ฉบับที่ 244 กองทุนรวมอีกรอบ รุกและรับ

        เคยพูดถึงวิธีการทำงานของกองทุนรวม (Mutual Fund) ไปแล้ว เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาหาข้อมูลมากมาย ซื้อ-ขายหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือนั่นนี่ไม่เป็น ไม่ถูก หรือไม่ทัน ก็หันมาใช้กองทุนรวมเพราะมีมืออาชีพคอยบริหารจัดการให้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้องยอมรับว่ากองทุนรวมได้รับความนิยมมากขึ้นเยอะ         วันนี้จะชวนลงรายละเอียดกันอีกนิดว่าด้วยประเภทของกองทุนรวม         เคยแตะไปนิดหนึ่งว่ากองทุนรวมแบ่งได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือการแบ่งกองทุนรวมเป็น Active Fund และ Passive Fund ถ้าให้แปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายมันก็คือวิธีการบริหารจัดการกองทุนเพื่อสร้างผลต้นแทน 2 แบบ         แบบ Active Fund คือการบริหารจัดการเชิงรุกหรือสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด         อันนี้อาจจะงงว่าชนะตลาดคืออะไร เรื่องมีอยู่ว่าสินทรัพย์ต่างๆ จะมีมาตรวัดหรือดัชนีว่าให้ผลตอบแทนในช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปีเป็นเท่าไหร่ สมมติว่าปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ A ทั้งตลาดสร้างผลตอบแทนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมแบบ Active Fund ที่ลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นนั่นแหละก็ต้องทำผลตอบแทนในปี 2563 ให้ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะ 11 12 15 20 อะไรก็ว่าไป         โดยผู้บริหารจัดการกองทุนจะทำหน้าที่เฟ้นหา สลับสับเปลี่ยนหุ้นที่ถือให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา เช่น ถ้าช่วงนี้การท่องเที่ยวฟุบเพราะพิษโควิด หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวราคาหล่น ผลประกอบการก็ยังไม่น่าฟื้น เขาก็อาจจะขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมาเพื่อไปซื้อหุ้นตัวอื่นที่น่าจะสร้างผลตอบแทนดีกว่า เขาต้องการชนะตลาดไง         ส่วนแบบ Passive Fund ก็ตรงกันข้าม เดี๋ยวๆ ไม่ได้หมายถึงบริหารให้แพ้ตลาด การบริหารจัดการเชิงรับคือการสร้างผลตอบแทนให้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับตลาด ตัวอย่างเดิม ถ้าตลาดหลักทรัพย์ A ทำได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมชนิดนี้ก็จะทำผลตอบแทนเกาะแถวเลข 10 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด เป็นเหตุผลให้มันมีอีกชื่อว่า Index Fund         กองทุนรวมแบบนี้ ผู้บริหารจัดการกองทุนแค่มีหน้าที่เอาเงินไปใส่ในหุ้นต่างๆ ตามสัดส่วนของมูลค่าหุ้นของบริษัทนั้น สมมติว่าตลาดหลักทรัพย์ A มีหุ้นอยู่ 10 ตัวคือ ก. ข. ค. ง. จ. ฉ. ช. ซ. ต. ด. ใน 100 เปอร์เซ็นต์ หุ้นบริษัท ก มีมูลค่าตลาดอยู่ 30 จากนั้นก็ 10 5 5 4 6 12 8 6 14 ตามลำดับ เขาจะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นตามสัดส่วนนี้ เมื่อถึงรอบเวลา หุ้นทั้ง 10 ตัวทำผลตอบแทนได้เท่าไหร่หรือขาดทุนเท่าไหร่ ผลที่กองทุนรวมชนิดนี้ทำได้ก็จะล้อกับหุ้นทั้ง 10 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปัญหาขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้การผลิตวัคซีนของโลกชะงัก

        การขาดแคลนถุงพลาสติกเฉพาะทางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตวัคซีนกลายเป็นปัญหาคอขวดที่ไปชะงักการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เพียงพอใช้ทั่วโลก เมื่อมองย้อนกลับไปปลายปี 2019 โลกก็เริ่มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนฟิล์มพลาสติกที่ใช้ทำถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ก่อนที่โควิด-19 จะเริ่มระบาดอยู่แล้ว และเมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา  วัสดุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19  เช่น ขวดแก้ว พลาสติก จุกปิดขวดและสารเคมีประเภทต่างๆ ก็เริ่มที่จะขาดตลาด ซึ่งทำให้เป็นจุดเริ่มในการเกิดปัญหาการขาดแคลนครั้งใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้         กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19  เช่น BioNTech / Pfizer, Moderna และ Novavax  ต่างต้องใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางในกระบวนการผลิตกันทั้งนั้น โดยจะใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ในการเป็นท่อที่ถูกฆ่าเชื้อเพื่อทำการประกอบส่วนผสมของสารเคมีในวัคซีนขึ้น  ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ รวมไปถึง  CSL หรือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพท้องถิ่นในออสเตรเลียที่กำลังเร่งผลิตวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-Astrazeneca) จำนวน 50 ล้านโดสให้ทันต่อความต้องการของประชากรในประเทศก็ถูกชะงักลงเนื่องจากขาดวัสดุอุปกรณ์เฉพาะทางที่สำคัญในกระบวนการผลิต  เนื่องด้วยวัสดุเหล่านี้ต้องได้รับการผลิตด้วยมาตรฐานการฆ่าเชื้อที่สูงมาก จึงทำให้มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถผลิตมันได้          ตัวอย่างเช่นในยุโรป ดร.เจอร์เกน ลินเนอร์ หัวหน้าสมาคมผู้ผลิตส่วนผสมทางเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า  “เท่าที่ฉันทราบ ในยุโรปมีผู้ผลิตขวดแก้วแค่สามที่”  มากไปกว่านั้นวัสดุหลายประเภทต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตเนื่องด้วยความซับซ้อนในกระบวนการผลิตของมัน  จึงทำให้บริษัทในหลายแห่งไม่สามารถผลิตมันออกมาได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้ อีกทั้งตัววัคซีนเองก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีหลายร้อยชนิดในการผลิต เช่น กระบวนการผลิตวัคซีน Pfizer ที่ต้องใช้ส่วนผสมในการผลิตมากกว่า 280 ชนิด  จึงทำให้ไม่แปลกที่ทั่วโลกจะเกิดอุปทานที่มากขึ้นกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัคซีน         ดังนั้นจาก “ความต้องการที่ไม่เคยมีมาก่อน” นี้เองที่ทำให้บริษัทที่สามารถผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนต่างก็ตื่นตัวและพยายามอย่างเต็มที่ในการขยายความสามารถในการผลิตของตนให้มีได้ในปริมาณที่มากที่สุด  เพื่อให้ทันต่อปริมาณอุปทานที่ล้นหลามจากทั่วโลก โดยกระบวนการผลิตนั้นจะยังคงต้องรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพเอาไว้ให้ได้อีกด้วย  ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญเหล่านี้สามารถเห็นได้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่กระบวนการผลิตวัคซีนถูกชะลอให้ช้าลง ดังจะเห็นได้จาก สถาบันเซรั่มรายใหญ่ของอินเดียได้ออกมากล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้พวกเขาผลิตวัคซีน Novavax  อย่างยากลำบาก ซึ่งทำให้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางบริษัทได้ออกมาเตือนถึงข้อจำกัดในการผลิตวัคซีนเนื่องจากกำลังประสบปัญหาการสรรหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต ทำให้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาอินเดียทำลายสถิติโลกของผู้ติดเชื้อโควิด-19         วัตถุดิบที่ใช้เพื่อผลิตวัคซีนส่วนใหญ่มาจาก 13 ประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ อาร์เจนตินา รัสเซีย บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รวมตัวกันก่อตั้ง “วัคซีนคลับ” ตามที่ธนาคารโลกได้ขนานนามไว้ขึ้น  โดยเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดรวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์วัคซีน “นั่นทำให้พวกเขาได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เป็นสองเท่า”  ศ.ไซมอน อีเว็ตต์ ผู้เขียนรายงานกล่าวถึงความได้เปรียบของประเทศสมาชิกใน “วัคซีนคลับ”   จากความได้เปรียบนี้เองที่ทำให้การกระทำของประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศส่งผลให้ส่วนที่เหลือของโลกมีความเสี่ยง เพราะประเทศที่เหลือนอกจากประเทศสมาชิกเข้าถึงสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนได้ยากเนื่องจากต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าวัคซีนมาใช้ เช่นประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้ต่ำ           ขณะที่จีน อินเดียและสหภาพยุโรปพยายามจัดหาวัตถุดิบและผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะปฏิเสธการส่งออกวัคซีนไปยังส่วนที่เหลือของโลกถึงแม้ว่าวัคซีนหลายล้านโดสในประเทศตัวเองจะไม่ได้ถูกใช้ก็ตาม เนื่องด้วยสาเหตุจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องหยุดการส่งออกวัคซีนเพื่อเก็บไว้ให้ประชากรในประเทศของตนเองใช้  อย่างไรก็ตามเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียใต้หรืออินเดียต้องต่อสู้กับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกวัน  บวกกับแรงกดดันจากนานาชาติที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาแบ่งปันส่วนหนึ่งของวัคซีนในประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติในสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกมากล่าวให้การสนับสนุนสถานการณ์โควิด-19 ในอินเดีย โดยจะจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตวัคซีน ตลอดจนหนทางการรักษาและอุปกรณ์ป้องกันโรคที่สำคัญกับอินเดียโดยทันที นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีแผนส่งออกวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) กว่า 60 ล้านโดสไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทั่วทุกประเทศรวมไปถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง นอกจากนี้ ประเทศตะวันตกหลายประเทศ นำโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดาและเยอรมนีได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 ในอินเดียที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเต็มที่         ถึงแม้ว่าการร่วมมือกันของหลายประเทศมหาอำนาจที่ตั้งใจจะพัฒนาและผลิตจำนวนวัคซีนให้เพียงพอเพื่อที่จะจัดจำหน่ายให้บริการทั่วถึงทั้งโลกจะเกินกว่าหนึ่งพันล้านโดสแล้วก็ตาม  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณอุปทานในการผลิตวัคซีนก็ยังคงมีอยู่  จากการคาดเดาปริมาณที่ทั่วโลกต้องการผลิตวัคซีนภายในปีหน้าพบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าแรงกดดันในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Reference Aime Williams and Kiran Stacey, (2021, May 1).Is there a ban on Covid vaccine exports in the US?.https://www.ft.com/content/82fa8fb4-a867-4005-b6c2-a79969139119Belinda Smith, (2021, February 12).Inside CSL, where Australia's Oxford-AstraZeneca vaccines are being made.https://www.abc.net.au/news/science/2021-02-12/covid-19-vaccine-oxford-astrazeneca-adenovirus-csl-manufacturing/13140104 Liam Mannix, (2021, May 7).Why a worldwide shortage of plastic bags is choking vaccine production.https://www.smh.com.au/national/why-a-worldwide-shortage-of-plastic-bags-is-choking-vaccine-production-20210506-p57phk.html Hannah Kuchler and Joe Miller, (2021, February 17).Shortage of giant plastic bags threatens global vaccines rollout.https://www.ft.com/content/b2f4f9cf-af80-428f-a198-2698ceb4c701

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 บิทคอยน์

        เดือนที่ผ่านมาเรื่องบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นประเด็นร้อนๆ ของนักลงทุนเพราะราคาตกต่อเนื่องจากคำไม่กี่คำจากปากอีลอน มัสก์ ผู้ก่อนตั้งเทสล่า ใครที่ซื้อเอาไว้ตอนราคาสูงๆ แล้วติดดอยคงมีอาการร้อนๆ หนาวๆ แต่นั่นแหละ อะไรที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ ได้ เข้าถูกจังหวะก็ได้ส่วนต่างหรือได้ของถูก         ต้องมีคนคันไม้คันมืออยากเสี่ยงดวงกับบิทคอยน์ อยากร่ำรวยเหมือนพวกเศรษฐีบิทคอยน์ที่ได้ยินในข่าว ย้ำกันอีกครั้ง อย่าผลีผลาม ถ้ายังไม่รู้จักสิ่งที่ลงทุนศึกษามันก่อนลงทุนในตัวเองก่อนจังหวะและโอกาสมีมาเสมอ กฎการลงทุนข้อแรกของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนเน้นคุณค่า (value investor) บอกไว้ว่า ‘อย่าขาดทุน’        แล้วบิทคอยน์คืออะไร?         บิทคอยน์เป็นแค่สกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) สกุลหนึ่งเท่านั้น หมายความว่ายังมีเงินดิจิตอลสกุลอื่นอีก เช่น Ethereum Tether หรือ Libra ที่สร้างโดยเฟสบุ๊คเมื่อกลางปี 2562 เป็นต้น แต่บิทคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่โด่งดังที่สุด         มันถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ ซาโตชิ นาคาโมโตะ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าเป็นชื่อจริงหรือเปล่า มันถูกสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ อยู่ในรูปแบบดิจิตอลเท่านั้น และถ่ายโอนผ่านอินเทอร์เน็ตกันด้วยบล็อคเชน (blockchain) เทคโนโลยีที่ปลอดภัยมากในเวลานี้ การจะได้มันมาครอบครอง คุณต้องขุดด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะไม่ใช่หน้าที่ของนักลงทุน         คนสงสัยว่าเงินที่ไม่มีตัวตนมันใช้ซื้อของได้ด้วยเหรอ? มันซื้อได้ เหมือนเวลาเราซื้อของออนไลน์แล้วโอนเงินหรือจ่ายด้วยบัตร เพียงแต่เรามีเงินจริงๆ หนุนหลัง บิทคอยน์ไม่มี ความที่มันมีมูลค่าและมีจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ กฎอุปสงค์-อุปทานจึงทำงาน คนต้องการมากของมีจำกัด ราคาจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาบิทคอยน์ 1 เหรียญ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ตีเป็นเงินบาทเท่ากับ 1,238,847.86 บาท มีสักสิบยี่สิบเหรียญก็สบายแล้ว         มูลค่าขนาดนี้หอมหวานพอจะเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการซื้อขายเงินดิจิตอลในไทยหลายเจ้า ถ้าสนใจลองหากันดู         เตือนอีกครั้ง สกุลเงินดิจิตอลไม่มีมูลค่าบนโลกจริงหนุนหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ให้การรับรอง จะว่าไปมันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของโลกทุนนิยมสุดๆ มีคนจำนวนมากถูกหลอกเงินหลักแสนถึงหลักล้านจากการบินเข้ากองไฟบิทคอยน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันการเลือกเทรนเนอร์และนักโภชนาการ

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนใส่ใจเรื่องของสุขภาพทั้งในด้านอาหารการกินและการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น มีเทรนด์สุขภาพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเทรนการลดน้ำหนัก แต่หากมีการใส่ใจแบบหวังผลลัพธ์ไวทันตาเห็น อาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอยากสุขภาพดีโดยอาศัยทางลัด อย่าง การอดอาหาร กินอาหารเสริม หรือพึ่งพา Health Coach ที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านโภชนาการโดยตรง แค่อาศัยจากการเรียนคอร์สโภชนาการมาบ้าง ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความรู้เท่าทันเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง         ความหมายของ “เทรนเนอร์ และ นักโภชนาการ”        “เทรนเนอร์” คือ (Trainer) ผู้ที่มีความรู้ด้านฟิตเนส ที่จะต้องพัฒนาและนำวิธีการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไปเฉพาะแต่ละคนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นผู้นำในการออกกำลังกายของกลุ่มคนที่มีสุขภาพดีหรือกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายไปสอนบุคคลคน ด้วยเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ปลอดภัย เกิดประสิทธิภาพ และทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีต่อบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา รักษา หรือทำให้เกิดผลสูงสุดต่อสุขภาพให้กับแต่ละบุคคล รวมทั้งมีความสามารถเพียงพอที่จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย กระตุ้นจูงใจให้บุคคลดูแลรักษาสุขภาพ และเป็นผู้นำด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เทรนเนอร์ จะทำหน้าที่เทรนการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีให้กับผู้คน          “นักโภชนาการ” หรือ “นักกำหนดอาหาร” คือผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและสารอาหารอย่างรอบด้าน เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนให้คำปรึกษาและเตรียมอาหารตามหลักโภชนาการสำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วย นอกจากนั้นนักโภชนาการยังทำหน้าที่เป็นคนศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและทดลองตำรับอาหารใหม่ พัฒนาสูตรอาหารตามหลักวิชาการและโภชนาการ กำหนดรายการอาหาร คำนวณคุณค่าของอาหารที่ใช้บริโภค ควบคุมและให้คำแนะนำการประกอบอาหารเฉพาะโรค การถนอมอาหารหรือ แปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการแก่สาธารณชน ดังนั้นแล้วด้วยเทรนด์อาหารคลีนที่กำลังมาแรง นักโภชนาการที่คิดค้นและพัฒนาสูตรอาหารจึงมีความจำเป็นมาก           ปัจจุบันนักกำหนดอาหารในประเทศไทยนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพกับ “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย” โดยจะได้รับคำว่า กอ.ช หรือ CDT ต่อท้ายซึ่งย่อมาจาก “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” หรือ “Certified dietitian of Thailand” ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี  นักโภชนาการที่ไม่ได้สอบขึ้นทะเบียนวิชาชีพนักกำหนดอาหารจะไม่สามารถขึ้น Ward ดูคนไข้ได้และไม่สามารถเขียนใบสั่งอาหารเพื่อกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานในแต่ละมื้อได้ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้มีประกาศจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร เรื่อง ผลการพิจารณาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ที่ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหาร โดยมีผู้ที่ผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร จำนวน 371 คน และผู้ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำนวน 88 คน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้           สิ่งที่ต้องรู้ในการจ้างเทรนเนอร์และนักโภชนาการ        การจ้างเทรนเนอร์ มีการแยกราคาเทรนออกมาเป็น 2 แบบ         1. แบบส่วนตัว หรือ แบบยืนสอนในยิม (On-field)         แบบส่วนตัว ราคาค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉลี่ยแล้วมีอัตราราคาอยู่ที่ชั่วโมงละ 300-1,200 บาท/ชั่วโมง หรืออาจจะสูงถึง 1,500/1,800/2,000 หากเป็นเทรนเนอร์ต่างชาติตามฟิตเนสหรือเทรนเนอร์เซเลบริตี้          2. แบบออนไลน์ หรือ เทรนออนไลน์ (Online Training)          แบบออนไลน์ ซึ่งอัตราจ้างไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก อยู่ที่เฉลี่ย 1000-2000 /เดือน โดยส่วนมากจะมีโปรโมชั่นราคาเฉลี่ยถูกลง ซึ่งรายละเอียดการเทรนออนไลน์ จะเน้นดูแลอาหารที่ลูกค้ากินและดูแลเรื่องตารางการออกกำลังกาย        การจ้างนักโภชนาการส่วนตัว จะให้บริการในเรื่องโภชนาการเพื่อควบคุมน้ำหนัก โภชนาการเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และโภชนาการสำหรับผู้มีโรคประจำตัว โดยมีอัตราเฉลี่ยราคา 700-3000 บาทต่อเดือน อัตราเฉลี่ยข้อมูลจากเว็บ https://www.bumrungrad.com/th/packages/nutrition-tele-consultation         ลักษณะการให้บริการของเทรนเนอร์และนักโภชนาการที่ดี          คำแนะนำในการเลือกเทรนเนอร์เพื่อการลดน้ำหนักหรือปรับรูปร่าง         1) เลือกคนที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ         ควรรู้เป้าหมายตัวเองก่อนว่าอยากจะออกกำลังกายเพื่อจุดประสงค์อะไรเช่น อยากลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ  ลดน้ำหนัก หากอยากฝึกซ้อมเพื่อวิ่งมาราธอน ควรเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัวที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ         2) เลือกระดับราคาที่เหมาะสม         สาเหตุที่คนไม่อยากใช้บริการเทรนเนอร์เพราะรู้สึกว่ามีราคาที่แพง ดังนั้นควรเลือกในอัตราราคาที่เหมาะสมต่อรายได้ตัวเอง และศึกษาส่วนลด​ โปรโมชั่น เปรียบเทียบราคาเพื่อเกิดความคุ้มค่ากับตัวเองมากที่สุด         3) เลือกที่นิสัยที่ใช่         เทรนเนอร์บางคนมีความรู้ที่มากแต่สื่อสารไม่เก่งเท่าไหร่ ซึ่งแบบนี้ทำให้การออกกำลังกายของคุณไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัว ควรศึกษาลักษณะนิสัย โดยลองสอบถามพูดคุยกับเขา หรือศึกษาข้อมูลจากการรีวิวผ่านลูกค้าคนอื่น ๆ         สุดท้าย ขอเสนอทางเลือกที่จะไม่ขอตารางอาหารการกินเป๊ะๆ จากเทรนเนอร์ เพราะแต่ละคนมีลักษณะร่างกายและปัจจัยที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องกินอะไร หากทำไปโดยไม่เข้าใจ ถึงอาจจะเห็นผลแต่ในผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่กับคุณไม่นาน เนื่องจากขาดความเข้าใจ และคุณไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมด ถึงเทรนเนอร์จัดตารางให้คุณ แต่คุณไม่ชอบ ไม่สอดคล้องกับตัวคุณเอง คุณก็ทำไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นควรตรวจสอบว่าบุคคลนั้นหรือแบรนด์นั้น ๆ ว่ามีใบอนุญาตหรือมีประสบการณ์หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของตัวเราเอง ข้อมูลอ้างอิง        https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/944 เจาะลึก “อาชีพนักกำหนดอาหาร” ในยุคเทรนสุขภาพ นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 242 เดือนกันยายน 2563        https://traindee.co/uncategorized ราคาตลาดของเทรนเนอร์ 30 ตุลาคม 2021        https://hellokhunmor.com เทรนเนอร์ส่วนตัว ควรมีไหม? แล้วเลือกยังไงให้เหมาะสม        https://sorbdd.com        http://www.careercast.com/content/10-least-stressful-jobs-2011-2-dietitian อาชีพ นักโภชนาการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เงินเฟ้อ ปลวกที่กัดกินมูลค่าเงินเป็นอาหาร

        อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องพูดถึงตั้งแต่แรก แต่ก็หลงลืมไปเสียได้ ขออภัยๆ         เราได้ยินคำนี้บ่อยมากจากข่าวเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อๆๆ เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมือนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แล้วถ้าแปลกันแบบเป็นวิชาการสักหน่อย เงินเฟ้อคือภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง         หรือมีเงินอยู่ในระบบมากเกินไป ให้จินตนาการว่าเงินเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง สินค้าที่มีอยู่ในตลาดปริมาณมากๆ ราคาของสินค้านั้นก็จะตกลง ในที่นี้คือมูลค่าของเงินจะตกลง เมื่อมูลค่าของเงินตกลงทำให้ซื้อของได้น้อยลงนั่นเอง         ยังฟังดูยากไปหรือเปล่า? ให้ง่ายขึ้นอีกก็ได้ว่า เงินเฟ้อคือของกิน ของใช้ หรือค่าใช้บริการต่างๆ มีราคาแพงขึ้นนั่นเอง หรือจะเรียกว่ามูลค่าของเงินที่เรามีอยู่ลดลง         เคยได้ยินข่าวหรือเห็นภาพประเทศที่เงินเฟ้อสูงเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ใช่มั้ย คนต้องหอบเงินหลายล้านเป็นปึกๆ เพื่อซื้อน้ำสักขวด ประเทศเยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บวกกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (the great depression) คนเยอรมันต้องเจอกับสภาพประมาณนั้นแหละ         ยกตัวอย่างให้เข้าใจขึ้น นึกถึงสแน็คประเภทมันฝรั่งทอดกรอบในร้านสะดวกซื้อ เมื่อก่อนมีถุงละ 5 บาท ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นถุง 10 บาท แถมเป็น 10 บาทที่มีปริมาณน้อยลงกว่าเดิม เช่นเดียวกับถุงละ 20 บาท หรือข้าวแกงที่เคยจานละ 20 ขยับเป็น 25 30 35 40 จนเดี๋ยวนี้ 50 และมันจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แน่นอน         เงินเฟ้อมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม มากเกินไปก็ไม่ได้ น้อยเกินไปก็ไม่ดี แต่เราจะไม่ไปยุ่งกับเศรษฐกิจมหภาคหรอก เอาแค่ว่ามันเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าเราอย่างไร         ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เงินฝากธนาคารสมัยนั้นสูงมาก 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็มีมาแล้ว แต่ตอนนี้เงินฝากออมทรัพย์เหลือแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือฝาก 100 บาท ได้ดอกเบี้ย 50 สตางค์ หมายความว่าการออมเงินโดยฝากเงินไว้กับธนาคารเช่นในอดีตไม่เพียงพออีกต่อไป ลองนึกดูว่าเงินเฟ้อปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ฝากเงิน 100 บาท ผ่านไป 1 ปี เงินเฟ้อจะกัดกินเงินต้นทำให้มูลค่าเหลือจริงๆ แค่ 97 บาท ทั้งที่ตัวจำนวนเงินเท่าเดิม แต่ได้ดอกเบี้ยมาแค่ 50 สตางค์         แบบนี้เท่ากับยิ่งฝากยิ่งจนลงเรื่อยๆ         จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุน เพื่อทำให้เงินงอกเงยให้มากกว่าที่ถูกเงินเฟ้อกัดกิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในประเทศหรือต่างประเทศ ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น         แต่เดี๋ยวก่อน ที่สาธยายมานี่ไม่ได้หมายความว่าให้โยนเงินทั้งหมดไปไว้ในทรัพย์สินอื่น จนไม่มีเงินสดติดบัญชีเลย ไม่ได้ มันจะเจอความพินาศทางการเงินอีกแบบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ‘กองทุนรวม’ คืออะไรเหรอ?

        เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหรือ mutual fund เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะภาครัฐสนับสนุนให้คนเก็บออมผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF (Long Term Equity Fund) ที่ฮิตกันก็เพราะมันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งถ้าคิดในแง่ความเหลื่อมล้ำ LTF เรียกว่าเป็นตัวดีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างขึ้นไปอีก เอาล่ะ ยังไงกองทุนรวมก็ถือเป็นวิธีการเก็บออมและเพิ่มความมั่งคั่งที่ดีและได้รับการยอมรับ         แต่เป็นไปได้อยู่ที่คนอีกจำนวนมากไม่รู้ว่า กองทุนรวม คืออะไร? ทำงานอย่างไร?         เรามาลองทำความรู้จักกองทุนรวมแบบง่ายๆ คร่าวๆ ที่สุดกัน         แนวคิดของกองทุนรวมนั้นง่ายมาก สมมติว่าคุณมีเพื่อนคนหนึ่งที่เล่นหุ้นเก่งมาก ส่วนคุณไม่รู้เรื่องหุ้นเลยสักกระผีก แต่ก็อยากจะรวยกับเขาบ้าง คุณเลยไปชวนเพื่อนอีกสี่ห้าคน รวมเงินกันเข้า แล้วเอาไปให้เพื่อนคนนี้เล่นหุ้นให้เงินของคุณกับเพื่อนๆ งอกเงยขึ้น แน่นอนว่าคุณยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้เพื่อนคนนี้เป็นค่าความรู้ ค่าการจัดการสะระตะ แลกกับผลตอบแทนที่ได้         กองทุนรวมก็อารมณ์ประมาณนี้แหละ (เดาว่าบางคนอาจทำอยู่ด้วยซ้ำ) เพียงแต่กองทุนรวมมีกฎเกณฑ์ของภาครัฐกำกับอยู่ และคนที่จะมาบริหารเงินให้คุณคือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไม่ใช่ใครที่ไหนไม่รู้ที่พร้อมจะเชิดเงินหนีหายไป ใช่ คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าบริหารจัดการให้กับกองทุนด้วย         แต่กองทุนรวมมีหลายประเภท หลายระดับความเสี่ยง (อันที่จริงแล้ว เรื่องเงินๆ ทองๆ มีความเสี่ยงทั้งนั้น เก็บเงินไว้ที่บ้านก็มีความเสี่ยงจากการถูกขโมยหรือถูกเงินเฟ้อกัดกิน) เสี่ยงต่ำกว่าเพื่อนต้องยกให้กองทุนรวมตลาดเงิน ไล่ขึ้นเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ตราสารทุน (ก็หุ้นนั่นแหละ) จนถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะ เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น         ที่ว่ามานี่ยังแบ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศกับที่ลงทุนในต่างประเทศอีก         หรือจะแบ่งตามแนวทางการลงทุนคือแบบ active กับแบบ passive แบบแรกคือสร้างผลตอบแทนให้ชนะตลาด ยังไงดีล่ะ สมมติว่าตลาดหุ้นปีที่แล้วให้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ กองทุน active จะพยายามทำผลตอบแทนให้ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบบ passive จะสร้างผลตอบแทนให้ได้เท่ากับตลาด         ข้อดีของแบบแรกคือคุณมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าจัดการแพงกว่าแบบหลังซึ่งให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่า แต่จ่ายให้กองทุนถูกกว่า ...ต้องแลกกัน ไม่มีอะไรฟรีหรอก         อ้อ ยังมีกองทุนรวมแบบเน้นประเภทธุรกิจหรือเทรนด์ของโลกด้วย เรียกว่าเป็นกองทุนรวมที่มีธีม (theme) ของตัวเอง เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยี ด้านอี-คอมเมิร์ส ตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยม         มีหนังสือเกี่ยวกับกองทุนรวมมากมายในตลาด ลองหาซื้อมาอ่านกันดู อย่าลืม! การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 “315 กาล่า” เมื่อไชน่าแฉผู้ประกอบการ

        ประเทศจีนถือฤกษ์วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล เป็นวันเปิดโปงพฤติกรรมที่ “ไม่น่ารัก” ของผู้ประกอบการ ผ่านรายการถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ China Central Television (CCTV) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ         สองชั่วโมงเต็มของรายการ “315 กาล่า” เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการลุ้นกันตัวโก่ง หวั่นตัวเองจะโดนแฉออกสื่อ เพราะ CCTV เขาใช้วิธีส่งนักข่าวเข้าไปแฝงตัวเพื่อเก็บหลักฐานการละเมิดสิทธิผู้บริโภค บางรายถึงขั้นเตรียมออกแถลงข่าวขอโทษเอาไว้เลย         ในภาพรวมของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน 980,000 เรื่องในปี 2563 และได้ดำเนินการเรียกร้องเงินคืนให้กับผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7,400 ล้านบาท         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนระบุว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนพอๆ กันระหว่างสินค้าและบริการ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีจำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการหลังการขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่การร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าด้อยคุณภาพลดจำนวนลง ที่ยังมีร้องเรียนเข้ามามากคือ อุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด         รายงานของ CCTV ระบุว่านมผงสำหรับทารกที่ผลิตในประเทศจีนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากผู้บริโภคขาดความมั่นใจและหันไปพึ่งพานมผงนำเข้าอยู่หลายปี         ในรายการ 315 กาล่า ครั้งที่ 39 นี้ อุตสาหกรรมที่โดนเล่นงานหนักที่สุดเห็นจะไม่พ้นบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กเทค” ทั้งหลาย         ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ยังมาแรง เช่น โฆษณาหลอกลวง การใช้ข้อมูลตั้งราคาต่างกันสำหรับลูกค้าต่างกลุ่ม รวมถึงการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าปลอม เป็นต้น         เว็บ UC Browser ของค่ายอาลีบาบา และเว็บ 360 ถูกประณามเพราะไม่รับผิดชอบต่อสุขภาพความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วยการรับโฆษณาจากสถาบันการแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีกรณีไลฟ์สดขายรังนกที่ทำยอดสั่งซื้อได้ถึง 15 ล้านหยวน แต่สิ่งที่ผู้ซื้อได้รับกลับกลายเป็นแค่น้ำเชื่อม!         ทางการจีนยังใช้พื้นที่ในรายการดังกล่าวเปิดตัว “แนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์” ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์ต้องมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น ต้องขออนุญาตจากผู้บริโภคก่อนเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ให้ผู้ขายมีสิทธิเปิดร้านได้หลายแพลตฟอร์ม และเก็บคลิปไลฟ์สดขายของเอาไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 3 ปี         ที่ฮือฮาที่สุดคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าในโชว์รูมของค่ายสุขภัณฑ์ Kohler ค่ายรถยนต์ BMW รวมถึงร้านเสื้อผ้า MaxMara ด้วยการเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้โป๊ะแตกเพราะผู้ให้บริการระบบกล้องวงจรปิด Suzhou Ovopark Network Technology ยอมรับว่าได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมหาศาลในร้านเหล่านี้ และยอมรับอีกว่าบริษัทในฐานะผู้ดูแลระบบ มีข้อมูลของลูกค้าจำนวน “หลายร้อยล้าน” ใบหน้าเลยทีเดียว         ข้อมูลที่ว่านี้สามารถนำไปสร้างโปรไฟล์ลูกค้า เพิ่มข้อมูลส่วนตัว ระบุเพศ อายุ อารมณ์ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดแบบเจาะจงได้         หลังถูกเปิดโปง Suzhou Ovopark Network Technology บอกว่าได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการทำงานของตนเองและจะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ส่วน Kohler ก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาใช้กล้องวงจรปิดเพื่อนับจำนวนลูกค้าเท่านั้น บริษัทไม่ได้เก็บ วิเคราะห์ หรือส่งต่อข้อมูลนั้นให้ใคร แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เราได้รื้อถอนกล้องดังกล่าวออกจากโชว์รูมทั้งหมดตั้งแต่คืนวันที่ 15 มีนาคมแล้ว บริษัทกล่าว         อีกธุรกิจที่ถูกแฉคือ ผู้ให้บริการแอปฯ จัดหางาน Zhaopin.com, Liepin.com, และ 51job.com ที่นำข้อมูลประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครงานไปขาย และยังปล่อยให้รั่วไหลไปยัง “ตลาดมืด” ที่สำคัญคือแต่ละแอปฯ อ้างว่าตัวเองมีบัญชีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน         หลังจบรายการ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถืออย่าง Huawei, Xiaomi, OPPO และ VIVO ได้ถอนแอปฯ ของสามบริษัทนี้ออกจากร้านขายแอปฯ ของตัวเองทันที         ด้านเจ้าของแอปฯ ก็รับปากจะไปตรวจสอบจัดการระบบให้รัดกุมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาดาวน์โหลดเรซูเม่ของผู้ใช้ได้ตามใจชอบ บางเจ้าตั้งทีมขึ้นมาควบคุมดูแลการปรับปรุงโดยเฉพาะด้วย         ค่ายรถยนต์ก็โดนเช่นกัน ผู้ใช้รถหรู Infiniti ของค่ายนิสสัน และผู้ใช้รถหลายรุ่นของ Ford เช่น focus หลายรายพบปัญหาเกี่ยวกับระบบเกียร์ นิสสันถูกแฉในรายการว่าพยายาม “ปิดกั้น” ลูกค้าไม่ให้ร้องเรียน ในขณะที่ฟอร์ดไม่แจ้งเตือนผู้ใช้รถและไม่จัดการซ่อมแซมให้โดยสมัครใจ         แน่นอนว่าบริษัทต้องรีบเสนอทางออกทันทีหลังรายการจบ นิสสันบอกว่าจะปรับปรุงการสื่อสารกับลูกค้า ในขณะที่ฟอร์ดเสนอให้ผู้ใช้นำรถที่มีปัญหาเกียร์เข้ามาซ่อมฟรีได้เลย         อีกเรื่องที่น่าสนใจของ 315 Gala ปีนี้ คือกรณีผู้สื่อข่าวที่แฝงตัวเข้าไปเป็นพนักงานขายเพื่อเก็บข้อมูลของบริษัทขายรถมือสองแห่งหนึ่งที่มีคนร้องเรียนว่าขายรถในราคาแพงเกินจริง กว่าบริษัทจะรู้ตัวว่ามี “สปาย” ผู้สื่อข่าวคนนี้ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นถึงรองผู้อำนวยการที่เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารคนอื่นๆ เป็นประจำ และมีลูกน้องในสังกัดไม่ต่ำกว่า 10 คน         เจ้าตัวบอกว่าตอนแรกที่เป็นพนักงานขาย เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล “อินไซด์” ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปิดโปงได้ เขาจึงพยายามทำยอดขายให้ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่ง ที่สำคัญคือเงินเดือนในตำแหน่งใหม่นี้สูงกว่าที่สถานีโทรทัศน์ CCTV จ่ายให้เขาเกือบสามเท่า หัวหน้างานที่สถานีฯ จึงหมั่นโทรหาเขาทุกวัน เพราะกลัวลูกน้องจะแปรพักต์ไปอยู่กับบริษัทขายรถมือสอง            สามารถดูคลิปวิดีโอรายการได้ที่ www.315.cctv.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “ฮาวทูทิ้ง?”

        คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพยายามแยกขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับขวด กล่อง หรือกระป๋องเปล่าพวกนั้นอย่างไร สัญลักษณ์ที่แต่ละเจ้าใช้ก็ไม่เหมือนกัน คิดมากก็เพลียจิต คุณเลยทำเท่าที่ทำได้... แล้วก็ทำใจ         ใจเย็นๆ คนทั้งโลกก็พบกับปัญหาเดียวกัน         เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International), และ One Planet Network จึงได้สำรวจและจัดทำรายงาน “CAN I RECYCLE THIS?” A global mapping and assessment of standards, labels, and claims on plastic packaging เพื่อทำแผนผังและประเมิน “ตรามาตรฐาน” “โลโก” รวมถึง “คำกล่าวอ้าง” ของผู้ผลิตบนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ว่าด้วยวัสดุที่ใช้ กระบวนการผลิต ความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล และการทิ้งอย่างถูกต้อง        (อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.consumersinternational.org/media/352255/canirecyclethis-finalreport.pdf)         การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญใน 33 ประเทศ และสำรวจ “โลโก” และ “คำกล่าวอ้าง” บนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใน 22 ภาษาจากเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการลงพื้นที่ในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเคนยา ทำให้พบประเด็นปัญหาและเกิดข้อเสนอแนะที่สำคัญ 5 ประการ ในการสื่อสารเรื่องพลาสติกกับผู้บริโภค ดังนี้        ·      การศึกษาครั้งนี้พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก ปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายในการสื่อสารด้วยโลโกบนฉลากและคำกล่าวอ้างบนบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับความน่าเชื่อถือ ความชัดเจนโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการที่ผู้ผลิตให้ข้อมูลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้จึงเสนอให้ภาคธุรกิจใช้ “แนวปฏิบัติว่าด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์” ที่ตีพิมพ์โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) ในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกกับผู้บริโภค        ·      สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการศึกษาครั้งนี้คือ บรรดาฉลากและคำกล่าวอ้างล้วนสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค จึงควรมีการกำหนด “ความหมาย” ให้ตรงกัน เช่น สัดส่วนปริมาณพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือการทิ้งที่ถูกต้อง เพื่อที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกจะได้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน        ·      มาตรฐานอ้างอิง โลโก และคำกล่าวอ้าง ต้องสะท้อนสภาพตามความเป็นจริงมากขึ้น คำจำกัดความ และข้อกำหนดทางเทคนิคที่ใช้ในมาตรฐานเกี่ยวกับระดับความสามารถในการถูกรีไซเคิล การย่อยสลาย ไม่ว่าจะโดยตัวของมันเองหรือจากฝีมือของจุลินทรีย์ในดิน ควรเป็นสิ่งที่สามารถวัดประเมินได้และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายด้วย         ·    การใช้สัญลักษณ์ “ลูกศรวิ่งไล่กัน” ควรถูกจำกัดไว้สำหรับการแสดงว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้เท่านั้น งานสำรวจพบว่าปัจจุบันมีการนำสัญลักษณ์ดังกล่าวไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ทำให้ผู้บริโภคสับสน นำไปสู่การคัดแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง และกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงควรเลิกใช้สัญลักษณ์นี้ในตราสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด        ·      ควรมีการนำโลโกรีไซเคิลที่ผ่านการออกแบบอย่างดีและให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคมาใช้ โลโกที่ดีสามารถส่งเสริมพฤติกรรมการทิ้งขยะอย่างรับผิดชอบของผู้บริโภคได้ แน่นอนว่าภาคธุรกิจควรใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าแสดงโลโกที่เข้าใจง่ายด้วย ด้านองค์กรกำกับดูแลควรออกกฎระเบียบให้ชัดเจนเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคใช้และ “ทิ้ง” บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลไว้รองรับด้วย                 ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่เราร่วมกันสร้างและต้องร่วมกันแก้ แม้ในปัจจุบันภาคธุรกิจและภาครัฐจะให้ความสนใจกับการจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายในการทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล         สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำอย่างเร่งด่วนคือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่วัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างพลาสติกจะได้รับการคงคุณค่าทางเศรษฐกิจไว้ในนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะถูกลดชั้นไปเป็น “ขยะ” และเป็นส่วนหนึ่งของ “ขยะพลาสติก” ที่รั่วไหลลงสู่ทะเลประมาณปีละ 8 ล้านตัน และทำให้เกิดไมโครพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ชายฝั่ง         ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่มักถูกมองข้ามคือผู้บริโภค สินค้าที่เราเลือกซื้อและวิธีการ “ทิ้ง” ของเรามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิตสินค้าและการรั่วไหลของพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อม หากเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย ไม่สับสน เราจะเป็นกำลังสำคัญในขบวนการกู้โลกได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

        ออกตัวกันก่อนว่าไม่ใช่การชี้ชวนให้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมตัวไหน แหม่ จะเอาความรู้ที่ไหนมาบอกได้ แล้วถ้ารู้ว่าตัวไหนจะขึ้น ผู้เขียนซื้อไว้เองไม่ดีกว่าเหรอ เรื่องแบบนี้ต้องเรียนรู้เอง เจ็บเอง         ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือเพิ่งได้ฟังเสวนาวิเคราะห์ทิศทางหุ้นโลก หุ้นไทย และการทำ DCA (เรื่องนี้ต้องพูดแน่ๆ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้) ของบริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาบางประเด็นน่าสนใจทีเดียว มันเกี่ยวข้องทั้งกับใครที่อยากลงทุนหุ้นและอาการบิดๆ เบี้ยวๆ ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย         เรื่องคือนักวิเคราะห์คนหนึ่งพูดถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศ เพราะมีหลายตัว หลายกองน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกาะกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เช่น สังคมสูงวัย อุตสาหกรรมดิจิทัลหรือเทคโนโลยีล้ำอย่างหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เป็นต้น เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหลายกองมีธีมการลงทุนเฉพาะ เช่น กองที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มอี-คอมเมิร์ส กองที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ให้เราเลือกเกาะเทรนด์การเติบโต          แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?        นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหุ้นไทยเราแทบจะไม่เจอหุ้นที่เกาะเมกะเทรนด์ของโลกเลย แย่กว่านั้นหุ้นจำนวนหนึ่งก็เป็นธุรกิจผูกขาด ธนาคารเป็นตัวอย่างหนึ่ง นี่แหละประเด็นใหญ่         ลองถามนักเศรษฐศาสตร์ เกือบร้อยทั้งร้อยแหละไม่เห็นด้วยกับการผูกขาด มันส่งผลร้ายมากกว่าดี และผลร้ายที่ว่ามันตกอยู่กับประเทศ นักลงทุน จนถึงผู้บริโภคอย่างเรา          ทำไมเราจึงไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำวิจัยและพัฒนา ปรับตัวเพื่อเกาะเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งที่ได้ประโยชน์เห็นๆ แต่ถ้าเป็นคุณจะเสียเงินมากมายทำไมกับผลในระยะยาวที่ไม่แน่ใจว่าจะประสบผลสำเร็จ ในเมื่อธุรกิจของคุณผูกขาดไปแล้ว ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ซื้อหรือใช้บริการของคุณก็ไม่มีเจ้าอื่นอีกแล้ว คุณแค่นั่งเก็บกินผลประโยชน์จากการผูกขาดก็พอ         การผูกขาดยังทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน สมมติว่าในอุตสาหกรรมหนึ่งมีบริษัทใหญ่เพียง 2 บริษัท พวกเขาคงแข่งกันแย่งลูกค้าแหละ แต่ไม่มีนัยสำคัญพอที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น แล้วถ้า 2 บริษัทฮั้วกันอีก ความซวยก็ยิ่งเกิดกับผู้บริโภค จะต่างกันลิบถ้ามีคู่แข่งเป็นสิบๆ ในตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย บริษัทไหนอ่อนแอก็แพ้ไป          นักลงทุนจึงพลอยได้รับผลกระทบจากการผูกขาดไปด้วย มีตัวเลือกในการลงทุนไม่มาก ไม่มีบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ การเติบโตในอนาคตของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยั่งยืน อย่าคิดว่ากำเงินสดไว้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมอย่างเดียวเป็นพอ         โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง”

        “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง” คำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา ตำนานที่มีชีวิตของนักลงทุนสายคุณค่า (value investment) ซึ่งเคยพูดถึงมาแล้ว         ที่ยกประโยคนี้มาพูดถึงอีกรอบเพราะเป็นหัวใจสำคัญของการออมและการลงทุน (หรืออันที่จริงก็น่าจะเกือบทุกเรื่องนั่นแหละ) ผู้เขียนมักเจอคำถามเดิมๆ จากคนใกล้ตัวว่า “ซื้อหุ้นตัวไหนดี?” “ซื้อหุ้นตัวนี้ดีไหม?” “กองทุนนี้น่าลงทุนหรือเปล่า?” คำตอบที่ให้ก็จะเหมือนเดิมทุกครั้งคือ         “ไม่รู้”         ก็ไม่รู้จริงๆ แล้วจะให้ตอบว่ายังไงล่ะ ผู้เขียนเองก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีความรู้มากมาย ทุกวันนี้ยังต้องอ่าน ต้องฟังเสวนาเติมความรู้ตลอด แล้วจะรู้เหรอว่าหุ้นหรือกองทุนตัวไหนน่าลงทุน แล้วถ้าบอกชื่อไป ซื้อตาม เกิดขาดทุนขึ้นมาจะตามกลับมาด่าไหม         ดังนั้น “การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง” จึงเป็นหัวใจหรือรากฐานของการจัดการการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน อ่านให้มาก ฟังให้เยอะ คิดตาม ใคร่ครวญ อย่าเพิ่งเชื่อ นำสิ่งที่รู้มาทดลองปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ มีนักลงทุนบางคนพูดว่า คุณไม่ต้องรู้ทั้งหมด 100% แต่จงทำ 100% ในสิ่งที่รู้ หมายความว่าจงทำอย่างเต็มที่ อย่างตั้งใจจากสิ่งที่คุณเรียนรู้มา เพราะโลกนี้ไม่มีรู้ได้หมด 100% หรอก ถ้ามัวรอรู้ทั้งหมดคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี         ต้องบอกด้วยว่าการหาความรู้เรื่องการลงทุนในยุคนี้ง่ายและสะดวกกว่าเมื่อก่อนมากๆ มีเว็บไซต์ มีเพจ มียูทูบล้นเหลือให้เรียนรู้ หรือจะเข้าไปที่ www.set.or.th เป็นเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่รวบรวมความรู้ไว้เพียบ         การลงทุนกับตัวเองจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีที่สุด         เพราะถ้าเอาแต่ถามหาหุ้นดีก็ไม่ต่างจากการยืมจมูกคนอื่นหายใจ กลายเป็นแมงเม่าติดดอยกับคำพูดติดปากว่า “รู้งี้...”         บางครั้งคำพูดนี้ก็กินความไปถึงการเก็บออมทันทีหลังจากรับรายได้มา ที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่ายด้วย เพราะเป็นการทำเพื่อตัวเองก่อนและประกันว่าเราจะเก็บออมทุกเดือน สูตรเดิมๆ ที่ว่าใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยเก็บเป็นสูตรที่เชยและตกรุ่นไปแล้ว         การลงทุนในตัวเองยังหมายถึงการรู้จักตัวเองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง

อ่านเพิ่มเติม >