ฉบับที่่ 135 เสียท่าเซลล์ขายบริการเสริมความงาม

บ่ายวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 2554 คุณศรินภรณ์มาปรากฏตัวที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตั้งใจจะไปดูโปรโมชั่นไอโฟน 4 ซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 3 ของห้างหรูแห่งนี้คุณศรินภรณ์พาตัวเองขึ้นบันไดเลื่อนสู่ชั้นสาม แต่บุญสะสมคงไม่พอที่จะได้ยลโฉมสัมผัสไอโฟน  4 เพราะพอบันไดเลื่อนพาขึ้นมาถึงชั้นสอง เธอไม่รู้ตัวเลยว่าได้เข้าสู่คิลลิ่งโซนพื้นที่สังหาร(ทางการขาย)ของเซลล์สถานบริการเสริมความงามกลุ่มหนึ่ง ที่มาตั้งบูธดักเหยื่อบริเวณริมทางเดินบันไดเลื่อนชั้นสองพอดี“คุณคะขอเวลา 1 นาทีค่ะ” หญิงสาวบุคลิกดี เดินเข้ามาทักตอนแรกเธอว่าจะไม่หยุด แต่คำต่อมาที่บอกว่า “คุณเป็นคนสวยมากเลยค่ะ แต่ถ้าได้ลดส่วนเกินตรงหน้าท้องออกไปอีกนิด เชื่อว่าคุณจะสวยมากกว่านี้แน่ค่ะ”เหมือนต้องมนต์ “แค่ 1 นาที คงไม่เสียหายอะไร” เธอคิดในใจด้วยความอยากรู้ คุณศรินภรณ์จึงยอมให้เซลล์สาวพาไปชั่งน้ำหนัก วัดค่าของไขมัน รวมทั้งวัดน้ำหนักกล้ามเนื้อส่วนเกินว่ามีมากน้อยแค่ไหน เมื่อวัดเสร็จแล้วจึงให้เธอมานั่งรอเพื่อฟังผลการตรวจ“รอผลประมาณ 5 นาทีค่ะ” เซลล์สาวบอก“ห้านาทีก็ห้านาที(วะ)” เธอคิดในใจไหนๆ ก็ตรวจแล้วนี่อยากรู้ผลเหมือนกันระหว่างนั่งรอ...เซลล์สาวนักขายเกือบทั้งกลุ่มก็เริ่มกระบวนการมะรุมมะตุ้มตั้งคำถามกับเธอ“พี่ต้องการจะลดส่วนไหนเป็นพิเศษคะ” “เออ...ไม่ค่ะ ไม่อยากทำวันนี้เสียเงินมามากแล้วค่ะ”“คุณพี่ควรจะเปิดใจให้เราสักครั้งนะคะ นอกจากนี้เรายังมีบริการหลังการขายด้วย”“ขอบคุณค่ะ...แต่ไม่อยากทำหรอกค่ะ”“เถอะน่าทำเถอะค่ะ เราเชื่อว่า บริการของเราจะทำให้พี่ดูดีขึ้นอีกมาก เดี๋ยวจะลดราคาให้เป็นกรณีพิเศษ” ไม่พูดเปล่าเซลล์สาวยกตารางเปรียบเทียบราคาใช้บริการมาให้ดู“นี้เป็นคอร์สในราคา 1 แสนบาทค่ะทั้งปี แต่ถ้ามีบัตรเครดิตจะมีส่วนลดพิเศษให้  ขอดูบัตรเครดิตหน่อยนะคะ เดี๋ยวจะช่วยตรวจสอบให้ เพราะบัตรเครดิตของแต่ละที่จะมีส่วนลดแตกต่างกัน” เซลล์สาวอธิบายเหตุผลคุณศรินภรณ์จึงเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตให้ดูเซลล์สาวรับบัตรไปดู เห็นแบรนด์ธนาคารปั๊บก็ทำตาโต“โห...บัตรของคุณพี่ลดได้ถึง 50% เชียวนะคะ จากแสนหนึ่งก็เหลือแค่ห้าหมื่นบาท ผ่อน 10 เดือน”“ไม่หรอกค่ะ ยังไม่อยากเสียตังค์” คุณศรินภรณ์ปฏิเสธ พร้อมกับขอบัตรเครดิตคืนเซลล์สาวแกล้งทำเฉย ไม่ยอมคืนบัตรเครดิตพร้อมสูดลมหายใจเข้าปอด ถ้าคุณศรินภรณ์ฟังเสียงในใจของเซลล์สาวได้คงจะได้ยินเสียงนี้“หนืดนักนะ...เอาวะ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น วันนี้ต้องจัดการนังนี่ให้ได้ เพื่อค่าคอมฯ สู้โว้ย...!”“คุณพี่ลองพิจารณาดูนะคะ หนูจะเพิ่มคอร์สที่สนใจเพิ่มเติมให้อีก พี่เลือกดูได้ค่ะ” เซลล์สาวออดอ้อน“ไม่ดีกว่าค่ะ พี่ไม่อยากเสียตังค์จริงๆ นะคะ ช่วงนี้ก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว” คุณศรินภรณ์ ใจอยากจะไปดูไอโฟน 4 ที่เพียงขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้นเดียวก็จะถึงแล้ว จึงแปลงร่างเป็นกระต่ายขาเดียวปฏิเสธไป“โถคุณพี่คะ บริการของเรามีประโยชน์กับพี่มากนะคะ เวลาพี่เครียดก็มาทำได้ ทำแล้วสบายใจ ถ้าห้าหมื่นไม่ไหวหนูลดให้เหลือสี่หมื่นห้า นะคะพี่”“ไม่หรอกค่ะ” ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนเดิม“อ๊ะ...สี่หมื่นห้าไม่ได้ หนูลดให้เลยค่ะจากแสนเหลือสี่หมื่นถ้วน ราคานี้สำหรับพี่คนเดียวเลยนะคะ อย่าไปบอกใคร”คุณศรินภรณ์ ก้มดูนาฬิกาที่ข้อมือ จาก 1 นาทีที่เซลล์ขอตรงทางขึ้นบันไดเลื่อน และอีก 5 นาทีที่เข้ามานั่งรอข้อมูลค่าไขมัน และกล้ามเนื้อส่วนเกิน แต่ตอนนี้เธอนั่งอยู่กับเซลล์หน้าสวยกลุ่มนี้ร่วมชั่วโมงแล้ว ไม่เห็นวี่แววว่าการพูดคุยจะจบเสียที เซลล์ทุกคนดูจะมีความสุขกับการใช้ปากใช้ลิ้นเชิญชวนลูกค้าไม่มีเหนื่อย ส่วนไอโฟน 4 คงไม่ได้ดูแล้ว เพราะต้องรีบไปประชุมอีก“ฉันจะจบเรื่องนี้ยังไงดี” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“เออน้องคะ เดี๋ยวต้องรีบไปประชุมแล้ว ขอบัตรเครดิตคืนด้วยค่ะ” คุณศรินภรณ์ขอปิดการคุยเอาดื้อๆ“เดี๋ยวก่อนสิคะ คุณพี่แป๊บหนึ่งค่ะ หนูไม่อยากให้พี่เสียโอกาสราคาลดขนาดนี้ หาไม่ได้อีกแล้วนะคะ”“เซ็นต์สัญญาก่อนแล้วค่อยไปยกเลิกทีหลังก็ได้ ไม่งั้นไม่ได้ไปซะที” คุณศรินภรณ์คิดในใจ“งั้นก็รีบเอาเอกสารมา เดี๋ยวจะเซ็นต์ชื่อให้ค่ะ” เธอบอกกับเซลล์เมื่อได้ลายเซ็นต์สัญญาใช้บริการของเหยื่อรายล่าสุดแล้ว เซลล์สาวรีบนำบัตรเครดิตของลูกค้าไปรูดเงินทันที ก่อนที่จะคืนให้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม“พอเราเซ็นต์เสร็จ เขาก็เอาบัตรเครดิตเราไปรูด หลังจากนั้นเขาไม่คุยกับเราอีกเลยค่ะ แทบจะดันก้นให้เราออกจากร้านทันที” คุณศรินภรณ์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง“พอเราได้บัตรเครดิตคืนก็รีบไปประชุม ขณะที่เดินออกมาก็กดโทรศัพท์ไปที่ธนาคารเลยค่ะเพื่อขอให้ระงับการหักเงินในบัตรเครดิต ธนาคารก็บอกว่าให้เราติดต่อยกเลิกสัญญากับสถานความงามก่อน ถ้าทางนั้นยินยอมธนาคารจึงจะยกเลิกให้ได้”“เราก็ต้องโทรกลับไปที่บริษัทสถานเสริมความงาม ทางนั้นบอกว่าพรุ่งนี้ให้เข้ามาทำ พอโทรกลับไปที่ธนาคารอีกครั้ง ธนาคารบอกว่ามีการหักบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว จะทำยังไงดีคะ” คุณศรินภรณ์ขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่คุณศรินภรณ์ไปทำกับสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งนั้น เป็นสัญญาผูกพันระยะเวลา 10 เดือน โดยจะถูกหักเงินจากรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเดือนละ 4,000 บาท หากจ่ายครบตามสัญญาจะรวมเป็นเงินมากถึง 40,000 บาทการแก้ไขปัญหาการถูกหักเงินจากบัตรเครดิตเพื่อไปจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่เราไม่ได้ต้องการนั้น เราต้องเริ่มปลดล็อคตัวเองด้วยการบอกเลิกสัญญาซื้อใช้สินค้าหรือบริการนั้นเสียก่อน ด้วยการทำหนังสือไปบอกเลิกสัญญา ย้ำว่าต้องเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะมีผล ทั้งนี้ เนื้อหาในการบอกเลิกสัญญาจะต้องมีเหตุผลที่เกิดจากความบกพร่องของเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ไม่จัดให้มีการบริการที่สำคัญให้ตามสัญญา หรือซื้อบริการไปอย่างหนึ่ง แต่ไม่จัดให้มีบริการนั้น แม้จะให้มีบริการอื่นมาทดแทน ก็สามารถใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้เมื่อทำหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วให้ถ่ายสำเนาเก็บไว้สองชุด ชุดหนึ่งเก็บไว้เป็นหลักฐานกับตัวเอง อีกชุดให้ส่งไปที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต และจดหมายตัวจริงก็ส่งไปที่ผู้ประกอบการสินค้าหรือบริการที่ได้ไปซื้อสินค้าหรือบริการมา การส่งจดหมายเพื่อบอกเลิกสัญญาการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ดีที่สุดอย่าให้เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือรับบริการ และควรส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับเพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันการรับจดหมายของเราตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปทำสัญญาการซื้อใช้สินค้าหรือบริการผ่านทางบัตรเครดิต โดยกำหนดให้สัญญาของบัตรเครดิต จะต้องไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้งเช่นกันหลังจากที่คุณศรินภรณ์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไป ทางสถานบริการเสริมความงามก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปยังร้านสาขาเพื่อให้ทำการยกเลิกสัญญา และประสานไปยังธนาคารให้ทราบถึงการยกเลิกสัญญา และให้ระงับการเรียกเก็บเงินกับผู้บริโภคทั้งหมด“ใช้เวลาในการดำเนินการทั้งหมด 17 วัน ดิฉันไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย เนื่องจากยังไม่ได้ใช้บริการ และทางร้านก็ยังไม่ได้เปิดบริการ”“ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์และคอยสอบถามเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้ร่วมงานในศูนย์ฯ(ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค)ทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีความอดทนและเข้มแข็ง เสียสละอย่างมาก เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ผู้บริโภคที่ประสบกับความอยุติธรรมในสังคมนี้ที่นับวันจะมีแต่เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวงผู้บริโภคเพื่อเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ขอขอบคุณฝ่ายตรวจสอบของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และฝ่ายบัญชีของสำนักงานใหญ่ของ Slimming Plus Institution ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและพบกับสิ่งดีๆ ในชีวิต”เอ้า...สา....ธุ   พร้อมกันดาวโหลดจดหมายตัวอย่างยกเลิกสัญญา <<< คลิก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 ลูกค้าโนเกียโวย ศูนย์ซ่อมไม่เก็บข้อมูลในเครื่องให้

คุณเบญญภา สาวใหญ่เมืองลำพูนเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ไปที่ศูนย์โนเกียแคร์ ซื้อโทรศัพท์มือถือโนเกีย C3 ในราคา 3,900 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554ใช้ได้ประมาณ 4 อาทิตย์ อาการออกอ่าว โทรหาเพื่อนหาลูกค้า โทรติดแต่คนที่รับสาย เอาแต่พูดว่า “มีหยัง...บ่ได้ยิน” “อู้หยังบ่ฮู้เรื่องเลย”  “ฮู้...โทรมายะหยัง โทรแล้วบ่ยอมอู้” “ว่างก๊ะ ถึงโทรมาเล่นกัน”คุณเบญญภา พยายามตะโกนใส่โทรศัพท์เท่าไร คู่สายฝั่งตรงข้ามก็ยังไม่ได้ยิน สุดท้ายเหมือนคนที่ถูกสังคมหยามเหยียดโทรหาใครก็ถูกวางสายหมด เสียค่าโทรฟรีๆ ไปหลายบาท จึงตัดสินใจนำโทรศัพท์มือถือออกใหม่ไปซ่อมที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ เชียงใหม่ ตามสัญญารับประกัน“ดิฉันได้แจ้งอาการเสียของมือถือที่โทรออกแต่คู่สายไม่ได้ยินให้กับพนักงานศูนย์ฯ ทราบ ก่อนส่งซ่อมพนักงานได้สอบถามว่า ในเครื่องมีข้อมูลสำคัญหรือไม่ ดิฉันได้ระบุชัดเจนว่า เป็นข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ลูกค้าประมาณ 400 เลขหมาย เพราะดิฉันเพิ่งเปลี่ยนเครื่องยังไม่ได้เก็บข้อมูลสำรองไว้ พนักงานจึงระบุในใบส่งซ่อมว่าไม่อนุญาตให้ข้อมูลหาย พนักงานแจ้งว่า โทรศัพท์มือถือมีอาการไมโครโฟนเสียจะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 วัน และส่งสำเนาใบส่งซ่อมให้ดิฉันเก็บไว้แสดงในวันที่มารับสินค้าคืน”หลังจากส่งมือถือไปซ่อมที่ศูนย์ฯ ได้ 3 วัน กะว่าศูนย์ฯ น่าจะมือถือเสร็จแล้ว คุณเบญญภา จึงเดินทางไปรับเครื่องคืนที่ศูนย์โนเกีย ถนนมหิดล จ.เชียงใหม่ ได้พบกับพนักงานคนเดิมที่เป็นคนรับเครื่องไปส่งซ่อม“เอ้อ เครื่องยังไม่ได้ซ่อมเลยค่ะ รออะไหล่อยู่ คาดว่าน่าจะซักสามวันอะไหล่ถึงจะมา” พนักงานให้คำตอบที่น่าผิดหวัง “อ้าว แล้วทำไมไม่โทรศัพท์ไปบอกล่ะ เบอร์ที่ติดต่อก็ให้ไว้แล้ว น่าจะโทรไปบอกกันนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาเสียค่ารถมา” คุณเบญญภากล่าวด้วยความฉุนเฉียว“คือที่ไม่ได้โทรไปแจ้งให้ทราบ เนื่องจากว่ายังไม่มีอะไหล่เนื่องจากโรงงานน้ำท่วมค่ะ” พนักงานศูนย์ฯ พยายามชี้แจง คุณเบญญภาฟังแล้วก็รู้สึกงงๆ ที่น้ำท่วมเป็นทางออกของทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรมาก พอได้รับคำยืนยันว่าอีกสามวันน่าจะได้อะไหล่มาแล้วจะโทรไปแจ้งบอกแน่ถ้าซ่อมเสร็จแล้ว คุณเบญญภาจึงเดินทางกลับหลังจากนั้นอีกสามวัน หรือเป็นวันที่เจ็ดหลังจากส่งเครื่องซ่อม พนักงานของศูนย์ฯ คนเดิมได้โทรแจ้งคุณเบญญภาว่าซ่อมไมโครโฟนของเครื่องมือถือเสร็จเรียบร้อยแล้วให้มารับเครื่องได้ แต่ข่าวร้ายที่ได้รับคือ ข้อมูลในเครื่องทั้งหมดหายไป“เหมือนกับว่าที่ดิฉันกำชับเรื่องนี้ไปเป็นเรื่องตลก และให้ดิฉันจำยอมไปรับของที่ไม่เหมือนเดิมคืนมาเป็นเรื่องที่รับไม่ได้”“ดิฉันผิดหวังในการบริการมาก และพยายามเจรจากับทางพนักงานฝ่ายซ่อมของศูนย์ฯ ว่า ข้อมูลนั้นสำคัญมากพยายามกู้คืนมาให้ได้ และควรที่จะคืนเครื่องให้ดิฉันในสภาพที่สมบูรณ์” คุณเบญญภาเรียกร้อง แนวทางแก้ไขปัญหาคุณเบญญภา ได้ประเมินค่าความเสียหายของตนเองที่ต้องสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าและค่าใช้จ่ายในการติดต่อไปมาหลังการซ่อมมือถือเป็นเงิน 8,000 บาท และได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เชียงใหม่ ส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และที่ศูนย์โนเกียร์แคร์ จ.เชียงใหม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 4 มกราคม 2555 อีกสองวันต่อมาเราจึงโทรติดต่อไปที่ศูนย์โนเกียร์แคร์เชียงใหม่ ได้รับคำชี้แจงจากผู้จัดการศูนย์ฯ ว่า ได้ชี้แจงกับลูกค้าแล้วว่า การพยายามกู้ข้อมูลคืนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องได้ คุณเบญญภา จึงเสนอกับศูนย์ฯ ว่า หากกู้ข้อมูลไม่ได้ก็ให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนตัวเครื่องให้ใหม่ เป็นเครื่องรุ่นเดิม และต้องการภายในวันนั้น ซึ่งศูนย์ฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ต้องรอประมาณ 12 วัน อยากให้มูลนิธิฯช่วยเป็นคนกลางเจรจากับผู้ร้องเรียนด้วยหลังได้รับคำชี้แจงเราจึงโทรกลับไปหาคุณเบญญภาในวันเดียวกัน เพื่อขอคำยืนยันว่าต้องการให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ใช่หรือไม่ คุณเบญญภาแจ้งยืนยันว่าเป็นไปตามที่ศูนย์ฯ ได้ชี้แจงมา คือให้เปลี่ยนเครื่องใหม่แต่รุ่นเดิม และต้องเป็นสีดำ สีอื่นไม่เอา เมื่อได้รับคำยืนยันเราจึงติดต่อกลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้งในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ซึ่งทางศูนย์ฯ ยินดีรับชดใช้ให้ตามคำขอของผู้ร้อง แต่ขอเวลาในการตั้งเรื่องเบิกงบจัดซื้อเครื่องใหม่ให้กับผู้ร้องประมาณสองอาทิตย์“เมื่อวานนี้ ได้รับ C3 เครื่องใหม่มาแล้วเป็นสีดำ ตอนแรกโทรศัพท์ใหม่นี้โทรออกไม่ได้ และโทรเข้าไม่ได้ เนื่องจากไม่มีสัญญาณ แต่ทางโนเกียได้แก้ไขให้อยู่ค่ะ โดยปรับปรุงซอฟแวร์ให้ ตอนนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ ใช้ได้ตามปกติเป็นเครื่องใหม่จริง ชดเชยให้ที่ซ่อมเครื่องเก่าสีชมพูที่ได้รับความเสียหาย ขอบพระคุณที่ทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานงานให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีภายในเวลา 20 วัน”เป็นเมล์จากคุณเบญญภาที่เราได้รับด้วยความชื่นใจ และขอขอบคุณบริษัทโนเกียร์แคร์ สาขาเชียงใหม่ ที่ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 รถถูกน้ำท่วม ประกันปัดจ่ายอ้างซ่อมรถอู่นอกเครือ

คุณกชนุช มีบ้านอยู่ ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ครั้งน้องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ทั้งครอบครัวสำลักน้ำไปเต็มๆ ไม่เว้นแม้แต่รถเก๋งคันงาม ตราวอลโว่ พยายามพาขึ้นที่สูงก็ไม่รอด โดนเข้าไปถึงเบาะทีแรกคิดว่าจะเบาใจได้เพราะรถคันนี้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างทิพยประกันภัย เมื่อน้ำลดในปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 จึงนำรถเข้าศูนย์วอลโว่ รามอินทรา เพื่อตรวจสภาพความเสียหาย โดยมีพนักงานฝ่ายเคลมประกันของทิพยประกันภัยมาร่วมตรวจสภาพและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน พร้อมออกใบเคลมประกันให้เบื้องต้น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง พร้อมทำความสะอาดเบาะและพรมที่ถูกน้ำเน่าแช่ขังอยู่นาน เสียค่าใช้จ่ายรวม 12,500 บาทเศษ ส่วนความเสียหายอื่นๆ ที่เหลือ ศูนย์วอลโว่ฯ จะจัดทำใบเสนอราคาส่งให้ทิพยประกันภัยพิจารณาต่อไป“วันรุ่งขึ้น ได้ติดต่อสอบถามไปที่ทิพยประกันภัยเพื่อขอทราบผลการพิจารณา คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคา ใช้เวลาคุยอยู่นานค่ะ ถึงทราบว่าการทำประกันรถของดิฉันเป็นประกันซ่อมอู่ไม่ใช่ซ่อมห้าง คือนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการของวอลโว่ไม่ได้”“ดิฉันต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาว่า มีอู่ในเครือของบริษัทฯ อยู่ที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาได้เอ่ยชื่อศูนย์บริการมา 4 แห่ง ดิฉันยังได้ย้ำว่า ขอเป็นอู่ในเครือ ก็ยังได้รับการเสนอชื่อศูนย์เดิม 4  แห่งนั้น ทำให้ดิฉันเข้าใจว่าเป็นศูนย์ที่เป็นอู่ในเครือ ของบริษัทฯ จึงตัดสินใจนำรถเข้าไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 ของบริษัท ทีทีไอ โกลเบิล ออโตโมทีฟ จำกัด”สี่สัปดาห์ต่อมา คุณกชนุชได้ติดต่อไปที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 เพื่อขอรับรถที่ซ่อม จึงได้ทราบข่าวร้ายว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้เป็น “อู่ในเครือ” ของบริษัททิพยประกันภัยฯ ตามที่เข้าใจ “ที่ทราบก็เพราะศูนย์สุขุมวิท 66/1 บอกกับดิฉันว่า จะต้องจ่ายส่วนต่างค่าซ่อม 40% ค่ะ” คุณกชนุชบอกสถานการณ์ตอนนั้น คุณกชนุชก็ยังไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสำรองจ่ายไปอีกครั้งเป็นเงิน 55,400 บาทเศษ แต่ก็เข้าใจว่าบริษัทประกันภัยควรต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมดเพราะคนของประกันภัยเป็นคนบอกเองว่าเป็นอู่ในเครือ แล้วรถก็ยังซ่อมไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะศูนย์แจ้งว่าต้องรออะไหล่บางชิ้นก่อน จนหลังปีใหม่ คุณกชนุชได้นำรถกลับไปซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 อีกครั้ง เพราะศูนย์ฯแจ้งมาว่าอะไหล่ส่งมาถึงแล้ว“หลังจากเอารถเข้าศูนย์ฯ ดิฉันได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าจนถึงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย อ้างว่าบริษัทประกันภัยยังไม่อนุมัติการซ่อม เมื่อสอบถามไปที่บริษัทประกันภัยคุยกับเจ้าหน้าที่คนเดิมก็บอกว่า ส่งแฟกซ์ใบอนุมัติไปที่ศูนย์ฯ แล้ว แต่พอสอบถามที่ศูนย์ฯ ศูนย์ฯ ก็บอกว่ายังไม่ได้รับ”“เมื่อแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับ เจ้าหน้าที่คนเดิมของบริษัทประกันภัยก็บอกว่าจะจัดการให้” คุณกชนุชเล่าไปกัดฟันไปด้วยความโกรธและฉุน เพราะจับได้ว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประกันตุกติกสามวันหลังจากนั้น คุณกชนุชคาดว่ารถน่าจะซ่อมเสร็จแล้วจึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์ซ่อมอีกครั้ง ปรากฏว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับเอกสารการอนุมัติซ่อมเลย คุณกชนุชจึงติดต่อไปที่บริษัทประกันภัย เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า “ได้คุยกันแล้ว ไม่ต้องรอแฟกซ์เอกสารให้ เพราะงานยุ่ง”คุณกชนุช เธอก็อดทนมาก โทรศัพท์กลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้ง ได้คำตอบจากศูนย์ฯ ว่า ถ้าไม่มีเอกสารยืนยันจากบริษัทประกันภัยก็ไม่สามารถซ่อมได้ เพราะเกรงจะมีปัญหาการเบิกจ่ายในภายหลังคุณกชนุชเธออดทนถึงที่สุดก็สุดทน จึงประกาศวาจาต่อหน้าบานกระจกว่า “เรื่องนี้มันต้องถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแน่!”“ดิฉันคิดว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา ปัดความรับผิดชอบ ด้วยการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ทำให้ดิฉันเข้าใจผิดในสาระสำคัญ สร้างความเสียหายแก่ดิฉันที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อม รวมถึงพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จนถึงขณะนี้รถยังไม่ได้ซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ จึงขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการให้บริษัททิพยประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ด้วยค่ะ” แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปที่บริษัททิพยประกันภัย แจ้งข้อเรียกร้องของคุณกชนุช ที่ยินดีจะชำระค่าส่วนต่างของค่าซ่อม 40% แต่ขอให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถเป็นเงิน 30,000 บาท ทิพยประกันภัยให้คำตอบกลับมาว่า เรื่องค่าซ่อมน่าจะจัดการได้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องค่าชดเชยเยียวยา ขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเจรจากับผู้ร้องอีกครั้งหลังทราบข้อมูล คุณกชนุช จึงแจ้งข้อเสนอใหม่ คือ ไม่ติดใจเรื่องค่าชดเชยแต่ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อม 100% และขอให้คืนเงินค่าซ่อมที่ได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 67,900 กว่าบาทด้วยทิพยประกันภัยขอเวลาสามวันจะให้คำตอบ วันที่สามตามกำหนด มูลนิธิฯ ได้โทรสอบถามทันที ได้รับคำตอบว่า บริษัทฯ ได้อนุมัติตามที่ผู้ร้องต้องการในที่สุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ปี 2555 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงได้มาทำบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยบริษัททิพยประกันภัย ยินดีรับผิดชอบคืนค่าซ่อมรถ 67,900 กว่าบาทที่คุณกชนุชสำรองจ่ายไป และรับผิดชอบค่าซ่อมรถตามใบเสนอราคาของศูนย์ฯ ทั้งหมดอีก 98,293 บาทคุณกชนุช ขอบคุณในความรับผิดชอบของบริษัททิพยประกันภัย และขอบคุณความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ และรับปากว่า จะช่วยมูลนิธิฯ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกอุปถัมภ์นิตยสารฉลาดซื้อให้กับโรงเรียนจำนวน 19 โรงเรียน เพื่อเป็นมงคลชีวิตและครอบครัวของตนเองต่อไปสาธุ...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 ทำงานเป็นทีม “กินรวบพลังงานไฟฟ้า”

บรรยากาศที่แสนร้อนของปีนี้ ผ่อนคลายลงได้ เมื่อหลายคนได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้าน และได้สัมผัสความชุ่มเย็นของน้ำที่สาดใส่กัน ณ เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา   ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของความสุขสนุกสนาน ซึ่งหลายคนอยากเก็บช่วงเวลานั้นไว้นานๆ   แต่เมื่อเทศกาลจบลง  ชีวิตก็กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง   ณ ช่วงเวลาที่แสนร้อนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ไฟฟ้า และการขึ้นราคาค่า Ft นั่นเองหากย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม ก็จะได้เห็นข่าว ผู้บริหารกระทรวงพลังงานออกมาให้ข่าว  เรื่องการใช้ไฟฟ้า ว่ามีการใช้ไฟฟ้ามากทำลายสถิติของปีที่ผ่านถึง 2  ครั้ง ในเดือนมีนาคม  และก็มีข่าวมาจาก กฟผ. ออกมาว่าไฟฟ้าอาจจะไม่พอใช้  เพราะมีโรงไฟฟ้าหลายโรงปิดซ่อมบำรุง ในระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน   จากนั้นก็มีการออกมาให้ข่าวเพิ่มเติมว่า  เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าอาจขาดแคลนเพราะ พม่าจะปิดหลุมก๊าซ เพื่อซ่อมบำรุงช่วงนี้เช่นกัน  คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.)ก็ออกมารับลูกทันที โดยให้ข่าวว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาจต้องทบทวนการขึ้นราคาค่า Ft  โอ้โห...เห็นไหมว่าสถานการณ์ไฟฟ้าที่มีการปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ มันช่างน่ากลัวจริงๆ   กลุ่มที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เกือบจะตกเป็นจำเลยสังคมกันไปตามๆ กันนั่นเป็นข้อมูลที่ฝ่ายพลังงานออกมาให้ข่าวฝ่ายเดียวผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเวทีเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำแผน  PDP 2010  ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ จัดขึ้น โดยมีการเชิญ รมต.ว่าการกระทรวงพลังงาน  ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกกพ. มาชี้แจงข้อร้องเรียน ซึ่งทุกองค์กรส่งตัวแทนมา(ตัวจริงไม่มีใครมา) ทำให้ความจริงเปิดเผยในหลายเรื่อง เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน  เป็นช่วงที่ใช้ไฟฟ้ามากทำไมจึงมาปิดซ่อมบำรุงช่วงนี้  ทำไมไม่ไปซ่อมบำรุงในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าปกติ ไม่มีคำตอบ และที่ว่าพม่าปิดหลุมก๊าซเพื่อซ่อมบำรุง เป็นไปได้อย่างไร  ในเมื่อหลุมก๊าซนั้น ปตท.ได้สัมปทานการขุดเจาะจากพม่า(เหมือนบริษัทเชฟล่อนมาเจาะก๊าซ+น้ำมันในบ้านเรา) ดังนั้นการจะปิดซ่อมหรือไม่ซ่อม สิทธิอยู่ที่ ปตท. ไม่ใช่ประเทศพม่า เหมือนที่มีข่าวออกมา ไม่มีคำตอบเช่นกัน ที่น่าแปลกคือหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็รู้ข้อมูลนี้  แต่ไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ข้อมูลจริง  แต่กลับปล่อยให้มีการปล่อยข่าว โยนขี้ให้พม่า โดยที่ ปตท.ซึ่งเป็นตัวการปิดซ่อมในช่วงเวลาคับขัน ลอยนวล  เมื่อถามถึงการปรับปรุงแผนพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) ว่า มีการปรับปรุงอย่างไร ขบวนการเอื้อเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนหรือไม่ ก็ไม่ได้คำตอบอะไรที่ชัดเจน (เหมือนเดิม) แต่กระบวนการปั่นข่าวจากฝ่ายบริหารพลังงานก็ยังดำเนินต่อไป  และสุดท้ายวันที่ 25 เมษายน 2555 กกพ.ก็มีมติให้ขึ้นราคาค่าไฟฟ้า(Ft) อีกหน่วยละ 40 สต. โดยที่คนใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ มีหน้าที่ต้องจ่ายอย่างเดียว   โดยที่ไม่รู้ข้อมูลจริงว่าที่ต้องขึ้นราคาไฟฟ้าเพราะเหตุอันใดส่วนฝ่ายการเมืองก็พึ่งไม่ได้  เพราะไม่มีพรรคไหน  หือ....อือ...กับเรื่องนี้   มัวแต่อุตลุดอยู่กับการแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ    ผู้เขียนที่พอรู้ข้อมูลบ้างก็รู้สึกอึดอัดคับข้องไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร(คงต้องพึ่งกันเอง)  ก็ได้แต่เขียนระบายเพื่อเล่าสู่กันฟัง  แต่ขอบอกไว้ว่าเราจะไม่นิ่งเฉย  และจะเดินหน้าแฉ...ขบวนการเอาเปรียบผู้บริโภคให้สังคมได้รับรู้ให้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพจะทำได้  ซึ่งเครือข่ายประชาชนกำลังร่วมกันจัดทำแผน PDP2012 ภาคประชาชน   ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับแผนของกฟผ.เพื่อป้องปรามมิให้  กฟผ.กินรวบพลังงานไฟฟ้าอย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ฉลากอาหารกับความเข้าใจของผู้บริโภค

“ฉลากอาหาร” เปรียบเสมือนหน้าต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในภาชนะบรรจุได้ โดยเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการในการสื่อสารข้อมูลแก่ผู้บริโภคและเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐในการติดตามตรวจสอบคุณภาพอาหารและให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า มีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากกรณีการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้องอยู่พอสมควร เช่น การไม่แสดงวันผลิต-วันหมดอายุ หรือแสดงแล้วแต่หาไม่เจอ ไม่แสดงชื่อผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย การใช้ข้อความกล่าวอ้างคุณค่าให้เข้าใจผิดในสรรพคุณไปจากความเป็นอาหาร และการใช้คำแสดงส่วนประกอบที่ทำให้เข้าใจผิดถึงส่วนประกอบของอาหาร เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากอาหารโดยทำให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคโดยทำให้เห็นชัด น่าอ่าน อ่านง่าย และเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบฉลากอาหารได้จะต้องมีการสำรวจข้อมูลการแสดงฉลากอาหารในปัจจุบันกันเสียก่อน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้นำข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารมาฝากคุณผู้อ่านกัน   ข้อมูลการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคดำเนินการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารในสามประเด็น 1. รูปแบบฉลากโภชนาการ 2. วันผลิต/วันหมดอายุของอาหาร และ 3. ประเด็นการโฆษณาบนฉลากอาหาร การสำรวจนี้ได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามจากผู้บริโภคจำนวน 474 คนในทุกช่วงอายุ คละกลุ่มอาชีพและคละฐานการศึกษาจากแปดจังหวัดในสี่ภูมิภาคคือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2554   ผลการสำรวจ 1 การรับรู้ฉลากโภชนาการ ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ฉลากโภชนาการ คือ การแสดงข้อมูลคุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ บนฉลากในรูปของชนิด และปริมาณของสารอาหารรวมไปถึงการใช้ข้อความ กล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น โปรตีนสูง เสริมวิตามินซี เป็นต้น การใช้ฉลากโภชนาการในปัจจุบันอยู่ในลักษณะการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับให้ อาหารที่มีการกล่าวอ้าง ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่อาหารทุกชนิดต้องมีฉลากโภชนาการ เราถามผู้บริโภคเกี่ยวกับความเข้าใจฉลากโภชนาการ (ข้อมูลแสดงคุณค่าของอาหาร) ในสามรูปแบบคือ แบบการแสดงตัวเลขเป็นร้อยละโดยมีสีเดียวที่ อย. เพิ่งนำมาใช้ (Guideline Daily Amount: GDA)     แบบสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง (Traffic Light Labeling) และ แบบตารางแสดงคุณค่าโภชนาการตามปกติ   ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 49.6 มีความพอใจในฉลากโภชนาการแบบ GDA ขณะที่ความพอใจที่มีต่อฉลากสีสัญญาณไฟจราจรนั้นอยู่ที่ร้อยละ 84.8 และเมื่อถามเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฉลากทั้งสองรูปแบบพบว่าร้อยละ 24.3 ชื่นชอบ GDA ร้อยละ 64.8 ชื่นชอบแบบสีสัญญาณไฟจราจร และร้อยละ 5.7 ไม่ชอบทั้งสองแบบ โดยให้ข้อเสนอแนะว่าน่าจะนำทั้งสองรูปแบบมารวมกัน(มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.3) เมื่อถามว่าถ้ามีการใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็น GDA หรือ สีสัญญาณไฟจราจรแล้วจะต้องใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบเดิมหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจำเป็น แต่ต้องปรับรูปแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นจำนวนร้อยละ 62.2 และมีผู้ที่ตอบว่าไม่จำเป็นจำนวนร้อยละ 33.5 โดยให้เหตุผลสองข้อคือ 1) เพราะไม่เคยอ่านฉลากโภชนาการรูปแบบเดิม จำนวนร้อยละ 67.5 และ 2) เพราะอ่านฉลากโภชนาการแบบเดิมไม่รู้เรื่องจำนวนร้อยละ 32.5 คำถามสุดท้ายในประเด็นนี้ ได้ถามถึงความจำเป็นในการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร พบว่า ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ร้อยละ 10.3 ให้แสดงเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการ และ ร้อยละ 1 ต้องการให้แสดงในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก โดยที่มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.7   2 ความเข้าใจเรื่องการโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 76.8 ตอบว่า โฆษณาบนฉลากมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยทั่วไป พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารของตนจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกครั้งแต่สำหรับการโฆษณาบนฉลากอาหารนั้นกลับไม่มีการบังคับทางกฎหมายว่าต้องส่งให้ อย. ตรวจสอบแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้ช่องว่างนี้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อความที่เกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ ทำให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นอาหาร อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่บนฉลากทำให้ตัวหนังสือในส่วนอื่น ๆ ของฉลากที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น วันผลิต-วันหมดอายุ ตารางโภชนาการ มีขนาดเล็กทำให้ไม่น่าอ่าน ดังนั้นหากมีการควบคุมดูแลด้านฉลากอาหารที่ดี โดยตัดเนื้อหาการโฆษณาที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปก็จะทำให้มีเนื้อที่บนฉลากมากขึ้นเพียงพอที่จะทำให้ฉลากอาหารน่าอ่านและอ่านง่าย   เมื่อส่งผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ตอบแบบสอบถามและให้หาโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 24.5 ตอบว่าไม่มีโฆษณา ขณะที่ร้อยละ 71.3 ตอบว่ามี อย่างไรก็ตาม จากการให้ผู้ตอบแบบสอบถามเขียนคำโฆษณาที่ตนเห็นลงในแบบสอบถามด้วย พบว่า กว่าครึ่งเข้าใจได้ถูกต้องถึงสิ่งที่ตนเขียนมา ขณะที่อีกกลุ่มใหญ่ไม่เข้าใจว่าการโฆษณาบนฉลากอาหารคืออะไร โดยที่กว่าครึ่งของผู้ที่ตอบว่ามีโฆษณาบนฉลากเข้าใจว่าการใช้คำกล่าวอ้างทางโภชนาการตามที่ อย. อนุญาต คือการโฆษณา บ้างคิดว่าชื่ออาหารเป็นโฆษณา และบางส่วนสับสนระหว่างการแสดงส่วนประกอบของอาหารกับการโฆษณา เมื่อถามว่าโฆษณาที่เห็นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ ร้อยละ 76.8 ตอบว่ามี ร้อยละ 18.6 ตอบว่าไม่มีผล และร้อยละ 4.6 ไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งหมายความว่าคำบรรยายต่าง ๆ ที่เห็นบนฉลากไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างทางโภชนาการทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง และทั้งการโฆษณาโดยตรงบนฉลาก มีผลต่อการตัดใจของผู้บริโภคค่อนข้างสูง คำถามสุดท้ายของประเด็นว่าเห็นด้วยกับการมีโฆษณาบนฉลากอาหารหรือไม่ ร้อยละ 69 ตอบว่า เห็นด้วย และ ร้อยละ 26.8 ตอบว่า ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามจากเหตุผลของผู้ที่เห็นด้วยที่บอกว่าการโฆษณาทำให้รู้สรรพคุณและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยบางส่วนนั้นยังคงมีความสับสนและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือคำกล่าวอ้างทางโภชนาการที่ อย. อนุญาต และอะไรคือการโฆษณาซึ่งเป็นสิ่งที่มิได้ระบุไว้ให้แสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก 3 การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ ร้อยละ 49.2 อยากเห็นฉลากอาหารแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- “ในทางกฎหมายคำว่า “วันหมดอายุ” ถือเป็นสัญญาที่ผู้ประกอบการให้กับผู้บริโภค ส่วนคำว่า “ควรบริโภคก่อน” ถือเป็นคำแนะนำของผู้ประกอบการที่มีต่อผู้บริโภค” นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือหรือไม่ ร้อยละ 57.6 ตอบว่าเห็น ร้อยละ 7.4 ตอบว่า ไม่เห็น ร้อยละ 30.6 ตอบว่า เห็นแต่ใช้เวลาในการหานาน และส่วนที่เหลือไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากของทั้งสามคำตอบและเมื่อรวมผู้ที่ตอบว่าไม่เห็นกับผู้ที่ตอบว่าเห็นแต่ใช้เวลาในการหานานแล้วนั้นสัดส่วนขยับมาเป็นร้อยละ 57.6 ต่อ ร้อยละ 38 สำหรับคำถามที่ว่าพอใจกับการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่เห็นอยู่แค่ไหน ได้รับคำตอบว่า พอใจ ร้อยละ 52.7 ไม่พอใจ ร้อยละ 42.8 และไม่แสดงความคิดเห็นอีกร้อยละ 4.4 จากการตอบแบบสอบถาม แสดงว่าการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา และควรที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถามความเข้าใจเรื่องวันหมดอายุว่า คำว่า “วันหมดอายุ” เหมือนหรือต่างอย่างไรกับคำว่า “ควรบริโภคก่อน” พบว่า ร้อยละ 47.3 ตอบว่า เหมือนกัน ร้อยละ 48.1 ตอบว่า ต่างกัน และร้อยละ 4.6 ไม่ตอบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจเรื่องวันผลิต-วันหมดอายุของผู้บริโภคยังคงเป็นปัญหาและตามมาซึ่งคำถามว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร ระหว่าง การใช้คำที่สร้างความสับสนให้เหมือนว่าใช้แทนกันได้ทั้งที่ควรจะมีการบังคับทางกฎหมายต่างกัน หรือความเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภคน้อย หรือ ระบบไม่ต้องการให้คนเข้าใจได้ กันแน่ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงรูปแบบการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่อยากเห็น เราได้รับคำตอบว่า ร้อยละ 49.2 อยากเห็นการแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุโดยให้มีแต่คำว่า “วันหมดอายุ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีคำว่า “ควรบริโภคก่อน” มาเป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ ขณะที่ร้อยละ 29.5 ต้องการแบบเดียวกับข้อแรกแต่ให้เปลี่ยนจากคำว่า “วันหมดอายุ” มาเป็น “ควรบริโภคก่อน” แต่อย่างเดียว ซึ่งจากสัดส่วนที่ออกมาเห็นได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคไม่อยากเห็นการแสดงคำที่สร้างความสับสนอย่างคำว่าว่า “วันหมดอายุ” และ “ควรบริโภคก่อน” ไว้ด้วยกันโดยให้เป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ หากแต่ต้องการความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความหมายและความสำคัญของฉลากอาหาร “ฉลากอาหาร” คืออะไร? บางคนตอบว่ากระดาษ/พลาสติกที่มีตัวหนังสือพิมพ์ติดอยู่ข้างขวด บ้างก็ตอบว่าลวดลายและตัวอักษรที่ติดอยู่บนซองขนม และอีกหลายคนตอบว่าข้อความบรรยายสรรพคุณของอาหาร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ คือ ถูกทุกข้อ โดยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ให้คำนิยามไว้ว่าคือ “รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหารหรือหีบห่อของภาชนะบรรจุอาหาร” และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 พ.ศ. 2543 เรื่องฉลากอาหารได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ โดยกำหนดให้แสดงข้อมูลที่สามารถแบ่งกลุ่มตามวัตถุประสงค์การแสดงได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่ ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง และคำเตือนต่างๆ ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนักหรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่าง ๆ  และ ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย.  และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 แบะแซ

แบะแซ เป็นชื่อที่ใช้เรียกกันทั่วไปในหมู่คนทำขนมและอาหารอย่าง กระยาสารท ตังเม ทอฟฟี่กะทิแบบไทยๆ  น้ำจิ้มลูกชิ้นหรือแม้แต่เอาไปผสมทำเป็นน้ำผึ้งปลอมมาหลอกขายชาวบ้าน แบะแซ มีชื่อในทางอุตสาหกรรมว่า กลูโคสไซรับ(glucose syrup) เป็นการนำแป้งมาย่อยสลายให้กลายเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง(กลูโคสคือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว) ลักษณะของแบะแซอย่างที่เห็นหรือซื้อขายทั่วไปในตลาดจะมีลักษณะเหนียวๆ ใสๆ เหมือนน้ำเชื่อมบางทีก็เป็นก้อนเหนียวๆ หนืดๆ สีออกน้ำตาลๆ ก็แล้วแต่เกรดหรือเบอร์ของแบะแซ ในทางอุตสาหกรรมแบะแซหรือกลูโคสไซรับ ถูกใช้ในหลายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อทำให้เนื้อของอาหารมีความหนืด เช่น ในลูกอมหรือซอสปรุงรสต่างๆ กลูโคสไซรับมีแบบชนิดผงด้วย ซึ่งจะนิยมใช้ในอุตสาหกรรมยา หรือประกอบการเคลือบเงาผลิตภัณฑ์ เช่น ขนมเม็ดสีของเด็กๆ ลูกอมต่างๆ   ตัวแบะแซที่นำมาผสมอาหารไม่ได้มีอันตราย แต่อาหารที่ใส่แบะแซถ้าใช้ในสัดส่วนที่มากเกินไปเนื้อของอาหารจะหนืดแข็งจนกินไม่อร่อย อีกอย่างอาหารหนืดๆ หวานๆ กินแล้วติดฟันหนึบหนับดีนัก ดังนั้นเมื่อรับประทานแล้วควรบ้วนปากหรือแปรงฟันเพื่อป้องกันฟันผุจ้ะ แบะแซ เป็นชื่อแบบบ้านๆ ในทางการค้ามีชื่อเรียกหลายอย่างแล้วแต่ว่าทำมาจากอะไร เช่น ถ้าทำจากแป้งข้าวโพดจะเรียกว่า Corn Syrup ทำจากน้ำตาล Malt เรียก Maltose ทำจาก Glucose เรียกว่า Liquid Syrup

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ตรวจจับความเร็วกับ Traffy bSafe

ความประมาทที่ก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ จากผู้ขับรถบริการสาธารณะ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้โดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พอเกิดข่าวอุบัติเหตุครั้งหนึ่งผู้โดยสารก็จะพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น โดยการเปลี่ยนชนิดรถบริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ แต่สำหรับผู้โดยสารที่ไม่สามารถเลือกใช้รถบริการสาธารณะรูปแบบอื่นได้ ก็คงต้องหวาดหวั่นกับการขับรถด้วยความประมาทของรถบริการสาธารณะต่อไป การร้องเรียนพนักงานขับรถบริการสาธารณะผ่าน Call Center 1584 เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในฐานะผู้บริโภคจะสามารถร้องเรียนได้ แต่การร้องเรียนในช่องทางนี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายเท่าไร รวมทั้งไม่มีหลักฐานความประมาทในการขับรถที่เป็นรูปธรรม จึงอาจทำให้การร้องเรียนที่ต้องการให้ปรับปรุงการบริการไม่เป็นผลมากนัก   เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนอย่างทันท่วงที โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค) ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Traffy  bSafe ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ได้กับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำบนมือถือในสังคมปัจจุบัน ทั้ง iPhone และ Android สามารถดาวน์โหลด Traffy bSafe mobile app ได้ฟรีที่ http://info.traffy.in.th/2011/09/02/traffy-bsafe Traffy  bSafe หรือเครือข่ายเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยรถสาธารณะเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจจับความเร็วในขณะที่รถบริการสาธารณะวิ่งอยู่บนท้องถนนแบบ real-time และสามารถแจ้งร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยของการเดินทางโดยรถสาธารณะได้ทันที  ก่อนเข้าแอพพลิเคชั่นเพื่อวัดความเร็ว โปรแกรมจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถหรือสายรถเมล์ก่อนเป็นอันดับแรก โดยการวัดความเร็วของแอพพลิเคชั่นนี้จะไล่ตามความเร็วของรถบริการสาธารณะ ซึ่งใช้แถบสีในการแบ่งระดับ 3 ระดับ ดังนี้ แถบสีเขียวหมายถึงระดับ Speed Safe อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แถบสีเหลืองหมายถึงระดับ Speed Caution อยู่ในเกณฑ์ควรระมัดระวัง แถบสีแดงหมายถึงระดับ Speed Danger อยู่ในเกณฑ์อันตราย เมื่ออยู่ในระดับอันตรายโปรแกรมจะสอบถามเพื่อส่งเรื่องร้องเรียน โดยสามารถอัพโหลดรูปภาพเป็นหลักฐานในการร้องเรียน เพียงกดส่งข้อมูลต่างๆ ก็จะส่งไปยัง NECTEC เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์ 1584 กรมการขนส่งทางบก ไม่ว่าการร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างน้อย Traffy  bSafe ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ความสะดวกในการร้องเรียนเพิ่มขึ้น และใช้ข้อมูลในแอพพลิเคชั่นเป็นหลักฐานได้ทางหนึ่ง เพียงแค่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ช่วยกันสอดส่องและรักษาสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนคนละไม้คนละมือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุอาจลดน้อยลงได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 เฟสบุค กับมาตรการการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ   ปัจจุบันนี้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุค ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก หลายๆ คนนิยมติดต่อ สื่อสาร แสดงสถานะของตนเอง ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลที่ อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว และการเปิดเผยข้อมูลบางประการ ซึ่งอาจทำให้เป็นช่องทางที่พวกมิจฉาชีพทั้งหลายเข้ามาทำร้ายเราได้ และโดยในเฉพาะปัจจุบันนี้ ภัยจากสงครามปรองดอง บางส่วนก็ยังคงใช้โซเชียลมีเดียเป็นสนามรบแทนที่จะใช้เป็นสนามรัก เรื่องนี้ เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องตั้งสติและเตรียมตัว ให้ดีว่า เราจะช่วยกันป้องกันภัยคุกคามที่มาพร้อมกับการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ได้อย่างไร บทความตอนนี้ขออนุญาตเล่าสถานการณ์ เรื่องเฟสบุค ในประเทศเยอรมนี ต่อกรณีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่น่าจะมีประโยชน์กับผู้บริโภค และหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ตลอดจนได้แนะนำวิธีปฏิบัติเบื้องต้นไปพลางๆ สำหรับผู้บริโภคก่อน ที่ภาครัฐและฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถกลับมาทำหน้าที่ เป็นที่พึ่งของประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ครับ   เพื่อนที่ไม่ได้เชิญหรือไม่ได้รู้จักมีอีเมล์จากเฟสบุคมาชวนเรา ใครก็ตามที่ได้เล่นเฟสบุค แล้วก็มักจะติดอกติดใจ และใช้เฟสบุคเพิ่มมากขึ้น โดยปรกติแล้วการเข้ามาในระบบ ฐานข้อมูลของเฟสบุคนั้น ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องมีบัญชี (account) ในเฟสบุค เพราะเฟสบุคเองมีเครื่องมือที่เรียกว่า friend finder ที่เป็นโปรแกรมอัตโนมัติ คอยเสาะหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นเพื่อน หรือ เป็นเพื่อนของเราอยู่แล้วก็ได้ เพราะโปรแกรมเฟสบุคเองนั้นจะทำหน้าที่เสาะหาสมาชิกให้เข้ามาในเฟสบุค โดยเฟสบุคสามารถตรวจสอบข้อมูลจากเบอร์อีเมล์ของเพื่อนเราหรือคนรู้จักได้ เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า addressbook import ในกรณีที่พบเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่เราเคยรู้จัก เฟสบุคจะบอกเรา (user) ว่าใครบ้างที่ทำการลงทะเบียนใช้งานในเฟสบุคแล้วบ้าง หลังจากนั้นเฟสบุคก็จะทำการส่งคำเชิญชวนคนที่ยังไม่อยู่ในบัญชีเฟสบุคให้เข้ามาลงทะเบียนใช้เฟสบุค สำหรับคนที่ได้รับคำเชิญนั้นก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สนใจใช้งานเฟสบุค กับกลุ่มที่ไม่สนใจใช้งานเฟสบุค แต่คนทั้งสองกลุ่มที่ได้รับคำเชิญนั้น ข้อมูลของคนทั้งสองกลุ่มได้ถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของเฟสบุคแล้ว   กรณีที่เราอยากจะลบข้อมูลของเราในฐานข้อมูลของเฟสบุคต้องทำอย่างไร สำหรับประเทศไทยที่มาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังย่อหย่อน และรัฐไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสำคัญอะไรมากนัก ก็อาจจะเป็นเรื่องยากอยู่แต่ในประเทศเยอรมนีที่มีกฎหมายดูแลเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จะมีคณะกรรมการอิสระคอยสอดส่องดูแลอยู่ นอกจากนี้ประชาชนและองค์กรภาคเอกชนก็เป็นกำลังสำคัญในการให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือในด้านนี้กันเป็นอย่างดี และล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีฟ้องศาล* กรณีการทำงานหาสมาชิกแบบอัตโนมัติของ friend finder ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder ก็ตามแต่ในความเป็นจริง friend finder ก็ยังคงทำงานอยู่นั่นเอง เพราะคดียังอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ นั่นเป็นสถานการณ์ของเฟสบุคในเยอรมนี สำหรับคำแนะนำที่ผมได้อ่านมาจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมันสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล ในทางเทคนิคเท่าที่ผู้บริโภคสามารถดำเนินการเองได้มีดังนี้ครับ กรณีที่เราได้รับอีเมล์เชิญให้สมัครเฟสบุคนั้น ในตอนท้ายของอีเมล์จะมีลิงค์ ให้เราเลือกว่าเราปฏิเสธการรับอีเมล์จากเฟสบุคอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเฟสบุคก็ยังคงเก็บข้อมูลของเราไว้อยู่ดี ปิดบัญชีเฟสบุค สามารถทำได้ตลอดเวลา โดยคลิกไปที่ http://www.facebook.com/help/contact_us.php?id=220219108064043 หลังจากนั้นเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะยกเลิกการใช้เฟสบุค หรือจะสั่งให้ลบข้อมูลของเราทั้งหมดออกจากเฟสบุคก็ได้ * องค์กรผู้บริโภคของเยอรมัน (VZBV) ได้ฟ้องเฟสบุคต่อศาล เมือง เบอร์ลิน (Landgericht Berlin) ให้สั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder เนื่องจากในหนังสือข้อตกลงของเฟสบุค (Term and Condition) นั้นละเมิดสิทธิ และผิดกฎหมายหลายอย่างตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Civil Law Code) และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Bundesdatenschutzgesetz)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กะเพรา มีดีมากกว่า เมนูสิ้นคิด !

กองบอ.กอ. ฉลาดซื้อเปรยว่า ไม่เอากล้วยต่อจากฉบับที่แล้วได้ไหม ? คนหัวอ่อนเชื่อง่ายใครว่าอะไรชอบทำตาม จึงขออนุญาตผู้อ่านที่เคยรับปากว่าจะต่อเรื่องกล้วย ให้เว้นวรรคไปฉบับหน้า ก.กล้วยไม่เอา ขอเป็น ก.กะเพรา พืชสวนครัวแทนนะขอรับ กะเพรา มีชื่อเรียกทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า Holy basil หรือ Sacred Basil แปลแบบไทยๆ ก็ “พืชศักดิ์สิทธิ์” เลยทีเดียว ใครตั้งชื่อไม่รู้แต่ที่ประเทศอินเดียเขาถือว่า กะเพราคือพืชที่ใช้ในการบูชาเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ใครเคยไปจะแปลกใจอย่างยิ่งที่ตลาดสดและทางเข้าวัดฮินดูจะมีกะเพราะมัดเป็นช่อให้คนนำไปบูชา พี่แขกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าแปลงกายมาเป็นกะเพรา จึงเป็นพืชที่ใช้ปัดเป่าความชั่วและเคราะห์ร้ายต่างๆ บ้างบ้านถึงกับปลูกกะเพราไว้ในบริเวณบ้านหรือปลูกในกระถางนำมาบูชา และนำมาใช้เป็นยาบำบัดโรคและอาการต่างๆ มากมาย แต่ควรจำไว้ให้ดีถ้าไปเยือนแดนภาระตะ ห้ามไปผัดกะเพรากินเด็ดขาด พี่แขกเขาบูชาและไม่มีวัฒนธรรมหม่ำผัดกะเพรา(นะนาย) เคยมีคนไทยไปอยู่แล้วคิดถึงรสชาติอาหารไทยมาก เห็นปลูกกะเพราะเต็มบ้านเลยเด็ดมาผัดกะเพราะไข่ดาว งานเข้า..... พี่แขกเคืองว่าไม้ศักดิ์สิทธิ์ของไอทำไมยูฟาดซะเรียบ !   กะเพราดีอย่างไร ? กล่าวตามหลักทฤษฎีรสยา กะเพรามีรส เผ็ด ฉุน และขม (ลองเคี้ยวใบกะเพราสดๆพิสูจน์ดูได้) รสยาแบบนี้หมอแผนไทยท่านใช้แก้โรคและอาการได้หลายอย่าง คือ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไข้ได้โดยเฉพาะไข้หนาวๆ เพราะกินกะเพราแล้วช่วยทำให้ร่างกายร้อนขึ้น แก้อาการหอบหืด หลอดลมอักเสบ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับเตรียมความพร้อมรับภัย ตรงที่ปลูกผักสวนครัวไว้ในกระถาง หากหนีน้ำก็เอากะเพราขึ้นไปชั้นสองด้วย ยามที่ปวดท้อง มีลมในท้อง ระบบธาตุ(กระเพาะลำไส้)ไม่ปกติ ให้กินกะเพราช่วยบรรเทาอาการได้ดี วิธีง่ายที่สุดกินสด เด็ดใบ 8-10 ใบ ล้างน้ำเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนกินไปเลย ดื่มน้ำตาม ถ้าทนรสเผ็ดไม่ไหวตำคั้นเอาน้ำกิน ใบสด 1 กำมือ ตำคั้นเอาแต่น้ำ ได้น้ำยาประมาณ ๒ ช้อนแกง ดื่มรวดเดียวซี๊ดปากกับรสชาติ ถ้าเลือกแบบมีระดับไม่เผ็ดมาก ให้ชงน้ำกิน เป็นการเก็บตัวยาไว้ใช้ในยามจำเป็น เอาใบไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผง เก็บใส่โหลดปิดสนิท ยามที่ต้องใช้ ผงยา 1-2 ช้อนชา ชงน้ำร้อนแก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ 15 นาที จิบกินทั้งน้ำยาและผงยาให้หมด หรือชอบสดใช้ใบสด 10-15 ใบ ใส่แก้วชงน้ำร้อน ปิดฝาทิ้งไว้ 15 นาที แล้วนำมาจิบกินได้ฤทธิ์ยาเช่นกัน ถ้าบังเอิญเด็กเล็กปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ ลองเอาใบสดหลายๆ ใบมาขยี้ในฝ่ามือทั้งสองข้าง จะได้น้ำยาสีดำๆ เอายานี้ไปทาที่ท้องเด็กยกเว้นสะดือ และทาที่ฝ่ามือฝ่าเท้าน้อยๆ บางครั้งเอาน้ำยากะเพราะผสมน้ำผึ้งให้เด็กกินก็ได้ แต่ขอบอกว่าวิธีทาท้องนี้ ใช้กับพี่ๆ ผู้ใหญ่ไม่เวิร์คนะ เพราะบรรดาพุงไขมันและผิวหนังของพี่ๆ หนาเกินกว่าตัวยาจะแทรกซึมไปได้ และการศึกษาวิจัยใหม่ๆ พบว่ากะเพรามีน้ำมันหอมระเหย ที่ทำให้เราได้กลิ่นฉุนๆ นั้น มีคุณสมบัติทางยาหลายประการ เช่น พบว่าแก้หืด แก้อักเสบ มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยลดโคเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด และมีสารที่กินแล้วต้านความเครียดหรือช่วยให้คลายเครียดได้ ใครกำลังเครียด เมนูมื้อต่อไปขออย่าได้ดูแคลนพืชศักดิ์สิทธิ์นี้ ขอให้ลองสั่งผัดกะเพราใส่เนื้อสัตว์น้อยๆ และขอเพิ่มกะเพราะเยอะๆ ราดข้าวกิน อร่อย ได้ยาดี ไม่ใช่เมนูสิ้นคิดแน่นอน.   แมงลัก Hairy basil โหราพา Sweet basil

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ยาลดเอว…วัตถุทานที่อานิสงส์สูงยิ่ง?

ผมได้รับเอกสารสองชิ้นจากผู้บริโภครายหนึ่ง เล่าว่าได้รับเอกสารนี้จากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ข้อความในเอกสารจั่วหัวว่า “เหตุใดยาลดเอว จึงมีคนสั่งซื้อมากที่สุด” ต่อจากนั้นก็เป็นการตอบคำถามดังกล่าว 10 ข้อ ดังนี้ (1) กำจัดสิวหนองได้อย่างราบคาบ (2) กำจัดเซลล์ดำๆ ที่ทำให้หน้าหมองคล้ำหายไป หน้าใสคืนมา (3) ผู้ที่เดินขาลากเพราะขาไม่มีกำลังให้กินยาลดเอวหายเป็นปลิดทิ้ง เดินวิ่ง ทำนาทำไร่ได้เหมือนเดิม (4) ผู้ที่ขึ้นบันไดไม่ไหว ทานยาลดเอวแล้วเดินขึ้นบันไดตัวปลิว (5) อยากไปวัดแต่นั่งพับเพียบไม่ได้ กินยาลดเอวแล้วนั่งพับเพียบได้อย่างเก่า (6) หายใจไม่เต็มอิ่ม แน่นอก ตกขาว รอบพุง-โคนขาใหญ่ๆ ต้นแขนย้วยๆ ยาลดเอวแก้ไขได้หมด (7) คนผอมก็มาอุดหนุนเพราะเขาเป็นช่างทำผม-รีดผ้า-ตัดผ้า-ยืนขายของทั้งวัน-เดินทั้งวัน ขาไม่มีแรง กินยาลดเอว+ยาแก้เส้นแผลหายหมด (8) คนที่ตามตัวเป็นแผลเป็นตุ่มคล้ายเอดส์ กินยาลดเอว+ยาแก้เส้นแผลหายหมด (9) ผู้คนเขารู้ทั่วกันว่ายาที่ผลิตมาจากสถานพยาบาลไม่ต้องจด อย. ให้ผลิตรักษาคนไข้ได้เลย เพราะสถานพยาบาลเขารับผิดชอบตรงๆ ต่อสุขภาพของเขาอยู่แล้ว ปรีชาโอสถเป็นสถานพยาบาล ไม่ใช่ร้าน ไม่ใช่โรงงาน ทุกคนจึงกินลดเอวได้อย่างสนิทใจ (10) พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ผู้ใดปรารถนาอุปัฏฐากจากเรา ตถาคต จงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด เหมือนได้ปฏิบัติกับเรา” ภิกษุเดินไม่ไหวมากมาย ผู้คนถวายยาลดเอว ฉันแล้วต่างพากันเดินได้ รับบาตรได้ ยาลดเอวกลายเป็นวัตถุทานที่อานิสงส์สูงยิ่ง เหตุ 10 ประการนี้+สรรพคุณอื่นในหน้าหลัง ทำให้ยาลดเอวขายดีที่สุด คนปกติธรรมดาก็ทานได้ (ใหม่ๆ ทานแล้วเพลีย ต้องกินน้ำตาล น้ำหวานช่วย อย่าลืม!)   เท่าที่อ่านมา มันยามหัศจรรย์เลยนะครับ มีการอ้างถึงสรรพโรคและสรรพสงฆ์อีกด้วย ส่วนเอกสารชิ้นที่สองมีการระบุสรรพคุณของยาต่างๆ ที่สถานพยาบาลแห่งนี้มีจำหน่าย โดยระบุชัดเจนว่ายาลดเอวมีสรรพคุณ ขับไขมันทั่วร่างกาย ทำให้ผอมลง ลดไขมันในเส้นเลือด แก้ปวดเข่า เดินไม่ไหว ขาไม่มีแรง ตกขาว หน้าหมอง แก้สิว (300 บ.) ท้ายเอกสารยังระบุด้วยว่า “ยาทุกขนานคนปกติธรรมดากินได้หมดสิ้น ไม่ตีกับยาโรงพยาบาลด้วย ก็เหมือนกินแกงนั่นแล ไกลแค่ไหนสั่งซื้อยามาได้โดยโอนเงินเข้าบัญชี....” (ระบุทั้งชื่อและหมายเลขบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาแคลาย) แถมระบุรายการยาที่ให้กินร่วมด้วย เช่น กลิ่นตัวแรงมากๆ (หายเด็ดขาดด้วย ยาลดเอว+ละลายไขมัน) ภูมิแพ้ตัวเอง (ยาแก้เส้น+ยาลดเอว+ไต) ปวดข้อ เก๊าท์ (หายเร็วด้วยยาเบอร์1+ยาลดเอว) ลมบ้าหมู/พาร์คินสัน/โรคสั่น (ยาตับสู้+ยาลดเอว+ยาไต) สมองเสื่อม/อัลไซเมอร์ (ยาไต+ยาลดเอว+ยาคลายกล้ามเนื้อ) กรนเสียงดัง (ยาละลายไขมัน) สิว (ยาลดเอว) ผมอ่านแล้วก็งงว่า ผู้ทำเอกสารเผยแพร่ชิ้นนี้ เข้าใจผิดเปล่า เพราะที่บอกว่าสถานพยาบาลให้ผลิตยารักษาคนไข้นั้น ที่ถูกต้องคือต้องเฉพาะคนไข้เฉพาะรายและต้องรักษาที่สถานพยาบาลเท่านั้น การที่มาเร่ส่งขายทางไปรษณีย์แบบที่ระบุในเอกสาร นอกจากจะผิดกฎหมายสถานพยาบาลแล้ว ยังผิดกฎหมายยา ข้อหาผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน รวมทั้งขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย ...ใครเห็นเอกสารชิ้นนี้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >