ฉบับที่ 136 ปั่นปลอดภัย ไปกับหมวกนิรภัย

เป็นที่รู้กันดีว่าการขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง แถมยังเป็นการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดอยู่ตรงที่หลายคนยังไม่มั่นใจว่าการใช้จักรยานสัญจรไปมาจะปลอดภัย มูลนิธิโลกสีเขียวมีผลสำรวจความคิดเห็นที่ยืนยันว่าร้อยละ 85 ของคนกรุงเทพฯ ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม (ประมาณ 4,500 คน) ยินดีจะใช้จักรยานในการเดินทางถ้าพวกเขารู้สึกว่าสามารถขับขี่ได้โดยไม่มีอันตราย ระหว่างที่เรากำลังรอให้เกิดทางจักรยานที่ปลอดภัยและใช้สะดวกมากขึ้น ฉลาดซื้อ ขอนำเสนอผลการทดสอบหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บเป็นหลัก ตามด้วยความสะดวกสบายในการสวมใส่ การระบายอากาศ และการปลอดสารเคมีอันตราย   ด้วยเนื้อที่อันจำกัด เราจึงขอนำเสนอเฉพาะ 10 รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงสุด (จากหมวกที่เข้าทดสอบทั้งหมด 25 รุ่น) และได้คะแนนประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บในระดับ 4 ดาว ต้องบอกไว้ตรงนี้ว่ายังไม่มีรุ่นไหนที่ได้คะแนน 5 ดาวไปเลย     Casco Activ-TC ราคา  2,390 บาท น้ำหนัก 291 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         5 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     Specialized Align  ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 336 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Specialized Echelon ราคา 2,500 บาท น้ำหนัก 293 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Giro Savant  ราคา 3,000 บาท น้ำหนัก 240 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Profex FZ-006 ราคา 720 บาท น้ำหนัก 257 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศ  - ไม่ระบุ     Giro Transfer ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 261 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Cratoni  Evolution ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 501 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         3 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Uvex Discovery  ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 398 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  3 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Casco E.Motion ราคา 5,500 บาท น้ำหนัก 464 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       3 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     BELL Muni  ราคา 3,200 บาท น้ำหนัก 326 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       2 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5     รุ่นอื่นๆ ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 3 ดาว Nutcase URS - 011S BELL Venture BELL Faction ABUS ASA Aven-U Etto B-1350 City Safe Uvex xp 17 city ALPINA City Giro Surface GUB GUBX5   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 2 ดาว Rudy Project Snuggy ABUS HS-17 Urbanaut Limar 525 KED Sky Two   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 1 ดาว MET Cameleonte Executive ---   ฉลาดซื้อแนะ หมวกนิรภัยมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกที่จะซื้อแบบ “มือสอง” มาใช้ อย่าลืมตรวจเช็คว่ามีรอยบุบหรือไม่ (เพื่อจะได้มั่นใจว่ามันยังไม่ผ่านการชนหรือกระแทกมาแล้ว) ที่สำคัญวัสดุต่างๆที่ใช้ทำตัวหมวกก็มีอายุจำกัด ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงหมวกที่ผลิตมาแล้วเกิน 5 ปี เมื่อมีหมวกแล้วก็ต้องรู้จักวิธีสวมใส่ที่ถูกต้องด้วย ใส่แบบไหนแล้วเท่เราตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะใส่ให้ปลอดภัย หมวกของคุณจะต้องอยู่ในแนวระนาบเท่านั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือการสวมใส่หมวกนิรภัยเสมอเมื่อคุณขับขี่จักรยาน เพราะอุบัติเหตุไม่เลือกเวลาหรือระยะทางอยู่แล้ว แต่หมวกนิรภัยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับเราได้ เรายังต้องการทางจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย เพื่อประสบการณ์การขับขี่ที่สุนทรีย์ด้วย ---- จากใจคนรักจักรยาน กรุงเทพฯ อาจจะยังห่างไกลจากการเป็น “เมืองจักรยาน” แต่มีคนอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่นิยมชมชอบการขี่จักรยานทั้งเพื่อเดินทางมาทำงานและเพื่อเป็นกิจกรรมผ่อนคลายในวันหยุด เรามารู้จักกับนักปั่น 3 คน จากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อให้เกิดระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในบ้านเรา มาดูกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับขี่จักรยานอย่างไรกันบ้าง สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการฯ สุรชัยให้ความเห็นว่า แม้กรุงเทพฯ จะมี “ทางจักรยาน” แต่จากการใช้เส้นทางจริงนั้นพบว่ายังไม่สามารถใช้ได้สะดวก ทางจักรยานซ้อนทับทางเท้า  ทางจักรยานไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยก็มี ทางไม่มีการปรับให้เรียบ มีแต่เพียงเส้นขีดไว้เท่านั้น เขามองว่า “ทางจักรยาน” ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ได้สะดวก