ฉบับที่ 137 กรุงเทพเมืองจักรยาน ความฝัน...ที่ไม่ไกลเกินฝัน

“ถ้าเรามองจากมุมมองของจักรยาน  คุณจะได้ทุกอย่างที่เป็นมิตรกับมนุษย์  เพราะจักรยานเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์ และราคาถูก ทุกอย่างเราคุมได้ ความเร็ว สิ่งแวดล้อม และทำให้คุณเข้าถึงได้ทุกซอกมุม  อย่างการได้พูดคุยกับคนขายซาลาเปา ได้รู้เรื่องราว เกิดรายละเอียดขึ้นมาในชีวิต ต่างกับรถยนต์ที่ต้องวนหาที่จอด พอหาที่จอดไม่ได้ก็ไม่ซื้อ”   ฉลาดซื้อฉบับนี้ “พาคุณ” ไปขี่จักรยานกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์  เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กับโครงการดีๆ จักรยานกลางเมือง ซึ่งมูลนิธิโลกสีเขียวทำงานสองส่วนนั่นก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของคน และการทำแผนที่ทางจักรยาน  มาค่ะ มาปั่นไปพร้อมกับเธอ   ขี่จักรยานแก้ปัญหาเมืองได้อย่างไร 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจักรยานถูกพูดถึงในทิศทางการพัฒนาเมือง อาจจะยังไม่เป็นกระแสหลัก เริ่มจากบทความ แมกกาซีน   เพราะจักรยานสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในสังคมได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ความเหลื่อมล้ำ  พื้นที่สาธารณะ ปัจจุบันก็มีหลากหลายกลุ่มเกิดขึ้นมาใหม่  ติดต่อกันเป็นโครงข่าย เพื่อจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมือง   ถ้าเรามองจากมุมมองของจักรยาน  คุณจะได้ทุกอย่างที่เป็นมิตรกับมนุษย์  เพราะจักรยานเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์ และราคาถูก ทุกอย่างเราคุมได้ ความเร็ว สิ่งแวดล้อม และทำให้คุณเข้าถึงได้ทุกซอกมุม  อย่างการได้พูดคุยกับคนขายซาลาเปา ได้รู้เรื่องราว เกิดรายละเอียดขึ้นมาในชีวิต ต่างกับรถยนต์ที่ต้องวนหาที่จอด พอหาที่จอดไม่ได้ก็ไม่ซื้อ   คนที่เริ่มขี่จักรยานใหม่ๆ หลายคนเริ่มที่เหตุผลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  พอเริ่มขี่จักรยานชีวิตคุณก็จะเริ่มเปลี่ยน  มีการทักทายกัน พูดคุยกัน เกิดเป็นชุมชน ไปแตะรากของปัญหาต่างๆ ทั้งความไม่มีชุมชน สิ่งแวดล้อมไม่ดี  ไม่มีพื้นที่สาธารณะ ไม่มีเวลา แต่พอได้เปลี่ยนมาใช้จักรยาน ทุกปัญหาก็จะถูกแก้ไปเอง   เมืองจักรยานตอนนี้ที่อื่นมีไหม จากการเริ่มต้นของหลายๆ เมืองอย่างโบโกต้า ที่มี “เมืองไบซิเคิลซันเดย์” ซึ่งเป็นวันที่มีการปิดถนนเพื่อให้เป็นเมืองจักรยาน คำว่าเมืองจักรยานไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องขี่จักรยาน แต่เป็นเมืองที่ทุกคนสัญจรได้อย่างไม่เบียดเบียนกันและกัน ขับรถยนต์ก็ได้แต่ต้องไม่ปล่อยให้รถยนต์เข้ามายึดชีวิต  และรัฐต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดี พอเราดูบทเรียนจากที่อื่นๆ เราก็จะเห็นว่าการที่จะส่งเสริมเมืองจักรยานก็ต้องอาศัย “เจตจำนงทางการเมือง” ต้องอาศัยแนวความคิด  ต้องเกิดการเปลี่ยนกระบวนทรรศน์  เพราะว่าพวกเราเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเมืองที่ถูกเปลี่ยนเป็นรถยนต์ ถนนก็สร้างให้รถยนต์  ทั้งที่ถนนเป็นของทุกคน  ใช้ภาษีของเราในการสร้าง  เราก็ต้องสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่ปล่อยให้รถยนต์เข้าใช้หมด กรุงเทพฯ เรากลายเป็นเมืองที่ถูกรถยนต์บุกรุกไปแล้ว ต้องมีการขยายถนน ไล่รื้อบ้านของชาวบ้านเพื่อสร้างถนน ซึ่งมันตรงกันข้ามกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน โบโกต้าสร้างความเปลี่ยนแปลงของเมืองโดยให้ “คนเป็นศูนย์กลาง” ไม่ใช่ให้ “รถยนต์เป็นศูนย์กลาง” ถ้าพัฒนาเมืองให้รถยนต์ก็จะไม่ได้เมืองให้กับมนุษย์  แต่ถ้าจะพัฒนาเมืองให้มนุษย์ก็จะไม่สามารถให้รถยนต์สบายที่สุด เป็นสิ่งที่ต้องเลือกว่าจะพัฒนาอะไร หลายๆ เมืองทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จเรื่องการใช้จักรยานจะเห็นเลยว่ามีปัจจัยเดียวกันคือ มีโครงข่ายเส้นทางจักรยานที่ขี่ถึงกันทะลุปรุโปร่ง เราไม่ได้ต้องการทางจักรยานที่สวยหรือแพงๆ แต่เป็นทางที่รู้จักผสมผสาน อาจจะแบ่งเลนหรือเป็นส่วนหนึ่งของถนนก็ได้  และควรจะมีข้อบังคับต่างๆ เช่น ประกาศจำกัดความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของคนใช้ถนน และการเก็บภาษีค่ารถติด เช่นที่สิงคโปร์ ลอนดอน และหลายๆ เมืองทำอยู่   การจะเป็นเมืองจักรยานได้ต้องทำอย่างไร สิ่งแรกที่ต้องเริ่มคือเริ่มเปลี่ยนความคิดคน ปลุกเร้าจินตนาการขึ้นมาให้ได้ เพราะต้องสร้างความเข้าใจ  แต่ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน ต้องมีการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคน  นั่นคือต้องให้คนได้ลิ้มรสเมืองจักรยานก่อน  มานับหนึ่งปิดถนนกันที่เมืองเศรษฐกิจก่อน เพราะเราต้องการให้คนเห็น แรกๆแม่ค้าอาจจะต่อต้านเหมือนที่อื่นๆ ที่ห้ามรถยนต์เข้า แม่ค้าก็กลัวจะขายของไม่ได้ แต่ที่ไหนได้กลับขายดีกว่าเดิม  เพราะจักรยานสามารถไปได้ทุกที่ เราจึงต้องพยายามทำ “คาร์ฟรีซันเดย์” ช่วงแรกมีการประสานงานกับ กทม.ปิดที่ถนนสีลม  แต่ปิดถนนแค่เลนเดียว คนก็ยังไม่ตื่นตัว แล้วก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งการเปลี่ยนที่แบบนี้ ตัวเราเองมองเป็นการขี่จักรยานพาไปเที่ยว  ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมของเรา ไม่ใช่ความหมายของเรา เป็นการเหนื่อยเปล่าๆ เราอยากทำอยู่ที่เดิม ให้คนได้รู้ คล้ายกับตลาดนัดมากกว่า อย่างเมืองจาการ์ตา(ประเทศอินโดนีเซีย) จากนัดทุกเดือนตอนนี้กลายเป็นทุกอาทิตย์ไปแล้ว บนถนนมีคนเดิน มีคนปั่นจักรยาน เด็กๆ วิ่งเล่นได้ เต้นรำได้บนถนน กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ  และจะเกิดการยอมรับและสร้างระบบ อย่างในจาการ์ตามีระบบคาร์พูล สามารถโบกรถแล้วขึ้นมาด้วยกันได้ แต่ถึงที่สุดแล้วการจะพัฒนาสู่ความเป็นเมืองจักรยาน ก็ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง อย่างโบโกต้า ก็มีปัญหารถยนต์ขึ้นมาจอดบนฟุตบาท รถติด  แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาก็สร้างระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมาตรฐาน เกิดโครงข่ายขนส่งมวลชน แต่รถยนต์ก็จะเข้าถึงได้ในบางพื้นที่ โครงข่ายที่ขนส่งที่จะเข้าถึงทุกพื้นที่ก็คือจักรยานนั่นเอง ต้องเปลี่ยนทัศนคติให้คนไม่รำคาญจักรยาน  และทำให้คนที่มีรถยนต์ใช้รถยนต์ให้น้อยลง  ไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้  เพราะส่วนหนึ่งก็จำเป็นแต่ใช้ให้เป็นเครื่องมือไม่ใช้เพราะเป็นทาสมัน  คนที่นั่งอยู่ข้างในรถต้องเปลี่ยนความคิดเพราะคุณกำลังเบียดเบียนคนอื่นอยู่   เริ่มต้นการเป็นนักปั่นในเมืองอย่างไรดี ในขณะที่เมืองบ้านเรายังไม่อำนวยทั้งถนนหนทาง เราก็ต้องปรับ ต้องทำอย่างผสมผสาน ทั้งขี่จักรยาน ขึ้นรถไฟ อย่างส่วนตัวใช้จักรยานพับ บ้านอยู่สุขุมวิท ก็ปั่นจากถนนที่บ้าน  มาขึ้นรถไฟใต้ดินที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ลงที่หัวลำโพง แล้วก็ปั่นจักรยานมาที่ทำงาน  ถ้าเราจะทำยังไงมันก็ต้องมีหนทางให้มาจนได้  ลองแล้วจะรู้ว่ากรุงเทพฯ มันไม่ได้ไกล แต่ที่รู้สึกว่ามันไกลก็คือรถมันติด  คนส่วนใหญ่ก็จะขี่เฉพาะใกล้ๆ แต่ก็ต้องขี่ให้ได้ทั้งใกล้และไกล อย่างที่ทำงานก็มีคนขี่จักรยานมาทำงานครึ่งหนึ่งของพนักงานที่เรามีเลยทีเดียว   ทางจักรยานบ้านเรามีไหม การพัฒนาเมืองต้องมีแผนการพัฒนา  ต้องมีเรื่องจักรยานเข้าไปด้วยในแผน  ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการพัฒนาเมืองเพื่อรถยนต์ วันหนึ่งเกิดอยากจะมีการทำทางจักรยาน ก็ทำให้แล้วคนทำ คนวางแผนไม่ได้ใช้ พอทำเสร็จแล้วก็ตั้งคำถามว่าทำไมคนไม่ใช้ก็มันใช้ได้ไหม ขี่จักรยานไปแล้วก็ต้องยก  ต้องแบกจักรยาน หรือขี่ๆ ไป อ้าวมีสะพานลอยโผล่มา   ซึ่งการจะพัฒนาตรงนี้ก็ต้องให้คนใช้มาบอก มาช่วยคิด ซึ่งมันง่ายมาก ตอนนี้มูลนิธิโลกสีเขียวเราก็ทำเส้นทางจักรยานในกรุงเทพฯ โดยใช้ข้อมูลของคนที่ขี่จักรยานใช้กันอยู่ ใครอยู่ส่วนไหนก็แบ่งโซนกัน แล้วก็นำข้อมูลแต่ละโซนมารวมกัน  จะมีอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยต่อเติมในเส้นทางในส่วนที่เส้นทางยังเชื่อมกันไม่ได้ แล้วก็จะได้เป็นโครงข่ายเส้นทางจักรยานเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็จะนำเสนอเส้นทางตัวอย่าง 2 เส้นทางต่อรัฐเพื่อให้ปรับปรุง เส้นทางแรกก็เส้นคลองไผ่สิงโต ชื่อว่ากรีนเวย์ เป็นเส้นทางจักรยานลอยฟ้าเชื่อมสวน 2 แห่ง เป็นเส้นที่ดีในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ในระยะทางกิโลกว่าๆ ที่ต้องแบกจักรยานขึ้น – ลง บันไดถึง 6 ครั้ง แล้วบางจุดชันมาก  อีกเส้นก็คือถนนทรงวาด ซึ่งมีการทำเป็นถนนวันเวย์เยอะมาก จักรยานไม่ควรที่จะวันเวย์ เพราะมันจะอ้อม แต่ควรจะขี่ไปมาได้เลย   ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบว่าการที่รัฐทำเส้นทางจักรยานแล้วคนไม่ใช้ ซึ่งมันไม่ใช่  เพราะว่ามันใช้ไม่ได้ต่างหาก พอเราเสนอเส้นทางที่มีคนใช้อยู่แล้วก็น่าจะเป็นรูปธรรม  ให้รัฐพัฒนาเส้นทางจักรยานต่อไปได้   ถ้าจะเมืองจะเปลี่ยนไปใช้จักรยาน แล้วรถยนต์จะเป็นอย่างไร พอกลุ่มจักรยานเริ่มชัด ก็จะมีการออกมาเคลื่อนของกลุ่มรถยนต์ว่า “อยู่ในรถยนต์ปลอดภัยกว่า” แต่ก็จะมีบริษัทรถบางเจ้าที่ฉลาด พวกที่ไม่ฉลาดก็จะมองเราเป็นศัตรูที่จะทำอุตสาหกรรมของเราพัง แต่ถ้าฉลาดอย่างบริษัทรถในแคนาดาก็จะทำรถยนต์แนวกรีน  และมุ่งการขายรถยนต์ไปที่กลุ่มคนขี่จักรยาน อาจจะทำที่ใส่จักรยาน ย้อนมองมาในบ้านเราถึงแม้จะมีนโยบายรถคันแรกที่ทำให้ซื้อรถคันแรกได้ถูก  แต่ก็ไม่ได้มีแนวทางในการใช้  เพราะมุ่งเน้นที่จะขายรถอย่างเดียว ในขณะที่เราลดภาษีรถยนต์แต่ขอโทษทีจักรยานคุณภาพดีราคา ไม่แพง ต้องเสียภาษีนำเข้าเข้า  30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน บ้านเรายังไม่มีนโยบายอุดหนุนนโยบายสีเขียวเลยที่จะอุดหนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่เรากำลังพูดถึงพื้นที่ของถนน ที่เป็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้นะ ก็อือ...นะอะไรกันนี่...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 กาวติดเนื้อ(meat glue)

ในห้องปฏิบัติการของผู้เขียนมีนักวิจัยประจำอยู่สองคน คนหนึ่งไปเรียนต่อปริญญาเอกและกลับมาแล้วพร้อมลูกสองคน ในขณะที่อีกคนกำลังจะไปเรียนบ้าง ทั้งนี้เพราะสมัยนี้ใครไม่จบปริญญาเอกไม่สามารถเป็นผู้นำในการขอทุนวิจัยได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า การศึกษาระดับปริญญาโทของเรานั้นมันด้อยเกินไปในสายตาผู้ให้ทุน จึงต้องมีหลักเกณฑ์สำคัญขั้นต้นว่า ต้องจบปริญญาเอกก่อนจึงขอทุนได้ จริงแล้วในฉบับนี้ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจคุยเรื่องการขอทุนวิจัยหรอก แต่ขอกล่าวอ้างถึงนักวิจัยคนที่สองที่ผู้เขียนดูแลว่า เมื่อสอบเรียนต่อได้แล้วก็มีการไปเลี้ยงฉลองกินสเต็กกับเพื่อนๆ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไร แต่ก็อาจมีอะไรได้ ขอให้ท่านผู้อ่านติดตามต่อไป   เวลาเราไปกินสเต็กหรืออาหารเนื้อสัตว์ตามร้านอาหารต่างๆ นั้น เราไม่เคยได้เข้าไปดูในครัวว่า เนื้อที่เอามาปรุงให้เรากินนั้นมีสภาพก่อนปรุงเสร็จอย่างไร ทุกคนคงคิดเอาเองว่า คงจะเป็นเนื้อที่ดี คุณภาพเป็นเลิศ ก็สเต็กจานนั้นมันออกจะแพงแบบว่าไม่อร่อยไม่ได้แล้วนี่ ปรากฏว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้เขียนได้พบข่าวในอินเตอร์เน็ตภายใต้หัวข้อว่า Is meat glue safe enough to eat? ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจเนื่องจากไม่เคยเรียนวิชาเกี่ยวกับการปรุงอาหารมาก่อน แม้เคยได้ยินคำว่า meat glue มาบ้างแต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร ดังนั้นพอเห็นหัวข้อข่าวดังกล่าว จึงทำให้ต้องไปหา wikipedia ว่า meat glue คืออะไร ซึ่งปรากฏว่า เมื่อพิมพ์คำว่า meat glue ใน search engine ของ wikipedia ข้อมูลที่ได้กลายเป็นเรื่องของ ทรานซ์กลูตามิเนส (Transglutaminases) ซึ่ง wikipedia บอกว่า Redirected from Meat glue ทรานซ์กลูตามิเนส เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สร้างพันธะโควาเลนท์ระหว่างกลุ่มเอมีนอิสระที่อยู่ในสายโปรตีนหนึ่งกับกลุ่มแกมม่าคาร์บอกซาไมด์ที่อยู่บนอีกสายโปรตีนหนึ่ง การสร้างพันธะนี้แข็งแรงมากขนาด เอนไซม์ที่สามารถย่อยโปรตีนทั่วไปไม่สามารถย่อยพันธะที่สร้างขึ้นโดยทรานซ์กลูตามิเนสได้ (ข้อความนี้มาจาก wikipedia) แต่ก็มีการแย้งข้อมูลนี้หลังผู้เขียนเข้าไปอ่านเอกสารของผู้ผลิตเอนไซม์นี้ว่า การย่อยเนื้อสัตว์ที่ใช้ทรานซ์กลูตามิเนสนั้นไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ทั่วไป ก็คงต้องฟังหูไว้หู หลายท่านที่ไม่ได้จบด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพอาจงง ก็จงงงต่อไปเถิดครับ ส่วนคนเรียนค่อนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือวิทยาศาสตร์ทางอาหารคงพอเข้าใจบ้าง ที่สำคัญเอนไซม์นี้พบได้ในกระบวนการแข็งตัวของเลือดสัตว์ชั้นสูง และเอนไซม์นี้มีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับการเชื่อมเนื้อสัตว์ต่างชนิดเข้าด้วยกัน นานมาแล้วเอนไซม์นี้เคยสกัดได้จากเลือดสัตว์  ซึ่งทำให้มีราคาแพงมากเกินกว่าจะเอามาใช้ทางอุตสาหกรรมอาหาร จนในปี 1989 จึงมีบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นตัวพ่อ ที่เชี่ยวมากในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ จึงสามารถผลิตเอนไซม์นี้โดยอาศัยแบคทีเรียที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในดินชื่อ Streptoverticillium mobaraense ดังนั้นราคาของเอนไซม์นี้จึงถูกลง จนสามารถนำไปใช้ในการผลิตอาหารเช่น แฮม และซูริมิซึ่งเมื่อนำไปแต้มสีต่อก็เป็นปูอัดได้ เอนไซม์ทรานซ์กลูตามิเนสนี้ เป็นสารชีวเคมีที่สามารถพบได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทั่วไป ซึ่งปัจจุบันเป็นเอนไซม์ที่รู้จักกันดีของนักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร ตลอดไปจนถึงพ่อครัวแม่ครัวในต่างประเทศ ผู้เขียนเข้าใจว่าป่านนี้พ่อครัวแม่ครัวในไทยคงรู้จักบ้างแล้ว ในทางการค้ามีการเอาเอนไซม์นี้ไปผสมกับองค์ประกอบอื่น จนได้สินค้าที่รู้จักกันในชื่อ meat glue หรือแปลง่ายๆ ว่า กาวติดเนื้อ   กาวติดเนื้อนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางชีวเคมีโดยแท้ เพราะสามารถทำให้ผู้ปรุงอาหารสามารถนำเอาเนื้อสัตว์ต่างชนิดชิ้นเล็กๆ มารวมกัน แล้วใช้กาวชนิดนี้โรยลงไป ขยำให้เข้ากัน จากนั้นก็ห่อด้วยแผ่นพลาสติกบางใสสำหรับห่ออาหารที่เรียกว่า wrap ให้แน่นๆ สักพักก็จะเป็นเนื้อสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่หาไม่พบในโลกนี้ เพราะคุณสามารถจะผสมเนื้อสัตว์อะไรก็ได้เข้าด้วยกัน ขอย้ำเน้นว่า เนื้อสัตว์อะไรก็ได้เข้าด้วยกัน เพื่อได้เนื้อสัตว์ที่มีรสชาติพิเศษระดับเกิดมาไม่เคยขย้ำทีเดียว   ในบทความโฆษณาของผู้ผลิตกาวนี้ได้บอกประโยชน์ของกาวติดเนื้อประการหนึ่งคือ reduce waste ซึ่งหมายถึง ลดปริมาณขยะซึ่งเกิดจากเศษเนื้อ ซึ่งคุณลักษณะนี้เจ้าด่างทั้งหลายคงไม่พึงประสงค์จะได้ยินแน่ นอกจากใช้กับเนื้อสัตว์แล้ว ยังสามารถทำให้ไข่แดงเข้มข้นขึ้น ทำให้แป้งขนมปังมีลักษณะสัมผัสที่หนึบขึ้น ไอศกรีมดูดีขึ้น ตลอดจนสามารถใช้ได้ดีกับเต้าหู้เพื่อให้ดูดีขึ้นกว่าเต้าหู้ที่ไม่ได้ใช้กาวนี้ เอนไซม์ที่ใช้ทำกาวติดเนื้อนี้ ได้รับการยอมรับในหลายประเทศให้มีสถานะภาพ GRAS (generally recognized as safe) ซึ่งเป็นสถานะภาพสำหรับสารเจือปนในอาหารที่มีการใช้มานานน้านนานจนนึกไม่ออกว่าเริ่มใช้แต่เมื่อใดในอาหาร ทำให้อนุมานว่า กินแล้วไม่เป็นพิษ กาวติดเนื้อนี้มีประโยชน์มากถ้าใช้อย่างซื่อสัตย์ เช่น การเอาเนื้อปลาชนิดเดียวกันมาเชื่อมเพื่อให้มีขนาดเหมาะสมในการนำไปทอด แต่แย่มากถ้าเนื้อที่เชื่อมกันเป็นเนื้อปลาและเนื้อสัตว์บก เพราะเนื้อสัตว์ต่างชนิดกันนั้นใช้เวลาในการทอดให้สุกต่างกัน ดังนั้นท่านอาจจะได้เนื้อที่ดิบผสมสุก หรือสุกผสมไหม้ได้ อย่างไรก็ดีบางครั้งก็สามารถนำไปใช้กับการเอาหนังไก่มาหุ้มเนื้อปลาก่อนทอด ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ทำให้เนื้อปลาไหม้ ที่น่าอนาถที่สุดคือ การนำเอาชิ้นเนื้อซึ่งได้จากการเลาะจากเนื้อชิ้นใหญ่ระหว่างการตัดแต่งเนื้อ (ซึ่งปรกติแล้วชิ้นเนื้อเล็กๆ นี้ควรจะจำหน่ายในราคาที่สุนัขชอบ) มารวมกันให้ดูกลายเป็นเนื้อชิ้นใหญ่ด้วยกาวติดเนื้อนี้แล้วขายในราคาเนื้อสำหรับทำสเต็ก ปรากฏการณ์แบบนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดในร้านอาหารเมืองไทยหรือไม่ ส่วนที่น่ากังวลสำหรับพี่น้องมุสลิมก็คือ ถ้ามีพ่อครัวใจบาปเอาเนื้อวัวผสมกับเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ขัดต่อข้อบัญญัติทางศาสนา เมื่อกินเข้าไป ถ้าไม่รู้ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้อะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้นการนำกาวติดเนื้อมาใช้ในครัวของร้านอาหาร จึงเป็นเรื่องที่ต้องควบคุมกันว่า ไม่ก่อให้เกิดการหลอกลวงผู้บริโภคเกี่ยวกับข้อบัญญัติทางศาสนา ประเด็นว่าการใช้กาวติดเนื้อนั้นทำให้อาหารมีกลิ่นผิดปรกติหรือไม่นั้น ปรากฏว่ามีคนเคยทดลองแล้วเขียนข้อมูลในเน็ตว่า ถ้ามีการใช้ปริมาณสูงกับเนื้อที่นำไปปรุงภายใต้ระบบสูญญากาศในถุงพลาสติกชนิดพิเศษ ผู้บริโภคสามารถสัมผัสกับกลิ่นที่ต่างจากเนื้อสัตว์ที่ปรุงวิธีเดียวกันแต่ไม่ใช้กาว ผู้ทดลองศึกษาคิดว่า กลิ่นนั้นอาจเกิดเนื่องมาจากโปรตีนเคซีอีน (casein) ที่เป็นองค์ประกอบในกาวติดเนื้อหรือเนื่องจากก๊าซแอมโมเนียที่หลุดออกมาจากการปรุงอาหารเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ทดลองจึงแนะนำว่า อย่าใช้กาวมากเกินไป และจะให้ดีเจาะถุงให้เป็นรู เพื่อให้อะไรที่เกิดเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์หลุดออกไปได้ระหว่างการปรุง ในการเก็บรักษาผงกาวนี้ ผู้ประกอบการแนะนำว่า ผงกาวนี้สามารถเก็บได้นานถึง 18 เดือนที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส หรือให้ดีแช่แข็งไปเลย ส่วนการพิสูจน์กาวว่ายังดีหรือไม่นั้น ทำได้โดยเอาผงกาวทากับเนื้อไก่บดแล้วขยำรวมกันแล้วดมดู ถ้ายังมีกลิ่นเป็นเนื้อไก่ แสดงว่าผงกาวมันเสื่อมไปแล้ว แต่ถ้ามีกลิ่นคล้าย wet dog หรือ หมาเปียกน้ำ แล้วไซร้ผงกาวยังดีอยู่ ใครไม่รู้จักกลิ่นนี้ คงต้องลองทำดู โดยสรุปงวดนี้หมาซวยไปหลายตัวแน่ สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัยที่บริษัทผู้ผลิตให้ไว้ในอินเตอร์เน็ตนั้น อ่านดูน่าจะไม่มีปัญหานัก เพราะกาวติดเนื้อนี้เมื่อโดนความร้อนก็จะหมดสภาพไป กลายเป็นโปรตีนธรรมดา ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่ทำให้มือของผู้ปรุงอาหารติดกันแน่นอน และอาหารที่ใช้กาวติดเนื้อนี้ก็จะไม่มีกลิ่นผิดไปจากปรกติ ข้อควรระวังก็คือ กาวนั้นอยู่ในสภาพผง จึงอย่าหายใจเข้าไปเด็ดขาดและอย่าบังอาจกินเข้าไปโดยตรง เพราะอาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เนื่องจากยังไม่มีการทดลองว่ามันจะก่ออันตรายหรือไม่ สิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบก็คือ กาวติดเนื้อนี้ถ้ามองกันในมุมของนักวิทยาศาสตร์ทางอาหารแล้ว มันอยู่ในสถานะของ สารช่วยการผลิต หรือ processing aid ซึ่งคงยากที่จะตรวจพบได้หลังการผลิต ดังนั้นจึงไม่มีการติดฉลากบนอาหาร แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ คงไม่มีการบังคับให้ติดฉลากบอกด้วยซ้ำว่า เนื้อสัตว์ที่ติดกาวนั้นมีองค์ประกอบเป็นเนื้อจากสัตว์อะไรบ้าง เข้าใจว่าหน่วยงานที่ควรดูแลเรื่องนี้ คงต้องการให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกเหมือน เต๋อ ฉันทวิทย์ ใน กวน มึน โฮ ที่ซาบซึ้งเมื่อได้กินเนื้อ man best friend กระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 กระแสต่างแดน

สวรรค์ของคนเป็นแม่ กระแสต่างแดนฉบับนี้ พาคุณไปสำรวจสุขภาวะของบรรดาคุณแม่รอบโลก ผ่านรายงานว่าด้วยสุขภาวะของมารดาทั่วโลกประจำปี 2012 (Mother’s Index 2012) ที่องค์กร Save the Children เขาเก็บข้อมูลจาก 165 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดอันดับให้คะแนนประเทศเหล่านั้นโดยแยกประเทศเหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่มก่อนจัดอันดับ ได้แก่ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 43 ประเทศ กลุ่มที่กำลังพัฒนา 80 ประเทศ และกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมากอีก 42 ประเทศ ----- เกณฑ์การให้คะแนน สุขภาวะของเด็ก                                                 ร้อยละ 30 สุขภาพของสตรี                                                  ร้อยละ 20 สถานภาพทางการศึกษาของสตรี                          ร้อยละ 20 สถานภาพทางเศรษฐกิจของสตรี                           ร้อยละ 20 สถานภาพทางการเมืองของสตรี                            ร้อยละ 10 ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่ม “พัฒนาแล้ว” ที่มีคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงที่สุด นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม ไอร์แลนด์ 10.  เนเธอร์แลนด์ ในกรณีที่คุณสงสัย สหรัฐอเมริกาได้อันดับที่ 25 ในขณะที่ญี่ปุ่นได้อันดับ 30  ส่วนสเปน แชมป์ฟุตบอลยูโรหมาดๆ นั้นได้อันดับที่ 16 ---- คุณแม่ชาวนอร์เวย์สามารถลาคลอดได้ถึง 9 เดือน โดยยังได้เงินเดือนเต็มจำนวน และถ้าลาเพิ่มอีก 10 สัปดาห์ก็ยังได้เงินเดือนร้อยละ 80 ที่สำคัญเมื่อกลับเข้าทำงานแล้วยังสามารถขอลาไปดูแลลูกระหว่างวันได้อีก และนั่นคงเป็นสาเหตุให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นอร์เวย์สูงถึงร้อยละ 99 และร้อยละ 70 ของทารกที่นั้นยังได้กินนมแม่จนอายุ 3 เดือน ผู้หญิงชาวนอร์เวย์ได้รับการศึกษาเฉลี่ย 18 ปี และมีอายุขัยเฉลี่ย 83 ปี มากกว่าร้อยละ 80 ใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่เพื่อการวางแผนครอบครัว นอกจากนี้ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเท่าเทียมทางรายได้ของสตรีชาวนอร์เวย์ก็สูงด้วยเช่นกัน ตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่ใช้สิทธิลาคลอด ซึ่งเขากำหนดไว้ที่ 3 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และนอกจากนี้อัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์สูงที่สุดในกลุ่มอีกด้วย ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่คุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงสุด คิวบา อิสราเอล บาร์เบโดส อาร์เจนตินา ไซปรัส เกาหลีใต้ อุรุกวัย คาซัคสถาน มองโกเลีย 10.  บาฮามาส ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 16 ของกลุ่ม ตามด้วยเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 20  41  52  และ59 ตามลำดับ บราซิลอยู่อันดับที่ 12  จีนอันดับที่ 14 ส่วนอินเดียตามมาห่างๆ ที่อันดับ 76 ---- 10 อันดับท้ายซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนา ที่แม่และเด็กยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรได้แก่ คองโก ซูดานใต้ ซูดาน ชาด เอริเทรีย มาลี กินี-บิสเซา เยเมน อัฟกานิสถาน 10.  ไนเจอร์ ประเทศกัมพูชา พม่า และลาวอยู่ในอันดับที่ 6  7 และ 11 ตามลำดับ ที่ประเทศไนเจอร์นั้น ผู้หญิง 1 ใน 30 คนมีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์ และเด็ก 1 ใน 7 คนจะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี โดยเฉลี่ยแล้วพวกเธอได้รับการศึกษาประมาณ 6 ปี และมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายมากกว่าครึ่งหนึ่ง ---- นมแม่นานาชาติ ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยอดเยี่ยม ได้แก่ นอร์เวย์ สโลเวเนีย สวีเดน และลักเซมเบอร์ก ในขณะที่ออสเตรเลีย มอลต้า และสหรัฐฯ  เป็น 3 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงแค่ร้อยละ 35 เท่านั้น ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำเกินไปนั้น ทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยของทารกถึง 13,000 ล้านเหรียญต่อปี   ในกลุ่มอาเซียนนั้น พม่า และกัมพูชาจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนระดับ “ดี” ในขณะที่ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียได้ระดับ “พอใช้” ส่วนเวียดนามอยู่ในระดับ “แย่” นอร์เวย์ได้มีการนำเนื้อหาในหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารเสริมและอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) มาบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการขอให้รัฐบาลของประเทศที่ร่วมลงนามนั้นมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และในขณะเดียวกันก็ห้ามการโฆษณานมผงหรือผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่อื่นๆ ห้ามการแจกสินค้าตัวอย่างแก่ทั้งบรรดาคุณแม่และบุคลากรทางการแพทย์ และห้ามการใช้งบของระบบสุขภาพในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์นมผง เป็นต้น   ประเทศไทยของเราก็ลงนามยอมรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2524 แล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมากนัก เพราะภาพคุณแม่หมาดๆ หิ้วตะกร้าผลิตภัณฑ์นมผงที่ได้รับแจกจากผู้ผลิตในวันที่ออกจากโรงพยาบาลก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ---- นมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของทารก เพราะนมแม่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย การเป็นโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่การตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (SIDS: Sudden Infant Death Syndrome) ของทารกได้ และตัวคุณแม่เองก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่น้อยลงด้วย ไหนจะช่วยลดโลกร้อนได้อีก เพราะนมแม่ไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดเก็บ จัดส่ง หรือแช่เย็น และมาจากแหล่งพลังงานทดแทน เรียกว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของคุณแม่ต่อสังคมด้วยนั่นเอง ----

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 กระแสในประเทศ

เหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2555 สคบ.เตรียมคุมเข้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจสร้างบ้าน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาปวดใจของผู้บริโภคยุคนี้ วัดได้จากข้อมูลสถิติการร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่สูงสูสีพอๆ กับปริมาณหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดที่เกิดขึ้นเต็มเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สคบ. จึงเตรียมผลักดันให้ธุรกิจสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเจอกับปัญหาสั่งสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างหวัง หรือได้บ้านแต่เป็นบ้านที่ไม่มีคุณภาพ มาจากธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่มีสัญญาควบคุมอย่างเป็นมาตรฐาน แม้มีหน่วยงานอย่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีสัญญากลางไว้ช่วยกำกับดูแล แต่ปัญหาผู้รับเหมาผิดสัญญาผู้ซื้อบ้านก็ยังก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ สคบ. ที่ต้องรีบจัดทำสัญญามาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างกระทำผิดหรือหาช่องละเมิดผู้บริโภค และช่วยให้มีเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐานก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมา โดยทาง สคบ. ตั้งใจดำเนินการเรื่องการควบคุมสัญญาให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้   คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้านให้ อันดับแรกควรศึกษาประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผู้ประกอบธุรกิจ ว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน และอย่าลืมตรวจสัญญาให้ดีว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบก่อนที่จะเซ็นสัญญา หรือหากมีข้อข้องใจเรื่องการทำสัญญาสามารถขอคำแนะนำได้ที่ สคบ. โดยกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา โทร. 02-629-7065-66 ----------------------------------------------------------- สัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. ได้ออกข้อบังคับให้ต่อนี้ไป ธนาคารต่างๆ ต้องแสดงข้อความ ลงในผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่างๆ ที่ได้รับความคุ้มครองว่า “เงินฝากนี้ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากของผู้ที่มาใช้บริการ ให้ได้รับรู้สิทธิของตัวเอง ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากถือเป็นสิทธิสำคัญของผู้ฝากเงินกรณีที่ธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดกิจการ ตั้งแต่ 11 ส.ค. 55 นี้เป็นต้นไป จำนวนเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่เคยคุ้มครองสูงถึง 50 ล้านบาท โดยประเภทของเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน เฉพาะที่เป็นเงินบาท เพราะฉะนั้นใครที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกิน 1 ล้านบาทก็อย่านิ่งนอนใจ ต้องมั่นติดตามข่าวสารสถานการณ์การเงินของธนาคารที่เราฝากเงินไว้อยู่เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยๆ การที่ สคฝ. ออกมาตรการให้ธนาคารต้องแสดงสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก ก็เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ฝากเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิของเราจะได้รับการดูแล ใครที่มีปัญหาหรือสงสัยเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก www.dpa.or.th ----------------------------------------------------------------------- จัดระเบียบตลาดนัด ตลาดนัดกับคนไทยเป็นของคู่กัน เรียกว่าไปที่ไหนก็เจอ พูดได้เลยว่าตลาดนัดถือเป็นครัวหลักของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะเป็นแหล่งรวมของอาหารการกิน แต่หลายคนมีอคติกับตลาดนัดที่เรื่องความสกปรก กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมจัดระเบียบตลาดนัดทั่วประเทศที่มีกว่า 10,000 แห่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยในอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลาดนัดถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ผู้ประกอบการตลาดนัดจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และต้องผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3 ประการได้แก่ 1.สถานที่สะอาด 2.อาหารที่วางขายต้องไม่มีสารปนเปื้อนอันตรายอย่างน้อย 6 ชนิด ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารกันรา สารฟอร์มาลีน สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารฟอกขาว และสารเร่งเนื้อแดง และ 3.ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น มีตาชั่งมาตรฐานเที่ยงตรง ราคายุติธรรม มีชุดตรวจสอบการปนเปื้อนทางเคมี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งตรวจสอบตลาดนัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ปรับปรุงตลาดให้เข้ากับเกณฑ์ที่กระทรวงตั้งไว้ เพื่อให้คนไทยได้ชิมช้อปกันอย่างปลอดภัย -----------------------------------------------------------------------------   กสทช.สั่งแบนมือถือ 280 รุ่น ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาเปิดเผยว่าได้สั่งเพิกถอนในรับรองโทรศัพท์มือถือ 280 รุ่น จาก 27 บริษัท เนื่องจากตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารข้อมูลรายงานการทดสอบจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งเพิกถอนนี้มีผลทำให้ห้ามมีการนำเข้าและจำหน่ายมือถือทั้ง 280 รุ่นต่อไป แม้มาตรการที่มีต่อผู้ประกอบการจะค่อนข้างชัดเจน คือการระงับการจำหน่ายสินค้าที่ถูกยกเลิกทะเบียน แต่ในมุมของผู้บริโภคกลับไม่มีมาตรการรับผิดชอบใดๆ โดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยหลักการไม่มีหลักฐานว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ได้มีการพิสูจน์ เพียงแต่ผู้ขอใบอนุญาตในการนำเข้าใช้เอกสารปลอม หากมือถือที่ใช้อยู่ไม่เกิดปัญหาก็ยังสามารถใช้ได้ต่อไป เพียงแต่หากผู้บริโภคใช้โทรศัพท์ที่ถูกยกเลิกแล้วมีปัญหาก็สามารถฟ้องร้องเป็นกรณีไป ซึ่งโทรศัพท์มือถือที่มีปัญหาหลายๆ รุ่น ว่าขายมาตั้งแต่ 2 – 3 ปีก่อน คาดว่าน่าจะมีคนที่ซื้อไปใช้แล้วเป็นจำนวนมาก ใครที่อยากรู้ว่าโทรศัพท์มือถือที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายทั้ง 280 รุ่นมีรุ่นใดบ้าง สามารถสอบถามได้ที่ กสทช. Call Center 1200 ---------------------------------------------------------------------------- กินหน่อไม้ดิบ ระวังชีวิตดับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนอย่ากินหน่อไม้ดิบ เพราะอาจได้รับอันตรายจากพิษไซยาไนด์ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หลายคนยังเข้าใจผิดว่าหน่อไม้บางสายพันธุ์สามารถกินดิบๆ ได้ ซึ่งความจริงถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะตามธรรมชาติในหน่อไม้จะมีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ถ้าหากได้รับในปริมาณไม่มากสารก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่หากได้รับในปริมาณมากสารไซยาไนด์ก็จะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้หมดสติและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกินหน่อไม้ ต้องต้มให้สุกทุกครั้ง โดย นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร แนะนำให้ต้มหน่อไม้ทิ้งไว้ในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที เพราะจะช่วยลดสารไซยาไนด์ที่อยู่ในหน่อไม้ได้ถึงร้อยละ 90.5 เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 สาหร่ายแก้ว

หลายคนเรียก เส้นแก้วหรือวุ้นเส้นสาหร่ายแก้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงคนที่ห่วงใยเรื่องน้ำหนักตัวเพราะเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับอาหารอื่นหรือ “เส้น” อื่นๆ กินจนอิ่มคาร์โบไฮเดรตก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สาหร่ายแก้ว หน้าตาจะคล้ายวุ้นเส้นแต่อวบล่ำกว่ามากมองเผินๆ นึกว่าเส้นบุก แต่ไม่ใช่ เส้นนี้นิยมกันมากในเกาหลีและจีนก่อนลามมาเมืองไทยถ้าชอบกินสลัดบาร์จะเห็นเส้นแก้วนี้วางอยู่เคียงกับผักสลัดอื่นๆในเกือบทุกห้างที่มีขาย ระยะหลังมีขายเป็นแพ็กแยกต่างหากเป็นล่ำเป็นสัน  เพราะเมืองไทยสามารถผลิตเองได้แล้ว สาหร่ายเส้นแก้วเป็นโซเดียมอัลจิเนต โดยสกัดมาจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลผ่านกระบวนการทำให้เป็นเจลและจากเจลทำให้คงตัวเป็นเส้นคล้ายวุ้นเส้นอย่างที่เราเห็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่เป็นน้ำ ปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานไม่เกิน 20 กิโลแคลอรี มีคาร์โบไฮเดรต 4 กรัม ใยอาหาร 4 กรัม และโซเดียมกับแคลเซียม นิดหน่อยจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักเพราะกินแล้วอิ่มท้องดี ลดความอยากอาหารไปได้ แต่ใยอาหารของเส้นแก้ว เป็นใยอาหารชนิดที่ไม่ได้ช่วยเรื่องการขับถ่ายมากนักดังนั้นหากต้องการให้ขับถ่ายสะดวกควรเลือกกินพวกผัก ผลไม้ ดีกว่า   ตัวสาหร่ายเส้นแก้ว ไม่ได้มีรสชาติอะไรออกจืดๆ ดังนั้นต้องนำไปปรุงไปแต่งให้มีรสชาติมากขึ้น จะยำจะแกงก็ว่าไป รสสัมผัสที่ได้จะกรุบๆ กรอบๆบางคนก็เอามาทำเป็นขนมหวานแบบวุ้นใส่น้ำแข็งใส อร่อยดีเหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 A to Z

ว้าว !! ฉลาดซื้อ ขึ้นปีที่ 19 แล้ว สาวสะพรั่งกันทีเดียว โอกาสดีแบบนี้ เราเลยขอทบทวนเรื่องราวข่าวสารในแวดวงงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหยิบจับ มาร้อยเรียงผ่านตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว เพื่อเป็นอภินันท์แก่ทุกท่านนะคะ         Asbestos-แร่ใยหิน แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ ในกลุ่มแร่ใยหินสีขาว คือตัวที่ 50 ประเทศทั่วโลกได้เลิกใช้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีใช้กันอยู่ แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในสินค้าชนิดต่างๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ และยังผสมในผ้าเบรกรถยนต์ ตลอดจนอุปกรณ์ทนไฟต่างๆ ด้วย ปัญหาที่ทำให้แร่ใยหินถูกห้ามในหลายประเทศคือ อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายสู่ปอด ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เมโสเทลีโอมา (Mesothelioma) ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุจากแร่ใยหินอย่างเจาะจง ถือเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวมิดชิดอยู่ในบ้านเรือนของเรา   กรณีประเทศไทยยังต่อสู้กันอยู่ระหว่างฝ่ายผู้ผลิตที่พยายามให้ข้อมูลว่า การใช้แอสเบสตอสปลอดภัยกับกลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคที่พยายามผลักดันให้เกิดนโยบายยุติการใช้และห้ามนำเข้าแร่ใยหิน จนเป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ได้รับความเสียหายในเชิงธุรกิจจ้องจะฟ้องร้องนักวิชาการที่ทำงานเพื่อสังคม นับเป็นภัยอีกรูปแบบหนึ่งจากแร่ใยหินเช่นกัน   BMTA Bangkok Mass Transit Authority- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) เว็บไซต์ของ ขสมก. ระบุว่าเขาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการสาธารณูปโภค ภายใต้กระทรวงคมนาคม ที่เน้นให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการจัดเก็บค่าโดยสารในราคาต่ำกว่าทุน เช่น รถเมล์ขาวแดง ต้นทุนต่อเที่ยวของเขาอยู่ที่ 933 บาท ก็เก็บเราแค่คนละ 6.50 บาท (หรืออาจไม่ต้องเสียเลย ถ้าเรี่ยวแรงและข้อเข่าดีพอที่จะไล่ตาม “รถเมล์ฟรี วิ่งหนีประชาชน” ได้ทัน) แต่ทั้งนี้ผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีบ้านเรือนอยู่ในเส้นทางที่เขาจัดรถเมล์ให้ มิเช่นนั้นจะต้องนั่งรถตู้ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อเที่ยว กรุงเทพฯ มี “มวลชน” ที่ต้องได้รับการขนส่งเกือบ 6 ล้านคน แต่การสำรวจ Asia Green City Index ซึ่งเป็นการประเมินเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ในเอเชีย เมื่อปีที่แล้ว โดย the Economist Intelligence Unit พบว่ากรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเมืองหลวงที่มีถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการขนส่งมวลชนอยู่ในระดับ “ต่ำกว่ามาตรฐาน” ในขณะที่กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเราถูกจัดไว้ในกลุ่ม “สูงกว่ามาตรฐาน” เดียวกับกรุงโซล และฮ่องกงซึ่งถือได้ว่ามีระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในโลกไปแล้ว   Copyright ดีแน่ แต่ต้องสมดุล สหพันธ์ผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ได้ทำการสำรวจกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาใน 30 ประเทศ เมื่อต้นปี 2012 เพื่อตามหาประเทศที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงความรู้ในงานอันมีลิขสิทธิ์มากที่สุด ผลการสำรวจพบว่า แชมป์ใหม่ปีนี้ได้แก่ อิสราเอล ซึ่งขยับขึ้นจากเดิม 3 อันดับ ตามด้วยเพื่อนบ้านของเราอินโดนีเซีย ที่ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีก่อนหน้า และอินเดียซึ่งรั้งตำแหน่งที่ 3 เหมือนเดิม ตามด้วยนิวซีแลนด์และอาร์เจนตินา ประเทศเหล่านี้มีการตีความคำว่า “การใช้อย่างเป็นธรรม” ได้กว้างขวาง และเอื้อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลความรู้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยของเราที่แข็งขันเรื่องการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ปีนี้ได้ที่ 4 จากท้าย (ตกจากเดิมลงมา 1 อันดับ) แต่ยังดีกว่าอังกฤษ อาร์เจนตินา และจอร์แดน   Disaster-ภัยพิบัติ หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีมุมมองต่อภัยธรรมชาติที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับคน กทม. ที่อาจจะเคยคิดว่าภัยธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้ทุกคนรับรู้แล้วว่ามันอยู่ใกล้ซะยิ่งกว่าใกล้ (ก็เล่นท่วมถึงห้องนอนไม่เรียกใกล้มากๆ แล้วจะเรียกว่าอะไร) ปีนี้ก็ยังคงต้องลุ้นกันอยู่ว่าน้ำจะมาอีกมั้ย ขณะที่การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัยก็ยังมีปัญหาอย่างที่เห็นเป็นข่าว   แต่ไม่ว่าจะยังไงเราทุกคนก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีเว็บไซต์ไว้ให้เราสามารถติดตามเฝ้าระวังหรือหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (www.ndwc.go.th), ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (www.thaiflood.com), มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (www.paipibut.org) และ ระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับอุทกภัย (www.flood.rmutt.ac.th)   Eco Design-ดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ Eco Design  (Economic & Ecological Design) หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาติ Eco Design เป็นสินค้าที่พึ่งพาหรือรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งลดการใช้พลังงาน ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติหรือได้จากขบวนการรีไซเคิล เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานด้านอย่างคุ้มค่า ง่ายต่อการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ Eco Design  กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะดีต่อโลกของเราแล้ว ความเป็น Eco Design  ยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบรรดาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน สำหรับบ้านเราสินค้า Eco Design อาจยังไม่มีให้เห็นหรือเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็มีความพยายามในการส่งเสริม อย่างเช่นการจัดการประกวด Thailand Eco Design Award   โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่พร้อมให้ความรู้และคำแนะนำเรื่อง Eco Design แก่บรรดาผู้ผลิตที่อยากช่วยโลก   Ft-ค่าไฟฟ้าผันแปร เดือน มิ.ย -ส.ค 55 จะเก็บเพิ่ม 30 ส.ต./หน่วย ค่าเอฟทีในบิลค่าไฟเคยสังเกตกันไหม ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนก็หมายความว่า เราต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มกันนะพี่น้อง บ้านใครใช้กี่หน่วยก็เอา 0.3 คูณเข้าไป นั่นคือราคาที่ต้องจ่ายเพิ่ม เช่นใช้ไฟอยู่ 300 หน่วย ก็จ่ายเพิ่มจากเดิมอีก 90 บาท ค่าเอฟทีคืออะไร ขอเรียกมันง่ายๆ ว่าการคิดกำไรสองชั้นของ(พ่อค้า)ไฟฟ้า ปกติเวลาใครจะขายสินค้าอะไรส่วนใหญ่เขาก็เอาต้นทุนคือพวกวัตถุดิบต่างๆ มาบวกกับค่าประกอบการ เช่น ราคาทุน 10 บาท ค่าประกอบการ 3 บาท แล้วขายในราคา 15 บาท คือเป็นกำไรสุทธิ 2 บาท แต่เอฟทีคือ เอาค่าประกอบการมาคิดใหม่ ให้ผันแปรไปได้ตามสถานการณ์ เช่น ราคาทุน 10 บาท กำไรสุทธิ 2 บาท แต่ค่าประกอบการ 3 บาทอาจไม่ใช่แล้ว เพราะจะผกผันไปได้ตลอด ดังนั้นราคาขายจริง อาจเป็น 15 บาท 16 บาท หรือ 18 บาทก็ได้ ถือเป็นกำไรชั้นที่สอง เรียกว่าพ่อค้าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับค่าประกอบการเลย สินค้าอื่นทำแบบนี้ไม่ได้หรอก แต่กิจการไฟฟ้ามันถูกผูกขาดทำได้สบายอยู่แล้ว ค่าเอฟทีในบิลค่าไฟจะผันแปรไปตามต้นทุนของเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ ร้อยละ 70 เป็นก๊าซธรรมชาติ ที่ต้องซื้อจาก ปตท. เท่านั้นผูกขาดกันไปอีกชั้น ซื้อถูกก็ไม่ได้ เห็นแต่ซื้อแพงตลอด แต่การไฟฟ้าเขาไม่สนใจหรอกเพราะภาระตรงนี้มันส่งต่อมาที่ผู้บริโภคในรูปแบบของค่าเอฟทีแล้วไง แว่วว่าเดือน ก.ย. 55 ก็จะปรับเพิ่มอีก 8 สตางค์ ซ้ำเติมกันให้เต็มที่ท่าน อย่าได้เกรงใจ   GMO-พืชดัดแปรพันธุกรรม พืชดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms- GMO) ประเทศไทยเราไม่อนุญาตตามกฎหมายให้มีการปลูกทดสอบในพื้นที่เปิดและผลิตจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ แต่การสำรวจ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนเมษายน 2555 ทั้งหมด 319 ตัวอย่าง ก็ยังพบการปะปนพืชจีเอ็มโอในฝ้าย 9 ตัวอย่าง ในมะละกอ 29 ตัวอย่าง ซึ่งเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอยังถูกผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติ ถ้าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้หลุดออกไปอยู่ในมือเกษตรกรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจ้าของสิทธิบัตรย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเกษตรกรได้ เรื่องฉลากจีเอ็มโอของกระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดให้อาหารสำเร็จรูปที่มีถั่วเหลืองหรือข้าวโพดอยู่ใน 3 ส่วนประกอบแรกและถั่วเหลืองหรือข้าวโพดนั้นมีน้ำหนักตั้งแต่ 5% ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ขึ้นไป ถ้าตรวจพบจีเอ็มโอตั้งแต่ 5% ขึ้นไปถึงจะต้องแสดงฉลาก แต่บ้านเราต้องตาดีมากๆ ถึงจะเห็นฉลาก วันหนึ่งจีเอ็มโออาจจะเป็นม้าโทรจันเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพการเกษตร และความมั่นคงทางทางอาหารของไทย เราจึงต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย   HPV-วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ไวรัสก่อโรคมะเร็งปากมดลูกมีหลายร้อยสายพันธุ์ แต่ที่พบบ่อยนั้น มีสองสายพันธุ์ที่เขาทำวัคซีนออกมาใช้และได้ผลค่อนข้างดี ปัญหาคือ ถ้าจะฉีดควรฉีดตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะมีประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์ ถ้าโตแล้วและผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ผลในการป้องกันจะน้อยลงไป ปัญหาคือ เวลาเขาโฆษณาให้ฉีดเพื่อป้องกัน เจ้าของวัคซีนหรือโรงพยาบาลบางแห่ง มักสร้างข้อมูลผิดๆ คือ ทำให้เชื่อว่าป้องกันได้ผล 100% และตลอดชีวิต ซึ่งไม่จริง วัคซีนสองตัวที่ว่าดีข้างบนนั้นก็เพิ่งเก็บข้อมูลกันไปสิบกว่าปีเท่านั้น ตอนนี้ข่าวว่า ท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขจะซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาฉีดให้เด็กไทย ซึ่งดูเหมือนจะใจเร็วด่วนได้ไปนิด เทียบกันแล้วอาจได้ไม่คุ้มราคาเพราะบริษัทเสนอราคาแพงเกินไป และใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งท่านรัฐมนตรีก็ให้ข่าวชวนสร้างความเข้าใจผิดว่า ฉีดแล้วจะป้องกันได้ตลอดชีวิต คงต้องระวังหน่อยนะท่าน เกิดฉีดไปแล้วเป็นขึ้นมาภายหลังล่ะก็ ได้ฟ้องกันวุ่นวายแน่ เพราะโอกาสติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ตัวที่เป็นวัคซีนก็เยอะเช่นกัน   ดังนั้นใครเคยฉีดวัคซีนไปแล้วอย่าเพิ่งวางใจ ควรไปตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป็ปสเมียร์ (pap smear) เช่นเดิมเพราะยังมีโอกาสอีกในการเกิดมะเร็งปากมดลูก   Instagram-อินสตาแกรม ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับกี่ล้านคำพูดนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ หนึ่งโปรแกรมแชร์ภาพถ่ายนั้น มีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีตั้งแต่อินสตาแกรมเปิดตัวมา โปรแกรมนี้มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 31 ล้านคน แรกก็ใช้กันเฉพาะในหมู่ผู้มีไอโฟน แต่ต่อมาก็ขยายไปยังโทรศัพท์อื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ว่ากันว่าโปรแกรมนี้ใช้ง่าย  แถมได้ภาพถ่ายสวยงามประหนึ่งผลงานมืออาชีพ ปลอดโฆษณาและการอัพเดทสถานะ ที่สำคัญเขาเคยได้ตำแหน่ง แอพออฟเดอะเยียร์ มาแล้ว เรียกว่าเติบโตเร็วจนยักษ์ใหญ่อย่างเฟสบุ๊ครู้สึกร้อนๆหนาวๆ จนต้องรีบควักกระเป๋าซื้อหามาครอบครองให้ได้ก่อนใคร ด้วยราคาสูงถึง 30,000 ล้านบาท สาวกดั้งเดิมของอินสตาแกรม เริ่มวิตกว่าพื้นที่จัดแสดงภาพถ่ายฝีมือประณีตของตัวเอง อาจถูกโฆษณาเข้ามาบุกรุก หรืออาจจะเป็นแขกรับเชิญรายการ “ล้วงลับตับแตก” โดยไม่รู้ตัว หรือแย่ไปกว่านั้นคือกลัวว่าเฟสบุ๊คจะปิดการใช้โปรแกรมดังกล่าวไปดื้อๆ นั่นเอง   Jeans-ยีนส์ ฉลาดซื้อเคยลงบทความเรื่อง CSR กางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง ที่นำเสนอเรื่องราวกว่าจะเป็นกางเกงยีนส์สักตัวต้องผ่านหลากหลายขั้นตอน ใช้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทั้งพลังงาน  ใครจะคิดว่าการผลิตกางเกงยีนส์ก็ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วยเหมือนกัน งานนี้กางเกงยีนส์เลยต้องขอทำหน้าที่กู้โลกกะเขาบ้าง ด้วยการแปลงโฉมเป็น “Eco Jean” หรือ “กางเกงยีนส์รักษ์โลก” เมื่อ ลีวายส์ (Levi’s) แบรนด์กางเกงยีนส์ชื่อดัง ผลิตกางเกงยีนส์รุ่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยควบคุมทุกขั้นตอนการผลิตให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด เริ่มตั้งแต่การใช้ฝ้ายที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มาผลิตกางเกง ใช้เปลือกมะพร้าวมาทำกระดุม สีที่ใช้ตกแต่งก็เป็นสีธรรมชาติ ส่วนป้ายที่บอกข้อมูลและราคาสินค้าแน่นอนว่าทำมาจากกระดาษรีไซเคิล ถึงเวลาเหล่าแฟชั่นตัวแม่แสดงพลังแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว...   Korea Fever-เคป็อป “เบื่อมั้ย?...เกาหลี” คำถามนี่อาจจะทั้งโดนใจและขัดใจหลายๆ คน แต่ก็ต้องยอบรับว่า “เกาหลีฟีเวอร์” มีอิทธิพลกับผู้บริโภคไทยในระดับที่มากถึงมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพลงกับละครเท่านั้น ความเป็นเกาหลียังแพร่กระจายอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องอาหารการกิน เรื่องความสวยความงาม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว แถมไม่ใช่แค่สินค้าจากเกาหลี (หรือแอบอ้างว่าเป็นเกาหลี) เท่านั้นที่ได้รับความนิยม เพราะเดี๋ยวนี้สินค้าไทยแท้ๆ ยังต้องจ้างดารา – นักร้องเกาหลีมาเป็นพรีเซนเตอร์ หวังเกาะกระแสเกาหลีฟีเวอร์ ทั้งๆ ที่สินค้าเหล่านั้นทำออกมาขายคนไทย แต่ทำไมต้องให้ดาราหรือนักร้องเกาหลีมาการันตีความดีของสินค้าเหล่านั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ไม่ใช่จะมาบอกว่าดาราหรือสินค้าเกาหลีไม่ดี แต่อยู่ที่เราเลือกมองเลือกใช้อย่างไรมากกว่า ฝากถึงผู้ผลิตหรือคนที่นำเข้าสินค้า อย่าใช่แค่คำว่าเกาหลีมาเป็นจุดขาย เพราะของจะดีหรือไม่ดีเขาดูกันที่คุณภาพ Labeling – ฉลาก เป็นด่านหน้า ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แบ่งประเภทของฉลากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มฉลากสินค้าทั่วไป และ กลุ่มฉลากยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฉลากอาหารกลุ่มแรกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขณะที่กลุ่มที่สองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีจุดร่วมทางกฎหมายคือได้กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ โดยผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกซื้อหรือใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย เป็นธรรม และประหยัด ดังนั้นข้อความที่ปรากฏในฉลาก จึงต้องตรงต่อความจริง ไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และจะต้องเป็นภาษาไทย   Made in China-เมดอินไชน่า กว่าร้อยละ 50 ของรองเท้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่ของประดับต้นคริสต์มาส ล้วนแล้วแต่เดินทางออกจากประเทศจีนทั้งสิ้น แต่ร้อยละ 89 ของสินค้าไฮเทคที่จีนส่งออกไปขายต่างประเทศนั้น ผลิตจากโรงงานที่เจ้าของเป็นนายทุนต่างชาติ (มีไม่น้อยที่เป็นคนเกาหลีและไต้หวัน) แม้แรงงานจีนจะมีงานทำ มีรายได้ แต่ผลกำไรส่วนใหญ่นั้นตกอยู่ที่คนอื่น เช่น ไอโฟน 4S เครื่องหนึ่งที่มีต้นทุนชิ้นส่วนและการประกอบไม่เกิน 6,000 บาท (ค่าแรงในการประกอบต่อหนึ่งเครื่องอยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท) แต่เมื่อมาถึงมือผู้บริโภค รวมค่าลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ค่าโฆษณา ฯลฯ แล้ว ก็อยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท ทั้งนี้หลังจากตกเป็นข่าวบ่อยๆ เพราะมีคนงานฆ่าตัวตายอยู่เนืองๆ โรงงานฟอกซ์คอน (ซึ่งเจ้าของคือมหาเศรษฐีชาวไต้หวัน) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ รวมถึง Apple ประกาศว่ากำลังพิจารณาขึ้นค่าแรงจากปัจจุบัน 2,200 หยวน เป็น 4,400 หยวน (ประมาณ 22,000 บาท) ต่อเดือน ในปีหน้าด้วย อันนี้ไม่รู้ว่าพูดเป็นนัยๆ ให้ทราบโดยทั่วกันว่าต่อไปผลิตภัณฑ์พวกนี้จะราคาแพงขึ้นด้วยหรือเปล่า   19 -ฉลาดซื้อขึ้นปีที่ 19 ตั้งแต่พิมพ์ฉบับแรกเมื่อมิถุนายน 2537 ฉลาดซื้อเราลงเรื่องซ้ำไม่มาก เพราะปัญหาผู้บริโภคบ้านเรามันเกิดได้กับทุกสินค้า ส่วนเรื่องที่ลงซ้ำก็มักมีพัฒนาการปัญหาใหม่ๆ ให้วุ่นวายชี้แจงแถลงไขกันไม่หยุด อย่างขนมเด็กที่มีปัญหาเรื่องฉลากมาตั้งแต่เริ่มฉลาดซื้อ ผ่านไปสิบแปดปี ก็ยังมีปัญหาฉลากเหมือนเดิม พร้อมๆ กับการเติบโตของเทคโนโลยี สินค้าหลายชนิดถูกยกระดับการผลิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลอกหากินกับผู้บริโภคได้อย่างน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย ดังนั้นแล้วจะซื้ออะไรก็ขอให้ใส่ใจหาความรู้ให้มาก รู้ให้ทัน อย่าใจเร็วด่วนได้ ฉลาดซื้อกันนะคะ Olympic-โอลิมปิก มีใครก็ไม่รู้บอกว่า “โอลิมปิกเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ” ในเมื่อโอลิมปิกเป็นกีฬาของทุกคนบนโลก มหานครลอนดอนจึงมีมาตรการสีเขียว แบบว่าจัดเต็มไม่น้อยหน้าครั้งที่ผ่านๆ มา ประมาณการว่ามหกรรมโอลิมปิก 2012 ในช่วง 17 วันของการแข่งขัน จะมีผู้เข้าชมการแข่งขันราว 6.5 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารถึง 3,300 ตันจะก่อให้เกิดขยะ 8,250 ตัน และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 1.1 ล้านตัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2012 ได้ตั้งเป้าว่าในช่วง 6 สัปดาห์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคจะต้องไม่มีขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ และขยะที่ถูกทิ้งอย่างน้อย 70% จะต้องสามารถนำไป reuse หรือ recycle หรือต้องย่อยสลายได้ ส่วนบริษัทน้ำดำ สปอนเซอร์รายใหญ่ถึงกับให้คำมั่นสัญญาว่า ขวดพลาสติกแบบ PET ทุกใบที่ขายในการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนราว 80 ล้านใบ จะถูกนำมา recycle เป็นขวดใบใหม่    นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกระดาษใส่เครื่องดื่ม กระดาษห่ออาหารประเภท Fast Food และกล่องใส่แซนวิช จะต้องสามารถย่อยสลายได้   ก็ลองดูกันต่อไปว่าหลังจบการแข่งขันจะเป็นอย่างไร  …..ให้กำลังใจเจ้าภาพมา ณ โอกาส นี้   Photoshop-โฟโต้ชอป เดี๋ยวนี้มีเครื่องสำอางที่โฆษณาว่าช่วยดูแลผิวหน้า ลบเลือนริ้วรอย คืนความอ่อนเยาว์ เพิ่มความขาวกระจ่างใส ฯลฯ ถึงจะอยากสวยอยากใสแค่ไหน สาวๆ ฉลาดซื้อก็อย่าได้ปักใจเชื่อเด็ดขาด เพราะสิ่งที่เห็นในโฆษณาอาจเป็นเพียงภาพมายา เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ถูกทำให้ดูดีได้ด้วยเทคนิคของโปรแกรมตกแต่งภาพยอดนิยมอย่าง “โฟโต้ชอป” (Photoshop) รอยย่น รอยตีนกา สิว ฝ้า จุดด่างดำ ของนางแบบในโฆษณา ถูกทำให้หายไปในพริบตา ไม่ใช่เพราะสรรพคุณของตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเพราะความมหัศจรรย์ของโฟโต้ชอปล้วนๆ ที่ประเทศอังกฤษ หน่วยงานมาตรฐานการโฆษณาของสหราชอาณาจักร เคยสั่งแบนโฆษณาแป้งรองพื้น ลังโคม (Lancome) ของเครื่องสำอางยี่ห้อดังอย่าง ลอริอัล (L’oreal) เพราะนักแสดงสาว จูเลีย โรเบิร์ต ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีใบหน้าที่เรียบเนียนเกินจริงดูแล้วไม่สมวัยซึ่งเกิดจากการรีทัชลบริ้วรอยออกไป แล้วแบบนี้ยังจะเชื่ออยู่มั้ยว่าใช้แล้วสวยสาวขาวใส ก็ขนาด จูเลีย โรเบิร์ต ยังต้องพึ่งโฟโต้ชอป!!!   Queue-คิว การเข้าคิวก็เหมือนการสื่อสารอย่างหนึ่ง ผู้คนพร้อมจะเข้าไปยืนในคิวก่อนที่จะรู้ด้วยซ้ำว่ากำลังจะมาซื้อสินค้าอะไร  ถ้าเป็นของกินแล้วคิวยาว แปลว่าของร้านนี้เขาคงอร่อยมากแน่ๆ คุณรู้หรือไม่ คนที่ไหนชอบเข้าคิวมากที่สุด  เฉลยว่าเป็นคนรัสเซีย ซึ่งว่ากันว่าสนุกกับการเข้าคิวมากกว่าการซื้อของเสียอีก เมื่อร้านฟาส์ตฟู้ดแห่งหนึ่งเปิดตัวที่มอสโควในปี 1990 นั้นมีคนมาเข้าคิวรอล่วงหน้านานกว่าคอนเสิร์ตเลดี้ กาก้า ที่บ้านเราอีก มีผลการสำรวจที่ระบุว่า รัสเซียเป็นที่ ที่คิวยาวที่สุดและขยับช้าที่สุดในยุโรป โดยเฉลี่ยแล้วคิวที่นี่ใช้เวลารอประมาณ 27 นาที ตามด้วยอันดับ 2 คืออิตาลี ที่ต้องเข้าคิวกัน 14 นาที ส่วนที่แทบจะไม่ต้องรอกันเลยคือ สวีเดน ที่เวลาเฉลี่ยในการเข้าคิวอยู่ที่ 2 นาทีเท่านั้น คนรัสเซียเขาเลยนิยมเทครัวกันไปซื้อของ ไม่ใช่เพราะต้องการความอบอุ่น แต่เพื่อจะได้กระจายกำลังกันไปเข้าคิวอื่นๆ เป็นการประหยัดเวลานั่นเอง เหตุที่คิวต่างๆ ยาวขึ้นนั้นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ทำให้สถานประกอบการต่างๆ ลดพนักงาน เพื่อลดต้นทุนนั่นเอง โดยเฉพาะสถานประกอบการของรัฐ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร ที่ขายตั๋วรถไฟ และร้านรวงทั่วไป   Rich-ความร่ำรวย คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนจน เชื่อมั้ย?? ถ้าดูจากจำนวนผู้ที่มีรายได้ที่ต้องแสดงแบบเพื่อเสียภาษี เมื่อปี 2554 มีเพียง 11.7 ล้านคน แต่จ่ายภาษีจริงหลังหักลดหย่อนเหลือแค่ 2.3 ล้านคน  (รายงานผลสำรวจของสำนักงานสถิตแห่งชาติในปี 2553 บอกว่าแรงงานของไทยทั้งหมดมีประมาณ 38 ล้านคน เป็นมนุษย์เงินเดือน 17 ล้านคน และกลุ่มอาชีพอิสระ เช่น หมอ วิศวกร ก่อสร้าง เกษตรกร แท็กซี่ หาบเร่แผงลอยอีก 21 ล้านคน) มองง่ายๆ มนุษย์ที่มีเงินเดือนเกิน 20,000 บาทขึ้นไปถึงเข้าข่ายเสียภาษี คือ 2.3 ล้านคนเท่านั้น เลยมีหลายคนให้ข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมหลายอย่างที่จับกลุ่มคนชั้นกลางจะไม่เติบโตมากในประเทศนี้ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างเงินมหาศาลให้กับเจ้าของกิจการจะเป็นสินค้าสำหรับคนรากหญ้าหรือผู้ใช้แรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มชูกำลัง ลองนึกถึงเศรษฐีอันดับต้นๆ ในประเทศนี้สิ ไม่ว่าจะเป็นคุณเฉลียว อยู่วิทยา(ที่เพิ่งเสียชีวิตไป) หรือคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ทั้งสองล้วนได้รับแรงสนับสนุนอย่างดีจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จนติดอันดับเศรษฐีไม่เฉพาะของไทยแต่ของโลกเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าอยากรวยรู้แล้วใช่ไหมว่าต้องขายอะไรกับใคร Sport-กีฬา 1 ในหลายรสชาติของการเชียร์กีฬาอย่างมีสีสัน  และสนุกไปกับเกม เสมือนเข้าไปนั่งเชียร์อัพให้กำลังใจทีมโปรดในสนาม ก็คือ การมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกร้องเพลงประจำทีม หรือการซื้อหาชุดกีฬาทีมมาสวมใส่ ในศึกยูโร 2012  ก็เช่นกันหลายๆ คนที่ซื้อหาเสื้อทีมชาติที่โปรดปรานมาครอบครองไว้แล้ว อาจจะร้อนๆ หนาวๆ ถ้ารู้ข่าวที่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของยุโรป(บีอียูซี)  ออกมาแฉผลศึกษาเสื้อทีมฟุตบอล ในศึกยูโร 2012 ว่าเต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายต่อมนุษย์  โดยมีเสื้อทีมฟุตบอล 9 ชาติ มีส่วนผสมของสารเคมีที่ใช้ในการผลิตอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง และมี 6 ชาติ   จากจำนวนนั้น มีสารตะกั่วและโลหะหนักผสมอยู่ โดยในเสื้อทีมสเปน และ เยอรมนี มีสารตะกั่วสูงมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ในเสื้อทีมชาติสเปนและอิตาลี  พบสาร โนลิเฟโนล ซึ่งส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และถูกแบนจากการใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียเพราะมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเสื้อทีมโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ มีสารนิคเกิล อยู่ด้วย ขณะที่เสื้อทีมโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมอาการหนักกว่าเพื่อน เนื่องจาก มีส่วนผสมของ ออร์แกโนติน สารเคมีที่มีผลต่อระบบประสาท ในระดับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด จนองค์กรเพื่อผู้บริโภคของยุโรป เห็นว่า ควรจะถูกแบนจากร้านค้าโดยเด็ดขาด แฟนฟุตบอลจำนวนมาก ต้องจ่ายเงินมากกว่า 90 ยูโร หรือประมาณ 3,600 บาท ในการซื้อหาเสื้อทีมโปรดมาสวมใส่  เลยไม่รู้จะจะดีใจแทนคนไทยหรือไม่ที่ไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ   แถมจ่ายเงินน้อยกว่าเพราะซื้อเสื้อบอลก็อปเกรดเอ จากร้านข้าง ๆ สนามศุภฯ ดี   Traffic Light Labeling – ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร เป็นฉลากโภชนาการแบบที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกอาหารที่ตนต้องการได้อย่างรวดเร็วเพียงการมองแค่ครั้งเดียวสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่มโดยเฉพาะเด็กและผู้ปกครองเด็ก ฉลากโภชนาการชนิดนี้ได้กำหนดให้แสดงคุณค่าสารอาหารจากกลุ่มสารอาหารที่มักก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายเมื่อได้รับในปริมาณมากเป็นประจำ 5 รายการ ได้แก่ ค่าพลังงาน (Energy/ Calories) ไขมัน (Fat) ไขมันอิ่มตัว (Saturates Fat) น้ำตาล (Sugar) และ เกลือ (Salt) บนส่วนหน้าของฉลากอาหาร และกำหนดให้แสดงค่าสารอาหารโดยระบุปริมาณพร้อมใช้สีของสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง เป็นสัญลักษณ์ หมายถึงคุณค่าทางโภชนาการ ต่ำ ปานกลาง สูง  เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ เครือข่ายผู้บริโภคเราก็เคยเคลื่อนไหวให้ อย. เอาฉลากเขียวเหลืองแดงมาใช้กับขนม แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นฉลากจีดีเอ ทรงกระบอกข้าวหลามที่เข้าใจยากกว่าไปได้   Used-มือสอง ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2553 ระบุ ประเทศไทยของเรามีขยะเกิดขึ้นมากถึงวันละ 41,532 ตัน ต้องใช้ทั้งกำลังคนและงบประมาณในการจัดเก็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองย้อนกลับไปดูสถิติที่ผ่านมา 5 ปี ปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แถมขยะหลายชนิดก็ยากแก่การย่อยสลาย ทั้ง กระป๋องอะลูมิเนียม ถุงพลาสติก โฟม ขยะเหล่านี้จะอยู่คู่โลกของเราไปอีกหลายร้อยปี ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ เริ่มง่ายๆ ด้วยการใช้ของทุกอย่างที่เราซื้อมาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซื้อเท่าที่จำเป็น รู้จักนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ อันไหนถ้าไม่ใช้แล้วจริงๆ ก็แบ่งปันให้คนอื่น แปรเป็นของมือ 2 หรือเอาไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ทำให้ของทุกอย่างมีค่ามากกว่าการเป็นแค่ขยะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ปั่นปลอดภัย ไปกับหมวกนิรภัย

เป็นที่รู้กันดีว่าการขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง แถมยังเป็นการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดอยู่ตรงที่หลายคนยังไม่มั่นใจว่าการใช้จักรยานสัญจรไปมาจะปลอดภัย มูลนิธิโลกสีเขียวมีผลสำรวจความคิดเห็นที่ยืนยันว่าร้อยละ 85 ของคนกรุงเทพฯ ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม (ประมาณ 4,500 คน) ยินดีจะใช้จักรยานในการเดินทางถ้าพวกเขารู้สึกว่าสามารถขับขี่ได้โดยไม่มีอันตราย ระหว่างที่เรากำลังรอให้เกิดทางจักรยานที่ปลอดภัยและใช้สะดวกมากขึ้น ฉลาดซื้อ ขอนำเสนอผลการทดสอบหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บเป็นหลัก ตามด้วยความสะดวกสบายในการสวมใส่ การระบายอากาศ และการปลอดสารเคมีอันตราย   ด้วยเนื้อที่อันจำกัด เราจึงขอนำเสนอเฉพาะ 10 รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงสุด (จากหมวกที่เข้าทดสอบทั้งหมด 25 รุ่น) และได้คะแนนประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บในระดับ 4 ดาว ต้องบอกไว้ตรงนี้ว่ายังไม่มีรุ่นไหนที่ได้คะแนน 5 ดาวไปเลย     Casco Activ-TC ราคา  2,390 บาท น้ำหนัก 291 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         5 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     Specialized Align  ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 336 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Specialized Echelon ราคา 2,500 บาท น้ำหนัก 293 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Giro Savant  ราคา 3,000 บาท น้ำหนัก 240 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Profex FZ-006 ราคา 720 บาท น้ำหนัก 257 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศ  - ไม่ระบุ     Giro Transfer ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 261 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Cratoni  Evolution ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 501 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         3 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Uvex Discovery  ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 398 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  3 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Casco E.Motion ราคา 5,500 บาท น้ำหนัก 464 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       3 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     BELL Muni  ราคา 3,200 บาท น้ำหนัก 326 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       2 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5     รุ่นอื่นๆ ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 3 ดาว Nutcase URS - 011S BELL Venture BELL Faction ABUS ASA Aven-U Etto B-1350 City Safe Uvex xp 17 city ALPINA City Giro Surface GUB GUBX5   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 2 ดาว Rudy Project Snuggy ABUS HS-17 Urbanaut Limar 525 KED Sky Two   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 1 ดาว MET Cameleonte Executive ---   ฉลาดซื้อแนะ หมวกนิรภัยมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกที่จะซื้อแบบ “มือสอง” มาใช้ อย่าลืมตรวจเช็คว่ามีรอยบุบหรือไม่ (เพื่อจะได้มั่นใจว่ามันยังไม่ผ่านการชนหรือกระแทกมาแล้ว) ที่สำคัญวัสดุต่างๆที่ใช้ทำตัวหมวกก็มีอายุจำกัด ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงหมวกที่ผลิตมาแล้วเกิน 5 ปี เมื่อมีหมวกแล้วก็ต้องรู้จักวิธีสวมใส่ที่ถูกต้องด้วย ใส่แบบไหนแล้วเท่เราตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะใส่ให้ปลอดภัย หมวกของคุณจะต้องอยู่ในแนวระนาบเท่านั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือการสวมใส่หมวกนิรภัยเสมอเมื่อคุณขับขี่จักรยาน เพราะอุบัติเหตุไม่เลือกเวลาหรือระยะทางอยู่แล้ว แต่หมวกนิรภัยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับเราได้ เรายังต้องการทางจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย เพื่อประสบการณ์การขับขี่ที่สุนทรีย์ด้วย ---- จากใจคนรักจักรยาน กรุงเทพฯ อาจจะยังห่างไกลจากการเป็น “เมืองจักรยาน” แต่มีคนอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่นิยมชมชอบการขี่จักรยานทั้งเพื่อเดินทางมาทำงานและเพื่อเป็นกิจกรรมผ่อนคลายในวันหยุด เรามารู้จักกับนักปั่น 3 คน จากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อให้เกิดระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในบ้านเรา มาดูกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับขี่จักรยานอย่างไรกันบ้าง สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการฯ สุรชัยให้ความเห็นว่า แม้กรุงเทพฯ จะมี “ทางจักรยาน” แต่จากการใช้เส้นทางจริงนั้นพบว่ายังไม่สามารถใช้ได้สะดวก ทางจักรยานซ้อนทับทางเท้า  ทางจักรยานไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยก็มี ทางไม่มีการปรับให้เรียบ มีแต่เพียงเส้นขีดไว้เท่านั้น เขามองว่า “ทางจักรยาน” ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ได้สะดวก บางครั้งทางไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยเสียดื้อๆ บางช่วงก็ซ้อนทับทางเท้า พื้นผิวทางโดยรวมก็ไม่มีการปรับให้เรียบ บ่อยครั้งไม่มีทางลาดช่วยในการเปลี่ยนระดับ (ทำให้ผู้ขับขี่ต้องจอดและยกรถจักรยาน) แถมบางพื้นที่ยังกลายเป็นแผงขายของไปอีกด้วย และที่เป็นเรื่องท้าทายสุดๆ สำหรับนักปั่น ตามความเห็นของเขาคือ ฝาท่อระบายน้ำที่บ้างก็วางในแนวขวาง บ้างก็วางในแนวขนานไปกับถนน เรียกว่าเผลอไม่ได้เลยทีเดียว สุรชัยซึ่งใช้จักรยานในการสัญจรมาตั้งแต่ปี  2548 เคยประสบอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ในวันที่คิดว่าออกไปไม่ไกลบ้าน จึงไม่ได้สวมหมวกนิรภัย แต่จักรยานล้มในช่วงที่กำลังเข้าโค้งหน้าปากซอย ผลคือคิ้วแตกและโหนกแก้มยุบ ทำให้ต้องหยุดงานไปประมาณ 4 เดือน แถมเสียค่ารักษาพยาบาลไปไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท เขาจึงอยากจะย้ำว่าหมวกนิรภัยนั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย   สุภาภรณ์ มาลัยลอย เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ สุภาภรณ์ค้นพบว่า การขี่จักรยานมาทำงานนั้นเป็นประสบการณ์ที่รื่นรมย์อย่างยิ่ง จะขัดใจอยู่บ้างก็ตรงป้ายโฆษณาที่วางระเกะระกะบนทางจักรยาน และบางช่วงของทางที่ไม่เอื้อต่อการผ่านไปของจักรยานนี่แหละ เธอปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร จากบ้านในซอยลาดพร้าว 62 มายังสำนักงานในซอยรามคำแหง 39 เจ้าตัวยืนยันว่ามันสะดวกอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้าซึ่งรถติดมากๆ เธอก็ยังสามารถมาถึงสำนักงานได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ที่สำคัญประหยัดค่าเดินทางไปวันละ 66 บาท แม้จะต้องจ่ายค่าซ่อมเกียร์ เติมลม ปะยางบ้าง ก็ยังถือว่าคุ้ม สำหรับเธอ แม้ทางจักรยานจะยังไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากล แต่การได้ขี่จักรยานเองก็ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยกว่าการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อยู่ดี   สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ รายนี้ขัดใจกับ “ทางจักรยาน” ในเส้นทางที่เขาใช้ประจำ จนต้องหลบลงไปปั่นบนพื้นถนนอยู่บ่อยครั้ง เขาอยากให้มีการนำแนวคิดการจัดพื้นที่ถนนให้สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์และจักรยาน เจ้าตัวบอกว่าอยากให้เหมือนกับถนนที่เจนีวา ที่แบ่งพื้นที่ถนนครึ่งเลนให้กับจักรยานไปเลย สงกรานต์บอกว่าความจริงแล้วเลนจักรยานบนถนนสีลมบ้านเราก็มี เพียงแต่ยังถูกใช้เป็นที่จอดรถอยู่  หลักๆ แล้วเขาเชื่อว่าจะมีคนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ถ้ามีการออกแบบทางจักรยาน (ย้ำว่าต้องเป็น “ทางจักรยาน” ไม่ใช่การขีดเส้นเฉยๆ) โดยยึดหลักความปลอดภัย ความสะดวก และการเชื่อมต่อกับบริการสาธารณะ เช่นที่สำหรับจอดรถจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยจากการโจรกรรมนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ทำให้หลายคนไม่กล้าเสี่ยง สงกรานต์ลงทุนซื้อจักรยานไป 4,500 บาท ใช้ปั่นมาทำงานทุกวัน เขายืนยันว่าไม่เกิน 5 เดือนก็คืนทุน แต่ทั้งนี้ใครอยากจะสร้างเสริมประสบการณ์การขับขี่ของตนเองด้วยการลงทุนเพิ่มก็ไม่ว่ากัน ทีมนี้เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าเราอยากให้จักรยานเบาลง 1 กิโลกรัม เราก็จะต้องใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท เพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนจากเหล็กเป็นไทเทเนียม เป็นต้น เอาเป็นว่าถูกก็ได้ แพงก็ดี ลองพิจารณาหาจักรยานมาปั่นกันดู จะไปตลาด ไปทำงาน หรือไปส่งลูกที่โรงเรียนก็ตามแต่ใจ แต่อย่าลืมใส่หมวกนิรภัยด้วยแล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 เงียบซะอย่างใครจะทำอะไรได้

ความพยายามของกลุ่มองค์กรผู้บริโภคในการจัดการทีวีจอดำในการแข่งขันฟุตบอลยูโร ดูจะเป็นเรื่องหนักหนา ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ น่าจะเกิดขึ้นจากหลายประเด็น เรื่องแรกที่สำคัญและต้องมีการจัดการขั้นเด็ดขาดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) คือ การเพิกเฉยของช่อง 3, 5, 9 หรือดูจะกำลังใช้วิธีการใช้ความเงียบสยบความเคลื่อนไหวของฟรีทีวีทั้ง 3 ช่อง แถมหากใครติดตามจะมีช่องอื่นๆ รู้เห็นเป็นใจไม่กล้าซักถามผู้บริหารทั้งสามช่องแต่อย่างใด ตอนแรกคิดว่าจะหวังพึ่งสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่จนปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า สมาชิกของตนเองกำลังกระทำละเมิดผู้บริโภคทั่วประเทศ ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ คนไทยดูทีวีจากเสาอากาศน้อยลงเรื่อย ๆ ข้อมูลการดูทีวีของคนไทยในปัจจุบันจาก 20 ล้านครัวเรือน พบว่า เปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ใช้หนวดกุ้งหรือเสาอากาศที่มีให้เห็นตามหลังคาบ้านเหลือเพียง 5 ล้านครัวเรือนหรือร้อยละ 25 เท่านั้น แต่สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาคือการใช้ระบบเคเบิ้ลและดาวเทียมซึ่งหากรวมกันจะสูงถึงร้อยละ 75 และที่สำคัญไม่ว่าเราจะใช้วิธีการไหนในการรับชม เราก็สามารถดูหรือรับการแพร่ภาพและการกระจายเสียงจากฟรีทีวีได้ตามปกติ นับเป็นการช่วยสนับสนุนช่องต่างๆ ไม่ต้องขยายคลื่นรับส่งของสถานีเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ   แต่เมื่อมีฟุตบอลยูโรช่อง 3, 5 และ 9 ในปัจจุบันกลายเป็นการกระจายเสียงสองรูปแบบ โดยมีประเภทเล่นฟุตบอลปกติ และมีภาพขอโทษแต่ไม่มีเสียง ซึ่งคำถามแรกต้องถามว่า ทำได้หรือไม่ที่มีการเลือกปฏิบัติและการกระจายเสียงและแพร่ภาพที่ไม่เหมือนกัน หรือหากจะเรียกว่าช่องทั้งสามนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่หยุดให้บริการฟรีทีวีปกติชั่วคราว ฉบับที่แล้วได้ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกมีการเรียกคืนรถยนต์นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคมเกินสี่ล้านคน แต่บ้านเรายังไม่มีเลยซึ่งไม่น่าจะเพราะเรามีรถที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หรือแม้แต่เพื่อนบ้านเราที่เรามักจะพูดถึงอย่างอิจฉาหรือดูถูกอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนามก็มีเรียกรถยนต์คืนจากตลาด หรือแม้แต่ประเทศอินโดนีเซียก็เรียกคืนสินค้ามากมายในครัวเรือนเช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องปิ้งขนมปัง ไดร์เป่าผม เพียงเพราะไม่มีใบรับประกันและฉลากเป็นภาษาอินโดนีเซีย(ดูรายละเอียดได้จาก www.aseanconsumer.org) การยอมจำนนของผู้บริโภคมีปรากฏการณ์ให้เห็นได้หลายรูปแบบ เช่น เขาได้ลิขสิทธิ์มาก็ต้องเคารพลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ แต่เรากลับไม่พูดถึงว่า ทำไมคนได้ลิขสิทธิ์กลับปิดหูปิดตาว่า เราดูทีวีกันอยู่อย่างไร  อ้างถือลิขสิทธิ์เป็นอาญาศักดิ์สิทธิ์ แต่การคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องไม่เกินเลยผลประโยชน์สาธารณะ ที่สำคัญเหมือนกับเรื่องรถตู้จดทะเบียน หากมีคนนั่งเกิน 15 ที่นั่งจัดการได้เต็มที่ แต่จะมาบอกว่ารถตู้ป้ายดำบรรทุกเกินแต่จัดการไม่ได้เพราะไม่ขออนุญาตไม่ถูกต้องแน่นอน หากต้องการให้จัดการทั้งสองแบบเราต้องช่วยขนส่งตรวจตรารถตู้และเราต้องไม่สมยอมขึ้นรถตู้คนที่ 16 หรือแอบไปซื้อกล่องหรือหนวดกุ้งเพราะต้องการดูฟุตบอล และเรื่องนี้สะท้อนว่า ถึงเวลาต้องผลักดันให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากมีอัยการคงส่งฟ้องคดีบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ สามารถปกป้องผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยที่ต้องจ่าย 200 บาทหรือมากถึง 2,000  ล้านบาทโดยไม่มีเหตุผลในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 Taxi Reporter รายงานพฤติกรรมที่ไม่พึงพอใจ

หลังจากที่แนะนำให้ผู้อ่านตรวจจับความเร็วกับแอพพลิเคชั่น Traffy bSafe เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะและพนักงานขับรถบริการสาธารณะบนท้องถนนไปฉบับก่อนหน้านี้ ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับร้องเรียนรถบริการสาธารณะประเภทแท็กซี่กันบ้าง พอพูดถึงรถแท็กซี่ ผู้อ่านหลายคนคงส่ายหน้ากับการเลือกรับผู้โดยสาร โดยมีเหตุผลรองรับต่างๆ นานา อย่างเช่น “ไปส่งรถไม่ทัน” “จะไปเติมแก๊ส” “แถวนั้นรถติด” เป็นต้น แค่นี้ก็ทำให้เอือมระอากับการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ไปแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่โชคดีได้รถแท็กซี่ตกลงไปส่งจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ก็อาจเจอกับความโมโห ฉุนเฉียว พูดจาไม่สุภาพของคนขับรถแท็กซี่ เสมือนไม่พอใจที่จะไปจุดหมายปลายทางนั้น หรือไม่ก็ขับขี่ด้วยความไม่ระมัดระวัง จนทำให้รู้สึกเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของผู้โดยสารเลย แอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Siam Squared Technologies เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้การร้องเรียนถึงพฤติกรรมของคนขับรถแท็กซี่ที่ผู้โดยสารไม่พึงพอใจและเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับการใช้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ร้องเรียนจะถูกส่งไปยังบริษัทเพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลต่อไปยังกรมขนส่งทางบกอีกครั้ง   ขั้นตอนในการส่งเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนแรกจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถแท็กซี่เจ้าปัญหา โดยผู้โดยสารจะสังเกตหมายเลขทะเบียนรถได้จากบริเวณประตูด้านหลังทั้งสองข้าง ขั้นตอนที่สองจะให้เลือกเรื่องที่ต้องการร้องเรียน โดยในแอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือก ดังนี้ ไม่รับผู้โดยสาร ฝ่าฝืนกฎจราจร มีพฤติกรรมหยาบคาย และโกงค่าโดยสาร ในขั้นตอนนี้ผู้อ่านสามารถเลือกได้หลายตัวเลือก ขั้นตอนที่สาม ผู้อ่านสามารถพิมพ์ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ต้องการร้องเรียนได้ พร้อมทั้งทางแอพพลิเคชั่นจะปักหมุดบนแผนที่ตรงบริเวณที่ผู้อ่านร้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ารถแท็กซี่คันนั้นวิ่งในบริเวณใด เมื่อเติมข้อมูลทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้คลิกเมื่อส่งข้อมูล สำหรับผู้อ่านที่เล่นเฟสบุ๊กสามารถโพสต์ข้อความการร้องเรียนได้ทันที โดยในหน้าต่างถัดไป แอพพลิเคชั่นจะสอบถามการแชร์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนผ่านเฟสบุ๊ก เพียงคลิกตามขั้นตอน ข้อความเหล่านั้นก็จะไปปรากฏบนเฟสบุ๊กให้ทันที แต่ข้อจำกัดของแอพพลิเคชั่นนี้ก็มีเช่นกัน เพราะยังไม่สามารถรองรับอุปกรณ์ไปทั้งหมด ซึ่งจะรองรับเฉพาะอุปกรณ์ตระกูล iOS เท่านั้น อาทิ iPhone, iPad เป็นต้น โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ฟรีได้ที่ http://itunes.apple.com/th/app/taxi-reporter/id501278589?mt=8 เอาเป็นว่าช่วยกันรายงานพฤติกรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องการบริการ และความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้โดยสารมากขึ้นกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 บทเรียน ทีวี จอดำ กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมส์การแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้ ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชันส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้นต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมันมาเล่าสู่กันฟังครับ   ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาลอกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชม รายการโทรทัศน์ทั้งจาก ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่  2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทย พีบีเอสบ้านเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภคโดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย   ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมันทำอย่างไร ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)   บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช. สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะ คนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่าหรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี  อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช. สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช. กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555- 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรู วิชันส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ  และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช. ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะอาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิคในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >