ฉบับที่ 270 โทรศัพท์ที่บ้าน...เงียบเกินไปไหม!!!???

        โทรศัพท์บ้าน หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “โทรศัพท์ประจำที่” หรือ “โทรศัพท์พื้นฐาน” ทุกวันนี้มีการใช้บริการลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ         สำหรับคนที่ยังเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้าน การใช้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการโทรออก บางคนแทบไม่เคยใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการโทรไปหาผู้อื่นเลย ใช้ก็เพียงการรับสายที่โทรเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนับวันเสียงเรียกเข้าก็น้อยลงและห่างหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน         ด้วยสภาพดังกล่าวที่เป็นแนวโน้มปกตินี้เอง ถึงแม้โทรศัพท์บ้านจะยังคงตั้งอยู่ตรงที่เดิมของมัน และทุกเดือนๆ ผู้ใช้บริการก็จ่ายสิ่งที่เรียกว่า “ค่ารักษาเลขหมาย” จำนวน 100 บาท รวม vat เป็น 107 บาท แต่ผู้ใช้จำนวนมากอาจแทบไม่เคยยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ เดือน และอาจไม่ทันเอะใจกับความเงียบอันเป็นปกติของ “โทรศัพท์บ้าน” ของตนเอง โดยคิดไปว่าคงเพราะไม่มีใครติดต่อมาทางช่องทางดังกล่าวนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม จากเรื่องร้องเรียนต่อไปนี้ อาจทำให้คนที่ยังมีโทรศัพท์บ้านอยู่ จำเป็นต้องคิดใหม่และทำใหม่         เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้โทรศัพท์บ้านคนหนึ่งได้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ระบุปัญหาว่า โทรศัพท์บ้านที่บ้านแม่ของเธอใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นเคยแจ้งเหตุไปยังบริษัททีโอทีบริษัทตรวจสอบแล้วแจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสายภายในบ้าน จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เงียบหายกันไป         ผู้ร้องเรียนบอกเล่าว่า จนกระทั่งกลางปี 2565 แม่ของผู้ร้องเรียนได้บ่นว่าเมื่อไรจะจัดการเรื่องโทรศัพท์บ้าน มีปัญหาผ่านมานานหลายปีแล้ว เธอจึงทดสอบดูด้วยการโทรเข้าเบอร์บ้านแม่ ผลพบว่าสองครั้งแรกมีเสียงอัตโนมัติตอบกลับว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่ครั้งหลังพบว่ามีเสียงสัญญาณเรียกดังในหูผู้โทร แต่ไม่ดังที่เครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด         นั่นทำให้เธอร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) แล้ว จากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท (CAT) คราวนี้ได้รับการชี้แจงจากช่างของบริษัทฯ ว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงทำให้สายโทรศัพท์ภายนอกชำรุดเสียหาย         ต่อมาผู้ร้องเรียนตัดสินใจพาแม่ไปดำเนินการขอยกเลิกการใช้บริการโทรศัพท์บ้านไปเลย พร้อมกับเรียกร้องขอเงินที่จ่ายไปเดือนละ 107 บาทคืนด้วย โดยระบุว่าขอคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 ที่เคยมีการร้องเรียนปัญหาครั้งแรก แต่บริษัทฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้         หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อกลับหาผู้ร้องเรียน แจ้งว่าได้พบสาเหตุของปัญหาคือ เคเบิลปลายทางขาดจากการถูกลักลอบตัดสายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565!!!         กลายเป็นว่า จากเรื่องที่เริ่มด้วยการแจ้งเหตุเสียของผู้บริโภค บทลงเอยกลายเป็นเรื่องบริษัทฯ ถูกลักทรัพย์                 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์เพื่อนำทองแดงไปขาย หรือแม้แต่สายเคเบิลอื่นๆ เช่นสายไฟฟ้า สายรถไฟฟ้า เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างต้องปวดหัวและสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล         ยกตัวอย่าง บริษัททีโอทีเคยให้ข่าวว่า ผลจากการขโมยตัดสายเคเบิลในปี 2557 เพียงปีเดียว สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 20 นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและกระทบการสื่อสารในวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าสายที่ถูกขโมยเป็นสายเคเบิลขนาดใหญ่         แม้แต่ในปี 2566 นี้ ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลชนิดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นเป็นระยะ         แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นหลัก ส่วนผู้บริโภค แม้ว่าโดยทั่วไปอาจถือว่าไม่เดือดร้อน เนื่องจากดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ในระยะหลังโทรศัพท์บ้านก็ดูจะอยู่อย่างเงียบๆ มาจนเป็นปกติไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีความเสียหายจากการต้องจ่ายเงินให้แก่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้...อย่างไม่รู้ตัว         ทั้งนี้ สำหรับกรณีของผู้ร้องเรียน ในที่สุดบริษัทได้เสนอ “ปรับลดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์” ของรอบปี 2565 ให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ร้องเรียนมิได้พึงพอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว และตั้งประเด็นที่น่ารับฟังไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่แจ้งผู้ใช้บริการ แต่กลับ “ตีเนียน” เก็บค่าบริการเรื่อยมาเดือนแล้วเดือนเล่า         เนื่องจากสถานการณ์จริงเป็นเช่นนั้นแล ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าโทรศัพท์บ้านของใครไม่ส่งเสียงบ้างเลย ก็อาจต้องลองยกหูขึ้นฟังว่ายังมีสัญญาณอยู่หรือไม่ เพราะโทรศัพท์บ้านของท่านอาจกลายเป็น “บริการไร้สาย” ไปเสียแล้ว โดยไร้สายมาตั้งแต่ต้นทาง...จากนอกบ้าน...นั่นทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่269 หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการ คือ การที่เราเมื่อมีอาชีพ มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษี และส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ตามสัดส่วนของรายได้ โดยเงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงิน ในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้าง ก็สามารถได้รับเงินทดแทนจนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพ เราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน         เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าซึ่งรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น          ปัจจุบันมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่อง หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes)         ในประเด็นและแนวคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขที่ผมได้เคยนำเสนอในวารสารฉลาดซื้อ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้วนั้น เป็นรายงานและข้อสรุปการศึกษาและดำเนินการของ สมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น ของประเทศเยอรมนี โดยได้พูดถึงประเด็นว่า หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) คืออะไร         โครงการของสมาคมนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงปัจจุบัน ทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน และมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับรายได้แบบไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น 1514 คนโดยได้รับเงินประจำเดือน 1000 ยูโรเป็นเวลานาน 1 ปี         บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้         1 ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงิน แต่เป็นประเด็นของความเป็นอิสระทางการเงินระดับหนึ่งของคนที่ได้รับเงินรายได้แบบไม่มีเงื่อนไข การที่ได้รับเงินหมายถึง คุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการเงินส่วนตัวของคุณไม่ว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคไปลงทุน เก็บออมไว้หรือนำไปบริจาคให้คนอื่น การได้รับความไว้วางใจนำไปสู่การเกิดความเชื่อมั่นในตนเองซึ่งเงินที่ได้รับหรือที่สมาคมให้ไปนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง         2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษา มาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์หรือมีอาชีพอิสระ เริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ         สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้วและได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้ พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย (ข้อสรุปเดิมของปี 2023)         3 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนที่ได้รับโอกาสมีอำนาจในการต่อรองกับหัวหน้างานของที่ทำงานเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ มีหลายคนคิดที่จะเปลี่ยนงานแต่เมื่อได้รับโอกาสหลักประกันทางรายได้ก็ยังคงเลือกที่จะทำงานที่เดิมต่อไป ภายใต้อำนาจต่อรองและจิตวิญญาณของการทำงานแบบใหม่ กรณีที่เปลี่ยนที่ทำงานพบว่า ก็ใช้โอกาสนี้ในการเรียนต่อหรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการทำงานในที่ทำงานหรือตำแหน่งใหม่ ไม่มีประเด็นเรื่องความขี้เกียจหรือเกี่ยงการทำงาน         4 ลดความเครียดจากการทำงานลง เมื่อมนุษย์ทำงานภายใต้เงื่อนไขการกดดัน มีความเครียดสะสมทำให้คนเราอยู่ในโหมดการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคนรอบข้าง การหลบหลีก การหนีปัญหา หรือการแกล้งตาย ซึ่งเป็นโหมดของคนทำงานเพียงเพื่อขายผ้าเอาหน้ารอดแต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง         5 การมีหลักประกันทางรายได้ ทำให้คนมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นโดยเฉพาะในสังคมของประเทศเยอรมนีที่ 50% ของคนทำงานมีโอกาสเกิดอาการ Burn out และมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากโครงการนี้ว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลหายขาดจากโรค ภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหารซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการกดดันในที่ทำงาน         6 การมีหลักประกันทางรายได้ทำให้คนบริโภคน้อยลง แต่บริโภคอย่างมีสติซึ่งอาหารที่ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้รับประทานเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มชีววิถี (Bio) และเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่         ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ว่าจะมีแนวความคิดทางการเมืองใด เป็นคนเจนไหน ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่เงินแต่เป็นประเด็นของเสรีภาพและศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นในจิตใจ         สำหรับกรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา ซึ่งในเบื้องต้นเสนอว่าการลองใช้การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดสรรรางวัล แบบไม่ให้เงินก้อนโต แต่จัดสรรเงินรางวัลแบบการประกันรายได้โดยไม่มีเงื่อนไข เป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้คนเราเกิดความโลภและใช้การเสี่ยงโชคในการที่จะยกสถานะของตัวเองจากหลายๆ กรณีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเงินไม่สามารถทำให้คนสามารถรักษาความมั่งคั่ง หรือความมั่นคงไว้ได้ยืนยาว ....................................แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 อย่าเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง ใช้เวลาสั้น ไม่มีในโลก

        เขียนมาตั้งหลายสิบตอนเพิ่งจะนึกได้ว่าไม่เคยพูดถึงวิธีสังเกตและป้องกันตัวเองจากพวกมิจฉาชีพที่หลอกให้ลงทุนนั่นนี่เลย ตอนนี้เลยต้องขอพูดถึงซะหน่อยเพราะมีเยอะจริงๆ แถมมีสักพักใหญ่แล้วด้วย        จำได้ไหม? เคยบอกว่าเมื่อไหร่ที่ผู้เสนอให้ลงทุนบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเยอะๆ ต่อเดือน เช่น ร้อยละ 5 บางที่ให้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 30 ต่อเดือน เจอตัวเลขแบบนี้ให้เอะใจก่อนเลยว่ามิจฉาชีพแน่ๆ เพราะนักลงทุนเก่งๆ ก็ยังทำผลตอบแทนไม่ได้ขนาดนี้เลย         ตามหน้าเฟสบุ๊คเรามักจะเห็นมิจฉาชีพนำรูปวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งอมตะ คอร์ปเปอเรชั่นมาใช้บ่อยๆ (ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ประเทศไทยมีนักธุรกิจใหญ่ๆ ตั้งมากมาย) แล้วหลอกล่อว่าคุณกำลังจะมีโอกาสลงทุนกับบริษัทมหาชนอย่างอมตะ แถมได้ผลตอบแทนต่อเดือนสูง ใช้สามัญสำนึกพื้นฐาน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอย่างวิกรมจะมาถ่ายรูปแปะบนป้ายเชิญชวนคนมาลงทุน อยากลงทุนกับอมตะก็ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิ         สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เคยบอกข้อควรระวังไว้ 5 ข้อ ถ้าเจอแบบนี้ให้ถอยห่าง อย่าไปยุ่ง        1.เพจที่บอกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ แต่ใช้เงินไม่มาก (เป็นไปไม่ได้)        2.การันตีผลตอบแทนว่าได้แน่ๆ (กองทุนรวมระดับโลกยังไม่กล้าการันตีเลย)        3.อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง (ทำไมไม่อ้างวอร์เรน บัฟเฟตต์ไปเลย)        4.ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ (ก็มันไม่มีอยู่จริง จะตรวจสอบได้ยังไง)5.รีบให้ตัดสินใจลงทุน (มุขเดิมๆ ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส)นอกจากนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) ยังเคยเตือนด้วย ซึ่งบางส่วนคาบเกี่ยวกับการหลอกให้ลงทุน เพราะฉะนั้นอย่าทำ        1. คิดว่าไม่เป็นอะไร มักจะมีคนคิดว่า “ลองดูสักหน่อย เงินแค่สามสี่พัน ไม่น่าจะมีอะไร เจ็บตัวไม่มาก เผื่อฟลุ้ค” คนที่คิดแบบนี้มักเป็นคนแรกๆ ที่ถูกหลอก         2. ชอบคุยกับเพื่อนใหม่ เป็นคนอัธยาศัยดีก็ดีอยู่ แต่ก็ต้องระมัดระวังและเอะใจเสมอเมื่อไหร่ที่เพื่อนใหม่เริ่มพูดเรื่องเงิน        3. ชอบสินค้าราคาถูก อันนี้ก็คล้ายๆ กับชอบการลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนเยอะๆ นั่นแหละ        4. ชอบเสี่ยงโชค เพราะเห็นตอบแทนสูงๆ ก็อยากเสี่ยง สุดท้ายก็ตกไปในวังวนแชร์ลูกโซ่                 5. ชอบช่วยเหลือ คนประเภทนี้น่าสงสารที่สุด ทั้งที่มีจิตใจชอบช่วยเหลือ เห็นคนลำบากก็อยากช่วย แต่ก่อนจะช่วยฉุกใจคิดสักหน่อย เพราะบางทีอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาหรือแม้กระทั่งสร้างเฟสปลอมของเพื่อนเรา ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญจำไว้ว่าการลงทุนน้อยๆ ได้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ ไม่มีในโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 เบอร์เราที่คนอื่นเปิดให้ ทางแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน?!?

        การถูกสวมรอยหรือถูกแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์มือถือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในระยะหลังนี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนว่าปัญหามีการขยายตัวหนักขึ้น ในขณะเดียวกับที่ความตระหนักต่อภยันตรายที่จะติดตามมาก็มากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล ภาระค่าบริการ และที่สำคัญที่สุดคือ การที่เบอร์มือถือที่ถูกแอบเปิดดังกล่าวอาจพาให้เข้าไปพัวพันกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือการก่ออาชญากรรม         ปัญหาดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยคนที่ตกเป็นเหยื่อนั้นมักไม่รู้ตัว         อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็มีเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ว่ามีเบอร์ที่ลงทะเบียนไว้ในชื่อของตนเท่าไรและเป็นเบอร์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันของค่ายมือถือ หรือ “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น” ของ กสทช. โดยสำหรับแอปฯ ของแต่ละค่ายจะมีข้อจำกัดว่าตรวจสอบได้เฉพาะเบอร์ที่เปิดกับแต่ละค่าย แต่ “แอปฯ 3 ชั้น” นั้นจะตรวจสอบได้ครบทุกค่าย         ยิ่งกว่านั้น นอกจากใช้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว “แอปฯ 3 ชั้น” ยังสามารถแจ้งปัญหา ทั้งในแง่ของเบอร์ที่เกินมาและที่ขาดไป ตลอดจนใช้เพื่อล็อกป้องกันการถูกบุคคลอื่นนำบัตรประชาชนของเราไปแอบอ้างเปิดเบอร์ใหม่ได้ด้วย ส่วนเมื่อไรที่ต้องการเปิดเบอร์ใหม่ก็สามารถปลดล็อกเองได้เช่นเดียวกัน         ถึงแม้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่อาจช่วยป้องกันมิให้เกิดการลักลอบเปิดเบอร์ตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็ช่วยให้ตามทันปัญหา ซึ่งยิ่งไวเท่าไรก็ยิ่งลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสะสางให้ปัญหายุติลงได้ ดีกว่าที่จะรอให้เกิดผลกระทบขึ้นแล้วจึงค่อยรู้ตัว ซึ่งที่ผ่านมา บางรายก็รู้ต่อเมื่อถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือบางกรณีอาจเลวร้ายกว่านั้น         แท้ที่จริง เรื่องนี้ยังมีมาตรการอีกส่วนหนึ่งที่ถ้าทำได้ดีจะส่งผลในเชิงป้องกันได้มากกว่า นั่นคือ การยกระดับคุณภาพและความรัดกุมของการรับลงทะเบียน ซึ่งหน้าที่ในเรื่องนี้เป็นของผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือต่างๆ นั่นเอง โดยที่ กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของเอกชนอีกทอดหนึ่ง         กสทช. ได้ออกประกาศเรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 ในประกาศนี้กำหนดอย่างชัดเจนว่า ผู้ให้บริการต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดให้บริการ ซึ่งก็คือศูนย์ให้บริการหรือสำนักงานบริการลูกค้าที่จัดตั้งขึ้น โดยในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่จุดให้ลงทะเบียนต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         นอกจากนั้น ประกาศยังกำหนดเรื่องการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ รวมทั้งกำหนดว่า บริษัทผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบ หากมีเหตุอันมิชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมอันเกิดจากการดำเนินการของจุดให้บริการ เสมือนเป็นผู้ดำเนินการเองทุกกรณี เว้นแต่สามารถพิสูจน์ให้สำนักงาน กสทช. เห็นได้ว่า ผู้ให้บริการมีมาตรการและดำเนินการตรวจสอบการกระทำของจุดให้บริการนั้น รวมถึงมีการกำกับดูแลจุดให้บริการโดยรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมแล้ว        ตามกติกาเช่นนี้ หากในทางปฏิบัติจริงทำตามได้อย่างไม่บิดพลิ้ว เรื่องการสวมรอยหรือแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนของคนอื่นลงทะเบียนเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไปย่อมไม่ควรจะเกิดขึ้นได้ หากจะเกิดขึ้นก็เพียงในกรณีที่ว่า ผู้แอบอ้างได้บัตรประชาชนฉบับจริงของผู้นั้นไป และมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเจ้าของบัตรด้วย         แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะบ่งชี้ว่า ด่านการลงทะเบียนมีมาตรฐานห่างไกลจากคำว่า “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” อย่างมาก สะท้อนต่อเนื่องว่า กติกาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และการกำกับกติกาไม่มีประสิทธิผล         ทั้งนี้พบว่า ในกรณีที่มีการร้องเรียนปัญหานี้เข้าสู่สำนักงาน กสทช. ที่ผ่านๆ มา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ให้บริการจะดูแลปิดเบอร์ให้ กรณีมีค่าบริการก็ยกเว้นการเรียกเก็บ แต่สำหรับการสืบสาวถึงสาเหตุหรือความรับผิดชอบอื่นใด ผู้ให้บริการมักไม่เปิดเผยและไม่แสดงความรับผิดชอบ ขณะที่สำนักงาน กสทช. ก็ไม่ติดใจ         สำหรับมาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ที่ กสทช. กำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ นั่นคือจำกัดให้แต่ละคนถือครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือคนละไม่เกิน 5 เบอร์         แม้ว่ามาตรการนี้อาจช่วยปิดช่องมิให้มิจฉาชีพดำเนินการเปิดเบอร์มือถือจำนวนมากและก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ แต่อาจช่วยไม่ได้มากนักในเรื่องการแอบอ้างหรือสวมรอยเปิดเบอร์ ช่วยได้ก็เพียงลดปริมาณเบอร์ที่แต่ละคนจะถูกสวมรอยเท่านั้น         ปราการสำคัญแท้จริงของเรื่องนี้จึงยังคงอยู่ที่ขั้นตอนการลงทะเบียน ที่จะต้อง “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” ให้ได้จริงๆ ซึ่งถ้าหากผู้ให้บริการยังคงทำหน้าที่ส่วนนี้ให้ดีไม่ได้ กสทช. ก็ควรต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้น ส่วนว่า ถ้าหาก กสทช. เองก็ทำหน้าที่ให้ดีไม่ได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่า ประชาชนก็ย่อมมีทางเลือกเพียงเฝ้าระวังและติดตามปัญหาด้วยตนเองเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 เบอร์ที่ “มิจ” ใช้ ใครเป็นคนเปิด?

        เมื่อไม่กี่วันก่อน คนใกล้ชิดได้รับสายจาก “มิจ” รายหนึ่ง อ้างว่าโทรมาจาก กสทช. ข่าวสารที่นำพามาให้ก็คือ “เบอร์ของท่านกำลังจะถูกปิด” โดยมีเรื่องราวประกอบประมาณว่า ทาง กสทช. ได้ตรวจพบว่าท่านมีการเปิดเลขหมายไว้มากกว่า 1 เลขหมาย ซึ่ง กสทช. ไม่อนุญาต         เราฟังแบบจับความจากทางฝ่ายรับโทรศัพท์ เพียงรับรู้ว่าโทรมาจาก กสทช. ก็ตะโกนออกมาแล้วว่า “หลอกลวงๆ” ตอนนั้นยังไม่ทันรู้ว่ามีการผูกประเด็นอะไร อย่างไร         สิ่งที่ตลกมากคือ มิจรายนี้ท่าทางจะเป็นคนที่แสนอ่อนไหว พอเขาได้ยินข้อความที่เราตะโกนก็ผละจากการ “เล่าความเท็จ” มาเล่นบทหาเรื่องทันที ขึ้นเสียงดังจนลอดออกมาให้เราได้ยินว่า “ใครหลอกลวง หลอกยังไง บลาๆๆ”เสียดายที่มิจเล่นบทโมโหเสร็จก็วางสายไป ไม่เปิดให้เราได้มีโอกาสบอกว่า มิจจ๋า การบ้านที่ทำมาจนรู้ว่าเหยื่อรายนี้ถือครองสองเบอร์นั้นยังไม่พอ ต้องไปศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องมาใหม่นะ เปิดเกิน 1 เบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใดทั้งนี้ ตลอดยุคสมัยนับแต่มีบริการโทรคมนาคมจนถึงปัจจุบัน รัฐและ กสทช. ไม่เคยมีกติกาจำกัดจำนวนการถือครองเบอร์ของผู้บริโภคเลยอย่าว่าแต่แค่ 2 เบอร์ ในความเป็นจริงมีคนมากมายที่เปิดเบอร์นับสิบนับร้อยเบอร์กันเลยทีเดียว         ดังนั้นอยากบอกว่า มิจจะมาใช้จิตวิทยาเล่นกับความหวงเบอร์และความกลัวการสูญเสียโดยที่มีความรู้ไม่แน่น มันไม่ work และไม่มืออาชีพเลยนะ ดังนั้นถ้าเผอิญมาเจอคนที่มีความรู้และข้อมูลเยอะกว่าก็ต้องอดทน-อดกลั้นหน่อย ไม่ใช่มาโกรธใส่         จบเรื่องมิจ มาเข้าเรื่องกติกา กสทช. เกี่ยวกับกติกาการจำกัดจำนวนเบอร์         เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ค่ายมือถือเริ่มจริงจังที่จะสื่อสารว่า ถ้าจะเปิดเบอร์ให้ทำได้คนละ 5 เบอร์เท่านั้น โดยมีการอ้างว่าเป็นประกาศของ กสทช.        แต่แท้จริงแล้ว แนวทางการกำกับของ กสทช. ในเรื่องนี้เป็นไปในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือมีการกำหนดว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือค่ายมือถือทุกรายมีหน้าที่ต้องควบคุมจำนวนการลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน สำหรับบุคคลธรรมดา จำนวนไม่เกิน 5 เลขหมายต่อคน         กติกานี้เกิดขึ้นในฐานะมติ กสทช. จากการประชุมครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เหตุเนื่องจากในขณะนั้นเริ่มเกิดปัญหาการระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (พวกพี่มิจนั่นแหละ) และจากการตรวจจับพบกรณีมีคนที่ลงทะเบียนครอบครองเบอร์มือถือคนเดียว 300,000 หมายเลข! ซึ่งจำนวนมากขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน         ที่เด็ดกว่านั้นคือ พบกรณีมีผู้ถือครองเบอร์มือถือในชื่อของนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วย ...ใช่แล้ว คนที่กำลังรักษาการอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ         ในมุมมองของ กสทช. เหตุการณ์เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า กระบวนการลงทะเบียนซิม (เปิดเบอร์) มีความไร้ระบบ หละหลวม จนก่อให้เกิดช่องโหว่ที่ใหญ่มากซึ่งสามารถเป็นต้นตอก่อปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ตามมา ดังนั้นจึงต้องวางมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพของการลงทะเบียนเปิดเบอร์ ตลอดจนมีการควบคุมในเรื่องนี้         มาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น แต่แทนที่จะใช้วิธีจำกัดการถือครองเบอร์ของปัจเจกแต่ละราย ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภค และยากที่จะหาจำนวนเหมาะสมที่กำหนดแล้วไม่ส่งผลรบกวนการใช้งานตามปกติและการใช้งานโดยสุจริต เพราะบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เลขหมายเป็นจำนวนมากในการประกอบกิจการหรือดำเนินชีวิตก็เป็นได้         จำนวน 5 เลขหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นการจำกัดไว้ที่การให้บริการเปิดเบอร์แบบทั่วไปที่อาจมีการติดต่อกันผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือผ่านตัวแทน แต่หากบุคคลทั่วไปคนใดมีความต้องการหรือจำเป็นต้องใช้งานเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่านั้นก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องไปที่ศูนย์ให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกกันว่าช็อปมือถือนั่นเอง และมติ กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรายงานกรณีดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. ด้วย         แท้จริงมาตรการนี้จึงไม่ใช่การจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์หรือถือครองเบอร์ แต่เป็นการวางมาตรการควบคุมวิธีการพิจารณาเปิดเบอร์และการดำเนินการของผู้ให้บริการ         หน้าที่ในการรับลงทะเบียนหรือรับเปิดเบอร์ของผู้ให้บริการยังมีรายละเอียดอื่นมากกว่านั้น ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายระดับประกาศของ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่*         ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 สาระคือเป็นการวางหลักเกณฑ์ตั้งแต่เรื่องของเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน การมีมาตรการตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล รวมถึงข้อกำหนดว่าจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการอะไรได้บ้าง        แต่กติกาของ กสทช. ดังกล่าวไม่เพียงไม่ขลัง การกำกับดูแลของ กสทช. ก็อ่อนด้วย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือทั้งหลายไม่ได้เพิ่มความรัดกุมในการดำเนินการเรื่องนี้เลย         ปัญหาการถูกลักลอบ/แอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนเปิดเบอร์จึงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ เห็นได้จากที่มีการโพสกรณีต่างๆ ทางสื่อออนไลน์ รวมถึงการมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสทช. เอง กระทั่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เกิดเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ออกมาเผยว่าตนเองถูกแอบอ้างเปิดเบอร์มือถือถึง 32 เบอร์**         ปัญหาการถูกแอบเปิดเบอร์มือถือ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีเรื่องของภาระค่าบริการที่อาจติดตามมา และร้ายที่สุด เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่มี “มิจ” จำนวนมากแฝงฝังอยู่ร่วมสังคม ปัญหานี้จึงอาจพัวพันกับการก่ออาชญากรรมด้วยครั้งหน้าจึงจะขอพูดถึงเรื่องนี้ต่อ โดยจะเน้นไปในด้านของมาตรการเพื่อการป้องกันและเท่าทันกับปัญหา ทั้งในส่วนที่เป็นเกราะป้องกันที่ภาครัฐดำเนินการ และส่วนที่ผู้บริโภคเราจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะเหยื่อในลักษณะผู้สมรู้ร่วมคิดของ “มิจ”* อ่านรายละเอียดประกาศดังกล่าวได้ที่ https://numbering.nbtc.go.th/getattachment/Announcement/Announce-manual/447/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%-E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A%- E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%-E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%-E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%-E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%-E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%-E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%-E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%-E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%-E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%-E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%-E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%-E0%B9%88.PDF.aspx** อ่านข่าวดังกล่าวได้ที่ เตือนภัย! สาวเช็กเลขบัตร ปชช. เจอ ถูกนำไปเปิดเบอร์โทรกว่า 30 เบอร์ ทั้งที่ใช้จริงแค่ 2 (matichon.co.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ

เราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก จะเรียกว่าราคาแพงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาก็ว่าได้ จนในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองต่างก็เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป รวมทั้งต้องร่วมกำหนดนโยบายของผู้บริโภคเองด้วยปัญหาสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องการกับการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ที่คนไทยเราได้ร่วมกันพิทักษ์รักษามาตลอดที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ร้อยละ 56 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยนั้น ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น เรามาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซฯที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้ากันสักหน่อย รวมทั้งที่มา และราคา ดังรูปข้างล่างนี้  ว่ากันตามรูปเลยนะครับผมขอสรุปว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยมาจาก 3 แหล่งคือ(1)          จากประเทศไทยเราเอง(ทั้งในอ่าวไทยและบนบก) ราคาในเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ  239 บาทต่อล้านบีทียู เราเริ่มใช้ก๊าซในยุคที่เขาคุยว่า “โชติช่วงชัชวาล” ประมาณปี 2524(2)          จากประเทศเมียนมาร์ ผ่านท่อก๊าซฯ ราคา 375 บาทต่อล้านบีทียู  เริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2543(3)          ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าทางเรือ ราคา 599 บาทต่อล้านบีทียู เริ่มนำเข้าครั้งแรกปี 2553 และโปรดสังเกตว่า ราคาแปรผันมาก จาก 717 เป็น 599 บาทต่อล้านบีทียูในเวลาเดือนเดียว จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า ราคา LNG  สูงกว่าราคาในประเทศไทยมากกว่า 2 เท่าตัว ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า จะให้ใคร หรือกลุ่มไหนได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซทั้ง 3 แหล่งที่มีราคาแตกต่างกันมากขนาดนี้ผมไม่ทราบว่า ก่อนที่จะมีการนำเข้า LNG ทางกระทรวงพลังงานได้คิดราคาก๊าซจาก 2 แหล่งอย่างไร แต่หลังจากปี 2553 ที่ได้นำก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ทางกระทรวงฯได้นำราคาก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกันเพื่อให้ ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแยกก๊าซ(หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และภาคยานยนต์(เอ็นจีวี) ใช้ในราคาที่เท่ากับค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกว่า ราคา Pool Gasแต่โรงแยกก๊าซหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้ใช้ในราคาที่ผลิตจากประเทศไทย ถ้าในภาพข้างต้นก็ราคา 239 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายในราคา 376 บาทโดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานพบว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 129 หน่วย ดังนั้น หากต้องใช้ Pool Gas ต้นทุนค่าก๊าซ(อย่างเดียว)จะเท่ากับ 376/129  หรือ 2.91 บาทต่อหน่วยแต่หากรัฐบาลมีนโยบายให้ก๊าซจากประเทศไทยซึ่งเป็นของคนไทย ให้คนไทยทั้งประเทศได้ใช้ก่อน โดยนำไปผลิตไฟฟ้าซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอ ต้นทุนค่าก๊าซก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 239/129 หรือ 1.85 บาทต่อหน่วยเห็นกันชัดๆเลยใช่ไหมครับว่า ต้นทุนนี้ลดลง 1.06 บาทต่อหน่วยแต่เนื่องจากไฟฟ้าที่คนไทยใช้ผลิตจากก๊าซ 56% ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงถึง 59 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ยังไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าล้นเกินเลยที่นำไปสู่ค่าความพร้อมจ่ายทั้งที่ไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตเลยในปี 2565 คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 แสนล้านหน่วย หากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนนโยบายว่า ก๊าซฯจากประเทศไทยให้คนไทยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าก่อน ก็จะทำให้มูลค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตรงนี้ก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคแต่ปัจจุบันนี้เงินก้อนนี้ได้ไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของธุรกิจปิโตรเคมี อันเป็นผลมาจากสงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 หุ้น ‘STARK’ หายนะนักลงทุนรอบล่าสุด

        น่าเสียดายที่หุ้น STARK ไม่ใช่ตัวเดียวกับบริษัทของ Tony Stark หรือไอรอน แมนแห่งจักรวาลมาร์เวล ไม่งั้นคงเป็นหุ้นเนื้อหอมที่ใครๆ ก็อยากได้ แต่หุ้น STARK ดันเป็นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร         ราคาพาร์ตอนเริ่มซื้อขายคือ 1 บาท เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 6.65 บาทต่อหุ้นในปี 2562 เรียกว่าถ้าใครได้ซื้อตอนราคาหุ้น 1 บาท แล้วขายตอนราคาสูงสุดก็ได้กำไรไปเหนาะๆ 6 เท่ากว่าๆ แบบนี้ไงใครๆ ถึงอยากเล่นกับไฟในตลาดหุ้น         เดือนสองเดือนที่ผ่านมา STARK กลายเป็นหายนะของใครหลายคน ประเมินกันคร่าวๆ ว่าความเสียหายน่าจะมากกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาทที่ผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว บวกกับข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตงบการเงินอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนราคาหุ้นน่ะหรือ? วันที่ 29 มิถุนายน 2566 หล่นมาเหลือแค่ 0.02 บาท หรือ 2 สตางค์ นักลงทุนบางคนที่ยอมให้สัมภาษณ์แบบไม่เปิดเผยชื่อขาดทุนไป 100 ล้านบาทจาก STARK ตัวเดียว         ลองดูรายได้ของ STARK ปี 2562-2564 มีรายได้ตามลำดับดังนี้ 11,607 ล้านบาท, 16,917 ล้านบาท,  27,129 ล้านบาท ส่วนปี 2565 แค่ 9 เดือนมีรายได้ถึง 21,877 ล้านบาท ขณะที่กำไรตั้งแต่ปี 2562-2564 เรียงตามลำดับคือ 123 ล้านบาท, 1,608 ล้านบาท, 2,783 ล้านบาท และแค่ 9 เดือนของปี 2565 ก็กำไรไปแล้ว 2,216 ล้านบาท รายได้กับกำไรพุ่งพรวดขนาดนี้มีหรือนักลงทุนทั้งรายย่อย รายใหญ่ หรือกองทุนรวมจะไม่เข้าซื้อ         แต่แล้วก็เริ่มมีอะไรแปลกๆ เพราะปี 2565 STARK ไม่ได้ส่งงบการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เลยต้องขึ้นเครื่องหมาย SP หรือกระงับการซื้อขายชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2565 ก่อนจะรู้ความจริงภายหลังจากงบการเงินปี 2565 ว่า STARK ขาดทุนสะสมมากกว่า 10,379 ล้านบาท ถ้านับหนี้สินที่ติดค้างกับสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้ เท่ากับว่า STARK ล้มละลายไปแล้ว         แน่นอนว่าพอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลท. กับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนก็ต้องออกมาแอ็คชั่นเพื่อเรียกความมั่นใจ...ก็เป็นแบบนี้ทุกที         เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า STARK ที่เป็นซุปเปอร์ฮีโร่มีแต่ในหนัง และ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” แล้วก็ต้องคอยติดตามดูให้ดี อย่างที่เห็นว่างบการเงินก็หลอกกันได้ถ้าผู้บริหารตั้งใจจะเล่นแร่แปรธาตุ ลงทุนอย่างระมัดระวัง กระจายความเสี่ยง และอย่าฝากผีฝากไข้ไว้กับหุ้นดาวเด่นตัวใดตัวหนึ่ง         และอยากบอกว่ากรณีหุ้น STARK จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 อเมริกากับการใช้แรงงานเด็ก

        ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เด็กอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้ แต่หากอายุยัง ไม่ถึง 16 ปี รัฐจะจำกัดชั่วโมงการทำงานเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสไปโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีงานอันตรายบางอย่างใน โรงงานอุตสาหกรรมหรือในโรงฆ่าสัตว์ที่กฎหมายระบุห้ามทำ         ที่ผ่านมามีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมากขึ้นถึงร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2018 และผู้กระทำผิดก็เป็นผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่เสียด้วย เช่น กรณีของแมคโดนัลด์ ที่กระทรวงแรงงานพบว่า “จ้าง” เด็กไม่ต่ำกว่า 300 คน ทำงานโดยไม่ให้ค่าจ้างหรือให้ในอัตราที่ต่ำมาก  ในจำนวนนั้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ สองคนรวมอยู่ด้วย         หลุยส์วิล บาวเออร์ฟู้ด เจ้าของแฟรนไชส์แมคโดนัลด์ 10 สาขา จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ทำงานเกินเวลาที่กำหนด บางครั้งเกินตีสอง โดยไม่จ่ายค่าจ้างล่วงเวลา         บริษัทบอกว่างานของเด็กเหล่านี้คือเตรียมอาหาร เสิร์ฟ ทำความสะอาดร้าน รับออเดอร์ และคิดเงิน แต่การสืบสวนพบว่าเด็กบางคนประจำการอยู่หน้าเตาทอดฟรายส์ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หน้าที่นี้ต้องเป็นของผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กอายุ 10 ขวบสองคนที่ว่านั้น บริษัทอ้างว่าเป็นลูกหลานของพนักงานซึ่งเป็นผู้จัดการร้านกะดึก และ“งาน” ที่ทำก็อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามบริษัทถูกปรับเป็นมูลค่า 212,000 เหรียญ (7.25 ล้านบาท)         อีกตัวอย่างเป็นกรณีของเด็กหนุ่ม “วัย 18” ที่ทำงานอยู่ในโกดังแห่งหนึ่งของบริษัทประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ของค่ายรถจากเกาหลี ฮุนไดมอเตอร์กรุ๊ป         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจโกดังแห่งนี้ หลังได้รับเบาะแสจากพลเมืองดีว่ามีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ทำงานอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พบ “พนักงานหน้าเด็ก” กำลังง่วนอยู่กับการวางซ้อนอุปกรณ์โลหะขนาดใหญ่จริงๆ ตามเอกสารการจ้างงาน “พนักงานชาย” คนนี้ชื่อ เฟอร์นันโด รามอส บัตรประจำตัว (ที่ทำปลอมหยาบๆ แบบไม่กลัวถูกจับได้) ระบุว่าเขาอายุ 34 ปีและมาจากรัฐเทนเนสซี         แต่ความจริงแล้วเด็กซึ่งเป็นผู้อพยพจากเม็กซิโกคนนี้อายุ 16 ปี(แต่โกหกเจ้าหน้าที่ว่าอายุ 18) เคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในเมืองมอนต์โกเมอรี เด็กยอมรับว่าไม่ได้ไปเรียนนานแล้ว และใช้บัตรปลอมนี้สมัครเข้าทำงานกับหลายบริษัทมาตั้งแต่อายุ 14 เบื้องต้นกระทรวงแรงงานสั่งปรับบริษัทจัดหางานสามแห่ง ฐานจ้างเด็กทำงานโดยผิดกฎหมาย รายละ 5,050 เหรียญ (ประมาณ 173,000 บาท)         ทางด้านฮุนได ซึ่งมียอดขายรถยนต์เป็นอันดับสามในอเมริกา รีบแถลงข่าวทันทีว่าเขาไม่เคยมีนโยบายจา้ งคนอายุต่ำกวา่ 18 ปี ต่อไปนี้บริษัทจะตรวจสอบซัพพลายเออรกวดขันไม่ให้มีการจ้างงานผ่านบุคคลที่สาม และจะจัดสัมมนาเพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย         บทวิเคราะห์จากสื่อมวลชนระบุว่าปัญหาการใช้แรงงานเด็กในสหรัฐฯ รุนแรงขึ้นเพราะหลายปัจจัยอย่างแรกคือโรคระบาด ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการหลังการระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับมือกับการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่ความสามารถในการจ่ายค่าจ้างก็น้อยลงเด็กเหล่านี้จึงเป็นทางออก        การอพยพหนีความยากจนหรือความรุนแรงในอเมริกาใต้ก็ทำให้มีแรงงานเด็กผิดกฎหมายมากขึ้นสถิติระบุว่าในปี 2022 เด็กจากพื้นที่ดังกล่าวขอลี้ภัยเข้ามาในสหรัฐถึง130,000 คน และเมื่อพวกเขาถูกละเมิด ทั้งตัวเด็กและพ่อแม่ก็ไม่แจ้งความ เพราะยังไม่มั่นใจเรื่องสิทธิอยู่อาศัยในอเมริกา         อีกปัจจัยคือทุนนิยมที่กำลังระบาดไปทั่วประเทศ ภาคธุรกิจอ้างว่าพวกเขาให้โอกาสคนจนได้มีรายได้มีที่อยู่อาศัย ช่วยลดปัญหาคนอดอยากและคนไร้บ้านไปในตัว ภาครัฐเองก็ออกกฎหมายที่ช่วยให้การจ้างงานเด็กเป็นเรื่องง่ายขึ้น เช่น รัฐอาคันซอ อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า16 ปี สมัครเข้าทำงานได้โดยไม่ต้องแสดงใบอนุญาตทำงานที่ทางการออกให้ หรืออีก 10 มลรัฐที่เพิ่มชั่วโมงทำงานของเด็ก ยกเลิกข้อห้ามเรื่องการทำงานอันตราย อนุญาตให้เด็กทำงานในสถานที่ ๆ มีการเสริ์ฟอัลกอฮอล และลดค่าแรงขั้นต่ำสำหรับเด็ก เป็นต้น         โทษสูงสุดของการใช้แรงงานเด็กตามกฎหมายปัจจุบันของสหรัฐคือค่าปรับไม่เกิน 15,138 เหรียญต่อกรณี (ประมาณ 514,450 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรมหาศาลสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน         รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนปราบปรามการใช้แรงงานเด็กโดยให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์เป็นเจ้าภาพ แต่สังคมอเมริกันเองยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็แกล้งทำไม่รู้ไม่เห็น เพราะคิดว่าเด็กเหล่านี้ “ไม่ใช่ลูกหลานเรา” ก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง!ที่มา:https://www.straitstimes.com/world/united-states/us-vows-clampdown-on-alarming-child-labour-surge https://www.japantimes.co.jp/news/2023/05/01/world/fake-id-hyundai-child/?fbclid=IwAR2toYrBilsK2WnaYh xTeW9AxHBdGcowjhCQzYtnoUgY6-0k1OrYiMyqQP8 https://www.channelnewsasia.com/business/mcdonalds-franchises-fined-us-child-labour-violations-3462256? fbclid=IwAR2NncrkFhMMGGHOIPSWhbW0GGVIBjWBxAWUdSecQwgKrEwftHhSp3FSfgI https://www.theguardian.com/commentisfree/2023/mar/31/child-labor-laws-republicans

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ทักษะทางการเงินที่ยากที่สุด

        คุณคิดว่าอะไรคือทักษะทางการเงินที่ยากที่สุด?         คำตอบที่ได้มีหลายหลากมากมายแล้วแต่ว่าถามใคร-การอ่านงบการเงิน การอ่านกราฟ การจับจังหวะการลงทุน การรักษาวินัย การหาหุ้น ฯลฯ มันก็ยากแหละ แต่ยังไม่ใช่ยากที่สุด         วันนี้ขอพูดถึงหนังสือการเงินการลงทุนเล่มหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงกันบ่อยช่วงนี้ เพราะให้หลักการมากกว่าวิธีการ แถมหลักการบางข้อก็ไม่ได้ลึกล้ำสูงส่งแบบโห ไม่เคยรู้มาก่อน แต่เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ หนังสือเล่มที่ว่าหลายคนน่าจะรู้จักกันแล้ว นั่นก็คือ ‘The Psychology of Money’ หรือ ‘จิตวิทยาว่าด้วยเงิน’ ของ Morgan Housel         ทักษะทางการเงินที่ยากที่สุดสำหรับ Morgan Housel คือ ‘การทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่’         อ่านแล้วก็งงว่าแปลว่าอะไร สมมติคุณตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเงินให้ได้ 4 แสนภายในเวลา 4 ปีเพื่อซื้อรถยนต์สักคันสำหรับเดินทางพบปะลูกค้า พอครบ 4 ปี คุณทำได้ตามเป้าหมาย ทดไว้ก่อน         แต่พอครบ 4 ปีแล้วคุณพบว่ารถยนต์ราคา 4 แสนดูธรรมดาเกินไป เพื่อนๆ คุณที่เป็นเซลเหมือนกันใช้รถราคาห้าหกแสนทั้งนั้น คุณเลยเปลี่ยนใจ อยากได้รถราคาแพงขึ้นเพราะคุณกลัวน้อยหน้าเพื่อนๆ         นี่แหละที่เรียกว่า เป้าหมายทางการเงินเคลื่อนที่ มันเคลื่อนออกไปเพราะความต้องการของคุณเปลี่ยนแปลง อยากได้ของแพงขึ้น ของที่ตอบโจทย์ความฟุ้งเฟ้อมากกว่าความต้องการพื้นฐาน คนส่วนใหญ่เจอสถานการณ์นี้ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง         พูดแบบบ้านๆ Morgan Housel กำลังเตือนว่าอย่าโลภ อย่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ถ้าคุณเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามรายได้ที่สูงขึ้น เป้าหมายทางการเงินก็จะเคลื่อนที่ห่างออกไป แต่ก็อย่าเถรตรงว่าต้องใช้ชีวิตแบบจนๆ กินข้าวกับไข่ต้มคลุกน้ำปลาล่ะ คนละเรื่อง         คุณสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายทางการเงินไปเรื่อยๆ ถ้าคุณวางแผนเกษียณว่าจะมีเงินใช้แบบไม่ลำบากเดือนละ 30,000 ก็จงยึดกุมมันเอาไว้ ปรับเปลี่ยนได้เมื่อมีปัจจัยใหม่ๆ แทรกซ้อนเข้ามา แต่ประเภทฉันอยากสบายกว่านี้เปลี่ยนเป็นเดือนละ 50,000 โดยไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานใดๆ อันนี้ลำบาก         ไม่ใช่ว่าปรับไม่ได้หรอก แต่คุณต้องรู้ตัวเองว่าทำไมต้องปรับ ปรับเพราะอะไร ถ้าปรับแล้วมันทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าไม่ คุณก็ต้องทบทวนว่าคุณกำลังทำให้เป้าหมายทางการเงินเคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เพราะความอยาก “เลิก” ของเราไม่เท่ากัน

        คราวนี้ยังขอว่าด้วยเรื่อง “การเลิก” ต่ออีกสักหน่อยนะคะ โดยจะเน้นในมุมเมื่อการเลิกเกิดขึ้นแบบมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเต็มใจ หรือลงมือกระทำการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้ดีจนเข้าใจตรงกันหรือเห็นพ้องต้องกัน         แม้ทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้บริการโทรคมนาคม แต่ปมประเด็นของเรื่องนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากหลักพื้นฐานในความสัมพันธ์ทั่วไป นั่นคือ เมื่อการเลิกเกิดขึ้นโดยไม่ได้มาจากความยินยอมสองฝ่าย ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องมีปัญหายุ่งยากตามมา        คราวที่แล้วได้พูดไปแล้วถึงเหตุการณ์และที่มาซึ่งทำให้ฝ่ายผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือผู้ให้บริการ สามารถที่จะ “ตัดสัญญาณ” และสะบั้นสัญญาที่ทำไว้กับผู้บริโภค ซึ่งช่องทางใหญ่ที่เปิดให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก็คือเรื่องของการค้างชำระค่าบริการเกินกว่า 2 รอบบิล ซึ่งกฎหมาย (ของ กสทช.) เปิดช่องไว้ให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ         ช่องเปิดที่ว่านี้ตั้งอยู่บนหลักคิดปกติที่เข้าใจได้ นั่นคือ เพื่อให้ผู้ให้บริการที่ประสบพบกับลูกค้าที่อาจจะออกอาการ “เบี้ยวหนี้”  ไม่จำเป็นต้องฝืนทนให้บริการต่อไปและเสี่ยงกับการถูกชักดาบ แต่ในทางกลับกัน ก็ใช่ว่าผู้ค้างชำระหนี้ทุกรายจะเป็น “ลูกค้าเลว” อีกทั้งขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้า ผู้ให้บริการน่าจะมุ่งรักษาไว้มากกว่าจะผลักไส ดังนั้นข้อกำหนดจึงเป็นไปในลักษณะเปิดกว้าง โดยยกให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการที่จะพิจารณา “ยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา” หรือไม่ก็ได้         อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่าช่องที่เปิดกว้างนี้เองกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในหลายกรณี         ในส่วนของบริการมือถือ มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการถูกระงับ/ยกเลิกเลขหมาย เข้ามายังสำนักงาน กสทช. เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สะท้อนถึงความไม่เต็มใจของฝ่ายผู้บริโภคหรือลูกค้าต่อ “การเลิก” ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของบริษัท ข้อร้องเรียนของบางรายคือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าถูกระงับหรือยกเลิกบริการเพราะเหตุใด         จากสถิติทั้งปีของ พ.ศ. 2564 และ 2565 เรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวมีมากกว่า 250 กรณีต่อปี และในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วประมาณ 100 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีเรื่องร้องเรียนสูงที่สุดในส่วนของบริการมือถือ         ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการไม่รู้ตัว ไม่ควรที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในประกาศ กสทช. ที่ให้สิทธิบริษัทยกเลิกการให้บริการได้ในกรณีมีการค้างชำระค่าบริการเกินกว่าสองรอบบิลติดต่อกัน มีรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า “โดยผู้ให้บริการได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงวันครบกำหนดที่แน่นอนเป็นการล่วงหน้าในใบแจ้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และได้ทำการเตือนตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว” จะเห็นได้ว่า ในรายละเอียดและในทางปฏิบัติ สาระสำคัญจึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ถ้ามีเจตนาต้องการรักษาความสัมพันธ์ แม้อีกฝ่ายจะผิดพลาด แต่หากพูดจาจนเข้าใจกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องตัดขาด ถ้าบริษัทยังอยากรักษาลูกค้าก็ต้องละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นในเรื่องการสื่อสาร แต่ถ้าไม่แคร์แล้วและอยากนำทรัพยากรที่มี (เลขหมายหรือเบอร์มือถือ) ไปหา (ลูกค้า) รายใหม่ที่อาจสร้างรายได้ไฉไลกว่า นั่นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับผู้บริโภคคนใดที่ใช้เบอร์สวย (ไม่ว่าจะสวยจริงหรือสวยเฉพาะกับตัวเอง หรือเป็นเบอร์สำคัญที่หวงแหน ฯลฯ) จึงพึงต้องระวังให้ดี ห้ามกระทำการที่ทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะเปิดช่องนี้ขึ้นมา เพราะถ้าเข้าเงื่อนไข คือค้างชำระค่าบริการครบ  2 รอบบิลทั้งๆ ที่บริษัทมีการเตือนแล้ว  การตัดสัญญาณหรือยกเลิกบริการจากฝ่ายบริษัทก็มีความชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อเบอร์หลุดมือไปแล้ว การเรียกร้องเบอร์เดิมกลับคืนมานับเป็นเรื่องยาก แม้เปิดบริการใหม่ก็เลือกได้เฉพาะเบอร์เท่าที่มีการเสนอขายให้เท่านั้น         ในอีกด้านหนึ่ง การร้องเรียนของผู้บริโภคในประเด็นปัญหาลักษณะ “ไม่อาจยกเลิกบริการได้” ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ปัญหานี้พบในบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่หรือเน็ตบ้านมากกว่าในบริการมือถือ โดยมีปริมาณเรื่องร้องเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งในทั้งสามปีที่ผ่านมา         แท้ที่จริง ในปัญหาด้านนี้ ข้อโต้แย้งมักไม่ได้อยู่ที่ประเด็น “การเลิก” โดยตรง แต่ปมประเด็นสำคัญมักอยู่ที่การมี “ค่าใช้จ่าย” สำหรับการเลิกก่อนเวลา ซึ่งในวิถีปกติของบริการเน็ตบ้าน เนื่องจากต้องมีการติดตั้งและมีเรื่องของการให้อุปกรณ์ด้วย โดยที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นถูกกระจายเฉลี่ยไปอยู่ในค่าบริการรายเดือน ดังนั้นระยะเวลาการใช้บริการที่นานพอจึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม หากจะให้สิ้นสุดเร็วกว่ากำหนดก็ต้องมีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนที่ลงทุนไปตอนต้นกลับคืนมาบ้าง         ในทำนองเดียวกัน กรณีบริการมือถือที่ “เลิกยาก” และผู้ให้บริการมักยื้อก็คือกรณีที่เป็นการเปิดบริการภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ เช่น การซื้อเครื่องราคาถูก กรณีเช่นนี้มักมีการผูกกับโปรฯ แบบใดแบบหนึ่ง พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ต้องใช้บริการ (ห้ามเลิก-ห้ามย้ายค่าย)         ในมิติทางกฎหมายและการกำกับดูแล  กสทช. มีการกำหนดว่า แบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก กสทช. รวมถึงการแก้ไขแบบสัญญาด้วย ดังนั้น สัญญาใดที่ไม่เคยได้ผ่านความเห็นชอบ แม้คู่สัญญาต่างลงนามโดยสมัครใจ ก็ไม่เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมา บรรดาสัญญาที่พ่วงการขายเครื่องทั้งหลายมักไม่มีการเสนอขอความเห็นชอบจาก กสทช. ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้น พิจารณาตามหลักของกฎหมายกำกับดูแลแล้ว สัญญาเหล่านั้นจึงไม่มีสภาพบังคับ สรุปง่ายๆ คือ บริษัทจะผูกผู้บริโภคไว้ด้วยสัญญาดังกล่าวไม่ได้         เมื่อผู้บริโภคอยากเลิกก็ย่อมเลิกได้ตามเจตนา อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้วางหลักไว้เช่นกันว่า ในกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืน หรือหากอุปกรณ์เสียหายก็ต้องชดใช้ตามจริงในราคาตลาด ซึ่งในกรณีค่าเครื่องที่ซื้อมาราคาลดพิเศษ ก็ต้องคิดคำนวณสัดส่วนใช้คืนให้บริษัทด้วย         สรุปได้ว่า การเลิกนั้นเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะทำได้ ไม่ว่าความอยากของอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร ความอยากและความเต็มใจอาจไม่เท่ากัน แต่ความแฟร์ควรจะมีให้กันอย่างเสมอภาค ไม่มีการเอาเปรียบกัน

อ่านเพิ่มเติม >