่งส้มจากจีนจะสามารถนำเข้ามาประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายต้องมาจากสวนหรือโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรอง มีใบรับรองสุขอนามัย และต้องไม่มีกิ่ง ก้านใบ ดิน ติดเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่สร้างความเสียหายต่อระบบการเกษตร แต่เพราะคนไทยเข้าใจผิด นิยมซื้อส้มที่มีใบติดเพราะเห็นว่าสวยงามกว่า คิดว่าเป็นส้มใหม่ เลยทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายแบบผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก     ค้านกฎหมาย จดสิทธิบัตร “กลิ่น-เสียง” สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และภาคประชาชน ค้านกระทรวงพาณิชย์ที่มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ขยายความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายการค้าที่เป็น “กลิ่นและเสียง” เหตุเพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์และยังเป็นการทำร่างกฎหมายที่ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นก็คือ เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่นจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องใช้กลิ่นช่วยกลบและช่วยแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์ หากมีการแก้ไขคำจำกัดความให้มีการจดสิทธิบัตรเรื่องกลิ่น ซึ่งไม่ได้บ่งชี้ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือกลิ่นที่ไม่เป็นกลิ่นโดยธรรมชาติของสินค้านั้น จะนำไปสู่การละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้ถือสิทธิ์ได้ นำไปสู่ปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตยาชื่อสามัญออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถขายยาผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลดราคาเลยเพราะไม่มีคู่แข่ง ที่สำคัญการให้กลิ่นและเสียงจดเครื่องหมายการค้าได้ ถือว่าเกินไปกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศ TRIPS + อีกทั้ง ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต ซึ่งหลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการ พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการท้วงติงจากกระทรวงสาธารณสุข ครม.จึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 บรรจุภัณฑ์ใหญ่ไปไหม??

สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ยาสระผม สบู่เหลว แป้งฝุ่น โลชั่น ทุกวันนี้เริ่มมีแต่เสียงสะท้อนว่า “กระป๋องใหญ่ไปไหม ข้างในมีอยู่นิดเดียว” หรือ “เพิ่งซื้อมาใช้ ทำไมหมดเร็วจัง” ซึ่งจริงๆ แล้วสินค้าประเภทนี้ น้ำหนัก ประมาณ 200 – 250 กรัม(มิลลิลิตรในกรณีของเหลว) คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วมันคือแค่ไหน ทุกคนก็อาศัยมองดูลักษณะเอาจากตัวแพ็กเก็จหรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่เราจะมองว่าแพ็กเก็จใหญ่ของข้างในก็น่าจะเยอะสิ ยิ่งถ้าดูยี่ห้อหนึ่งที่กระป๋องใหญ่แล้วราคาถูกกว่าอีกยี่ห้อ บางทีก็ไม่ได้ดูฉลากว่าน้ำหนักบรรจุเท่าไหร่รีบคว้าไปจ่ายเงินทันที ทั้งที่อีกยี่ห้อที่มองข้ามอาจบรรจุน้ำหนักสินค้ามากกว่าก็ได้ เพียงแต่กระป๋องดูเล็กกว่า ด้วยจิตวิทยาแบบนี้ ผู้ผลิตจึงมักเลือกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ใหญ่สักหน่อย หรือทำให้ดูเหมือนใหญ่เพื่อดึงความสนใจของคนซื้อ แต่ของข้างในอาจใส่ลงไปแค่ 60 % หรือ 70 % เหลือที่ว่างอีกเยอะ ทางหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้กำหนดขนาดมาตรฐาน เช่น ยาสระผมขนาดกลางทุกยี่ห้อ ต้องบรรจุน้ำหนักที่ 200 มล. เท่ากันหมด เพราะถือว่าเป็นการค้าเสรีผู้ผลิตมีสิทธิบรรจุน้ำหนักเท่าไรก็ได้ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อต้องพิจารณาฉลากกันเอาเอง แต่รัฐจะไปเน้นควบคุมที่เรื่องราคาขายปลีกแทนและดูแลไม่ให้โกงน้ำหนักที่ผิดไปจากฉลาก กรณีทำแพ็กเก็จให้ใหญ่ยังอาจใช้เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่ามีการเพิ่มน้ำหนักสินค้าเพื่อการปรับขึ้นราคา ทั้งที่บรรจุน้ำหนักเท่าเดิม และในทางกลับกันแพ็กเก็จก็อาจเท่าเดิม(คือใหญ่มาแต่แรก) เพื่อเผื่อไว้สำหรับลดน้ำหนักที่บรรจุให้น้อยลงแต่ขายในราคาเดิม โดยผู้ซื้อไม่ทันรู้ตัวว่าน้ำหนักได้ลดลงไปแล้ว แต่เรื่องแบบนี้ถ้าพูดอย่างเดียวอาจถูกมองว่ารู้สึกไปเองหรือเปล่า ฉลาดซื้อเลยนำตัวอย่างสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง แป้งฝุ่น โลชั่น ยาสระผม สบู่เหลว มาทดลองหาน้ำหนักที่กระป๋องหรือขวดที่ผู้ผลิตใช้ในการบรรจุสินค้าแต่ละชนิดนั้น ว่าสามารถบรรจุน้ำหนักเต็มที่ได้เท่าไหร่ เพื่อเทียบกับปริมาณที่บรรจุจริงตามฉลาก แล้วหาสัดส่วนของพื้นที่ว่างในบรรจุภัณฑ์ว่าเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ สำหรับฉบับนี้ขอลงแค่ “แป้ง” กับ ”โลชั่น” ก่อน ฉบับหน้าจึงเป็นคิวของยาสระผมและสบู่เหลว   แป้งฝุ่น เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะพบว่าส่วนใหญ่บรรจุน้ำหนักลงไปแค่ครึ่งหนึ่งของกระป๋องเท่านั้น เหลือพื้นที่ว่างอยู่ ราวๆ  50% คาดว่าน่าจะช่วยให้สามารถเขย่าแป้งได้สะดวกขึ้น **สำรวจเดือนตุลาคม 2557                                                                                                                                                   สคบ.วอนเอกชนลดขนาดบรรจุภัณฑ์ โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ 24 ก.ค. 2557 นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ สคบ.จะเชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านสินค้าอุปโภค และบริโภค รายใหญ่ เข้ามาหารือเพื่อขอให้ช่วยลดขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้า ทั้ง แชมพู สบู่เหลว ครีมบำรุงผิว ผงซักฟอก อาหาร และขนมขบเคี้ยว ลงจากเดิม หลังจากได้ส่งทีมออกสุ่มตรวจสินค้าแล้วเห็นว่า ขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าหลายชนิดมีขนาดใหญ่เกินจริง แต่ปริมาณสินค้าที่บรรจุมีขนาดเท่าเดิม จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เลือกซื้อสินค้าโดยที่ไม่ได้ทันสังเกต ขณะเดียวกันการปรับลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์ลง ยังส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตลดลงด้วย “จากการสุ่มตรวจสินค้าหลากชนิด เช่น ครีมบำรุงผิวหลายยี่ห้อ ขนาดขวดที่ใช้บรรจุครีมมีพื้นที่ว่างอยู่ถึง 17-31% ส่วนแชมพูก็มีพื้นที่ว่าง 23-41% แม้จะเข้าใจว่า การทำขนาดขวดที่บรรจุให้ใหญ่ จะเป็นการแข่งขันทางการตลาดของผู้ประกอบการ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาเลือกซื้อสินค้า ซึ่งบางรายอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า สินค้านี้ขวดใหญ่ขึ้น อาจมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่พอมาใช้แล้ว กลับมีอยู่นิดเดียวไม่แตกต่างจากขวดธรรมดา ขณะเดียวกันการเพิ่มขนาดยังทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น อีกอย่างยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุอีกด้วย” ทั้งนี้ในระยะแรก สคบ.จะขอความร่วมมือตามความสมัครใจก่อน หรือถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้ลดลงเท่าที่จำเป็น เบื้องต้นอาจกำหนดให้พื้นที่ว่างภายในบรรจุภัณฑ์ต้องไม่เกิน 15% หรือมีสินค้าที่บรรจุภายในอยู่เกิน 3 ใน 4 ของบรรจุภัณฑ์ ส่วนในระยะยาว ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อออกมาตรการควบคุมให้ชัดเจน เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน. ที่มา http://www.thairath.co.th/content/438498

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เช็ค “ไขมัน” “น้ำตาล” ในโยเกิร์ต

  “โยเกิร์ต” ถือเป็นของโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อร่อยถูกปากถูกใจ แถมมีประโยชน์ กินแล้วดีต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโยเกิร์ตยี่ห้อใหม่ๆ รสชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะสูตรธรรมชาติ ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาล สูตรผสมผลไม้ เติมใยอาหาร เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ เรียกว่ามีให้เลือกสารพัด เอาใจคนชอบกินโยเกิร์ตสุดๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้เลยรับอาสาสุ่มเก็บตัวอย่างโยเกิร์ตที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เพื่อเปรียบเทียบดูว่าโยเกิร์ตแต่ละยี่ห้อมีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน เท่าไหร่กันบ้าง เพื่อให้คนที่ชอบกินโยเกิร์ตได้ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อเลือกกินโยเกิร์ตให้ได้ประโยชน์สูงสุด   ประโยชน์ของโยเกิร์ต -โยเกิร์ตมีโปรตีนจากนม ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ร่างกายสามารถย่อยสลายดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย มีกรดอะมิโนสูง -มีแคลเซียมสูง -มีกรดแลคติกช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค -มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลัส ที่เป็นประโยชน์ต่อสำไส้ ทำหน้าที่ต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ แลคโตบาซิลัส ยังสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายได้ด้วย -สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนนมได้ สำหรับคนที่แพ้นม หรือดื่มนมไม่ได้   วิธีเลือกซื้อโยเกิร์ต -อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อดูว่าปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่เราจะได้รับจากการกินโยเกิร์ตถ้วยนั้นมีอะไรบ้าง(เปิดฉลาดซื้อเล่มนี้ได้เลยเช่นกัน) -เลือกโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลและไขมันต่ำ รสธรรมชาติ หรือ รสจืด จะได้ประโยชน์มากกว่าสูตรธรรมดาหรือสูตรที่ผสมผลไม้ ที่น้ำตาลและไขมันค่อนข้างสูง -เลือกซื้อโยเกิร์ตที่มีวันที่ผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ(โยเกิร์ตที่ผลิตใหม่ๆ)  มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในปริมาณมาก เพราะเชื้อจุลินทรีย์ดีๆ จะสูญสลายไปตามกาลเวลา -การกินโยเกิร์ตไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลง แต่การกินโยเกิร์ตช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ กระเพาะอาหาร และการย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมดุลเป็นปกติเท่านั้น เพราะฉะนั้นใครที่กินโยเกิร์ตเพื่อลดความอ้วนจึงเป็นความคิดที่ผิด   เปรียบเทียบปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน ในโยเกิร์ต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ไฟฟ้าไทย คำนวณผิดผลิตเกินผู้บริโภครับกรรม

คงยังไม่ลืมกันว่า เมื่อเดือนเมษายน  2557   มีการเสนอข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และนักการเมืองออกมาให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชน  ประหวั่นพรั่นพรึงตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ เรื่องไฟฟ้าอาจไม่พอใช้   เพราะหลุมก๊าซจากพม่าบางหลุมหยุดซ่อมบำรุงและงดส่งก๊าซ  ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพออาจจะเกิดไฟฟ้าดับได้ในบางพื้นที่   พร้อมโหมโฆษณาอย่างมโหฬารว่า  มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า ปีนี้ ปีนั้นจากนั้นก็มี  พระเอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาให้ข่าวว่า ไฟฟ้าสามารถจัดการไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับได้แล้ว   “โดยใช้ความสามารถจากการจัดการของการไฟฟ้าฯ” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ(โถ....ช่างเป็นพระคุณจริงๆ ) แต่ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาคือ  การใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในเดือน เมษายน 2557   ใช้อยู่ที่ 26,940 mw  เท่านั้น  และเมื่อเปิดไปที่เอกสารกำลังการผลิตไฟฟ้าในเดือน มิถุนายน 2557  รวมทั้งสิ้น  34,4179 mw   ผลิตเกินจำนวนที่ใช้ไปถึง  7,237  mw  เอ...มาตรฐานการผลิตไฟฟ้า ต้องมีสำรองไฟฟ้าไว้ 15% หรือ 4,041 mw  มิใช่หรือ แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว หักไฟฟ้าสำรองแล้วก็ยังมีไฟฟ้าเกินไปอีกจำนวน 3,196 mw  รวมแล้วปัจจุบันมีไฟฟ้า สำรองถึง 15 %  คิดเป็นเงินลงทุนเกินความจำเป็นถึง ประมาณ 110,000  ล้านบาท     โดยที่กลุ่มผู้คำนวณการผลิต ผิดพลาดไม่ต้อง ”รับผิดชอบ” แต่โยนภาระให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับผิดชอบ จ่ายเงินที่ลงทุนเกินเหล่านี้  โดยบวกเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้า ของประชาชนทุกครัวเรือน   ขอตั้งคำถาม คำโตๆว่า  ทำเช่นนี้ มันเป็นธรรมกับผู้บริโภคแล้วหรือที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ  จำนวนไฟฟ้าที่เกินมานี้  ยังไม่รวมการผลิตจากโรงไฟฟ้า  ที่ประชาชนออกมาคัดค้านให้สร้างไม่ได้ เกือบ 10 โรง  ถึงตรงนี้ต้องขอบคุณกลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องแบกภาระกันหลังอานไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน PDP 2014   ที่นายทุน/นักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐรวมหัวกันกำหนด ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งพลังงานนิวเคลียร์  ถ่านหิน ฯลฯ นึกภาพไม่ออกว่ามันจะมีไฟฟ้าเกินไปอีกเท่าใด   ใครได้ประโยชน์  แล้วใครเสียประโยชน์ ถึงวันนี้ชาวกระบี่ ก็ยังต่อสู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะสร้างในพื้นที่กันอย่างเข้มข้น เราก็ขอเอาใจช่วย  หากสร้างได้เมื่อใดต้นทุนที่สร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา  จึงขอเรียกร้องให้  ท่านนายกประยุทธ์   จันทร์โอชา   ช่วยคืนความสุขให้ผู้บริโภคได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม  ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังภายใต้อำนาจพิเศษ  แล้วเราจะ “ไว้ใจ และศรัทธา”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระเป๋าหาย แอร์เอเชีย หาคืนไม่ได้ ก็จ่ายให้คุ้มหน่อย

ทุกวันนี้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศนั้น มีการแข่งขันกันสูง ทุกเจ้าต้องต่อสู้กันทางธุรกิจทั้งด้วยราคาและบริการ เพื่อครองใจลูกค้าให้ได้ การลด แลก แจก แถม... ก็มีให้เห็นกันตลอด คุณนันท์นภัส ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่บ่อยๆ เธอจึงเลือกใช้บริการของ แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก(โฆษณาเขาว่ามาแบบนี้นะ)ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2556  คุณนันท์นภัส โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า สายการบินแอร์เอเชียทำกระเป๋าเดินทางเธอหาย โดยเธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 26  พฤษภาคม 2556  ขณะที่เธอไปทำงานกับสามีที่ประเทศสิงคโปร์ เธอเลือกที่จะใช้บริการสายการบินแอร์เอเชีย โดยเครื่องออกจากท่าอากาศยานซางฮี สิงคโปร์  เพื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย เธอนำกระเป๋าโหลดเข้าเครื่องตามปกติ  แต่เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง กระเป๋ากลับไม่ได้ตามออกมาด้วยคุณนันท์นภัสยืนรอที่สายพานลำเลียงกระเป๋าอยู่นานจนแน่ใจว่า ไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอแล้ว  เธอจึงสอบถามกับพนักงานของสายการบินทันที ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะเธอมีกำหนดเดินทางต่อไปจังหวัดอุบลราชธานี  ประเทศลาว  มาเก๊า และอีกหลายที่อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่พักของเธอ“ดิฉันพยายามติดต่อ สอบถามพนักงานของสายการบิน ตั้งแต่วันแรกที่หาย เพื่อขอให้ติดตามกระเป๋าคืนมาให้ได้โดยเร็ว เพราะในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นอยู่จำนวนมาก ซึ่งพนักงานก็ได้ยืนยันว่ากระเป๋าไม่หายแน่นอน เพราะยังมีเที่ยวบินจากสิงค์โปร์อีก 2 เที่ยวในวันนั้น โดยอ้างว่าเมื่อพบกระเป๋าเดินทางแล้วจะส่งคืนให้ดิฉันที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันรุ่งขึ้นทันที” แต่พอถึงอุบลราชธานีแล้ว ก็ไม่มีการส่งมอบกระเป๋าคืนตามที่ว่าไว้แต่อย่างใด เธอหงุดหงิดมาก เพราะทุกครั้งเธอต้องเป็นฝ่ายพยายามสอบถามแล้วกับทางสายการบินตลอด แต่ไม่มีคำตอบและแทบไม่มีการติดต่อกลับ ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2556  บริษัท แอร์เอเชีย โดยแผนกติดตามสัมภาระ ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นดิน ได้มีหนังสือแจ้งคุณนันท์นภัสว่า สายการบินหากระเป๋าเดินทางของเธอไม่เจอ จึงขอแสดงความรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างข้อกำหนดและเงื่อนไขการบินของแต่ละสายการบิน ซึ่งในกรณีสัมภาระสูญหายสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศ กำหนดไว้ที่ 922 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อสัมภาระของคุณนันท์นภัส มีน้ำหนัก 15 กิโลกกรัม  คุณนันท์นภัส จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายเป็นเงินจำนวน 13,830 บาทจากจดหมายฉบับดังกล่าว เธอเห็นว่า “ไม่เป็นธรรม” เนื่องจากในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ที่จำเป็นและทรัพย์สินหลายอย่างที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 50,000  บาท ในเมื่อบริษัทไม่สามารถติดตามกระเป๋าเดินทางคืนมาได้ การเสนอจะชดใช้โดยอ้างกฎระเบียบที่กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบและการเอาเปรียบของผู้ประกอบการต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้เกิดการเอาเปรียบกับผู้บริโภครายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต  เธอจึงนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ออกหนังสือเพื่อขอให้บริษัทแอร์เอเชีย เยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค  แต่ก็ได้รับการยืนยันจากบริษัทว่า ได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณนันท์นภัสแล้วเป็นเงิน 13,830 บาท ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคดังนั้นเมื่อไม่มีทางออกในการเจรจา คุณนันท์นภัส จึงจำเป็นต้องขอนำเรื่องเข้าสู่ศาล ด้วยการยื่นฟ้องบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงดอนเมืองเมื่อฟ้องคดีแล้ว กระบวนการในคดีผู้บริโภคนั้น ศาลจะเน้นกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย  สำหรับคดีนี้โดยใช้ชั้นเจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสองฝ่าย พยายามหาข้อยุติร่วมกันในการเจรจาประนีประนอม แต่ก็ไม่สามารถหาจุดร่วมที่ตกลงกันได้เมื่อคดีมีแนวโน้มจะต้องตัดสินให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกผิดด้วยคำพิพากษา แต่ผู้ตัดสินเห็นว่ายังมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ จึงได้พยายามหาทางไกล่เกลี่ยกันอีกครั้ง  โดยในครั้งนี้มีผู้ตัดสินเข้าร่วมการเจรจาด้วย  เบื้องต้นคุณนันท์นภัส ยืนยันถึงข้อเสนอให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 30,000  บาท พร้อมให้บริษัททำการขอโทษถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  แต่เพื่อให้การเจรจาสามารถดำเนินการต่อไปตามคำแนะนำของผู้ตัดสิน            คุณนันท์นภัสและบริษัท แอร์เอเชีย จึงสามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจากันได้ คือ บริษัท แอร์เอเชีย ยินดีชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมปลอบใจด้วยบัตรโดยสารเส้นทางภายในประเทศไปและกลับจำนวน 1 ที่  และบริษัทยินดีรับจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปปรับปรุงแก้ไขการบริการให้ดีขึ้นต่อไป คุณนันท์นภัส ยินยอมรับข้อเสนอนี้ เรื่องจึงเป็นอันยุติลงในชั้นศาล ด้วยการจบคดีแบบประนีประนอมยอมความแม้ว่าผลของคดีนี้จะไม่ได้จบลงด้วยคำพิพากษาเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง ตามที่คุณนันท์นภัสคาดหวังไว้ในตอนแรก แต่การจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย  ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีลักษณะนี้สำหรับผู้บริโภครายต่อๆ ไปได้ว่า หากใครเจอปัญหาแบบนี้แล้วเจรจาตกลงกันไม่ได้  ให้เตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาฟ้องศาลได้เลย อย่าได้กลัวหรือคิดว่าจะเสียเวลา เพราะการพิทักษ์สิทธิตนเองเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ก็สามารถสร้างแรงกดดัน เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับบริษัทผู้ให้บริการต้องชดเชยความเสียหายคืนได้เหมือนคดีนี้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เจ็บนี้อีกนาน!

ปลายเดือนกรกฎาคม  คุณนุชเพิ่งซื้อจักรยาน 24 นิ้ว ไม่ปรากฏยี่ห้อ รุ่น VALUE  ของบริษัท มาย จักรยาน  ในราคา 850 บาทจากห้างสรรพสินค้าดังแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง  ตอนที่ซื้อคุณนุชก็ได้ดูพนักงานประกอบ และทดสอบปั่นเบาๆ ในบริเวณห้างฯ  ขณะที่ทดสอบปั่นในห้างก็ไม่ปรากฏว่าชิ้นส่วนใดๆ จะหลุดออกมา จึงได้ปั่นจากห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมาที่พัก ซึ่งเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรอยู่ทุกอย่างก็โอเคต่อมาในเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  คุณนุชได้ปั่นจักรยานคันดังกล่าวเพื่อไปทำงานจากบ้านพักซอยอ่อนนุช 17 ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ขณะที่ปั่นถึงแยกคลองตันได้หยุดเพื่อรอสัญญาณไฟจราจร พอไฟเขียวคุณนุชได้ออกตัวขยับขึ้นปั่นเพื่อส่งแรงให้จักรยานเคลื่อนตัวปรากฏว่า บันไดรถจักรยานได้หลุดออกจากตัวจักรยาน ทำให้เสียการทรงตัว รถล้มและหัวเข่าคุณนุชกระแทกกับพื้นอย่างแรง คุณนุชไม่สามารถเคลื่อนขยับขาซ้ายได้ ผู้คนบริเวณนั้นจึงได้พาไปนั่งพักที่บริเวณฟุตบาท ก่อนที่คุณนุชจะโทรหาเพื่อนที่ทำงานเพื่อให้มาหาและนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แพทย์ได้ตรวจอาการพบว่า กระดูกบริเวณหัวเข่าซ้ายร้าวต้องรักษาด้วยการใส่เฝือกเป็นเวลา 1 เดือน เสียค่ารักษาพยาบาลกว่า 3,910 บาท ไม่รวมถึงต้องเหมารถยนต์ไปใส่ซากรถจักรยานกลับมาบ้านพักอีกเรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อพบว่าสินค้า(จักรยาน) ที่ซื้อมาชำรุดบกพร่อง ขณะที่ซื้อมาเพียง 1 วัน และอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากมีรถขับตามมาด้วยความเร็วสูง  คุณนุชจึงได้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเล่าเรื่องด้วยอาการเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น “ดิฉันไม่คิดเลยว่าห้างฯ ใหญ่มีชื่อเสียงจะนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาขายให้กับผู้บริโภค ดิฉันเพิ่งซื้อมาวันเดียวปั่นยังไม่ถึงไหน  ชิ้นส่วนรถหลุดเป็นชิ้นๆ แบบนี้ แถมดิฉันต้องมาเจ็บตัวอีก เดินไม่ได้ ลูกก็ต้องเลี้ยง แถมต้องเดินทางไปทำงานยากลำบากอีก ยังไงดิฉันต้องให้ทางห้างสรรพสินค้าและบริษัทผลิตรถจักรยานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับดิฉัน”แนวทางแก้ไขปัญหา กรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐานชำรุดบกพร่องและก่อให้เกิดการบาดเจ็บ  สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำกรณีที่เกิดเรื่องเช่นนี้ คือ 1. แจ้งความสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เพื่อเป็นหลักฐาน 2. เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลต้องขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้เข้ารับการรักษาจริง 3.  ประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ประกอบด้วย - ค่าคืนสินค้าชำรุดบกพร่อง ราคาตามใบเสร็จรับเงิน - ค่ารักษาพยาบาลตามจริง (มีใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล) -  ค่าขาดประโยชน์กรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ กรณีคุณนุช ไม่สามารถทำงานได้ 2 เดือน โดยคิดตามยอดเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทฯ คือเดือนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท - ค่าจ้างคนดูแลบุตร เนื่องจากบาดเจ็บไม่สามารถดูแลบุตรวัย 11 เดือน 4. ให้ผู้เสียหายทำจดหมายถึงห้างสรรพสินค้า และบริษัทฯ เจ้าของจักรยาน เพื่อให้เยียวยาความเสียหาย ตามรายละเอียดใบประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น   ซึ่งกรณีของคุณนุชได้เรียกร้องให้ทั้งห้างสรรพสินค้าและบริษัทฯ จักรยาน ร่วมกันจ่าย เป็นยอดเงิน 47,260 บาท ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าได้ส่งตัวแทนเพื่อเจรจากับคุณนุชที่บ้านพัก ซึ่งตัวแทนห้างสรรพสินค้า ได้แจ้งกับคุณนุชว่า จักรยานดังกล่าวทางห้างได้ซื้อมาเพื่อประกอบเอง จึงอาจมีปัญหาในกระบวนการประกอบ ซึ่งขณะนี้ได้มีการตรวจสอบการประกอบจักรยานให้รัดกุม เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยาน  พร้อมขอเยียวยาความเสียหายกับคุณนุช เป็นเงิน 25,000 บาท ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งสิ้น 10,000 บาท ค่าขาดรายได้  1 เดือน เป็นเงินจำนวน 15,000 บาท คุณนุชยินดีรับเงินตามยอดดังกล่าว  เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ห้างสรรพสินค้ามีความรัดกุมในการตรวจสอบกระบวนการประกอบรถจักรยานมากขึ้น เพราะนั่นคือความปลอดภัยของผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >