ฉบับที่ 267 เพราะความอยาก “เลิก” ของเราไม่เท่ากัน

        คราวนี้ยังขอว่าด้วยเรื่อง “การเลิก” ต่ออีกสักหน่อยนะคะ โดยจะเน้นในมุมเมื่อการเลิกเกิดขึ้นแบบมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเต็มใจ หรือลงมือกระทำการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้ดีจนเข้าใจตรงกันหรือเห็นพ้องต้องกัน         แม้ทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้บริการโทรคมนาคม แต่ปมประเด็นของเรื่องนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากหลักพื้นฐานในความสัมพันธ์ทั่วไป นั่นคือ เมื่อการเลิกเกิดขึ้นโดยไม่ได้มาจากความยินยอมสองฝ่าย ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องมีปัญหายุ่งยากตามมา        คราวที่แล้วได้พูดไปแล้วถึงเหตุการณ์และที่มาซึ่งทำให้ฝ่ายผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือผู้ให้บริการ สามารถที่จะ “ตัดสัญญาณ” และสะบั้นสัญญาที่ทำไว้กับผู้บริโภค ซึ่งช่องทางใหญ่ที่เปิดให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก็คือเรื่องของการค้างชำระค่าบริการเกินกว่า 2 รอบบิล ซึ่งกฎหมาย (ของ กสทช.) เปิดช่องไว้ให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ         ช่องเปิดที่ว่านี้ตั้งอยู่บนหลักคิดปกติที่เข้าใจได้ นั่นคือ เพื่อให้ผู้ให้บริการที่ประสบพบกับลูกค้าที่อาจจะออกอาการ “เบี้ยวหนี้”  ไม่จำเป็นต้องฝืนทนให้บริการต่อไปและเสี่ยงกับการถูกชักดาบ แต่ในทางกลับกัน ก็ใช่ว่าผู้ค้างชำระหนี้ทุกรายจะเป็น “ลูกค้าเลว” อีกทั้งขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้า ผู้ให้บริการน่าจะมุ่งรักษาไว้มากกว่าจะผลักไส ดังนั้นข้อกำหนดจึงเป็นไปในลักษณะเปิดกว้าง โดยยกให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการที่จะพิจารณา “ยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา” หรือไม่ก็ได้         อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่าช่องที่เปิดกว้างนี้เองกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในหลายกรณี         ในส่วนของบริการมือถือ มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการถูกระงับ/ยกเลิกเลขหมาย เข้ามายังสำนักงาน กสทช. เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สะท้อนถึงความไม่เต็มใจของฝ่ายผู้บริโภคหรือลูกค้าต่อ “การเลิก” ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของบริษัท ข้อร้องเรียนของบางรายคือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าถูกระงับหรือยกเลิกบริการเพราะเหตุใด         จากสถิติทั้งปีของ พ.ศ. 2564 และ 2565 เรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวมีมากกว่า 250 กรณีต่อปี และในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วประมาณ 100 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีเรื่องร้องเรียนสูงที่สุดในส่วนของบริการมือถือ         ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการไม่รู้ตัว ไม่ควรที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในประกาศ กสทช. ที่ให้สิทธิบริษัทยกเลิกการให้บริการได้ในกรณีมีการค้างชำระค่าบริการเกินกว่าสองรอบบิลติดต่อกัน มีรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า “โดยผู้ให้บริการได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงวันครบกำหนดที่แน่นอนเป็นการล่วงหน้าในใบแจ้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และได้ทำการเตือนตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว” จะเห็นได้ว่า ในรายละเอียดและในทางปฏิบัติ สาระสำคัญจึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ถ้ามีเจตนาต้องการรักษาความสัมพันธ์ แม้อีกฝ่ายจะผิดพลาด แต่หากพูดจาจนเข้าใจกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องตัดขาด ถ้าบริษัทยังอยากรักษาลูกค้าก็ต้องละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นในเรื่องการสื่อสาร แต่ถ้าไม่แคร์แล้วและอยากนำทรัพยากรที่มี (เลขหมายหรือเบอร์มือถือ) ไปหา (ลูกค้า) รายใหม่ที่อาจสร้างรายได้ไฉไลกว่า นั่นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับผู้บริโภคคนใดที่ใช้เบอร์สวย (ไม่ว่าจะสวยจริงหรือสวยเฉพาะกับตัวเอง หรือเป็นเบอร์สำคัญที่หวงแหน ฯลฯ) จึงพึงต้องระวังให้ดี ห้ามกระทำการที่ทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะเปิดช่องนี้ขึ้นมา เพราะถ้าเข้าเงื่อนไข คือค้างชำระค่าบริการครบ  2 รอบบิลทั้งๆ ที่บริษัทมีการเตือนแล้ว  การตัดสัญญาณหรือยกเลิกบริการจากฝ่ายบริษัทก็มีความชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อเบอร์หลุดมือไปแล้ว การเรียกร้องเบอร์เดิมกลับคืนมานับเป็นเรื่องยาก แม้เปิดบริการใหม่ก็เลือกได้เฉพาะเบอร์เท่าที่มีการเสนอขายให้เท่านั้น         ในอีกด้านหนึ่ง การร้องเรียนของผู้บริโภคในประเด็นปัญหาลักษณะ “ไม่อาจยกเลิกบริการได้” ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ปัญหานี้พบในบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่หรือเน็ตบ้านมากกว่าในบริการมือถือ โดยมีปริมาณเรื่องร้องเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งในทั้งสามปีที่ผ่านมา         แท้ที่จริง ในปัญหาด้านนี้ ข้อโต้แย้งมักไม่ได้อยู่ที่ประเด็น “การเลิก” โดยตรง แต่ปมประเด็นสำคัญมักอยู่ที่การมี “ค่าใช้จ่าย” สำหรับการเลิกก่อนเวลา ซึ่งในวิถีปกติของบริการเน็ตบ้าน เนื่องจากต้องมีการติดตั้งและมีเรื่องของการให้อุปกรณ์ด้วย โดยที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นถูกกระจายเฉลี่ยไปอยู่ในค่าบริการรายเดือน ดังนั้นระยะเวลาการใช้บริการที่นานพอจึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม หากจะให้สิ้นสุดเร็วกว่ากำหนดก็ต้องมีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนที่ลงทุนไปตอนต้นกลับคืนมาบ้าง         ในทำนองเดียวกัน กรณีบริการมือถือที่ “เลิกยาก” และผู้ให้บริการมักยื้อก็คือกรณีที่เป็นการเปิดบริการภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ เช่น การซื้อเครื่องราคาถูก กรณีเช่นนี้มักมีการผูกกับโปรฯ แบบใดแบบหนึ่ง พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ต้องใช้บริการ (ห้ามเลิก-ห้ามย้ายค่าย)         ในมิติทางกฎหมายและการกำกับดูแล  กสทช. มีการกำหนดว่า แบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก กสทช. รวมถึงการแก้ไขแบบสัญญาด้วย ดังนั้น สัญญาใดที่ไม่เคยได้ผ่านความเห็นชอบ แม้คู่สัญญาต่างลงนามโดยสมัครใจ ก็ไม่เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมา บรรดาสัญญาที่พ่วงการขายเครื่องทั้งหลายมักไม่มีการเสนอขอความเห็นชอบจาก กสทช. ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้น พิจารณาตามหลักของกฎหมายกำกับดูแลแล้ว สัญญาเหล่านั้นจึงไม่มีสภาพบังคับ สรุปง่ายๆ คือ บริษัทจะผูกผู้บริโภคไว้ด้วยสัญญาดังกล่าวไม่ได้         เมื่อผู้บริโภคอยากเลิกก็ย่อมเลิกได้ตามเจตนา อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้วางหลักไว้เช่นกันว่า ในกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืน หรือหากอุปกรณ์เสียหายก็ต้องชดใช้ตามจริงในราคาตลาด ซึ่งในกรณีค่าเครื่องที่ซื้อมาราคาลดพิเศษ ก็ต้องคิดคำนวณสัดส่วนใช้คืนให้บริษัทด้วย         สรุปได้ว่า การเลิกนั้นเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะทำได้ ไม่ว่าความอยากของอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร ความอยากและความเต็มใจอาจไม่เท่ากัน แต่ความแฟร์ควรจะมีให้กันอย่างเสมอภาค ไม่มีการเอาเปรียบกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 "แฉเล่ห์! ผู้ค้าน้ำมันหากินกับส่วนต่างราคา"

หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน, ปกปิดราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์, ปกปิดข้อมูลสต็อกน้ำมันเหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมให้สังคมเห็นต้นตอทำราคาขายปลีกน้ำมันแพง         ผู้บริโภคเคยสงสัยกันไหมว่า น้ำมันดิบเวลาเอาไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล กระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแล ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย )จึงอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ราคาที่ปรับขึ้น-ลง ก็ควรเป็นตลาดสิงคโปร์ ใช่ไหม อ้าว ! แล้วทำไมเวลาประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปถึงไปอ้างอิง OPEC ( Organizationof the Petroleum Exporting Countries องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก )         ประเด็นต่อมา ถือว่าสำคัญสุดยอด ในเมื่อประเทศไทย ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แต่ทำไม กระทรวงพลังงาน กลับไม่ยอมโชว์ตัวเลข โดยอ้างว่า เป็นข้อมูลลับ มีอะไรในกอไผ่ ! คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แฉข้อมูลเชิงลึกแบบละเอียดยิบ         “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับขึ้นหรือลง จะมีผลตามหลังราคาน้ำมันดิบ 1-2 วัน เช่นหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ประกาศวันใดก็ตาม ให้นับเป็นวันแรก ถัดจากนั้น อีก 1-2 วัน ให้จับตาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป จะถูกประกาศลดหรือเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบ ก็อย่างที่ผู้บริโภค ได้เห็นเวลาประกาศขึ้นราคาขายเอาซะเยอะเชียว แต่พอเวลาลดราคาขายกลับลงแค่นิดเดียว อันนี้แหละ ที่จะบอกให้ว่าผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มักใช้ข้ออ้างเรื่องสต็อกน้ำมัน ที่มีต้นทุนสูงอยู่เดิมนั่นมันแค่การพูดให้ชาวบ้านสบายใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม “กลไกราคาตลาด“ แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลสต็อกน้ำมัน ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน คำถามคือทำไมต้องปกปิด “มีเรื่องที่ตลกมาก กระทรวงพลังงานไม่ยอมเปิดข้อมูล “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์”         ณ วันที่ออกประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย ลองไปหาดูกันสิ ไม่มีเว็บไซต์ไหน เอาขึ้นมาโชว์ เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งออกนโยบายว่าประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ แต่ไม่ยอมเอาข้อมูลมาเปิดเผยวันต่อวัน ...ผู้บริโภคเคยสังเกตไหมว่า ทำไมปตท. ถึงประกาศปรับราคาน้ำมันตอน 5 โมงเย็นทุกครั้ง มีเล่ห์กลที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!         “เวลาของสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ตลาดน้ำมันปิด “4 โมงเย็น จังหวะนี้แหละที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทย เห็นราคาล่วงหน้าจึงคำนวณได้ว่าหาก 5 โมงเย็นประกาศขึ้นหรือลดราคาน้ำมัน30 หรือ 60 สตางค์ /ลิตร ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ อ้าว! เห็นตัวเลขล่วงหน้าแบบนี้มันไม่ใช่กลไกตลาด แถมไม่ได้เห็นวันเดียวด้วยนะ เพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้วิธีคิดแบบถัวเฉลี่ยของราคาสิงคโปร์ย้อนหลังไปอีก 2 วัน เพื่อเอามาคำนวณกับวันที่ 3 ซึ่งใช้ประกาศ ลด -เพิ่ม ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า วันนี้จะลดให้ 30 สตางค์หรือ 60 สตางค์ แต่พอเห็นจังหวะที่ไม่ส่งผลบวก ก็รีบชิงปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 1 วัน ได้กำไรเฉพาะวันนั้น 300 ล้านบาท นี่แหละเป็นวิธีที่เขาเล่นกันแบบนี้! ผมเคยส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดข้อมูล“ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงค์โปร์” เพื่อเทียบเคียงกับ“โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย “จะได้คิดย้อนทวนคำนวณราคาต่อลิตร”1 บาท หรือ 2 บาท แต่พอไม่ยอมเปิดข้อมูลมีปัญหาแล้ว แถมไม่เคยมีคำตอบอธิบายความใดๆ มีแต่ข้ออ้างที่ว่า “เปิดไม่ได้เพราะเป็นราคาที่เขาต้องซื้อข้อมูล” ขอถามกลับว่าตลาดอะไรต้องซื้อข้อมูล อย่างนี้ไม่เรียกว่าตลาดแล้ว ตลาดหมายถึงว่าเขาจะต้องประกาศที่หน้าป้ายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาธารณะให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย รับทราบด้วยกัน การปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงการ “ไม่มีธรรมาภิบาล” แต่กระทรวงพลังงานกลับได้คะแนนโหวตดีเด่นด้านความโปร่งใส         คุณอิฐบูรณ์บอกว่า ทุกวันนี้ต้องใช้ข้อมูล “วงใน” วันต่อวัน เพื่อดูราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่รัฐบาลประกาศ โดยเขียนบทความแหย่เบาๆ เช่น “วันนี้พวกคุณโกงเรา, ไม่ยอมปรับลดราคา2วันแล้วนะ” อีกทั้งยังพบความผิดปกติจากราคาหน้าโรงกลั่นที่รัฐบาลเอามาแถลงอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำให้ค่าการตลาดมันสูงขึ้นหรือ ดีดกลับแบบประหลาดๆ เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ผมต้องการสื่อสารไปถึงชาวบ้านให้รู้เท่าทัน และที่ยากที่สุดของการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ มันคืออะไรรู้ไหม? มันคือ“ราคาค่าการกลั่น “บางทีคิดจากความต่างระหว่างราคาสิงคโปร์กับราคาน้ำมันดิบดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยิ่งหากราคาสิงคโปร์ห่างจากราคาน้ำมันดิบดูไบก็จะยิ่งได้ค่าการกลั่น เพราะนี่คือกำไรขั้นต้นก่อนที่จะหักต้นทุนสุทธิออกมาเป็นกำไรสุทธิ ดังนั้น จึงมีขบวนการดันให้ราคาตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ทำให้ค่าการกลั่นบางช่วงพุ่งไป 5 บาท ถึง 6 บาท ได้กำไรกันทีเป็นแสนล้านบาทเรียกว่า “หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน” เพราะสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดจากต้นทุนของโรงกลั่นที่แท้จริง แต่มันคือ ราคาที่ถูกสมมุติ รวมกันถึง 2 สมมุติ กระทั่งกลายร่างออกมาเป็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแบบสมมุติแถม ยังบวกด้วย ค่าขนส่งสมมุติแล้วก็มาเก็บเงินเป็นราคาขายที่แพงเอากับประชาชน อย่างหลังสุดนี่คือของจริง หากยังมองไม่เห็นภาพ ผมขออธิบายความชัดๆ เริ่มจาก ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ถูกสมมุติเพราะฉะนั้นค่าการตลาด ก็เป็นสิ่งสมมุติ ซึ่งค่าการตลาดรัฐบาลกำหนดให้อยู่ที่ 2 บาท นี่ก็สมมุติเพราะไม่มีใครรู้เลยว่า ปตท. เอาต้นทุนร้านกาแฟ, ค่าพื้นที่เวิ้งว้างที่เอามาทำธุรกิจย่อมๆ, ร้านค้าปลีกต่างๆ, ธุรกิจโรงแรมธุรกิจถูกเอามารวมเป็นต้นทุน-ค่าโสหุ้ยของค่าการตลาดน้ำมันด้วยหรือเปล่า ผมเคยเสนอให้ ปตท. แยกบัญชี แต่กลับเห็นการเอาที่ดินทั้งแปลง มารวมเป็นค่าการตลาด แล้วก็มาอ้างเหตุผลว่า ได้ค่าการตลาด 2 บาทน้อยมากเลย ยังขาดทุนอยู่นะ ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปช้าและลดราคาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง3 บาทต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ประกาศ และทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดสูงที่เกินควรร่วมกว่า 300 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566         ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทีไร้การควบคุม, ต้องกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมเป็นมาตรการบังคับ, ต้องตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุด 2 ลำดับแรก คือ บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้าง เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้ จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง! ผู้เขียน : นิชานันท์ ธัญจิราโชติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ‘งบการเงิน’ ยุ่งและเยอะ แต่จำเป็นต้องเข้าใจ

        คนที่คิดจะลงทุนหุ้น พอทำความเข้าใจตัวเองแล้วและคิดว่าจะเอาดีทางสายวีไอหรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investment) หมายถึงการเลือกซื้อหุ้นบริษัทที่ดี ทำธุรกิจที่มีอนาคต มีแนวโน้มการเติบโต และถือหุ้นระยะยาวไปจนกว่าพื้นฐานของบริษัทนั้นจะเปลี่ยน (เดี๋ยวนี้ก็มีสาย hybrid ที่ดูทั้งพื้นฐานและจับจังหวะการลงทุน ไม่ได้ถือยาวชั่วลูกชั่วหลาน แต่จะขายเมื่อราคาถึงเป้าหมาย)         ทุกเพจ ทุกเว็บ ทุกโค้ช ทุกเล่มจะบอกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ ต้องทำ ต้องอ่านเหมือนกันนั่นก็คือ งบการเงิน         งบการเงินก็เหมือนสมุดรายงานสุขภาพของบริษัทว่าแข็งแรงหรือเปล่า อ้วนหรือผอมเกินไป มีไขมันเลวแค่ไหน งบการเงินเป็นเรื่องชวนปวดหัวอยู่เหมือนกันเพราะค่อนข้างเยอะและยุ่ง         ถ้าเป็นเมื่อก่อน หนังสือสอนการลงทุนอธิบายว่างบการเงินจะประกอบด้วย 3 ส่วน แต่เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น 5 แล้ว ได้แก่ งบดุล งบกำไร-ขาดทุน งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น และหมายเหตุประกอบงบการเงิน แต่จะขอพูดถึงงบ 3 ตัวแรกพอ         งบดุลเป็นตัวบอกภาพใหญ่ของบริษัท มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไหร่ มีหนี้อยู่เท่าไหร่ แล้วก็ตามชื่อ มันควรสมดุลกัน เช่น ถ้ามีหนี้สินระยะสั้นเยอะ แต่มีเงินสดหรือทรัพย์สินสภาพคล่องต่ำ แบบนี้มีจะปัญหา         งบกำไร-ขาดทุน อันนี้ก็ตรงตัว บริษัทมีต้นทุนทำธุรกิจเท่าไหร่ ปีหนึ่งๆ ค้าขายได้ยอดขายแค่ไหน หักลบแล้วเหลือกำไรเท่าไหร่         งบกระแสเงินสด เป็นงบที่บอกว่าบริษัทมีเงินสดในมือมากน้อยแค่ไหน บอกรายรับ-รายจ่ายของบริษัทในแต่ละปี เพราะสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจ (เหมือนในชีวิตประจำวันนั่นแหละ) แต่ต้องดูดีๆ การมีกระแสเงินสดเยอะๆ อาจไม่ดีเสมอไป มันมีรายละเอียดต้องใส่ใจ ยกตัวอย่างเงินสดในมือมาจากไหน มันอาจมาจากการกู้เงินก็ได้         บริษัทที่ไม่มีหนี้เลยก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบเพราะมันอาจบอกเป็นนัยๆ ว่าบริษัทนั้นไม่มีการขยายการลงทุนก็ได้ เว้นเสียว่าจะใช้เงินในมือตัวเอง         เห็นมั้ยว่าเยอะและยุ่งขนาดไหน อย่างไรก็ตามถ้ารักจะเดินทางนี้ก็ต้องอ่านงบการเงินให้เป็น วิเคราะห์ให้ได้เพราะมันต้องดูประกอบกันทั้งหมด         ถ้าขี้เกียจ...เหมือนเดิม ซื้อกองทุนรวมจะเวิร์คกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ว่าด้วยเรื่องยุ่งยากของการ “เลิก”

        ผลพวงหนึ่งของโควิด-19 ที่ก่อปัญหาให้กับผู้บริโภค ในเรื่องการใช้บริการมือถือ ก็คือการต้องถูกยกเลิกบริการและต้องสูญเสียเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสูญเสียเบอร์ไปโดยไม่เต็มใจ ซึ่งผลกระทบของการสูญเสียเบอร์มือถือในยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องพลาดการติดต่ออีกต่อไป แต่อาจกระทบทั้งเรื่องการรับ-จ่ายเงิน การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการหรือซื้อ-ขายสินค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง ฯลฯ         ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนหรือแบบเติมเงิน ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากเกิดความไม่สะดวกหรือลืมที่จะเติมเงินเข้าระบบ/ไปชำระค่าบริการในแต่ละรอบเดือน และเมื่อ “วันหมด” หรือ “ค้างชำระเกิน 2 เดือน” ปัญหา “การถูกเลิก” ก็จะตามมา         เนื่องจากตามกติกาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญาได้ ในกรณีที่ “ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน...” ดังนั้น สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบจ่ายรายเดือน เมื่อมีการค้างชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิล ผู้ใช้บริการบางรายจึงอาจถูกตัดสัญญาณ ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ตามมา         ส่วนกติกาทางด้านของการใช้บริการแบบเติมเงิน เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ผู้ให้บริการกำหนดอายุหรือระยะเวลาของเงินที่เติมเข้าระบบในแต่ละครั้งไว้เพียงว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนั้นทุกๆ จำนวนเงินที่เติมและสะสมในแต่ละเบอร์จึงมีวันหมดอายุ ซึ่งหากอายุหมด แม้จำนวนเงินที่สะสมไว้ยังคงเหลือ ผู้ให้บริการก็มีสิทธิที่จะระงับบริการหรือยกเลิกบริการได้ จากนั้นเลขหมายหรือเบอร์ของผู้บริโภคก็อาจหลุดมือไป         แท้จริงแล้ว ตามกติกาที่ กสทช. กำหนด ซึ่งอยู่ในรูปของประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดเรื่องการยกเลิกสัญญาให้บริการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะให้สิทธิผู้ใช้บริการ โดยระบุไว้ในข้อ 32 ว่า         “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ” ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าข้อความขึ้นต้นจะระบุชัดเจนว่า “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้...” แต่ภายในสำนักงาน กสทช. ก็ยังมีปัญหาการตีความในส่วนของข้อความที่ตามมา ในเรื่องการบอกกล่าวเป็นหนังสือ โดยเห็นว่า สิทธิดังกล่าวจะมีผลชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาก็เท่ากับไม่เกิดผลในทางกฎหมาย         เมื่อตีความเช่นนี้ ข้อ 32 ของประกาศมาตรฐานของสัญญาฯ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการรับรองหรือให้สิทธิแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติจริง ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ลุกขึ้นมาร่างหนังสือเพื่อแจ้งขอยกเลิกสัญญา/บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการมือถือ ประกอบกับทางฝ่ายผู้ให้บริการเองก็มิได้มีแบบฟอร์มหรือแบบหนังสือขอเลิกบริการไว้ให้กรอกง่ายๆ ดังนั้น แม้แต่ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไปหาถึงร้านหรือศูนย์บริการของผู้ให้บริการ ในความเป็นจริง ก็ยังแจ้งยกเลิกบริการเพียงด้วยวาจาเท่านั้น         เรื่องจึงกลายเป็นว่า หากสามารถเจรจาหรือสนทนากันเป็นที่เข้าใจและเห็นพ้องก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินดีหรือไม่ยินยอม ปัญหาการตามเรียกเก็บบริการก็จะเกิดขึ้น และเมื่อตีความตามแนวทางของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. หากผู้บริโภคมิได้ทำหนังสือขอเลิกสัญญาก็เท่ากับสัญญายังมีผล และผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บต่อไป         อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวในอีกแนวทางหนึ่ง ว่า เรื่องการ “บอกกล่าวเป็นหนังสือ” เป็นเพียงวิธีการ มิใช่สาระสำคัญที่ถึงกับจะทำให้สิทธิต้องเสียไปหากวิธีการไม่ถูกหรือไม่สมบูรณ์ ในยามที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการหลังจากผู้บริโภคขอยกเลิกสัญญาแล้ว ก็สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในแง่ของการใช้บริการ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นได้มีการใช้งานหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้งานก็ย่อมต้องชำระค่าบริการ แต่หากไม่ได้ใช้งาน เจตนาการยกเลิกก็ย่อมชัดเจน และไม่ควรที่จะยอมให้มีการเรียกเก็บเงินเพียงเพราะขาดหนังสือขอเลิกสัญญา         เขียนมาถึงตรงนี้ ประเด็นสำหรับผู้บริโภคก็คือ ถ้าจะเลิกสัญญาโทรคมนาคมแบบไม่มีช่องโหว่ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือ อาจเขียนเองง่ายๆ ก็ได้ ขอเพียงมีเนื้อหาชัดในเรื่องการแจ้งความจำนง ลงวันที่ และลงชื่อ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเถียงกับผู้ให้บริการในภายหลัง รวมถึงสำนักงาน กสทช. ด้วย เพราะแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างยิ่ง         ส่วนสำนักงาน กสทช. หากปักใจที่จะขีดเส้นในทางกฎหมายเช่นนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ด้านหนึ่งก็ควรที่จะกำชับให้ผู้ให้บริการมีแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ควรที่จะประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ความรู้และบอกสิ่งที่ควร/ไม่ควรทำแก่ผู้บริโภคด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค         กลับมาว่าด้วยการยกเลิกบริการ/สัญญาจากฝั่งผู้ให้บริการอีกครั้ง ทางด้านนี้ หากผู้บริโภคไม่อยากประสบปัญหา ก็ต้องระมัดระวังกับเรื่องการชำระค่าบริการ และในการเติมเงินต้องให้ความสำคัญกับจำนวนวันที่เหลือ ซึ่งอายุของเงินจะได้มาตามจำนวนครั้งการเติมเงิน แม้เติมจำนวนน้อยก็จะต้องได้ 30 วันเป็นขั้นต่ำ ดังนั้นความถี่จึงอาจสำคัญกว่ายอดเงินที่เติม         เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องดูแลคุ้มครองตนเอง...เช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 แอบดูการผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย

        ประเทศไทยเรากำลังมีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงมากเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 5 บาทต่อหน่วยแล้วรัฐบาลก็อ้างว่าที่แพงเพราะว่าค่าเชื้อเพลิงแพง คือค่าก๊าซธรรมชาติที่ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ             ผมถามว่า...เรามีเชื้อเพลิงเป็นของตัวเองแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทำไมเราไม่นำมาใช้            รัฐตอบว่า...พลังงานแสงอาทิตย์มันไม่เสถียร กลางคืนไม่มีพระอาทิตย์จะเอาอะไรใช้         แล้วทำไมรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากร 40 ล้านคน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกใช้ไฟฟ้ามากกว่าประเทศไทยเราเกือบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำไมเขาจึงผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดมาใช้ได้เยอะมากเลย จากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตามบ้านประมาณ 1.5 ล้านหลังคาเรือน โดยใช้ระบบแลกไฟฟ้ากับรัฐ และต้องย้ำว่า แลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากันด้วย         ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 กันยำยน 2565 ออกมำแล้วว่าให้ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาโดยด่วน โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (NetMetering) คือแลกไฟฟ้ากันระหว่างผู้ผลิตบนหลังคากับการไฟฟ้า แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงานไม่ทำอะไรต่อ ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.ไปนานกว่า 8 เดือนแล้ว ฉบับนี้ ผมจะมาแสดงการผลิตำพลังงานไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เห็นกันว่าเขาทำอย่างไรบ้าง         ผมไปดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของรัฐนี้ เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า โซล่าเซลล์ก็ผลิตได้แล้วจนถึงหนุ่งทุ่มก็ยังทำงานอยู่บางส่วนในบางวัน ผมลองคำนวณคร่าวๆเอาช่วงเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง คิดออกมาเป็นไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 160 ล้านหน่วยต่อวัน ถ้าคิดแบบบ้านเรา  เป็นค่าเชื้อเพลิงหน่วยละ 2.50 บาท ก็ 400 ล้านบาทต่อวัน นี่คือมูลค่าของแสงแดดที่เรมองข้ามที่สามารถนำมาแทนเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องซื้อ        ช่วงที่มีแดด เขาก็ให้แดดผลิตก่อน ตอนที่ไม่มีแดดก๊าซธรรมชาติก็ผลิตได้เยอะ แต่พอมีแดดเขก็ลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งข้อมูลค่าส่วนที่ไม่ต้องไปซื้อก๊าซตรงนี้ก็กลายเป็นรายไดด้ของชาวบ้านไปเลย ในแคลิฟอร์เนียเขาผลิตโซล่าเซลล์เองด้วย เงินจำนวนนี้ก็กระจายอยู่นั้นนอกจากแสงแดดแล้วเขายังใช้เชื้อเพลิงอะไรอีกบ้างในการผลิตไฟฟ้าเรามาดูกันที่รัฐนี้เขาจะพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้จะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ เขาจะรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ล่วงหน้า 1 วันล่วงหน้า 1 ชั่วโมง รู้หมด เผื่อมีอะไรผิดพลาดขนาดไหน จะได้ปรับแผนได้         ในหนึ่งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเขาจะใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แดดเยอะ ใช้ก๊าซน้อย พอตอนหัวค่ำก็ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นมา แล้วก็ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆบางส่วน พอใช้แดดหมดแล้วก็ใช้ลม ใช้พลังน้ำ ใช้แบตเตอรื่เขาใช้นิวเคลียร์คคงที่ตลอดทั้งวันทั้งปี ถ่านหินก็ใช้แค่ 2 เมกะวัตต์เท่านั้น เขาใช้หลักว่าพลังานหมุนเวียนซึ่งไม่ต้องซื้อและไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนให้ผลิตมาใช้ได้ก่อนเลย ถ้าลมมาก็ผลิตเลย แดดมาก็ลิตเลย ถ้าพอกับความต้องการดก็จบ ถ้าเหลือก็เก็บเข้าแบตเตอรี่ ถ้าไม่พอก็เอาจากแบตเตอรี่มาใช้         นี่คือการบริหารพลังงานไฟฟ้าโดยปรับเปลี่ยนตามทรัพยากรที่มี เลือกทรัพยากรของฟรีก่อน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ ชาวบ้านผลิตได้ ถ้าไม่พอก็ไปใช้ฟอสซิล ไปใช้นิวเคลียร์ซึ่งเป็นของบริษัทต่างๆทีหลัง หลายคนอาจถามว่า...ทำไมประเทศไทยไม่ทำอย่างนี้ ?         ผมขอตอบว่า...ประเทศไทยเอาพลังงานฟอสซิลก่อน เพราะสามารถผูกขาดได้ แค่นี้ละครับ นี่เป็นมายาคติซึ่งหลายคนไม่เข้าใจเราต้องพยายามอธิบาย ก็ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน นอกจากกนี้ ในส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนในภาคไฟฟ้า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าในช่วงตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น รัฐแคลิฟอร์เนียมีการปล่อยคำร์บอนฯ ในภาคผลิตไฟฟ้าลดต่ำลงจนกระทั่งติดลบ         ผมเองก็สงสัยว่ามันติดลบได้อย่างไร ก็ไปดูว่าเขาใช้พลังงานอะไรบ้างในการผลิต ปรากฏว่าการผลิตไฟฟ้าของเขาในช่วงประมาณบ่าย 3เศษๆ เขามีพลังงานหมุนเวียนเยอะเขามีไฟฟ้าเหลือ เขาส่งออกไปให้รัฐอื่น จึงทำให้การปล่อยคาร์บอนฯของเขาในช่วงเวลาบ่าย 3 เศษๆ นั้นติดลบ นั่นเอง          จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า เราแก้ปัญหาโลกร้อนได้ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน คือใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าผู้นำมีความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลลง         ผมมองว่าปัญหาในการผลิตไฟฟ้าของไทยตอนนี้ คือการผูกขาดคนอื่นผลิตไม่ได้ เขาจะไม่ให้ชาวบ้านผลิตเอง ทั้งๆที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศไทย ด้านพลังงาน ที่ใช้คำว่า Prosumer (Production byConsumer – ผลิตโดยผู้บริโภค)         ดังนั้น การอ้างว่าไฟฟ้าแพงเพราะเชื้อเพลิงแพงนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้พลังงานที่ตัวเองขายไม่ได้ที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้เท่านั้นแหละครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ส่วนต่าง 0.75 สตางค์

        ชายคนหนึ่งรู้สึกมาโดยตลอดว่า มือถือแบบเติมเงินที่เขาใช้ มักถูกตัดเงินไม่ค่อยตรงตามการใช้งาน ในความเข้าใจของเขา โปรฯ หรือแพ็กเกจ หรือรายการส่งเสริมการขายที่เขาใช้ คิคค่าโทรนาทีละ 70 สตางค์ แต่เงินในระบบที่เขาเติมไว้มักถูกตัดออกไปเกินปริมาณการใช้งานทำให้เงินหมดลงเร็วเกินควรอย่างไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน แต่เขาก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด         จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เขาโทรออก 1 ครั้งโดยใช้เวลาคุยประมาณ 50 วินาที ก่อนการโทรครั้งนั้นเขาได้ตรวจสอบเงินคงเหลือในระบบ และพบว่ามีจำนวน 197.45 บาท แต่หลังการโทร เงินคงเหลืออยู่ที่ 196.64 บาท ซึ่งเขาได้เก็บภาพหน้าจอยอดเงินคงเหลือทั้งสองช่วงนั้นไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงบันทึกประวัติการโทรรายการดังกล่าว ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เขาจึงร้องเรียนเข้ามายัง กสทช.         ข้อเรียกร้องของเขาคือ ต้องการให้บริษัทผู้ให้บริการคืนเงินที่เก็บไปเกิน และมีหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือตรวจสอบว่ามีการทำผิดหรือไม่ หากผิดก็ขอให้ลงโทษด้วย         น้ำเสียงของการร้องเรียนกรณีนี้จึงผสมผสานทั้งการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ส่วนตนกับการธำรงความเป็นธรรมและความถูกต้อง        สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงมา บ่งบอกให้รู้ว่า โปรฯ ที่ผู้ร้องใช้คือนาทีละ 75 สตางค์ โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจำนวนที่เรียกเก็บจึงเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย         ข้อชี้แจงของบริษัทถือว่าฟังขึ้นและมีความกระจ่างในทางหลักการเหตุผล ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องร้องเรียนนี้จึงสมควรที่จะยุติลงได้ ถ้าหากว่าจะไม่มีปีศาจอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ เมื่อนำยอด 197.45 เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 196.64 เท่ากับว่าราคาที่บริษัทเก็บในการโทร 1 นาทีนั้นคือ 81 สตางค์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ที่เก็บไปจึงอยู่ที่ 6 สตางค์ แต่ด้วยอัตรา vat ของไทย 7% เมื่อคิดเทียบกับต้นเงิน 75 สตางค์แล้ว vat ต้องอยู่ที่ 5.25 สตางค์         ราคาของการโทรรายการนี้รวม vat จึงอยู่ที่ 80.25 สตางค์ หรือถ้าไม่ต้องการให้มีเศษ ก็ควรเก็บที่ 80 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากหลักการปัดเศษทางภาษีใช้หลักเดียวกับคณิตศาสตร์ทั่วไป นั่นคือถ้าน้อยกว่า 5 ต้องปัดลง         เนื่องจากผู้ร้องเรียนสำคัญผิดว่า ตนเองใช้โปรฯ นาทีละ 70 สตางค์ อีกทั้งยังคิดเลขผิด จึงนิยามปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าแพ็กเกจหรือสัญญา แต่ผลการตรวจสอบทำให้พบว่า ปัญหาของกรณีนี้เป็นเรื่องการปัดเศษภาษีโดยไม่ถูกต้อง         แม้ความไม่ถูกต้องที่ว่าจะทำให้ผลลัพธ์ในเชิงตัวเงินก่อให้เกิดส่วนต่างเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ แต่กรณีนี้กลับสะท้อนประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปัดเศษเช่นนี้ดูจะเป็นแนวปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มิติที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้าแล้วก็คือ การปัดเศษเรื่องเวลาการโทร และที่จริงแล้วก็มีการปัดเศษในเรื่องปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยอุตสาหกรรมนี้เลือกปัดเศษในทิศทางปัดขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่การปัดในระดับยอดรวม แต่ปัดเศษในทุก ๆ ครั้งของการโทรเลยทีเดียว         ในเรื่องของการปัดเศษเวลาการโทร ทั้งๆ ที่เมื่อหลายปีก่อน มีกระแสการรณรงค์เรื่องการคิดค่าโทรหรือค่าใช้บริการโทรคมนาคมโดยรวม “ตามจริง” ในความหมายที่ว่า ใช้เท่าไรก็คิดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมและ กสทช. กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในแนวทางที่ว่า เป็นเรื่องของการจัดโปรฯ หรือแพ็กเกจ ซึ่งโปรฯ แบบนาทีทำให้คิดอัตราค่าบริการต่ำได้ และการมีโปรฯ ทั้งแบบนาทีและวินาที ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น         จนปัจจุบันการคิดค่าบริการแบบปัดเศษจึงยังคงเป็นแนวปฏิบัติปกติเพียงแต่ในตลาดเพิ่มการมีโปรฯ หรือแพ็กเกจแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีให้เลือกใช้ด้วย        กลับมาในกรณีการปัดเศษ vat เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นการปัดเศษลักษณะรายครั้งเช่นเดียวกัน  ส่วนต่างระดับเศษเสี้ยวของสตางค์ที่แสนเล็กน้อยนี้ แท้แล้วจึงไม่เล็กน้อยเลยเมื่อคิดเป็นยอดในเชิงสะสมที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องจ่ายและยิ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างยิ่งสำหรับในมุมของผู้รับ ในเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการมือถือในประเทศนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ         0.75 สตางค์ต่อการโทร 1 ครั้ง สมมติโทรเพียงวันละสองครั้ง ส่วนต่างก็จะกลายเป็น 1.5 สตางค์ต่อวัน และกลายเป็นปีละกว่า 5 บาท  หากคูณด้วยจำนวนคนเพียง 10 ล้านคน เงินส่วนต่างที่เริ่มจากเสี้ยวสตางค์ก็จะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50 ล้านบาท         กรณีนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องร้องเรียน โดยที่การลงแรงของผู้บริโภคที่ละเอียดละออคนหนึ่ง ทำให้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้ถูกสะท้อนออกมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 วิกฤต เงินสด และจังหวะ

        ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวธนาคารในฝั่งตะวันตกล้ม ทั้ง Silicon Valley Bank หรือ SVB กับ Signature Bank ในสหรัฐฯ และธนาคาร Credit Suisse ในฟากยุโรป สร้างความปั่นป่วนรวนเรในตลาดหุ้น ดาวน์โจนส์ร่วม หุ้นไทยก็ร่วงไปเกือบร้อยจุด แล้วค่อยๆ ฟื้นกลับแบบแกว่งๆ         จังหวะที่หุ้นตก บรรดารายย่อยในไทยก็แห่กันเข้าซื้อ อันนี้บอกไม่ได้ว่าซื้อไปทำอะไร หมายความว่าบอกไม่ได้ว่าซื้อหุ้นดีราคาถูกหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร         แต่ดูจะเข้าตำราที่ว่าให้ทำตรงกันข้ามกับอารมณ์ตลาดในเวลานั้น ได้ผลแค่ไหนก็ขึ้นกับประสบการณ์การลงทุนของแต่ละคน มันเป็นจังหวะที่ทั้งสายเทรด สายคุณค่า และสายลูกผสมมองเห็นโอกาสนั่นแหละ         เรื่องนี้ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่านักออม นักลงทุน ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อย รายย่อยมาก จะสายไหนๆ การติดตามข่าวสารเป็นสิ่งที่ควรทำ จะนั่งเฝ้าหน้าจอแบบนักข่าวเศรษฐกิจหรือตามห่างๆ อย่างห่วงๆ ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณลงทุน         และอีกเรื่องคือการบริหารกระแสเงินสด จะน่าเสียดายแค่ไหนถ้าโอกาสมาถึง แต่ไม่มีเงินไว้ไขว่คว้าโอกาส         หลายครั้งหลายหนที่โลกและไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วก็มีคนล้มละลายและเป็นเศรษฐีจากวิกฤต         วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 สร้างเศรษฐีมาแล้ว ถ้าคุณติดตามข่าวแต่ไม่มีกระแสเงินสด คุณก็คว้าโอกาสได้ยาก (อย่ากู้เงินคนอื่นมาลงทุน) ถ้าคุณมีกระแสเงินสด แต่ไม่สนใจจะรับรู้หาข้อมูลข่าวสาร คุณก็อาจเจ็บตัวหรือไม่สามารถได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากวิกฤต         ยกตัวอย่าง เวลาเกิดวิกฤตมักเริ่มจากข่าวไม่ใหญ่มากก่อนจะลุกลามออกไป คุณมีเงินสด แต่คุณไม่รู้ว่าวิกฤตใหญ่แค่ไหน วิกฤตจริงหรือเปล่า หรือจะมีวิกฤตกว่าหรือไม่ มันจะทำให้จังหวะที่คุณเข้าผิดพลาด         เอาง่ายๆ พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นข่าวโด่งดัง คุณรีบเข้า กะว่าได้หุ้นดีราคาถูกแน่ แต่แล้วก็พบว่านี่ยังไม่ใช่จุดหนักสุดของวิกฤต คุณควรได้หุ้นดีราคาถูกกว่านั้น แต่ไม่ได้ เขาถึงต้องดูจังหวะและแบ่งไม้ไงล่ะ         แบ่งไม้คืออะไร มันคือการที่คุณไม่ใช่เงินสดในมือซื้อหุ้นที่ต้องการแบบทีเดียวหมดหน้าตัก เพราะคุณไม่มีทางคาดเดาตลาดได้ ถ้ามันลงไปอีก คุณก็ยังมีเงินสดเหลืออยู่ให้เข้าซื้อเพื่อมาถัวเฉลี่ยต้นทุนการซื้อหุ้นรอบก่อน ประมาณนั้น         ฟังดูง่าย แต่ทำยาก ต้องใช้ประสบการณ์ ใครยังทำไม่ได้ก็ซื้อกองทุนแล้วกัน ยิ่งถ้าทำ DCA ก็ไม่ต้องรอจังหวะ แค่ต้องอาศัยความอดทนและวินัย แต่ถึงที่สุดก็ยังต้องใส่ใจกับข่าวสารและกระแสเงินสดอยู่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เบอร์ของคุณยายที่หายไป

        ทุกวันนี้ เลขหมายหรือเบอร์โทรศัพท์ยิ่งมีความหมายและความสำคัญกับหลายๆ คนยิ่งขึ้น จากผลของการที่ธุรกรรมต่างๆ สามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกรรมทางการเงิน การสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำจึงไม่เพียงส่งผลกระทบเรื่องการสื่อสารทั่วๆ ไป แต่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ในหลายๆ ด้าน         เมื่อผู้ใช้บริการคนหนึ่งสูญเสียเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ไป ความปรารถนาที่จะได้รับเบอร์เดิมคืนจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก และเมื่อได้อ่านจดหมายที่คนผู้นั้นร้องเรียนมายัง กสทช. ก็จะตระหนักได้ว่า เรื่องนี้ถึงขั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดความทุกข์แก่เจ้าตัวเลยทีเดียว         “หมายเลขดังกล่าวได้มีการทำธุรกรรมด้านการเงิน ระบบการรักษาพยาบาล และเกี่ยวกับเอกสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ประกอบกับดิฉันสูงอายุ (84 ปี) มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางไปติดต่อสถานที่ต่างๆ” ตอนหนึ่งของจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายมือหวัดแต่เป็นระเบียบ ระบุเอาไว้         เบอร์ที่สูญเสียนั้นใช้บริการในระบบเติมเงินล่วงหน้า เนื่องจากไม่ได้เติมเงินเข้าระบบเป็นเวลานาน วันใช้งานจึงหมด โดยบริษัทผู้ให้บริการชี้แจงว่า การตัดบริการนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ส่วนที่ผู้ร้องเรียนแจ้งคือ ใช้บริการไม่ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ประเด็นเรื่องนี้จึงนับว่าสอดคล้องกัน         ในเบื้องต้นผู้ร้องเรียนแจ้งเรื่องไปทางบริษัทก่อน แต่ได้รับคำตอบว่า หากต้องการเบอร์เดิม ต้องติดต่อภายใน 45 วัน หากเลยเวลาไปแล้ว เลขหมายจะถูกคืนเข้าระบบ กสทช. นั่นเป็นเหตุให้คุณยายลงแรงเขียนจดหมายเข้ามาขอ “ความกรุณา กสทช.”  ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน         จากการตรวจสอบพบว่า ประเด็นเรื่องเลขหมายดังกล่าวถูกคืนเข้าระบบ กสทช. แล้วนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่อง 45 วันถือเป็นกรอบเวลาสำคัญจริง เนื่องจากตามกติกาที่ กสทช. กำหนด เลขหมายที่ยกเลิกการใช้แล้วจะต้องมีการกักเก็บไว้ 45 วัน ก่อนที่จะนำไปหมุนเวียนให้บริการต่อ เหตุผลก็เพื่อเป็นการทอดเวลาสำหรับการผลัดเปลี่ยน ผู้ใช้บริการที่ได้เบอร์ใหม่ซึ่งเป็นเบอร์เดิมของคนอื่นไปจะได้ไม่ถูกรบกวนโดยญาติมิตรของผู้ใช้คนเดิมหนักหน่วงนัก         หลังพ้นเวลา 45 วัน จึงเป็นไปได้ที่เบอร์นั้นจะถูกนำไปขายในตลาดแล้วหรือกระทั่งกลายเป็นเบอร์ที่มีคนใหม่ครอบครองและนำไปใช้แล้ว         กรณีเกิดการสูญเสียเบอร์และต้องการขอคืน หากดำเนินการหลังจาก 45 วัน  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ตามประสงค์ เพราะการเรียกคืนย่อมจะกระทบสิทธิของผู้อื่นด้วย         ดังนั้น ถึงแม้ว่าการขอคืนภายในกรอบเวลา จะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้รับเบอร์คืนเสมอไป เนื่องจากตามกติกาไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ จึงค่อนข้างจะขึ้นกับดุลพินิจของบริษัทที่ให้บริการ (ซึ่งนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นต้องพิจารณาหลากมิติ ไม่ใช่เรื่องที่จะขีดเส้นชัดๆ ได้ง่ายนัก) แต่การรู้ตัวให้เร็วและเร่งดำเนินการติดต่อแจ้งความประสงค์ย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้เบอร์เดิมคืนมา         อย่างไรก็ตามการขอเบอร์คืนเป็นเพียงเรื่องปลายทางมีเรื่องต้นทางที่น่าพิจารณากว่า นั่นคือการรักษาเบอร์         ตามปกติ เรื่องการยกเลิกบริการย่อมเป็นสิทธิของฝ่ายผู้ใช้บริการ มิใช่ของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ก็กำหนดเป็นหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา ยกเว้นใน 5 กรณี ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการตายหรือสิ้นสุดสภาพนิติบุคคล 2) ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน 3) มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผู้ใช้บริการมีพฤติกรรมฉ้อฉลในการใช้บริการ หรือนำไปใช้ผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อห้ามในสัญญา 4) ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้โดยเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และ 5) เป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย         ส่วนใหญ่แล้วเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกสัญญาได้มักเป็นไปตามข้อยกเว้นข้อ 2) นั่นคือเกิดกรณีที่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคค้างชำระค่าบริการ ซึ่งเรื่องนี้จะได้หาโอกาสกล่าวถึงต่อไป ในฐานะที่เป็นประเด็นหนึ่งที่มักทำให้เกิดข้อพิพาท         อย่างไรก็ตามสำหรับระบบเติมเงิน เรื่องการยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายผู้ให้บริการสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่านั้น เนื่องจากในตลาดมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “วันหมดอายุการใช้งาน” ซึ่งจะถูกกำหนดตามการเติมเงิน โดยที่ในการเติมเงินแต่ละครั้งจะได้ระยะเวลาการใช้งานที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง เช่น 30 วัน ดังนั้นแม้ว่ายอดเงินที่เติมไว้จะยังคงเหลือ แต่วันใช้งานก็อาจหมดลงก่อนได้         ดังเช่นในรายของผู้ร้องเรียนวัย 84 ปีข้างต้น บริษัทที่ให้บริการชี้แจงว่า การเติมเงินครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้ได้วันใช้งาน 60 วัน ดังนั้น ในที่สุดบริษัทจึงตัดบริการ         นี่คือช่องว่างที่ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหามานานแล้ว ดังนั้นตั้งแต่มกราคม 2565 กสทช. จึงได้มีมติว่า “ให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องการรักษาเลขหมายของผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า กรณีวันใช้งานหมดอายุแต่ยังมีเงินคงเหลือในระบบ ให้หักเงินในระบบเป็นค่ารักษาเลขหมายในอัตราเท่ากับค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ กสทช. เรียกเก็บจากผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้เลขหมายได้ต่อไป”         จนกระทั่งกว่าหนึ่งปีผ่านไป มติดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลในโลกความเป็นจริง         ด้วยการดำเนินการที่ล่าช้าของสำนักงาน กสทช. ปัญหาซ้ำซากเรื่องการสูญเสียเบอร์ จึงยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาที่ทำให้การใช้งานโทรศัพท์มือถือของหลายคนเบาบางลง และการทำธุรกรรมหลายๆ อย่างไม่สะดวก เช่น การเติมเงิน หรือแม้แต่การร้องเรียนก็ตาม เรื่องนี้จึงสรุปได้ว่าหากสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ เบอร์ของคุณยายวัย 84 ปีก็คงจะไม่ต้องหลุดมือไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 พลังงานไทยไม่เป็นธรรมตรงไหน?

        เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเสวนาออนไลน์ Just Energy Transition Talk ครั้งที่ 1 ที่ The Cloud กลุ่ม RE100 และป่าสาละ จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนผ่านตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน ว่า ‘ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม?’ ผมไปในฐานะตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ตั้งใจและเตรียมตัวเต็มที่เลย ผมไปบรรยายพร้อมกับสไลด์อัปเดตข้อมูลด้านพลังงานกว่า 40 หน้า         ผมยกคำพูดของดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้ที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ที่ว่า “การปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” มาย้ำอีกครั้ง และเสนอภาพให้เห็นว่าการทำนโยบายพลังงานของประเทศเราหรือทุกประเทศ ล้วนถูกผูกขาดอยู่ด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือพ่อค้าพลังงานฟอสซิลนั่นเอง นี่ก็คือความไม่เป็นธรรมข้อแรก         ทุกวันนี้เทคโนโลยีพลังงานหลายอย่างมาบรรจบกันในทางที่ดีและราคาถูกลง ซึ่งวิศวกรกลุ่มหนึ่งของ “Institute for Local Self Reliance” (ILSR) ที่ผมติดตามมานานแล้ว เขาบอกว่าเราใช้เทคโนโลยี 5 อย่างคือ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ โซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และกังหันลม ที่เปรียบเหมือน 5 จอมเทพนี้ที่มาปราบระบบพลังงานแบบเก่าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ได้เลย         ตอนนี้เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง เช่น การผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากร 40 ล้านคน ที่นั่นใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้โดยไม่จำกัดจำนวน แสงอาทิตย์มาก่อนใช้ก่อน ลมมาก่อนใช้ก่อน ใช้เต็มที่ไปเลย พอไม่มีแดดแล้วก็ไปเอาไฟฟ้าจากก๊าซมา อย่างบ้านเราผมว่าไฟฟ้าจากชีวมวลเยอะมาก ทำกันดีๆ เอามาใช้ตอนหัวค่ำที่เปลี่ยนผ่านตรงนั้นก็ได้แล้ว จริงๆ รัฐทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยากจะทำนะ         หรืออย่างที่หมู่บ้าน Wildpoldsried ทางตอนใต้ของเยอรมัน มีประชากร 2,500 คน สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่เขาใช้ถึง 8 เท่าตัว ตอนที่ได้ 5 เท่าตัว ผมจำตัวเลขได้ว่าเขาขายไฟฟ้าได้ปีละ 4 ล้านยูโร ณ วันนี้อาจจะเป็น 6-7 ล้านยูโรแล้วก็ได้ เขาได้ผสมผสานหลายอย่าง มีกังหันลม มีโซล่าเซลล์ 190 กว่าหลัง อาคารสำนักงานข้าราชการก็ใช้โซล่าเซลล์หมด แล้วเอาเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วน         คราวนี้กลับมาดูในบ้านเรา ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผู้นำประเทศเราบอกว่ามีน้อย ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาอะไรใช้ แต่ปรากฎมีข้อมูลสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีมากกว่าที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ถึงหมื่นเท่าตัว และจากที่ผมได้เล่าไปแล้วถึงมติ ครม. 27 ก.ย. 65 (ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี) ที่ให้ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านโดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ได้ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ติดเข้าไปได้เลย แล้วแลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากัน สิ้นเดือนก็มาคิดบัญชีกัน ใครจ่ายมากจ่ายน้อยก็ว่ากันไปตามนั้น แต่มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติเลย         ประเทศไทยเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมากที่สุดถึง 54% ถ้าเราเปลี่ยนจากก๊าซเป็นแดด จะประหยัดเงินได้ 3 แสนล้านต่อปี นี่เห็นชัด แก้จน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ทันทีเลย และทั้งๆ ที่ธรรมชาติของสายส่งไฟฟ้านั้น ไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทาง เข้าบ้านเราก็ได้ ออกจากบ้านเราได้ 2  แต่ตลอดมามันเดินทางเดียว คือจากโรงไฟฟ้ามาเข้าบ้านเราอย่างเดียว แล้วเงินของเราก็เดินทางเดียวเหมือนกัน คือจากกระเป๋าเราไปเข้ากระเป๋านายทุน  เราก็เลยจนลงๆ เจ้าของโรงไฟฟ้าก็รวยเอา รวยเอาจนรวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว         ปัจจุบันไทยมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60% แสดงว่าไฟฟ้าล้นเกิน โดยปกติประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเขาวัดกันที่อัตราการใช้ประโยชน์ คือดูว่าใน 1 ปี มี 8,760 ชั่วโมง มีการเดินเครื่องเต็มที่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาดังกล่าว โดยปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินกับโรงไฟฟ้าก๊าซ เขาจะใช้อัตราการใช้ประโยชน์ 90% ของเวลาเต็มศักยภาพ  ที่น่าแปลกใจคือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ได้ผลิตถึง 100% ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ได้เพียง 35% ต่ำมาก ในจำนวนนี้มี 5-6 แห่งยังไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่ได้เงินไปในรูปของค่าความพร้อมจ่าย นี่คือสัญญาที่เป็นปัญหา สัญญาไม่เป็นธรรม เราทำสัญญายาว 25 ปี ในรูปไม่ซื้อก็ต้องจ่าย เมื่อโลกมีปัญหา เช่น โควิด-19 ประเทศมีปัญหาก้ปรับตัวไม่ได้         ทั้งๆ ที่มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งขององค์กรพลังงานสากล (IEA) ที่กระทรวงพลังงานของไทยร่วมทำวิจัยอยู่ด้วย ก็เสนอไว้ชัดเจนในเรื่องให้มีความยืดหยุ่น และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานเราไม่ทำตามผลงานวิจัยที่ตัวเองไปทำ เราทำสัญญาแบบไม่ยืดหยุ่น เทคโนโลยีก็เป็นแบบที่ตายตัว ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้เป็น VUCA World แล้ว มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม แต่เรายังไปยึดอาของเก่า สัญญาเก่า 25 ปี เทคโนโลยีเก่า           ในภาพรวมของพลังงานไทย เราชูคำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ปรากฏว่าการพึ่งตนเองด้านพลังงานของเรากลับลดลง  ในปี 2554 เราเคยพึ่งตัวเองได้ 46% จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน แต่ตอนนี้เราพึ่งตัวเองได้เพียง 24% เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงอนาคต จะยั่งยืนได้ยังไง แล้วคนจะไม่จนลงได้อย่างไง จนทั้งระดับครอบครัวและระดับประเทศ  เพราะต้องซื้อทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่แสงอาทิตย์ไม่ต้องซื้อ แต่ว่าถูกกฎระเบียบห้ามหมด พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมายืนบังแดดอยู่         ประเทศไทยพูดถึงความมั่นคงทางพลังงานคือ มีใช้ มีพอ ราคาถูก แต่ที่จริงแล้วยังต้องมีมิติของคาร์บอนต่ำ เรื่องประสิทธิภาพ เรื่องท้องถิ่นที่ต้องให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมทั้งนโยบายและรายได้ รวมถึงมิติความเป็นธรรมอื่นๆ ด้วย         สรุปภาพรวมที่ผมนำเสนอในวันนั้นก็คือ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องใหญ่เลย เรื่องแนวคิดพวกนี้ ทำยังไงให้ประชาชนเป็นผู้เขียนนโยบายพลังงาน ซึ่งผมเชื่อว่าโลกนี้ทุกอย่างมีทางออก ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มีทางออกแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เทรดเดอร์กับวีไอแซะกัน นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...

        เร็วๆ นี้มีดราม่าในแวดวงตลาดหุ้น เมื่อเทรดเดอร์นาม อรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ บอย ท่าพระจันทร์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวแซะ ‘ลุง’ คนหนึ่ง ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าคือ นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์ นักลงทุนสายวีไอ         เรื่องมีอยู่ว่า ลุงเขียนคอลัมน์ถึงหุ้น ‘Corner แตก’ คือหุ้นที่ถูกต้อนเข้ามุม ถูกกวาดซื้อจากนักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ได้สนใจพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น แล้วก็เป็นไปตามวงจรนั่นแหละ รายย่อยก็แห่ซื้อตาม หุ้นเลยวิ่งขึ้นเอาๆ ดันราคากันขึ้นไป แต่พอผลประกอบการไม่ได้ออกมาสวยหรูเหมือนราคาหุ้น มันก็ถูกเทขาย หุ้นตก รายย่อยตกใจ ก็ขายตามๆ กัน จากหุ้นพุ่งแรงกลายเป็นดิ่งแรง         ไม่ต้องห่วงรายใหญ่นะ พวกนี้ฟันกำไรกันไปแล้วเพราะเข้ามาก่อน มีสำนวนในวงการว่าใครมาช้าก็ต้องจ่ายรอบวง         คนก็คาดเดาจากสตอรี่กันไปว่าลุงคงหมายถึงหุ้นตระกูล J แน่ๆ ซึ่งเป็นหุ้นที่บอย ท่าพระจันทร์ ชอบเข้าไปซื้อ พอเป็นแบบนี้เขาเลยแซะกลับเบาๆ ว่าลุงคนนี้ก็ชอบทำตัวเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเชียร์ให้คนไปลงทุนในหุ้นเวียดนาม         แล้วเรื่องนี้สลักสำคัญยังไง? ไม่สลักสำคัญอะไรหรอก ก็แค่มีเกร็ดเล็กๆ สำหรับทบทวนตัวเอง         หนึ่ง-ทั้งสองคนนี้มีสไตล์การลงทุนคนละแบบ พูดยากว่าสไตล์ไหนดีกว่า (ตราบใดที่ยังไม่ทำเรื่องผิดกฎหมาย) จะมีก็แต่สไตล์ที่ใช้สำหรับตัวเอง         สอง-ไม่ว่าจะลงทุนสไตล์ไหนอย่าเผลอลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ จะเป็นหุ้นตระกูล J หรือตระกูลอะไรก็ตาม จะเป็นหุ้นเวียดนามหรือหุ้นบราซิล เอธิโอเปีย บลาๆๆ คุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่คุณจะลงทุนด้วยตัวคุณเอง         สาม-อย่าลงทุนตามใคร ถ้าคุณชอบการเทรด คุณก็ต้องดูกราฟ ดู volume วิเคราะห์นั่นนี่ และหาจังหวะเข้าซื้อและหาจังหวะออกเอง เพราะเวลาคุณซื้อตามกระแส คุณไม่รู้หรอกว่าคุณตามมาเป็นคนที่เท่าไหร่ ถ้าตามมาปลายแถวแล้วอาจจะเจ็บตัวหนักมาก ถ้าคุณเป็นสายคุณค่า คุณก็ต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เชื่อตามเซียนเพราะเซียนก็ผิดได้         ถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้นและไม่คิดว่าจะต้องรวยรวดเร็ววันนี้พรุ่งนี้ก็ใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือดีกว่า แต่ต่อให้เลือกวิธีนี้ก็ยังต้องศึกษาทำความเข้าใจอยู่ดี ไม่ใช่ดุ่มๆ ซื้อ อย่างน้อยก่อนซื้อ เขาก็ต้องให้คุณทำแบบประเมินความเสี่ยงว่ารับได้แค่ไหน ถ้าซื้อกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่คุณทำแบบประเมินได้ คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นด้วยตนเอง จะไปโทษคนขายไม่ได้         นิทานเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่าประมาณนี้แหละ

อ่านเพิ่มเติม >