ฉบับที่ 140 ซื้อจักรยานราคาแพง ได้ยางแตกลายงา

“จักรยานของพี่ราคาไม่กี่ร้อยบาท...”ยอดรัก สลักใจ สมัยยังหนุ่มเคยร้องเพลง “จักรยานคนจน” บอกราคาไว้ในเนื้อเพลงเสร็จสรรพ  แสดงว่าจักรยานสมัยก่อนราคาไม่แพงมาก แต่ตอนนี้ราคาจักรยานเปลี่ยนไปมากแล้วจักรยานที่คุณสุรัตน์ไปซื้อที่ร้านแห่งหนึ่ง แถวสบตุ๋ย จ.ลำปาง  เป็นจักรยานของ LA  รุ่น ELILE ราคา 7,000 บาท ซึ่งคุณสุรัตน์ไม่ได้ติดใจในเรื่องราคามากนัก แต่ที่เป็นปัญหาคือ หลังซื้อมาได้เพียง 6 เดือน สังเกตเห็นว่าขอบยางล้อจักรยานมีรอยแตกลายงาโดยรอบทั้งสองเส้น ก็ไม่รู้ว่าไปเลียนแบบปัญหาป้ายทะเบียนรถยนต์แตกลายงาด้วยหรือเปล่า คุณสุรัตน์บอกว่า จักรยานถูกใช้งานน้อยมากส่วนใหญ่จอดอยู่ในโรงรถวันต่อมาจึงนำรถจักรยานไปให้เจ้าของร้านที่ขายจักรยานดูเพื่อขอเปลี่ยนยางใหม่ คิดว่ายางไม่น่าจะหมดอายุไวขนาดนี้ ร้านน่าจะช่วยรับผิดชอบได้ แต่เจ้าของร้านกลับพูดว่า รับผิดชอบให้ไม่ได้เพราะเป็นจักรยานรุ่นที่บริษัทโละมาขาย“ตอนที่เราซื้อมา ร้านไม่ได้พูดแบบนี้ และยังท้าให้เราไปฟ้อง สคบ. ใช้กิริยาที่ไม่สมควรหลายอย่าง เช่น บอกว่าจะต่อโทรศัพท์ให้เราคุยกับตัวแทน แต่พอต่อได้ กลับคุยกันเรื่องอื่นหลายเรื่อง เช่น เรื่องเป้าของบริษัท เรื่องการไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่สนใจว่าเรารอคำตอบอยู่” สุดท้ายในการเจรจาวันนั้น ร้านตัวแทนจำหน่ายให้ข้อเสนอว่า จะรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่ายาง 2 เส้นใหม่ให้ในราคารวมสองร้อยบาท พอคุณสุรัตน์ได้เห็นยางใหม่ที่เจ้าของร้านเอามานำเสนอ ก็ต้องส่ายหน้าเพราะเป็นยางคุณภาพต่ำ คุณสุรัตน์ยืนยันขอเปลี่ยนเป็นยางยี่ห้อเกรดเดียวกับที่ขายมากับรถ แต่ทางร้านบอกจัดให้ไม่ได้ แถมแนะนำให้ไปฟ้อง สคบ. เสียอีกเรื่องนี้คุณสุรัตน์ไม่ได้ไปที่ สคบ. แต่ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแทน แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้า กฎหมายกำหนดว่าให้ผู้ซื้อเรียกร้องให้ผู้ขายต้องรับผิดได้ภายในหนึ่งปี พ้นจากนี้ไปจะเรียกร้องบังคับกันไม่ได้ นี้คือหลักพื้นฐานของกฎหมายที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางในการเจรจาเรียกร้องต่อผู้ขายให้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้าเราได้แนะนำให้คุณสุรัตน์มีหนังสือไปถึงบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเปลี่ยนยางเส้นใหม่รุ่นเดิมให้ หลังคุณสุรัตน์ส่งหนังสือไปไม่นานเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงได้ติดตามเรื่องให้อีกทางกับฝ่ายการตลาดของบริษัท ซึ่งได้ขอให้คุณสุรัตน์ช่วยส่งภาพถ่ายรถ และยางที่เกิดปัญหาให้กับบริษัทได้ตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดบริษัทฯ ได้แสดงความรับผิดชอบตามที่คุณสุรัตน์ร้องขอ ด้วยการส่งยางจักรยานเกรดเดียวกับที่คุณสุรัตน์ต้องการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายถามว่าเรื่องนี้ทำไมผู้บริโภคถึงสามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ผล พอกลับมาดูเนื้อจดหมายที่คุณสุรัตน์เขียนถึงบริษัทก็เลยถึงบางอ้อ คุณสุรัตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า“ขอให้ทางบริษัทอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แล้วไม่เอาใจใส่ เพราะอาจกระทบถึงชื่อเสียงของบริษัท หากไม่มีความรับผิดชอบ และขอให้บริษัทพิจารณาคุณภาพการบริการของตัวแทนจำหน่ายด้วย”อย่างนี้ต้องเรียกว่ามีลูกอ้อนลูกประณามลูกฟ้องครบครัน      หากบริษัทไม่รับผิดชอบก็ไม่ไหวแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 สารพันปัญหามือถือต้อนรับ 3G

การประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตคงไม่พ้นผู้ให้บริการ 3 เจ้าใหญ่ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูแน่นอนว่าการประมูลครั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะได้ใช้ระบบมือถือทันสมัยแบบใหม่เสียทีหลังจากที่แคล้วคลาดกันมานาน แต่คำถามสำคัญที่ผู้บริโภคควรตระหนักไปพร้อมกัน คือเรื่องคุณภาพบริการที่ปัจจุบันแนวทางการแก้ไขจาก กสทช. ยังไม่ค่อยคืบหน้านัก เพื่อไม่หลงปลื้มกับโทรศัพท์ระบบใหม่จนลืมความจริงในปัญหาการดูแลผู้บริโภค เลยขอนำเรื่อง “เจ็บแล้วต้องจำ” เอามาให้อ่านเตือนสติต้อนรับระบบ 3G กันเรื่องเจ็บแล้วต้องจำของบริการมือถือ1.ซิมแจกฟรี ระวังโดนดีถูกเก็บรายเดือนมีร้องเรียนเข้ามากันเยอะ อย่างรายนี้บอกว่า ช่วยหน่อยนะคะ พอดีไปเดินอนุสาวรีย์ชัย เจอซุ้มแจกซิมทรูมูฟ มีพนักงาน 4-5 คน เดินเข้ามาหาและบอกว่าถ้าบัตรประชาชนมีเลข 0 มารับซิมฟรีได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ขอดูบัตรประชาชนด้วย แล้วเค้าก็เอาบัตรประชาชนไป แล้วเอาซิมมาให้โดยให้เซ็นชื่อรับซิมบอกว่าแค่เซ็นรับซิมเฉยๆ ไม่มีอะไร และถ้าไม่เปิดใช้ซิมก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร พอได้ซิมมาก็ไม่ได้เปิดใช้ เพราะซิมเป็นรายเดือนและเป็นไมโครซิม ต่อมามีใบแจ้งหนี้มาที่ที่อยู่ตามบัตรประชาชน และต้องชำระก่อนวันสิ้นเดือน เลยโทรติดต่อที่ศูนย์บริษัทมือถือเจ้าของซิม พนักงานบอกว่าเป็นซิมรายเดือนถึงไม่เปิดก็มีค่าใช้จ่ายให้ชำระยอดนี้ก่อนถึงจะปิดเบอร์ให้ได้ ถ้าไม่ชำระก็จะมีการเรียกเก็บต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน ถ้ายังค้างชำระอยู่จะตัดเบอร์แต่จะต้องติด Black list  ต่อไปจะทำธุรกรรมอะไรไม่ได้ 2. เอสเอ็มเอสขยะ ขยะที่กำจัดยากที่สุดในโลก ขอบอก...!เป็นลูกค้า DTAC ค่ะ ในช่วงบิลสองเดือนที่ผ่านมา มีค่าบริการที่ไม่เคยสมัครรับบริการ ในใบแจ้งหนี้ ตรวจดูแล้วเป็น “ค่าบริการข้อมูลข่าวสารบันเทิง ผ่าน SMS” โทรไปคอลเซ็นเตอร์ว่ามีค่าใช้จ่ายนี้มาได้อย่างไร ได้รับคำอธิบายว่า เป็นลักษณะของการ ส่ง sms เข้าโทรศัพท์ แล้ว DTAC ก็คิดเงินกับลูกค้าเลยเราร้องทุกข์ไปว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร ป้องกัน ลบ SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด แต่คำตอบที่ได้รับคือ“ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากผู้ให้บริการมีค่อนข้างเยอะและมีรูปแบบบริการที่หลากหลาย”วิธีป้องกันที่ผู้ให้บริการให้คำแนะนำคือ หากได้รับข้อความลักษณะดังกล่าวอีก สามารถแจ้ง ลักษณะข้อความ กลับไปที่ DTAC ได้เฮ้อ...จะหาหนทางอย่างไรดีคะ ที่ไม่ต้อง โทรไปรบกับ call center ทุกๆ ครั้งที่ได้รับใบแจ้งหนี้เพราะทางลูกค้าเองก็ยืนยันว่า ไม่ต้องการ ไม่รับ ไม่สมัคร บล็อค SMS ดังกล่าวออกไปให้หมด ทำไมบริษัทมือถือถึงช่วยลูกค้าไม่ได้3.สั่งซื้อสินค้าทางเน็ต เจ้าของเว็บไม่รับผิดชอบผมสั่งซื้อกล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวีจากเว็บไซต์ขายสินค้าแห่งหนึ่ง  จำนวนเงิน 4,000 บาท ใช้งานได้ไม่ถึง 24 ชม.สินค้ามีปัญหา ชี้แจงอาการไป ผู้ขายแจ้งให้ส่งกลับเพื่อเคลมของใหม่ แล้วผู้ขายก็ทวงถามเรื่องค่าส่ง EMS ผมปฏิเสธเพราะผู้ขายควรจะรับผิดชอบ และผมก็เสียค่าส่ง EMS กลับไปให้ 97 บาท จึงเห็นว่าต่างคนต่างรับผิดชอบค่าส่ง แต่ผู้ขายพยายามผลักภาระค่าส่งมาให้ผม พยายามบอกว่าเป็นภาระของผู้ซื้อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขการเคลมสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ ผมเห็นว่าคุยกันไม่รู้เรื่องและไม่ประทับใจในการให้บริการ จึงขอยกเลิกและขอเงินคืน แต่กลับมาบอกว่าไม่มีนโยบายคืนเงิน เงื่อนไขนี้ในหน้าเว็บไซต์ก็ไม่มีระบุเหตุการณ์เกิดขึ้นและผ่านมากว่า 45 วันแล้ว ผมเขียนไปทวงถามเรื่องเงินคืนหลายครั้ง ก็เงียบ ล่าสุดผมเขียนไปบอกว่ายินดีรับสินค้าคืน แต่ขอเปลี่ยนรุ่น ก็ยังคงเงียบอีกเห็นว่าถูกโกงแน่แล้ว จึงต้องมาขอคำแนะนำครับ ควรทำอย่างไรครับ แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาทั้ง 3 เรื่องที่ยกมายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวทางการแก้ไขปัญหาของ กสทช. ก็ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องยังไม่คืบหน้ามากนัก ผู้บริโภคจึงต้องรู้วิธีการช่วยเหลือตัวเองไปพลางๆ ก่อนปัญหาในเรื่องที่ 1 และ 2 สามารถจัดการได้โดยผู้บริโภคควรมีหนังสือไปถึงผู้ให้บริการมือถือกรณีที่เป็นเรื่องหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ไม่เคยเปิดใช้บริการ หรือถูกหลอกให้เปิดใช้บริการมือถือโดยที่ไม่ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน เมื่อได้รับใบเรียกเก็บหนี้ค่ามือถือรายเดือน ไม่ต้องไปตกใจ หรือต้องไปที่ศูนย์บริการ เพราะเจรจามักไม่ได้หมายความตามตัวอย่างเรื่องที่ยกมาให้เห็น วิธีที่ดีที่สุดและจบเรื่องได้ไว คือ ให้มีหนังสือปฏิเสธตอบกลับไป ว่าเราไม่เคยเปิด ไม่เคยใช้ และไม่มีความต้องการที่จะใช้มาแต่แรกแล้ว ดังนั้นอย่าส่งจดหมายทวงหนี้ค่าโทรศัพท์มารังควานอีก ไม่เช่นนั้นจะขอเรียกค่าเสียหายฐานก่อความเดือดร้อนรบกวนรำคาญกรณีเรื่องเรียกเก็บค่าเอสเอ็มเอสขยะ หรือเอสเอ็มเอสที่เผลอสมัครเข้ารับบริการโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ให้ใช้วิธีการเดียวกัน ส่วนคนที่ต้องการโทรศัพท์มือถือของตัวเองสะอาดมากๆ ไม่มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาเลย ตามจริงมีเทคโนโลยีสามารถทำได้แต่ผู้ให้บริการเมืองไทยเรายังไม่ริเริ่มทำ วิธีแก้ก็ให้เขียนจดหมายเสนอไปที่บริษัทมือถือว่า หากจะปล่อยให้มีข้อความแปลกปลอมเข้ามาที่มือถือเราอีก ขอคิดค่าเสียหายครั้งละ 100 บาท 1,000 บาท หรือจะสูงต่ำไปกว่านี้ก็พิจารณากันดู ขึ้นอยู่กับเส้นความรำคาญใจของแต่ละคน ยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทมือถือให้พิจารณาดู ใครใช้วิธีนี้ได้ผลช่วยกลับมาเล่าให้ฟังกันด้วยกรณีที่ 3 มีข้อแนะนำอย่างเดียว อย่าไปซื้อมัน ตราบใดที่เราไม่รู้ตัวตนว่ามันเป็นใคร บ้านช่องห้องหออยู่ที่ไหน คำโบราณสอนไว้ คนไม่มีหัวนอนปลายตีนไม่น่าคบ เอามาใช้กรณีพวกขายของทางเน็ตได้ จะซื้อสินค้าผ่านเน็ตรอแป๊บครับ ทราบข่าวว่าภาครัฐตอนนี้กำลังมีการวางมาตรการออกประกาศให้ผู้ขายสินค้าผ่านเน็ตต้องมาลงทะเบียนเสียก่อน แต่เหตุผลสำคัญคือรัฐบาลอยากจะเก็บภาษีคนพวกนี้ ไม่ได้หวังคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ทราบแล้วเปลี่ยน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 จิระชัย มูลทองโร่ย สคบ.ยุคนี้ จะไม่มองแบบม้าลำปาง

“...ภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา...” ฉลาดซื้อฉบับนี้พาคุณไปทำความรู้จักคนคุ้นเคย ที่ทำงานคู่ขนานกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาตลอด ท่าน “จิระชัย มูลทองโร่ย” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 55 หากแต่คลุกคลีอยู่ใน สคบ.มากว่า 12 ปีแล้ว ไปดูแนวคิดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในยุคของเลขาฯ สคบ.ท่านนี้กันค่ะ ประเด็นใดในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ถือเป็นความท้าทายของ สคบ. งานคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องทำต่อก็คือ ต้องผลักดันประเด็นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรม ทุกวันนี้เราซื้อสินค้าด้วยความเสี่ยง ซื้อไปแล้วเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ ผู้บริโภคเองก็ต้องมาร้องที่ สคบ. ซึ่งนั่นเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมๆ เราจึงจัดทำเครื่องหมายของ สคบ.แสดงไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ว่าเมื่อไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วจะไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ถูกหลอกลวง หรือเมื่อไปซื้อสินค้าและใช้บริการแล้วเกิดปัญหา ผู้ประกอบการต้องแสดงความรับผิดชอบ หรือชดใช้อย่างชัดเจน แต่ที่ยังไปไม่ได้ก็คือการรับผิดชอบของผู้ประกอบการ นั่นก็คือถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นมาจะมีหลักการรับประกันอย่างไร ยังอยู่ในการทำความเข้าใจกันอยู่ ซึ่งตอนนี้มีสินค้าและบริการที่ต้องทำตรา สคบ.แล้ว 26 รายการ 8 หมวด นั่นก็คือทั้งอสังหาริมทรัพย์ สินค้า สุขภาพ ฯ   อีกความท้าทายก็คือการเป็นศูนย์กลางในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สคบ.เป็นหน่วยงานเดียวที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคทั้ง 5 ข้อนี้ การประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีความสำคัญ เพราะภาครัฐมักมองทางตรงมากกว่าการมองข้าง เดี๋ยวนี้ต้องมอง 360 องศา เราจะไม่มองแบบม้าลำปาง จะต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าผู้บริโภคมีปัญหาขึ้นมาหน่วยงานภาครัฐจะต้องระดมสรรพกฎหมาย ระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหา ในต่างจังหวัดนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีคนแค่เพียง 10 ล้านกว่าคน ในต่างจังหวัดอีกกว่า 75 จังหวัดล่ะ “ใครดูแลเขา” ในอดีต สคบ.อาจจะไม่มีการประสานความร่วมมือทางหนังสือเท่าไรนัก แต่ต่อจากนี้ไปจะประสานความร่วมมือและพบปะพูดคุยกันให้มากยิ่งขึ้น ประสานส่วนผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการผมถือว่าเป็นต้นน้ำของการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องประสานก่อนเลยก็คือสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ สคบ.เข้าไปรับฟังขอบเขตงานด้วย และจะร่วมมือกันในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างไร นั่นก็คือต้องดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีการติดฉลาก ดูการโฆษณา ดูสัญญาก่อน ต่อไปก็ไปดูเรื่องความรับผิดชอบว่าถ้าเกิดความเสียหาย จะเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างไร สินค้าที่มีปัญหามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเยียวยา ประสานส่วนภาคประชาชน ที่มีการรวมกลุ่มกันชัดเจนแล้ว อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ก็จะมีเครือข่ายผู้บริโภค ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามีจุดหมายเดียวกัน ก็คือการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การทำงานของมูลนิธิฯ อาจจะง่ายและกระชับกว่า ก็จะได้ผนวกไปด้วยกัน หรืออาจจะเชิญตัวแทนองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ สคบ. รวมไปถึงการทดสอบสินค้า การรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบผู้ประกอบการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในช่วงปี 2556 อยากจะทำงานด้วยไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนต่างจังหวัด มีแผนงานอะไรก็บอกกันให้รู้ สคบ.จะได้ส่งคนเข้าไปช่วยดำเนินการด้วย การทำงานร่วมกัน?...จะเป็นลักษณะแบบไหน จะเป็นคล้ายๆ ระบบสั่งการเหมือนภาครัฐทำกับภาครัฐหรือเปล่า ไม่เหมือนแน่นอน การสั่งการในภาครัฐก็อาจจะทำได้เป็นเรื่องๆ ที่เป็นนโยบายร่วมกัน เราใช้คำว่า “ประสานงาน หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน” ร่วมกันทำงาน “สคบ.จะไม่ใช่ One man show” แต่จะประสานงานร่วมกัน สคบ.จัดการกับผู้ประกอบการอย่างไร อีกหน้าที่ที่ต้องทำก็คือการตรวจสอบผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ต้องทำตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย อย่างไปสำรวจเต็นท์รถยนต์มือสอง ว่ามีการจัดทำฉลาก ทำหลักฐานการรับเงินหรือเปล่า ในห้างสรรพสินค้ามีสินค้าหมดอายุมาขายไหม ฉลากถูกต้องหรือเปล่า สำรวจเสร็จ สคบ.ในฐานะมีหน้าที่และอำนาจทางกฎหมาย ก็จะเข้าไปดำเนินการจัดการกับผู้ประกอบการ ซักถามเรื่องกฎหมาย ตักเตือน ก็ว่ากันไป ในเรื่องการจัดการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนนี้มีปัญหาและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่ามีความล่าช้า ไม่ทันใจประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาของ สคบ.ในชั้นการเจรจาไกล่เกลี่ย สามารถจบลงได้ 80 % ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นประโยชน์ของคู่กรณีทั้งคู่ ผมยังให้ความสำคัญอยู่ ก่อนที่จะยื่นเรื่องฟ้องศาล ผมไม่ตามใจผู้ร้องนะ อย่างซื้อรถยนต์ใหม่มาแล้วมีปัญหา จะขอเปลี่ยนคันเลย ก็ต้องให้บริษัทชี้แจง แก้ไขจุดบกพร่องก่อน ให้เวลาผู้ประกอบการบ้าง เรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่ เป็นจำนวนมากที่ผู้ร้องไม่ยินยอมรับการชดเชยความเสียหายตามที่บริษัทนำเสนอ หรือตามที่ สคบ.เห็นว่าสมควรแล้ว แต่ผู้ร้องยังเรียกร้องตามอำเภอใจ ซึ่งผมเองมั่นใจว่าจะใช้อำนาจในการบริหารยุติเรื่องและให้ผู้ร้องไปฟ้องศาลด้วยตนเอง การดำเนินคดีในชั้นศาลผมถือว่าไม่เป็นประโยชน์ส่วนรวม การจะฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ผมมีองค์ประกอบ 3 เหตุผล 1.ต้องเป็นผู้บริโภค 2.ต้องถูกละเมิดสิทธิ 3.ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวม สคบ.ฟ้องแทนผู้บริโภค จะฟ้องรวมหมู่ได้ไหม เรื่องการฟ้องแทนเราฟ้องให้อยู่แล้ว ถ้าฟ้องแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนให้ อย่างผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องซื้อหมามาเลี้ยงผ่านไป 2 วัน แล้วหมาตาย สคบ.ก็รับเรื่องแล้วชวนมาไกล่เกลี่ย เจ้าของฟาร์มเสนอไม่ชดเชยให้ แต่ถ้าซื้อตัวใหม่จะลดให้ครึ่งราคา ส่วนผู้ร้องไม่รับข้อเสนอ จะให้ชดเชยเป็นค่าสุนัข 10,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลอีก 9,000 บาทรวมค่าเสียเวลา ฟาร์มบอกว่าตั้งแต่ขายมาไม่มีปัญหาอะไรเลย กรณีแบบนี้เราก็ฟ้องให้นะครับ เพราะเราถือว่าตลาดนัดจตุจักร มีคนเข้าออกประจำ อาจจะพบปัญหาเหมือนกับกรณีรายนี้ด้วยก็ได้ เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่ถ้ามาเกี่ยงกันในเรื่องการชดเชยที่ต่างกันแค่ 500 หรือ 1,000 บาท แบบนี้เราไม่ฟ้องให้ แต่ถ้าผู้ประกอบการมีการโกงผู้บริโภคแค่ 1 บาท เราก็ฟ้องให้ เพราะสินค้าผลิตมาเท่าไร...มากมาย เราก็เปรียบเทียบตัวเลขผู้ประกอบการกับตัวเลขผู้ร้องว่าเป็นอย่างไร ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กับส่วนรวมเราก็ฟ้องแทนผู้บริโภคได้   สคบ.มีบทลงโทษผู้ประกอบการ แต่การไม่เปิดเผยชื่อผู้ที่ถูกลงโทษ ถูกปรับทำให้ผู้บริโภคยังถูกละเมิดต่อ วิธีการแบบนี้ยกเลิกได้ไหม อือ...หลายคนตำหนิ สคบ.อย่างนี้ว่าลงโทษผู้ประกอบการ แต่ไม่บอกว่าใคร ความจริงเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย มาตรา 10 อนุ3 บอกให้ สคบ.เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการรวมถึงสินค้า ว่ามีผู้ประกอบการรายใดที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ สคบ.เองก็ปรับปรุงว่าเราต้องมีสื่อที่จะลงข่าวเหล่านี้ ก็อยู่ระหว่างการจัดทำสื่อ แล้วก็เผยแพร่สู่สื่อมวลชน เครือข่ายผู้บริโภคและพี่น้องประชาชน เพราะการจะเปิดเผยชื่อได้นั้น ต้องผ่านมติคณะอนุกรรมการก่อนถึงจะเปิดเผยรายชื่อได้ จะเปิดเผยรายชื่อทันทีก็ไม่ได้ ไม่งั้น สคบ.เองนั้นละจะถูกฟ้อง   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 จะช่วยหนุนการทำงานของ สคบ.อย่างไรบ้าง และมีความคิดเห็นต่อ กม.นี้อย่างไร เป้าหมายการทำงานของ สคบ.กับ องค์กรผู้บริโภค มีเป้าหมายเดียวกันคือการคุ้มครองผู้บริโภค จะแตกต่างกันก็แค่ภารกิจ วิธีการ มีอะไรที่เราทำร่วมกันได้ก็มาแชร์กัน อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถ้ามีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการองค์การอิสระฯ ก็เข้าไปทำงานเลย แบบนี้มูลนิธิฯ ก็จะมีแนวทางในการขยายความร่วมมือต่อไปได้ แล้วถ้าถามต่อว่า สคบ.จะอยู่อย่างไร ผมก็ต้องอยู่เพราะเป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่องค์การอิสระฯ รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร ก็ควรที่จะทำอย่างนั้น เช่นรัฐธรรมเขียนอำนาจหน้าที่ไว้ 3 แต่กลับไปเพิ่มเป็น 4 5 6 นั้นเป็นการก้าวก่ายแล้ว ไม่ได้ต่อต้านนะ เห็นด้วยที่ให้มีเพราะต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อบูรณาการทุกเรื่อง เข้ามาเสริม เข้ามาหนุนงาน ให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากกว่า ควรจะมีกรอบอย่างนั้น เรื่องการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ สคบ.ตั้งมา 30 กว่าปีแล้ว ยังได้งบไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วองค์การนี้เพิ่งจะร่างขึ้นมาไปเอาค่าหัวดำเนินการ 3 บาท 5 บาท ไปเอาเกณฑ์อะไรมา ทำไมไม่ให้ สคบ. เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานหลักด้วยซ้ำ ปีหนึ่งได้ 100 ล้านบาท ก็ส่งงบลงพื้นที่ กระจายทุกจังหวัดที่ ให้กับประชาชนที่มีโครงการมากมาย บุคลากรก็ต้องให้ความรู้ทุกเรื่อง ยังได้ไม่ถึง 200 ล้านเลย แล้วนี่องค์การนี้เพิ่งจะเกิด มีคณะกรรมการ 15 คน ภารกิจหนักหนาขนาดไหน ต้องเอาค่าหัว 3 บาท 5 บาท แต่ผมไม่ได้คัดค้านนะ แต่ควรที่จะเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย @.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสต่างแดน

ได้เวลาตัดสัญญาณ ปัจจุบันประเทศเคนยามีผู้ใช้มือถืออยู่ประมาณ 29 ล้านคน แต่มือถือที่ชาวบ้านร้านตลาดถือกันอยู่นั้น มีไม่น้อยที่เป็น “เครื่องปลอม” หรือเครื่องที่หมายเลขอีมี่ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ คือมือถือประเภทที่แอบหิ้วเข้ามาขายกันเองจากจีน ไนจีเรีย หรือ อัฟริกาใต้นั่นแหละ รัฐบาลเคนยาตัดสินใจเด็ดขาด ให้บรรดาผู้ประกอบการทั้ง 4 เจ้า ระงับการให้สัญญาณกับ ”เครื่องปลอม” ที่ว่านั้นทันทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา (ข่าวบอกว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศเลื่อนเวลาการตัดสัญญาณไปแล้ว 3 ครั้ง) รัฐบาลเขาบอกว่า “เครื่องปลอม” นั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและของบุคคลทั่วไป เพราะโทรศัพท์พวกนี้ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง และยังอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมด้วย ผู้ประกอบแต่ละรายมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซาฟารีคอมมีลูกค้าได้รับผลกระทบถึง 670,000 คน ตามด้วยแอร์เทลเคนยา 100,000 คน เทเลคอมออเรนจ์ 20,000 คน และยูโมบายอีก 45,000 คน ทางออกของผู้บริโภคคือต้องไปซื้อเครื่องใหม่มาใช้ก่อนกำหนดตัดสัญญาณดังกล่าว   รวมๆ แล้ว มีเลขหมายที่ถูกตัดสัญญาณทั้งหมด 800,000 เลขหมาย (รวมซิมการ์ดแบบไม่จดทะเบียนด้วย) ทั้งนี้ กสทช. ของเคนยา บอกว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตัดสัญญาณให้กับผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้บอกว่าผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยอย่างไร หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่โทรศัพท์ “ปลอม” สามารถผ่านชายแดนเข้ามาขายในประเทศได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐเช่นกัน เพราะผู้บริโภคทั่วไปจะไปตรวจสอบหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ด้วยตนเองได้อย่างไรกัน บอลจบ คนยังจบไม่ได้ ชาวฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมนักเตะจากสเปนได้ตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก (World Cup 2010) ไปครอง สำหรับพวกเราที่นี่พอได้รู้ว่าใครเป็นแชมป์ก็บ้านใครบ้านมัน แต่จนถึงวันนี้ มีผู้บริโภคชาวสเปนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเกมนี้ยังไม่จบ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ้ค และเครื่องรับโทรทัศน์ ยี่ห้อทอม ทอม และโตชิบา รุ่นที่โฆษณาในช่วงก่อนและขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศอัฟริกาใต้ว่า “ถ้าสเปนได้แชมป์ พวกเขาจะสามารถมาขอเงินคืนได้ทันที” ผ่านไปแล้ว 2 ปี บางคนก็ยังไม่ได้เงินคืน แต่ได้รับคำตอบจากบริษัททั้งสองแห่งว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์หลังการซื้อ (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บอกไว้ชัดเจนในโฆษณา) องค์กรผู้บริโภค FACUA ของสเปนบอกว่าขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาท่วมท้น และทีมกฎหมายขององค์กรก็กำลังเตรียมที่จะฟ้องบริษัทอยู่ เนื่องจากโฆษณาที่ว่านั้นเข้าข่ายทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นตามมาตรา 5 ของ พรบ.การค้าที่เป็นธรรม ของสเปน ความจริงโฆษณานี้ก็มีในประเทศอื่นในยุโรปด้วยเช่นกัน ทอม ทอม ทำโฆษณาใน 8 ประเทศ ในขณะที่โตชิบาก็โฆษณาใน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส แต่ไม่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้แชมป์   อาหารกลางวันเยอรมนี เดือนที่แล้วนักเรียนกว่า 11,000 คนในเยอรมนีตะวันออก (เบอร์ลิน แบรนเดนเบิร์ก แซ็กโซนี เทอริงเกีย)  ต้องล้มป่วยลงด้วยอาการอาหารเป็นพิษ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากชุดอาหารกลางวันที่มีสตรอเบอรี่แช่แข็งเป็นของหวานอยู่ด้วย ระบบอาหารกลางวันที่โน่นเขาใช้การจ้างบริษัทเอกชนจัดส่งให้ตามโรงเรียน สถาบันควบคุมและป้องกันโรค สถาบันประเมินความเสี่ยง และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของที่นั่น สันนิษฐานว่าโรงเรียนที่มีเด็กป่วยเหล่านี้ น่าจะได้รับอาหารจากบริษัทที่ชื่อ โซเด๊กโซ เหมือนกัน  และสาเหตุน่าจะมาจากไวรัสที่แฝงตัวมาในอาหาร อย่าง โนโรไวรัส โซเด๊กโซ ยืนยันว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของโรงเรียนที่เขาส่งอาหารให้เท่านั้นที่มีนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษ แต่ข่าวล่าสุด ระบุว่าโซเด๊กโซยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด (แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลข) เนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากบริษัทที่มารับช่วงการผลิตนั่นเอง นายกผู้ประกอบการอาหารโรงเรียนแห่งเบอร์ลินและแบรนเดนเบิร์ก บอกว่าเขาไม่แปลกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบแพงขึ้นในขณะที่งบช่วยเหลือที่รัฐบาลให้กับพวกเขาก็น้อยลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ 6 รายร่วมกันหยุดส่งอาหารตามโรงเรียนจนกว่าเทศบาลจะอนุมัติเพิ่มเงินช่วยเหลือ งานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ก็ระบุว่ารัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกอย่างน้อย 1 ยูโรต่อหัว จึงจะสามารถมีอาหารกลางวันที่ดีตามมาตรฐานของสมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนีให้กับเด็กนักเรียนได้ ปัจจุบันงบอาหารกลางวันอยู่ที่ประมาณ 2.50 ยูโรต่อหัว (99 บาท) แต่เขาบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องมีถึง 3.17 – 4.25 ยูโรต่อหัว (126 – 168 บาท)     นายก (อียิปต์) หยุดได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศของอียิปต์ กำลังเล็งจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 10 ของ พรบ. คุ้มครองการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดทางการค้าขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มประชาชนต่อต้านการขึ้นราคาสินค้า (Citizens Against Price Rise Association CAPRA) สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเต็มที่ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ในยามจำเป็นหรือเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอียิปต์จะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเผด็จการ ที่กำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเหมือนในอดีต เขาแค่ต้องการจัดระเบียบการค้าและป้องกันผู้บริโภคจากผู้ค้าบางรายที่อาศัยช่วงชุลมุนมาผูกขาดราคาสินค้า หลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 และเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น กลุ่ม CAPRA บอกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อนักธุรกิจพวกนี้ราวกับว่าพวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและใส่ใจความเดือดร้อนของคนในสังคม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ค้าเหล่านั้นไม่ได้มีความรับผิดชอบถึงระดับนั้น ข่าวบอกว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานแต่อย่างใด แต่เป็นผลพวงจากการคอรัปชั่นในช่วงการปกครองของนายมูบารัคนั่นเอง    ยักษ์ใหญ่ยอมแล้ว ในที่สุดห้างยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ก็ยินยอมที่จะใช้ฉลากอาหารระบบไฟจราจร เหมือนห้างอื่นๆ ในประเทศเสียที เทสโก้บอกว่าได้ทำการสำรวจความเห็นของลูกค้าแล้วพบว่า พวกเขาชอบฉลากแบบไฟจราจรที่แสดงให้เห็นกันไปเลยว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือ เกินไปหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ชอบฉลากแบบ GDA ที่ให้ข้อมูลละเอียดเป็นร้อยละด้วย เลยตัดสินใจจะใช้ฉลากระบบ “ลูกครึ่ง” ที่มีทั้งสองอย่างด้วยกัน ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ห้างอื่นๆ (Sainsbury, Mark & Spencer, Asda) เขาเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว อีกสองห้างได้แก่ Lidl และ Aldi ก็เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน และข่าวล่าสุดห้าง Morrisons ก็เปลี่ยนแล้วเช่นกัน องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ระบุว่าฉลากไฟจราจร จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและจัดการไขปัญหาโรคอ้วนของคนอังกฤษได้ดีที่สุด ข้ามฝั่งมาดูทางอเมริกาเขาบ้าง บริษัทน้ำอัดลม โค้ก เป๊ปซี่ และดร.เปปเปอร์ กำลังจะเปิดตัวตู้ขายน้ำอัดลมอัตโนมัติที่จะแจ้งปริมาณแคลอรี่ ให้ทราบก่อนลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ โดยจะเริ่มจากตึกราชการในเมืองชิคาโก และซานอันโตนีโอ และจะใช้ตู้ดังกล่าวทั่วประเทศในปี 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2555 6 กีฬาระดับชาติห้าม “จอดำ” หลังจากเหตุการณ์ “จอดำ” ช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต้องเร่งออกมาตรการมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ซึ่งทาง กสทช. ก็เตรียมออกประกาศให้รายการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ 6 รายการ ต้องมีการเผยแพร่ผ่านทางช่องฟรีทีวีโดยไม่สนว่าผู้ชมจะรับชมผ่านระบบการรับสัญญาณชนิดใด จะเป็นเสาก้างปลาหนวดกุ้ง เคเบิลทีวี จานดาวเทียมสีไหนหรือกล่องรับสัญญาณของใคร เมื่อกำหนดให้เผยแพร่ทางช่องฟรีทีวีแล้ว ผู้รับชมทีวีทุกคนต้องสามารถรับชมได้ สำหรับ 6 รายการแข่งขันกีฬาที่ทาง กสทช. บังคับว่าห้ามจอดำ ประกอบด้วย ซีเกมส์, พาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และการแข่งขันฟุตโลกรอบสุดท้าย มาตรการนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ MUST CARRY RULE ที่ กสทช. บังคับใช้ตั้งแต่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์จอดำ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกมาควบคุมผู้ให้บริการจานดาวเทียม กล่องรับสัญญาณ และเคเบิลทีวี ต้องให้บริการช่องฟรีทีวีโดยทั่วถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการ หรือตัดสัญญาณ จนทำให้ผู้บริโภคพลาดการรับชม     รักใครให้ล้างมือ การล้างมือให้สะอาดถือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่หลายคนกลับมองข้าม  ภญ.อินทิรา วงศ์อัญมณีกุล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยล้างมือลดโรคในโรงเรียน จึงขอนำเสนอผลการศึกษาการลดการเจ็บป่วยที่ได้จากการล้างมือ ซึ่งผลที่ออกมาชี้ชัดว่าการล้างมือบ่อยๆ ช่วยให้เราห่างไกลโรค โดยเป็นการทดลองในเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.4 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จำนวน 553 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2555 โดยเก็บข้อมูลการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยในช่วงก่อนและหลังให้ความรู้ในการล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จำนวนการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยลดลงจาก 156 คน เหลือ 74 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 50 การล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำจะช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เพราะโรคหลายโรคเริ่มจากมือที่ไม่สะอาดเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาแดง ไข้หวัด ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเราเริ่มให้ความสำคัญกับการล้างมือหลังจากมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เห็นประโยชน์ของการล้างมือ ถึงขนาดที่เมื่อปี 2008 สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Handwashing Day) จับตา...อาคารไม่ปลอดภัย ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยตามอาคารและตึกสูงต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้หรืออาคารถล่ม ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากตัวอาคารไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย หรือเจ้าของอาคารและผู้รับผิดชอบขาดความเอาใจใส่ดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงได้จับมือร่วมกันเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาคารที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอาคารที่หลบเลี่ยงการตรวจสอบการหน่วยงานของรัฐอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะใน กทม. ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ อย่าง สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่างๆ อาคารที่เป็นลักษณะที่อยู่อาศัยรวม เช่น คอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ รวมทั้งอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้เปิดใช้งาน ซึ่งจากสถิติการเกิดอัคคีภัยปี 2554 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า มีอัคคีภัยเกิดในคอนโดมิเนียม สำนักงานและอาคารสูงมากกว่า 180 แห่ง ขณะที่รถดับเพลิงสำหรับอาคารสูงเกิน 10 ชั้นยังมีจำกัดและถนนของซอยที่คับแคบยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังอาคารที่เสี่ยงอันตราย หากใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอาคารที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานได้ทันที   “ฟิลเลอร์”  เสี่ยงมากกว่าสวย ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสาวๆ ที่อยากสวยด้วยการฉีดสารต่างๆ กับกรณีของพริตตี้สาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการฉีดสารฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีสาวๆ จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเรื่องการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็น ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน และ กลูตาไธโอน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความสวยความงาม แต่ทางการแพทย์เอาไว้ใช้ในการแก้ไขความผิดปกติต่างของร่างกาย แต่กลับมีผู้ไม่หวังดีหรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักลอบนำเข้าสารเหล่านี้มาอย่างผิดกฎหมาย แล้วนำมาฉีดให้กับผู้ที่หลงเชื่อตาคำโฆษณาว่าฉีดแล้วสวยฉีดแล้วขาว โดยที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่าไม่มีการรับขึ้นทะเบียนยาฉีดคอลลาเจน เพราะยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ขณะที่สารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือ สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (Hyaluronicacid) ส่วนสารกลูตาไธโอนก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ ว่าช่วยทำให้ผิวขาว การฉีดสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายเพื่อความสวยความงาม ควรเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งจะมีเครื่องแพทย์และยารักษาคนไข้ได้ทันท่วงที สำหรับแพทย์ที่ทำการฉีดยาควรเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เพราะการฉีดต้องไม่ให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และปริมาณของยาต้องเหมาะสม อันตรายจากผลข้างเคียงของการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออวัยวะส่วนที่ฉีดสารนั้นเกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว ในผู้ที่แพ้มากๆ ก็อาจเกิดอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อผู้บริโภคแสดงพลัง กรณี “แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว” ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส” ที่ได้รับความเสียหายจากใช้บริการ ไม่ได้รับบริการตามที่ตกลงในสัญญา เนื่องจากมีสาขาที่ปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก จากการที่บริษัทตกอยู่ในภาวะล้มละลาย แถมยังถูกละเมิดสิทธิอย่างการไม่อนุญาตให้เขาไปใช้บริการหากไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มทั้งที่ไม่เคยได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ที่สำคัญสมาชิกหลายคนชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ทำให้ถูกธนาคารหักเงินค่าบริการอย่างต่อเนื่องทุกเดือนแม้จะเข้าไปใช้บริการไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ใจให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งยอดผู้ร้องเรียนที่เข้ามายังมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 21-31 ส.ค. 2555 มีจำนวนมากกว่า 500 คน รวมเป็นค่าเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนสมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส เดินหน้าเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ทำหนังสือถึงบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากับสมาชิก โดยขอให้ทางบริษัทแจ้งกับธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตให้ยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และสมาชิกที่ประสงค์จะยกเลิกสัญญา ขอให้ทางบริษัทคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดทุกกรณี ต่อด้วยการจัดเวทีสาธารณะโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ความใจที่ถูกต้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปกป้องสิทธิ จากนั้นก็มีเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ดำนานการเอาผิดกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตามกฎหมายต่อไป ต้องคอยติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว สิทธิของผู้บริโภคในเมืองไทย จะยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นอยู่หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 สมาชิกตลอดชีพ ถึงเวลาผู้บริโภคเอาคืน

ประมาณสองปีที่แล้วมีสมาชิกฉลาดซื้อที่แสนดีแจ้งความจำนง ว่า อยากสมัครสมาชิกตลอดชีพ เราต่างยินดีกันที่สมาชิกรักเรามากขนาดนั้น แต่ก็ร่วมกันตัดสินใจบอกสมาชิกไปว่า สมัครซัก 5 ปีทดแทนก็แล้วกันเพราะเราเชื่อว่าฉลาดซื้อสามารถมีชีวิตผลิตหนังสือให้ผู้บริโภคอ่านได้มากกว่า 5 ปีแน่นอน แต่หากเราพิจารณาทิศทางของการตลาดบริการในปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ถูกการตลาดแนวใหม่ทั้งบังคับและเต็มใจเนื่องจากเห็นว่าคุ้มค่า ราคาถูกในการสมัครสมาชิกประเภทตลอดชีพ นับตั้งแต่การบริการล้างรถยนต์ บริการสถานเสริมความงาม ลดน้ำหนัก นวด หรือที่ฮือฮามากคงหนีไม่พ้นสถานบริการออกกำลังกายพร้อมเทรนเนอร์แคลิฟอเนียร์ฟิตเนสว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีกลยุทธ์มากมายหลายวิธีการในการส่งเสริมการตลาดให้สมัครสมาชิกและโดยเฉพาะสมาชิกประเภทตลอดชีพ   ยังไม่นับรวมปัญหาหลักฐานการขายที่แจ้งผู้บริโภคว่าเป็นการสมัครสมาชิกตลอดชีพ แต่ใบเสร็จที่มีต่างเป็นสมาชิกรายปี ไม่มีการระบุว่าเป็นสมาชิกตลอดชีพแต่ประการใด หรือการขายบริการเทรนเนอร์หนุ่มที่สามารถจูงใจให้สามารถใช้เงินต่ออายุตลอดเวลาหากคำนวณก็คงจะพบว่า ใช้เท่าไหร่ก็ไม่วันหมด ยิ่งใกล้ๆปิดสาขายิ่งขายได้มาก ผ่านข้ออ้าง “ช่วยสมัครเพื่อจ่ายเงินเดือนเทรนเนอร์หนุ่ม” แถมบางคนสมัครตลอดชีพเพียงไม่กี่วันก็ไม่สามารถไปใช้บริการได้แล้วเพราะสถานบริการออกกำลังกายซึ่งมีอยู่หลายสาขาเหลือให้บริการได้เพียงสาขาเดียวในกรุงเทพมหานคร และอีกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ จนนำมาซึ่งผู้เสียหายที่ร้องเรียนกับมูลนิธิ ฯ มากกว่า 500 ราย ความเสียหายสูงสุดที่มาร้องเรียนไม่น้อยกว่า หนึ่งล้านแปดแสนบาท แต่สมาชิกหลายคนแอบกระซิบเสียงดังว่ามีบางคนจ่ายเงินไปมากกว่าสามล้านบาท ถึงแม้เราจะมีกฎหมายป้องกันการล้มบนฟูกของผู้ประกอบธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 44 ในคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งถูกฟ้องเป็นนิติบุคคล หากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า นิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และทรัพย์สินไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วนผู้ถือหุ้น หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงาน หรือนิติบุคคลร่วมรับผิดต่อผู้บริโภค แต่กรณีนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพราะบริษัทนี้ถูกฟ้องคดีต่อศาลล้มละลาย จึงทำให้โอกาสของผู้บริโภคในการได้รับเงินคืนเหลือน้อยลงเพราะไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ ความจริงและกุญแจสำคัญของผู้บริโภค คือ ทุกคนถูกหลอกให้ทำสัญญา ใช้เทคนิคต่างๆ นานา และยินยอม เสียทรัพย์ เพราะเกิดจากการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ในการทำสัญญาเข้าใจโดยตลอดว่า เป็นสมาชิกตลอดชีพแต่ มิใช่สัญญาตลอดชีพ ถึงเวลาผู้บริโภคเอาคืนผ่านการฟ้องคดีอาญาฐานฉ้อโกงหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ช่วยฟ้องเอาคืนให้ผู้บริโภคเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับธุรกิจอื่นๆ กรณีนี้ทำให้เกิดข้อเสนอต่อผู้บริโภคหลายประการ เช่น ต้องหยุดสมัครบริการทุกประเภทที่เป็นสมาชิกตลอดชีพ เพราะจริยธรรมของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในประเทศไทยยังไม่สูงพอ โอกาสในการปิดกิจการหลังจากมีกำไรเฉพาะตัวยังมีได้สูง กฎหมายยังมีช่องว่าง สะท้อนความไม่พร้อมของภาคธุรกิจในการให้บริการแบบตลอดชีพแม้แต่ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 คำกล่าวอ้างทางสุขภาพบนฉลากอาหาร

อาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ถ้าไม่เพิ่มหรือลดสารอาหารบางอย่าง ก็ดูจะไม่อินกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามคิดหาอะไรมาเป็นจุดขายเพิ่มความโดดเด่นกับสินค้าของตนเอง เราจึงเห็นโฆษณาและข้อความกล่าวอ้างบนฉลากประเภท มีวิตามิน บี 12 แคลเซียมสูง หรือไขมันต่ำ อยู่เสมอ คำกล่าวอ้างที่ปรากฏบนฉลากอาหาร มีผลอย่างมากที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ  ในงานวิจัยเรื่อง อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารโดยดูข้อความกล่าวอ้างได้แก่ ไขมันต่ำ ร้อยละ 92.6 ไม่มีโคเรสเตอรอล ร้อยละ 90.4 และ ไขมันอิ่มตัว 0% ร้อยละ 89.5 เช่นเดียวกับที่ฉลาดซื้อเคยทำผลสำรวจไปเมื่อฉบับ 134 ที่พบว่า ร้อยละ 76.8 มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ   ความจริงของคำกล่าวอ้างบนฉลาก คำกล่าวอ้างบนฉลากที่บอกปริมาณสารอาหาร (Nutrient content claim) นั้น หากผู้ประกอบการจะนำมาแสดงบนฉลาก ต้องเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ หมายความว่า คำที่จะนำมาใช้ต้องเป็นคำที่กฎหมายกำหนดจะมาใช้คำตามใจชอบไม่ได้ ฉลาดซื้อขอนำข้อมูลบางส่วนมานำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคำกล่าวอ้างที่กำลังฮิตในปัจจุบัน ไขมัน ไขมันต่ำ (low fat) ต้องมีไขมันต่ำกว่า 3 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภคและขนาดของหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือ ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ ปราศจากไขมัน (fat free) มีไขมันน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภค ปราศจากไขมันอิ่มตัว (saturated fat free) มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค และมีไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ปราศจากโคเลสเตอรอล (cholesterol free) มีโคเลสเตอรอลน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โคเลสเตอรอลต่ำ (low cholesterol) มีโคเลสเตอรอลไม่เกิน 20 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   น้ำตาล ปราศจากน้ำตาล (sugar free) มีน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   ใยอาหาร ใยอาหารสูง (high fiber) มีปริมาณใยอาหารตั้งแต่ 5 กรัมขึ้นไป และอาหารนั้นจะต้องจัด อยู่ในประเภทไขมันต่ำร่วมด้วย หรือต้องระบุปริมาณไขมันถัดจากปริมาณใยอาหารเป็นแหล่งใยอาหาร (food source of fiber) ใยอาหาร 2.5-4.9 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค  พลังงาน ปราศจากพลังงาน (calorie free) มีพลังงานน้อยกว่า 5 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 หน่วยบริโภค พลังงานต่ำ (low calorie) มีพลังงานน้อยกว่า 40 กิโลแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและขนาดหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ   ดังนั้นจะเห็นว่า คำว่า ปราศจาก ไม่ได้หมายถึง ไม่มี หรือ เป็น 0 แต่ยังมีอยู่น้อยกว่า 0.5 กรัม เช่น กรณีน้ำตาลและไขมัน ที่สำคัญคือ กฎหมายไม่อนุญาตการกล่าวอ้าง “ปราศจาก” หรือ “ต่ำ” หากอาหารนั้นหรืออาหารชนิดนั้นโดยธรรมชาติทั่วไปเป็นไปตามเงื่อนไขอยู่แล้ว โดยมิได้มีการใช้กระบวนการผลิตพิเศษ หรือมีการปรับสูตรเพื่อให้อาหารนั้นมีปริมาณสารอาหารที่จะกล่าวอ้างลดลงจนเป็นไปตามเงื่อนไข เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอาหารจากผู้ผลิตนั้นแต่เพียงผู้เดียวที่มีคุณสมบัตินี้ ตัวอย่างเช่น ไม่อนุญาตให้น้ำบริโภคแสดงข้อความ “ปราศจากพลังงาน” หรือ “ไขมันต่ำ” เนื่องจากน้ำบริโภคทั่วไปจากผู้ผลิตทุกรายก็มีคุณสมบัตินี้ด้วย   กรณีกล่าวอ้างว่า “มี” หรือ “สูง”  การบอกว่า มี สารอาหารชนิดที่อ้างก็ต้อง มีจริงๆ แต่ถ้ามีจริงแต่มีน้อยเกินกว่าจะเป็นประโยชน์ในทางโภชนาการต่อร่างกาย ก็ห้ามแสดงคำว่า “มี” จะกล่าวอ้างว่า มี ได้ก็ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI) และถ้าจะกล่าวอ้าง ด้วยคำว่า “สูง” (high) ก็ต้องมีสารอาหารชนิดที่อ้าง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI)   กรณีการกล่าวอ้างถึงหน้าที่ของสารอาหารที่มีต่อร่างกาย สารอาหารที่มีการกล่าวอ้างถึง ต้องมีอยู่ในบัญชีสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) โดยผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างต้องมีสารอาหารนั้นอยู่ในระดับที่จัดว่า “เป็นแหล่งของ” ของสารอาหารนั้นในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงและปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แสดงบนฉลาก  มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และการกล่าวอ้างจะต้องไม่มีข้อความระบุหรือมีความหมายให้เข้าใจว่าการบริโภคสารอาหารนั้นจะสามารถป้องกันหรือบำบัดรักษาโรคได้ ตัวอย่าง “แคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน” การจะระบุเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีแคลเซียมอย่างน้อย ร้อยละ 10 ของ (Thai RDI) เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นข้อความนี้แล้วจะเข้าใจทันทีว่า ผลิตภัณฑ์นี้ มีแคลเซียมอยู่มาก   ความจริงเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องฉลากของผู้บริโภค คำกล่าวอ้างที่ดึงดูดใจนั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งฉลากอาหารคือด่านแรกที่จะวัดว่า ผู้บริโภค เข้าใจหรือเข้าใจมากพอหรือไม่ในการซื้อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้ออาศัยช่วงงานสมุนไพรแห่งชาติที่ผ่านมา สำรวจทัศนคตินักช้อปที่ร่วมเดินภายในงาน วันที่ 7-9 กันยายน 2555 จำนวน 317 คน เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องฉลากอาหาร พบว่า  ร้อยละ 90.9 เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง การแสดงฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) นั้น เป็นการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับสำหรับอาหารที่มีการกล่าวอ้างต้องแสดงฉลากโดยบังคับ ร้อยละ 53.6 เข้าใจว่าข้อความบรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัด บรรเทาโรค สามารถระบุบนฉลากอาหารได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะฉลากอาหารห้ามเด็ดขาดมิให้บรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัดหรือบรรเทาโรค เพราะอาหารไม่ใช่ยา ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งถูกหลอกให้เสียเงินมาแล้วเป็นจำนวนมากเพราะเชื่อว่า กินอาหารตามที่อ้างสรรพคุณรักษาโรคได้แล้วจะช่วยหายจากอาการเจ็บป่วย ความเข้าใจในเรื่องฉลากจึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ เพื่อยกระดับผู้บริโภคของเราให้เท่าทันเกมของผู้ประกอบการ ข้อมูล อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 Price Grab เปรียบเทียบความคุ้มค่าสินค้า ใน App Box

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนตั้งใจไปช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยความเพลิดเพลิน แต่พอดูราคากับปริมาณสุทธิของสินค้าทำให้ความเพลิดเพลินนั้นหายไปเลยทีเดียว ผู้อ่านสังเกตไหมคะ ว่าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีขนาดแตกต่างกัน โดยที่ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก หรือบางทีดูภายนอกสินค้ากล่องใหญ่น่าจะคุ้ม แต่พอคำนวณจริงๆแล้วกล่องเล็กคุ้มกว่า ด้วยจิตวิญญาณของผู้บริโภคแบบฉลาดซื้อจึงรู้สึกเพลียกับการคำนวณของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค้นพบแอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณปริมาณสุทธิของสินค้ากับราคา ของสินค้า 2 ประเภท เพียงแค่กรอกตัวเลข แอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้ามาให้อย่างรวดเร็ว แค่นี้ผู้เขียนก็ยิ้มออก ^_^ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า App Box ซึ่งภายในแอพฯ นี้ จะมีแอพฯ ย่อยอีกมากมาย ผู้อ่านสังเกตไอคอนที่เขียนว่า Price Grab ที่จะช่วยผู้อ่านเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างสินค้า 2 ชนิด โดยหน้าจอจะแบ่งเป็น 2 ส่วนซ้ายขวา คือ สินค้า A และสินค้า B ซึ่งในสินค้าแต่ละชนิด ผู้อ่านต้องกรอกราคาและปริมาณสุทธิของสินค้า หลังจากกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว โปรแกรมจะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้าระหว่าง 2 ชนิด ถ้าสินค้า B มีความคุ้มค่ามากกว่าสินค้า A จะปรากฏภาพดังนี้  A < B นอกจาก Price Grab ใน App Box แล้ว ยังมี Currency โปรแกรมคำนวณเรื่องสกุลเงินของแต่ละประเทศ Date Calc โปรแกรมคำนวณระยะเวลา  Day Until เป็นสมุดบันทึกรายการนัดหมายที่สามารถใส่รูปได้  Holidays รายละเอียดของรายการวันหยุดประจำปีของแต่ละประเทศที่รวบรวมไว้ Loan โปรแกรมสำหรับคำนวณดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ยืมหรือผ่อนทั้งหลาย  pCalendar โปรแกรมคำนวณสำหรับสาวๆ (คำนวณการมีประจำเดือน) Tip Calc โปรแกรมคำนวณการจ่ายทิป ภาษี คำนวณได้ทั้งสินเครื่องอุปโภคบริโภค Unit โปรแกรมแปลหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของพื้นที่ ความยาว ความดัน อุณหภูมิ ปริมาตร น้ำหนัก เช่น กิโลเมตรเป็นเซนติเมตร ลองหาแอพพลิเคชั่น App Box มาเล่นกันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 น้ำกัดเท้า

น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ...... โอมเพี้ยง....ขออย่าให้คณะผู้บริหารจัดการน้ำไม่เป็นแบบคำพังเพยโบราณเลย....... ถ้าน้ำมาก็ขอให้น้อยกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบปี 55 นะๆๆ แต่ถ้าน้ำนองในบางพื้นที่ ขอแนะนำสูตรยาแก้น้ำกัดเท้าที่ตกทอดมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่สมัยสังคมไทยยังเป็นเมืองทำนาปลูกข้าวกว่า 80% จนตอนนี้หดหายไปเกือบครึ่ง หลบไปทำอย่างอื่นกันหมด แม้ยังทำเกษตรแต่ก็แห่ไปทำสวนยางสวนปาล์มกันมากมาย โบราณกาล ชาวนาเขาต้องยืนแช่น้ำในนาข้าวอยู่นานสองนาน ต้องเจอกับน้ำกัดเท้าเป็นประจำ ตำรับยานี้จึงทำง่ายสุดๆ และเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมขนานแท้ เพียงแค่นำสารส้มสะตุ และดินสอพองสะตุมาผสมกัน คำว่าสะตุ เป็นคำโบราณเกี่ยวกับการปรุงยาไทย หมายถึงไปทำให้สะอาดหรือดับพิษลดพิษจากตัวยาเสียก่อน วิธีทำ ให้นำสารส้มมาบดเป็นผงละเอียด นำไปใส่ในหม้อดิน แล้วนำไปตั้งไฟ สารส้มจะฟูขึ้น ปล่อยไว้จนฟูขาวสะอาดดี จึงนำลงจากเตาไฟ เรียกว่าสารส้มสะตุ สรรพคุณตามตำรายาไทยกล่าวว่า สารส้มช่วยสมานทั้งภายในภายนอก เฉพาะยาภายนอกช่วยแก้อาการคัน สมานแผล ห้ามเลือด ดินสอพองสะตุ ให้นำดินสอพองใส่กระทะ ตั้งไฟให้ร้อน คั่วดินสอพองให้สุกหรือผ่านความร้อนเพื่อทำให้สะอาดเช่นกัน ดินสอพองมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อโรคอ่อนๆ และเป็นเหมือนแป้ง เมื่อทาผิวจะลดความชื้น แก้อาการคัน และไม่ให้เชื้อราลุกลามได้ง่ายนั่นเอง   ตำรับยาให้ใช้สารส้มสะตุและดินสอพองสะตุ อย่างละเท่าๆ กัน นำผสมกันใช้ทาที่แผล(หยดน้ำสะอาดเล็กน้อยเพื่อให้ผงยาเป็นยาเหลวทาง่ายขึ้น) ใช้วันละ 3-4 ครั้ง แต่ถ้าหาดินสอพองทำยาได้ยาก ก็ไม่ต้องใช้ ให้ใช้เฉพาะผงสารส้มสะตุละลายน้ำทาเลย ถ้าน้ำท่วมใหญ่มาอีกรอบ ขอให้บริจาคก้อนสารส้มกันบ้าง แล้วบรรดาอาสาสมัครแบ่งกลุ่มมาช่วยกันนั่งตำให้เป็นผง ตั้งเตาไฟใส่หม้อดินตามวิธีข้างต้น ปล่อยให้แห้งหาขวดใบเล็กๆ กรอกไว้แจกจ่าย แล้วแบ่งงานอาสาอีกกลุ่มช่วยกันทำฉลากและวิธีใช้ติดข้างขวด ใครๆ ก็ใช้ได้ถูกต้อง แต่ถ้าจวนเจียนไม่มีใครทำสะตุให้ ทำแบบสดๆ ก็สามารถใช้ได้ทันที ให้เอาก้อนสารส้มก้อนเล็กๆ ใส่ในช้อน แล้วเอาช้อนไปลนไฟเทียนไข สารส้มจะค่อยๆ ละลายเป็นน้ำ ใช้ก้านไม้พันสำลีจุ่มลงไปในน้ำสารส้ม แล้วเอามาทาที่น้ำกัดเท้า ทาบางๆ วันละ 3-4 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ดีไม่แพ้กัน อีกสูตรหนึ่งถ้าพื้นที่แห้งมีการปลูกต้นพลูไว้ ให้อาสาสมัครนอกแนวน้ำท่วมช่วยกันเอาใบพลูมาล้างให้สะอาด หั่นซอยเป็นชิ้นเล็ก แล้วใส่ครกตำให้ละเอียด ใส่ภาชนะหรือโหลแก้วแล้วเทเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ให้ท่วมยา ปิดฝาแช่ทิ้งไว้ 1 คืน (อย่างน้อย 12 ชั่วโมง) กรอกเอาแต่น้ำยาบรรจุขวดเล็กๆ เวลาใช้ให้เอาสำลีชุบน้ำยาในพลูทาที่แผล วันละ 3-4 ครั้ง ใบพลู ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิด ช่วยแก้อาการคัน และแก้กลาก เกลื้อน และโรคน้ำกัดเท้าที่มาจากเชื้อราได้ ขณะนี้มีการผลิตเป็น เจลพลู หรือเรียกโก้ๆ ว่าพลูจีนอล สรรพคุณไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันเลย ใบพลูแน่กว่ายาต้านเชื้อราเฉยๆ เพราะใบพลูมีสรรพคุณลดอาการคันด้วย เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจากพลูมีฤทธิ์คล้ายยาชาเฉพาะที่ (ฤทธิ์อ่อนๆ) จึงช่วยแก้อาการคัน ถ้าต้องเดินลุยน้ำแช่น้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดเท้าให้แห้ง ช่วยลดการเกิดน้ำกัดเท้า แต่ถ้าเสียทีน้องน้ำแล้ว ให้ลองใช้ตำรายาโบราณสู้กับน้ำกัดเท้าดูนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 บ่มผิวให้สวยเนียนด้วยน้ำผึ้ง และ พรอพอลิส

น้ำผึ้ง ถือเป็นยาอายุวัฒนะที่ได้รับการกล่าวถึงตั้งแต่ยุคโบราณ ชาวกรีกจะดื่มน้ำผึ้งก่อนลงแข่งกีฬาโอลิมปิก เพราะเชื่อว่า น้ำผึ้งช่วยขจัดความเมื่อยล้าได้ ชาวอียิปต์ได้ใช้น้ำผึ้งช่วยสมานแผลในการผ่าตัด เพื่อฆ่าเชื้อโรค รวมไปถึงการทำมัมมี่เพื่อช่วยรักษาสภาพร่างกายของมัมมี่ให้คงอยู่ทนนาน  นอกจากนี้น้ำผึ้งยังเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ถูกใช้เพื่อความงามมาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันอย่างแพร่หลายอย่างที่เห็นกันในโฆษณาโทรทัศน์  น้ำผึ้งถูกนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และครีมบำรุงผิวพรรณชนิดต่างๆ ส่วนประกอบของน้ำผึ้งจากธรรมชาติ น้ำผึ้ง เป็นผลิตผลของน้ำหวาน (nectar) จากดอกไม้ และจากแหล่งน้ำหวานอื่นๆ เช่น น้ำหวานจากเพลี้ย ที่ผึ้งไปเก็บมา ผ่านขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และกายภาพบางประการ แล้วสะสมไว้ในรังผึ้ง  โดยน้ำผึ้งจะประกอบด้วย 1. น้ำ เป็นส่วนประกอบไม่เกิน 20% 2. คาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารที่มากที่สุด คือ มีปริมาณ 79% ในรูปของน้ำตาลฟรุกโทส และกลูโคส โดยมีปริมาณน้ำตาลฟรุกโทส มากกว่าน้ำตาลกลูโคสเล็กน้อย ทำให้น้ำผึ้งไม่ตกผลึก และมีรสหวานกว่าน้ำตาลชนิดอื่น 3. กรด มีประมาณ 0.5% ทำให้น้ำผึ้งมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย โดยกรดที่พบมากคือ กรดกลูโคนิก   4.แร่ธาตุ มีประมาณ 0.5%  ได้แก่ แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โซเดียม สังกะสี เหล็ก แมงกานีส ทองแดง โดยน้ำผึ้งที่มีสีเข้มจะมีปริมาณแร่ธาตุสูงกว่าน้ำผึ้งที่มีสีอ่อน 5. วิตามิน เช่น วิตามินบี 1,2 และ 6 วิตามินซี เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามส่วนประกอบของน้ำผึ้งอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุดิบหรือชนิดของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งได้ไป รวมถึงแหล่งของพืชและพื้นดินนั้น ๆ ที่ผึ้งเจริญเติบโตอยู่ด้วย   น้ำผึ้งถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านความงาม ด้วยคุณสมบัติตามธรรมชาติ ดังนี้ 1.  น้ำผึ้งเป็นสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (Humectant) เนื่องจาก ในน้ำผึ้งมี เดกซทริน ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลของกลูโคสต่อกันเป็นโซ่ยาวเป็นส่วนประกอบ ทำให้น้ำผึ้งมีคุณสมบัติในการดึงและเก็บความชื้นไว้ได้ เมื่อนำมาทาผิวหนังจะทำให้ผิวหนังมีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นต่างๆ 2. น้ำผึ้งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีบทบาทในดูดซับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากรังสี UV และ มลพิษจากสิ่งแวดล้อม  ทำให้การทำลายเซลล์ร่างกาย  ถูกยับยั้ง หรือเกิดขึ้นน้อยลง 3. น้ำผึ้งมีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านจุลินทรีย์และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เนื่องจากในน้ำผึ้งมีปริมาณน้ำตาลสูง  ทำให้มีแรงดูดซึม (osmotic pressure)ที่มาก ดังนั้นจึงดูดซึมน้ำจากเซลล์จุลินทรีย์ต่างๆ ออกมาหมด ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถเติบโตได้หรือตายได้ นอกจากนั้นแล้วความเป็นกรดของน้ำผึ้งและสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในน้ำผึ้ง ยังช่วยป้องกัน และ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด อีกด้วย "พรอพอลิส" (Propolis) คืออะไร ? นอกจากน้ำผึ้งแล้ว ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า "พรอพอลิส" กันมาบ้าง โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย พรอพอลิส คือ สารเหนียวหรือยางเหนียวๆ ที่ผึ้งงานเก็บมาจากตาหรือเปลือกของต้นไม้เพื่อใช้ปิดรอยโหว่ของรัง และห่อหุ้มศัตรูที่ถูกฆ่าตายในรังแต่ไม่สามารถนำออกไปทิ้งนอกรังได้ และเพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเหม็นในรังผึ้ง ชาวกรีกตั้งชื่อสารนี้ว่า "propolis"  ซึ่งมาจากคำว่า "pro" หมายถึง "ก่อน" และ "polis" หมายถึง "เมือง" ซึ่งในสมัยนั้นกรีกเองก็สันนิษฐานว่า ผึ้งคงจะใช้พรอพอลิสสำหรับป้องกัน "เมือง" หรือรังของตนเองให้พ้นจากเชื้อโรคและศัตรูต่างๆ ไม่ให้บุกรุกเข้ามา พรอพอลิสประกอบด้วย ยางไม้ร้อยละ 45 ไขมันร้อยละ  30 น้ำมันร้อยละ 10 และเกสรดอกไม้ร้อยละ 5 นอกจากนี้ยังประกอบด้วยวิตามินบี  จากผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พรอพอลิส มีคุณสมบัติที่ดีในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา และเมื่อเป็นส่วนผสมในสบู่จะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียที่ผิวกายอันเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นกายนั่นเอง แม้ว่าคุณสมบัติของน้ำผึ้งและพรอพอลิส จะได้รับการยอมรับในทางวิทยาศาสตร์  แต่อย่างไรก็ตามการเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบนั้น ผู้บริโภคควรคำนึง ปริมาณ หรือความเข้มข้น และ ความคงตัวของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งแหล่งที่มาของน้ำผึ้ง และ พรอพอริสที่ใช้เพื่อให้ได้รับคุณประโยชน์ตามต้องการได้. เอกสารอ้างอิง 1. สิริวัฒน์ วงษ์สิริ. ผึ้ง. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 15. 2534 2. Majiene D, Trumbeckaite S, Pavilonis  A, Savickas  A, Martirosyan DM. Antifungal and Antibacterial Activity of Propolis. Current Nutrition & Food Science. 2007;3:304-308.

อ่านเพิ่มเติม >