บางครั้งทางไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยเสียดื้อๆ บางช่วงก็ซ้อนทับทางเท้า พื้นผิวทางโดยรวมก็ไม่มีการปรับให้เรียบ บ่อยครั้งไม่มีทางลาดช่วยในการเปลี่ยนระดับ (ทำให้ผู้ขับขี่ต้องจอดและยกรถจักรยาน) แถมบางพื้นที่ยังกลายเป็นแผงขายของไปอีกด้วย และที่เป็นเรื่องท้าทายสุดๆ สำหรับนักปั่น ตามความเห็นของเขาคือ ฝาท่อระบายน้ำที่บ้างก็วางในแนวขวาง บ้างก็วางในแนวขนานไปกับถนน เรียกว่าเผลอไม่ได้เลยทีเดียว สุรชัยซึ่งใช้จักรยานในการสัญจรมาตั้งแต่ปี  2548 เคยประสบอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ในวันที่คิดว่าออกไปไม่ไกลบ้าน จึงไม่ได้สวมหมวกนิรภัย แต่จักรยานล้มในช่วงที่กำลังเข้าโค้งหน้าปากซอย ผลคือคิ้วแตกและโหนกแก้มยุบ ทำให้ต้องหยุดงานไปประมาณ 4 เดือน แถมเสียค่ารักษาพยาบาลไปไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท เขาจึงอยากจะย้ำว่าหมวกนิรภัยนั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย   สุภาภรณ์ มาลัยลอย เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ สุภาภรณ์ค้นพบว่า การขี่จักรยานมาทำงานนั้นเป็นประสบการณ์ที่รื่นรมย์อย่างยิ่ง จะขัดใจอยู่บ้างก็ตรงป้ายโฆษณาที่วางระเกะระกะบนทางจักรยาน และบางช่วงของทางที่ไม่เอื้อต่อการผ่านไปของจักรยานนี่แหละ เธอปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร จากบ้านในซอยลาดพร้าว 62 มายังสำนักงานในซอยรามคำแหง 39 เจ้าตัวยืนยันว่ามันสะดวกอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้าซึ่งรถติดมากๆ เธอก็ยังสามารถมาถึงสำนักงานได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ที่สำคัญประหยัดค่าเดินทางไปวันละ 66 บาท แม้จะต้องจ่ายค่าซ่อมเกียร์ เติมลม ปะยางบ้าง ก็ยังถือว่าคุ้ม สำหรับเธอ แม้ทางจักรยานจะยังไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากล แต่การได้ขี่จักรยานเองก็ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยกว่าการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อยู่ดี   สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ รายนี้ขัดใจกับ “ทางจักรยาน” ในเส้นทางที่เขาใช้ประจำ จนต้องหลบลงไปปั่นบนพื้นถนนอยู่บ่อยครั้ง เขาอยากให้มีการนำแนวคิดการจัดพื้นที่ถนนให้สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์และจักรยาน เจ้าตัวบอกว่าอยากให้เหมือนกับถนนที่เจนีวา ที่แบ่งพื้นที่ถนนครึ่งเลนให้กับจักรยานไปเลย สงกรานต์บอกว่าความจริงแล้วเลนจักรยานบนถนนสีลมบ้านเราก็มี เพียงแต่ยังถูกใช้เป็นที่จอดรถอยู่  หลักๆ แล้วเขาเชื่อว่าจะมีคนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ถ้ามีการออกแบบทางจักรยาน (ย้ำว่าต้องเป็น “ทางจักรยาน” ไม่ใช่การขีดเส้นเฉยๆ) โดยยึดหลักความปลอดภัย ความสะดวก และการเชื่อมต่อกับบริการสาธารณะ เช่นที่สำหรับจอดรถจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยจากการโจรกรรมนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ทำให้หลายคนไม่กล้าเสี่ยง สงกรานต์ลงทุนซื้อจักรยานไป 4,500 บาท ใช้ปั่นมาทำงานทุกวัน เขายืนยันว่าไม่เกิน 5 เดือนก็คืนทุน แต่ทั้งนี้ใครอยากจะสร้างเสริมประสบการณ์การขับขี่ของตนเองด้วยการลงทุนเพิ่มก็ไม่ว่ากัน ทีมนี้เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าเราอยากให้จักรยานเบาลง 1 กิโลกรัม เราก็จะต้องใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท เพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนจากเหล็กเป็นไทเทเนียม เป็นต้น เอาเป็นว่าถูกก็ได้ แพงก็ดี ลองพิจารณาหาจักรยานมาปั่นกันดู จะไปตลาด ไปทำงาน หรือไปส่งลูกที่โรงเรียนก็ตามแต่ใจ แต่อย่าลืมใส่หมวกนิรภัยด้วยแล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 เงียบซะอย่างใครจะทำอะไรได้

ความพยายามของกลุ่มองค์กรผู้บริโภคในการจัดการทีวีจอดำในการแข่งขันฟุตบอลยูโร ดูจะเป็นเรื่องหนักหนา ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ น่าจะเกิดขึ้นจากหลายประเด็น เรื่องแรกที่สำคัญและต้องมีการจัดการขั้นเด็ดขาดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) คือ การเพิกเฉยของช่อง 3, 5, 9 หรือดูจะกำลังใช้วิธีการใช้ความเงียบสยบความเคลื่อนไหวของฟรีทีวีทั้ง 3 ช่อง แถมหากใครติดตามจะมีช่องอื่นๆ รู้เห็นเป็นใจไม่กล้าซักถามผู้บริหารทั้งสามช่องแต่อย่างใด ตอนแรกคิดว่าจะหวังพึ่งสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่จนปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า สมาชิกของตนเองกำลังกระทำละเมิดผู้บริโภคทั่วประเทศ ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ คนไทยดูทีวีจากเสาอากาศน้อยลงเรื่อย ๆ ข้อมูลการดูทีวีของคนไทยในปัจจุบันจาก 20 ล้านครัวเรือน พบว่า เปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ใช้หนวดกุ้งหรือเสาอากาศที่มีให้เห็นตามหลังคาบ้านเหลือเพียง 5 ล้านครัวเรือนหรือร้อยละ 25 เท่านั้น แต่สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาคือการใช้ระบบเคเบิ้ลและดาวเทียมซึ่งหากรวมกันจะสูงถึงร้อยละ 75 และที่สำคัญไม่ว่าเราจะใช้วิธีการไหนในการรับชม เราก็สามารถดูหรือรับการแพร่ภาพและการกระจายเสียงจากฟรีทีวีได้ตามปกติ นับเป็นการช่วยสนับสนุนช่องต่างๆ ไม่ต้องขยายคลื่นรับส่งของสถานีเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ   แต่เมื่อมีฟุตบอลยูโรช่อง 3, 5 และ 9 ในปัจจุบันกลายเป็นการกระจายเสียงสองรูปแบบ โดยมีประเภทเล่นฟุตบอลปกติ และมีภาพขอโทษแต่ไม่มีเสียง ซึ่งคำถามแรกต้องถามว่า ทำได้หรือไม่ที่มีการเลือกปฏิบัติและการกระจายเสียงและแพร่ภาพที่ไม่เหมือนกัน หรือหากจะเรียกว่าช่องทั้งสามนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่หยุดให้บริการฟรีทีวีปกติชั่วคราว ฉบับที่แล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกมีการเรียกคืนรถยนต์นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคมเกินสี่ล้านคน แต่บ้านเรายังไม่มีเลยซึ่งไม่น่าจะเพราะเรามีรถที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หรือแม้แต่เพื่อนบ้านเราที่เรามักจะพูดถึงอย่างอิจฉาหรือดูถูกอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนามก็มีเรียกรถยนต์คืนจากตลาด หรือแม้แต่ประเทศอินโดนีเซียก็เรียกคืนสินค้ามากมายในครัวเรือนเช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องปิ้งขนมปัง ไดร์เป่าผม เพียงเพราะไม่มีใบรับประกันและฉลากเป็นภาษาอินโดนีเซีย(ดูรายละเอียดได้จาก www.aseanconsumer.org) การยอมจำนนของผู้บริโภคมีปรากฏการณ์ให้เห็นได้หลายรูปแบบ เช่น เขาได้ลิขสิทธิ์มาก็ต้องเคารพลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ แต่เรากลับไม่พูดถึงว่า ทำไมคนได้ลิขสิทธิ์กลับปิดหูปิดตาว่า เราดูทีวีกันอยู่อย่างไร  อ้างถือลิขสิทธิ์เป็นอาญาศักดิ์สิทธิ์ แต่การคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องไม่เกินเลยผลประโยชน์สาธารณะ ที่สำคัญเหมือนกับเรื่องรถตู้จดทะเบียน หากมีคนนั่งเกิน 15 ที่นั่งจัดการได้เต็มที่ แต่จะมาบอกว่ารถตู้ป้ายดำบรรทุกเกินแต่จัดการไม่ได้เพราะไม่ขออนุญาตไม่ถูกต้องแน่นอน หากต้องการให้จัดการทั้งสองแบบเราต้องช่วยขนส่งตรวจตรารถตู้และเราต้องไม่สมยอมขึ้นรถตู้คนที่ 16 หรือแอบไปซื้อกล่องหรือหนวดกุ้งเพราะต้องการดูฟุตบอล และเรื่องนี้สะท้อนว่า ถึงเวลาต้องผลักดันให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากมีอัยการคงส่งฟ้องคดีบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ สามารถปกป้องผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยที่ต้องจ่าย 200 บาทหรือมากถึง 2,000  ล้านบาทโดยไม่มีเหตุผลในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 Taxi Reporter รายงานพฤติกรรมที่ไม่พึงพอใจ

หลังจากที่แนะนำให้ผู้อ่านตรวจจับความเร็วกับแอพพลิเคชั่น Traffy bSafe เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะและพนักงานขับรถบริการสาธารณะบนท้องถนนไปฉบับก่อนหน้านี้ ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับร้องเรียนรถบริการสาธารณะประเภทแท็กซี่กันบ้าง พอพูดถึงรถแท็กซี่ ผู้อ่านหลายคนคงส่ายหน้ากับการเลือกรับผู้โดยสาร โดยมีเหตุผลรองรับต่างๆ นานา อย่างเช่น “ไปส่งรถไม่ทัน” “จะไปเติมแก๊ส” “แถวนั้นรถติด” เป็นต้น แค่นี้ก็ทำให้เอือมระอากับการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ไปแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่โชคดีได้รถแท็กซี่ตกลงไปส่งจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ก็อาจเจอกับความโมโห ฉุนเฉียว พูดจาไม่สุภาพของคนขับรถแท็กซี่ เสมือนไม่พอใจที่จะไปจุดหมายปลายทางนั้น หรือไม่ก็ขับขี่ด้วยความไม่ระมัดระวัง จนทำให้รู้สึกเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของผู้โดยสารเลย แอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Siam Squared Technologies เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้การร้องเรียนถึงพฤติกรรมของคนขับรถแท็กซี่ที่ผู้โดยสารไม่พึงพอใจและเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับการใช้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ร้องเรียนจะถูกส่งไปยังบริษัทเพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลต่อไปยังกรมขนส่งทางบกอีกครั้ง   ขั้นตอนในการส่งเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนแรกจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถแท็กซี่เจ้าปัญหา โดยผู้โดยสารจะสังเกตหมายเลขทะเบียนรถได้จากบริเวณประตูด้านหลังทั้งสองข้าง ขั้นตอนที่สองจะให้เลือกเรื่องที่ต้องการร้องเรียน โดยในแอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือก ดังนี้ ไม่รับผู้โดยสาร ฝ่าฝืนกฎจราจร มีพฤติกรรมหยาบคาย และโกงค่าโดยสาร ในขั้นตอนนี้ผู้อ่านสามารถเลือกได้หลายตัวเลือก ขั้นตอนที่สาม ผู้อ่านสามารถพิมพ์ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ต้องการร้องเรียนได้ พร้อมทั้งทางแอพพลิเคชั่นจะปักหมุดบนแผนที่ตรงบริเวณที่ผู้อ่านร้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ารถแท็กซี่คันนั้นวิ่งในบริเวณใด เมื่อเติมข้อมูลทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้คลิกเมื่อส่งข้อมูล สำหรับผู้อ่านที่เล่นเฟสบุ๊กสามารถโพสต์ข้อความการร้องเรียนได้ทันที โดยในหน้าต่างถัดไป แอพพลิเคชั่นจะสอบถามการแชร์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนผ่านเฟสบุ๊ก เพียงคลิกตามขั้นตอน ข้อความเหล่านั้นก็จะไปปรากฏบนเฟสบุ๊กให้ทันที แต่ข้อจำกัดของแอพพลิเคชั่นนี้ก็มีเช่นกัน เพราะยังไม่สามารถรองรับอุปกรณ์ไปทั้งหมด ซึ่งจะรองรับเฉพาะอุปกรณ์ตระกูล iOS เท่านั้น อาทิ iPhone, iPad เป็นต้น โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ฟรีได้ที่ http://itunes.apple.com/th/app/taxi-reporter/id501278589?mt=8 เอาเป็นว่าช่วยกันรายงานพฤติกรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องการบริการ และความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้โดยสารมากขึ้นกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 บทเรียน ทีวี จอดำ กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมส์การแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้ ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชันส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้นต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมันมาเล่าสู่กันฟังครับ   ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาลอกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชม รายการโทรทัศน์ทั้งจาก ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่  2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทย พีบีเอสบ้านเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภคโดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย   ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมันทำอย่างไร ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)   บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช. สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะ คนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่าหรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี  อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช. สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช. กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555- 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรู วิชันส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ  และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช. ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะอาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิคในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ปอกกล้วยเข้าปาก

อารมณ์ค้างกันบ้างหรือเปล่า ? ค้างจากความรู้สึกว่าของแพง?  ค้างจากน้ำมันแพง? ค้างจากค่าแรงไม่ได้ขึ้นครบทุกจังหวัด? บางคนค้างเพราะท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติไม่ยอมนำกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคเข้าสภาเพื่อพิจารณาวาระสุดท้ายซะที? และค้างๆ กับอะไรอีกมากมาย ต่อไปนี้ถ้าอารมณ์ไม่ดี อย่าไปหวังอะไรกับใคร ให้หวังพึ่งตนเองหรือหวังเพื่อนๆ ช่วยไปซื้อกล้วยมากินดีกว่า (อิอิ) มีการสำรวจตรวจพบว่าในกลุ่มคนที่มีอาการซึมเศร้าเหงาหงอย หลายรายเมื่อหม่ำกล้วยเข้าไปแล้วรู้สึกเบิกบานใจขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะกล้วยมีนางตานีที่ไหนมาเสกเป่าให้เราหายเซ็ง แต่ในกล้วยเนื้อนุ่มๆ นั้น มีสารที่เป็นส่วนประกอบที่เรียกว่า Tryptophan (ทริปโทแฟน) ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายของเราย่อยแล้วจะเปลี่ยนเป็นสาร Serotanin (เซโรทานิน) ซึ่งเป็นสารที่เรียกกันว่า สารแห่งความสุข คือ จะช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย จึงช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและก็มีความสุขขึ้น   ต่อไปไม่ว่าจะสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในวันปกติ ถ้าคนไทยเปลี่ยนนิสัยซื้อขนมของฝากมาเป็นสารพัดกล้วยก็น่าจะดี ยกเว้นกล้วยแขกที่เขาแข่งกันขายตามสี่แยกรอรถติด พี่กล้วยแขกแบบนี้นานๆ กินที่จะดีกว่า อาหารทอดๆ นั้นอร่อยแต่ก็ได้ไขมันเพิ่ม กล้วยที่น่าเป็นของฝากตั้งแต่ กล้วยปิ้งทับแบนๆ แยกน้ำเชื่อมหวานๆ ให้คนที่ไม่ชอบหวาน กล้วยตาก แบบตากลูกกลมๆ ลูกแบนๆ ก็อร่อยใช้ได้ หรือจะเป็นผู้นำกระแสหิ้วกล้วยน้ำว้าสดไปฝากเป็นหวี ดี เท่ ช่วยเกษตรกรโดยตรงด้วย นอกจากช่วยให้อารมณ์ได้ทั้งวันแล้ว ใครที่เครียดจัดมานานจนโรคกระเพาะอาหารอาศัยในตัวแล้ว ขอบอกว่ากล้วยก็ยังทำหน้าที่ปัดเป่าอาการโรคกระเพาะได้อย่างดี จนกระทรวงสาธารณสุขยกระดับยาจากกล้วยผงใส่แคปซูล ให้เป็นยาในบัญชียาหลักของชาติด้วย ใครสะดวกหาซื้อยากล้วยก็เชิญ แต่ถ้าไม่ต้องซื้อก็ทำกินเองได้ ให้ผลการรักษาไม่แพ้กัน ขอให้กินสม่ำเสมอเท่านั้น มี 2 วิธี แบบทำเป็นยาเก็บไว้ใช้ได้ พกพาสะดวก ให้หากล้วยน้ำว้าดิบ ดิบหมายความว่าดิบๆ ไม่ใช้ที่เรียกว่าห่ามๆ กึ่งสุกกึ่งดิบนะ นำกล้วยน้ำว้าดิบมาปอกเปลือก จากนั้นก็ทำการฝานเนื้อกล้วยให้เป็นแผ่นบางๆ นำไปแตกแดดสัก 2 วัน พอแห้งลองหักดูก็รู้ว่ากรอบ แล้วนำไปบดเป็นผงให้ละเอียด เสร็จแล้วใส่ขวดหรือภาชนะที่มีฝาปิดให้สนิท เวลากินใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ โดยนำมาละลายน้ำหวาน น้ำผึ้ง เครื่องดื่มโกโก้ น้ำเต้าหู้หรือนมก็ได้ แต่ที่คนโบราณเขาใช้คือให้ละลายกับน้ำข้าว ข้อสำคัญควรกินยากล้วยก่อนอาหาร ประมาณครึ่งชั่วโมง กินทุกมื้อ และควรกินก่อนนอนด้วย วิธีที่ 2 ง่ายกว่านี้ แต่ไม่สะดวกในการพกพา ถ้าเปรียบกับโทรศัพท์มือถือก็ต้องแบกเครื่องโตๆ เหมือนเมื่อราว 25 ปีก่อน คือ ต้องพกกล้วยน้ำว้าสดๆ ไปตลอดวัน แต่ถ้าใครวางแผนได้ มีกล้วย 1 หวีที่บ้าน อีกหวีที่ทำงาน เลือดซื้อที่ยังไม่สุกนัก กินไปครบสัปดาห์กล้วยยังไม่งอม ให้กินกล้วยครั้งละ 1-2 ลูก ก่อนอาหารสัก 1 ชั่วโมง ที่ให้ทำแบบนี้เพราะถ้ากินใกล้มื้ออาหารจะกินข้าวไม่ลง เวลากินให้ค่อยๆ เคี้ยวกล้วยให้ละเอียดไม่ต้องรีบเร่งกิน เพราะในกล้วยมีโปรตีนจำนวนมากจะได้ช่วยย่อยในปากก่อนตกถึงกระเพาะด้วย การกินกล้วยสดๆ ได้ผลการรักษาโรคกระเพาะดีไม่แพ้กัน และยังได้สารแห่งความสุขด้วยเช่นกัน โรคกระเพาะหายอารมณ์ก็ดีขึ้น สถานการณ์ภัยอะไรมาก็รับมือได้เสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 แฟชั่นคอนแทคเลนส์ บิ๊กอายส์: ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อ

เลนส์สัมผัสหรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา และขจัดความรำคาญของการสวมใส่แว่นตาสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้แก่ผู้ที่มีสายตาผิดปกติให้มีความสวยงามเหมือนธรรมชาติ ทำให้การมองเห็นภาพได้ชัดเจนเสมือนตาปกติโดยไม่ต้องสวมใส่แว่นตา ปัจจุบันได้มีกระแสแฟชั่นใส่คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยความงามที่แพร่หลายอยู่ในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน ตัวอย่างเช่น   คอนแทคเลนส์ที่ใส่แล้วปรับสีดวงตาให้เป็นสีต่างๆ ได้ดังใจ ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาล เทา ฟ้า เขียว หรือคอนแทคเลนส์บิ๊กอาย ที่ใส่แล้วดวงตาจะกลมโตแบบดาราเกาหลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งคอนแทคเลนส์ประเภทนี้เหมือนกับคอนแทคเลนส์ที่ใส่แล้วช่วยปรับสีดวงตา แต่บริเวณตรงกลางของคอนแทคเลนส์บิ๊กอายมีลักษณะเป็นเลนส์ใสและบริเวณขอบเลนส์มีสีดำหรือสีเข้มต่างๆ ที่จะทำให้มองเห็นว่าผู้ใส่มีตาดำขยายใหญ่และกลมโตกว่าปกติ   คอนแทคเลนส์ คืออะไร ? คอนแทคเลนส์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุน้ำหนักโมเลกุลสูงที่เรียกกันว่าโพลีเมอร์หรือวัสดุอื่น มีลักษณะเป็นแผ่น ใช้ครอบบนกระจกตา (Cornea) เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับตา เพื่อความสวยงาม หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น คอนแทคเลนส์ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคอนแทคเลนส์ที่ใช้เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เลนส์สัมผัส เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการใช้คอนแทคเลนส์ในทางที่ผิดโดยจะมีการบังคับใช้กับเลนส์สัมผัสทั้งชนิดที่ใช้แก้ไขความผิดปกติของสายตาเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับตา และชนิดที่ใส่เพื่อความสวยงามหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น โดยกำหนดให้เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตและต้องมีคุณภาพมาตรฐานและข้อกำหนดตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นชอบ   ชนิดของคอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard Contact Lens) เป็นเลนส์ที่ทำจากพลาสติกเนื้อแน่นแข็ง จึงทำให้อากาศและน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ เลนส์ชนิดนี้จึงมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้ติดต่อกันได้นานๆ และการใส่เลนส์ชนิดนี้ในระยะแรก(ประมาณ 1-3 อาทิตย์) จะเคืองตามาก แต่เลนส์ชนิดนี้สามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียงได้ดี และมีอายุการใช้งานทนทาน ไม่ค่อยมีอาการแพ้ หรือติดเชื้อ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม 2.  คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lens) เป็นเลนส์ที่ทำด้วยวัสดุประเภทซิลิโคนไฮโดรเจล ซึ่งเป็นพลาสติกนิ่ม ยืดหยุ่น บิดงอได้ และยอมให้อากาศและน้ำซึมผ่านได้ เลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำสูง จึงเป็นที่นิยมใช้อย่างมากในปัจจุบัน เพราะสามารถใส่ได้ง่าย ใส่ได้นาน และไม่ค่อยมีอาการเคืองตา แต่มีข้อเสียคือ มีอาการติดเชื้อและแพ้ได้บ่อยกว่า อายุการใช้งานสั้นกว่า และสามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียงได้น้อย คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มมีหลากหลายชนิด ขึ้นกับรูปแบบการใช้งาน ปัจจุบันมีทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง (Disposable Contact Lens) เช่น คอนแทคเลนส์ชนิดใส่วันเดียวทิ้ง  และคอนแทคเลนส์ชนิดที่ใส่ต่อเนื่อง สามารถสวมใส่ได้ติดต่อกันตามระยะเวลาที่ระบุ 3.  คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่อากาศซึมผ่านได้ เป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์ชนิดแข็ง แต่ สามารถให้อากาศซึมผ่านตัวเลนส์ไปสู่กระจกตาได้ในปริมาณสูง จะทำให้เห็นภาพชัดเจน ละเอียดขึ้น มีราคาถูกกว่าเลนส์ชนิดนิ่ม เนื่องจากใช้ได้นานกว่าและจะมีความคงทนต่อการเกิดรอยขูดขีดและการเกาะติดของคราบมากกว่า สวมใส่สบายตากว่าชนิดแข็ง จึงเป็นการรวมข้อดีของเลนส์ชนิดแข็งและชนิดนิ่มมาไว้ด้วยกัน   ข้อแนะนำในการเลือกชนิดของคอนแทคเลนส์ คอนแทคเลนส์เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ การเลือกใช้คอนแทคเลนส์คู่แรก ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์เสียก่อน เพื่อตรวจสภาพตาว่าเหมาะสมจะใช้หรือไม่? มีโรคตาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้หรือไม่? เปลือกตาปกติดีหรือไม่? การกระพริบตาทำได้อย่างปกติหรือไม่? น้ำตามีพอเพียงหรือไม่? กระจกตาปกติดีหรือไม่? ตลอดจนทำการตรวจวัดระดับสายตาของผู้ใช้ว่าสั้น ยาว หรือเอียงเท่าไหร่? นอกจากนี้จักษุแพทย์จะถามถึงภารกิจประจำวัน ลักษณะของงานที่ทำ และความตั้งใจของผู้ใช้ว่า จะใช้เป็นประจำหรือเป็นบางโอกาส เพื่อจะได้เลือกคอนแทคเลนส์ชนิดและขนาดที่เหมาะสม อาทิ เช่น ถ้าต้องการใช้คอนแทคเลนส์ในขณะออกกำลังกายที่ต้องมีการเคลื่อนไหวรุนแรง ได้แก่ กีฬาเทนนิส ว่ายน้ำ ผู้ใช้ควรใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ชนิดแข็งไม่เหมาะเพราะหลุดง่าย ทั้งนี้จักษุแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์จะแนะนำวิธีใช้ วิธีใส่และถอด ตลอดจนการดูแลรักษา รวมทั้งการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ และนัดผู้ใช้เพื่อการตรวจเป็นระยะๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ใช้ใช้คอนแทคเลนส์ได้อย่างปลอดภัย ----------------------------------------------------------------- ข้อมูลที่ผู้บริโภคควรสังเกตบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อ เมื่อตัดสินใจจะใช้คอนแทคเลนส์ และได้รับความเห็นชอบจากจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อ ในหัวข้อดังนี้ ชื่อคอนแทคเลนส์ และวัสดุที่ใช้ทำเลนส์ คุณสมบัติของคอนแทคเลนส์ เช่น กำลังหักเห ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางรัศมีความโค้ง เป็นต้น ชื่อของสารละลายหรือน้ำยาที่ใช้แช่คอนแทคเลนส์ และชนิดของวัตถุกันเสียในน้ำยา ระยะเวลาการใช้งาน ยกเว้นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ไม่กำหนดระยะเวลาการใช้งาน มีการระบุเดือน ปีที่หมดอายุ เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ชื่อ และสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า   เอกสารอ้างอิง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส. กรกฎาคม 2552.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ผลิตภัณฑ์กินๆ พ่นๆ จนตัวขาว

ไม่รู้ว่าค่านิยมผิวขาวมันเริ่มทะลุทะลวงความรู้สึกของคนไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้แต่ว่าเดี๋ยวนี้หันไปทางไหน ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวเต็มไปหมด มีชนิดกิน ชนิดทา ชนิดฉีด ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาเตือนกันปาวๆ ว่ามันไม่ได้ผลและยังเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ แต่ก็พบว่ายังมีผู้บริโภคหลงเป็นเหยื่อเสียเงินซื้ออยู่เรื่อยๆ ทางราชการก็ได้แต่ตามจับ ตามยึดกันแทบไม่ทัน เพราะส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะลักลอบจำหน่ายหรือไม่ก็แอบขายตรงกันเป็นทอดๆ ล่าสุดมีผู้บริโภคแจ้งข่าวว่ามีผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวแบบพิสดารทันใจ อีก 2 ชนิด โฆษณาในอินเตอร์เน็ตแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย   ผลิตภัณฑ์ชนิดแรกเป็น “ผลิตภัณฑ์กินกันแดดชนิดรับประทาน” มีลักษณะเป็นแคปซูลบรรจุอยู่ในขวด ขวดละ 60 แคปซูล ราคา 1,450 บาท(ตกประมาณแคปซูลละ 24 บาท แพงไม่ใช่เล่น) อ้างว่าสกัดมาจากเฟิร์นสายพันธุ์พิเศษจากประเทศสเปน สามารถปกป้องรังสียูวี UVA/UVB จากแสงแดด ซึ่งเป็นสาเหตุของความหมองคล้ำ ฝ้า กระ และริ้วรอยก่อนวัย ได้ โดยสามารถปกป้องได้ทั่วทั้งร่างกาย ไปจนถึงเส้นผม หรือแม้กระทั่งเรติน่าที่ม่านตา(อะไรจะสุดยอดขนาดนั้น) วิธีใช้ก็สุดแสนจะพิสดาร เพราะให้รับประทานก่อนออกกลางแจ้ง 2 เม็ด และทานซ้ำ 1 เม็ดหลังจากทาน 2 เม็ดผ่านไปแล้ว 4 ชั่วโมง (ตำราไหนหว่า?) ยังไม่พอนะครับ ยังมีอีก “สเปรย์ผิวขาวทันใจใน 1 นาที” ราคาขวดละ 480 บาท อ้าง (อีกแล้ว) ว่ามีสารสกัดจากไข่มุกธรรมชาติ ที่ช่วยฟื้นฟูให้ผิวขาวกระจ่างใสได้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และยังยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว ทำให้ผิวขาวสวยเนียนแบบธรรมชาติ ฯลฯ โดยให้ใช้สเปรย์ที่ผิวกายก่อนสวมเสื้อผ้าประมาณ 2-3 นาที เพื่อเพิ่มประกายวิ้งๆ ดูสวยเก๋แบบรวดเร็ว ในเว็ปไซต์ยังแนะนำว่าฉีดได้ทั้ง ขา ตัว แขน รักแร้ เพื่อปิดรอยไม่พึงประสงค์ หากมีแผลเป็นให้พ่นเน้นบริเวณแผลเป็นนะคะ จะช่วยปกปิดได้อีก ขอเรียนให้ผู้บริโภคทราบเลยครับว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิด ไม่มีการขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงถือได้ว่ายังไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คุณสาวๆ ที่อยากขาวจึงไม่น่าจะเอาทั้งผิวและชีวิตตนเองไปเสี่ยงนะครับ ยังไงก็ช่วยกันสอดส่องดูแลและตักเตือน แนะนำเพื่อนฝูงอย่าหลงเป็นเหยื่อ “ผลิตภัณฑ์กินๆ พ่นๆ จนตัวขาว” เหล่านี้นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 อายุความสัญญาฝากทรัพย์ (1)

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคารชื่อดัง เค – แบ็งก์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ไปถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี พ.ศ. 2507 มียอดเงินฝากคงเหลืออยู่ในสมุดคู่ฝากจำนวน 22,596.33 บาท แล้วก็เก็บสมุดไว้และไม่ได้ไปทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารอีกเลย ต่อมาเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2544 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ผู้บริโภคไปติดต่อถอนเงินจากธนาคารดังกล่าว ธนาคารปฏิเสธและแจ้งว่า ไม่มียอดเงินเหลืออยู่ในบัญชีที่ผู้บริโภคอ้าง ผู้บริโภคจึงไปฟ้องศาลดำเนินคดี คดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการ จึงขอนำคำพิพากษาศาลฎีกามาลงให้แบบ “ จัดเต็ม “ ให้เห็นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้อย่างไรบ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8772/2550 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ฝาก 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ สิ้นปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์   จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 22,596.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปโดยให้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2504 โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากแบบสะสมทรัพย์และนำเงินฝากไว้กับจำเลยที่สาขาพัฒนพงศ์ เป็นบัญชีเลขที่ 1194 หลังจากนั้นโจทก์ได้นำเงินเข้าฝากและถอนออกไปตลอดมาโดยโจทก์ได้ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย 3 ,000 บาท เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2507 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ยังคงมีเงินฝากเหลืออยู่ 22,596.33 บาท ปรากฏตามสมุดฝากเงินที่จำเลยทำมอบให้ไว้แก่โจทก์เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยอีกเลย ต่อมาในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 โจทก์ได้ติดต่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวกับจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าไม่พบว่ามียอดเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีตามที่โจทก์อ้าง ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลย คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยต้องชำระเงินฝากคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องถอนเงินคืนจากจำเลยได้ตลอดเวลา โดยโจทก์มีสมุดฝากเงินมาเป็นพยานสนับสนุน ซึ่งตามสมุดฝากเงินดังกล่าวไม่มีข้อความกำหนดระยะเวลาในการรับฝากเงินไว้แต่อย่างใด … เนื้อหามีความละเอียดมาก เพราะฉะนั้นอ่านกันต่อฉบับหน้านะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 136 ค่าบริการมือถือด้วยเสียงต้องไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต.

จากสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ถูกรุมเร้าในหลายเรื่อง ทั้งการขึ้นราคาค่าโดยสาร รถ-เรือ ค่า Ft น้ำมัน ก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหลายเรื่องเป็นข่าวร้ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น แต่ในวิกฤติก็จะมีโอกาส ภายใต้ข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี(อยู่บ้าง) ข่าวดีนั้นเกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคม เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขั้นสูง ซึ่งมีผลเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคค่อนข้างมากดังนี้ 1.กสทช. กำหนดให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาด(smp) 2 รายคือ AIS และ Dtac คิดอัตราค่าบริการ โทรศัพท์มือถือด้วยเสียงได้ไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต. และทุกนาทีที่ใช้งานต้องไม่เกิน 99 ส.ต. 2.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากหมดลง ภายในปี 55 โปรโมชั่นใหม่ต้องคิดค่าบริการเสียงไม่เกิน 99 ส.ต. 3.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากมีระยะเวลาเกิน 31 ธ.ค. 55 แต่เมื่อสิ้นปีแล้วโปรโมชั่นทั้งหมดต้องไม่เกินนาที 99 ส.ต.   อ่านแล้วก็เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าประกาศเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะอัตราค่าบริการขั้นสูง “หมายความว่าห้ามคิดค่าบริการเกิน 99 สต” แต่ต่ำกว่าไม่เป็นไร ปัญหาคือประกาศเหล่านี้ จะไปถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงได้อย่างไร(ไม่รู้ก็ไม่ได้ใช้) ควรจะผ่านสื่อไหนถึงจะเข้าถึงผู้บริโภคได้(หากสื่อยังอยู่ในลักษณะ ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียเงิน) ต้องยอมรับกันว่า การที่จะให้บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคม ทำตามประกาศ กสทช. คงเป็นไปค่อนข้างยาก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ การจะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ทำตามประกาศ พึ่ง กสทช.ฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นภาระหนักยังคงตกอยู่ที่คนทำงานด้านผู้บริโภค ที่ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้ร่วมกันกดดันให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเป็นประเภทประกาศอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยบังคับใช้ดังนั้นผู้เขียนจึงได้เขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและประชาสัมพันธ์กันต่อๆ ไป และขอให้ช่วยกันรักษาสิทธิ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิให้ฝ่ายผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นปัจจุบัน ดังนั้นการจะให้ประกาศนั้นเป็นไปได้จริง ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิคือ 1) ให้ตรวจสอบโปรโมชั่นที่ใช้อยู่ว่า เกิน 99 ส.ต. หรือไม่ หากเกิน ขอให้ช่วยกันใช้สิทธิร้องขอโปรโมชั่นใหม่ที่ราคาเป็นไปตามประกาศ 2) ถ้า โปรโมชั่นเดิมใช้แล้ว ราคายังถูกกว่าประกาศฯ ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 55 นอกจากการใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการรายเดิม ถ้ามีรายอื่นที่ราคาถูกกว่าผู้บริโภคก็มีสิทธิย้ายเลขหมายของเราไปใช้บริการรายอื่นได้เช่นกัน หากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธหรือขัดขวางการใช้สิทธิตามประกาศ กสทช. หรือเห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียน ได้ในหลายทาง เช่น ร้องเรียนโดยตรงกับผู้ให้บริการ ร้องผ่าน กสทช. สายด่วน 1200 หรือร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ภาคประชาชน สุดท้ายหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถไปที่ศาลจังหวัด เพื่อขอฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องจ้างทนายและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากผู้บริโภคอยากเห็นความเป็นธรรม และองค์กรกำกับฯได้ทำงานอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น คงต้องช่วยกันส่งเสียงผ่านการใช้สิทธิที่เป็นจุดแข็งของผู้บริโภคร่วมกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ค่าบริการมือถือด้วยเสียงต้องไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต.

จากสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ถูกรุมเร้าในหลายเรื่อง ทั้งการขึ้นราคาค่าโดยสาร รถ-เรือ ค่า Ft น้ำมัน ก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหลายเรื่องเป็นข่าวร้ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น แต่ในวิกฤติก็จะมีโอกาส ภายใต้ข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี(อยู่บ้าง) ข่าวดีนั้นเกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคม เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขั้นสูง ซึ่งมีผลเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคค่อนข้างมากดังนี้1.กสทช. กำหนดให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาด(smp) 2 รายคือ AIS และ Dtac คิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือด้วยเสียงได้ไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต. และทุกนาทีที่ใช้งานต้องไม่เกิน 99 ส.ต.2.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากหมดลง ภายในปี 55 โปรโมชั่นใหม่ต้องคิดค่าบริการเสียงไม่เกิน 99 ส.ต.3.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากมีระยะเวลาเกิน 31 ธ.ค. 55 แต่เมื่อสิ้นปีแล้วโปรโมชั่นทั้งหมดต้องไม่เกินนาที 99 ส.ต.อ่านแล้วก็เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าประกาศเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะอัตราค่าบริการขั้นสูง “หมายความว่าห้ามคิดค่าบริการเกิน 99 สต” แต่ต่ำกว่าไม่เป็นไร ปัญหาคือประกาศเหล่านี้ จะไปถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงได้อย่างไร(ไม่รู้ก็ไม่ได้ใช้) ควรจะผ่านสื่อไหนถึงจะเข้าถึงผู้บริโภคได้(หากสื่อยังอยู่ในลักษณะ ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียเงิน) ต้องยอมรับกันว่า การที่จะให้บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคม ทำตามประกาศ กสทช. คงเป็นไปค่อนข้างยาก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ การจะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ทำตามประกาศ พึ่ง กสทช.ฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นภาระหนักยังคงตกอยู่ที่คนทำงานด้านผู้บริโภค ที่ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้ร่วมกันกดดันให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเป็นประเภทประกาศอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยบังคับใช้ดังนั้นผู้เขียนจึงได้เขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและประชาสัมพันธ์กันต่อๆ ไป และขอให้ช่วยกันรักษาสิทธิ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิให้ฝ่ายผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นปัจจุบันดังนั้นการจะให้ประกาศนั้นเป็นไปได้จริง ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิคือ 1) ให้ตรวจสอบโปรโมชั่นที่ใช้อยู่ว่า เกิน 99 ส.ต. หรือไม่ หากเกิน ขอให้ช่วยกันใช้สิทธิร้องขอโปรโมชั่นใหม่ที่ราคาเป็นไปตามประกาศ 2) ถ้า โปรโมชั่นเดิมใช้แล้ว ราคายังถูกกว่าประกาศฯ ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 55นอกจากการใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการรายเดิม ถ้ามีรายอื่นที่ราคาถูกกว่าผู้บริโภคก็มีสิทธิย้ายเลขหมายของเราไปใช้บริการรายอื่นได้เช่นกัน หากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธหรือขัดขวางการใช้สิทธิตามประกาศ กสทช. หรือเห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียน ได้ในหลายทาง เช่น ร้องเรียนโดยตรงกับผู้ให้บริการ ร้องผ่าน กสทช. สายด่วน 1200 หรือร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ภาคประชาชนสุดท้ายหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถไปที่ศาลจังหวัด เพื่อขอฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องจ้างทนายและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากผู้บริโภคอยากเห็นความเป็นธรรม และองค์กรกำกับฯได้ทำงานอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น คงต้องช่วยกันส่งเสียงผ่านการใช้สิทธิที่เป็นจุดแข็งของผู้บริโภคร่วมกัน  

อ่านเพิ่มเติม >